>เราคิดอะไร

บ้านป่านาดอย- จำลอง -

พายุไต้ฝุ่นพัดมาเมื่อปลายกรกฎาคม คนที่บ้านป่าผิดหวัง เรากำลังรอน้ำ เลยวันเข้าพรรษา ตั้งหลายวัน น้ำในบึงใหญ่ ยังแห้งอยู่ดี ฟังพยากรณ์อากาศทีไร ดีใจทุกครั้ง ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ฝนตกหนัก บางพื้นที่ เช่น จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ตกเหมือนกัน ตกแฉ่ๆ ตลอดคืน ตกแบบไม่ได้น้ำ

ขณะเดียวกัน การใช้น้ำที่บ้านป่า ก็มากขึ้นๆ เพราะมีผู้ไปเข้ารับการฝึกอบรม ติดต่อกันไม่ขาด คณะนี้ออก คณะโน้นเข้า บางทีจ๊ะกัน ต้องเปิดอบรม ๒ แห่ง

หลังจากประสบผลสำเร็จ ในการฝึกอบรม ผู้ใหญ่วงการอุตสาหกรรม เมื่อปลายปีที่แล้ว ต่อมามีการประชุม ที่ทำเนียบ ท่านนายกฯ ทักษิณ คุยกับผม อยากให้ผู้ใหญ่ ในวงราชการ ไปผ่านโรงเรียนผู้นำบ้าง ท่านทราบดีว่า เราฝึกอะไร เพราะเคยไปสอนที่ โรงเรียนผู้นำ ไม่ใช่เฉพาะตอนเป็นนายกฯ แล้ว แต่สอนก่อนเป็นนายกฯ เสียอีก

สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน ร่วมมือกับโรงเรียนผู้นำ จัดการฝึกอบรมข้าราชการ ระดับรองอธิบดี จากกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ทั่วประเทศถึง ๓ รุ่น เสร็จเมื่อกลางเดือน กรกฎาคม

แต่ละรุ่นจะมีนักธุรกิจจากสภาอุตสาหกรรม และชมรมนักธุรกิจ อุตสาหกรรม เข้าไปแทรก เพิ่มเติม ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ ที่เข้ารับการฝึกอบรม ผ่านการฝึกอบรม การสัมมนามา มากมาย หลายท่าน เอ่ยปากว่า ต่อไปน่า จะเอาอย่าง โรงเรียนผู้นำ พักค้างอย่างเรียบง่าย เพียบพร้อมไปด้วย ธรรมชาติ ป่าเขา ถูกกว่า ที่เคยจัด โรงแรมหรูหรา

สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะร่วมกับโรงเรียนผู้นำ จัดฝึกอบรมข้าราชการ ระดับรองอธิบดี ในปีต่อๆ ไปอีก เพราะเสียเวลา เพียงสี่วันกับสามคืน ได้อะไรเกินคุ้ม

ในรุ่นที่ ๓ (รุ่นสุดท้ายสำหรับปีนี้) มีสุภาพสตรี เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ แถบตะวันออก เข้าเรียนด้วย ได้ยืนขึ้นพูด ต่อหน้ารองอธิบดี ที่เข้ารับการอบรม

"ดิฉันมาเข้าโรงเรียนผู้นำ เพราะคำสั่งของสามี สามีบอกว่า จบจากโรงเรียนผู้นำ กลายเป็นสามีใหม่ ให้ดิฉันแล้ว ดิฉันต้องมาเรียน เพื่อกลับไปเป็น ภรรยาใหม่บ้าง

คราวที่แล้ว วันที่เขากำลังจะจบ ดิฉันและลูกๆ จะเอารถมารับ ที่เมืองกาญจน์นี้ แกไม่ยอม จะเปลี่ยนไปรับ ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ยอมอีก ลงท้ายขึ้นรถไฟกลับบ้าน พอถึงบ้าน พาดิฉันและลูกทั้งหมด ๕ คน ไปเลี้ยงกันใหญ่ มื้อนั้นหมดไป สามร้อยกว่าบาท เราเคยกินมื้อละ เกือบสองพัน ถูกกว่ากันเยอะ

เมื่อคืนนี้ลูกโทรศัพท์มาถึงดิฉันบอกว่า มาม้าเรียนจบโรงเรียนผู้นำแล้ว อย่าเป็นอย่างปาป๊านะ"

ผมคุยเรื่องนี้กับ ดร.ปุระชัย รองนายกฯ ที่ไปช่วยสอนครบหมดถึง ๓ รุ่น (เช่นเดียวกับครู โสภณ สุภาพงษ์) ดร. ปุระชัย มีความเห็นว่า สมัยนี้สอนเด็กยากอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องประหยัด เพราะเห่อตามเพื่อน พ่อแม่จะพูด จะเตือนเท่าไร มักไม่ฟัง

"พี่ลองครับ ยุคนี้สอนให้เด็กประหยัดเป็นเรื่องยากมาก แต่การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ต้องสอน เป็นเอง"

จบการฝึกอบรมระดับรองอธิบดี ๓ รุ่น บ้านป่าต้องรับฝึกอบรม ผู้บริหารการศึกษา โรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งเป็น โครงการใหม่เอี่ยม ของกระทรวงศึกษาธิการ วันนั้นผมต้องเข้าประชุมในกรุง และกลับกาญจน์ ในวันเดียวกัน ที่สถานีขนส่ง สายใต้ ผู้คนมืดฟ้ามัวดิน เพราะเป็นวันหยุดยาว วันอาสาฬหะ เข้าพรรษา กว่าจะกลับถึง กาญจน์ ผมนอนตีหนึ่ง ตีสี่ครึ่ง ต้องตื่น เตรียมตัวบรรยาย บรรยายเสร็จ พาผู้เข้ารับการฝึกอบรม ออกวิ่ง ชมป่าเขาอีก นอนเพียงสามชั่วโมงเท่านั้น ยังไหว จึงประมาทมาก

สองวันต่อมา ผมต้องเข้าบ้านพิษณุโลก ประชุมปรึกษาหารือการใช้โทรทัศน์ เพื่อพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็น งานหนึ่ง (ที่ผมริเริ่มเอง) ในหน้าที่ของที่ปรึกษา ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของนายกรัฐมนตรี ไปกลับ ภายใน วันเดียวกัน ด้วยรถประจำทาง กรุงเทพฯ-กาญจน์ เหมือนเดิม

คนนั่งรถแถวหลังผม เป็นไข้หวัดอย่างแรง แกจามออกมาฟุ้งไปหมด รุ่งเช้าผมมีอาการ ครั่นเนื้อครั่นตัว ทันที เห็นถุงพลาสติก สำหรับสวนทวาร แขวนอยู่ที่บ้าน ซึ่งภรรยาผมใช้นานๆ ครั้ง ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าสวนทวาร อาจทำให้ผม ไม่ต้องเป็นไข้ ผมไม่เคยสวนทวาร ด้วยน้ำกาแฟ ดีใจควานหาถุงกาแฟ ได้ถุงหนึ่ง ข้างซอง เขียนไว้ว่า ให้สวนทวาร ขณะที่ยังอุ่นอยู่

ผมไม่รู้ว่าจะต้องอุ่นแค่ไหน พอสวนเข้าไปสะดุ้ง ร้อนวาบไปทั้งท้อง ดึงสายสำหรับสวนทวารออกมา ถูกมือยังร้อน ทนไม่ไหว แล้วลำไส้ จะไม่แย่หรือ (ผมทำเองแท้ๆ)

ตกบ่าย ผมหนาวจนขาสั่น รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้โรงเรียนผู้นำที่สุด เพื่อตรวจไข้มาเลเรีย เป็นโรงพยาบาล เอกชน ที่ใหญ่ที่สุด ของกาญจน์ มีหมอพร้อม

พบสุภาพบุรุษคนหนึ่ง นั่งรถเข็นบังคับด้วยไฟฟ้า แกดีใจรีบเข้าไปคุย ผมมารู้ภายหลังว่า เป็นเจ้าของ โรงพยาบาล

โรงพยาบาลกาญจนบุรีเมมมอเรียล ให้ผมนอนโรงพยาบาล (เป็นครั้งแรกในชีวิตรอบ ๖๙ ปี) รุ่งขึ้นเช้าไม่มีไข้ หมอจึงอนุญาตให้กลับ ผมไม่ได้เล่าให้หมอฟัง ถึงอาการเพิ่มเติม เพราะคิดว่า เป็นเรื่องเล็ก ถ่ายออกมา เป็นเลือดสดๆ ครั้งละสองสามหยด ทุกชั่วโมง

กลับไปพักบ้านเชิงเขาโรงเรียนผู้นำ เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นทุกที จนต้องเข้าทุก ๒๐ นาที ซึ่งเลือดออก ประมาณ เท่าเดิม ทุกครั้ง ผมต้องกลับเข้าโรงพยาบาล แจ้งให้หมอทราบ หมอตรวจพบว่า ลำไส้ใหญ่ มีอยู่ช่วงหนึ่ง ลักษณะอักเสบผิดปรกติ แต่ยังไม่ชัด จะตรวจละเอียด วันรุ่งขึ้น

มีคนบอกรัฐมนตรีสาธารณสุขคุณสุดารัตน์ติดต่อให้ผมรีบย้ายเข้ารักษาที่ โรงพยาบาลราชวิถี ในตอนบ่าย วันนั้น พอจะชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่ผ่านมา คุณวิมล เจ้าของโรงพยาบาล (ที่นั่งรถเข็น) ขอไม่รับ ตั้งใจไว้แล้วว่า จะต้องมีส่วน ช่วยสังคม ผมจะอ้างว่า โรงพยาบาลมีรายจ่ายมากเป็นประจำอย่างไร ก็ไม่ฟังอยู่ดี ตัดบทว่า การไม่รับค่ารักษานั้น ขอให้ผมถือว่า คุณวิมล เป็นลูกเป็นหลานก็แล้วกัน

คุณวิมลเคยได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง รถยนต์ที่นั่งถูกรถสิบล้อชน มีคนนำส่งโรงพยาบาล หมอปล่อยไว้เฉยๆ ไม่รีบรักษา เท่าที่ควร เกิน ๒๔ ชั่วโมง เลยพิการเดินไม่ได้ (เคยออกรายการโทรทัศน์ "ชีวิตต้องสู้" อยู่ครั้งหนึ่ง) ภรรยาเป็นหมอ คุณวิมลตั้งใจแน่วแน่ว่า จะต้องสร้างโรงพยาบาลเอกชนให้ได้

เพื่อนๆ ปรามาสว่า เพียงแต่เดินก็เดินไม่ได้เสียแล้ว จะไปสร้างโรงพยาบาลได้อย่างไร ด้วยความพยายาม ของคุณวิมล และภรรยา ก็ประสบผลสำเร็จ มีโรงพยาบาลที่ใหม่สุด ของกาญจนบุรี (เปิดมาเกือบสิบปีแล้ว) ตอนแรกๆ มุ่งไปที่อุบัติเหตุก่อน

ใครเจออุบัติเหตุหนักแค่ไหน เข้าโรงพยาบาลได้เลย ยังไม่ต้องถามว่า มีญาติไปกับคนป่วยหรือเปล่า มีเงินพอ ที่จะจ่ายไหม

ผมเล่าเรื่องคุณวิมลให้ใครๆ ฟังมีแต่คนอนุโมทนาสาธุ ตั้งใจว่าจะเล่าเรื่องหมอโทกุดะ ให้คุณวิมลฟัง ในโอกาสต่อไป เพราะแรงบันดาลใจ ที่จะมีโรงพยาบาลนั้น มีเหตุการณ์ คล้ายๆ กัน

หมอให้ผมพักที่ตึกโรคหัวใจ บางคนไปเยี่ยม พอเห็นชื่อตึกเข้า ก็ตกใจ คิดว่าผมผ่าหัวใจ

ตั้งแต่เกิดมาเพิ่งเคยเข้านอนโรงพยาบาล ก็ไม่สบายใจอยู่ดี วันรุ่งขึ้นนายพลผู้เฒ่า (เฒ่าพอๆ กับผม) เป็นนักเรียน นายร้อย รุ่นเดียวกัน พาภรรยาไปเยี่ยม พอเจอหน้ากัน ก็ตะโกนโหวกเหวก ตามประสา เพื่อนสนิท

"เราเป็นมากกว่านายหลายโรค เป็นทั้งโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ต่อมลูกหมาก หูตาจมูก จำลองไม่เคยหูหนวก ไม่รู้หรอกว่า มันทรมานแค่ไหน"

ได้ฟัง ได้เห็นสารรูป ผมเลยคลายใจ โรคที่ผมเป็น นิดเดียว เหมือนนิทาน ที่คนอยากใส่รองเท้า ไม่มีเงินซื้อ กลุ้มใจ พอเห็นคนขาขาด เลยเลิกกลุ้ม

ภรรยาเพื่อนเล่าให้ฟังว่า สามีโชคร้ายจริงๆ ปวดเมื่อยเนื้อตัวบีบยาแก้ปวดแก้เมื่อย ท่าไหนไม่รู้ พุ่งปรี๊ด เข้าใส่ตาเต็มที่ รักษาเท่าไรไม่หาย ตาเลยฟางเรื่อยมา

ก่อนจากกันทั้งเพื่อนและผม ต่างอวยชัยให้พร ซึ่งกันและกัน ขอให้หายทุกข์หายโรค หายภัย เพื่อนผมรับพ รไปอย่างนั้น ดูไม่เห็นดีใจเท่าไร เพราะเป็นหลายโรคเหลือเกิน โดยเฉพาะหูหนวกไปแล้ว จะกลับมาดี ได้อยางไร

ที่น่าชมเชยคือเพื่อนผมพยายามหากำลังใจ จากการอ่านหนังสือ แนะนำผมซื้ออ่านเล่มหนึ่ง เขียนโดย นายพลเอก ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อย หลังผมสองรุ่น หนังสือมีชื่อว่า "พลเอกประสาร เปรมะสกุล กับ มะเร็งต่อมลูกหมาก" หายขาดจากมะเร็งร้าย โดยรักษาตัวเอง คล้ายๆ กับกรณีของ คุณหมออารีย์ ที่ท่านผู้อ่าน "เราคิดอะไร" เคยอ่าน เคยได้ฟังเทปมา

แต่รายนี้น่าคิดยิ่งกว่า เพราะไม่ได้เป็นหมอไม่เคยเรียนช่วยชีวิต มีแต่เรียนทำลายชีวิต (คนที่จบจาก โรงเรียน นายร้อย ถ้าฆ่าคนได้เป็นร้อยๆ ในสนามรบ ถือว่า ประสบผลสำเร็จ ในวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา)

วันก่อนผมพบท่านที่เคารพท่านหนึ่ง พลอากาศเอก อรุณ พร้อมเทพ นักบิน ครูนักบิน ของกองทัพอากาศ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ตั้งแต่สมัย ผมหนุ่มๆ ท่านเล่าถึงหนังสือของพลเอก ประสาร ว่าเขียนได้น่าอ่านมาก มีหลักฐาน อ้างอิง แสดงพร้อม ว่าทำไมต้องรักษาตัวอย่างนั้น และหายเพราะอะไร

โรงพยาบาลราชวิถีอยู่ใกล้ร้านหนังสืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอยู่แล้ว ผมรีบวานคนไปซื้อทันที ปรากฏว่า ซื้อไม่ได้ หนังสือหมด บรรณาธิการ "เราคิดอะไร" หากทราบข้อความตอนนี้ อาจจะขออนุญาต พลเอกประสาร นำมาพิมพ์ เผยแพร่ใน "เราคิดอะไร" เป็นตอนๆ ก็ได้

จากตึก "สะอาด" ไปตึก "สิรินธร" ผมต้องนั่งรถเข็นไปรับการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ชนิดต่างๆ ผ่านผู้คน ที่กำลังเดินกัน ขวักไขว่ เจอคนนั้นทัก คนนั้นยกมือไหว้ คนโน้นยิ้ม หญิงวัยกลางคน คนหนึ่ง ตรงเข้ามา จับแขนผม พร้อมกับพูดว่า

"ดีใจที่ได้เจอ" ผมนึกเติมข้อความในใจว่า "จะดีใจกว่านี้อีก ถ้าเจอกันที่อื่น ไม่ใช่โรงพยาบาล"

ผมพูดทีเล่นทีจริงกับคณะหมอโรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ ในรายการปัจฉิมนิเทศ วันจบหลักสูตร โรงเรียนผู้นำ

"พบกันใหม่ครับ แต่ต้องไม่ใช่ที่โรงพยาบาล"

ผลของการตรวจพบว่า ผมเป็นแผลที่กระเพาะและลำไส้ใหญ่ ฟังดูแรกๆ ก็งง เป็นไปได้ยังไง ผมรับประทาน อาหารมังสวิรัติ มาติดต่อกัน ๒๙ ปีแล้ว

คุณศิริลักษณ์ หมอยาที่บ้าน ยืนยันว่าใช่แน่ เพราะผมเป็นคนใจร้อน กินข้าวรวดเร็วว่องไว เคี้ยวไม่ทันไร กลืนแล้ว อาหารที่เคี้ยว ไม่ละเอียด แม้จะไม่ใช่เนื้อสัตว์ ก็เข้าไปครูด กระเพาะ และลำไส้ เป็นแผลเรื้อรังมา จนถึงวันนี้ โชคดีที่พบเสียก่อน ยังพอรักษาได้

เสียชื่อนักมังสวิรัติหมด ดีว่าเมื่อใครชมผม "แก่แล้วยังแข็งแรง" ผมมักจะตอบว่า แข็งแรงเฉพาะปัจจุบัน และ ในอดีต ส่วนอนาคตนั้น "ไอจะไม่ซียู เมื่อไรไม่รู้" โชคดีที่ไม่เคยคุยโม้ว่า คนกินผัก จะไม่เป็นโรคนั้นโรคนี้ ผมยืนยันเสมอว่า อาจเป็นโรคนั้น โรคนี้ได้ แต่โอกาสน้อยกว่า คนกินเนื้อสัตว์

ส่วนการสวนทวารด้วยการใช้น้ำกาแฟอุ่นเกินไปหน่อย ไม่ใช่สาเหตุของการเจ็บป่วยครั้งนี้ (ถ้าไม่ยืนยัน สมาชิก "เราคิดอะไร" ที่เคยรักษาได้ผล เพราะการสวนทวาร ด้วยน้ำกาแฟ เกิดเชื่อผม เลิกหมด จะเสียหายกันใหญ่)

คุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งท่านเคยเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เมื่อ ๕๒ ปีที่แล้ว (สมัยนั้นชื่อ โรงพยาบาลหญิง) ท่านกรุณาไปเยี่ยม และสอนว่า "เราต้องเป็นหมอให้แก่ตัวเราเอง ดูแลรักษาสุขภาพ อย่าไปหวังพึ่ง แต่หมอ"

ท่านสมณะโพธิรักษ์ กรุณาโทรศัพท์เทศน์เตือนว่า "อายุจะขึ้นเลข ๗ อยู่แล้ว ไม่ได้หนุ่ม เหมือนเมื่อก่อน ต้องไม่ประมาท"

สรุป ผมป่วยเพราะทำตัวเองแท้ๆ ต่อไปจะต้องเคร่งครัด เคี้ยวข้าวช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด นึกถึงตอนไป ปฏิบัติธรรม ที่สันติอโศกใหม่ๆ พอถึงเวลากินข้าว พระท่านจะเตือน ให้เคี้ยวคำละ สามสิบ สี่สิบครั้ง เพิ่งเห็นสรรพคุณ คราวนี้เอง

ใครไม่รู้เอาไปลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (หน้าข้างใน) บอกเสร็จว่า ผมป่วยเป็นโรคอะไร รักษาอยู่ที่ตึกไหน แถมท้ายว่า "ใครๆ เป็นแฟนก็ไปเยี่ยมกันเสีย" ตื่นเช้า พอผมลงจากเตียง ก็พบท่านที่รู้จักมักคุ้น นั่งยิ้มเผล่ รออยู่แล้ว กลุ่มนี้ออกไป กลุ่มใหม่เข้ามา บางทีเข้ามาพร้อมๆ กัน ห้องกว้างแค่ไหน ก็มีที่ไม่พอจะนั่ง ตั้งแต่เช้า จรดค่ำ ประมาณเกือบสามทุ่ม แขกถึงได้ซา

มีเรื่องสนุกๆ ให้คุณศิริลักษณ์ (ซึ่งเฝ้าไข้) ได้ทำตลอดเวลาคือ จะขนกระเช้าผลไม้ กระเช้าดอกไม้ ไปแจกจ่าย ใครต่อดี เพราะท่านที่รู้จักนับถือ ขนกันไปมาก ผลไม้บางกระเช้าหนัก ยกแทบไม่ไหว ดีไม่ดี คนเฝ้า จะกลายเป็น คนไข้เสียเอง

เป็นน้ำใจไมตรีของคนที่รักกัน เมื่อรู้ก็อดไปเยี่ยมไม่ได้ นับเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมมีโอกาสคุยกับคน หลายคน คุยกันได้ หลายเรื่องจริงๆ ที่ผ่านมา คุยกับใครได้ ประเดี๋ยวเดียว ผมต้องรีบขอตัว ไปทำอย่างอื่นแล้ว

ฉบับนี้ผมเล่าเรื่องการป่วยไข้ของคนๆ หนึ่งในรอบ ๖๙ ปี คงเป็นประโยชน์ ช่วยเตือนผู้ที่ยังประมาท เหมือนผม

อย่าลืมหาหนังสือ "พลเอก ประสาร เปรมะสกุล กับมะเร็งต่อมลูกหมาก" อ่านเสียนะครับ

คราวหน้า ติดต่อกันจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต หวังว่าผมคงไม่ต้องพบ ไม่ต้องเขียนเรื่องป่วยๆ ไข้ๆ อีก อย่างแน่นอน

ผมสั่งจิตใต้สำนึก หลังการสวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็นทุกวันว่า
"ผมจะอยู่ร้อยปีอย่างชีวีเป็นสุข
ผมจะอยู่ร้อยปีอย่างชีวีเป็นสุข
ผมจะอยู่ร้อยปีอย่างชีวีเป็นสุข"

จะเป็นจริงตามนั้นได้ก็ต่อเมื่อผมไม่ประมาทและไม่มีวิบากกรรม ขอให้ท่านสมาชิก "เราคิดอะไร" จงอยู่ร้อยปี ชีวีเป็นสุข เช่นกัน

(หมายเหตุกอง บ.ก. หนังสือพลเอกประสาร เปรมะสกุล กับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มีจำหน่ายที่ธรรมทัศน์สมาคม
๐-๒๓๗๕-๔๕๐๖)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖)