>เราคิดอะไร

คนบ้านนอกบอกกล่าว - จำลอง ศรีเมือง -

ถ้าไม่ได้ไปกินไปนอนอยู่กับชาวไร่ชาวนาติดต่อกันหลายปี คงไม่รู้ซึ้งว่าดินฟ้าอากาศ มีผลต่อการทำไร่ ไถนาแค่ไหน แล้ง ไม่ดีก็รู้กันอยู่แล้ว ฝนตกหนักก็ไม่ดีอีก ฝนฟ้าอยู่นอกเหนือการควบคุม เกษตรกรจึงต้องเสี่ยงตลอด

ปัญหาใหญ่สุดของบ้านเมืองที่ต่อเนื่องกันมายาวนานคือ เกษตรกรรายย่อยยังเอาตัวรอดไม่ได้ โรงเรียนผู้นำ จึงกำหนดไว้เคร่งครัดว่า ในช่วงหนึ่งของการฝึกอบรมนั้น นักเรียน (อายุ ๒๕-๕๕ ปี) จะต้องรับรู้และจับจอบ จับเสียม เป็นเกษตรกรจริงๆ ไม่ว่าจะรวยเงินรวยความรู้แค่ไหน หรือจบจากโรงเรียนผู้นำแล้ว จะไปนั่ง หอคอยงาช้างต่อก็ตาม

เดือนสิงหาคมเหมือนเดือนก่อนๆ ฝึกอบรมไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มีทั้งหลักสูตรสำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัย สำหรับข้าราชการประชาสัมพันธ์ระดับผู้บังคับบัญชาจากทั่วประเทศ และหลักสูตร สำหรับผู้บริหารบริษัท สำหรับผู้บริหารทั่วไป (ซึ่งรุ่นที่แล้วมีถึง ๑๖๙ คน มากที่สุดตั้งแต่ตั้งโรงเรียนมา)

เมื่อถึงชั่วโมงเกษตรที่ตั้งชื่อว่า "โลกสวยด้วยมือเรา" จะเน้นให้นักเรียนตระหนักว่า เกษตรกร จะเอาตัวรอดได้ ต้องทำ ๒ อย่าง คือ ลดต้นทุนการผลิต ด้วยการเลิกใช้สารเคมีและเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ติดอบายมุข ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ก่อหนี้สิน ไม่ซื้อเชื่อ ไม่ซื้อด้วยเงินผ่อน

เกษตรกรล่มสลายมามากต่อมากแล้ว เพราะเอาชีวิตไปฝากไว้กับ"เถ้าแก่" อยากได้อะไร ก็เบิกจากเถ้าแก่ ไปก่อน เมื่อได้ผลผลิตไร่นาก็เอาไปใช้คืน เบิกข้าวสาร เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เบิกง่าย สบายดี ไม่รู้ว่าตัวเองลงทุนไปเท่าไร พืชผลที่ปลูกไว้ไม่พอใช้หนี้ ในที่สุดก็ต้องยกที่ดินให้ "เถ้าแก่" ไปตามระเบียบ

ในวงการค้าขายใช้คำฝรั่งว่า "เครดิต" ซึ่งแปลว่า น่าเชื่อถือ ใครสามารถซื้อเชื่อ ซื้อผ่อน ค้างชำระเงิน เป็นจำนวนมากเท่าไร นานแค่ไหน ถือว่ามี "เครดิต" มากเท่านั้น เรื่องนี้มีมานานแล้ว และนับวัน จะมีมาก ยิ่งขึ้น สมัยก่อนนายทหารที่จบมาใหม่ๆ นิยม "กินสโมสร นอนสโมสร" ไม่ใช้เงิน ใช้แค่ลายมือชื่อ อยากกิน อยากใช้อะไรซื้อเชื่อหมด เป็นหนี้สินอีรุงตุงนัง เพราะทำตัวเป็นคนมีเครดิต

ชาวอโศก(ฆราวาสที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสันติอโศก) เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านเรื่องนี้ จากประสบการณ์ ชีวิตที่ผ่านมา เรามั่นใจว่า
"หนี้คือวิธีสร้างทุกข์ และทำลายสังคม ซื้อขายเงินสดงดเชื่อคือเครดิตเหนือเครดิต"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๘ กันยายน ๒๕๔๖)