>เราคิดอะไร

บ้านป่านาดอย - จำลอง ศรีเมือง -

ช่วงเข้าพรรษาปีนี้ฝนตกเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้บ้านป่าเขียวชอุ่มทั้งบริเวณที่เป็นพื้นราบ และบนภูเขามองทางไหนเขียวไปหมด เป็นที่ดีอกดีใจของชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ต่างทยอยเดินตามกัน เป็นแถว ผ่านเข้าไปหาหน่อไม้ในป่าและบนภู ป่าเป็นศูนย์การค้าของชาวพื้นบ้านมาตั้งแต่ไหนแต่ไร อยากได้อะไรก็เข้าป่า ทั้งอาหาร ยา และไม้สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย

ส่วนเห็ดโคนนั้นปีนี้มีน้อย ผมย้ำกับชาวบ้านป่าคณะเราว่า ถ้าหาเห็ดโคนได้ให้เอาไปขาย อย่ากิน เห็ดโคน ราคาแพงถึงกิโลกรัมละ ๓๕๐ บาท ขายเห็ดโคนไปซื้อเห็ดนางฟ้าดีกว่ากิโลกรัมละ ๓๕ บาทเท่านั้น ผมเห็นใคร ซื้อเห็ดโคนผมเสียดายเงิน

วันก่อนนั่งรถแท็กซี่จากสถานี บขส.กาญจน์เข้าโรงเรียนผู้นำ คนขับบ่นอุบ ออกพรรษาปีนี้เงียบผิดปรกติ ไม่ใคร่มีใครกลับไปเยี่ยมบ้าน คงไม่มีเงินใช้ ไม่เหมือนปีก่อนๆ พอถึงวันออกพรรษานั่งรถกลับกาญจน์ กันแน่นเอี้ยด ลงจากรถประจำทางต่างแย่งกันเรียกรถแท็กซี่ ปีนี้กลับกัน

จังหวัดอื่นๆ ท้องที่อื่นๆ คงมีสภาพเหมือนกัน แสดงว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นนัก คนจนยังเต็มบ้านเต็มเมือง

วันที่ ๑ ตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลประกาศเป็นวันประวัติศาสตร์ รวมพลังขจัดความยากจนให้หมดไป จากเมืองไทย ประกาศที่ห้องประชุมกระทรวงต่างประเทศ ก่อนประกาศผู้สื่อข่าวต่างนึกว่า เป็นการแถลง ควันหลง ของการประชุมเอเปคเสียอีก

รัฐบาลจะมุ่งแก้ปัญหาคนยากจน ๘ ถึง ๙ ล้านคน ยืนยันว่าจะเลิกทาสทุนนิยมให้แก่ประชาชนที่อ่อนแอ เมื่อเร็วๆ นี้ท่านนายกฯทักษิณกล่าวว่าทุนนิยมต้องคู่กับประชาธิปไตย สรุปก็คือ ไทยเป็นประเทศทุนนิยม ประชาธิปไตย ซึ่งก็ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วจะเลิกทาสทุนนิยมด้วยวิธีใด เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องติดตามต่อไป

ตุลาคมเดือนเดียวกันนี้ วันที่� ๒๓ วันปิยมหาราช ที่พสกนิกรรำลึกถึงพระคุณของ สมเด็จพระปิยมหาราช ที่ทรงเลิกทาสได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

การเลิก ทาสทุนนิยมยากลำบากไม่แพ้การเลิก ทาสเรือนเบี้ยท่านนายกฯ ประกาศจะใช้วิธีรวมพลัง ประชาชน เข้าตะลุมบอนเอาชนะความยากจน ที่จริงทุกรัฐบาลที่ผ่านมาต่างก็มุ่งขจัดความยากจนทั้งนั้น แต่ยังทำไม่สำเร็จ เคยมีการตั้งหน่วยงาน ตั้งโครงการเฉพาะขึ้นมาเพื่อการนี้ เช่น ตั้ง "กรมพัฒนาชุมชน" "สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท" "กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง)" เป็นต้น ในสมัยท่านนายกฯ เปรม ก็ตั้ง"โครงการสร้างงานในชนบท" ทุกหน่วยงาน ทุกโครงการ ล้วนมีเป้าหมาย ช่วยพิชิตความยากจนทั้งสิ้น

รัฐบาลให้ประชาชนและคนที่เดือดร้อนเรื่องต่างๆ ไปลงทะเบียนเพื่อเป็นข้อมูล มุ่งเข้าปัญหา ๓ เรื่อง คือ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และเงินทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า แม้เราจะพัฒนาด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ของ ทั้งประเทศ ก็ยังคงเป็นเกษตรกร และจำนวนมากที่สุดเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เอาตัวรอดไม่ได้ เขาพอหาที่ทำกินได้ มีบ้าน และไม่ถึงกับขาดแคลนเงินทุน รัฐบาลต้องมีคำตอบแน่ชัดว่าจะให้เขาทำอะไร ทำวิธีไหนจึงจะพอกิน พอใช้ ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน เมื่อแก้ปัญหานี้ได้แล้วจึงเพิ่มเติมด้วยการแก้ปัญหา ๓ เรื่องดังกล่าวจะดีกว่า

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างเกิดขึ้นมากมาย ที่เกษตรกรรายย่อยสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ ธนาคาร ธ.ก.ส.ยกย่องเป็น ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นแบบอย่างของชาวไร่ชาวนาได้เป็นอย่างดี

ที่แล้วมา เกษตรกรรายย่อยได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อเอาชนะ ความยากจน ซึ่งจะต้องทำอย่างน้อย ๒ ประการควบคู่กันไป คือ การลดต้นทุนการผลิต และ การเปลี่ยน วิถีชีวิต ถ้ารัฐบาลจะช่วยเรื่องอื่นเพิ่มเติมก็ยิ่งดีใหญ่ เช่น การหาตลาด เป็นต้น

หากไม่ทำ ๒ อย่างนั้น ต่อให้มีที่ดินสุดลูกหูลูกตา มีบ้านใหญ่โต มีเงินทุนมากมายก็เจ๊ง

ต้นทุนการทำการเกษตรไปจมอยู่ที่สารเคมี คือปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้าเสียมากมาย ขายผลผลิต ได้เท่าไร สารเคมีเอาไปกินหมด ปัจจุบันด้วยการอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน เราสามารถทำการเกษตร ได้ผลผลิตเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิมโดยไม่ใช้สารเคมีเลย (ไร้สารพิษ ๑๐๐ %) เมื่อรัฐบาลยืนยัน จะเลิกทาส ทุนนิยม จะกล้าเผชิญกับนายทุน ที่ผลิตที่ขายสารเคมีการเกษตรไหม ด้วยการสนับสนุนเกษตรกร ทั่วประเทศ อย่างเต็มที่ให้เลิกใช้สารเคมี ประกาศสงครามกับสารเคมี เหมือนประกาศสงครามกับยาบ้า

อีกเรื่องหนึ่งของการเอาชนะความยากจนให้อยู่หมัด ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การลดต้นทุน การผลิต เกษตรกรจำนวนมากใช้เงินเกินตัว หลงมัวเมาอยู่กับอบายมุข ทั้งเหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติดต่างๆ และการพนัน (รวมทั้งหวยบนดินของรัฐบาลด้วย) ถ้าไม่พยายามให้คนในชาติเปลี่ยนวิถีชีวิต ละ ลด เลิกอบายมุข ต่อให้ฝนทุกเม็ดตกลงมาเป็นทองคำ ก็ยังจนซ้ำซากอยู่ดี

องค์กรเอกชนและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการขจัดความยากจนได้ประชุมหารือกันอย่างจริงจัง และเสนอ ท่านนายกฯ ไปหลายเดือนแล้ว ยังเงียบอยู่ หลังการปรับคณะรัฐมนตรี พอนายกฯ มีเวลาว่างๆ จะหาโอกาส เสนออีก

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เป็นอยู่ในขณะนี้รัฐบาลมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้ชนิดถอนรากคอนโคน นักวิชาการ จำนวนไม่น้อยที่เห็นตรงกันข้าม มองว่าเศรษฐกิจทุนนิยม บวก "การค้าเสรี" ซึ่งเป็นความสำเร็จ ของการประชุมเอเปค จะทำให้คนจนมีจำนวนมากขึ้น ประเทศทุนนิยมยักษ์ใหญ่ไม่กี่ประเทศที่ร่ำรวย ประเทศที่ยากจนอยู่แล้ว (อย่างประเทศไทย) จะจนลงอีก

รัฐบาลและประชาชนคนเดินถนนอย่างเราฟังคำทำนายทายทักในทางร้ายไว้บ้างก็ดี ถ้าอนาคตสถานการณ์ เลวร้ายตามนั้น เราจะได้ไม่ทุกข์มาก ลองฟังบางตอนจากการพูดของนักวิชาการท่านหนึ่ง ในการอภิปราย เรื่อง อนาคตเศรษฐกิจและสังคมไทย อาจารย์วิทยากร เชียงกูล จากมหาวิทยารังสิตยืนยัน

"ขณะนี้เราถูกทำให้เห็นว่าการจะพัฒนาเศรษฐกิจได้ ต้องแข่งขันกับต่างชาติ ความจริงเป็นการสร้างภาพฝัน เพื่อให้เป็นจริง เราเป็นทุนนิยมที่เพิ่งเริ่ม ไม่ใช่ทุนนิยมที่เติบโตแล้ว ทุนนิยมของเราต้องใช้เงินทุนอีกมาก ทำให้เรา เสียเปรียบต่างชาติมาก ยิ่งส่งเสริมการค้าเสรีเท่าไร ยิ่งนำเข้ามากเท่านั้น และจะทำให้เราเป็นหนี้ มหาศาล..."

"การที่นายกฯบอกว่าเศรษฐกิจเติบโต ๖ % คนจะรู้สึกว่ามีรายได้มากขึ้น เราถูกทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจ ดีขึ้นแล้ว แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ถ้าจะวัดจากการที่บ้านจัดสรรขายได้ รถขายได้ นั้น

มีเพียงคนมีอำนาจซื้อกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ซื้อสินค้าเหล่านั้น และสินค้าเหล่านั้นก็เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ถ้ามาดูภาพรวม จะเห็นว่าคุณภาพชีวิตของคนยังไม่ดีขึ้น..."

"ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาโครงสร้างที่ไม่สมดุล เป็นการแข่งขันที่เสียเปรียบ และถูกหลอกให้เปิดเสรีทางการค้า เราก็หลงละเมอ นโยบายของประเทศเรากำลังเดินทางผิด แม้พรรคไทยรักไทยจะแสดงว่า มีนโยบาย กระจายรายได้ สู่ชนบทมากขึ้น แต่จริงๆ ก็คือสินเชื่อ ไม่ใช่การปฏิรูปการเกษตร ไม่กล้าเปลี่ยนโครงสร้างภาษี โดยเก็บภาษีคนรวย"

ตัวอย่าง เรื่องขายของได้เฉพาะกับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่มีอำนาจซื้อ และสินค้านั้นเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อค่ำวานนี้ ก่อนที่ผมจะส่งต้นฉบับ ผมเข้าไปทำธุระในเมือง ภาพที่เห็นเป็นภาพเดิม ติดถนนใหญ่ ที่ทำเลดีมาก มีของวางขายในเต็นท์เรียงรายกันหลายสิบเต็นท์ ส่วนใหญ่เป็นของประจำวัน ที่จำเป็นต้องใช้ ปรากฏว่า มีแต่ของกับคนขาย คนซื้อไม่มี คนจนไม่มีเงินซื้อของที่จำเป็นต้องใช้

ก่อนการประชุมเอเปค คาดกันว่าแม้จะเป็นการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจก็ตาม สหรัฐจะต้องเอาเรื่อง การก่อการร้าย เข้ามายุ่งด้วยแน่ เป็นจริงตามคาด ในการประชุมเอเปคที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.มหาธีร์ นายกรัฐมนตรีติดต่อกัน ๒๒ ปีของมาเลเซีย คัดค้านว่า เอเปคเป็นเวทีหารือด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่เวที หารือทางการเมือง การทหาร หรือ ความมั่นคง สหรัฐไม่ฟัง

พลเอก คอลิน เพาเวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐใช้เวทีการประชุมเอเปค พยายามโน้มน้าวให้ประเทศ สมาชิก เข้าเป็นหุ้นส่วนต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พูดอย่างแข็งกร้าวว่า สหรัฐจะเข้ายึดครองประเทศเผด็จการ (ประเทศที่สหรัฐเชื่อมั่นว่าเป็นประเทศก่อการร้าย หรือ สนับสนุน การก่อการร้าย) แล้วสหรัฐจะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเอง (เหมือนกับที่ทำกับอิรักขณะนี้)

ได้กล่าวเน้นว่า "การค้าเสรีจะไม่มีความหมาย ถ้าการก่อการร้ายได้สร้างความหวาดกลัว ให้คนไม่กล้า เดินทาง ไปตามทางประชาธิปไตย" หรือพูดสั้นๆ ว่าเศรษฐกิจจะดีไปไม่ได้ถ้ายังมีการก่อการร้าย ซึ่งก็มี เหตุผล แต่การยุติ การก่อการร้ายนั้น สหรัฐใช้วิธีทำลายล้างผลาญท่าเดียว จะเกิดการล้างแค้น กันเรื่อยไป ยากที่จะสิ้นสุด

อเมริกาทราบดีว่าการก่อการร้ายมีสาเหตุมาจากอะไร ต้องแก้ตรงนั้น ตึกเวิลด์เทรดถูกถล่ม ไม่ใช่เพราะ ผู้ก่อการร้ายต้องการ ทำลายเศรษฐกิจ หรือเข้ายึดครองอเมริกา แต่เป็นเพราะความเคียดแค้นชิงชัง ที่อเมริกา ไปข่มเหงรังแก เอารัดเอาเปรียบ เมื่อหาทางออกไม่ได้ จึงใช้วิธีถล่มเพื่อเตือนให้รู้สึก เตือนให้เพลาๆ ลง เตือนให้กลับตัวมาเป็นประเทศที่ใจดี มีความกรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลประเทศที่อ่อนแอกว่า ซึ่งถ้าทำเช่นนั้น จะเป็นการหยุด การก่อการร้ายได้อย่างถาวร และไม่เสียเลือดเนื้อ แปลกที่ไม่มีใครเสนอวิธีการง่ายๆ อย่างนี้ ในการประชุมเอเปคเลย

การเดินทางไปเกาหลีใต้เมื่อต้นเดือนกันยายน ขณะเดินทางเรามีเวลาคุยกันเต็มที่ ผมคุยกับผู้ที่มี ประสบการณ์ ในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายมาอย่างโชกโชน ทั้งในและนอกประเทศ ในประเทศคือ พล.ต.ท.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส วีรบุรุษนาแก นอกประเทศก็พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เพื่อนนักเรียนนายร้อย รุ่นเดียวกับผม ซึ่งได้เงินเพิ่มสู้รบถึง ๑๖ ขั้น มากที่สุดในกองทัพไทย เราเห็นตรงกันว่า ผู้ก่อการร้าย ที่กำลังก่อกรรม ทำเข็ญกับอเมริกานั้น ต่อต้านปราบปรามยากยิ่งกว่าในอดีตมาก

สมัยก่อนผู้ก่อการร้ายกลัวตายเหมือนๆกับเรา สมัยนี้ไม่กลัว เอาระเบิดผูกติดตัววิ่งชนได้ทุกเมื่อ เชื่อมั่นว่า ตายแบบนั้นได้ไปสวรรค์ ระเบิดพลีชีพ เป็นยุทธวิธีกระจอกๆ ที่อเมริกาเปิดตำราไม่ทัน มีข่าวเป็นประจำว่า ทหารอเมริกา ถูกระเบิดพลีชีพ อาทิตย์ละกี่ครั้ง เสียทหารไปรวมทั้งหมดเท่าไร นับตั้งแต่วันที่ประธานาธิบดี อเมริกา ประกาศชัยชนะเหนืออิรัก

ประธานาธิบดีบุช ไปที่ไหนก็ถูกชุมนุมประท้วงทั้งในและนอกประเทศ จนกล่าวติดตลกเมื่อมาประชุมเอเปค ที่เมืองไทยว่า ถ้าเขาไม่ถูกประท้วงต่อต้านนั่นแหละ ถือเป็นเรื่องผิดปรกติเอาทีเดียว พูดคล้ายๆ เตือนนายกฯ ไทยว่า อย่าไปห้ามการชุมนุมต่อต้านเลย ห้ามอย่างไรก็ห้ามไม่อยู่

ที่อเมริกา นับวันจะมีเสียงเรียกร้อง จะมีการกดดันภายในประเทศมากขึ้น ให้ประธานาธิบดีบุช กลับตัว กลับใจ เสียใหม่ ทหารอเมริกันถูกระเบิดพลีชีพอยู่เรื่อยๆ ประชาชนทนไม่ไหว เพราะต่างก็ไม่รู้ว่า เมื่อไร จะถึงคราว เคราะห์ร้าย สำหรับญาติของตัวที่เป็นทหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก ประกอบกับการที่รัฐบาล อเมริกัน ใช้จ่ายเงินมหาศาล ในการทำสงคราม และเข้ายึดครองอิรัก ทำให้เกิดความไม่พอใจยิ่งขึ้น

ประธานาธิบดีสหรัฐจึงใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะขอร้องประเทศนั้นประเทศนี้ ให้ส่งทหารเข้าไปในอิรัก เพื่อลด การสูญเสียทหารอเมริกัน จะได้ถูกประชาชนด่าน้อยลง และใช้เงินน้อยลง แรกทีเดียว มีประเทศ ที่เอาด้วยน้อยมาก ต่อมาสหรัฐใช้กลยุทธ์ทุกอย่าง ทั้งไม้นวมไม้แข็ง จึงมีการส่งทหารไปเพิ่มเติม อีกหลาย ประเทศ

อเมริกาไม่เชื่อฟังมติของคณะมนตรีความความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เตือนว่าอย่าบุกอิรัก อเมริกาอ้างว่า อิรักมีอาวุธร้ายแรงสะสมไว้ เป็นอันตรายต่อชาวโลก เมื่อเข้ายึดอิรักได้ มีการตรวจสอบอย่างละเอียด ปรากฏว่า ไม่มีอาวุธร้ายแรงตามที่อ้างเลย

ขณะนี้สหรัฐต้องใช้เงินในการยึดครองอิรักถึงเดือนละ ๒ หมื่นล้านบาท กระทบอย่างแรงต่อฐานะการเงิน ทำให้ขาดดุล งบประมาณถึง ๒ ล้านล้านบาท (เอาเงินมากองกองละ ๑ ล้านบาท นับให้ได้ ๒ ล้านกอง) ขาดดุล มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสำหรับอเมริกา

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักสำมะโนประชากรของสหรัฐสำรวจพบว่า คนจนเพิ่มขึ้นจาก ๓๒ ล้าน ๙ แสนคน เป็น ๓๔ ล้าน ๖ แสนคน ชาวอเมริกันเริ่มรู้ตัวว่าฐานะของประเทศและของประชาชน จนลงกว่าเดิม อย่างเห็นได้ชัด เป็นเพราะการตัดสินใจผิดพลาด ของผู้นำสหรัฐแท้ๆ

การประชุมเอเปคคราวนี้ขาดผู้นำ ที่สำคัญมากไป ๑ คน คือ นายโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องเข้าโรงพยาบาล อย่างเร่งด่วน ก่อนการประชุมเอเปค ๑ วัน เพื่อรักษาโรคหัวใจ สาเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ของโรค คือความเครียดเรื่องสงครามอิรัก ถูกชาวอังกฤษต่อว่า สาดเสียเทเสีย เช้าสายบ่ายเย็น เนื่องจาก นายแบลร์ตัดสินใจผิดอย่างมหันต์ ที่พาประเทศอังกฤษเข้าร่วมกับสหรัฐ ทำสงครามอิรัก

มาดูทางประเทศไทยบ้าง แม้รัฐบาลจะประกาศว่าส่งทหารไทยไปอิรักเพื่อปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ไม่เกี่ยว กับการสู้รบก็ตาม ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายๆ คน ซึ่งรวมทั้งสมาชิกรัฐสภากลุ่มหนึ่งด้วย

ผิดกับเมื่อครั้งที่เราส่งทหารไทยไปรบในลาวและเวียดนาม ตอนนั้นไม่มีใครค้าน เพราะเห็นอยู่ชัดๆว่า ถ้าไม่ออกไปป้องกันที่รั้วบ้าน ศัตรูจะบุกเข้าบ้านอย่างแน่นอน แต่สำหรับกรณีนี้ อิรักอยู่ห่างจากบ้านเรา ไกลแสนไกล หลายคนจึงเห็นว่า ไม่ควรเสี่ยง

ถือเป็นการเสี่ยง เพราะควันสงครามยังไม่จาง ควันระเบิดพลีชีพก็กำลังคุกรุ่นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากทหารเรา เป็นอะไรไป รัฐบาลตกเป็นจำเลยแน่ นายกฯ ทักษิณต้องถูกโจมตีอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเสี่ยงครั้งนี้คงตรงกับ ศัพท์ทางทหารว่า เป็นการเสี่ยงที่ใคร่ครวญแล้ว คงบวกลบคูณหารเรียบร้อยแล้ว เห็นว่าได้มากกว่าเสีย จึงส่งทหารไป

สำหรับตัวทหารเอง คงคิดเหมือนเมื่อสมัยผมหนุ่มๆ ไปรบที่ลาวและเวียดนาม คิดตามความเป็นจริงว่า "ไม่ถึงคราวตายก็ไม่วายชีวาวาตม์ ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ" ส่วนญาติพี่น้องต้องห่วงใยมากแน่นอน จนกว่า จะครบวาระเดินทางกลับ (ตอนผมไปลาว คุณศิริลักษณ์ไม่ห่วงเลย เพราะผมโกหกว่า อยู่อย่างสบาย ที่ บก.๓๓๓ อุดรธานี แท้จริงอยู่ซำเหนือโน่น)

เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ผมได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้ไปร่วมในพิธีรัฐบาลมอบเงิน ๒๐ ล้านบาท ให้องค์การสหประชาชาติ ซื้อข้าวสารช่วยชาวอิรัก ในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมการ "รวมน้ำใจ ชาวไทยสู่ชาวอิรัก" ต่อมาได้เลื่อนวัน ผมงง ขอให้เลขานุการคณะ สอบถามกระทรวง การต่างประเทศ ก็ไม่ได้รับคำตอบ ที่กระจ่างชัด

ประชาชนกลุ่มหนึ่งเพิ่งฝากข้าวสารงวดสุดท้ายกว่า ๖๐๐ ตัน ไปกับกองกำลังทหารไทยไปให้อิรัก ทำไมรัฐบาล ไม่ฝากไปบ้าง (ฝากไปกับทหารของรัฐบาล) ถ้าให้ทหารเราเอาข้าวสารติดไม้ติดมือไป จะยิ่งเป็นการยืนยันว่า ทหารไทยไปอิรัก เพื่อมนุษยธรรมจริงๆ และโอกาสที่ทหารไทย จะโดนระเบิดพลีชีพ จะน้อยลง

บางครั้งรัฐบาลทำอะไรแปลกๆ ที่ประชาชนไม่เข้าใจ

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-