อเทวนิยมคือเครื่องบ่งชี้ความเป็นพุทธ

แม้เราจะมีพุทธศาสนิกชนไม่ต่ำกว่า ๙๐% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ก็จำแนกออกได้ยากว่า ใครเป็นเทวนิยมหรืออเทวนิยม เพราะพิธีกรรมในพุทธศาสนาก็เต็มไปด้วยการบนบานศาลกล่าว การสวดอ้อนวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลเช่นเดียวกับศาสนาเทวนิยม

แต่จะนับว่าอยู่ในกลุ่มของเทวนิยม ศาสนาที่นับถือพระเจ้าทั้งหลายก็คงลำบากใจเพราะส่วนใหญ่ เขามีกฎเหล็กห้ามนับถือบูชารูปปั้นที่จะใช้เอามาเป็นตัวแทนของศาสดา เพราะคนจะไปติดยึดกันแค่รูปปั้น เลยไม่เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เหมือนชาวพุทธที่มีความเชื่อ กันว่าพระพุทธรูปทองคำมีความน่าศรัทธามากกว่าพระพุทธรูปที่ทำจากอิฐหินดินปูนธรรมดา
เมื่อพระพุทธรูปทองคำดีกว่าพระเนื้อสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปรุ่นทวาราวดีเจ๋งกว่าพระพุทธรูปรุ่นศรีอยุธยา หรือพระพุทธรูปที่ปลุกเสกโดยพระอาจารย์ รูปนั้น มีฤทธิ์เดชมากกว่าพระพุทธรูปที่ปลุกเสกโดยหลวงตารูปนี้ เลยก่อให้เกิดการปั่นหุ้นปั่นราคากันขึ้นมา จนเกิดการค้ากำไรเกินควรทำให้เกิดสำนวน "พุทธพาณิชย์" ขึ้น
แต่ดูเหมือนว่าสำนวนของท่านเจ้าคุณพยอม (พระพิศาลธรรมพาที) จะบ่งชี้ว่าศาสนาพุทธทรุดหนักเกินกว่าพุทธพาณิชย์ เป็น ไสยพาณิชย์ ไปแล้ว ซึ่งท่านได้ออกมาสนับสนุนในการที่สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ จะออกกฎควบคุมการผลิตพระเครื่องพระบูชา หรือการอวดอ้างคุณวิเศษต่างๆ ซึ่งท่านเจ้าคุณได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
"เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการคุมเข้มการผลิต เพราะที่ผ่านมาผลิตกันโดยไม่ต้องขออนุญาตจนเละเทะไปหมด บางวัดก็ใช้วิธีการต่างๆ อวดอ้างสรรพคุณ อย่างวัดหนึ่งเอาพระเครื่องไปแช่น้ำหมากกับน้ำปัสสาวะให้ดูขลัง แล้วก็ไปโฆษณาให้ประชาชนมาเช่า เดี๋ยวนี้วัดหลายวัดเน้นไสยพาณิชย์มากกว่าพุทธพาณิชย์เสียอีก
ท่านเจ้าคุณพยอมกล่าวว่า อยากให้วัดต่างๆเอาธรรมะนำพระเครื่อง ไม่เช่นนั้นประชาชน ก็จะเชื่อความขลังของพระเครื่อง มากกว่าที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ" (จากมติชน ๑๓ มี.ค. ๒๕๔๗)

"ทุกวันนี้พวกเราเอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู" คือสำนวนที่ท่านพุทธทาส อธิบายพฤติกรรม การดำเนินชีวิตของชาวพุทธในยุคปัจจุบัน จึงทำให้วิถีชีวิตหลุดออกมาทั้งอเทวนิยม และเทวนิยม แต่ตกมาอยู่ที่ไสยนิยมแทน ซึ่งชาวบ้านพร้อมที่จะไหว้อะไรก็ได้ ไม่ว่าเป็นต้นกล้วย ต้นไม้ ปลาไหลเผือก วัว ๕ ขา บั้งไฟพญานาค กุมารทอง หรือปลัดขิก ทั้งวัตถุมงคลและอัปมงคล

จึงทำให้ชาวพุทธที่หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน กลายเป็นผู้หลง-ผู้หลับใหล-ผู้ทุกข์ใจ เข้ามาแทน สยามเมืองยิ้ม กลายเป็น สยามเมืองหุบ คตินิยมที่เชื่อกันว่าทำดีได้ดี ถูกเปลี่ยนเป็น ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป
ความเป็นพุทธจะกลับมาผงาดผุดผ่องสดใสอีกครั้งถ้าชาวพุทธต่างเชื่อมั่นใน "กรรม" ของตนว่า ศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ไม่ต่างจาก "GOD" หรือพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย และกรรมหรือการกระทำใดๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม เมื่อได้กระทำลงไปด้วยเจตนา ทุกๆ กรรมก็จะสั่งสมลงเป็น "ทรัพย์ของตนๆ" ถ้าทำดีก็จะเป็นทรัพย์ดี ถ้าทำชั่วก็ย่อมเป็นทรัพย์ชั่ว ย่อมส่งผลหรือดลบันดาลให้ชีวิต เกิดวิบากดีมีสุข หรือวิบากชั่วทุกข์ร้อนแสนสาหัสไปชั่วนิจนิรันดร์ จนกว่า จะปรินิพพานนั้นนั่นเทียว
เมื่อใดที่ชาวพุทธหันกลับมาพึ่ง "กรรม" และพึ่ง "ตน" (อัตตา หิ อัตตโน นาโถ) เมื่อใดที่พึ่งตนจนเป็นที่พึ่ง ของผู้อื่นได้ เมื่อนั้นคือดัชนี้ชี้ค่าความเป็นพุทธแท้ๆ นั่นเทียว

- จริงจัง ตามพ่อ -