ข้าพเจ้าคดอะไร
- สมณะโพธิรักษ์ - กำไร ขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๖๔) ลองคิดคะเนเอาก็ได้ว่า สังคมที่เต็มไปด้วยมวลมนุษย์ซึ่งต่างก็มี "จรณะ ๑๕" หรือต่างก็มี ความประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในทางบรรลุวิชชา ๙ กันเป็นส่วนมากนั้น จะเป็นสังคมที่อยู่ดี มีสุขกันปานใด และสงบอบอุ่นขนาดไหน คำว่า"พุทธบริษัท"แท้ๆ นั้นหมายถึง กลุ่มหมู่ประชาชนที่เป็นชาวพุทธ ผู้มี "เนื้อแท้เนื้อธรรม อันเป็นอาริยะ" ของคนทั้ง ๔ สภาพ ซึ่งหมายเอาทั้งคนที่อยู่ในรูปของผู้เป็น "ภิกษุภิกษุณี" และทั้งผู้ที่เป็น "ฆราวาส"ด้วย อย่าลืมว่า ฆราวาสก็เป็น "สมณะหรืออาริยบุคคล" ได้ และ ต้องเป็นจริง มีจริงด้วย จึงจะเป็น "พุทธบริษัท ๔" ที่แท้ ดังนั้น สังคมที่ชื่อว่า "พุทธบริษัท" จริงๆ ก็คือ กลุ่มหมู่ชุมชนที่มีประชากรล้วนเป็น "อาริยบุคคล ๔" กันเกือบทั้งกลุ่ม หรือส่วนมาก ได้แก่ คนที่เป็นโสดาบัน ซึ่งก็คือ ผู้ที่บรรลุ "ศีล ๕" หรือมี "ศีล ๕" บริสุทธิ์ (ศีลสัมปทา) และจุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล ในส่วนที่เหมาะสมกับฐานะ สกิทาคามีก็ "ศีล ๘" บริสุทธิ์ และจุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล ที่เหมาะสมฐานะยิ่งขึ้น อนาคามีก็มี "ศีล ๑๐" บริสุทธิ์ และจุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล ที่เหมาะสมฐานะยิ่งๆขึ้น อรหันต์ก็มี "ศีลปาฏิโมกข์" บริสุทธิ์ ได้แก่ วินัย ๒๒๗ และจุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล บริบูรณ์ จะสันติสุขปานไฉน เมื่อสังคมคนเกือบทั้งหมดหรือส่วนมาก ล้วนมีศีลอย่างต่ำก็ "ศีล ๕" ขึ้นไปจนถึงศีลสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะเป็น "ศีลสัมปทา" ขั้นหยาบขั้นกลาง หรือขั้นละเอียด ก็ตาม แต่ละคนบรรลุ (สัมปทา) จริง "พ้นศีลัพพตุปาทาน-พ้นศีลัพพตปรามาส" ทั้งนั้น ฉะนี้แล คือ สังคมพุทธที่แท้ หรือ สังคมอาริยะจริง เราเอา "จรณะ ๑๕" มาอธิบายขยายความดูชัดๆ และพูดให้รู้เรื่องง่ายๆกันบ้าง เมื่อเข้าใจใน จรณะ ๑๕ ชัดเจน ก็จะเห็นสังคมมหัศจรรย์ หรือหมู่กลุ่มชุมชนที่เรียกว่า "พุทธบริษัท" นั้น เป็นอย่างไรกันแท้ ก่อนจะอธิบายขยายความ จรณะ ๑๕ สู่กันฟัง ก็ขอให้พิจารณาความจริงที่สำคัญยิ่ง ประเด็นหนึ่ง คือ ผู้ที่จะนับเป็น"พุทธ" ได้แท้ ก็ต้องมี "พฤติที่บ่งชี้ว่าเป็นพุทธ" ฉะนั้นผู้เป็น "พุทธ" ก็ต้องมี.. การปฏิบัติ หรือมีพฤติ (ความประพฤติ) ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ มี "จรณะทั้ง ๑๕" เพราะ "จรณะ" แปลว่า พฤติ หรือ ความประพฤติ แท้ๆ ซึ่งใครประพฤติ ศึกษาอบรม ฝึกฝน ให้เจริญได้ อย่างสัมมา ทั้ง ๑๕ ข้อ ก็จะพาให้เกิดวิชชาเป็นสามัญผลแน่ๆ ความประพฤติ ที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่อื่นใด ก็คือ ลักษณะต่างๆแห่งกรรม ๓ ของความเป็นอยู่ในคน นั่นเอง แต่ถ้าผู้ใดนับถือพุทธ ทว่า ไม่มี "พฤติ หรือลักษณะต่างๆแห่งกรรม ๓ ของความเป็นอยู่ในคน" ตาม "จรณะ" ๑๕ ข้อนั้น นั่นก็คือ ผู้นั้นไม่มีคุณสมบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนชาว"พุทธ" ต้องมีต้องเป็น ปรากฏอยู่ในตัวคนผู้เป็น"พุทธ" คนผู้นั้นก็ไม่มีเครื่องชี้บ่งยืนยันว่า "มีความเป็นพุทธ" กันเท่านั้นเอง ก็เลยมีกันแค่ยี่ห้อหรือมีแต่สลากแปะๆ ไว้เปล่าๆว่า นับถือ "พุทธ" แต่"เนื้อพุทธ"ที่เป็นพฤติ หรือที่เป็นคุณสมบัติของความเป็นพุทธ ไม่มีอยู่ในตัวคนผู้นั้นๆ เลย [มีต่อฉบับหน้า] -เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗-
|