คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -
จะตายกันอีกเท่าไหร่ สำหรับศาสนาล่องไพร?

เมื่อเอ่ยถึง "พระธุดงค์" ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็จะเข้าใจไปว่า หมายถึงพระเดินป่าเดินดง ทั้งๆ ที่ "ธุดงค์" นั้นหมายถึงข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด เพื่อตัดกิเลสอย่างยิ่ง เช่น การไม่นอนเอาหลังแตะพื้น การฉันอาหารวันละ ๑ มื้อ การใช้เฉพาะผ้าบังสุกุล ฯลฯ ซึ่งข้อปฏิบัติอุกฤษฏ์เหล่านี้ ไม่ต้องออกไปเดินป่า เดินดงก็สามารถปฏิบัติธุดงค์ได้

แต่ดูเหมือนทุกวันนี้จะมีค่านิยมเหมือนกับว่า ถ้าพระรูปไหนแน่จริงจะต้องกล้าออก ไปเผชิญกับ เสือร้าย ช้างงาเก หรือต้องกล้าไปนั่งสมาธิที่ปากเหว เพื่อฝึกสละละตัวตนให้หมดไป ความเชื่อ ความเข้าใจเช่นนี้ไม่รู้ว่าทำให้พระตายไปแล้วเท่าไหร่ เพราะบรรดาพระที่ถูกเสือกัดตาย หรือตกเหวนั้นต่างก็ไม่ได้กลับมาบอกให้เราได้รับทราบทั้งสิ้น


ช้าง "ภูกระดึง" คลั่ง
ไล่ตื้บฆ่า! ๒ พระธุดงค์มรณภาพ

ข่าวใหญ่ที่พระธุดงค์ถูกช้างทำร้ายถึงเสียชีวิตทั้ง ๒ รูป น่าจะได้ยกมาพิจารณา กันอย่างสำคัญว่า ค่านิยมของศาสนาแบบล่องไพร ที่ออกไปลุยป่าฝ่าดง ซึ่งมีภยันตราย อยู่มากมายนั้น ถูกต้องตามพุทธประสงค์ที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่ ? จากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด วันที่ ๒๐ ก.พ.๒๕๔๗ ได้พาดข่าวใหญ่ และมีรายละเอียดของข่าว เอาไว้ดังนี้

ช้างภูกระดึงคลั่ง อาละวาดบุกรื้อกลดพระธุดงค์ตอนหัวรุ่ง พระ ๒ รูปนอนหลับอยู่ในกลด หนีไม่ทัน โดนกระทืบจนมรณภาพคาที่ อีกรูปปีนขึ้นต้นไม้หนีได้ทันรอดหวุดหวิด แฉเป็นช้าง อันธพาลตัวผู้ นิสัยเกเรมักจะออกมาทำร้ายนักท่องเที่ยวบ่อยๆ

เมื่อเวลา ๐๖.๐๐ น. วันที่ ๒๕ ก.พ. ร.ต.อ. คำไสย์ ดอนบรรเทา ร้อยเวรสภ.อ.ภูกระดึง จ.เลย ได้รับแจ้งจากนายศุภชาติ วรรณวงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงว่า ช้างป่าทำร้าย พระธุดงค์ มรณภาพอยู่บนยอดภูกระดึง ๒ รูป หลังรับแจ้งจึงพร้อมด้วย พ.ต.อ. อดุลย์ รัตนจันทร์ ผกก.สภ.อ.ภูกระดึง และกำลังตำรวจจำนวนหนึ่ง และแพทย์ จากโรงพยาบาล ภูกระดึง รุดไปตรวจสอบโดยต้องใช้เวลาเดินขึ้นถึง ๔ ชั่วโมง

เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุลานพระแก้ว ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าวังกวางประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ พบศพพระประพนธ์ วิจาธโร อายุ ๒๗ ปี สังกัดสำนักสงฆ์ศรีภัยวัน หมู่ ๖ ต.บางงอน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และพระเฉลิมเกียรติ สิขันลโย อายุ ๒๖ ปี อยู่วัดถ้ำพระนโม อ.เมือง ชุมพร ตรวจสอบพบว่า ตามลำตัวของพระทั้งสองรูปมีรอยฟกช้ำไปทั่ว กลดพร้อมกับของใช้ ถูกช้างทำลายกระจายไปทั่วบริเวณ และมีพระที่รอด ๑ รูป ชื่อพระจักรี ปภัสโร อายุ ๒๒ ปี อยู่วัดเดียวกับพระประพนธ์ไม่ได้รับบาดเจ็บ เพราะหนีขึ้นไปบนต้นไม้

สอบสวนทราบว่า พระทั้ง ๓ รูปเดินทางมาที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เมื่อเย็นวันที่ ๒๔ ก.พ. ที่ผ่านมา และพากันไปขึ้นไปธุดงค์บนยอดภูกระดึง ปักกลดพักอยู่ที่ลานพระแก้วดังกล่าว กระทั่งเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. ได้มีช้างป่า ๑ ตัว เดินผ่านมายังจุดที่พระทั้ง ๓ รูปปักกลดอยู่ และเข้าไปดึงเชือกที่ขึงกลดของพระจักรี ทำให้พระจักรีตกใจตื่นขึ้นมา เมื่อเปิดกลดดู ก็เห็นช้างกำลังใช้งวงดึงผ้าคลุมกลดอยู่ จึงรีบหนีปีนขึ้นไปบนต้นสนที่อยู่ใกล้ๆ พร้อมกับร้องบอก พระประพนธ์และพระเฉลิมเกียรติให้หนี แต่พระทั้งสองไม่ยอมหนี แต่ช้างก็ไม่ได้ทำร้าย พอช้างเดินผ่านไป พระทั้งสองก็ร้องถามพระจักรี ที่อยู่บนต้นสนว่า ช้างไปหรือยัง ช้างได้ยินเสียง จึงหันกลับเข้ามาทำร้ายพระทั้งสองรูป จนมรณภาพแล้วหนีไป ส่วนพระจักรีรอจนเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงลงจากต้นสนวิ่งมาที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่า วังกวางแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ...

จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ ในสัพพาสสังวรสูตร (ว่าด้วยอุบายกำจัดอาสวะกิเลสทั้งปวง) พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายให้เว้นห่างไกลจากสถานที่และสิ่งต่างๆเหล่านี้ นั่นก็คือ

อาสวะกิเลสที่ต้องละได้ด้วยการเว้นเป็นอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ คือ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม เหว บ่อน้ำครำ บ่อโสโครก และพิจารณา โดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควรเที่ยวไป และมิตรชั่ว ที่เพื่อนพรหมจารี ทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็นบาปเสีย ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะกิเลส และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะที่ก่อความเร่าร้อน ที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะกิเลสที่ต้องละด้วยการเว้น

นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๙๙ เมื่อพระอุบาลีประสงค์จะออกป่าเพื่อบำเพ็ญ จึงได้ไปขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้า แต่ถูกพระพุทธเจ้าห้ามปรามไว้ โดยให้พระอุบาลี อยู่บำเพ็ญกับสงฆ์ไปก่อน เพราะการจะออกไปอยู่ป่านั้น ถ้าไม่มีสมาธิดีพอ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า ป่าย่อมเอาใจของเธอไปเสีย ซึ่งจะทำให้พระภิกษุนั้นมีคติ ๒ อย่าง คือ ถ้าไม่จมไปกับกิเลส ก็ย่อมฟุ้งซ่านไปกับกิเลสโดยแท้

และป่าที่พระอรหันต์ทั้งหลายในสมัยพุทธกาลอยู่บำเพ็ญกันนั้น ก็หาได้เป็นป่ารกทึบ หรือป่ารกชัฏอย่างใด แต่เป็นป่าธรรมดาๆ เช่น ป่าไผ่ (เวฬุวัน) หรือป่ามะม่วง(อัมพวัน) หรือป่าตาล (ลัฏฐิวัน) ดังนี้เป็นต้น .

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗-