มาช่วยกันสร้างชุมชนที่ผุดขึ้นมาจากน้ำ
คำว่า "คลอง" กับ "แม่น้ำ" มีความหมายต่างกัน ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ได้นิยามคำ "แม่น้ำ" ไว้ว่า คือ "ลำน้ำใหญ่ ซึ่งเป็นที่รวมของ ลำธารทั้งปวง" ส่วนคำว่า "คลอง" ในภาษาไทย นิยามว่า "ทางน้ำหรือลำน้ำ ที่เกิดขึ้นเอง หรือ ขุดเชื่อมกับแม่น้ำหรือทะเล" หมายรวมถึง คลองธรรมชาติ และ คลองขุด ๒ ประเภท คือ คลองขุดเพื่อเป็นคูเมือง และ ขุดเพื่อวัตถุประสงค์อื่น แม่น้ำเปรียบเสมือนเส้นเลือดสายใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกาย คลองเป็นเส้นเลือดฝอย ที่สำคัญ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ผู้คนที่อาศัยตามริมน้ำนั้น ย่อมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของคลอง เป็นอย่างดี ปลาใหญ่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ปลาที่ใหญ่กว่าอาศัยอยู่ในทะเล ปลาเด็กต้องอาศัยคลอง ลูกปลาเล็กๆ ต้องอาศัยคู ในอดีตกิจกรรมของเครือข่าย ชีวิตเหล่านี้ เชื่อมโยงถึงกันเป็นลูกโซ่ คูคลองที่น้ำนิ่งสงบใสนั้นเป็นที่วางไข่ และเพาะพันธุ์ ตามธรรมชาติ ระบบนิเวศน์นี้มีคุณค่า และยิ่งใหญ่กว่าความคิดตื้นๆ ที่จะใช้คูคลอง เพื่อเป็นเพียงช่องทางระบายน้ำเสียหลังบ้าน หรือที่ฝังกลบขยะข้างบ้าน ความหลากหลายของชีวิตในเครือข่ายคูคลองนั้น ทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี ต้นทุนการดำเนิน ชีวิตต่ำ ไม่ต้องเสียเงินมาก สามารถจับปลาหากินตามคลอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะอากาศเสีย ควันพิษน้อยฝุ่นละอองน้อย การเดินสัญจรปลอดควันพิษ ไม่ทำลายสุขภาพ นี่เป็นเรื่องดีๆ ที่คนกรุงเทพหลงลืมไป เราไปสร้างถนน สร้างตึกแถว ปิดบังทางลม ถมทับคูคลอง ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องกลับมาชื่นชม กับชุมชนริมน้ำอีกครั้ง โดยมีการวางผัง วางแผนให้ชีวิตการทำงาน ในเมืองเป็นไปได้ด้วยกัน รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ขุดคลองรอบกรุง คลองโอ่งอ่าง และ คลองบางลำพู แนวคลอง ที่โอบล้อม เมืองเก่าแห่งนี้แหละที่เรียกว่า เกาะรัตนโกสินทร์ มีรูปร่างเป็นวงรี บรรจบกับท้องคุ้ง ของแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึงสมัยนี้เราไม่คิดบ้างหรือว่า เราสามารถ สร้างเมืองแบบนี้ได้ บางกระเจ้า เป็นเป้าหมาย การเดินทางด้วยรถยนต์ ถนนแคบ ก็อย่าไปขยาย แต่ต้องปรับปรุง เส้นทางน้ำให้ดีขึ้น ทางด้านถนนเลียบแม่น้ำ มีระบบ ขนส่งมวลชน เช่น รถประจำทาง หรือที่จอดรถขนาดใหญ่ มีท่าเรือ เรือข้ามฟากไป แค่ชั่วอึดใจเราจะถึงที่อยู่อาศัยที่สงบร่มเย็น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแบบอนุรักษ์ ประหยัดพลังงานหารสอง อาจทำเป็นเรือนแพ ให้คนเมือง ได้เดินทางไปพักปอด เพราะไม่มีฝุ่นเลย การเลือกทำเลที่ตั้งเมืองหลวง ทั้งสองสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์นั้น
ได้พิจารณา ถึงลักษณะของภูมิประเทศเป็นสำคัญ เมืองหลวงทั้งสอง ได้สร้างขึ้น
โดยเปลี่ยนแปลง พื้นภูมิประเทศเดิมแต่น้อยที่สุด เป็นการสร้างเมืองให้เป็นเกาะมีน้ำล้อม
ลอยอยู่ท่ามกลาง สิ่งแวดล้อม อันเต็มไปด้วยข่ายโยงใยของแม่น้ำลำคลอง ผู้เขียน
จึงอยากเสนอ นักผังเมือง ลองพิจารณาการสร้างชุมชนริมน้ำที่บางกระเจ้า เป็นหมู่บ้าน
อยู่กลางน้ำ ในเรือนแพ แบบดั้งเดิม เป็นเมืองที่ผุดขึ้นมาจากน้ำ ท่ามกลางต้นไม้และสายน้ำ
มีมาตรการอนุรักษ์ ธรรมชาติ อย่างจริงจัง น่าสนใจที่ใช้เวลาเดินทางเพียง
๑๕ นาที ก็ถึงกลางเมือง เช่นถนนสีลม สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับโรงแรมริมน้ำ
สามารถทำเป็นที่พักฟื้นคนไข้ เพราะอากาศดีมาก เหมือนชายทะเล สงบเงียบ เพราะเราจะควบคุมเสียงและความเร็วเรือ
. -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗- |