คนบ้านนอกบอกกล่าว เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนจะพบว่า คนบ้านนอกและคนกรุงพูดภาษาเดียวกันคือ ภาษาเงิน สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฟังคำขวัญทีไรแล้วหลายคนไม่ใคร่ชอบใจ "งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข" มานึกเปรียบเทียบกับสมัยนี้ คำขวัญนั้นยังดีกว่า เพราะมีการพูดถึงเรื่องงานด้วย ยุคนี้พูดเรื่องเงินอย่างเดียว เยาวชนของชาติหลายคนเริ่มเบนเข็มชีวิตไปตามๆ กัน แทนที่จะขยันเรียนแล้วออกไปทำงานทำการ เรียนอย่างไรก็ได้ จบหรือไม่จบก็ไม่เป็นไร หมั่นยกลูกเหล็กหรือหวดลูกสักหลาดไปเรื่อยๆ อนาคตจะได้ทั้งเงินทั้งกล่อง มีเงินเป็นล้านๆ มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วบ้านทั่วเมือง คำว่า "ทุนนิยม" แต่ก่อนไม่ใคร่เอ่ยกันเมื่อเทียบกับ "สังคม-นิยม" เพราะจะชวนให้นึกถึงการเอารัดเอาเปรียบ มุ่งแต่จะหาเงิน เอาทุนไปต่อทุนลืมนึกเรื่อง "สังคม" สมัยนี้เอ่ยคำนั้นได้อย่างสบาย ดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว รัฐบาลเองก็ยอมรับ ป่าวประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเป็นรัฐบาลทุนนิยม "บุญนิยม" น่าจะเป็นคำที่เอาไปเปรียบ "ทุนนิยม" ได้ดีกว่าคำว่า "สังคมนิยม" ผมจำได้ตอนที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ถึงแก่มรณภาพได้ไม่นาน มีการอภิปรายที่ลานหินโค้ง ผมได้รับคำติงเตือนจากอาจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ขณะนี้บวชเป็นภิกษุณี) ว่าต้องระวังคนจะเข้าใจผิดว่า หวังแต่บุญหวังแต่สวรรค์ เมื่อพูดถึงเรื่องบุญนิยม "ทุนนิยม" ล้มเหลวมากเพียงใด ผู้คนก็จะนึกถึง "บุญนิยม" มากขึ้นเพียงนั้น ว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาทำให้อยู่ดีมีสุขทั่วกันอย่างแท้จริง ผิดกับ "ทุนนิยม" ที่สนับสนุนให้รวยล้นเหลือเพียงแต่คนบางคนเท่านั้นคือ "นายทุน" "เราคิดอะไร" เล่มนี้ขออธิบายเปรียบเทียบให้เข้าใจยิ่งขึ้น "เศรษฐกิจบุญนิยมพึ่งตนได้ และหมดหนี้สิ้น (รวยแต่ผันช่วยสังคม) เศรษฐกิจทุนนิยมพึ่งเงินได้ แต่เพิ่มหนี้ (รวยไปที่นายทุน) " จะยังแน่วแน่อยู่กับทุนนิยมก็ตามใจ |