- จำลอง ศรีเมือง -
ผมบอก ดร.ทักษิณ ว่าตัวผมต้องไปแน่ เพราะชาวญี่ปุ่นช่วยผมไว้มาก ไม่ว่าผมจะทำโครงการ ช่วยเหลือสังคมเรื่องใด ชาวญี่ปุ่นตามช่วยเหลือตลอด คนที่มีบุญคุณกับเราเมื่อประสบทุกข์ภัย เราต้องช่วยทันที ไม่ต้องรอให้เขาบอก ผมถามรัฐบาลว่า อย่างไรๆ ผมต้องไปโกเบอยู่แล้ว ผมจะไป ในฐานะอะไรดี เพื่อให้เป็นผลดีแก่รัฐบาลด้วย จึงให้ผมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ตัดสินใจวันศุกร์ออกเดินทางวันเสาร์ ท่านทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยไม่แน่ใจ จึงให้เลขาทูตสืบว่า ผมจะไปจริงหรือเปล่า ผมบอกบุญไปยังคนที่รู้จักมักคุ้นได้ผ้านวมอย่างดีกว่า ๔,๐๐๐ ผืน และไป กว้านซื้อข้าวหลาม รอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๗๐๐ กว่ากิโลกรัม ขนไปทางเครื่องบิน ไม่ได้เบิกเงินหลวง สักบาททั้งค่าเครื่องบิน และค่ากินอยู่ วันที่ตกลงใจจะไปโกเบ ผมไม่มีเงินดอลล่าร์ติดตัวเลย จึงขอร้องรัฐมนตรีวิชิต สุรพงษ์ชัย ซึ่งเคยเป็น ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ ให้ช่วยหาเงินยืม กลับจากโกเบผมจะใช้หนี้ ตอนบ่ายของวันนั้น ขณะรอ ดร.วิชิต ดร.ทักษิณ ก็เอาเงินดอลลาร์ให้ผมปึกหนึ่ง คิดเป็นเงินไทยกว่า ๑ ล้านบาท ให้ผมติดตัวไป เผื่อจำเป็นต้องใช้ ผมโชคดีรู้จักผู้จัดการสายการบินเจแปนแอร์ลายน์ และเศรษฐีญี่ปุ่น จึงไม่ต้องจ่ายอะไร กลับมาจาก โกเบ ผมรีบคืนเงินปึกเดิมทั้งหมดให้ ดร.ทักษิณ ทันที เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์ใหม่ๆ คุณหมอประเวศ วะสี บอกให้ ผู้สื่อข่าว คนหนึ่งบอกผมว่า หลังจากผมเอาข้าวหลามไปช่วยคราวนั้นแล้ว ชาวญี่ปุ่นติดใจข้าวหลาม มาจนทุกวันนี้ นับเป็นการโฆษณาที่ได้ผลมาก ครั้งนั้น ทันทีที่ผมเดินทางกลับเมืองไทย หนังสือพิมพ์บางฉบับโจมตีว่า ผมไม่ดูตาม้าตาเรือ ซื้อข้าวหลาม ที่ญี่ปุ่นกินไม่เป็นไปให้เขา โดยหารู้ไม่ว่า ก่อนซื้อ ผมได้สืบเสาะ จนแน่ชัดแล้วว่า ชาวญี่ปุ่นไม่รังเกียจแน่ หมอญี่ปุ่นกินง่าย นอนง่าย จะให้กินอะไรนอนที่ไหนไม่เกี่ยง ขอให้ได้ทำงานช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เท่านั้น วันที่เดินทางถึงจังหวัดต่างๆ ซึ่งประสบภัยได้ตระเวนดูหลายแห่ง ตกลงใจทำการรักษา ที่อำเภอ ตะกั่วป่า ซึ่งบาดเจ็บ ล้มตายมากที่สุด ผมและคณะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานอำนวยความสะดวก มีคณะหมอไทย จากโรงพยาบาล จังหวัดต่างๆ หมุนเวียนไปช่วยรักษาที่อำเภอตะกั่วป่าด้วย แต่อยู่ได้แค่วันสองวัน ก็ต้องรีบกลับ การรักษา ไม่ต่อเนื่อง เพราะแม้ไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน คนไข้เดิมก็ล้นโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผิดกับ คณะหมอญี่ปุ่น ซึ่งอาสามาจากคลินิกและโรงพยาบาล ๒๕๒ แห่ง จัดเป็นผลัดๆ อยู่ติดต่อกันถึง ๒ สัปดาห์เต็มๆ หมอญี่ปุ่นทำงานแบบญี่ปุ่น พักจากการรักษาคนไข้ก็ชวนกันเก็บขยะ คนไทยโดยเฉลี่ยมีนิสัย รกรุงรัง ให้คนต่างชาติ ต้องมารักษาความสะอาดให้ น่าอาย จะเป็นด้วยมีอคติหรือเป็นเรื่องจริงก็ไม่ทราบ คนไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากคลื่นยักษ์ชมเปาะว่า หมอญี่ปุ่น ยาญี่ปุ่นเยี่ยม แต่ที่เห็นชัดๆ คือหมอเขาไม่รังเกียจคนไข้จนๆ เวลาล้างแผล ก็ล้างเท้าให้ แล้วใส่น้ำหอมด้วย เราต้อนรับอย่างตามมีตามเกิด ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เขากลับชมว่าดีกว่าชาติอื่นๆ ที่ประสบภัย ในคราวเดียวกัน ซึ่งการเดินทางเข้าประเทศและการขนยารักษาโรค เต็มไปด้วยขั้นตอน มากมาย ไม่สะดวก เหมือนเมืองไทย หมอโทขุดะ ขอให้ผมเดินทางไปญี่ปุ่นอีกครั้ง ในวันที่ ๒๔ มกราคม เพื่อหารือพร้อมๆ กับศาสตราจารย์ ยูนุส จากบังคลาเทศ ซึ่งเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ เช่นกัน ใครได้ไปเห็นก็เห็นใจ เหยื่อคลื่นยักษ์ที่รอดตายมีความทุกข์ทั้งกายและใจ ต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะถูก ของแข็งๆ ทิ่มแทงขณะที่คลื่นโหมเข้ากระแทก ผู้ที่ไม่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ ก็ต้องออก ตามหา ญาติที่สูญหาย หลายวันผ่านไป หาไม่พบก็ตระเวนหาศพ ไม่มีที่จะอยู่ เพราะถูกคลื่น ซัดพังหมด ต้องไปอาศัย บ้านญาติต่างตำบล และขาดของกินของใช้ เนื่องจากเครื่องมือทำกิน ถูกทำลายเรียบ หลังเกิดเหตุไม่นานคนไทยจังหวัดต่างๆ ก็ระดมส่งของไปช่วยจนล้น ตอนแรกๆ ผู้ประสบภัยเห็นของ ดีใจ ต่อมาเห็นทีไรก็ตกใจ เพราะมากเกินพอ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร หรือเก็บที่ไหน พอได้ยินเสียงตะโกนบอกกันต่อๆ ว่า "น้ำมา น้ำมา" ก็ตกใจ วิ่งหนีขึ้นเขากันอุตลุด นึกว่าน้ำมา เป็นคลื่นๆ ไม่ใช่เป็นขวดๆ บ้านน้ำเค็มชายหาดที่สวยมากแห่งหนึ่งของอำเภอตะกั่วป่า มีคนตายมากกว่ารอด ต้องโชคดีเป็นพิเศษ จึงจะรอด ตรงข้ามหาดบ้านน้ำเค็ม มีเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งชื่อ "เกาะคอเขา" คนไข้รายหนึ่ง เล่าให้ผม ฟังว่า รอดมาได้เพราะ "เกาะคอหมู" พยายามว่ายน้ำประคองตัวโต้คลื่น ได้ประมาณ ๓ ชั่วโมง จะหมดแรง จมน้ำตายอยู่แล้ว เห็นตู้เย็นลอยมาทางซ้าย ก็ใช้มือซ้ายเกาะ หมูตัวหนึ่ง ว่ายน้ำเข้ามา ทางขวา ก็ใช้มือเกาะ สักพักหนึ่งต้องปล่อยตู้เย็น เพราะเกาะไม่ถนัด ใช้มือทั้งสองเกาะคอหมู ลอยเข้าฝั่ง รอดตายอย่างหวุดหวิด ผมไปเยี่ยมเขาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นตามคำแนะนำของ คุณศิริลักษณ์ ผมบอกแก แกก็เชื่อ ต่อไป จะเลิกกินหมู อย่างเด็ดขาด เพราะหมูช่วยชีวิตไว้ เรื่องข้าวของที่กองไว้มากมาย ผมแนะรัฐมนตรีมหาดไทยให้จ้างชาวบ้านที่กำลังว่างงาน ให้เลือกของ ที่ใช้ได้ ส่งไปภาคอีสาน หรือประเทศที่กำลังขาดแคลนอย่างมาก เช่น ที่อินโดนีเซีย หรือศรีลังกา เป็นต้น ท่านรัฐมนตรี กำลังคิดอยู่เหมือนกันว่าจะจัดการอย่างไรดี ผู้ประสบภัยเมื่อผ่านขั้นของการบำบัดทุกข์ทางกาย เช่น ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ได้รับของกิน ของใช้แล้ว มีบ้านพักชั่วคราวที่หน่วยราชการและเอกชน ช่วยกันสร้างให้แล้ว ก็นึกถึงตัวเอง จะอยู่ต่อไป อย่างไร อยู่ไปทำไม มองไปรอบๆ ตัว เกิดความท้อแท้ ต้องการการเยียวยาทางจิตใจ เรื่องนี้ศาสนาช่วยได้ ชาวอโศกทั้งพระและฆราวาสที่รวมกันเป็น "สถาบันบุญนิยม" จัดโครงการ "ธรรมยาตรา" ไปช่วย ผู้ประสบภัย มีจำนวนถึงประมาณ ๗๐๐ ชีวิต ปักกลด กางเต็นท์ นอนกลางดิน กินกลางทราย อยู่ช่วย ชาวบ้านถึง ๑๐ วันเต็มๆ มีส่วนช่วยได้มาก ที่ศูนย์ประสบภัย "บ้านปากวีป" ผมคุยกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ยืนยิ้มต้อนรับ ผมนึกว่าคงไม่สูญเสียอะไร เท่าไหร่ ที่ไหนได้ สามีตาย ลูกก็ตาย แกเริ่มยิ้มได้เพราะพบพระและฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม เคร่งครัด อีกคนหนึ่ง กินข้าวไม่ลงติดต่อกันมาหลายวัน นับแต่วันเกิดเหตุ จะกลืนข้าวก็นึกถึงญาติที่ตายไป ต่อหน้าต่อตา นึกถึงทรัพย์สมบัติที่คลื่นหอบไปเกลี้ยง เริ่มกินข้าวลง เมื่อสถาบัญบุญนิยม จัดโครงการ "ธรรมยาตรา" พาธรรมะเคลื่อนไปหาชาวบ้าน ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว "กองทัพธรรม" ได้จัด "ธรรมยาตรา" ไปปักกลดบรรยายธรรมะในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาค ของประเทศ โดยที่ไม่ได้มีสาธารณภัยใดๆเกิดขึ้นเลย ผมนึกถึงภาพเก่าๆ เช่นตอนที่เรา ไปปักกลด ที่สวนสาธารณะจังหวัดสงขลา ตอนเช้า ขณะที่ฆราวาสเดินตามพระบิณฑบาต ลุงเชื่อม ลูกศิษย์ท่านอาจารย์พุทธทาส ขี่จักรยานสองล้อเก่าๆ นำทาง อาจารย์พะเยาว์ ผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมอีกท่านหนึ่ง เป็นอาจารย์โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา พาผม ไปพูดกับนักเรียนในหัวข้อ "บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง" ขณะนี้คณะผู้สนับสนุนโครงการ ธรรมยาตรา ของกองทัพธรรม ทั้ง ๒ ท่านได้เสียไปแล้ว ในฐานะฆราวาสที่ไม่ได้ฝึกศึกษาเท่าไร ผมแนะชาวบ้านว่า ถ้าเรานึกถึงความจริง ๕ อย่างอยู่เสมอๆ เราจะคลายหายเศร้าโศกได้ ผู้ที่ยังไม่ได้ประสบเมื่อประสบก็จะทุกข์น้อยกว่าที่ควร ซึ่งผมเอง นึกอยู่ทุกวัน วันละ ๒ ครั้ง คือก่อนนอนและตอนตื่นนอน เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จ ก็ท่องในใจ "เรามีความแก่ เป็นธรรมดา
ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้ - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ - |