- จำลอง ศรีเมือง -



บ้านรับรองของโรงเรียนผู้นำที่ผมและคุณศิริลักษณ์อาศัยอยู่นั้น ตั้งอยู่เชิงเขา ติดป่าทึบ ซึ่งขณะนี้ กำลังกลายเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้สลัดใบร่วงลงจนแทบไม่เหลือ

เพราะบ้านอยู่ติดป่า "จันทร์เพ็ญ" แมวชื่อเก๋ไก๋จึงเป็นแมวครึ่งๆกลางๆระหว่างแมวบ้านกับแมวป่า อยู่บ้านบ้างอยู่ป่าบ้าง อยู่แห่งละกี่วันเอาแน่ไม่ได้ แล้วแต่อารมณ์

เมื่อเร็วๆนี้ จันทร์เพ็ญ หายเข้าป่าไป๒ วัน พอกลับถึงบ้านด้วยท่าทางอิดโรยกระหายน้ำมาก ดื่มน้ำเป็นการใหญ่

เป็นเวลาเกือบเดือนมาแล้วที่คุณศิริลักษณ์ให้ผมเอาอ่างที่ทำด้วยยางรถยนต์ใส่น้ำไปตั้งไว้ ชายป่า หลายใบ เพื่อสงเคราะห์ สัตว์ป่า อยู่ป่าเมืองกาญจน์มา ๑๑ ปี ปีนี้แล้งที่สุด สระอันกว้างใหญ่ ที่เคยมีน้ำล้น วันนี้แห้งขอด ฝนยังอีกนานเหลือเกิน กว่าจะมาโปรด คงลำบากแน่

ปีนี้ก็เป็นปีแรกอีกเหมือนกันที่เห็นมดดำกรูกันเข้าไปอยู่ในก๊อกน้ำเต็มไปหมด เปิดน้ำทีไร มดติด ออกมาด้วย ถ้าช่วยไม่ทัน ก็สำลักน้ำตาย ผมแก้ปัญหาด้วยการเอาถุงพลาสติกเล็กๆ ไปคลุมปลายก๊อก แล้วใช้ยางรัด แก้ปัญหาได้จริงแต่ยุ่งยาก เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนผู้นำคนหนึ่ง ใช้วิธีเอาถ้วย เติมน้ำเกือบเต็ม ไปตั้งไว้ข้างๆ ก๊อกน้ำ มดต่างดีใจพากันไปดื่มน้ำ ไม่ไปยุ่งกับก๊อกน้ำอีกเลย "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ใช้ได้ผลดีกว่า

ขณะที่บ้านเมืองกำลังแล้งน้ำ คนบางคนไม่แล้งน้ำใจ น้ำใจที่ให้แก่คนส่วนใหญ่ของบ้านเมือง นักธุรกิจ คนหนึ่ง มีเรื่องเดือดร้อนใจขอพบผมเป็นการด่วน

เล่าให้ฟังว่าถ้าอยู่เฉยๆ บริษัทของเขาจะได้เงินกว่า ๑๐๐ ล้านบาท แต่เขาอยู่เฉยไม่ได้ต้อง ชวนผม ให้ออกไปช่วยคัดค้าน อย่าให้กิจการ เหล้าและเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ แม้บริษัทเขาจะอดได้เงิน จำนวนมหาศาลก็ยอม ดีกว่าจะปล่อยให้ บ้านเมืองเสียหาย

ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย แม้ผมและท่านผู้อ่านไม่เคยเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ และไม่เคย เล่นหุ้นเลย ก็เข้าใจได้ บริษัทต่างๆ ถ้าต้องการขยายกิจการให้เจริญเติบโตสมใจนึก ก็ขออนุญาต เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนให้เพิ่มมากขึ้น เอาไปขยายการผลิต ขยายการขาย เมื่อได้รับ อนุญาตแล้วจะระดมทุนภายหลัง อีกกี่ครั้งก็สะดวก

กรรมการตลาดหลักทรัพย์ ๑๑ คน มีหน้าที่พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตแล้วแต่กรณี

ผมตกในที่นั่งเดิม ต้องออกมาช่วยท้วงติง ทั้งๆ ที่น่าจะเลิกอาชีพนี้ได้แล้ว ชอบท้วงชอบติง อยู่เรื่อย ผมก็นึกอยู่เหมือนกันว่าเมื่อไรจึงจะเล่นบท "วางเฉย" เสียที

เมื่อประมาณวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ช่วงหกโมงเช้า ท่านจันทร์ โทรศัพท์บอกให้ผมทราบว่า โทรทัศน์ ช่อง ๕ มีพิธีกร ๒ คน ออกมาคุยกัน คุยไปคุยมาวกมาต่อว่าผมอย่างรุนแรง ไม่เอ่ยชื่อผม ใช้คำแทนสั้นๆว่า "ไอ้หัวเกรียน"

พูดทำนองว่า "ไอ้หัวเกรียน" ต่อต้านไม่ให้เหล้าและเบียร์เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ คราวก่อน ก็ต่อต้านเรื่องบ่อนคาสิโน ที่จริงบ่อนคาสิโนในต่างประเทศเขาก็มีกัน วางมาตรการควบคุมให้ดี ไม่เห็นจะเสียหายอะไร "ไอ้หัวเกรียน" เคยต่อต้าน กฎหมายทำแท้งเสรี แล้วเป็นไง เดี๋ยวนี้ก็ยัง มีการทำแท้งอยู่

ผมอยู่ดีๆ ก็มีเรื่องให้เขาต่อว่าจนได้ ท่านสมณะโพธิรักษ์เคยเทศน์ให้ญาติโยมฟังว่า อย่าไปสนใจ กับคำชมคำติ บางทีเราอาจจะตายไปเกิดใหม่แล้วเขายังต่อว่าเรายังไม่จบเลย

ผมเพิ่งทราบจากนักธุรกิจคนนั้นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเหล้าและเบียร์ ได้เตรียมการ พร้อมแล้ว ที่จะระดมทุนมโหฬาร คนไทยจำนวนมากมายจะแห่กันไปซื้อหุ้นแน่ เพราะไม่มีทาง ที่หุ้นจะตกมีแต่จะกำไรมากขึ้นๆ คนซื้อหุ้นเห็นว่า เป็นหุ้นชั้นดี แม้เงินมีไม่พอก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา เจ้าของหุ้นเหล้าเบียร์จะเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด

เมื่อระดมทุนได้มากๆ ก็ขยายกิจการเป็นการใหญ่ ทำออกขายมากๆ ราคาถูกๆ เหล้าเบียร์จะเป็น สินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง คนดื่มจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ก็ให้เกิดผลเสียหาย อย่างมากมาย ถ้าคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ตัดสินใจคราวนี้ผิดพลาด ยอมให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ในโอกาสต่อไป จะไม่มีโอกาสแก้ไขได้เลย

ผมทราบว่าเขาจะประชุมตัดสินวันที่ ๒๖ มีนาคม ผมก็รีบโทรศัพท์ถึงคณะกรรมการตลาด หลักทรัพย์ ๖ คน ซึ่งมีความคิดต่อต้าน แบบเดียวกับผมบ้างและที่ยังไม่ตกลงใจบ้าง ถ้าทุกคนค้าน สำเร็จแน่

อาจจะเป็นเพราะผมโทรศัพท์ไปและอาจจะเป็นด้วยเหตุอื่นผสมผเสกัน เขาจึงเลื่อนการประชุม คณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ ออกไปเป็นวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ หลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง ๑ วัน ทีนี้ผมมีเวลาพอ จึงส่งจดหมายถึงกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง ๑๑ คน ดังนี้


(สำเนา)
ด่วนมาก
๕๘๐/๒ ซอยสงวนสุข ถนนมพระราม ๕ กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘

เรื่อง การนำเครื่องดื่มมึนเมาเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

เรียน กรรมการตลาดหลักทรัพย์ทุกท่าน

ผมได้เข้าร่วมประชุมผู้แทนองค์กรของศาสนาต่างๆ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตามรายชื่อ องค์กร ท้ายหนังสือฉบับนี้ เป็นการประชุม อย่างเงียบๆ เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองบางพรรค นำไปเป็น ประเด็นหาเสียง ชิงความได้เปรียบ ในการเลือกตั้ง ที่ประชุมมีความห่วงใย เรื่องการขยายตัวของธุรกิจ เหล้าและเบียร์ แม้จะก่อให้เกิดความเติบโต ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นพิษภัยอย่างร้ายแรง ต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน

ประชาชนมั่นใจพรรครัฐบาล ซึ่งตระหนักเรื่องนี้ดี เพราะมีหลักฐานปรากฏในหลายที่หลายแห่ง เช่น ป้ายหาเสียง ซึ่งติดทั่วประเทศว่า
"สร้างโอกาส
ให้เยาวชนปลอดภัย
ปลอดยาเสพติด
ไม่มีสิ่งยั่วยุคุกคาม"

ขณะนี้มีการเสนอระดมทุนโดยการนำกิจการเหล้าเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ จะก่อ ให้เกิดความเสียหาย อย่างร้ายแรงต่อสังคม ขณะยังไม่ได้ระดมก็มีทุนมหาศาล และทำให้ประชาชน ติดเหล้าและเบียร์ กันอย่างมโหฬารอยู่แล้ว องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเมื่อปี ๒๕๔๓ คนไทยดื่มเหล้า เป็นลำดับ ๕ ของโลก การดื่มเบียร์ในช่วง ๑๒ ปี (พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๔๔) เพิ่มขึ้นกว่า ๕ เท่าตัว สำนักงาน สถิติแห่งชาติแจ้งว่าในปี ๒๕๔๖ คนไทยดื่มเหล้าและเบียร์ จำนวนถึง ๑๘.๖ ล้านคน (๓๐% ของประชาชน ทั้งประเทศ) โดยดื่มเป็นปริมาณถึง ๓,๗๐๐ ล้านลิตร

ดังที่ท่านได้ทราบแล้วว่า เหล้าและเบียร์ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า แสนล้านบาท ก่อคดีร้ายแรงต่างๆ และทำให้เสียสุขภาพ ภาษีอากรที่รัฐได้รับจากธุรกิจ ดังกล่าว น้อยกว่าเงินที่ต้องสูญเสีย ในการรักษา พยาบาลประชาชน ในชาติมากมายนัก ที่สำคัญก็คือ ประเทศไทย มีผู้นับถือศาสนาใหญ่ๆ ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และสิกข์ ซึ่งทุกศาสนา คัดค้านการเสพ สิ่งมึนเมาทั้งสิ้น

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์น่าจะมีจุดยืนทางศีลธรรมในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ว่าไม่สนับสนุน ให้ธุรกิจเหล้าเบียร์ ระดมทุน ในตลาดหลักทรัพย์ไทย หากไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอื่น คนไทยจะซื้อขายหุ้นลำบากกว่า และเป็นการทำลาย สังคมไทย โดยฝีมือของชนชาติอื่น ดีกว่าไทย ทำลายคนไทยด้วยกันเอง

ในฐานะที่ท่านมีบทบาทในการชี้ชะตาเรื่องนี้ ผมจึงรีบเรียนมาให้ทราบ หากอนุมัติให้ระดมทุน เข้าตลาดหลักทรัพย์ ย่อมเกิดความขัดแย้ง อย่างรุนแรง และอาจบานปลายได้

ขอแสดงความนับถือ
พลตรี ...................
(จำลอง ศรีเมือง)



"ฐานเศรษฐกิจ" สื่อชั้นนำเกี่ยวกับเศรษฐกิจมีความเห็นอย่างไร ผมขอนำมาเผยแพร่ต่อ เป็น หนังสือพิมพ์ ประจำวันที่ ๑๗-๑๙ ก.พ. ๔๘ ฉบับที่ ๑๙๘๔

ประธานมูลนิธิจำลอง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง มหา ๕
ขันออกโรงต้าน "ช้าง" เข้าตลาดหุ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑๙๘๔ ๑๗ ก.พ. - ๑๙ ก.พ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๑๙๘๔

เมื่อใดที่สังคมไทยประสบปัญหาใหญ่ๆ เมื่อนั้นเรามักจะเห็น "มหาจำลอง" หรือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้มีภาพลักษณ์ มิสเตอร์คลีน มายืนอยู่แถวหน้า ในการเรียกร้องความถูกต้อง ให้เกิดขึ้นในสังคม

ล่าสุด เมื่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.มีการประชุมวาระพิเศษ ให้บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ (๑๙๙๙) จำกัด หรือเบียร์ช้าง เข้าตลาดหุ้น ด้วยการแก้กฎเหล็ก ที่เคย ห้ามธุรกิจ ที่ขัดต่อกฎหมาย และขนบธรรมเนียม อันดีของไทย ซึ่งธุรกิจผลิตเหล้าอยู่ในข่ายยกเว้น ที่ว่านี้ด้วย แต่บังเอิญบอร์ดของ ตลท.เสียงแตก แบ่งออกเป็นสองฝัก สองฝ่าย

คณะกรรมการในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมีการต่อสายถึง พล.ต.จำลอง ซึ่งเป็นบุคคลที่คนทั่วไป สังคมรับรู้ กันว่า ยืนอยู่ฝ่ายธรรมะ ปฏิบัติตัว เยี่ยงผู้ถือศีล กินข้าววันละมื้อ ถือศีล ๘ หวังดึงท่านมาเป็นแนวร่วม

และก็เป็นดังคาด มหา ๕ ขัน ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยให้ความเห็นว่า ปัจจุบันคนไทยเรา ดื่มเหล้า กันมากอยู่แล้ว และก่อปัญหา สังคมมากมาย ถ้าขืนเปิดทางให้กิจการเหล้าเข้าตลาดหุ้น ผู้คนคงแห่ มาเล่นหุ้นตัวนี้กันมาก เพราะเป็นธุรกิจ ที่เห็นกำไรอยู่ใสๆ ยิ่งคนบริโภค ก็ยิ่งขยายกำลังผลิตเพิ่ม ให้เพียงพอกับความต้องการ

งานนี้มหาจำลอง ลงทุนต่อสายถึงคณะกรรมการตลาดประมาณครึ่งหนึ่ง จากที่มีรวมกัน ๑๑ คน โน้มน้าว ไม่ให้มีมติเห็นด้วย กับการนำธุรกิจเหล้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนการออกมา เคลื่อนไหวหรือไม่นั้น ยังต้องรอดูว่า บอร์ด ตลท.จะมีมติเป็นเช่นไร

สำหรับกลุ่มที่ไม่อยากให้คนไทยตกเป็นทาสน้ำเมา รวมถึงไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเมือง พุทธศาสนา ติดอันดับโลก ในความเป็นคน ขี้เหล้าเมายา มีความปรารถนาที่จะให้คำค้านของมหาจำลอง ก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลง ในทางที่ดีต่อสังคม ดังเช่นการเคลื่อนไหวในเรื่องที่ผ่านๆ มา

ย้อนหลังไปในปี ๒๕๔๗ นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เกิดความคิดใสปิ๊งจะซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล ของอังกฤษ ทีมฟุตบอล ที่คนไทยรู้จักและชื่นชอบกันทั้งเด็กผู้ใหญ่ เอาชื่อสโมสร มาแปะบน สินค้าโอท็อป ของไทยไปขายทั่วโลก ซึ่งแผนการ ซื้อหุ้นครานั้น รัฐบาลจะใช้วิธีการ ออกสลากพิเศษ ตั้งราคาใบละ ๑,๐๐๐ บาท แต่ตั้งรางวัลที่หนึ่ง ไว้สูงถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ครั้งนั้นคนในสังคม มีความเห็น ไปสองฝ่าย อย่างเห็นได้ชัด

มหาจำลอง ในฐานะที่ปรึกษานายกฯ ดูแลงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้ทำจดหมาย ส่วนตัวถึง ทักษิณ แสดงความไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลจะใช้เงินหลวงไปซื้อหุ้นทีมหงส์แดง เพราะมีผลเสีย มากกว่าผลดี ยิ่งวิธีการออกสลาก เป็นการเปิดโอกาส ให้คนไทยได้มีหุ้นนั้น เป็นการสนับสนุนการพนัน ทำให้คนไทยที่บ้าฟุตบอลมีจำนวนมากขึ้น การพนัน จะรุ่งเรืองเฟื่องฟู ตามมาอย่างแน่นอน และ การตั้ง ราคาหวยไว้สูงๆ ใช่ว่าจะป้องกันคนจนซื้อหวยนั้น ท่านมหาจำลอง บอกว่า ทำแบบนี้ เท่ากับไม่รู้จักคนจนประเทศไทยเสียแล้ว ไม่มีเงินก็จะไปกู้หนี้ยืมสิน มาซื้อจนได้ แม้จะต้อง จ่ายดอกแพง ร้อยละ ๒๐ ต่อวันก็ยอม เนื่องจากหวังรวยรางวัลที่ ๑ ได้ถึงพันล้านบาท ไม่มีที่ไหน ในโลกทำกัน

หลังอ่านจดหมายฉบับนี้ นายกฯทักษิณ สั่งล้มโครงการหวยหุ้นเพื่อลดกระแสสังคม และเรื่อง ก็ค่อยๆ เลือนหายไป

แต่สำหรับการดึงเบียร์ช้างของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ครั้งนี้ นายกฯ และ ตลท.จะยอมตาม กระแส หรือไม่ ก็ต้องติดตามต่อไป เพราะความต้องการ อยากจะเห็นตลาดหุ้นของไทย มีมาร์เก็ตแคป ขนาดใหญ่ ทัดเทียมต่างประเทศ นั้น ถือเป็นความฝันหนึ่ง ของนายกฯ คนนี้ ตั้งแต่สมัยแรก ที่เข้ามา บริหารประเทศ ก็เริ่มเดินเครื่องและทุ่มความพยายาม ดันมาร์เก็ตแคปเรื่อยมา


ผู้ใหญ่บางท่านบอกผมว่า การคัดค้านเรื่องนี้สำเร็จยาก เพราะกิจการเหล้าและเบียร์มีเงิน มหาศาล เอื้ออำนวยประโยชน์ ให้แก่หลายคน หลายวงการ พอมีข่าวเรื่องนี้ออกไปก็มีการไต่ถาม ความคิดเห็น ของ "บุคคลสาธารณะ" ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นอย่างดี

นักการเมืองท่านหนึ่ง ตอบข้อซักถามว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ ทำนองว่าการที่เหล้าและเบียร์ จะเข้า ตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นเรื่องธุรกิจ เขาก็ต้องขยายกิจการไป คราวที่แล้วที่ท่านเป็นตัวตั้งตัวตี ในโครงการ "เมาไม่ขับ" นั้น ท่านต่อต้าน ไม่ให้คนเมาขับรถ ต่างหาก ส่วนจะเมาหยำเปหรือไม่นั้น ท่านไม่เกี่ยว (ข้อความในวรรคท้ายนี้ ผมขยายความเอาเอง)

กรณีนี้อาจจะเป็นเครื่องวัดใจศาสนิกชนทุกศาสนาได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนมีศาสนา ทั้งนั้น ผมก็เหมือนท่านสมาชิก "เราคิดอะไร" บางท่าน ไม่มีทางเลือกอื่น ค้านสถานเดียว ค้านอย่างจริงจัง ไม่ว่าผลจะออกมา ประการใดก็ตาม

ข่าวล่าสุด เมื่อถึงกำหนดประชุมวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์หารือกัน ตกลงใจ เลื่อนอีก เลื่อนการประชุมเรื่อง "เหล้า-เบียร์เข้า ตลาดหลักทรัพย์" ออกไปไม่มีกำหนด

ขืนกำหนดวันประชุมประเดี๋ยวจะมีการค้านกันอีก เผลอๆ เอาเข้าที่ประชุมแล้วอนุมัติเลย คณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ สามารถทำได้

แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีหนอ เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ -