- จำลอง ศรีเมือง -
แม้ผมจะเคยทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล แต่จากไปเสียนาน ไปอยู่กลางดงกลางป่า ในระยะหลังๆ นี้ นานทีปีหน จึงจะมีความจำเป็น เข้าไปสักครั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ท่านนายกฯ ทักษิณ เป็นประธานการประชุม มอบหมายให้ "ศูนย์คุณธรรม" ที่ผมเป็นประธานอยู่นั้น จัดงานวันวิสาขบูชาให้ยิ่งใหญ่ รวมชาวพุทธทุกหมู่คณะ จัดงานตามแนว ท่านอาจารย์พุทธทาส เริ่มเป็นปีแรก ปีต่อๆ ไป ต้องมีชาวพุทธจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานที่เมืองไทย
(เมื่อปี ๒๕๒๔ ผมเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ร่วมกับพระและฆราวาส จัดงานวันวิสาขบูชา ที่สวนลุมพินี เป็นกิจกรรม ที่เป็นพุทธแท้ๆ ได้รับความสนใจ อย่างยิ่ง หลายคนยังติดอกติดใจ จนถึงวันนี้ มีท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ บิดาของคุณหมอจักรธรรม เป็นประธานเปิดงาน)
ผมเห็นว่าการจัดงานที่ท่านนายกฯมอบหมายนั้น ตรงกับหน้าที่ของ "สำนักงานพระพุทธศาสนา" มากกว่า จึงขอร้องให้ คุณหมอจักรธรรม ธรรมศักดิ์ เป็นประธานจัดงาน มีกรรมการ และอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ มากมาย มีทั้งผู้แทนของภิกษุณี ธรรมกาย วัดในกรุง วัดป่า สันติอโศก... ส่วนผมเป็นเพียงที่ปรึกษา คนหนึ่งเท่านั้น ในจำนวนหลายๆ คน
ผมและเจ้าหน้าที่ของศูนย์คุณธรรม เดินทางไปขอความกรุณาจากผู้ใหญ่ของชาวพุทธ กลุ่มต่างๆ ทั้งนักบวชและฆราวาส เมื่อประสานได้หมดแล้ว ผมกับคุณหมอ จักรธรรม ก็ไปกราบนมัสการ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ วัดสระเกษ ซึ่งรักษาการแทน สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน กราบชี้แจง ถึงการจัดงาน ตามนโยบายของรัฐบาล ว่าได้เตรียมการอะไรบ้าง โดยมีสำนักพระพุทธศาสนา เป็นแม่งาน และศูนย์คุณธรรม เป็นผู้สนับสนุนทุกเรื่อง
เช้าวันรุ่งขึ้น (๑๑ เมษายน) คณะกรรมการจัดงานวันวิสาขบูชา ที่มีคุณหมอจักรธรรมเป็นประธาน ได้เข้าพบหารือ ท่านนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการพบปะ ท่านนายกฯ ได้แถลงต่อสื่อมวลชน พร้อมกับแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ ถึงนโยบายการจัดงาน วันวิสาขบูชาในปีนี้ ให้ยิ่งใหญ่เป็นปีแรก จะให้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในปี ๒๕๕๐ ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา
เราออกจากทำเนียบได้ไม่นาน ศูนย์คุณธรรมก็ได้รับโทรศัพท์จากสำนักงานพระพุทธศาสนาว่า พระผู้ใหญ่ที่ท่านเป็นกรรมการ จัดงานด้วย ไม่สบายใจ ที่มีท่านจันทร์ (สมณะจันทเสฏโฐ) จากสันติอโศก ร่วมเป็นกรรมการ ศูนย์คุณธรรมรีบกราบนมัสการ ให้ท่านจันทร์ทราบ ท่านยินดีให้เอาชื่อออกทันที
ผมต้องทำเอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ โดยตัดชื่อท่านจันทร์ ออกเพียงองค์เดียว แล้วรีบส่งหนังสือ ไปให้สำนักงาน พระพุทธศาสนา ซึ่งในตอนบ่ายวันเดียวกัน ได้มีการประชุม มหาเถรสมาคมตามปรกติ คุณหมอจักรธรรม เป็นเลขานุการ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ส่งไปให้ คุณหมอจักรธรรม ในห้องประชุม ในทันทีทันใด
ที่ประชุมมหาเถรสมาคมคัดค้าน ไม่ให้จัดงานวันวิสาขบูชารวม ภิกษุณี มหายาน ธรรมกาย และสันติอโศก ที่พุทธมณฑล พอหมอจักรธรรมทราบเรื่อง ตัดชื่อท่านจันทร์ออก ก็รีบกราบนมัสการ ให้พระผู้ใหญ่ทราบ ว่าสันติอโศก ยอมให้ถอนชื่อ ออกจากคณะกรรมการแล้ว แม้กระนั้นพระผู้ใหญ่ ท่านก็ไม่ยอมอยู่ดี ท่านนายกฯ คงไม่ทราบเรื่อง ที่ถูกคัดค้าน จึงยืนยัน ในเวลาต่อๆ มา จะจัดงานตามนโยบายเดิม ที่กล่าวกับกับคณะกรรมการจัดงาน เมื่อตอนเช้า รวมทั้งพูดทางวิทยุ ในวันเสาร์ ๑๖ เมษายน ด้วย หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๗ เมษายน ลงข่าวว่า
"เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน ทางสถานีวิทยุ กระจายเสียง แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ที่ผ่านมา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อพลังแผ่นดิน หรือศูนย์คุณธรรม และแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้มาพบที่ทำเนียบ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดงาน วันวิสาขบูชาโลก โดยมีความคิดว่า อยากให้ชาวพุทธมาพบกัน อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา ให้จิตใจสบาย มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความคิดว่า จะเชิญพุทธศาสนิกชน จากทั่วโลก มาร่วมกัน ปฏิบัติธรรม ซึ่งตอนแรกคิดว่า จะใช้พุทธมณฑล เป็นสถานที่ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ศูนย์คุณธรรม และมหาเถรสมาคม เพราะพระพุทธศาสนา ที่ยาวนานกว่า ๒,๕๐๐ กว่าปี และ พระพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นแสงนำทางให้ชีวิต ถึงทุกวันนี้เราเอง ที่เป็นชาวพุทธ ก็ต้องยึดถือ หลักธรรม คำสอน ของพระพุทธเจ้าให้ได้ ไม่ใช่ไปใช้วิธีอื่น เช่น ความเชื่อ ความงมงาย ที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนเอาไว้
"ที่สำคัญคือชาวพุทธ ต้องมีความสมานฉันท์ ในหมู่ชาวพุทธด้วย ที่จริงแล้ว มาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่า จะต้องให้ เสรีภาพ ในการนับถือศาสนา โดยไม่เลือกนิกาย ไม่เลือกลัทธิ และความเชื่อ ใครจะเชื่ออย่างไร ไม่ว่ากัน แต่เป้าหมายสุดท้าย ของศาสนาพุทธก็คือ พระพุทธเจ้า ฉะนั้นเ ราจะต้องยึดหลักธรรม คำสั่งสอนเป็นหลัก ส่วนเรื่องรายละเอียด ใครจะทำอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีความสมานฉันท์ ในหมู่ชาวพุทธให้ได้ เพื่อให้งานวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์กลาง หมู่ชาวพุทธ นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า การจัดงานในปีแรก จะเน้นในส่วนของพุทธศาสนิกชนไทยก่อน โดยจะมีพุทธศาสนิกชน จากประเทศ เพื่อนบ้าน มาร่วมด้วยบ้าง แล้วต่อไป ก็จะมีการเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ"
หลังจากท่านนายกฯพูดวิทยุแล้ว หนังสือพิมพ์มติชนฉบับเดียวกัน ได้รายงานข่าวว่า
"ทางด้านพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เปิดเผยว่า เมื่อเป็นนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีศรัทธา อยากให้วันวิสาขบูชา ซึ่งสหประชาชาติยกย่อง ให้เป็นวันสากลโลก มีการ จัดงานลักษณะ เป็นศูนย์กลาง ในการปฏิบัติธรรม ของพุทธศาสนา ระดับสากล โดยให้จัดงานร่วมกัน ระหว่างสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อพลังแผ่นดิน และ มหาเถรสมาคม (มส.)นั้น ถือเป็นการดำเนินการ ในฐานะ ที่ท่านเป็นผู้นำรัฐบาล และผู้นำสูงสุด ดังนั้น คงต้องนำเรื่องนี้เข้าปรึกษาหารือ ในที่ประชุม มส.ในวันที่ ๒๐ เมษายน อีกครั้ง เพราะการจัดงานวันวิสาขบูชา จะต้องประสานกัน ระหว่างรัฐบาล และพระสงฆ์ จะขัดแย้งกันไม่ได้ เพียงแต่ทางออก ที่จะไม่ก่อให้เกิด ความขัดแย้งดังกล่าว จะเป็นเช่นไรนั้น ต้องรอดูผล จากการประชุม มส.อีกครั้ง ซึ่งอาตมาไม่สามารถใ ห้ความเห็นส่วนตัวได้
"เดิม มส.มีความเห็นว่า ไม่ควรให้กลุ่มสันติอโศกเข้าร่วมจัดงาน วันวิสาขบูชานั้น เนื่องจากขัดกับประกาศนียกรรมที่ระบุ ห้ามกลุ่มสันติอโศก ร่วมสังฆกรรม กับ มส. แต่เมื่อศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมเพื่อพลังแผ่นดิน โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานศูนย์ ได้ตัดกลุ่มสันติอโศก ออกจากเครือข่าย ร่วมจัดงาน ก็คงต้องมาปรึกษา หารือกัน ในที่ประชุม มส. ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ประกาศนียกรรมดังกล่าว ระบุรายละเอียดมากกว่า การห้ามร่วมสังฆกรรม มส. เพียงอย่างเดียว ฉะนั้น ก็ต้องมาดูกัน และพูดกันด้วยเหตุผล ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาล คงไม่ใช่หลับหูหลับตา โดยไม่ฟัง" พระพรหมวชิรญาณกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่า มส.ท่าทีอ่อนลงเพราะยอมนำกลับไปทบทวน ในที่ประชุม มส. พระพรหมวชิรญาณกล่าวว่า ไม่ใช่ท่าที อ่อนลง เพราะอาตมา ยังบอกไม่ได้ ว่าผลจะออกมา อย่างไร ต้องรอฟังผล ประชุม มส.อีกครั้ง ทั้งนี้ ที่มีการพูดกันว่า มติ มส.เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ให้ พศ. จัดงานวิสาขบูชา แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการพูดกัน ของคนภายนอก ที่จริงไม่ใช่มติ แต่เป็นความเห็นของ มส. ซึ่งในที่ประชุม มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย"
ท่านนายกฯ ทักษิณ ชอบชาวพุทธที่หัวสมัยใหม่ เช่น ท่านจันทร์ และ แม่ชีศันสนีย์ เป็นต้น วันที่พบกับ คณะกรรมการจัดงาน ท่านได้กล่าวให้ทุกคนฟัง ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อครั้งผมอยู่พรรคพลังธรรม ผมยังไม่ค่อยมีธรรมะ ต่อมาผมอ่านหนังสือ และฟังเทปธรรมะมากขึ้น ผมฟังเทป ของท่านจันทร์ด้วย"
ในงานประชุมเพลิงศพคุณพ่อผมที่วัดฝั่งธนบุรี นานมาแล้ว ตอนนั้นท่านนายกฯทักษิณ เป็นรองนายกฯ ท่านจันทร์เทศน์ ก่อนที่ ดร.ทักษิณ จะเป็นประธาน จุดเพลิง พอเทศน์จบ ดร.ทักษิณ ถามท่านจันทร์ว่า "ท่านเทศน์ผมโดยเฉพาะใช่ไหมครับ"
วันนั้น (๑๑ เมษายน) ก่อนคณะกรรมการ จะออกจากห้องรับรอง ผมได้มอบรูปพระธาตุอินทร์แขวน พร้อมกับกลอน ที่ท่านจันทร์ แต่งไว้ ให้แก่ท่านนายกฯ ซึ่งกำลังอยู่ในความเสี่ยง เหมือนก้อนหิน ที่แขวนอยู่บนภูเขา ว่าอยู่ได้ เพราะมีธรรมะ
"ก้อนหิน แปลกประหลาด ขนาดยักษ์
สถิตแท่น แน่นหนัก เหนือภูผา
แม้ก้อนหิน หมิ่นเหม่ เอียงเทมา
ยังเย้ยฟ้า ท้าฝน ไม่หล่นลง
โอ้พุทธา นุภาพ แสนซาบซึ้ง
พระอินทร์ซึ่ง ยิ่งใหญ่ ยังใหลหลง
มาแขวนหิน ก้อนใหญ่ ให้ยืนยง
บูชาองค ์ สูงสุด พระพุทธา
โลกนี้ อเนจอนาถ น่าหวาดเสียว
ธรรมนี้ แน่นเหนียว เป็นหนักหนา
แม้โลกนี้ หมิ่นเหม่ ทุกเวลา
ธรรมค้ำ โลกา ไม่น่ากลัว"
(ท่านจันทร์)
วันรุ่งขึ้นหลังจากการประชุมคัดค้านของมหาเถรสมาคม ท่านสมณะโพธิรักษ์ได้ประกาศว่า เมื่อเถรสมาคมรังเกียจ สันติอโศก ก็จะไม่ร่วมจัดงาน แต่พร้อม ที่จะช่วยทำงานให้ ถ้าได้รับการขอร้อง แม้กระทั่ง ไปทำความสะอาด ในบริเวณสถานที่จัดงาน ก็จะช่วยทำให้ ส่วนธรรมกายนั้น ก็ถอนตัวเช่นกัน
เมื่อห้าหกปีก่อน ธรรมกายได้ไปช่วยจัดงานวันวิสาขบูชา ที่พุทธมณฑล จัดอยู่ได้ ๒ ครั้ง ก็ต้องออกมา ด้วยข้อหาว่า "เรียบร้อยเกินไป" (วัดปากน้ำภาษีเจริญ เคยไปจัดอาหารเลี้ยง ก็ต้องออกมาเช่นกัน) คราวนี้กัลยาณมิตรธรรมกาย มีความหวัง เพราะท่านนายกฯ เอาจริงเอาจัง แต่แล้วก็กลับกลายไปเหมือนเดิม
เช้าวันจันทร์ที่ ๑๘ เมษายน ผมบึ่งไปพบท่านนายกฯ อย่างจู่โจม ไม่ได้นัด ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ผมเรียนเสนอแนะท่านว่า อย่าจัดรวม ในปีนี้เลย จะเกิดความขัดแย้ง เป็นผลเสีย แก่พระพุทธศาสนา หลังจากนั้น เมื่อผมได้รับคำถาม จากผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งสนใจเรื่องนี้อย่างยิ่ง ว่าการจัดงานวิสาขบูชาโลก จะเป็นอย่างไร ผมยืนยัน ทุกครั้งว่า "ศูนย์คุณธรรม" ตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ที่รัฐบาลเสนอตั้งขึ้นมา ทำอะไรจะต้องฟังนโยบายจากรัฐบาล ผมและ "ศูนย์คุณธรรม" พร้อมเสมอ จะให้จัดงาน วิสาขบูชาโลก ก็ได้ ไม่จัดก็ได้ ได้ทั้ง ๒ อย่าง ไม่ได้ติดยึด และไม่ทุกข์ร้อนอะไรเลย
ในการเข้าพบหารือที่ทำเนียบ (วันที่ ๑๑ เมษายน) คณะกรรมการจัดงานวันวิสาขบูชา เรียนเสนอแนะ ท่านนายกฯ ๒ โครงการ ซึ่งท่านเห็นชอบ คือ โครงการที่ ๑ จัดงานรวม ทุกหมู่คณะ ของชาวพุทธ ที่พุทธมณฑล ระหว่าง วันที่ ๒๒ ถึง ๓๐ พฤษภาคม โครงการที่ ๒ ซึ่งจะเกิดผลมากกว่าโครงการแรก คือ การตั้งสัจจะอธิษฐาน "๑ คน ๑ สัจจะ คุณทำได้ ง่ายนิดเดียว" จะมีการ ตั้งสัจจะ ในวันวิสาขบูชาทุกปี เริ่มปีนี้เป็นปีแรก ว่าชาวพุทธแต่ละคน จะทำอะไรให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่แล้วๆ มา ปี ๒๕๕๐ ที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา จะมีคนตั้งสัจจะ จำนวนมากมาย เมื่อคนหลายๆ คน ทำความดี ยิ่งๆ ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านจะทรง เหน็ดเหนื่อยน้อยลง
โครงการที่ ๒ นี้ไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่ ท่านนายกฯจะประกาศเชิญชวนชาวพุทธทั่วประเทศ ตั้งสัจจะ ในวันวิสาขบูชา ๒๒ พฤษภาคม เวลาหกโมงเย็น ท่านนายกฯตั้ง ๑ สัจจะ ประชาชน จะกำลังอยู่ที่บ้าน อยู่ในรถหรืออยู่ที่ไหน ก็ตั้งสัจจะพร้อมๆ กันได้ทั้งนั้น เรื่องนี้แม่ชีศันสนีย์ เป็นประธานอนุกรรมการเตรียมงาน หามรุ่งหามค่ำ ติดต่อกันหลายวันแล้ว
วันที่ ๒๑ เมษายน หนังสือพิมพ์"ไทยโพสต์" ลงข่าวพาดหัวตัวโต หวือหวา อยู่เพียงฉบับเดียว
มหาเล็งวัดพระแก้ว
จัดงานวิสาขบูชาท้าทาย มส.
ดึงสันติอโศก - ธรรมกายร่วม
งานวันวิสาขบูชาได้ข้อยุติ มหาเถรฯไม่เอา "จำลอง" พร้อมสั่งตั้ง กก.สอบแถลงการณ์ "สมณะโพธิรักษ์" ด้านมหาตีหน้าชื่นรับมติ บอกสบายใจ ไม่ต้องเหนื่อย ประกาศเดินหน้า จัดงานรวมพลังชาวพุทธ ตั้งสัจจะอธิษฐาน ทำความดีเอง จับมือสันติอโศก ธรรมกายเจ้าภาพร่วม ดึง "ทักษิณ" เป็นประธาน เปิดงาน ๒๒ พ.ค. เล็งสถานที่วัดพระแก้ว -วัดเบญจมบพิตร ถ่ายทอดสด ทั่วประเทศ
ที่ลงข่าวว่าผมจะจัดงานวิสาขบูชาท้าทายมหาเถรสมาคมนั้น ไม่จริง เป็นเรื่องตรงกันข้าม กับที่ผมเสนอแนะ ท่านนายกฯ ซึ่งผมเน้นแล้ว เน้นอีกว่า ไม่ควรให้เกิด ความขัดแย้ง
ผมได้ชี้แจงกับท่านนายกฯ และเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟัง ในเวลาต่อๆ มาว่า การที่อ้างว่า เอาพระภิกษุณี มหายาน....สันติอโศก มาร่วมสังฆกรรมที่พุทธมณฑล ไม่ได้นั้น การจัดงาน วันวิสาขบูชา เป็นการจัดงาน ไม่ใช่สังฆกรรม ก่อนหน้าที่จะเกิดการคัดค้าน เพียงไม่กี่วัน สำนักงานพระพุทธศาสนา ก็จัดงาน ศาสนาสัมพันธ์ รวมทุกศาสนา เสียด้วยซ้ำ ยังจัดได้ พอจะจัดงาน รวมชาวพุทธ ในศาสนาเดียว กลับทำไม่ได้
คำว่า บัพพาชนียกรรม ตามคำแถลงการณ์ ของท่านสมณะโพธิรักษ์ เข้าใจได้ง่ายๆ แปลว่า ให้ออกจากหมู่คณะ คณะของ สันติอโศก ลาออกจากหมู่คณะ ที่ชื่อว่า มหาเถรสมาคม ไปแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ มีหลักฐานทางบ้านเมือง และทางศาสนา ชัดเจน พอ ๑๔ ปีผ่านไป คือ เมื่อปี ๒๕๓๒ มหาเถรสมาคม ประกาศบัพพาชนียกรรม ให้สันติอโศก ออกจากหมู่คณะอีก จึงไม่เป็นผล
พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงบัญญัติ "นานาสังวาส" เพื่อแก้ปัญหานี้ไว้เรียบร้อยแล้ว ในสมัยพุทธกาล ที่เกิดกรณีเกี่ยวกับ ความต่าง ของความเห็น (ทิฐิ) เรื่องของหัวข้อธรรม และศีล ที่ไม่เสมอกัน ของสงฆ์ ๒ ฝ่าย พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ต่อไป ภายภาคหน้า จะไม่ลงรอยยิ่งกว่านั้น จึงทรงบัญญัติว่า เมื่อประกาศไม่ลงรอยกัน ก็ไม่ต้องแยกไปไหน อยู่ในศาสนาพุทธ นี่แหละ อยู่อย่าง นานาสังวาส (อยู่รวมกันอย่างมีความแตกต่าง) ต่างฝ่ายต่างอย่าไปกล่าวหา ฟ้องร้องกัน ชาวพุทธ จะเป็น ผู้ตัดสินเอง เขาศรัทธาในสงฆ์ คณะใด ก็ไปที่นั่น การทะเลาะเบาะแว้ง จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ขอบคุณที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา โดยไม่มีใครตั้งใจจะให้เกิด วิกฤติกลับกลายเป็นโอกาส ทำให้ชาวพุทธ อีกหลายคน เข้าใจสันติอโศก
ผมขอเชิญชวนท่านสมาชิก "เราคิดอะไร" ที่ยังไม่รู้จักชาวอโศก ไปดูด้วยตนเอง ว่านักบวชชาวอโศก "ท่านทำอะไร" ใครถูก ใครผิด ใครกันแน่ ที่ปฏิบัติ ตรงตามพระธรรม คำสั่งสอน ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้อรังเกียจของฆราวาสที่ออกมาคัดค้านว่า แม้พระสันติอโศกจะถูกตัดชื่อออกจากคณะกรรมการแล้ว ก็ยังไม่พอ เพราะผม ซึ่งเป็นกรรมการ อยู่ด้วยคนหนึ่ง ยังมีลมหายใจ เป็นสันติอโศก
ผิดด้วยหรือที่ผมมีลมหายใจเป็นสันติอโศก
- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -