บ้านป่านาดอย
- จำลอง -
อยู่บ้านป่า อากาศดี อาหารดี อารมณ์ดี อาจอยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปี เพื่อนบางคนพอรู้ว่าผมเป็นกรรมการ "ชมรม อยู่ร้อยปี ชีวีเป็นสุข" ก็ส่งข่าว ถึงผมว่า ระวังจะเหงานะ เพราะเพื่อนๆ พากันตายหมด ทำท่าจะเป็นจริงตามนั้น เพื่อนนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับผมตายเกิน ๑ ใน ๓ แล้ว เมื่อไปฟังสวดศพ เพื่อนที่ตายล่าสุด ผมเพิ่งทราบว่า ผมขาด ไม่ได้ไปงานศพหลายงาน คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนบ้าง ภรรยาเพื่อน และตัวเพื่อน ผมเหมือนคน ไม่มีน้ำใจ ที่จริงน้ำใจน่ะมี แต่ที่ไม่มี คือเวลา จะไปหยิบไปยืมใคร ก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพื่อนผมคนหนึ่งชื่อ "แม้ว" เป็นคนเอาเพื่อนเอาฝูง ผมขอร้องให้มาทำหน้าที่ เป็นผู้จัดการให้ผม ปรกติ ผมมักจะมี ผู้จัดการ เป็นผู้หญิง เช่น ผู้จัดการ สวนสัตว์เลี้ยง ผู้จัดการบริษัทเท่าทุน และผู้จัดการ ร้านอาหาร บ้านสวนไผ่ เป็นต้น เพิ่งจะมี "แม้ว" นายพลโท นอกราชการนี่แหละ เป็นผู้จัดการชาย คนแรก "แม้ว" มีเพื่อนเป็นพระผู้ใหญ่อยู่ที่วัดโสมนัสวิหาร (วัดที่เผาศพทหารบก) ทั้งพระและแม้ว ช่วยผมเต็มที่ พระท่านรับฝาก พวงหรีดของผม ไว้ที่กุฏิ จำนวนนับสิบ เมื่อเพื่อนผม หรือญาติสนิทของเพื่อนตาย แม้ว จะเป็นผู้จัดการพวงหรีด โดยไปเบิกจากพระ แล้วไปงานศพแทนผม ต่อแต่นี้ไป เพื่อนๆ จะเห็นพวงหรีด ผมอยู่เรื่อย เสมือนกับผม ไปด้วยตัวเอง พวงหรีดทำด้วยแผ่นกระดาษเขียนชื่อผมและคุณศิริลักษณ์ เป็นพวงหรีดที่ใช้ได้ตลอดไป เคยทำด้วย ผ้ากำมะหยี่ ๒๐๐ บาท เสร็จงานสวดศพแล้ว ผมขอคืน ต่อมาไม่ได้คืน หลายรายเอาไปฝังกับศพ เพื่อเป็น เกียรติ ผมเลยทำรุ่นใหม่ พวงละ ๒๐ กว่าบาท ไม่ต้องขอคืน อีกต่อไป ผมเล่ามาเสียยืดยาว เพื่ออวดว่าผมเป็นคนประหยัดคนหนึ่ง ประหยัดหลายเรื่อง และประหยัดมานานแล้ว ปราบเซียนมา นักต่อนัก ใครที่เคย น้อยเนื้อต่ำใจว่า ตัวเองอาภัพอับโชค เมื่อไปเจอผม ที่โรงเรียนผู้นำ สบายใจ ทุกคน เพราะเมื่อมาไล่เรียงกันแล้ว ล้วนแล้วแต่มีความเป็นอยู่ ดีกว่าผมทั้งนั้น ใช้เงินมากกว่าผม ไล่ตั้งแต่หัวจรดเท้า กินก็ใช้เงินมากกว่า นอนก็ใช้เครื่องนอนแพงกว่า แม้กระทั่ง อาบน้ำ ก็ใช้น้ำมากกว่า การไปประชุมเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนา ผมจะเน้นเรื่องการประหยัดเป็นสำคัญ โดยเทียบเคียงว่า ต่อให้ ข้าวเปลือก เกวียนละหมื่น ชาวนาก็เจ๊ง ถ้าไม่รู้จักประหยัด ที่แล้วมา รัฐบาลโดยเฉพาะ นายกฯทักษิณ มุ่งแต่เรื่องรายรับ อย่างเดียว ไม่เอ่ยเรื่อง รายจ่ายเลย แก้ไขปัญหาความยากจน ถ้าไม่พูดเรื่องรายจ่าย ไม่พูดเรื่องประหยัด แก้ไปอีกกี่ชาติ ก็ไม่สำเร็จ ระยะหลังๆ ท่านคงเจอ ของจริง ชักพูดเรื่อง การประหยัดแล้ว วันที่ ๑ มิถุนายนรัฐบาลโหมโรงเป็นการใหญ่ ประหยัดไฟฟ้าและน้ำมัน ที่จริงควรจะทำกันจริงจัง มาตั้งหลายปีแล้ว วันที่ ๑๒ มิถุนายน ที่ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว เชียงใหม่ ครูทักษิณขึ้นกระดาน สอนชาวบ้าน แพร่ข่าว และภาพ ไปทั่วประเทศ "ผมอยากให้ทุกครอบครัวนั่งปรึกษาหารือกัน แล้วก็จดบัญชีไว้ว่า แต่ละวัน เรามีค่าใช้จ่าย อะไรบ้าง... วิเคราะห์ รายจ่าย แล้วก็วิเคราะห์รายได้ และเอาส่วนที่เหลือ เป็นกำไร ค่อยๆ ใช้จ่ายในชีวิต ในที่สุดแล้ว ทุกครอบครัว ก็จะมีรายได้ชนะรายจ่าย ก็จะพ้นทุกข์" ชาวไร่ชาวนาฝากชีวิตไว้กับ "เถ้าแก่" เมื่อต้องการของกินของใช้ ต้องการปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ก็ไปเบิกจาก เถ้าแก่ มาก่อน ไม่ได้ใช้เงินสด ไม่รู้ว่าเดือนหนึ่งๆ จ่ายไปมากแค่ไหน ขายข้าวขายพืชผล การเกษตรได้ ก็เอาไปผ่อนใช้หนี้ หนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด ที่ดินก็ตกเป็น ของเถ้าแก่ นิยายจริงเรื่องนี้ เกิดซ้ำๆ กันมาเรื่อยๆ เป็นเวลานานแสนนาน การประหยัดนั้น ไม่ต้องรอให้เกิดเรื่องเกิดราวเสียก่อนแล้วถึงจะประหยัด ขณะที่กำลังอยู่ดีมีสุข ถ้าเรา ประหยัด ก็สามารถเจียดจ่ายเงิน ไปช่วยสังคม ได้มากขึ้น ตอนวิกฤติก็ไม่ทุกข์ร้อน เพราะกินน้อยใช้น้อย จนเคยชินอยู่แล้ว ตั้งแต่น้ำมันยังราคาถูกๆ ผมเดินทางเข้ากรุงและไปที่ไหนๆระยะทางไกลๆ ผมก็ใช้รถประจำทาง ประหยัด ได้เยอะ รถส่วนตัว คันเก่าๆ ที่ยังใช้ได้ดี ก็เอาไว้ใช้ ตอนจำเป็นเท่านั้น จากโรงเรียนผู้นำไปต่อรถที่ บขส.กาญจน์ผมก็ขับรถอายุ ๓๓ ปี ไปจอดซุกไว้ในเมือง บางครั้งจอดทิ้งไว้ เกือบอาทิตย์ ก็ไม่หาย ไม่ถูกเฉี่ยวถูกชน ติดต่อการงานในกรุงเทพฯ หรือไปประชุมที่นั่นที่นี่ รถติดเป็นประจำ จึงต้องซื้อเวลา ต้องใช้รถส่วนตัว ผมก็ขับรถเอง ไม่จ้างคนขับ เวลาเจอใครๆเขา มักจะเป็นเรื่องแปลก อายุก็มาก เคยดำรงตำแหน่ง สูงๆ มาแล้ว ขับรถเอง "ไม่มีคนขับหรอกหรือครับ" ถามซ้ำๆ กันที่ไหนก็ที่นั่น ผมนึกในใจ อยากตอบยวนๆ ไปว่า "ไม่มีแล้วรถ มันจะมา ถึงนี่ได้หรือ ไม่น่าถามเลย ผมนี่แหละ คนขับ" เพื่อนผมคนหนึ่ง คุณศิริลักษณ์กำลังจะขอร้องให้ไปออกรายการโทรทัศน์กับท่านจันทร์ เพื่อนคนนี้ เด็ดจริงๆ เด็ดยิ่งกว่าผม เป็นนายพล นอกราชการ ผ่านสนามรบ ทั้งในและนอกประเทศ ได้เงินเพิ่มสู้รบ (พ.ส.ร.) ถึง ๑๖ ขั้น มากที่สุด ในกองทัพไทย ผมเที่ยวคุยว่า ผมได้เงิน พ.ส.ร. มากถึง ๙ ขั้น น้อยกว่าเพื่อนผมเยอะ พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เพื่อนผมเวลาไปไหนมาไหน ทั้งไกลและใกล้ หรือจะไปประชุมที่ห้องหรูหรา ปานใด ก็นั่งรถ ประจำทางไป อย่างสุขกาย สบายใจ น่าจะเอามาเป็นตัวอย่าง "คุณปู่ยอดประหยัด" ให้เยาวชนรู้ โทรศัพท์มือถือ เพื่อนไม่จำเป็นต้องใช้ ก็ไม่ซื้อ ขณะที่เด็ก ตัวเล็กตัวน้อย มีใช้กันให้เกร่อ ตัวอย่างที่แพร่ภาพแพร่ข่าวไป ก็มีแต่คนฟุ่มเฟือยทั้งนั้น ถือเป็นเรื่องดี เรื่องโก้ เป็นที่ยกย่อง ในวงสังคม เมื่อเดือนกว่าๆ มาแล้ว ดาราหนังคนหนึ่งปลูกบ้านราคา ๘๐ ล้านบาท ซื้อกระจกบานละ ๕ แสน เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ที่ผ่านมา ห้างนาฬิกา แห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ เอานาฬิกาผู้หญิง เรือนละ ๘๔ ล้านบาท ออกมา วางขาย ถูกแย่งซื้อไปทันที เงินจำนวนนั้น ซื้อนาฬิกา ที่ผมใส่ ได้ตั้ง ๘ แสน ๔ หมื่นเรือน (ผมไปซื้อ นาฬิกาเก่าเขามา เรือนละ ๑๐๐ บาทเท่านั้น) น้ำมันจะแพงขึ้นไปอีกเท่าไร คนสุรุ่ยสุร่าย ยิ่งซื้อทวนกระแสมากขึ้น การทำมาหากิน จะฝืดเคืองแค่ไหน ก็ช่าง ฉันจะซื้อ ตามใจซะอย่าง ต่อไปน้ำมัน ไม่ใช่ราคาขึ้นอาทิตย์ละครั้ง ขึ้นอาทิตย์ละกี่ครั้งก็ได้ วันเดียวกัน ราคาขึ้นเช้าที บ่ายทีก็ได้ คนส่วนใหญ่ จะเดือดร้อน ทุกหย่อมหญ้า "ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม" พระท่านสอนว่าต้องทำความเข้าใจให้ดี ไม่ได้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรม เดินทะเร่อทะร่า ไปให้รถชน แล้วไม่เป็นอะไร แต่หมายความว่า เมื่ออะไรจะเกิดขึ้น เราก็ไม่ทุกข์ เท่าที่ควร เพราะเรามีธรรมะ เราฝึกกินน้อย ใช้น้อย ไว้จนเคยชินแล้ว คนที่กินมากใช้มาก แม้จะท่องพระไตรปิฎกได้มากมายแค่ไหน ก็ยังไม่ถือว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม เพราะไม่เดินตาม รอยพระบาท ขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านละเวียงวัง ออกมา กินน้อย ใช้น้อย เป็นแบบอย่าง อันประเสริฐ แก่พุทธสาวก การฝึกอบรมผู้บริหารที่โรงเรียนผู้นำเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผู้บริหารหญิงคนหนึ่ง พูดในชั้นเรียนว่า รัฐมนตรี คนหนึ่ง เสนอแนวทางแก้ไข ที่น่าขำเกี่ยวกับ ปัญหาที่ครูเป็นหนี้ กันมากเหลือเกิน ด้วยนโยบาย ๓ อย่าง คือ ๑ แจกวัวให้ครูไปเลี้ยง ๒ แจกพันธุ์หญ้า ให้ครูไปปลูก เพื่อเลี้ยงวัว และ ๓ แจกกล้ายางให้ไปปลูก ตกลงครูจะพ้นจากความยากจนได้ ทุกคนต้องมีอาชีพเสริม ด้วยการเป็นเกษตรกร ปลูกยางพารา แล้วใคร จะเอาใจใส่ สอนเด็ก ถามผมว่า ผมคิดอย่างไร ผมตอบว่า ถ้าครูหันมาประหยัดอย่างจริงจัง จะมีเงินเพิ่มอีกมาก ผ่อนใช้หนี้ไปไม่ทันไรก็หมด แล้วอย่า ไปกู้ยืมมาอีก เอาแนว พระราชดำรัส "เศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นเกราะกำบัง ไม่เห็นจะต้องไปหาวิธี พิลึกกึกกือ อะไรเลย ครูเป็นอาชีพที่มั่นคง สิ้นเดือนทีไรก็ได้กำไรทุกที ไม่เหมือนชาวไร่ชาวนาหรือพ่อค้า บางครั้งก็ได้กำไร บางครั้ง ก็ขาดทุน ในการพูดคุยกับครูที่ไปรับการฝึกอบรมที่โรงเรียนผู้นำ เราสามารถสาธยายเป็นรูปธรรม ออกมาให้เห็นกัน ชัดๆ ว่า เพียงลำพัง การประหยัด ก็แก้ปัญหาได้แล้ว ถ้าจะหารายได้เพิ่มชนิด "สัมมาอาชีพ" ก็สามารถ ช่วยได้อีก ข้อสำคัญ อย่าไปอาย สิ่งที่ไม่ควรอาย ผมยกตัวอย่างครูบ้านนอกชาวอีสานคนหนึ่ง เป็นครูทันสมัย คือหนี้สิน ล้นพ้นตัว เมื่อหันเหชีวิต มาปฏิบัติ ธรรม ตามแนว ชาวสันติอโศก พร้อมกับ ทำปาท่องโก๋ขาย นอกเวลาราชการ ใช้หนี้หมด ไปนานแล้ว ตอนนี้ ก็เที่ยวชักชวน โน้มน้าวให้ลูกหนี้ ทั้งหลาย หันมาทำตาม ผมยืนยันเหมือนเดิมว่า ท่านนายกฯแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้แน่ ถ้าไม่รณรงค์ให้คนในชาติ หันมา ประหยัด อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ ท่านนายกฯ ต้องประหยัด ให้เป็นตัวอย่างด้วย -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ - |