ต่อจากฉบับที่ ๑๗๙


๓.๕.๒ จะลดค่า D ได้อย่างไร
โดยให้พิจารณาดูว่าปัญหาความบีบคั้นในชีวิตที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเพราะเรามี ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ที่เป็นความต้องการส่วนเกิน จำเป็นของชีวิต ในเรื่องนั้นๆ มากไปหรือไม่

ถึงแม้ว่าทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์จะชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราได้รับ สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ในลำดับขั้นตอนหนึ่งๆ อย่างเพียงพอแล้ว ก็จะขยับไปแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ในลำดับขั้น ที่สูงขึ้นต่อไป แต่ทฤษฎีนี้ ไม่ได้อธิบายว่า ทำไม ความต้องการ ประเภทเดียวกัน และในลำดับ ขั้นเดียวกัน ของมนุษย์แต่ละคน จึงมีไม่เท่ากัน

ตัวอย่างเช่น คนบางคนมีเงินสะสมแค่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ก็รู้สึกเป็นหลักประกัน ความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิต ที่เพียงพอแล้ว และก้าวข้ามไปแสวงหา ความต้องการ ในลำดับขั้น ที่สูงขึ้น อาทิ เข้าวัดเข้าวา เพื่อศึกษา ปฏิบัติธรรม ให้ประจักษ์ถึงความจริงเกี่ยวกับชีวิตตนเอง (Self Realization) เป็นต้น ในขณะที่คนบางคน ดิ้นรนหาเงิน มาสะสมได้นับ ๑๐ ล้านบาท ก็ยังรู้สึกว่า ชีวิตมีความไม่มั่นคง ปลอดภัยพอ ยังต้องดิ้นรน หาเงิน มาสะสมให้มากขึ้นๆ กว่านี้ต่อไป เพื่อเป็นหลักประกัน ความมั่นคงของชีวิต

เมื่อวิเคราะห์กรณีนี้จากมิติในด้านความกลัวตามที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง ในพลสูตร จะช่วยอธิบาย สาเหตุของ ปรากฏการณ์ ดังกล่าวได้ชัดขึ้นว่า เนื่องจากคนเราแต่ละคน ถูกครอบงำ โดยโครงสร้าง ของความกลัว ที่แฝงอยู่ในจิตส่วนลึกไม่เท่ากัน จึงผลักดัน ให้เกิดปริมาณ ความต้องการ ในแต่ละลำดับขั้น แตกต่างกัน ถ้าสามารถปลดปล่อยจิตใจ ให้เป็นอิสระ จากการครอบงำ โดยความกลัวที่แฝงอยู่ ในจิตส่วนลึก ได้มากเท่าไร ระดับของ ความต้องการส่วนเกิน จำเป็น ที่บีบคั้นให้ต้อง ดิ้นรนแสวงหา สิ่งต่างๆ ที่จะมาตอบสนอง ความต้องการ ดังกล่าว จนก่อให้เกิดปัญหา บีบคั้นในชีวิต ก็จะมีลดน้อยลง เท่านั้น

ในพลสูตร นอกเหนือจากการกล่าวถึงความกลัว ๕ อย่างแล้ว พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงกำลัง ๔ ประการ ซึ่งเมื่อ เกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ความกลัวต่างๆ หมดไป คือ

๑. กำลังที่เกิดจากปัญญา
๒. กำลังที่เกิดจากความเพียร
๓. กำลังที่เกิดจากการงานอันไม่มีโทษ
๔. กำลังที่เกิดจากการสงเคราะห์หรือสังคหวัตถุ

การขาดปัญญาหรือขาดความรู้ความเข้าใจที่กระจ่างชัด ย่อมเป็นต้นทางของความกลัว เช่น การที่เรากลัว ความมืด หรือกลัวผี (ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ ในความมืด) ก็เพราะเราไม่รู้ชัดว่า ในความมืดดังกล่าว มีอะไร แฝงอยู่บ้าง แต่เมื่อมีแสงอาทิตย์ส่องสว่างขับไล่ความมืด จนทำให้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน ความกลัว ดังกล่าว ก็จะหมดไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีความรู้ความเข้าใจกระจ่างชัดแล้ว แต่ถ้ามีความเกียจคร้านอยู่ ยังกลัวความลำบาก ที่จะต้องใช้ ความเพียรในการทำงาน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เราก็ยัง จะถูกครอบงำ โดยอิทธิพล ของความกลัว ที่นำไปสู่ความต้องการ ส่วนเกิน ของชีวิตต่อไป เช่น การที่เราต้องดิ้นรนแสวงหา ทรัพย์สมบัติ มาสะสมไว้มากๆ ไม่รู้จบ ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินที่มีอยู่ ก็เหลือกินเหลือใช้แล้ว ก็เพราะกลัวว่า ตัวเรา หรือลูกหลาน (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแห่งความรู้สึก เป็นอัตตา ตัวตนของเรา) อาจจะต้องเผชิญกับ ความทุกข์ ลำบาก ในภายหน้า และ ไม่สามารถใช้ชีวิต อย่างสุขสบาย (โดยไม่ต้องเพียร) เป็นต้น

เมื่อมีปัญญา มีความเพียร หากแต่ยังเผอเรอไปมีการกระทำ หรือประกอบการงาน ที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม ความกลัวว่า ผลแห่งการกระทำ ที่มีโทษดังกล่าว จะส่งผลกระทบ กลับมาสร้างปัญหา ให้แก่ตนในวันใด วันหนึ่งข้างหน้า ก็จะบีบคั้นให้คนผู้นั้น ยังไม่เป็นอิสระ จากความกลัวลึกๆ อย่างแท้จริง

สุดท้ายถึงแม้จะมีกำลังที่เกิดจากปัญญา มีกำลังที่เกิดจากความเพียร และมีกำลัง ที่เกิดจากการงาน อันไม่มีโทษ แต่ถ้ายังมี ความเห็นแก่ตัวแฝงอยู่ ไม่มีการสงเคราะห์ อาทรเกื้อกูล ต่อคนอื่น ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (ด้วยการสลายความเห็นแก่ตัว และ ลดตัวตน ให้น้อยลงๆ) ความกลัวที่แฝงอยู่ ในจิตส่วนลึกว่า จะสูญเสีย ความเป็นตัวตน ของตน ในลักษณะใด ลักษณะหนึ่ง ก็จะยังก่อให้เกิด ความต้องการส่วนเกิน และ แสดงศักยภาพ บีบคั้นคนผู้นั้น ให้เป็นทุกข์ได้ต่อไป

การเกิดกำลัง ๔ ประการ จึงเป็นเหตุมูลฐานที่จะช่วยคลี่คลายพันธนาการของความกลัว ที่แฝงอยู่ ในจิต ส่วนลึก อันจะช่วยลด ความต้องการส่วนเกิน และทำให้ชีวิต สามารถพัฒนา ไปสู่ระดับขั้นตอน ที่สูงขึ้น ตามกรอบแนวคิด ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งกำลังทั้ง ๔ ประการนี้ สามารถสรุปรวมลงได้ เป็นองค์รวม ของสิ่งเดียวกัน คือการสลาย ความเห็นแก่ตัวตน ของตนนั่นเอง (โดยไม่ใช่เป็นเรื่อง ๔ เรื่อง หรือ ๔ ประเภท ที่แยกเป็นอิสระจากกัน แต่เป็นมิติ ๔ ด้าน หรือ ๔ ระดับของสิ่งเดียวกัน)

ยิ่งสามารถลดความเห็นแก่ตัว จนหมดความยึดมั่นในความเป็นตัวตนของตนได้มากเท่าไร การมีกำลัง ของปัญญา ที่จะเข้าใจความจริง ตามความเป็นจริง การมีกำลังของความเพียร เพราะไม่ติดอยู่กับ การเสพความสุขสบายเพื่อตน การมีกำลังของการงาน อันไม่เป็นโทษ เนื่องจากไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่น เพื่อเอามาเป็นของตน ตลอดจนการมีกำลัง ที่เกิดจาก การสงเคราะห์ผู้อื่น ด้วยกาย วาจา ใจ (หรือมี สังคหวัตถุ) เพราะความไม่เห็นแก่ตัว ดังกล่าว ก็จะยิ่งเพิ่ม กำลังมากขึ้นๆ เท่านั้น ส่งผลให้ความกลัว ที่แฝงอยู่ในจิตใต้สำนึกส่วนลึก ค่อยๆ สลายตัว ลดน้อยลง และจะทำให้ความต้องการส่วนเกิน ที่เกาะกุม เป็นตัวตนของชีวิตค่อยๆ สลาย ลดน้อยลงด้วย โดยมีความสัมพันธ์กัน ตามแผนภูมิ คือ

ความต้องการส่วนเกินของชีวิต

ความกลัวที่แฝงอยู่ในจิตส่วนลึก

ความเห็นแก่ตัวตนของตน


3.6 ตัวแบบการวิเคราะห์ปัญหาองค์รวม

ภาวะแฝงของปัญหา ภาวะจริงของปัญหา

ความต้องการส่วนเกิน สิ่งตอบสนองความต้องการ

ความกลัว ความเห็นแก่ตัว

จากตัวแบบการวิเคราะห์มูลเหตุแห่งปัญหาความบีบคั้นของชีวิตโดยองค์รวม จะเห็นได้ว่า ชีวิตของมนุษย์ ถูกบีบคั้นด้วยภาวะแฝง ของปัญหา อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ ต้องคอยดิ้นรน แสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการต่างๆ เพื่อมาบดบังไม่ให้ภาวะแฝง ของปัญหา (Potentiality) ปรากฏตัวสู่ภาวะจริง (Actuality)

การถูกบีบคั้นให้ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆ มาขัดขวางไม่ให้ตัวปัญหาปรากฏออกมาให้เห็น ตามสัจจะ ความเป็นจริง เช่นนี้ ก็คือสภาวะขอ งความขัดแย้ง (Dialectic) และ ความแปลกแยก (Alienation) จากแก่นสาร แท้จริงของชีวิต ที่พุทธศาสนาเรียกว่า "ทุกข์อริยสัจ" แต่เนื่องจากความจริงของชีวิต คือภาวะ ที่ทนได้ยาก (ทุกข์) จึงต้องแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ และอาศัยกลไก ป้องกันตัวเอง ทางจิต แบบต่างๆ (Defence Mechanism) คอยกลบเกลื่อนบดบัง ไม่ให้ชีวิต ต้องเผชิญหน้ากับ สภาพแห่ง ความจริง ที่ทนได้ยาก ดังกล่าว ส่งผลให้มนุษย์ แปลกแยกจากสัจจะของชีวิต

ขณะเดียวกันการแสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการมากลบเกลื่อนปัญหามากๆ ก็จะส่งผล ไปกระตุ้น ให้เกิด ความเสพติด และเกิดความรู้สึก "เห็นแก่ตัว" ที่สัมพัทธ์ กับความเสพติด นั้นๆ ซึ่งนำไปสู่ "ความกลัว" ในจิตส่วนลึกว่าจะสูญเสียภาวะแห่งความเป็นตัวตน ที่ได้เสพ สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ดังกล่าว สมอยาก อันจะส่งผลกระตุ้นให้ "ความต้องการ ส่วนเกิน" ของชีวิตขยายตัว ครอบงำความรู้สึก นึกคิด ในจิตสำนึก โดยถ้าแสวงหา "สิ่งตอบสนอง ความต้องการ" มาเสพไม่ได้ ตามความรู้สึก นึกคิดนั้นๆ "ภาวะแฝงของปัญหา" ก็จะปรากฏตัวสู่ "ภาวะจริง" ให้เห็นทันที

ตัวอย่างเช่น คนที่ติดยาบ้าหรือติดเหล้า เมื่อไม่สามารถหายาบ้าหรือเหล้ามาเสพได้สมใจ ภาวะแฝง ของปัญหา ก็จะปรากฏตัว สู่ภาวะจริง ทำให้เกิดความทุกข์ ทุรนทุราย จากการ ไม่ได้เสพยาบ้า หรือเสพสุรา สมใจ ส่งผลให้ต้องดิ้นรนหายาบ้า หรือเหล้า มาเสพ เพื่อลดความทุกข์ทรมาน ดังกล่าว

แต่เมื่อได้เสพยาบ้าหรือเสพสุราสมใจแล้ว ความรู้สึกของตัวตนที่สัมพัทธ์ กับภาวะความรู้สึก สุขสมใจ จากการเสพ ยาบ้า หรือเหล้า ก็จะยิ่งเกาะกุมตัว เหนียวแน่นขึ้น จนเกิดความรู้สึก กลัว อยู่ลึกๆ ที่จะสูญเสีย ภาวะแห่งความเป็นตัวตน ที่สุขสมอยาก ดังกล่าวไป

ทำให้เกิดความต้องการที่จะแสวงหายาบ้าหรือเหล้า อันเป็นความต้องการส่วนเกินจำเป็น ของชีวิต มาเป็น องค์ประกอบส่วนหนึ่ง แห่งความเป็นตัวตน ของชีวิต โดยถ้าขาดยาบ้า หรือขาดเหล้า คนผู้นั้นก็จะรู้สึก เหมือนตัวตนของชีวิต บางอย่างสูญหายไป ทำให้ชีวิต ไม่สมบูรณ์ ในที่สุดก็จะมี ภาระใหม่เพิ่มขึ้น จากการ ต้องดิ้นรน แสวงหาสิ่งเกิน ความจำเป็น ดังกล่าว มาเติมชีวิตให้เต็ม

ในกรณีเช่นนี้ จะมีหนทางลดภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ได้ ๒ ทางใหญ่ๆ คือ การเพิ่ม สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ประการหนึ่ง (S ) และการหาทาง ทำให้ความต้องการ ส่วนเกิน ของชีวิต ลดน้อยลง อีกประการหนึ่ง (D ) โดยต้องมีปัญญาระวังไม่ให้การแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ดังกล่าว ไปกระตุ้น ให้ความต้องการ ส่วนเกินของชีวิต ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น กว่าเดิมอีก

เหมือนคนที่มีอาการปวดหัวรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการชั่วคราวก่อน (เพราะถ้าปล่อย ให้ปวดต่อไปมากๆ ร่างกายอาจ ทนต่อไปได้ยาก) ขณะเดียวกัน ก็ต้องวินิจฉัย เพื่อหา สมุฏฐาน ของโรคและรักษา ที่ต้นเหตุของอาการปวดหัวนั้นๆ แต่ถ้าให้ยาแก้ปวด อย่างเดียว โดยไม่สามารถ รักษาต้นเหตุ อย่างถูกจุด ยาแก้ปวดดังกล่าว ก็อาจไปกดทับบดบังอาการ จนทำให้สมุฏฐาน ของโรคขยายตัวเพิ่มขึ้นๆ อันยากต่อการรักษาในภายหลัง และทำให้ เสียชีวิต ในที่สุด การรักษาโรค มีหลักการฉันใด การแก้ปัญหาชีวิต ก็มีลักษณะดุจเดียวกันฉันนั้น

ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด จนสามารถลดละความต้องการส่วนเกินจำเป็นของชีวิต อาทิ ลดการติด ยาบ้าหรือติดเหล้า ดังตัวอย่าง กรณีที่กล่าวมา เป็นต้น ภาวะแฝงของปัญหา อันเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กับ การติดยาบ้า หรือติดเหล้าก็จะหมดไป ทำให้หมดความจำเป็นต้อง คอยหายาบ้า หรือเหล้า มาบดบัง กางกั้นภาวะแห่งความจริง ของชีวิตส่วนนี้ อีกต่อไป

ผลที่สุดยิ่งสามารถปลดปล่อยชีวิตจากพันธนาการของความกลัว และความต้องการ ส่วนเกินในเรื่องต่างๆ ได้มากเท่าไร ภาวะความขัดแย้ง และความแปลกแยก (Alienation) จากแก่นสาร ความจริงของชีวิต ก็จะคลี่คลาย ลดน้อยลง โดยลำดับๆ ทำให้ชีวิตสามารถ สัมผัสกับ สัจจะความจริง ที่สมบูรณ์มากขึ้นๆ

อ่านต่อฉบับหน้า
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -