สมณะโพธิรักษ์ พระเกจิฯนอกกรอบ
ผู้ประยุกต์หลักธรรม สร้าง "คนจนมหัศจรรย์"
 


 

๕มิถุนายน ๒๕๕๒ จะเป็นวันที่ท่านโพธิรักษ์มีอายุครบ ๗๕ ปีเต็ม

หากนับอายุแห่งการบวช เดือนพฤศจิกายน ๕๒ ก็จะครบ ๓๙ พรรษาเต็ม

ฉายาที่ได้รับจากคนฟังธรรมก็คือ "ขวานจักตอก"

เล่ากันว่ามีคารมที่รุนแรง-ตรงและชัดจนบาดเจ็บ!

ญาติธรรมในยุคแรกๆ มีลักษณะที่เด่นชัดคือ ไม่กินเนื้อสัตว์-ไม่แต่งงาน-ลดมื้ออาหาร-ไม่ใช้เครื่องสำอาง-ใส่เสื้อผ้าเรียบง่ายและมอซอ-ตัดผมสั้น-ใส่ผ้าถุง (กรณีเป็นหญิง)

และสำหรับผู้เคร่งครัดอีกระดับหนึ่งก็จะโกนหัว ไม่ใส่รองเท้า กินข้าววันละมื้อ!

เพราะเหตุนี้ ชาวพุทธที่ห่างไกล จึงมักจะตัดสินว่า"คนบ้า" หรือ "เสียสติไปแล้ว" !

ในหมู่นักปฏิบัติสำนักอื่นๆ ก็จะมีความเห็นว่า "เคร่งเกินไป" "สุดโต่งเกินไป"

๓๐ กว่าปีแห่งการเผยแพร่ธรรมะแนวท่านโพธิรักษ์ สมาชิก หรือ ญาติธรรมทั้งหลาย กลับแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจของตัวเองและครอบครัวได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวคิด "อุดรูรั่ว" มากกว่าการ "หารายได้"

ท่านผู้รู้ให้แนวคิดในวิธีการนี้ว่า "เศรษฐธรรม!" (เศรษฐกิจ+ธรรมะ)

เป็นทูอินวัน คือ ได้ปฏิบัติธรรมและได้ชีวิตที่ดีขึ้นในทางเศรษกิจ! (creative economic)

และ๓๐ กว่าปี แห่งการเผยแพร่ธรรมะ มีผู้ปฏิบัติลดละกิเลสและขอบวชตาม เพื่อทำงานด้านศาสนาโดยเฉพาะ เป็นร้อยๆ ชีวิต!

ท่านโพธิรักษ์ได้จัดงานประจำปีที่ใช้คำว่า "ปลุกเสกฯ" "พุทธาภิเษกฯ"

รวบรวมญาติธรรมมาฝึกกินอยู่อย่างพระธุดงค์ ๑ อาทิตย์ ด้วยแนวคิด "ประจุพุทธคุณลงในคนเป็นๆ !"

ด้วยแนวคิด "นอกกรอบ" ตีความใหม่ผิดไปจากพระเกจิฯ ทั้งหลาย ซึ่งพยายามจะประจุพุทธคุณ ลงในอิฐหิน ดินทราย แต่ท่านกลับสร้างกิจกรรมเป็นตัวอย่าง กระตุกเตือนใจให้ญาติธรรม โน้มน้อมประจุในตน

เพื่อเป็น สันทิฏฐิโก-อกาลิโก-เอหิปัสสิโกและโอปนยิโก!

วันนี้ของญาติธรรมที่เรียกตัวเองว่า " ชาวอโศก" มี How to ที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดคือ

"ฝึกกินน้อยลง-ใช้น้อยลง และทำงานให้มากขึ้น"

"เราจะมาเป็นคนจนมหัศจรรย์?" นี่คือแนวทางของลูกหลานอโศกทุกชีวิต

สังคมใหม่ของท่านโพธิรักษ์ คือ สังคมที่ฝึกเป็นคนจนอย่างเต็มใจ จนอย่างมีความสุข?

ครั้งหนึ่งในงานปีใหม่ของญาติธรรมชาวอโศกท่านโพธิรักษ์ อวยพร "ขอให้จนๆๆ"

การให้ คนไทยมาจน" เป็นทางออกของประเทศชาติหรือไม่? หลายท่านอาจนึกสงสัย

ปฏิทินปี ๒๕๕๑ ของชาวอโศกมีโศลกธรรม ๒ บรรทัด

"เศรษฐกิจบุญนิยม คนจนรู้จักพอ
เศรษฐกิจทุนนิยม คนรวยไม่รู้จักพอ"

จะเห็นว่าแนวคิดของท่านโพธิรักษ์ เน้นการพัฒนาตนเองด้วยหลักการดำรงชีวิตแบบคนจน

ขณะที่ คุณหมอประเวศ วะสี วิเคราะห์สังคมไทย เต็มไปด้วยความเครียด และเห็นแก่ตัว เพราะมัวแต่ตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไรจะรวย?"

เพราะเหตุนี้ โลกยุคโลกาภิวัตน์ ผู้คนยิ่งเป็นทาสการบริโภค นับวันก็จะยิ่งยากจน

"มาฝึกใช้ชีวิตอย่างคนจน" จึงมิใช่คำขวัญลอยๆ แต่ต้องให้ลงลึกในชีวิตประจำวัน

เพื่อเข้าสู่ "คนจนผู้ยิ่งใหญ่" เป็น "คนจนที่มีความสุข"

และเป็นการแก้ปัญหาสังคมในระดับ "มหภาค"

ผู้เขียนได้คุยพระอาจารย์วิปัสนาหลายท่านซึ่งพูดถึง หลักธรรม " สติปัฏฐาน" อันเริ่ม จาก กาย-เวทนา-จิต-ธรรม

"กาย" หมายถึง การพิจารณาอวัยวะใหญ่น้อย

กายเหล่านี้ น่าจะเป็น ระดับ "กายใน"

แต่กรณีของท่านโพธิรักษ์ ที่ให้อุดรูรั่วใช้ชีวิตประหยัด ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค

การลดละอบายมุข การฝึกจรณะ๑๕ (ศีลสังวร-สำรวมอินทรีย์-ชาคริยานุโยค-วิกาลโภชนา)

ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ "กายนอก"

เรื่องของกายคตานุสติปัฏฐาน จึงน่าจะเป็น ๑.๑ คือ กายนอก ๑.๒ คือ กายใน จะได้เกิดประโยชน์ครบพร้อม

ใครที่ยังรุงรังกับชีวิตก็ถากถางให้โล่งพอสังเขป (ตัด-กำจัด-ละทิ้งวัตถุ)

ใครที่มีบารมีเก่า ชีวิตไม่มีอะไรรุงรังก็มาพิจารณาลงลึกให้มากขึ้น เป็นจินตามยปัญญาไปเลย

แนวปฏิบัติของท่านโพธิรักษ์ จึงมิได้ผิดแผกแตกต่างไปจากความเข้าใจของชาวพุทธทั่วไป แต่เป็นการเพิ่มเติม ในสิ่งที่มีอยู่

และค่อนข้างมีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเป็น how to ที่จับต้องได้

ชุมชนชาวอโศก ๑๐ กว่าชุมชนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง เป็นชุมชนตัวอย่างตลอดจน ญาติธรรม หลายๆ คนที่เป็นข้าราชการ เป็นเอกชน ทำงานจนได้รับรางวัลดีเด่นในหน่วยงาน

น่าจะเป็นหลักฐานหรือข้อยืนยันแนวปฏิบัติธรรม "ขอให้จน"

ว่าน่าจะเป็นทางออกของสังคมไทย

เราคิดอะไร ธรรมดาของโลกจะได้ไม่ต้องโศกสลด ฉบับ ๒๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒