ฉบับที่ 176 ปักษ์แรก 1-15 กุมภาพันธ์ 2545
ข่าวหน้า1 | ธรรมะพ่อท่าน | กสิกรรมธรรมชาติ | จับกระแส ต.อ. | สกูป | ศูนย์สุขภาพ | ข่าวหน้าใน | ข่าวสั้น

[1] บทนำ ข่าวอโศก

[2] ธรรมพ่อท่าน "กรรมของเป็นของตน"

[3] นางงามรายปักษ์ : สิกขมาตุจิตรา แซ่ลี้ พุทธสถานสันติอโศก

[4] แง้มประตู เพื่อนช่วยเพื่อน

[5] ข่าวศูนย์สุขภาพ

[6] โครงการประเมินผล สัจธรรมชีวิต รุ่น 4

[7] ตลึงอีกครั้งกับขบวนเรือยักษ์

[8] ศีรษะอโศกติวเข้ม จัดค่าย "เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร" พัฒนาคนในหมู่บ้าน

[9] พ่อท่านร่วมงานฤดูหนาว ชาวภูผาฯ ดำริผนวกงานธรรมชาติอโศก สร้างสรรกีฬาอาริยะให้แก่สังคมโลก

[10] แจกยิ้ม

[11] เกจิอาจารย์ งานพุทธาภิเษกฯ และงานปลุกเสก ครั้งที่ 26 ประจำปี 2545


[1] บทนำ ข่าวอโศก

๑บ้าน ๑ผลิตภัณฑ์ งานฤดูหนาวชาวภูผาฟ้าน้ำ ครั้งที่๑ (๒๖-๒๗ มค.๒๕๔๔) ได้จบลงสมชื่องาน แต่บรรยากาศ กลับอบอุ่น ด้วยความรู้สึก เป็นพี่เป็นน้อง ของชาวเรา และชาวบ้านข้างเคียง ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ที่ได้มาร่วมงาน โดยมีพ่อท่าน ดุจหัวหน้าครอบครัว อันเป็นเสาหลัก ของครอบครัว ได้แผ่รัศมีแห่งความอบอุ่น สู่ลูกๆทุกคน มากยิ่งขึ้น แม้เพียงความรู้สึกว่า พ่อท่านเดินทางมาถึงแล้ว นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าประทับใจ และสร้างความอบอุ่น แก่ชาวเรา มากยิ่งขึ้น ก็คือมีญาติธรรมต่างๆ ได้นำพืชผัก ผลไม้ไร้สารพิษ ที่ปลูกเอง มาบริจาคให้กับชาวภูผา ทำอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมงาน นอกเหนือจากโรงบุญฯ ที่ในปีนี้ มีผู้มาขอตั้งโรงบุญฯ มาแจก อาหารมังสวิรัติ ในงานปอยเล็กนี้ มากยิ่งขึ้นกว่างานปอยหลวง หรือปอยใหญ่ เมื่อปีที่แล้ว กะหล่ำปลีจำนวนหลายหัว ที่ปลูกเอง จากญาติธรรม ชาวเชียงรายอโศก พริกกำน้อยๆ หลายๆกำ จากญาติธรรมหลายๆคน ในหลายๆแห่ง ก็เพียงพอ ต่อการทำอาหารเลี้ยง ดูแลผู้มาร่วมงาน จำนวนหลายร้อยคน ผักป่า ผักพื้นบ้าน นานาชนิด เท่าที่มี หรือหาเก็บได้ ตามข้างรั้ว หรือข้างๆบ้าน ทั้งที่ปลูกเอง และขึ้นเอง จำนวนบ้านละไม่มาก ก็ทำให้เจ้าภาพ มีอาหารแจก อย่างเหลือเฟือ นี่เป็นวัฒนธรรม ๑บ้าน ๑ ผลิตภัณฑ์ หรือ ข้าวหม้อแกงหม้อ ที่มีมาแต่โบราณ แต่นับวัน จะหายไป ได้กลับมา ในหมู่มวลชาวเรา ซึ่งพ่อท่านเคยให้แง่คิด แก่ชาวเราว่า นี้เป็น ลักษณะไทยฟื้น

ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนญาติธรรม มาฟื้นฟูชีวิตไทยไทเช่นนี้ ในทุกงานของชาวอโศก โดยเฉพาะ งานพุทธาภิเษกฯ ที่กำลังจะมีขึ้น ราวปลายเดือน กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[2] ธรรมะพ่อท่าน "กรรมเป็นของตน"

กรรมเป็นของตน
พุทธศาสนาเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องของกรรม มนุษย์ทุกผู้ต่างมีกรรมเป็นของๆตน ใครทำกรรมใดก็ได้กรรมนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ฝังตรึงจิตวิญญาณ ไปชั่วนิรันดร แน่นอนว่า อริยคุณใดๆ มิอาจได้มาด้วยการ บนบานศาลกล่าว หรือ จุดธูปเทียนบูชา วอนขอ จากเทพเจ้าองค์ใด ก็ตามแต่ สิ่งที่ขออาจไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้ คือความงมงาย ระคนความสบายอกสบายใจ ในห้วงเวลาหนึ่ง "ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดได้มาเปล่า" คำกล่าวนี้ แม้ไม่ศรัทธา ก็มิอาจลบหลู่ กรรมทุกอย่าง ที่เราทำลงไป ในห้วงเวลาต่างๆ ย่อมมีผล ต่อชีวิตเราทั้งนั้น มากน้อย ตามแต่สัจธรรมจัดสรร ดังมีคำหนึ่ง ได้กล่าวว่า "ทำจริงได้จริง ทำเล่นได้เล่น" จากคำถามนี้ ย่อมชี้ชัดว่า ไม่มีมรรคผล สำหรับผู้เหยาะแหยะ ในการพากเพียร ไม่จริงจัง กับการฆ่ากิเลสในตน นัยตรงกันข้าม ผู้เอาจริง ในการขัดเกลาตนเท่านั้น จึงจะได้มรรคผล เข้าถึงความหลุดพ้น เป็นที่สุด...

ดังคำพ่อท่านกล่าวไว้ว่า "ผู้ที่จะมีจริง เป็นจริง ของแต่ละคน แต่ละคน ก็เพราะว่า ผู้นั้นกระทำจริง ฝึกหัดจริง ปฏิบัติอบรมตนจริง สังวรระวัง เรียนรู้ศึกษา มีสติ ธัมมวิจัย วิริยะ เกิดดี เกิดละลดได้ เป็นปีติ เป็นปัสสัทธิ สั่งสมลง เป็นความตั้งมั่นสมาธิ หรือความได้ยิ่งๆ ขึ้นเรียกว่า สมาธิ จนถึงที่สุด เรียกว่า "อุเบกขา" จนเป็นฐานอาศัย จนเป็นความเป็นไปได้ เป็นความเป็นความมี ก็เพราะกรรมเป็นของของตน" (คาถาธรรม ๑/๖/๒๗) เราผู้แสวงหาแก่นธรรม ซาบซึ้งอยู่แก่ใจว่า อาริยคุณ ใช่จะไขว่คว้ากันได้ง่ายๆ แม้มรรคผล ก็ใช่ว่าจะงอกงาม ง่ายดาย เหมือนเพาะกล้าปลูกผัก ทุกอย่างต้องทุ่มเท ด้วยชีวิตจิตวิญญาณ กับการพากเพียร ที่มั่นคงแน่วแน่ อดทนข่มฝืน สู้กิเลสอย่างมากทีเดียว กับกำลังต่อสู้ ที่โถมทุ่มลงไป ไม่มีการสูญเปล่า แม้นับไม่ได้อย่างเม็ดเงินก็ตามที ทว่ากรรมเป็นอันทำ เราทำสิ่งใด เราก็ได้สิ่งนั้นแล้ว แม้ความรู้สึกเรา จะบอกว่ามัน ไม่ได้ อาจเพราะเราทำไปแล้ว ไม่ปรากฏผลใด สะท้อนกลับมา ตามที่เราคิดเลย แต่อย่างน้อย เราก็ได้ทำ.

พุทธบุตร ลูกหม้ออโศก

[3] นางงามรายปักษ์ : สิกขมาตุจิตรา แซ่ลี้ พุทธสถานสันติอโศก

ฐานะปัจจุบัน สิกขมาตุจิตรา แซ่ลี้ พุทธสถานสันติอโศก
ฐานะเดิม น.ส.จิตรา แซ่ลี้
เกิด ๑๔ ต.ค.๒๔๗๕
อายุ ๗๐ ปี
ภูมิลำเนา อ.แกลง จ.ระยอง
การศึกษา ป.๔
สถานภาพ โสด

สิกขมาตุจิตรา แซ่ลี้ เป็นสิกขมาตุ ลำดับที่ ๓ ของนักบวชหญิงชาวอโศก นับรุ่นบรรพชนของชาวอโศกทีเดียว แม้อายุจะมากแล้ว แต่เห็นท่านช่วยการงาน ที่สันติอโศก อย่างขยันขันแข็งอยู่เสมอ

ถิ่นกำเนิด พ่อแม่มาจากเมืองจีน แล้วไปตั้งรกรากอยู่ที่ ปากน้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง อยู่หมู่บ้านแหลมสน มีอาชีพการประมง เป็นคนสุดท้อง ของพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ๕ คน ต่อมาเตี่ยแต่งงานใหม่ มีน้องอีก ๙ คน ตั้งแต่เล็กแม่บุญธรรมขอไป โดยเลี้ยงแบบโบราณ อย่างเข้มงวด อยู่ในกฎระเบียบของ กุลสตรี ตอนนั้นรู้สึกไม่ชอบใจ แต่เมื่อโตขึ้น จึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นคุณค่า ว่าเราได้ฝึก มาดีแล้ว ไม่ต้องหัด ทุกอย่างเป็นปกติของเรา เป็นคนรักเรียน แต่จบ ป.๔ แล้วไม่ได้เรียนต่อ "ผู้หญิงไม่ต้องเรียนมาก เดี๋ยวก็แต่งงาน" แม่บอกอย่างคนโบราณ และกลัวว่า เรียนแล้ว จะมาเขียนเพลงยาว จึง ขวนขวาย หาหนังสือมาอ่านเอง ชื่อดั้งเดิม เป็นชื่อจีน จิตราเป็นชื่อที่ตั้งเอง

บินเดี่ยว อายุ ๑๗ ปี เตี่ยพาเข้ากรุงเทพฯ ให้เรียนเย็บเสื้อ จนมีร้านเป็นของตัวเอง เตี่ยสั่งคำเดียวว่า "มาอยู่ด้วยตนเองนี่ ต้องปกครองตนเอง ถ้าจะแต่งงาน ก็แต่งเถอะไม่ว่า อย่าประพฤติตัว ให้เสียชื่อเท่านั้นแหละ" ปฏิเสธการแต่งงานหลายครั้ง เมื่อมีคนมาสู่ขอ เพราะเห็นว่า การแต่งงานมีภาระมาก ถ้าเกิดมีครอบครัวขึ้นมา อยู่ด้วยกัน เกิดจิตเบื่อขึ้นมา ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร และถ้า เกิดเขามีหนึ่ง-สอง-สามต่อ เราทนได้ไหม ถามตัวเองก่อน ถ้าเราทนไม่ได้ อย่าไปแต่ง

เทวธรรม สุขภาพแย่มากตั้งแต่เด็กป่วยมาเรื่อย สุดท้ายเป็นโรคปอด ไอเป็นเลือด รักษาทุกระยะ เอกซเรย์ กินยาจนกระเพาะทะลุ หมอตรวจแล้ว รีบผ่าตัดทันที ตอนนั้นปวดมาก จนตัวแข็งไปหมด ในใจบอกว่า ถ้าตายก็ตายเถอะ ไม่เอาหรอกชีวิต ถ้าร่างกายอย่างนี้ ทรมานอย่างนี้ ไม่เอาแล้ว ตอนนั้นไม่กลัวตาย ผ่าตัดเสร็จ ตั้งใจว่าจะประพฤติธรรม ตอนนั้นอายุ ๓๙

อโศกรุ่นที่ ๑ ได้อ่าน "คนคืออะไร" ลงในหนังสือสตรีสาร อ่านแล้วเข้าใจ คิดเองว่า คนเขียนได้อย่างนี้ ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่อ่านแล้ว ก็ไม่ได้ติดตาม จนกระทั่ง เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๔ มีคนชวนไปฟังพ่อท่าน พูดกับคุณไสว แก้วสม ที่ลานอโศก วัดมหาธาตุ คนที่ยืนฟัง เขาบอกว่า "นี่ไงรัก รักพงษ์" ฟังแล้วเข้าใจแจ้งชัด ท่านอธิบายได้ ชัดเจนมาก ตั้งแต่นั้น ก็ติดตาม ไปฟังพ่อท่านตลอด จนถึงวัดอโศการาม ปากน้ำ สมุทรปราการ เจอคุณนัยนา (ปัจจุบันสิกขมาตุมาบรรจบ เถระวงศ์) ที่นี่ สนทนาแล้ว รู้สึกว่า คนนี้มีปัญญาดี ต่อมา ไปมาหาสู่ และพักอยู่ด้วยกันที่นี่ ซึ่งคุณนัยนา ได้ปลูกที่พักไว้ ได้มาเห็น การประพฤติ ปฏิบัติอันสงบ เรียบง่ายของพ่อท่าน ก็ยิ่งศรัทธา

เดือนสิงหาคม ๒๕๑๔ ก็เริ่มรับประทาน อาหารมังสวิรัติ เดิมคิดว่า จะใช้ชีวิต ในลักษณะสงบ ไม่ถึง กับบวช แต่สุดท้าย ก็ออกบวช ในเวลาต่อมา

ฝากไว้ ใจต้องสู้ อุปสรรคทั้งหมด อยู่ที่ใจเราไม่เด็ด ถ้าใจเด็ดแล้ว ก็ไม่มีอุปสรรค ต้องเข้าใจเป้าหมายว่า เราเข้ามา เพื่อจะมาทำความดี แต่ละคน มีข้อบกพร่อง ถ้ามัวแต่มองข้อบกพร่อง ของคนอื่น เพ่งโทสเขา จะแพ้ภัยตนเอง แล้วหมดศรัทธาในที่สุด ควรนำข้อบกพร่องนั้น มาพิจารณา ว่าเรามีหรือไม่ แล้วแก้ไขปรับปรุง ให้ดียิ่งขึ้น จึงจะเจริญ ถ้าใจเราเด็ดแล้ว ก็ไม่มีอุปสรรค สั้นๆ แต่ทำได้ยาก แต่หากไม่เริ่มทำ เมื่อไหร่ อุปสรรคจะหมดไป จะแพ้หรือชนะ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า จะเริ่มต่อสู้หรือไม่เท่านั้นเอง?

(เรียบเรียงจาก "ประวัติสิกขมาตุชาวอโศกในรอบ ๑๐ พรรษา ของพระโพธิรักษ์")

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[4] แง้มประตู เพื่อนช่วยเพื่อน

ข้าพเจ้าได้โอกาสเดินทางไปกัมพูชา (ประเทศเขมร) เป็นครั้งที่สาม เพื่อทัศนศึกษา พิจารณาธรรม ถ่ายทอดสู่รายการโทรทัศน์ คราวก่อนทั้งสองครั้ง เป็นการเดินทาง ชนิดไปเร็ว-กลับเร็ว ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด ของวิถีชีวิตประชาชนเท่าใดนัก คราวนี้จึงตั้งใจ เก็บเกี่ยวทุกสิ่งทุกอย่าง มาเป็นประโยชน์ในทางธรรม อย่างเต็มที่

๑๖ มกราคม ๒๕๔๕ เวลา ๐๓.๓๐ น. คณะเดินทางประมาณ ๑๕ ชีวิต ออกเดินทาง จากมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน สู่ตลาดโรงเกลือ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่ชายแดนอรัญประเทศ ในยามเช้า ประมาณ ๐๗.๐๐ น. ได้เห็นประชาชนกัมพูชา จำนวนมาก ไหลทะลักออกมา จากเขตแดนกัมพูชา เข้าสู่เขตแดนสยาม เพื่อประกอบกิจการ ซื้อขายที่ตลาดโรงเกลือ ที่ต้องใช้คำว่า "ไหลทะลัก" นั้น เพราะเป็นกระแส คลื่นมหาชน ที่มีความมุ่งมั่น เข้ามาสู่ดินแดนถิ่นนี้ โดยที่ไม่มีกระแสไหลทะลัก จากดินแดนสยาม เข้าสู่ดินแดนกัมพูชา แต่อย่างใด

แรกทีเดียว คณะของพวกเรา คิดกันว่า ถ้านำรถยนต์เข้าไปสัญจร ในประเทศกัมพูชา แทนการเช่าเหมารถ ก็น่าจะเป็นการประหยัดมิใช่น้อย แต่เมื่อติดต่อ ประสานงาน ที่ด่านสยามและด่านกัมพูชา อย่างถึงที่สุดแล้ว สรุปว่า เป็นไปไม่ได้ คณะของเรา "เสียเวลา" ที่ด่านเข้าเมือง ทั้งสองแห่งนี้ ประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง จึงค่อยได้เดินทาง จากเมืองปอยเปต เข้าสู่อำเภอศรีโสภณ และเลยไปถึง เมืองพระตะบอง ตามลำดับ ข้าพเจ้าจำต้องแวะ ฉันอาหาร ที่วัดเสรีมงคล อ.ศรีโสภณ ตอนเวลาเกือบเที่ยงวัน ทั้งๆที่ทีมงาน ทำอาหารรอไว้ ที่เมืองพระตะบอง แต่ก็เดินทาง ไปไม่ทันเที่ยง จึงแวะฉันอาหาร ตามมีตามได้ มีเพียงข้าวเปล่า ผักสด ซอส พริก มะนาว และกล้วยน้ำว้า เท่าที่หาได้ ในเวลานั้น แต่ก็ฉันได้มากพอสมควร รู้สึกได้ว่า ข้าวของเขมรเนื้อแน่น มีกลิ่นหอม ให้รสชาติที่เป็นข้าว แปลกจากข้าว ในแดนสยาม อย่างเห็นได้ชัด อนึ่ง วัดเสรีมงคลแห่งนี้ เป็นวัดที่ข้าพเจ้า คุ้นเคยกับเจ้าอาวาสเป็นอย่างดี เคยพาคณะ มาตั้งโรงบุญมังสวิรัติ แจกประชาชน กัมพูชามาแล้ว

เสร็จจากการฉันอาหาร เพียงเพื่อประทังชีพแล้ว ข้าพเจ้าจึงนั่งรถเดินทางต่อ เพื่อไปถึงเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นจุดหมายที่กำหนดไว้ กว่าจะถึง ก็เป็นเวลา เกือบบ่ายสามโมง เพราะถนนหนทางในเมืองเขมร ค่อนข้างเป็นเส้นทางวิบาก ขณะที่นั่งรถบนเส้นทางเหล่านี้ ก็ได้แต่นึกขอบคุณ เจ้าหน้าที่ชายแดน ที่เขาไม่อนุญาตให้คณะของเรา นำรถเข้ามา เพราะสภาพของถนน ไม่อำนวยให้รถยนต์ ที่เคยวิ่งบนถนนราบเรียบเท่าใดนัก ที่เมืองพระตะบอง ข้าพเจ้าใช้เวลา ในช่วงบ่ายคล้อยเย็นอย่างเต็มที่ เพื่อเก็บเกี่ยว สาระแห่งธรรม บันทึกเทปโทรทัศน์ โดยได้เดินเท้า ไปสัมผัสวิถีชีวิต ของชาวเมือง พระตะบอง อย่างใกล้ชิด ได้รับความรู้สึกดีๆ หลายอย่าง กล่าวคือ ข้าพเจ้าได้เห็น วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และยิ้มง่าย ของประชาชนกัมพูชา

แม้เราจะสื่อสารโดยภาษาพูดไม่ได้ แต่เราก็สื่อสารกัน โดยใช้ภาษากาย คือ ยิ้ม ซึ่งก็มีปฏิกิริยาสนองตอบในทางที่ดี ทุกครั้ง ข้าพเจ้ายังคงเห็น รถม้าเข็นของ และคนไปมา ในเขตเมือง ยังคงเห็นวัวเทียมเกวียน ขนส่งสัมภาระต่างๆ ในสภาพที่เคยเห็น เมื่อตอนเป็นเด็ก อันเป็นภาพ ที่หายไปนานแล้ว ในเมืองสยามของเรา ข้าพเจ้าเดินทางไปเยี่ยมวัด ในเขตพระตะบอง ถึงสองวัด วัดแรก เป็นวัดที่มีพระเณร เรียนหนังสือ วัดที่สอง ไกลออกไป จากเมืองพระตะบองสักหน่อย เป็นวัดที่มีพระเณร มุ่งไปสู่การบำเพ็ญ กิจวัตรปฏิบัติธรรม ข้าพเจ้าได้สัมผัสและพูดคุย กับพระเณรทั้งสองวัด ตามสมควร มีพระหนุ่มรูปหนึ่ง ตั้งสัจจะกับข้าพเจ้าว่า จะเลิกสูบบุหรี่ พลอยทำให้หนุ่มอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ในเหตุการณ์ ขอตั้งสัจจะเลิกด้วย มีข้อควรสังเกตว่า พระเณรที่วัด แห่งที่สองนั้น มักชอบฟัง รายการวิทยุเผยแพร่ธรรมะ ไม่มีการเปิดฟังเพลง เพื่อการบันเทิง ให้เป็นที่น่าตำหนิ แม่ชีนั้นเล่า ก็มีอยู่มากมายหลายชีวิต หลายวัย ตั้งแต่เด็กหญิงสิบขวบ จนถึงหญิงชรา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแสดงธรรม ให้แก่คณะแม่ชี หลายสิบชีวิตด้วย ได้รับการตอบรับ เป็นอย่างดี จากแม่ชีเหล่านั้น คณะเดินทางของพวกเรา พักค้างที่บ้านพักแห่งหนึ่ง ในตัวเมืองพระตะบอง

ข้าพเจ้า เข้านอนประมาณตีหนึ่ง เพราะต้องเขียน หนังสือประจำวันเสียก่อน แต่ก็มีความสุข กับการสัมผัสวิถีชีวิต ที่ไม่สลับซับซ้อน ของชาวเมืองพระตะบอง ได้แต่หวังใจอยู่ว่า น่าจะมีชุมชน ที่ยังคงรักษา ม้าเทียมรถ วัวควายเทียมเกวียน เอาไว้ในเมืองสยามด้วย เพื่อ ความสุขสบายแห่งชีวิต

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[5] ข่าวศูนย์สุขภาพ

๑ บ้าน ๑ ผลิตภัณฑ์ กะหล่ำปลีหัวใหญ่ๆ ไร้สารพิษ ถูกลำเลียงสู่ดอยแพงค่า ภูผาฟ้าน้ำ ในงานฤดูหนาว ชาวภูผา ครั้งที่๑ เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ มค. ที่ผ่านมา เพื่อให้บริการแก่ผู้มาเยือน ได้ รับประทานกันอย่างล้นเหลือ ทั้งคุณภาพและปริมาณ น่าอนุโมทนาสาธุ แก่ผู้สร้างผล ผลิตนี้เป็นอย่างยิ่ง คงเป็นที่รู้ๆกันอยู่แล้วนะคะว่า ผักกะหล่ำปลีนั้น มีการพ่นยาฆ่าแมลงกันอย่างชนิดที่ว่า คนปลูกเอง นอกจากจะไม่กล้า รับประทานแล้ว ยังไม่กล้าเอาเลี้ยงหมูของตนเอง ด้วยซ้ำ เพราะกลัวสารพิษ ที่ตนฉีดพ่นเอาไว้ แต่กล้าเอามาขาย ให้ผู้อื่นรับประทาน ด้วยความเห็นเงิน สำคัญกว่าชีวิต และความทุกข์ของผู้อื่น อย่างไม่สำนึก ในบาปบุญคุณโทษ ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังนับว่าเป็นบุญเหลือล้น ของพวกเราชาวอโศก ที่มีผู้มองเห็นคุณค่า ของบุญมากกว่าเงินตรา

ขอแนะนำให้รู้จักกับญาติธรรมผู้นั้นคือ คุณแม่ทางรอด ประมวลการ อายุ ๕๖ ปี คุณแม่ปลูกผักผลไม้อยู่ ณ ดินแดนเกือบเหนือสุดของ ประเทศไทย คือที่หมู่บ้านยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เป็นญาติธรรมกลุ่ม เชียงรายอโศก คุณแม่มีสวนส้มโอ หลายร้อยต้น และแบ่งที่ดิน ไว้ปลูกผัก ประมาณ ๑ ไร่ คุณแม่มีความตั้งใจว่า ต้องการปลูกผักไว้ร่วมงานบุญ มากกว่าการขายแลกเงิน อยากแจกจ่าย ทำบุญมากกว่า เพราะเห็นว่า คุณค่าของบุญนั้น คุ้มกับการเหน็ดเหนื่อย มากกว่าเงิน ผู้เขียนมีโอกาส ได้พูดคุยกับคุณแม่แล้ว รู้สึกประทับใจ ในจิตวิญญาณ ที่เปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ทั้งๆที่คุณแม่ เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่ไม่เคยจนน้ำใจ มีความสุขอยู่กับการให้ มากกว่าการรับ คุณแม่ได้ถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับวิธีการปลูก การดูแล ตลอดจน การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ด้วยตัวเองไว้ให้ฟัง ด้วยความตั้งใจและเต็มใจ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ผู้เขียนจะเรียบเรียงให้ฟังนะคะ

การเตรียมดิน ต้องเตรียมผิวหน้าดินให้เรียบ และร่วนซุย ไม่มีการขุดหรือยกร่อง ในกรณีที่ดินแข็งมากๆ อาจมีการขุดบ้างเล็กน้อย เพื่อให้ดินร่วนซุย การปลูก เมื่อเตรียมดินได้ที่แล้วจะหว่าน เมล็ดพันธุ์ผัก ที่ต้องการลงบนพื้นดิน ที่เตรียมไว้ ได้แก่ ผักกาด กวางตุ้ง หัวไชเท้า กะหล่ำปลี คะน้า แล้วคลุมด้วยฟางข้าว การเตรียมปุ๋ยชีวภาพสำเร็จรูป มีขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่๑ เตรียมปุ๋ยแห้ง ประกอบไปด้วยแกลบ รำอ่อน รำแก่ แกลบเผา คายข้าว มูลไก่ อย่างละ ๑ ส่วนผสมคลุกเคล้ากันไว้

ขั้นตอนที่๒ เตรียมปุ๋ยน้ำ ซึ่งประกอบด้วย การหมักน้ำตาลทรายแดงกับพืช ดังนี้

น้ำที่๑ น้ำตาลทรายแดง ๑ กก.หมักกับ หน่อไม้ ๓ กก.

น้ำที่๒ น้ำตาลทรายแดง ๑ กก. หมักกับ ผักบุ้ง ๓ กก.

น้ำที่๓ น้ำตาลทรายแดง ๑ กก.หมักกับ ต้นกล้วย ๓ กก.

หมักน้ำที่ ๑,๒,๓ ไว้เป็นเวลา ๑๐-๑๕ วัน จะได้น้ำหัวเชื้อเข้มข้น ถ้าต้องการปริมาณเพิ่ม ให้เติมน้ำ ๘ กก. และ น้ำตาลทรายแดงอีก ๑ กก. แล้วนำน้ำที่ ๑ ที่ ๒ และ ที่ ๓ มาอย่างละครึ่งแก้ว ผสมกันลงในน้ำ ๒๐ ลิตร จะได้ปุ๋ยน้ำ แล้วนำปุ๋ยแห้ง ที่เตรียมไว้ ผสมคลุกเคล้า กับปุ๋ยน้ำพอหมาดๆ แล้วเอาลงถังดำ คลุมด้วยหนังสือพิมพ์ ทิ้ง ไว้ ๓-๔ คืน ปุ๋ยจะจับตัวกันเป็นก้อน ออกราเป็นสีขาวๆ เมื่อใช้มือบีบก้อนจะแตก เป็นผงร่วนนี่แหละคือ ปุ๋ยชีวภาพสำเร็จรูป เก็บไว้ใช้ในการโรยแปลงผัก ให้งอกงามต่อไป การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน คุณแม่จะโรย ปุ๋ยชีวภาพสำเร็จรูปนี้ ลงบนแปลงผัก ที่หว่านเมล็ดไว้แล้ว รดด้วยน้ำ ถ้าดินที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ อาจใส่ปุ๋ย ๒-๓ วันครั้ง รดด้วยน้ำทุกครั้ง แต่ถ้าดินสมบูรณ์ดี อาจใส่ปุ๋ยห่างออกไป ตามสภาพดิน ซึ่งจะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ และ ร่วนซุยขึ้นเรื่อยๆ การแยกปลูก คุณแม่จะแยกเอาผักที่หว่านไว้ มาปลูกลงหลุม ตามต้องการ ผักบางอย่าง ที่ไม่ต้องแยก ก็จะโตมาให้เก็บรับประทาน ได้ตลอด ไม่ขาดแคลน แมลงก็ไม่ค่อยรบกวน เพราะหว่านพืชไว้หลายชนิด แมลงอาจจะงงๆ ไม่ทราบจะกินอะไรดี ไม่กินดีกว่า คุณแม่เล่าว่า กะหล่ำปลีที่หัวใหญ่ๆ หนักถึง ๒-๓ กก. เมื่อเทียบดูแล้ว หนักกว่าทารกคลอดใหม่ หลายๆคนเชียวละ ถึงแม้ว่า กะหล่ำปลี จะหัวใหญ่ สักปานใด ก็คงไม่เทียบเท่ากับ น้ำใจอันยิ่งใหญ่ไพศาล ของคุณแม่ได้ เพราะคุณแม่ ตั้งใจที่จะผลิตออกมา เพื่อแจกจ่ายทำบุญ ไม่อยากขาย เพราะเงินที่ได้นั้นน้อยนัก เมื่อเทียบกับบุญ

คติของคุณแม่คือ แม้ไม่ร่ำรวยเงินทอง แต่ไม่จน (ใจ) แท้จริงแล้ว คุณแม่คือ เศรษฐี ในเรือนใจ ของพวกเรา ชาวอโศกโดยแท้ ขออนุโมทนา ในบุญ ของคุณแม่ทางรอด ประมวลการ ด้วยนะคะ

กิ่งธรรม รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[6] โครงการประเมินผล สัจธรรมชีวิต รุ่น 4

เกษตรกรที่ผ่านการอบรม หลักสูตร "สัจธรรมชีวิต" รุ่นที่๔ วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ ของชุมชนสีมาอโศก ที่บ้านแฝก กิ่งอ.สีดา และบ้านโคกเพ็ด อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

โดยเริ่มจาก บ้านแฝก กิ่งอ.สีดาก่อน พวกเราไปด้วยกัน ๕ คน พอไปถึงได้รับการ ต้อนรับเป็นอย่างดี ซึ่งมีเกษตรกร รออยู่ก่อนแล้ว ประมาณ ๑๐๐ กว่าคน โดยทางกลุ่ม ใช้ร้านค้าชุมชน เป็นจุดประสานงาน และในวันนี้ ทางกลุ่มเตรียมต้อนรับแขก ที่มาดูงาน จากประเทศ มาเลเซียด้วย ซึ่งมีท่านนายอำเภอ กิ่งอ.สีดาเป็นผู้กล่าวต้อนรับ จากนั้นตัวแทนกลุ่ม ได้แนะนำผลิตภัณฑ์ ที่ร่วมกันทำสินค้า ที่สร้างชื่อเสียงให้กลุ่ม คือ ผ้าไหมทอมือ และตอนนี้ก็มี แชมพู ครีมนวดผม สบู่เหลว จากสมุนไพรธรรมชาติ ออกมาจำหน่าย ขายได้แล้ว ตัวแทนกลุ่ม ได้อธิบายว่า ก่อนจะทำแชมพู หรือสมุนไพรอื่นๆ ออกมาขาย ก็ได้ทำใช้กันในกลุ่ม และแจกให้ผู้สนใจใช้ก่อน หลายคนว่าดี และช่วยกัน รับรองคุณภาพ จึงทำมาขาย อย่างที่เห็นกันนี่แหละค่ะ ก็เข้าทำนอง ทำเอง ใช้เอง จากนั้นสมาชิกกลุ่ม ได้พาพวกเรา ไปดูการทำปุ๋ยใช้เอง ปลูกผักปลอดสารพิษด้วย แล้วนำผักมาปรุงอาหาร และร่วมกันรับประทานอาหาร อย่างเป็นกันเอง

ต่อจากนั้นได้ ไปเยี่ยม บ้านโคกเพ็ด อ.บัวใหญ่ ซึ่งไม่ห่างมากนัก กลุ่มบ้านแฝก ก็ตามไปด้วย พอเห็นหน้ากัน แสดงความดีใจ จนหลายคน ก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ ส่วนกลุ่มนี้ ทำกสิกรรมธรรมชาติ เป็นหลัก โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ และผู้ที่ทำก็ยืนยันว่า จะไม่ยอมใช้สารเคมี เด็ดขาด ก็ทราบว่า เจ้าของสวน ได้ทำนำร่องมาแล้วร่วม ๔ ปีกว่า ทุกคนที่ไป ได้ลองลิ้ม ชิมรส ฝรั่งปลอดสารพิษ ก็เป็นที่ประทับใจ ความอร่อย แบบธรรมชาติจริงๆ ส่วนเกษตรกรรายอื่นๆ มุ่งมั่นทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้กันพอสมควร

ก่อนล่ำลากันกลับ ได้ร่วมกันสรุปงาน ให้ตัวแทนเกษตรก กล่าว ซึ่งประทับใจ ที่เขาบอกว่า อยากตัดผม ทรงอโศก แต่ช่างเขาไม่รู้ว่าแบบไหน ก็ออกมา อย่างที่เห็นนี่แหละ และได้ฝากข้าวมาด้วย ๒ กระสอบ และบอกว่า อยากเป็นผู้ให้บ้าง

ส่องฟ้า รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[7] ตลึงอีกครั้งกับขบวนเรือยักษ์

การขนส่งเรือไปสู่บ้านราชเมืองเรือในโครงการ อนุรักษ์เรือไทยครั้งนี้นับว่าเป็น ขบวนขนส่งเรือที่ใหญ่มากอีกครั้งหนึ่ง เรือที่ขนส่งไปมีทั้งหมด ๑๒ ลำ เป็นเรือลำเล็กๆ ที่บรรทุกคนได้ประมาณ ๔-๕ คน จำนวน ๘ ลำ เป็นเรือที่ญาติธรรม จากหลายๆที่ถวายให้มา และเป็นเรือใหญ่ จำนวน ๔ ลำ เรือใหญ่ทั้ง ๔ ลำนี้ เป็นเรือเอี้ยมจุ๊นขนาดใหญ่ เจ้าของเรือ ได้ร่วมทำบุญ ด้วยการขายให้ ในราคา ๑๐๐,๐๐๐บาท อายุ และขนาดของเรือ ก็รุ่นราวคราวเดียว พอๆกับเรือสามลำ ที่ชื่อว่า เกียข่วมฟ้า กล้าข่วมฝัน กันข่วมหม้อระฮก ซึ่ง ได้ขนส่งไปบ้านราชฯ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี ๒๕๔๓ สำหรับการขนส่งเรือ ในครั้งนี้นั้น ได้ใช้รถลากจูง จำนวน ๔ คัน สำหรับบรรทุกเรือใหญ่ ทั้ง ๔ ลำ ส่วนเรือลำเล็ก ๘ ลำนั้น แบ่งใส่ไว้ในท้องเรือลำใหญ่ และก็มีรถ ร่วมขบวนอีก ๙ คัน มีรถตำรวจ ๒ คัน วิ่งนำขบวนรถลากจูง และก็มีรถไหวๆ ใช้สำหรับเป็นหน่วยรักษาพยาบาล รถเดนค้ำใช้บริการ เติมน้ำมันให้รถบรรทุกเรือ และแก้ปัญหาสิ่งกีดขวาง รถช่างตู่ หน้าที่อำนวยความสะดวก จราจร รถตู้เจ้าใต้บริการสมณะ รถผู้พันดาบดิน เป็นรถปิดท้ายขบวน รถนาย ช่างอู๊ดเป็นรถปิดท้ายขบวน และรถมอเตอร์ไซด์ ของคุณวัชรินทร์ อำนวยความสะดวก เรื่องจราจร ซึ่งแต่ละคันนั้น จะมีหน้าที่ต่างๆกัน เพื่ออำนวยความสะดวก ในการขนส่ง การขนย้ายเรือนั้น ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๔ ม.ค. ๔๕ โดย จ้างเรือยนต์ไปลาก เรือเอี้ยมจุ๊นทั้ง ๔ ลำ จากท่าน้ำ ใกล้ๆสะพานแขวน กทม. โดยลากมาตาม แม่น้ำเจ้าพระยา มาจอดพักไว้ที่ ตีนสะพานเชียงรากน้อย ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.อยุธยา เพื่อเตรียมขนย้าย โดยทางรถต่อ ในวันที่ ๑๙ ม.ค.๔๕ และเมื่อถึงวันเสาร์ที่ ๑๙ ม.ค.๔๕ จึงเริ่มทำการยกเรือ ขึ้นไว้บนรถบรรทุกลากจูง โดยใช้รถเคน ๒ คัน ในการยกเรือขึ้น แต่พอยกเรือขึ้นไปได้เพียงลำเดียว ก็มี อุปสรรค มาทำให้ต้องหยุดการยกเรือชั่วคราว คือ ผู้ดูแลที่ดิน บริเวณที่พวกเรา ใช้ทำการยกนั้น ได้ไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วมาจับกุมพวกเรา ในข้อหาบุกรุกที่ดินผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต อุปสรรคนี้ผ่านไปได้ ด้วยการช่วยเหลือจาก พตอ.พิสิษฐ์ จีนวิจารณะ ที่มาช่วยเจรจาให้ โดยยุติตรงที่พวกเรา ยอมรับว่าเป็นความผิด เพราะไม่ทราบว่า ที่ดินบริเวณนี้ ผู้ใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ได้แจ้งให้เจ้าของที่ ให้รับทราบก่อน ที่จะเข้ามาใช้สถานที่ ด้วยยอมชดใช้ค่าเสียหาย ในการบุกรุก เป็นจำนวนเงิน ๒๙,๕๐๐ บาท และเนื่องจากการเจรจา ใช้เวลานาน กว่าจะยุติได้ การยกเรือ จึงต้องเลื่อนไปยกต่อ ในเช้าของวันอาทิตย์ที่ ๒๐ ม.ค.๔๕ ซึ่งก็ยกเสร็จในเวลา ๑๗.๐๐น.พอดี จากนั้น ทีมงานทั้งหมด ก็กลับมาเตรียมตัว ในการเดินทางที่วัด พร้อมทั้งกราบลาพ่อท่าน ก่อนเดินทาง และในเวลาเที่ยงคืนเศษๆ ของวันที่ ๒๐ ม.ค.๔๕ ก็ได้เริ่มเคลื่อนขบวนขนส่งเรือ เพื่อไปสู่บ้านราชฯ และก็ไปถึงบ้านราชฯ จ.อุบลราชธานี ในวันพุธที่ ๒๓ ม.ค.๔๕ เวลาตี ๔ เศษๆ สำหรับฝ่ายสนับสนุน เสบียงอาหารนั้น ก็ได้รับการช่วยเหลือ จากร้านบิ๊กเซียน กลุ่มละโว้อโศก ซึ่งมาช่วยเหลือ ในวันที่ ๒๑ ม.ค.๔๕ จากนั้นชาวสีมาอโศก ได้รับช่วงต่อ ทั้งเช้าเย็น ของวันที่ ๒๒ ม.ค.๔๕ การขนส่งเรือครั้งนี้ นับว่ามีอุปสรรคน้อย เดินทางได้เร็ว เนื่องด้วยทีมงาน มีประสบการณ์ มีการประสานงานที่ดี และทุกคน ก็ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันอย่างเต็มที่ และเต็มใจ ทีมงานครั้งนี้ รวมทั้งสมณะ พระอาคันตุกะ คนวัด คนงาน และพนักงานขับรถ บรรทุกลากจูงมี ๔๕ คน ผู้นำทีมครั้งนี้ก็คือ สมณะแดนเดิม พรหมจริโย หรือหลวงตา พรหมของเรานั่นเอง ทีมงานขนส่งเรือ ได้เล่าถึงบรรยากาศ ของการเดินทางว่า ขณะที่ขบวนรถ ผ่านเขต ชุมชนหรือจอดพัก ชาวบ้านก็จะแตกตื่น พากันออกมาดู มาถามด้วยความแปลกใจ บ้างบอกว่า ไม่เคยเห็น เรือใหญ่ขนาดนี้ แถมยังมาวิ่งบนถนนอีก ในช่วงเวลาของการขนส่ง แม้จะราบรื่น ไม่เกิดอุบัติเหตุใดมาก นอกจากยาง รั่วยางแตก แต่ก็หนีไม่พ้น ที่จะต้องมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมาเกิดในตอนที่ถึงบ้านราชฯแล้ว ในช่วงที่จะยกเรือลง ในช่วงสายๆ ของวันพุธที่ ๒๓ ม.ค.๔๕ ได้เกิดอุบัติเหตุ คนงาน ๒คน ที่ร่วมเดินทางมาด้วย ตกจากเรือ ในขณะที่ยกเรือลง ก็ได้รับบาดเจ็บ แขนหัก ๑ คน หัวแตกหนึ่งคน ขณะนี้ก็กำลังพัก รักษาตัวอยู่ การขนส่งเรือครั้งนี้ นับว่าสำเร็จได้ด้วยดี เพราะทำกันด้วยความสามัคคี ทั้งยังได้ ความช่วยเหลือ เกื้อกูล ทั้งกำลังใจ จากพวกเรา ชาวอโศกทุกๆคน...

รายงานโดย ทีมเรือ

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[8] ศีรษะอโศกติวเข้ม จัดค่าย "เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร" พัฒนาคนในหมู่บ้าน

เมื่อวันที่ ๑๓-๑๕ ม.ค.๒๕๔๕ ณ พุทธสถานศีรษะอโศก จัดการอบรมแก่บุคลากรภายใน โดยจัดค่ายปฏิบัติธรรม ชื่อว่า "เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร" เป็นรพม.ภาค๓ โดยรุ่นแรกนี้ เป็นการเข้าค่ายอบรม ของกลุ่มนกกระจอกเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผู้ปกครองของเด็กๆ ในหมู่บ้านศีรษะอโศก ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อม รับงานฝึกอบรม และเคี่ยวภายใน มีสมาชิกเข้าร่วม ประมาณ ๓๐ คน ค่ายอบรมนี้ เน้นการฝึกเจโตสมถะ แบบเข้มข้น โดยฝึกให้มีสติรู้ตัว ในทุกๆบทบาทของชีวิต ตั้งแต่การกราบช้าๆ ด้วยความพร้อมเพรียง การทำวัตร สวดมนต์ การฝึกนั่งเจโตสมถะ การฝึกเดินแบบมีสติ (เดินจงกรม) การรับประทานอาหาร โดยการเคี้ยวช้าๆ ประมาณ ๓๐-๔๐ ครั้ง จึงค่อยกลืน เพื่อฝึกให้มีสติ กำหนดรู้อารมณ์ในการกิน การฝึกนอนบริเวณโคนไม้ในป่า และการฝึกทำงาน แบบสานหมู่ เพื่อเอามิตร โดยมีสมณะผืนฟ้า อนุตตโร พร้อมสมณะ และสิกขมาตุ รับเอาภาระติวเข้ม เป็นอาจารย์นำฝึกเจโตสมถะ นอกจากนี้ ยังมีอาปอ อาเปิ้ม อาแผ่นฟ้า รับบทเป็นพี่เลี้ยง ตลอดการเข้าค่าย การเข้าค่ายวันแรก (๑๓ ม.ค.) หลังทำวัตรเช้า เวลา๕.๐๐น.สมณะผืนฟ้า ได้เป็นประธาน กล่าวเปิดค่ายฯ ว่า" การเข้าค่ายครั้งนี้ เรียกว่าค่าย "เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร" คือการเคี่ยวข้น ไม่ธรรมดา มาฝึกกินอยู่หลับนอน ฝึกเจโตสมถะ ฝึกขบวนการกลุ่ม ผู้เข้ามาร่วม พึงพยายามเคลียร์ใจ และจะมีผู้มาร่วม มาช่วยกันทำงาน เช่น ฐานนาชำเบ็ง จะได้ประโยชน์ส่วนอื่นๆ ไม่ได้เสียงาน ในขณะที่งานเปิดกว้าง แล้วงานมีมาก เราจะถือโอกาสนี้ มาฝึกกัน การฝึกการทำเจโตสมถะ คือ อุปการะยิ่ง ในการเดินมรรคมีองค์ ๘ ให้ได้สมบูรณ์ พยายามน้อมจิต น้อมใจมาฝึกฝน แล้วเราจะได้ประโยชน์ จากสิ่งที่ทำ" หลังจากการเข้าค่ายฯ ๒ คืน ๓ วัน

บทสรุปของทุกๆท่านคนละ ๒ นาที ที่เปิดใจสู่กันฟัง ต่างก็ได้รับประโยชน์มากมาย ซึ่งบางคนบอกว่า มาอยู่วัด นับหลายปี เพิ่งจะได้ ทำสิ่งเหล่านี้ ทำให้จิตใจสงบ ระงับจากกิเลส อัตตามานะ มีความสมานประสาน รวมหมู่รวมกลุ่ม ได้มากขึ้น พร้อมใจว่า ควรจัดอีก ในหลักสูตร รพม.ภาค ๔ เป็นอย่างยิ่ง นายอัครเดช เจิดสิริพันธ์พงศ์ สมาชิกกลุ่มนกกระจอกเทศ ผู้หนึ่งที่เข้าครั้งนี้ เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า "รู้สึกปลื้มใจ ในความรู้สึกว่า ได้สงบระงับ ได้หักเขึ้ยวเรา เพื่อเอา มิตรจริงๆครับ" หลักการเข้าค่าย "เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร" ของกลุ่มนกกระจอกเทศ ได้จบลงต่อไป ก็เป็นการเข้าค่ายฯ ของกลุ่มนกกระจาบ สัมมาสิกขา และมวช. เพื่อพัฒนาบุคลากร

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[9] พ่อท่านร่วมงานฤดูหนาว ชาวภูผาฯ ดำริผนวกงานธรรมชาติอโศก สร้างสรรกีฬาอาริยะให้แก่สังคมโลก

เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ ม.ค.๒๕๔๕ มี งานฤดูหนาวชาวภูผาฟ้าน้ำ (ปอยน้อย) ครั้งที่๑ ณ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พ่อท่านดำริ ให้เป็นงานฉลองหนาว ของชาวอโศก และย้ายวันธรรมชาติอโศก จากบ้านราชฯ มาอยู่งานฉลองหนาวนี้ การจัดงานปีนี้ เป็นการจัดงาน ที่เรียบง่าย เน้นให้ชาวเรา ได้มาพักผ่อน และพบปะพูดคุยกัน แบบสบายๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ บรรยากาศอบอุ่น ไม่มีการทำวัตรเช้า เพื่อจะได้นอนพักผ่อนสู้หนาว อุณหภูมิไม่ถึง ๒๐ องศาได้เต็มที่ มีพี่น้องทุกฐานะ จากหลาย พุทธสถาน และหลายจังหวัด ได้ไปร่วมงาน ที่ได้ลงทะเบียนไว้ ญาติธรรม ๓๗๔ คน พ่อท่านและสมณะรวม ๒๓ รูป สามเณร ๑รูป สิกขมาตุ ๒ รูป นาค ๑ ปะหญิง ๒ พระอาคันตุกะ ๕ รูป สามเณรอาคันตุกะ ๒ รูป

งานเริ่มเสาร์ที่ ๒๖ ม.ค.๔๕ - อาทิตย์ที่ ๒๗ ม.ค.๔๕ แต่ละวันไม่มีทำวัตรเช้า ผู้ไปลงทะเบียน จะได้รับเทปธรรมะพ่อท่าน ๑ ม้วน หนังสือ ปราณีพิชิตมะเร็ง ๑ เล่ม การบูรณ์ ๑ ห่อ ซึ่งญาติธรรมได้ช่วยกันเสียสละ

มีโรงบุญจากญาติธรรม รวม ๖ จุดด้วยกัน ซึ่งเริ่มแจก ตั้งแต่เช้า
๑. ผู้อายุยาว แจกขนมจีนน้ำเงี้ยว ๑๕๐ กิโลกรัม ที่หน้าโรงครัวใหม่
๒. โรงบุญชาวดอย ทำผักป่าชุบแป้งทอด ผัดผักป่า (ตามสั่ง) ที่หน้าโรงครัวเก่า
๓. โรงบุญนครปฐม ทำก๋วยเตี๋ยวเรือ ส้มตำ ที่บ้านคุณภูฟ้า
๔. โรงบุญนักเรียนพุทธธรรม ทำขนมครก ที่หน้าบ้านครูดีบุญ
๕. โรงบุญรวมญาติ (อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, แม่ริม จ.เชียงใหม่, กรุงเทพฯ) ทำสลัดผักไร้สารพิษ น้ำเต้าฮวย น้ำเต้าหู้ น้ำขิง ไอศครีม ที่หน้าช่วง (ลาน) วัฒนธรรม
๖. โรงบุญคุณทองใบ ทำสุกี้ น้ำตก หมี่ซั่ว ที่บ้านคุณทองใบ

(๒๗ ม.ค.๔๕) ภาคเช้า พ่อท่านนำบิณฑบาต ที่บ้านแม่เลาและชุมชน ฟังพ่อท่านเทศน์ก่อนฉันเรื่อง "กฎหมาย - กฎแห่งกรรม" และเป็นการทำบุญ เปิดโรงครัวกลาง ที่เพิ่งสร้างเสร็จ พอใช้งานได้ ในงานนี้พอดี

ภาคบ่าย มีการแข่งขันกีฬาอาริยะ ผ่าฟืน (ชาย) ผู้ชนะที่๑. คุณอำนวย (จ.แพร่) ที่๒. มิสเตอร์ไอเว่น(ภูผาฯ) ที่๓ คุณบุญ (หัวเลา) กีฬาอาริยะผ่าฟืน (หญิง) ผู้ชนะที่๑. คุณจันทร์ แสงแก้ว ที่๒. คุณสุจิต ใจมา ที่๓. คุณ ศรีแก้ว ผูกจิต กีฬาอาริยะผ่าฟืน ประเภททีม (ชาย) ชนะที่๑. คือ ทีมภูผาฟ้าน้ำ ที่๒. คือ ทีมเชียงรายอโศก กีฬาอาริยะสีข้าวด้วยมือ ประเภททีม ( ๕ คน) ชนะที่ ๑. คือ ทีมเชียงรายอโศก ที่๒. ทีมปฐมอโศก ที่๓. ทีมบ้านหัวเลา

ก่อนเวลาบ่าย ๒ โมงเล็กน้อย พ่อท่านพร้อมสมณะหลายรูป โปรดเยี่ยมสถานที่เรียน "อนุบาลหลานปู่โพธิรักษ์" ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที ก็ขึ้นศาลาซาวปี๋ เพื่อฟังนายแพทย์ พินิจ ลิ้มสุคนธ์ ที่มีฉายานามว่า หมอปากหมา เป็นผู้อำนวยการแพทย์ ของโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม ๒ และ เป็นอาจารย์พิเศษ ของคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอสรุปได้ว่า "อย่าใช้ยามาก อย่าอยากฉีดยา อย่าบ้าหาหมอ" หลังรายการ น.พ.พินิจจบแล้ว ก็มีการแข่งขัน เก็บผักป่าอีก ๑ ประเภท เป็น ประเภททีม (๓ คน) ทีมชนะเลิศ คือ ทีมของนักเรียนพุทธธรรม ของกลุ่มภูผาฟ้าน้ำ ที่๒. คือทีมจากบ้านหัวเลา ที่๓. คือทีมจากโรงเรียน สัมมาสิกขา ศีรษะอโศก ทางคณะกรรมการ จัดการแข่งขัน ได้นิมนต์พ่อท่าน เป็นประธานมอบรางวัล แก่นักกีฬาอาริยะ ประเภทต่างๆ ในรายการภาคค่ำ ซึ่งเป็นเหรียญรางวัล และของชำร่วย ดังนี้
รางวัลที่๑ เหรียญทองมูลค่า ๒๕ สตางค์ พร้อมของชำร่วย "
รางวัลที่ ๒ เหรียญเงินมูลค่า ๑ บาท " "
รางวัลที่ ๓ เหรียญทองแดงมูลค่า ๕ บาท "
รางวัลชมเชย ใบประกาศเกียรติคุณมูลค่า ๑๐ บาท พร้อมของชำร่วย

นอกจากนี้ทางชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ยังได้มอบข้าวเปลือกไร้สารพิษ ที่ปลูกเองในชุมชน เป็นพันธุ์ข้าวดอย จำนวน ๓ ถัง, ๒ถัง และ ๑ถัง แก่ผู้ชนะที่ ๑, ๒ และ ๓ ตามลำดับ ส่วนรางวัลชมเชย จะได้รับข้าวที่ตำแล้ว จำนวน ๑ กิโลกรัม

ภาคค่ำ มีการแสดงรอบกองไฟ ตามประสาหมู่? กับบรรยากาศ ที่สดชื่นเยือกเย็น ใต้แสงจันทร์ และแสงดาว ระยิบระยับเต็มท้องฟ้า ซึ่งเป็นบรรยากาศ ที่หาได้ยากยิ่ง ในสังคมปัจจุบัน และในค่ำคืนนี้ พ่อท่านได้เอ่ยว่า "งานธรรมชาติอโศก" น่าจะย้ายจากบ้านราชฯ มาจัดที่ภูผาฟ้าน้ำ ในช่วงงานฤดูหนาวนี้ ซึ่งพวกเราต่างก็ขานรับ "สาธุ" กันจนดังลั่นขุนเขาดอยแพงค่า

อาทิตย์ที่ ๒๗ ม.ค. ๔๕ วันนี้ไม่มีทำวัตรเช้า จึงได้มีโอกาส พบปะพูดคุย ช่วยกันเตรียมอาหาร ที่ครัวกลาง และโรงบุญ ตามจุดต่างๆ เป็นที่สนุกสนาน และเป็นกันเอง พอสว่าง ต่างก็ช่วยกันฮอมแฮง ย้ายกองทราย ไปอยู่ใกล้โรงครัวกลาง วันนี้พ่อท่าน พร้อมสมณะ ไปโปรดสัตว์ ที่บ้านหัวเลา ส่วนสมณะที่เหลือ ก็ได้บิณฑ์ที่ชุมชน นำโดยอาจารย์ ๑ พวกเราได้ใส่บาตร สมณะทุกรูป ในงานนี้ ไม่มีการซื้อขาย มีแต่ช่วยกันทำ ช่วยกันเตรียม แบ่งแจกอาหาร เพื่อใส่บาตรกันถ้วนหน้า เป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ที่พวกเราควรช่วยกันรักษา และสืบทอดไว้ ให้ได้ตลอดไป วันนี้มีชาวปกากญอ (ชาวกะเหรี่ยง) มาทำบุญกันหลายคน คุณขวัญดิน สิงห์คำ หัวหน้าพรรค เพื่อฟ้าดิน แม้งานจะยุ่งยากแค่ไหน ก็ยังอุตสาห์มาร่วมงาน ในครั้งนี้ได้ เป็นที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก งานนี้สำเร็จลุล่วง ไปได้ด้วยดี เพราะความร่วมมือ จากพวกเรา ทั้งผู้อยู่ประจำ และจร ต่างก็อิ่มบุญอิ่มกาย เบิกบาน แจ่มใส สมกับเป็นลูกพระโพธิสัตว์จริงๆ ได้สัมภาษณ์ ผู้มาร่วมงาน ดังนี้

-คุณหนึ่งพุทธ วิมุตตินันท์ มาหลายครั้งแล้ว มาทีไรมีอะไรใหม่ๆขึ้นเรื่อย นับว่าน่าทึ่ง มาหนนี้ประทับใจไม่หาย ตั้งแต่ดิน น้ำ ฟ้า อันวิเศษกว่าที่อื่น โดยเฉพาะอัธยาศัยหมู่เฮา ยิ่งชวนอยากให้มา อยู่ด้วยนานๆ อย่างน้อยอยากมาชมชื่น พักจิตใจ เสพวิเวกบ่อยๆ พอดี ได้ข้อมูล ผัก ป่า ใบหญ้า สมุนไพร กับเพื่อนเก่าสามพัน คงต้องยอมรับความอุดมสมบูรณ์ของแดน ดอยฟ้าแห่งนี้จริงๆ

-คุณกมล รายะรุจิ อายุ ๔๘ปี ๔๕/๕-๖ ถ.นครไชยศรี ดุสิต กทม. ได้มางานปอยหลวงครั้งที่๒ ประทับใจ สถานที่ ธรรมชาติ ญาติธรรม อัธยาศัย ชาวบ้าน การกีฬา พอใจมาก ปัญหาการแสดงภาคค่ำ มองไม่เห็นเวที ไม่เห็นหน้าผู้แสดง ปัญหาในชาวอโศก สงสารคนวัด ผู้ยากจน ที่ไม่มีโอกาสมาร่วมงาน เขามาทำบุญ เขาเสียสละ อุทิศตัวกับศาสนา แต่ขาดลาภ ไม่มีเงินค่ารถ เลยไม่มีโอกาส มาร่วมกิจกรรม กับพวกเรา เขาอาจจะอยากมา สาธารณโภคีคืออะไร? สิ่งที่อยากจะเห็นความเด่นในอโศกคือ ความเป็นผู้รู้จัก ประโยชน์สูง ประหยัดสุด

-นายอาทิตย์ ปุ่นเล่อโม อายุ ๒๓ ปี อยู่บ้านหัวเลา หมู่ ๕ ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มาร่วมงานเป็นครั้งที่ ๒ มีความรู้สึกสนุกดี กินดี ฟังเทศน์รู้เรื่อง อยากให้มีอีกปีหน้า ถ้ามีจะมาอีกครับ งานที่นี่ม่วนดีครับ ถ้าเป็นไปได้ ปีหน้าจะนำการแสดง ที่เป็นของชาว บ้านหัวเลา มาร่วมแสดงตวย

- นายสมหมาย สาตทรัพย์ อายุ ๔๕ ปี อยู่ที่ ๖๗/๖๘ หมู่ ๕ ซอยประสาทสิน คลองกุ่ม บึงกุ่ม กทม. อาชีพพนักงานธ.ก.ส. มาภูผาฟ้าน้ำ เป็นครั้งแรก ก่อนมา วาดภาพความประทับใจ จากที่เคยรับการบอกเล่า เมื่อมาพบสถานที่จริง บรรยากาศจริง ประทับใจมากกว่าที่คิด ไว้ การต้อนรับดีมาก โดยเฉพาะอาหารพื้นบ้าน - ผักป่า เป็นสิ่งที่ดีมาก

-คุณขวัญดิน สิงห์คำ อายุ ๔๗ ปี (หัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดิน) ประทับใจบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งทำให้จิตใจสงบ คิดถึงการพึ่งพาตนเอง ทั้งในด้านการกินอยู่ และทางด้านการปฏิบัติธรรม ขอบคุณที่มีงานนี้ ทำให้ได้มีโอกาส มาสัมผัสกับบรรยากาศ อย่างนี้

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[10] แจกยิ้ม

งานฤดูหนาว ที่ภูผาฟ้าน้ำวันแรก เสาร์ที่ ๒๖ ม.ค. ๔๕ ในช่วงเวลา ๐๖.๓๐ น. คุณเทียมดิน ได้ฝากคุณพรศรี อวัยวานนท์ และคุณเยาวลักษณ์ บุญศรี ซึ่งเป็นญาติธรรม มาจากปฐมอโศก ช่วยต้มน้ำให้เดือด แล้วใส่กระติกไว้ให้ด้วย

ทั้ง ๒ คนก็รับปากว่า จะทำให้ แต่คุณพรศรี ก็เข้าใจว่า เป็นเตาแก๊สปิคนิค คุณพรศรี เดินออกมาจากห้องนอน มองหากาต้มน้ำไม่เจอ

คุณเยาวลักษณ์ : เขาฝากเตาฟืนใหญ่ ของหม้อใหญ่ มิใช่เตาแก๊ส

คุณพรศรี : เปล่า! ไม่ใช่นะ!พี่รับปากเตาเล็ก มิใช่เตาฟืน

คุณเยาวลักษณ์ : คุณเทียมดินเขาบอกว่า พี่รับปากเขาแล้วว่า จะต้มเตาใหญ่

คุณพรศรี : เปล่าๆ...เตาเล็ก

คุณเยาวลักษณ์ : ไม่เป็นไร มาช่วยกันใส่ฟืนก็แล้วกัน

(ทั้งสองก็ช่วยกันใส่ฟืนนานเกือบชั่วโมง ช่วยกันขนฟืนใส่เตาน้ำก็ไม่เดือดสักที มีแต่ควันฟืน ก็นึกว่าควันน้ำเดือด ช่วยกันก้มหยิบ ก้มหาฟืน เลือกฟืน รวมถึง ๕ ครั้ง สุดท้าย ใส่ฟืนมากจนลุกโชน น้ำจึงเดือด)

คุณพรศรี : ภูมิใจมากที่ต้มน้ำเดือดได้ เกิดมาไม่เคยต้มน้ำเตาฟืน และต้มน้ำ ด้วยหม้อใหญ่ขนาดนี้

คุณเยาวลักษณ์ : ปลอบใจคุณพรศรี (เพราะเคยต้มน้ำที่ใช้ฟืนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เริ่มต้น ที่ปฐมอโศก เป็นรุ่นแรก)

คุณพรศรี : เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ในการมางานฤดูหนาวในปีนี้

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[11] เกจิอาจารย์ พุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ 26 (24 ก.พ. - 2 มี.ค.2545)
และปลุกเสกฯ ครั้งที่ 26 (31 มี.ค. - 6 เม.ย.2545)

สมณะเกจิอาจารย์ งานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๒๖

๑. สมณะดินดี สันตจิตโต ๒. สมณะเดินดิน ติกขวีโร ๓. สมณะทำดี อโสโก ๔. สมณะบินบน ถิรจิตโต
๕. สมณะผืนฟ้า อนุตตโร ๖. สมณะเสียงศีล ชาตวโร ๗. สมณะพิสุทธิ์ พิสุทโธ ๘. สมณะมั่นแจ้ง พุทธชาโต
๙. สมณะถ่องแท้ วินยธโร ๑๐.สมณะณรงค์ ชินธโร ๑๑.สมณะพอแล้ว สมาหิโต ๑๒.สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ
๑๓.สมณะกลางดิน โสรัจโจ ๑๔.สมณะเมืองแก้ว ติสสวโร ๑๕.สมณะเก้าก้าว สรณีโย ๑๖.สมณะก้อนดิน เสฏฐพโล
๑๗.สมณะกำแพงพุทธ สุพโล ๑๘.สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ๑๙.สมณะซาบซึ้ง สิริเตโช ๒๐.สมณะร่มเมือง ยุทธวโร
๒๑.สมณะหม่อน มุทุกันโต ๒๒.สมณะฟ้าไท สมชาติโก ๒๓.สมณะแก่นเมือง เกตุมาลโก ๒๔.สมณะสู้ชื่อ หสิโต
๒๕.สมณะเน้นแก่น พลานีโก ๒๖.สมณะมองตน เมตตจิตโต Š๒๗.สมณะนึกนบ ฉันทโส ๒๘.สมณะกล้าจริง ตถภาโว
๒๙.สมณะเทินธรรม จิรัสโส ๓๐.สมณะร้อยดาว ปัญญาวุฑโฒ ๓๑.สมณะดวงดี ฐีติปุญโญ ๓๒.สมณะกล้าตาย ปพโล
๓๓.สมณะก้อนหิน โชติปาสาโณ ๓๔.สมณะคมคิด ทันตภาโว ๓๕.สมณะลานบุญ วชิโร ๓๖.สมณะแก่นผา สารุปโป
๓๗.สมณะนาทอง สิงคีวัณโณ ๓๘.สมณะถนอมคูณ คุณกิตตโณ ๓๙.สมณะดินไท ธานิโย ๔๐.สมณะดินธรรม สิทธิธัมโม
๔๑.สมณะตรงมั่น อุชุจาโร ๔๒.สมณะลั่นผา สุชาติโก ๔๓.สมณะใจเด็ด จิตตคุโณ ๔๔.สมณะข้าฟ้า ฐานรโต

ปลุกเสก ครั้งที่ ๒๖ (อาทิตย์ที่ ๓๑ มี.ค.- เสาร์ที่ ๖ เม.ย.๔๕)

๑. สมณะดินดี สันตจิตโต ๒. สมณะเดินดิน ติกขวีโร ๓. สมณะทำดี อโสโก ๔. สมณะบินบน ถิรจิตโต
๕. สมณะผืนฟ้า อนุตตโร ๖. สมณะเสียงศีล ชาตวโร ๗. สมณะพิสุทธิ์ พิสุทโธ ๘. สมณะมั่นแจ้ง พุทธชาโต
๙. สมณะเด็ดขาด จิตตสันโต Š๑๐.สมณะถ่องแท้ วินยธโร ๑๑.สมณะณรงค์ ชินธโร ๑๒.สมณะพอแล้ว สมาหิโต
๑๓.สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ ๑๔.สมณะกลางดิน โสรัจโจ ๑๕.สมณะแดนเดิม พรหมจริโย ๑๖.สมณะกล้าดี เตชพหุชโน
๑๗.สมณะสร้างไท ปณีโต ๑๘.สมณะคิดถูก ทิฏฐุชุกัมโม ๑๙.สมณะเก้าก้าว สรณีโย ๒๐.สมณะกำแพงพุทธ สุพโล
๒๑.สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ๒๒.สมณะซาบซึ้ง สิริเตโช ๒๓.สมณะร่มเมือง ยุทธวโร ๒๔.สมณะหม่อน มุทุกันโต
๒๕.สมณะฟ้าไท สมชาติโก ๒๖.สมณะลือคม ธัมมกิตติโก ๒๗.สมณะกล้าจริง ตถภาโว ๒๘.สมณะเด่นตะวัน นรวีโร
๒๙.สมณะร้อยดาว ปัญญาวุฑโฒ ๓๐.สมณะดวงดี ฐีติปุญโญ ๓๑.สมณะเลื่อนฟ้า สัจจเปโม ๓๒.สมณะกล้าตาย ปพโล
๓๓.สมณะแก่นเกล้า สารกโร ๓๔.สมณะนานุ่ม กัสสโก ๓๕.สมณะดงเย็น สิติภูโต ๓๖.สมณะดาวดิน ปัฐวัตโต
๓๗.สมณะนาไท อิสสรชโน ๓๘.สมณะชัดแจ้ง วิจักขโณ ๓๙.สมณะฝนธรรม พุทธกุโล ๔๐.สมณะหินกลั่น ปาสาณเลโข
๔๑.สมณะมือมั่น ปูรณกโร ๔๒.สมณะบินก้าว อิทธิภาโว ๔๓.สมณะหนักแน่น ขันติพโล ๔๔.สมณะโพธิสิทธิ์ โพธิสิทโธ

สิกขมาตุเกจิอาจารย์ พุทธาภิเษกฯ ครั้งที่๒๖ (อาทิตย์ที่ ๒๙ ก.พ.-เสาร์ที่ ๒ มี.ค.๔๕)

๑. สม.ผุสดี สะอาดวงศ์ ๒. สม.มาบรรจบ เถระวงศ์ ๓. สม.จินดา ตั้งเผ่า ๔. สม.บุญแท้ ปลาทอง
๕. สม.รินฟ้า นาวาบุญนิยม ๖. สม.กล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล ๗. สม.หยาดพลี อโศกตระกูล ๘. สม.บุญจริง พุทธพงษ์อโศก
๙. สม.ต้นข้าว อโศกตระกูล ๑๐.สม.สร้างฝัน อโศกตระกูล ๑๑.สม.พูนเพียร ชาวหินฟ้า ๑๒.สม.นวลนิ่ม ชาวหินฟ้า
๑๓.สม.มาลินี โภคาพันธ์ ๑๔.สม.ผาแก้ว ชาวหินฟ้า ๑๕.สม.เป็นหญิง อโศกตระกูล ๑๖.สม.เทียนคำเพชร อโศกตระกูล

ปลุกเสก ครั้งที่ ๒๖ (อาทิตย์ที่ ๓๑ มี.ค.-เสาร์ที่ ๖ เม.ย.๔๕)

๑. สม.มาบรรจบ เถระวงศ์ ๒. สม.จินดา ตั้งเผ่า ๓. สม.บุญแท้ ปลาทอง ๔. สม.รินฟ้า นาวาบุญนิยม
๕. สม.กล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล ๖. สม.ปราณี ธาตุหินฟ้า ๗. สม.พึงพร้อม นาวาบุญนิยม ๘. สม.หยาดพลี อโศกตระกูล
๙. สม.บุญจริง พุทธพงษ์อโศก ๑๐.สม.ต้นข้าว อโศกตระกูล ๑๑.สม.สร้างฝัน อโศกตระกูล ๑๒.สม.พูนเพียร ชาวหินฟ้า
๑๓.สม.นวลนิ่ม ชาวหินฟ้า ๑๔.สม.มาลินี โภคาพันธ์ ๑๕.สม.ผาแก้ว ชาวหินฟ้า ๑๖.สม.ทองพราย ชาวหินฟ้า

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,300 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]