ฉบับที่ 179 ปักษ์หลัง 16-31 มีนาคม 2545 |
ข้าพเจ้าเป็นสมณะเกจิฯ ในงานพุทธาภิเษกฯ ที่ศาลีอโศก โดยที่สมณะเดินดิน ติกขวีโร ขวนขวายโทรศัพท์จากบ้านราชฯ เข้ามาสอบถาม ข้าพเจ้าว่า สะดวกหรือไม่ ที่จะไปร่วมงาน เป็นสมณะเกจิฯ ข้าพเจ้าตอบรับในทันทีว่า ไม่ขัดข้อง ยินดีอย่างยิ่ง ในใจรู้สึกขอบคุณภันเต ที่อุตส่าห์โทรสอบถาม ด้วยความอ่อนด้อยความสามารถ ในการบริหารเวลา จึงไม่อาจเตรียมบันทึกเทปให้ทัน ออกอากาศตลอดงานได้ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ หลายปีมาแล้ว และดูเหมือน เป็นประเพณี ปฏิบัติของข้าพเจ้า ไปเลยทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ยินดีนัก ที่ตนเอง ดำรงสภาพเป็น สมณะเกจิฯเยี่ยงนี้ ทำราวกับว่าเป็นบุคคลพิเศษ หรือ เป็นพระเอกของงาน ที่กว่าจะออกโรง ก็ต้องรอเวลา พิเศษกว่าคนอื่น ทั้งๆที่ข้าพเจ้า ไม่มีความคิดเช่นนั้นเลย โดยจริงแล้ว เป็นเหตุผลเรื่อง ทำงานไม่ทัน เท่านั้นเอง คราวนี้ข้าพเจ้าใช้เวลา อยู่สันติอโศก เพื่อดำเนินงาน เทศน์ก่อนฉันวันอาทิตย์ สอนพระไตรปิฎก ภาคบ่ายวันอาทิตย์ เทศน์ก่อนฉันวันมาฆบูชา ในเวลาเดียวกับงาน พุทธาภิเษกฯ จึงหมดเวลาของงานไปกว่าครึ่ง จึงค่อยยุรยาตรไปร่วมงาน ข้าพเจ้า อายพ่อท่าน ที่ไปร่วมงาน ช้ากว่าเพื่อนเกจิฯ รูปอื่น จึงไม่เข้าไปกราบ รายงานตัวแก่พ่อท่าน และไม่ค่อยกล้า ปรากฏตัว ในงานเท่าใดนัก เพราะรู้ตัวว่า เป็นตัวอย่าง ที่ไม่ดี กว่าจะทำตัวให้สนิทสนม กลมกลืน กับงานได้ ก็ต้องใช้เวลา ยาวนานพอสมควร ข้าพเจ้ามีโอกาสขึ้นร่วมราย การตอบปัญหาภาคบ่าย กับพ่อท่านเพียงครั้งเดียว แล้วก็ต้องเดินทางกลับ ไปสางงานต่อ ทั้งงานโทรทัศน์ และงานวิทยุ เก็บความคิดในใจว่า ข้าพเจ้าจะต้องปรับปรุงตัวเอง ให้มีเวลามากขึ้นกว่านี้ ในการไปร่วมงานหลัก ของอ โศก ดำริไว้ว่า งานปลุกเสกฯนี้ น่าจะไปร่วมงาน ตลอด ๗ วัน โดยนำเครื่องเสียง ทำรายการวิทยุชุดใหญ่ ติดไปด้วย เพื่อทำรายการบันทึกเทป แบบวันต่อวัน ส่งทางไปรษณีย์ด่วน ถึงสถานี เพื่อให้เป็นเนื้อหา ที่สดใหม่ ร่วมสมัย และ ทันกับเวลาหลายชั่วโมง ในแต่ละวัน ที่รับผิดชอบอยู่ ข้าพเจ้าได้กราบเรียน เจตนารมณ์ดังกล่าวนี้ ให้พ่อท่านทราบแล้ว
ขอให้เจตนารมณ์สำเร็จด้วยเถิด. |
||||||||||||||||
ธรรมะพ่อท่านคราวนี้ ขอนำคำเทศนาของสมณะกระบี่บุญ มนาโป ซึ่งได้เทศนาไว้ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๓ ณ พุทธสถาน ปฐมอโศก เพื่อให้ชาวเรา ได้เข้าใจวิธีการทำงาน ที่ควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรม ตามหลักมรรคมีองค์ ๘ ที่พ่อท่าน ได้สอนพวกเรา อยู่เสมอๆ ดังนี้ มีผู้กล่าวว่า การทำงานบั่นทอนการปฏิบัติธรรม นั่นเพราะว่าเราทำงานแล้ว สุขภาพจิตเสื่อม สุขภาพจิตเสีย แสดงว่าเราคุมกระบี่ไม่อยู่ กระบี่คือจิตใจนี้ เราคุมไม่อยู่ จิตใจเราไม่มีเบรก ไม่มีอุเบกขา ไม่มีความปล่อย ไม่มีความวาง มีแต่ยึด ยึด ยึด อย่างนั้น อย่างเดียว นั่นไม่ใช่มรรคแปด ยังไม่ถูกสัมมาทิฐิ ไม่สัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะ คือ การที่ เราทำงานแล้วไม่ติด ไม่ดำริไปทางราคะ ไม่ติดไม่ยึด พร้อมที่จะสลาย พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แต่เราก็ทำหน้าที่ของเรา ให้ดีที่สุด เมื่อเรารับหน้าที่แล้ว ไม่ใช่ปล่อยปละ ละเลย ไม่ใช่มักง่าย มรรคแปดไม่ใช่สุกเอา เผากิน ทำงานไม่รับผิดชอบ ทำงานเลอะๆ เทอะๆ นั่นไม่ใช่มรรคแปด ทำแล้วก็ทิ้งไป ปลูกต้นไม้ไว้ตรงนี้ แล้วไปหา ที่ใหม่ปลูกต่อ ปลูกแล้วก็ไม่รดน้ำ หรือใช้จอบขุดแล้ว วางทิ้งไว้ เลิกงานแล้วทิ้ง ไม่รับผิดชอบ อันนั้นก็มักง่าย ไม่ใช่มรรคแปด อันนั้นมัน คนไม่เอาภาระ ดังนั้นมรรคแปดของพระพุทธเจ้าต้องเป็นคนเอาภาระด้วยแล้วปล่อยในตัว เอาภาระจริงจัง แต่ก็รู้จัก ปล่อยในตัว ไม่ปวดหัว ไม่มึน แม้อะไรจะเข้ามาในสมอง ก็เข้ามาๆรับๆๆ แล้วก็ปล่อย ไม่ใช่รับๆๆๆ แล้วก็ทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่รับไว้แล้วทุกข์เจ็บปวด ไม่ใช่ ! ดังนั้นสัมมาสังกัปปะเราจะดำริเสมอ อันนี้ไม่ดี อันนี้ควร อันนี้ไม่ควร มันจะดำริเสมอ สัมมาวาจา ก็พอเหมาะ วาจาของเรา ก็จะเป็นคำพูดที่ดี ไม่ใช่มรรคแปดพูดไม่ได้ พูดได้ คิดได้ วาจาของเราเป็นอย่างไร เป็นไปเพื่อ ลดกิเลสไหม เป็นไปเพื่อละหน่าย คลายกิเลสหรือเปล่า ถ้าหากวาจาของเรา เป็นไปเพื่อมรรค เพื่อศีล มรรคคือเอาศีล มาเป็นเครื่องวัด ไม่ใช่เอาคืน เป็นสัมมาวาจาไหม ไม่ใช่ทำงานไปเลอะเลือน โมโหโทโส เสร็จแล้ววาจา ก็กลายเป็น ผรุสวาจาขึ้นมา ส่อเสียดขึ้นมา เพ้อเจ้อขึ้นมา ไม่ใช่วาจาเช่นนั้นหรือพูดเท็จเพราะการงาน เพราะอยากได้มากๆ จึงกลบเกลื่อนความจริง ขี้โลภมาก หนักๆเข้า ก็เสียศีล ไม่ใช่อย่างนั้น ศีลต้องไม่เสีย ยิ่งงานหนัก ยิ่งศีลเคร่ง คนเอาจริงอาตมาว่าดี คนควรทำงานจริงจัง แต่ก็ต้องดูพละอินทรีย์ ของเพื่อนข้างเคียงด้วย บางทีเขาไม่ไหว เราตบะแก่กล้า เพื่อนเป็น อย่างไร ต้องดูอีกที เคร่งไว้นั่นแหละดี สุขภาพจิต เข้มแข็ง แข็งแรงเพราะไม่ทุศีล ศีลเราไม่ด่าง เรามีศีลสมบูรณ์ คนศีลห้าก็ศีลห้าสมบูรณ์ คนถือศีลแปด ก็ศีลแปดสมบูรณ์ ใครจะสมาทาน ศีลอะไรก็ตามแต่ เราก็ต้องสมบูรณ์ในศีลนั้นๆ ของเรามีกำหนด มีขอบเขต มีสิ่งที่กั้นเรา ไม่ให้ไปชั่วลงต่ำได้ เพราะถ้าหากเราปฏิบัติธรรมถูกมรรคจริงๆ อาตมาว่าการงานจะเป็นตัวส่งเสริม จะเป็นตัวสนับสนุน ให้เราเป็นคนรอบคอบขึ้น เป็นคนระมัดระวังขึ้น ไม่ให้เสียของ ไม่ให้เสียทั้งงาน ที่เราทำ ยิ่งมีจิตละเอียดเท่าไร จิตที่ไม่เห็นแก่ตัว จิตที่ไม่ไปมีทิฐิราคะ หรือไม่มี จิตที่มีกิเลส ตัณหาได้เท่าไร มันยิ่งรอบคอบขึ้น มรรคแปดทำให้ เรารอบคอบขึ้น เอ ! ระวังคำพูดนะ ระวังความคิดนะ ระวังการกระทำนะ มันจะระมัดระวัง ระวังทุกอิริยาบถ ทุกเวลา เป็นแม่ค้าก็ไม่โกหก ไม่ฉวยโอกาส เราระมัดระวังตนเอง ค้าขายอย่างซื่อสัตย์ นี่แหละ สัมมาอาชีวะของเรา อาชีพเราไม่ต้องไปโกหก มดเท็จใครแล้ว งานของเราก็เดิน จิตใจก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น มีศีลต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ทำตามๆเขาไป ถ้าเรามีศีลที่เข้าไปหาบริษัท เข้าไปในชุมชนทำอย่างไร เข้าไปหา หมู่เพื่อนฝูง หมู่นั้นคนพาล หมู่นี้ขี้โลภมาก เราจะรู้ แล้วมันจะปรับตัวเอง ทำอย่างไร เราจะไม่โกหก พูดกับคนพาล เราไม่โกหกก็ได้ อะไรไม่ควรพูด ก็ไม่ต้องพูด พูดไปมันต้องโกหก ก็หยุดซะ คือไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียง ถ้าเราเอง เป็นผู้ที่พัฒนาตัวเอง บริสุทธิ์ขึ้น สะอาดขึ้น อาตมาว่า การงาน ยิ่งทำให้พวกเราเกิด การลดละกิเลส พวกเราไม่ได้ทำงาน แลกเงินหรือลาภ ไม่ได้ทำงานแลกยศ สรรเสริญ เราทำงานด้วย ความมีน้ำใจ ไม่มีการบีบบังคับ ถ้าทำงานด้วย ความมีน้ำใจ ไม่มีการบีบบังคับ ถ้าพวกเราเข้าใจชัดขึ้น ก็จะเห็นว่า การทำงานนั่นแหละ เป็นการส่งเสริม การปฏิบัติธรรม ทำให้ลดละ กิเลสได้ แม้ว่าสมณะกระบี่บุญ มนาโป ได้มรณภาพไปแล้ว เมื่อวันพุธที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ คงเหลือไว้ แต่คุณงามความดี และคำสอนของท่าน ที่เราสามารถน้อมนำ มาประพฤติปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน ของเราได้ เพื่อที่เราจะได้ทำความดี และอยู่กับความดี จนถึงวาระสุดท้าย ของชีวิต ดังเช่นท่านได้ และถือว่าคุณงามความดีของสมณะกระบี่บุญ มนาโป ก็คือผลผลิตส่วนหนึ่ง
จากธรรมะ ของพ่อท่าน ที่เราขอเสนอ ต่อผู้อ่านทุกคน ในฉบับนี้ |
||||||||||||||||
ตั้งแต่บ้านราชฯ รับโครงการ ๕ ส.เข้าไปทำในชุมชน โดยเริ่มจากฐานการผลิต ก่อน ต่อมาก็บ้านพักนักเรียน บ้านชาวชุมชน และขยายผลต่อไป ยังการอบรมให้แก่ เกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส.ในโครงการพักหนี้ เกษตรกร ทุกรุ่น โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า "กตัญญูต่อสถานที่" เท่านั้นยังไม่พอ เมื่องานพุทธาภิเษกฯ ที่ผ่านมา (๒๔ ก.พ.-๒ มี.ค. ๒๕๔๕) วันแรกของงาน สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง โครงการ ๕ ส.ที่บ้านราชฯ ก็ได้มาเทศน์ ให้เห็นความสำคัญ ทั้งยังนำ ทีมงานบ้านราชฯ มาทำกิจ กรรม ๕ ส. ด้วยการนำวิดีโอ แอบส่องดู ที่หลับที่นอน ของพี่ๆน้องๆเรา และตามจุด ต่างๆ แล้วนำมาฉายบนแผ่นผ้า ให้ชมชื่นคนที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และชี้ ความอีรุงตุงนัง ไม่น่าดูต่างๆ ให้พวกเราได้เห็น มุ้งใครเอ่ย!... ครั้งนี้ต้องกราบนมัสการ ด้วยความเคารพอย่างสูง แด่สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน และขอขอบพระคุณ ทีมงานบ้านราชฯ ที่มาช่วยสร้างสีสัน ให้ชาวเรา เห็นความสำคัญ ในความสำคัญ กันโดยถ้วนหน้า ๕ ส.ฟีเว่อร์ กลับจากงานพุทธาฯ ๒ หน่วยงานชุมชนสันติอโศกจัดทำ ๕ ส.กันยกใหญ่ หน่วยแรก บจ.พลังบุญ รอง ผจก.บจ.คุณต้อย (น้อมนบ ปัฐยาวัต) อดรนทนไม่ไหว นำทีมอาสาสมัคร กลับก่อนงานพุทธาฯ ๒ วัน ลุยห้องบัญชี สะสาง เอกสาร กองมหึมา ออกไปเกือบ ๑ ตัน พร้อมทั้ง จัดระเบียบ ความสะอาด เครื่องใช้ ตำรา ให้ดูงามตา ไม่รกเกรอะกรัง สร้างความไม่พอใจ ให้กับบรรดาหนู และแมลงสาบ ต่างวิ่งออกมา ยกป้ายประท้วงกันตรึม! เล่นเอาอาสาสมัคร ทั้งหลาย พากันกระโดด ไปอยู่บนเก้าอี้ ร้องวี้ดว้าย กระตู้วู้! กันวุ่นวาย (อย่างขาดสติ สัปชัญญะ กันเลยแฮะ) หน่วยที่สอง ชมร.หน้าสันติอโศก นำทีมโดยคุณเฉียน (ใฝ่ธรรม ตันติพยัคฆ์) ผู้รับใช้กลุ่ม พาพวกขัดสีฉวีวรรณ ทาสีใหม่ จัดร้านซะเยี่ยมอ่อง ใครไปใครมา เยี่ยมชมร้านได้ นะคะ งบกระตุ้น เมื่อ ๑๕ มี.ค. ๒๕๔๕ ศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน มาเยี่ยมฐานการผลิต ของชุมชนสันติอโศก ที่ของบ กระตุ้น เศรษฐกิจไป ปรากฏว่า งานนี้ผักชีหอมฉุย! จบการดูงาน สิกขมาตุฝนเย็น ผู้จัดการฐานงาน พุทธรักษา รู้สึกพอใจมาก บอกว่า คนมาเยี่ยมบ่อยๆ ก็ดี ไม่เพียงกระตุ้น เศรษฐกิจ ยังกระตุ้นให้ฐานงาน ต้องสะอาด อยู่เสมออีกด้วย ผู้นำต้องอย่างนี้... ตั้งแต่สิกขมาตุฝนเย็นเข้ามารับผิดชอบ ฐานงานพุทธรักษา ฐานงานนี้ ก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ สะอาด มีระเบียบ เรียบร้อยขึ้นมา เป็นลำดับ จนเมื่อครั้งหนึ่ง ท่านได้ไปดูงาน ที่บริษัทเครื่องสำอาง แห่งหนึ่ง ท่านก็ได้ไอเดีย กลับมาปรับปรุง ระบบการทำงาน การจัดวางสินค้า ให้ดูดียิ่งขึ้น แม้ฐานการผลิตนี้ จะเป็นโรงเรือน เล็กๆแคบๆ แออัด
อยู่ล้อมรอบด้วยมลภาวะ และแม้มีโครงการ จะขึ้นตึกใหม่ ท่านก็พยายามทำเต็มที่
ไม่ปล่อยให้รกเลอะ เพื่อผลผลิต ที่ดีกว่า และเป็นที่พอใจ แก่ผู้บริโภค
ดูการทำงาน และความรับผิดชอบของท่าน ก็ให้รู้สึก อนุโมทนายิ่งนัก ใครที่
รู้สึกโมทนา จะหาเวลา ส่งแรงกายไปช่วยท่านบ้าง หรือยังไม่มีเวลา ก็ส่งแรงใจ
ไปให้กำลังใจท่านก่อน ก็ได้นะฮะ |
||||||||||||||||
เพื่อเป็นกำลังใจ สัญลักษณ์แห่งคุณธรรม และความมักน้อยสันโดษ พิธีรับกลด เป็นยัญพิธีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอโศกที่พ่อท่านจัดให้มีขึ้น เพื่อเป็นการ ทวนกระแส กับค่านิยมของโลกที่ เมื่อจบ การศึกษาแล้ว ต้องรับใบปริญญาบัตร หรือใบประกาศนียบัตร ที่คนทั่วไป เขาให้ความสำคัญ และติดยึดกัน มุ่งเรียนแข่งขัน เพื่อที่จะได้ ใบปริญญาบัตร เน้นแต่เพียงความรู้ แต่ไม่เน้นเรื่องคุณธรรม เป็นต้น ฉะนั้นพิธีรับกลดหรือพิธีมอบกลดให้กับ นักเรียนสัมมาสิกขาที่จบการศึกษาชั้น ม.๖ ของชาว อโศกทุกสถาบัน ถือว่าเป็นพิธีกรรม ที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะกลด เป็นสัญญลักษณ์ อย่างหนึ่ง ของนักปฏิบัติธรรม หรือ เป็นสัญญลักษณ์ ของคุณธรรม ของความมักน้อย สันโดษ และ ความเรียบง่าย มอบให้นักเรียนที่จบการศึกษา ชั้น ม.๖ เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นการให้ค่า สำหรับเด็กนักเรียน ที่ผ่านการฝึกฝน อดทน ต่อสู้เรียนรู้ ภายใต้ ปรัชญาการศึกษา ของชาวอโศกคือ "ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา" ซึ่งมิใช่ง่ายเลย ที่ใครๆ จะฝ่าฝืนจน จบมาได้ ตลอดระยะเวลา ๖ ปี เพราะ โรงเรียนสัมมาสิกขา ของชาวอโศก มิใช่โรงเรียนสงเคราะห์คน แต่เป็นโรงเรียนสร้างคน ฝึกคน ขัดเกลาคน ให้แกร่ง ด้วยคุณธรรม พึ่งตน จนเป็นที่พึ่ง ของสังคมได้ สำหรับพิธีรับกลดปีนี้ จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๑ มี.ค. ๒๕๔๕ ณ ปฐมอโศก เช่นเดิม ซึ่งเป็นการจัดขึ้น เป็นครั้งที่ ๔ โดยในวันที่ ๑๐ มี.ค. นักเรียนชั้น ม.๖ ทุกพุทธสถาน รวมตัวกัน ที่ปฐมอโศก กิจกรรมมีการลอดซุ้ม เล่นเกมส์ โดยมี นักเรียนสัมมาสิกขา ปฐมอโศก ชั้น ม.๕ เป็นผู้นำเกมส์ มีการวิ่งเปี้ยว ร้องเพลง ปิดตาเต้น ใครเต้นสวย เข้าตากรรมการ ก็จะมีรุ่นน้อง เอาพวงมาลัย มาคล้องให้ แล้วก็จะได้ เข้ามานั่ง มีการลอดซุ้ม ปะแป้ง ภาคค่ำ มีการร่วมรับประทานอาหาร แบบขันโตก มีน้องๆเป็นผู้เสริฟ์ ที่เวทีธรรมชาติ มีการแสดงละคร โรงเรียนละเรื่อง บางพุทธสถาน ร้องเพลง และอีกหลายอย่าง ส่วนทางสันติฯ แสดงละครใบ้ จากนั้น คุณครูกล่าวเปิดใจ ช่วงทำวัตรเช้าวันจันทร์ที่ ๑๑ มี.ค. สมณะ-สิกขมาตุให้พรและให้โอวาทแก่นักเรียน ซึ่งแต่ละรูปก็ฝากข้อคิดที่ดีๆและน่าประทับใจ แต่มีคำเปรียบ อย่างหนึ่ง ที่เป็นข้อคิด และ หลายคนฟังแล้ว ก็เข้าใจถึงสภาวะ และรูปธรรมคือ คำพูดของ สมณะดินทอง นาครวโร ที่พูดเปรียบเทียบว่า นักเรียนที่จบ ม.๖ แล้วออกไป อยู่ข้างนอก เปรียบเหมือนปลา ที่ว่ายสู่แม่น้ำใหญ่ ซึ่งจะต้องเจออันตราย ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้าช๊อต, อวน, แห, เบ็ด ฯลฯ ถูกคนจับไปเป็นอาหาร ส่วนคนที่จบแล้ว ไม่ออกไป (อยู่วัด) เหมือนปลาที่อยู่ในบุ่ง ที่มีคน คอยดูแลเอาใจใส่ ให้อาหาร และป้องกัน อันตรายให้ เหมือนคนอยู่อยู่วัดมีอาๆพี่ๆน้องๆและสมณะ-สิกขมาตุคอยดูแลอบรม สั่งสอนอยู่เสมอ หลังจากนั้น ก็ซ้อมพิธีรับกลด แล้วก็ใส่บาตร ร่วมกัน โดยมีพ่อท่านนำ บิณฑบาต ก่อนฉัน คณะคุรุ และผู้ปกครอง แต่ละพุทธสถาน กล่าวให้โอวาท และฝากข้อคิด แต่ละท่าน ก็พูดให้เห็นคุณค่า และความสำคัญ ของการอยู่วัด และ ให้ข้อคิด ข้อเตือนใจ สำหรับผู้ที่จะออกไป ผจญภัย ในสังคมภายนอก แต่มีคำพูด ของคุณแม่สมหมาย ทัศโน ให้แง่คิดดีมาก คือ "เด็กที่จบม.๖ แต่ละคน เปรียบเหมือนมีด ที่ได้ตีจนเป็นรูปเล่ม อย่างสวยงาม (มีความแววาว) แล้ว แต่แม่ไม่อยาก ให้มีดเล่มนี้ ไปอยู่ในมือของโจร (โลกโลกีย์,ทุนนิยม) เลย แม่เสียดาย" แต่ละคนฟังแล้ว ก็ซาบซึ้งใจ ต่อมาพ่อท่านก็เทศน์ให้โอวาท ได้พูดเสริมที่สมณะ สิกขมาตุ และคณะอาๆ พูดมาที่เน้น ให้เด็กๆ เห็นความสำคัญ ของการอยู่ในหมู่กลุ่ม ซึ่งยังขาด บุคคลากรอีกมาก และชี้ให้ เห็นคุณค่าของโลกุตระ พ่อท่านบอกว่า "อาตมามาทำงาน มาทำให้คนดีขึ้น พัฒนาขึ้น ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายๆเลย ยิ่งยุคนี้เป็นยุค ใกล้กลียุคแล้ว สังคมข้างนอก และโดยเฉพาะ ต่างประเทศ เขาเดือดร้อนกันมาก" และพ่อท่าน ได้ย้ำยืนยันว่า "จนดีกว่ารวย" จากนั้นพ่อท่านก็มอบกลด ให้กับนักเรียนที่จบ ม.๖ แต่ละพุทธสถาน ซึ่งปีนี้มีทั้งหมด ๔๓ คน จากราชธานีฯ และ ศาลีฯ ที่ละ ๑ คน, สีมาฯ ๕ คน, สันติฯ ๕ คน, ปฐมฯ และ ศีรษะฯแห่งละ ๑๖ คน แล้วพ่อท่านก็ให้โอวาท ปิดท้ายอีกครั้ง ภาคค่ำ ปฐมอโศก จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ และผูกข้อมือ ให้นักเรียนชั้น ม.๖ ทุกพุทธสถาน มีการร้องเพลง และพูดคุยกัน กับชาวชุมชน และ นักเรียนทุกชั้นเรียน มอบของที่ระลึก บรรยากาศอบอุ่น เป็นกันเองดี ความรู้สึกของนักเรียนที่จบ ม.๖ ปีนี้มีดังนี้ นายทะเลฟ้า คำขาว ศีรษะอโศก "หลังจากรับกลดแล้ว รู้สึกต้องเป็นผู้ใหญ่นะครับ อะไรที่เราเคยเล่น และเคยทำแบบเด็กๆ ก็คือว่า มันไม่เหมือนเดิม ก็อยากจะกลับไป สู่สัมมาสิกขา รู้สึกมันสนุกสนานร่าเริง ได้ทำอะไร ตามความคิด เพราะได้อิสระทาง ความคิดเยอะ จบแล้ว จะอยู่วัดหรือเปล่า ความเป็นไปได้ อยู่วัดก็มีส่วนเยอะ" ฝากถึงน้องๆว่า "อย่าไปหวังอะไร กับอนาคตนะครับ ถึงแม้มันจะดู สดใสก็ตาม มันจะดูเป็นหนทางที่เจริญ หรืออะไรก็ตาม เพราะว่าไม่แน่ เราอาจตาย หรือว่าดับชีพไปก่อน ก็ได้ครับ อยากฝากว่า ให้สู้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วพรุ่งนี้ มันก็จะดีเอง" น.ส.กล้าฝ่าฝัน อินทระ ศีรษะอโศก "รู้สึกภูมิใจที่ได้ จบถึงวันนี้ แม้จะอยู่มาแค่ ๓ ปี ก็ภูมิใจ โอกาสเรามีน้อย อยากจะฝึกต่อค่ะ คิดว่าจบแล้ว จะอยู่วัดต่อ เรียนปวช.ด้วย ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าศีรษะฯ จะรับเราหรือไม่ เพราะว่าเราต้องสอบเข้า ศีรษะอโศก อีกรอบหนึ่งค่ะ" ฝากให้น้องๆ อยู่จนถึงวันรับกลด เพราะเป็นวันที่ ภูมิใจที่สุด เป็นวันที่น้องๆ ต้องไปให้ถึงให้ได้ แล้วน้องๆ จะรู้สึกว่า ชีวิตน้อง จะยิ่งใหญ่ที่สุดค่ะ" น.ส.แก้วเกล็ดรุ้ง ศรีวงษา สีมาอโศก "รู้สึกดีใจเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างใน สีมาอโศก เป็นความภาคภูมิใจคะ จบแล้ว จะไปไหน ยังไม่แน่นอน คิดว่าเปอร์เซ็นต์ จะอยู่วัดมากกว่า ฝากให้น้องๆ อยู่วัดต่อไปให้ได้นะคะ ไม่ว่าจะเจออะไร ก็สู้ต่อไป เรียนรู้ทุกสิ่ง ด้วยความตั้งใจ ขอให้น้องๆ อดทนต่อไปนะคะ" นายธีรพงษ(วิวฟ้า) ศรีเชียงสา (หนึ่ง) ปฐมอโศก "ดีใจที่ตัวเองจบ อนาคตกำลัง ตัดสินใจอยู่นะครับ ฝากให้น้องๆอยู่จนจบ เหมือนพี่ๆ นี่แหละ ก็อดทนสู้ จนจบนะครับ" น.ส.คณิตา (ฝนทอสาย) บุญสุภาพ (เจี๊ยบ) ราชธานีอโศก "ปีนี้จบคนเดียว
เป็นรุ่น ที่ ๒ รู้สึกตื่นเต้น และ ภูมิใจในตัวเอง ที่มีวันนี้ได้ ฝากถึงน้องๆ
ขอให้อดทน เพื่ออนาคต ของเรา" |
||||||||||||||||
ทีมงาน ศ.พ.ช. (ศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ สุขภาพชุมชน สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา) และจนท.เขต ของกทม. ได้เยี่ยมชม แหล่งผลิตภัณฑ์ ของชุมชนสันติอโศก ตามโครงการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เพื่อ สนับสนุน งบประมาณ กระตุ้นเศรษฐกิจ ชุมชน ปี ๒๕๔๕ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ มี.ค. ๒๕๔๕ คณะผู้ศึกษาดูงาน โครงการส่งเสริมคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง กทม. นำโดย คุณสงกรานต์ ภาคโชคดี ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษา ศ.พ.ช. พร้อมด้วยทีมงานอีก ๖ ท่าน เยี่ยมชมฐานงาน สันติอโศก เวลา ๑๓.๐๐ น. โดยมีคุณน้อมขวัญ ปัฐยาวัต ต.อ.กลาง, คุณไพรัช ข่าทิพย์พาที ต.อ.ชุมชน, คุณบุสดี เผ่าพงษ์ กรรมการบริหาร ต.อ. ตัวแทนฝ่ายผลิต และผู้ผลิต ฐานงานต่างๆ ต้อนรับ พาเยี่ยมชมฐานงาน ที่ได้ดำเนิน เรื่องของบ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเป็นต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ฐานงานแรกที่เยี่ยมชมคือ ฐานกู้ดินฟ้า ร้านผักและผลไม้ไร้สารพิษ ซึ่งฐานงานนี้ เป็นหัวใจหลักของชุมชน คุณป้อม (เคียงดิน) ให้ข้อมูล คณะศ.พ.ช. ว่า "ฐานงานได้งบประมาณ สร้างห้องเย็น เพื่อเก็บผักผลไม้ ที่เกษตรกร นำมาส่งถึงเรา ซึ่งการส่งแต่ละครั้ง เป็นจำนวนมาก เพราะเราเอง ลงสู่พื้นที่ หาเกษตกร ขอให้ปลูกผัก ผลไม้ไร้สารพิษ ให้เราจริงๆ ทางเรารับรองการตลาด เพื่อเผยแพร่ และเป็นการสนับสนุน ผักไร้สารพิษ ออกสู่สังคม อย่างจริงๆจังๆ การขอห้องเย็น จึงเป็นการส่งผัก และผลไม้สดๆ ส่งถึง ประชาชนมากยิ่งขึ้น" ซึ่งทางคณะ ศ.พ.ช. ก็ได้ถ่ายรูปไว้ เป็นหลักฐาน และพูดคุย ซักถามเจตนา และเป้าหมาย เป็นอย่างดี ฐานงานถัดมาคือ ฐานงานแปรรูปสัมมาสิกขาฯ ซึ่งได้ของบประมาณไป ๓ ส่วนด้วยกันคือ ห้องเสาวรส แปรรูปขนมสด และห้องงาตัด ซึ่งทรุดโทรม กำแพงตามเสา ร้าวไปมากแล้ว โอกาสนี้ เด็กสัมมาสิกขาฯ ทำงาตัดให้คณะ ศ.พ.ช. ได้ชมและชิม กันถ้วนหน้า ซึ่งคุณสงกรานต์ชิมแล้ว ก็แซวเด็กๆ ว่า "อื่ม! อร่อยอย่างนี้ ผ่าน อย.เลยแหละ" ทำเอาน้องๆที่ทำงาตัด งงกันเป็นแถวว่า ทำไมผ่านง่ายจัง ยังไม่ได้ตรวจอะไรเลย แล้วคุณสงกรานต์ ก็พูดต่อว่า "ผ่าน อ.ย.(อาหารอร่อย)ไง" พอฟังแล้วก็หัวเราะ ขำมุขของท่าน หลังจากนั้น ก็ได้ถ่ายรูปร่วมกับ นักเรียนสัมมาสิกขา ที่ทำงาตัด ไว้เป็นที่ระลึกด้วย ฐานงานสุดท้ายที่ไปเยี่ยมคือ ฐานพุทธรักษา ซึ่งทำแชมพู และสบู่สมุนไพรต่างๆ ซึ่งทางฐานงาน ได้ของบประมาณ ซื้ออุปกรณ์ การทำงานที่สะดวก และ ทันสมัยมากขึ้น ไปถึง ทางพุทธรักษากำลังกรอกสบู่เหลวสมุนไพรอยู่ ซึ่งทางคณะ ศ.พ.ช. ก็ให้ความสนใจ และถ่ายรูป ไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากเวลามีน้อย เพราะต้องไปดูงานด้านอื่นๆต่อ ก่อนจาก ทางชุมชนสันติอโศก จึงได้นำหนังสือสารอโศก ดอกหญ้า มอบให้คณะ ศ.พ.ช. เป็นที่ระลึก ก่อนเดินทางกลับ ในเวลา ๑๕.๐๐ น. น.ส.บุสดี เผ่าพงษ์ "เห็นด้วยที่คณะ ศ.พ.ช.พยายามสนับสนุน และส่งเสริม ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ในระดับชุมชน หากมีเวลาเยี่ยมชม มากกว่านี้ก็ดี คิดว่าการส่งเสริมงบประมาณ และการให้ความรู้ ควรควบคู่ไปด้วยกัน น่าจะดียิ่งขึ้น" คุณฟ้าเสรี วรชินา "รู้สึกประทับใจในความเป็นกันเองของคณะ ศ.พ.ช. ที่มาดูงานเยี่ยมชมค่ะ มีอะไรก็บอกแนะนำกัน การมาเยี่ยมเราครั้งนี้ รู้สึกว่า ไม่ใช่แค่ เรื่องงบประมาณเท่านั้น แต่เราถือว่า เป็นการมาให้กำลังใจ ในการพัฒนาคุณภาพ สินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้จริงๆ" น.ส.นฤมล โสคติ "เห็นคณะ ศ.พ.ช.ดูพวกเราทำงาตัด
และดูสถานที่ทำงาน จุดชำรุดต่างๆ ที่อาปิ๋มพาดู และอธิบายให้ฟัง ก็รู้สึกประทับใจค่ะ
เพราะดูเอาใจใส่กันดี มีอะไรก็แนะนำ เหมือนมาดูงานกันจริงๆ". |
||||||||||||||||
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ มี.ค. ๒๕๔๕ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้เดินทางไปร่วมเสวนา ในหัวข้อ เรื่อง "ชีวิตหลังความตาย สังคมหลังกลียุค (Chaos)" ที่ห้องประชุมชั้น ๑๓ ตึกช้าง อา คาร A เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันวิถีทรรศน์ มีผู้ร่วมเสวนาคือ น.พ.ประสาน ต่างใจ และสมณะโพธิรักษ์ โดยมีดร.เทียนชัน วงศ์ชัยสุวรรณ (ยุค ศรีอาริยะ) ดำเนินรายการ ช่วงแรกได้พูดถึง "ชีวิตหลังความตาย" โดยน.พ.ประสาน กล่าวถึง จิตวิญญาณหลัง ความตายตั้งแต่ระดับปัจเจกชน ระดับโลก ไปจนถึง ระดับจักรวาลว่า แม้จักรวาล ก็มีชีวิต แนววิทยาศาสตร์ใหม่เห็นว่า ชีวิตหลังความตายมีจริง มีวิญญาณสืบต่อ วิทยาศาสตร์ใหม่ ได้ทำการทดลอง พิสูจน์ วิจัย จนได้ข้อสรุป ยืนยันมั่นใจว่า จิต วิญญาณไม่ได้สูญหายไปไหน ยังดำรงอยู่ เขาพิสูจน์ได้ว่า คนสามารถย้อนระลึก ถึงอดีตชาติได้ เป็นต้น ชาวตะวันตกส่วนมาก จะไม่เชื่อเรื่อง ชีวิตหลังความตาย ซึ่งตรงข้ามกับตะวันออก มีพื้นฐานความเชื่อ ในเรื่องนี้ สรุปว่า วิทยาศาสตร์ใหม่เห็นว่า ชีวิต หลังความตายมีจริง ส่วนพ่อท่านกล่าวในแนวทางของศาสนาพุทธ โดยยกคำตรัส ของพระพุทธเจ้าอ้างอิง ซึ่งกล่าวถึงตั้งแต่ ตอนพระพุทธเจ้า จะตรัสรู้ ได้ย้อนระลึกถึง อดีตชาติ ระลึกจนไม่รู้ที่มา ของจิตวิญญาณ ซึ่งเห็นว่าชีวิตคน เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏฏสงสาร ตามวิบาก กรรมของตน แต่แนวพุทธศาสนา มีวิธีการ ที่พัฒนาจิตวิญญาณ ไปจนถึงขั้นสูงสุด หลุดพ้น จากวัฏฏสงสารได้ คือ นิพพาน หรือเป็นพระอรหันต์ และสามารถดับสูญ หรือจบได้ (ปรินิพพาน) ซึ่งในแนวของพุทธ ก็สอดคล้อง กับวิทยาศาสตร์ใหม่ พ่อท่านยกตัวอย่าง ตัวของเราเอง แต่ละคนว่า เปรียบได้กับหลอดทดลอง หรือ แท่งทดลอง เปรียบ เทียบกรรมดี และกรรมชั่ว กับ น้ำสีน้ำเงิน และสีแดง ตามลำดับ เมื่อเราสั่งสมกรรมดี มากกว่ากรรมชั่ว เปรียบได้กับน้ำในแก้ว หรือหลอดทดลอง ที่มองเห็น เป็นสีน้ำเงิน เพราะมีความเข้ม มากกว่า แต่หากเราสั่งสมกรรมชั่ว ก็เปรียบได้กับน้ำในแก้ว ที่เห็นเป็นสีแดง เพราะมันมีความเข้ม มากกว่า สีที่มีความเข้มน้อยกว่า ก็ไม่ได้หายไปไหน มันยังคงอยู่ เปรียบได้กับความดี หรือชั่วก็ตาม เมื่อเราทำแล้ว ล้วนมีผล (วิบาก) ทั้งสิ้น ปฏิเสธ ความเป็นเจ้าของ ไม่ได้ นอกจากนี้ ในช่วงแรก ประมาณ ๔๐ นาที พ่อท่าน ยกตัวอย่าง อธิบายประกอบ วิธีการปฏิบัติ เป็นขั้นตอน ลิงค นิมิตร อุเทศ แม้แต่เปรียบเทียบ อุตุ พีชะ จิตตะ กรรม และธรรมะ มีการดำเนินไป ต่างกันอย่างไร ทำให้ผู้ฟัง สัมผัสได้ถึงรสชาติ ๒ แบบในการเสาวนา คือในขณะที่วิทยากร ท่านแรก ใช้ศัพท์เทคนิค ภาษาอังกฤษ ด้วยภาษาทันสมัย ในขณะที่พ่อท่าน ใช้ภาษาสื่อ การปฏิบัติจริง อธิบายอิงภาษาบาลี มาเทียบเคียง ให้รู้ความหมาย ผู้เข้าฟัง การเสวนาครั้งนี้ จึงได้รับประโยชน์ ทั้งแนวกว้าง และแนวลึก แบบ Two in One นอกจากนี้ เมื่อผู้ดำเนินรายการ พูดออกตัวว่า ยังตัดเรื่องอาหารการกินอยู่
พ่อท่านก็ได้พูด ให้เห็นความสำคัญ ของ อปัณกธรรม ๓ อันเป็นหลักปฏิบัติ
ที่ไม่ผิดทาง ได้แก่ สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยคะ พร้อมกับอธิบายคร่าวๆ
ในช่วงเวลาสั้นๆ ด้วยภาษาง่ายๆ และเป็นกันเอง ทำให้เกิด บรรยากาศอบอุ่น
ในอุณหภูมิอันเย็นฉ่ำ ของห้องประชุมในวันนั้น. |
||||||||||||||||
งานพุทธาภิเษกฯเพิ่งผ่านไปหยกๆ แล้วอีกไม่นานก็จะถึงงานปลุกเสกฯอีก ดีจังเลย นะคะ จะได้ฟังธรรมะดีๆจากพระโพธิสัตว์กันให้เต็มอิ่มกันเลย เพื่อเป็นพลัง ในการต่อสู้กับกิเลส และเป็นกำลังใจ ในการทำงานต่อไป โอกาสนี้ ทีมข่าวพิเศษ ได้กราบเรียนสัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร มาฝากทุกท่าน เช่นเคย อย่าให้พลาด แม้แต่ บรรทัดเดียว เชียวนะคะ เพราะมีเรื่องเด็ดๆ ที่เก็บเอาไปใช้ ในการปฏิบัติธรรมและ การทำงาน ได้ตลอดชีวิต เลยทีเดียว ...ในงานพุทธาภิเษกฯที่ผ่านมา ท่านได้ข้อคิดอะไรในครั้งนี้บ้างค่ะ ...พ่อท่านได้ไปประชุมกลุ่มของพวกเราที่มีความขัดแย้งกัน และท่านได้ให้โศลกที่สำคัญ ในงานนี้เอาไว้ว่า "เหตุผลคือความบ้า อัตตาคือความจริง!" คิดว่าโศลกนี้ สำคัญที่ พวกเราควรจะเอามา พิจารณากันให้มาก เพราะในยุคนี้ ที่เราได้รับการยอมรับ นับถือกันมาก อัตตาของพวกเรา ต่างๆ ก็สามารถ เกิดได้มาก ตั้งแต่โอฬาริกอัตตา ที่ยึดข้าวของ ยึดสมบัติ ยึดที่ดิน ยึดไร่นา จนมีปัญหากัน ในบางกลุ่ม เพราะได้ที่ดีๆ มาก็เลยยึด เป็นโอฬาริกอัตตา พอสุดท้าย ก็แตกกันเป็นสองกลุ่ม คือ เมื่อเราแต่ละคน ได้รับความนับถือกันมาก อัตตาก็จะออกมา ทำงานเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นโอฬาริกอัตตา หรือ อรูปอัตตา ที่ยังเป็นการเอาให้ได้ ดังใจของตัวเอง ยึดเอาดังกิเลส ของตัวเอง ถ้าอัตตาแรงมากๆ ถ้ามีใครมาขัดแย้ง หรือขัดขวาง หรือทำลาย ไม่ว่าเป็น โอฬาริกอัตตา ของเราก็ดี หรือ อรูปอัตตาของเราก็ดี มันจะมีเหตุผล มากมาย ถล่มทลาย คนที่มาขัดแย้ง ขัดขวาง เราอย่างรุนแรงทีเดียว ซึ่งจะทำให้ หมู่กลุ่มของเรา ไม่สามารถ รวมตัวกันติดได้ ดังนั้น ทำอย่างไร เราถึงจะมองเห็นเหตุผลที่เกิดขึ้น มันเป็นความไม่สบาย ไม่พอใจ คิดแต่เรื่องผิดของเขาว่า จริงๆมันคือ ความบ้า มันทำให้จิตใจของเรา ไม่สงบ ทำให้ จิตใจเรา ไม่เป็นสุข เราควรจะนึกถึง จิตใจที่สงบ จิตใจที่เป็นฌาน จิตใจที่เป็นสมาธิ ให้มาก มากกว่าที่จะไปยึด เหตุผล ร้อยแปด เห็นให้ได้ว่า มันเป็นความบ้า เราควรจะพยายาม มาอ่านเวทนา ๑๐๘ อ่านให้เห็น ถึงสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต พยายามที่จะมาจับ เวทนาของเรา ให้มากกว่าที่จะไป หมกมุ่นกับเหตุผล ๑๐๘ แล้วเห็นให้ได้ว่า ทั้งหมดทั้งปวงนั้น มันก็คือ อัตตาที่จะให้เป็น ไปได้ อย่างที่เรายึด อย่างที่เราคิด จริงๆแล้ว มันคืออัตตา ของเราจริงๆ ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถ ทำงานแล้วเจาะ ทะลุทะลวง อัตตาของเรา ให้เป็นคนเล็กลง น้อยลง หมดลง จนสูญลง ถ้าเป็นไปอย่างนี้ แต่ละคนมีการเพ่ง พิจารณามองตน เข้ามาอย่างนี้ ก็จะทำให้หมู่กลุ่ม เกิดสมานสามัคคี และเราก็ต้องพยายามรู้เท่าทัน พยายามที่เจริญสติสัมโพชฌงค์ รู้เท่าทันความคิดของเรา เพราะความคิด มันจะคิดไปเรื่อยๆ คิดไปตามภพ ของเราแหละ เราก็ต้อง พยายามมีสติ สัมโพชฌงค์ ดูว่าเรากำลังคิด หรือมันกำลังคิด กิเลสมันกำลังคิด? หรือ ว่าตอนนี้เรากำลังมี สติโพชฌงค์อยู่ เรากำลัง ธัมมวิจัยโพชฌงค์อยู่ กำลังแยกแยะกุศล อกุศลอยู่ ก็พยายาม แยกให้ออก แยกความบ้า กับแยกกุศลธรรมให้ออก เป็น สติสัมโพชฌงค์ เป็นธัมมวิจย โพชฌงค์ ส่วนนี้ ก็จะทำให้เรารู้เท่าทัน และโน้มน้าว จิตใจของเรา ให้ไปสู่ความสงบได้ ...ในยุคที่ทำงานมากมาย จะทำงานอย่างไรให้เกิดฌานและญาณค่ะ ...เราจะต้องเป็นผู้ที่เข้ามามองตนให้มาก ทุกครั้งที่เราไม่สบายใจ มีผัสสะเกิดขึ้นทีใด เราจะต้องพยายามเพ่งมอง เข้ามาหาตัวเอง ทุกครั้งที่เราเพ่ง มองเข้ามา หาตัวเอง สามารถเห็นข้อบกพร่อง ที่มีอยู่ในตัวเอง และพยายาม ที่จะลดละ ทำกิเลสที่เกิดขึ้นนั้น ให้จางคลาย ละลดหมดลงไป นั่นคือ การเกิดฌาน และเราสามารถ อ่านออก เห็นได้ ในจิตใจของเรา ว่ากิเลสของเรา ได้ลดละ มากน้อยได้เพียงใด เมื่อนั้น ก็คือการ เกิดญาณ การทำงานจะเกิดญาณ และเกิดญานได้ ก็เพราะว่า เราพยายามที่จะเพ่งเข้า มองเข้าหาตัวเราเอง และปรับปรุงแก้ไข ให้ได้อยู่เสมอ อย่างที่มีคำคม เขาบอกว่า จงอ่าน ตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อย่าให้กิเลสมันใช้ แต่เราเป็นผู้ ใช้ อย่างมีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ การทำงาน ในทางศาสนาของเรา ก็จะไม่ช้ำ คนที่ทำงานศาสนา แล้วช้ำมาก ก็เพราะว่า จะมุ่งเพ่งจับจ้อง เอาเรื่องเอาราว แต่กิเลสคนอื่น แทบจะไม่สนใจไยดี ซึ่งกิเลสภายในของเรา เราถือสา ลงโทษ ตัดสิน รุนแรง เอาเรื่องเอาราวคนอื่น มากเท่าไหร่ นั่นคือความบอบช้ำ ไม่ใช่ฌาน เป็นความช้ำชอก ชีช้ำก็จะเกิดขึ้นกับเรา มากเท่านั้น บางคน พอเห็นคนอื่นทำไม่ถูกใจ ตัวเองขึ้นมา ก็จะผรุสวาทออกมาทันที ว่าทุเรศ จริงๆแล้ว คนที่เราว่าเขานั้น บางที เขาอาจจะไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำไป ว่าเขาทำไม่ดีอะไร แต่สิ่งที่เราได้คิด หรือ พูดออกมา ว่าทุเรศก็ดี สภาวะทุเรศนี่จริงๆแล้ว มันเกิดขึ้นที่ตัวเราแล้ว โดยที่คนที่เรา รู้สึกว่าเขาทุเรศ เขาอาจไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็ได้ แต่ความทุเรศนั้น ได้เกิดขึ้น ถ้าแค่คิด ก็เกิดขึ้นในจิต ถ้าพูดออกมาด้วย ก็เกิดขึ้นที่ปาก ถ้ายิ่งทำทุเรศออกมาด้วย ก็เป็นทุเรศ ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีความทุเรศ รวมอยู่ที่เราทั้งหมด ดังนั้น ถ้าเราปฏิบัติธรรม โดยไม่เพ่งมอง เข้าหาตัวเรามอง เราจะมีแต่ชีช้ำ หรือมีแต่ความช้ำชอก เราคิดรุนแรง เราถือสารุ่นแรง เราเอาเรื่องเอาราวรุนแรง ก็เป็นการ ทำลายตัวเอง ให้ช้ำมากเท่านั้น ไม่เป็นฌาน จะเป็นฌานได้นั้น ต้องมองเข้ามาที่เรา แล้วพยายาม อ่านกิเลสในตน ให้ได้อยู่เสมอๆ จึงจะเป็นการทำงาน ที่เกิดทั้งฌาน และ เกิดทั้งญาณ ...ท่านอยากจะฝากอะไรให้กับพวกเราชาวอโศกบ้างคะ ...ก็ขอฝากย้ำอีกครั้งว่า ทุกวันนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองของชาวอโศกที่เราจะมารวมตัว กันทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติ ประชาชนกำลังพุ่งเข้ามา รับประโยชน์ รับธรรมะจากพวกเรา อาตมาได้เห็น ถึงพัฒนการที่เกิดขึ้น ทั้งพวกเราที่เป็นพี่เลี้ยง ทำงานตามศูนย์อบรมต่างๆ พวกเราไม่มีเวลา ที่จะทะเลาะกัน ไม่มีเวลา ที่จะอยู่ตามภพ ตามภูมิของตัวเอง แต่ละคนๆ ก็จะต้องเก็บภพ เก็บความเป็นส่วนตัว ทุกคนจะต้องควัก เอาศักยภาพ เอาสมรรถภาพ ที่แต่ละคนมี เอามารวมกัน เพื่อเป็นพลัง ในการที่จะ ช่วยเพื่อนมนุษย์ ที่เขากำลังบากหน้าเข้ามา อย่างล้นหลาม ก็ได้เห็นพัฒนาการ ส่วนนี้ของแต่ละคนๆ มีมาก เมื่อเราเก็บความเป็นส่วนตัว หรือเก็บภพของส่วนตัวเอา ไว้ แล้วก็ควักเอาพลังงานของเรา ที่มีทั้งหมด เอามารวมตัวกัน ก็ได้เห็นพัฒนาการ ของขบวนกลุ่ม พัฒนาการ ของแต่ละคน อย่างสูงทีเดียว แล้วผลที่เกิดขึ้น ชาวบ้านเมื่อ ได้มาเห็น ถึงความสามัคคี ได้มาเห็น ถึงความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ได้มาเห็น ความมีศีลมีธรรม ของพวกเรา ชาวบ้านเขาก็เปลี่ยนแปลงกัน อย่างที่เห็น จากหน้ามือ เป็นหลังมือทีเดียว สามารถรวมกลุ่ม รวมหมู่ ตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเราใช้เวลาไม่มาก ก็ยังเป็นผล ที่เกิดขึ้นได้ อย่างกว้างขวาง ถ้าเราทำได้มากไปกว่านี้ คิดว่าคงจะมีผลดี ต่อประเทศชาติ และสังคมอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทองของเราจริงๆที่ ถ้าตอนนี้ใครอยู่ในภพ อยู่ในหลืบ ในซอกไหน อยู่ในถ้ำไหน ที่ยังไม่ออกมา ควรจะได้ออกมา รวมพลังกันได้แล้ว ถ้าเราปล่อย โอกาสทองนี้ ให้ผ่านไป ก็น่าเสียดาย โดยเฉพาะ ไม่ควรประมาท ซึ่งในงานพุทธาภิเษกฯ พ่อท่าน ได้ย้ำเตือน เรื่องความไม่ประมาท ให้พวกเรากัน อย่างสำคัญ ที่อยากจะฝาก เป็นบทพิจารณาสุดท้าย ของพวกเรากันให้มากๆเลย เมื่อพิจารณากันแล้ว ก็ให้ทุกคนโชคดี "...ไม่มีอะไรเทียบวิมุติรสเนี่ย พระพุทธเจ้าโกหกคุณเรอะ ทำไมไม่อยากได้ ยังจะเอาอยู่แค่นี้ เสร็จแล้วคุณก็วูบๆวาบๆ จะยังไงไม่รู้เนี่ย อาตมาละ เมื่อยจริงๆ คนพวกนี้ เมื่อยเป็นภาระจริงๆเลย แค่กาม เรื่องผู้หญิงผู้ชาย อะไรต่ออะไรแค่นี้ โสดาบันที่ไม่ใช่ว่า เรื่องกามจัดจ้านอะไร แต่ก็ทำไม่ล่ะ เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ไม่ได้หรือไง ให้มีศีล ๘ ขึ้นไป เป็นหลักประกัน ไม่งั้นจะยังมีวิบาก คุณไม่กลัวที่จะไม่ตกต่ำ แต่คุณก็มีวิบาก มันสนุกที่ไหน เรื่องพวกนี้ เรื่องคู่ผู้หญิงผู้ชาย เรื่องที่จะต้องมี กรรมกิริยาต่อกัน และกันเนี่ย โอ้!เจ็บปวดนะ วุ่นวายที่สุดเลยนะ พวกเราที่ พากเพียร ได้พยายาม ช่วยหน่อยเถอะ มิฉะนั้นละมันเหนื่อยนะ ยังจะไปรนรานหาคู่อีก คนที่มาอยู่วัดได้แล้ว อยู่มาเป็น ๑๐ ปีก็ไม่มีได้ จะไปวุ่นวายทำไมอีก อาตมาละ เหนื่อยจริงๆเลย คนพวกนี้ เป็นกาม น่าเบื่อ พยายามช่วยตัวเองหน่อย ได้.ช่วยอาตมาด้วย อาตมาจะได้อายุยืนหน่อย จริงๆอาตมาก็ไม่อยาก ให้หลุดล่วงไปหรอกนะ นี่ทำเป็นยิ้ม ฟันขาวเนี่ย ยังมีอยู่ตั้งไม่รู้กี่คนเนี่ย จริง กิเลสมันมีจริง มันมีวิบากด้วย มันมีกิเลสด้วย จะอะไรก็ตามแต่ มันก็มีจริง เราก็ต้องสู้มัน ต้องเอาให้จริง ต้องเด็ดเดี่ยว ไม่งั้นให้โอกาสมันหงองๆแหง็งๆ อะไรไม่อะไรหรอก "อยากจะช่วยคนนี้ด้วย" ก็คนอื่นมีตั้งร้อยคน จะไม่ช่วยมัน ทำไมเล่าไอ้คนนี้นะ ไอ้ตัวการละ ยิ่งบอกว่า จะช่วยคนนี้ มันซ้อนลึก เราเอ็นดูมัน เราอยากช่วยคนนั้นนะ คนอื่นก็ดีอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันดีอยู่ คนนั้นคนเดียว อย่าไปอยาก ต้องเกื้อกูลคนนี้ไว้ นี่คือความผูกพัน นี่คือวิบากที่คุณหลง หลงอยากช่วยมันคนนี้ ก็คนนี้มันก็คนหนึ่ง คนอื่นก็คนหนึ่ง แต่คุณเอาพลังมาช่วยคนนี้ บางทีช่วยคนนี้นั้น ยากแสนยาก ช่วยคนอื่นได้ตั้งห้าคนแปดคน ไปไยดีมันอยู่ทำไม ยังไงคุณก็ต้องตัดอยู่แล้ว ไปไยดีอยู่ทำไม? ถ้าจะไม่เอาโลกุตระ ไปเลย ถ้าจะไม่เอา ก็ไปเลย ไยดีกันไปเลย ญาติดีกันไปเลย "เขามีดีอยู่นะ" คนมีดีอยู่ในอโศกนี้ ผู้ชายก็ตาม ผู้หญิงก็ตาม มีดีกันอยู่ตั้งเยอะแยะ กว่าคนคนนั้นของคุณ จุดบอดจุดเลว มันมีอยู่มากกว่าคนคนนั้น ช่วยคนเหล่านี้ ไม่ดีกว่าเรอะ แต่ไม่หรอก มันผูกพัน นี่คือวิบากตัวเลวตัวร้าย ก็เลยไปหลง ไอ้ตัวผูกพัน ตัวนี้แหละ เป็นวิบาก ต่อให้เป็นคู่เก่าของคุณ เพราะฉะนั้น คนมันโง่ตรงนี้ ไม่ตัดตัวนี้ จม! ก็จมเข้าไปอีก เวรจริงๆเลย นี่คือความมืดบอด คืออวิชชา มันต้องตื่น สว่าง เอาเถอะ ตัดขาด ชักสะพานให้ได้ เพราะมันยิ่งแรง ก็ต้องชักสะพานแรงๆ ไม่ใช่ยิ่งแรงยิ่งยืด เยื้อๆๆ ปัดโธ่! มันก็ดึงเราต่ำลงหลุม ลงบ่อไปเท่านั้นเอง และ ก็ไม่รู้อย่างนี้ อธิบายเป็นกาละ อีกร้อยชาติ ล้านชาติ เหมือนอาจารย์มั่นบอกว่า โอ้โฮ! ไปเกิดเป็นหมา ตั้งห้าร้อยชาติ ติดอะไร ติดตัวเมีย ต้องยึดไปอีก ห้าร้อยชาติ ความหมายนี้ คิดให้ชัดๆ ขอให้รอดพ้นให้ได้ แค่ขอนะ ต้องไปทำเอาแข็งแรง อย่างจริงจัง..." อย่าลืมว่า "เหตุผลคือความบ้า
อัตตาคือความจริง" อยู่ในตัวเรามากน้อยแค่ไหน รีบเอาออกโดยเร็วนะคะ
จะได้ฌาน เกิดญาน แล้ว "เขาคนนั้น" เอาแค่เรียนรู้ ก็พอนะคะ
รีบชักสะพาน อดทนกับความทุกข์ ที่เกิดขึ้นจากความพลัดพราก และความไม่สมใจ
สักพักให้ได้ แล้วจะรู้ว่า เรานี่ช่างโชคดี เสียจริงๆ ขอเป็นกำลังใจ ให้กับทุกท่าน
ค่ะ. ทีมข่าวพิเศษ. |
||||||||||||||||
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้กำลังบุกเบิกการทำเกษตร แบบไทยไม่ต้องพึ่งสารเคมี กล่าวว่า คนไทย เพิ่งจะรู้จักปุ๋ย เมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปี ที่ผ่านมานี่เอง ก่อนหน้านี้ ชาวนาชาวสวน ปลูกต้นไม้ ไม่เคยใช้ปุ๋ย เพราะประเทศไทย มีดินดี และอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ต่อมา เรากำลังถูกฝรั่งหลอก เรื่องให้ใช้ปุ๋ย ให้ใช้สารเคมีจนติด ทำให้ระบบนิเวศ ความสมดุลของจุลินทรีย์ในดิน เปลี่ยนแปลงไป แล้วคิด เอาเองว่า ไม่ใช้ไม่ได้ ต้องใช้อยู่เรื่อยๆ ประกอบกับหน่วยงานราชการ ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งระบบการตลาด การโฆษณา ของบริษัทข้ามชาติ ที่ทำธุรกิจ เรื่องปุ๋ย ต่างก็โหมโฆษณา ประชิดติดตัว เกษตรกรอย่างหนัก ทุกวันนี้ ทั้งเกษตรกร และผู้ บริโภค จึงเลี่ยงไม่พ้น ที่จะต้องรับสารเคมี จากระบบเหล่านี้ เข้าไปในร่างกาย ทำให้ ระบบนิเวศ เสื่อมลงเรื่อยๆ นายวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า มูลนิธิกำลังส่งเสริมให้เกษตรกร ผลิตอาหาร ที่ปราศจากสารเคมี สนับสนุนให้ชุมชน พึ่งตนเองได้ และสามารถ ตั้งศูนย์ กสิกรรมธรรมชาติ เป็นเครือ ข่ายได้หลายจังหวัดแล้ว ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ ต้องต่อสู้กับอำนาจ ทุนนิยม รวมทั้งผู้ ที่ต้องสูญเสีย ผลประโยชน์ จากการที่เกษตรกร เลิกใช้สารเคมี อย่างมาก จากการศึกษาวิจัย และลองผิดลองถูก เรื่องการทำการเกษตร แบบไม่ใช้สารเคมีนั้น ได้ลองทำการเอนไซม์ สำหรับปรับสภาพดิน และ บำรุงต้นไม้ จนขณะนี้ ได้สูตรต่างๆ ออกมาแล้วหลายสูตร มีวิธีการทำง่ายๆ คือ นำขยะที่ได้จากบ้าน เช่น เศษผัก เศษอาหาร มาผสมกับน้ำตาล ในอัตราส่วน ๓ ต่อ ๑ แล้วใช้หัวเชื้อ ที่ทำจากสมุนไพร ชนิดต่างๆ เช่น รางจืด หรือผักรสจืด มะนัว (อุจจาระ และ ปัสสาวะ ของคนหรือสัตว์) ผสมลงไป รวมกับน้ำอีก ๑๐ ส่วน หมักทิ้งไว้ ประมาณ ๓ เดือน นำมาใช้แทนปุ๋ยเคมี ได้อย่างดี สูตรดังกล่าว เรียกว่า น้ำป่า หรือเอนไซม์สมุนไพร มีคุณ สมบัติ กระตุ้นให้แบคทีเรีย ที่อยู่ในดิน ขยายตัว และกระจายตัว อย่างสมดุล เนื่องจาก ที่ผ่านมานั้น พื้นที่ที่ทำการเกษตรหลายแห่ง ถูกปนเปื้อน โดยสารเคมี จนแบคทีเรียในดิน ไม่มีความสมดุล "จริงๆแล้ว ถ้าในดินมีแบคทีเรียที่อยู่ในสภาพสมดุลแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยก็ได้ คนในสมัยก่อน ปลูกพืชไม่เห็นต้องใส่ปุ๋ย พืชยังขึ้นได้ แต่สมัยนี้ ที่ทำไม่ได้ เพราะเราทำ ให้ดินเสีย ไร้ความสมดุล เพราะใช้สารเคมีมานาน" ขณะนี้เกษตรกรจำนวนมาก ยังเข้าใจผิดว่า หากที่ผ่านมา เคยใช้ปุ๋ย เคยใช้สารเคมีแล้ว ต้องใช้เวลานาน ในการปรับพื้นที่ รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่าย จำนวนมาก แต่ความจริงแล้ว สามารถหักดิบ จากที่เคยใช้สารเคมี มาเป็นไม่ใช้ สารเคมีทันที เพียงแต่ต้องปรับหน้าดินเล็กน้อย เมื่อตัดสินใจ จะทำเกษตรวิธีนี้ ต้องทิ้งดินไว้ ประมาณ ๗ วัน แล้วปลูกพืชคลุมดิน หลังจากนั้น ก็ค่อยๆใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ดินจะพยายาม ปรับตัวไปเองเรื่อยๆ วิธีนี้ไม่ยุ่งยาก เหนื่อยน้อย ต้นทุนต่ำ และผลผลิตสูง แต่คนไม่เชื่อ เนื่องจากระบบทุกอย่าง ที่มีอยู่ในสังคม ล้วนส่งเสริม ให้ใช้สารเคมี ทั้งสิ้น "พื้นที่ใน จ.สุรินทร์
ที่ตอนนี้กว่า ๓๐ % ทำการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี เกษตรกร เหล่านั้น มีรายได้เพิ่มขึ้น
หนี้สินลดลง ที่สำคัญคือ มีสุขภาพดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่
มูลนิธิได้เตรียมทำ โครงการต่างๆ เพื่อเปิดอบรมเกษตรกร และผู้สนใจ เข้าอบรม
เช่น โครงการทำการเกษตร แบบพึ่งตนเอง โครงการห้องเรียน เกษตรกรรมกลางแจ้ง
โครงการเครือข่ายกสิกรรม โครงการอบรมความรู้ เรื่องสมุนไพร โครงการ เกษตรกรรมธรรมชาติ
ชุมชนเข้มแข็ง โครงการพืชผักไร้สารพิษ จากธรรมชาติ โครงการเรารักเกษตร
โครงการเรียนรู้วัฒนธรรมแผ่นดินใหม่ และโครงการท่องเที่ยว แบบธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการ และเทคนิคการผลิต สารสกัดชนิดต่างๆจาก สมุนไพร
เพื่อประโยชน์ ในการทำการเกษตรอีกด้วย ผู้สนใจเข้าอบรม โดยไม่เสียค่า ใช้จ่ายใดๆ
ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๒๓๖๑-๖๓๔" นายวิวัฒน์กล่าว. |
||||||||||||||||
ยายเย็น ปฏิบัติธรรมอยู่ที่พุทธสถานสันติอโศก ช่วยงานที่โรงครัว เป็นคนขยัน ทำงาน อย่างเดียว ไม่พูดมาก และอารมณ์ดี มีลูกสาว ปฏิบัติธรรม เป็นคนวัด อยู่ที่นี่ด้วย ไปรู้จัก กับยายกันเลยนะคะ ครอบครัว เจออโศก ชีวิตในวัด อยู่ที่นี่มีความสุข ไม่ต้องใช้เงิน เช้ายายก็ใส่บาตร (ลูกสาวให้เงินซื้อ) ได้ทำงาน ถึงเวลาก็ไปฟังเทศน์ นั่งเจโต แล้วก็ช่วยงาน ใจสบายๆ ไม่ต้องคิดอะไร ลูกคนอื่นๆก็ อยากให้กลับไปอยู่บ้าน ไปแล้วก็กินๆนอนๆ จะทำงานเขาก็ไม่ยอม ให้ทำอะไรเลย ก็ ไม่รู้จะอยู่ทำไม เราแก่แล้ว ไม่มีเวลา เหลืออีกมากนัก ต้องเร่งทำความดี ก็อยู่มาได้ ๔ ปีกว่าแล้ว มีผัสสะก็ได้ทำใจ เขาว่าเราอย่างไร เราทำใจอย่างเดียว เราทำของเราไป เขาว่าก็ว่าไป เราเฉยอย่างเดียว หากเป็นเมื่อก่อนเขา ว่าเราอย่างนี้ เราตอบเป็นฉากๆเลย แต่ตอนนี้ เรารู้แล้ว เราลดละแล้ว เราไม่ต่อปาก ต่อคำกับเขา คิดว่าฝากชีวิต อยู่ที่นี่แหละ ตายที่นี่ เผาที่นี่แบบชาวอโศกนี่แหละ เว้นแต่จะไปตายที่อื่น กิเลสที่ล้างยาก คือห่วงลูก ห่วงหลาน ตัวนี้ยังไม่ได้จริง แต่ตัดได้มากแล้ว จะเพียรตรง นี้แหละ ยังห่วงเขา ตอนนี้จะตัดแล้ว ไม่คิด อะไรแล้ว ฝากสุดท้าย ยายเป็นคนแก่ที่น่ารักน่านับถือ เป็นแบบอย่าง ของผู้ที่อ่อนน้อม ถ่อมตน แม้อายุจะมาก แล้ว แต่ก็ลดตัวตน ยอมให้ว่ากล่าวได้ หากมีคน มาว่ากล่าว ตักเตือนเรา เราได้อ่อน น้อมถ่อมตน เหมือนยายหรือเปล่าเอ่ย?. บุญนำพา รายงาน |
||||||||||||||||
หน้าปัดชาวหินฟ้า
|
||||||||||||||||
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ มี.ค.๔๕ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.กลุ่มศิลปินจำนวน ๙ คน จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เดินทางมาเยือนสันติอโศก โดยมีคุณไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก และสมณะเมืองแก้ว ติสสวโร เป็นผู้ต้อนรับ เพื่อพูดคุยเรื่อง การจัด แสดงงานศิลปะ ในบริเวณสันติอโศก ในช่วง ๑-๓๐ มิ.ย.นี้ เป็นเวลา ๑ เดือน ซึ่งเป็นงานศิลปะสมัยใหม่ (ทั้งจิตรกรรม และ ปฏิมากรรม) โดยมาวันนี้ เพื่อนำเสนอรูปแบบ (Concept) หรือลักษณะงานของศิลปินแต่ละคน จะทำในลักษณะอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ซึ่งพ่อท่าน ก็ได้มานั่งฟังด้วย กลุ่มศิลปินเหล่านี้ เคยมาสันติอโศกแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการมาดูพื้นที่ ที่จะจัดการแสดงงานด้วย โดยต้องการ จัดงานศิลปะ เพื่อให้สอคคล้อง กับวิถีชีวิตชุมชน และการแสดงงานศิลปะ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ กับชุมชนฯด้วย งานแสดงศิลปะครั้งนี้ จะมีศิลปินมาร่วมแสดงทั้งหมด
๑๕ ท่าน ซึ่งศิลปินแต่ละท่าน จะ ต้องสร้างงานศิลปะของตัวเอง ให้เสร็จก่อนล่วงหน้า
และสำหรับ บางท่าน อาจมากิน นอน ใช้ชีวิตที่สันติอโศกด้วย ใครสนใจศิลปะ
โปรดติดตามข่าวคราว กันต่อไป. |
||||||||||||||||
|