ฉบับที่ 184 ปักษ์แรก 1-15 มิถุนายน 2545

[01] บทนำข่าวอโศก: สลายอัตตา
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "ท่องไปกับพ่อฯ ตอน ๕"
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ:
[04] จับกระแส ตอ. นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
[05] กสิกรรมธรรมชาติ ที่นี่ใช้พืชพรรณไร้สารพิษ
[06] สกู๊ปพิเศษ: งานอโศกรำลึก ๔๕
[07] นางงามรายปักษ์ นางม่วย คงเพชรศักดิ์
[08] ศูนย์สุขภาพ: อาหารกับสารกันบูด
[09] ข่าวพรรคเพื่อฟ้าดิน: กกต.ร่วมประชุมผอ.พรรคการเมืองทั่วประเทศ พรรคเพื่อฟ้าดินเป็นเจ้าภาพฯ
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] ข่าว: คณะกรรมการพรรคเพื่อฟ้าดินสาขาที่ ๘ เข้าร่วมรับฟังการประชุมเชิงปฏิบัติการ
[12] นานาสาระ: สันติอโศกเปิดโลกศิลปะ ต้อนรับบุคคลภายนอก
[13] บทกวีวิถีธรรม: อโศกรำลึก
[14] ข่าว เทศกาลวังชีวิตที่บ้านราชฯ พิจารณาหลักสูตรสัมมาสิกขา พ่อท่านเน้นให้ลดช่องว่างระหว่างวัย
[15] ข่าว: ชมร.เชียงใหม่นัดพบญาติธรรม ทั่วภาคเหนือ แจกอาหารฟรี ครั้งที่ ๓
[16] มหาจำลองเปิดสวนไผ่สุขภาพ จำหน่ายพืชผัก ผลไม้ไร้สารพิษกลางใจเมือง


 

สลายอัตตา

งานอโศกรำลึกในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ ๒๐ แล้ว มีความคึกคักมาก เพราะมวลชาวอโศก มีจำนวน มากขึ้น

ในช่วงทำวัตรเช้า ในวันที่ ๑๐ มิ.. ๒๕๔๔ พ่อท่านได้ขอร้องให้พวกเรา อย่าได้แต่งหน้า ทาปาก เพื่อความสวยงาม เช่นที่ชาวโลกได้กระทำ เพื่อประโยชน์ ทางธรรม

นอกจากนี้ได้เน้นให้ชาวเราลดช่องว่าง โดยการฝึกมองในด้านคุณและค่า แม้เล็กแม้น้อย ของกัน และกัน มีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการสลายอัตตา ชาวเรา จะได้เกิด การประสาน สัมพันธ์ อันอบอุ่น แน่นแฟ้น มั่นคงในทิศทางธรรมมากยิ่งๆขึ้น

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ท่องไปกับพ่อฯ ตอน ๕

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เมื่อคืนภันเตแน่วแน่ สีลวัณโณ บอกว่าพรุ่งนี้เช้าปลุกพ่อท่าน ตีสามสิบห้า จึงเข้านอน ตั้งแต่ สามทุ่ม นอนเพลินจนภันเตมาเรียก เพราะได้เวลาแล้ว

พ่อท่านนำทำวัตรและเทศน์ทำวัตรเช้า เนื้อหาก็พูดถึงอัตตา ๓ โดยเน้นที่อรูปอัตตา ให้ลดละ โดยพูด คำเดิมที่ว่า "เหตุผลคือความบ้า อัตตาคือความจริง"

มีคุณหินอ่อนคอยพูดแทรกเป็นระยะๆ ถามสามเณรกระบี่ฟ้าว่า สมณะรูปอื่นเทศน์ แล้วเป็น แบบนี้มั๊ย ก็ได้คำว่า ไม่เป็น มีแต่กับพ่อท่าน เพราะพ่อท่านมีเมตตามาก

พ่อท่านนำบิณฑบาตในเมือง มีกระแสว่า หลังปีใหม่แล้ว คนใส่บาตรมากขึ้น พ่อท่านพูดว่า "บิณฑบาตมื่อนี่หมาน" หมายถึง บิณฑบาตวันนี้ ได้ของเยอะ ไม่ได้ไปไหนหลังฉัน ประจำการ ที่กุฏิ มีภันเตฟ้าไท แวะคุยด้วย คุยกับภันเตทีไร ได้ความรู้เพิ่มทุกที เสียดาย ภันเต ก็งานมาก เวลาจะคุยกัน จึงน้อย

เด็กๆสมุนพระราม พากันนำสำรับ มาถวายพ่อท่าน เป็นภาพที่ประทับใจ เวลาเล่น จะเล่นกัน เป็นกลุ่ม สนุกสนานเฮฮา เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ เป็นสีสันของบรรยากาศ สำหรับชุมชน ที่กำลัง ก่อร่าง สร้างตัว แม้แต่คุณน้อย (ร้อยแจ้ง) ก็พาเด็กๆเล่น พาเด็ก สนุกสนานเฮฮากัน ส่งเสียงลั่น ด้วยความเบิกบานใจ

ภันเตหินมั่น สีลาปากาโร อยู่ที่บ้านราชฯ และที่ไม่คิดว่าจะได้พบกันที่บ้านราชฯ คือ ภันเต ธรรมทาบฟ้า และ สมณะถักบุญ อาจิตปุญโญ พี่น้องเคยอยู่ด้วยกัน เจอกันรู้สึกอบอุ่นใจ จากกัน หลายวัน เจอกันความเป็นพี่เป็นน้อง ยังคงเดิม

เกือบสี่ทุ่มพ่อท่านจึงมาพัก งานเขียนของพ่อท่านมีมาก และเดือนนี้มีเวลาทำงาน เพียง ๒๒ วัน เพราะต้องไป งานพุทธาฯ พ่อท่านเปรย เมื่อหลายวันก่อน

พอหันมองดูตัวเองแล้วรู้สึกว่า ยังมีหลายอย่าง ที่ทำเพื่อสนองกิเลสอัตตา บำเรอตนเอง ให้สมใจ ตนเอง ยังเห็นแก่ตัว

ช่างห่างไกลลิบลับกับพ่อท่าน ผู้ทำงานทุกอย่าง โดยไม่หวังจะได้อะไรกลับคืนมา ให้ตัวเอง ท่านจึง ยิ่งใหญ่ เพราะท่านเป็นผู้ให้ที่แท้จริง.

ปัจฉาฯเฉพาะกิจ

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อโศกยุคนี้เริ่มมีสีสัน งานแสดงศิลปะและงานการประชุม ผอ.พรรคการเมืองต่างๆ ของไทย หลายคน คงไม่คาดคิด ว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้วจริงๆ มีศิลปินหลายท่าน นำผลงาน ของตนมาแสดง หลายท่านมาร่วมเป็นเกียรติ เสวนา และ แสดงความคิดเห็นในงาน "รากแก้วแห่งชีวิต ศิลปะกับวิญญาณทางสังคม" จัดที่สันติอโศกเป็นเวลา ๑ เดือน

๒ มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดงาน โดยอาจารย์ที่นำศิลปินมาให้เป้าหมายแต่ละคน ไปคิดทำ ผลงานมาว่า ต้องเป็นศิลปะ กับชุมชน ผลก็คือ ศิลปะหลายชิ้น ไม่ทนมือทนเท้า ของลูก หลานอโศก อยู่ได้แค่อาทิตย์เดียว แตกหักเสียแล้ว มองในมุมดี ก็ถือว่า ศิลปะชิ้นนั้นๆ ประสบผลสำเร็จมากทีเดียว ก็ชุมชนมีส่วนร่วมงัย นี่ผู้เขียนคิดเองนะ

คำเทศนาของพ่อท่านในวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบาย งานศิลปะ ๗ ระดับ หรือ จะเป็นคำ ตำหนิศิลปิน ที่ทำผลงาน เพื่อบำบัดความใคร่ สะใจตนเอง โดยที่ผลงานนั้นๆ ไม่เกิดผล เกิดความรับรู้อะไร ที่เป็นคุณค่า ไม่สร้างสรร งานเหล่านี้ เป็นงานอนาจาร ไม่ใช่ศิลปะ สังคมล้มเหลว เพราะได้รับสื่ออนาจารเหล่านี้ อยู่ตลอดเวลา คำเทศนาเหล่านี้ จะมีผล ต่อจิตวิญญาณ ศิลปินเหล่านั้นหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป

งานประชุมผอ.พรรคการเมืองก็ใช่ย่อย มิใช่จะคึกคักแค่ ชาวชุมชนสันติอโศก ในฐานะ ผู้ดูแลสถานที่เท่านั้น ปฐมอโศก ศีรษะอโศก ฯลฯ ก็คึกคักมาร่วม ต้อนรับด้วย ยิ่งเช้าวันงาน ๗ มิ.ย. ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ช่วยกันปัดกวาด เช็ดถู ขนย้าย จัดแต่ง ฝ่ายจัดสถานที่ ฝ่ายขยะ ฝ่ายเสียง ฝ่ายจราจร ฝ่ายต้อนรับ ฝ่ายครัว ไม่รู้ใครต่อใคร เดินไปมากัน ขวักไขว่ "เดินดูพวกเรา เตรียมงาน ทำให้ได้ประเด็น ที่จะพูดแล้ว ประชาธิปไตยนี่ เกิดจากการร่วม รวมเป็นขบวนการกลุ่ม อย่างที่พวกเรา กำลังทำอยู่ แขกเขาจะมาประมาณ ๑๒๐ แต่พวกเรา เจ้าภาพ มากกว่าแขก หลายเท่าอย่างนี้ เจ้าภาพไม่เหนื่อยมาก..." พ่อท่านกล่าว

การปาฐกถาของพ่อท่านในหัวข้อ "ทำอย่างไรนักการเมืองจึงจะมีธรรมะ" มีนสพ.มติชน ฉบับเดียว ที่กล้านำไปสรุป ลงข่าว แม้จะดูห้วนๆ กระด้างแข็งๆ แต่เนื้อความหลักๆ ก็ได้ครบ ไม่ว่าจะเป็นประเด็น พรรคการเมือง ทุกวันนี้ ไม่ได้สร้างคน มีแต่สงเคราะห์เท่านั้น หรือ จะเป็นประเด็น แนวคิดบุญนิยม จากหลักสาธาณโภคี คนในระบบบุญนิยม มีประโยชน์ ต่อสังคม

เสร็จจากการประชุม มีการแสดงของนักเรียน และอาหารเลี้ยงรับรอง แถมของชำร่วย ผลิตภัณฑ์ชุมชน แจกเพียบ ผลไม้ ไร้สารพิษ ทั้งมังคุด เงาะ แตงโม ลองกอง ทุเรียน บรรจุถุง ให้กลับไปบ้านได้อีก แขกที่มาหลายคน เอ่ยปากชม เป็นการจัดประชุม ที่ดีมาก บรรยากาศ ดีกว่าจัดที่โรงแรม หัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง กล่าวว่า ไม่ต้องบอกเลยว่า มีวัฒนธรรม ชุมชนพึ่งตนเอง ชุมชนเข้มแข็งเป็นอย่างไร มาแล้วก็เห็นเลย การจัดงาน ของพรรคเพื่อฟ้าดิน ในวันนี้ ทำให้ชื่อเสียง พ่อท่านได้ขจรขจายไปแล้ว

การประชุมสรุปงานมีการพูดถึงปัญหา แขกหาทางเข้าซอยยาก มีผู้เสนอ ให้ทำป้ายใหญ่ๆ สะท้อนแสง เห็นชัด ตอนกลางคืนด้วย แต่พ่อท่านเห็นว่า เรายังไม่เหมาะ ที่จะรับคนมามากๆ เพราะฉะนั้น เขาจะเลยไปบ้าง หาไม่เจอบ้าง ก็ไม่เป็นไร

งานโฮมไทวัง ๕ มิ.ย.ที่บ้านราชฯ นั้น มีประเด็นคำถามเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ทำให้พ่อท่าน ได้คิดว่า เป็นปัญหา ที่ต้องแก้ ทิฎฐินั้น ชาวอโศกจะไม่มีคำว่า ช่องว่างระหว่างวัย จะมีแต่ การประสานสมาน รักสัมพันธ์ สนิทสนม ระหว่างกัน พยายามอยู่กันให้ได้ อย่าพ่นพิษใส่กัน ปลายกับต้น มีความต่างกัน ก็อยู่ร่วมกันให้ได้ อย่างรู้ความจริง

ส่วนงานอโศกรำลึก ๙-๑๐ มิ.ย. จากการที่มีผู้นำศาสนาฮินดู SWAMI AVDHESHANAND GIRI มาเยือน ๙ มิ.ย. ทำให้พ่อท่านเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ชาวอโศก ควรปรับท่าที สุภาพอ่อนน้อม ให้มากขึ้น รู้คุณให้มากขึ้น แม้แต่พ่อท่าน และสมณะ ก็จะปรับ ไหว้และรับไหว้ นักบวชอื่น แม้ต่างศาสนา ให้ถือเสียว่า เป็นการคารวะทักทายกัน ซึ่งไม่ใช่ การเคารพ ถึงขั้นสักการะ ให้เป็นวัฒนธรรม เหมือนญี่ปุ่นโค้ง ฝรั่งจับมือ ส่วนข้อท้วงติงว่า จะเสียธรรมเสียวินัย ที่เถรวาทไทย ยึดถือกันมานาน ก็ให้มองว่า เป็นเรื่องของ การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นเรื่องของ การปฏิสันถาร

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..

* กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว.... มีฐานงานพี่ๆ น้อง อยู่ ๓ ฐาน คือ ศาลากิจถั่ว ศาลาเชื้อดี และฐานงานซีอิ๊วเต้าเจี้ยว ดำเนินกิจการ แปรรูปถั่วเหลือง ขนาดกำลังการผลิตเล็กๆ นับตั้งแต่ เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว เทมเป้ มิโสะ และกะปิเจ (สูตรต่างๆ) ให้แก่ชาวชุมชน และเครือข่าย ร้านมังสวิรัติ ในเขตเมืองรอบๆ

* ต่อมาในยุคที่พระคลังซิฟ (SIF) กำลังเฟื่องฟู ส้ม(โอลูกใหญ่)ได้หล่นทับ กิจการสารพัดถั่ว ทำให้ได้รับเงินก้อนโต (แบบเร่ง ด่วน เนื่องจากโรงงาน ยาสมุนไพร อันเป็นพี่ใหญ่ ไม่สามารถนำเงิน ไปใช้ได้) จึงนำมาก่อสร้างโรง ขนาด ๑๖ x ๖๐ x ๕ เมตร ที่คาดว่า จะได้รวมพี่รวมน้อง ให้ได้ อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน อาคารดังกล่าว มีลักษณะสูง โปร่ง โล่ง สบาย ชนิดที่สายลม (พร้อมฝุ่นละออง) สายฝน สารพัดนก หนู และแมลงต่างๆ สามารถมาขอ พึ่งใบบุญพักพิงได้ เนื่องจากจะเป็นแหล่ง อาหาร อันอุดม

* ดังนั้น.... ฐานงานผู้น้อง ซึ่งต้องประคบประหงมเชื้อ สำหรับการผลิตซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว และเทมเป้ จึงเป็นห่วงสุขลักษณะ ในกระบวนการผลิต จึงได้ขอให้ต.อ.กลาง ในฐานะผู้รับใช้หน่วยผลิต มาช่วยให้คำแนะนำ เรื่องสถานที่และสายการผลิต ให้เป็นไปตามลำดับ ขั้นตอนที่ดี ที่จะช่วยลด การปนเปื้อน และให้ได้ผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพ โดยไม่ต้องใช้วัตถุกันเสีย (สารกันบูด)

* ต.อ.กลางก็ตอบรับด้วยความยินดี (จนเนื้อเต้น) เพราะหน่วยผลิต เห็นความสำคัญ ในการพัฒนาตนเอง ต.อ. จึงได้ ประสานงาน เชื้อเชิญ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ (ตัวจริง) ด้านGMPของอ.ย. มาให้คำปรึกษา บรรยากาศในวันนั้น ชื่นมื่นกัน ทุกฝ่าย (ผู้ให้ให้ด้วยความยินดี ผู้รับ รับด้วย ความเต็มใจ และเข้าใจ)

* กาลต่อมา...ลูกผู้พี่จากแดนอิสาน ผู้เห็นการณ์ไกล ได้ติดต่อเครื่องจักรขนาดใหญ่ (จากจีนไต้หวันโพ้นทะเลนู้น) ที่มีกำลังการผลิตเต้าหู้ ได้ครั้งละ ๒ ตัน (๒,๐๐๐ กิโลกรัมน่ะ) โดยมีเป้าหมาย เพื่อรองรับวัตถุดิบ ถั่วเหลืองไร้สารพิษ จากเครือข่าย เกษตรกร ที่พวกเรา ไปส่งเสริม การปลูกไว้ อีกทั้งเป็นการรณรงค์ เผยแพร่ให้เกิดวัฒนธรรม การกินเต้าหู้ อย่างกว้างขวาง และเป็นทางออก สำหรับนักมังสวิรัติ และผู้บริโภค ที่รักสุขภาพทั้งหลาย ที่จะได้รับสารอาหารโปรตีน ที่ย่อยง่าย

* ดังนั้น(ครั้งที่ ๒)..... ต.อ.กลางจึงหารือกับทีมพี่ใหญ่ (พี่ใหญ่ที่เป็นวิศวกรโครงสร้าง ด้านโรงผลิตทั้งหลาย ของชาวอโศก นั่นแหละ) และลูกผู้พี่ จากแดนอิสาน เพื่อให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน กับทีมผู้เชี่ยวชาญของอ.ย. อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำ เครื่องจักร มาติดตั้ง ( วางแผนกันก่อน จะได้ไม่ต้อง แก้กันภายหลัง) ทุกคนเห็นชอบ

* และแล้วทุกฝ่าย.... ก็ได้มาในวันนัดหมาย (๑๕ พ.ค.) หลายๆ คำถามก็ยังคงไม่มีคำตอบ จึงเป็นการบ้าน ให้ผู้บริหาร และชาวชุมชน ช่วยกันคิด ต่อไป คือ

๑. เครื่องจักร (ราคาราว ๒ ล้านบาท) กำลังจะมาติดตั้งแล้ว ได้วางแผนกำลังการผลิตไว้อย่างไร เพราะการเดินเครื่อง ครั้งหนึ่งๆ จะให้คุ้มทุน ต้องไม่ต่ำกว่า วันละ ๑ ตันแน่นอน

๒. หากผลิตครั้งละ ๑ ตัน ได้วางแผนการบริหารการผลิต และการตลาดไว้อย่างไร ใครจะเป็นผู้จัดการ แรงงานผู้ผลิตใช้กี่คน มาจากไหน เชี่ยวชาญ หรือยัง สายการผลิต และอุปกรณ์เป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความสะดวก คล่องตัว และความสุข ความคงทน ของผู้ผลิต ในระยะยาว วัตถุดิบ จำนวนมาก จะเก็บอย่างไร จึงจะปลอดภัย จากความชื้นและเชื้อรา การบำบัด น้ำเสีย สำหรับการผลิต ขนาดใหญ่ พร้อมหรือไม่

๓. ใครจะบริหารเรื่องการตลาด ตลาดอยู่ที่ไหน ขนส่งอย่างไร การบรรจุหีบห่อ (packing) เป็นอย่างไร สำหรับการตลาด ระดับ กว้าง ซึ่งย่อม แตกต่าง จากการผลิตแบบเดิม (ครั้งละ ๓๐๐ ก.ก. และตลาดภายในเครือข่ายกันเอง)

๔. หากขายไม่หมด ระหว่างการรอจำหน่าย จำเป็นต้องใช้ห้องเย็นขนาดไหน เพื่อการเก็บรักษาที่มีคุณภาพ จะมีการ แปรรูป หรือไม่ เช่น เป็นเต้าหู้ทอด สถานที่ และสายการผลิต จำเป็นต้องขยายออกไปอีก ควรเป็นอย่างไร

๕. ระยะห่างของบริเวณที่ผลิตเต้าหู้ การเขี่ยเชื้อเทมเป้ และการหมักเชื้อซีอิ๊วเต้าเจี้ยว ควรเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิด การฟุ้ง กระจาย และปนเปื้อน ระหว่างกัน ข้อสำคัญ เชื้อของซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว และเทมเป้ สามารถทำให้เต้าหู้เป็นตันๆ เสียหาย แบบเท กระจาด เข้าโรงปุ๋ยได้ ไม่ยากเลย

๖. เงินที่ควรจะสร้างโรงงานขนาดกำลังเหมาะ แต่มีคุณภาพตามสุขลักษณะ ของโรงงานที่ดี ก็หมดไปแล้ว จะหาเงินทุน ที่ไหนอีก ถ้าหาไม่ได้ จะแก้จุดอ่อน ที่เป็นปัญหาหลักๆ ที่สำคัญ สำหรับโรงงานผลิตอาหารได้อย่างไร เช่น การทำตาข่ายกัน หนู นก และแมลง ที่สามารถ เข้าได้ ทุกทิศทาง เป็นต้น จะเตรียมการแก้ไขอย่างไร

ถ้ายังตอบกันยังไม่ชัดเจน.. อยากให้เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ กลายเป็นนิทานที่เกิดมีปาฏิหาริย์เสียจริงๆ !!

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ที่นี่ใช้พืชพรรณไร้สารพิษ

การกินพืชผักของคนไทยในทุกวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงจากอดีตกาล เพราะคนไทย ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ คนในเมือง มักจะนิยมกินพืชผักไม่กี่ชนิด ที่ขายอยู่ตามท้องตลาด แถมยังไม่ไร้สารพิษ ผิดกับคนโบราณ จะกินพืชผักพื้นบ้าน หรือพืชผักผลไม้ ที่ขึ้นตาม ป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งเป็นพืชผัก ผลไม้ไร้สารพิษ อันมีผลให้สุขภาพ ยืนยาวกว่า คนในยุคปัจจุบัน

ข่าวใน น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ ๘ พ.ค. ๔๕ รายงานว่า พ.ญ.ลลิตา ธีระสิริ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการใช้ประโยชน์ จากพรรณไม้เป็นอาหาร กล่าวว่า "น่าเป็นห่วงมากว่า ปัจจุบันนี้ คนไทย บริโภคผักน้อยมาก ทำให้คนไทยมีโอกาส เสี่ยงเป็นมะเร็งสูงมาก ทั้งๆที่ผักไทย หลายชนิด มีสารบางอย่าง ที่ต่อต้านการเกิด เป็นโรคมะเร็งได้ จากการเปรียบเทียบสถิติ การรับประทานผัก ของคนไทย ในอดีตกับปัจจุบันแล้วพบว่า คนไทยในสมัยก่อน กินผัก โดยเฉลี่ยถึง ๒๕๖ ชนิด ในขณะที่ปัจจุบัน คนไทยนิยม บริโภคผักเพียง ๑๖ ชนิดเท่านั้น ผักที่เป็นที่นิยมบริโภค มากที่สุด คือ ผักคะน้า แต่อาหารที่คนไทย นิยมบริโภคมากที่สุด กลับเป็นอาหาร ที่ซื้อเฟรนไชส์ มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ อาหารประเภทจานด่วน

"นอกเหนือจากการกินอาหารให้ครบ ๕ หมู่แล้ว คนเราจำเป็นต้องบริโภคผัก เป็นอาหาร เพราะปัจจุบัน เป็นยุคของโรค อนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นโรคแห่งความเสื่อมทั้งหลาย เช่น ผิวหนัง เหี่ยวย่น ฝ้า กระ ข้อเสื่อม โรคหัวใจ อัมพาต ต้อกระจก กระทั่งโรคมะเร็ง ซึ่งล้วนแต่เป็นโรค ที่ยังแก้ให้หาย ได้ยากมาก

แต่ในผักนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่รู้จักกันดีได้แก่ เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นวิตามินเอ จากผัก ผลไม้ วิตามินซี หาได้จากผักสด ผลไม้สด วิตามินอี ที่ได้มาจากข้าวกล้อง และ เซเลเนียม จากข้าวกล้อง หอม กระเทียม เหล่านี้ เป็นสารที่คอยปกป้องเซลล์ร่างกาย จากความเสื่อม และวิธีที่จะได้สาร ต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ง่ายที่สุดก็คือ รับประทาน เป็นอาหาร ประจำวัน" พ.ญ.ลลิตา กล่าว

พ่อท่านได้กล่าวชื่นชม ช.ม.ร.สาขาหน้าสันติอโศกกับ ช.ม.ร.สาขาเชียงใหม่ว่า ใช้พืชผัก ไร้สารพิษ ประกอบอาหาร และถ้าติดป้ายบอกลูกค้าที่เป็นสมาชิกว่า "ที่นี่ใช้พืชพรรณ ไร้สารพิษ" ได้ก็ยิ่งดี และสนับสนุน ให้อุทยานบุญนิยม ที่บ้านราชฯ ได้กระทำบ้าง แต่ยังขาด คนเก็บ พืชผักในบ้านราชฯ มาประกอบอาหาร ซึ่งหลายแห่ง จะมีคนขยันปลูก ส่วนจะได้ผล หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่ขาด คนเก็บ นำมาใช้ประโยชน์ ก็ขอให้กำลังใจ คนขยันเก็บ พืชผักไร้สารพิษทุกคน ณ โอกาสนี้ แม้จะมีข้อบกพร่อง ผิดพลาดอะไรไปบ้าง เช่น กินมากเกินไป ก็ค่อยๆแก้ไข ซึ่งก็ยังดีกว่า ปล่อยให้เน่าเสียไป โดยไม่เกิดประโยชน์

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


งานอโศกรำลึก ' ๔๕
กับนวัตกรรมใหม่ของสังคม

งานอโศกรำลึกบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ณ พุทธสถานสันติอโศก ระหว่างวันที่ ๙-๑๐ มิ.ย. ๔๕ ซึ่งเป็นงานประจำปี ของชาวอโศกอีกงานหนึ่ง ในครั้งนี้ มีญาติธรรม มาก่อนงาน มากมาย เนื่องจาก ตั้งแต่ต้นเดือน เป็นต้นมา ชาวอโศก มีงานสัมพันธ์ กับภายนอก หลายงาน เริ่มตั้งแต่ ๒ มิ.ย. งานศิลปะฯ ที่ชุมชนสันติอโศก, งานเปิดร้านกู้ดินฟ้า ๓ ที่ร้านอาหาร บ้านสวนไผ่ฯ และ งานประชุม ผอ. พรรคการเมือง ที่ชุมชนสันติอโศก ซึ่งติดตาม รายละเอียด งานดังกล่าวได้ ในฉบับนี้

๘ มิ.ย. เต็นท์อาหารและระบบไฟฟ้าก็ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ด้วยความร่วมมือ ของทุกๆฝ่าย ประมาณ ๑๖.๓๐ น. ผวจ.กำแพงเพชร นายกฤช อาทิตย์แก้ว ได้มาพูดคุย ถึงความคืบหน้า และขั้นตอน ของการเข้าไปอยู่ ในชุมชนเพชรผาภูมิ ให้ญาติธรรมที่สนใจ ได้รับทราบ ร่วมกัน ซึ่งจะเป็น ชุมชนบุญนิม ในระดับไหนนั้น โปรดติดตามกันต่อไป

อาหารมื้อเย็นในวันนี้ บริษัทพลังบุญจำกัดรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นเจ แก่บรรดา นักเรียนทุกพุทธสถาน ที่เดินทางมาถึง และญาติธรรมทุกท่าน อิ่มหนำ สำราญกันแล้ว ตอนค่ำมี ภาพยนตร์ไทย จอยักษ์ฉายให้ผ่อนคลาย ใต้ศาลาพระวิหาร ภายใต้หลักการดู ๔ ข้อ คือ เพื่อให้เกิดอริยญาณ ทำการปฏิบัติ อัดพลังกุศล สั่งสมโลกวิทู และ เพิ่มพหูสูตร แล้วแยกกัน ไปพักผ่อน

๙ มิ.ย. ทำวัตรเช้า ด้วยการร่วมกันรำลึกถึงวันอโศกรำลึก มี สมณะมาร่วมรำลึก ๒๐ รูป ดำเนินรายการ โดย สมณะบินบน ถิรจิตโต ท่านใด สนใจหาเท็ปฟังได้

หลังทำวัตรเช้า ประชุมพรรคเพื่อฟ้าดิน พ่อท่านเป็นประธาน สีมาอโศก สาขา ๓ จะจัดงาน นวัตกรรม แห่งการปกครอง ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ ก.ค.๔๕ สาขา ๑๐ จะจัดงานบูรณาการ ด้านนิติบัญญัติ ในเดือนกันยายน วันเวลายังไม่กำหนด และ แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน ระหว่างสาขา พ่อท่านสรุปตอนท้ายว่า มนุยษ์ที่ประเสริฐ จะเกิดมา เพื่อรับใช้มนุษย์ ไม่ใช่ลาโง่ที่ทำงาน เพื่อแลกโลกธรรม หลังจากนั้น พูดคุยเรื่องระดมทุน เพื่อซื้อที่ดิน ที่แดนอโศก เพื่อเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ ของชาวอโศก และที่ใต้คลังเสียง มีการประกวดอาหารถั่ว

หลังจากนั้นคณะทำงานบางส่วนแยกไปประชุมต่อ กับเจ้าหน้าที่การเงินของ ธ.ก.ส. ที่ตึกฟ้าอภัย เกี่ยวกับการจัดการ งบประมาณ และปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน แผนการอบรมฯในปี ๒๕๔๖ โดยทาง ธ.ก.ส. ชื่นชมการอบรม ของชาวอโศกว่า ประสบ ความสำเร็จ แต่ทาง ธ.ก.ส. เองหนักใจ ที่เจ้าหน้าที่บาง ส่วนยังไม่เข้าใจ บทบาท หน้าที่ของตนเอง ก่อนไปเข้ารับการอบรมฯ และไม่ให้ความร่วมมือ ในการอบรมฯ

ก่อนฉัน พ่อท่านแสดงธรรมเรื่อง นวัตกรรมของสังคม พวกเราที่มาใช้ชีวิต ทวนกระแสโลกียะ นี่แหละ คือ นวัตกรรมใหม่ ของสังคม

บ่ายโมงครึ่ง ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ มาบรรยายเรื่องยุทธศาสตร์กู้ชาติ ให้พ้น ภาพอาร์เจนตินา ญาติธรรม สนใจร่วมฟังกันมากมาย ใครสนใจหาเท็ปฟังได้

หลังจากนั้นประชุมเครือข่ายชาวอโศกต่อ เรื่องการจัดการสินค้าของชาวอโศก ที่เราต้อง บริโภค ทุกวัน คือ ข้าวกล้อง ถั่ว งา เรื่องข้าวกล้องนี้ เราประสบความสำเร็จ แต่เรื่องถั่ว และงา เรายังต้อง พึ่งพา จากภายนอกอยู่ ทำอย่างไร พวกเราจะผลิตถั่วและงาได้เอง เช่นเดียวกับ ข้าวกล้อง แม้ว่าตอนนี้ จะมีเรื่อง ของเมล็ดพันธุ์ GMO เข้ามา เราต้องยอม รับว่าเราตกเป็นทาส เมล็ดพันธุ์ GMO แต่ถ้าหาก เรายอมรับเมล็ดพันธุ์ของเรา ที่ให้ผลผลิต ไม่สวย แคระแกร็น ให้ผล ผลิตต่ำได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปใช้เมล็ดพันธุ์ GMO

๑๘.๐๐ น. ร่วมบูชาพระบรมสารีริกธาตุ บนพระวิหารพันปีฯ โดยก่อนเริ่มพิธี สายฝน ได้โปรยปราย ลงมา ให้ชื่นจิตเย็นใจ แต่หลายคนก็ลุ้นในใจว่า ฝนจะตกหรือไม่ แต่แล้ว เหมือน ปาฏิหาริย์ ขณะเริ่มยัญพิธีฝนก็หยุด จนกระทั่งยัญพิธีสิ้นสุดลง ฝนจึงค่อยๆ โปรยปรายลงมา

๑๙.๓๐ น. ชมภาพนตร์จอใหญ่ เรื่องข่าวใหญ่ของชาวอโศกระหว่างเดือนมิ.ย.๔๔-มิ.ย.๔๕ โดยก่อนถึง ข่าวใหญ่ ได้ฉายเรื่อง ๑๐ ลำดับยอดนิยม ของแชมพู ที่วางขายอยู่ที่ บริษัท พลังบุญฯ โดยคณะกรรมการ กลั่นกรองสินค้าชาวอโศก ปรากฏว่า แชมพูที่ได้รับ ความนิยม มาอันดับหนึ่ง เป็นของบ้านราชฯ แล้วดูข่าวใหญ่ ในแวดวง ของชาวอโศก ยุติลง เมื่อเวลา ๒๑.๐๐ น.

๑๐ มิ.ย. วันอโศกรำลึก พ่อท่านแสดงธรรมในช่วงทำวัตรเช้า เน้นให้ชาวอโศกมีคารโว นิวาโต และ ให้ถือว่า การไหว้เป็นการปฏิสันถาร อันเป็นการแสดงถึง ความอ่อนน้อม ถ่อมตน มีมิตรไมตรี ต่อกัน หลังทำวัตรเสร็จ มีการประชุมของ ต.อ.ที่ตึกฟ้าอภัย

รายการก่อนฉันวันนี้ "อโศกพันธุ์แท้" ประกอบด้วย สมณะเดินดิน ติกขวีโร, สมณะบินบน ถิรจิตโต, สิกขมาตุรินฟ้า นาวาบุญนิม และสิกขมาตุกล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล ดำเนิน รายการโดย สมณะ กล้าจริง ตถภาโว เป็นรายการ ถามปัญหาเกี่ยวกับชาวอโศก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดย สมณะ-สิกขมาตุ หรือญาติธรรมที่นั่งฟังอยู่ มี ส่วนร่วม ในการตอบ คำถาม คล้ายเกม ทางโทรทัศน์ แต่ไม่มีรางวัลให้ อโศกพันธุ์แท้ จะต้องมี เป้าหมายเพื่อ สลายอัตตาให้ได้ในที่สุด ยุติรายการลง เมื่อเวลา ๑๐.๓๐ น. ร่วมกัน รับประทานอาหาร ช่วยกันเก็บหาง แล้วแยกย้ายกัน กลับภูมิลำเนา

สำหรับบรรยากาศของงานอโศกรำลึกในปีนี้ เต็นท์แจกอาหาร อยู่ที่ซอยเทียมพร เริ่มต้นจาก หน้าห้อง เผยแพร่เท็ป จนถึงตึกตะวันงาย ๑ มีญาติธรรม มาร่วมแจกอาหาร ในวันที่ ๙ มิ.. ๕๗ ร้าน และ ๑๐ มิ.ย. ๒๘ ร้าน และในวันที่ ๙ มิ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกของงาน ตรงกับ วันอาทิตย์ จึงมี บุคคลภายนอก แวะเข้ามา ร่วมรับประทาน อาหารมากมาย แจกกัน ตั้งแต่เช้าถึงเย็น โดยเฉพาะ ไอศกรีม และ ก๋วยเตี๋ยวอาซ้อ ได้รับความสนใจเช่นเคย

ในส่วนของ การประกวดอาหารถั่วครั้งนี้ เริ่มขึ้นหลังทำวัตรเช้า ญาติธรรมที่ ส่งอาหาร เข้าประกวด ได้เริ่มทำอาหาร และประกาศผลในเวลา ๑๓.๐๐ น. มีคณะกรรมการ ผู้มากด้วยประสบการณ์ถึง ๑๕ ท่านให้คะแนนตัดสิน แบ่งรางวัลออกเป็น ๓ ประเภท พร้อมรางวัลที่๑-๒-๓ คือประเภท คุณค่า อาหาร, รสชาติดี และ สวยงาม และก่อนหน้า จะประกาศ รางวัล รมว. กระทรวง สาธารณสุข นางสุดารัตน์ ได้มาเยี่ยมชุมชนฯ และกล่าว สนับสนุน การประกวด อาหารถั่ว เพราะถั่ว จะทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องใช้บริการ ๓๐ บาทฯ

คุณไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก ผู้ให้การสนับสนุนและอยู่เบื้องหลัง การประกวดครั้งนี้ ได้ให้ สัมภาษณ์ว่า "วัตถุประสงค์ของการประกวด อาหารถั่วครั้งนี้ ถั่วเป็นหัวใจ ของการกินอาหาร มังสวิรัติ ต้องการให้กิน อาหารมังวิรัติ ที่ถูกหลัก ของโภชนาการ คือต้องกินถั่วทุกวัน เมื่อคนกินถั่ว คนก็จะได้ปลูกถั่ว เมื่อปลูกถั่วแล้ว ผืนดินก็จะพลิก ฟื้นขึ้นมา ให้อุดม สมบูรณ์ได้ ปีนี้มีผู้สนใจ ส่งอาหารเข้าประกวดทั้งสิ้น ๔๔ รายการ"

นอกจากญาติธรรมเก่า และใหม่แล้ว ในปีนี้ผู้เข้าอบรม ธ.ก.ส.จากวังน้ำเขียว ก็ได้นำเงาะไร้ สารพิษ โดยติดตามญาติธรรม มาทำบุญและอยู่ร่วมงานด้วย

และในตอนบ่ายของวันที่ ๙ มิ.ย. พระสังฆราชของศาสนาฮินดู จากประเทศอินเดีย ได้เดินทาง มากราบ คารวะพ่อท่าน ที่พุทธสถานสันติอโศก ซึ่งอาจารย์ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ได้ทำหน้าที่ล่าม ได้ให้สัมภาษณ์ ว่า "ท่านอายุ ๕๑ ปี ท่านพึงพอใจที่นี่ และบอกว่า ไม่มีความแตกต่าง ระหว่าง อโศกกับท่าน ในนิกาย ของท่าน ทุกคนก็รับประทาน อาหารมังสวิรัติ ไม่มีหอมกระเทียมด้วย ท่านให้ความคิดว่า ทุกอย่าง ในโลกนี้ เป็นหนึ่ง ถ้าทุกอย่างเป็นหนึ่ง ก็ร่วมจิตวิญญาณ ของคนสัตว์ ไว้ด้วยกัน และเหตุใด จึงไปทำร้าย สัตว์มาเป็นอาหาร เมื่อไปเห็นกุฏิ ที่พ่อท่านพัก ท่านบอกว่า แค่นี้หรือ ที่อยู่ของพ่อท่าน ท่านชอบมาก บอกว่าพวกเราอาจจะประสบ ความยาก ลำบากมานาน แต่ถ้าหาก มีหลักการ และมีความมั่นคง ในตัวเอง ในการที่จะเดินทาง สาย จริยธรรม อันนี้ ไม่นานหรอก ทั้งโลกก็จะหันมา ทางอโศกเอง ท่านสรุปอย่างนี้ค่ะ"

โอกาสนี้ผู้สื่อข่าว ได้สัมภาษณ์ความรู้สึก ของการมาร่วมงานครั้งนี้

นายฝ่าฝัน แสงอาทิตย์ คุรุจากปฐมอโศก "ปีนี้มีคนมามาก นร. ก็มามาก ที่ลุ้นหน่อย ก็ตอนที่ จะขึ้นไปที่ ยอดพระวิหาร ฝนตั้งเค้าครึ้มเลย มีการลุ้นกันน่าดู และก็สำเร็จ ฝนไม่ตก นร. จากปฐมฯ มายก ร.ร. ๑๔๗ คน ปีนี้ลงตัวขึ้น รายการข่าวเด่นของชาวอโศก น่าจะมีทุกปี เป็นตัว ดึงคนได้ ประทับใจ รายการ ทำวัตรเช้า ฝากขอบคุณเจ้าภาพ แรงที่ลงไป ไม่สูญเปล่า เพราะ ญาติธรรม ที่มา ต่างก็ได้รับประโยชน์ ถ้วนหน้ากัน ขอให้กำลังใจ เจ้าภาพ"

นางสาวบัวขาว วังเมือง ทักษิณอโศก "คนมากกว่าปีที่แล้ว มากันทั่วสารทิศเลย อบอุ่น ฟังธรรมะ จากพ่อท่านก็ดี ประทับใจธรรมะของพ่อท่าน และการที่มาร่วมรวมกัน เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน"

นายศรีวงศ์ ปัญญาไว เชียงรายอโศก" มาทุกปี ไม่เคยขาดเลย งานอื่นอาจจะขาดบ้าง อย่างน้อย ก็ได้มาเห็นหน้า พรรคพวกเพื่อนฝูง ญาติธรรมเก่าแก่ ก็ดีใจ หลายคน ไม่ได้เห็นหน้า ก็คิดถึง หลายๆคน เห็นญาติธรรมใหม่ๆ ก็เยอะ ประทับใจเด็กๆ ที่ทำงานดี เป็นตัวแทนของพวกเรา เมื่อก่อนเราต้องทำ ตอนนี้เด็กทำแทนเยอะ เห็นว่าอโศกเจริญขึ้น"

สมณะพอแล้ว สมาหิโต สีมาอโศก "ปีที่แล้วไม่ได้มา ปีนี้รู้สึกว่าคนแน่น ด้านจิตวิญญาณ ด้านสัมพันธ์ และกิจการ ของพวกเรา ก็ขายขึ้น มีจุดละเอียดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ มีนักการเมือง เข้ามา ก็แสดงว่า นิมิตหมาย ความสัมพันธ์ทางสังคม งานนี้แม้แต่ ผู้ที่เข้าอบรม ที่วังน้ำเขียว ยังแห่กันมาเลยนะ เขาอยากจะรู้ อยากจะเห็นมวล เห็นกลุ่ม ปีนี้รู้สึกว่ารื่นรมย์ดี เป็นไปด้วยดี

ส.ม.นวลนิ่ม ชาวหินฟ้า ศีรษะอโศก "คนเยอะ คนที่ไม่คุ้นหน้าก็เยอะ รู้สึกว่าอโศกจะขยาย เด็กๆก็เยอะ ทุกอย่างเยอะหมดเลย แน่นไปหมดเลย ทั้งที่หลับที่นอน ที่จอดรถก็ไม่พอ ต้องไปจอด ฝั่งโน้น แล้วเดินข้าม สะพานมา มาเห็นสิกขมาตุด้วยกัน ก็อบอุ่นดี รวมทั้ง ญาติโยม เก่าๆ ที่มีอายุ แล้ว ร่วงโรย ไปแล้ว เหมือนเรา ห่างเหินกันไป เพราะมีหลายแห่ง"

ด.ญ.ฝ้าย เริงฤทธิ์ ป.๖ ศีรษะอโศก "อาหารยอดนิยมของหนู คือแฮมเบอร์เกอร์ หนูกินไป ๒-๓ อัน แล้วเพื่อนให้ด้วย รวมเป็น ๔ อัน อร่อย ชอบค่ะ ไม่ได้กินไอศกรีม เพราะเสียงหนูแหบ แต่ถ้าให้กิน ก็ชอบ มาครั้งที่ ๒ สนุกค่ะ ชอบที่สุดคือ ได้อยู่กับเพื่อนๆ หนูได้ดูนิทรรศการ ใต้โบสถ์ เห็นหมา ขี้เรื้อน มองดู ก็รู้ว่าของปลอม ตอนนั้นหนูเห็นลุงเขาถือมา ที่นี่หนูชอบ โขดหิน และนั่งดูปลา"

นายเลือดพุทธ เจริญทรัพย์ ม.๖ ศีรษะอโศก "ผมไม่ได้ไปไหนเลย กินแต่ก๋วยเตี๋ยว อย่างเดียวครับ ที่ไม่ขาดคือไอศกรีม ผมกินประมาณ ๒ ถ้วย งานนี้เป็นงานที่รำลึกถึง บุญคุณของพ่อท่าน และรำลึกว่า เราทำความดีอะไรบ้างครับ

ผมคุมน้องๆมาแสดง ในงานประชุม ผอ.พรรคการเมือง ซ้อมกันเหนื่อยมากเลยครับ เวทีแคบไป แต่ไม่ใช่ เรื่องสำคัญ สำคัญว่า เราได้แสดงเต็มที่หรือไม่มากกว่า"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางม่วย คงเพชรศักดิ์
เกิด พ.ศ.๒๔๗๖ อายุ ๖๘ ปี
ภูมิลำเนา ต.โคกเดื่อ จ.นครสวรรค์
การศึกษา ป.๒
สถานภาพ แต่งงานแล้ว บุตร ๓ คน
ส่วนสูง ๑๔๙ ซ.ม.
ส่วนสัด ๓๖-๓๔-๔๑ นิ้ว น้ำหนัก ๕๕ กก.

ยายม่วยเป็นญาติธรรมเก่าแก่ของศาลีอโศก ยายปลูกบ้านอยู่ที่นี่ รู้จักอโศกมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ชอบเพาะต้นไม้ บุคคลิก คล่องแคล่ว อารมณ์ดี

ชาติกำเนิด
เป็นลูกคนเดียว เตี่ยและแม่มาจากเมืองจีน ต่อมาแม่พายายหนีเตี่ย และแต่งงานใหม่ อยู่กับพ่อเลี้ยงได้ไม่นาน ก็มีคนมาขอไป เป็นลูก บุญธรรม จึงย้ายจากกท. ไปอยู่โคกเดื่อ กับพ่อแม่บุญธรรม ซึ่งมีฐานะดี

ยายเป็นคนขยันมาแต่เด็ก คล่องแคล่วในการทำงาน ช่วยการงานพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี เรียนหนังสือก็เก่ง ต่อมาเกิดโจรผู้ร้าย ปล้นในหมู่บ้าน โรงเรียนก็ปิด ยายจึงได้เรียน แค่ชั้น ป.๒

แต่งงานตอนอายุ ๑๖ พ่อบ้านเป็นครูอยู่ห้วยตะโก แก่กว่ายาย ๖ ปี แต่งงานแล้ว ช่วยกัน ทำมาหากิน มีลูกด้วยกัน ๓ คน

ก่อนเป็นศาลีอโศก
ปี ๒๕๒๒ ครูอุดม พรหมสีดา โยมพ่อของสมณะเดินดิน ติกขวีโร ชวนยายไป แดนอโศก (ปัจจุบันยุบไปแล้ว) ที่จ.นครปฐม ตอนนั้น ยายอายุ ๓๐ กว่าเท่านั้นเอง ได้เห็นพ่อท่าน ได้ฟังธรรม ก็เกิดศรัทธา ตอนนั้นยายไม่ทราบว่า ฆราวาสก็กินเจด้วย คิดว่าฉันแต่เฉพาะ พระเท่านั้น

ยายมาช่วยงานที่วัดตั้งแต่ยังเป็นป่าช้า มาช่วยขนไม้ เก็บเศษแก้วเศษขวดไปทิ้ง ปลูกต้นไม้ ยายไม่เลือกงาน สมัยก่อน น้ำรดต้นไม้ ต้องข้ามถนน ไปหาบจากสระมารด ช่วยทั้งแรงกาย และทุนทรัพย์

ทุกวันนี้
เดี๋ยวนี้ร่มรื่นแล้ว น้ำท่าก็สะดวกขึ้น คนรุ่นก่อนๆล้มหายตายจากกันไป หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ยายเหนี่ยว ยายผวน ยายราตรี ยายน้อย ยายบุ้ง ตาอยู่ ตาจัน และอีก หลายๆคน ในบรรดาคนเหล่านั้น ยายจะอายุน้อยที่สุด

เมื่อครั้งตั้งพรรคเพื่อฟ้าดิน ยายก็ไปช่วยหาสมาชิกด้วย หามาได้ พันกว่าคน แล้วยิ่งตอนนี้ มีงานอบรม ธ.ก.ส. ยายก็ช่วยต้อนรับ และ ร่วมร้องเพลง คนสร้างชาติ ทุกวันนี้ ก็ตื่นเช้า ทำวัตรแล้ว เตรียมอาหารใส่บาตร ว่างจากงานอบรม ก็เพาะต้นไม้ไปปลูก ที่สวนเบิกบุญ อยู่ที่นี่มี ความสุขมาก ถ้าตายก็เผา ที่นี่แหละง่ายดี

ชีวิตของป้าม่วยไม่ห่วงอะไรอีกแล้ว มีความสุขอยู่ในชุมชนบุญนิยมแห่งนี้ แล้วท่านล่ะ? มีความสุขดีอยู่หรือ ? ที่ชีวิตต้องการ ทุกวันนี้ คืออะไร?

บุญนำพา รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อาหารกับสารกันบูด

ปัจจุบัน พฤติกรรมการบริโภคของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการที่เคยทำอาหาร รับประทาน กันเองที่บ้าน แบบสดๆร้อนๆ พร้อมหน้าพร้อมตากัน ภายในครอบครัว กลับกลายเป็น สังคมที่รีบเร่ง ในการหารับประทาน ตอนเช้าก็ต้องรีบเร่ง ไปหารับประทาน เอาดาบหน้า ตอนเย็น ก็รับประทาน อาหารถุง หรือ อาหารนอกบ้าน จึงทำให้มีการผลิต อาหารขาย เป็นกิจกรรม ในครัวเรือนบ้าง อุตสาหกรรมเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แล้วแต่กรณี ผู้ประกอบการเอง ก็ประกอบธุรกิจ เชิงค้าขายหวังกำไร และความร่ำรวย ตามกระแส ทุนนิยม ก็ต้องคิดถึงการทำอาหาร ได้มากๆ เก็บไว้ขายได้นานๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจำเป็นจะต้องนำสารเคมีมาผสม เพื่อป้องกัน การบูดเสียของอาหาร สารกันบูด หลายชนิด จึงถูกเติมใส่ลงในอาหาร เช่น กรดเบนโซอิค และอนุพันธ์ เป็นกลุ่มหนึ่ง ที่นิยมใช้ เพราะหาง่าย และราคาถูก ละลายน้ำได้ดี มีฤทธิ์ยับยั้ง การเจริญเติบโต ของจุลินทรีย์ หลายชนิด ซึ่งนิยมเติมลงใน แยมเยลลี่ น้ำสลัด เครื่องดื่ม ผักดอง พริกแกง อาหารกระป๋อง สารอีกตัว ที่นิยมใส่ได้แก่ กรดซอร์บิค และอนุพันธ์ เป็นสารกันบูด ที่นิยมใช้ ในรูปของเกลือ เช่น เกลือโซเดียม และเกลือโปตัสเซียมซอร์เบต ซึ่งนิยมใส่ในเนย เนยแข็ง เนยเทียม เยลลี่ เค้ก ขนมปังปอนด์ เป็นต้น

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่งเยลลี่ ๕ ตัวอย่าง พบว่ามีสารกันบูดทั้ง ๒ ชนิดตกค้างอยู่ แม้จะไม่เกิน ปริมาณที่กำหนด แต่ก็ไม่สามารถ คาดเดาได้ว่า ปริมาณใส่ครั้งแรก นั้นเท่าใด ซึ่งสารเหล่านี้ มีผลต่อตับไต ของมนุษย์ ถ้าสะสมไว้มากกว่า วันละ ๕๐๐ มิลลิกรัม จะทำให้ ประสิทธิภาพ ของตับ และไตลดลง จนอาจทำให้พิการได้ และยังมีผลทำให้ เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงด้วย

พวกเราควรพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่สารกันบูดกันให้มากๆ เราควรมาใส่ สารกันบูด ที่ใจกันดีกว่า คือใส่ธรรมในใจ ให้มากๆ เพื่อถนอมใจ ไม่ให้บูดเร็ว หรือบ่อยนัก เพื่อเก็บใจ ไว้ใช้นานๆ ไงคะ

กิ่งธรรม

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กกต.ร่วมประชุมผอ.พรรคการเมืองทั่วประเทศ
พรรคเพื่อฟ้าดิน เป็นเจ้าภาพ จัดที่ชุมชนสันติอโศก

เมื่อวันที่ ๗ มิ.ย.๔๕ ณ ชุมชนสันติอโศก มีการประชุมผู้อำนวยการพรรคการเมือง ครั้งที่ ๓/๒๕๔๕ โดยสาขาพรรค เพื่อฟ้าดินลำดับที่ ๑๐ นับเป็นครั้งแรก ที่มีการประชุม ของผู้อำนวยการ พรรคการเมืองที่นี่ โดยใช้สถานที่บริเวณลานหิน และลานทราย ใต้พระวิหารฯ จัดโต๊ะที่ประชุม

การเตรียมงานของการประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือ จากองค์กรต่างๆของชาวอโศก ญาติธรรม และนร.สัมมาสิกขาฯ จากปฐมฯ-สันติฯ และศีรษะฯ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ ๒ มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดงาน โครงการศิลปะกับชุมชนสันติอโศก จึงมีผลงานศิลปะ วางอยู่ รวมกับ บริเวณโต๊ะประชุม ท่ามกลางธรรมชาติ ผสมกลมกลืนกันไป สวยงามไปอีก บรรยากาศหนึ่ง

เช้า ๐๗.๓๐ น. โดยประมาณ คณะต้อนรับของชุมชน ได้รอต้อนรับ ผู้อำนวยการพรรคฯ หลังจากนั้น ได้นำชมสถานที่ และลงทะเบียน ซึ่งมีถึง ๔๐ พรรค และรับของที่ระลึก จากชุมชน เป็นเท็ปและหนังสือ เริ่มรายการโดย เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ รองเลขาธิการ พรรค เพื่อฟ้าดิน กล่าวต้อนรับ และเล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ว่า อยู่กันด้วยระบบ สาธารณโภคี ประกอบด้วย บ้าน-วัด-โรงเรียน

หลังจากแนะนำเสร็จแล้ว นร.สัมมาสิกขาสันติฯ-ศีรษะฯ ร่วมร้องเพลงคน สร้างชาติ ต้อนรับ ผู้เข้าร่วมประชุม "...ชาติต้องการคนที่ซื่อสัตย์ ชาติต้องการคนเสียสละ.."

จากนั้น น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ หัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดิน กล่าวต้อนรับ และความเป็นมา ของพรรค โดยสังเขป และอุดมการณ์ของพรรค คือ เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศมีไท

ลำดับต่อไป ท่านประธานกกต. พลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ บรรยายพิเศษ เสร็จแล้วท่าน สมณะ โพธิรักษ์ แสดงธรรมในหัวข้อ "ทำอย่างไรการเมืองจึงจะมีธรรม" แล้วหยุดพัก รับประทาน อาหารว่าง ๑๕ นาที จึงเริ่มประชุม จนถึงเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น.จึงยุติ แล้วรับประทาน อาหารกลางวัน แบบบุ๊ฟเฟ่ บริเวณโต้โบสถ์ มีอาหารมังสวิรัติ หลากหลายชนิด เตรียมไว้ บริการ โดยขณะ รับประทานอาหาร มีการแสดง ของนร.สัมมาสิกขาสันติฯ และศีรษะฯ โดยเฉพาะ นร. สัมมาสิกขา ศีรษะอโศก ได้นำการแสดงโปงลาง มาสื่อถึงเศรษฐกิจพึ่งตน ของชุมชนด้วย ๓ อาชีพกู้ชาติ ๑๔.๐๐ น. รายการจึงยุติลง พร้อมกับรับ ของที่ระลึกอีกครั้ง จากชุมชนเป็นแตงโม-เงาะไร้สารพิษ และ ผลิตภัณฑ์จากชุมชน

หลังจาก รายการยุติลง ผู้อำนวยการพรรคหลายท่าน ได้ชวนกันขึ้นไปกราบ พระบรม สารีริกธาตุ บนพระวิหารพันปี เจดีย์บรมสารีริกธาตุ

เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ รองเลขาธิการพรรคฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับข่าวอโศกว่า

"การประชุมผอ.พรรคการเมือง เป็นไปโดยราบรื่น ได้รับความร่วมมือ อย่างดีมากเลย จากชุมชน และ สมาชิกทั่วประเทศ ที่มาช่วยกัน ถึงแม้ว่า บางรายการ ที่พ่อท่านเทศน์ จะขึงขังเอาจริงเอาจัง ยังทำให้เขาไม่รู้สึกว่า เป็นปฏิปักษ์ ก็ถือว่ามวลของพวกเรา ทำให้เกิด บรรยากาศอย่างนี้ขึ้นมาได้ นับว่าเป็นสิ่งที่ หาดูได้ยาก เป็นศิลปะอันอุดมจริงๆ คือไม่ใช่ ภาพๆเดียวที่จะบรรยาย แต่เป็น การกระทำ ของทุกๆคน ที่ทำให้เกิด บรรยากาศ อย่างนี้ ก็ต้องขอบคุณทีเดียว

เสียงตอบรับว่าดีมาก อย่างหัวหน้าพรรคไทมั่นคงบอกว่า ท่านไม่ต้องไปบอกเขาหรอกว่า ที่นี่ชุมชน เข้มแข็ง อุดมสมบูรณ์ พึ่งตนเอง เขาเห็นเขารู้แล้ว ก็แสดงว่า การกระทำของเรา ค่อนข้าง จะชัดเจน สมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องบอกว่า เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรม อันนี้เราได้ แสดงออก ถึงวัฒนธรรมไทย ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เรา ภาคภูมิใจครับ"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจริญธรรม สำนึกดี พบกันอีกครั้งกับ น.ส.พ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๑๘๔(๒๑๗) ปักษ์แรก ๑-๑๕ มิ.ย.๔๕

บรรยากาศอบอุ๊น อบอุ่นแบบพี่ๆน้องๆของญาติธรรมชาวเรา เพราะช่วงต้นเดือนนี้มีกิจกรรมเพียบ และที่สำคัญสุดๆ คือ งานอโศกรำลึก งานที่รวม จิตใจชาวเรา แม้อยู่ไกลกันแค่ไหน ก็จะได้พบกันในวันนี้

วัฒนธรรมอโศก...โรงบุญมังสวิรัติได้กลายเป็นวัฒนธรรม คู่งานบุญของชาวอโศกไปแล้ว อย่างน่าอนุโมทนา และดูจะเป็น สีสันในใจ ของผู้มาเยือน ชาวเราเสียด้วย โรงบุญฯ ในงานอโศกรำลึกก็เช่นกัน ซึ่งนับวันก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรูปแบบ วิธีการ และที่สำคัญ เห็นผลชัดขึ้น กับรูปธรรม และ นามธรรมของบรรดาพ่อให้แม่ให้ เพราะไม่ค่อยได้เห็น พ่อบูดแม่บูดกันแล้ว แถมปีนี้ ได้ยินเสียง โอภาปราศรัย เชิญชวน แนะนำ และทักทาย อย่างมีน้ำจิตน้ำใจอีกด้วย

ฟังมาว่างานวันแรกของปีนี้ (๙ มิ.ย.๔๕)มีถึง ๕๗ ร้าน บริการกันเต็มอิ่ม ชนิดหลายต่อหลายคน ต้องปฏิเสธคำชวน ของบรรดา พ่อให้ แม่ให้ ทั้งหลาย อย่างนี้พอสรุปได้มั้ยว่า คนกินแพ้คนแจก น่าทึ่งไหมล่ะ?...จี๊ดๆ

รำลึกอโศก... อีกรายการที่ต้องขอชมคือภาพยนตร์ สรุปข่าวอโศกในรอบปี ดูแล้วเป็นรายการที่เหมาะกับงานจริงๆ จิ้งหรีด ก็ขอกรีดปีก เชียร์สุดๆ ให้ทำต่อไปทุกๆปี โอกาสนี้ชาวเราจะได้มารำลึก (และทบทวน) ความเป็นไปของสังคมเรา ร่วมกันไงฮะ ...จี๊ดๆ

สัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ...เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ พ.ค.๔๕ เวลา ๑๐.๓๕ น. มีงานเปิด ร.ร.สัมมาสิกขาที่ภูผาฟ้าน้ำ นำโดย สมณะบินบน ถิรจิตโต และ สมณะ ๑๒ รูป ชาวชุมชน -ผู้ปกครองนักเรียน -ญาติธรรมจำนวน ๔๗ คน ซึ่งขณะนี้มีคุรุ ๑๐ คน มีคุรุห่มกล้า ระดม เป็นครูใหญ่ และ คุรุ กระจาย บุญยัง เป็นผู้ช่วยครูใหญ่ สอนนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล (หลานปู่ฯ) ถึงชั้น ม.๑ รวมทั้งสิ้น ๒๔ คน

ส่วนในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พ.ค.๔๕ ได้มีพิธีรับขวัญ นร.สัมมาสิกขาฯรุ่นแรก เริ่มโดยให้นักเรียนได้ตักบาตรทำบุญ -ฟังธรรม จากสมณะ นอกจากนั้น คณะคุรุแนะนำตัว ประธานชุมชน (คุณภูฟ้า แพงค่าอโศก) กล่าวต้อนรับนักเรียน และ ครูใหญ่ อ่านรายชื่อ คณะกรรมการ การศึกษาชุมชน และ แนะนำนักเรียนทั้ง ๒๔ คนบรรยากาศของงาน อบอุ่นเป็นกันเอง สนุกสนาน และอิ่มท้อง ไปกับซุ้มผักป่าทอด ซุ้มขนมไทย ซุ้มถั่วและผลไม้ไร้สารพิษ...จี๊ดๆ

แอบได้ยิน...ทัศนะสมณะรูปหนึ่งวิเคราะห์ชาวอโศก ฟังแล้วก็น่าสนใจทีเดียว เลยเอามาขยับให้ฟังต่อ เอ้า!ขยับเข้ามา ...ฟังนะ

-ชาวอโศกทำงานไม่ต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ว่าเขาผิด เพราะไม่มีใครว่าจ้างกัน อโศกรอการเติบโต ให้คนมีวุฒิภาวะ

ดังนั้น งานของชาวอโศกนั้น การพัฒนาบุคลากรจึงเป็นเรื่อง "จำเป็น" แต่ถ้าพัฒนางานก่อนจะอันตราย

การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับการบริหาร (ต้องตามจี้) ถ้าผู้บริหารไปข้างหน้าเรื่อยๆ ก็ลำบากหน่อย แต่ถ้าผู้บริหารเป็น "แม่บ้าน" งานก็จะ เรียบร้อยขึ้น

บางคนจะหวังให้เขาเติมในส่วนที่ขาดของเขานั้น เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก เขาดีจุดนี้ ก็อาจจะเสียในบางจุด เช่น ออกแบบ โครงสร้าง แต่ไม่เก็บ รายละเอียด ทุกคนอ้างความจำเป็น "ถ้าไม่รับก็เข้าเป้าไม่ได้" เป็นความ "แปลกต่าง"

ระดับการทำงานของคน
๑.ทำงานด้วยหน้าที่
๒.ทำงานด้วยความรับผิดชอบ
๓.ทำงานด้วยความรู้สึก(ใจ)

ชาวอโศกเป็นนักปฏิบัติธรรมแบบร่องแร่ง จะมีสักกี่คน ที่จะรู้ว่าเป็นความรับผิดชอบ จนถึงใจที่ว่า ต้องเอาภาระ ต้องผลักดัน เมื่อไหร่... ก็คงต้อง รอเวลา ฟังแล้วโดนใจใครเอ่ย?...จี๊ดๆ

ข่าวล่ามาแล้ว...มาแล้วๆ ข่าวกรองล่าสุด หลังจากที่ฉบับที่แล้วลงข่าว "กสบ" ชนิดเกาะติดสถานการณ์ แบบประชุมเสร็จ ก็นำ มาเล่า ให้ฟังเลย ฉบับนี้เรามีข้อมูล ที่สมบูรณ์แล้ว มานำเสนอ (สำหรับผู้ที่ชมรายการ ในงานอโศกรำลึก คงทราบกันแล้ว) เราไปรู้จัก หน่วยงานใหม่ ของชาวเรากันเลยฮะ

กสบ. ย่อมาจาก คณะทำงานกลั่นกรองสินค้าบุญนิยม

คณะทำงาน ประกอบด้วย ตัวแทนจาก พาณิชย์บุญนิยมส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ที่ปรึกษา คุณหนึ่งพุทธ วิมุตตินันท์ คุณธำรง แสงสุริยจันทร์ คุณสมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ คุณร้อยแจ้ง จนดีจริง และทีมงาน ต.อ. วัตถุประสงค์ เพื่อคัดกรอง และพัฒนาคุณภาพสินค้า ของชุมชน ให้ได้มาตรฐานต่อเนื่อง และสามารถผลิต ได้เพียงพอ ต่อความต้องการ ของผู้บริโภค อย่างทั่วถึง

บทบาทหน้าที่
๑.จัดลำดับความนิยมของสินค้าชุมชนชาวอโศก
๒.ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีความนิยมสูงให้ได้มาตรฐาน
๓.แนะนำการคิดราคาสินค้าในระบบบุญนิยม
๔.ให้ข้อมูลด้านการตลาด เช่น คุณภาพสินค้า ปริมาณการผลิต รูปแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
๕.ประสานกองบุญสวัสดิการ เรื่องการสนับสนุนด้านการเงินแก่ชุมชน ในเรื่องการผลิตและซื้อสินค้า

ในงานอโศกรำลึก '๔๕ กสบ. ได้เสนอ "๑๐ อันดับยอดฮิตของผลิตภัณฑ์แชมพูของชุมชนชาวอโศก" จากยอดขาย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.๔๕ ของ บจ.พลังบุญ และบจ.แด่ชีวิต เรียงลำดับความนิยม ดังนี้

อันดับ ๑ แชมพูผสมสมุนไพร อัญชัญ B ๕ ของชุมชนราชธานีอโศก

อันดับ ๒ แชมพูผสมสมุนไพรอัญชัญ ของชุมชนศาลีอโศก

อันดับ ๓ แชมพูผสมสมุนไพร ๕ พลัง ของชุมชน สันติอโศก

อันดับ ๔ แชมพูผสมสมุนไพร ๕ in ๑ กลุ่มพึ่งตนเอง ชุมชนสันติอโศก

อันดับ ๕ แชมพูผสมสมุนไพร มะกรูด B๕ ชุมชนราชธานีอโศก

อันดับ ๖ แชมพูผสมสมุนไพร ใบหมี่ ของชุมชนสันติอโศก

อันดับ ๗ แชมพูผสมสมุนไพรมะกรูด ว่านหางจระเข้ น้ำมันมะกอก "ศาลีอโศก

อันดับ ๘ แชมพูผสมสมุนไพร ครีมข้าว B๕ ของชุมชนราชธานีอโศก

อันดับ ๙ แชมพูผสมสมุนไพร อัญชัญใบหมี่ ของชุมชน ศีรษะอโศก

อันดับ ๑๐ แชมพูผสมสมุนไพร ตะไคร้ ของชุมชน สีมาอโศก

ต่อไปเราคงได้เห็นผลงานอื่นๆตามมาให้ได้อนุโมทนากันอีกสำหรับ กสบ. ที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง ให้ผลิตภัณฑ์ ของชาว ชุมชน ของเรา ได้มาตรฐาน ขึ้นไปเรื่อยๆสาธุ...จี๊ดๆ

พิสูจน์ได้...แล้วในวันประชุม ผอ.พรรคการเมืองไทยทั่วประเทศปีนี้ ที่ชุมชนสันติอโศก ในระหว่างการแสดงบนเวที มีการผ่า แตงโม ไร้สารพิษ ให้ดูกันจะๆว่า ได้คุณภาพจริง เสร็จแล้วยังแจกจ่าย ให้ผู้เข้าประชุม ได้เปิบดูว่า หวานขนาดไหน ด้วยล่ะฮะ ว้าว! จิ้งหรีด เห็นเนื้อแตงโม แด๊งแดง แล้วก็ยิ่งเชื่อมั่น ในกสิกรรมธรรมชาติ...จี๊ดๆ

ซาบซึ้งน้ำใจ...เรื่องอาหารสำหรับเลี้ยงรับรองผู้เข้าประชุมในงานประชุม ผอ.พรรคการเมืองฯ ที่ตอนแรก มีผู้แจ้ง ความประสงค์ ร่วมบุญ จำนวน ๑๓ ราย แต่พอถึงวันจริง ปรากฏว่า มีมากกว่านั้น นี่แหละฮะ น้ำใจช่วยกันคนละไม้คนมือ ของชาวเราล่ะ...จี๊ดๆ

บุญนิยมระดับ ๔...ระหว่างการแสดงโปงลางในงานเดียวกัน เมื่อนร.สัมมาสิกขาฯของเรา ก็เดินลงมาแจก ของชำร่วย อีกรอบ ทำให้ ผอ. บางท่านควักเงิน เพราะอยากร่วมบุญด้วย บางท่านก็ถามราคาว่าเท่าไหร่ พอเด็กๆของเราบอกว่า "แจกฟรี" บรรดาท่าน ผอ. ก็ต้องพากันงง เพราะคาดไม่ถึงว่า จะเป็นรายการแจกกันอีกรอบ สรุปว่า ประชุมคราวนี้ ท่านต้องขนของ ที่ระลึก จากใจชาวเรา กลับบ้านเพียบ...จี๊ดๆ

อยากเห็นหน้า...จิ้งหรีดได้ฟังว่า ท่านหัวหน้าพรรคไทยช่วยไทย ซึ่งเป็นผู้หญิงเผยความรู้สึกว่า พอรู้ว่า หัวหน้าพรรค เพื่อฟ้าดิน ก็เป็นผู้หญิง เหมือนกัน ก็รู้สึกดีใจ และอยากมาเห็นหน้า...จี๊ดๆ

ศิลปะ...ยามนี้หากใครเข้ามาที่ชุมชนสันติอโศก ก็อาจจะแปลกตากันไปบ้าง เพราะตั้งแต่วันเปิด งานนิทรรศการ "รากแก้ว แห่งชีวิต-ศิลปะ กับวิญญาณ ทางสังคม" แล้ว ผลงานศิลปะต่างๆ ของศิลปิน โครงการศิลปินกับชุมชน จะยังคงตั้งแสดง ให้ชม ไปจนถึง สิ้นเดือน มิ.ย.นี้... ใครดูแล้ว ได้ข้อคิดดีๆ นำมาแลกเปลี่ยน ทัศนะกันบ้างก็ดีนะฮะ...จี๊ดๆ

เด็กวัด...ฟังคุณไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก อดีตศิลปินชื่อดังของเมืองไทย ออกตัวในวันเปิดงาน นิทรรศการศิลปะฯ ว่า "เมื่อก่อน ผมเป็นศิลปิน ข้างนอก แต่วันนี้ผมคือ เด็กวัดธรรมดาคนหนึ่ง ที่อาศัยข้าวก้นบาตร ของสมณะเลี้ยงชีพ" แล้วให้รู้สึก ประทับใจ... เอ! จะมีศิลปินอย่างนี้ สักกี่คน... จี๊ดๆ

เล็กพริกขี้หนู...ฟังว่าคุณปีกฟ้า แม่ครัวตัวเล็กของชาวชมร.หน้าสันติอโศก ทำน้ำยาลูกชิ้นเจ ไปร่วมโรงบุญฯ ในวันเปิด สวนไผ่ สุขภาพ เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ปรากฏว่า ได้รับคำชม เป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติเยี่ยม แหม... เก่งจริงนะตัวแค่เนี่ยะ...จี๊ดๆ

กู้ดินฟ้า ๓...เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้วที่สวนไผ่สุขภาพ ข่าวว่าขายดิบขายดี แต่คนนี่สิมีปัญหา (คนไม่พอน่ะ) ใครที่เข้าวัดแล้ว ไม่ต้องกลัว ตกงานนะ เพราะบจ.กู้ดินฟ้า เขารับไม่จำกัดจำนวนฮะ... จี๊ดๆ

ชวนติดตาม...เมื่อวันงานโฮมไทวัง (๕ มิ.ย.๔๕)ที่บ้านราชฯ จิ้งหรีดเกาะฟังคุณหมอวัย ๗๔ ปี เล่าประสบการณ์ ที่เธอเคย เป็นมะเร็ง ขั้นสุดท้าย มาแล้ว แต่มะเร็งก็ต้องบอกลา เธอชนะได้อย่างไร น่าสนใจแล้วซิ แย้มให้ฟังอีกนิดก็ได้ว่า คุณหมอเคย ไปอยู่ กับชาว Hanza ซึ่งมีอายุ ยืนยาวมาก (๑๒๐ ปี) และยังบอกว่า คนกลุ่มนี้ไม่รู้จักอาหาร พวกผัดๆทอดๆหรอก เอ! ใครอยาก อายุยืน และมีสุขภาพดี หาอ่าน รายละเอียดได้ ในสารอโศก ฉบับมิ.ย. ที่จะถึงนี้นะฮะ อย่าพลาดเชียว...จี๊ดๆ

ก่อนจาก ฝากกันด้วยคติธรรม-คำสอนของพ่อท่านที่ว่า

ศิลปะชั้นสูง ต้องดูแล้วลดทุกข์ ลดกิเลส ทำให้เจริญถึงความอุดม

ฉบับนี้ลาไปก่อนฮะ

จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


คณะกรรมการพรรคเพื่อฟ้าดิน สาขาที่ ๘ เข้าร่วมรับฟังการประชุมเชิงปฏิบัติการ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ พ.ค.๔๕ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๓๐ น. ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ คณะกรรมการสาขา พรรคการเมือง ระดับเขต จัดโดย สำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ที่หอประชุม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

การประชุมในวันนั้นมีผู้เข้าประชุมเพียง ๓๗ คน จากรายชื่อคณะกรรมการสาขาพรรคฯ จำนวน ๙๘ คน ที่ประชุมจึงมีมติ ประชุม รวดเดียวจบ ทำให้กำหนดการ ปิดประชุมเดิม ๑๖.๐๐ น. เปลี่ยนเป็นเวลา ๑๒.๐๐ น.

สมาชิกเข้าร่วมประชุมได้รับความรู้ความเข้าใจในด้านการเมืองหลายแง่หลายมุม ความรับผิดชอบ ในการเลือกสรร บุคคล ที่จะลงสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในประเทศ โดยมีพรรคการเมือง ๔๕ พรรค ใน จ.เชียงใหม่มี ๑๓ พรรค ๓๐ สาขา ๑๐ เขต ซึ่งวันนี้ เป็นการประชุม ของเขต ๓,๔ และ ๕

สำหรับบรรยากาศของการประชุม สาขาพรรคเพื่อฟ้าดิน ถูกเอ่ยชื่อบ่อยที่สุด ในด้านความพร้อม ของการส่งเอกสาร การประชุม ทำให้เราทราบ ถึงปัญหาของ สาขาพรรคอื่น สำหรับหัวหน้าสาขาของพรรคเพื่อฟ้าดิน ถูกเรียกให้กล่าว เป็นคนสุดท้าย ซึ่งคงจะเป็น ที่ถูกใจ ของกรรมการผู้หนึ่ง ที่ได้ขอโอกาสยืนขึ้น แล้วถามว่า "ใครคือหัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดินครับ? ผมอยากจะไป ทำความรู้จัก เผื่อผมจะไปอยู่พรรคด้วย" ซึ่งคุณเมืองหิน ลือโขง หัวหน้าพรรคสาขา ลำดับที่ ๘ ได้ตอบว่า "ชื่ออาจารย์ ขวัญดิน สิงห์คำ อยู่ที่ จ.ศรีสะเกษ ครับ "

และคุณเมืองหิน ได้กล่าวประโยคหนึ่ง ที่สร้างความประทับใจ ให้กับผู้เข้าประชุมหลายๆท่าน คือ

"ผู้จะทำงานกรรมการสาขาพรรค ต้องปลอดจากธุรกิจส่วนตัว และต้องเสียสละให้ได้มากๆ"

ใบจริง รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สันติอโศกเปิดโลกศิลปะ
ต้อนรับบุคคลภายนอก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มิ.ย. ๒๕๔๕ ณ ชุมชนสันติอโศก กทม. ได้จัดงานนิทรรศการ ศิลปกรรม และการสัมมนา แลกเปลี่ยน ทรรศนะ "รากแก้วแห่งชีวิต-ศิลปะกับวิญญาณทางสังคม"

เวลา ๐๙.๐๐-๑๑.๓๐ น. พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ได้แสดงธรรมในหัวข้อ "รากแก้ว แห่งชีวิตฯ" ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่พ่อท่านอธิบายขยายความของคำว่าศิลปะที่แท้จริง และ ความแตกต่างของศิลปะ ในระดับโลกียะและโลกุตระ ขอแนะนำว่า ควรหาเท็ป มาฟังให้ได้ สักครั้งหนึ่ง ของชีวิต

หลังจากนั้น รับประทานอาหารร่วมกัน ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. เปิดเวทีสัมมนา ใต้พระวิหาร บริเวณลานหิน ประกอบด้วย วิทยากร ๗ ท่าน จากภายนอก ๕ ท่าน และจากชุมชน ๒ ท่าน ดังนี้
๑. รศ.วิโชค มุกดามณี ผอ.หอศิลป์ ม.ศิลปากร
๒. อ. สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ ผอ.วิทาลัยช่างศิลป์ สุพรรณฯ
๓. คุณจุมพล อภิสุข ผอ.ศูนย์บ้านตึก
๔. คุณมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินอิสระ และคอลัมนิสต์
๕. คุณปิติ กุลศิริโรรัตน์ นักกิจกรรมศิลปะวัฒนธรรมชุมชน

และศิลปินภายในชุมชน คุณไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก และคุณสิริมา ธรรมชาติอโศก ดำเนิน รายการโดย คุณลักขณา คุณาวิชานนท์ (ผอ.หอศิลป์ตาดู) แต่ละท่าน ได้แสดงทรรศนะ แตกต่างกันไป ผู้ใดสนใจ ใคร่รู้ในโลกวิทู ไม่ควรพลาด เด็ดขาด เพราะฟังแล้ว จะทำให้ โลกทัศน์ ในเรื่องศิลปะ ชัดเจนยิ่งขึ้น มีพ่อท่าน และ สมณะ ที่สนใจ ร่วมนั่งฟัง ตลอด รายการ นอกจากนี้ ญาติธรรม และบุคคลภายนอก นั่งฟังทั่วบริเวณพระวิหาร ไม่ว่าจะเป็น ลานทราย ใต้ต้นไม้ บนโขดหิน สบายๆตามธรรมชาติ ท่ามกลาง สายลมเย็น ที่พัดมา เป็นระยะๆ เสร็จแล้วพ่อท่าน มอบของที่ระลึก แก่ผู้ร่วม สัมมนา และศิลปิน ที่นำผลงาน มาแสดง และกล่าวเปิดงานสั้นๆว่า "เป็นนิมิตใหม่ ของชาวอโศก ที่ได้ สัมพันธ์กับภายนอก อย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีรายการเป็นชิ้นเป็นอัน เริ่มงานนี้เป็นงานแรก อาตมามี ความยินดีมาก ยินดีต้อนรับทุกคน" แล้วเหล่าศิลปิน ร่วมถ่ายรูปกับพ่อท่าน

หลังจากนั้น นศ.คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร บรรเลงเพลง บริเวณลานหิน แม้ว่า ขณะบรรเลง ฝนจะตกลงมา แฟนเพลง ก็ยังคงเหนียวแน่น จึงย้ายลงมาใต้พระวิหาร ๑๖.๐๐ น. รายการจึงยุติลง และ รับของที่ระลึก จากพ่อท่าน

ที่มาของการจัด นิทรรศการครั้งนี้ คุณพิเศษ โพพิศ ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการ กำลังหาชุมชน ที่เหมาะสม เพื่อร่วมแสดง ศิลปะกับชุมชน บังเอิญมีโอกาส เข้ามาที่ชุมชนสันติอโศก และได้พูดคุย กับคุณไม้ร่ม ถึงโครงการดังกล่าว และ ได้กราบเรียน ปรึกษากับพ่อท่าน ซึ่งพ่อท่านได้อนุญาต หลังจากศิลปิน ในโครงการ ได้มาพูดคุยกับพ่อท่าน อีกครั้งหนึ่ง และ บางส่วน ได้พักค้างในชุมชน ๑ คืน เพื่อหาแรงบันดาลใจ ในงานศิลปะที่ สอดคล้อง กับชุมชนแห่งนี้ และนำผลงาน มาติดตั้ง เมื่อ เม.ย. ๔๕ และจัดทำสิ่งพิมพ์ และสูจิบัตร ในเวลาต่อมา

มีศิลปินทั้งหมด ๒๒ ท่าน เป็นศิลปินจากชุมชน ๔ ท่าน และจากโครงการ ๑๘ ท่าน งานภาพเขียน ได้นำมาแสดงไว้ บริเวณ ใต้โบสถ์ ซึ่งมีการปรับปรุง เป็นแกลอรี่ เปิด ๔ ด้าน ปูด้วยหินแกรนิต สวยงาม ส่วนงานศิลปะ ได้แสดงไว้ ทั่วบริเวณ รอบๆ พระวิหาร ซึ่งได้นำมาวางไว้ได้ อย่างเหมาะสม สวยงาม กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นในน้ำ บนพื้นทราย ใต้ต้นไม้ บนก้อนหิน ซึ่งแต่ละชิ้น บ่งบอกถึงวิถีชีวิต และฝากคำถาม ถึงชาวชุมชนแห่งนี้

ผู้ใดสนใจ สามารถ มาชมได้ โดยจะจัดแสดง ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๓๐ มิ.ย. ๔๕

และวันนี้ ภาพของหนุ่มผมยาว สาวเอวลอย ดูแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก กับชาวชุมชน ที่แต่งตัวเรียบง่าย ด้วยไมตรี ที่มีต่อกัน ด้วยความรัก และเข้าใจ ขอเชิญชวนทุกท่าน ที่สนใจ หาซื้อสูจิบัตรของงาน เก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะนี่คือ ประวัติศาสตร์ การทำงานของชาวอโศก ที่สัมพันธ์กับศิลปินภายนอก อย่างเป็นรูปธรรม

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อโศกรำลึก
วันอโศกรำลึกยังนึกถึง
ใครคนหนึ่งซึ้งในดวงใจฉัน
มาจากไหนอย่างไรเป็นใครกัน
สั่งสอนฉันหลายอย่างทางนิพพาน

พูดเช่นไรทำได้เหมือนเช่นนั้น
ย้ำยืนยันมรรคผลคนกล่าวขาน
เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน
ท่านทำงานโพธิสัตว์อย่างชัดเจน

เริ่มจากหนึ่งจึงเป็นพันในวันนี้
สร้างคนดีชี้ทางอย่างเหมาะสม
ถือศีลเด่นเกื้อกูลบุญนิยม
เกิดสังคมมังสวิรัติอัศจรรย์

วันอโศกรำลึกให้นึกถึง
พ่อท่านซึ่งซึ้งในดวงใจฉัน
สมณะโพธิรักษ์รู้ทั่วกัน
ผู้สร้างสรรชุมชนแดนคนดี

แด่ธรรม คนึงสัตย์ธรรม

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เทศกาลวังชีวิตที่บ้านราชฯ
พิจารณาหลักสูตรสัมมาสิกขา
พ่อท่านเน้นให้ลดช่องว่างระหว่างวัย

วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๖.๐๐ - ๙.๐๐ น. คุรุทุกพุทธสถาน ประชุมพิจารณา ร่างหลักสูตร สัมมาสิกขา แต่ไม่เสร็จ จึงต้องประชุมต่ออีก ในช่วง ๑๒.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. ขณะที่ ชาวชุมชนราชธานีอโศก ประชุมชุมชนกัน

๑๔.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. ประชุมคุรุสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เป็นการรายงานของทุกเขต นำเสนอ วิธีให้การศึกษา นิสิตแต่ละแห่ง ดร.ขวัญดีก็เล่าถึง สถานการณ์ปัจจุบัน มีหลายกลุ่มองค์กร ที่กำลัง จัดการศึกษา แบบทางเลือกอยู่ ทางของเรา ก็มีคนสนใจ แต่ยังไม่มีท่าทีสนับสนุน

เย็น มีรายการเอื้อไออุ่น โดยพ่อท่านพูดคุย ตอบปัญหาต่างๆ มีคำถาม จากนักเรียนหญิง คนหนึ่ง พูดถึงช่องว่าง ระหว่างวัย พ่อท่านได้ตอบ แล้วแต่เห็นว่าเป็นประเด็น ที่น่าจะยก ขึ้นมาย้ำ ให้พวกเรา ได้คำนึงถึง ให้มากๆ ว่า พวกเราจะต้องประสาน ไม่มีช่องว่าง

สอบสัมภาษณ์ว่าที่นิสิต
๔.๐๐ น.พ่อท่าน หมู่สมณะ สิกขมาตุ และคุรุจากสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เขตต่างๆ มาพร้อมกัน ที่เฮือนศูนย์สูญ ชั้น ๓ แล้วจึงได้ทำการสอบสัมภาษณ์ โดยเริ่มจาก เขตสีมา อโศก มีผู้สมัคร ๑๐ คน

เขต ศาลีอโศก มีผู้สมัคร ๑ คน เขตสันติอโศก มีผู้สมัคร ๕ คน เขตศีรษะอโศก มีผู้สมัคร ๙ คน เขตราชธานีอโศก มีผู้สมัคร ๘ คน และเขตปฐมอโศก มีผู้สมัคร ๑๙ คน รวมทั้งหมด ๕๒ คน ใช้เวลาสอบจนถึง ๑๐.๔๕ น.จึงเสร็จ

ผลปรากฎว่า มีผู้สอบผ่านทั้งสิ้น ๕๐ คน ไม่ผ่าน ๒ คนเนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบ (เป็นญาติธรรม ใหม่ มาอยู่ประจำ ไม่ถึง ๑ ปี )

รายการบรรยายพิเศษเรื่อง "อาหารมนุษย์ " โดย ดร. อารีย์ ประวัติท่านเคยเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด แต่เกิดป่วย เป็นโรค มะเร็ง จึงกลับมารักษาด้วยตนเอง จนหาย ปัจจุบันกินอาหาร มังสวิรัติ วันละ มื้อเดียว พักอยู่ที่ ไร่มะขามเปรี้ยว จังหวัดสกลนคร ตลอดเวลาการบรรยาย ตั้งแต่ ๑๓. ๑๕ - ๑๖.๐๐ น. ทุกคนต่างตั้งใจฟังกัน อย่างร่าเริงเบิกบาน อาจารย์เอง ก็รู้สึกยินดี ที่จะบรรยาย หรือตอบปัญหา ต่อไป ( ท่านยืนยันว่า สามารถจะพูดต่อได้ถึง ๑๘ ชั่วโมง) ถ้าไม่ติด ที่จะมีรายการ ล่องเรือไป ไวพลัง จึงตกลงว่า ท่านจะบรรยายต่อในช่วงค่ำนี้ให้อีก เพราะคืนนี้ ก็จะค้างอยู่ที่นี่ด้วย

ล่องนาวาฝ่าลมฝน
พี่น้องนิสิตทั้งเก่าและใหม่รวมทั้งชาวชุมชน แม้คนสูงอายุต่างมีไฟ หลังฟังการบรรยาย ของหมอ จึงร่วมลงเรือไปด้วย ซึ่งบรรยากาศก็สนุกสนาน เพราะมีการตีกลองร้องเพลง คุณหมอก็ร้องด้วย อย่างเป็นกันเอง เสียดายที่มีฝนตก จึงต้องรีบกลับ แต่ก็ถือเป็น ความโชคดีอีก เพราะได้ฟัง คุณหมอ บรรยายต่อ เริ่มตั้งแต่ ๑๙.๓๐ - ๒๑.๑๐ น.

๕ มิถุนายน ๒๕๔๕ ทำวัตรเช้า
วันนี้เป็นวันเกิด ชุมชนราชธานีอโศก วันเกิดสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต และ วันสิ่งแวดล้อมโลก

อีกทั้งเป็นวันคล้ายวันเกิด พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ด้วย แต่พ่อท่านไม่ได้เทศน์ เกี่ยวกับ วันเกิดตัวเอง พ่อท่านเล่าว่า บ้านราชฯเกิดมาได้ ๘ ปีเต็ม ตอนแรกคิดจะสร้างตึกนี้ เป็นห้องสมุด รวบรวมสรรพตำรา ไม่รู้ว่า จะให้ต้องมาลำบาก น้ำท่วมขนาดนี้ จำเป็นต้อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ไปตามสภาพ ความเหมาะสม อย่างชั้นล่างนี่ คิดไว้จะทำเป็น ที่จอดรถ ก็กลับกลายมาเป็น ศาลา อเนกประสงค์ การศึกษาม.วช. เริ่มปี ๒๕๓๙ แต่ในความเป็นจริง พวกเรามีการศึกษา มาโดยตลอด คือ

มีการฟังธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนการฟังเล็คเชอร์ พระพุทธเจ้าของเรา กว่าจะได้เกิดมาเป็น พระพุทธเจ้า ก็ได้เคยเกิดมา เพื่อศึกษามาก่อน และได้พบ ได้ศึกษา มาจากพระพุทธเจ้า องค์ก่อนๆ แล้วตั้ง ๕๑๒,๐๒๘ พระองค์ จึงได้ตรัสรู้ และมาสอนคน ให้ศึกษาปฏิบัติตาม

ในช่วงนี้เรากำลังเผชิญกับมิตรที่เพิ่มขึ้น จึงต้องพยายามประสาน อย่าให้มีช่องว่าง ระหว่างวัย ในสังคม เขายอมรับว่า เป็นธรรมดาที่ต่างกัน จนแตกแยก ซึ่งโดยสัจจะ เป็นความแปลกต่าง แต่พวกเรา ต้องพยายาม อยู่ร่วมกันให้ได้ ขนาดหนังสือ เราคิดอะไร ฉบับใหม่ ก็ยังตั้งชื่อ ว่า

" โลกทุกข์ร้อนเพราะความแตกแยก โลกสดสวยเพราะความแปลกต่าง "

โฮมแฮงเนื่องในวัน สิ่งแวดล้อมโลก
นิสิตใหม่ไปช่วยกันปลูกมะละกอ ๑๐๐ ต้นที่สวนไวพลัง ก่อนกลับมาใส่บาตรในชุมชน

พิธีแจกบัตร และ เข็มนิสิตกับคุรุใหม่
พ่อท่านรับฟังคำกล่าวรายงาน ของรองประธานกรรมการ สัมมาสิกขาลัย ( ดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ) ก่อนการมอบเข็ม ให้คุรุใหม่ เขตสีมาอโศก ๔ คน และมอบบัตรกับเข็ม ให้นิสิตใหม่ ๕๐ คน

เสร็จแล้วให้โอวาท แสดงความยินดีกับคนที่กล้า เข้ามาอยู่ในกรอบ ในกฎระเบียบ พุทธจะต้องรู้ ต้องมีทั้งสมมุติ และปรมัตถ์ พุทธชีวศิลป์ แปลว่า ศิลปะในการยังชีวิต แบบพุทธ จึงครอบคลุม ไปทุกๆวิชา

จากนั้นพลตรีจำลอง ศรีเมือง ในฐานะประธานกรรมการ สัมมาสิกขาลัย ได้ขึ้นมา กล่าวย้ำ ให้กำลังใจ นิสิตอีกว่า เรามาศึกษาเพื่อรู้ ไม่ใช่ต้องการ จะเอาใบ ไปขึ้นเงินเดือน ขอให้ตั้งใจว่า

เราคือใคร เรียนเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อหวังลาภ ยศ

แสดงความจริงจากใจ
นิสิตแต่ละเขตออกมาร้องเพลง แสดงในช่วงรับประทานอาหาร สื่อสัญญาว่า จะสืบสาน อุดมการณ์ โดยจะตั้งใจพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

อำลา
ประมาณ ๑๓.๓๐ น.จบรายการแล้วต่างทยอยลากันกลับ

สัมภาษณ์
นายสาธิต ฉิมพลี
(เต็มฟ้า ) อายุ ๑๙ ปี นิสิตปี ๑ เขตสันติอโศก ทำงานด้านการศึกษา สอนนักเรียน สสสอ. วิชาคณิตศาสตร์ ที่มาเป็นนิสิต เพราะคิดมา ๑ ปีแล้ว เห็นว่า เส้นทาง สายนี้ล่ะ ที่ดีที่สุด และตั้งใจจะสร้างเด็ก ให้เป็นคนดีของชาวอโศก

นางกรุณา อโศกตระกูล อายุ ๗๒ ปี นิสิตปี ๒ เขตสันติอโศก มางานปีนี้ รู้สึกอบอุ่นมาก กับคำถามฮิตๆ เรื่อง ช่องว่างระหว่างวัย นั้น ไม่มีเลยค่ะ เขตสันติฯนี่ มีแต่ความ เป็นพี่ เป็นน้อง

คุรุขวัญดิน สิงห์คำ เขตศีรษะอโศก อยากฝากนิสิตเก่าให้เพิ่มอธิศีล เพราะการเป็นนิสิต ไม่มีอะไร สำคัญกว่านี้ และเพิ่มการปฏิบัติ ให้มากกว่านี้ นิสิตใหม่ ควรมีอิสระ ในการเลือก ที่จะศึกษาว่า สนใจอะไร และเอาจริงเอาจัง เรื่องศีลนั่นแหละ

นางแรงฟ้า ชาวหินฟ้า อายุ ๗๒ ปี นิสิตปี ๑ เขตปฐมอโศก ที่สมัครเข้าเป็นนิสิต เพราะเป็นคน ชอบการศึกษา เวลาพ่อท่านเทศน์ ก็จดทุกที วันสัมภาษณ์ ก็ตื่นเต้นดี รู้สึกประทับใจ ที่สมณะ ถามว่า ไหวหรือเปล่า....สู้ไหวมั้ย ? ... ป้าตอบว่า สู้ไหวค่ะ! เรื่องช่องว่างระหว่างวัย ไม่มีปัญหา เพราะอยู่กับวัยรุ่น ทำให้เราเป็นวัยรุ่นไปด้วย

สิกขมาตุพูนเพียร เขตปฐมอโศก เห็นว่า ม.วช.ก่อหวอดมานาน แต่ก็ดูไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน เราควรภูมิใจ ในความเป็นนิสิต และเป็นให้ได้ยาวนาน หากมีการปรับเปลี่ยน จากที่เคย ตกลงกัน เราต้องพร้อม ที่จะเปลี่ยนแปลง

สิกขมาตุนวลนิ่ม เขตสีมาอโศก ให้ข้อคิดว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีเขตสีมาอโศก เป็นนิสิตใหม่ ต้องทำกิจวัตร กิจกรรม ขาดกิจวัตรไปไม่รอด ขาดกิจกรรมจะไม่โต เพราะกิจวัตร คือประโยชน์ตน กิจกรรม คือประโยชน์ท่าน ต้องทำให้ครบ นิสิตเก่า ต้องอ่อนน้อม เข้าไปหานิสิตใหม่ และ ไม่ควรขาด กิจวัตร กิจกรรม

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชมร.เชียงใหม่ นัดพบญาติธรรมทั่วภาคเหนือ
แจกอาหารฟรี ครั้งที่ ๓ คึกคักมากกว่าเดิม
ลูกค้าหลายคนสงสัยบุญนิยมเป็นอย่างไร?

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ พ.ค. ๒๕๔๕ ที่ชมร.ช.ม.ได้มีการรวมญาติพี่น้องกันอีกครั้ง เพื่อช่วยกันทำบุญ ถวายอาหารสมณะ และแจกอาหารฟรี ที่ ชมร.ช.ม. โดยมิได้ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแก่ลูกค้า ปกติปลายเดือน จะมีลูกค้ามาอุดหนุนกันบางตา แต่วันนี้ มีมามาก โดยเฉพาะ ในช่วง ๑๑.๐๐-๑๓.๓๐ น.

การจัดโรงบุญฯวันนี้ บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง มีความสุขทั้งผู้รับและผู้ให้ อาหารก็ปรุงจาก พืชผักไร้สารพิษจริงๆ จึงเป็นความภูมิใจ ของชาว ชมร.ช.ม.ที่พยายามอย่างยิ่ง ที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพ่อท่าน โดยเฉพาะ การแจกฟรี ซึ่งเป็นการค้า แบบบุญนิยม ระดับ ๔ ซึ่งเป็น ขั้นสูงสุด ให้ได้ในชาตินี้

วันนี้ก็ยังแจกฟรี แต่มีเงื่อนไขว่า ลูกค้าท่านใดต้องการนำอาหารกลับบ้านต้องซื้อคูปอง

และสิ่งที่เราประคับประคองมาได้หลายปีก็คือ การรณรงค์ให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหาร และเราบริการห่อใบตอง เมื่อต้องการ นำกลับบ้าน

จากประสบการณ์ ๒ ครั้งที่ผ่านมา ทำให้มีข้อบกพร่องน้อย และจากการประชุมสรุปงานครั้งนี้ พอสรุปได้ว่า ครั้งนี้มีส่วนที่ พัฒนากว่า ๒ ครั้ง ที่ผ่านมา และถือเป็นครั้งแรก ในการแจกอาหารครั้งนี้คือ

๑.การส่งจดหมายเชิญญาติธรรมเก่าที่ห่างหายไปนานจำนวน ๑๐๖ ฉบับ ซึ่งมีผลให้มาร่วมงาน ๔๓ ท่าน

๒.กางเต๊นท์ให้บริการล้างจาน-ล้างใจ มีทั้งชุด (ล้างจาน) ใหญ่และเล็ก

๓.ติดประกาศป้ายโรงบุญฯ ในเย็นวันที่ ๓๐ พ.ค.๔๕ มีข้อความใหม่ว่า

บุญนิยม ระดับ ๔ คือ แจกฟรี!
ขอเชิญรับประทานอาหารมังสวิรัติ ฟรี! วันนี้
ปรุงจากผัก ไร้สารพิษ ทั้งหมด
เพื่อฟ้าดินกินผักพื้นบ้าน...อาหารพื้นเมือง...ไม่เปลืองเศรษฐกิจ

๔.นร.สัมมาสิกขาฯ จากภูผาฟ้าน้ำจำนวน ๑๐ คนมาช่วยงานโรงบุญฯ

๕.ญาติธรรมจาก กทม.ที่มาเข้าคอร์สมหัศจรรย์ที่ภูผาฯมาช่วยงาน

๖.กรณีลูกค้าต้องการทำบุญ จะแนะนำให้ซื้อผักที่ตลาดไร้สารพิษ หรือของแห้งจากห้องขายของ (บางรายซื้อข้าวสาร เพื่อฝากหุง ถวายสมณะ ที่ภูผาฯด้วย)

๗.ทำการถ่ายวิดีโอในงานตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น.เป็นต้นไป

๘.มีนาทีทองแจกผักไร้สารพิษแก่สมาชิกในช่วง ๑๔.๐๐ น.

๙.ได้รับผักไร้สารพิษมากมายจากดอยแพงค่า ลานนาอโศกและญาติธรรมนำมาบริจาค ทำให้อาหาร ในโรงบุญฯ ครั้งนี้ ล้วนทำมาจาก ผักป่า - ผักพื้นบ้าน และผักก็ยังเหลืออีก เป็นจำนวนมาก ขนาดสามารถนำมา ทำอาหารแจกได้อีก ๑ วันทีเดียว

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ลูกค้าสตรีชาวต่างชาติ ๒ ท่าน ซึ่งรายหนึ่งบอกว่า มาทานบ่อย อาหารอร่อยมาก ไม่รู้ว่าจะมี การแจกอาหารฟรี รู้สึกแปลกใจมาก และยังได้ถามเหตุผลว่า ทำไมแจกฟรี

ส่วนรายที่ ๒ เมื่อเอ่ยถึงวันงดบุหรี่โลก (NO SMOKING DAY) เธอบอกว่า ยังสูบบุหรี่อยู่ ทางประชาสัมพันธ์ของชาวเรา จึงชักชวนให้เธอ งดสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพด้วย

ลูกค้ารายที่ ๓ ซึ่งเป็นคนไทย เอ่ยถึงอาหารที่ปรุงจากผักพื้นบ้านว่า เป็นอาหารดีมาก ทานได้ดี ส่วนตัวชอบสลัดสมุนไพร และอยากให้ ชมร.ช.ม. ทำตำราแจกด้วยว่า มีผักอะไร และ น้ำสลัดทำอย่างไร

นอกจากนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ชมกิจกรรมโรงบุญฯว่าดี ขอให้ทำต่อไป จะให้ความร่วมมือ และขอร่วมทำบุญด้วย

นี่แหละคือ สิ่งที่พวกเราชาวอโศก กำลังพิสูจน์สัจธรรม ที่ว่า "ยิ่งให้ไปยิ่งได้มา"

นักข่าว เบอร์จู๋น รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

ชาวอโศกเห็นใจชาวกรุง
ร่วมกับมหาจำลองเปิดสวนไผ่สุขภาพ
จำหน่ายพืชผักผลไม้ไร้สารพิษกลางใจเมือง

เมื่อวันที่ ๓ มิ.. ๔๕ มีงานเปิดร้านอาหาร "บ้านสวนไผ่สุขภาพ" กลางกรุงเทพมหานคร บนถนนพหลโยธิน ติดกับธนาคารทหารไทย สาขา สนามเป้า จำหน่ายอาหารมังสวิรัติ และอาหารเพื่อสุขภาพ ควบคุมดูแลโดย พล.ต.จำลอง และ พ.ต.หญิงศิริลักษณ์ ศรีเมือง และร้านค้ากู้ดินฟ้า ๓ จำหน่ายพืช ผัก-ผลไม้ไร้สารพิษ ซึ่งเป็นผลผลิต จากสมาชิก เครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) อยู่บริเวณภายนอก ของร้านอาหาร

ในวันนี้ได้นิมนต์สมณะ-สิกขมาตุ จากพุทธสถานสันติอโศกและปฐมอโศก มาฉันภัตตาหาร มีสมณะ เพาะพุทธ จันทเสฎโฐ แสดงธรรม ๑ กัณฑ์

 

ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ -๑๔.๐๐ น. มีการแจกอาหารฟรี ทั้งในส่วนของร้านอาหาร และ ร้านกู้ดินฟ้า ๓ มีประชาชน มาร่วมรับประทาน อาหารมากมาย ประมาณ ๕๐๐ คน จนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ ไม่เพียงพอ แทบจะเป็น เกมเก้าอี้ ดนตรีทีเดียว หลังจากรับประทาน อาหารเสร็จแล้ว ประชาชนให้ความสนใจ แวะมาเลือกซื้อ พืชผัก-ผลไม้ จำนวนมาก เช่นกัน หลายคนบอกว่า ดีใจมากที่มีร้านอาหารมังสวิรัติ อยู่ในย่านนี้ ทำให้สะดวก ในการรับประทาน

ร้านอาหารเปิดจำหน่ายทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐-๒๐.๐๐ น. ไม่มีวันหยุด ในส่วนของ ร้านกู้ดินฟ้า ๓ เปิดจำหน่าย ตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐-๑๔.๐๐ น.หยุดทุกวันจันทร์

 

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้เปิดเผยกับข่าวอโศก ถึงการเปิดร้านอาหาร ในครั้งนี้ว่า

"เกือบครบ ๒๐ ปี (เริ่ม ๑๙ มิ.ย. ๒๕) ที่ผม คุณศิริลักษณ์ และคณะ ที่เริ่มไปเปิดขาย อาหาร มังสวิรัติ ที่จตุจักร ซอย ๔ แล้วก็ขยับขยายเรื่อยมา จนเป็นร้านให้ใหญ่ ในทุกวันนี้ ประกอบกับ มีญาติธรรม จำนวนมาก สนับสนุน เลยทำให้ มีร้านอาหารมังสวิรัติ เผยแพร่ไป ในทั่วทุกภาค ของประเทศ ซึ่งผมถือว่า เป็นรอบแรก ที่ใช้เวลา ๒๐ ปี ต่อไปนี้ ก็เป็นรอบที่ ๒ ที่เราอยาก จะสนับสนุน ให้มีสถานที่ ที่ครบวงจร ในการเสริมสร้างสุขภาพ ให้กับประชาชน เริ่มตั้งแต่ ให้คำแนะนำ ว่าทำอย่างไร เราจึงจะมีสุขภาพที่แข็งแรง อายุยืน ซึ่งไม่คิดมูลค่า พอถึงเรื่องอาหาร เราก็มีอาหารแปรรูปขาย และทำอาหาร มังสวิรัติที่นั่น เมื่อพูดถึง การที่จะทานเนื้อสัตว์ ให้น้อยลง ทานผัก-ผลไม้ ให้มากขึ้น เราก็มีผักผลไม้ ไร้สารพิษ ๑๐๐% คือ ปลูกโดยไม่ใช้ สารเคมีทุกชนิด และ มีการฝึกจี้กง -โยคะ ในที่นั้นด้วย รวมถึงการนั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบ ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นเรื่อง จำเป็น สำคัญสำหรับคน ที่ต้องการ มีอายุยืน นั่นก็คือ ๑. ต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ๒. มีการ ออกกำลังกาย ๓. ทำจิตให้สงบ เราก็มีความเชื่อมั่นว่า ในโอกาสต่อๆ ไป ก็คงมีคนที่พร้อมที่ จะสร้าง สถานที่อย่างนี้ ซึ่งเราถือว่า เป็นการช่วยประชาชน ได้อย่างมาก ถึงแม้รัฐบาล จะมีโครงการ ๓๐ บาทรักษาโรคทุกโรคแล้ว ถ้าไม่เสียอะไรสักบาท และประหยัด งบประมาณ ไปทางอื่น จะดีกว่า ผู้คนก็จะได้ไม่ต้องเจ็บป่วย ซึ่งทรมาน เสียเวลา เสียทรัพย์

วันนั้นมีคนไปมากกว่าที่เราคิดด้วยเต็มไปหมด คล้ายๆ เกมเก้าอี้ดนตรีทีเดียว และเป็น อีกขั้นหนึ่ง ของร้านอาหาร มังสวิรัติ ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพราะบริเวณนั้น โดยรอบ เป็นตึกสูงๆ เป็นที่ทำงาน ของผู้ที่ใส่เสื้อผ้า ชุดสากล ถ้าจะให้เขามากิน แบบที่เรา เคยขายอย่างเก่า เหงื่อไหลไคลย้อย คงจะไม่ดี และวันนั้น ก็แจกถึงเย็น ส่วนที่เขาจะซื้อ ก็คืออาหารแปรรูป และผักผลไม้ไร้สารพิษ จากร้านกู้ดินฟ้า ๓ ซึ่งมาจากสมาชิก เครือข่ายฯ โชคดีว่า แม้เราจะอยู่ในทำเลทอง แต่คนก็ยัง ไม่ค่อยรู้ ดังนั้นผักผลไม้ เราก็ยังไม่มากนัก ก็สมน้ำสมเนื้อกัน สะดวกสบาย ในการเดินทาง มีทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้าผ่าน หรือจะไปรถ ส่วนตัว ก็มีที่จอดรถ กว้างขวางเพียงพอ

อยากจะให้พวกเราเน้นในเรื่องสุขภาพกันให้มากๆ การเผยแพร่ธรรมะ น่าจะนำโดย การส่งเสริม ให้ประชาชน มีสุขภาพดี และแทรกธรรมะ เข้าไป ดีกว่าที่จะพูดเรื่อง ธรรมะแง่เดียว ถ้าทำอย่างนี้ โรคภัยไข้เจ็บจะน้อย คนก็จะหันมาสนใจ เรื่องธรรมะ มากขึ้น เพราะเราเริ่มด้วย เรื่องที่ใกล้ตัวเขา ก่อนก็คงจะดี"

 


มหาจำลองเปิดร้านมังสวิรัติ

มหาจำลองเปิดร้านอาหาร "บ้านสวนไผ่สุขภาพ" แล้ววันนี้จำหน่ายอาหารมังสวิรัติแปรรูป เสริมสุขภาพ และผลไม้ ปลอดสารพิษ พร้อมเตรียมโครงการ บริการส่งพื้นที่ทำงาน ภายในพื้นที่ รัศมี ๑ กิโลเมตร จากที่ตั้งร้าน

กรุงเทพฯ - พลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดร้านอาหาร "บ้านสวนไผ่ สุขภาพ" แล้วเมื่อเช้าวานนี้ (๓ มิ.ย.) บริการจำหน่ายอาหารมังสวิรัติ โดยมีพ.ต. (หญิง) ศิริลักษณ์ ศรีเมือง ประธานชมรม มังสวิรัติแห่งประเทศไทย เป็นผู้ควบคุม ซึ่งอาหารที่ทำ จะเน้นประเภท ผักปลอดสารพิษ และบริการ ข้าวต้ม กับซุบสุขภาพ โดยในร้าน จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ จากกระทรวง สาธารณสุข และชมรมอยู่ร้อยปีชีวีเป็นสุข คอยให้คำแนะนำ เรื่องสุขภาพ และโภชนาการ เป็นพิเศษ

นอกจากนี้ บ้านสวนไผ่สุขภาพ ยังมีโครงการจัดจำหน่าย อาหารมังสวิรัติ โดยบริการ ส่งอาหาร กลางวัน ถึงที่ทำงาน หรือบ้านเรือน ในรัศมีจากบ้านสวนไผ่สุขภาพ ๑ ก.ม. ซึ่งจะครอบคลุม ที่ทำงาน บริเวณ กระทรวง การคลัง อนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิ และ สะพานควาย ซึ่งนอกจาก จะจำหน่ายอาหาร สำเร็จแล้ว ยังจำหน่าย ผัก-ผลไม้ ปลอดสารพิษ อาหารแปรรูป และ อาหาร เสริมสุขภาพ อาทิซุปสุขภาพ เครื่องดื่ม ไอศกรีม ทำจาก ธัญพืช และ สมุนไพรอีกด้วย

บ้านสวนไผ่สุขภาพ ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ระหว่างซอย ๔-๖ ซึ่งเปิดบริการ ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐-๒๐.๐๐ น. ผู้สนใจ สั่งซื้ออาหารกับ บ้านสวนไผ่สุขภาพ สามารถติดต่อ สอบถาม ได้ที่โทรศัพท์ ๐-๑๙๒๔-๔๔๔๘, ๐-๒๖๑๕-๑๕๘๓ และ ๐-๒๖๑๕-๒๔๕๔

(จากน.ส.พ.อาทิตย์ ๓ มิ.ย. ๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,500 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]