ฉบับที่ 187 ปักษ์หลัง 16-31 กรกฎาคม 2545

[01] บทนำข่าวอโศก: ส่วนหนึ่งของการกู้ชาติ
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "ดอกผลของคน
[03] งานธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์
[04] ทักษิณอโศกรับบุญหนัก ช่วยงานพัฒนานิสิตบัณฑิตฯ
[05] กสิกรรมธรรมชาติ การทำกสิกรรมธรรมชาติให้ประสบผลสำเร็จ (ตอน๑)
[06] สกู๊ปพิเศษ: สัมภาษณ์สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] ข่าวสั้นทันอโศก : ชมร.เชียงใหม่แจกอาหาร ครั้งที่ ๕:
[08] ศูนย์สุขภาพ : การกดจุดฝ่าเท้าด้วยตนเอง
[09] นางงามรายปักษ์ : นางจงกล สุคันธนาค
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] ข่าว: ภูฟ้าเสียชีวิตด้วยโรคฉี่หนู
[12] นานาสาระ:บางจากเริ่มลืมตาอ้าปากทำกำไร, พบอาหารสารปนเปื้อน ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์โดนด้วย
[13] ดีเด่นดังเหนือ อีสาน ใต้ ได้รางวัลครูภูมิปัญญาไทย
[14] ซิบกับศีรษะอโศกจัดงานตุ้มโฮม ร่วมกับสภาพัฒนาภูมิปัญญา มหาวิชชาลัยฯ ระดมปราชญ์ชาวบ้านอีสานกู้ชาติ
[15] :โรคฉี่หหนู (เลปโตสไปโรซีส)


ส่วนหนึ่งของการกู้ชาติ

เมื่อก่อนงาน "ธารน้ำใจ..." ที่ชุมชนสันติอโศก นิสิต ม.วช. ของสันติอโศกกลุ่มหนึ่ง ได้ออกนอกชุมชน ไปซื้อของ ที่จะนำ มาใช้ ภายในชุมชน

รุ่นพี่ที่นำไปหาซื้อของได้พยายามซื้อสินค้า จากร้านของคนไทยก่อน เพื่อเป็นการช่วยชาติ ในปัจจุบัน ที่เป็นหนี้สิน คนต่างชาติ เป็นจำนวนมาก

มีสินค้าบางตัว ที่หาซื้อจากร้านของคนไทยไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเข้าห้างใหญ่ของต่างชาติ

เราขอชื่นชมในอุดมการณ์ของนิสิตกลุ่มนี้ อันเป็นการช่วยประเทศชาติ ด้วยการแสดงออก ในทิศทางชาตินิยม และเป็น แบบอย่าง กับสังคม ที่นับวัน จะหาได้ยากยิ่ง ขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนส่วนใหญ่ จะนิยมความสะดวกสบาย จนไม่คิดถึง ผลกระทบ ด้านเสียหาย ที่จะมาถึงคน และประเทศชาติ อย่างมีวิสัยทัศน์ที่ดี

นี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เมื่อไหร่ชาวเรา จะเข้าไปเติมน้ำมัน จากปั๊มของคนไทยก่อน เป็นปกติ แล้วเราก็จะเป็นส่วนหนึ่ง ของการกู้ชาติ

อย่าลืมว่า! ไทยต้องตกเป็นทาส เพราะไม่มีชาตินิยม.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ดอกผลของคน

ธรรมะพ่อท่านฉบับนี้ เราขอแนะนำท่านผู้อ่านพบกับธรรมะบรรยายตอนหนึ่งของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ที่บรรยาย เกี่ยวกับเรื่อง ชีวิตคนเกิดมา ต้องทำงานสร้างสรร สร้างตน ให้คนมีคุณค่าเพิ่มขึ้น

จะเพิ่มขึ้นอย่างไร ก็โปรดติดตามจากธรรมะพ่อท่าน ฉบับนี้ได้ ดังนี้

"...เพราะฉะนั้นเราต้องวางใจ เหมือนเรามานั่งทำวัตรนี่มันเป็นทุกข์ จนกระทั่งเราวางใจ มากที่สุด มันถึงทุกข์น้อยที่สุด ที่ไม่ทุกข์จริงๆน่ะ มันไม่มีอะไรเลย นั่นนะไม่ทุกข์อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย

ไม่มีอะไรเลยก็ไม่ใช่ว่าอยู่เปล่าๆ

ถ้าเราคิดอย่างนั้นก็เป็นการโง่ซ้อน

การอยู่เปล่าๆนั้นก็ถือว่าไม่ทุกข์ นั่นเป็นการขบถ ชีวิตของเรายังไม่ตาย แล้วอยู่เปล่าๆได้ยังไง มันเป็นการขบถต่อชีวะ เป็นการขบถ ต่อชีวิต

ต้นไม้มันยังทำงานของมัน หน้าที่ของมัน แล้วเราเป็นคนไม่ออกดอกออกผลอะไร ให้อะไรแก่ใคร หรือ แก่โลกเลย แล้วนั่งกิน ซะด้วย นั่งกิน นั่งดูด นั่งดื่มอะไรเสียด้วย มันขบถ ต่ำกว่าต้นไม้ อย่างว่าต่ำกว่าวัว กว่าควายเลย เพราะวัวควาย มันยังสร้างสรร ทำงานทำการ คนเอามันมาฝึก มันก็เป็นสัตว์ที่ มีประโยชน์คุณค่า เป็นบุญ เป็นกุศลของมัน มันก็ดี ก็ประเสริฐ สมฐานะวัวควาย

ดังนั้น เราเป็นคนไม่สูงกว่าวัวควาย ไม่สูงกว่าต้นไม้ได้อย่างไร

มันจึงต้องขวนขวายสร้างสรร มันจะดีอะไรก็อยู่ที่การทำงาน

เราสังเคราะห์เพราะกินข้าวกินอาหารเข้าไปสังเคราะห์อะไรนี่ สังเคราะห์ออกมา ก็เหลือแต่ขี้ แต่เยี่ยว กินเข้าไปแล้ว ออกดอก ออกผล ตรงไหนเนี่ย ผลมันก็ออกงอกตรงหัว อ้าว!คุณมาเอาดอกไปกิน เอาใบไปกิน ไปใช้งั้นเหรอ! ไม่มีนะ ไม่มีงอกออกมา แบบต้นไม้หรอก มีแต่ขี้เหงื่อ ขี้ไคล มีแต่ขึ้แต่เยี่ยว ไม่ได้เป็นเหมือนต้นไม้นะ แล้วถ้าใช้แรงงาน ก็เหมือนวัว เหมือนควายได้

เพราะฉะนั้น คนก็ต้องดีกว่าต้นไม้ คือ ไม่ได้เป็นดอกผล เหมือนอย่างต้นไม้ แต่เป็นดอกผล แห่งผลผลิต เป็นผลผลิต จากแรงงาน นี่เป็นการสร้างสรร ที่มันต้องดีกว่าต้นไม้ มันต้องดีกว่าวัวควาย เพราะฉะนั้น ผู้ใดบอกว่าไม่มี คือการอยู่เฉยๆ นั่นคือ การขบถไร้ปัญญา ไม่รู้ฐานะของตน ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะฉะนั้น ถึงบอกว่า คนต้องดีที่สุด ตรงที่กรรม การงาน หรือ การสร้างผลผลิต สร้างสรรสิ่งที่ดีนี่แหละ คือ ดอกและผล ของการเกิดมา มีชีวิตเป็น "คน".

โพธิ รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

งาน "ธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์"
ศิลปินมาแสดงน้ำใจคับคั่ง
ยอดบริจาคเปลี่ยนไตทะลุเป้า

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ ก.ค. ๒๕๔๕ ณ ชุมชนสันติอโศก ได้จัดงาน ธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ เป็นครั้งที่ ๒ เพื่อหาเงินช่วยเหลือ เป็นค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล เพื่อเปลี่ยนไต ของคุณวัชราภรณ์ หลังจากที่เคยจัดมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมา (๒๐ มี.ค. ๒๕๔๒) ซึ่งในครั้งนั้น ได้รับเงินบริจาค เพื่อการเปลี่ยนไต รวมทั้งสิ้น ๔ แสนบาท

เมื่อครั้งที่ยังมีสุขภาพดี ทางสมาคมผู้ปฏิบัติธรรมจัดงาน หรือจัดทำเท็ปเพลง คุณวัชราภรณ์ ได้ให้เกียรติ มาร่วมร้องเพลง กับทางสมาคมฯ ด้วยดีเสมอมา ดังนั้น เมื่อคุณวัชราภรณ์ล้มป่วยลง จนไม่สามารถร้องเพลงได้ และเงินค่ารักษา ที่มีอยู่ กำลังจะหมดลง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ละครั้ง ทุกเดือนเกือบ ๓ หมื่นบาท เมื่อทางชุมชนฯ ได้ทราบข่าวนี้ จึงได้ประชุม จัดงานธารน้ำใจฯ เพื่อหาเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ในการรักษาครั้งนี้ โดยมีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นประธานการจัดงาน และ คุณวิชาญ จิระเวชบวรกิจ เป็นผู้ประสานงาน กับบรรดาศิลปิน มีการประชาสัมพันธ์ ทั้งทางหนังสือพิมพ์ และทางโทรทัศน์ ล่วงหน้า ประมาณ ๒ สัปดาห์

สำหรับบรรยากาศของงาน มีการถ่ายทอดสดตลอดทั้งวัน ทางคลื่นเอฟ.เอ็ม. ๑๐๗.๙ วิทยุชุมชน ของสันติอโศก โดยใช้ลานหิน บริเวณ ใต้พระวิหารฯ เป็นเวทีการแสดง มีโต๊ะรับบริจาคเงิน อยู่บริเวณหน้าห้องเผยแพร่เท็ป มีอาหารบริการฟรี ตลอดงาน สำหรับผู้มาร่วมงาน บริเวณใต้โบสถ์ และอาหาร สำหรับศิลปิน นักร้อง ผู้สื่อข่าว อยู่บริเวณด้านหลังพระวิหารฯ โต๊ะลงทะเบียน สำหรับศิลปิน นักร้อง ผู้สื่อข่าว อยู่บริเวณด้านหน้า ของซุ้มอาหารศิลปินฯ พร้อมกับมอบดอกไม้สีแดง กลัดหน้าอกเสื้อ หนังสือดอกหญ้า และเท็ปธรรมะ และบริเวณดังกล่าว ได้จัดบอร์ดขนาดเล็ก ภาพกิจกรรม งานสายปราณ แห่งความอาทร แด่วัชราภรณ์ เมื่อครั้งแรก ที่ผ่านมา และ ด้านหลัง เป็นข้อเขียน ในกระดาษรูปหัวใจ มอบเป็นกำลังใจ แด่คุณวัชราภรณ์ ในครั้งนี้ มีศิลปิน นักร้อง นักดนตรี มาลงทะเบียน ถึง ๕๗ ท่าน และมีผู้สื่อข่าว จากหนังสือพิมพ์ต่างๆ ๑๐ ท่าน อาทิเช่น มติชน ไทยโพสต์ และ จากทีวีช่อง ๕ และช่อง ๙

เริ่มรายการตั้งแต่เวลาประมาณ ๘ โมงเช้าถึงทุ่มครึ่ง เรียกว่าฟังกันตั้งแต่เช้า จนถึงค่ำเลยทีเดียว เริ่มรายการโดย วงฆราวาส และ วงยากเข็ญ หลังจากนั้น ประธานชุมชนสันติอโศก คุณจุฬา สุดบรรทัด กล่าวเปิดงาน และ พล.ต จำลอง ศรีเมือง กล่าวถึง วัตถุประสงค์ ของการจัดงานในครั้งนี้ สำหรับนักร้องคนแรก ที่มาร่วมร้องเพลง คือ คุณวินัย พันธุรักษ์ หลังจากนั้น บรรดาศิลปิน นักร้อง ก็ทยอยกันมา ไม่ว่าจะเป็นลินจง บุนนากรินทร์, เพียงพิศ ศิริวิไล, ธานินทร์ อินทรเทพ, ฉันทนา กิตติยพันธ์, ทิพวรรณ ปิ่นภิบาล, ธนิศ สีกลิ่นดี, วงจันทร์ ไพโรจน์, โฉมฉาย อรุณฉาน, อ้อยใจ วไลพันธ์, สเกน สุทธิวงศ์, สุลัดดา พุ่มขจร, วงคีตาญชลี, วงโฮป, วงร็อค , นักร้องลูกทุ่งจากแกรมมี่ สายใจ วลี, จอมขวัญ กัลยา, แคท รัตติกาล, สุวัจชัย สุทธิมา และ ศิลปิน อีกหลายๆท่าน ที่ไม่ได้เอ่ยนาม และบางท่าน นอกจาก มาช่วยร้องเพลงแล้ว ยังร่วมบริจาคด้วย โดยเฉพาะ คุณสุทธินันท์ จันทระ ซึ่งนอกจาก จะมาร่วมร้องเพลงแล้ว ยังเป็นพิธีกรด้วย หลังจากร้องเพลงเสร็จแล้ว พ่อท่านได้มอบ ถุงของขวัญ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ จากชุมชนสันติฯ -ปฐมฯ -ศาลีฯ -สีมาฯ และ ราชธานีฯ และ นาฬิกาแผ่นดิสก์ แก่ศิลปิน ทุกท่าน คุณวัชราภรณ์ ซึ่งเดินทางมาร่วมงานครั้งนี้ แม้สุขภาพจะไม่ค่อยดี ต้องแวะไปพักผ่อน เป็นระยะ ที่ห้องพยาบาล ตึกฟ้าอภัย ก็ได้ออกมาพูด ให้กำลังใจกับทุกๆคนว่า แม้ว่าเราจะเจ็บป่วย ก็เป็นเพียงทางกายเท่านั้น อย่าให้ใจเรา เจ็บป่วยไปด้วย ต้องรักษาใจให้ดีไว้ก่อน และกล่าวขอบคุณทุกท่าน ที่มาช่วยงาน ในครั้งนี้

 

นอกจากเงินบริจาคแล้ว มีผู้นำภาพเขียนต่างๆมาร่วมประมูล และนำนาฬิกาข้อมือ จำนวน ๑๐๐ เรือน มาร่วมจำหน่าย ซึ่งรายได้ทั้งหมด มอบให้คุณวัชราภรณ์ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ในครั้งนี้ มียอดบริจาค รวมทั้งสิ้น เป็นเงิน ๘ แสนบาท

งานธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์ เสร็จสิ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกๆฝ่าย ขออนุโมทนากับทุกๆท่าน ที่มีส่วน ในการจัดงาน ครั้งนี้ คิดว่าทุกๆคน คงมีหัวใจดวงเดียวกัน ที่อยากจะช่วย ให้คุณวัชราภรณ์ หายจากโรคนี้ ในที่สุด

และในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ก.ค. สมาคมศิลปิน นักร้อง ก็ได้ร่วมกันจัดงานคอนเสิร์ต เพื่อหาเงินช่วยเหลือ คุณวัชราภรณ์ เช่นกัน ที่โรงหนังเฉลิมกรุง ซึ่งขณะนี้ บัตรได้จำหน่ายหมดแล้ว

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานการจัดงานฯ ได้เปิดเผยความรู้สึก ของการจัดงาน ครั้งนี้ว่า "เป็นการร่วมมือ ที่เกิน ความคาดหมาย เพราะเราไม่นึกว่า จะได้รับความร่วมมือ สนับสนุนจากหลายๆคน ถึงขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักดนตรี นักแสดง รวมทั้งผู้ที่มา เพื่อช่วยสมทบทุนกองทุน ช่วยรักษาพยาบาล คุณวัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ บางคน ก็มารอตั้งนาน เพื่อที่จะช่วยร้องเพลง และบริจาคเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่หาดูได้ยาก แล้วแต่ละคน มาด้วยความเต็มใจ และทนรอ เพราะยัง ไม่ถึงคราว ที่ตัวเองจะร้องสักที ก็ต้องมารอกันนานเหลือ แต่ก็เต็มใจ และดีใจ แทนที่เราจะต้อง เสียเงิน เสียทอง จ้างคนโน้น คนนี้มา หรือ ให้รางวัลสมนาคุณเขา ก็เปล่า ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงน้ำใจ ของหลายต่อหลายคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยนี้ พึ่งพากันได้"

 

คุณวิชาญ จิระเวชบวรกิจ ผู้ประสานงานในครั้งนี้ ได้เปิดเผยกับข่าวอโศกว่า "งานครั้งนี้ได้เงินช่วย ตามเป้าหมายแล้ว และ ดีใจที่สามารถ ที่จะทำให้พี่วัช หายจากความทุกข์ทรมานได้ และเป็นแบบอย่าง ให้กับสังคมด้วย อย่างน้อย เขาก็รับไปแล้ว เหมือนทาง สมาคมนักร้อง ก็ได้จัดด้วย ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีพ่อท่าน คุณจำลอง งานนี้ก็คงจะไม่สำเร็จได้ นี่เป็นบารมี ของพ่อท่าน และท่านจำลอง"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ทักษิณอโศก รับบุญหนัก
ช่วยงานพัฒนา นิสิตบัณฑิตฯ

ที่ชุมชนทักษิณอโศก นอกจากมีการอบรมหลักสูตร การพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิต เกษตรกรแล้ว ขณะนี้ยังได้ร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา จัดหลักสูตร การอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้นิสิตบัณฑิต กองทุนหมู่บ้าน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการ และประเมินผลโครงการ โดยมหาวิทยาลัย ทักษิณ ได้ทุนจากรัฐบาล ตามนโยบาย ที่จะฟื้นฟู และส่งเสริมความเข้มแข็ง ของชุมชนท้องถิ่น โดยจัดสรร ให้เป็นกองทุน หมู่บ้าน และชุมชนเมือง ไปก่อนหน้านี้แล้ว จำนวนท้องถิ่นละ ๑ ล้านบาท และต้องการ ให้ผู้ที่สำเร็จ การศึกษาปริญญาตรี เข้ามาศึกษา เรียนรู้หลักสูตร ดังกล่าว เพื่อไปทำหน้าที่ ประเมิน และส่งเสริม การดำเนินงาน กองทุนหมู่บ้าน โดยกำหนดให้ มีกระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นภาคปฏิบัติ ในชุมชนท้องถิ่น มากกว่าการเรียนรู้ ภาคทฤษฎี ในชั้นเรียน ในอัตรา ๘๐:๒๐ มีนิสิต กองทุนดังกล่าว จากจังหวัดพัทลุง และ นิสิตคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน เข้ารับการอบรม รวม ๖๕๘ คน โดยแบ่ง การอบรมเป็น ๗ รุ่นๆละ ประมาณ ๙๐ คน ตั้งแต่ ๒๑ พ.ค.-๑๒ ก.ค.๔๕ ดังนี้

 

รุ่นที่ ๑ วันที่ ๒๑-๒๔ พ.ค.๔๕
รุ่นที่ ๒ วันที่ ๒๘-๓๑ พ.ค.๔๕
รุ่นที่ ๓ วันที่ ๒-๕ มิ.ย.๔๕
รุ่นที่ ๔ วันที่ ๑๘-๒๑ มิ.ย.๔๕
รุ่นที่ ๕ วันที่ ๒๕-๒๘ มิ.ย.๔๕
รุ่นที่ ๖ วันที่ ๒-๕ ก.ค.๔๕
รุ่นที่ ๗ วันที่ ๙-๑๒ ก.ค.๔๕

ผลการอบรมจากบางส่วน ของการบันทึกความรู้สึก ความคิดเห็น ของบัณฑิตนิสิต กองทุนหมู่บ้าน และ นักศึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์ คณะพัฒนาชุมชน ปีที่ ๔ เป็นยังไง ลองอ่านได้ จากการบันทึกสาระ ความรู้สึก ความคิดเห็น ของเยาวชน คนหนุ่มสาวได้ ดังนี้

นายวัชระ ยะรัง นิสิตชั้นปีที่ ๔ คณะมนุษยศาสตร์ (เอกการพัฒนาชุมชน) "ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ชาวไทยย้อนยุค ซึ่งหาได้ยากมาก ในปัจจุบัน ได้เรียนรู้ธรรมะ จากสมณะ ได้ฝึกในเรื่องอาชีพเสริม การปลูกพืชแบบไร้สารพิษ

รู้สึกภูมิใจมาก ที่ได้ทำประโยชน์ ในขณะที่เข้ารับการอบรม คือการลงแขก ปลูกต้นไม้ และถางหญ้า เพื่อเตรียมพื้นที่ ปลูกข้าว ถั่ว งา การได้มาครั้งนี้ คุ้มค่าที่สุดในชีวิต ได้ประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะ การกินอาหารมังสวิรัติ และการทำโยคะ

ตอนแรก ก็ไม่อยากมา และรู้สึกไม่ดีมากๆ แต่พอมาอยู่ ได้ฟังได้เห็นได้ทำแล้ว ความรู้สึกเหล่านั้น ก็หมดไป กลายเป็น ความภาคภูมิใจ ปลื้มใจมาแทนที่

รู้สึกไม่ค่อยดีกับการทำผิดของบัณฑิต ในขณะที่อยู่ในเขตชุมชน ทักษิณอโศก ซึ่งคิดว่ารับไม่ได้ เพราะเป็น บัณฑิตกันแล้ว

สิ่งที่อึดอัดใจมากที่สุดคือ การที่ต้องอยู่ ภายใต้กฎระเบียบ ของชุมชนมากเกินไป ในระยะแรกๆ แต่พออยู่มาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่กฎระเบียบ แต่เป็นการปฏิบัติศีล

รู้สึกประทับใจ ในน้ำใจ และการต้อนรับ ของชาวชุมชนทุกคน"

นายนิพร อินสุกรรณ์ นิสิตกองทุนหมู่บ้าน จากกิ่งอ.ศรีนครินทร์ จ.สงขลา "รู้สึกว่าความคิดที่ได้รับ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความรู้ ที่เคยรู้มาแล้ว แต่เราไม่ได้ใส่ใจ หรือ ไม่เข้าใจมันดีเท่าที่ควร แต่พอได้มาฟังใหม่ ได้มาคลุกคลี ก็ทำให้ เข้าใจมากขึ้น

รู้สึกดีที่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำงาน ที่เขาให้รับผิดชอบ และได้ฟังธรรม ซึ่งวันแรกๆที่ไป ก็เพราะเป็นกฎ แต่พอทำมาได้ ๓ วัน ก็รู้สึก ดีขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ไม่ดีที่ทำลงไป คือได้ละเมิดกฎ ๒ อย่างคือ สูบบุหรี่ในที่พักประมาณ ๑๐ มวน ในช่วง ๓ คืน และ ดื่มเหล้าครึ่งแก้ว (ฉลองวันเกิดเพื่อน) ซึ่งเป็นเพราะ ความไม่สามารถ เอาชนะใจตนเองได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ก็อาจจะคิดว่า เป็นเพราะเพื่อน แต่มาในวันนี้ คิดว่าเป็นเพราะตัวเอง

(จากเหตุการณ์นี้ ได้ถูกลงโทษในเรื่องวินัย โดยไม่ได้รับรางวัลทั้งรุ่น และนิสิตต้องไปกราบ ขอขมาต่อสมณะด้วย)

รู้สึกประทับใจธรรมะที่ได้ฟัง ทำให้เห็นอะไรชัดขึ้น และตอนนี้คิดว่า ตัวเองอยู่ระหว่าง บ้านกับที่นี่"

 

น.ส.ทับทิม อั่นต้ะ นิสิตปี ๔ คณะมนุษยศาสตร์ (สาขาพัฒนาชุมชน)

"ภูมิใจมากที่ได้ร่วมแรงปลูกต้นไม้และถางหญ้าสวนผัก เพื่อรุ่นน้องที่จะเข้ามาฝึกอบรม ในรุ่นต่อไป เป็นการอุทิศตน เพื่อประโยชน์สุข ของผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน และได้เห็นได้ยิน สิ่งที่มีประโยชน์

สิ่งที่รู้สึกเสียใจ ที่ตอนจัดกลุ่มให้แล้ว แอบไปอยู่อีกกลุ่ม เพราะอยากอยู่กับเพื่อนสนิท แต่ก็สำนึกได้ และตั้งปณิธานแล้วว่า จะไม่ทำอีก จะใช้สติปัญญา ไตร่ตรองทุกครั้ง สิ่งที่อึดอัด คือ เรื่องกิจกรรม สันทนาการ ที่ส่วนตัวแล้ว รู้สึกว่า เราโตแล้ว แต่ทำไม ต้องมาเล่นเหมือนเด็กๆ แต่พอไตร่ตรองแล้ว ก็คิดว่า เป็นการฝึก เอาชนะใจตัวเอง เพราะการมาอยู่ ร่วมกับผู้อื่น ต้องอดทน และ เสียสละ

รู้สึกประทับใจว่า สมณะที่นี่เป็นพระสงฆ์จริงๆ แท้ ตามรอยพระพุทธเจ้า ทุกคำสอน จะขอนำไปปฏิบัติ และขอตั้งปณิธานไว้ ณ ที่นี้ว่า จะขอตั้งมั่นในความดี ละทิ้งความไม่ดีต่างๆ และจะพยายามใช้สติปัญญา ในเรื่องต่างๆ"

นายปรีชา ช่วยทอง นิสิตบัณฑิตกองทุนฯ จ.พัทลุง "ตอนมาคิดว่า มาเพราะอาจารย์บังคับให้มา ใจไม่ค่อยอยากมา เพราะอยากดู ฟุตบอบโลก อีกทั้งวันที่มา ก็รู้สึกว่า กฎจะเยอะเกินไป แต่วันนี้รู้สึกดี มีทัศนคติที่ดี ต่อทักษิณอโศก

สิ่งไม่ดีที่ได้ทำไป คือ สูบบุหรี่วันละ ๑ มวน ทำแล้วก็เกิดความไม่สบายใจ ส่วนตัวแล้ว รู้สึกประทับใจ ท่านวิทยากร และ สมณะ ที่เป็นกันเองดี"

นายสมคิด ศรีปาล นิสิตบัณฑิตกองทุนฯ จ.พัทลุง "ก่อนมาต่อต้านมาก เพราะคิดว่า ไม่เกี่ยวกับหลักสูตรเลย พอมาถึงวันแรก ก็ต่อต้านเรื่อง ไม่สวมรองเท้า แต่เข้าวันที่ ๓ แล้ว คิดว่าการดำรงชีวิต ที่เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ควรนำไป เป็นแบบอย่าง ในการดำรงชีวิต

รู้สึกประทับใจ การทำเกษตรปลอดสารพิษ เพราะนั่นคือ สิ่งที่เราต้องบริโภคทุกวัน ถ้าไม่มีสารพิษ ชีวิตเรา ก็จะยืนยาวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังประทับใจ ในความเป็นกันเอง ช่วยเหลือกันเหมือนพี่น้อง เมื่อกลับบ้านแล้ว คิดว่าจะดำเนินชีวิต แบบพอเพียง เพราะทำให้ ทุกคนลด ละ เลิก ที่จะฟุ่มเพือย สามารถพึ่งตนเองได้"

น.ส.สุจิรา ทองขาว นิสิตบัณฑิตกองทุนฯ จ.พัทลุง "วันแรกที่เข้ามา รู้สึกไม่สบายใจมาก เพราะไม่อยากมา พอมาถึงประตูวัด ก็รู้สึกแปลกใจมาก ที่มีคนมารอรับ และส่วนมาก จะเป็นคนสูงอายุ พอเข้ามาอยู่ ๓ วัน ก็รู้สึกอบอุ่น พี่เลี้ยงก็รู้สึก เป็นกันเอง ช่วยเหลือในทุกเรื่อง

รู้สึกประทับใจมากที่สุดคือ พี่เลี้ยง(คุณล้นบุญ) ที่ช่วยเหลือ ขณะที่เจ็บป่วย ในช่วงอบรม รู้สึกซึ้งในน้ำใจ ของท่าน เป็นอย่างมาก"

 

ในส่วนของสมาชิกกลุ่มทักษิณอโศก ก็รู้สึกได้รับบุญหนักไปตามๆกัน แม้ญาติธรรมต่างจังหวัด ที่มาร่วมงาน และ ชาวชุมชนฯ ในฝักสะตอ อันน้อยเมล็ด ก็รู้สึกหายเหนื่อย ใครอยากเกี่ยวบุญหนักๆ ก็ขอเชิญชวน ทั้งญาติธรรม ชาวใต้ทั้งหลาย กลับไป พัฒนา ทักษิณบ้านเรา แม้ญาติธรรม ที่กำลังแสวงหาศาลลง ตามนโยบายของพ่อท่านฯ ที่นี่ก็น่าสนใจ ไม่น้อยนะคะ

...มีน้ำ มีเขา ทะเลกว้างไกล จะไปไหน ไปทักษิณบ้านเรา...

ก็ขอฝากเชิญชวนผ่านมากับ น.ส.พ.ข่าวอโศกด้วย.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


การทำกสิกรรมธรรมชาติให้ประสบผลสำเร็จ
(ตอน ๑)

๑.ผู้ทำต้องพร้อมที่จะเสียสละ พร้อมที่จะให้ และพร้อมที่จะขาดทุนด้วย คือให้ปุ๋ย ให้น้ำแก่พืชผักที่เราปลูก เป้าหมายสูงสุด คือให้แก่ดิน หรือ พระแม่ธรณี เมื่อเราให้แล้ว ผลผลิตจะสะท้อนคืน แก่ตัวเราเอง

๒.น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำกสิกรรม หากขาดน้ำก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ

อากาศเป็นตัวแปรที่สำคัญ

ฤดูร้อน พืชผักที่ปลูกได้ในฤดูนี้ คือ ถั่ว ฟักทอง ฟักแฟง แตงโม มะระ บวบ พริก มะเขือ งา ฯลฯ

ฤดูฝน พืชผักที่ปลูกได้ในฤดูนี้ คือ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ผักบุ้ง ผักตำลึง ตลอดจนผักพื้นบ้านต่างๆ

ฤดูหนาว พืชผักที่ปลูกได้ในฤดูนี้ คือ กะหล่ำปลี คะน้า ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี หัวไชเท้า แครอท ฯลฯ

๓.กสิกรรมธรรมชาติที่นิยมทำอยู่ในปัจจุบันนี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ

๓.๑ แบบไม่ไถพรวนดิน ไม่กำจัดวัชพืช (เอาประโยชน์จากหญ้า) ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด

๓.๒ แบบไถพรวนดิน ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาภ ใช้จุลินทรีย์ในการช่วยย่อยอินทรียวัตถุ

แบบที่ ๓.๑ เจ้าของทฤษฎีคือ ฟูกูโอกะ เคล็ดลับคือ ใช้ฟางและพืชตระกั่วในการบำรุงดิน เพราะให้แร่ธาตุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม อย่างอุดมสมบูรณ์และปฏิเสธ การทำปุ๋ยหมัก ชนิดต่างๆ

จุดเด่น คือ โครงสร้างของดิน จะเหมือนดินในป่าดงใหญ่ ที่เกิดจากการสะสม ของอินทรียวัตถุต่างๆ ที่เน่าย่อยสลาย เป็นปุ๋ยอย่างดี ระบบนิเวศน์วิทยาดี ความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ต่างๆอาศัยอยู่ในดิน ช่วยพรวนดิน อย่างมากมาย ข้อสำคัญที่สุด คือ ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา ประหยัดทุนทรัพย์ ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด

จุดด้อย คือ ใช้เวลานาน และต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

แบบที่ ๓.๒ เป็นทฤษฎีหลากหลายผสมผสาน

จุดเด่น สร้างจุลินทรีย์ในพื้นที่แล้ว นำจุลินทรีย์ที่ได้ไปผสมกับกากน้ำตาลและน้ำ ในอัตราส่วนที่เหมาะ ไปผสม คลุกเคล้ากับ อินทรียวัตถุต่างๆ ซึ่งเราเรียกว่า ปุ๋ยหมักชีวภาพ มีแร่ธาตุชนิดต่างๆ ถึง ๑๖ ชนิด

ผู้ที่ทำกสิกรรมธรรมชาติแล้ว ประสบผลสำเร็จ จะเป็นคนขยัน อดทน ทำงานสม่ำเสมอ และเป็นคนกล้าให้ (แกลบ รำ ฟางข้าว และ พืชตระกูลถั่ว) แก่ดิน หรือ แก่พระแม่ธรณี และ พร้อมที่ต่อสู้ เพื่อให้ดิน เกิดความอุดมสมบูรณ์

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(สรุปจากบทความ กสิกรรมธรรมชาติในระบบบุญนิยม โดย อ.อุดม ศรีเชียงสา)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สัมภาษณ์สมณะเดินดิน ติกขวีโร

การทำงานของเราทุกวันนี้ เป็นไปเพื่อลดตัวลดตน หรือเพิ่มตัวตนกันแน่ ปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะเกิดปัญญา และเมื่อ ชาวอโศก เริ่มได้รับการยอมรับ จากสังคม เราควรจะระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง โอกาสนี้ขอเชิญพบกับ คำให้สัมภาษณ์ ของสมณะเดินดิน ติกขวีโร ค่ะ

ในช่วงนี้พ่อท่านมีนโยบายอะไรที่เน้นบ้างคะ

พ่อท่านเองปีนี้ก็อายุเข้าถึงปีที่ ๖๙ แล้ว พ่อท่านก็บอกว่าท่านจะหยุดอายุไว้แค่ ๖๙ นอกจากนั้นแล้ว ที่เหลือต่อไป ก็จะไม่ยอม เป็นคนแก่ ท่านว่าอย่างนั้น ถ้าสามารถอยู่ให้ได้ถึง ๑๕๐ ปี ท่านก็พยายามอยู่ให้ได้ถึง ๑๕๑ ปี ด้วยการใช้ อ.ต่างๆให้ดี ตั้งแต่อาหารดี อากาศดี ออกกำลังกายดี เอนกายหรือการพักผ่อนก็ให้พอดี มีการเอาพิษออกได้ดี และ ที่สำคัญที่สุด ก็คือ อารมณ์ดี ซึ่งอารมณ์ของคนเรานั้นมีตั้งแต่อารมณ์บ้าจนถึงอารมณ์นิพพาน พ่อท่านได้อธิบาย ให้ฟังว่า ความสำคัญ สุดยอด ของศาสนาพุทธนั้นก็คือ แม้อารมณ์นิพพาน ก็ไม่ยึดมั่นสำคัญมั่นหมายว่า เป็นเราของเรา ตรงนี้ก็เป็น ข้อที่น่าคิดว่า แม้อารมณ์นิพพาน ก็ไม่ให้ไปสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่ต้องพูดถึง การยึดเรื่อง ขี้กะโล้โท้อะไร ต่างๆนานา ที่ทำให้อารมณ์เราไม่ดี และทุกๆครั้งที่อารมณ์เราไม่ดี ท่านก็บอกว่า ดีดมันออกไป หรือ ภาษาอังกฤษ ที่บอกว่า Kick it out

พ่อท่านเปิดเผยอจินไตยให้ฟังว่า อายุขัยในชาตินี้ของท่านจริงๆ ท่านจะอยู่ได้เพียงแค่ ๗๒ ปีเท่านั้น แต่ตอนนี้ ก็ตั้งใจว่า จะอยู่ให้ได้ถึง ๑๕๐ ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการที่จะกตัญญูกตเวที ทดแทนบุญคุณ ของพระพุทธเจ้า แล้วอีกประการหนึ่ง ก็คือ ต้องการดูแล ผลความจริง ที่เกิดขึ้น จากธรรมะของพระพุทธเจ้า อันเป็นผล ที่เกิดจากการปฏิบัติตัว ของพวกเราว่า ถ้าอยู่ไปนานๆ ผลที่เกิดขึ้น จะเป็นอย่างไร

นโยบายสำคัญที่ท่านเน้นในช่วงการงานมากๆ ก็คือ พวกเราต้องทำงานและก็ต้องบรรลุธรรม ควบคู่ไปกันด้วย ซึ่งในการ ทำงานนั้น ก็จะทำให้เราเกิดสัมมาต่างๆ ทั้งสัมมาทางความคิด สัมมาทางคำพูด สัมมาทางการกระทำ สัมมาทางการงาน และมีความเพียรพยายามที่เป็นสัมมา ด้วยสัมมาสติ อันจะนำไปสู่สัมมาสมาธิ คือจิตที่ดียอดเยี่ยม จนเป็นสัมมาวิมุติในที่สุด ดังนั้นถ้าเราไม่ทำงาน สัมมาทั้งหมดนี้ ก็ย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นไป ที่สำคัญเราต้องชัดเจนว่า เป้าหมาย หรือทิศทาง ของการทำงาน ศาสนา มีอย่างไร ซึ่งพ่อท่าน ได้กำหนดทิศทาง จุดหมายปลายทาง ของพวกเราไว้ใน ๕ ภาพด้วยกัน นั่นก็คือ อิสรภาพเสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ สมรรถภาพ และบูรณภาพ เราเองก็ต้องทบทวนว่า เราทำงาน มันทำให้เราอิสรเสรี จากกิเลสหรือไม่ ทำให้เรามีพี่มีน้อง เพิ่มขึ้นหรือไม่ ทำให้เราพบกับความสันติ ความสงบเรียบร้อย หรือว่ามีศัตรูมากขึ้น ทำให้สมรรถภาพ ของเรามากขึ้น ทำให้บูรณภาพ ความอุดมสมบูรณ์ มากขึ้น

นักปฏิบัติธรรมก็จะต้องมีความแตกต่างจากชาวบ้านที่เขาทำงาน ชาวบ้านที่เขาทำงาน เขาก็จะมุ่งแต่เพียง ให้ได้วัตถุสิ่งของ เช่น ปลูกข้าว เขาก็จะเอาแต่ข้าว มุ่งเอาผลแต่ให้ได้ข้าวเท่านั้น กรรมกรแบกกระสอบข้าวสาร เขาก็ทำเพียง เพื่อให้แบกข้าวสาร ไปตามที่ เขาจ้างมาเท่านั้น แต่นักปฏิบัติธรรมเรา ก็อาจจะแบกข้าวสาร ทำงาน ค้าขาย เหมือนอย่าง ชาวบ้านทำ แต่ทิศทาง ของเรา ทำงานไปด้วย แล้วลดละกิเลสไปด้วย และลดละกิเลสได้ ก็จะเกิดอิสรเสรีภาพ มีความเป็นพี่ เป็นน้อง เพิ่มขึ้น เป็นภราดรภาพ มีความสงบเรียบร้อยเพิ่มขึ้น เป็นสันติภาพ ความสามารถของเรา ก็จะมีมากขึ้น เป็นสมรรถภาพ และ ความอุดม สมบูรณ์ ก็จะเกิดขึ้น เป็นบูรณภาพ เป็นทิศทางไปเพื่อความพ้นทุกข์ โดยเกิดองค์รวมทั้ง ๕ ภาพ จุดสำคัญ เราจะต้อง ทำงาน เพื่อให้เกิดองค์รวม ไม่ทำงานเป็นองค์จุด คือทำงานแต่จุดของเราอย่างเดียว คิดคำนึง แต่เรื่องของเรา อย่างเดียว โดยไม่ได้ดู ไม่ได้ฟังหมู่กลุ่ม เขาจะเอายังไง ถ้าเราทำงานของเรา เอาแต่จุดของเราอย่างเดียว ก็ไม่เกิดองค์รวม ไม่เกิดภาพรวม ทั้งหมด

เราจะต้องชัดเจนว่า ประโยชน์ของการทำงานนั้น ก็เพื่อที่เราจะได้ลดความสำคัญของตัวตน ให้น้อยลง เราจึงมีตำแหน่ง ของผู้ที่ทำงาน ได้ดีว่า เป็นผู้รับใช้ ผู้รับใช้คือผู้ที่จะลดความสำคัญ ของตัวตนเอง ลงมาเป็นผู้รับใช้หมู่กลุ่ม รับใช้มนุษยชาติ ยิ่งเราทำหน้าที่ เป็นผู้รับใช้ได้มากเท่าไหร่ เราก็จะมีความพ้นทุกข์ ได้มากเท่านั้น เพราะเมื่อ เราลดความสำคัญ ในตัวตน ของเราลง เมื่อตัวตนของเราลดลง พื้นที่ที่จะรับทุกข์ของเรา ย่อมจะน้อยลงด้วย ดังนั้น ทุกๆครั้ง ที่เราทุกข์ขึ้นมา ก็ย่อมเป็น เครื่องพิสูจน์ ให้เห็นว่า เราเริ่มผิดทางแล้ว ตัวตนเราเริ่มใหญ่ขึ้น ความสำคัญของเรา เริ่มมีมากขึ้น ใครไม่เห็น ความสำคัญ ของเรา ใครไม่เห็นหัวเรา เราก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที อันนี้แสดงว่า เราไม่ได้ลดตัวตน ของเราลง ดังนั้น ถ้าตัวตนของเรา ลดลงได้ มากเท่าไหร่ เราได้ลดความสำคัญ ของตัวตนของเรา ได้มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เรา ทุกข์น้อย ได้มากเท่านั้น จนลดตัวตน ได้หมดเลย เราก็ไม่มีทุกข์ใดเลย ก็คือทิศทาง ของการบรรลุธรรมได้ในที่สุด ส่วนนี้ก็คงจะเป็น ทิศทางนโยบาย ของชาวอโศก ที่เราต้อง ทำงานไปด้วย ซึ่งจะเป็นการบรรลุธรรมได้ ก็เพราะว่า เมื่อทำงาน เราก็ได้ลด ความสำคัญ ของตัวตนของเรา ทำตัวตนของเรา ให้ได้น้อยลงไปได้เรื่อยๆ สามารถทำงาน จนเกิดองค์รวม เป็นภาพรวม ทั้ง ๕ ภาพ ดังที่กล่าวแล้ว

ปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะทำให้ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น แล้วปัญหาลดลงคะ

เราคงจะต้องตั้งสมมุติฐานที่เป็นสัมมาทิฏฐิไว้ก่อนว่า ชีวิตของเราทุกคนนั้นต่างก็เริ่มต้นมีกำเนิดมาจากอวิชชา ที่เรามา ปฏิบัติธรรมนั้น ก็เพื่อมาล้างอวิชชา ล้างความโง่ ความผิด จากตัวของเรา นักปฏิบัติธรรม ที่มีแต่เพิ่มพูนปัญหา ก็เพราะว่า นับวันๆ มีแต่เห็นว่า ตัวฉันนั้นถูก ส่วนคนอื่นมีแต่ผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมไม่มีโอกาสที่จะล้างอวิชชาในตัวเอง เพราะเมื่อ ตัวเองซะแล้ว ก็เลยไม่รู้จะไปล้างอวิชชากันตรงไหน ในทิศทางของโลกุตระ จึงมีโศลกธรรม ที่กล่าวกันไว้ว่า "รู้อะไร ก็ไม่สู้ รู้อวิชชา ล้างกิเลสตัณหาของตน ให้ม้วยมอด เป็นยอดดี" การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตรงทาง จึงต้องหัน เข้ามาล้าง เข้ามาเรียนรู้ ความผิด ความบกพร่อง ในจิตใจของตัวเรา ก็จะทำให้ตัวเราเอง หมดปัญหา มีแต่ปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้า พิจารณาเมื่อไรๆ ก็มีแต่ว่า ตัวเองถูก คนอื่นผิด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราก็จะมีแต่อวิชชา และปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนับวันๆ ก็จะมีแต่ปัญหา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจาก อวิชชาที่หนาขึ้น เพิ่มขึ้นในตัวเรานั่นเอง

สำหรับคนที่เห็นแต่ข้อบกพร่อง ผิดพลาดในตน คนๆนั้น ก็นับวันก็จะมีแต่ความปีติ ปราโมทย์ เพราะทุกๆครั้ง ที่เราได้เห็น ความผิด ความบกพร่อง ของตนที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ การเกิดปัญญา และทุกๆครั้ง ที่เราสามารถ หยุดจิตของเรา ไม่ให้ไปทำ ผิดพลาด บกพร่องอย่างนั้นได้ แล้วสามารถล้าง จิตของเรา ในความผิดพลาด บกพร่อง ในเรื่องนั้นได้ นั่นก็คือ การพัฒนาเจโต การเพิ่มเจโต ให้กับตัวเราเอง การได้เรียนรู้ความผิด ก็เป็นปัญญา การได้หยุดความผิด การได้ล้างความผิด ก็เป็นการ เพิ่มพูนเจโต จึงเป็นทั้งการเพิ่มพูนปัญญา เป็นการพัฒนาเจโต ทนทวนเมื่อใด ก็จะเกิดความปีติปราโมทย์ เกิดขึ้น ในชีวิต ของเรา

ดังนั้นทิศทางในการปฏิบัติธรรมก็จะมี ๒ ทางด้วยกัน คือทิศทางของการล้างอวิชชา หรือการเพิ่มอวิชชา ถ้าเป็นทิศทาง ของการล้าง อวิชชา ก็จะทำให้เรา เกิดปัญญา เกิดปีติ เกิดปราโมทย์ แต่ถ้าเป็นทิศทางของการสร้าง หรือ เพิ่มอวิชชา ก็จะทำให้เรา เพิ่มปัญหา เพิ่มความทุกข์ ความโศก สุดท้าย ก็อาจจะตกร่วง จากหมู่จากกลุ่ม นึกขึ้นเมื่อไร ก็จะเห็นแต่ว่า ฉันนี้ถูก ฉันนี้เสียสละ ฉันทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง (เพื่อให้ได้ดังใจของฉัน ทั้งนั้นแหละ)

เมื่อมองเห็นแต่สิ่งที่ฉันถูก ฉันเสียสละ ฉันทุ่มเท ก็เลยไม่สามารถมองเห็น ข้อบกพร่อง ของตนได้ ดูเมื่อไรๆ พิจารณาเมื่อไรๆ ก็เห็นแต่ส่วนวิเศษ ยอดเยี่ยม ดีเลิศ ประเสริฐศรี ที่ตนทำเท่านั้น สุดท้าย ก็จะกลายเป็นคนอ่อนไหว เปราะบาง แตะแล้ว แตกได้ง่าย นี่คือทิศทาง ของการสร้างอวิชชา หรือเพิ่มอวิชชา และก็มีแต่เพิ่มพูน ปัญหามากขึ้น

ดังนั้นประโยคที่ว่า รู้อะไรก็ไม่สู้รู้อวิชชา หรือรู้อะไรก็ไม่สู้รู้ว่าเราผิดพลาด บกพร่องไม่ดีอย่างไร เมื่อรู้แล้ว ก็พยายาม เลิกละ จนเป็น การล้างกิเลส ตัณหาของตน ให้ม้วยมอด จึงเป็นยอดดีอย่างนี้แล

ในยุคที่ชาวอโศกกำลังได้รับการยอมรับจากสังคม ท่านคิดว่าเราควรจะได้ระมัดระวัง ในเรื่องอะไรกันบ้างคะ

สิ่งที่ชาวอโศกต้องระมัดระวังก็คือ"ความเสื่อม" ความเสื่อมของชาวอโศกในขณะนี้ เราต้องยอมรับว่าเราถูกบุก ถูกลาภยศ สรรเสริญ หรือ โลกธรรม กำลังเข้ามาประชิดตัว พวกเราทุกๆคน เราได้รับคำสรรเสริญ คำยกย่อง การให้เกียรติ ให้การยอมรับ จากสังคม ในส่วนนี้ ก็จะทำให้เรา ลืมเป้าหมาย ที่เป็นแก่นแท้ ของพุทธธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้า ท่านเปรียบลาภสักการะ ว่าเป็นเสมือน ยอดอ่อนของพุทธศาสนา ศาสนาดั้งเดิม เขาเพียงแค่ได้ยอดอ่อน คือได้ลาภ ได้เงินได้ทอง ได้สักการะ มีคนมา กราบไหว้ ยกย่อง เขาก็ยินดีพอใจ เอาเพียงแค่ ยอดอ่อนนี้เท่านั้น แม้ในข้อนี้ พวกเราเอง ก็ต้องตระหนัก ด้วยเหมือนกัน เพราะว่า ทุกวันนี้ หลายๆอย่าง ที่เราได้รับการยอมรับ ทำธุรกิจ หลายๆอย่างก็ขายดี จนแทบแยกแยะไม่ออกว่า เป็นบุญนิยม หรือ ทุนนิยม เพราะว่ามีเงินทอง ไหลเข้ามาอยู่มากมาย ก็จะทำให้พวกเรา ได้แค่ยอดอ่อน แม้เปลือกกระพี้ ก็ยังไม่ถึงเลย ไม่ถึงศีล ไม่ถึงสมาธิ ไม่ถึงปัญญา ไม่ถึงวิมุติ แต่ติดอยู่เพียงยอดอ่อน ที่เป็นลาภสักการะ เป็นเงินทอง เป็นเสียงสรรเสริญ เยินยอ ยกย่อง ซึ่งคนทำงานในสังคม ในโลกทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่า องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เขาล้มเหลว ไม่ประสบ ความสำเร็จ ก็เพราะว่า เขาติดเพียงเท่านี้เอง ติดเพียงแค่ลาภสักการะ เงินทอง ยศตำแหน่ง แล้วก็ทำงานไป ก็ทำงานไปเพื่อ สิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ ของพุทธธรรม ไม่เข้าถึงแม้แต่ศีล ที่เป็นสะเก็ด สมาธิที่เป็นเปลือก ปัญญาที่เป็นกระพี้ ก็ไม่ถึง เราจะต้องไม่ไปหลง แต่เพียงยอดอ่อน ที่เป็นเพียงลาภสักการะ ที่กำลังเข้ามา มากมาย ข้อนี้ก็เป็นข้อหนึ่ง ที่อยาก ให้พวกเรา ระมัดระวัง เพราะว่าการงาน หลายๆอย่าง ทำให้พวกเราเพลิน สนุกสนาน แล้วยินดี พอใจไปกับ เพียงยอดอ่อน ของศาสนาพุทธ เท่านั้น

ความเสื่อมประการที่ ๒ จะเกิดจากเรามุ่งแต่ทำงาน ลุยงาน จนลืมสิ่งที่เป็นประโยชน์ของตน พระพุทธเจ้า ท่านเปรียบไว้ เหมือนกับไปทำนา ให้ชาวบ้าน จนลืมทำนาของตัวเอง ทิ้งปล่อยไว้ให้รกรุงรัง ในช่วงหลังๆของพวกเรา หลายๆคนก็ทำงานมาก จนไม่มีเวลาฟังธรรม ไม่มีเวลาที่จะทบทวนธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ เราจะยินดีพอใจ ที่มีคนมาอบรม โดยมุ่งแต่ จะเอา ปริมาณเข้าไว้ จนบางครั้ง มันก็เป็นงาน ที่เหมือนกับเบี้ยหัวแตก ที่ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ถ้าพวกเรา ตั้งหลักไม่ดี เราก็จะทำงาน หามรุ่งหามค่ำ แต่ว่างานนั้น เป็นงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิด และเข้าถึงจิตวิญญาณเท่าไหร่ และสุดท้าย ตัวเราเอง ก็จะเสื่อมด้วย ทำมาทำไป ทำงานจนกระทั่ง ไม่มีเวลามาวัด ไม่ได้มาพบสมณะ ก็จะเข้าสู่สูตรความเสื่อม ของอุบาสก อุบาสิกา ไม่ได้พบ สมณะ ละเลยการฟังธรรม ไม่เพิ่มพูนศรัทธา ไม่ศึกษาอธิศีล ความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นมา ตามลำดับ สิ่งนี้ก็อยากจะฝาก ให้พวกเรา ที่กำลังพุ่งไปกับงาน อย่างเต็มที่ จนลืมที่จะพากเพียร เพิ่มพูนให้กับตัวเอง ในศรัทธาก็ดี ในอธิศีลก็ดี เมื่อเราพบกับ ความเสื่อมแล้ว สุดท้าย เราเองก็ แทนที่จะไปช่วยเขา ก็จะกลายเป็น คนเตี้ยอุ้มค่อม หรือ กลายเป็น คนตาบอด จูงคนตาบอด แล้วไปไม่รอด ตายด้วยกันทั้งคู่ อย่างน่าสงสาร

เคยบ้างไหมที่พอทำงานไปๆ ก็ยิ่งยึด ยิ่งหลงตน ยิ่งเพิ่มอัตตา สร้างปัญหา ตัวตนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ใครแตะก็ไม่ได้ เป็นแค่ ควายศาสนา พอถูกเตือนติง ก็เจ็บปวด อย่างนี้เรียกว่า หลงค่ายกลเสียแล้ว แต่ยังไม่สาย รีบแก้กรรมเสียใหม่ ๕ ภาพดังกล่าว ก็จะค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้น สังคมก็จะอบอุ่น ทบทวนตัวเองอีกสักครั้ง เพื่อร่วมกันตอบแทน บุญคุณศาสนา ด้วยกันนะคะ

ทีมข่าวพิเศษ รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชมร.เชียงใหม่ แจกอาหาร ครั้งที่ ๕
เกิดกองทุนบุญนิยม ระดับ ๔

เมื่อวันพุธที่ ๑๗ ก.ค. ๔๕ กลุ่มภูผาฟ้าน้ำ ได้รวมญาติพี่น้องๆทุกฐานะที่ ชมร.ช.ม. เพื่อช่วยกันทำบุญ ถวายภักตาหารสมณะ และแจกอาหารฟรี โดยมีจุดมุ่งหมาย และหลักปฏิบัติ เช่นเดียวกับทุกๆครั้ง ที่ผ่านมา

บรรยากาศโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นวันพระ จึงมีผู้มารับประทานอาหาร มากกว่าปกติ สำหรับอาหาร ที่แจกครั้งนี้ บริเวณมุม ผักป่าชุบแป้งทอด ได้ติดป้าย บอกชื่อผักชนิดต่างๆ หลากหลายสี ที่แปลกใหม่ คือ มีมุมตำลูกยอแจก ให้ลองรับประทาน นอกจากนี้ ยังมีญาติธรรม และลูกค้า ประมาณ ๓๐ รายได้นำลำไย ผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว ขนมปัง ไอศกรีม รวมราคา ประมาณ ๔,๔๐๐ บาท มาร่วมบุญด้วย (เสร็จงานแล้ว ปรากฏว่า ยังมีผักเหลืออีก จำนวนมาก)

ส่วนมุมตลาดผักไร้สารพิษ ได้จัดตั้งชั้นวางผักใหม่ แต่มีผักวางจำหน่าย น้อยกว่าทุกครั้ง

งานดำเนินไปด้วยดี จากความร่วมมือร่วมใจ ของชาวชมร.ช.ม. คุรุ นร.สัมมาสิกขาฯ และญาติธรรม ทั้งจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ที่เสียสละเวลา มาร่วมงานโรงบุญฯ ครั้งนี้ด้วย

และน่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง ที่ในงานโรงบุญฯครั้งนี้ ได้มีการตั้งกองทุน เพื่อใช้ในโรงบุญฯขึ้น โดยญาติธรรม ได้ร่วมกันบริจาค เงินสมทบ กับรายได้ จากการจำหน่ายคูปอง ที่ลูกค้าซื้ออาหาร ใส่ภาชนะกลับบ้าน โดยหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือยอดเงิน ประเดิมทั้งสิ้น ๖,๔๑๑ บาท

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รายงานเพิ่มเติมเข้ามาว่า สำหรับงานโรงบุญฯในเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้ ที่ประชุม ได้ตกลง จะจัดพร้อมกับ งานวันครบรอบ ๑๐ ปี ของชมร.ช.ม.ในวันที่ ๒ ส.ค.๔๕ หากญาติธรรมท่านใด พอมีเวลา และโอกาส ก็ขอเรียนเชิญ ร่วมงานบุญนี้ด้วย

สำหรับความคิดเห็น ของผู้มาร่วมงานมี ดังนี้

นายพัฒน์ธร โทไวยะ จ.ลำปาง "มาร่วมงานเป็นครั้งแรก รู้สึกดีใจ ที่เห็นความร่วมมือ ของญาติธรรมทุกท่าน ที่นำผักพื้นบ้านบางอย่าง ที่ตัวเองมี มาร่วมงานด้วย"

นายบุญเสริม นำเจริญ จ.เชียงใหม่ "มาทานอาหารทุกวัน ทานมังสวิรัติมา ๓ ปี ทานแล้วรู้สึกสดชื่น มาวันนี้ ไม่มีข้อติ"

น.ส.ศิวรักษ์ ศิวารมย์ จ.เชียงใหม่ "ทานเฉพาะมื้อกลางวัน กับข้าวหลากหลายดี แต่ของหวาน น้อยไปหน่อย น้ำสลัด ข้นไป"

ก่อนจาก ชาว ชมร.ช.ม.ได้ฝากสูตร "ตำลูกยอ" มาให้ญาติธรรม ได้ลองรับประทานกันด้วย

วิธีทำ
๑.ตำขิงให้ละเอียด
๒.หั่นลูกยอตำให้ละเอียด
๓.ตำพริกขี้หนู ตะไคร้ กล้วยดิบลงไปตามลำดับ
๔.นำมะเฟือง มะเขือคื่น สับปะรด มะเขือพวง ตำพอให้คลุกเคล้า
๕.ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ เกลือ ซีอิ๊วขาว ชิมรสตามใจชอบ

หมายเหตุ สามารถนำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ผสมลงไปตามชอบ แต่ประสงค์เพื่อให้ รับประทานลูกยอ เป็นหลัก.

นักข่าวเบอร์จู๋น

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

อีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
การกดจุดฝ่าเท้าด้วยตัวเอง

ฉบับที่แล้ว ได้เกริ่นถึงการกดจุด และจุดต่างๆบนฝ่าเท้าที่สัมพันธ์กับอวัยวะไปแล้ว ฉบับนี้ก็มาตามสัญญาว่า เราจะมากดจุด บนฝ่าเท้า ด้วยตัวเอง สามารถทำเองที่บ้านได้ด้วยเทคนิคง่ายๆ

การกดจุดฝ่าเท้าด้วยตัวเอง

แม้ว่าการรักษาจะได้ผลดีที่สุด เมื่อผ่านการบำบัด ครบทุกขั้นตอน จากนักบำบัด แต่อาการบางอย่าง ก็สามารถบำบัด ด้วยตัวเอง ได้ที่บ้าน โดยใช้เทคนิคง่ายๆ นักบำบัด จะเป็นผู้แนะนำว่า ควรเลือกใช้วิธีไหน และควรมีขั้นตอน การปฏิบัติอย่างไร อาการป่วย ไม่รุนแรง ที่สามารถบำบัด ด้วยด้วยตนเอง ได้แก่ ปวดหลัง มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดคอ ไซนัสอักเสบ และตึงเครียด ในการนวดเท้า ให้นั่งสบายๆ บนพื้น หรือบนเตียง ในห้องที่เงียบๆ ใช้หมอนพิงหลังไว้ เริ่มด้วย การนวดทั่วเท้า โดยไม่ต้องเน้น บริเวณ จุดสะท้อนกลับ ซึ่งอาจทำให้ร่างกาย เกิดภาวะเสียความสมดุล ส่งผลให้เกิด อาการไม่สบาย ตามมาได้

ไซนัส นวดจุดที่สัมพันธ์กันที่ด้านหลัง และด้านข้างของนิ้วก้อย สำหรับอาการต่างๆ เช่น มีน้ำมูก หวัด ไข้ละอองฟาง และ ไซนัสอักเสบ

ความตึงเครียด นวดที่จุดกลุ่มเส้นประสาทของช่องท้อง ตามภาพ แล้วนวดที่จุดต่อมหมวกไต ที่อยู่กลางฝ่าเท้า และ จุดต่อมใต้สมอง ที่อยู่ตรงกลางแป้น นิ้วหัวแม่เท้า

ปวดศีรษะ นวดจุดที่สัมพันธ์กับศีรษะ ซึ่งอยู่ที่ปลายนิ้วหัวแม่เท้า และขอบด้านนอก

ปวดคอ นวดจุดที่สัมพันธ์กับคอที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า และขอบด้านใน ของหัวแม่เท้า แต่ละข้าง

ปวดหลัง นวดจุดที่สัมพันธ์กับกระดูกสันหลัง ที่ขอบด้านใน ของฝ่าเท้า แต่ละข้าง

ทัศนะจากแพทย์แผนปัจจุบัน
ยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกที่พิสูจน์ผลของการบำบัด ตามที่นักกดจุดฝ่าเท้ากล่าวอ้าง แต่แพทย์เชื่อว่า ไม่น่าจะมี อันตราย ร้ายแรง จากการรักษา และคนส่วนใหญ่ จะรู้สึกสบายขึ้น เมื่อได้รับการนวด.

กิ่งธรรม

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางจงกล สุคันธนาค
เกิด ๕ ส.ค.๒๔๖๙ อายุ ๗๙ ปี
ภูมิลำเนา กรุงเทพฯ
การศึกษา ม.๖
สถานภาพ หม้าย บุตร ๖ คน
ส่วนสูง ๑๔๙ ซ.ม. ส่วนสัด ๓๑-๓๐-๓๖ นิ้ว น้ำหนัก ๔๓ กก.

ยายจงกลแม้อายุจะ ๘๐ ปีแล้ว แต่ยังดูกระฉับกระเฉง ยายเป็นคนเก่าแก่ของปฐมอโศกอีกคนหนึ่ง เป็นรุ่นแรกที่มาบุกเบิกที่นี่ ไปคุยกับยายกันเลยนะคะ

ฉากชีวิต
มีพี่น้อง ๑๒ คน ยายเป็นคนที่ ๙ พ่อเป็นทหารเรือ แล้วลาออก ไปทำไร่กับแม่ ที่อุตรดิตถ์ ส่วนยายอยู่กับป้า ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ป้าเป็นสาวชาววัง ข้าหลวงของ สมเด็จพระพันวสา ยายนั้นเป็นคน กระโดกกระเดก ได้ป้าอบรม กิริยามารยาท ก็ค่อยดีขึ้นมาหน่อย เรียนจบขั้นประถมฯ จาก ร.ร.สีตะบุตรบำรุง และ จบม.๖ จาก ร.ร.สายปัญญา ซึ่งเป็น ร.ร.สตรีล้วน จบม.๖ แล้วไม่ได้เรียนต่อ แต่งงานกับพ่อบ้าน ทำงานรถไฟ มีลูก ๒ คน แล้วแยกกัน ยายไปทำงาน ที่บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด

พบอโศกที่สวนลุมฯ
ปี ๒๕๒๔ มีงานระดมธรรม ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ยายได้ฟังพ่อท่านเทศน์เรื่อง กฎแห่งกรรม ฟังแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง ติดตาม ฟังมาเรื่อยๆ จนเกิดโครงการปฐมอโศก ปี'๒๗ จึงไปซื้อที่ปลูกบ้านเป็นรุ่นแรก และอยู่มา จนถึงปัจจุบันนี้

เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร
ยายได้ข้อคิดว่า เราไปเพ่งโทสเขา โดยที่เขาไม่รู้ตัว เรามาดูตัวเองดีกว่า อะไรที่เราเพ่งโทสเขานั้น อยู่ที่เราทั้งหมด เวลาเจอ ผัสสะ คิดว่าเขาเป็นอย่างนั้นเอง เราจะไปถือสาทำไม เรามาแก้ที่ตัวเราดีกว่า ตอนนี้ยายสามารถ ทำให้คนที่ไม่ชอบยาย มาเป็นมิตรได้ ขนาดคนที่เขา ไม่ชอบยายเป็นปี เดี๋ยวนี้ยาย ก็เอาชนะเขาได้ ทั้งหญิง-ชาย

ทุกวันนี้
ยังห่วงลูกหลาน คิดไปสารพัด ก็พยายามตัด ไม่กลัวตาย หากตายจะเผาที่ปฐมฯ นี่แหละ ส่วนการปฏิบัติ ตัดกิเลส ก็เห็นว่า ความโลภ - โกรธ - หลงเบาลง ยอมรับว่า ตัวเองดีกว่าเก่า มากๆเลย ถ้าไม่เจอพ่อท่านฯ ยายอาจสำมะเลเทเมา ไปแล้วก็ได้ เพราะเมื่อก่อน ชีวิตยายมันเศร้า ผิดหวัง มีแต่ความเสียใจ

ฝาก
มาเจอดีแล้ว ก็พยายามเก็บแต่ความดี ที่เราเจอเอาไว้ สะสมไว้ แล้วทำตามคำสอน ของพ่อท่านฯ เพราะนี่คือ กำไรชีวิต ของเรา พ่อท่านอยู่กับเรา ไม่นาน ก็ต้องจากเราแล้ว

ยายฝากให้ทำตามคำสอนของพ่อท่าน เพราะนี่คือกำไรชีวิต แล้วทุกวันนี้ เรามีกำไรชีวิตกัน มากน้อยเท่าไรแล้ว หรือว่า มีแต่ ขาดทุนร่ำไป.

บุญนำพา รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับน.ส.พ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๑๘๗(๒๒๐) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ก.ค.๔๕

ก่อนอื่น ต้องขอแก้ไขคำความในฉบับที่แล้วที่พิมพ์ชื่อและตำแหน่งคลาดเคลื่อนไป

ที่ถูกต้องคือ นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ และรศ.บุญนำ ทานสัมฤทธิ์

ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ พร้อมทั้งขอกราบขอบพระคุณ สม.ปราณี ธาตุหินฟ้า ที่กรุณาส่งข้อมูลช่วยข่าวอโศกเสมอมา

บรรยากาศงานธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์ได้รับความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายอย่างดียิ่ง จิ้งหรีดบินดูบรรยากาศในวันนั้นแล้ว ก็เห็นด้วยกับ ที่ญาติธรรม บางท่าน เอ่ยประทับใจ กับวิญญาณสัมพันธ์ ของความเป็นพี่ เป็นน้อง ร่วมโลกใบเดียวกัน

งานวันนั้นดำเนินไปจนถึงค่ำ เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือคุณวัชราภรณ์ มีเข้ามา จนได้ยอดตัวเลข ที่เหนือความคาดหมาย ชนิดที่ทำให้ หลายท่าน ยิ้มแป้นได้ ทั้งที่ก่อนหน้างาน ก็ยังรู้สึกเป็นห่วงกังวล และที่น่าประทับใจ อีกเรื่องก็คือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่บริจาคเข้ามาถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท จิ้งหรีดได้ยินแล้ว ก็รู้สึกอนุโมทนาด้วย ที่แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ก็ให้ความกรุณา ช่วยเหลือเข้ามาด้วย รวมไปถึงทุกๆท่าน ที่มีส่วนร่วม ในการกุศล ครั้งนี้ด้วยนะฮะ

ทีนี้เราแวะมาคุยเรื่องเบาๆ(แต่ไม่ไร้สาระนะเออ)ในแวดวงเราต่อกันเลย

กระแสเอ็นไซม์... ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านราชฯ หรือที่ภูผาฯ หลังจากได้ฟังเท็ปเรื่อง "อาหารของมนุษย์" ของคุณหมออารีย์ ชาวเราหันมานิยม กินผักสด ผักพื้นบ้านผักป่า ที่ไม่ผ่านความร้อนกันเพิ่มขึ้น เพื่อรับเอาเอ็นไซม์ จากผักสดเหล่านั้น โดยเฉพาะ ใบบัวบก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย่างนี้ ก็คงสุขภาพ ดีกันถ้วนหน้าซินะ กินผักสดแล้ว อย่าลืมรักษาอารมณ์ ให้สด(ชื่น)ด้วยนะฮะ...จี๊ดๆ

พ่อแม่ของผม...จิ้งหรีดจาก จ.พัทลุง รายงานอาการป่วย ของคุณแม่ของญาติธรรม อำนวย เอกทักษิณ ซึ่งล้มป่วยมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ พ.ย.๔๓ ตามที่จิ้งหรีด เคยเสนอข่าวไปบ้างแล้ว จนถึงวันนี้ อาการของคุณแม่ ยังไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทรุดลงไปกว่าเดิม ยังไม่มีการตอบรับ แต่อย่างใด ส่วนลูกๆของแม่ ก็สลับกันมาเยี่ยม ดูแลเสมอ โดยมีคุณอำนวยและน้องสาว (คุณเมี้ยว) อยู่ดูแลเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นที่วางใจ แก่พี่น้องทั้ง ๖ คน ส่วนค่าใช้จ่ายนั้น ลูกๆทั้ง ๘ ก็ช่วยกันดูแล อย่างเอาภาระ

ข้างฝ่ายเตี่ยคุณอำนวย ซึ่งตอนนี้อายุ ๗๓ ปี สุขภาพแข็งแรงดี และมักประกาศเชิญชวน ให้ผู้อื่นหันมาดื่มน้ำฉี่ พร้อมกับแจกเอกสาร ที่พิมพ์เอง แถมยังส่งไปลง น.ส.พ.ภาษาจีน เพื่อเผยแพร่ด้วย ตอนนี้คุณเตี่ยอ้วนขึ้นมาก หมอลูกชาย (ดร.วิชัย) บอกให้ทานมังสวิรัติ สัปดาห์ละ ๒ วัน ก็ไม่รู้ว่า คุณเตี่ย จะทำได้ไหม

จิ้งหรีดเอง รู้จักกับครอบครัว "เอกทักษิณ" มาหลายปี ตั้งแต่หมอวิชัย กำลังเรียนหนังสืออยู่ และรู้สึก อนุโมทนา กับคุณอำนวย และน้องๆ ที่ปรนนิบัติ พ่อแม่ ยามแก่เฒ่า อย่างนี้ไม่เสียชื่อ ชาวอโศกนะฮะ...จี๊ดๆ

ลองใจ...ประมาณ ๑๐ โมงเช้า ขณะที่คุณกรักท่านหนึ่ง กำลังถืออาหาร เพื่อจะนำไปถวายสิกขมาตุที่ตึกแดง สันติอโศก ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่ง เดินเข้ามาหา แล้วถามว่า จะนำอาหารไปให้ใคร เมื่อทราบแล้ว เขาก็บอกว่า "ผมจะเป็นลมอยู่แล้ว ยังไม่ได้ทานอะไรเลย" คุณกรักก็เลย เอาอาหาร ที่ถือมานั้น ให้เขา แต่เขาปฏิเสธว่า เป็นอาหารที่จะนำไป ถวายสิกขมาตุ จนคุณกรักได้อธิบาย ถึงความจำเป็น มากกว่าของเขา เขาจึงยอมรับอาหาร

แต่ครั้นพอคุณกรัก เดินคล้อยหลัง ชายคนนั้น ก็เดินตามมา พร้อมกับพูดว่า "ผมขอบคุณมาก ผมไม่ได้หิวหรอก ผมแกล้ง ลองใจดูเท่านั้น ว่าคนที่นึ่ เขามีจิตใจอย่างไร"...จี๊ดๆ

ความรู้สึกของคนๆหนึ่ง...ที่ปฐมอโศก ณ ศาลาชวนชื่น "เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา วันที่จำไม่ได้ค่ะ ได้มีพิธีไหว้ครู ที่ปฐมอโศก ซึ่งแปลกใหม่ กว่าทุกปี เริ่มตั้งแต่ ท่านสมณะ กราบไหว้พ่อท่าน แล้วแต่ละรูป กล่าวความรู้สึก ที่มีต่อพ่อท่าน ฟังแล้ว น่าประทับใจมากค่ะ โดยปกติแล้ว ดิฉันไม่ชอบ การร้องไห้มาช้านาน (เปลืองลูกนัยน์ตา และน้ำตา) แต่วันนั้น น้ำตาเกือบไหล แต่สุดท้าย ก็จับอารมณ์ มันเป็นแค่เพียง ความรู้สึก ได้ทัน จึงหยุดหายไป

มาอยู่วัด ๑๕ ปี ก็เพิ่งจะเห็นเป็นขวัญตา ขวัญใจ ในวันนั้นได้เห็นถึง ความอ่อนโยน ในจิตใจของท่านสมณะ แต่ละรูป ที่มีต่อครูบาอาจารย์ ซึ่งพ่อท่านฯ ก็สมแล้วที่ลูกๆ จะเคารพนับถือบูชา ซึ่งต่างจากบางคน ที่เป็นลูกศิษย์ แต่คิดล้างครู หรือ ครูก็ไม่เป็นครูที่แท้จริง" ...จี๊ดๆ

๕ ส.มีผล...จิ้งหรีดไปเยี่ยมญาติธรรมที่ปากช่อง ก็ได้รับรายงานจากคุณหลั่น(พัชรี) แกนนำของกลุ่มว่า เสร็จจากการขายของ ในช่วงนักเรียน เปิดเทอมแล้ว เศรษฐกิจด้านการค้าขาย ที่ร้านหลังจากขายดี ก็ซบเซาลงทันที ยิ่งในช่วงฟุตบอลโลก ที่ผ่านมาแล้ว ไม่ว่าที่ไหนๆ ส่วนใหญ่ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แย่! ทำให้การค้าขาย ตกลงมามาก คือ เงียบ และขายของไม่ดี

แต่ทุกวันนี้ คุณหลั่นมีความรู้สึกว่า ธรรมะช่วยให้เข้าใจสัจธรรมที่ว่า "รู้ความจริง ตามความเป็นจริง" ได้มากขึ้น เข้าใจจริต อันหลากหลาย ของมนุษย์ และ ปลดปล่อย ปลงวางได้บ้าง

หลายครั้ง ที่รู้สึกปีติ ฟูฟองใจ ที่ตัวเอง สามารถเสียสละได้มากขึ้น แจกจ่ายแบ่งปัน (วัตถุ-ข้าวของที่เหลือ) ใช้ได้มากขึ้น ลดละความตระหนี่-หวงแหน ได้มากขึ้น ฯลฯ

กลับจากงานพุทธาฯ-ปลุกเสกฯปีนี้ ที่มีโอกาสไปได้ทั้ง ๒ งาน ซึ่งก็หาโอกาสนี้ไม่ง่ายเลย ในหลายปีที่ผ่านมา ก็รู้สึกมีไฟ กับนโยบาย ๕ ส. โดยได้ กลับมา สะสางข้าวข้องที่สะสม สามารถเอาไป ใช้ประโยชน์ได้อีก

การทำความดี การเสียสละ การแบ่งปัน การเกื้อกูลเอื้อเฟื้อ การทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น (ที่ไม่ใช่ญาติ) มิใช่ว่า คนในบ้าน จะเห็นด้วยทั้งหมด ทั้งๆที่ ตัวเองคิดว่า ประมาณกำลัง ความสามารถดีแล้ว ว่าไม่ได้ทำความเดือดร้อน ให้ตนและผู้อื่น แต่ก็มีความรู้สึก สุขใจลึกๆ และพอเข้าใจผู้อื่น ที่ไม่เห็นด้วย จนทำให้ตัวเองต้องทุกข์ สับสน หรือคล้อยตามไป กับความคิด ของผู้ไม่เห็นด้วย

ที่จิ้งหรีดนำเรื่องนี้มา ก็เพื่อให้ชาวเรารู้การทำงานของ ชาวอโศกว่ามีผล โดยเฉพาะจิ้งหรีด รู้สึกหายเหนื่อย แทนสมณะ และ สิกขมาตุ ที่รณรงค์ เรื่อง ๕ ส.(สะสาง สะอาด สะดวก สุขลักษณะ สร้างนิสัย) จริงๆนะฮะ...จี๊ดๆ

ขอร่วมด้วยคน...เมื่อวันที่ ๓-๑๐ ก.ค.๔๕ สิกขมาตุจาก ๔ พุทธสถาน (สม.หยาดพลี สม.เทียนคำเพชร จากศาลีอโศก,สม.บุญจริง สม.ผาแก้ว จากสันติอโศก,สม.ต้นข้าว สม.สร้างฝัน สม.เป็นหญิง จากราชธานีอโศก,สม.พูนเพียร จากปฐมอโศก) ขอเข้ารับการอบรม "ค่ายมหัศจรรย์ หลักสูตร อริยมรรค" ที่ภูผาฟ้าน้ำ จิ้งหรีดเห็นแล้ว รู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจ ที่สิกขมาตุ ท่านไม่หยุด อยู่ในกุศลธรรม ฝึกปฏิบัติ "ธรรมอันไม่ทำให้เสื่อม" หมั่นเข้าหาสัตบุรุษ ไม่ละเลยการฟังธรรม ศึกษาในอธิศีล ฯลฯ สาธุ...จี๊ดๆ

ไอ้ใบ้เสียงดัง... รายงานจากญาติธรรมเก่าแก่ ทำให้เห็นคุณค่า ของหนังสือธรรมะ ที่ชาวเราเผยแพร่ไป นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวนะ

"ดิฉันอ่านหนังสือ ความรัก ๑๐ มิติ จบเล่ม ก่อนที่จะได้เจอกับ สมณะชาวอโศก (ไม่ทราบว่าหนังสือนี้ มาอยู่ในบ้านได้อย่างไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เป็นหนังสือ ธรรมะของอโศก) อ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจ และเข้าใจความรัก ที่จะต้องเกื้อกว้าง ออกไป ตามมิติที่สูงขึ้นๆ

แม้เข้าใจ แต่ก็มิใช่จะปฏิบัติได้ง่าย ต้องใช้เวลา และเหตุปัจจัยหลายอย่างที่สั่งสม และสะสมกัน เป็นเวลานาน จนเกิดบุญบารมี ของตัวเองจริงๆ จึงจะสามารถ ปฏิบัติธรรมข้อนี้ มีจริง - เป็นจริง ในตัวเองได้

ปัจจุบันนี้ดิฉันรู้สึกว่า ตัวเองสบายใจ และพอทนทุกข์ได้ กับปัญหา - ความวุ่นวาย และความไม่เข้าใจ กับคนที่ต่างจริตได้ ทำให้รู้สึกวางใจ กับเรื่องต่างๆ โดยยึดธรรมะข้อ "รู้ความจริง ตามความเป็นจริง"

ในพรรษานี้ ใครจะตั้งตบะ อ่านหนังสือธรรมะ วันละหน้า ก็น่าจะเป็นอธิศีล ที่จะช่วยให้เราเกิดอธิจิต อธิปัญญาได้เหมือนกันนะฮะ...จี๊ดๆ

จ.ม.จากสมาชิก... "น.ส.พ.ข่าวอโศก ได้รับทุกฉบับค่ะ อ่านทุกเรื่องในฉบับจนจบ ได้ธรรมะ ได้ประโยชน์ และได้ทราบข่าวคราว ของชาวอโศก แบบสด สด ใหม่ ใหม่ ค่ะ (ไม่ตกข่าว)" สมาชิกท่านใด ได้รับข่าวอโศกแล้ว จะเขียนรายงานผล ไปให้ทางบ.ก.ทราบ ก็จะดี ส่วนใครจะแนบแสตมป์ ค่าส่งไปให้ด้วย ก็ไม่ถือว่า ผิดกติการนะฮะ...จี๊ดๆ

มรณัสสติ
นายศรี เพียรธรรม อายุ ๘๓ ปี ฌาปนกิจศพวันที่ ๑๙ ก.ค.๔๕ ที่สุสานบ้านหลวงเหนือ อ.งาว จ.ลำปาง
นายภูฟ้า แพงค่าอโศก อายุ ๔๙ ปี เสียชีวิต ด้วยโรคฉี่หนู เมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค.ที่ ร.พ.เชียงใหม่ราม ๑ ฌาปนกิจศพ วันที่ ๒๓ ก.ค.๔๕ ที่ภูผาฟ้าน้ำ จ.เชียงใหม่

เช่นเคย...ก่อนจากขอฝากคติธรรม -คำสอนของพ่อท่านฯ ที่ว่า พรหมลิขิต เพิ่มได้ลดได้

เข้าพรรษาแล้ว มีอะไรดีๆ (รวมทั้งดีท๊อกซ์ด้วยก็ได้) ก็อย่าลืมเล่าให้ฟังกันบ้างนะฮะ

ฉบับนี้ลาไปก่อน อีก ๑๕ วันพบกันใหม่

จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ภูฟ้าเสียชีวิตด้วยโรคฉี่หนู
พ่อท่านฯเป็นประธานประชุมเพลิง
ชาวบ้านหัวเลาร้องไห้อาลัย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ก.ค.๔๕ เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. กองทัพธรรมได้สูญเสีย ยอดนักรบบุญนิยม ขุนพลแห่ง ดอยแพงค่า ไปอีกหนึ่งคน คุณภูฟ้า แพงค่าอโศก หรือ คุณยุทธนา คงสุข หรือ พี่ยุทธของน้องๆ ด้วยโรคเล็บโตสไปโลซีส หรือ โรคฉี่หนู ด้วยอาการสงบ ในวัย ๔๙ ปี หลังจาก เข้ารับ การรักษาตัวที่ ร.พ.นครพิงค์ และ ร.พ.เชียงใหม่ราม ๑ เป็นเวลา ๑๐ วัน และนำศพ กลับมาบำเพ็ญกุศล ที่ศาลาซาวปี๋ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ในเวลา ประมาณ ๑๘.๐๐ น. ท่ามกลางความเสียดาย และอาลัย ของญาติธรรม และฌาปนกิจศพ วันอังคารที่ ๒๓ ก.ค.๔๕ เวลา ๑๖.๐๐ น. บริเวณลาน (ข่วง) หญ้าด้านหน้า ศาลาซาวปี๋ โดยมีพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เป็นประธาน

หลังจากที่สมณะ สามเณร สิกขมาตุ ญาติธรรม ตลอดจนผู้คนที่รู้จัก รวมถึงชาวเขา เผ่าปกากะญอ ทราบข่าว การจากไป ของคุณภูฟ้า ต่างทยอย เดินทาง มาร่วมงานศพ ในครั้งนี้

๒๒ ก.ค.ช่วงก่อนฉัน สมณะกล้าดี เตชพหุชโน สมณะแดนเดิม พรหมจริโย และ สมณะมั่นแจ้ง พุทธชาโต แสดงธรรม รำลึกถึงคุณภูฟ้า

เวลา ๑๖.๐๐-๒๐.๐๐ น.ของวันเดียวกัน เป็นรายการรำลึกถึงคุณภูฟ้า โดยสมณะ และญาติธรรม ร่วมรำลึกถึง คุณงามความดี ของคุณภูฟ้า จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. และต้องต่อเวลา ไปในช่วงทำวัตรเช้า และก่อนฉัน ของวันรุ่งขึ้น (๒๓ ก.ค.) จนถึงเวลา ๑๐.๔๕ น. จึงร่วมรับประทาน อาหาร แบบบุฟเฟ่ต์

๑๓.๔๕ น.ของวันที่ ๒๓ ก.ค. ตัวแทนหย่อมบ้าน และผู้ใหญ่บ้านแม่เลา ได้มากล่าว รำลึกความดี ของคุณภูฟ้า ด้วยความตื้นตัน จนน้ำตาคลอ ทั้งผู้พูด และผู้ฟัง ชาวบ้านแถบนี้ ที่มาร่วมงาน ก็มีความรู้สึก เช่นเดียวกัน

จากนั้นเวลา ๑๔.๐๐ น. พ่อท่านฯขึ้นเทศน์หน้าศพ สรุปได้ว่า คุณภูฟ้าถือได้ว่า เป็นเจ้าของที่นี่ เพราะเป็นคนแรก ที่ขึ้นมาบุกเบิก และ อยู่เป็นหลัก มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ชาตินี้คุณภูฟ้า ได้ทำกุศลไว้ไม่น้อย บอกได้ว่า เป็นอาริยบุคคล ที่มีสัมมาทิฏฐิ ที่ชัดเจน และ สมานบุคคลอื่น ได้อย่างดี

 

๑๕.๓๐ น.พ่อท่านฯพร้อมหมู่สมณะ สามเณร สิกขมาตุ เดินนำหน้าศพ โดยมีญาติธรรม และชาวบ้านข้างเคียง เดินตามเวียนซ้าย เชิงตะกอน ๓ รอบ ซึ่งทำเป็นรูปกระต๊อบ (ปราสาทแบบชาวอโศก) จุดประสงค์ เพื่อกันฝน ที่อาจตก ลงมาเปียกฟืน ที่จัดกองไว้รองรับศพ แล้วทยอยวาง ดอกไม้จันทน์ และกิ่งไม้กฤษณา คารวะศพ เป็นครั้งสุดท้าย พ่อท่านฯ ให้โอวาท ก่อนประชุมเพลิงว่า ทุกคนมีกรรมเป็นทรัพย์แท้ ที่จะติดตัวไป ดังนั้น อย่าประมาท หมดลมหายใจ ก็หมดโอกาส สั่งสมทรัพย์แท้

แล้วร่ำลากลับสู่ภูมิลำเนา มีสมณะ ๔๐ รูป สามเณร ๒ รูป สิกขมาตุ ๕ รูป นาค ๑ คน กรัก ๒ คน ปะหญิง ๑ คน และ ญาติธรรม จากทุกภาค มาร่วมงานครั้งนี้ ประมาณ ๕๐๐ คน

ไม่มีคุณภูฟ้าอีกแล้วในวันนี้ คงเหลือไว้แต่คุณงามความดี และอุดมการณ์ ที่รอทุกคนมาร่วมสานต่อ และ คนๆนั้น ก็คือ พวกเรา ทุกๆคน ตายหนึ่งต้องเกิดร้อย

พึงจดจำไว้ว่า ไม่มีคุณภูฟ้าก็ไม่มีภูผาฟ้าน้ำ ขอคารวะบรรพชน รุ่นที่ ๑ แห่งดอยแพงค่า คุณภูฟ้า แพงค่าอโศก คุณงามความดีของเขา จะอยู่ในใจ ของชาวอโศก และ ผู้คนที่รู้จักเขา ตลอดไป ชั่วนิจนิรันดร์

สำหรับความรู้สึกของผู้ไปร่วมงาน มีดังนี้

คุณเรณู คำแดง "ประทับใจที่พ่อท่านฯเทศน์ในงาน คุณภูฟ้าเป็นคนดี เสียสละ งานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า คนดี แม้เสียชีวิต ก็มีผู้คน ไปร่วมงาน มากมาย เป็นบารมี เพราะคุณค่าของผู้ตาย"

กรักตรงธรรม ลีฬหรัตนรักษ์ "ประทับใจ ในน้ำใจของชาวอโศก ของหมู่กลุ่ม ที่พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้ อย่างที่พ่อท่านฯ ตั้งความหวังไว้จะให้ สารณียธรรม เกิดขึ้นกับชาวอโศก ตอนนี้เป็นรูปรอยขึ้นแล้ว และก็คิดว่า ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทร การระลึกถึงกัน การช่วยเหลือกัน ยังมีต่อไป ในชาวอโศก และขอให้มีมากๆ เพื่อความสงบ ความเจริญขึ้น ของหมู่กลุ่ม".


ประวัติโดยสังเขป
เดิมชื่อ นายยุทธนา คงสุข เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ ม.ค.๒๔๙๖ เป็นบุตรคนสุดท้อง ในบรรดาพี่น้อง ๘ คน บวชเป็นพระชาวอโศก เมื่อปี ๒๕๒๔ ขณะที่บวชได้ทำหน้าที่ ปัจฉาสมณะ อุปัฏฐากของพ่อท่านฯ อยู่ ๕ ปี และ ลาสิกขาบท หลังจากบวชได้ ๘ พรรษา

ในปี ๒๕๓๒ ได้ขึ้นมาบุกเบิกและเป็นตัวหลัก อยู่ที่ภูผาฟ้าน้ำ ประสานสัมพันธ์กับภายนอก จนได้รับแต่งตั้ง เป็นคณะกรรมการ ตรวจสอบ และ บริหารงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธร ต.ป่าแป๋ (กต.ตร.สภ.ต.ป่าแป๋), ผู้ประสานงาน กลุ่มพัฒนา อาชีพสตรี บ้านแม่เลา, ประธานประชาคมหมู่บ้าน ม.๕ บ้านแม่เลา ร่วมพิจารณาโครงการ พัฒนาหมู่บ้าน, ที่ปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน ม.๕ บ้านแม่เลา, ประธานชุมชน ภูผาฟ้าน้ำ และ ต้นสกุล แพงค่าอโศก

สมรสกับนางน้ำแรง แพงค่าอโศก มีบุตรชาย ๑ คน คือ ด.ช.ภูผาเมฆ (แห้งแก๋ง) แพงค่าอโศก อายุ ๓ ปี ๔ เดือน เรียนหนังสือ อยู่ที่ ร.ร.อนุบาลหลานปู่ฯ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


โลกวิทู เศษเหล็ก

-บางจากเริ่มลืมตาอ้าปากทำกำไร
นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลีม จำกัด(มหาชน) เผยผลการดำเนินงาน ๖ เดือนแรก ของปีนี้ว่า มีรายได้รวม ๒๔,๓๕๗ ล้านบาท มีกำไร ก่อนหักดอกเบี้ย และ ค่าเสื่อม ๑,๗๙๖ ล้านบาท มีกำไรสุทธิ ๖๓๙ ล้านบาท และมีหนี้สิน ๒๓,๖๐๐ ล้านบาท และ มีหนี้เงินกู้ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท

โดยปีนี้จะต้องจ่ายหนี้เงินกู้ ๔,๐๐๐ ล้านบาท และชำระไปแล้ว ๑,๐๐๐ ล้านบาท อีก ๓,๐๐๐ ล้านบาท บางจากจะใช้วิธี ออกตั๋วเงินกู้ ขายให้ประชาชน เพื่อนำมาชำระหนี้ ให้เจ้าหนี้ ซึ่งดอกเบี้ย ที่จะจ่ายให้ประชาชน ที่มาซื้อตั๋ว เงินกู้ลอตนี้ จะสูงกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป และปี '๔๖ จะต้อง ชำระหนี้ ๖,๐๐๐ ล้านบาท แต่ยังไม่กำหนดว่า จะใช้หนี้วิธีใด ทำให้ปี '๔๕-๔๖ บางจากจะไม่จ่ายเงินปันผล ให้ผู้ถือหุ้น แต่คาดว่า ในปี '๔๗ จะสามารถ จ่ายเงินปันผลให้ได้.
(จาก น.ส.พ.ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ ๑๗ ก.ค.๔๕)

-พบอาหารสารปนเปื้อน!
๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์โดนด้วย

เทศบาลเมืองบุรีรัมย์คุมเข้ม ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตอาหาร-เครื่องดื่ม หลังตรวจพบอาหาร ๖๒ ชนิด มีสารปนเปื้อน ครึ่งต่อครึ่ง แถมผลิตภัณฑ์ ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหาร สุ่มตัวอย่างมา ๙๗ ชนิด ไม่ผ่านถึง ๓๖ ชนิด

ขู่หากพบใครฝ่าฝืน นำมาจำหน่าย หรือผลิต ปรับถึงครึ่งแสน.
(จาก น.ส.พ.เอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์ ฉบับที่ ๒๐๙๒ ประจำวันอังคารที่ ๑๖ ก.ค.๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ดีเด่นดังเหนือ-อีสาน-ใต้
ได้รางวัลครูภูมิปัญญาไทย

เผยรายชื่อ "ครูภูมิปัญญาไทย" รุ่น ๒ ปี ๒๕๔๕ รวม ๕๖ รางวัลทั่วประเทศ "พระพยอม" คว้าด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี ส่วน "ครูมุกดา อินต๊ะสาร" รับด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน

นายรุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(กกศ.) เปิดเผยถึงโครงการให้รางวัล ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ ว่า ในปี ๒๕๔๕ นี้ สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ได้คัดเลือก ผู้รับรางวัล ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ จำนวน ๕๖ คน แบ่งเป็น การรับรางวัล ๙ ด้าน คือ ครูภูมิปัญญา ด้านการเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์ แผนไทย ด้านกองทุน และธุรกิจชุมชน ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี ด้านโภชนาการ ด้านศิลปกรรม และ ด้านภาษาและวรรณกรรม โดยกระบวนการคัดเลือก เริ่มจากการส่งรายชื่อผลงาน บุคคลที่มี ความเหมาะสม ได้รับรางวัล แต่ละด้าน ของหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ส่งเข้ามากกว่า ๒,๐๐๐ คน จากนั้น สกศ. จะพิจารณา ตามเกณฑ์ ผู้ได้รับรางวัล จะต้องเป็นบุคคล ที่มีความเชี่ยวชาญ ในแต่ละด้าน มีคุณธรรม จริยธรรม และการทำประโยชน์ เพื่อชุมชน สังคม มาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ สกศ.จะมีกระบวนการ ลงไปตรวจสอบ การปฏิบัติ ของบุคคลนั้นๆ ในพื้นที่ด้วย เพื่อให้ได้บุคคล ที่มีความเหมาะสม แต่ละด้านจริงๆ

เลขาธิการ กกศ. กล่าวต่อว่า สำหรับบุคคลที่ได้รับคัดเลือกให้รางวัลครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ ทั้ง ๕๖ คน เป็นบุคคล ที่ทุ่มเท ให้กับสังคม ชุมชนมานาน อย่างเช่น พระพิศาลธรรมพาที (พระพยอม กัลยาโณ) ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี ได้รับรางวัล ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี

นายรุ่งกล่าวว่า ครูภูมิปัญญาไทย ที่ได้รับคัดเลือกทั้ง ๕๖ คน จะได้รับมอบประกาศเกียรติคุณ และงบประมาณสนับสนุน การดำเนินงาน ของแต่ละคน ประมาณ ๔๘,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ ให้กับชุมชน สังคม ตลอดจน การเข้าไป มีบทบาท ต่อการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้ สกศ. จะจัดพิธีมอบประกาศ เกียรติคุณ ประมาณ เดือนสิงหาคมนี้

สำหรับผู้ได้รับรางวัลภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ อีก ๕๑ คน ประกอบด้วย ภาคกลาง สมณะเสียงศีล ชาตวโร จ.สิงห์บุรี ด้านการจัดการ ทรัพยากร นางสมหมาย หนูแดง จ.ลพบุรี ด้านเกษตรกรรม เป็นต้น

อนึ่ง โครงการคัดเลือกประกาศเกียรติคุณ ครูภูมิปัญญาไทยนี้ สกศ. เริ่มดำเนินการ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ซึ่งได้รับอนุมัติ จากคณะ รัฐมนตรี (ครม.) โดยครูภูมิปัญญาไทย รุ่นแรกมีจำนวน ๓๐ คน

(จาก น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ ๙ ก.ค. ๒๕๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


"ซิฟกับศีรษะอโศกจัดงานตุ้มโฮม
ร่วมกับสภาพัฒนาภูมิปัญญา มหาวิชชาลัยฯ
ระดมปราชญ์ชาวบ้านอีสานกู้ชาติ"


สภาพัฒนาภูมิปัญญา มหาวิชชาลัยไทอีสานฮักถิ่น(มชท.) โดยการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อสังคม (SIF) จัดงาน "ตุ้มโฮมมูนมังไทอีสาน สืบสานภูมิปัญญา แก้ปัญหาคนจน" ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ ก.ค. ๒๕๔๕ ณ ชุมชนบุญนิยม ศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

ในช่วงเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา กองทุนชุมชน ภาคอีสาน ได้สนับสนุนงบประมาณ ดำเนินโครงการ แก่องค์กรชุมชน และ เครือข่าย องค์กรชุมชน ในพื้นที่ ๑๙ จังหวัดเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ในรูปขบวนการ เคลื่อนไหว ทางสังคม เพื่อเข้าร่วมแก้ไข ปัญหาของประเทศ โดยภาคประชาชน อย่างกว้างขวาง สามารถสรุปเป็นองค์ความรู้ เพื่อการพึ่งตนเอง ของชุมชน อยู่ในศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ กระจัดกระจาย อยู่ในพื้นที่มากมาย มีปราชญ์ ผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ลุ่มลึก ลุกขึ้นมา แสดงตัวตน เผยแพร่แนวทาง การพึ่งพาตัวเอง ของคนจำนวนมาก

ปราชญ์ ผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสานจึงได้ร่วมกันจัดเวทีพูดคุย ค้นหาแนวความคิด ทิศทางที่เหมาะสม และมีความเห็น ร่วมกัน จัดตั้งเป็น "สภาพัฒนาภูมิปัญญา มหาวิชชาลัยไทยอีสานฮักถิ่น" เพื่อถักทอปราชญ์ ผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเครือข่าย และ ดำเนินกิจกรรม ขยายองค์ความรู้ เพื่อการพึ่งตนเอง ให้กว้างขวาง และต่อเนื่อง สามารถเป็น ขุมพลัง ทางความรู้ ภูมิปัญญาอีสาน ได้อย่างแท้จริงในระยะยาว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำ "สภาพัฒนาภูมิปัญญาฯ" สู่สาธารณะ, นำเสนอประสบการณ์ การเรียนรู้ชุมชน พึ่งตนเอง, ฟื้นฟู เชิดชู และถักทอ ภูมิปัญญาอีสาน, ร่วมกันกำหนดทิศทาง การจัดการศึกษา พัฒนาภูมิปัญญาอีสาน สู่การพึ่งตนเอง และ แลกเปลี่ยน แนวทางการจัดการ ความรู้ภูมิปัญญาอีสาน โดยประกอบด้วย ซุ้มความรู้ ๑๑ องค์ความรู้

๑.พุทธกับวิถีชีวิตพึ่งตนเอง นำแสนอสัมมาอาชีวะ ๓ อาชีพกู้ชาติ กสิกรรมธรรมชาติ ปุ๋ยสะอาดและขยะวิทยา สู่การพึ่งตนเอง โดยชุมชน ราชธานีอโศก บริเวณศาลาพิพิธกรรม

๒.วปอ.(วิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงและพึ่งตนเอง) มี ๑๒ ปราชญ์ผู้รู้ อาทิ พ่อคำเดื่อง ภาษี ให้คำแนะนำ สู่การพึ่งตนเอง ณ เฮือนกู้ไท

๓.การจัดการกองทุนออมทรัพย์ และสวัสดิการชุมชน บริเวณเฮือนกู้ไท โดยชุมชนบุญนิยมศีรษะอโศก

๔.ปุ๋ยชีวภาพ เกษตรธรรมชาติ บริเวณโรงปุ๋ย โดยชุมชนบุญนิยมศีรษะอโศก

๕.โรงสี ธุรกิจชุมชนของชาวนา บริเวณโรงสี โดยชุมชนบุญนิยมศีรษะอโศก

๖.หัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา โดยนำเสนอการพึ่งตนเองด้วยการทอผ้า การแกะสลัก จักสาน ทำเครื่องประดับ จากเงิน จากชุมชนต่างๆ บริเวณโรงกี่

๗.การจัดการดิน น้ำ ป่า โดยชุมชน เป็นการเสวนากลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ร่วมกัน ของชุมชนต่างๆ บริเวณศาลา ธรรมทายาท

๘.สื่อศิลปวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนา เป็นการแสดงจากกลุ่มต่างๆ ณ ศาลาบุญถ่วม

๙.พระสงฆ์กับการพัฒนา ให้ความรู้ตามหลักสัมมาอริยมรรคสู่การพึ่งตนเอง ชั้นบนของโบสถ์

๑๐.คนไทยต้องรักษาด้วยแพทย์แผนไทย การรักษาด้วยภูมิปัญญาไทย มีทั้งการนวด บริการยาต้มสมุนไพร และ ยาสมุนไพร เพื่อการรักษา จากผู้รู้ต่างๆ บริเวณบ้านอโรคยา

๑๑.วิทยุชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน การจัดการให้ความรู้แก่ชุมชน โดยราชธานีอโศก บริเวณศาลาหกเหลี่ยม

สำหรับบรรยากาศของงาน

๑๗ ก.ค. ญาติธรรมและประชาชนจากภาคเหนือ-ใต้ และ ๑๙ จังหวัดในภาคอีสาน ทยอยเดินทาง สู่ชุมชนบุญนิยม ศีรษะอโศก เวลา ๑๘.๓๐ น. ร่วมกันทำวัตรเย็น โดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร เสร็จแล้ว อ.ขวัญดิน สิงห์คำ ตัวแทนชุมชน ศีรษะฯ กล่าวแนะนำชุมชน, ฐานงานต่างๆ พร้อมกับขออภัย หากมีสิ่งใด ขาดตกบกพร่อง หลังจากนั้น ชมวิดีโอ. ๓๐ ปี แห่งการงาน ของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ผู้นำของชาวอโศก ๒๐.๒๐ น. แยกย้ายไปพักผ่อน

๑๘ ก.ค. ธรรมะรับอรุณ บริเวณศาลาฟังธรรม โดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ให้ข้อคิดว่า ความเพียรเป็นตัวกำหนด ความเจริญ ผู้ใด ไร้ความเพียร ผู้นั้นหมดความเจริญ หลังจากนั้น ทยอยมาลงทะเบียน พร้อมรับเอกสาน และย้ายเวทีมาที่ ศาลาบุญถ่วม รับประทาน อาหารเช้าเบาๆ พร้อมกับชมวัฒนธรรม โดย สื่อศิลปพื้นบ้าน การแสดง จากกลุ่มต่างๆ

๙ นาฬิกา รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายประมูล เศวตธรรม กล่าวเปิดงาน ต่อด้วยรายการแนะนำ - เปิดตัว และมอบ ของที่ระลึก แก่ผู้รับผิดชอบหลัก ในการดำเนินงานโครงการ แล้วพบกับพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์อีกครั้ง "ศีรษะอโศก ชุมชนพึ่งตนเอง" เริ่มจากตัวพ่อท่าน ปฏิบัติธรรมเป็นคนแรก จนมีผู้เห็นดีเห็นงาม ปฏิบัติร่วมด้วย จนกลายเป็นชุมชน ในที่สุด แล้วเป็นปาฐกถา "ภูมิปัญญาอีสานกับการแก้ปัญหาความยากจน" โดย ส.ศิวรักษ์ เสร็จแล้ว รับประทานอาหาร พร้อมกับชม ศิลปพื้นบ้าน จากกลุ่มต่างๆ หลังจากนั้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๑๑ ฐานองค์ความรู้ บ่าย ๒ โมงครึ่ง - ๓ โมงครึ่ง รายการบันทึก เท็ปโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ รายการภูมิภาค "มหาวิชชาลัย ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจน" โดย กำนันสมคิด ศรีวัฒนา จาก จ.นครราชสีมา, พ่อคำเดื่อง ภาษี ผู้นำเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน, อ.ขวัญดิน สิงห์คำ ผู้นำชุมชนศีรษะอโศก, คุณเอนก นาคะบุตร ผอ.สำนักงาน กองทุนเพื่อสังคม, ดร.เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ สำนักงานปฏิรูปการศึกษา ดำเนินรายการ โดย คุณจุฬารัตน์ เสรีเชษฐ์พงษ์ แล้วแลกเปลี่ยน เรียนรู้ตามธรรมชาติกับ ๑๑ ซุ้มความรู้ รับประทานอาหารเย็น และ รายการ วัฒนธรรม สื่อศิลปพื้นบ้าน ซึ่งในวันนี้ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ o. มีการถ่ายทอดสด คลื่นความถี่ เอฟ.เอ็ม. ๑๐๐.๒๕ และ เอ.เอ็ม. ๘๖๔ ทางสถานีวิทยุ กระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ศรีสะเกษ โดยเจ้าหน้าที่ทางสถานี ได้มาทำการ ถ่ายทอดสด ที่นี่ด้วย

๑๙ ก.ค. ธรรมะรับอรุณ หลังจากสวดมนต์แล้ว พบกับคุณหมออารีย์ จากไร่มะขามเปรี้ยว การดูแลสุขภาพ ด้วย ๖ อ. หลังจาก หมดเวลา บางส่วนฟังต่อ บริเวณใต้โบสถ์ บางส่วนไปรับประทาน อาหารเช้า แล้วแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ตามธรรมชาติ ๙ โมงเช้า แสดงเจตนารมณ์ "เราจะแก้ปัญหาความยากจนคนอีสาน ด้วยภูมิปัญญาไทยอีสาน" โดย ผู้แทนภาค ส่วนต่างๆ ปิดท้ายด้วย สมณะเดินดิน ติกขวีโร ให้โอวาท กิจกรรมอำลา แล้วรับประทาน อาหารร่วมกัน

สำหรับผู้มาร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นดังนี้

นายวีระ นิจไตรรัตน์ ผู้ประสานงานอาวุโส สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม (SIF) "เงิน ๒ พันล้าน ที่นำมาบริหาร กับกองทุน ตอนนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เราพบว่ามีพ่อค้า - นักการเมือง - ข้าราชการ ที่มีใจดูแลท้องถิ่น เข้ามารวมตัวกัน มากขึ้น ในองค์กร ระดับชุมชน มีการตื่นตัว เพื่อที่จะดูแลตัวเอง โดยใช้ทุนน้อย แต่ทำได้เยอะ โดยไม่ต้องหวังพึ่งรัฐบาล ในรูปของ ศูนย์การเรียนรู้ เครือข่ายต่างๆ เป็นทางเลือก ให้กับคนยากจนกันเอง ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน และ ชาวบ้าน ไม่ได้รู้สึกว่า ต้องหยุด การดำเนินงาน ไปพร้อมกับกองทุน กระบวนการเรียนรู้ พึ่งพาตนเอง ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ยังคงดำเนินการ ต่อไปครับ"

นายแก้ว สังข์ชู ศิลปาจารย์ จ.พัทลุง "ถ้าประเทศไทยเรา มีชุมชนอย่างศีรษะอโศกนี้สัก ๑๕ % ของประเทศ ก็จะฟื้นตัว จากความทุกข์ยาก ได้เร็วกว่านี้ ชีวิตของคนที่นี่ มีความเป็นอยู่ อย่างมีระเบียบ แบบแผน บนพื้นฐาน ของธรรมะ อยู่กันแบบพี่น้อง ไม่มีชนชั้น มีการบริหารหมู่บ้านที่ดี สิ่งที่จะนำกลับไปทำคือ กรอบการบริหารชุมชน ร้านค้าชุมชน และ การทำปุ๋ยชีวภาพ การเทศน์ของพ่อท่าน ตรงไปตรงมาดีมาก ไม่มีการอ้อมค้อม สมัยนี้ จะหาพระอย่างนี้ ยากมาก การต้อนรับ เป็นกันเองมาก ให้ความอบอุ่น เหมือนกับบ้านตัวเอง ไม่มีความรู้สึกว่า นี่เป็นภาคอีสานเลย สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศ มีต้นไม้ใหญ่ เหมือนภาคใต้"

นางจันทร์วรรณ มณีรัตนชาติ ประธานเครือข่ายสตรีชนบท จ.เชียงราย "เข้ามาดูเรื่องออมทรัพย์ ของที่นี่ ว่าทำกัน อย่างไร เพราะที่บ้าน มีปัญหา ก็ได้รับประโยชน์ และจะนำความคิดจากที่นี่ ไปขยายผล ให้กับเด็ก และผู้หญิง โดยเฉพาะ เรื่องหลักธรรม และการแบ่งปัน เหมือนกับที่นี่"

นายดาวุธ และไหม ศูนย์เรียนรู้ภาคปริมณฑล จ.สมุทรปราการ "ได้มาเก็บรายละเอียดจากตรงนี้ เพื่อไปจัดงาน เวทีผู้รู้ ที่นี่เป็นโลก ที่ค่อนข้าง จะเป็นอุดมคติ ที่เป็นรูปธรรม ที่นี่เหมาะสำหรับ คนที่เข้าใจ ที่จะนำไปสู่ การเข้าใจคนอื่นด้วย ความคิด ความอ่าน ของคนที่นี่ ไม่ไปตามกระแสโลก ผู้หญิงที่นี่ ดูจะไม่สนใจ กับความสวยงามเลย แต่หน้าตายิ้มแย้ม แจ่มใสมาก"

พ่อโส สิตะเสน จ.อำนาจเจริญ "ผมเป็นหมอแผนโบราณ มาเผยแพร่สมุนไพร ๓๒ อย่าง ที่อโรคยา และ มีประสบการณ์ ตอนเด็ก จากอุบัติเหตุ ถูกรถชน ขาหักทั้งสองข้าง หมอทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ฯ แนะนำให้ตัดขา ทั้งสองข้าง แต่ผมไม่ยอม ไปรักษา กับหมอแผนโบราณ จนขาต่อกันได้ และเดินได้ เป็นปกติ ในที่สุด จึงกลับไปเรียนวิชาต่อกระดูก กับหมอคนนี้ แล้วนำมาเผยแพร่ มาอยู่ที่นี่ ๓ วัน ไม่ได้สูบยาเลย ก็ทำตามกฎระเบียบ ของที่นี่ จริงๆแล้ว ผมก็อยากจะเลิก สบายครับ ที่นี่ต้อนรับดีมาก (สนใจติดต่อ สอบถามได้ที่ บ้านคำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ โทร.๐๔๕-๔๖๙๓๒๙)"

นายวิรัตน์ พรหมสอน จากเครือข่ายประชาชน จ.เชียงราย "อยากให้มีงานอย่างนี้บ่อยๆ และมีการประชาสัมพันธ์ ให้มากกว่านี้ มันจะได้ซึมซาบ และชาวบ้านของพวกเรา จะได้รู้ข้อมูลตรงนี้ วิกฤติของประเทศ ที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่ง มาจาก ขาดการประชาสัมพันธ์ ในด้านนี้ แต่ตรงข้าม ในด้านที่ไม่เห็นจะสร้างสรร กลับมีการประชาสัมพันธ์ มากมาย เรื่องวิถีชีวิต ภูมิปัญญา อยากจะเตรียมเด็ก ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปเลย มาเรียนรู้ เป็นหลักสูตรไปเลย"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

รอบรู้โรคติดต่อ
โรคเลปโตสไปโรซีส (๔)

ปัจจุบันมีเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคเลปโตสไปโรซีสอยู่กว่า ๒๐๐ สายพันธุ์ แต่ที่พบมากที่สุด มีประมาณ ๒๓ สายพันธุ์

สำหรับกลุ่มอาชีพที่เสี่ยงต่อโรคเลปโตสไปโรซีส ได้แก่ ชาวนา คนงานในไร่อ้อย คนงานเหมืองแร่ คนงานโรงงานฆ่าสัตว์ คนที่มีอาชีพหาปลา หรือ ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสน้ำ หรือแช่น้ำอยู่นานๆ

การป้องกันเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปร่า เข้าสู่ร่างกาย เพื่อห่างไกลจากโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู ทำได้ไม่ยาก ในกรณีของผู้ที่ ต้องลงไปสัมผัสกับที่ชื้นแฉะ หรือย่ำดิน โคลน ที่มีสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคอย่าง วัว ควาย สุกรลงไปแช่น้ำ ก็ควรใส่รองเท้าบู๊ต หรือ รองเท้ายาง เพื่อป้องกันเชื้อโรค เพราะที่เท้าของเรา อาจจะมีแผลถลอก ซึ่งเราไม่รู้อยู่ก็ได้ หรือบางคน ที่อาจจะลงไป ขุดลอกคูคลอง เมื่อขึ้นมาแล้ว จะต้องรีบทำความสะอาด ชำระล้างร่างกายทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของ "เท้า" หรือ "ขา" ต้องล้างให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง

ในกรณีที่มีสัตว์ป่วยด้วยโรค เลปโตสไปโรซีส เมื่อทำการรักษาแล้ว ควรทำความสะอาดคอกสัตว์ ให้สะอาด ถ้าเป็นไปได้ ควรจะฆ่าเชื้อโรค เพื่อจะได้แน่ใจว่า ไม่มีเชื้อที่จะสามารถ แพร่ไปสู่สัตว์อื่นได้อีก

สำหรับการป้องกันการรับเชื้อที่อาจจะปนเปื้อน มาในอาหาร เช่น ผักสดต่างๆ ที่เราไม่รู้ ที่มาที่ไปนั้น สามารถป้องกันได้ ด้วยการล้าง ให้สะอาด และ ปรุงให้สุกก่อน จึงค่อยนำมารับประทาน ส่วนอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ถ้าจะให้ดี ปิดผาชีให้มิดชิด ระวังหนูฉี่รด

ส่วนประปาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง สิ่งที่จะป้องกันโรคฉี่หนูได้ อีกทางหนึ่ง ก็คือการกำจัดหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยเริ่มต้น จากการกำจัด แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของหนู ด้วยการกำจัด ขยะมูลปอย อย่างถูกวิธี ถ้าเป็นถังขยะ ก็ต้องปิดฝา ให้มิดชิก เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนูตัวร้าย มาลากขยะไปแทะ ซึ่งนอกจาก จะทำให้สกปรก เลอะเทอะแล้ว ยังเป็นการ แพร่เชื้อโรคด้วย

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้คุณห่างไกลจากโรค เลปโตสไปโรซีส ซึ่งหากป้องกันกันทุกวิถีทาง อย่างนี้แล้ว

รับรองว่า บอกลา โรคเลปโตสไปโรซีส ได้แน่นอน

สนใจข้อมูลเกี่ยวกับ "โรคเลปโตสไปโรซีส" ติดต่อได้ที่ สำนักงานโรคเลปโตสไปโรซีส กรมควบคุมโรคติดต่อ โทรศัพท์ 0-2590-3313 และ 0-2590-3007

(จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,500 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]