ฉบับที่ 191 ปักษ์หลัง 16-30 กันยายน 2545 |
พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ใครที่คิดต้องการอะไรให้สมบูรณ์แบบ
มีความพร้อมพรั่ง ล้วนเพราะไม่สมปรารถนา แม้จะไม่ปรารถนาถึงขั้นเลิศเลอ เฟอร์เฟค ก็ตาม แต่เพราะมีกิเลสยึด ไม่อยากให้พร่อง จากที่ตัวเอง ตั้งความปรารถนาไว้ นี่แหละ จึงพาให้ใจทุกข์ ใครเถียง?! ดังนั้นใครก็ตามที่มาปฏิบัติธรรม หากไม่ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ไม่ฝึกอยู่กับความขาด ไม่พยายามฝึกใช้ฝึกกินให้ท้องพร่องไว้ ก็ต้องประสบ กับความทุกข์ ทั้งตนเอง และผู้อื่น ตนเองทุกข์ ก็คือ มีความอยาก และอยากหามาให้ตนเองตามปรารถนา ผู้อื่นทุกข์ ก็คือ ต้องถูกบีบคั้นจากเรา การเรียกร้องจากเราให้หามาให้ตนสมปรารถนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า การตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ถ้าได้สมปรารถนา ชีวิตทางธรรมของเรา จะก้าวหน้า ไปได้อย่างไร จะไม่ค้านแย้ง กับสิ่งที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้หรือ? ดังนั้นผู้ประสบกับความขาดพร่อง แล้วอดทนได้หรืออยู่กับความพร่อง ด้วยความเข้าใจในสัจธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เราจะพบกับความสุข ที่แท้จริง ไม่เชื่อก็ลองฝึกกิน
ให้ท้องพร่องสัก ๗ วันก่อนเป็นไง |
||||||||||
จับประเด็นจากหนังสือ "คนคืออะไรฯ?" (๓) รูปนามเบื้องต้น รูป คือ สิ่งอันเป็นกายที่เราสัมผัสได้หมายรู้ แบ่งออกได้สองลักษณะคือ รูปอันเป็นวัตถุหยาบใหญ่ ประกอบขึ้นจากธาตุทั้งสี่ ดินน้ำลมไฟ อย่างร่างกายเรานี้ก็ใช่ รูปที่เล็กละเอียด...เป็นเพียงความคิดหรือสัญญา ที่เราไปกำหนดมั่นหมายไว้เป็นตัวตนแห่งความคิดนั้นๆ กระบวนการทำงานอย่างสอดประสานระหว่างรูปกับนาม ทำให้คนเรามีสุขมีทุกข์ จากสัมผัสสภาวะต่างๆ หากคนเรามีแต่รูปไม่มีนาม หรือมีแต่กายไม่มีจิต...คล้ายจะมีชีวิตอยู่อย่างพืช เติบโตด้วยอาหารและแร่ธาตุ ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกใดๆ สุข ทุกข์ เจ็บปวด เศร้าเสียใจไม่มี "นาม" อันลึกซึ้ง... บทนี้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนจาก นาม มาเป็น รูปที่เล็กละเอียด สภาพอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ก็ตามที่เกิดในจิตเรา หากยังไม่มีการกำหนดรู้ด้วยสติสัมปชัญญะ สภาพอารมณ์ ความรู้สึกนั้นๆยังจะเป็นนามอยู่ เป็นต้นว่า ข้าพเจ้าเกิดอารมณ์รักหรือโกรธเกลียดขึ้นภายในจิต อารมณ์นี้ยังคงเป็นนาม ตราบที่ข้าพเจ้า ไม่รู้สภาพจิตตัวเอง ต่อเมื่อสติ สัมปชัญญะ ของข้าพเจ้า เข้าไปกำหนดรู้อารมณ์นั้นๆ อารมณ์จิต ซึ่งเป็นนาม จะกลายมาเป็น รูปที่ละเอียดในทันที หากเรายึดรูปารมณ์นั้นไว้ ภายในจิต เป็นกายสัญญา ที่มีตัวตนสัมผัสได้ ด้วยใจของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าจะยึดเอาว่า อารมณ์ รัก หรือโกรธเกลียดนั้นเป็นของตน เช่นเดียวกับการยึดร่างกาย ว่าเป็นของเรา ยึดมั่นว่า เป็นส่วนสำคัญ ไม่ปลงวาง แม้กายจะแตกดับ สูญสลายไปแล้วก็ตามที... จิตเรายังจะดิ้นรน แสวงหาเอาร่างกายใหม่ จึงเวียนว่าย ตาย-เกิดอยู่แล้วๆ เล่าๆ ไม่จบสิ้น บทนี้เปรียบกายคนเราเป็นดุจรถยนต์ และจิตคนเป็นดุจเจ้าของรถ ซึ่งรักรถมาก เมื่อรถสูญหายไป...เจ้าของจึงพยายามที่จะหารถคันใหม่มาแทน เฉกเช่นกัน รูปารมณ์ หรือรูปกายใดๆ ก็ตาม ที่จิตเราสำคัญ มั่นหมายว่าเป็นเรา หากสภาพนั้นๆ เปลี่ยนไป หรือสูญหาย ใจเราจะรู้สึกเป็นทุกข์ และพยายามจะเอาสภาพนั้นๆ ที่เราต้องการกลับคืนมา ก่อการแสวงหา อันไม่สิ้นสุด. พุทธบุตร
ลูกหม้ออโศก |
||||||||||
ข่าวน้ำท่วมปี ๔๕ บ้านราชฯ
วิกฤติน้ำหลาก น้ำท่วมบ้านราชฯ เมืองเรือ ครั้งที่ ๔ (ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๓๙, ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๔๓, ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๔๔) ระดับน้ำในแม่น้ำมูล ค่อยๆสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือน กันยายน เป็นต้นมา จนกระทั่งวันที่ ๑๙ ก.ย. น้ำได้ท่วมเข้าใต้ถุน เฮือนศูนย์สูญ (เฮือนใหญ่) ซึ่งถือว่าเป็นที่ที่สูงที่สุด ของบ้านราชฯ พ่อท่าน กำหนดงาน ฉลองน้ำ ครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๑๗-๒๓ ตุลาคม ๔๕ รวม ๗ วัน ๗ คืน โดยใช้เรือใหญ่ "กล้าข้ามฝัน" เป็นเวที ขณะนี้ทีมช่าง จากปฐมอโศก ได้เดินทาง มาต่อเติมเรือ เพื่อเป็นเวที ผู้สื่อข่าวได้รายงานบรรยากาศภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้ว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านราชฯ ปรับใจ-กายได้เป็นปกติ วิถีชีวิต ยังคงดำเนินต่อไป ตามปกติ ด้านความเสียหายของพื้นที่กสิกรรม มีเพียงพืชล้มลุกที่แต่ละบ้านปลูกไว้รอบๆบ้านเท่านั้น เช่น มะละกอ, กระทกรก และพืชผักสวนครัว เล็กๆน้อยๆ เพราะปีนี้ ทีมกสิกรรม ออกไปทำกสิกรรม นอกชุมชน ซึ่งมีถึง ๓ แห่งด้วยกัน ช่วงน้ำท่วม บางส่วนพักค้างอยู่ที่นั่นด้วยคือ สวนวังไพร (บ้านคำกลาง), สวนไวพลัง (บ้านวังกางฮุง) และสวนไวเกินฝัน (บ้านยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ของทหาร ให้ใช้ประโยชน์ ๒๐๐ ไร่) การขนย้ายข้าวของ ที่โรงสีขนย้ายข้าวเปลือกเพียง ๒๐ ตันไว้ชั้นบนของโรงสี ขนสินค้าจากร้านปันบุญ ไปขายที่อุทยาน บุญนิยม และสินค้าบางส่วน นำไปขายที่ บ้านคุณเรียวฟ้า นาวาบุญนิยม ในชุมชน ขนก้อนเชื้อ จากโรงเห็ด ไปที่สวนไวพลัง วัสดุอุปกรณ์ของโรงแชมพู และหม่องค้าผง ขนขึ้นชั้นบน ของแต่ละแห่ง และขนย้ายเต็นท์ ไปที่อุทยานฯ เพื่อเตรียมงานเจ ที่จะมาถึง
ข้าวของโรงครัวย้ายลงแพเหล็กและแพแดง ส่วนศาลาฉันอาหารของสมณะอยู่ที่แพแดง (โบสถ์น้ำเก่า) กิจกรรมทำวัตรเช้า-เย็น งดชั่วคราว เพื่อให้ทุกคน พักผ่อนให้เพียงพอ หลังจากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จากการขนย้าย ข้าวของ ด้านที่พัก พ่อท่านและปัจฉาพักที่เรือใหญ่ "พกข่วมโอฆสงสาร" สมณะพักที่เรือต่างๆ สิกขมาตุพักที่แพ ชาวชุมชนส่วนมาก ยังคงปักหลัก อยู่ที่บ้าน ยกเว้นบางบ้าน ที่น้ำท่วมถึงชั้นบน จึงย้ายมาพักที่เฮือนใหญ่ น.ร.ชายพักที่เรือโบสถ์แดง น.ร.หญิงพักที่ชั้น ๓ เฮือนใหญ่ การสัญจรภายในชุมชนใช้เรือพาย หรือเดินเท้าบนเรือ ๑๑ ลำที่ต่อจากแพแดง มายังเฮือนใหญ่ ทางด้านบุ่ง การเข้าออกนอกชุมชน ใช้เรือยนต์ ๒ ลำ เข้าออก ตามเวลา ท่าเรือภายใน อยู่ที่แพแดง และภายนอก อยู่ที่ท่าบ้านคำกลาง มีเรือหางยาว ๘ ลำสำรอง เข้าออกนอกเวลา
ในคืนวันที่ ๑๙ ก.ย. มีรายการเอื้อไออุ่น เพื่อให้พี่น้องที่ออกไปทำงาน ตามที่ต่างๆ ช่วงน้ำท่วม กลับมาพบหน้า พบตากันบ้าง โดยมีพ่อท่าน เป็นประธาน ที่เฮือนใหญ่ชั้น ๒ บรรยากาศอบอุ่น ทุกคนกลับมาพบหน้ากัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พ่อท่านเน้นเรื่อง ประณีตและประหยัด ขณะนี้(๑๙ ก.ย.) ระดับน้ำเหลืออีกประมาณ ๑ ฟุตก็จะสูงเท่ากับปีที่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ได้ประกาศว่า ในวันที่ ๒๘ ก.ย. น้ำจาก อีสานตอนบน จะไหลลงสู่ แม่น้ำมูล ทำให้ระดับน้ำ ในแม่น้ำมูล ขึ้นสูงสุด และคาดว่า จะสูงกว่าปีที่แล้ว นางสานศีล นนทวงศ์ ฐานแชมพู "ก็สบายดี สนุก ชินกับเหตุการณ์ ที่ผ่านมา ๒ ปีซ้อน ข้าวของขนขึ้นชั้นบน เป็นระเบียบกว่าปีที่แล้ว ช่วงน้ำท่วม ยังขายวัสดุ ทำแชมพูอยู่เหมือนเดิม ลูกค้ายังมาซื้อเหมือนเดิม ไม่หนีไปไหน ไม่เบื่อค่ะ สนุกดี เป็นเรื่องปกติธรรมดา เจอตะขาบ แต่ยังไม่โดนกัด คงไม่มีวิบากร่วมกัน" นายดังดี บ่าพิมาย ฐานหม่องค้าผง "สนุกดี เบื่อเป็นบางครั้ง ไปไหนมาไหนลำบาก ไปไหนไม่ได้ ลงจากฐานก็ขึ้นเรือ ข้าวของไม่เสียหาย เก็บทัน ปีนี้ ไม่ได้เอา กระสอบทรายกั้นน้ำ ไม่ต้องคอยสูบน้ำ เท้าก็ไม่เปื่อย (๒ ปีที่ผ่านมาเท้าเปื่อย) ข้าวของไว้ชั้นบน ทำชั้นเสริมด้วย น้ำท่วม เตาแล้ว กวนผงไม่ได้ ไม่หนีไปไหนครับ รู้สึกเป็นปกติแล้ว ไม่ทุกข์ใจเลย ปีนี้มีเรือใช้ ไม่ต้องแย่งเรือ ท่านฟ้าไทแจกเรือให้ยืมใช้ ๑ ลำ บรรยากาศสนุกดี ไม่ซ้ำซาก เดี๋ยวน้ำลง ก็ได้ขี่จักรยาน น้ำท่วมก็ได้พายเรือ" คุรุใบลาน นาวาบุญนิยม
ทีม ๕ ส. "พาเด็กเดินทางออกไปทำ ๕ ส.ที่อุทยานฯ การเดินทางใช้เวลา
มากกว่าภาวะปกติ ปีที่ ๑ กลัวมาก ปีที่ ๒ กลัวๆกล้าๆ ปีนี้เสื้อชูชีพไม่ได้ใส่
เพราะรู้สึกว่า เป็นปกติแล้ว ทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น การออกไปทำงานข้างนอก
กำหนดการ ไม่เป็นไปตามปกติ เด็กๆ นายขาเขิน บุญช่วย นร.ชั้นม.๓ "มาอยู่ ๓ ปีแล้วครับ น้ำท่วมสนุกครับ ช่วยขับเรือหางยาวกีบ ๑ ตอนขับเรือ ต้องขับให้ปลอดภัยที่สุด หัดขับเองครับ ปีนี้ชำนาญขึ้นครับ ปีนี้ขนของ น้อยกว่าปีที่แล้ว ช่วงแรกไม่ได้เรียน งานน้อยลง เลยได้เข้าห้องเรียน น้ำขึ้นสนุก น้ำลงก็สนุกไปอีกอย่าง จะเรียนต่อ จนจบม.๖ ครับ" นางสำเนียง ปานปรุง ชาวชุมชน อายุ ๗๐ ปี ที่บ้านน้ำท่วมค่ะ ถึงชั้น ๒ พออยู่ได้ ไม่ลำบากหรอก ไม่คิดกลับไปกรุงเทพฯ จะอยู่จนออกพรรษาค่ะ ไม่กลัว ป้าลูกแม่น้ำเมืองสุพรรณ ถ้าน้ำท่วมชั้น ๒ ก็ยังมีที่อยู่ เพราะบ้านมี ๕ ชั้นเล็กๆ มีเรือส่วนตัวไปมา ไม่ลำบาก ตอนเช้า พายเรือมาช่วยงาน ในครัว สู้ตายค่ะ" |
||||||||||
ที่ปรึกษารมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๑๓ ก.ย. ๒๕๔๕ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. นายประเสริฐ(ดลดิน) วุฒิคัมภีร์ เจ้าหน้าที่ สำนักงานเกษตร จังหวัด อุบลราชธานี ได้นำ นายชนวน รัตนวราหะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ จากกระทรวงเกษตรฯ ทุกกรม จำนวน ๖๖ คน เดินทางมาศึกษาดูงาน เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ที่สวนไวพลัง หมู่บ้านราชธานีอโศก อ.วารินฯ จ.อุบลฯ เมื่อคณะดูงานเดินทางมาถึง ตัวแทนชาวบ้านราชฯ ได้กล่าวต้อนรับ แล้วนำชมสถานที่ สวนแห่งนี้ มีการวางระบบน้ำ และระบบการปลูก ที่ผสมผสาน ระหว่างถั่วบำรุงดิน พืชสมุนไพร ไม้ผล ผักสวนครัวไว้อย่างดี หลังจากเดินชม ทั่วบริเวณแล้ว ได้หยุดพักดื่มน้ำมะตูม ที่ศาลาพักร้อน พร้อมกับฟังบรรยาย และชมการสาธิต การทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อบำรุงต้น ดอก ผล ทุกคนให้ความสนใจ เป็นอย่างดี ก่อนกลับ ทางบ้านราชฯ ได้มอบหนังสือ แก่เจ้าหน้าที่ ที่มาดูงาน สวนไวพลังเป็นสวนมะขามหวานเก่า ตั้งอยู่ที่บ้านวังกางฮุง ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ มีเนื้อที่จำนวน ๒๖ ไร่ อยู่ห่างจาก หมู่บ้านราชธานีฯ ประมาณ ๖ กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้ ทั้งทางบก และทางน้ำ มีทีมเกษตรบ้านราชฯ เป็นตัวหลักรับผิดชอบ และได้แรงงาน จากผู้เข้าอบรม ธ.ก.ส. แต่ละรุ่น มาช่วยขุดหลุมใส่ปุ๋ย เตรียมปลูกต้นไม้ ตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อเดือน เม.ย. ๔๕ ที่ผ่านมา สำหรับผู้มาดูงานครั้งนี้ ข่าวอโศกได้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกดังนี้ นายชนวน รัตนวราหะ ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "มาทีไร ก็เห็นมีความก้าวหน้า ปลื้มใจ ที่เห็นว่า กลุ่มอโศก เป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับประชาชน โดยเฉพาะ การพึ่งตนเอง ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมขนาดย่อม การเป็นอยู่ ที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ ถ้าเมืองไทย เอาเป็นตัวอย่าง ก็จะพ้นจาก วิกฤติเศรษฐกิจ ตลอดชีวิตการทำงานของผมที่ได้รู้จักกับกลุ่มอโศก ผมมีความศรัทธา และเอาไปเผยแพร่ ให้คนโดยทั่วไปฟัง นี่ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่ง ที่ข้าราชการ กระทรวงเกษตร ได้มาเห็นเกษตรอินทรีย์ ผมยังมองไม่เห็นอะไร ที่เป็นข้อบกพร่องของที่นี่ เห็นแต่ที่นี่ทำงานทุกอย่าง ที่เป็นตัวอย่าง ให้แก่สังคม ผมอยากบอก ไปยังผู้บริหารประเทศว่า ควรจะให้ความเอาใจใส่ และเอาตัวอย่าง จากที่นี่ไปเผยแพร่ ให้กว้างขวาง ยิ่งๆขึ้นไป และเราสามารถ แก้ไขปัญหา ของประเทศชาติ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ขนาดหนักอย่างนี้ได้ ถ้าหากรัฐบาล ไปมัวหลงระเริง อยู่กับเศรษฐกิจส่วนบน โดยไม่คิดถึง เศรษฐกิจ แบบรากหญ้า และพื้นฐานของการแก้ปัญหาแล้ว ก็จะแก้ปัญหา ของประเทศชาติไม่ได้" ประภาส สาลี สำนักงานเกษตรขอนแก่น "อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียบง่ายดี น่าเอาเป็นแบบอย่าง" สนิท แว่นนอก กรมส่งเสริมสหกรณ์ชัยภูมิ "ผมเคยดูงานประเภทนี้มาบ้าง พอรู้มาบ้าง แต่ที่นี่เพิ่งเริ่ม คิดว่าในอนาคต ก็น่าจะดี และเป็นแบบอย่าง ให้ชุมชนอื่นต่อไป" สุเทพ ทิพรัตน์ สำนักงานเกษตร เชียงราย "ดีมากครับ เพราะผมเคยศึกษามาบางส่วน ของเชียงรายอโศก ที่เขาทำ ก็ได้ประโยชน์ จริงๆแล้ว ผมอยากให้โครงการนี้ ขยายผลสู่ตำบล โดยเฉพาะ สามารถดึงอบต. มามีส่วนร่วม จะขยายผลได้ไว ซึ่งเป็นเกษตรผสมผสาน ผมเห็นชาวอโศก จะพัฒนา ด้านจิตใจก่อน ก่อนที่จะพัฒนา ในเรื่องของการเกษตร อยากเสนอแนะว่า การที่จะขยายเครือข่ายได้ไว ต้องอาศัย องค์กรส่วนท้องถิ่น" ณรงค์ นาคพรหม กรมพัฒนาที่ดินยโสธร "ดีใจที่ได้มาเห็น และได้เรียนรู้ ในลักษณะแบบนี้" |
||||||||||
ขั้นตอนที่ ๑
เตรียมและคัดเลือกพันธุ์ข้าว ๑.๒ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว จากแปลงที่มีต้นข้าว รวงข้าว เมล็ดข้าวที่โตแข็งแรง แก่จัดมีความสมบูรณ์ ถอดออกเป็นรวงๆ เก็บไว้ต่างหาก แล้วนำมา แยกเมล็ด ออกจากฟาง นำมาฝัดคัดเมล็ด ที่ไม่สมบูรณ์ออก นำเมล็ดข้าวที่ดีตากให้แห้ง เก็บไว้ทำพันธุ์ ในปีต่อไป ขั้นตอนที่ ๒ การเตรียมพื้นที่ทำนา ๒.๒ ปรับพื้นที่หนึ่งคันนาให้มีระดับพื้นเสมอกัน
เพื่อขังน้ำให้อยู่ในระดับเดียวกัน ถ้าเป็นนาลุ่ม มีระดับพื้นที่เสมอกัน
ก็ไม่จำเป็น ต้องปรับพื้นที่ ขั้นตอนที่ ๔ การเตรียมหมักเมล็ดพันธุ์ข้าว (ภาษาอีสานว่า หม่าข้าวปลูก) นำน้ำจุลินทรีย์มาหมักเมล็ดข้าว
โดยให้น้ำจุลินทรีย์ ท่วมเมล็ดข้าว หากมีเมล็ดข้าวฟูน้ำ ให้เก็บออกให้หมด
ควรแช่เมล็ดข้าว ประมาณ ๒-๓ วัน แล้วนำขึ้นจากน้ำ มาพักไว้สัก ๑ วัน แล้วนำมาหว่าน
ในแปลงที่เตรียมไว้
|
||||||||||
สถานการณ์น้ำท่วมบ้านราชฯปีนี้เป็นอย่างไรคะ ส่วนกำหนดจัดงานฉลองน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพบ้านราชฯ เมืองเรือ พ่อท่านเปรยไว้ ตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วม ขึ้นสูงว่า ยังไงๆ งานฉลองน้ำ ก็คงให้มีทุกปี แม้น้ำไม่ท่วม ก็จัดฉลองน้ำไม่ท่วม ถ้าน้ำท่วม ก็ให้จัดงานฉลองน้ำท่วม เพราะว่างานของเรา ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า งานฉลองน้ำ เพราะฉะนั้น สภาพน้ำท่วมหรือน้ำไม่ท่วม เราก็คงได้จัดฉลองกัน เป็นงานประจำปี ของบ้านราชฯ เมืองเรือไป สำหรับในปีนี้ก็จะจัดงานในช่วงวันที่ ๑๗-๒๓ ต.ค. หลังงานเจ ๑ วัน และเป็นช่วงอยู่ปลายๆใกล้ๆ จะออกพรรษา ก็ขอเชิญชวน ญาติธรรมที่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า จากการไปช่วยขาย อาหารเจ ขอเชิญมาพักผ่อน ผ่อนคลายให้สบายอารมณ์กันได้ ที่บ้านราชฯเมืองเรือ ปีนี้นอกจาก น้ำท่วมที่บ้านราชฯ
ก็ยังมีไฟไหม้ที่ศีรษะอโศก ในช่วงเวลาเดียวกัน ท่านได้ข้อคิดอะไร จากเหตุการณ์ไฟไหม้
ที่ศีรษะอโศกบ้างคะ ไฟไหม้ ๑ ครั้ง เป็นความเสียหาย ถ้าคิดเป็นความเสียหายทางโลก เราขายของมา ๑๐ ปี แต่ไฟไหม้คืนเดียว หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่ขายมา ๑๐ ปี บางทีก็ไม่คุ้ม กับไฟไหม้ เพียงแค่ครั้งเดียว หรือคืนเดียวเลย ข้อนี้เป็นข้อเตือนใจให้กับพวกเรา ที่เป็นนักปฏิบัติธรรม ถ้าเรามุ่งจะเอาแต่งาน เอาแต่ผลงานให้ได้ตามความต้องการ ของเราอย่างเดียว ถ้าเกิดมีอะไร ผิดพลาด หรือมีอะไร เป็นไปขึ้นมา ก็จะไม่คุ้มเลย กับการที่เราลงทุน ลงแรงมาสิบๆปี เราจะเป็นนักปฏิบัติธรรมที่มีแต่คุ้มหรือมีแต่กำไร ก็เพราะเราสามารถที่จะอ่านใจ ฝึกใจของเรา อยู่ตลอดเวลา เหมือนที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยเล่า ประสบการณ์ ที่นั่งรถไปแล้ว ไปชนรถคนอื่น คุณจำลองเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นก็ได้ดูใจของตัวเอง แล้วก็พูดออกมา เพียงแค่คำเดียวว่า ผมบอกคุณแล้ว คุณจำลองรู้สึกว่า ตอนนั้นใจตัวเอง ได้ปล่อยวางมาก ถ้าเป็นสมัยก่อน คงไม่ได้พูดแต่เพียงคำว่า ผมบอกคุณแล้ว คงจะต้องดุ หรือต่อว่า คนขับรถ มากไปกว่านี้ แต่คุณจำลอง ก็เห็นใจตัวเอง ที่ปล่อยวางได้ ไม่ยึด ไม่โกรธได้ ตรงนี้จะเป็นส่วนคุ้ม ส่วนกำไร ของการปฏิบัติธรรม สภาพภายนอก เราไม่สามารถ ไปกำหนดได้ แต่สภาพใจของเราที่ดีเยี่ยม ที่อยู่เหนือผัสสะ เหนือโลกธรรม ตรงนี้เราสามารถ ที่จะทำให้ดีขึ้นๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าเราทำงาน โดยที่จะเอาแต่งานๆ โดยไม่ได้ฝึกใจ อ่านใจ ก็จะทำงานไปได้แต่ผลงานไป ก็อาจจะไม่คุ้มก็ได้ เมื่องานนั้น มีอันเป็นไป หรือเรา มีอันเป็นไปจากงาน ดังนั้น เราจะต้องพยายามที่จะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เมื่อต้องทำงานแต่ละชิ้นๆ เราควรจะทำใจของเรา ให้ดีที่สุดก่อน ไม่ใช่จะยึด แต่จะให้งาน ให้ดีที่สุด แต่ใจของเรา จะโกรธ จะถือสา จะร้อนรนอย่างไร เราไม่ได้สนใจ ความจริงแล้ว ถ้าเราทำใจของเรา ให้ดีที่สุด งานที่ดีที่สุด ก็จะเกิดขึ้นมา ตามลำดับ ถ้าเราทำงานด้วยใจเป็นเอก ใจเป็นเลิศ เราก็จะได้งานชิ้นเอก หรืองานชิ้นเลิศ ตามใจของเราด้วย พ่อท่านเคยให้โศลก กับพวกเรา ที่เป็นนักทำงานว่า ให้ระวังอารมณ์ก่อนงาน จงอย่าหลงงาน จนเสียอารมณ์ ดังนั้น การทำงานของเรา จะไม่มีขาดทุน มีแต่กำไร ได้อยู่ตลอดเวลา เพราะเราได้ใจ ที่ดีที่เยี่ยม ที่เลิศที่ยอด ในระหว่างทำงาน เป็นสำคัญ ข้อคิดอีกประเด็นก็คือว่า ได้เห็นความเป็นพี่เป็นน้องความมีน้ำใจของพวกเรา เมื่อรู้ว่า พี่น้องของพวกเรา ได้รับความเดือดร้อน ก็มีพี่น้องของเรา ทั่วสารทิศ มาช่วยเหลือให้กำลังใจ ทั้งด้านวัตถุข้าวของ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าอบอุ่น และน่าอนุโมทนา ความมีน้ำใจ ของพวกเราทุกๆฝ่าย ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ กับศีรษะอโศก อีกไม่นาน จะเป็นช่วงเทศกาลงานเจ
ท่านอยากจะฝากอะไรให้กับพวกเราบ้างคะ และความสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ สร้างความอบอุ่น และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของชาวเรา อย่างอาตมา เคยเห็นภาพของพวกเรา ที่สันติอโศก ซึ่งชุมชนสันติอโศก เป็นชุมชนเมือง ที่การรวมตัว จะทำได้ยากที่สุด แต่ในงานเจที่สันติอโศก คนทั้ง ๒ ซอย ทั้งในวัด จะออกมาร่วมกัน เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน เป็นความอบอุ่น แน่นแฟ้น ซึ่งก็จะไม่ค่อยเห็นได้ง่ายเลย แต่ในงานเจ ก็จะได้เห็นชุมชน แต่ละชุมชน ออกมารวมพลัง เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ซึ่งพ่อท่านให้ทิศทาง ในระบบบุญนิยมไว้ว่า จะต้อง "เข้มข้น-แข็งขัน-มั่นคง และยั่งยืน" ดังนั้น ระบบภายใน ของพวกเรา จะต้องแน่น ชนิดเข้มข้น เทศกาลงานเจก็จะมีคติที่ถือว่า หนึ่งมื้อกินเจ หมื่นชีวิตรอดตาย งานนี้จึงเป็นเสมือนชูธงแห่งเมตตาธรรม ให้โบกสะพัดกันไป ทั่วทุกทิศ พวกเราเอง ก็จะได้ฝึกจิตของเรา ให้เจริญเมตตา ให้มีปีติ มีสุข อยู่ด้วยความเมตตา เหมือนกับแม่ปราณี ที่ชมร.เชียงใหม่ แม้จะเป็นมะเร็ง ระยะสุดท้าย ที่หมอบอกว่า จะอยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน แต่ทุกวันนี้ แม่ปราณีก็อยู่มาได้ ๖ ปี ซึ่งประเด็นสำคัญ ที่แม่ปราณีอยู่มาได้ทุกวันนี้ ก็คงจะเป็นเพราะ จิตที่มีปีติ ที่ได้ช่วยขาย อาหารมังสวิรัติ สามารถทำให้สัตว์รอดตาย เพียงแค่นี้ ก็ทำให้แม่ปราณี มีปีติอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเราเอง บางทีทำมากกว่า แม่ปราณีด้วย แล้วทำไม จึงไม่เกิดปีติ มีแต่ปีตก (ตกทั้งปี) ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า เราค่อนข้าง จะเรียกร้อง ต้องการ หรือมีอภิชัปปา มากเกินไป ถ้าเราทำใจของเรา เหมือนมดงาน ตัวเล็กตัวหนึ่ง ที่พยายาม ทำหน้าที่ของเราให้ดี ส่วนผลที่จะเกิดขึ้น จริงๆแล้ว เราไม่มีสิทธิ์ ที่จะไปกำหนดได้ เราไม่สามารถ ที่จะไม่ให้ ความเสียหายเกิดขึ้น ไม่ให้มีไฟไหม้เกิดขึ้น ไม่ให้มีน้ำท่วมเกิดขึ้น ที่บ้านราชฯ เราไม่สามารถไปดลบันดาล อะไรได้ เพราะเรา ไม่ใช่พระเจ้า มีแต่ GOD หรือมีแต่กรรมเท่านั้น ที่จะเป็นตัวดลบันดาล ดังนั้น ถ้าเราทำใจของเราให้เป็นแต่เพียงแค่มดงานตัวเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยใจที่ปีติยินดี การได้ช่วยคน ก็น่าปีติยินดี มีในอรรถกถา เทวดา ได้มาสารภาพ กับพระโมคคัลลาน์ว่า ตัวเองได้เป็นเทวดา เพียงแค่ได้ถวายถั่วงาเล็กๆน้อยๆ ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ก็ได้เป็นเทวดาแล้ว ได้ถวายอาหาร เป็นเผือกเป็นมัน ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ก็ได้เป็นเทวดาแล้ว หรือเทวดาบางท่าน ก็เพียงแค่พยายามตั้งใจ ไม่ให้โกรธกับนาย ที่ตัวเองรับใช้อยู่ เพียงแค่นี้ ก็ได้เป็นเทวดาแล้ว แต่คนที่ตั้งใจ มากินอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเขาต้องลดละ ยอมทิ้งความอร่อย จากหมูเป็ดไก่วัวควาย เขาได้ฝึกฝนตัวเอง มากยิ่งกว่า การทำทานเล็กๆน้อยๆ ด้วยซ้ำไป เราเองก็น่าจะมีจิตยินดี อนุโมทนา กับคนที่เราได้มีส่วนช่วย ให้คนเขาได้ฝึกฝนตัวเอง เราน่าจะมีปีติ ได้มากกว่า ดังนั้น ในส่วนนี้ ก็อยากให้พวกเรา ได้มีจิตยินดี มีจิตเมตตา ด้วยความสำนึกว่า เราเป็นเพียงแค่มดงาน จิตยินดี จิตเมตตา จะมีมาก แต่ถ้าเราสำนึก ด้วยความเป็น ผู้จัดการ หรือสำนึก ด้วยความเป็นพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้บงการ ก็จะไม่เกิดจิต ที่เป็นเมตตา จะเกิดจิตที่เป็นอัตตา เจริญขึ้นมาแทน แม่ปราณีมีสุขภาพที่ดีอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ด้วยหลักสำคัญคือ ควบคุมอารมณ์ มีอารมณ์ที่ปีติยินดี และอีกประเด็นที่สำคัญ คือควบคุมอาหาร ในงาน เทศกาลงานเจ ถ้าเราไม่ค่อยควบคุมอาหารเท่าไหร่ กินของทอดของมัน กินน้ำแข็ง แทนที่จะกินอาหาร เพื่อสุขภาพ เรากลายเป็น คนป่วย เป็นคนที่ สุขภาพเสียเอง อันนี้ก็อยากจะฝากพวกเรา แล้วก็เด็กๆของเรา ที่ไปช่วยด้วย ผู้ใหญ่คงต้อง ช่วยดูแลด้วย เพราะการขาย อาหารมังสวิรัติ ก็เพื่อให้สุขภาพ แข็งแรง แต่ถ้าคนขายป่วยเสียเอง โดยเฉพาะ ถ้าป่วยเพราะกิน แบบไม่บันยะบันยัง ก็ยิ่งเสียท่า หรือเสียฟอร์มไปเลย สิ่งที่อยากฝากเป็นเรื่องสุดท้ายก็คือว่า โลกทุกวันนี้ร้อน แล้วก็กำลังเดินทาง ไปสู่กลียุค ที่ใกล้จะแตก หรือใกล้จะหายนะ ขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นได้จาก สภาพภัยพิบัติ จากธรรมชาติ ภาวะสงคราม ที่กำลังระเบิดเกิดขึ้น ดังนั้น พวกเราเอง ที่ยังเป็นเทวดาติดแป้น ยังเสพสุข อยู่รอบนอก อาตมาว่า เราไม่น่า จะประมาท ชีวิตแต่ละคน กว่าจะได้เกิดเป็นคน ทำวิบากอกุศลกรรมมา มากมายก่ายกอง เราไม่ควรจะรอ ให้เห็นโลงศพ ถึงจะหลั่งน้ำตา ถึงจะคิด มาร่วมบำเพ็ญบารมี กับพระโพธิสัตว์ ก็สายไปแล้ว ตอนนี้เรายังมีร่างกาย ที่แข็งแรงดีอยู่ เราควรจะใช้โอกาสนี้ เป็นโอกาสทองของเรา เมื่อวิบากมาถึงแล้ว เราเองจะได้ไม่เสียใจ เพราะวิบากนี้ แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็ยังมีวิบาก เป็นพระอรหันต์ เป็นพระโมคคัลลาน์ เป็นองคุลิมาล ก็ต้องมีวิบาก แต่ถ้าเราต้องชดใช้วิบาก ในขณะปฏิบัติหน้าที่ เหมือนทหารตาย ในสนามรบ มันก็คุ้ม หรือกำไรมากกว่า เพราะไหนๆ ก็จะต้องตาย (ตามวิบาก) แต่ได้ตายเพื่อศาสนา ก็ย่อมประเสริฐกว่า ตายเพราะหมาคาบไปแด๊ก! เมื่อใจดีเสียอย่าง อะไรๆก็จะดีตามไปด้วย ท่องเอาไว้ "ทำดีที่ใจ ทำใจให้ดี" หวังว่าทุกท่าน คงช่วงชิง เอาประโยชน์ จากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น กันได้ถ้วนทั่ว เสร็จงานเจแล้ว มาพักผ่อนร่วมกัน ฉลองน้ำ ที่บ้านราชฯ นะคะ ทีมข่าวพิเศษ
|
||||||||||
รู้เขารู้เรา ฝนลงเม็ดแล้ว เสียงเปาะแปะ...เปาะแปะ ดังขึ้นและค่อยๆถี่ขึ้น เพิ่มจำนวนเม็ดมากเรื่อยๆ พรุ่งนี้ ผัก หญ้าอวบๆ สีเขียวสดก็จะงอกงามขึ้น หน่อไม้อ่อนๆ จะเบียดแทรกพื้นดินขึ้น เห็ดปลวก เห็ดปู เห็ดโคน และเห็ดอีกสารพัดชนิดจะค่อยๆ เยี่ยมหน้าโผล่พ้นดินหลังจากซ่อนกายอยู่เนิ่นนานดุจดั่งสาวน้อยสะเทิ้นหลบสายตาชายหนุ่ม...อีกรสชาติของชีวิตในป่าเริ่มขึ้นแล้ว "ซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ" จะเต็มไปด้วยอาหาร และเครื่องอุปโภคที่จะเติมแต่งชีวิตของพวกเขาให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อหาเพราะคำว่า "เงิน" สำหรับชาวเขาหรือชาวบ้านในป่าแล้วไม่ได้มีคุณค่ามากไปกว่า "โลหะ" ชนิดหนึ่ง หรือ"แผ่นกระดาษ" ชิ้นน้อยๆเลย หากแต่..."ป่า"...เท่านั้นที่จะมีความสำคัญเหนือสิ่งใด เพราะมันเป็นทั้ง "บ้าน" และ "ชีวิต" ของพวกเขาเลยก็ว่าได้ จาก"เกษตรเชิงเดี่ยว"
สู่ "สวนของคนขี้เกียจ" "สวนของคนขี้เกียจก็คือสวนที่ไม่ต้องทำอะไรเลย จะปลูกพืชอย่างเดียวเฮาก็หว่านทุกสิ่งทุกอย่างเลย แล้วแต่มันจะเกิด เดือนไหน เวลาไหน ฤดูไหน อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ไม่ต้องไปรดน้ำแล้วเฮาก็จะปลูกพลับบ้าง สาลี่บ้าง ไม้ไผ่บ้าง ไม้ธรรมชาติบ้างอยู่ในนั้น แล้วเดือนพฤศจิกาฯ หรือตุลาฯ หญ้าอะไรๆ ก็เกิด เฮาก็เหยียบ ให้มันนอน มันก็จะเป็นปุ๋ย เมื่อก่อนเคยปลูกพืชชนิดเดียว แต่เดี๋ยวนี้เฮาไม่ทำอย่างนั้นแล้ว ปลูกทุกอย่าง ที่เฮาจะกินได้ ปลูกหมดเลย แล้วก็เอาเมล็ดทุกอย่าง มาหว่านไปเรื่อย ๓-๔ ปีก็ได้แล้ว แต่ตอนนี้มัน ๒๐ ปีแล้ว ๓-๔ ปีข้างหน้านี้ เฮาบ่ต้องไปใช้ไม้ ที่ป่าสงวน หรือป่าใช้สอย เฮาใช้ที่ในสวน ของตัวเอง" พะตีจอนิ โอ่โดเชา "พ่อหลวง" ชาวปกากะญอ เอ่ยถึงการทำสวนในแบบของตัวเอง หลังจากที่เล่าถึงความขมขื่น เมื่อครั้งที่มีนักวิชาการ และบรรดา "ชาวเมือง" ได้มาแนะนำ ให้ชาวปกากะญอ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือปลูกผักกาดแก้ว และปรากฏว่า หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ได้ค่าตอบแทนประมาณ ๘ บาท! ซึ่งความล้มเหลวครั้งนั้นทำให้ "พ่อหลวง" หันมาปลูกพืชและทำสวนในแบบของตัวเอง และอยู่กับสวน"ส่วนตัว" นี้อย่างมีความสุข คำอุทธรณ์จากชาว"ปกากะญอ" "ความเป็นจริงที่ผ่านมาคนที่สัมปทานป่า มันไม่ใช่กะเหรี่ยง คนสัมปทานป่าจริงๆ มันอยู่ในกรุงเทพฯทั้งนั้น อยู่ในเชียงใหม่ทั้งนั้น พวกที่มีรถใหญ่ๆ รถลากไม้ แล้วมาบอกว่า ชาวเขานี่ทำลายป่า แต่ถ้ามาเปิดดูแผนที่ นี่ภาคอีสานชาวเขาไม่อยู่ ป่าของเขาก็หมดเหมือนกันว่ะเฮ้ย ไปดูที่ภาคใต้ ชาวเขาก็ไม่อยู่ ป่ามันก็หมดเหมือนกันว่ะ แล้วชาวเขาเขตภาคเหนือ ป่ามันก็เหลืออยู่เยอะตรงนั้น ยิ่งกรุงเทพฯ ยิ่งไม่มีป่าเลย มีแต่ตึก แล้วชาวเขา ไม่ได้อยู่ ทำไมป่ามันหมดล่ะ" "พะตีจอนิ" เอ่ยแย้ง พลางชี้ให้ดูภาพ ที่กรมป่าไม้ทำขึ้น แล้วอธิบายถึง คติความเชื่อ ที่ชาวปกากะญอ ยึดถืออยู่ ซึ่งยืนยันว่า ชาวปกากะญอ ไม่ใช่กลุ่มที่จะมา ทำร้ายป่าแน่นอน โดยกล่าวว่า "...เฮาไจ๊(ใช้) ดินเฮาก็ดูแลรักษาดิน กินจากดินก็ดูแลรักษาดิน กินจากน้ำก็ดูแลน้ำ กินสรรพสิ่ง ก็ดูแลสรรพสิ่ง... นี่เป็นคำสอน ที่ยึดถือ อยู่ตลอดเวลา" "ผู้ใช้ย่อมดูแลได้ดีที่สุด" "พะตีจอนิ" ได้เสนอว่า ขอให้ชาวเขาและชาวบ้าน ที่อาศัยป่าในการยังชีพ ได้เป็นผู้ดูแลป่า ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะเชื่อว่า พวกเขาย่อม ไม่ทำลาย "ชีวิต" ของตัวเอง อย่างแน่นอน ซึ่งข้อเสนอนี้ "นก-นิรมล เมธีสุวกุล" พิธีกรรายการ "ทุ่งแสงตะวัน" ซึ่งคลุกคลี อยู่กับชาวบ้านในป่า มานาน ก็ได้เล่าประสบการณ์ เมื่อครั้งเป็นนักข่าว ของตนว่า ครั้งนั้นได้มีชาวบ้าน มาร้องเรียนกับตนว่า มีการทำสัมปทานตัดป่าไม้ ที่ชาวบ้าน ดูแลรักษาอยู่ แล้วชาวบ้าน ก็ร่วมกันต่อสู้ กับอิทธิพลมืด อย่างกล้าหาญ จน "นิรมล" ได้สัมผัสถึง พลังของชาวบ้าน ในการรักษาป่า และเกิดความศรัทธา ต่อพลังนี้ อย่างมาก จนกระทั่ง เธอได้ทำรายการ "ทุ่งแสงตะวัน" ซึ่งต้องคลุกคลีอยู่กับป่า และชาวบ้าน ตลอดเวลา ก็ยิ่งทำให้เธอรู้สึก ได้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น เธอจึงเห็นด้วย กับความคิดที่ว่า "ผู้ใช้ป่า ย่อมดูแลป่าได้ดีที่สุด" โดยกล่าวว่า "ถ้าชาวบ้านก็เป็นคนในท้องถิ่นจริงๆ แล้วการรักษาป่าให้ยั่งยืน จะเป็นจริงได้ อันนี้ดิฉันเชื่อ แล้วก็มีความรู้สึกว่า การที่เราเป็นนักข่าว หรือสื่อมวลชน สิ่งที่สำคัญที่สุด เวลาลงพื้นที่ ก็คือ การได้สัมผัสกับคน เราก็มีความรู้สึกว่า ทำยังไง ให้เกิดความเข้าใจ มากไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่ การรายงานข่าวเฉยๆ ถ้าเกิดความเข้าใจแล้ว เราก็มีความรู้สึกว่า อยากจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้ชาวบ้าน ดูแลป่าไม้ได้ จริงๆแล้ว ในช่วงนี้มี พ.ร.บ. ป่าชุมชน ก็รู้สึกว่า เป็นทางออกทางเดียว ที่มีอยู่ในตอนนี้ ที่ทำให้ชาวบ้านอย่าง "พะตีจอนิ" สามารถจัดการ กับทรัพยากร ของตัวเองได้" โลกของ"คุณค่า"กับ"มูลค่า" โสภณ สุภาพงษ์ หรือสรรพนาม "ส.ว.ใหญ่" ที่พ่อหลวง "พะตีจอนิ" เรียก เล่าความประทับใจ ที่ได้รับจากชาวบ้าน ที่อยู่ในป่า ซึ่งทำให้เขา เกิดความรู้สึกว่า ชาวบ้านเหล่านี้ ใช้ประโยชน์จากป่า อย่างรู้ค่าจริงๆ ดังนั้น การที่จะร่าง "พ.ร.บ.ป่าชุมชน" ซึ่งระบุให้มีป่าชุมชน อยู่ในเขต ป่าอนุรักษ์นั้น ตนจึงเห็นด้วย เพื่อที่ว่าชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่กับป่า จะได้ใช้ทรัพยากรจากป่า ไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์ได้ และยังเล่าต่อไปว่า หลายครั้ง ที่ตนไปเยี่ยมชาวเขา คิดจะไปพัฒนาชาวเขา แต่พอไปถึง ก็พบว่าชาวบ้านเสียเอง ที่ต้องคอยดูแลตน ส.ว.โสภณ กล่าวด้วยน้ำเสียง ที่บ่งบอก ถึงความซาบซึ้งว่า "หลายครั้งที่ผมถามตัวเอง จิตใจเขาสูงกว่าเราตั้งเยอะ แล้วยังเสือกจะไปพัฒนาเขาอีก เราอาจจะมีวัตถุเยอะ แต่จิตใจเรา ต่ำกว่าเขามาก เรามอง ทุกอย่างเป็นเงิน โลกที่พ่อหลวง "พะตีจอนิ" พูดนี่ มันเป็นโลก ของการมองเห็นคุณค่า แต่เราอยู่ในเมืองนี่ เราจะมองเห็น แต่เรื่องมูลค่า เป็นแบงก์ แล้วเราก็ถูกทำ ให้ไร้ค่า จนหมดตัว แต่อะไรที่เป็นคุณค่านี่ จะไม่มีวัน ที่จะหายจากเราไปได้ ไม่มีใครมาปล้นเรา แล้วเราก็ไม่มีวัน ที่จะปล้นตัวเองได้" ไม่ว่าข้อสรุป เกี่ยวกับร่าง "พ.ร.บ.ป่าชุมชน" จะออกมาในรูปแบบใด แต่ข้อเสนอแนะของ "พะตีจอนิ" ที่ว่า "คนกรุงเทพฯ หรือใครต่อใคร ที่มีที่เยอะๆ ถ้ามีที่สัก ๑๐๐ ไร่ น่าจะมีป่า ของครอบครัว ของตัวเองสัก ๒๐ ไร่ แล้วมันก็จะมีป่า ทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่ว่า มีป่าแต่บนดอย" ...นับเป็นข้อเสนอแนะที่ดี ซึ่งเป็นสิ่ง ที่ทำได้ แต่จะมีสักกี่คน ที่จะทำ เพราะการ "เอา" มันง่ายกว่า "ให้" มากนัก และ"ป่า" ก็ไม่มี "ปาก" เสียด้วย จึงไม่อาจเปล่งเสียง อุทธรณ์ ร้องขอ ความเป็นธรรม หรือ ร่ำไห้ ให้กับชะตาชีวิต ของตนได้!! (จาก
คอลัมน์ สโมสรภูมิปัญญาตะวันออก:อาทิตย์รายสัปดาห์ฉบับวันที่๕-๑๑ ก.ย.๔๕ |
||||||||||
ช่วงนี้กระแสการทำดีท็อกซ์ กำลังมาแรง เนื่องจากคุณหมอหนุ่มน้อย ผู้เปี่ยมล้นด้วยพลังใจแห่งเมตตาและอารีย์ ได้นำมาพูดเผยแพร่ ให้พวกเราฟัง เพราะตัวท่าน ได้ยืนยัน การพิสูจน์ด้วยตัวเอง ทำให้หายจากโรคมะเร็ง และอีกหลายๆโรค จนอดคิดถึงมันไม่ได้ ส่วนตัวดิฉันเอง ก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ได้ศึกษา และทำมา ๔-๕ ปีเช่นกัน จึงอดไม่ได้ ที่จะขอแจมด้วยคนนะคะ แม้จะทำไม่บ่อยเท่าคุณหมอ แต่ทำทีไร ก็รู้สึกสบาย ยิ่งช่วงที่ เป็นหวัดคัดจมูก ทำแล้วจมูกโล่ง อย่างเห็นได้ชัดเจน เรื่องตัวเบาสบาย ไม่ต้องพูดถึงเลยคะ ที่อยากจะขอแจมก็คือ เรื่องเซ็ทดีท็อกซ์ค่ะ ดิฉันคิดว่าดิฉันค้นพบวิธีการใช้เซ็ทอย่างง่ายๆ สะดวก ราคาถูก การใช้ถุงน้ำเกลือ ที่ใช้แล้ว ตามโรงพยาบาล โดยดึงสายน้ำเกลือเก่าออก แล้วซื้อสายน้ำเกลือใหม่มาต่อ (ดังรูป) ราคาสายน้ำเกลือ ตามร้าน ขายยาทั่วไป ขายประมาณ ๑๕ บาท แต่ดิฉันได้ราคาพิเศษ จากเพื่อนไม่ถึง ๑๐ บาท ที่ว่าดีกว่าเซ็ตดีท็อกซ์จริงๆ เพราะปรับการไหลของน้ำง่ายมาก สายน้ำเกลือเส้นเล็กกว่า เซ็ตล้างง่ายกว่า ดิฉันลองให้ญาติธรรม หลายคนใช้ ก็บอกว่าดีกว่า ขณะนอนทำดีท็อกซ์ ไม่ต้องกลัวบีบสายยาง เพราะเราปรับได้ดังใจ ค่ะ...เมื่อทำดีท็อกซ์ให้ร่างกายสะอาดปราศจากโรคแล้ว อย่าลืมดีท็อกซ์จิตใจ ด้วยการเอาสิ่งร้ายๆ ออกจากจิตใจ ให้เหลือแต่ใจที่ดีๆ เครื่องมือดีท็อกซ์ใจ ก็คงไม่มีอะไร ดีกว่าธรรม ของพระพุทธองค์หรอกค่ะ ขณะดีท็อกซ์กาย ท่านจะอ่านหนังสือ และฟังเท็ปธรรมะ ไปด้วยก็ได้ค่ะ ท่านจะได้จิตใจ ที่สงบสุข ตั้งอยู่บนร่างกาย ที่แข็งแรง จะได้มีกำลังกาย กำลังใจปฏิบัติ และเผยแพร่ธรรม ช่วยพ่อท่านไปนานๆ ขอให้พ่อท่าน อายุ ๑๕๑ ปี พวกลูกๆ ก็ขอแค่ ๑๕๐ ปีครึ่งก็พอค่ะ ส่วนคุณหมออารีย์ ก็ยกให้ท่านไปเถอะค่ะ ๑๕๐ ปี ในฐานะที่ท่านขยายผล ของการทำดี (ท็อกซ์) ให้มากขึ้น ขออนุโมทนากับท่าน ที่ให้ความรู้กับพวกเรา มากมายนะคะ.
|
||||||||||
สมณะเสียงศีล ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ นับเป็นมิติใหม่ ที่สมณะชาวอโศก ซึ่งเป็นรูปแรก ที่พ่อท่านบวชให้ ได้รับการเชิดชู คุณงามความดี จากสังคมภายนอกวงการชาวอโศก อย่างเป็นรูปธรรม จากสำนักงาน คณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ ถ่ายทอดภูมิปัญญา ในการจัดการศึกษา ตามอัธยาศัย ตามนัยพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๕ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้รับนิมนต์ ไปรับมอบ ใบประกาศเกียรติคุณ และ เข็มเชิดชูเกียรติ เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ โดยมี ฯพณฯ องคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย เป็นผู้มอบ เนื่องด้วยคณะกรรมการ พิจารณาแล้วเห็นว่า สมณะเสียงศีล ชาตวโร เป็นผู้ริเริ่มนำหลักธรรม ในพระพุทธศาสนา เผยแพร่ผ่านรายการวิทยุ โดยปรับประยุกต์ ด้วยวิธีการ ปลุกจิตสำนึก จากความคิดเชิงลบ ให้เป็นความคิด เชิงบวก มุ่งมั่นในการประกอบสัมมาอาชีพ โดยใช้หลักธรรม เป็นธงชัยของชีวิต ริเริ่มพัฒนาน้ำสกัดชีวภาพ สูตรต่างๆ มาปรับประยุกต์ใช้ อย่างสารพัดประโยชน์ ทั้งด้านเกษตรกรรม และการใช้ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เพื่อความประหยัด และรักษา สภาพแวดล้อม ให้ยั่งยืน ริเริ่มให้มีการจัดฝึกอบรมธรรมะ และอาชีพ เพื่อเผยแพร่ความรู้ เป็นวิทยาทาน ด้วยการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต และสังคม ด้วยภูมิปัญญาไทย ฯลฯ และในงานนี้ ยังมีพระผู้ใหญ่อีก ๒ รูป คือ พระพิศาลธรรมพาที (พระพยอม กัลยาโณ แห่งวัดสวนแก้ว และ พระสุบิน ปณีโต (ผลงานด้าน สัจจะสะสมทรัพย์) ได้รับการเชิดชูเกียรติ เป็นครูภูมิปัญญาไทย ในรุ่น ๒ นี้ด้วย สำหรับบรรยากาศของงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นงานที่ใหญ่มาก สมาชิกที่มาในงาน มีครูต้นแบบ ครูแห่งชาติ และ ครูภูมิปัญญาไทย มากมาย ซึ่งมีครูฯ ที่ได้รับมอบ ในรุ่นนี้จำนวน ๖๐๐ คน โดยเน้นให้ครูแต่ละคน ไปกระจายความรู้ ให้ครูทั่วประเทศ ให้ได้ ๖๐๐,๐๐๐ คน นอกจากนี้ในงาน ยังมีครูภูมิปัญญาไทย รุ่น ๑ ไปให้กำลังใจ รุ่นน้องด้วย เมื่อผู้สื่อข่าว กราบเรียนถามความรู้สึก ของสมณะเสียงศีล ในโอกาสนี้ ท่านก็ตอบว่า "รู้สึกภูมิใจที่ทำงานแล้ว สังคม มองเห็นคุณค่า แม้การทำงาน ที่ผ่านมา ไม่เคยคิดว่า การทำงาน จะต้องมีรางวัลตอบแทน แค่ทำงานแล้วได้ผล ก็มีความสุข อยากให้สังคม มีสิ่งนี้บ้าง อย่ามองข้าม คนที่ทำประโยชน์ ให้แก่บ้านเมือง ไม่งั้น สังคมจะแย่" สำหรับประวัติโดยย่อ สมณะเสียงศีล ชาตวโร สมัยเป็นฆราวาส เคยรับราชการ เป็นครูสอนที่ ร.ร.กรมไปรษณีย์โทรเลข ๖ ปี จากนั้น บวชเป็นสมณะ ที่พุทธสถาน แดนอโศก เมื่อวันที่ ๒๘ ก.พ.๑๙ จนถึงปัจจุบัน เมื่อบวชแล้ว ได้เริ่มผลิตสื่อธรรมะเผยแพร่แก่ประชาชน ในลักษณะสื่อในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า ธรรมคีตะ สมณะเสียงศีล จัดรายการวิทยุมากกว่า
๒๐ สถานี ซึ่งได้พัฒนารูปแบบของการจัดรายการ ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม ในปัจจุบัน
ด้วยการปรับ เนื้อหาสาระ ในการนำเสนอ เป็น ๒ ลักษณะคือ
"ธรรมะเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณ" และ
"ธรรมะที่ปลุกจิตสำนึก ให้คนรู้จักการจัดการ กับทรัพยากรธรรมชาติ
และ สิ่งแวดล้อม อย่างเหมาะสม และรู้จักช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในชื่อรายการ เพื่อนช่วยเพื่อน" นอกจากนี้
ยังถ่ายทอด องค์ความรู้ ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การอบรม การบรรยาย
การสาธิต การจัดนิทรรศการ ฯลฯ โดยกิจกรรมล่าสุด ได้อบรมลูกค้า ธ.ก.ส.จาก
จ.แพร่ (หลักสูตร สัจธรรมชีวิต) ระหว่างวันที่ ๒-๖ ก.ย.๔๕ ที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน
อินทร์บุรี เลขที่ ๒ หมู่ ๗ ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี. |
||||||||||
เทศกาลเจปีนี้ใกล้เข้ามาแล้ว เป็นโอกาส(บุญ)อีกโอกาสหนึ่ง ที่ชาวเราจะได้ร่วมกันสานต่อ บุญญาวุธหมายเลข ๑ ให้สัมฤทธิ์ผล อย่างต่อเนื่อง ใครสะดวกก็ขอ เชิญร่วมด้วยช่วยกัน จิ้งหรีดก็ขออนุโมทนาล่วงหน้าด้วยฮะ ชีวิตสัตว์รอดได้อีกเยอะ ในเทศกาลนี้ โดยเฉพาะชาวบ้านราชฯปีนี้ แว่วมาว่า จะเปิดขายอาหารมังสวิรัติ รับเทศกาลเจล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค.นี้เลย เพราะน้ำท่วม หนักปีนี้ งานหลายๆอย่าง ที่บ้านราชฯ ก็ต้องเปลี่ยนแผนกันไป ทั้งงานทั้งคน โยกย้ายเพื่อความเหมาะสมทั้งปวง อย่างงาน อบรมลูกค้า ธ.ก.ส. ก็ต้องหยุดไปชั่วคราว เหมือนกัน ตอนนี้หลายๆคน ก็เตรียมไฟฉาย และเทียนไขกันแล้ว เผื่อน้ำท่วม ถึงระดับหนึ่ง อาจไม่มีไฟฟ้าใช้ เอ้า!แต่ถึงอย่างไร ก็ยังได้รับรายงาน จากผู้สื่อข่าวบ้านราชฯว่า คนที่นั้นไม่มีปัญหา (ทางใจ) และฝากเชิญชวน พ่อแม่พี่น้องทุกๆท่าน ไปร่วมงาน ฉลองน้ำปีนี้ (๑๗-๒๓ ต.ค.)นี้ด้วยเด้อ... ทำวิกฤติเป็นโอกาส...จิ้งหรีดระลึกถึงภาพที่คนช่วยกันดึงประตูเหล็ก เพื่อให้สาดน้ำเข้าไป ดับไฟได้สะดวก ขณะที่เปลวเพลิง ลุกไหม้ร้านน้ำใจ ของหมู่บ้าน ศีรษะอโศก เป็นภาวะที่เสี่ยง ต่ออันตรายมาก เพราะหลังคาหน้าร้าน หักพังลงอย่างแรง ดีที่พวกเรา ถอยออกมาทัน... ก่อนที่พวกเราจะรู้ว่า ร้านน้ำใจถูกไฟไหม้ ก็มีเสียงรถสองล้อเครื่อง ดังเข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมกับเสียงคน ร้องตะโกน วิ่งเข้ามาในเขตที่พักฝ่ายหญิงว่า ตื่นๆไฟไหม้ร้านน้ำใจ แล้วรถเครื่องดังกล่าว ก็เลี้ยงวกลับทางเดิม จิ้งหรีด กำลังหลับสนิท ในช่วง ๔ ทุ่มเพิ่งหลับใหม่ๆ ก็ตกใจตื่นขึ้น ได้ยินคนตะโกนชัดเต็มสองหูเลย แต่ก็ยังมีอาการงงๆ อยู่บ้าง แล้วก็เห็นคุณศีลเพชร ตื่นขึ้นด้วยสัญชาตญาณ ของคนที่รู้ว่า มีภัยเกิดขึ้นใกล้ตัว ก็พลันดีดตัว ออกทางหน้าต่าง เพราะเข้าใจว่า เป็นประตู แล้ววิ่งตะโกน บอกคนวัดด้วยกัน ให้ตื่นขึ้นมาช่วยกัน ท่ามกลางความมืดมิด ภายหลังได้รู้ว่า ชายที่ขี่รถเครื่อง เข้ามาตะโกนบอกนั้น เป็นชาวบ้านจาก อ.ขุนหาญ ที่เพิ่งกลับจากตลาด หลังจากดื่มเหล้า ที่ตลาดกันทรลักษ์แล้ว จะกลับบ้าน ซึ่งต้องวิ่งรถผ่าน หน้าศีรษะอโศก ก็เห็นไฟลุกขึ้น ที่กองกล่องกระดาษ หลังร้านน้ำใจ ที่กองอยู่นอกร้าน ท่ามกลางสายฝน ที่ตกพร่ำมา ตั้งแต่ตอนหัวค่ำ... จิ้งหรีดถามชายคนนั้นว่า "ตอนแรกคุณเห็นไฟลุกอยู่ ไม่มากใช่ไหม?" เขาก็บอกว่า "ใช่ครับ" แล้วจิ้งหรีดก็ถามต่อว่า "แล้วคุณคิดยังไง ถึงวิ่งรถเข้ามาบอกพวกเรา" เขาก็ตอบว่า "ผมเคยมารับการอบรม ที่ศีรษะอโศก จึงต้องช่วย" จิ้งหรีดฟังแล้ว ก็รู้สึกประทับใจ เพราะขนาดเพิ่งกลับมา จากดื่มเหล้า ก็ยังมีน้ำใจ ห่วงใยชุมชนเรา ถ้ามีคนมาบอก ช้ากว่านี้ อาจจะสูญเสียมากขึ้นอีก... ชาวบ้านใกล้ๆศีรษะอโศก ต่างก็มีน้ำใจ ช่วยกัน วิ่งมาส่งข่าว ทั้งไปช่วยกัน บอกกันหลายจุด เพลิงสงบลง ประมาณตี ๑ กว่าๆ สิ่งที่เหลือมีเพียง เคียว มีด จอบ เกลือ ฯลฯ อย่างละนิด อย่างละหน่อย... ชาวบ้านต่างก็มา แสดงความเสียใจเสียดาย แสดงความไม่พอใจคนร้าย ที่มาวางเพลิง ทำลายทรัพย์สิน ของชุมชน บางคนถึงขนาด สาบแช่งเขา จนพวกเราต้องพูดเตือน และปลอบใจ ชาวบ้านเหล่านั้นว่า อย่าไปแช่งเขาเลย กรรมจะจัดการ จัดสรรเขาเอง เราจะทำใจ ให้อภัยแก่เขาเถอะ นอกจากนี้ พวกเราต้องจัดคน คอยต้อนรับคน ที่ยังไม่รู้ข่าวไฟไหม้ แล้วเดินทางมา ซื้อข้าวของ เช่นเคย แม้จะเป็นวันพุธ หลังไฟไหม้แล้ว ซึ่งเป็นวันหยุดขาย ตามปกติ คนก็ยังมาเยี่ยมดู เยอะมาก พอวันพฤหัสฯ ก็ยิ่งมามาก พวกเราคอยยืนต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ ในน้ำใจ แล้วจัดน้ำดื่ม บริการทุกคน ที่หน้าร้าน กสิกรรมไร้สารพิษ มีชาวบ้าน หลายคนพูดว่า ต่อไปนี้ เราจะหาซื้อของถูก และดีๆอย่างนี้ได้ที่ไหน เพราะบางคน เขาอุดหนุนเรา มาตลอด อาศัย ซึ่งกันและกัน พวกเขาบางคน เศร้ายิ่งกว่า คนในชุมชนเราเองเสียอีก เพราะเขารู้สึกว่า เป็นร้านของคนบุญ มีศีลมีธรรม ที่ช่วยคน ทุกระดับ ซึ่งมีแต่ให้ ไฉนจึงมีคนใจร้าย มาทำลายอีก ต่างคนต่างก็พูด ไปตามความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในสำนึก ของแต่ละคน ที่มีศรัทธาต่อชาวเรา ในระดับหนึ่ง ...เช้าของวันที่ ๔ ก.ย.๔๕ พ่อท่าน ขึ้นเครื่องบิน จากกรุงเทพฯ มาฉันอาหาร ที่ศีรษะอโศก เพื่อให้กำลังใจลูกๆ ชาวศีรษะฯ บันทึกภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ เป็นวิดีโอไว้ จึงถวายให้พ่อท่านดู จากนั้นพ่อท่าน ก็กล่าวทักทาย อย่างมีมุขขำขัน ให้พวกเรา คลายเครียดกัน ว่า อยากจะเจออาตมา ก็ไม่ต้องลงทุนมาก ถึงขนาดนี้ก็ก็ได้... มีชาวบ้านบางที่ พอได้รู้ข่าว ไฟไหม้ร้านน้ำใจ ทางวิทยุ ถึงกับเข่าอ่อนก็มี บางกลุ่มบอกว่า เขาจะต้องทำอะไร เพื่อร้านน้ำใจสักอย่าง บางคนปวารณาตัว จะมาช่วย สร้างร้านให้ใหม่ ทั้งทางทรัพย์สิน และแรงกาย บางคนก็มาแต่งเพลงให้ แบบทันเหตุการณ์ ปัจจุบันทันด่วนเลย บางคนก็มาพูด ให้กำลังใจ ให้เราสู้ เดินหน้าต่อไป ชาวศีรษะฯ ได้รับกำลังใจ จากชาวบ้าน อย่างล้นหลาม... น.ส.พ.ไทยรัฐ ลงข่าวเหตุการณ์นี้ ในหน้าสุดท้าย เป็นการเสนอข่าวสั้นๆ ว่า สหกรณ์บุญนิยมฯ ขายของชำ หมู่ ๑๕ ต.กระแซง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ถูกเผา... หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ทางศีรษะอโศก ก็มีการปรับการกิน การอยู่ใหม่ รวมถึง การจัดทำอาหาร ให้ผู้เข้ารับการอบรมด้วย เพราะบางที เรายังนำวัตถุดิบบางอย่าง มาจากตลาด ที่มีแต่ยาฆ่าแมลง เป็นส่วนใหญ่ มาทำอาหาร ให้ผู้เข้าอบรม ที่มีจำนวนมาก เราเองก็กินคล้ายกับเขา รวมทั้งถวายสมณะ และสิกขมาตุด้วย จึงมีการคิดกันใหม่ว่า ถ้าเราพากันทำดีท็อกซ์ เพื่อล้างพิษ ออกจากร่างกาย จากลำไส้อยู่ทุกๆวัน แต่เราก็มากินอาหาร ที่มีสารพิษ เข้าไปในร่างกาย ทุกวันเช่นกัน แล้วจะได้ประโยชน์อะไร กับการล้างพิษนั้น ดังนั้น เราจึงควรแก้ที่ต้นเหตุ จึงมีการเขียนบอกที่มา ของอาหาร ที่ขึ้นศาลา ถ้ามาจากตลาด ก็เขียนบอก ติดภาชนะว่า "มาจากตลาด" เพื่อให้นักบวช คนวัด และคนชุมชน พิจารณากันเอง มีอยู่วันหนึ่ง ที่เขียนบอกว่า มาจากตลาด ปรากฏว่า ไม่มีใครตักผัก ที่นำมาจากตลาดนั้นเลย ทั้งๆที่สีสัน น่ากินมาก แต่คนกลัวโทษภัย จึงไม่ตัก จิ้งหรีดได้ที จึงรีบเสนอ เอาผักที่นา เพราะมีมากมาย และปลอดภัย เพื่อเราจะได้ กินง่ายอยู่ง่าย แบบกินของที่เรามี และปลูกของที่เรากิน มีอยู่วันหนึ่ง จิ้งหรีดพูด บอกลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่มาอบรม ให้เห็นคุณค่า ของผักพื้นบ้าน ยืนโฆษณาผักป่า ผักพื้นบ้านว่า มีสรรพคุณอย่างไร ปรากฏว่า ผู้เข้าอบรม จะพากันหยิบผัก จนหมดกะละมัง จิ้งหรีดเห็นแล้ว น่าชื่นใจ ในความกินง่าย อยู่ง่าย อย่างมีประโยชน์ พ่อท่านได้พูด ให้พวกเรา ได้สติปัญญา จากเหตุการณ์ไฟไหม้ ทำนองว่า ไม่รู้ว่าตำรวจกับเรา ใครจะจับคนวางเพลิง ได้ก่อนกัน โดยเฉพาะ นักปฏิบัติธรรม จะจับนักวางเพลิงในใจ ที่ร้อนรนได้หรือไม่? และชอบจะกลับมา วางเพลิงในใจ อยู่เสมอๆ หลายคน ได้ฟังข้อคิด จากพ่อท่านนี้แล้ว ช่วยให้วางใจ ได้มากขึ้น... กระบวนการกิจกรรม กิจการ กิจวัตร หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ ทางศีรษะฯ กำลังจะปรับทิศทาง หันมามองเข้าหาตัว เน้นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่บุคคล เน้นศีลขึ้นให้ความสำคัญ อย่างชัดเจน ผู้ใหญ่ให้ลงมา อยู่กับเด็กมากขึ้น มีนโยบาย แปรวิกฤติ ให้เป็นโอกาส ถือเอาช่วงนี้ฝึกให้มาก ตั้งแต่กิน-อยู่-หลับ-นอน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลผลิต กำลังเกิด การปฏิบัติ ครั้งสำคัญ อีกครั้ง เพื่อจะได้ก้าวต่อไปอีกขั้น ที่มั่นคงเข้มข้น ทุกฝ่ายกำลังปรับเข้าหากัน ร่วมกัน ระดมความคิด จิ้งหรีดเห็นความตื่นตัว ของศีรษะอโศก ที่พยายามแปรวิกฤติ ให้เป็นโอกาส ก็ขอให้กำลังใจด้วยนะฮะ...จี๊ดๆ ศัพท์(ใหม่)ชาวบุญนิยม...จิ้งหรีดเกาะที่ข้างฝาโบสถ์ ฟังการประชุม ๘ พาณิชย์ที่สันติอโศก ท่ามกลางบรรยากาศ การประชุม อบอวลไปด้วยไออุ่น ฉันท์น้องพี่ ที่ไม่เห็นแก่(ได้)เงินเป็นใหญ่ แต่เห็นค่าของน้ำใจ ยิ่งใหญ่กว่า พ่อท่านได้ให้ ศัพท์ใหม่ว่า ชาวบุญนิยม จะไม่มีการให้เงินกู้ เพื่อหวังผลเป็นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการสร้างบาป ให้กับตนเอง แต่เราจะมีการให้ เงินเกื้อ (หรือเงินหนุน) คือ การให้ยืม โดยไม่มีดอกเบี้ย มีแต่ ดอกบุญ อันหมายถึง ยินดีในความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลต่อผู้อื่น จิ้งหรีดฟังแล้ว สุดแสนประทับใจ ในสังคมแบบนี้ ที่นำพาให้เราพ้นจากบาป ก้าวไปสู่บุญ ที่สูงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ...จี๊ดๆ ปฏิรูปการศึกษา...จิ้งหรีดที่สันติอโศกรายงานว่า ช่วงนี้ทาง ร.ร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ได้รับเชิญ ให้ไปร่วมสัมมนา เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาบ่อย ซึ่งทิศทาง ที่จะปฏิรูปนั้น เขาให้อิสระกับสถานศึกษามากขึ้น ในการจัดการเรียน การสอน และ สิ่งที่ปฏิรูปนั้น พวกเราก็ทำกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ให้เด็กสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ สัมพันธ์กับชุมชน การทำงาน เป็นขบวนการ ให้เด็กฝึก ทำงานจนเป็น เน้นองค์ความรู้ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ฯลฯ เรียกว่า การปฏิรูปการศึกษานั้น เป็นประโยชน์ กับพวกเรามาก และรู้สึกว่า พวกเราก้าวไปไกลกว่า คือ สามารถสอน และพาทำจนเกิดผลผลิต ที่สามารถ นำออกจำหน่าย มาเป็นรายได้ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ อย่างเมื่อ ๑๓ ก.ย.๔๕ ทางคณะครู สมณะ สิกขมาตุ ก็ไปร่วมสัมมนากับทาง สธ.เขา มีหลายโรงเรียน นำเสนอผลงาน เด็กเขาทำวุ้น ทำน้ำเก๋าคี่ได้ นับว่าเก่งมาก แต่ยังไม่สามารถทำเป็นอาชีพ เลี้ยงงานได้ ต่างจาก นร. สัมมาสิกขา สันติฯ ที่ได้ความรู้ ลงมือทำ และนำออกจำหน่าย อย่างต่อเนื่อง เป็นรายได้ หล่อเลี้ยงชุมชน แม้ศิษย์เก่า สส.สอ. ที่เรียนจบไปแล้ว ก็สามารถทำเป็นอาชีพ เลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้ อย่างมั่นคง นี่คือ ความเหนือกว่าของเรา แต่จะด้อยกว่า ตรงที่วิชาการ เพราะเรายังไม่ได้นำความรู้ เป็นรายวิชาใส่ลงไป หากพวกเราเพิ่มตรงนี้ จิ้งหรีดคิดว่า จะสมบูรณ์มากเลย เช่น การเก็บผักป่า เราสามารถทำเป็น วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ สุขศึกษา ฯลฯได้เลย ก็คงฝากไว้กับ คุรุบุญนิยม ทุกท่านนะฮะ...จี๊ดๆ ความลับของฟ้า...จิ้งหรีดไปแอบรู้มาว่า ถ้าใครไม่อยากตกรถด่วนขบวนสุดท้าย ก็อย่าลืมติดตาม งานเขียนของพ่อท่านฯ อย่างใน สารอโศก ก็มีคอลัมน์ ๑๕ นาทีกับพ่อท่านฯ และบันทึกจากปัจฉาฯ อ่านแล้วจะได้รู้อะไรใหม่ๆ และลึกขึ้นนะฮะ...จี๊ดๆ อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้...จิ้งหรีดที่ ชมร.เชียงใหม่ตอนนี้ไม่ธรรมดา ขนาดเกาะอยู่ที่หลังคา ก็ยังได้ยินเสียงเทศน์ก่อนฉัน ที่สันติอโศก วันก่อนอาติ้ว (ปีกรัก) พูดเรื่องปฏิรูปการศึกษา จิ้งหรีดได้ฟังแล้ว ยังรู้สึกประทับใจ ที่การศึกษาแผนใหม่ ให้เด็กได้ศึกษา วิถีชีวิต ภายในชุมชน ที่ตัวเองอาศัยอยู่ ไม่ใช่อยู่ใกล้พุทรา แต่ไปเรียนรู้เรื่องแอปเปิ้ล ที่อื่นซะนี่ เด็กไทยในเมือง จึงรู้จักแอปเปิ้ล ดีกว่า พุทราบ้านเรา ไปเสียฉิบ ต่อไปถ้าพ่อท่านเทศน์ทำวัตรเช้า ในวันเสาร์ หรือเทศน์ก่อนฉัน ในวันอาทิตย์ หลวงพ่อพิสุทโธคงถ่ายทอดเสียงสดๆ มาให้ฟังกันได้ เหมือนอยู่ใกล้ แม้จะอยู่ไกลถึงเชียงใหม่ นี่แหละคือ ความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี สมัยนี้ ที่เราจะต้องเป็นนายเทคโนโลยี มิใช่ทาสเทคโนโลยี ที่พาให้คนสมัยนี้ ก่อเกิดกิเลส มากกว่าลดกิเลสนะฮะ...จี๊ดๆ พึ่งเจ็บ...นายทองใบ โฮมแพน รักษาการประธานชุมชนภูผาฯ เข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ ร.พ.สวนดอก เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ ก.ย.๔๕ นายนฤพล ศรีวรรณนะ อายุ ๒๕ ปี อดีตนร.พุทธธรรมสันติอโศก ประสบอุบัติเหตุ ขี่รถสองล้อเครื่อง ชนกับรถเก๋ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ก.ย.๔๕ เวลาประมาณตี ๑ ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จนแขนหักและม้ามแตก จนคุณหมอต้องผ่าตัดม้ามออก มรณัสสติ ก่อนจาก ขอฝากคำสอนช่วงหนึ่ง ของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งลงในหนังสือ อาทิตย์รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๕-๑๑ ก.ย.๔๕ ที่ว่า ...ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ย่อมจะต้องมีปัญญารู้ว่า การไม่ทำงาน คือ ความเกียจคร้าน ไม่พาตนให้เจริญ เป็นความต่ำ ความเสื่อม เป็นอบายมุข นอกจากนี้ ยังเป็นการเอาเปรียบโลก เอาเปรียบสังคม เอาเปรียบมนุษย์ ยังเป็นผู้เบียดเบียน กินแรงผู้อื่น ยังเป็น ผู้เห็นแก่ตัว ยังเอา "ได้" ยัง "เอา" มากกว่า "ให้" มากกว่า "เสียสละ"... พบกันใหม่ฉบับหน้า จิ้งหรีด |
||||||||||
ครัวอโศก
มะขามป้อมเป็นพืชในตระกูลเดียวกันมะไฟ ผลกลมป้อมสนชื่อ ขนาดเท่าพุทราไทย ผิวเป็นมัน สีเขียวอ่อนอมเหลือง ผลหนึ่งมี ๓ พู เวลาเคี้ยว จะแยกออกจากกัน เม็ดสีเขียวเข้มกลมเล็ก รสขม มะขามป้อมมีรสขม แต่จะหวานชุ่มคอหลังจากเคี้ยว นิยมรับประทานสดกับพริกเกลือ ช่วยทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ ช่วยเจริญอาหาร ป้องกันเลือดออก ตามไรฟัน และช่วยป้องกันไข้หวัด มะขามป้อมมีวิตามินสูง ในปริมาณ ๑๐๐ กรัม มีวิตามินซี ๒๗๖ มิลลิกรัม เทียบแล้วมากกว่าฝรั่ง ๑/๒ เท่า มากกว่ามะนาว ๖ เท่า และ มากกว่าส้ม ๑๕ เท่า มีวิตามินเอ ๑๐๐ หน่วยสากล นอกจากนี้ ยังมีแร่ธาตุอื่นๆอีก เช่น แคลเซียม ๒๙ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๒๑ มิลลิกรัม เหล็ก ๐.๕ กรัม มะขามป้อมมีเส้นใยมาก เนื้อจึงแข็ง เมื่อเคี้ยวดูดเอาน้ำจนหมด ก็มักคายเนื้อ ที่หมดรสชาติทิ้ง เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา เอาเนื้อมาบีบคั้น ดื่มแต่น้ำ โดยคั้นสด แล้วดื่มทันที เพราะวิตามินซี สูญเสียได้ง่าย เมื่อถูกอากาศ การรับประทานมะขามป้อมให้ได้รสชาติ ต้องเลือกผลแก่กำลังดี ขนาดกลาง ผิวสีเขียวออกเหลือง เนื้อมีน้ำหวานมาก ผลอ่อน รสจะขม ถ้าแก่จนเกินไปน้ำจะน้อย เวลาคั้นให้แกะเอาเนื้อออกตามพู ใส่เครื่องแยกกากแยกน้ำ แล้วผสม น้ำมะขามป้อม กับน้ำต้มสุก ใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มทันที ชุ่มคอดีนักแล หรือจะเพิ่มรสชาติ โดยเอาไปผสมกับ น้ำมะนาว และ น้ำตาล ให้มีรส เปรี้ยวหวาน น้ำมะขามป้อม ท้ายนี้ก็ขอให้ทุกๆท่านสุขภาพดีทั้งกายและใจ
โดยทั่วหน้านะคะ แล้วพบกันใหม่ เมื่อโอกาส และพื้นที่อำนวยค่ะ . |
||||||||||
สาวตาบอดถักเปลขาย ทึ่งชีวิตสาวตาบอดหาเลี้ยงแม่วัยชราอย่างน่ายกย่อง
สาววัย ๓๖ ที่ตาบอดสนิททั้ง ๒ ข้างมา ๓๐ ปีเต็มๆ ต้องหาเลี้ยงแม่ วัยเกือบ
๘๐ ด้วยการตอนต้นไม้ ทำปุ๋ยชีวภาพ น้ำสมุนไพร ถักเปลญวน ฝีมือไม่แพ้ คนปกติออกขาย
เปิดใจตอนตาบอดใหม่ๆ ท้อแท้ ชีวิตมาก แต่ไม่ต้องการ ให้เป็นภาระกับครอบครัว
เลยกัดฟันฝึกฝน ลองผิดลองถูก จนทำได้จริงๆ เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น.วันที่
๒๕ ส.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านเลขที่ ๗๖ หมู่ ๑ ต.บางระกำ อ.โพธิ์ทอง
จ.อ่างทอง เพื่อพบกับ น.ส.จงชญาณ์ทิพย์ หรือสายพิณ
ชงกรานต์ทอง อายุ ๓๖ ปี สาวพิการตาบอด ภายหลังจากมีเสียง ร่ำลือว่า
น.ส.จงชญาณ์ทิพย์ แม้จะตาบอด มาหลายสิบปี แต่ก็ทำมาหาเลี้ยงแม่ วัยชราตามลำพังได้
อย่างน่ายกย่อง และยังสามารถ ดำเนินชีวิต อย่างปกติสุข เช่นคนธรรมดา จนชาวบ้านพากันทึ่ง
ในความสามารถ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
น.ส.จงชญาณ์ทิพย์ อาศัยอยู่ภายในบ้านไม้ทรงปั้นหยา ริมฝั่งแม่น้ำน้อย กำลังตอน
และปักชำกิ่ง ต้นไม้ประดับ ต่อด้วยทำปุ๋ยชีวภาพ จากเศษพืชผักสวนครัว และผลิตน้ำสมุนไพร
จากลูกยอ มะเฟือง มะเดื่อ ก่อนจะมา นั่งถักเปลญวน จากต้นกก เพื่อจำหน่าย
โดยกิจกรรมแต่ละอย่าง ในทุกขั้นตอน ล้วนแต่ใช้ความสามารถ ของตนเองทั้งสิ้น
ซึ่งเป็นไปด้วยความชำนาญ โดยความพิการทางสายตา ไม่เป็นอุปสรรค แต่อย่างใด
ที่สำคัญ ศักยภาพผลงาน ก็ทัดเทียม กับคนปกติทั่วไป สามารถนำไปจำหน่าย สร้างรายได้
เลี้ยงตัว และครอบครัว นางสัมฤทธิ์ ชงกรานต์ทอง
อายุ ๗๖ ปี แม่ของน.ส.จงชญาณ์ทิพย์ กล่าวว่า สายพิณเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง
๖ คน เมื่ออายุได้ ๖ ขวบสายตาทั้ง ๒ ข้างได้บอดสนิท โดยไม่ทราบสาเหตุ คือจู่ๆ
ตาก็บอดลงเฉยๆ โดยไม่ประสบอุบัติเหตุ แต่อย่างใด ซึ่งเจ้าตัว รวมทั้งครอบครัวเสียใจกันมาก
จากนั้น ก็เลี้ยงดูกันไปตามมีตามเกิด สอนให้ช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง และด้วยเป็นคน
ที่มีความจำดีมาก ประสาทสัมผัสไว จึงไม่เป็นภาระ ในการดูแล จนสามารถดำเนินชีวิต
อย่างคนปกติ นางสัมฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า
กิจวัตรประจำวันของลูกสาวพิการคนนี้ คือหุงข้าว ทำความสะอาดบ้าน ถ้วยโถโอชาม
ซักผ้า เป็นหน้าที่หนัก ก่อนจะทำอาชีพ ของตัวเอง ตามที่ชอบ ซึ่งมีหลายอย่างด้วยกัน
โดยทำด้วยตัวเอง ตนเพียงไปหา วัตถุดิบมาให้ ตามที่ลูกสาวต้องการ วัตถุดิบส่วนใหญ่
จะมีอยู่ในละแวกบ้าน หรือซื้อตามตลาดทั่วไป ทางด้าน น.ส.จงชญาณ์ทิพย์
สาวพิการผู้น่ายกย่อง กล่าวว่า ความรู้สึกตอนที่รู้ว่าตัวเองมองไม่เห็น
รู้สึกเสียใจมาก ต่อมา เริ่มทำใจได้ รวมทั้งคิดว่า หากตัวเราอยู่ในสภาพเช่นนี้
คงเป็นภาระแก่ครอบครัวแน่ จึงพยายามช่วยเหลือตัวเอง ให้มากขึ้น นอกเหนือจาก
ที่แม่สอน ก็อาศัยการฟังรายการวิทยุชื่อ "เพื่อนช่วยเพื่อน"
เพื่อจะนำมาทดลองทำ โดยครั้งแรกๆ ยอมรับว่า ท้อแท้บ้าง ก็มีแม่
คอยปลอบใจ และเมื่อทำงานออกมาได้ดี จนประสบความสำเร็จ จึงรู้สึกภูมิใจ
และหาสิ่งอื่น มาทำเสริมเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ ผลิตน้ำสมุนไพร ซึ่งสูตรไม่เหมือนที่อื่น
เช่น น้ำลูกยอ จะใช้ลูกยอ ๓ กก. ต่อน้ำตาลสีรำ ๑ กก. ไม่ใช้น้ำ และยีสต์
หมักนาน ๓ เดือน น้ำจะออกจากลูกยอเอง สรรพคุณจึงดีกว่า ใช้น้ำเป็นส่วนผสม
ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ทำ มีคนมาซื้อทุกวัน ทำให้มีรายได้ ในส่วนนี้ มาเลี้ยงตัวเอง
และแม่ที่อยู่กัน ๒ คน "ต่อสู้กับชีวิตมาจนถึงวันนี้มีความสุขดี
และไม่เคยคิดน้อยใจ ในชีวิตอีกเลย และเมื่อลงทุนต่อสู้มาแล้ว คงต้องสู้
จนถึงที่สุด โดยไม่ให้เป็นภาระ แก่ผู้ใด" สาวพิการผู้น่ายกย่องกล่าว ขณะที่นางแป้งรำ ต่ายคาม อายุ ๖๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๗๗ หมู่ ๒ ต.บางระกำ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง กล่าวว่า เป็นลูกค้าประจำ ของน.ส.จงชญาณ์ทิพย์ มาอุดหนุนสินค้า เป็นประจำ โดยเฉพาะน้ำลูกยอ เมื่อดื่มแล้ว รู้สึกว่า ร่างกายดีขึ้น. (จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันจันทร์ที่ ๒๖ ส.ค. ๒๕๔๕) |
||||||||||
สถานภาพ
แต่งงาน บุตร ๔ คน ป้าบัวเย็น รู้จักชาวอโศกมานาน ส่วนมากจะช่วยงาน ที่ธรรมทัศน์สมาคม วันนี้ป้าย้ายมาอยู่ข้างวัดแล้ว มาช่วยงานอยู่ ช.ม.ร. หน้าสันติอโศก เรื่องราวของป้า น่าสนใจค่ะ รักหนอรักไม่จริง ป้าเรียนจบพยาบาล จากร.พ.หญิง (ร.พ.ราชวิถี ในปัจจุบัน) แล้วกลับไปใช้ทุนที่ ร.พ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลฯ และพบรัก กับนายทหาร ยศร้อยตรีหมาดๆ ที่นี่ หลังจากนั้น ๓ ปีจึงแต่งงานกัน มีลูก ๔ คน แล้วย้ายมาอยู่ ร.พ.สมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ไม่นาน ก็ได้ข่าวว่า พ่อบ้านนอกใจ และนอกกาย ป้าทุกข์มาก สุดท้าย เขาก็ไปอยู่กับภรรยาใหม่ และมีลูกด้วยกัน จนถึงทุกวันนี้ ถึงเวลาก็มาเอง ไม่อยากไปอยู่บ้าน หากมีธุระอะไรที่บ้าน ป้าก็รีบไปแล้วรีบกลับ ลูกๆไม่ว่าอะไร ขอให้แม่มีความสุข เวลามีผัสสะ ป้าก็รู้ว่าคนไหนนิสัยยังไง พยายามไม่มีเรื่องกับใคร เพราะเรื่องของป้า ก็หนักพอตัวอยู่ แต่ป้าก็ผ่านมาแล้ว แค้นต้องอภัย พระพุทธองค์เปรียบความพยาบาทว่า
เหมือนเป็นโรคร้าย ผู้ใดละความพยาบาทเสียได้ บุญนำพา
รายงาน |
||||||||||
|
||||||||||