ฉบับที่ 197 ปักษ์หลัง 16-31 ธันวาคม 2545 |
จะรอปีหน้ารึ ! ? อีกไม่นาน ชาวเราก็จะได้มีโอกาสทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยการขายสินค้าขาดทุน ในงานตลาดอาริยะ ที่หมู่บ้าน ราชธานีอโศก คาดว่าในปีนี้ ประชาชนคงจะมาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดอาริยะเป็นจำนวนมาก เพราะข้าวของในตลาดโลกียะ จะมีราคา สูงกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น ตลาดอาริยะครั้งนี้ ก็ต้องการคนใจบุญพร้อมเปิดร้านขายข้าวของมากขึ้น หรือต้องการสินค้า ที่จะนำไปขาย มากกว่าเดิม จึงจะกระจาย ไปสู่ประชาชน มากยิ่งขึ้น ชาวบ้านหลายคนอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ เพื่อรอซื้อสินค้าในตลาดอาริยะ จะได้มีกินมีใช้ตลอดปี ฉะนั้นใครต้องการสร้างบุญให้กับชีวิต หรือต้องการการเริ่มต้นที่ดีให้กับชีวิตตัวเองและผู้อื่นในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ก็อย่ารอช้า รีบสมัคร ไปเปิดร้าน ขายเอากำไรอาริยะ ที่บ้านราชฯเมืองเรือกันเถอะ แม้ปีนี้ไม่ทัน ก็อย่าลืมเตรียมตัวไว้ในปีหน้าก็ย่อมได้ แต่ข้อสำคัญเราจะมีชีวิตอยู่ถึงปีหน้ารึ!?. |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
จับประเด็นจากหนังสือคนคืออะไร ? (๙) การเข้าไปรู้ถึงอรูปฌานแต่ละขั้น วิญญานัญจายตนฌาน - คือ สภาพที่เรารับรู้ได้ว่า ในห้วงแห่งความว่างนั้นยังมีวิญญาณเราปรากฏอยู่ และเมื่อเพ่งจิต ลึกละเอียดยิบ ลงไปอีก เข้าสู่สภาพของ อรูปฌาน ๓ อากิญจัญญายตนฌาน - เป็นสภาพที่ห้วงวิญญาณดับไม่รับรู้ใดๆทั้งสิ้น แม้สัญญาใดก็ไม่ผุดโผล่ แต่เนื่องจาก วิญญาณ มีปกติ รับรู้ ไม่สามารถ สะกดให้ดับได้ตลอดไป ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เหมือนคนนอนหลับ อย่างไรเสีย ต้องลืมตา ตื่นอยู่ดี ต่อให้หลับลึก ปานใด... การสะกดจิต ให้ดับสนิทนั้น จะอยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่ง ต่อเมื่อวิญญาณเรา ผุดขึ้นมารับรู้ เท่ากับจิตเรา เข้าสู่อรูปฌาน ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน - เป็นห้วงของวิญญาณที่รับรู้ได้ อย่างมะลำมลือง จากสัญญาสังขาร อย่างผะแผ่ว ภายในจิต เหมือนคนครึ่งหลับ ครึ่งตื่น ประมาณนั้น และ เฉกเช่นกัน หากจิตเรายึดติดอยู่กับอรูปฌานในแต่ละขั้น สภาพจิตนั้นๆ เรียกว่า "อรูปพรหม" สภาพฌานในจิตดังที่ว่ามานี้ ยังจะมีลึกละเอียดไปอีกเป็นขั้นๆ อย่างหาที่สุดไม่ได้ เป็นการระลึกย้อน ข้ามภพ ข้ามชาติไปเลย ไม่มีที่จบ แต่พระพุทธเจ้า มาค้นพบจุดจบตรงที่ว่า...ปลงวางวิภวตัณหา ดับสังขารธรรม ในตัวสุดท้ายแห่งฌาน เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ นับตั้งแต่ รูปฌาน ๔ ขึ้นไปจะดับลง ตรงช่วงไหน ก็ได้ตามแต่สะดวก ฌานอันได้กล่าวมาทั้งมวลนี้ เป็นแต่เพียงฌานอย่างสมถะ หรือ ฌานจากการนั่งหลับตา ทำสมาธิ จูงจิตเข้าสู่ ภวังคฌาน ไม่ช่วย ให้เราตัดกิเลส อนุสัยในจิตได้หรอก เพียงมีส่วนอนุเคราะห์ ให้เราได้ศึกษา กระบวนการทำงานของจิต ในภวังค์ ว่ามีการเกิดดับ อย่างไร เพื่อใช้ในการ เทียบเคียงของจริง ในการปฏิบัติ วิปัสสนาเดินมรรคองค์ ๘ ฌานสมถะ ยังมีข้อดีให้เราได้พักสงบจิตสงบใจ ได้ฝึกหยุดสังขาร และมีส่วนช่วย ในการย้อนระลึก ทบทวนตัวเอง เป็น การเจริญ เตวิชโช นำไปสู่ การบรรลุธรรม ได้เหมือนกัน ฌานอย่างสมถะ คือ การสะกดจิตตนเข้าสู่ห้วงภวังค์ แต่ฌานอย่างวิปัสสนา แม้ตื่นลืมตา หรือ ประกอบกิจ การงานใดอยู่ ก็สามารถ ทำสภาพฌาน ให้เกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าภวังค์ แม้การนั่งหลับตาทำสมาธิเข้าสู่ห้วงภวังค์ จะเรียกเป็นฌานเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะขอบเขตของ ฌานพุทธแท้นั้น ตัดเกรด เอาที่ จิตปราศจากกิเลส นิวรณ์ ๕ คือ กาม พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกุจจะวิจิกิจฉา ด้วยเหตุนี้ ในภวังคจิตที่มีนิวรณ์ ๕ จึงไม่นับว่าเป็นฌาน แม้จะตัดกายสังขาร ไม่มีการกระทบสัมผัส แต่ภายในห้วงภวังค์ ก็ยังมีการปรุงแต่ง ด้วยกิเลสอยู่ ดุจเดียวกับคนที่นอนหลับฝัน ต่างกันเพียงว่า... คนนอนหลับนั้น ขาดสติ แต่คนนั่งหลับตา เข้าสู่ภวังค์ มีสติอยู่แต่ภายในภพ ขาดสัมปชัญญะ มารู้กายภายนอก คล้ายคนครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่สำหรับ ผู้มีฌานพุทธแท้ จะมีสติสัมปชัญญะ รู้ถ้วนรอบทั้งจิตภายใน และกายภายนอก ไม่ว่าจะนั่งหลับตา หรืออยู่ด้วยอิริยาบถ ใดก็ตาม หากจิตเราปราศจากนิวรณ์ ๕ เรียก ได้ว่าจิตเป็น ฌาน หากเราคง สภาพฌานนั้น ได้ถาวร ก็นับได้ว่า นิโรธของพุทธแท้ จบแล้วซึ่งพรหมจรรย์ นิโรธของพุทธแท้อย่างวิปัสสนา กับ นิโรธของเทียมอย่างสมถะนั่งหลับตา มีสภาพที่ต่างกันอยู่ นิโรธของพุทธแท้เกิดจากการดับปวงกิเลสทั้งหลาย หมดสิ้นอวิชชา เห็นแจ้งกระจ่างจิตด้วย ญาณปัญญาของตน นิโรธของเทียมจะดับเอาทั้งจิต ไม่รับรู้ใดๆ เหมือนคนหลับลึกจมภวังค์ กระนั้น ปวงกิเลส ก็ยังอยู่เช่นเดิม เรียกว่า เป็นนิโรธ อย่างฤาษี ไม่มีปัญญา ไม่พาให้พ้นทุกข์ เพียงสะกดจิตสงบกายไว้ได้ ช่วงขณะนั่งหลับตาเท่านั้น การนั่งหลับตามิอาจพาให้เราพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ แต่การเจริญวิปัสสนา ด้วยการผูกสติไว้กับจิต เรียนรู้ดับกามตัณหา ละวางภวตัณหา และวิภวตัณหาก็ด้วยทำจิต อุเบกขา เข้าสู่สภาพ เป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้น ก็พ้นทุกข์ได้ ท่านผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว สามารถอยู่เหนือสังสารวัฏการเกิดการดับทั้งปวง มีอิสรเสรีภาพในตน อย่างสมบูรณ์ ท่านจะดับขันธ์ ปรินิพพาน หรือ บำเพ็ญเพียรต่อภูมิ เป็นพระโพธิสัตว์ก็ย่อมได้ สุดแต่สะดวกใจจะเลือก หามีสิ่งใดบังคับท่านได้ไม่. -
พุทธบุตร ลูกหม้ออโศก - |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สมณะเสียงศีล รับโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ระหว่างวันที่ ๕-๙ ธ.ค.๔๕ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงาน "มหกรรมเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ ๑ " ณ พิพิธภัณฑ์ การเกษตร เฉลิมพระเกียรติฯ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาส ให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ และ เกษตรกรทั่วไป ที่ประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ ได้นำ ผลผลิต หรือ ผลิตภัณฑ์มาแสดง และ จำหน่าย เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ระหว่างนักวิชาการ เกษตรกรผู้ผลิต และ ผู้สนใจทั่วไป ทั้ง เพื่อเผยแพร่วิทยาการ ประสบการณ์ ความก้าวหน้า ทางด้านเกษตรอินทรีย์ ให้แก่สาธารณชน ได้มีความเข้าใจ ถึงหลักการ และการปฏิบัติ การเกษตรอินทรีย์ อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ นโยบาย การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ของรัฐบาล ได้บรรลุเป้าหมายต่อไป เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบ การจัดการผลิต ด้านการเกษตรแบบองค์รวม ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่ใช้พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ที่ได้มา จากเทคนิค การดัดแปลงพันธุกรรม หรือ พันธุวิศวกรรม หลีกเลี่ยง การใช้สารเคมีสังเคราะห์ เป็นระบบที่เกื้อหนุน ต่อระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อม สำหรับ กิจกรรมในงาน มีทั้งการสัมมนาวิชาการ บรรยายพิเศษ นิทรรศการของหน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชน การประกวด-แข่งขัน ภูมิปัญญา ท้องถิ่น มีการจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ เกษตรอินทรีย์ โดยในงานนี้ นักเรียนสัมมาสิกขา ปฐมอโศก ร่วมกับ ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ได้ออกร้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ของชุมชนชาวอโศก ซึ่งมีความยาวถึง ๒๐ เมตร นอกจากนี้ สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้ บรรยายพิเศษเรื่อง "ธรรมะกับสังคมไทย" และในวันที่ ๕ ธ.ค.๔๕ ของงานนี้ สมณะเสียงศีล ได้รับโล่ ประกาศเกียรติคุณ ผู้สร้างเสริมเกษตรอินทรีย์ดีเด่น ของ ฯพณฯ สรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ อีกทั้งยังได้ ร่วมประชาสัมพันธ์งานนี้ ทางไอทีวีด้วย. |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ของขวัญวันปีใหม่จาก ต.อ. ต.อ.กลางประกาศให้ทุนหน่วยผลิตชุมชน*
เพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรการแปรรูปอาหารประเภทต่างๆ
สนใจรายละเอียดหลักสูตร
ติดต่อที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กสิกรรมแบบมะกะโท วันก่อนผู้เขียนเดินลงจากดอยแพงค่า อาจารย์ ๑ ได้พูดถึงการประชุมของชาวชุมชนฯ และได้พูดถึง "การปลูกผักอย่าง มะกะโท" ทำให้ผู้เขียน รู้สึกสนใจติดตาม เรื่องราวของมะกะโท (จากเรื่องราชาธิราช) ผู้เป็นบุตรของพ่อค้า แห่งเมืองเมาะตะมะ ครั้นบิดาเสียชีวิต ก็สืบต่องานจากบิดา คุมคนหาบสินค้า มาขายยังเมืองสุโขทัย เรื่องราวของมะกะโท ช่วงที่ผู้เขียนสนใจ คือ ตอนที่มะกะโท ถวายผักกาด แด่พระร่วงเจ้า ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้แต่ง ความมีอยู่ว่า อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้า เสด็จไป ณ โรงช้าง ขึ้นทอดพระเนตรช้างพระที่นั่งอยู่บนเกย ทอดพระเนตรเห็น มะกะโท กวาดหญ้าช้างอยู่ จึงตรัสถามนายช้างว่า อ้ายคนนี้เป็นบุตรของผู้ใด นายช้างจึงกราบทูล สมเด็จพระร่วงเจ้าว่า มะกะโทผู้นี้ เป็นบุตรรามัญ เข้ามาอยู่ด้วย ข้าพระพุทธเจ้า ช่วยทอดหญ้าช้าง และชำระมูลช้าง มีความอุตสาหะเป็นอันมาก สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพระเมตตาแก่มะกะโท จึงตรัสสั่งนายช้างให้เลี้ยงดูมะกะโทไว้ อย่าให้ขัดสน เมื่อพระองค์ ทอดพระเนตร ช้างอยู่นั้น คายพระสลาออก แล้วบ้วนพระโอษฐ์ ลงเหนือแผ่นดิน ดินกระจายออกไป ทอดพระเนตร เห็นเบี้ยๆ หนึ่ง จึงตรัสว่า ลูกรามัญน้อย จงเก็บเอาเบี้ยๆหนึ่งไว้ มะกะโทกราบถวายบังคมแล้ว จึงเก็บเบี้ยตามรับสั่ง ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้า ทอดพระเนตร ช้างแล้ว ก็เสด็จกลับเข้าสู่พระราชวัง ฝ่ายมะกะโทได้เบี้ยๆหนึ่งก็มีความยินดีนัก จึงคิดว่าแต่เริ่มมาอยู่ทำราชการด้วยนายช้าง เพิ่งได้รับพระราชทาน ในวันนี้ เบี้ยๆเดียวนี้ จะกระทำกระไรดี อย่าเลยจะเอาไปซื้อพันธุ์ผักกาด มาปลูกไว้ มะกะโทคิดแล้ว จึงเอาเบี้ยไปซื้อพันธุ์ผักกาด เจ้าของพันธุ์ผักกาด จึงว่าเบี้ยของเจ้าเบี้ยเดียวนี้ เรามิรู้ที่จะตวงให้ มะกะโทจึงว่าเบี้ยของเขาเบี้ยเดียวนี้ เราเอาแต่ พอติด นิ้วเดียว เจ้าของพันธุ์ผักกาด จึงว่าเอาเถอะ มะกะโท จึงเอานิ้วมือ ชุบเขฬะ(น้ำลาย)แล้วก็จุ่มนิ้วลง ในกระทายพันธุ์ ผักกาดนั้น ฝ่ายเจ้าของพันธุ์ผักกาด จึงสรรเสริญแต่ในใจว่า บุตรรามัญผู้นี้ ปัญญาฉลาดนัก นานไป จะได้เป็นผู้ดีมั่นคง ฝ่ายมะกะโท ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้ว จึงมาขุดดินกระทำที่ด้วยมูลช้าง จึงปลูกเมล็ดพันธุ์ผักกาดไว้ อุตส่าห์บำรุงรดน้ำ ก็งอกงามขึ้น ครั้นอยู่มา พระร่วงเจ้าเสด็จมาทอดพระเนตรช้างอีกครั้งหนึ่ง มะกะโทจึงเลือก เก็บพันธุ์ผักกาดมาชำระเสีย ให้หมดมูลดิน แล้วจึงขอยืม โต๊ะพานนายช้างใส่พันธุ์ ผักกาด นำเข้ามาถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า สมเด็จพระร่วงเจ้า จึงตรัสถามว่า เอ็งได้พันธุ์ผักกาดนี้ มาแต่ไหน มะกะโทจึงกราบทูลว่า เบี้ยซึ่งพระองค์พระราชทาน ข้าพระพุทธเจ้า เบี้ยหนึ่งนั้น ข้าพระพุทธเจ้า เอาไปซื้อ พันธุ์ผักกาดมาปลูก จึงได้นำมาทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระร่วงเจ้า ได้ทรงฟังดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงทรงดำริว่า บุตรรามัญน้อยนี้ฉลาด ประกอบด้วยความเพียร จะเอาไปเลี้ยงไว้ใกล้เราจึงจะชอบ จึงตรัสแก่นายช้างว่า ลูกรามัญน้อยนี่ เราจะขอไปเลี้ยงไว้ นายช้างก็ถวายมะกะโทไป แก่สมเด็จ พระร่วงเจ้า สมเด็จพระร่วงเจ้า จึงมอบให้ไปอยู่ด้วยหัวป่าก์พ่อครัว มะกะโท ครั้นไป อยู่ด้วยพ่อครัว ก็มิได้เกียจคร้าน สมเด็จ พระร่วงเจ้า ครั้นเห็นมะกะโทอุตสาหะเป็นอันดี ก็ชอบพระอัชฌาสัย จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นขุนวัง มอบให้ว่ากล่าว ในนอกพระราชวัง สมเด็จ พระร่วงเจ้า ทรงพระเมตตานัก ดุจหนึ่งบุตรในอุทร มะกะโทผู้เป็นขุนวังมีความอุตสาหะรักษาพระองค์ กลางคืนเป็น กลางวัน พระร่วงเจ้าทรงพระเมตตายิ่งขึ้น ไป ข้าราชการ น้อยใหญ่ทั้งปวง ก็มีความรักใคร่ และยำเกรงแก่ขุนวัง เป็นอันมาก จะเห็นได้ว่ามะกะโท เป็นคนฉลาด ขยัน อุตสาหะ สามารถทำจนประสบผลสำเร็จได้ด้วยต้นทุน แม้น้อยนิด เมื่อกลับมามองดูชาวชุมชนภูผา ฟ้าน้ำคนหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างบ้านอยู่เอง ด้วยตัวคนเดียว และทำกสิกรรมไร้สารพิษ ด้วยการลงทุน เพียงใช้แต่แรงกาย อย่างเดียว ปลูกผักป่าผักดอย ให้ชาวชุมชนได้กินทุกวัน พร้อมทั้ง ยังมีเหลือส่งไปขาย ไปให้ชมร.เชียงใหม่ด้วย บุคคลผู้นี้คือ คุณไพร จริยา (นาวาบุญนิยม) วันนี้เราจะพาท่านไปพบปะ พูดคุยกับคุณไพรว่า คิดอย่างไร จึงมาทำกสิกรรมธรรมชาติ ไร้สารพิษ และเน้นปลูกพืชผัก ที่ขึ้นอยู่บนดอย มากกว่าพืชผัก ตามท้องตลาดทั่วไป คุณไพรกล่าวว่า "โดยพื้นฐานผมรักการปลูก รักการทำกสิกรรมอยู่แล้ว เริ่มแรกก็ไปร่วมกันเป็นทีม ไปปลูกที่แปลง ข้างๆ ศาลาซาวปี๋ แต่ก็ยังไม่ถือว่า ประสบผลสำเร็จ เพราะปัจจุบันนี้ แปลงนั้นได้เปลี่ยนเป็น แปลงสตรอว์เบอร์รี่ไปแล้ว ผมมาปลูก ข้างๆบ้านผม โดยอาศัยเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูก (เมล็ดพันธุ์ก็หาเก็บภายใน ชุมชน) โดยไม่ได้ซื้อเลย ใช้แต่แรงกาย อย่างเดียว" ผู้เขียนมีความเห็นว่า การทำกสิกรรม หากเริ่มต้นด้วยการซื้อ ก็เป็นการเริ่มต้น ด้วยระบบทุนนิยมแล้ว หากเราทำไป โดยลักษณะ เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ ค่อยๆทำไปทีละน้อย โดยการพึ่งพาตนเอง ก็จะเป็นระบบบุญนิยม คือ ปลูกเพื่อกิน ที่เหลือก็ขาย ทำไปสบายๆ ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องทุกข์ร้อนใจ คุณไพร ก่อนจะมาเริ่มปลูกพืชผักต่างๆบริเวณพื้นที่ข้างๆบ้าน ก็ไปช่วยเก็บผักป่า แล้วก็ขับรถเอาผักป่า ไปส่งที่ ชมร.ช.ม. เป็นเวลาร่วมปี ระหว่างขับรถ เดินทางไปมาระหว่าง ชมร.ช.ม.ก็ได้มีโอกาส พูดคุยกับอาจารย์ ๑ (สมณะบินบน ถิรจิตโต) ได้รู้นโยบาย จึงคิดช่วยสนับสนุน นโยบายของท่าน และเห็นว่า การเน้นเอาผักป่า ผักดอย ผักพื้นบ้านที่ ไร้สารพิษ ไปทำ อาหารขาย และไปวางจำหน่าย ที่ตลาดผัก ผลไม้ไร้สารพิษ ที่ ชมร.ช.ม.เป็นเรื่องที่ดี เป็นแนวทางการสร้าง และปลูกฝัง นิสัยการบริโภค ที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมชุมชน ให้เข้มแข็ง จึงมาช่วยปลูกตามกำลัง ผักที่ปลูกก็มีฟักแม้ว ฟักทอง ฟักเขียว น้ำเต้า ดีกระทิง ผักพาย แพรวแดง ลิ้นมังกร ผักชีล้อม ทูน ผักกาดป่า กวางตุ้ง ฯลฯ พอทำไป ก็ได้ผลเลย และก็ไม่ได้ใช้ปุ๋ย ไม่ได้ฉีดยาเคมีอะไรด้วย ได้ทำน้ำยาฉีด จากสมุนไพรไว้ใช้ เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ เพราะแม้ ไม่ใช้ยาฉีดอะไร ก็ได้ผลผลิต ที่ปลูกก็พยายามเน้นผักป่า ผักดอย ผักพื้นบ้าน ที่มันขึ้นอยู่บนดอย ตามธรรมชาติ เพื่อพัฒนาการกิน ของคนทั่วไป ให้หันมานิยมผักป่า ผักพื้นบ้านที่ปลูกง่ายๆ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องดูแลมาก และ มั่นใจได้ว่า ขึ้นง่าย ทั้งปลอดภัยกว่าพืชผักทั่วไป ในตลาด เมื่อผู้เขียนได้ถามถึงการปลูกว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ คุณไพรก็ชี้แจงว่า "รุ่นแรกนั้นฟักแม้วก็มีปัญหา แมลงวันทอง มาเจาะ แต่ก็อาศัยปลูกมากๆ ก็พอได้กิน ได้นำมาให้ชมร.ช.ม.ทำอาหารและขาย ที่จริงผมก็มิได้เน้นปลูกมากหรอก ผมปลูกขนาด ที่ผมจะดูแล ได้อย่างต่อเนื่อง เท่านั้นก็พอ ผักบางชนิดที่นี่ ไม่ต้องปลูกเลย แต่มันขึ้นเอง เช่น ผักกาดนา ผักกาดไร่" เราจะเห็นได้ว่า การทำกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษนั้น เราไม่จำเป็นต้องปลูกผักที่ตลาดนิยม แต่ปลูกผัก ตามที่ขึ้นได้ดี ในท้องถิ่นนั้น เราก็สามารถทำได้ และเป็นไปได้ดีด้วย ทั้งปลูกกินเอง เอาเข้าโรงครัวของชุมชน และนำไปจำหน่าย โดยไม่ต้อง ลงทุนอะไรเลย ซึ่งนำรายได้สู่ชุมชนแล้ว หลายหมื่นบาท อย่างคาดไม่ถึง และหลายคน ไม่คาดคิดว่า จะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว สำหรับคุณไพร ชาวชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ที่มีวิธีการทำกสิกรรม แบบมะกะโท คือ ไม่ได้ใช้เงิน แต่ใช้สติปัญญา แรงกาย แรงใจ เป็นทุนนั่นเอง. -
โพธิ รายงาน - |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร ในวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึงเร็วๆนี้ ทีมข่าวพิเศษได้กราบเรียนขอข้อคิดจากท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร มาฝากญาติธรรมชาวอโศกทุกท่านคะ "อยากจะฝาก หนึ่งต้อง กับ สองไม่ ให้พวกเราได้พิจารณากันดังนี้ คือ ต้องให้ความสำคัญในการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนสัมมาทิฐิ ทั้งในการปฏิบัติธรรมและการทำงาน พวกเราหลายๆคนนิยมลุย เป็นสายลุย ไม่สนใจในการศึกษา ไม่สอบถามผู้รู้ เลยทำให้หลายๆอย่างเมื่อมีการลงทุนไป ก็ ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของระบบสาธารณโภคี เพราะว่าเมื่อลงทุนไปแล้วจะมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่มีใคร ต้องรับผิดชอบอะไร เสียก็เสียไป เราก็ลองกันไปเรื่อย ลุยกันไปเรื่อย ได้แต่บทลุย แต่ไม่มีบทเรียน ทำงานโดยไม่มีข้อมูล มีแต่ข้อมั่ว เป็นหลัก อันนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ในระบบสาธารณโภคี มีสมณะท่านยกตัวอย่างได้ดีในเรื่องนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า มีชายคนหนึ่งไปปลูกกระต๊อบทำสวนทำไร่อยู่ในป่า ในป่านั้น ก็มีลิงตัวหนึ่ง มาชอบแอบดู อยู่เป็นประจำว่า คนทำอะไรบ้าง กินข้าวอย่างไร นอนอย่างไร นั่งอย่างไร ทำงานอย่างไร แล้วถ้าเมื่อไหร่ คนออกไปทำงาน ที่ไร่ที่นา เจ้าลิงตัวนี้ ก็จะมาทำท่าทาง อย่างที่คนได้ทำ แล้วยังแถมรื้อ ข้าวของ กระจุยกระจาย จนชาวไร่ที่อยู่ในป่านั้น ปวดหัวเป็นประจำ เลยหาทางคิดจัดการกับเจ้าลิงซนตัวนี้ วันหนึ่ง เขาก็เอามีดโกน ขึ้นมาโกนหนวด โกนเครา แล้วทำท่าทาง เอามีดปาดคอตัวเอง ลิงก็แอบดูแอบจำ อย่างที่เคยมา คนก็แกล้งออกไป ทำไร่ทำนาอย่างเก่า เจ้าลิงตัวนี้ ก็มาทำเลียนแบบ อย่างที่ได้แอบดู ก็ลองโกนหนวดโกนคางตัวเอง แล้วก็เอามีดโกนปาดคอตัวเอง สุดท้าย ลิงก็คอ ร่องแร่ง ขาดใจตาย ในกระท่อมนั้นเอง ตัวอย่างนี้ เป็นบทเรียนที่เห็นมากับตา แต่ไม่ได้รู้รายละเอียด เห็นเขาทำเห็นเขาได้ดี ก็อยากจะทำบ้าง อย่างเด็กของเรา ไปเรียนฝังเข็ม แบบงูๆปลาๆ ก็มาทดลองใช้กับสมณะบ้าง การฝังเข็ม เขาจะใช้เครื่องไฟฟ้ากระตุ้น เพื่อให้เลือดลม ไหลเวียน ได้สะดวก เด็กของเรา ก็เอาไฟฟ้า มากระตุ้นบ้าง แต่เป็นไฟ ๒๒๐ ทำเอาสมณะ แทบจะเอาชีวิตไม่รอด นี้ก็เป็นตัวอย่าง คล้ายๆกับลิง ที่เห็นคนทำ ก็อยากจะลองทำบ้าง แต่ไม่ได้รู้รายละเอียด ไม่ได้ไต่ถามผู้รู้ ให้ดีเสียก่อน พวกที่เป็นมือ กสิกรรม ใครอยาก จะปลูกก็ลุยเลย บางทีก็ไปปลูกเดือนเมษาฯ เสร็จแล้ว ก็ไม่มีปัญญา จะหาน้ำ มารด มีแต่ไฟอยากจะทำ หรือ อย่างมะพร้าว ชอบแดด ก็ไปปลูกในร่ม มะกอกน้ำที่ชอบอยู่ริมน้ำ ก็ไปปลูกบนโคกสูงๆ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง มีรายละเอียด มีข้อมูล แต่พวกเรา มักจะทำงาน โดยไม่สอบถาม ไม่ศึกษา ชอบแต่ลุยไปข้างหน้า โดยไม่รับผิดชอบ และจุดที่สำคัญที่สุด ไม่ควรจะลืมภาษิตไทยที่บอกว่า "คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย" ดังนั้น ทำอะไร ก็ไม่ควรจะลุยไปเดี่ยว เป็นแบบ ศิลปินเดี่ยว ควรจะเน้นเรื่อง ขบวนการกลุ่ม เหมือนฝูงนกกระจาบ ที่ติดตาข่ายนายพราน ถ้าพร้อมใจกัน ก็รอดได้ ถ้าต่างฝ่าย ต่างหนี มีหวังตายทั้งฝูง คนที่ทำอะไร ไม่สามารถเป็นขบวนการกลุ่มได้ เพราะเป็นคนคิดใหญ่ เป็นคนอยากใหญ่ ก็จะทำงาน กับคนอื่นไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว การทำงาน ก็จะไม่ได้เป็นไป เพื่อลดละตัวตน แต่จะเป็นการเพิ่มตัวตน มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าทำงาน เป็นขบวนการกลุ่ม จะเป็นไปเพื่อ ขัดเกลาตัวตน ลดละตัวตน และจะก่อให้เกิด การงานที่สมบูรณ์ เพราะว่า จะมีการปรึกษา หารือกัน มีปรโตโฆสะ มีการฟังเสียงคนอื่น และมี โยนิโสมนสิการ มีการเอาข้อมูล จากคนอื่น มาพิจารณา ไตร่ตรองอยู่เสมอๆ ก็จะทำให้เราสมบูรณ์ ในการปฏิบัติธรรม ที่มีสัมมาทิฐิ เพิ่มยิ่งๆขึ้นไป สำหรับ สองไม่นั้นก็คือ ไม่ทำงานเกินตัว และ ไม่ทิ้งโอกาสทอง คนที่ทำอะไรเกินตัวนั้น คือคนที่น่าสงสาร เวลากินอาหาร เขาก็ถูกอาหารกิน ถูกมาม่า ถูก ก๋วยเตี๋ยว ถูกปาท่องโก๋กิน เวลาใช้เงิน จริงๆแล้ว ก็ถูกเงินใช้ให้ตะลอนๆ วิ่งหาซอกๆ ทั้งวันทั้งคืน เวลาชีวิตอยู่กับความหลงตัว มากกว่าอยู่กับความรู้ตัว หลงว่า ตัวดีเลิศ ประเสริฐศรี ทั้งๆที่ตัวเรา เวลาทำงาน ก็ถูกโลกธรรม ลากถูลู่ถูกัง อยู่ตลอดเวลา ไม่ต่างอะไรกับ ก้อนแท่งแห่งอวิชา ที่ถูกแม่น้ำตัณหา ถาโถมอยู่ตลอด นักปฏิบัติธรรมที่มาวัดใหม่ๆ เขาจะมีความสุขมาก เพราะจะไม่ค่อยกล้า จะทำอะไรเกินตัวเท่าไร จะไม่กล้า ไปเพ่งโทส ถือสา เอาเรื่องเอาราวใคร จะมีแต่ศรัทธา ยินดี ปีติ กับการได้เห็น สิ่งดีสิ่งงาม ที่มีอยู่ในวัด จะเห็นว่า คนที่ทำอะไร ไม่เกินตัว ก็จะมีความสุข เหมือนแม่ปราณีที่ ชมร.ช.ม. ขายมังสวิรัติเมื่อไรๆ ก็มีแต่ปีติ มีแต่ความสุข ที่ได้ช่วยให้สัตว์ได้รอดตาย ได้ช่วยเผยแพร่ มังสวิรัติให้คนได้กิน อาหารบุญ เขาไม่ได้คิดไปเพ่งโทสถือสาใคร ไม่ได้คิดไปจัดการเอาเรื่องเอาราวใคร ชีวิตก็มีแต่ความสุข ดังนั้นทุกวันนี้ถ้าเราทำงานแทบเป็นแทบตายแล้วเกิดความทุกข์ แสดงว่า เราทำงาน เกินตัว โดยเฉพาะใจ ซึ่งมันคิดเอาเรื่อง เอาราว เอาเป็น เอาตายคนอื่น ซึ่งจะเห็น คนป่วยถาวรของเรา เวลาทำงาน พร้อมที่จะเอาชีวิตเข้าแลก ลุย ยิ่งกว่า คนปกติ ธรรมดาเสียอีก แต่พอลุยงานเสร็จ ก็เสร็จไปกับงานไปด้วย หมดเรี่ยวหมดแรง ทำอะไรไม่ได้ แต่พอเจองานที่ชอบ ก็ลุยแบบ ถวายหัวได้ขึ้นใหม่ ก็จะมีลักษณะ แบบผีเข้าผีออกได้ อยู่ตลอดเวลา ลักษณะสังเกตว่าเราได้ทำงานเกินตัว
ดูได้ดังต่อไปนี้ ๒. ไม่มีเวลาฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะ แสดงว่าวันๆของเรามันซ่านไปกับการงานมากมาย เป็นกัมมรามตา เกินไป เราจะต้อง ทำงาน ๒ อย่างพร้อมๆกัน คือทำงานนอก ทำงานใน ทำงานนอกไปอ่านจิตใจของเราไป ซึ่งเราจะทำงานทั้ง ๒ อย่าง ไปพร้อมๆ กัน เราก็จะต้องมีเวลาที่จะอ่านธรรมะบ้าง ฟังธรรมะบ้าง เพื่อเพิ่มพูนสัมมาทิฐิ ดังนั้น ถ้าจะดำริไปแต่เรื่อง การงานมากมาย ก็พยายาม เตือนตัวเองไว้ อย่าซ่าน! อย่าซ่าน! ๓. ไม่มีเวลาออกกำลังกาย บริหารกาย ซึ่งหมออุดมเคยเปรียบเทียบไว้ว่า ถ้าเราไม่รู้จัก บริหารร่างกายเราเลย ก็เหมือนกับมีด ที่เอาไปใช้ แล้วก็ไม่เคยลับเลย มีดนั้นก็ใช้งานได้ อย่างไม่มีประสิทธิภาพ สุขภาพกายกับสุขภาพจิต ก็สัมพันธ์กัน ถ้าสุขภาพกาย เสื่อมโทรม สุขภาพจิต ก็จะทรุดโทรม ตามไปด้วย ถ้ามุ่งเอาแต่งานๆๆๆ ไปอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอ ควรจะได้ เตือนตัวเอง อยู่เสมอว่า อย่าโทรมๆ หัดตัดรอบ ที่จะเอามาบริหารกาย แล้วก็อ่านธรรมะ ฟังธรรมะ บริหารใจ ควบคู่ไปด้วย ลักษณะเหล่านี้คือการที่ทำอะไรเกินตัว เมื่อทำอะไรเกินตัวเกินกำลัง ก็ทำให้เราไม่สามารถ เป็นนักปฏิบัติธรรม ที่มีความสุข ถ้าเราสามารถ กลับมาอยู่กับตัวเรา เห็นใจของเรา อ่านใจของเรา และทำความอ่อนน้อม ถ่อมตนอยู่เสมอๆ เหมือนกับ พระสารีบุตร ที่ท่านเปรียบตัวท่านเองว่า ท่านเองเหมือนกับ ผ้าขี้ริ้ว ที่ใครจะเหยียบ จะเช็ดก็ได้ ท่านเปรียบตัวท่านเอง เหมือนลูกคนจัณฑาล ที่ต้องถือตะกร้า ออกไปขออาหาร จากผู้อื่น เห็นได้ว่า ทิศทางของนักปฏิบัติธรรมนั้น ยิ่งเล็ก ยิ่งสูญ ยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีประสิทธิภาพ แต่ยิ่งใหญ่ ยิ่งเกินตัว นั่นคือการพังพาบ เดินทางไปสู่ทางมรณภาพในที่สุด ไม่ที่ ๓ นี้ก็คือ ไม่ทิ้งโอกาสทอง เป็นข้อคิดที่เกิดจากเมื่อเร็วๆนี้ ได้ไปเผาศพโยมแม่ของ สิกขมาตุพูนเพียร ซึ่งเสียชีวิตไป เมื่ออายุได้ ๗๓ ปี อาตมารู้สึกว่า ทุกวันนี้ชีวิตของพวกเรา เหลือกันไม่มากเลย ไปเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ที่บ้าน โยมแม่ก็ ๗๖ โยมพ่อก็ ๗๘ ใกล้จะ ๘๐ กันแล้ว ดูว่าชีวิตมันนิดเดียว ไปเจอโยมผู้เฒ่าที่ศาลีฯ ชื่อโยมหนูก็เล่าให้ฟัง ตัวโยมเอง เป็นคนไม่มี ทรัพย์สมบัติ ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เขาก็เลยปล่อยตัวออกจากคุก โยมหนูเห็นบ้านช่องเรือนชาน ทรัพย์สมบัติ เหมือนคุก เพราะตัวเอง เป็นคนจน ก็เลยไม่ได้ติดคุก อยู่ที่บ้าน ได้มีโอกาสมาอยู่วัด มาสะสมบุญ สะสมทุน ที่จะเดินทางต่อไป อาตมา ก็นึกอนุโมทนา เพราะโยมพ่อโยมแม่ที่บ้าน ยังมาวัดไม่ได้ ที่มาวัดไม่ได้ ก็เพราะว่าติดคุก เพราะว่า มีสมบัติอยู่มาก จะมา ก็ยังขายที่ดินไม่ได้ จะขายหลายล้าน มันก็เลยมาไม่ได้ เลยต้องติดคุก ราคาหลายล้าน ติกคุกสมบัติ ติดลูกติดหลาน ติดแมว ติดหมา นี่ก็คือคุก ที่ขังตัวเอง สิ่งที่รู้สึกสะดุดมากๆก็คือว่า เราเผลอ ไปแผล็บเดียว มันเร็วมาก โยมพ่ออาตมา ก็จะใกล้ๆ ๘๐ เข้าไปแล้ว ตัวอาตมาก็ ๕๐ กว่า กำลังวิ่งเข้าสู่หลัก ๖๐ แล้ว โอ้โห...เร็วมากเลย พอกลับมา ราชธานีอโศก พวกเราก็มาเจออุบัติเหตุ เด็กถูกลูกไฟ เกิดจาก การเอาน้ำมันพืชเก่าๆ มาผสมแอลกอฮอล์ มากวนกัน จะทำน้ำมันรถ เกิดเป็นลูกไฟกระจาย เด็กของเรา ถูกไฟไหม้ ๒ คน คนหนึ่ง โดนไหม้ตามร่างกาย ทั้งตัว ๓๐ % ของร่างกายถูกไฟไหม้ อีกคนหนึ่งถูกตามต้นคอ ตามไหล่ คิดเป็น ๑๕ % เห็นเด็กแล้ว ก็สงสารเขามากเลย เพราะว่าเขาต้องปวดแสบปวดร้อน วิ่งกระโดดลงน้ำ รีบเอาไปส่งโรงพยาบาล แทบไม่ทัน รู้สึกว่า ชีวิตของเรา แต่ละคน เราไม่รู้ว่า อกุศลวิบากของเรา จะตามมาเล่นงาน มาจัดการเราเมื่อไร ขนาดพระพุทธเจ้า ทำกุศล ไว้มากมาย แม้แต่ชาติสุดท้าย ท่านก็ต้องเสวย เวทนากล้า ต้องเจ็บปวดทุกทรมาน ก็ไม่ใช่น้อย ดังนั้น แม้ปัจจุบันนี้ พวกเราแต่ละคนที่ยังสุขกายสบายดี ร่างกายยังแข็งแรงดีกันอยู่ จึงไม่ควรที่จะทิ้งโอกาสทองเลย โอกาส ที่เราจะได้พบกับ สัตบุรุษ พบกับพ่อท่านที่มาชี้ แนวทางสัมมาทิฐิ ให้เราเดินได้ปฏิบัติมรรค ๘ กันกระจะกระจ่าง นี้ก็ไม่ใช่ ของง่าย โอกาสทองที่เราจะได้เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์ ที่สามารถจะสร้างบารมี ทำตนให้พ้นทุกข์ได้ ก็เฉพาะ ในภาวะ ความเป็นมนุษย์นี้เท่านั้น โอกาสอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่ใช่ของง่าย โอกาสที่จะได้อยู่ในดินแดน ที่อาหารการกิน อุดมสมบูรณ์ แบบประเทศไทย เป็นเสมือนชมพูทวีป โอกาสที่จะได้มาอยู่ในดินแดน ปฏิรูปเทสวาโส โอกาสทองอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ของง่าย ดังนั้น เราได้โอกาสทองอย่างนี้ เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยโอกาส สั่งสมสิ่งที่ดีงาม ให้ผ่านเลยไป ปล่อยให้คุก ซึ่งเป็น ทรัพย์สิน เงินทอง แก้วแหวนเงินทอง ลูกเต้าเหล่าหลาน มาฉุดตัวเราขังเราเอาไว้ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสเอาไว้ว่า ขื่อคา เครื่องจองจำ ที่แก้ได้ยาก คือทรัพย์สมบัติ เพชรนิลจินดา เป็นขื่อคาเครื่องจองจำ ที่ทุกข์ทรมาน มนุษย์ยากที่ใคร จะปลดปล่อย ออกมาได้ เมื่อเหลือเวลา อีกไม่มากเท่าไร พวกเราควรจะได้รีบ ปลดปล่อยตัวเองออกมา เรามีที่ส่วนกลาง อยู่มากมาย ที่ยังรอ ผู้คนอยู่ เราจะได้มาสะสมกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้มีคุณค่าดุจเพชร ดุจทอง เป็นสิ่งที่เป็นทรัพย์แท้ ทรัพย์ประเสริฐ ที่จะติดตัวของเราไปได้ อย่างยาวนาน มาเปลี่ยนผัสสะต่างๆให้เป็นผัดซะ ให้เป็นอาหารที่ทรงคุณค่าทางจิตวิญญาณ เปลี่ยนเอาของเสียของร้าย ที่ถูกเขาว่าร้าย ที่ถูกเขา ตำหนิติติง ก็เปลี่ยนมาเป็นขุมทรัพย์ มาเป็นเพชรเป็นทอง มาเป็นสิ่งที่ดีงาม ให้กับจิตใจ อย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ว่า จงเอาคำตำหนิ ชี้โทษมาเป็นขุมทรัพย์ เอาทุกๆขณะ ที่เราเกิดราคะ โทสะ โมหะ ก็ดี มาเปลี่ยนเป็นโอกาสทอง ในการทำจิตใจของเรา ให้ละหน่ายคลาย จนเป็นอราคะ อโทสะ อโมหะ ทุกขณะที่ผัสสะ ให้ได้อยู่เสมอๆ นี่คือโอกาสทองของชีวิตที่เราได้มาร่วมบำเพ็ญบารมีกับสัตบุรุษ ซึ่งขณะหรือความพร้อม หรือโอกาสทอง ที่จะเกิดขึ้น ในชีวิตเรา แต่ละคนๆ ไม่ใช่เป็นของง่ายเลย ดังนั้น ก่อนที่จะวาระสิ้นปี ที่ชีวิตจะหมดไป เราควรจะเอาเวลาที่เหลือน้อยนิด มาทุ่มเท กอบโกยเอาทรัพย์แท้ ของพระพุทธเจ้า เอาสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ของมนุษย์มาให้ได้ ก่อนที่วิบาก ความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด โรคภัยไข้เจ็บ และความตายจะได้เกิดขึ้นกับเรา เราควรที่จะมารีบเอาสิ่งที่ดีงาม ให้กับชีวิตของเรา ให้ได้มากที่สุด อยากจะฝาก สิ่งนี้ เป็นสิ่งสุดท้าย ในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ให้กับพวกเราทุกๆคน" และนี่คือของขวัญปีใหม่ที่ล้ำค่าแด่ทุกๆท่านค่ะ คนที่อยู่ในวัด ระวัง! ขยันทำงานแทบตาย แต่เป็นแค่กรรมกรศาสนา โลกุตระหามีไม่ คนที่อยู่นอกวัด ระวัง! ทรัพย์สมบัติที่หามาทั้งชีวิต สุดท้ายคือคุกขังตัวเอง ที่ไม่สามารถเอาติดตัวไปได้แม้แต่สลึงเดียว ปีใหม่นี้ ขอให้ทุกท่านคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อจิตวิญญาณดวงใหม่ ที่แข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ. -
ทีมข่าวพิเศษ - |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ชมร.เชียงใหม่
ทำเซอร์ไพรส์ ทำบุญก่อนตาย ๕ วันรวดชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทยสาขาเชียงใหม่ (ชมร.ช.ม.) ได้แจกอาหารมังสวิรัติฟรี ให้แก่ลูกค้า ที่มารับประทานอาหารที่ร้าน อีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ ๑๔ ซึ่งมีการแจกฟรีติดต่อกันอีก ๔ วันรวม ๕ วัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๙ ธ.ค. ถึงวันศุกร์ที่ ๑๓ ธ.ค.๔๕ หลัง จากแจกฟรีตั้งแต่วันที่ ๕-๖ ธ.ค.๔๕ แล้วหยุดเสาร์-อาทิตย์ (๗-๘ ธ.ค.) แม่บัวหลวง มณีกูล สมาชิกชมรมผู้อายุยาว มีความประสงค์ที่จะทำบุญตายก่อนตาย ให้กับตัวเอง ในวาระอายุครบ ๘๐ ปี ในปีใหม่ ที่จะถึงนี้ แต่เมื่อได้มาเห็นการแจก อาหารมังสวิรัติฟรี แก่ลูกค้าที่ ชมร.ช.ม. ครั้งที่ ๑๓ ในวันศุกร์ที่ ๖ ธ.ค.๔๕ โดยมีญาติธรรม เป็นเจ้าภาพ จึงได้ตัดสินใจที่จะเป็นเจ้าภาพโรงบุญฯ เพื่อเป็นการทำบุญตายก่อนตาย ให้กับตัวเอง คณะกรรมการบริหาร ชมร.ช.ม.และทีมงานปรึกษากันแล้วมีมติว่า ให้แจกฟรี ๕ วันติดต่อกัน และกราบนิมนต์ สมณะ จากภูผาฟ้าน้ำ มาโปรดจำนวน ๔ รูป นำโดย สมณะบินบน ถิรจิตโต ซึ่งสมณะทุกรูป ได้ให้สัมมาทิฏฐิแก่เจ้าภาพ และบุตรหลาน พร้อมด้วยสมาชิก ชมรมผู้อายุยาวและ ญาติธรรม ที่มาร่วม ฟังธรรมกัน จนเต็มห้อง (โกดัง) ในช่วงเช้า ของวันจันทร์ที่ ๙ ธ.ค. ที่ผ่านมา ถือได้ว่า แม่บัวหลวง เป็นต้นบุญ ในด้าน การทำบุญ ตายก่อนตาย เป็นตัวอย่างให้ กับชาวเชียงใหม่ ทำให้ ชมร.ช.ม.มีผล ผลอยได้จัดโรงบุญฯติดต่อกันอีก ๕ วัน โดยเริ่มแจกระหว่างเวลา ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. โดยปกติท่านอาจารย์ ๑ สมณะบินบน ถิรจิตโต ได้มาโปรดชาว ชมร.ช.ม.ทุกวันจันทร์ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ดังนั้นในวันจันทร์นี้ ชาว ชมร.ช.ม. จึงโชคดี ได้ฟังธรรมกัน ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ขณะแจกอาหาร ก็มีนักร้องอาสาสมัคร จากชมรมผู้อายุยาว สมาชิกในร้าน รวมทั้งลูกค้า ช่วยกันร้องเพลงขับกล่อม เป็นการฉลอง โรงบุญฯครั้งนี้ วันอังคารที่ ๑๐ ธ.ค.๔๕ สมณะพอแล้ว สมาหิโต นำทีมสมณะจากภูผาฟ้าน้ำมาโปรด อีกครั้ง สำหรับคำถาม ที่พบบ่อย ได้แก่ แจกฟรีอีกแล้วหรือ? ใครเป็นเจ้าภาพ? แจกไปทำไม? ถ้าผมจะทำบุญอย่างนี้จะได้ไหม? จะใช้งบประมาณเท่าไร? ผมละอาย ที่จะกินฟรี ขอทำบุญด้วย จะได้ไหม? ในการจัดโรงบุญฯ ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือ จากชาวคอร์ส (course) มหัศจรรย์ รุ่นศีลปรึกษา และรุ่นชัดเจน จากภูผาฟ้าน้ำ ทำให้การบริการ เป็นไปอย่างราบรื่น เป็นอย่างดี สมาชิกในร้าน ต่างให้บริการ อย่างเบิกบานแจ่มใส "จิตที่คิดจะให้ สบายกว่า จิตที่คิดจะเอา" เป็นจริงโดยแท้ หลังจากจัดงานบุญตายก่อนตายของ แม่บัวหลวงแล้ว แม่ใบจริง นาวาบุญนิยม ก็ขอทำบุญเป็นศพเป็นๆ รายต่อไป อีก ๑ สัปดาห์ คือตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๑๖-วันศุกร์ ที่ ๒๐ ธ.ค.๔๕ โดยในช่วงเช้า จะมีสมณะจากภูผาฯ มาบิณฑบาต ประมาณ ๔ รูป ก่อนฉัน ก็เป็นการแสดงธรรมหน้าศพเป็น คือ เจ้าภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ มิใช่ศพคนตายเหมือน งานทั่วๆไป การทำบุญเช่นนี้ เป็นการทำบุญตายก่อนตาย และเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุไปโดยปริยาย เพราะการแจก อาหารมังสวิรัติ เป็นการช่วย ให้ชีวิต หรือให้อายุสัตว์ และมนุษย์ให้รอดตาย และปลอดภัย เพราะอาหาร ที่ทำแจก ล้วนเป็นพืชผักไร้ สารพิษเป็นหลัก ที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ และปลูกเอง จากการทำบุญ ก่อนตายดังกล่าว มีผลให้ญาติธรรมและลูกค้าของชมร.ช.ม.เกิดจิตศรัทธา ขอจองทำบุญ ตายก่อนตาย ไปจนถึง ต้นปีหน้า ซึ่งทางชมร.ช.ม.จะเปิดร้านในวันที่ ๖ ม.ค.๔๖ การจองวันทำบุญ ตายก่อนตายที่ ชมร.ช.ม.มีอัตราการจองทั้งร้านเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาทต่อวัน ซึ่งแจกเฉพาะลูกค้า ที่รับประทาน อาหารในร้าน นอกจากนี้ ยังให้จองเป็นแผนก ไม่ว่าจะทำบุญวันเกิด วันตาย หรือทำบุญ ให้กับตัวเอง และผู้มีพระคุณ ได้แก่ พ่อแม่ เป็นต้น หากใครสนใจ ก็ติดต่อสอบถาม รายละเอียดได้ที่ ชมร.เชียงใหม่ โทร.๐-๕๓๒๗-๑๒๖๒ ผู้สื่อข่าวอโศก ได้มีโอกาสร่วมงานศพ ทำบุญตายก่อนตายครั้งนี้ ได้ฟังสมณะ จากภูผาฯเทศน์หน้าศพ ที่เป็นเจ้าภาพว่า คนเราตายอยู่ ทุกเวลานาที งานศพวันนี้ก็เป็นการจัดงานศพให้กับตัวเอง เมื่อวานนี้ ที่ตายไปแล้ว ซึ่งจะมีโอกาส ได้เห็น ญาติสนิท มิตรสหาย ที่มาร่วมงานได้ฟังธรรม ได้ระลึกถึง ความดีของตนที่ผ่านมา จากการเทศนาของสมณะ ได้เจริญ มรณัสสติ ได้ดำเนินชีวิต ในการทำความดีต่อไป ด้วยความไม่ประมาท ในวัยและชีวิต แม่บัวหลวง ผู้เป็นต้นบุญ ให้สัมภาษณ์ว่า "ได้ทำบุญตายก่อนตายแล้ว รู้สึกจิตใจโล่งโปร่ง เบาสบาย จะตายวันไหน ก็ไม่เสียใจ ประทับใจที่ญาติธรรมและลูกหลานได้มีโอกาสฟังธรรม(สวดงานศพของตนเอง) ประทับใจสมณะ ที่มาโปรด ชีวิตนี้ ขอมอบให้ศาสนา จนกว่าจะตาย เดี๋ยวนี้เราเป็นศพเดินได้ จะทำบุญไปเรื่อยๆ จนกว่าวิญญาณ จะออกจากร่างไป" แม่ใบจริง ซึ่งฟังธรรมหน้าศพตัวเอง โดยมีลูกสาวนั่งอยู่เคียงข้าง กล่าวว่า "รู้สึก ซาบซึ้งจนน้ำตาไหล เป็นความรู้สึก ที่ไม่สามารถ บรรยายออกมา เป็นตัวหนังสือได้ ขอกราบและขอขอบพระคุณ สมณะและญาติธรรมทุกคน ที่ได้มีส่วนร่วม ในงานศพ ตายก่อนตาย ขอบคุณ นักร้องอาสาสมัครทุกๆคน ที่ร้องเพลง ด้วยใจ เพื่อฉลองงานศพเป็นๆ ของตัวเอง ชีวิตนี้สั้นนัก ตายวันนี้ ขอเกิดใหม่ เป็นใบจริง ให้ได้จริงๆ ในชาตินี้" ต่อไปนี้เป็นความรู้สึกของลูกค้าที่มารับประทานอาหารฟรี ซึ่งชาวเราถือว่า เป็นการมาร่วมบุญ ดังนี้ นายอนันต์ ปัญญากาศ อายุ ๕๕ ปี จ.เชียงใหม่ "ได้รับบริการจากสานุศิษย์ของท่านโพธิรักษ์แล้ว มีความประทับใจ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ คุณแม่ใบจริง ที่มีกุศลจิต ในการทำบุญ อุทิศอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ในการดำรงชีพ ของมนุษย์ บริการแก่ ผู้มาใช้บริการ ในวันนี้ นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดี อันแสดงถึงความปรารถนาดี ของศาสนาพุทธ ให้ให้ทาน แก่บุคคลทั่วไป แล้วเกิดความปีติ เป็นสุข ซึ่งคงจะเหมือนโรงเจ หรือโรงทาน ในประเทศไต้หวัน จะมีผู้บริจาคอย่างนี้ เป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือนๆ หวังว่าคงมีผู้มีจิตศรัทธาอย่างนี้อีก ต่อๆไป". งานศพ
ศพแรก แจกอาหาร แม่บัวหลวง เบิกบาน ยิ้มสดใส จัดงานศพ
ที่ร้าน ชมร. ทำโรงบุญฯ ถักทอ ร่วมประสาน แม่ใบจริง
ศพที่สอง จับจองต่อ ผู้ทำงาน ชมร. ช่วยเกื้อหนุน งานศพ
ส่งวิญญาณ งานก่อนตาย ได้ฟังธรรม สาธยาย ก่อนหลับใหล เห็นจิตใจ
เห็นวิญญาณ ให้ทานแท้ ยิ่งแน่วแน่ มั่นใจ ในกุศล การทำบุญ
ก่อนตาย ไม่ต้องอุทิศ ทำขณะ มีชีวิต จึงไม่สาย ใครกินข้าว
ได้รสลิ้ม อิ่มผู้นั้น มิอาจแบ่ง ให้ปัน กันอิ่มหนำ วัฒนธรรม
ทำงานศพ พบความจริง เป็นศพที่ ไม่หยุดนิ่ง ยิ้มสุขี สละทรัพย์
สละแรง ลดกิเลส ลดต้นเหตุ ความขัดแย้ง แสวงหา ช่วยสร้างเสริม
สืบสาน วัฒนธรรม การทำบุญ เกื้อหนุนกรรม ที่สร้างสรร หลังงานศพ
ยังมี ชีวิตอยู่ คือศพที่ เรียนรู้ สู่จุดหมาย หลังงานศพ
ยังมี ชีวิตอยู่ ศพเดินได้ จะเรียนรู้ สนับสนุน |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ผู้ที่ชอบคบคุ้นสนิทสนมกับความโกรธ ความเพ่งโทษ ความพยาบาทมาดร้ายทั้งหลายโปรดทราบเถอะว่า ท่านกำลั งฆ่าตัวตาย แบบผ่อนส่ง นอกจากตนเองจะเดือดร้อน เป็นคนแรกแล้ว ยังส่งผลทำให้ผู้อื่นพลอยเดือดร้อนไปด้วย เรียกว่าทำบาปหลายต่อ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยล่ะ บาปจะทบเท่าทวีคูณ ตามความแรงแห่งอารมณ์ และได้มีการวิจัย กันมานานแล้วว่า อารมณ์ตระกูลโทสะนั้นเป็นสาเหตุของโรคทางกายและทางใจหลายโรค เช่น ความดัน โลหิตสูง แผลในกระเพาะ อาหาร โรคประสาท โรคจิต มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วย เพราะขณะ อารมณ์แห่ง โทสะเกิด จะทำให้ร่างกาย หลั่งสาร แอดรีนาลินออกมา ซึ่งมีโทษสมบัติคือ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรง เส้นเลือดฝอย ทั่วร่างกาย หดตัว ทำให้ความดัน เลือดสูง เป็นเหตุทำให้เส้นเลือด ในสมองแตกได้ เป็นผู้ให้กำเนิด เจ้าหญิง หรือเจ้าชายนิทรา ยังไงละคะ และเมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้พบอีกว่า ถ้าฮอร์โมนนี้ถูกขับออกมาบ่อยๆ จะทำให้เซลล์ของสมองตายไป และทำให้สมองเสื่อมอย่างรวดเร็ว โรคนี้ร้ายแรงนักไม่มียารักษา จิตใจจะอ่อนแอลง ความจำเลอะเลือน เปลี่ยนบุคลิกภาพ ไปเป็นเด็ก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัญญาชน ทั้งหลายจึงควรอย่างยิ่งที่จะมาลด ละ เลิก อารมณ์ตระกูลความโกรธ ความเศร้า ความเครียด เพ่งโทษ ถือสา ให้น้อยลงๆจนหมดไปเลยได้จะดีที่สุด ให้สมกับเป็นนักรบแห่งกองทัพธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้ตรัสสอนไว้ เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว แต่ยังทันสมัยจนทุกวันนี้ว่า "บุคคลฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่เศร้าโศก" เมื่ออยู่เป็นสุขและไม่เศร้าโศก ได้แล้ว ก็น่าจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้อายุยืนยาว ไว้ป่าวประกาศ พุทธศาสนา เผื่อคน อีกหลาย ยังไงละคะ. |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สัมมนาคุรุ-นิสิต
สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ ธ.ค. ๒๕๔๕ มีการสัมมนา "วังชีวิต" ครั้งที่ ๑ ณ วิชชาเขต ราชธานีอโศก มีสมณะคุรุ-สิกขมาตุคุรุ, คุรุ และนิสิตวังชีวิตทุกวิชชาเขต ๖ แห่ง ร่วมสัมมนา รวมคุรุ ๑๙ คน และนิสิต ๑๒๒ คน ที่เฮือนศูนย์สูญ การสัมมนาเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๐๔.๐๐ น. ด้วยการฟังธรรมจากพ่อท่าน ในเรื่อง "ความสำคัญของอุดรศึกษา ที่ลึกซึ้งสำหรับมนุษย์" พ่อท่านได้อธิบายขยายความแตกต่างของการเป็นคนวัด กับการเป็นนิสิต มีผลแตกต่างกันอย่างไร นิสิตคือผู้ที่อยู่ในการศึกษา แม้แต่สมณะ-สิกขมาตุก็เป็นนิสิตเหมือนกัน และวันที่สองพบกับพ่อท่านอีกครั้ง "ทำไมคนจะต้องเป็นนักศึกษา" พ่อท่านได้อธิบาย ถึงการศึกษา ของชาวอโศก เป็นการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเอง สู่การพ้นทุกข์ ถึงพร้อมทั้งประโยชน์ตนและท่าน ผู้ที่เป็น ชาวอโศกห้ามพลาดเด็ดขาด หาเท็ปฟังเอาเด้อ! หลังจากนั้นบริหารกาย ยืดเส้นยืดสาย แล้วโฮมแฮง (ร่วมแรง) ช่วยกันขนแผ่นยิบซั่มบอร์ดขึ้นเรือเกียข่วมฟ้า แล้วรวมตัวกันที่ชั้น ๒ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต กล่าวเปิดการสัมมนา เริ่มจากคุรุสุนัย เศรษฐบุญสร้าง อธิบายถึง วัตถุประสงค์ ของการสัมมนา เพื่อกำหนดแนวทาง ของสัมมาสิกขาลัย ให้บรรลุ ถึงปรัชญาการศึกษา ของสถาบัน "ศีลเด่น (โลกุตระ มีการฟังธรรม)-เป็นงาน (โลกา-นุกัมปายะ การปฏิบัติงานในฐานงาน)-ชาญวิชา (โลกวิทู เรียบเรียง ความคิด เป็นรายงาน อย่างมีหลักการ ซึ่งเป็นปัญหาของนิสิต)" การสัมมนายึดหลักพุทธพจน์ ๗ เริ่มกระบวนการกลุ่มช่วงที่ ๑ "สาราณียะ" ความประทับใจ ของการเป็นนิสิตวังชีวิต โดยแยกกลุ่ม แต่ละวิชชาเขต เพื่อแบ่งกลุ่ม ออกเป็น ๘ กลุ่ม ปลุกวิญญาณ ของนิสิต แต่ละคน ด้วยการฝึกใช้สมองซีกขวา แปรความประทับใจ ของทุกๆคน ลงเป็นรูปภาพรวมกัน แล้วพัก รับประทานอาหาร รวมกลุ่มอีกครั้ง โฮมแฮงขนสินค้างานตลาดอาริยะลงจากรถ ๑๐ ล้อ เพื่อ ขับไล่ความง่วง แล้วแต่ละกลุ่ม ส่งตัวแทนออกมา นำเสนอภาพความประทับใจ พร้อมอธิบายกลุ่มละ ๔ นาที ภาพรวมทั้ง ๘ กลุ่ม ล้วนถ่ายทอด ถึงความอบอุ่น ในสังคมบุญนิยม ที่ประกอบไปด้วย บ้าน-วัด-โรงเรียน กระบวนการกลุ่มช่วงที่ ๒ "ปัญหาและสาเหตุ" ทุกข์/สมุทัย) ของการเป็นนิสิตฯ เช่นเดิมแปรปัญหา เป็นรูปภาพ แล้วส่งตัวแทน ออกมานำเสนอภาพรวม พร้อมคำอธิบายกลุ่มละ ๔ นาที หลังจากนั้น SWOT ANALYSIS และร่วมกันกำหนดเป้าหมาย (นิโรธ) วังชีวิต มีจุดอ่อน-จุดแข็ง อย่างไร ทั้งปัจจัยภายใน และภายนอก เพื่อเสริมจุดแข็ง และแก้ปัญหาจุดอ่อน สรุป ปัญหาที่ทุกคน เห็นด้วยมากที่สุดได้ ๕ ข้อ ตามลำดับคะแนน คือ ๑.ไม่มีระบบการจัดการที่ดี ๒.ขาดความรู้ ๓.ศีลด่างพร้อย ๔.สวมหมวกหลายใบ ๕.สับสนสถานะม.วช. (จะเป็นม.วช. ต่อ ดีหรือไม่) โดยแบ่งกลุ่ม ตามความสนใจของปัญหา ร่วมกันหาสาเหตุ และหาแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาข้อที่ ๑ นิสิต ได้นำเสนอ การแก้ปัญหา ด้วยการจัดตั้งสภานิสิตฯ ซึ่งพ่อท่านก็เห็นด้วย และในช่วงนี้ พ่อท่าน -สมณะคุรุ -สิกขมาตุคุรุ และคุรุ ได้ร่วมนั่งฟัง พ่อท่านได้ให้โอวาท ปิดการสัมมนาครั้งนี้ว่า "ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พวกเราได้ช่วยกัน คนละไม้ คนละมือ มาถึงวันนี้ เราก็ค่อยๆเคลื่อนตัว ขึ้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เรื่อยๆ อาตมาทำอย่างนี้ โดยเจตนาว่า เราจะต้องก่อจาก ความไม่มีอะไร แล้วมาเป็น ของเราเอง ถ้าไปเอาโครงสร้างทางโลก ตั้งเป็นแบบเสียก่อน เท่ากับ เราถูกกำหนด อุดรศึกษาของเรา เกิดมาจากศูนย์ หลายคน พยายามที่จะดึง เอากรอบ ของทางโลกมา อาตมาตีทิ้งเรื่อย โดยไม่บอก ก็เป็นผลสำเร็จ ค่อยๆเข้าใจ จนถึงวันนี้ ก็ค่อยๆ ก่อรูปร่างขึ้นมา การศึกษาของเรา จะไม่เหมือนกับข้างนอกเขา มีประเด็นปัญหาว่าเราไม่มีวิชาที่ชัดเจนเหมือนกับทางโลก ที่บางคนไม่ได้เรียนคณะที่ตัวเอง อยากจะเรียน แต่เรียนตามคะแนน ที่สอบได้ หรือที่ทางบ้าน ต้องการ ซึ่งตรงนี้ ไม่เป็นสัจจะ ไม่เป็นธรรมชาติ ทำไมอาตมา ตั้งคณะพุทธชีวศิลป์ ขึ้นมาคณะเดียว ซึ่งคณะนี้ จะแจกแจงโดยสัจจะ ทุกเขต ก็คณะพุทธชีวศิลป์ แต่ภูมิประเทศ ของแต่ละที่ -การงาน-ประเพณี-จิตใจก็ไม่เหมือนกัน สรุปแล้ว ผู้ที่อยู่ในโซนไหน ก็แล้วแต่ ตัวเองก็จะเลือกงานที่ถนัด ยกเว้น คนที่จับจด เราต้องรู้ว่า เราต้องการฝึกฝนอะไร มหา-วิทยาลัยปิดบางแห่งย้ายคณะไม่ได้ แต่ของเราย้ายง่าย อาตมาว่า ข้างในให้อิสระ มากกว่า อยู่ที่เราเข้าใจ แต่อย่าไป เอาความเข้าใจ และความรู้สึกอย่างโลกๆ มากำหนดเรา เราต้องกำหนด ตัวเราเอง วังชีวิต ตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ปีนี้เข้า ปีที่ ๗ ที่จริงการศึกษาไม่มีจบหรอก เราศึกษาเพื่อจะเสริมชีวิต มนุษย์ต้องมีการศึกษา อย่างมีระบบ มีการขวนขวาย การศึกษา จึงไม่ได้มุ่งไปที่ ความสำคัญของคุรุ แต่ความสำคัญอยู่ที่ ตัวนักศึกษา ที่ใฝ่รู้ ใฝ่การศึกษา พวกเราจะเป็นต้นแบบ การศึกษาแบบนี้ แล้วจะเป็นรูปใหม่ ไม่ใช่แบบที่เป็นกันทั่วโลก ซึ่งอยู่ในรูปเดียวกัน หมดแล้ว ซึ่งล้มเหลว เพราะไม่ได้มา รับใช้สังคม แต่มาทำร้ายสังคม แต่การศึกษา ที่พาทำนี้ ออกมาช่วยสังคม เพราะมีรากฐาน ของจริยธรรม-คุณธรรม เป็นแกน เป้าหมายหลักของเรา คือจบแล้วเป็น โสดาบัน ซึ่งคะแนนทางด้านศีลเด่น จะมากถึง ๔๐ % ถ้าไม่เป็น อย่างนี้แล้ว มนุษยชาติไปไม่รอด ทุกวันนี้ สังคมขาดแคลนคุณธรรมลงไปทุกวัน จึงไป ไม่รอด เพราะฉะนั้น ต้องสร้างคุณธรรม" สำหรับผู้เข้าสัมมนาได้ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกครั้งนี้ ดังต่อไปนี้ คุรุสุนัย เศรษฐบุญสร้าง "ปีหนึ่งนิสิตวังชีวิตต้องมารวมกันอยู่แล้ว เพื่อมาเตรียมงานปีใหม่ แต่ละปีช่วง ที่นิสิตได้พบปะ ทำกิจกรรม ร่วมกัน ก่อนจะเริ่ม เตรียมงานปีใหม่ ปีนี้ก็เลยคิดว่า ในเมื่อมีโอกาส พบปะกันทั้งที ก็ถือโอกาส จัดในรูปของการ สัมมนา โดยใช้ขบวนการกลุ่มมาช่วย เพื่อทบทวนดูว่า มีปัญหาอะไรมั้ย จะได้วางแนวทาง พัฒนาวังชีวิตต่อไป จากสัมมนา ซึ่งรวมกันหลายแห่ง ก็ได้เห็นปัญหา ในภาพรวมมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การแก้ไข คุรุคงต้อง จัดวางแนวทาง จัดระเบียบ เพื่อแก้ไข ปัญหาอีกที" คุรุสมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ "ดูทุกคนให้ความร่วมมือดี มีความเป็นพี่เป็นน้อง คุ้นเคย แล้วก็แต่ละคน ตั้งใจร่วมกิจกรรม เลยมา มองว่า เอ๊ะ!..ปัญหาคืออะไร จริงๆแล้ววังชีวิต ถ้าแยกกันดู ที่มาที่ไปแล้ว วังชีวิต มีอยู่ ๓ ระดับ ๑.เป็นอาริยชน ๒.เป็นกัลยาณชน ๓.เป็นปุถุชน ๓ รูปแบบนี้อยู่ด้วยกัน ก็ต้องมีอะไรหลายอย่าง ซึ่งบางครั้ง ใช้ภาษากันคนละอย่าง หรือ พฤติกรรม คนละแบบ เราเองคงต้องทำความเข้าใจว่ามี ๓ แบบนี้เข้ามา แล้วเราจัดการเขาในระดับไหน แต่แน่นอน เส้นทางมาตรฐาน ต้องมี เพียงแต่ว่า คนที่ต่ำกว่า ก็ต้องให้ความรู้เขา ให้เขาเห็นคุณค่า แล้วช่วยกัน ให้เขาเดินทิศทางนี้ ด้วยจิตที่เขาเห็นคุณค่า ไม่ใช่บังคับฝืนใจ เติมปัญญาให้ ที่นี่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี เพียงแต่ว่าบางคนอึดอัด เพราะว่า ไม่เห็นประโยชน์ แล้วเราคงต้อง มองพวกที่ฐานต่ำกว่า ให้เขาได้เห็นประโยชน์ อันนี้ขึ้นมา ก็จะดีขึ้น ส่วนพวกที่ฐานสูงขึ้น ก็ไม่ต้องกังวล ก็ให้เป็นผัสสาหารไปเลย ผัสสะเป็นอาหารให้เขาฝึกฝนไป ก็คิดว่าช่องว่างนี้ ช่วยกันเกลี่ย ช่วยกันทำ ช่องว่างนี้ ก็จะลดไป ก็จะอยู่กันด้วยความสุข" คุรุฝนไท ชาวหินฟ้า "ได้เห็นความเป็นพี่เป็นน้องของชาววังชีวิต ทั้งคุรุ-นิสิตรู้สึกว่ากลมกลืนกันดี กระบวนการของ ทีมงาน ของคุรุ ช่วยให้นิสิตได้ตรวจตัวเอง -ดูตัวเอง ได้เห็นแนวทาง ที่จะก้าวไป ในเส้นทางของม.วช. ไม่ใช่ไปคนเดียว แต่ไปเป็น กระบวนการกลุ่ม ที่เข้มแข็ง และแข็งแรง ประทับใจธรรมะของพ่อท่าน โดยเฉพาะการศึกษาว่า เราจะเลือกทางไหน อยู่ที่นี่ ก็ศึกษาโลกุตระ แต่ข้างนอก โลกภายนอกบังคับให้เราต้องศึกษา พ่อท่านได้ชี้ให้เห็นว่า นิสิตจะเลือกศึกษาแบบไหน โลกุตระ และโลกียะ และชี้ให้เห็นการศึกษา แนวทางโลกุตระว่า พาไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต" นิสิตงามใบตอง นิลมณี เขตสีมาอโศก "ประทับใจทำวัตรเช้ามาก ขบวนการกลุ่มดีมาก ได้สัมพันธ์กันมากขึ้น ได้เห็น ความสามารถ ของนิสิตแต่ละคน แม้บางคน อายุจะมากแล้ว ก็มีความขวนขวาย อยากให้มีการสัมมนาปีละครั้ง เพื่อเพิ่ม วิสัยทัศน์ ได้ความรู้ ได้มนุษยสัมพันธ์ กับนิสิตต่างเขต เราเป็นนิสิต เพื่อช่วยเหลือสังคม" นิสิตหนึ่งเพียร รักพงษ์อโศก เขตปฐมอโศก "อบอุ่น ได้สัมพันธ์กับนิสิต ต่างเขต มีความเป็นพี่เป็นน้องกันมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก ในส่วนของตัวเอง อยากให้มีการสัมมนาอย่างนี้ทุกปี ในช่วงก่อนปีใหม่" นิสิตพอลล่า คีรีคำรณ เขตศาลีอโศก "ได้รู้องค์รวมของสัมมาสิกขาลัยทุกแห่ง ได้รู้ปัญหาของแต่ละเขตซึ่งก็คล้ายๆกัน ทำให้เรา กระจ่างขึ้น ถ้าเป็นไปได้ มีการสัมมนา ก็จะเป็นสิ่งที่ดีค่ะ" นิสิตวิลาสินี เกียสูงเนิน เขตศีรษะอโศก "สนุกดี ได้รู้จักพี่-น้อง เพิ่มขึ้น ทำให้คบคุ้นกันมากขึ้น ถ้าไม่ได้มาก็น่า เสียใจมากเลย พ่อท่านเทศน์ทั้ง ๒ วันด้วย ได้รับความคิดใหม่ ที่จะอยู่เป็น มว.ช. ต่อไป มีทุกปีได้ก็ดี ปัญหาที่มีอยู่ ได้รับการแก้ไขใจ หลังจาก ฟังธรรม จากพ่อท่านค่ะ" นิสิตป่าพุทธ นาวาบุญนิยม เขตราชธานีอโศก "ประทับใจครับ เห็นพี่น้องนิสิตมาร่วมกันมากมาย จริงๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก กับรุ่นน้อง ที่จะเข้ามา และพี่น้องที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งเราจะกำหนด เป้าหมายทิศทาง ที่จะดำเนินการศึกษา อย่างมีขั้นตอน ขอบคุณ คณะคุรุ ที่ทำให้มีการสัมมนาครั้งนี้ เกิดขึ้น" นิสิตพุดสามสี ศิรินาม เขตสันติอโศก "ประทับใจและตื่นเต้น เพราะมีนิสิตแต่ละที่มาเจอกัน ประทับใจ คุรุทั้งหมด ถ้าไม่มีอย่างนี้ ก็ไม่ค่อยมีโอกาส ได้พบ เจอกัน ได้ฟังธรรม จากพ่อท่าน ทำให้พลอินทรีย์เรา เพิ่มมากขึ้น". |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๑๙๗(๒๓๐) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ธ.ค.๔๕ เป็นฉบับส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไม่เอยถึงก็คงไม่ได้เสียแล้ว กับการส่งท้ายด้วยงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวเรา "งานตลาดอาริยะปีใหม่อโศก'๔๖" ที่บ้านราชฯ เมืองเรือ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธ.ค.๔๕ - ๑ ม.ค.๔๖ เพราะคึกคักเหลือเกิน วันก่อนเห็นนร.สัมมาสิกขา และญาติธรรม ทยอยมุ่งหน้า สู่ราชธานีอโศก เพื่อเตรียมงาน บรรยากาศของงาน คงมีรายละเอียด มานำเสนอในฉบับหน้า จิ้งหรีด ก็ขออนุโมทนาล่วงหน้า กับบุญกุศล ที่ทุกท่าน จะได้กระทำ ในครั้งนี้ด้วย พูดก็พูดเถอะ เห็นวัฒนธรรมการให้ของชาวเราแล้วก็พลอยชื่นใจ มีแต่ความยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้การให้ของเรา ดูครบพร้อม ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม งดงามจริงๆ โอมเพี้ยง!...หน้ายุ่งๆ คิ้วขมวดและอารมณ์ อันอ่อนไหว ที่พร้อม จะสำแดงฤทธิ์ (โทสะ) หากมีอะไรมาสะกิด จงหายไป...สาธุ ! ที่นี้วกกลับมาคุยเรื่องในแวดวงชาวเรากันต่อ บ่ยั้น...ควันหลงงานโรงบุญฯ ๕ ธ.ค.๔๕ ที่ท้องสนามหลวง ผัดกันสดๆ แจกกันพรึบๆ เส้นใหญ่(ก๋วยเตี๋ยวนะ ไม่ใช่ขาโจ๋ ที่ไหน) ก็หมดไปร่วม ๔๐๐ กก. การเตรียมงานก็ดี อาหารไม่ขาดช่วง แจกได้ตลอดเวลา ผู้รับก็แบ่งเป็น ๒ แถว คนแซงคิวน้อย เพราะพวกเราช่วยกันดูแลและชี้แจง แต่พอแจกไปได้พักใหญ่ เอ้าละซิ...ช้อนหมดเสียเนี่ย ยืมข้างร้านก็หมดอีก คนที่ไปซื้อ ก็ยังไม่มา คิวผู้มารับบริการก็ต้องรอ จิ้งหรีดเกาะอยู่ใกล้ๆ ก็รอดูทีท่าว่าจะทำอย่างไรหนอ แล้วแม่ให้รายหนึ่ง ก็พลันทำท่า ปูหนีบให้ทุกคนดู เห็นหลายคนหัวเราะ แต่ก็ทำตามอย่างสนุกสนาน พร้อมกับใช้นิ้ว คีบก๋วยเตี๋ยวผัด เข้าปาก แทนช้อน ไปด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง จิ้งหรีด ก็เลยลองบ้าง ฮึม!รสชาติดี ไม่ง้อช้อนก็ได้ ใครที่ได้ทานวันนั้น เห็นด้วยกับ จิ้งหรีด หรือเปล่า? ส่วนใครเป็นเจ้าของไอเดีย "นิ้วคีบเส้น" ตามไปถามเอาเองเถอะ ใบ้ให้หน่อย ก็ได้ว่า ชื่อเล่นขึ้นต้นด้วย "แห" ฮะ...จี๊ดๆๆ..... ความทุกข์ของ ม.วช....จิ้งหรีดได้ยิน ม.วช.ที่ศาลีฯคนหนึ่งเปิดใจกับผู้ใหญ่ว่า "ผมทุกข์ครับ ตั้งแต่เช้าเลย ผมเจอ ผัสสะเช้านี้ ผมเดินไปร้านค้า ไปส่งกุญแจรถคืน พอดี อาบอกว่า ช่วยเปิดปั๊มหน่อย(ครับ-ผมตอบ) พอดีคนขายไม่มี อาเลยยก ให้ผมช่วยขายเลย ผมบอกว่า ผมต้องกลับไปดูแลเห็ด อาบอกว่า ให้น้องดูแลให้ โอ้...อาจารย์ครับ จำได้แล้ว เปลี่ยนค่ายกล ให้เป็นค่ายมหัศจรรย์ ส่วนพี่กบ พยายามจะช่วยผม ไม่ให้ติดอยู่กับค่ายกลงาน พอดีน้องผู้ชายคนหนึ่ง เดินมา แล้วช่วย เติมน้ำมัน โดยเขารู้สึกว่า โอ้! พี่ชวาคนเดียวไม่ไหว บางช่วงรถมาเยอะ ผมเลยมีเวลา ให้กับตนเองครับ ช่วงปิดปั๊ม พักทานข้าว งานก็เข้ามาอีก ป้าให้ขับรถไปเอาข้าวเปลือก ผมก็รับงานนี้อีก ผมทำงานเสร็จ มีความรู้สึกทุกข์เสมอ ถาม ตัวเองว่า ทำไมเราไม่อยู่กับปัจจุบัน ผมเดินกลับมาที่ห้องทำงานคือโรงเห็ด ผมนั่งลง รู้สึกทุกข์ ตอนนั่งมีความรู้สึกว่าไหนจะเรื่องเห็ด ไหนเรื่องค่ายกลงานจร ไหนจะมีเวลา ให้กับตนเอง ทุกข์ครับ นึกถึงคำสอนของอาจารย์ ก็เลยรู้สึกว่า เราต้องอยู่กับปัจจุบัน ผมก็ทำทีละอย่าง จนทำให้ ออกจาก ค่ายกลความคิด ตนเองได้ ช่วง ๓ ทุ่มแล้ว ผมเข้าหาผู้รู้คือ พี่กบ ผมไม่ได้ถูกบังคับอะไรจากใคร แต่จิตสำนึกมันต้องหัดขัดใจใ นสิ่งที่ไม่ยินดี ขนาดสร้าง ความยินดี ผมรู้ตัวว่า ไม่เต็มร้อย ก่อนนอน นิสิตคุณยายไปล่ ขอให้ไปช่วยรดน้ำหอมกับกระเทียม ที่เตรียมไว้ สำหรับงานพุทธาฯ ผมก็บอกว่า 'ครับ' ตอนนี้ฐานเห็ดไม่มีใครอยู่ นั่งคิดแล้วทุกข์ครับ เช้านี้ตื่นขึ้นมาเก็บเห็ด รดน้ำเห็ด และไปหายาย แล้วกินข้าว เดินทางไปสวน รดน้ำหอม-กระเทียม ผมเห็นยายโย้งแล้ว รู้สึกสงสาร ยายทำงานกลางแดด จนเป็นลม ผมเห็นน้ำใจของยาย ที่มีต่อลูกตัวเอง" นี่คือ วิถีชีวิตของ ม.วช.คนหนึ่ง ที่กำลังฝึกตน ให้หลุดพ้นจากทุกข์ ขณะทำงาน จิ้งหรีดขอคารวะ ด้วยน้ำใบบัวบก ๑ เหยือก (สงสัย ๑ จอก จะไม่พอไงฮะ) สาธุ...จี๊ดๆๆ..... ทำบุญก่อนตาย!...แพล็บเดียว โรงบุญฯ ของ ชมร.ช.ม.ก็คว้าบุญไปแล้วเป็นครั้งที่ ๑๘ แต่ครั้งนี้แปลกกว่าใคร ตรงที่ "แม่บัวหลวง มณีกูล" เจ้าภาพขอทำบุญตายก่อนตายให้กับตัวเองแจกอาหารที่ปราศจากคาวเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ และ ไร้สารพิษต่อคนถึง ๕ วันซ้อน งานนี้ชาว ชมร.ช.ม.ปิ๊งไอเดียนี้ จนเกิดวัฒนธรรมใหม่ต่อเนื่อง มีรายต่อๆไป ด้วย สโลแกน 'กระจายบุญ อบอุ่นใจในธรรมทำบุญตายก่อนตาย' ยิ่งว่าเป็นโรงบุญฯด้วยละก้อ ชาวเหนือของเราทำกันอย่างประณีตและเต็มกำลัง อาหารที่บริการฟรีมากมายหลายชนิด วันนี้ ขอยกพื้นที่ ให้รายการอาหารสักหน่อย...ข้าวกล้อง ข้าวผัด แกงเหลือง แกงบอน แกงส้ม พะโล้เต้าหู้ แกงฟักเขียว แกงหน่อไม้ดอง แกงจืดผักกาดดอง แกงจืดมะระ แกงผักปั๋ง ยำวุ้นเส้น เต้าหู้ลาบเมือง ปลากระป๋องเจ ปลาดุกเจทอด ผักป่าเทมปุระ ซุปงาดำ ส้มตำ ตำแตง ที่ตำกันสดๆ ทุกชนิดตามสั่ง (โดยแม่ครัวจากอุทยานบุญนิยม ราชธานีอโศก) จำพวกเส้น ก็ไม่น้อยหน้า ขนมาทั้งก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวน้ำสารพัดเส้น สุกี้ยากี้ ขนมจีนน้ำยาป่า-น้ำยาปักษ์ใต้ สลัดผัก สมุนไพร ผลไม้หลายชนิด ของหวาน ฯลฯ การเตรียมและทำงานก็ราบรื่น เรียบร้อย ไร้ปัญหา ไม่น่าเชื่อว่า จบปีนี้ชาว ชมร.ช.ม. จะจัดโรงบุญฯได้อย่างน้อยๆ ๑๘ ครั้ง ทุกคนก็เบิกบานแจ่มใส จิตใจก็เจริญไปมากเมื่อเทียบกับแต่ก่อน (มีแต่ยิ้มเย็น ไม่มีแยกเขี้ยว) เป็นการบุกเบิก วัฒนธรรม ของการให้ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือ เป็นอย่างดี จากสมาชิก ญาติธรรม และผู้เข้าหลักสูตร"มหัศจรรย์"หลายๆรุ่น สาธุ... จี๊ดๆๆ..... ลูกกตัญญู...หลังกลับจากไปเข้าคอร์สที่ภูผาฟ้าน้ำหมาดๆ ก็เกิดความมหัศจรรย์ขึ้นที่บ้าน หลังจากกราบพระ เตรียมเข้านอน พลันคุณแหม่ม ก็ไปกระซิบ ข้างหูคุณแม่ว่า "แม่จ๊ะ วันนี้แหม่ม อยากทำความดีนะ ขอกราบเท้าแม่นะจ๊ะ" ว่าแล้ว ก็ลงไปกราบ และจับเท้าคุณแม่ พอลุกขึ้น คุณแม่ก็เรียกเข้าไปกอดแล้วบอกว่า "ขอแม่กอดลูกหน่อย" ซึ่งเท่าที่เธอ จำความได้ คุณแม่จะกอดเธอ น้อยครั้งมาก แต่วันนี้ท่านกอดไป ร้องไห้ไป ทำให้เกิดความซาบซึ้งใจ ต่อหัวใจลูก อย่างบอกไม่ถูก "สิ่งที่ท่านโพธิสิทธิ์ ได้อบรมชี้แนะ แหม่มก็พยายามระลึกถึงอยู่เสมอ ที่กราบเท้าคุณแม่ได้ เพราะคำพูดของท่าน จึงกล้า ที่จะแสดงออก" คุณแม่ร้องไห้ และพูดต่อว่า "แม่เห็นลูกเป็นคนดี แม่ตั้งใจจะไม่ทำผิดอีก แม่จะไม่ไปทำอย่างนั้นอีก" แล้วสองแม่ลูก ก็กอดกัน ร้องไห้ "เป็นบรรยากาศที่นึกไม่ถึงจริงๆเลยคะ แหม่มจำได้ ครั้งแรกที่นิมนต์สมณะ มาเป็นสมณะเกจิ ประจำกลุ่มศีล ๘ ท่านก็บอก ให้กราบคุณพ่อคุณแม่ แต่แหม่มยังไม่กล้า เพื่อนๆก็ให้กำลังใจ แต่มาวันนี้ มีความกล้า ๑๐๐ % และตั้งใจ จะต้องกล้า และเลิกกลัว ในสิ่งที่ไม่ควรกลัวค่ะ" ...สาธุ ใครที่ยังทำไม่ได้ หรือบางทีละเลย ที่จะดูแลบุพการี ควรอย่างยิ่ง ที่จะดูเป็นตัวอย่าง กราบท่าน ตอนเป็นๆนี่แหละ แล้วจะได้อานิสงส์ อย่างคาดไม่ถึง ไม่เชื่อเย็นนี้ ลองทำดูเลยก็ได้...จี๊ดๆๆ..... ฮิตติดตลาด... ทำโยเกิร์ตพร้อมดื่มจากน้ำเต้าหู้จนฮิตติดตลาดที่อุทยานบุญนิยมบ้านราชฯกันมาแล้ว คุณกรักน้ำเพชร แสงงาม ก็ถูกขอตัวให้ไปเผยแพร่สูตรที่ปฐมฯ สันติฯ หลังงานมหาปวารณาก็ไปแพร่สูตรต่อที่ศีรษะฯ พร้อมกับดูแล สม.ผุสดี สะอาดวงษ์ ซึ่งปีนี้ ลงอารามที่นั่น มาถึงปลายปีแล้ว ป่านนี้ชาวศีรษะฯคงสุขภาพดีกันถ้วนหน้า ส่วนคุณกรักนั้น ไม่ต้องสงสัย ป่านนี้เก็บ "บุญ" ไปเพียบแล้ว...จี๊ดๆๆ..... ขอบคุณ...จ.ม.จากญาติธรรม น.พ.กัมพล ภูริวรางคกูล วัย ๕๐ เขียนมาขอบคุณชาว ชมร.ช.ม.ว่า "ผมป่วยด้วยโรค เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการหนักมาก ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ก็ได้อาหารธรรมชาติ จาก ชมร.ช.ม. มาช่วยเพิ่ม ภูมิต้านทาน และต่อสู้กับโรคร้าย นอกจากนี้ ยังได้รับกำลังใจ จากญาติธรรม หลายท่าน โชคดีที่ผม รับประทาน อาหาร มังสวิรัติมา ๘ ปีแล้ว ผลเลือดที่เจาะไปเช็ค ก็ได้ความสมบูรณ์ตามเกณฑ์ ไม่ขาดโปรตีน อย่างที่เพื่อนๆ หมอหลายคนเป็นห่วง หลอดเลือดหัวใจทุกเส้น ก็โล่งปราศจากไขมันอุดตัน จึงทนต่อการเต้น ของหัวใจ เพราะอานิสงส์ ของการกิน มังสวิรัติ มานานนี่เอง ท้ายนี้ต้องขอสำนึกดี แด่ผู้มีพระคุณทุกท่าน..." จิ้งหรีดรู้ข่าวมาว่า คุณหมอได้ออกทุนทรัพย์ จัดโรงบุญฯ ๕ ธ.ค. ที่ผ่านมาด้วย ก็ขออนุโมทนาบุญ ท้ายนี้ หวังว่าคุณหมอ จะหายป่วยไวๆ นะฮะ สาธุ... จี๊ดๆๆ..... ก่อนจากขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์งานฉลองหนาวธรรมชาติอโศก ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ ม.ค.๒๕๔๖ ณ ชุมชนภูผา ฟ้าน้ำ (ดอยแพงค่า) ๓๑/๑ หมู่ ๕ บ้านแม่เลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๕๐ งานนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ชาวอโศก ได้มาพักผ่อน ประจำปี หลังจากตรากตรำงานหนัก (ถึงหนักมาก)มาตลอดปี ทั้งจะเป็น โอกาส ที่จะได้พบปะ คบคุ้น และ สนทนา แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ภายใต้ธรรมชาติ แห่งขุนเขา และแมกไม้ นอกจากนั้น ท่านยังจะได้ฟังธรรม ชมกีฬาอาริยะ และได้ฝึก พึ่งตนเอง ด้วยการหุงหาอาหาร ตามธรรมชาติ โดยใช้พืชผัก จากป่าดอย สีข้าวด้วยมือ (หรืออาจจะพึ่งโรงบุญฯ ที่มีกลุ่ม หรือผู้ใจบุญ สมัครขอบริการฟรี) อากาศช่วงนี้จะหนาวมาก ฉะนั้นขอให้ผู้ที่จะมาร่วมงานได้จัดเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อมด้วย ส่วนการแข่งขันกีฬาอาริยะ(กีฬาที่ได้ออกกำลังกายอย่างมีสาระและคุณค่าต่อชีวิต) สำหรับงานนี้มีดังนี้ ๑.เก็บผัก(ป่า) ๒.หักฟืน ๓.ผ่าฟืน ๔.สีข้าวด้วยมือ ๕.ตักทราย ผู้สนใจจะตั้งโรงบุญฯบนดอย หรือสมัครเข้าแข่งขันกีฬาอาริยะ สามารถสอบถามรายละเอียด และสมัครได้ที่ คุณใบจริง นาวาบุญนิยม ชมร.เชียงใหม่ โทร.๐-๕๓๒๗-๑๒๖๒ ส่วนกำหนดการในแต่ละวัน
มีดังนี้ หมายเหตุ ในช่วง ๐๘.๐๐-๐๘.๔๕ น. สมณะออกบิณฑบาตในชุมชน เวลานอกจากที่กำหนด เป็นช่วงอิสระ ให้โอกาส พักผ่อน เดินป่าธรรมชาติ และสังสรรค์ ตามอัธยาศัย แล้วเจอกันในงานฉลองหนาวฯ
อย่างพร้อมเพรียงกันนะฮะ....จี๊ดๆๆ..... จิ้งหรีดปีเก่า |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
พระพยอม
เยี่ยมบ้านราชฯ เมื่อวันที่ ๑๗ ธ.ค. ๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๑๑.๔๕ น. พระพิศาลธรรมพาที หรือพระยอม กัลยาโณ แห่งวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี พร้อม ผู้ติดตาม มาเยี่ยมชุมชนราชธานีอโศก มีสมณะเดินดิน ติกขวีโร และสมณะดินไท ธานิโย รอต้อนรับอยู่ที่เฮือนโสเหล่ หลังจากนั้น ได้นิมนต์ท่านฉันภัตตาหาร เพล เมื่อฉันเสร็จแล้ว สมณะเดินดิน ติกขวีโร ได้นำไปชมบริเวณบุ่งไหมน้อย ที่มีเรือต่างๆ จอดอยู่มากมาย บ้านราชฯเมืองเรือ อยู่ติดแม่น้ำมูล จะประสบกับภาวะน้ำท่วม เป็นประจำ เรือจึงมีความจำเป็น ต่อที่นี่มาก และไปดูปลาสวายตัวโตๆ จำนวนมากมายที่ วังมัจฉา และพูดคุยให้ฟัง ถึงกิจกรรมหลักของ ที่นี่คืองานอบรม หลังจากนั้น ได้พาไปยังเฮือน ศูนย์สูญ พ่อท่าน ซึ่งเพิ่งฉันอาหารเสร็จ ได้ ลุกออกมาต้อนรับ พร้อมกับยกมือไหว้ ด้วยความอ่อนน้อม และบริเวณใต้เฮือนศูนย์ฯ นร.สัมมาสิกขา ทั้งระดับประถมฯ (สมุนพระราม) และมัธยมฯ บางส่วน พร้อมญาติธรรม ได้กราบนมัสการ พระพยอมได้แวะทักทายเด็กๆ อย่างเป็นกันเอง บริเวณเฮือนศูนย์ มีเสาปูนปั้นเป็น ต้นไม้มากมาย ซึ่งพระพยอมคิดว่าเป็น ต้นไม้จริง เมื่อทราบว่า เป็นต้นไม้ปูนปั้น ท่านก็ให้ความสนใจ เดินชมทั่วบริเวณชั้นล่างเฮือนศูนย์ฯ เนื่องจากท่านมีรายการ เทศน์ในจังหวัดอุบลฯ ถึง ๓ แห่ง จึงขอตัวกลับ พ่อท่านได้มอบหนังสือ ของชาวอโศก ให้กับพระพยอม และพระพยอม ก็ได้มอบหนังสือ ของวัดสวนแก้ว ให้กับพ่อท่านเช่นกัน หลังจากนั้น พ่อท่านสมณะและญาติธรรม ได้เดินไปส่ง พระพยอมที่รถตู้ ผู้สื่อข่าวอโศกรายปักษ์ ได้ขอโอกาสกราบเรียนสัมภาษณ์ถึงความรู้สึก ที่พระพยอมได้เดินทางมาบ้านราชฯ เป็นครั้งแรก "ที่นี่เป็นการย้อนยุคให้คนเราหันกลับมาใช้ชีวิตสมถะ ตอนนี้พวกที่ฟุ้งเฟ้อไร้สาระแบบเด็กในมหาวิทยาลัย ต่างๆ เขาแฉกัน แหลกว่า ใช้ชีวิตไร้สาระ ฟุ่มเฟือย ถ้าเรามีจุดตรงนี้ไว้เป็นการถ่วงดุล ต่อแต่นี้ไป พวกที่ส่งลูกไปเรียนแบบนั้น น่าจะฉุกคิดบ้างว่า ในชนบท ก็มีการฝึกอะไรที่ดีๆ เพราะว่าตอนนี้ หลายมหาวิทยาลัย เขาแฉว่า เด็กใช้เงิน ๗ หมื่นบาทต่อเดือน แย่! ประเทศไทย ไปไม่รอด ต้องเป็นอย่างอาร์เจนตินา แต่ถ้าเป็นอย่างที่นี่ จะอยู่รอดกับสถานการณ์ ถ้าเศรษฐกิจแย่ รบกัน อเมริกา กับอิรักรบกัน ที่นี่ก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้น จึงบอกว่า อยู่ถูกยุค แต่บางคน อาจจะมองเราว่า อยู่ผิดยุค". |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
"ชีวิตนี้น้อยนัก ขอสะสมบุญก่อนค่ะ" |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ค่ายจริยธรรมหนุ่มสาว รบธ. ในระหว่างวันที่ ๗-๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ น.ศ.กลุ่มรามบูชาธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดงานเข้าค่ายจริยธรรมหนุ่ม-สาว ขึ้นที่วังสวนฟ้า จ.สระแก้ว โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ในการจัดงานครั้งนี้ คือ ๑.
เพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติธรรม ในการอยู่ร่วมกันระหว่างการทำงานในกลุ่มรามบูชาธรรม การเข้าค่ายครั้งนี้มีผู้ร่วมงานประมาณ ๕๐ คน ประกอบด้วยนักศึกษาจากกลุ่มรามบูชาธรรม ๒๕ คน สมณะ ๔ รูป ซึ่งได้แก่ สมณะแก่นเมือง เกตุมาลโก สมณะนึกนบ ฉันทโส สมณะดาวดิน ปฐวัตโต สมณะมือมั่น ปูรณกโร สามเณร ชุบดิน วชินันท์ และ สิกขมาตุ ๑ รูป คือ สิกขมาตุนวลนิ่ม ชาวหินฟ้า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มหนุ่มสาวพลังชีวิต จากปราจีนบุรี กลุ่มบูรพาอโศก กลุ่มผู้ปกครองพุทธธรรม สันติอโศก กลุ่มคนของแผ่นดิน และชาววังสวนฟ้า บางกลุ่มบางคน ถึงแม้จะอยู่ ร่วมงานได้ เป็นบางวัน ก็ตาม แต่ทุกคน ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้การเข้าค่ายครั้งนี้ มีสีสัน และเต็มไปด้วย ความอบอุ่นทีเดียว ตลอดระยะเวลา ๓ วัน ๔ คืน ที่แต่ละคนได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ในพื้นที่ห้าร้อยกว่าไร่ ในแต่ละวัน ก็จะร่วมทำ กิจกรรมต่างๆ เริ่มตั้งแต่ การทำวัตรเช้า ออกกำลังกาย ลงฐานงานกสิกรรมภาคเช้า ฟังธรรมก่อนฉัน ลงฐานงานภาคบ่าย รอบกองไฟ และ นั่งเจโตสมถะ ซึ่งถือได้ว่า ได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ได้เรียนรู้ และมีความสุข กับการใช้ชีวิต ที่เรียบง่าย อยู่กับ ธรรมชาติ การตั้งตนบนความลำบาก ถึงแม้ว่า ที่นี่จะไม่มีแสงไฟ จากไฟฟ้า แต่ก็มีแสงเทียน แสงดาว และ แสงแห่งพลังศรัทธา ของทุกคน และถึงแม้ว่า ที่นี่จะไม่มีน้ำประปา แต่ก็มีน้ำจากสาระ และน้ำใจ ที่เกื้อหนุนให้แก่กันและกัน สำหรับความรู้สึกของผู้เข้าค่ายบางท่าน มีดังนี้ แม่เทียนดิน ทัศโน "รู้สึกดีใจ ตื้นตันใจที่มีวันนี้ หลังจากที่รอคอยมานาน เป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมบุกเบิกที่นี่มา ถึงแม้ว่าที่นี่ ไฟจะไหม้บ่อย แต่ก็จะไม่ถอย จะสู้ต่อไป จะสร้างที่นี่ให้เป็นแหล่งกสิกรรม แหล่งอาหารของพวกเรา อยากถวาย ให้พ่อท่าน ได้เห็น ก่อนที่พ่อท่าน จะจากพวกเราไป" บังดี น.ศ.รามคำแหง "รู้สึกประทับใจในการต้อนรับอย่างอบอุ่นของญาติธรรมชาววังสวนฟ้า ได้เห็นลุง ป้า น้า อาทุกท่าน ขยันทำงาน เสียสละ เรื่องส่วนตัว เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งหาดูเป็นตัวอย่าง ได้ยากมาก ในสังคมปัจจุบันนี้ ตัวผมเอง ต้องการสัมผัส กับชุมชนอย่างนี้มานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาส พอดีเพื่อนๆกลุ่มรามบูชาธรรมได้ชักชวน จึงถือโอกาส ขอเป็น ส่วนหนึ่ง เข้าไปช่วยเหลือชุมชน ตลอดระยะเวลา ๔ วัน ที่ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ มีความรู้สึกว่า ตรงกับอุดมการณ์ ของตัวเอง ที่วางไว้ โอกาสหน้า ถ้ามีกิจกรรมดีๆอย่างนี้อีก จะพยายามไปร่วมให้ได้ เพราะสัญญากับลุงทิวไม้ไว้ว่า วันนี้ ผมถากหญ้า ให้คุณลุงพลิกหน้าดิน วันหน้า ผมจะพลิกหน้าดิน ให้คุณลุงปลูกผัก ไร้สารพิษ" น.ส.บุปผา คะสุดใจ น.ศ.รามคำแหง ชั้นปีที่ ๓ คณะมนุษยศาสตร์ "ประทับใจ พวกพี่ๆ สถานที่ ซึ่งเป็นเหมือนแดนในฝัน ที่หาดูได้ยากขึ้นทุกวัน และแม่ๆอาๆ ที่พวกท่านเสียสละ ถึงแม้ที่นี่ จะไม่มีไฟฟ้า แต่จิตใจของทุกคน ก็ไม่มืดมิด ที่นี่มีความ ห่วงใย และผูกผันกับป่าไม้ และต้นไม้ที่ปลูก อยากจะบอกแม่ๆว่า ถึงแม้ไฟจะไหม้ป่า ไหม้ต้นไม้ของแม่ๆ แต่อุดมการณ์ และ ศรัทธาธรรม ของท่านทั้งหลาย ไม่ได้มอดไหม้ตามไปด้วย และอยากมอบบทกลอน เพื่อเป็นกำลังใจ ให้กับแม่ๆ ทุกคน ดังนี้ วังสวนฟ้าที่นี่ยังมีแม่
- กลุ่มรามบูชาธรรม รายงาน - |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
งานตลาดอาริยะ
ปีใหม่'๔๖
หมายเหตุ
บิณฑบาตร เวลา ๐๗.๐๐ น. |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คุณลุงลำพัน เป็นญาติธรรมเก่าแก่ของศาลีอโศก เป็นตัวหลักในการหุงข้าว, นึ่งข้าว เลี้ยงคนที่มาอบรม ในงานพุทธาฯ, งานอบรม ธ.ก.ส. ฯลฯ แล้วยังเป็นนักพูดอีกด้วย ไปรู้จักกับคุณลุงกันค่ะ *
ชีวิตแต่หนหลัง *
เริ่มชีวิตใหม่ ปฏิบัติเป็นญาติธรรมอยู่ ๒๔ ปี กินมังสวิรัติ ๑ มื้อ บ้าง ๒ มื้อบ้าง ยังไม่ลงตัว เมื่อก่อนพระเทศน์เกินเวลาแล้วหิว แต่วันนี้ เรื่องมื้อเดียว สบายมากครับ ลงตัวแล้ว กินตอนไหน บางทีกว่าจะได้กินข้าว ก็บ่ายโมง ก็ไม่ทุกข์ ผมเป็นพ่อครัวทำอาหาร ชิมแล้วต้องวาง ไม่ไปติดอกติดใจ ไม่ไปแอบเสพย์ เรื่องรสชาติอาหาร ก็ต่อสู้ได้ เบาว่างสบายมาก กินให้อิ่มแล้ว ก็แล้วกัน ตอนนี้สบายมาก *
สู่โลกุตระ *
อุปสรรค-ใกล้สวรรค์ ตื่นมาตั้งแต่เที่ยงคืน ตี ๑ ตี ๒ คนเดียวมาหุงข้าว มาเขียนบันทึก มาแต่งเพลงบ้าง กลางวันก็มีงานทำจนไม่มีเวลาง่วง หน้าทำนา ก็ช่วยทำนา-เกี่ยวข้าว มีงานอบรม ธ.ก.ส. ก็เป็นทั้งพี่เลี้ยง พิธีกร แสดงละคร หุงข้าว พาลงฐานงาน โอ๊ย.. ใส่หมวก หลายใบ มีโจทย์แต่ผ่าน เพราะไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ นอนหลับสบาย เพราะรู้แล้วว่า เขาต้องพูดอย่างนั้น ผิดก็ยอมรับผิด ขอโอกาส ปรับปรุงให้ดีขึ้น หากเรามัวแต่แก้ตัว ไม่มีวันจบ ปัญหาจะยาวออกไป จำที่พ่อท่านสอนว่า ถึงแม้เราจะถูกแต่เขาไม่เข้าใจเรา เราก็ต้องยอม หากเหตุผลเรา สู้เขาไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงเอาตรงนี้ มาปฏิบัติ มีแต่ความสุขลูกเดียว จนได้รับชื่อใหม่ว่า สวนสุข *
ญาติปริวัฏฏังปหายะ *
โจทย์ที่ต้องสู้ *
ฝากสุดท้าย บางครั้งสิ่งที่เราตั้งใจไว้ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะหมดโอกาส มีพญามัจจุราชมาแซงคิวเราไปเสียก่อน อย่าคิดว่า เรื่องที่เราตั้งใจไว้ จะได้ทำทุกเรื่อง ดังนั้น หากคิดจะทำดี ให้รีบทำทันทีนะคะ. บุญนำพา
รายงาน |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เปิดเทอมสมณะนวกะ พบอาจารย์ที่ลานนาอโศก ร่วมบิณฑบาตในเช้าวันที่ ๕ ธ.ค.๔๕ และร่วมฉันอาหารที่โรงบุญมังสวิรัติ ชมร.เชียงใหม่ และในวันที่ ๗-๙ ธ.ค.๔๕ ได้เข้าอบรมหลักสูตร อบอุ่น รุ่นที่ ๑ ณ ศาลาบรรพชนภูผาฟ้าน้ำ จุดประสงค์ ก็เพื่อจะได้มีโอกาส พูดคุยปรับทิฐิ ฝึกวางใจ ร่วมกิจกรรม และร่วมอาศัยนอน อยู่ในศาลาบรรพชนด้วยกัน การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จะได้ฝึกความอดทน ฝึกหัดวางใจ เรียนรู้นิสัยซึ่งกันและกัน ได้ระลึกถึงวัยเด็ก เข้าใจนร.สัมมาสิกขา มากขึ้น ที่เราต้องกิน-อยู่-นอนหลับร่วมกัน ค่ำลงบางคนต้องการนอนก็ได้ฝึกวางใจ ผู้จะคุยก็รู้จักเกรงใจ กำหนดเวลาให้เหมาะควร การใช้เสียง ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ให้รบกวนผู้อื่น การประมาณในการพูดคุย ให้บันเทิงในธรรม ไม่ให้เกิดการถือสากัน ระมัดระวังจิตแ ละความคิดของตน มากกว่าเพ่งโทษ จับผิดผู้อื่น จึงรื่นเริงในธรรมกันดี ในส่วนที่เป็นการดำริเรื่องการงานที่จะต้องไปฝึกช่วยงานในพุทธสถานต่างๆ สมณะนวกะทุกรูป ยินดีลงไปทำงาน แต่ติดที่ มีหลายแห่งขอมา การงานที่ภูผาฟ้าน้ำ ก็มีด้วย งานที่ขอมาให้ช่วย ก็มีเงื่อนไข เรื่องความสามารถ ของสมณะนวกะ จึงจัดสรร ลงตัวยาก และไม่ได้ตามที่แต่ละแห่ง ขอมาทั้งหมด ผู้สื่อข่าวอโศกได้สัมภาษณ์สมณะที่ร่วมเข้ารับการฝึกฝน ดังนี้ สมณะหินมั่น สีลาปากาโร "ได้รับความอบอุ่นจากเพื่อนสมณะด้วยกัน ได้เห็นอัตตาตัวตน ที่ไม่ตัดรอบงาน มาร่วมอบรม ให้เต็มเวลา ได้เห็นพลังร่วม ที่รวมกันทำวัตรกับญาติโยม ทำให้เกิดศรัทธากับจิตใจ คนที่พบเห็น" สมณะปองสูญ โฆสิตธัมโม "ได้อ่านอารมณ์จิต ติดความเป็นส่วนตัว ติดสถานที่(กุฏิ) และได้อ่านความปล่อยวาง ในอารมณ์จิต ว่าปล่อยวาง ได้หรือไม่ สรุปคือ ได้ฝึกวางใจ และได้รู้จักกันมากขึ้น" สมณะหนึ่งดี สุยิฎโฐ "ได้ความเป็นพี่เป็นน้องมากขึ้น ไม่ถือสา เรียบๆง่ายๆ อบอุ่นเกินคุ้ม ๓ วันน้อยไป ในความเห็นส่วนตัว เพื่อความเป็นนวกะ เป็นการรวมพี่ รวมน้อง อบอุ่นดี ถ้าไม่ได้ขึ้นมาครั้งนี้ คงเสียดายไปอีกนาน หวังว่า คงจะมีครั้งต่อไป แต่ก็ไม่ได้หวัง เต็มร้อย" สมณะพอแล้ว สมาหิโต "ฝึกไม่อยู่ตามอำเภอใจตน สัมพันธ์กับหมู่ เรียนรู้นิสัยใจคอหมู่สงฆ์ ฝึกรักษาเวลากติกา ของหมู่" สมณะลึกเล็ก จุลลคัมภีโร "ได้รับบรรยากาศที่แปลกใหม่ ในการได้มาอยู่ร่วมกัน รู้สึกอบอุ่นใจ ได้เห็นกิเลส ในความยึดติด กับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของตัวเอง หัดวางใจกับผู้อื่น ได้แลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ทิฐิซึ่งกันและกัน กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าให้ผู้อื่น วิจารณ์ได้ และได้รู้จักกับสมณะผู้ใหญ่ ที่ถูกสัมภาษณ์มากขึ้น" สมณะพอจริง สัจจาสโภ "ได้ปรับทิฐิบางเรื่องกับหมู่สมณะ" สมณะวิเชียร วิชโย "ได้ร่วมขบวนการกลุ่ม ประทับใจและรู้สึกอบอุ่นกับหมู่กลุ่ม ได้รู้จักคบคุ้นกันมากขึ้นในขณะที่ได้ลดความ เป็นส่วนตัวลง กล้าแสดงความคิดเห็นในหมู่ รู้สึกมั่นใจ และไว้วางใจ ที่จะพึ่งพาหมู่กลุ่มมากขึ้น" สมณะเห็นทุกข์
ยตินทริโย "ได้ความอบอุ่นจากภันเต-อาวุโสที่ทิ้งความเป็น ส่วนตัวของแต่ละรูป
จากกุฏิมานอนร่วมกัน ที่ศาลา บรรพชน ซึ่งทำให้ได้คลุกคลีกัน ก็ได้เห็นจิตของเรา
ไม่ถือสา อึดอัดขัดเคืองกับภันเต -อาวุโส แม้จะเห็นข้อบกพร่อง ได้เห็นแนวทางในการที่จะมาร่วมกัน ที่มีการตกลงร่วมกันจะมาพบกันทุกวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ ข้างขึ้น ทุกเดือน แม้จะอยู่ที่ไหน ไกลแสนไกล ก็จะมาพบกัน ที่ภูผาฯ มากินมานอนร่วมกัน ๓ วัน ๓ คืน เข้าคอร์สครั้งนี้ประทับใจในรูปแบบการ จัด ไม่มีการกำหนดการ แต่เป็นไปตามธรรม ช่วงเช้าก็มานั่ง ล้อมวงกัน พูดคุย สนทนาธรรม แบบเป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตอง" สมณะธาตุดิน ปฐวีรโส "รู้สึกอบอุ่น ได้ใกล้ชิดร่วมทำกิจกรรม ได้รู้ทิฐิของเพื่อน สมณะด้วยกัน ได้อ่านอารมณ์ของตนเอง เวลาอยู่ร่วมกัน ได้ฝึกวางใจ รู้สึกสบายใจ มีความเชื่อมั่น ในหมู่กลุ่มนี้ ทำให้จิตวิญญาณ พัฒนาเจริญขึ้นได้". |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||