ฉบับที่ 198 ปักษ์แรก 1-15 มกราคม 2546 |
สำนึกดีปีใหม่'๔๖ สำนึกดีปีใหม่ต่อชาวเราในปี พ.ศ.๒๕๔๖ งานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๖ ก็จบไปอีกปี ชาวเราได้มีโอกาสทำทานมัย โดยการเสียสละ ให้กับสังคม ด้วยการเปิดตลาดอาริยะ ขายสินค้า ต่ำกว่าทุน ซึ่งปีนี้มีชาวบ้านมาซื้อข้าวของต่างๆ มากกว่าปีที่แล้วถึงเท่าตัว ในปีนี้พ่อท่านเทศนาตอนหนึ่งที่ทำให้ลูกๆหลายคนรู้สึกสะเทือนใจ ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไข เพื่อความรักสามัคคี โดยพ่อท่านบอกว่า ถ้ากลุ่มญาติธรรมในจังหวัดใดไม่สามัคคีกัน พ่อท่านจะไม่รับนิมนต์ญาติธรรม ในจังหวัดนั้น เป็นไง ชาวเราได้ฟังที่พ่อท่านเทศน์แล้ว สำนึกกันบ้างไหม ก็ขอสำนึกดีปีใหม่ทุกคน. |
||
จับประเด็นจาก หนังสือคนคืออะไร? (๑๐) ลึกซึ้งในพระอรหันต์(๑)... ผู้เป็นพระอรหันต์ต้องหลุดพ้นแล้วจากพันธะกิเลสทั้งปวง ไม่เหลือตัวตนใน กาม ภพและอวิชชา หากยังไม่ปรินิพพาน พระอรหันต์ย่อมยังประโยชน์แก่ปวงชน แก่สังคม แก่โลก เมตตาปรารถนาดีต่อล่ำสัตว์ ช่วยชี้นำทาง ให้คน ได้พ้นทุกข์ เฉกเช่นท่าน และแม้จะกระทำดีสักปานใด ท่านก็ไม่ยึดดีนั้นเป็นอัตตาของตน ปล่อยวางได้สูญสนิท อย่างผู้มี อภิญญา และ วิชชา ๙ ประการอันเป็นพุทธแท้ อภิญญาคือ ข้อ ๑-๖ ของวิชชา ๙ ส่วนวิชชา ๙ ประมวลความหมายโดยย่อไว้ดังนี้ ๑.ฌาน คือ การทำจิตให้ไร้ซึ่งนิวรณ์ ๕ ๒.วิปัสสนาญาณ คือ การพิจารณาเห็นกระบวนการล้างกิเลสออกจากจิต อย่างถ้วนรอบด้วยปัญญา ๓.มโนมยิทธิญาณ คือ การทำจิตให้มีฤทธิ์อำนาจอยู่เหนือกิเลสทั้งปวง เหมือนสร้างจิตดวงใหม่ขึ้นมาให้กล้าแกร่ง ๔.อิทธิวิธญาณ คือ ความสามารถฟันฝ่าอุปสรรคที่หนักหนาได้โดยไม่ยาก มีความเก่งทางจิตเหนือสามัญชนทั่วไป ดุจเดินบนผิวน้ำ หรือดำไปในดิน ผ่านพ้นอุปสรรคเหมือนเดินผ่านที่ว่าง มีจิตอิสระสูงส่งดุจนกบินไปบนฟ้า กล้าเผชิญอธรรม ประหนึ่ง ลูบคลำ พระจันทร์ พระอาทิตย์ด้วยฝ่ามือ และสามารถดำเนินชีวิตอยู่อย่างเหนือโลกได้ ๕.ทิพยโสตญาณ คือ สามารถจับเสียงแห่งวิญญาณอันได้สัมผัสว่า มีกิเลสหรือปราศจากกิเลสได้ ๖.เจโตปริยญาณ คือ รู้สภาพจิตตนทั้งดีและชั่วอย่างไม่อำพราง เหมือนยืนส่องเงาหน้าในกระจกเงา ๗.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ สามารถย้อนระลึกทบทวนรายละเอียดการเกิดสภาพวิญญาณต่างๆของตน ในอดีตทั้งดีและชั่ว มีลักษณะ อาการอย่างไร ก็รู้ได้ ตั้งอยู่หรือดับไป ด้วยเหตุใด ก็รู้แจ้งจริง ๘.จุตูปปาตญาณ คือ รู้เห็นกระจ่างถึงการเกิดการตายของภพภูมิจิตในตน แม้จิตเคลื่อนแปรสภาพไป ก็รู้แจ้งจริง ๙.อาสวักขยญาณ คือ รู้ชัดถึงอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีปัญญารู้ว่าจิตตนหลุดพ้นจากปวงกิเลสแล้ว สูญสิ้นอาสวะทั้ง กาม ภพ อวิชชา...ดวงจิตหลุดพ้น จบกิจพรหมจรรย์ คงเหลือแต่ความปรารถนาดี ให้แก่สรรพสิ่ง ทั่วสากลโลก ตราบยังไม่ปรินิพพาน การปรารถนาทำดีเพื่อผู้อื่นของพระอรหันต์นี้เรียกว่า "วิภวตัณหา" เป็นความปรารถนา ที่ไม่ทำเพื่อสนองอัตตาตน หากทำเพื่อ กูลเกื้อ คนอื่น สรรสร้าง สิ่งประเสริฐไว้กับโลก เป็นคุณประโยชน์แก่ปวงชน (อ่านต่อฉบับหน้า)
|
||
ต้นเดือนทีใดผวาทุกที ด้วยถูกทวงต้นฉบับที่จะต้องลงข่าวอโศกรายปักษ์อยู่เรื่อย ขนาดอยู่ที่ไกลๆก็ยังโทร.ไปทวง ซึ่งก็น่าทวงดอกนะ เพราะที่ผ่านๆมา ผู้เขียนยังคงครองแชมป์บ๊วย ส่งงานเป็นรายสุดท้ายมาตลอด ตั้งแต่ต้นจวบจนปัจจุบัน (อย่าถามนะว่า แชมป์อย่างนี้ ได้รางวัลอะไร) "ปอกกล้วยเข้าปาก ง่ายกว่างานเขียนที่ต้องพิมพ์เป็นหลักเป็นฐานเยอะ" ก็ขนาดเขียนบันทึกส่วนตัว หลายคนยังบ่นๆว่า ให้ไปจับจอบ จับเสียม ขุดดิน ฟันหญ้า แบกกระสอบข้าวสาร ยังจะง่ายกว่า เขียนครั้งนี้ก็ยังฝืดๆ ด้วยต้องเขียนตามจริง คือ มีกรอบเรื่องของพ่อท่านเป็นหลัก เพราะพ่อท่าน เป็นศูนย์รวม ของศรัทธา และ ความสนใจ ผู้เขียนเองยังด้อยในปัญญาที่จะหยิบจับเอาทุกเรื่อง ทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพ่อท่าน มาถ่ายทอด เป็นตัวหนังสือ ได้หมด แม้จะเขียนบันทึกจากปัจฉาฯมาหลายปี ก็ยังรู้สึกไม่ง่าย "สดจากปัจฉาฯ" ก็เช่นกัน เนื้อหา ความสำคัญ อยู่ที่พ่อท่านเป็นแกน จึงเหมือนถูกตีกรอบให้เขียน การเขียนแต่ละครั้งก็ต้องพยายามให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ เกิดศรัทธา ได้ปัญญาด้วย บางเดือน มีเรื่องราวมาก ต้องเขียนเก็บให้หมดเพื่อประวัติศาสตร์สำหรับอนุชนรุ่นหลัง แต่ชนรุ่นนี้บอกรู้แล้ว มันผ่านมาแล้ว จึงติว่าละเอียด และ ยืดยาวมากไป ยิ่งฝ่ายจัดพิมพ์สารอโศกก็ตัดแบ่งเป็นพิมพ์ ๒ เล่มจากเนื้อหา ๑ เดือน ก็ยิ่งทำให้เรื่องราว ที่เขียนกว่า จะปรากฏ สู่สายตาผู้อ่านก็ยิ่งล่าช้ามากขึ้นไปอีก แม้ได้รับคำชมก็ลำบากใจที่จะเขียนครั้งต่อไป ก็ต้องพยายาม ให้ผู้อ่าน พอใจเช่นนี้อีก สดจากปัจฉาฯ ครั้งที่แล้ว ได้รับคำชมว่า เป็นเรื่องเบาๆที่มีสาระแทรกอยู่ เป็นแนวที่การเขียน ครั้งต่อๆไป ควรเป็น ลักษณะนี้ การเขียนครั้งนี้ จึงยากแล้ว เพราะประเด็นที่จะเขียนเช่นนั้น ยังไม่มี เขียนไปได้ ๕-๖ บรรทัดก็ต้องทิ้ง เพราะรู้สึกว่า มันไม่ใช่ เขียนใหม่อีกได้ ๕-๖ บรรทัดเช่นกัน ก็ต้องทิ้งเปลี่ยนประเด็นอีก ด้วยรู้สึกว่า มันจะหนักๆยากๆ เอาไว้เขียนในบันทึก จากปัจฉาฯดีกว่า เมื่อวาน (๗ ม.ค.) ทั้งวันจึงเขียนได้แค่ ๗ บรรทัด ก็ถึงเวลานอนแล้ว นี่ขนาดการเขียนที่เป็นเรื่องราวมีรูปธรรม ก็ยังยากปานฉะนี้ ป่วยการกล่าวถึงการเขียนของพ่อท่าน ที่ต้องอธิบาย สภาวะนามธรรม ออกมาเป็น ตัวหนังสือ คำว่า "ยาก" ดูจะเป็นภาษาที่สื่อได้ "น้อยไป" กับ "ความยากจริงๆ" ในงานเขียนของพ่อท่าน ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นการเขียน ตามใจ ของผู้เขียน ถือเป็นการเล่าระบายใจ เพื่อให้ความคิด ได้ขยับเขยื้อนออกมาบ้าง เพิ่งจะผ่านงานปีใหม่มา ถ้าไม่เขียนก็ดูจะเชยกระมัง การเตรียมสถานที่ก่อนงานปีใหม่ ปีนี้ดูง่ายๆไม่หนัก แทบไม่ได้ยินเสียง ประกาศ อย่างเร่งรีบ เหมือนปีก่อนๆ จึงไม่ได้ไปช่วยลงแขกขนสินค้าลงรถเลย ถึงกระนั้น พ่อท่าน ก็ยังแบ่งเวลา ไปดูการจัดเตรียม ตามที่ต่างๆ ยามที่อากาศเย็นๆ จะมีผ้าพันคอ ยามแดดจัดก็เอาผ้านั้นมาโพกพันศีรษะ "พ่อท่านทำอะไรก็ดูเท่ไปหมด" เสียงทุ้มๆจากหุ่นท้วมๆของนิสิต ม.วช. เขตสีมาอโศก เอ่ยชมขณะพ่อท่านเดินผ่าน ซึ่งก็เป็นจริง ตามนั้น ด้วยการโพกผ้าเหมือนหมวก ให้เกาะติดที่ศีรษะ แล้วดูไม่รุ่มร่าม มีชายผ้าห้อยมาที่ต้นคออย่างนั้น ผู้เขียน และ สมณะ ชัดแจ้ง ยังพันกันไม่เป็น คำชมพ่อท่าน ก็คงมาจากปัจฉาฯ ที่เพียงเอาผ้าคลุมแปะไว้ ที่ศีรษะเท่านั้น ดูไม่เรียบร้อย เหมือนพ่อท่าน กระมัง กลางเดือนธันวาฯ มีข่าวว่า ญาติธรรมหลายรายลดวงเงินที่จะเสียสละ บางรายก็น้อยใจไม่ยอมนำสินค้ามาร่วมขายต่ำกว่าทุนอีก ด้วยถูกทักว่าสินค้ามีราคาแพง(ซึ่งความจริงเป็นสินค้า ที่มีระดับสูงกว่า ท้องตลาดทั่วไป) พ่อท่านจึงต้องเทศน์ ตั้งหัวข้อว่าด้วยเรื่อง "การทำบุญ" อธิบายให้เห็นว่าการเสียสละอย่างนี้เป็นบุญที่บริสุทธิ์โดยแท้ ได้ผล ปีนี้สินค้ามีปริมาณมากขึ้น กระทะ หม้อ กระติก ภาชนะพลาสติก เครื่องจักสาน ของใช้จำเป็นต่างๆ กองโต ร้านผ้าห่ม ก็มีหลายร้าน พืชผลการเกษตรก็มีมามาก อ้อย ส้มโอ กล้วย ฯลฯ ข้าวหอมแดงถุงละ ๑ กก.ราคา ๑ บาท แทบจะไม่น่าเชื่อเลยว่า คนจะเสียสละได้ถึงเพียงนี้ ถ้าเทียบกับปีแรกของงานปีใหม่ จัดที่สันติอโศก ตลาดอาริยะปีนั้น เหมือนเด็กเล่น ขายของมากกว่า ร้านขนมครก ขนมลาปักษ์ใต้ ซึ่งก็เป็นร้านเล็กๆริมทางเดิน จากวันนั้นมาถึงวันนี้เป็นพัฒนาการที่คาดไม่ถึงว่า จะเป็นไปได้ถึงปานฉะนี้ ภาพชาวบ้านคนหนึ่งยังคงติดตาผู้เขียน ที่คอมีขวดน้ำมันพืขสองขวดผูกเชือกคล้องห้อยไว้ มือขวาแบกอ้อย ๑ มัด ๕ ลำ มือซ้าย ถือไม้กวาด ๒ ด้าม แถมหนีบถุงข้าวเกรียบทอดถุงละบาทเอาไว้ด้วย หน้าตาของเขา ดูมีความสุข ตามอัตภาพ กับการมางานอย่างนี้ "...การจัดงานวัดของพวกเราเป็นบุญจริงๆ ต่างจากที่เขาจัดกัน จัดงานเสร็จวัดรวย กรรมการรวย เขามีแต่วิธีหาเงินมาเข้ากระเป๋า ขายดอกไม้ธูปเทียน ขายทอง ขายพระ ทำอย่างทุนนิยมทั้งนั้น แต่งานวัดของเรานี่เป็นบุญแท้ๆ ทั้งวัดทั้งคนมาขาย ต้องควักกระเป๋า จ่ายออกให้ประชาชนจริงๆ ชาวบ้านเขาก็สัมผัสรับรู้ได้ว่าพวกเราให้ ไม่ได้เอาเปรียบเขา..." พ่อท่านพูดกับพ่อค้าแม่ขาย คืนวันที่ ๒๙ ธ.ค.ก่อนเปิดตลาดอาริยะในวันรุ่งขึ้น เป็นการประชุมจัดระเบียบพ่อค้าแม่ขายทั้งหลาย เพื่อย้ำต้องมาเสียสละขาดทุนจริงๆ ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมพ่อค้าแม่ขายเหล่านี้ นอกจากจะควักเงิน เหนื่อยแรง แล้วยังต้องลดอัตตามานะ ถูกจัดระเบียบ ถูกตรวจสอบ แทนที่จะได้รับ การยกย่องสรรเสริญ ประกาศเกียรติคุณว่า ผู้นี้ๆบริจาคทำบุญเท่านี้ๆ "...อาตมาซาบซึ้งใจที่พวกเรามาลดละเสียสละได้ แม้จะมีผู้ที่ยังซ้อนแฝงอยู่บ้าง คนที่เขามาซื้อสินค้าแม้จะถูกกว่าราคาตลาด กว่าเขาจะได้สินค้าต้องมาเข้าแถวเป็นลมกันหลายคน แม้จะได้ของถูกไป ๑๐ บาท ๑๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท ก็ตาม..." พ่อท่านเทศน์ทำวัตรเช้า ๑ ม.ค.๔๖ ในวันขึ้นปีใหม่นั้นมีคำเตือนหนักๆจากพ่อท่านถึงญาติธรรมกลุ่มต่างๆ "...จังหวัดใดที่แตกกันเป็นก๊ก เป็นกลุ่ม แล้วเข้ากันไม่ได้เลย อาตมาจะไม่ไปจังหวัดนั้นอีกเลย..." ที่พ่อท่านเตือนให้ข้อคิดเบาๆก็มี "...หลายคนมางานนี้อย่างเสียไม่ได้ มาแล้วไม่ได้รู้สึกชื่นชมยินดี ไม่ได้รู้ค่า ของความสมาน สัมพันธ์เลย มาไม่ทันไรก็รีบกลับ บางคนมาวันเดียวเอง..." มีอีกประเภทหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า ก็น่าเตือน น่าเก็บเอาไปคิดก็คือ ขณะที่ นร.สัมมาสิกขา นิสิต ม.วช. ได้รับมอบหมายงาน กันโดย ถ้วนทั่ว ญาติธรรมหลายคนสละทุนทรัพย์ หลายคนสละแรงกาย รับผิดชอบดูแลตามจุดต่างๆ เพื่อให้งานนี้เป็นไปได้ด้วยดี ยังมีญาติธรรม อีกส่วนหนึ่ง ที่ไม่สละอะไรเลย แม้แต่แรงกาย สมมุติว่าปีต่อไป ญาติธรรมส่วนนี้ทั้งหมด สละทั้งทุนทรัพย์ และ แรงกาย เข้ามาเติม งานปีใหม่ จะยิ่งใหญ่กว่านี้อีกกี่เท่า ใครคำนวณได้ช่วยบอกด้วย สุดท้ายจริงๆที่ผู้เขียนถือว่า เป็นวาทะแห่งปีของพ่อท่าน เมื่อพ่อท่านพูดกับฝ่ายการเงิน ที่กำลังกังวลกับการเบิกจ่ายเงิน เตรียมงานปีใหม่ "...เงิน คือ เศษกระดาษทันทีเมื่อมันไปกองอยู่ที่ใดที่หนึ่งอย่างนิ่งๆ กองอยู่ ๑ ปี ก็คือเศษกระดาษ ๑ ปี กองอยู่ ๒ ปีก็คือ เศษกระดาษ ๒ ปี เงินจะมีค่าเป็นธนบัตร ก็ต่อเมื่อ มันได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์" จากวาทะข้างต้นนี้ ทำให้ผู้เขียนได้ข้อคิดเพิ่มเติมในทำนองเดียวกันว่า
คน คือ กากเดนของอวิชชา
ที่มากไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ เพียงแต่ มีความรู้ ความสามารถ มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน
คนจะมีคุณค่า เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐก็ต่อเมื่อ ความรู้ ความสามารถ และ
แรงกายนั้น ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเสียสละ สร้างสรร แบ่งปันต่อสรรพสิ่ง. |
||
ผลิตภัณฑ์เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่มา ผลิตภัณฑ์ KU-GREEN การใช้ผลิตภัณฑ์ KU-GREEN KU-GREEN
ปลอดภัย ไร้ขยะ KU-GREEN หลังจากใช้งานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยหมัก จึงไม่มีขยะ เหลือทิ้ง ให้เป็นภาระ ต้องนำไปกำจัดอีก อนึ่งหากไม่มีการเก็บรวบรวมนำมาใช้ประโยชน์อีก KU-GREEN ที่ทิ้งไปจะย่อยสลายได้เอง ในธรรมชาติ โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม น่าสนใจ น่าใช้ มาช่วยกันใช้ ช่วยกันเผยแพร่ ปริมาณการใช้ที่มากขึ้นจะลดต้นทุนลงได้อีก และจะช่วยแก้ปัญหามลภาวะ จากโฟม และพลาสติก ได้ดีทีเดียว ขณะนี้ บจ.พลังบุญ เริ่มรับมาเผยแพร่และจำหน่าย และชมร.เชียงใหม่ รับไปจำหน่าย ให้ความสะดวก แก่ลูกค้า ที่ต้องการ ซื้ออาหาร กลับไปรับประทานที่บ้าน หรือที่ทำงาน (แต่ไม่ได้นำภาชนะมาใส่) เพราะนโยบายของร้าน ชมร.เชียงใหม่ ไม่สนับสนุน การใช้ถุงพลาสติก และโฟมทุกชนิด ปลอดภัย ไร้ขยะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม. |
||
เชียงรายอโศก
ปลื้มปีติกับ ธ.ก.ส. และเกษตรกร การอบรมสัจธรรมชีวิตรุ่นที่ ๑๕ (จ้าดนัก) ของเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษที่เชียงรายอโศก เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ย.-๑ ธ.ค.๔๕ ผ่านไป อย่างน่าภาคภูมิใจ เกิดความปีติยินดีแก่ทุกฝ่าย ทั้งตัวเกษตรกร พนักงาน ธ.ก.ส. เป็นปลื้มที่สุดคือ ชาวเชียงรายอโศก และพี่เลี้ยง ทุกคน ที่ได้เห็นน้องเลี้ยงซึ่งมาจาก อ.งาว จ.ลำปาง จำนวน ๗๙ คน สมาชิกสมทบอีก ๗ คน พนักงาน ธ.ก.ส.๔ คน (รวมผู้เข้าอบรม ๙๐ ชีวิต) หลายชีวิตหลายจิตวิญญาณมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าประทับใจยิ่ง เนื่องจากตัว ธ.ก.ส. เอง มีการคัดเลือก เกษตรกร ที่ค่อนข้างพร้อม และเต็มใจมาศึกษา หาความรู้จริงๆ ทุกคนสมัครใจมา แม้ว่าหลายคน จะถูกน้ำ แช่ข้าวอยู่ในนา เพราะช่วงนั้น เหมือนเทวดา สั่งฝนตกลงมาลองใจ เหล่าเกษตรกร แม้จะห่วงหาอาลัย ข้าวในนา อยู่ไม่น้อย แต่ด้วยความตั้งใจจริง จึงตัดใจมา และเมื่อเข้าอบรมแล้ว ทุกคนก็ใช้ความพยายาม และอดทนอยู่จนครบ โดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ที่ทำให้เหล่าพี่เลี้ยง ต้องหนักอกหนักใจ พี่เลี้ยงและวิทยากร จึงมีกำลังใจถ่ายทอดวิทยายุทธ อย่างสุดชีวิตจิตใจเช่นกัน เมื่อใจ ถึงใจแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น...? ความซาบซึ้ง ตรึงใจ ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ในวันสุดท้าย ที่เราจะต้องจากกันไป ยังไงล่ะคะ พี่เลี้ยง-น้องเลี้ยง ได้ทำการล้างลูกนัยน์ตา กันหลายคน ทั้งหญิงทั้งชาย ค่ะ...มันเป็นน้ำตาที่น่าปลื้มปีติยินดี ของคนที่มีความรู้สึกดีๆให้กัน ไม่อยากจากกัน นึกถึงคุณงามความดี ของกันและกัน หลั่งมาเถอะ แม้ท่วมศาลา ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมคะ น้องเลี้ยงบางคนอาสาช่วยงานถึงวันที่ ๕ ธ.ค. เพื่อช่วยงานโรงบุญฯ และอยากศึกษาเรียนรู้ การทำอาหารมังสวิรัติด้วย หลายคน ตั้งใจลดละเลิก อบายมุขทุกอย่าง บางคนตั้งใจ จะทานอาหารมังสวิรัติ บางคนจะมาช่วยเป็นพี่เลี้ยง และวิทยากร ในรุ่นต่อๆไปด้วย เห็นความตั้งใจ อันดีนั้นแล้ว ผู้เขียนอยากจะหยิบยกบางส่วนของผู้เข้าอบรมออกมาสื่อให้ได้รู้ว่า สัจธรรมของพระพุทธเจ้า มีอานุภาพ และปาฏิหาริย์จริงๆ ที่เปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณ คนได้ถึงปานนี้ เริ่มที่พนักงาน ธ.ก.ส.ก่อนนะคะ คุณนุกูล ลิ้มประเสริฐ อายุ ๓๒ ปี พนักงาน ธ.ก.ส.ผู้คัดเลือกเกษตรกรเข้าอบรมบอกว่า "แรกๆก็รู้สึกว่า ตนเองพยายาม ทำหน้าที่ ให้ดีที่สุด มันเป็นเพียงงาน ที่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น แต่พออบรมได้ ๓-๔ วัน ผมเริ่มรู้สึกเข้าใจชีวิต และธรรมะมากขึ้น แต่ก่อน ไม่เคยฟังเทศน์จบ และไม่ชอบฟัง แต่พอได้มาฟังที่นี่ ผมตั้งใจฟังจนจบ และรู้สึกเข้าใจที่สมณะเทศน์ จนผมรู้สึกว่า งานนี้ไม่ใช่ จะทำตามหน้าที่ แบบธรรมดาๆ แต่รู้สึกว่าอยากเสียสละ ให้มากกว่าหน้าที่ รู้สึกมีใจ ที่จะทุ่มเท ให้กับงานตรงนี้มากๆ ดีใจ ที่เห็น เกษตรกร มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นครับ" (อ่านต่อฉบับหน้า) |
||
งานปีใหม่ ชาวบ้านนับแสนร่วมงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๖
งานตลาดอาริยะปีใหม่' ๔๖ ตลาดอาริยะ (ครั้งที่ ๒๔) ณ หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก ระหว่างวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๔๕ - ๑ ม.ค.๔๖ มีประชาชน ให้ความสนใจ มาซื้อสินค้า มากกว่าปีที่ผ่านมา บ้านราชฯได้ขยายพื้นที่ของตลาดสินค้าและตลาดอาหารเพื่อรองรับประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้า และยังมีตลาด สละของรัก เพิ่มขึ้น ในวันแรกของการเปิดตลาดมีประชาชนจากจังหวัดอุบลฯและจังหวัดใกล้เคียง มาซื้อสินค้ามากมาย ในช่วงเช้า การจราจรติดขัด ตั้งแต่ทางเข้า บ้านคำกลาง จนถึงบริเวณงาน จนหลายคน ลงจากรถเดินมา ซึ่งเร็วกว่า เจ้าหน้าที่จราจร ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย บริเวณ ลานจอดรถ แน่นขนัดไปด้วยรถต่างๆที่มาซื้อสินค้า ทางเข้าตลาดมีโทรศัพท์สาธารณะ ติดตั้งบริการ แก่ประชาชน ชั่วคราว บริเวณงาน และบริเวณหมู่บ้าน มีแปลงผักเขียว ปลูกไว้ให้เห็นชื่นตาชื่นใจ เป็นระยะๆ
วันที่ ๒๙ ธ.ค. ๔๕ ยังไม่มีการจำหน่ายสินค้า ในช่วงเช้าพ่อท่านนำหมู่สมณะ-สิกขมาตุบิณฑบาต และเทศน์ก่อนฉัน หลังจากนั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง บรรยายพิเศษ และกล่าวเปิดงาน ในช่วงบ่ายประชุมสัมมนา องค์กรสมาชิกเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย ภาคค่ำเริ่มการแสดงบนเวทีธรรมชาติ จนถึงวันที่ ๑ ม.ค. ๔๖ เป็นการแสดงของต่างๆ ของชาวบุญนิยม ที่สะท้อน วิถีชีวิต ของแต่ละชุมชน ซึ่งให้ข้อคิดได้ลึกซึ้ง ในรูปของความบันเทิง ที่ไม่มอมเมา สำหรับรายการในแต่ละวัน ตั้งแต่ ๓๐ ธ.ค.๔๕ - ๑ ม.ค. ๔๖ มีดังนี้ ๐๔.๐๐ -๐๖.๐๐ น. ฟังธรรมรับอรุณจากพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เพื่อชาวบุญนิยมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ จากพ่อท่าน ที่ควรหาเทป มาฟังให้เป็นบุญหู เพื่อนำไปปฏิบัติ ให้เกิดมรรคผล กับตนเอง หลังจากนั้น ยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกาย บริเวณ เวทีธรรมชาติ แล้วร่วมทำบุญตักบาตร ด้วยอาหารมังสวิรัติ ๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. บริเวณชั้นล่างใต้เฮือนศูนย์สูญ นิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต คณะสาธารณสุขบุญนิยม จัดนิทรรศการ มาเป็นหมอ ดูแลตัวเอง กันเถอะ การดูแลสุขภาพตามแนววิถีไทย ภูมิปัญญาไทย และการขับพิษออกจากร่างกาย มีประชาชน ให้ความสนใจ มากมาย ตลาดอาริยะในส่วนของตลาดสินค้าเปิดขายสินค้าตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. และปีนี้เปิดตลาดสละของรัก ซึ่งอยู่ในบริเวณ ตลาดสินค้า จำหน่ายของรักของหวง ที่แต่ละคน นำมาสละรวมกัน เพื่อแบ่งปันกันใช้ในราคาถูก และซุ้มเด็กสำราญ เปิดบริการ ให้เด็กๆ ทั้งหลาย วาดภาพ ปั้นดินมัน มีการเล่านิทาน ฯลฯ พร้อมบริการขนมแก่คุณหนูๆทั้งหลายด้วย ตลาดอาหาร เปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๐๗.๐๐ น.อาหารทุกชนิดราคา ๑ บาท โดยใช้คูปองแลกซื้ออาหาร ซึ่งมีจุดขายคูปอง กระจายอยู่ ทั่วบริเวณตลาด สะดวกสบาย โดยกินเสร็จแล้วร่วมกันล้างจานเอง เวทีชาวบ้าน เปิดเวทีให้ผู้มาร่วมงานขึ้นแสดงในแนวสาระบันเทิง และช่วงเวลา ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ของวันที่ ๓๐ ธ.ค. มีการบรรยาย พิเศษ "ขบวนการกู้ชาติ" โดย คุณหนึ่งแก่น บุญรอด ๒ ม.ค. ภาคเช้าร่วมสรุปงาน และร่วมยุทธการ ๑๘๐ ช่วยกันเก็บงาน ๓ ช.ม. โดยการผนึกกำลังของ น.ร.สัมมาสิกขาทุกแห่ง, นิสิต สัมมาสิกขาลัยทุกเขต และญาติธรรมทุกท่าน พ่อท่านให้โอวาท ก่อนเริ่มยุทธการ แล้วบางส่วน แยกย้ายกัน เพื่อกลับไป ฝึกฝน ตนเองให้ แข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ ส่วนนักเรียนอีกหลายแห่ง อยู่ร่วมเก็บงาน จนถึงวันที่ ๓ ม.ค.
สำหรับผู้มาร่วมงานและมาซื้อสินค้า ได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้ นางเจียม ช่วยตั้ว อายุ ๕๖ จ.อุดรธานี อาชีพทำนา "เคยมาแล้ว แต่อยากมาอีกเพราะเลื่อมใส ศรัทธา มากัน ๓ คน เสียค่ารถมา ๔๐๐ บาท มาซื้อของใช้ในบ้าน หมดเงินไป ๕๐๐ กว่าบาท ของถูกมาก ได้ฟังธรรมพ่อท่านด้วย ท่านเทศน์ฟังง่าย ได้รับความรู้ เรื่องปุ๋ย การทำดิน หากไม่มาก็เสียดาย" นายตุ๋ย พิลาเลิศ อายุ ๕๑ ปี จ.อุบลฯ อาชีพทำนา "เสียค่ารถมา ๒๐ บาท เหมากันมา แม้อยากจะซื้อเร็วๆ แต่ก็ต้องเข้าแถว ซึ่งยาวมาก เกือบจะเป็นลม ได้กระติ๊บ ตะกร้า หม้อ อย่างกระติกน้ำราคาถูกกว่าข้างนอกถึง ๓๐ บาท" นางอำไพ บัวพิพัฒน์พงศ์ อายุ ๖๐ ปี ศาลีอโศก "มาร่วมงานตลาดเป็นครั้งที่ ๓ ชื่นชมพวกเราที่ช่วยคนข้างนอกได้เยอะ เห็นคน มาซื้อของ เครื่องใช้ ที่จำเป็นแล้วปลื้มใจ ศาลีฯ ขายผ้าห่มนวม ของชาวบ้าน ซื้อมาราคาขายส่ง ผืนเล็กราคา ๑๐๐ บาท เอามาขาย ๘๕ บาท และผืนใหญ่ซื้อมา ๑๕๐ บาท ขาย ๑๒๐ บาท โดยแบ่งขายให้ได้ ๓ วัน สินค้าที่นำมาหมดทุกอย่าง " นางสุดใจ สิบทัง อายุ ๔๐ ปี จ.อุบลฯ อาชีพทำนา "วันนี้มาซื้อน้ำมัน น้ำตาล ถั่ว ของถูกมาก มาซื้อ ๒ วัน เมื่อวานได้แชมพูสระผม เสื้อผ้า คูปองซื้อมา ๑๐ บาท กินได้ ๒ วัน หมดพอดี น้ำหวาน ๒ แก้ว ๑ บาท ถูกเหมือนได้ฟรี และก็อร่อยด้วย" นางม่านพร ขวัญสำราญ หินผาฟ้าน้ำ จ.ชัยภูมิ "เวลาเปิดขายสินค้าตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็นชัดเจนดีมาก ให้แต่ละร้าน ปิดเอง ตามความเหมาะสม ในเรื่องของขยะ ถ้าเจ้าของร้านร่วมมือกับเด็กที่รับผิดชอบ และแต่ละคนช่วยกัน ปัญหาขยะจะลดลง และ ห้องน้ำ ที่เฮือนศูนย์ฯ มีคนมาใช้มาก สกปรกและส่งกลิ่น จะแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะชาวอโศกเรื่องห้องน้ำ จะสะอาดมาก"
|
||
สรุป ๑๐ อันดับข่าวสำคัญของชาวอโศกในรอบปี พ.ศ.๒๕๔๕ อันดับ ๑ ๓ ก.ย.๔๕ ร้านน้ำใจ ชุมชนศีรษะอโศก ต.กระแซง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ถูกลอบวางเพลิง เสียหายมูลค่า ๘ ล้านบาท (๓๒.๕ %) อันดับ ๒ งานปีใหม่'๔๕ ตลาดอาริยะ ผวจ.อุบลฯ นายไชยสิทธิ์ โหตระกิต ร่วมเปิดงาน และในส่วนของตลาดอาหารจานละ ๑ บาท ใช้ผักไร้สารพิษ ในการปรุงอาหาร (๒๑.๒ %) อันดับ ๓ วันพุธที่ ๖ มี.ค.๔๕ สมณะกระบี่บุญ มนาโป มรณภาพที่พุทธสถานปฐมอโศก และทำการฌาปนกิจในวันที่ ๑๒ มี.ค.๔๕ ณ เมรุ พุทธสถานปฐมอโศก มีพ่อท่าน-สมณะ-สามเณร-สิกขมาตุ-ญาติธรรม ร่วมงานมากมาย (๗.๘%) อันดับ ๔ ชมร.เชียงใหม่ ทำเซอร์ไพรส์ หลัง ๕ ธ.ค.๔๕ แจกฟรีทุกวันถึงต้นปี'๔๖ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน มองเห็นหนทาง บุญนิยม ระดับ ๔ คือ แจกฟรีทุกวัน อาจเป็นได้จริง (๖.๑ %) อันดับ ๕ วันที่ ๑๖ มี.ค.๔๕ พ่อท่านร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ชีวิตหลังความตาย...สังคมหลังกลียุค" ที่ห้องประชุมชั้น ๑๓ ตึกช้าง อาคาร A เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันวิถีทรรศน์ มีผู้ร่วมเสวนาคือ น.พ.ประสาน ต่างใจ และ สมณะโพธิรักษ์ ดำเนินรายการ โดย ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ (ยุคศรีอาริยะ) (๔.๓ %) อันดับ ๖ วันที่ ๔-๖ พ.ค.๔๕ งานกสิกรรมไร้สารพิษเพื่อฟ้าดิน (พ.ฟ.ด.) ครั้งที่ ๙ ณ หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก นับเป็นครั้งแรก ที่มีตลาดสินค้า จำหน่ายพืชผัก ผลไม้ไร้สารพิษ ๑๐๐ % ในราคาบุญนิยม ต่ำกว่าท้องตลาด เปิดงานโดยอดุลย์ พลเดช นายอำเภอ วารินชำราบ (๓.๕ %) อันดับ ๗ ระหว่างวันที่ ๒๔ ก.พ.- ๒ มี.ค.๔๕ ในงานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๒๖ ณ พุทธสถานศาลีอโศก ได้ผนวกงานสัมมนาคุรุ ชาวอโศก ไว้ในงานพุทธาฯด้วย และในงานนี้ ผวจ.กำแพงเพชร เปิดชุมชนเพชรผาภูมิ ต้อนรับญาติธรรมแนวกว้างให้เข้ามาอยู่ (๒.๙ %) อันดับ ๘ วันที่ ๒๖ ม.ค. - ๑๐ ก.พ.๔๕ นร.ชั้น ม.๖ สัมมาสิกขาศีรษะอโศก จำนวน ๑๖ คน เข้าค่ายมหัศจรรย์ หลักสูตร อาริยมรรค ณ พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ ๑ มีผลสืบเนื่อง ให้ญาติธรรม จากที่ต่างๆ เดินทางมา เข้ารับ การอบรม ค่ายมหัศจรรย์รุ่นต่อๆมา จนถึงปัจจุบัน (๒.๖ %) อันดับ ๙ วันที่ ๑๗-๒๓ ต.ค.๔๕ บ้านราชฯ จัดงานฉลองน้ำครั้งที่ ๓ ซึ่งในปีนี้ระดับน้ำสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา (๒.๓ %) อันดับ ๑๐ วันที่ ๙ ส.ค.๔๕ พี่น้องประชาชนพรรคเพื่อฟ้าดิน ๓๐๐ กว่าชีวิตทั่วประเทศ ร่วมแสดงเจตนารมณ์ คัดค้าน การขึ้นเงินเดือน ของ ส.ส.,ส.ว. ด้วยการแจกแถลงการณ์ และเดินขบวน ไปยื่นหนังสือคัดค้านฯ ต่อประธานรัฐสภา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ หัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดิน และนายแก่นฟ้า แสนเมือง เลขาธิการพรรค และคณะทำงานพรรคเพื่อฟ้าดิน (๒.๐ %) (สรุปจากแบบสอบถามความคิดเห็นฯ จำนวน ๓๔๕ ฉบับ) |
||
พวกเราคงเคยแต่ได้ยินได้ฟังเรื่องโทษภัยของความเครียดกันมามาก คราวนี้เราลองมาดูอีกมิติหนึ่งของความเครียดกันบ้าง เพราะอาจารย์หนึ่งท่านสอนให้เราหาประโยชน์จากสิ่งที่เราคิดว่าไม่เป็นประโยชน์ให้ได้ ก็เลยอยากจะใช้วิทยายุทธหน่อยนะคะ เราลองมาเปิดใจให้กว้างๆให้รู้จักความเครียดอย่างรอบด้าน(หลายมิติ)เราจะพบว่า จริงๆแล้วความเครียดเป็นธรรมดาของชีวิต ทางจิตวิทยาถือว่า ความเครียดเป็นสัญญาณเตือน เป็นตัวกระตุ้นให้เราตื่นตัว กระฉับกระเฉง ทำให้รู้จักกับคำว่าอดทน และต่อสู้ เป็นกลไกธรรมชาติ ของร่างกาย และจิตใจ ในการที่จะปรับตัวต่อสิ่งต่างๆ เพื่อเตรียมตัวรู้เท่าทัน และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้น ความเครียดจึงมีทั้งผลดี และผลเสีย ผลดีคือ เป็นพลังผลักดันให้เราเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ทำให้เกิดการต่อสู้ จนพบกับ ความสุขสำเร็จได้ ถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็นพลังในทางบวก ความเครียดจะมีผลเสีย เมื่อไม่ได้ใช้พลังงาน ของความเครียด ให้ถูกต้อง แต่กลับเก็บสะสม หมักหมมไว้ในร่างกาย และจิตใจ แบบเรื้อรัง ซึ่งมันจะทำร้าย ทำลายเรา ให้เกิดโรคภัยต่างๆ อย่างร้ายกาจ มักเกิดขึ้นกับคน ๓ ลักษณะ คือ ๑.คนที่ชอบสมบูรณ์แบบทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเป็นอย่างที่คิดไว้ไม่ยืดหยุ่น เข้มงวดกับตัวเอง และ ผู้อื่นมาก ๒.คนที่มีรายละเอียดมากทุกอย่าง เก็บมาคิดหมด เรื่องเล็กๆน้อยๆก็เก็บเอามาเป็นอารมณ์ ๓.คนที่อ่อนไหวง่ายเกินไป เอาความรู้สึก ของตนเอง ไปผูกไว้กับสิ่งอื่นๆ จนไม่เป็นตัวของตัวเอง ท่านลองสำรวจตัวเองว่า ท่านเป็นบุคคลที่ความเครียดจะทำร้ายท่านได้หรือเปล่า ถ้าท่านตกเป็นคนลักษณะใดลักษณะหนึ่งใน ๓ นี้ ก็จงถอนตัวโดยด่วน แล้วความเครียดจะไม่สามารถทำร้ายท่านได้ แต่จะกลับเป็นตัวส่งเสริม และกระตุ้น ให้ท่านมีสติรู้เท่าทัน และจัดการ กับความเครียด อย่างถูกวิธี คราวนี้แหละ ท่านจะผันความเครียด ให้เป็นการสร้างสรรค์ ได้ไม่น้อยเลยล่ะค่ะ ไม่ลองไม่รู้หรอกค่ะ. |
||
รวมพลยุวชนอโศกในงาน
ยอส. งาน ยอส.ครั้งที่ ๖ สัมมาสิกขาร่วมกับสัมมาสิกขาลัย รวมพลเตรียมรับมืองานปีใหม่ ท่ามกลางเสียงเพลงฉลองคริสต์มาสที่ดังกระหึ่มในวันที่ ๒๕ ธ.ค. แต่อีกมุมหนึ่งของชุมชนบุญนิยมราชธานีอโศก ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ ธ.ค. ๔๕ ยุวชนอโศกทั้ง ๘ แห่ง (ยกเว้นทักษิณอโศก) ตั้งแต่ ม.๑-ม.๖ จำนวน ๕๔๕ คน และพี่ๆนิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต ๑๒๑ คน ซึ่งมาสัมมนา-เข้าค่ายก่อนหน้านี้เพื่อเป็นพี่เลี้ยง รวมพลกันอีกครั้งร่วมเตรียมงานปีใหม่ ,๔๖ ตลาดอาริยะ ในงานยุวชน อโศกสัมพันธ์ครั้งที่ ๖ คืนวันที่ ๒๓ ธ.ค. รวมตัวกันหน้าเฮือนศูนย์สูญ เพื่อเตรียมความพร้อม เช้า ๒๔-๒๖ ธ.ค. ฟังธรรมจากสมณะฟ้าไท สมชาติโก และจากพ่อท่าน ๒ วันตามลำดับ "คนจะเจริญได้เพราะการศึกษาโลกุตระ คนที่รู้ว่า ดีแล้วไม่ทำดีคือคนโง่" ภาคเช้า ลงฐานงานต่างๆ ภาคค่ำฟัง "สู่เส้นทางอโศกพันธุ์แท้" ตัวอย่างจากพี่นิสิต แต่ละเขต พี่กล้าธรรม -พี่ฟ้าเสรี -พี่ศรชัย (มด) และ สมณะเห็นทุกข์ ยตินทริโย เห็นพ้องต้องกันว่า ธรรมะนี่แหละ คือที่พึ่งของตน และพาพ้นทุกข์ได้ วันถัดมา พบสมณะ ประจำกลุ่ม และ วันสุดท้าย เป็นการแสดงรอบกองไฟของแต่ละกลุ่ม เช้า ๒๗ รับเงินขวัญธรรมจากพ่อท่าน หลังจากนั้นพ่อท่านเทศน์สรุปได้ว่า "เกิดเป็นคนต้องมีการศึกษา ถ้าคนไม่มีการศึกษา ก็เหมือนสัตว์ เดรัจฉาน ซึ่งเดรัจฉานดีกว่าคน ตรงที่มันไม่แย่งลาภยศ สรรเสริญโลกียสุขเหมือนคน การศึกษาของอโศก เป็นการศึกษา แบบชีวิตธรรมชาติ ตามวิถีชีวิตชุมชน ศึกษาภูมิปัญญาไทย พวกเรานี่แหละเป็นความหวังของอาตมา เพราะพวกอาตมาเป็นร่างใกล้เมรุเข้าไปทุกที จะต้องตายจะต้องถูกเผาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น รุ่นพวกเราเป็นรุ่นแห่งความหวัง อาตมาตั้งใจทำ เพราะฉะนั้นพยายามใส่ใจ เจริญไปในทิศทาง เป็นโลกุตระบุคคล หรือเป็นอาริยะ อย่างที่อาตมาพาทำ พวกเรานี่แหละจะเป็นแก่นแกน พยายามฝึกฝนเรียนรู้เถอะ ทุกคนในที่นี้ไม่ว่าจะเป็นพี่ป้าน้าอาย่ายาย คุรุ ปรารถนาดีกันทุกคน ซึ่งน้ำใจแบบนี้หาไม่ได้ง่ายๆ กิเลสมีจริง วิบากของแต่ละคนมี อย่ายอมแพ้ อย่ายอมจำนนนต่อวิบาก สู้กับกิเลสให้ได้ ขอให้ลูกๆ หลานๆทุกคน ตั้งใจดี อาตมาจะพยายามมีอายุยืนๆยาวๆเพื่อดูพวกเราอายุสัก ๓๐-๔๐ ให้ได้ ให้อาตมาได้ดูสิ่งที่ดีนะ" สำหรับน.ร.ที่เข้าค่าย ยอส.ได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้ ด.ญ.รุ้งลาวัลย์ สืบแอง ม.๒ สัมมาสิกขาปฐมอโศก "สนุกน้อยกว่าปีที่แล้ว ปีนี้ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องงาน ปีที่แล้ว จะมีกิจกรรม เยอะกว่า อยากให้กิจกรรมเยอะๆเหมือนปีที่แล้วค่ะ" นายเมฆลายน้ำ ผาสุขดี ม.๑ สัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ "ได้เพื่อนเยอะ ได้ความรู้ จะได้เอาไปปรับสอนรุ่นน้อง เช่น การเข้าแถว กิจกรรม การแสดง งานพอดีๆ ไม่หนักเกินไป สนุกครับ" ด.ญ.ฝนพรมไพร สีปะกุล ม.๓ สัมมาสิกขาสีมาอโศก "สนุกดีค่ะ ได้รู้จักเพื่อนเยอะ ปีนี้ไม่สนุกเหมือนปีก่อน เปลี่ยนแปลงไป เยอะมาก รายการมีแต่นั่งฟังมากเกินไป อยากจะให้ฟังเทศน์เสร็จแล้วออกกำลังกายบ้าง ปีนี้ไม่มีเลยค่ะ" น.ส.ธิดาพร เพลงพิน ม.๔ สัมมาสิกขาศีรษะอโศก "สนุกค่ะ ได้มาพบเพื่อนต่างพุทธสถาน ไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว ก็เหมือนเดิมค่ะ งานไม่หนักเกินไป เพื่อนๆทำงานอย่างเต็มที่ ได้เพื่อนใหม่เยอะกว่าเดิม และสนิทกับเพื่อนเก่าค่ะ" นายรักศีล ธนพันธ์ ม.๓ สัมมาสิกขาศาลีอโศก "ปีนี้นะครับแบ่งกลุ่มได้ถูกใจผมมาก เจอเพื่อนเก่าที่รู้จักตั้งแต่ ม.๑, ม.๒ เลยเป็นกลุ่ม ที่เฮี้ยวและมัน ชื่อกลุ่ม นอร์ม่อน ถูกใจมากเลยครับ ผมเป็นคนคิดท่าของกลุ่มด้วยเลยรู้สึกภูมิใจ งานปีใหม่ผมเป็นฝ่าย รปภ.ครับ" |
||
ขอเจริญธรรม สำนึกดีปีใหม่'๔๖ กับทุกๆท่าน มาต้อนรับปีใหม่กับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๑๙๘(๒๓๑) ปักษ์แรก ๑-๑๕ ม.ค.๔๖ นำเสนอสารพันข่าวสารในแวดวงชาวเราที่อัดแน่นเต็มฉบับนี้ จนอีกหลายข่าวลงไม่ได้ และบางข่าว ต้องมาเบียดจิ้งหรีด จนตัวลีบ ตัวแบน (ตัวหนังสือนะ) อย่างที่เห็น วันก่อนจิ้งหรีดอ่านพบข้อมูลว่า ขณะนี้คนไทยใช้ถุงพลาสติกถึงวันละ ๗๐๐ ล้านตัน (จิ้งหรีดว่าตาไม่ลายอ่านผิดหรอกฮะ) ทำให้หลาย ต่อหลายหน่วยงานออกมารณรงค์ให้คนไทยลดการใช้ถุงพลาสติกลง เพราะแค่คนละถุงก็จะช่วยให้ปริมาณลดลงได้ถึง ๖๐๐ ล้านตันทีเดียว ในฉบับนี้ทาง ต.อ.กลาง นำเรื่องของ KU-GREEN มาเสนอ ซึ่งข่าวล่าสุดทราบมาว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กระทรวง ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามกับ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เป็นข้อตกลงเรื่อง การสนับสนุน การขยายกำลัง การผลิต ภาชนะบรรจุย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากมันสำปะหลัง KU-GREEN เพื่อใช้ในเขตอุทยานแห่งชาติ และ การพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต ในเชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นแล้ว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษ และค่าใช้จ่าย ในการกำจัด ภาชนะ บรรจุพลาสติก และโฟมที่ย่อยสลายยาก นี่ก็เป็นอีกทางแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ และควรได้รับการสนับสนุน นอกเหนือไปจากแนวทางต่างๆ ที่หน่วยงานของเรา พยายาม อยู่แล้ว เช่น การใช้ถุงที่ใช้แล้ว (reuse) ของ บจ.พลังบุญ ,ร้านกู้ดินฟ้า ๑ ที่ใช้ถุงกระดาษ, ชมร.เชียงใหม่ ที่มีนโยบาย ไม่ใช้ถุง พลาสติก และโฟมทุกชนิด เป็นต้น ก็ขออนุโมทนากับทุกๆหน่วยงาน ที่ร่วมช่วยกัน รักษาสิ่งแวดล้อมของโลก สาธุ ตลาดอาริยะ...บรรยากาศงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๖ ชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อสินค้ามากกว่าปีที่แล้วถึง ๒ เท่า คนนับแสน มารอ ซื้อสินค้า ตั้งแต่ตี ๔ รถ ๑๐ ล้อ,๖ ล้อวิ่งมาจากที่ต่างๆไม่ขาดสายในวันแรก(๓๐ ธ.ค.๔๕) ที่เปิดตลาด จิ้งหรีดถามชาวบ้านว่า เหตุใดจึงมาแต่เช้า เพราะปีที่แล้วมาประมาณ ๐๖.๐๐ น.ชาวบ้านตอบว่า "ย่านบ่ได้" คือกลัวจะไม่ได้ ของที่ต้องการ เชื่อหรือไม่ว่า ระยะทางตั้งแต่บ้านคำกลางมาถึงบ้านราชฯประมาณ ๒ กม. แต่ใช้เวลาเดินทางถึงตลาดอาริยะ ประมาณ ๓ ช.ม. รถวิ่งเข้าออกตลาด จนฝุ่นฟุ้ง ตลบไปหมด แผนกฉีดน้ำของเราทำงานไม่ทัน ก็ต้องขออภัยผู้ได้รับความเดือดร้อน แต่อีก ๒ วันหลัง คนก็ลดลงมากกว่าวันแรก แต่แม่ครัวที่ทำอาหารมังสวิรัติขายจานละ ๑ บาท บอกทำไม่ได้หยุดเลย แม้คน จะมาน้อยลง การจราจรในปีนี้ดีนะที่จัดแบบวันเวย์ คือ ทางออกทางเดียว ทางเข้าทางเดียว โดยเข้าที่บ้านคำกลาง ซึ่งต่างจากทุกปีที่ผ่านมา แต่ที่จอดรถ ซึ่งเตรียมไว้ แม้จะกว้างขวาง ก็ยังไม่พอเลย ต้องให้จอดกันบริเวณข้างถนน ต้องขอชื่นชมการจัดระบบการขายสินค้าและอาหารในปีนี้ มีระบบระเบียบดีขึ้น ช่วยลดปัญหา การขายสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดหน่วย อสบ.(อาสาสมัครบุญนิยม)ขึ้นเป็นครั้งแรก หน้าที่คอยช่วยงานด้านต่างๆที่ขาดตกบกพร่อง ดังนั้น ในทุกงาน ของชาวอโศก ญาติธรรมที่ต้องการเสียสละเพิ่ม โดยเฉพาะคนเก่าๆแก่ๆ ก็อย่าลืมสมัครเป็น "อสบ."ด้วยละกัน มีชาวบ้านสูงอายุผู้หนึ่ง จิ้งหรีดเห็นเขาถือถุง แล้วปีนรั้วเข้าไปในเต๊นท์ร้านค้าอาริยะร้านหนึ่ง พนักงานที่ช่วยงานในร้านค้า เห็นชาวบ้าน คนนั้น ก็ร้องห้าม มิให้เข้ามาในคอกที่กั้นไว้ แต่ชายชราชาวบ้าน คงไม่ได้ยิน หรือ อาจไม่อนาทร ต่อเสียงห้าม คงปีนเข้าไป แล้วทันใดนั้น ยังมิทันที่พนักงานคนอื่น จะเดินเข้าไปหา ชายชราก็ก้มลงเก็บเศษขยะ ใส่ถุงที่ติดตัวอยู่ แล้วปีนออกไป เก็บขยะ ที่เต๊นท์อื่นต่อ โอ!...พระพุทธเจ้า จิ้งหรีดเกือบเพ่งโทษ ชายชราผู้นี้ซะแล้ว แต่นี่เป็นเหตุการณ์ ที่จิ้งหรีดกลับรู้สึกประทับใจ อย่างยากจะบรรยาย อีกเหตุการณ์หนึ่ง จิ้งหรีดได้ยินชาวบ้านที่ในมือก็หอบถุงผักกะหล่ำปลีถุงใหญ่ พูดเป็นภาษาอีสานว่า นี่ถ้าไปซื้อข้างนอกก็ถุงละ ๘๐ บาท นี่แค่ ๕๐ บาทเอง แถมยังไร้สารพิษอีกด้วย จิ้งหรีดฟังแล้ว ก็ได้แต่ยืนยิ้ม และรู้สึกประทับใจ ที่ชาวบ้านที่คุยกันนั้น รู้คุณค่าของ พืชผักไร้สารพิษ แต่ก็มีลูกค้าอีกหลายคนที่ยืนรอซื้อสินค้าในวันแรกตั้งหลายชั่วโมง แต่ได้สินค้าไปไม่กี่ชิ้น ถึงกับบ่นว่า "ไม่คุ้มเลย ปีหน้าไม่มาแล้ว" จิ้งหรีดได้ยินแล้ว ก็รู้สึกเห็นใจในความรู้สึก แต่ก็เห็นใจคนขายด้วยเหมือนกัน เพราะประมาณไม่ถูกเหมือนกันว่า จะกักสินค้า ขายให้ครบ ๓ วันได้อย่างไร แต่หลายๆร้าน คงได้ประสบการณ์ ที่แม้ปีนี้ จะมีหลายร้าน แต่ก็ยังบริการไม่ทั่วถึง สิ่งที่น่า ประทับใจ อีกประการ คือ ลูกค้ามารอซื้อสินค้า บอกให้จัดแถวอย่างไร เข้าอย่างไร ออกอย่างไร หรือบอกหมดเวลา ส่วนใหญ่ ก็ไม่มีอุทธรณ์ หรือฎีกาใดๆ นี่แหละคือ ลูกค้ามีคุณภาพ...จี๊ดๆ อะไรๆก็หนึ่งบาท...นอกจากอาหารจะขายจานละ ๑ บาทจนเป็นธรรมเนียมที่รู้กัน ในงานคราวนี้ ได้ระบาดเข้ามา ในตลาด อาริยะด้วย เช่น บจ.ขอบคุณ ที่ขายข้าวสารกิโลกรัมละ ๑ บาท ฝ่าย บจ.แด่ชีวิต ก็ผันตัวเอง มาขายสินค้า ชูนโยบาย ทุกอย่าง ทุกชิ้น ราคา ๑ บาทอย่างทัดเทียมกัน (ยกเว้น น้ำยาซักผ้าขนาด ๑ ลิตร ที่ขายราคา ๕ บาท) สงสัยจะเคยไปดูงานที่ร้าน ๑๐๐ เยน ที่ญี่ปุ่นมา แต่ของเราเด็ดกว่าเพราะ ๑๐๐ เยน ตอนนี้เกือบ ๔๐ บาทไทยเข้าไปแล้วฮะ...จี๊ดๆ วันข้าวอินทรีย์ไทย...มูลนิธิสายใยแผ่นดิน จัดงาน "วันข้าวอินทรีย์ไทย" ได้นิมนต์พ่อท่านบรรยายธรรม ในหัวข้อ "พึ่งตนพ้นทุกข์" บนเวทีหน้าที่ว่าการ อ.เมือง จ.ยโสธร ในวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๔๕ เวลา ๑๗.๐๐-๑๙.๐๐ น. โดยช่วงท้าย เปิดโอกาส ให้ซักถามปัญหา มีประชาชน ให้ความสนใจฟังกันมาก งานนี้อาเปิ้มได้รับเชิญให้ไปบรรยายในวันข้าวอินทรีย์ไทย ที่ จ.ยโสธร งานนี้คุณหมอประเวศ ก็มาบรรยายในตอนเช้า จิ้งหรีดเห็นพระธุดงค์รวมมางานจำนวนมาก เวลาฉันอาหาร จิ้งหรีดจึงได้เห็นภาพ ที่มีพลังมาก งานนี้ญาติธรรมยโสธร มารวมตัวทำอาหาร เลี้ยงคนที่มาฟังการบรรยาย ประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ คน วันนั้น (๒๗ ธ.ค.๔๕) ทำสุกี้ยากี้เลี้ยง ให้อิ่มหนำโดยทั่วกัน ส่วนจิ้งหรีดติดตามอาเปิ้มออกเดินทางประมาณ ๗ โมงเช้ามาถึงงานใกล้ๆ ๙ โมงเช้า หมอเขียวก็มางานนี้ด้วย ตอนเย็น พ่อท่าน ได้รับนิมนต์ ให้มาเทศน์ ดูภาพรวมงานก็ราบรื่นดี แต่มาสะดุดตรงที่คุณหมอประเวศพอบรรยายเสร็จลงจากเวที ไม่มีใครจัดเตรียมอาหารไว้ ปรากฏว่า มีคนมาขออาหาร ให้คุณหมอ ทางเราเตรียมไม่ทัน แถมภาชนะใส่อาหาร ไม่ว่าจะหม้อ, ทัพพีหรือแก้วน้ำ ก็หายาก ยากไปทุกอย่าง และที่สำคัญ คนเป็นงาน ยิ่งหายาก เลยทำให้ฉุกละหุกมาก งานนี้ คงเป็นโจทย์ให้จิ้งหรีดได้ฝึก เพราะมีคนมาขอให้อาเปิ้มเตรียมอาหารให้กับแขกในงาน จำนวน ๑๐ ท่าน อาเปิ้มก็ช่วย ให้โจทย์นี้ กับจิ้งหรีด ก็ถือว่าเป็นโจทย์ชิ้นเยี่ยม เพราะไม่รู้จะประสานกับใคร อะไรอยู่ที่ไหน เลยต้องอดทนรอคอย พยายามหา แต่ละอย่าง ให้ครบ แล้วก็ต้องนำล้างให้สะอาด แถมน้ำก็หาก๊อกเปิดยาก ใจจิ้งหรีดชักร้อน กำลังจะคิด ไปในทางผิดศีล เบียดเบียน ตัวเอง (มองในแง่ลบ) ดีแต่รีบเล่นแร่แปรธาตุ คือ ทำจิตให้ยินดีกับโจทย์นี้ได้ทัน ก็เลยสอบผ่าน (แบบฉิวเฉียด) อย่างน่าพอใจ ขณะนั่งฟังบรรยายบนเวที พอมาถึงอาเปิ้ม จิ้งหรีดก็เจอโจทย์เข้าจนได้ เมื่อมีคนที่นั่งข้างหลัง เอาเท้ามากระทบเก้าอี้ เป็นระยะๆ ครั้งแรก ก็โอเคนะ ครั้งที่สอง ก็ยังโอเค พอครั้งที่สาม ชักจะไม่โอเคแล้ว จิตไม่พอใจเริ่มผุด ใจอยากหันไปมองหน้า คนข้างหลัง ใจคิดว่า "ไม่รู้หรือไงว่า เบียดเบียนคนอื่นเขา" มันคิดไปได้อย่างรวดเร็วมาก พอจับจิตตัวเองได้ ก็ปรับจิตเสียใหม่ กลายเป็นว่า "ดีเหมือนกัน ดูซิว่า เราจะวางใจกับโจทย์นี้ได้หรือไม่ ขนาดไหน?" พอถึงวันที่สองของาน (๒๘ ธ.ค.๔๕) ก็มีโจทย์มาทดสอบอีกครั้ง เพราะมีคนมาขอขวดน้ำดื่ม พอเขาขอปุ๊บ จิ้งหรีดเหมือนถูก กระตุกหนวด เพราะจิ้งหรีด ไม่ชอบใช้ขวด หรือแก้วน้ำ ร่วมกับคนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น พอจิ้งหรีดถูกขอปุ๊บ จิตก็ไม่อยากให้ปั๊บ สักครู่ ก็ระลึกถึง ศีลข้อ ๒ บอกสอนตัวเองว่า "แค่นี้ก็สละไม่ได้หรือนี่ จะทำงานใหญ่กว่านี้ได้อย่างไร" ก็เลยถามคนขอว่า "ยังจะเอาขวดมั้ย?" เขาก็ยังยินดี ก็เลยให้เขาไป เฮ้อ!โล่งอกไปเลย ที่สละได้ จิตยินดีเกิดขึ้นทันที ที่ได้ให้ไป และน่ายินดี ที่เขาเอาขวด ใบนั้น ไปใส่น้ำเสาวรส ถวายพระธุดงค์รวม ก็เลยรู้สึกอนุโมทนากับเขาอีกรอบ โจทย์นี้ช่วยให้จิ้งหรีดได้เข้าใจชัดขึ้นว่า สิ่งของแม้เล็กแม้น้อย ถ้าเรามีจิตใจไปยึด ก็ทุกข์เหมือนกันหมด ยังๆไม่หมดโจทย์เพียงเท่านี้ เพราะมีคนที่สูบบุหรี่มานั่งข้างหลัง แล้วเอาเท้ามากระทบเก้าอี้เหมือนเดิม เวลาพูดแต่ละที ก็เสียงดังมาก แถมเหม็นบุหรี่มากด้วย รู้สึกว่าโจทย์ถี่ยิบเลย (งานนี้เป็นวิบากของจิ้งหรีดโดยแท้) แต่ถ้าเราไม่ยึด มันก็เป็นเรื่อง ธรรมดา จิตใจไม่ดูดไม่ผลัก ไปกับผัสสะต่างๆ เราก็ไม่ทุกข์ ก็ขนาดคนทางโลก ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเขา ก็รู้สึกเป็นธรรมดา ในวันแรกอาเปิ้มจะพูดอีสาน แต่คนภาคกลางเยอะ จึงมาพูดอีสานในวันที่สองของงาน จิ้งหรีดถามพระธุดงค์รวมว่า เมื่อวาน พ่อท่านมาเทศน์ เป็นอย่างไรบ้าง ท่านก็บอกว่า เทศน์ครั้งนี้ชาวบ้านได้เยอะ แต่ข้าราชการไม่ได้เท่าไร ประสบการณ์ที่จิ้งหรีดได้ติดตามอาเปิ้มครั้งนี้ รู้สึกว่าได้ประโยชน์ ในการบำเพ็ญเพียร ได้ฝึกหัดวางใจอย่างต่อเนื่อง ได้รู้กระแสสังคม และข้อสำคัญที่สุด คือ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นฮะ...จี๊ดๆ ชีวิตที่ทักษิณอโศก...จิ้งหรีดที่ทักษิณฯรายงานกิจกรรมเข้ามาว่า เช้าวันที่ ๑๑ ธ.ค.๔๕ คุณสายพุทธไปเคารพ ศพคุณแม่ ที่ อ.นาโยง จ.ตรัง (คุณแม่เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๔ ธ.ค.๔๕) โดยคิดซื้อหนังสือธรรมะ ไปแจกงานศพแม่ ในวันที่ ๙ ธ.ค.ที่สันติอโศก และได้นิมนต์ท่านจันทร์ ไปเทศน์หน้าศพด้วย ในวันที่ ๑๓-๑๕ ธ.ค. ๔๕ ทางทักษิณอโศกก็อบรมสมัชชาเด็กและเยาวชน จ.ตรัง ประมาณ ๑๐๐ กว่าคน ส่วนศพแม่ ของคุณ สายพุทธ ได้ฌาปนกิจ ในวันที่ ๑๕ ธ.ค. พอวันที่ ๑๘-๒๑ ธ.ค. ก็มีงานอบรม นร.โรงเรียนป่าพะยอมวิทยาคม จ.พัทลุง อีก ๑๒๐ คน วันที่ ๒๓ ธ.ค. คุณเจษฎาเดินทางมาจาก อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช นำ "ขนมลา" มาสมทบ เพื่อนำไปขายในงานตลาดอาริยะฯ ด้วย ป่านนี้ชาวทักษิณอโศกคงไปทิ้งทวน (เสียสละ) ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่งานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๖ เรียบร้อยแล้ว สาธุ...จี๊ดๆ ศีรษะอโศก...วันที่ ๗ ธ.ค.๔๕ มีงานบุญลอมข้าว ซึ่งปีนี้พ่อท่านไปร่วมเปิดงานและแถมเอื้อไออุ่นที่แม้จะเป็นฉบับย่อ เพราะติดขัด เรื่องเวลาที่จำกัด แต่ลูกๆก็อิ่มเอมใจกันถ้วนหน้า ข่าวว่าปีนี้ทางศีรษะฯ ทำนาได้ข้าวแค่ ๓๒ ตัน ซึ่งเขาบอกว่า ได้ผลผลิตน้อย เมื่อเทียบกับเนื้อที่นา ในขณะที่พี่น้องชาวบ้านม่วง อ.เดชอุดม จ.อุบลฯ ปีนี้ทำได้ถึง ๑,๒๕๐ กก./ไร่ ยิ่งทาง สวนส่างฝัน จ.อำนาจเจริญ ยิ่งได้มากกว่าที่บ้านม่วงอีก บางคนได้ฟังแล้ว อาจไม่เชื่อว่า เป็นผลผลิต จากปุ๋ยชีวภาพแท้ๆ จิ้งหรีดว่า น่าทึ่งจริงๆ ส่วนข้างฝ่ายการศึกษาก็จัดให้มีการเข้าค่าย "เคี่ยวเรา" ของ นร.สส.ษ.ชั้น ม.ปลาย โดยให้น้อง ม.ต้นทำอาหารเลี้ยงพี่ พอ ม.ปลาย เข้าค่าย ๕ วันจบแล้ว ก็เปลี่ยนให้เด็ก ม.ต้นเข้าค่ายบ้าง เพื่อฝึกให้เด็กๆของเรา ลดความแข็งกระด้าง ไม่หลงทิศ หลงทาง หรือ หย่อนยาน ฉาบฉวย จึงให้ชื่อค่ายรุ่นนี้ว่า "รุ่นขออนุญาต" จิ้งหรีดต้องขอชมคณะคุรุ ที่เฝ้ามองพฤติกรรมลูกศิษย์ อย่างใกล้ชิด เข้าตำรา ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม นี่ยินดีกับเด็กๆที่นั่นนะ หากเด็กๆภายนอก อีกจำนวนไม่น้อย มีโอกาส ได้รับการดูแล ดีๆอย่างนี้ ก็ดีซี... จี๊ดๆ ควันหลง...โรงบุญ ๕ ธันวาฯ ที่ปากช่องปีนี้ จัดที่หน้าร้านขายยาสุขภาพดี ของคุณสงกรานต์ ภาคโชคดี เพื่อให้เหมาะสม กับแรงงาน ที่มีน้อย ปีนี้จึงได้เชิญแนวร่วม พวกป้าๆ ของวัดเขาวันชัย มาช่วยงานด้วย ซึ่งทำให้ได้ประสานงาน และผูกสัมพันธ์ กันยิ่งๆขึ้น คุณพัชรี ตุลาบดี เล่าให้ฟังว่า "การแจกอาหารที่นี่ แม้ปีนี้สถานที่จะจำกัดและคับแคบ ที่นั่งทาน ก็ไม่เพียงพอ จะทำอะไร ก็ไม่ค่อยสะดวก และแม้จะจัดงานนี้ มาหลายปีแล้ว แต่อาเมก็ไม่เคยมา แต่ปีนี้น่ายินดีจริงๆ ที่อาเมได้เดินมาดู บรรยากาศของงาน เป็นครั้งแรก ครั้นได้รู้ได้เห็น ถึงปัญหาต่างๆ ก็บอกว่า ปีหน้าจะให้ย้ายมาแจก ที่ตลาดกังวาฬวัฒนา แถวๆร้านทวีพร หลายคนดีใจที่อาเมเข้าใจและเอ่ยปากอนุญาตให้พวกเราย้ายสถานที่ ที่เหมาะสมยิ่งๆขึ้น (ซึ่งต้องอยู่ในชุมชน, กว้าง และสะดวกในการทำงาน)..." กรรมวิบากมีผลจริง ขอเพียงเราไม่ท้อเร่งสั่งสมบุญ ก็ขออนุโทนาสาธุด้วยนะฮะ...จี๊ดๆ ก่อนจากขอฝากคติธรรม-คำสอนของพ่อท่านจากงาน
ยอส.ครั้งที่ ๖ ที่ว่า พบกันใหม่ฉบับหน้า จิ้งหรีด |
||
พายุลูกเห็บถล่มบ้านเห็ดฯที่แม่แตง เมื่อวันพุธที่ ๒๕ ธ.ค.๔๕ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑ ซึ่งเป็นวันคริสต์มาส ได้เกิดพายุลูกเห็บกระหน่ำ จนบ้านเห็ด ไร้สารพิษ ภูผาฟ้าน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๑๖๑/๓ หมู่ ๙ ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เกิดความเสียหาย อย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะ พืชสวนครัว ที่ปลูกไว้หลังโรงเห็ด เสียหายหมด ต้นไม้ล้ม และยืนใบโกร๋น เป็นจำนวนมาก เหมือนมีกระสุนยิงจากฟ้า มรสุมลูกเห็บตกลงมาพร้อมสายฝน ลมหมุนแรงจนหลังคาบ้านของชาวบ้านในบริเวณเดียวกันปลิวว่อน ชาวบ้านแถบเดียวกัน ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเจอเหตุการณ์รุนแรง เช่นนี้มาก่อนเช่นกัน ส่วนผู้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น คุณบุญชู เรืองศรี เล่าว่า "วันนั้นท้องฟ้าค่อนข้างอึมครึม ตั้งแต่เช้า พอ ๔ โมงเย็น ฝนก็ตกลงมา ประมาณ ๕ นาที ลูกเห็บก็ค่อยๆตกแปะๆ บนหลังคาบ้าน ตอนนั้นกำลังทำอาหาร อยู่ในครัวกับลูก ไม่นานนัก ลูกเห็บก็ตก แรงขึ้นเรื่อยๆ จนสองคนแม่ลูก ต้องตะโกนพูดกัน แล้วรีบหลบไปอยู่ในห้อง เพราะพายุเริ่มผสมโรงด้วย เสียงลูกเห็บ บวกกับ เสียงพายุ ดังมากจนลูกสาว รู้สึกจะตกใจอยู่บ้าง ในรอบ ๑๐ ปีที่อยู่เชียงใหม่ ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ รุนแรงขนาดนี้ มองไปทาง หน้าต่าง ก็เห็นน้ำ ที่เจิ่งนองบนพื้น ตีวงกว้างเป็นวงกลมซ้อนๆ จนมองเป็นสายลูกเห็บ เป็นห่าลูกเห็บ ซึ่งแสดงว่า ขนาดของมัน ไม่เล็ก ความแรงของลูกเห็บ ที่กระทบหลังคาบ้าน และน้ำบนพื้นดิน ทำให้น้ำกระเซ็น เป็นสายไกล ออกไปจากจุด ที่ลูกเห็บ กระทบเป็น สิ่งยืนยันขนาดของเม็ดลูกเห็บ ได้อย่างชัดเจน เหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องไปประมาณครึ่งชั่วโมง พอเริ่มสงบทั้งดิฉันและสามี ออกไปสำรวจบริเวณรอบๆบ้าน และที่ต่างๆ ทั่วบริเวณ เหมือนดั่งมีรถ ๑๐ ล้อบรรทุกน้ำแข็งยูนิต มาคว่ำสัก ๔-๕ คันรถ กระจัดกระจายมากมาย ทั่วบริเวณ จึงหยิบกล้อง มาถ่ายภาพ เก็บไว้ อย่างตื่นเต้น พืชผักและต้นไม้ อาทิ ต้นลำไย ต้นขนุน ต้นชมพู่ ได้รับความเสียหาย แต่น่าแปลกที่สิ่งปลูกสร้างทุกอย่างปลอดภัย ทั้งที่ลูกเห็บ และ พายุแรงมาก และที่สำคัญคือ บริเวณบ้านใกล้เรือนเคียง เสียหายยับเยิน โดยเฉพาะสภาพของอีกฝั่งถนน ปรากฏว่า ต้นไม้ ใหญ่ๆ หักโค่นเป็นแถบบๆ หมู่บ้านใกล้เคียงพังเสียหาย เสาไฟฟ้าหัก สายไฟฟ้าแรงสูง ห้อยขาดโตงเตง ไปคนละทิศละทาง จากประสบการณ์ ส่วนตัวแล้ว เป็นเหตุการณ์ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูหนาว ไม่เคยมีประวัติ เรื่องลมพายุ ที่ชาวเหนือ จะกลัวกัน ก็มักจะเป็นช่วงหน้าร้อน ประมาณเดือน มี.ค.-พ.ค. และลูกเห็บก็ไม่เคยตก มากมายขนาดนี้" คุณป่าพื้น ชาวหินฟ้า "ระหว่างเดินทางจาก ชมร.เชียงใหม่ไปภูผาฟ้าน้ำ เห็นลูกเห็บกองที่พื้นและชายคาบ้านมากมาย เป็นภาพ ที่ไม่เคยเห็น มาก่อนในชีวิต รู้สึกตื่นเต้นระคนตกใจ ต้นไม้ล้มทับบ้านเรือนเสียหาย ร้านค้า-เสาไฟฟ้าเสียหาย ทำให้ระลึกถึง เรื่องของ กรรมวิบาก ว่านี้เป็นเหตุสืบเนื่อง จากการไม่ปฏิบัติสังวรศีลกัน ทั้งในอดีตชาติและปัจจุบัน". แก่นกลั่นบุญ
รายงาน |
||
พระสงฆ์จากไต้หวัน
ขอมาฝึกที่บ้านราชฯ พระสงฆ์จากไต้หวัน ฝึกใช้ชีวิตแนวเถรวาท เข้าพบพ่อท่าน ซักถามปัญหาที่ราชธานีอโศก ระหว่างวันที่ ๓ ธ.ค. ๔๕ - ๑๔ ม.ค. ๔๖ จิ้งซิ่วฝ่าซือ รองเจ้าอาวาสจากมหาวิทยาลัยสงฆ์หนันพู่ถอ ทางภาคกลาง ของไต้หวัน นำคณะสงฆ์ ฝ่ายมหายาน จากไต้หวัน ๑๑ รูป มาศึกษาเรียนรู้ธรรมะ การปฏิบัติ และ ฝึกการใช้ชีวิต แนวเถรวาท ในเมืองไทย เป็นเวลา ๔๕ วัน เช่น การบิณฑบาต ฉันในบาตร ฉันวันละ ๑ มื้อ นอกจากนี้ ได้นำคณะมาเยี่ยมชม เพื่อศึกษา แนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้ง คำสอน ที่พุทธสถาน สันติอโศก, ปฐมอโศก, สีมาอโศก, ศีรษะอโศก และราชธานีอโศก และในวันที่ ๒ ม.ค. ๔๖ ได้สนทนาซักถามปัญหาธรรมะกับพ่อท่าน ที่ราชธานีอโศก โดยมีพระพุทธวิริโย จากวัดไถเปยเซี้ยนซี่จือซือ เป็นล่ามแปล พระทั้งหมด ไม่เคยรู้จักชาวอโศกมาก่อน การมาครั้งนี้ ได้รับคำแนะนำรายละเอียด เกี่ยวกับชาวอโศก และติดต่อ ประสานงาน จากพระสมณลักขโณ (อดีตสมณะเดิมแท้ สมณลักขโณ) ที่อยู่ในไต้หวัน พระพุทธวิริโย ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกกับผู้สื่อข่าวอโศกรายปักษ์ถึงการมาในครั้งนี้ว่า "โดยส่วนตัวเคยอ่านหนังสือของชาวอโศกมาบ้าง ชื่นชอบและศรัทธาในปฏิปทาของพ่อท่านมาก่อน รู้สึกประทับใจ มีปีติที่ชาวอโศก ให้การต้อนรับ เป็นอย่างดี ด้วยอัธยาศัยไมตรี และได้ฟังธรรมจากพ่อท่าน ซึ่งเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะพ่อท่าน ได้แสดงธรรม ต่อกลุ่มพระสงฆ์ ทำให้ก้าวหน้าและลึกซึ้ง ในธรรมะยิ่งขึ้น รู้สึกเป็นบุญกุศล และดีใจเป็นอย่างมาก ขอขอบคุณพ่อท่าน ที่ให้โอกาส เมตตา สนทนาธรรมแก่คณะสงฆ์ และ ซักถามปัญหา ในครั้งนี้" . |
||
เรือยักษ์ ๔ ลำ ขนสู่บ้านราชฯ เมืองเรือ ขนย้ายเรือยักษ์ใหญ่ที่สุดในลำน้ำเจ้าพระยา ไปบ้านราชฯ ด้วยความเรียบร้อย นำทีมโดยสมณะเแดนเดิม พรหมจริโย และทีมงาน ขนเรือมืออาชีพ ตำรวจทางหลวง แต่ละท้องที่ อำนวยความสะดวก เมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๔๕ ขบวนอนุรักษ์เรือไทยได้ขนย้ายเรือเอี้ยมจุ๊น ๔ ลำ เดินทางถึงบ้านราชฯด้วยความเรียบร้อย ๑ ใน ๔ ลำนั้น นับเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในบ้านราชฯ ซึ่งกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๘ เมตร หนัก ๘๐ ตัน ราคา ๑๑๐,๐๐๐ บาท ก่อนเคลื่อนขบวนขนย้ายเรือ มีการเคลียร์พื้นที่ล่วงหน้า ๒ วัน เริ่มออกเดินทางตั้งแต่เวลา ๐๑.๐๐ ของวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๔๕ โดยทีมงาน ชุดเดิม จำนวน ๕๐ คน และมาสมทบภายหลังจากบ้านราชฯอีก ๑๒ คน มีสมณะแดนเดิม พรหมจริโย, สมณะกล้าดี เตชพหุชโน, สมณะเทินธรรม จิรัสโส , สมณะแก่นเกล้า สารกโร, สมณะถักบุญ อาจิตปุญโญ และพระอาคันตุกะอีก ๒ รูป พระเข็มเหล็ก และพระอ๋า พ.ต.อ.พิสิษฐ์ จีนะวิจารณะ ผกก.สภอ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลฯ อำนวยความสะดวก ตลอดเส้นทาง และเจ้าหน้าที่ ตำรวจทางหลวง แต่ละท้องที่ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยใช้เส้นทางบางบัวทอง-ประตูน้ำพระอินทร์-พุแค-เพชรบูรณ์-ม่วงค่อม และพักฉันภัตตาหารที่นี่ ในเวลา ๐๘.๐๐ น. ญาติธรรม กลุ่มละโว้อโศก นำอาหารมาถวาย ๑๘.๐๐ น.ฝ่ายฆราวาสพักรับประทานอาหารเย็นที่ อ.ด่านขุนทด ซึ่งกำลังมีงานศาลเจ้า จึงมีประชาชน ให้ความสนใจ มาชมเรือ มากมาย ญาติธรรมสีมาอโศก นำอาหารมาบริการ เวลา ๒๒.๐๐ น. ออกเดินทางต่อ แล้วมาพักฉันภัตตาหารวันถัดมาที่ อ.พยัคฆ์ภูมิ ญาติธรรมกลุ่มร้อยเอ็ดอโศก นำอาหารมาถวาย เวลา ๑๘.๐๐ น.ฆราวาสรับประทานอาหารเย็นที่สุวรรณภูมิ ญาติธรรมกลุ่มสวนส่างฝัน นำอาหารมาบริการ ๒๐.๐๐ น.ออกเดินทางถึงบ้านกุดระงุม อ.วารินฯ ในเวลา ๐๘.๐๐ น.ด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรค ไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีความเสียหาย ใดๆ เกิดขึ้นเลย เวลา ๑ ทุ่ม เข้าถึงบ้านราชฯ ทุกลำ
ใช้รถขนย้ายเรือทั้งหมด ๔ คัน และรถยกเรือ ๓ คัน เนื่องจากเรือหนักมาก จึงใช้รถแทรกเตอร์ดี ๕ มาดึงอีก ๑ คัน ซึ่งสมณะแดนเดิม พรหมจริโย ให้สัมภาษณ์ว่า "การขนย้ายเรือครั้งนี้ เห็นความสามัคคีของทีมเรือ และเกิดความอบอุ่นมาก มีผู้อาสาทำอาหารบริการตลอดระยะเวลาเดินทาง แต่พ่อท่าน อยากให้เรือที่ขนมาทั้ง ๔ ลำเป็นของทุกๆคน และทุกๆคน ได้มีส่วนร่วมบริการอาหาร เป็นระบบสาธารณโภคี" วันนี้บ้านราชฯมีเรือเอี้ยมจุ๊น
ทั้งหมด ๑๑ ลำ ครั้งแรก ขนมา ๓ ลำ ครั้งที่ ๒ ขนมา ๔ ลำ และครั้งล่าสุด
๔ ลำ |
||
หลานปู่คนล่าสุด บ้านราชฯทำคลอดเด็กอโศกพันธุ์แท้คนที่
๒ บรรยากาศอบอุ่น ญาติธรรมให้กำลังใจมากมาย พ่อท่านตั้งชื่อว่า "แก้วกลั่นพร" หลังจากคลอดแล้ว ญาติธรรมได้กราบเรียน ขอชื่อ จากพ่อท่าน ซึ่งได้ชื่อตระกูลแก้ว เหมือนคุณแม่ ว่า "แก้วกลั่นพร" (น้องโมกข์) เวลาประมาณบ่าย ๒ โมง พ่อท่านพร้อมปัจฉาฯทั้งสองท่าน ได้เมตตาแวะมาเยี่ยม และพูดคุย สร้างความประทับใจ ให้กับชาว บุญนิยมยิ่งนัก ด.ญ.แก้วกลั่นพร จึงเป็นหลานปู่ คนล่าสุดในวันนี้ สำหรับคุณพ่ออัมพรนั้น
ได้เดินทางไปขนย้ายเรือมาบ้านราชฯ ก่อนหน้าที่ลูกสาวจะคลอด ๓ วันด้วยเหตุผลที่ว่า
เกรงจะเกิดอันตราย กับคณะขนเรือ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับสายไฟฟ้าแรงสูง และทางบ้านราชฯ
ได้โทร.บอกข่าวเรื่องดังกล่าว ให้คุณอัมพรทราบแล้ว สิ่งนี้เป็นความอบอุ่น
ของการพึ่งเกิด ในสังคมบุญนิยมแห่งนี้ . |
||
ป้าด้วงเป็นญาติธรรมเก่าแก่ของศีรษะอโศก ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ และเป็นที่เรื่องลือ ในเรื่องการนึ่งข้าวเหนียวกล้อง ได้นิ่มมาก ปีใหม่นี้ ป้าทิ้งบ้านช่อง เรือนชาน มาอยู่วัด น่าสนใจแล้วใช่ไหม ลูกกำพร้า พบพระปฏิบัติดี ชีวิตใหม่ ปีใหม่นี้ป้าขออนุญาตพ่อบ้าน มาอยู่ราชธานี ซึ่งเขาก็อนุญาต เพราะอยากอยู่ไกลบ้าน หากยังอยู่ที่ศีรษะฯ ก็ยังอดกลับบ้านไม่ได้ จึงตัดใจ มาอยู่ราชธานี จะได้ไกลๆบ้านหน่อย ป้าขนของมาหมดแล้วนะ ไม่ห่วงอะไรแล้ว ป้าพอแล้วนะ ไม่อยากได้อะไร อยากฝึกฝน ตัวเอง ให้เข้มแข็ง ทุกวันนี้ทาน ๒ มื้อ เข้าพรรษาทานมื้อเดียว สักกายะ การนึ่งข้าวเหนียวกล้อง ก็ทำเหมือนข้าวเหนียวขาว เพียงแต่ว่าพอข้าวสุก ให้เอาหวดที่ยังมีข้าว ไปจุ่มน้ำเย็น ให้ท่วมข้าวอย่างรวดเร็ว แล้วให้สะเด็ดน้ำ เอาไม้พายคนให้ทั่ว แล้วนึ่งต่ออีก ๕๐ นาที รับรองนิ่ม ฝากให้เสียสละ ปีใหม่...ป้าเริ่มชีวิตใหม่ ด้วยการทิ้งบ้านมาอยู่วัด เพื่อสั่งสัมทรัพย์แท้ๆให้กับตัวเอง แล้วท่านล่ะ... กำลังสั่งสมทรัพย์แท้ หรือทรัพย์เทียม ให้กับตัวเอง...? บุญนำพา
รายงาน |
||