ฉบับที่ 222 ปักษ์แรก1-15 มกราคม 2547

[01] บทนำข่าวอโศก: สิ่งที่เกิดขึ้นในงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "อัตตาสาม ที่พาให้เราทุกข์"
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ: มหกรรมบุญนิยมจากปัจจุบัน...สู่อนาคต
[04] อย.เสนอแยก 'ยาสมุนไพร' ออกจาก พ.ร.บ.ยาแผนปัจจุบัน
[05] กสิกรรมธรรมชาติ จากบิ๊ก ดีทูบี ถึงเกษตรเอื้อสุขภาพ (ตอน ๑)
[06] นิสิต ม.วช.และนร.ม.๔ เข้าค่ายบูรณาการที่บ้านราชฯ
[07] ตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ รองผู้ว่าฯอุบลฯทึ่งมีหนึ่งเดียวในโลก
[08] ศูนย์สุขภาพ: คุณเป็นโรค"ลำไส้หงุดหงิด"หรือเปล่า
[09] ๑๐ อันดับข่าวดังในรอบปี ๒๕๔๖ ของชาวอโศก
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:ห
[11] ค่ายจริยธรรมหนุ่มสาว กลุ่มรามบูชาธรรม
[12] ชาวอโศกรวมพลังสร้างประวัติศาสตร์ ลากเรือโคกใต้ดินหนัก ๘๐ ตัน
[13] กิจกรรมสร้างสุขภาพ ๗ อ. ชาวฟ้าอภัยส้มหล่น
[14] ข่าวสั้นทันอโศก:เ
[15] ชายงามรายปักษ์ นายนิยม นาประโคน:
[16] บุฟเฟ่ต์บุญนิยมระดับ ๓ อิ่มละ ๕ บาท ที่ ชมร.เชียงใหม่



สิ่งที่เกิดขึ้นในงาน
ตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗

กองอำนวยการตลาดอาริยะ เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นกลางตลาด อาริยะ ที่ช่วยให้เกิดการประสานงานในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากพลังหนุ่มสาวซึ่งเป็นลูกหลานของชาวอโศก แม้จะทำงานในกระต็อบ มุงหลังคาจากเล็กๆ แต่หลายคนรู้สึกอบอุ่นในขบวนการกลุ่ม ที่พ่อท่านพยายามนำพาทำ

ต่อไปใครหรือกลุ่มใดที่มาแสดงในงานนี้ หากละเมิดกฎระเบียบการแสดงภาคเวที คือ แต่งหน้าทาปาก แต่งกายรัดรูปให้อนาจาร แสดงเกินเวลา พ่อท่านอนุญาตให้คณะกรรมการ ตรวจสอบการแสดง ตัดสิทธิ์การแสดง ในงานของชาวอโศกเป็นเวลา ๑ ปี

ภาพของชาวบ้านจำนวนหลายหมื่นคน หอบหิ้วข้าวของที่ซื้อในงานนี้พะรุงพะรัง เดินออกนอกตลาด อาริยะเพื่อไปขึ้นรถปิ๊กอัพ รถสองแถว รถบรรทุกขนาดใหญ่ ก็รู้สึกประทับใจและอนุโมทนาที่ชาวอโศกช่วยให้ญาติพี่น้องคนไทยด้วยกัน ทั้งในระดับรากหญ้าและอื่นๆ ได้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และมีการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขยิ่งขึ้น จากสินค้าหรือข้าวของที่ซื้อไปในราคาถูก แต่สามารถนำไปใช้ ได้ตลอดปี นี่แหละคือ ส.ค.ส.ของชาวเราที่มอบให้กับสังคม แม้จะขาดทุน แต่ก็มีกำไรในด้านจิตวิญญาณ ซึ่งตีราคาเป็นตัวเงินไม่ได้

นี้คือ ส่วนหนึ่งที่เกิดในงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อัตตาสาม ที่พาให้เราทุกข์

ในชุมชนบุญนิยม เหตุการณ์ที่มักจะเกิดให้เห็นบ่อยๆ คือ นั่นของฉัน! นี่ของฉัน! ใครจะมาหยิบมาฉวยไปเป็นได้เรื่อง กระทะของฉัน เตาประจำของฉัน ตะหลิวอันนี้เหมาะมือของฉัน จอบ เสียม รถเข็น และฯลฯ อีกมากมายสารพัด ที่เป็นของฉัน แต่จริงๆแล้ว เราเป็นเพียงผู้อาศัยสิ่งเหล่านี้ทำงานที่เป็นกุศล เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณสู่กุศล แต่ทำไมใจเราจึงเกิดอกุศล เกิดความทุกข์ได้ ทำไมล่ะ? เคยถามตัวเองมั้ย แล้วอยากพ้นทุกข์มั้ย ไม่ยากเลย..จริง จริ๊ง เรื่องเหล่านี้พ่อท่านได้อธิบายขยายความไว้ชัดเจน (๘ ต.ค.๔๖ ราชธานีฯ)

"....โอฬาริกอัตตา ตั้งแต่วัตถุหยาบ ของนอกตัว เห็นชัดๆเป็นรูปธรรม เราก็เรียนรู้ อย่าไปยึดมาเป็นเราของเราเลย มันไม่ใช่หรอก ตายไปแล้วมันก็หายไป ตายไปแล้วก็พราก อย่างวัตถุ อย่างรูปธรรม โอฬาริกอัตตา ไม่มี เป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ ก็ต้องตายจากกัน ตายจากชาตินี้แล้วไป ไปไหนๆ แล้วจะมาเกิดเป็นลูกเป็นพ่อเป็นแม่กันอีกหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แล้วมันไม่ได้มาเกิดกันง่าย แล้วมันก็น้อย ที่จะมาเกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูกกันอีก น้อย! ส่วนมากก็ไม่เกิด ไปแย่งกันไป มันไม่ใช่ลูกของเรา มันไม่ใช่หลานของเรา ติดยึดกันมันก็ไม่จริง เป็นแต่เพียงว่าเราเกิดมา มันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ก็ทำตามหน้าที่ นี่มันมามีลูก ก็ต้องเลี้ยงลูก เป็นหน้าที่ ไม่เลี้ยงก็ไม่ได้ ลูกเรา โดยสมมุติสัจจะมันก็เป็นลูกเรา แต่โดยปรมัตถ์เราก็เข้าใจ เรียนรู้ปรมัตถ์ไปด้วย เราก็ทำหน้าที่ ไม่ทำหน้าที่ก็ไม่ดี เราต้องรับผิดชอบ เพราะเราเองเป็นตัวก่อ เราเป็นตัวสร้าง เราเป็นตัวให้มันเป็นไป ให้มันเกิดมาอะไรก็แล้วแต่

มโนมยอัตตาไปสร้างรูปสร้างร่างสร้างอะไรในภพในจิตเอง ไปสร้างสารพัดสาระเพ สร้างวิมาน สร้างสวรรค์ สร้างไอ้โน่นไอ้นี่ อยากได้อย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ อยากมีรูปอย่างนั้น อยากมีรสอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ อยากยิ่งใหญ่ อยากจะวิเศษอย่างนี้ อยากจะดีจะงามจะเลิศจะเลอ เป็นวิมานในฝัน เป็นวิมานลมๆแล้งๆ แต่ก็ยึดจริงๆจังๆ ยึดเอาเป็นเอาตายอะไรก็แล้วแต่ ทุกข์นะ หรือไม่ก็ไปปั้นเป็นตัวเป็นตนเลยนะ เป็นรูปสวรรค์ เป็นรูปเทวดา เป็นรูปที่สร้างขึ้นมาโดยจิต มโนมยอัตตา ปั้นขึ้นมาเป็นจิต ตามจิตของเรา รูปที่สำเร็จด้วยจิต จิตใจปั้น ยึดเป็นเรา เป็นของเรา เพ้อฝันไปอะไรต่ออะไร

ถ้าว่าจริงๆแล้ว มันไม่ได้เป็นแท่งเป็นก้อน มันเป็นจิต เป็นอันยิ่งกว่า แต่มันยึดติดได้จริงๆเหมือนกัน ยึดได้มากมาย เป็นเรา เป็นของเรา ได้มากมายเหมือนกัน ก็เรียนรู้ แต่พวกเราส่วนมากมโนมยอัตตา ก็อีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกับพวกไปนั่งหลับตาสมาธิ สะกดจิตแล้ว ไปปั้นรูปปั้นร่าง อย่างธรรมกาย ปั้นพระพุทธเจ้า ปั้นเมืองนิพพาน ปั้นโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ปั้นเป็นรูปหมดเลย แล้วก็ไม่เรียนรู้ มโนมยอัตตา ซึ่งเป็นอัตตาชนิดหนึ่ง มันไม่จริง ไม่เที่ยง เขาก็ติดยึดกันไป จนกระทั่งบอกว่าเมืองนิพพาน สุดยอดเลย เมืองนิพพานถือว่า สุดยอดเลย เที่ยงแท้ ไม่มีสูญด้วย ไปกันใหญ่

ส่วนอรูปอัตตาก็ติดไป ยิ่งลมๆแล้งๆ ใหญ่เลย ติดความเห็นของเรา ติดความเชื่อถือของเรา ติดความรู้ของเรา ติดความเก่งของกู ติดศักดิ์ศรีของกู จะเอาแต่ใจตัวเอง จะเอาตามใจข้า เป็นอรูปอัตตาทั้งนั้น ไม่มีรูปไม่มีร่าง ไม่มีตัว ไม่มีตนเลย แต่ก็เป็น มีของตัวเองสร้างขึ้นไป โลกมันจะมอมเมา โลกมันจะก่อจะสร้าง โลกมันจะกำหนดขึ้นมา กำหนด จริงๆ แล้วก็ไปหลงไปตามเขา ดีไม่ดีก็คิดเอาเองใหม่ สร้างใหม่เอาเอง จะเอาอย่างโน้น จะเอาอย่างนี้ ทุกข์เอง บ้าๆบอๆเอง เราต้องเรียนรู้ แม้แต่เป็นความรู้ แม้จะเป็นความเชื่อถือ เราก็จะต้องรู้ว่า โอ๊...เราไปยึดมั่นถือมั่น ไปเอาตามใจตัว จะเอาให้ได้อย่างนี้ๆๆๆ ทั้งๆที่มันเกิดความไม่ดีแล้วนะ เกิดการทะเลาะวิวาท เกิดทำลาย เกิดแตกแยก เกิดไม่ดีไม่งามอะไรขึ้นมาแล้ว เราก็ยังยึดเอาเป็นเอาตาย จะเอาให้ได้ จะแตกจะพังจะฉิบหายวายป่วง ช่างมัน กูจะต้องเอาให้ได้ โลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าคนจะยึดเอาอย่างนี้ บรรลัยกันอยู่ในโลกนี้ แย่งชิงกัน ตีรันฟันแทงฆ่าแกงกัน วุ่นไปหมด

อัตตาสามนี่ อาตมาบอกได้ว่า ถ้าอาตมาไม่เกิด ไม่มีใครหยิบขึ้นมาอธิบายหรอก ไม่มีหรอก ลืมหมดแล้ว ไม่รู้จักหมดแล้ว ในวงการพุทธศาสนา เหลืออยู่ในพระไตรปิฎก มี อาตมาก็เจอในพระไตรปิฎก ที่เอามาพูดนี่‚Ž

รู้แล้วใช่ไหม? อัตตาที่พาให้เราทุกข์นั้น คือตัวไหน พยายามพิจารณาทบทวน ละล้าง ขยันทำโจทย์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แล้วความหลุดพ้นจะค่อยๆปรากฏแก่เรา ตามความพากเพียรของเราเอง ได้แต่รู้ไม่พากเพียร ไฉนเลยจะพ้นทุกข์ได้เล่า ลงมือเลย!
- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

- สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

มหกรรมบุญนิยมจากปัจจุบัน...สู่อนาคต

งานปีใหม่เพิ่งจะผ่านไปหมาดๆ สำหรับชาวอโศกแล้วถือว่ายิ่งใหญ่มาก ทั้งทุนรอน...แรงงานกำลังคน...และเวลา รวมถึงสติปัญญา ที่ใช้จ่ายไปกับงานนี้ ถ้าคิดอย่างทุนนิยมถือว่าขาดทุนมโหฬาร แต่สำหรับชาวบุญนิยมแล้วถือว่ากำไรมหาศาล

จากการประชุมสรุปงานปีใหม่ (๓ ม.ค.) ฝ่ายบัญชีแจ้งว่างานนี้รวมกำไรอาริยะ ๔,๑๗๐,๑๖๙ บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมงาน ๙๙๗,๙๘๖ บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อและขายสินค้า ๒๖๔,๐๒๐ บาท สินค้าทั้งหมดซื้อมาเป็นเงิน ๑๕,๙๑๕,๖๖๕ บาท ขายไปเป็นเงิน ๑๓,๐๐๗,๕๐๒ บาท เพราะฉะนั้นถ้าคิดอย่างทุนนิยมขายขาดทุนเป็นเงิน ๒,๙๐๘,๑๖๓ บาท

สินค้าที่มียอดเงินขายได้เป็นอันดับหนึ่งคือของใช้ครัวเรือน เป็นเงิน ๖,๙๖๐,๘๓๙ บาท อันดับสองได้แก่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ๓,๓๒๔,๑๒๕ บาท อันดับสามประเภทเครื่องจักสาน ๘๙๖,๔๘๗ บาท อันดับสี่คือผักผลไม้และพืชไร่ ๗๑๗,๔๒๗ บาท อันดับห้าอาหารแห้ง ๔๔๖,๒๑๐ บาท อันดับหกเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนอโศกและสมุนไพร ๒๙๐,๒๗๐ บาท อันดับเจ็ดคืออาหารสด ๒๓๙,๖๑๕ บาท อันดับแปดหนังสือและสื่อธรรมะ ๑๐๙,๑๕๔ บาท สุดท้ายเป็นประเภทของเบ็ดเตล็ด ๒๓,๓๗๕ บาท

นี่ถ้าในอนาคตสินค้าประเภทหนังสือและสื่อธรรมะขายได้เป็นอันดับหนึ่ง สังคมในยุคนั้นจะเป็นอย่างไร? น่าจะอบอุ่น สงบเย็น การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลจะมีมากกว่านี้แน่ แต่มันจะเป็นไปได้หรือ? ที่พ่อท่านว่าอีก ๕๐๐ ปีบุญนิยมจะอุดมสมบูรณ์ ระบบสาธารณโภคี จะไปได้ไกลและกว้างกว่านี้ ในขณะที่ข่าวความรุนแรง ความหยาบร้ายวิปริตต่างๆในสังคมมีมากขึ้นเรื่อยๆ คงต้องไปเกิดในยุคนั้น เพื่อพิสูจน์กันดูแล้ว... ! ! ! ? ? ?

ขอต่อด้วยเรื่องตัวเลขและการเงิน อีกสักนิด งานปีใหม่นี้มียอดเงินบริจาค ๓๖๙,๖๙๓ บาท ถ้าคิดเปรียบเทียบกับรายจ่ายต่างๆแล้ว ยังห่างไกลกันมาก แต่ก็ต้องถือว่าเป็นบุญบริสุทธิ์ขาวสะอาดมาก เป็นบุญเต็มๆ เป็นบุญซ้อนบุญ เนื่องด้วยไม่มีใครได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ตอบแทนจากกิจกรรมนี้เลยสักคน ไม่มีการเรี่ยไร ไม่มีการประกาศเกียรติคุณ ไม่มีการ ค้าขายดอกไม้ธูปเทียน,เหรียญ, รูปหล่อ รูปเหมือน, ตะกรุด, พระเครื่อง ฯลฯ ไม่มีการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาชีวิต ไม่มีเล่ห์กล ใดๆที่แอบแฝงเอาบุญมาล่อหลอก ไม่มีอบายมุขใดๆ ย้อมใจให้คนมาร่วมงาน

ยิ่งถ้ามองเรื่องเรี่ยวแรง เวลา และสติปัญญาที่จ่ายไปกับงานนี้ถือว่ากำไรมหาศาลมาก มีการประชุมกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก กลุ่มย่อย กันหลายต่อหลายครั้ง คนนับพันที่ได้ช่วยกันจัดเตรียมงานทั้ง ขุด.. ลาก..ดึง..ขน..แบก..ปีน..เช็ด..ปัด..กวาด..ล้าง.. ถู ฯลฯ มีตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงแก่เฒ่า ไม่เว้นแม้แต่พ่อท่าน โดยเฉพาะงานจัดแต่ง หินทรายก้อนใหญ่ๆไว้ในมุมในที่ให้ดูดี อย่างลานหินหงส์ ที่เกิดขึ้นจาก การเห็นหินก้อนโค้ง วางอยู่ข้างทาง พ่อท่านก็ให้นำมาจัดทำ เมื่อเสร็จแล้วก็ดูสวยดี มีผู้ทักว่าดูคล้ายหงส์ พ่อท่านจึงให้ชื่อว่าลานหินหงส์

ต่อมาพ่อท่านจึงได้ไปจัดทำหน้าเวที ปีใหม่ และเวทีชาวบ้านในตลาดอาหารด้วย เมื่ออยู่กับงานจัดแต่งหินอย่างนี้ ต้องเจอแดดจัดมาก ตั้งแต่เช้าจรดเย็น (เว้นช่วงฉันอาหาร) ทำให้ผิวสีเข้มขึ้นมาก

สมณะดงดิน สุนทโร ผู้อยู่กับงานขนหินมาก่อน เห็นพ่อท่านมาช่วยทำอย่างนี้ จึงเกิดความรู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง ถึงขั้นจับปากกา เขียนบรรยายความรู้สึกที่มีต่อพ่อท่านถึงสองหน้ากระดาษส่งมาให้ผู้เขียนได้อ่าน ผู้เขียนขอนำบางส่วนมาถ่ายทอด ในที่นี้ดังนี้‚อายุพ่อ ๗๐ ปีย่าง วัยที่ควรพักผ่อนตามกาลและสังขาร แต่พ่อลงมาทำงานด้วยตัวของพ่อท่านเอง พ่อท่านเป็นบุคคลที่ง่ายๆ ปรับตัวตลอดทุกเวลา รับผิดชอบในงานทุกกรณี แม้อายุปานนี้แล้ว พ่อยังมาทำงานหนักๆกับก้อนหินอย่างไม่ย่อท้อต่อสังขาร ความคล่องตัวและแววไว ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวของพ่อท่านยังเหมือนกับคนวัย ๔๐ ปี ก้อนหินหนักๆ ประมาณ ๗-๘ พันกิโลฯ ดูพ่อท่านยังไม่กลัวและเหนื่อย ตลอดวันยังค่ำหลังจากพ่อท่านฉันข้าวเสร็จ ออกจากกุฏิที่พัก ลงพื้นที่ลุยทำงานกับลูกๆ จนถึงเย็นจึงกลับที่พัก...

คุณแก่นฟ้า แสนเมือง ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เขียนบรรยายความรู้สึกที่เห็นพ่อท่านทำงานหินๆนี้ โดยเขียนคำบรรยาย ประกอบภาพผ่านโปรแกรม Power Point เป็นตัวอย่างให้ผู้เขียนได้ศึกษาการใช้งานในลักษณะนี้ จากบางส่วนดังนี้...ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ พ่อท่านลุยงานหิน เพื่อฉลอง ตลาดอาริยะ ๒๕๔๗ กลับจากร้อยเอ็ด ถึงบ้านราชฯเมืองเรือ พ่อท่านไม่รอช้า รีบตรงไปที่หน้าเฮือนศูนย์สูญ เพื่อเร่งงานหินที่หน้าเวทีปีใหม่...

พ่อท่านได้กำกับอย่างใกล้ชิด ทำการ เลือกหิน ด้วยการกระโดดจากหินก้อนนั้นมาก้อนนี้ เหมือนวัยรุ่นทั้งๆที่พ่อท่านอายุเกือบ ๗๐ ปี ลูกๆที่ทำงานอยู่ด้วยต่างแย่งงานพ่อท่านทำด้วยความเป็นห่วง

ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ พ่อท่านทำ ให้ดูเป็นตัวอย่าง ตกค่ำอากาศเริ่มเย็น พ่อท่านยังไม่ยอมหยุด ลูกๆส่วนใหญ่แรงเริ่มตก แต่น้ำหนักหิน ไม่ยอมตกตามไปด้วย จนกระทั่งเกือบค่ำมืดพ่อท่านจึงหยุดงาน...

ที่ร้อยเอ็ดอโศก (๑๙ ธ.ค.) ก่อนจำวัดพ่อท่านเปรยถึงความคิดเรื่องตลาดอาริยะ ปีต่อไปอาจจะมีรถยนต์ป้ายแดงมาขาย ในตลาดอาริยะ สิ่งนี้แสดงถึงทิศทางการเติบโตของงานตลาดอาริยะที่พ่อท่านประสงค์จะให้เป็น ไม่ใช่แค่การขายอาหาร ผลไม้ ผักพืช เกลือ น้ำตาล หม้อ ฯลฯ หรือ สินค้าที่จำเป็นของชาวบ้านเท่านั้น แต่ความก้าวหน้าของตลาดอาริยะจะไปถึงระดับสากล สังคมวงกว้างขึ้น ไปสู่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในสังคมด้วย นั่นหมายความว่าในอนาคตงานตลาดอาริยะจะมีรถแทรกเตอร์...หรืออุปกรณ์การเกษตรต่างๆ...รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์...เครื่องเสียง...ฯลฯ หรือสินค้า หรูหราราคาแพงที่ชนชั้นสูงนิยม

เมื่อเป็นเช่นนั้นวงเงินของการหมุน เวียนค้าขาย อาจจะไปถึง ๑๐๐ ล้านบาทขึ้น ไม่ใช่ ๑๐ กว่าล้านบาทอย่างทุกวันนี้

ถ้ามองย้อนกลับไปที่งานปีใหม่แรกเริ่มที่สันติอโศก ร้านค้าที่มาออกร้าน ทำ กันเหมือนเด็กๆเล่นขายของ เอาใบไม้มาแลกซื้อขนมครกบ้าง ก๋วยเตี๋ยวบ้าง... ฯลฯ หลายปีที่ผ่านมาร้านค้างานปีใหม่ หรือที่เราเรียกว่าตลาดอาริยะ เป็นเหมือนตลาดนัดขนาดใหญ่ของชาวบ้าน ถ้าเปรียบเทียบ ปีแรกกับปีนี้ ก็ถือว่ามีอัตราก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดมาก ผู้เขียนรวมถึงหลายคนในยุคแรกนั้น คงไม่มีใครคาดว่า จะเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ เมื่อใช้ตรรกะมองงานปีใหม่หรือตลาดอาริยะในอนาคต จึงเป็นไปได้ที่ความใหญ่โต ทั้งคนและปริมาณ รวมถึงประเภทของสินค้า จะมากกว่าที่เป็นอยู่นี้แน่ๆ บางทีอาจจะไปถึงขั้นน้องๆ XPO หรือ OTOP ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ พ่อท่านใช้คำล้อเลียนว่าของเราเป็น ATOP คือ Asoke Tradition One Product ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่สังคมมีคนที่กล้าลดละเสียสละมากขึ้นอย่างมโหฬารได้จริงๆ

งานปีใหม่ที่ผ่านมานี้มีสิ่งแปลกกว่าทุกปี ตรงที่วันแรกและวันที่สองชาวบ้าน มาซื้อสินค้ากันไม่มากอย่างปีที่ผ่านมา ทำเอาบรรดาพ่อให้แม่ให้ ใจไม่ดีคิดว่าคงต้องขนของกลับ คนมามากเอาวันสุดท้าย สินค้าที่กองอยู่จำนวนมากหมดเกลี้ยง ไม่เหลือ ขนาดหม้อแกงหม้อนึ่ง ไม่มีฝา คือฝาหาย ก็ยังขอซื้อ เพราะไหนๆก็มาแล้ว ที่เหลือคือร้านค้ากระติกน้ำแข็ง ไม่ใช่ไม่มีคนซื้อแต่คนขายบอกยอมแพ้หมดแรงแล้ว

มีเกร็ดเล็กๆที่ชาวบ้านที่มาซื้อสินค้าเล่าให้ฟังว่า พ่อค้าแม่ค้าที่ร้านค้าในงานกาชาดที่ทุ่งศรีเมืองของจังหวัดอุบลฯ บอกกับชาวบ้านว่า ร้านค้าที่บ้านราชฯ ปีนี้ไม่มีขายอะไร สิ่งนี้จะเป็นเหตุให้คนน้อยในสองวันแรกหรือไม่ ก็ไม่อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้เต็มร้อยทีเดียว แต่ก็เป็นข้อมูลหนึ่ง ที่อาจเป็นไปได้ อีกเหตุหนึ่งอาจจะเป็นที่ชาวบ้านเข็ดกับการรอคอยเป็นเวลานานแถมแดดร้อนจัดหรือเปล่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมมีคนมารอตั้งแต่ตีสาม‚ตีห้าก็มี รวมถึงวันสุดท้ายทำไมจึงมากันมากกว่าวันแรกๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่กลับกันกับปีที่ผ่านๆมา จะอย่างไรก็ชั่งเถอะ ผู้ที่มาต้องถือว่า เป็นอโศกพันธุ์แท้จริงๆ

สิ่งที่ประทับใจเป็นอย่างยิ่งไม่มีเรื่องใดจะกินใจได้เท่าการลากเรือใหญ่ที่มีน้ำหนัก ๘๐ ตันหรือ ๘๐,๐๐๐ กก. โดยมีชาวอโศกนับพัน ทั้งเด็กฟันหลอ ไปจนถึงผู้เฒ่าฟันหลุด ช่วยๆกัน เป็นภาพการผนึกรวมที่ยิ่งใหญ่มากสุดจะบรรยายได้หมด เสียดาย อย่างยิ่งก็คือ พื้นที่หน้ากระดาษ ใกล้หมดแล้ว

ฝากสุดท้ายคำขวัญวันเด็กปีนี้พ่อท่านให้ว่า...ทั้งเด็กทั้งคนแก่ ถ้ามีแต่ความรักความเกื้อกูล ย่อมสมบูรณ์ด้วยความสุข... นับเป็นคำขวัญที่เด็กเอง ก็ต้องสำนึก คนแก่เอง ก็ต้องสำเหนียก

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อย.เสนอแยก 'ยาสมุนไพร' ออกจาก พ.ร.บ.ยาแผนปัจจุบัน

พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่คลอดกลางปี ๒๕๔๗ อย.เสนอแยก พ.ร.บ.ออกเป็นสองส่วน

ยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน เพื่อให้ส่งเสริมการผลิตยาสมุนไพรได้ดีขึ้นน.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการอาหาร และยา(อย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ... ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการให้สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม ประชุมหารือกันเพื่อทำให้ความขัดแย้งระหว่างกันหมดไป และได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ซึ่งสมาคมวิชาชีพก็ได้หารือกันมาหลายครั้ง ดังนั้นจึงคาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาให้กับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ภายในช่วงกลางปี ๒๕๔๗ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความล่าช้า แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนจึงต้องทำให้รอบคอบที่สุด

น.พ.ศุภชัยกล่าวว่า สำหรับการถกเถียง กันเรื่อง จะให้แพทย์สามารถสั่งยาให้กับคนไข้ได้หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาหลักแล้ว เพราะในเบื้องต้น สมาคมวิชาชีพได้เสนอว่าควรจะให้แพทย์จ่ายยาให้กับคนไข้ของตนได้ แต่ต้องเป็นยาที่ใช้ทั่วๆไป แต่ยาบางประเภทที่ต้องมีการควบคุม เป็นพิเศษ เพราะอาจจะเกิดปัญหาผลเสียกับสุขภาพร่างกายของคนไข้ เช่น ยาที่ทำเสพติดได้ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งต้องให้เภสัชกร ช่วยควบคุมการจ่ายยา โดยขณะนี้มีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยที่ยังอยู่ระหว่างการตกลงกัน เช่น ข้อความในกฎหมาย และบัญชียา ที่จะให้แพทย์สั่งจ่ายได้เอง แต่คาดว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก

"ประเด็นที่เป็นปัญหาหลักมากที่สุดในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการควบคุมยาแผนโบราณ สมุนไพร ด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดปัญหาได้ ดังนั้น จึงควรจะแยก พ.ร.บ.ยาออกเป็น ๒ ส่วน คือ พ.ร.บ.ที่ควบคุมยาแผนปัจจุบัน และ พ.ร.บ.ที่ใช้ควบคุมยาสมุนไพร ซึ่งจะรวมไปถึง เครื่องสำอาง สมุนไพร อาหารเสริมสมุนไพรด้วย เนื่องจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจาก ตลาดสมุนไพรมีมูลค่าสูง แต่หากจะต้องทำตามหลักยาแผนปัจจุบันที่ต้องผ่านการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายขั้นตอน อาจจะช้า ทำให้แข่งขันไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ อย.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลด้านสมุนไพรโดยตรงแล้ว" น.พ.ศุภชัยกล่าว

น.พ.ศุภชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดทำ พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนสำคัญอะไรนัก ซึ่งได้ให้ความเห็น กับทางฝ่ายการเมือง ไปแล้วว่าหากสมาคมวิชาชีพไม่สามารถ ตกลงกันได้ก็ขอให้ใช้ พ.ร.บ.ยาฉบับเก่าไปก่อน เพราะ พ.ร.บ.ฉบับเดิม ก็ยังสามารถใช้ได้ ไม่มีปัญหาอะไรมากจนถึงกับต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน..

(จาก น.ส.พ.มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จากบิ๊ก ดีทูบี ถึงเกษตรเอื้อสุขภาพ
(ตอน ๑)

บิ๊ก ดีทูบี ได้รับสารพิษเชื้อราขึ้นสมองจากคลองน้ำเน่า ส่งผลกระทบต่อร่างกายตนเอง จิตใจของพ่อแม่และเยาวชนแฟนคลับเศร้าโศกยิ่ง ทางสังคมที่เคยได้รับความบันเทิงใจ ก็ไม่ได้รับฟัง และดูนักร้องที่ตนเองชื่นชอบอีก

ส่วนผลกระทบทางปัญญาน่าจะนำผู้คนไปสู่การตระหนักรู้ถึงพิษภัยของสภาพแวดล้อมและแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาได้แล้ว

ทำไมสารพิษและเชื้อโรคจึงมาคร่าชีวิตของพวกเราได้

วิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำการผลิต โดยใช้สารเคมี ตั้งแต่การผสมเมล็ดพันธุ์ ทั้ง พริก แตงกวา มะเขือเทศ ฯลฯ แล้วก็ใช้ยาฉีด พ่นสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช

งานวิจัยของ พัชรินทร์ ลาภานันท์ และคณะ ระบุว่า ผู้หญิงและเด็กเป็นโรคโลหิตจาง ๓๕.๗ % จาก ๒๔๙ คน จากการผสมเกสร เมล็ดพันธุ์ ที่เป็นงานละเอียด

ขณะที่งานวิจัยของ วิเชียร เกิดสุข และคณะ บอกว่า เกษตรกรผู้ชายได้รับสารพิษ ๖๕ % (๙๑ คนจาก ๑๔๐ คน) จากการพ่นฉีดยา

ผู้ใหญ่บ้าน เฉลิม ดีอ่วม จาก ร.ร.เกษตรกรในพระราชดำริ จ.ชัยนาท บอกว่า มีเกษตรกรตาย ๓ ราย และปากแหว่ง ๑ ราย จากการใช้สารเคมี ในการปลูกข้าวและฆ่าแมลง

คุณนันทนา ทราบรัมย์ วิจัยพบว่า บ้านหัวเรือ จ.อุบลราชธานี โลงศพขายดี เพราะเกษตรกรปลูกพริกใช้สารเคมีกันมาก

สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่นิยมใช้ในหมู่เกษตรกร จากงานวิจัยของคุณสมชัย บวรกิตติ และคณะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุไว้ว่า มี ๔ กลุ่ม ได้แก่

๑. กลุ่ม Organochlorine คลอรีน ดีดีทีใช้กำจัดแมลง มีความคงทนไม่สลายตัวง่ายๆ เป็นอันตรายต่อพืช สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า ซึ่งเป็นอาหาร ของมนุษย์ กินเข้าไปมีอาการใน ๒-๓ ช.ม.
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- อาเจียน
- ชา-สั่นกระตุกตามใบหน้า
- ชัก เกร็ง หยุดหายใจ
สะสมนานๆ จะเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตับ ไต ถูกทำลาย ระบบประสาทเสีย

๒. กลุ่ม Organophosphate สารกำจัดแมลงทำลายกล้ามเนื้อที่ใช้บิน เกิดพิษ ๕-๑๐ ล้านคนต่อปีในโลก ถ้าได้รับสารนี้จะเกิดอาการต่างๆ ดังนี้
- อาการเปลี้ย กล้ามเนื้อไม่มีแรง
- หายใจขัดข้อง
- ชัก อาจตายได้
- นอนไม่หลับ
- น้ำหนักลด อุจจาระร่วง
- ปากแห้ง กล้ามเนื้อสั่น

๓. กลุ่ม Carbamates กลุ่มนี้สารพิษไม่รุนแรงและสลายตัวได้เร็ว เช่น ฟูราดาน เซพวัน เทมมิก เลนเนส ถ้าได้รับจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน อ่อนเพลีย

๔. กลุ่มอื่นๆ เช่น สารกำจัดวัชพืช ที่ชื่อพาราควอต มีสมมติฐานว่าเป็นสาเหตุ การตายของปลาจำนวนมาก มีอาการไหม้พองภายในช่องปาก ลำคอ อาจทะลุที่หลอดอาหารและตายได้ สูดเข้าไปปวดหัวมาก หัวใจล้มเหลวได้ ตาอักเสบ

ผลต่อภาวะร่ายกาย มีทั้งที่เกิดพิษเฉียบพลัน เป็นลมหมดสติ น้ำตาไหล น้ำลายไหล เหงื่อออก ม่านตาหรี่

ในเกษตรกรบางราย เกิดพิษเรื้อรัง ต่อเม็ดเลือด ระบบสืบพันธุ์ เนื้องอกและมะเร็ง สารเคมีในเลือดไม่ปลอดภัย เสี่ยงสูงมาก ก่อให้เกิด อาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ มีตุ่ม ผื่น คันตามร่างกาย.

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นสพ.มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ ๖ ก.ย.๔๖ โดย สมพันธ์ เตชะอธิก)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


นิสิต ม.วช.และนร.ม.๔ เข้าค่ายบูรณาการที่บ้านราชฯ
สลายภพผู้ยึดติดกับรูปแบบ

ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๒ ธ.ค. นิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิตแต่ละวิชชาเขตพร้อมด้วย น.ร.สัมมาสิกขาชั้น ม.๔ เดินทาง มายังพุทธสถานราชธานีอโศก เพื่อช่วยเตรียมงานตลาดอาริยะ ปีใหม่ž๔๗ โดยตลอดเวลาของการทำงาน มีการบูรณาการ การเรียนในการทำงานด้วย มีกิจกรรมเข้าห้องเรียนพิเศษในเวลา ๑๒.๐๐-๑๓.๓๐ น. และ Workshop วิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, สังคมศึกษา, ภาษาไทย, ระดมสมอง และศิลปะการแสดง ในแต่ละวันตามลำดับ สมณะฟ้าไท สมชาติโก ได้อธิบายการบูรณาการการทำงานในครั้งนี้ว่า

"การบูรณาการการศึกษาระดับชั้น ม.๔ ให้เด็กมาทำงานก็มีการศึกษาไปด้วย เช่น เด็กจะทำงาน ก็ให้การศึกษาว่า เขาจะไปทำงานอะไร จุดประสงค์อะไร เช่นใช้รถอะไร ใช้น้ำมันเท่าไหร่ ระยะเดินทางเท่าไหร่ คำนวณว่าใช้แรงงานคนเท่าไหร่ บูรณาการเป็นวิชาการเรื่องของคณิตศาสตร์เข้าไป ระบบการทำงาน วิธีการคิด ให้เป็นระบบระเบียบ มีเรื่องราว ให้เขาศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นยังไงบ้าง สัมพันธ์กับบุคคลอย่างไร เรื่องศีล การ ทำงานเรามีศีลหรือไม่ หรือปล่อยตัวไม่มีศีล ศีลเราก็บกพร่อง อันนี้คือวิชาพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้"

และระหว่างวันที่ ๑๙-๒๒ ธ.ค. เป็นการเข้าค่ายของนิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิตทุกวิชชาเขต เพื่อเข้าห้องเรียน เตรียมงาน ตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ณ พุทธสถานราชธานีอโศก นับเป็นปีแรกที่นิสิตทุกวิชชาเขตมาล่วงหน้า เพื่อช่วยเตรียมงานปีใหม่ ซึ่งก็มีการบูรณาการเช่นกัน สมณะฟ้าไท สมชาติโก ได้อธิบายว่า "สำหรับนิสิตก็มีเรื่องของวิชาสุขศึกษา ออกกำลังกาย วิชาฝึกโยคะ การกินอาหารเพื่อสุขภาพ การสัมพันธ์ระหว่างบุคคล วิชาคณิตศาสตร์ก็คิดคำนวณว่างานนี้เขาจะทำงานเท่าไหร่ ในเรื่องของสังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย การแสดงออก การพูด เป็นอย่างไรบ้าง การใช้ภาษาท่าทางเป็นยังไง เราก็บูรณาการ คือทุกอย่างในชีวิตมีทั้งวิชาสุขศึกษา พละศึกษา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อยู่ด้วยกัน เราก็มาประเมิน มารวบรวม เป็นบูรณาการวิชาการเข้าไปในการทำงานซึ่งกันและกัน

การแสดงออกก็เป็นศิลปะการศึกษา การตบแต่งก็เป็นศิลปะศึกษา การงานอาชีพเทคโนโลยี เขาใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง มีการป้องกันภัยไหม ประมาทหรือไม่ ทุกอย่างที่ทำงานไปก็มีงานอาชีพ ศิลปะ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สุขศึกษา ซึ่งเราจะต้องเข้าใจการบูรณาการการศึกษา"

๑๙ ธ.ค.๔๖ เวลา ๑๘.๐๐ น.สมณะเดินดิน ติกขวีโร, สมณะฟ้าไท สมชาติโก และสิกขมาตุกล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล ปฐมนิเทศน์ว่า งานตลาดอาริยะฯเป็นงานสอบไล่ใหญ่ของชาวอโศกที่คิดจะมาให้ ใครที่คิดจะมาเอาถือว่าสอบตกตั้งแต่ต้นแล้ว พวกเรามาทำบุญครั้งใหญ่ร่วมกับพระโพธิสัตว์ มีเงินก็สละเงิน มีแรงก็สละแรง ที่นี่เป็นห้องเรียนที่สลายภพ ที่ถึงพร้อมประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน

๒๐ ธ.ค.ธรรมะรับอรุณ สมณะเดินดิน ติกขวีโร กล่าวว่าการจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขคืออยู่อย่างมีญาณ ๗ ของพระโสดาบัน รู้ความจริงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วปรับปรุงแก้ไข หากอยู่อย่างยึดก็จะทุกข์

หลังทำวัตร ร่วมกันบริหารจิตด้วยโยคะอาสนะ แล้วลงปฏิบัติงาน

๑. ขนฟาง เปิดรับสมัครเฉพาะนิสิตผู้มีอายุ ๔๐ ปีลงมา สำหรับนิสิตที่หัวใจยังวัยรุ่นก็ยินดีต้อนรับ ใช้รถ ๖ ล้อ ๒ คันและ ๑๐ ล้อ ๑ คัน มีคุรุและนิสิตรวมประมาณ ๓๐ คน

๒. กางเต็นท์ตลาดอาริยะ หลายคนได้ประสบการณ์ว่าตั้งเต็นท์อย่างไรจึงจะมั่นคง แข็งแรงต้านแรงลมได้

๓. ๕ ส. ชั้น ๑, ๒ เฮือนศูนย์สูญ

๔. ผูกฝาหม้อกับตัวหม้อที่เต็นท์ปฐมอโศก

๕. เข้าครัวเตรียมอาหาร

ภาคบ่าย ห้องเรียนพบผู้คักแนเตรียมงานปีใหม่ นิสิตแต่ละคนที่มาช่วยเตรียมงานล่วงหน้า พร้อมกับ น.ร.สัมมาสิกขา ม.๔ บอกเล่าประสบการณ์การมาเตรียมงาน ล่วงหน้าที่มีถึง ๔๗ งาน

ภาคค่ำ ฟังประสบการณ์ชีวิตนิสิต ม.วช.แต่ละวิชชาเขต ทำไมถึงมาเรียน เรียนแล้วได้อะไร ดำเนินรายการโดยสมณะฟ้าไท สมชาติโก

๒๑ ธ.ค. ธรรมะรับอรุณ สม.กล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล บอกเล่าทุกข์ของกาม โดยเฉพาะความสวยของผู้หญิง ที่ไม่มีศีลถือว่า เป็นกรรมติดตัวข้ามชาติ และการอ่านอารมณ์ ของจิตด้วยวิชชา ๙

ภาคบ่าย การทำงานแบบอายุวัฒนะ ม.วช. โดยคุรุน้อมบูชา นาวาบุญนิยม แต่ละวิชชาเขตเหมือนเป็นโรงเรียนเดียวกัน สุดยอดแห่งความร่ำรวยคือความแข็งแรง สุดยอดแห่งความสุขคือช่วยเหลือผู้อื่น และสุดยอดแห่งการสร้างบารมีคือความอดทน การทำงานแบบอายุวัฒนะจะเป็นผู้มีอายุยาว แล้วอีก ๑๐๐ ปีเราจะมาถ่ายรูปร่วมกัน

ลงปฏิบัติงาน ขนฟาง ปลูกผัก ปลูกเผือก ขนของลงจากรถสินค้า เข้าครัว

ภาคค่ำ เอื้อไออุ่น โดยพ่อท่านที่ลานหินหงส์หน้าเฮือนศูนย์ฯ มาเบิ่งเด้อ! คือหงส์อยู่บ่

๒๒ ธ.ค. โยคะ ลงปฏิบัติงาน ภาคบ่ายสรุปงานค่ายม.วช. ตัวแทนแต่ละวิชชาเขตประเมินผลของตนเองถึงงานที่รับผิดชอบ สิ่งที่ประทับใจ ปริมาณของงาน คุณภาพของงาน สิ่งที่เสนอแนะอื่นๆ เป็นแบบประเมินผลวิชชาค่ายสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาบุญนิยมวิถีพุทธ คณะพุทธชีวศิลป์

สมณะเดินดินให้โอวาทปิดค่าย สะท้อนปัญหาภาพระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ไม่ใช่เอาเด็กมาใช้แรงงาน ให้นิสิตให้ความอบอุ่น ในการทำงาน นิสิตจะทำตัวอย่างไรที่จะเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานเด็ก เป็นความอบอุ่นในการทำงาน หลังจากนั้นนิสิตแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ๑.โรงครัว ๒. พี่เลี้ยงยอส. ๓.กลุ่มเตรียมงานข่ายต่างๆ, สโตร์, ตลาดอาริยะ, ตลาดอาหาร, ขยะเอ๋ย, ฟืน, ที่พัก ๔. กิจกรรมสาระบันเทิง

นิสิตที่มาช่วยเตรียมงานได้ให้สัมภาษณ์ว่า

นิสิตใจบุญ ชาวหินฟ้า เขตปฐมฯ "วันแรกๆไปผูกหูหม้อ ทำเป็นกลุ่ม งานก็เดิน สามัคคีกันดี มีพลัง ทำงานเป็นกลุ่มไม่เหนื่อย มีจิตยินดีด้วย เรามาเสียสละ ตอนมาแพ้ความเย็นมาก อากาศหนาวมาก ได้มานอนเฮือนศูนย์รู้สึกอุ่น

ช่วงงานยอส. วัยจ๊าบ (อายุยาว)เข้าครัวหมดเลย ป้ารับเป็นแม่งานทำขนมหวาน น้อยๆ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน มาลงตัวในวันสุดท้าย ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน อยู่ปฐมฯก็ทำงานเดี่ยวๆอยู่ในภพ มาที่นี่อยู่กับหมู่ใหญ่ ต้องประมาณ มีรายละเอียด ได้ประโยชน์ตนมากเลย ประทับใจ นร.ที่นี่ เขามีน้ำใจ เขาพูดว่าไม่ต้องล้างหรอกครับ ทำให้ผมกินแล้ว ให้ผมช่วยล้างให้ ปัญหาก็มีคือ ในครัวมีแต่คนแก่ ตอนยกหม้อ คนแก่ก็ไม่สะดวก ถ้ามีคนหนุ่มมาคอยช่วยยกจะดีมาก"

นิสิตสวยใส สหัสานันท์ สันติฯ "อบอุ่นค่ะ มีความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อน กันดีจังค่ะ แม้งานจะเยอะ แต่กระบวนการกลุ่มก็ยังมีหลักการของความนุ่มนวล ผ่อนคลาย สบายๆได้ ไม่ใช้สถานการณ์ที่บีบคั้นหรือกดดัน ได้เพื่อนได้พี่ได้น้องเยอะเลยค่ะ"

นิสิตวรัทยา ธรรมรักษ์ สีมาฯ "เป็นปีแรกที่มาช่วยเตรียมงานปีใหม่ เป็นห้องเรียนใหญ่รู้สึกสนุกมาก ในเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นพลังรวมของพวกเรา เป็นสาธารณโภคีกันดีมาก ไม่มีการแบ่งพุทธสถาน ความรู้สึกผนึกวิญญาณได้เยี่ยมมาก"

นิสิตพอลล่า คีรีคำรณ ศาลีฯ "เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าห้องเรียน ได้รับประโยชน์มาก แม้บางกิจกรรมจะไม่ค่อยถนัด แต่ได้ฝึก ได้ฝืนทำได้ปฏิบัติธรรม ฝึกมองจิตของตนเป็นหลัก และดูคนอื่นในการทำงานระดับบริหารเป็นตัวอย่าง ให้คะแนนทีมงาน ๘๐%"

นิสิตชาติฟ้า ศรีรัมย์ ศีรษะฯ "มาร่วมเป็นครั้งที่ ๓ ปีนี้ที่พิเศษคือมีการเข้าห้องเรียนในภาคบ่าย(ก่อนเตรียมงาน) มีการสรุปงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้ได้รับรู้แนวคิดและวิธีการทำงานของนิสิตในแต่ละคน

ในแง่ส่วนตัวได้ประโยชน์ตนน้อยกว่าปีที่แล้ว สมณะและคุรุน่าจะมีเวลาเตรียมการหรือคิดวางแผนการจัดค่าย ปีนี้มีม.วช. เกือบ ๒๐๐ คนมารวมตัวกัน น่าจะมีอะไรที่หลากหลายมากกว่านี้ น่าจะมีการเพิ่มภูมิในจิตวิญญาณและเปิดวิสัยทัศน์ทางความคิด ให้กว้างขึ้นด้วย

รู้สึกว่าคุรุและสมณะเหมือนไม่ได้ทำการบ้านมา น่าจะเตรียมวางแผนล่วงหน้า เหมือนเอาโยคะมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปีที่แล้วได้ประโยชน์มากเรื่องนาย ก.นาย ข. ปีนี้เน้นกิจกรรมการเตรียมงานมากเกินไป กิจกรรมไม่หลากหลาย ช่วงบ่าย ไม่มีการกระตุ้นเลย บางคนก็ไปนอนเลยก็มี ซึ่งส่งผลถึงงานยอส. ไม่มีอะไรมากระตุ้น ทำให้ม.วช.วัยรุ่น ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ปีที่แล้ว มีพลังมาก"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗
รองผู้ว่าฯอุบลฯทึ่งมีหนึ่งเดียวในโลก

งานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ครั้งที่ ๒๕ และจัดเป็นครั้งที่ ๗ ณ หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก ระหว่างวันที่ ๓๑ ธ.ค.๒๕๔๖ - ๒ ม.ค.๒๕๔๗ เป็นปีแรกที่นิสิต ม.วช. ญาติธรรมเสียสละมาช่วยกันเตรียมงานกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่กลางเดือนธันวาฯ เป็นต้นไป และสมณะนวกะจากพุทธสถานภูผาฟ้าน้ำที่มาร่วมเตรียมงานปีใหม่เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ฝ่ายกสิกรรมธรรมชาติบ้านราชฯ ระดมจัดนิทรรศการมีชีวิต ด้วยการปลูกผักทั้งกลางวันและกลางคืน โดยไม่หวั่นต่ออากาศที่หนาวเย็นและแสงแดดที่แผดจ้า จนพืชผักเขียวเต็มไปทั่วทั้งชุมชน มองไปทางไหนก็เห็นแต่แปลงผักสีเขียว ดูแล้ว สดชื่นสบายตา ทันต้อนรับพี่น้องของเรา นอกจากพืชผักจะเขียวสดชื่นแล้วยังมีลานหินหงส์ สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจอยู่หน้าเฮือนศูนย์ มีพญาแร้งยืนทักทายอยู่บนเวทีปีใหม่ ก่อนเริ่มงานมีมหกรรมสร้างประวัติศาสตร์ ผนึกวิญญาณชาวอโศก ลากเรือยักษ์โคกใต้ดิน น้ำหนัก ๘๐ ตัน ขึ้นไปยังเนินดินหน้าเฮือนศูนย์

 

ในบุ่งไหมน้อยนอกจากมีแพปลา แพร้านปันบุญ แล้วยังมีร้านอาหารเรือมังสวิรัติ บนเรือท้าวแถนพญามูลบริการอาหารแบบกันเอง เป็นเรือที่ขายก๋วยเตี๋ยวเรือลำที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

ปีนี้ตลาดสินค้า-ตลาดอาหารขยายกว้างขึ้น เพิ่มปริมาณร้านที่ขายสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อของ กรณีผู้ซื้อเข้าคิวซื้อสินค้าจนเป็นลม ไม่เกิดขึ้น แม้จะมีกระแสข่าวว่า ปีนี้ราชธานีฯไม่ขายสินค้าบ้างก็ตาม แต่สินค้าที่นำมาจำหน่าย จะหมดเกลี้ยงแทบทุกร้าน เหลือประมาณ ๕ % เท่านั้นเนื่องจากผู้ขายหมดแรง และบริเวณตลาดสินค้า มีการสาธิตการกำจัดขยะพลาสติก ด้วยการเผาไหม้ แล้วได้น้ำมันดิบและแก๊ส มีเทน โดยใช้น้ำมันจากการเผาไหม้มาหมุนเวียนและได้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงให้ชมด้วย

ตลอดทั้ง ๓ วันพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์แสดงธรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เพื่อชาวบุญนิยม และเริ่มสวดยถาสัพพีหลังสวดมนต์ เพื่อเชื่อมประสานกันยิ่งขึ้น ญาติธรรมไม่ควรพลาด ติดตามหาเทปฟังให้ได้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง หลังทำวัตรร่วมกันแล้ว สืบทอดพุทธประเพณี ทำบุญตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ

๓๑ ธ.ค. เวลา ๐๙.๐๐ น. รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายพิจิตร สีแสง ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน ท่านได้กล่าวว่า "การจัดตลาดอาริยะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ผู้ขาย ขายขาดทุน แต่ขายขาดทุนด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างความพอใจ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก ที่ขายอย่างขาดทุนแล้วยังยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงถึงเจ้าของผู้ขายสินค้าผู้ผลิตสินค้ามีจิตใจที่เป็นบุญกุศล อยากจะช่วยสงเคราะห์ ผู้ที่มีความต้องการ ท่านทั้งหลายครับ ตลาดอย่างนี้มีแห่งเดียวที่นี่ในโลกนี้ ไม่มีที่ไหนในประเทศไทยอีกแล้ว กระผมชื่นชมยินดี ที่ชาวชุมชนอโศกอีกหลายแห่ง ได้ปฏิบัติตัว ได้ทำเป็นแบบอย่างของชาวพุทธที่ดีที่สุด ในการบริหารช่วยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด กระผมได้นำกิจกรรม ได้นำผลงาน ได้นำสิ่งที่ท่านทำไปเผยแพร่ ได้ไปบอกกล่าวทั้งหมู่บ้านต่างๆ สองพันห้าร้อยกว่าเจ็ดสิบหมู่บ้าน ของจังหวัดอุบลราชธานี สองร้อยสิบห้าตำบลได้ประพฤติตน ได้ทำอย่างเยี่ยงอย่างที่ชาวชุมชนอโศก หรือชุมชนราชธานีอโศกของเราได้ทำนั้น จะเกิดเป็นผลประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อตัวของเราเอง พี่น้องทั้งหลาย ครับเนื่องจากว่าประชาชนทั้งหลาย ของเรานั้น ยังมีอีกมาก ที่ยังมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป แต่พยายามที่จะเข้ามาสู่ชาวพุทธที่แท้จริงอย่างที่ชุมชนอโศก หรือราชธานีอโศกได้ประพฤติปฏิบัติ เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในประเทศไทย ไม่มีชุมชนไหนที่จะเป็นอย่างนี้ กระผมเองได้ใกล้ชิดหลายชุมชน โดยเฉพาะศีรษะอโศกก็เคยไปอยู่ที่นั่น และเห็นความสามัคคีพร้อมเพรียง และมีตลาดอย่างนี้เช่นเดียวกัน ท่านทั้งหลายครับ การที่ท่านได้ขายสินค้าต่ำกว่าทุนนั้น เป็นการสร้างบุญกุศล และขณะเดียวกันนอกจากนั้นแล้ว อาหารของท่านทานอิ่มเดียว อิ่มหนึ่งจ่ายบาทเดียว ซึ่งไม่มีที่ไหนอีกเช่นเดียวกันครับ กินอิ่ม อิ่มละหนึ่งบาท มีแต่อิ่มละ ๓๙ อิ่มละร้อยกว่าบาทตาม โรงแรมต่างๆหรือตามร้านอาหารต่างๆ นี่อิ่มหนึ่งเพียงบาทเดียว ไม่มีที่ไหน ในจังหวัดอุบลราชธานีนอกจากราชธานีอโศก ท่านทั้งหลายครับการกระทำอย่างนี้ เป็นตัวอย่างจะให้มีเกิดขึ้น

กระผมเดินผ่านมายังชุมชนของท่านนั้นเห็นแล้วว่าผักสีเขียวเต็มทุกแห่ง สีเขียวไม่พอ งาม ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหลายที่ท่านทำ ปุ๋ยชีวภาพที่ท่านทำ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีจะนำแบบอย่างของท่านไปประพฤติปฏิบัติ ไปขยายให้มากขึ้น บ้านเมืองของเรา จะเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองของเราจะปราศจากคนยากจน ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะพยายามให้คนยากจนหมดไปในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ผมเชื่อว่าท่านที่มาประพฤติหรือมาเอาเยี่ยงอย่างมาปฏิบัติตามราชธานีอโศกแล้ว จะพ้นจากความยากจน กระผมเองขอกราบขอบพระคุณ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กราบขอบพระคุณผู้บริหารงาน โดยเฉพาะทางชุมชนราชธานีอโศก ขอบคุณสมาชิกทุกท่าน ที่ได้เข้ามาร่วมงานกัน ในวันปีใหม่'๔๗ นี้ ขอให้ชุมชนของเราเจริญรุ่งเรืองตลอดไป" เสร็จแล้วท่านรองผู้ว่าฯและแขกผู้มีเกียรติรับของที่ระลึกจากพ่อท่าน และทำพิธีเปิดตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ที่ทางเข้าตลาดอาริยะและเดินชมตลาด

๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. รายการพิเศษ โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สำหรับวันที่ ๑ ม.ค. ๔๗ ฟัง ส.ว.โสภณ สุภาพงศ์ "ชาวอโศกที่เห็น และปรารถนาให้เป็น" และวันที่ ๒ ม.ค. ฟัง มิสเตอร์มาร์ติน วีลเลอร์ ฝรั่งมักทำนา "ชีวิตใหม่ที่หันหลังให้กับทุนนิยม"

วันที่ ๑ ม.ค. เวลา ๑๕.๐๐-๑๗.๐๐ น. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ บอกเล่าให้ฟังว่า "จะบอกให้โลกใบนี้ร้ายกว่าที่เราคิด!"

๑๘.๐๐-๒๐.๓๐ น. รายการภาคค่ำ การแสดงของชุมชนและเครือข่ายต่างๆของชาวอโศก

ตลาดอาริยะเปิดขายระหว่างวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๔๖-๒ ม.ค. ๔๗ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.

ตลาดอาหาร เปิดจำหน่ายอาหารตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. ขยายกว้างขึ้นและแบ่งโซนจำหน่ายอาหารเป็นโซนๆ และใช้ระบบ สาธารณโภคี คือมีสโตร์กลาง รับผิดชอบ ใครจะร่วมกำไรอาริยะ ก็ให้นำเงินมาลงขันร่วมกัน ไม่มีเงินก็ลงแรงได้ โดยมีสโตร์กลาง รับผิดชอบเรื่องวัตถุดิบ และแก๊ส ส่วนอุปกรณ์ให้แต่ละเครือข่ายนำมาเอง เป็นระบบที่ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด อาหารจานละ ๑ บาท โดยใช้คูปอง แลกซื้ออาหาร พร้อมกับช่วยกันล้างจานหลังจากกินเสร็จแล้ว

เวทีชาวบ้าน เปิดเวทีตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. มีการแสดงดนตรีของ วงดนตรีต่างๆสลับกันไปเป็นหลัก เช่น วงฆราวาส วงของ สัมมาสิกขาสันติฯ, ปฐมฯ, สีมาฯ, ราชธานี, ศิษย์เก่าปฐมฯ, วงสมัชชา และเติบแบนท์ สลับกับหมอลำซึ้งบุญและตะวันเดือน และเครือข่าย สำหรับศิลปินเดี่ยวมีน้อยกว่าปีที่ผ่าน

ภาคค่ำ ๑๘.๐๐-๒๐.๓๐ น. พบกับการแสดงของชุมชนและเครือข่ายต่างๆของชาวอโศก ปีนี้ขยายเวลาการแสดงเป็น ๔ คืน เริ่มจากคืนวันที่ ๓๐ ธ.ค ๔๖ - ๒ ม.ค.๔๗ โดยเฉพาะภาพยนตร์ประวัติศาสตร์การลากเรือยักษ์โคกใต้ดิน ที่เพิ่งตัดต่อเสร็จใหม่ๆ หลายคนชมแล้วตื่นตาตื่นใจ กับพลังแห่งการผนึกวิญญาณของชาวอโศก และสุดยอดการแสดงจากสันติอโศกที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยสาระ เตือนไม่ให้พวกเราประมาท กับการย่อหย่อนในความเพียร เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าพ่อท่านจะอยู่กับเรานานสักแค่ไหน

๓ ม.ค. ยุทธการเก็บงาน ทุกคนเป็นเจ้าภาพ เปลี่ยนคำว่าเก็บหางเป็นเก็บบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล เริ่มยุทธการตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๐๙.๐๐ น. เสร็จแล้วพบพ่อท่าน รับประทานอาหารร่วมกัน ๑๓.๐๐ น. ผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกร่วมสรุปงานโดยมี พ่อท่านเป็นประธาน

ผู้ช่วยเตรียมงานและผู้มาซื้อสินค้าได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

นางจำปา ป้องภัย อ.ม่วงสามสิบ อุบลฯ "มาซื้อสินค้าเป็นปีที่ ๒ จะมาซื้อกระทะแต่ว่าหมดแล้ว เลยซื้ออย่างอื่น ของเราราคาถูก เสียค่ารถมา ๕๐ บาท ได้มาเห็นผักที่เขาปลูกงามมาก จะกลับไปปลูกที่บ้านให้งามอย่างนี้ด้วย"

นิสิตปานรุ้ง สุขเกษม วิชชาเขตราชธานีฯ "มารับงานสโตร์ เห็นทีมงานแล้วอุ่นใจ เหมือนเจอจอมยุทธ์ ได้ทำงานร่วมกัน ได้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้องไม่ใช่แค่บ้านราชฯ แต่ระบบใหญ่อันเดียวกัน แทบจะไม่มีความขัดแย้ง แต่ละคนพร้อมจะประสาน วันแรกเตรียมพร้อมแต่คนมาน้อย แต่วันสุดท้ายแม้มามากก็เตรียมทัน งานเลื่อนไหลได้ดี"

นิสิตงามงาน นาวาบุญนิยม วิชชาเขตปฐมฯ "ปีนี้ร้านของปฐมฯอยู่ด้านหน้า ลูกค้าเยอะมาก แต่ก็สนุก ไม่เหนื่อย พวกเราเตรียมพลังมาเต็มที่ไม่อยากไปไหนแม้แต่ห้องน้ำ ผัดกระทะต่อกระทะ"


[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


คุณเป็นโรค"ลำไส้หงุดหงิด"หรือเปล่า?

มีการวิจัยพบว่า ชาวอเมริกันกว่า ๓๕ ล้านคน กำลังถูกคุกคามด้วยโรค IBS (Irritable Boel Syndrome) หรือที่คนไทยเรียกว่า ลำไส้แปรปรวน หรือ ลำไส้หงุดหงิด โรคนี้ฟังดูแปลก เหมือนของใหม่ แท้จริงมีมานานแล้ว และพบว่า ประชากรทั่วโลก รวมทั้งคนไทย เป็นกันมากขึ้น จึงอดไม่ได้ที่จะมาเล่าสู่กันฟัง

โรคลำไส้หงุดหงิดนี้ เป็นกลุ่มอาการของโรคทางเดินอาหารที่ผิดปกติเรื้อรังที่รักษาได้ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด การขับถ่ายผิดปกติ บางคน ท้องเสียเรื้อรัง บางคนท้องผูกเรื้อรัง บางคนเป็นทั้งสองอย่างสลับกันไป โดยอาจมีท้องผูกอยู่หลายสัปดาห์ ก่อนจะมีอาการ ท้องเสีย สลับสัก ๒-๓ วัน บางคนเหมือนขับถ่ายไม่สุด หรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่ บางคนปวดท้องตอนบ่ายๆ ทั้งที่เมื่อเช้ายังดีอยู่ บางคนไม่ปวดท้อง มาหลายวัน อยู่ๆ ก็ปวดท้องขึ้นมาตลอดวัน จุดที่ปวดสลับเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนเป็นโรคกระเพาะ บางครั้งอาจมีอาการท้องอืด ท้องโตร่วมด้วย

อาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ที่มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นเกินไป ต้นเหตุของการเกิดจริงๆ ยังไม่ทราบ แต่สิ่งส่งเสริม ที่ทำให้เป็นบ่อยคือ ความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวล และการแพ้อาหารบางชนิด ซึ่งไม่สามารถรักษา หรือปัองกัน โรคนี้ได้ถึง ๑๐๐ % เพราะร่างกายของผู้ป่วยเกิดมาเป็นเช่นนี้เอง

แต่สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ด้วยการออกกำลังกาย การพักผ่อนอย่างพอเพียง ไม่เครียด ระวังเรื่องอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ควรรับประทานอาหาร ที่มีไขมันน้อย ไม่ควรดื่มนม การรักษาของแพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิด

ค่ะ แม้ว่าลำไส้หงุดหงิด เราต้องรักษาใจไม่ให้หงุดหงิดด้วยธรรมโอสถ หรือปฏิบัติตามหลัก ๗ อ. ให้ได้ จะทำให้ไม่หงุดหงิดทั้งกายและใจ.

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


๑๐ อันดับข่าวดังในรอบปี ๒๕๔๖ ของชาวอโศก

อันดับ ๑ ๖-๑๒ เม.ย. งานปลุกเสกฯ ครั้งที่ ๒๗ เกิดโครงการ "ร่วมปฐพีพระวิหารพันปีบรมสารีริกธาตุ" ญาติธรรมสละทรัพย์ ซื้อที่ดิน หน้าพุทธสถานสันติอโศก ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งๆที่ชาวเราเป็นคนจน

อันดับ ๒ ๓-๕ พ.ค. งานคืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา ครั้งที่ ๑ ที่ราชธานีอโศก เป็นการพบปะศิษย์เก่า สัมมาสิกขา ตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงรุ่นปัจจุบัน โดยพ่อท่านได้เขียน จ.ม.ถึง นร.สัมมาสิกขาของชาวอโศกทุกคนที่จบไปแล้ว และอนุญาตเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียน ที่ถูกทัณฑ์ สามารถมาร่วมงานได้ นร.ที่จบ ม.๖ จากสัมมาสิกขาทุกแห่งที่มาร่วมงาน ได้รับล็อกเก็ตผสมทองแท้รูปใบโพธิ์ และภาพพ่อท่าน จากพ่อท่านในงานนี้ด้วย โดยมี นร.ที่จบ ม.๖ มาร่วมงาน ๒๕๘ คน

อันดับ ๓ ชมร.เชียงใหม่ เริ่มบริการอาหารฟรีเดือนละครั้ง ตั้งแต่ ๒๙ มี.ค.๔๕ และเริ่มมีผู้มาเหมาร้านเพื่อแจกฟรีตั้งแต่วันที่ ๕ ธ.ค.๔๕ ไม่ต่ำกว่า ๕ เดือน ต่อเนื่องกันไป ส่วนรายย่อยเหมาแจกเฉพาะแผนกนั้นมีตลอดถึงปัจจุบัน

อันดับ ๔ ๒๔-๒๗ ธ.ค.๔๕ เรือเอื้อมจุ้น ๔ ลำ เดินทางสู่บ้านราชฯ ๑ ใน ๔ ลำ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กว้างประมาณ ๙ เมตร หนัก ๘๐ ตัน ชื่อโคกใต้ดิน ถูกลากมาหน้าเวทีธรรมชาติของบ้านราชฯ โดยชาวอโศกนับพันร่วมแรงลาก เมื่อ ๒๔ ธ.ค.๒๔๔๖

อันดับ ๕ ๒๐ มิ.ย. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นิมนต์พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ร่วม "เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในมุมมองสถานการณ์ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชั้นที่ ๒๗ อาคาร พญาไทพลาซ่า พญาไท เขตราชเทวี กทม.

อันดับ ๖ ๑๐ มี.ค. ตัวแทนองค์การต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชุมเพื่อจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติที่สันติอโศก พ่อท่านให้โอวาท จะเป็นกสิกร ต้องเสียสละ ตั้งใจผลิตของดี ขายราคาถูก มีความขยัน มีสมรรถนะ มีความมัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย

อันดับ ๗ ๒๖-๒๗ ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการจัดประชุมโรงเรียนวิถีพุทธที่โรงแรมแกรนด์เดอวิลล์ วังบูรพา กทม. เป็นครั้งแรก โดยเชิญครูชาวอโศกร่วมวางแนวทาง

อันดับ ๘ ๒๙ ก.ค. ชาวบุญนิยมจากชุมชนอโศกประมาณ ๓๕๐ คน ร่วมเดินขบวนถือป้ายไปยังทำเนียบรัฐบาล มอบดอกไม้แด่ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี จาตุรนต์ ฉายแสง สนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการ "งดโฆษณาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์" ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐-๒๒.๐๐ น.

อันดับ ๙ ๒๒-๒๔ ส.ค. ร.ร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ร่วมจัดนิทรรศการ "การศึกษา ทางเลือกสายศาสนาธรรม" ณ ศูนย์ประชุม อิมแพค เมืองทองธานี นนทบุรี คุรุแก่นฟ้า แสนเมือง และคุรุขวัญดิน สิงห์คำ ได้รับคัดเลือกเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๓ ด้าน กสิกรรมไร้สารพิษ และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ พร้อมรับเข็มเชิดชูเกียรติ จากหน่วยงาน สกศ. สำนักงานนายกฯ

อันดับ ๑๐ ๑๖-๑๘ พ.ค. งานเพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๑๐ ณ หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก โดยความร่วมมือของเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย (คกร.), สถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบท จำเนียร สารนาค (สจส.), ธกส. และชาวอโศก โดยมี รมช.คลัง นายวราเทพ รัตนากร เป็นประธานเปิดงาน มีการถ่ายทอดสดพิธีเปิดไปทั่วประเทศ
ทางทีวีช่อง ๑๑ มีผู้ร่วมงานประมาณ ๕,๐๐๐ คน

(จากแบบสอบถาม ๕๐๐ แผ่น มีผู้ออกความคิดเห็น ๑๙๗ ราย แบบสอบถามเสีย ๑๘ ราย)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี เบิกฟ้าศักราชใหม่กับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๒๒(๒๔๔) ปักษ์แรก ๑-๑๕ ม.ค.๒๕๔๗

ขอขึ้นต้นด้วยคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปีž๔๗ ของ ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

"รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน"

ส่วนคำขวัญวันเด็กที่พ่อท่านได้กรุณาให้ในปีนี้ คือ

"ทั้งเด็ก ทั้งคนแก่ ให้มีความรักและความเกื้อกูล ย่อมสมบูรณ์ด้วยความสุข"

สำหรับบรรยากาศงานวันเด็กที่ชุมชนชาวอโศกได้จัดขึ้น จะนำเสนอในฉบับหน้า

ตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗... ก่อนงานพ่อท่านพาลูกๆนับพันแสดงพลังมหัศจรรย์ของมนุษย์ ด้วยการลากเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (จิ้งหรีด ได้ยินมาอย่างนี้ ใครไม่เชื่อไปพิสูจน์ได้ที่บ้านราชฯเมืองเรือ) เป็นเรือที่ทำด้วยไม้ ซึ่งพ่อท่าน ตั้งชื่อให้ว่า "โคกใต้ดิน" (แต่ถ้าใครเกิดไปเจอเรือ ที่ใหญ่กว่านี้ ก็ช่วยบอกจิ้งหรีดด้วยล่ะกัน)

ภาพการลากเรือของชาวเราในวันนั้น ได้รับการบันทึกภาพวิดีโอ และได้ตัดต่อนำมาฉาย ในรายการสุดท้ายของคืนวันอังคารที่ ๓๐ ธ.ค.๔๖ หลายคนเห็นแล้วรู้สึกประทับใจ น้ำตาซึมกันไปหลายหน่วย บางคนที่ไม่รู้ว่ามีเรื่องดีๆอย่างนี้ ก็บอกว่าถ้ารู้ก่อน จะรีบมาช่วยรวมพลัง ลากเรือด้วยคน

พวกเราลากเรือลำนี้มาไว้หน้าเวทีธรรมชาติ ซึ่งต่อไปจะได้ใช้เป็นอาคารเรียน เป็นห้องประชุมสัมมนาเพราะใหญ่โตกว้างขวาง... และแล้ว พญาแร้งตัวแรกของชาวอโศก ก็ได้มาติดตั้งที่บ้านราชฯเมื่อวันอังคารที่ ๓ ธ.ค.๔๖ โดยทางสันติอโศกไปจ้างหล่อมาในราคา ๘๐,๐๐๐ บาท โดยมีแง่คิดว่า ลักษณะของแร้งจะไม่รังแกสัตว์อื่น (มีแต่จะถูกรังแก) แร้งนั้นจะกินซากศพสัตว์(หรือกินเนื้อบังสุกุล) แต่มีความสามารถ เหนือพญาอินทรีย์ (อินทรีย์ขาวเป็นสัญญลักษณ์ของอเมริกา) คือ บินได้สูงถึง ๑๑ ก.ม. ถือได้ว่าเป็นนกที่บินได้สูงที่สุด สายตาก็ดีกว่า แม้ไม่เป็นพิษ เป็นภัยต่อสัตว์ทั้งหลาย แต่คนเราก็จะรังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ ซึ่งพ่อท่านเคยเปรียบชาวเราเหมือนว่าเป็นนกแร้ง รู้อย่างนี้แล้ว คงตอบข้อสงสัยในใจบางคนได้ว่า ทำไมถึงต้องเป็นอีแร้งด้วย...พ่อท่านได้พูดถึงตลาดอาริยะว่า ปีต่อไปจะเปิดตลาด สู่ระดับอินเตอร์ มากขึ้น โดยจะเอาสินค้าประเภทอุตสาหกรรม ที่คนทางโลกนิยมใช้และมีราคาแพง มาขายต่ำกว่าทุน เช่น รถป้ายแดง เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่คงต้องดูรายละเอียดอีกที ซึ่งถ้านำมาขาย พวกเราก็ ไม่เอากำไร แถมขายแบบขาดทุนด้วย...

วันพุธ ที่ ๓๑ ธ.ค.๔๖ รอง ผวจ.อุบลราชธานี มาช่วย เป็นประธานเปิดงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ซึ่งท่านออกตัวแทนท่าน ผวจ.อุบลฯ ว่าติดภารกิจ ต้องไปรายงานยุทธศาสตร์ในการพัฒนา จ.อุบลฯ ให้คณะรัฐมนตรีฟัง จึงให้ท่านรองฯ มาช่วยเปิดงานแทน และเมื่อท่าน ได้มาสัมผัสงานนี้แล้ว ได้แสดงความประทับใจและกล่าวชื่นชมกิจกรรมต่างๆของชาวเรา ทั้งยังกล่าวอีกว่า ถ้าปฏิบัติตามราชธานีอโศกได้ จะต้องพ้นจากความยากจน...พูดถึงความยากจน พ่อท่านได้ถามพวกเราในช่วงทำวัตรเช้าวันหนึ่งว่า เราจัดอยู่ในกลุ่มคนผู้ยากจนหรือไม่ และจะต้องไปแจ้งต่อรัฐบาลที่กำลังสำรวจคนในประเทศว่า ใครยากจนบ้าง ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่จะขจัดความยากจน ให้ประชาชน ทั่วประเทศ เริ่มที่ ๘ จังหวัดนำร่อง ก็มีพวกเราบอกว่า ลักษณะคนจนเขามีเขียนไว้หลายลักษณะ พวกเราคงเข้าลักษณะข้อสุดท้าย คือข้อที่ ๘ ที่แบบกรอกข้อความคนจน เขียนไว้ว่า "อื่นๆ" เพื่อเว้นที่ไว้เผื่อคนจนที่ไม่อยู่ใน ๗ ข้อแรก

จิ้งหรีดคิดว่าชาวอโศก น่าจะเป็นคนจนลักษณะที่ ๘ เพราะเป็นคนจน ที่ไม่ต้องให้ใครมาช่วยเหลือ เพราะสามารถพึ่งตนเองได้ ถ้ามีมาก ก็แจกจ่าย ให้คนอื่นโดยไม่ต้องหอบหวงไว้ ไม่สะสมกักตุน ตามหลักมรรคมีองค์ ๘ (๘ เหมือนกัน) ดั่งที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำเป็นแบบอย่าง และสอนคนให้รู้แนวทางเป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่เช่นพระพุทธองค์...ในช่วง ก่อนฉัน ในวันแรกของงานตลาดอาริยะปีนี้ คุณนิติภูมิ ตกเครื่องบิน เลยเดินทางมาปาฐกถาไม่ได้ตามกำหนด คณะกรรมการจัดงานจึงเชิญ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ดร.จำลอง ศรีเมือง ขึ้นปาฐกถาแทน ครั้งนี้ชาวเราก็เลยได้รู้ว่า พล.ต.จำลอง นั้น เป็นด็อกเตอร์กิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ของเกาหลีใต้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น ก็ได้ปฏิเสธไม่รับมาแล้ว แต่ครั้งนี้เพราะคุณศิริลักษณ์ ศรีเมือง แนะให้รับเพราะเขาให้ด้วยสาเหตุที่คุณจำลอง เป็นนักการเมือง ที่ได้คะแนนเสียง จากประชาชนอย่างบริสุทธิ์ ไม่มีการซื้อเสียง...

บรรยากาศงานตลาดอาริยะปีใหม่ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) จากสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีชาวอโศกเป็นแกนนำในการจัดงานนี้...ปีนี้มีชาวบ้านมาค้างคืน เตรียมซื้อสินค้า ตั้งแต่วันแรก และปีนี้จัดสถานที่ได้กว้างขวางขึ้น ไม่คับแคบเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แถมคนที่มาซื้อสินค้าก็ทยอยมาเรื่อยๆ ต่างจากทุกปี ที่วันแรกคนจะแน่นมาก วันต่อมาคนจะน้อยลง แต่ครั้งนี้วันแรกเปิดตลาดคนยังไม่ค่อยแน่น

วันต่อมาคนกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆสินค้าปีนี้ก็มากกว่าทุกปี แต่ก็ขายได้เกือบหมด ลูกค้าบางคนก็มาวันแรก (๓๑ ม.ค.๔๖) แล้วก็มาอีก ในวันสุดท้าย บางคนก็บอกว่า เกือบไม่ได้มา เพราะได้ข่าวที่งานกาชาด ในเมืองอุบลฯ ทำนองว่า ปีนี้ไม่มีตลาดอาริยะฯที่บ้านราชฯ บางคนก็บอกว่า มาตามวันเวลา ที่เคยมาในปีที่แล้ว (๓๐ ธ.ค.) ก็ปรากฏว่ายังไม่ขาย แต่เริ่มขายวันที่ ๓๑ ธ.ค. คนซื้อจึงสับสนอยู่บ้าง...

ฝ่ายขยะ ซึ่งอาดินดอนดูแลอยู่ บอกว่าปีนี้ราบรื่นดีขึ้น แถมฝากขอบคุณอาหลอมเหลา ที่มาช่วยอย่างแข็งขันแถมชมอีกว่าติดดินดี...ทางหน่วย รปภ. ก็ดีมีคนเก่าที่รู้งาน มาช่วย อย่างเช่น ม.วช.ดุลย์ จากศีรษะอโศก ก็มาช่วยจัดระบบจราจรแบบวันเวย์อย่างแข็งขัน ช่วยให้รถไม่ติดขัด เช่นปีที่แล้ว ที่รถติดยาวถึงบ้านคำกลางเป็นชั่วโมงๆ แถมฝ่ายรปภ.ยังช่วยบอกให้รถขายไอศกรีมที่จะมาขาย ให้ออกนอกบริเวณงาน ยกเว้น ถ้าคนขายพร้อมจะขายต่ำกว่าทุนก็ให้ขายได้

แต่ก็มีหลายคันที่เข้ามาขายในงานอย่างผิดกฎระเบียบอยู่บ้าง ซึ่งจิ้งหรีด เองก็ประทับใจฝ่ายรปภ.ที่ช่วยเจรจาอย่าง ถ้อยทีถ้อยอาศัย ด้วยความเข้าใจ เพราะบางคนเมื่อถูกกักไว้ไม่ให้เข้า ก็บอกว่าจะเข้าไปตามแฟนบ้าง จะกลับบ้านแล้วบ้าง ทางรปภ.ของเรา ก็เลยต้องปล่อย ฝ่ายบางคน ก็ขอมาขาย แต่พอทางเราอนุญาตไม่ได้และต้องสอบถาม ผู้ใหญ่ก่อน ก็มีเสียงต่อรองขอขายตรงที่จอดรถ บ้าง พงหญ้ารกๆบ้าง ทาง จนท.ของเราก็พยายามชี้แจงว่า ที่นี่เรากินกันเป็นเวลา และไม่ให้ขายสินค้าที่ไม่ขาดทุน ก็ดูเหมือนคนขายบางคนจะฟังอยู่ แต่พอพูดได้ ไม่นาน ก็ปรากฏว่ามีพวกเรา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปซื้อไอศกรีมเขากินซะแล้ว! ...บางคนเป็นพ่อค้ายาสมุนไพร มาถามว่า จะขายได้ไหม พอไม่ได้รับอนุญาต ก็เลยขี่รถกลับไป พร้อมพูดห้วนๆให้ได้ยินว่า พวกเราไม่เปิดโอกาสให้เลย

จิ้งหรีดได้ฟังเรื่องตลาดอาริยะปีนี้ ที่มี พ่อค้าแม่ค้าจากภายนอกเข้ามากันมากขึ้น ซึ่งทาง รปภ.ของเราก็ต้องทำหน้าที่ แบบเทศกิจแล้ว ก็รู้สึกเห็นใจ เพราะลำพังงานจราจรและประสานงานด้านอื่นๆ ก็มีมากมายอักโขอยู่แล้ว จิ้งหรีดเลยเกิดความคิดอยากจะนำเสนอว่า ถ้าเราจะจัดโซน นอกเขตตลาดอาริยะให้สักที่หนึ่ง พออะลุ้มอล่วยให้ขายได้จะดีหรือไม่? แต่ขอให้เป็นอาหารมังสวิรัติ หรือเป็นสินค้า ที่มิใช่มิจฉาวณิชชา คือให้ขายได้แต่มีข้อแม้ หรืออาจมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น ให้ขายต่ำกว่าราคาปกติ เป็นต้น หรือมีแนวทางใดๆ ที่จะรองรับ ปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่ฝ่าย รปภ.จะได้ปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น

นี่...จิ้งหรีดก็คิดเองเล่นๆ จะถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร ก็คงต้องฟังผู้หลักผู้ใหญ่ท่านพิจารณากันต่อไป...จิ้งหรีดไปงานที่บ้านราชฯ คราวนี้ เห็นพ่อท่านดูเข้ม และหนุ่มขึ้นเป็นกอง ก็ลองสอบถามท่านแน่วแน่ (ปัจฉาสมณะ) เลยได้รู้ว่า พ่อท่านไปช่วยงานทั้งยกทั้งแบกทั้งหาม (โดยเฉพาะหิน) ตากแดดตากลม ไม่ได้นั่งเขียนหนังสือทั้งวันหรือใช้สมองเหมือนอยู่ที่สันติฯ ก็อาจมีผลทำให้ดูหนุ่มขึ้น นี่ถ้าเราแบ่งเบางาน ของพ่อท่านได้มากขึ้น ก็คงช่วยให้ พ่อท่านอายุยืนขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย ยิ่งจิ้งหรีด ได้มีโอกาสดูการแสดงของชาวสันติอโศก ที่ติดต่อกับ ชาวอโศก ในอนาคตอีกหลายร้อยปีข้างหน้า ก็รู้สึกซาบซึ้งกับการแสดงชุดนี้ เห็นหลายคนที่ดู ก็รู้สึกจะน้ำตาซึมเหมือนกัน เพราะยุคโน้น จะได้รู้จักพ่อท่าน แต่เพียงรูปภาพ มิใช่มีเลือดเนื้อวิญญาณจริงๆ เช่นชาวเราในยุคนี้ แล้วก็ทำให้นึกถึงโศลกธรรมปีใหม่ ที่พ่อท่านให้ลูกๆ ในปีนี้ว่า

"ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำด้วยวิชชา" สาธุ...จี๊ดๆๆๆ

ยายงดได้กำไร...บริเวณเต็นท์ขายสินค้าของชุมชนศาลีอโศกในตลาดอาริยะ มีชาว ต่างชาติ ๒ คน พร้อมล่ามอีกคน เข้ามาเอ่ยถามราคาผ้าห่ม

"ยายซื้อมาผืนละ ๑๕๐ บาท แต่มาเอากำไรอาริยะขาย ๑๓๐ บาทค่ะ" ยายตอบ

พลันชาวต่างชาติควักเงิน ๑๕๐ บาทยื่นให้ยาย ยายรับเงินแล้วควานหาเงินทอนอยู่นานก็ไม่มี เตรียมจะไปยืมเงินทอนจากญาติธรรมอีกคน

ชาวต่างชาติเห็นดังนั้น รีบพูดผ่านล่ามขึ้นมาว่า "ผมซื้อยายในราคา ๑๕๐ บาทก็แล้วกัน"

พอยายได้ยินเช่นนั้น ก็อุทานขึ้นมาว่า "อ้าว! แบบนี้ยายก็ขาดทุนนะซิ"

จิ้งหรีดได้ยินก็นึกว่ายายพูดผิด แต่พอได้อ่านป้าย "ที่นี่ตลาดอาริยะ" เท่านั้นก็หายสงสัยทันที...สาธุ...จี๊ดๆๆๆ

ไม่คิดค่าบริการ... รถตู้กองทัพธรรมเดินทางกลับจากตลาดอาริยะเพื่อกลับศาลีอโศก เกิดมีปัญหาเรื่องยางล้อหลัง พนักงานขับรถแวะร้าน ก.การช่าง (บริเวณสี่แยกเข้าตัวเมืองอุบลฯ) ปรากฏว่า พนักงานของร้านหยุดช่วงปีใหม่ มีเพียงเจ้าของร้าน ที่รีบขมีขมัน มาตรวจสภาพรถ ที่มีปัญหาให้ สักครู่ใหญ่ยางล้อหลังของรถตู้ก็สามารถใช้งานได้

พอพนักงานขับรถชาวเราถามถึงค่าบริการ เจ้าของร้านตอบว่า "ผมไม่คิดค่าบริการหรอกครับ ร่วมทำบุญฉลองปีใหม่ครับ" จิ้งหรีดเกาะอยู่ แถวเบาะคนขับได้ยินแล้วก็ซึ้ง โอหนอ! กำไรอาริยะใช่จะมีเฉพาะที่ตลาดอาริยะเท่านั้น นอกเขตเทศบาล อ.วารินฯ ก็มีเหมือนกันฮะ สาธุๆ...จี๊ดๆๆๆ

ย้ายสถานที่...แจ้งข่าวกันสักหน่อยว่า ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๔๗ ศูนย์อาหารมังสวิรัติกำแพงเพชร ได้ย้ายสถานที่ตั้งไปอยู่ที่ อ.สลกบาตร ริมถนนสายเอเชีย เลยตัวอำเภอสลกบาตรไปเล็กน้อย โดยร้านตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม โรงแรมสลกบาตร ฝั่งขาขึ้นภาคเหนือ หากผู้ใด ต้องการทราบ รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่เชย (น้องชายสมณะก้อนหิน) โทร. ๐-๑๒๘๐-๖๗๒๕ ...จี๊ดๆๆๆ

ก่อนจากฉบับนี้ขอฝากพรปีใหม่ž๔๗ จากสมณะอรณชีโว ดังนี้

"วันเวลา ๑ ปีที่กำลังผ่านไป หมายถึงอายุที่เราได้มา และอายุที่เราได้เพิ่มอีก ๑ ปี จึงคือชีวิตที่เราท่านทั้งหลายได้สูญเสียไป ดังนั้น การฉลองปีใหม่ อย่างสัมมาทิฏฐิ คือการฉลองศีลสมโภชน์ หรือการสืบทอดอายุของศีลธรรมให้ยาวนานที่สุด เพราะอายุ ของศีลธรรมยาว ชีวิตคนก็ยืนยาว อายุของคน-ดินฟ้าอากาศ (ฤดูกาล) ขึ้นอยู่ที่ 'ศีลธรรม'

และผู้รู้ได้ฝากข้อเตือนใจว่า

เมื่อดวงศีลดี-ดวงกรรมก็ดี-เมื่อดวงกรรมดี-ดวงคนก็ดี-เมื่อดวงคนดี-ดวงบ้านดวงเมืองก็ดี"

สวัสดีปีใหม่ พบกันใหม่ในฉบับหน้านะฮะ

จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ค่ายจริยธรรมหนุ่มสาว กลุ่มรามบูชาธรรม

ในระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ ธ.ค.๔๖ น.ศ.กลุ่มรามบูชาธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน ๑๙ คน ได้จัดกิจกรรมเข้าค่ายจริยธรรมหนุ่มสาว ขึ้นที่ ชุมชนวังสวนฟ้า จ.สระแก้ว (โดยก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ ๘-๑๒ ธ.ค.๔๖ ทางชุมชนได้จัดหลักสูตร อบรมสุขภาพ ๗ อ. โดยมีผู้เข้าอบรม ประมาณ ๕๐ กว่าคน)

ก่อนที่จะมีงานค่ายครั้งนี้ ทางทีมทำงานได้ประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อกำหนดรูปแบบของงาน เพื่อให้ได้สาระและประโยชน์มากที่สุด และ มีแนวความคิดว่า ต้องการ จะนำคอร์สมหัศจรรย์มาใช้ในงานครั้งนี้ด้วย จึงได้เรียนปรึกษากับสมณะลานบุญ วชิโร ซึ่งท่านได้กรุณา ให้คำแนะนำ และได้มาร่วมงานค่ายในครั้งนี้ด้วย

กิจกรรมในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๔.๓๐ น. มีการทำวัตรเช้า ออกกำลังกาย เดินตามสมณะบิณฑบาต ลงฐานงาน ซ่อมแซม ปรับปรุง บ้านนักศึกษา ตีข้าว เผาข้าวหลาม และล้างอุปาทานสำหรับผู้ที่กลัวผี ซึ่งทุกกิจกรรมที่ทำจะเน้นขบวนการกลุ่ม มีการพูดคุย แสดงความรู้สึก หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ทำให้เพิ่มความเข้าใจและความสามัคคีในหมู่กลุ่มมากขึ้น แต่ละคนก็ได้ให้เวลากัน ให้ความเข้าใจ ให้อภัยไม่ถือสากัน และไม่ทำอะไรตามใจตามภพของตนเอง ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ๔ ข้อ ของคอร์สมหัศจรรย์ ที่สมณะลานบุญ วชิโร ได้นำพาทำ

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓ ที่นักศึกษาได้มีโอกาสมาจัดกิจกรรมที่ชุมชนวังสวนฟ้า โดยทุกครั้งที่มาก็พบเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง แต่มีสิ่งหนึ่ง ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ น้ำใจและความเอื้ออาทรของชาวชุมชนที่มีให้กับนักศึกษาเสมอมา และความเมตตาของสมณะแก่นเมือง เกตุมาลโก ที่คอยดูแลนักศึกษาทุกครั้งที่มาจัดกิจกรรมที่นี่ นอกจากนี้ยังมีสมณะนึกนบ ฉันทโส และสม.มาบรรจบ เถระวงศ์ ที่พอทราบข่าว ก็มีเมตตาเดินทางมาร่วมงาน และได้มาเทศน์ให้แง่คิดที่มีประโยชน์มากทีเดียว ถึงแม้ว่าทั้ง ๒ ท่านจะอยู่ร่วมงานได้เพียงวันเดียวก็มาก
สำหรับ ความรู้สึกบางส่วนของผู้มาเข้าค่าย มีดังนี้

น.ส.พรรณพิลาศ รัตนมณี "รู้สึกประทับใจ ได้รับน้ำใจจากพี่ๆ เพราะตัวเองไม่สบาย พี่ๆก็เป็นห่วง มางานค่ายครั้งนี้ ทำให้กล้าพูด ในสิ่งที่คิดมากขึ้น มีความมั่นใจกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นค่ะ"

น.ส.ลัดดา รัตนชัย "การจัดงานครั้งนี้ รู้สึกประทับใจกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีความรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นเจ้าของงานร่วมกับเพื่อนๆพี่ๆทุกคน รู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น มีความสามัคคีมากขึ้น ก่อนจะทำอะไรทุกคนก็ได้ปรึกษาหารือกัน และตกลงทำตามมติที่ประชุม ที่ได้อย่างนี้ อาจจะเป็นเพราะคอร์สมหัศจรรย์ ที่ท่านลานบุญ พาทำก็ได้ค่ะ ถ้าเป็นงานค่ายจริยธรรมหนุ่มสาวของกลุ่ม ก็อยากให้จัดออกมา ในรูปแบบนี้ค่ะ"

กลุ่มรามบูชาธรรม รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาวอโศกรวมพลังสร้างประวัติศาสตร์
ลากเรือโคกใต้ดินหนัก ๘๐ ตัน
ผนึกวิญญาณ สืบสานนาวาบุญนิยม

พลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่
ด้วยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ
ชาวอโศกประทับสู่จิตวิญญาณ

ท่ามกลางสายหมอกและอากาศหนาวของเช้าวันพุธที่ ๒๔ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ ณ พุทธสถานราชธานีอโศก นักบวช, ฆราวาส และ น.ร.สัมมาสิกขา ทั่วประเทศประมาณ ๑,๐๐๐ ชีวิตได้ร่วมมหกรรมประวัติศาสตร์ "ผนึกวิญญาณ สืบสาน นาวาบุญนิยม" ลากเรือโคกใต้ดิน น้ำหนัก ๘๐ ตัน จากบริเวณถนนทางแยกเข้าหมู่บ้าน (บริเวณที่จอดรถตลาดอาริยะฯ) ไปยังเนินดินหน้าเฮือนศูนย์สูญ ที่สูงจากพื้นดิน ประมาณ ๕ เมตร ระยะทางราบประมาณ ๑๒๐ เมตรและขึ้นเนินดินประมาณ ๘๐ เมตร รวมระยะทาง ๒๐๐ เมตร ใช้ ลูกกลิ้งเหล็กน้ำหนัก ๗๐๐ กิโลกรัมจำนวน ๑๐ ลูก รองใต้ท้องเรือเป็นระยะๆ ลงบนแผ่นเหล็กจำนวน ๘ แผ่นรองรับลูกกลิ้งเหล็ก ใช้เชือกมะนิลาเส้นใหญ่ ในการลาก ช่วงแรก ทางราบบนพื้นถนนใช้ ๖ เส้น ช่วงที่สองทางขึ้นเนินใช้ ๙ เส้น

กงล้อธรรมจักรวางอยู่หัวเรือด้านหน้าคู่กับธงชาติไทยและธงสุญญตา เหมือนจะเป็นรูปธรรม บ่งบอกถึงการเข็นกงล้อธรรมจักร ไปสู่มวลมนุษยชาติ พวกเราต้องสามัคคีร่วมแรงร่วมใจจึงจะสำเร็จ ผู้ที่อายุมากที่สุดในการลากเรือครั้งนี้คือคุณยายหอม นิลละคอน อายุ ๘๕ ปี และอายุน้อยที่สุด คือ ด.ญ.แก้วกลั่นพร หิรัญเขว้า (น้องโมกข์) อายุ ๑๑ เดือน ๒๙ วัน เพื่อความเป็นประวัติศาสตร์ งานนี้ใช้กล้องภาพนิ่ง และกล้องวิดีโอประมาณ ๒๐ ตัว

๐๗.๐๙ น.ประวัติศาสตร์การลากเรือได้เริ่มขึ้น ใบหน้าของแต่ละคนเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและแววตาที่มุ่งมั่น เดินเข้าประจำเชือกแต่ละเส้น พวกเราพร้อมแล้วที่จะร่วมแรงร่วมใจผนึกจิตวิญญาณชาวอโศกทุกดวงหลอมรวมเข้าด้วยกัน

"เ..อ้...า...า...ไป...ป...ไป...ป...ไป...ป..." เรือยักษ์น้ำหนัก ๘ หมื่นกิโลกรัม ค่อยๆเคลื่อนตัวไปบนลูกกลิ้งเหล็กมุ่งไปข้างหน้าอย่างน่าอัศจรรย์ ช้าๆและมั่นคง

ใบหน้าของแต่ละคนยิ้มละมัย ดวงใจพองโตด้วยความปีติ พร้อมกับเสียง "เฮ่... เฮ่...เฮ่..."

"เ..ดิ...น...หน้า..า...า...ไป... ป..ไป...ป...ไป...ป... เยี่ยมมาก..ก" ผู้นำร้องบอก

"ปี๊ด..ด..ด..ด.." เสียงเป่านกหวีดจังหวะยาว เป็นสัญลักษณ์ให้หยุดลาก

"หยุด..ด...ด..." ทุกคนร้องบอกต่อๆกันไปยังด้านหน้า ลูกกลิ้งที่รองใต้ท้องเรือสิ้นสุดระยะทาง ต้องย้ายลูกกลิ้งที่รองรับด้านหลังเรือ มาเตรียมไว้ด้านหน้า เป็นทอดๆ

ฝ่ายชายที่แข็งแรงช่วยกันดึงลากลูกกลิ้งเหล็กจากด้านหลังเรือมาเตรียมรองรับด้านหน้า แต่ละคนทำงานกันอย่างกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไว และรวดเร็ว

๐๘.๒๔ น. เรือยักษ์ก็เคลื่อนมาถึงทางแยกเลี้ยวขึ้นเนินดินหน้าเฮือนศูนย์เรียบร้อย ซึ่งใช้เวลาชั่วโมงเศษๆเท่านั้น พ่อท่านบอกว่าเร็วเกินคาด ในช่วงเลี้ยวนี้แรงคนช่วยไม่ได้ ต้องใช้เครื่องกลหนักเจ้ายักษ์(รถแม็คโคร)ช่วย จึงให้พวกเราพักผ่อนและหยุดพักรับประทานอาหาร พ่อท่าน บอกว่าแรงช้างลากซุงก็สู้พวกเราไม่ได้

ด้วยการรวมพลังของพวกเรา การลากเรือในช่วงแรกบนพื้นถนนราบเรียบ หลายคนรู้สึกว่าเหมือนไม่ได้ออกแรงลากเรือเลย

๑๔.๐๐ น.เศษ ท่ามกลางแสงแดดร้อนแต่อบอุ่นในหัวใจ การลากเรือประวัติศาสตร์ช่วงที่สองก็เริ่มขึ้น เป็นทางลาดชัน ๒๐ องศา ระยะทาง ๘๐ เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ ๕ เมตร การลากเรือในช่วงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ ต้องมีความพร้อม ๑๐๐ เปอร์เซนต์เท่านั้น ในช่วงนี้ใช้เชือกลากเรือ ๑๐ เส้น

เมื่อสุดทางเนินดิน คนที่อยู่ปลายเชือกก็ลงไปลากข้างล่าง ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แล้วการลากเรือยักษ์ ก็สร็จเรียบร้อยลงในเวลา ๑๖.๑๗ น. ใช้เวลาไม่ถึง ๒ ช.ม. เรือลากเสร็จเร็วก่อนกำหนดเวลาที่ตั้งไว้

เสียงร้องไชโย้ดัง ๓ ครั้ง ดังสนั่นไปทั่วบริเวณเมื่อเรือเคลื่อนมาถึงจุดหมายที่วางไว้

พ่อท่านผู้นำจิตวิญญาณของชาวอโศกในการลากเรือประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้กล่าวว่า "ในช่วงร้อยปีจะมีกิจอย่างนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยใช้แรงความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน ไม่ได้จ้างสักบาทเลยคนที่มาทำงานนี้ ทุกคนมาทำงานด้วยใจด้วยจิตวิญาณพร้อมกันเลย ระยะจากทางที่เราดึง มาจากโน่นถึงนี่ประมาณสองร้อยเมตร ช่วงที่เราดึงขึ้นเนินประมาณ ๘๐ เมตร จากโน่น มาร้อยกว่ามาถึงที่เลี้ยว แล้วมาถึงนี่ เราใช้เวลาช่วงเช้าร้อยกว่าเมตร ออก ๐๗.๐๙ น. ๒ โมงครึ่งก็มาถึงแล้วหยุด มา บ่ายสองโมงเศษก็ได้ขึ้นมา ขณะนี้เย็นสี่โมง ๑๗ นาที เราใช้เวลาไม่ถึง ๒ ช.ม. เราขึ้นมาแล้ว

เรือลำนี้ชื่อว่าโคกใต้ดิน มีความหมายว่า เป็นของสูงอยู่บนที่สูง สูงได้ทั้งๆที่ไม่น่าจะขึ้นสูงได้ ก็ขึ้นสูงได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่ถือตัวว่า อยู่สูง ถือตัวว่าอยู่แค่ใต้ดิน เป็นการอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการไม่ถือตัว ไม่หยิ่งผยอง

ถ้าเราใช้แรงเครื่องกลหนัก แรงธรรมดา ลาก ก็ได้อยู่หรอก ก็ไม่ได้ประหลาดอะไร เครื่องกลเราก็มี แต่ไม่ได้เป็นการเกิด การรวมน้ำใจสัมพันธ์ ที่เรามาร่วมกันเหน็ดกันเหนื่อย ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ ไม่ใช่ง่าย แล้วก็ทำกันดูอย่างระมัดระวัง

อาตมาภูมิใจอยู่อย่างหนึ่งที่ทำเสร็จแล้ว ไม่มีอุปัทวเหตุอะไรเลย อันนี้แหละคือสิ่งที่ยอดเยี่ยม แสดงว่าพวกเราระมัดระวัง พวกเรา ไม่มีใครตะแบง รับฟังกัน มีคำสั่งอย่างโน้น ตกลงกัน ทุกคนก็รับฟังกันด้วยดี ต่างคนต่างทำๆ เรื่องก็เลยเรียบร้อยหมด"

ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้จารึกไว้แล้วในจิตวิญญาณของชาวอโศกทุกดวง ณ ดินแดน แห่งนี้เป็นบทพิสูจน์พลังศรัทธาแห่งการเข็นกงล้อธรรมจักร ที่ต้องอาศัยศรัทธาอันแรงกล้า เพื่อร่วมสืบสานงานศาสนาต่อไปตราบนานเท่านาน

เรือโคกใต้ดิน เป็นเรือเอี๊ยมจุ๊นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดของบ้านราชฯ กว้างประมาณ ๙.๕๐ เมตร ยาว ๒๘ เมตร หนัก ๘๐ ตัน(๘๐,๐๐๐ กก.) ราคา ๑๑๐,๐๐๐ บาท ขนย้ายจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึงบ้านราชฯเมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค.๔๕ เมื่อปีที่แล้ว

และเมื่อวันที่ ๒๓ ธ.ค. เวลาประมาณ ๑๘.๐-๒๑.๐๐ น. เรือสินในสูญ เรือเอี๊ยมจุ๊น อีกลำหนึ่งน้ำหนักรองจากเรือโคกใต้ดิน ที่จอดอยู่ บริเวณเดียวกันกับเรือโคกใต้ดิน ได้เคลื่อนย้ายมาตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินดินหน้าเฮือนศูนย์ โดยรถสิบล้อ และรถแบล็คโฮล์ "เจ้ายักษ์" ช่วยกันลากมา พ่อท่านดำริว่าจะนำมาทำเป็นห้องเรียนของ น.ร.ชั้นระดับประถมศึกษา (กลุ่มสมุนพระราม) บ้านราชฯ โดยหัวเรือ จะเป็นรูปหนุมาน

บางส่วนเล็กๆของผู้ร่วมขนเรือได้บอกเล่าถึงความรู้สึกดังนี้

ด.ช.แผ่นด้าว อัมพุช น.ร.ชั้น ป.๕ ร.ร.สัมมาสิกขาราชธานีฯ อายุ ๑๑ ขวบ "ชาวอโศกนี้มีพลังในการลากเรือ ครั้งนี้ ผมได้ทำบุญทางกาย ได้เสียสละแรงกายของเรา แทนที่จะไปเล่น แต่เอาแรงมาลากเรือซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่า รู้สึกดีใจ ที่ลากเรือสำเร็จ ที่จริงจะใช้เครื่องกลช่วย แต่ชาวอโศกก็สามารถลากขึ้นไปจนสำเร็จได้"

น.ส.แก้วเดือน แก้วคงดล ศาลีฯ "ไม่ได้ลากเรือเพราะช่วยหั่นผัก-หั่นเห็ด ทำอาหารที่โรงครัว ได้ยินเสียง ก็ตื่นเต้น จะไปก็ไม่ได้ เพราะมีแค่ ๔-๕ คนเท่านั้น แต่ได้ดูหนังที่เขาฉาย ดูแล้วน้ำตาซึม เห็นทุกคนมีพลัง ยิ่งได้มาฟังพ่อท่านเทศน์เสริม ว่ามีอายุขัยแค่ ๗๒ เท่านั้น ตอนนี้ ๗๐ แล้ว เหลืออีก ๒ ปี ฟังแล้วน้ำตาไหล เรายังได้ไม่เท่าไหร่เลย จะเพิ่มความเพียรมากขึ้น"

นิสิตตะวันเตือน ปัญญายงค์ ปฐมฯ "ช่วยลากได้วาเดียว เพราะต้องช่วยในครัว เขาไปกันเกือบหมด ตอนแรกก็ตั้งท่าจะไป แต่คุรุบอกว่า ไปไม่ได้ไม่มีคน ยายไม่กล้าดื้อกับคุรุ ก็วิ่งไปลากได้แค่วาเดียวตอนเขาจะพักแล้ว ได้ยินเสียงลากเรือ เฮๆก็ประทับใจ ใจก็คอยฟูขึ้น ใจหนึ่งก็ห่วงเด็กเหนื่อยแล้วไม่มีอะไรกิน ทางในครัวก็ได้ยินเสียงต้องรีบทำ"

นางหอม นิลละคอน อายุ ๘๕ ปี "ตื่นเต้น ภูมิใจที่สุด มีไฟอยากช่วย ไม่กลัวล้ม และไม่ล้ม ไม่เซ แรงยังดี ได้ช่วยลากทั้ง ๒ ช่วง"

น.ส.ถึงฝัน ปั้นวิชัย ศาลีฯ "ประทับใจค่ะ เพราะเป็นการร่วมแรงร่วมใจ ประสานวิญญาณ ไม่รู้สึกเหนื่อยรู้สึกสนุก เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ ครั้งยิ่งใหญ่"

นางทางบุญ ชาติบุญนิยม ศีรษะ "รู้สึกว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เป็นพลังมหัศจรรย์ ซึ่งไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ รู้สึกตื่นเต้น ได้ลากจนวินาทีสุดท้าย มองเห็น พ่อท่านมีกำลังใจมากค่ะ เป็นการผนึกวิญญาณ ได้แสดงความสามัคคี เป็นบุญจริงๆที่ได้มาร่วมในครั้งนี้"

น.ส.วรัทยา ธรรมรักษ์ สีมาฯ "ได้เห็นพลังของความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ เห็นพ่อท่านนำพวกเราผนึกกำลัง ในการลากเรือ สนุกมากๆ ขอบคุณ เหตุการณ์ที่ทำให้ได้เห็นพลังที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

กิจกรรมสร้างสุขภาพ ๗ อ.
ชาวฟ้าอภัยส้มหล่น

เมื่อวันที่ ๒๐-๒๔ ธ.ค.๔๖ โครงการพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุข ได้จัดกิจกรรมโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน ในโครงการส่งเสริม กิจกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีผู้เข้ารับการอบรม ๗๕ คน ส่วนใหญ่มาจากสันติอโศกและองค์กรรอบๆสันติอโศก

เพื่อให้เป็นการมองหลายมุม จึงขอรายงานข่าวด้วยมุมมองของผู้เข้ารับการอบรม ดังนี้

คุณทุ่งกว้าง นาวาบุญนิยม "ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าค่ายสุขภาพ ๗ อ. คือ เรื่องการกินอาหารรักษาโรคและกินเพื่อไม่เป็นโรค, ธาตุในร่างกาย การกินอาหารเพื่อปรับธาตุให้สมดุล, การกินอาหารมีชีวิต พืชชนิดไหนยังมีชีวิต ชนิดไหนตายแล้ว และการกินผัก ที่เป็นไม้ยืนต้น ดีกว่าผักล้มลุก เพราะความแข็งแรงของต้นไม้ย่อมส่งผลต่อร่างกาย"

คุณละออง "สิ่งที่ได้จากการอบรมมีหลายเรื่อง เช่น ความรู้เรื่องอาหาร ธาตุประจำตัว เพื่อนำมาปรับในการกินอาหารตามธาตุ โรคภัยไข้เจ็บ และการดูแลรักษาตัวเอง โดยกินอาหารเป็นยา ไม่ต้องพึ่งสารเคมี เช่น เป็นไมเกรนให้กินพริกขี้หนูสด เผ็ดเท่าไรยิ่งดี อาการปวดหัวไมเกรนจะหาย

ได้ออกกำลังกายทุกวัน นำโดยคุณหมอเขียว คุณหมอประดิษฐ์ และคุณปุ๊ (ฝากฝน หมายยอดกลาง) พาทำกายบริหาร เช่น โยคะ เดินลมปราณ นวดเท้า กราบ ๑๐๘

ได้กินอาหารสดจากไร่ไร้สารพิษ ช่วงเช้าและเย็นอากาศหนาว แต่สายๆก็เริ่มอุ่น

ที่สำคัญคือ ได้เรียนรู้เรื่องเอาพิษออกจากร่างกาย(ดีท็อกซ์)เพิ่มขึ้น ผู้ที่ไม่เคยทำดีท็อกซ์มาก่อน ก็กล้าลองและรู้สึกสบายตัวหลังทำดีท็อกซ์

สรุปว่าเป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจกับการดูแลอย่างเป็นกันเองและอบอุ่น"

คุณติดดิน "ได้ความรู้จากวิทยากร ทุกท่าน ส่วนมากเป็นความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่บรรพบุรุษใช้ดูแลตัวเอง ครอบครัวและชุมชน แต่ถูกละเลยเพราะ ผู้ปกครองของเราไปหลงวิทยาการของแพทย์ แผนปัจจุบัน ส่งผลให้แพทย์แผนไทยเกือบจะสูญหายไป โชคดีที่ปัจจุบัน เราหันกลับมาสนใจแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง อีกครั้ง

บรรยากาศโดยรวมดีมาก ทั้งสถานที่ อากาศและวัตถุดิบในการทำอาหาร ผิดหวังเรื่องอาหารเล็กน้อย ที่น่าจะทำแบบไม่ต้องปรุงแต่ง (ธรรมชาติ) แต่ก็ทำใจได้

สิ่งที่นำมาใช้ได้มากคือ การออกกำลังกาย ได้กราบ ๑๐๘ ครั้งทุกเช้า การกินอาหารเป็นยา การดื่มน้ำปัสสาวะที่หากกินอาหารดี ปัสสาวะมีรสจืด สุขภาพก็จะดี การมองแง่บวกในทุกๆเรื่อง และหากไม่เครียดก็จะไม่เป็นโรค โดยเฉพาะมะเร็ง"

คุณผืนดิน อโศกตระกูล "โดยส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีโอกาสดีๆเช่นนี้ ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่จะสามารถปิดติดต่อกันได้หลายๆวัน แค่หยุดช่วงงานต่างๆ ของชาวอโศกแต่ละงานก็เยอะแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะหยุดเพิ่มนั้นออกจะยาก ซึ่งจุดนี้ต้องขอชื่นชมผู้บริหาร ที่เห็นความสำคัญ ในเรื่องสุขภาพของพนักงานทุกคน ไปค่ายครั้งนี้แล้ว สัมผัสแรกที่ได้คือ รู้สึกว่าวังน้ำเขียว เหมือนเป็นบ้านญาติพี่น้อง ของเราจริงๆ รู้สึกสบายและอบอุ่นกับการต้อนรับแบบเรียบง่ายของญาติธรรมที่นั่น ซึ่งก็มีอยู่เพียงไม่กี่คน ไปแล้วคุ้มค่ามาก ได้สูดอากาศ บริสุทธิ์ ได้ทั้งสุขภาพกายและความรู้ที่วิทยากรมาบรรยายให้ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นญาติธรรมของเราเอง อยากจะฝากถึง ญาติธรรม ทุกคนนะคะ หากมีโอกาสไปเข้าค่ายสุขภาพ ก็ไปเถอะ ส่วนใหญ่ชาวอโศกมักจะให้เหตุผลว่างานเยอะ ไม่มีเวลา ฯลฯ แต่ตอนนี้ เป็นโอกาสดี ที่หมู่กลุ่มเห็นคุณค่าในจุดนี้แล้ว ก็ถือเป็นโอกาสดีของเราแล้วนะคะ"

คุณศีลสนิท น้อยอินต๊ะ "ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเอง เพราะการดูแลสุขภาพของตัวเราเองอย่างถูกต้อง พอเหมาะ พอควร เป็นสิ่งสำคัญมากส่วนหนึ่งของชีวิตนักปฏิบัติธรรม

ชัดเจนว่า เราดูแลสุขภาพกายและใจไปพร้อมกันได้ในทุกกรรมกิริยา เราคือหมอของตัวเอง โดยพิจารณาจากวิถีการกินการอยู่ และสามารถ ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้"

คุณน้อมคำ ปิยะวงค์รุ่งเรือง (อิสรา)
"มาเข้าค่าย ๗ อ. ด้วยอิทธิบาท
ทั้งอากาศ, อารมณ์ สุขสมไฉน
อาหารดี, เอาพิษออก จากกายใจ
ออกกำลัง, เอนกาย ผ่อนคลายจริง
ขอขอบคุณน้องพี่ที่อาทร
บุคลากรจัดค่ายทั้งชายหญิง
จะตอบแทนคุณท่านด้วยทำจริง
รักษาสิ่งที่ได้นี้เท่าชีวิต".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ค่าย ยอส.ครั้งที่ ๗ เป็นห้องเรียนใหญ่

ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๘ ธ.ค. เป็นการเข้าค่ายของ น.ร.สัมมาสิกขาของชาวอโศกตั้งแต่ชั้น ม.๑ - ม.๖ ทั้ง ๑๑ สถาบัน คือ ปฐมฯ, ศีรษะฯ, สันติฯ, ศาลีฯ, สีมาฯ, ราชธานีฯ, ภูผาฯ, หินผาฯ, ดินหนองฯ, เชียงรายฯ, จำนวน ๖๒๗ คน เพื่อร่วมเตรียมงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ณ ชุมชน ราชธานีอโศก ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗

๑๙.๐๐ น. เปิดเพลงรวมพลสัมมาสิกขา เริ่มกิจกรรมสลายพฤติกรรม.หน้าเฮือนศูนย์สูญ ท่ามกลางความมืด พี่ม.วช.ถือคบเพลิงนำทาง และร่วมกันเข็นเรือธรรมจักร เรือใหญ่-เล็กตามลำดับ ภายใต้คำขวัญประจำค่าย "ผนึกวิญญาณ ประสานสัมพันธ์ สถาบันอโศก" ไม่แบ่งแยก ผ้าพันคอ ว่าสีใด ขอเพียงใจเราเป็นหนึ่งเดียว แบ่งกลุ่มแต่ละชั้นของแต่ละพุทธสถานมาอยู่รวมกัน รวม ๑๖ กลุ่ม จบด้วยโอวาท จากสมณะฟ้าไท สมชาติโก ถ้าแต่ละคนถือศีล ๕ ก็จะอยู่กันอย่างเป็นสุข ตลอด ค่ายนี้เป็นการบูรณาการ การเรียนการสอน ของสัมมาสิกขา มิใช่เพียงแค่มาใช้แรงงานเท่านั้น

๒๔ ธ.ค. รวมตัวกันสร้างประวัติศาสตร์ให้กับชีวิต ผนึกกำลังกับทุกฐานะลากเรือโคกใต้ดิน เรือเอี๊ยมจุ๊นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ ในบ้านราชฯ น้ำหนัก ๘๐ ตัน ไปยังหน้าเฮือนศูนย์ ระยะทาง ๒๐๐ เมตร ภาคค่ำพบพ่อท่านที่ลานหินหงส์ กล่าวย้ำว่า ภูมิใจที่พวกเรา จบไปแล้ว นำศีลไปประพฤติปฏิบัติ

๒๕ ธ.ค. ไม่มีธรรมะรับอรุณ ลงปฏิบัติงาน ภาคค่ำฟังชีวิตของหมอก้องและหมอแก้ง หมอหนุ่ม ทั้ง ๒ ที่เห็นว่าอาชีพที่สูงสุด ที่ควรไขว่คว้า คืออาชีพนักบวช

๒๖ ธ.ค.ธรรมะรับอรุณ โดยสมณะมือมั่น ปูรณกโร และสมณะกล้าตาย ปพโล ประวัติศาสตร์ชีวิตของเรา ต้องสร้างด้วยตัวของเราเอง จะดีเลว ยิ่งใหญ่ ไม่เข้าท่าก็อยู่ที่ฝีมือของเราเอง ภาคค่ำใกล้ชิดชีวิตเพื่อน พบสมณะ-สิกขมาตุ

๒๗ ธ.ค.ธรรมะรับอรุณ โดยสมณะเห็นทุกข์ ยตินทริโย และสมณะถักบุญ อาจิตปุญโญ ดำเนินรายการโดยสมณะแก่นหล้า วัฑฒโน เรื่องราวชีวิตของสมณะนวกะ ที่กว่าจะได้มาบวชเป็นสมณะนั้นต้องพบกับกับดักมากมาย แต่สุดท้ายก็คว้าชัย ยอส. อาจจะแปลว่า ยืนหยัดอดทน สู้ให้ได้ ภาคค่ำ ม่วนซื่นโฮแซว การแสดงรอบกองไฟของแต่ละกลุ่มใช้เวลา ๕ นาที

๒๘ ธ.ค. ๑๔.๐๐ น. รับขวัญธรรม จากพ่อท่านที่ให้โอวาทว่า ผู้ปกครองคนใดที่ให้เงินลูกใช้ขณะที่เป็น น.ร.สัมมาสิกขา ถือว่าผิดกฎระเบียบ ของ ร.ร. และการศึกษาที่นี่นำทางชีวิตสู่โลกุตระ

ในค่ายนี้ได้แบ่ง น.ร.เข้าประจำการปฏิบัติงาน ตามฐานงานต่างๆ และได้สิ้นสุดการปฏิบัติงานในเวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันที่ ๓ ธ.ค. ๔๗

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชื่อ นายนิยม นาประโคน
เกิด ๓ ก.ย. ๒๔๘๐ อายุ ๖๖ ปี
ภูมิลำเนา ๑๕๗ ม.๕ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
การศึกษา อุดมศึกษา ๒ สถาบัน
สถานภาพ บุตร ๔ คน ชาย ๓ หญิง ๑
น้ำหนัก ๔๖ กก.
ส่วนสูง ๑๕๔ ซ.ม.

ในงานประจำปีต่างๆของชาวอโศก หลายท่านอาจจะเคยเห็นญาติธรรมชายที่พิการทางดวงตา ร่วมนั่งฟังธรรมและบางครั้ง ต้องอาศัยผู้อื่น ช่วยนำทาง ท่านชื่ออาจารย์นิยม ไปคุยกับท่านกันเลยค่ะ

*** ลูกกำพรอย
พ่อแม่เป็นชาวนา มีพี่น้อง ๒ คน ผมเป็นพี่คนโต ๔ ขวบแม่เสียชีวิต อายุ ๖ ขวบ ไปอยู่กับน้าชายเพราะเขาแต่งงานแล้วไม่มีลูก ๑๒ ปีพ่อก็เสียชีวิต จบ ม.๖ จากบุรีรัมย์ สอบบรรจุครูได้ที่ จ.จันทบุรี แล้วเรียนด้วยตัวเอง จนจบการศึกษาบัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ และ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะสาธารณสุข กทม.

ปี ๒๕๒๐ เจอพ่อท่านขณะจาริกฯที่ อ.ประโคนชัย ได้นิมนต์พ่อท่านไปปักกลดแสดงธรรม ๗ วัน ๗ คืน แล้วผมก็เริ่มปฏิบัติธรรม

เป็นครูที่ประโคนชัย ๑๘ ปี ลาออกไปทำงานเป็นครูที่สิงคโปร์ ๑ ปี ไปทำงาน ที่ซาอุดิอาระเบีย เป็นล่ามให้กับบริษัท ขุดเจาะน้ำมันหลายแห่ง ทั้งของฝรั่งเศส, อเมริกา, เยอรมัน มีชีวิตอยู่ระหว่างทะเลทราย-ทะเลอยู่ ๖ ปี คิดว่าพอแล้ว ออกมาทำงานแปล ต้องอยู่กับต้นฉบับ จนเริ่มปวดตา ไปหาหมอหลายแห่งก็ไม่หาย

*** ทยอยใช้หนี้
ปลายปี ๒๕๓๘ ตามัวมาก เกือบใช้ ไม่ได้ แล้วมีอาการปวดท้องอีก หมอที่ ร.พ.เอกชนเอ็กซเรย์หลายครั้ง อ่านฟิล์ม ไม่ชัด จึงขอผ่าดู บอกว่าเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ ๖ โมงเย็นหมอกลับไปแล้วปรากฏ ว่าแผลปริ เลือดไหลทั้งคืน พยาบาลได้แต่ซับเลือดเท่านั้น จนรุ่งเช้า ของอีกวันหนึ่ง ๐๘.๓๐ น. หมอถึงได้มาดูอาการ หมอตกใจมาก รีบเย็บแผลสดๆเลย ตอนนั้นทรมานมาก ทั้งอ่อนเพลียที่เสียเลือดมาทั้งคืน ทั้งถูกเย็บสดๆ พร้อมกับตาที่เริ่มมองไม่เห็น

*** ที่ดี..ด้วยยุติกรรม
ทำใจได้! นึกถึงปาณาติบาตที่เคยทำ เอาไว้ ถึงคราวที่ต้องชดใช้กรรม ตอนเล็กๆ ฆ่าสัตว์เยอะมาก ปลา กบ เขียด อึ่งอ่าง แล้วยังทำบาป ขึ้นเสียด้วย ตอนนั้นทำโดย ไม่รู้ เป็นของสนุก โดยเฉพาะแทงตากบ ตามรอยแตกของพื้นดิน จะเห็นตากบใสแจ๋ว ผมจะเอาไม้แหลม พุ่งใส่ตา แล้วไม่เคยพลาด การผ่าท้องสัตว์ต่างๆ ที่จับได้กันสดๆ ก็น่าจะใช่

เคยท้อบ้างตอนแรกๆ แต่คิดว่าเป็นการชดใช้กรรม เราเป็นลูกหนี้ เราต้องใช้ ไม่ชาตินี้หรือชาติหน้า เมื่อเขาเป็นเจ้าหนี้ เราเป็นลูกหนี้ เราก็ต้องรีบใช้ จะได้ยุติธรรม มิฉะนั้นกฎแห่งกรรมก็ใช้ไม่ได้ เรามีหน้าที่ ชดใช้อย่างเดียว ใช้เร็วเท่าไรก็หมดเร็วเท่านั้น

*** ตาบอดไม่ใช่อุปสรรค
พอฟื้นจากอาการป่วยแล้ว ในฐานะกสิกร ก็เริ่มปรับปรุงดิน หาปุ๋ยมาใส่จนสำเร็จ ทำกสิกรรมไร้สารพิษ จนเป็นสวนที่สมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้ ก็แจกคนอื่น ทำใหม่ๆก็ไม่สะดวก ต่อไปก็ค่อยๆชิน ตอนนี้กำลังทำสวน ๖ ไร่ ช่วยกันทำกับหลานชาย ทุกวันนี้ไปมา ระหว่างชุมชน เมฆาอโศก กับบ้าน

ถ้าเชื่อกฎแห่งกรรม ทุกอย่างจะหมดปัญหา ลงตัว มิฉะนั้นจะปรับลำบาก อะไรจะเกิดขึ้นขอให้เรามีสติ ทุกอย่างมาแต่เหตุ ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้า ควบคุมกรรม ๓ ให้ดี สร้างกรรม ๓ ให้บริสุทธิ์ ลดอกุศลลง แล้วจะรอด

*** ฝากให้คิด
กึ่งกลียุค ทุกอย่างเกิดผลให้ทุกคนศึกษา ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย ไม่ศึกษาก็ชวดโอกาส ยุคนี้ต้องเพียรอย่างยิ่ง ต้องใช้อิทธิบาทมาก ต้องกล้าทวนกระแส ใครตามกระแสไม่มีทางรอด เสียชาติเกิด! ใครมีปัญหาโทร. ไปคุยได้ที่ ๐๔๔-๖๗๑๔๙๑ บนเส้นทางกฎแห่งกรรม ที่ยุติธรรมที่สุด อาจารย์นิยมได้รับการทวงหนี้ อย่างสาหัสสากรรจ์และชดใช้ด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นขอให้เรายุติด้วยกรรม ๓ ที่บริสุทธิ์ อย่าลืม! กรรมคือทรัพย์แท้ที่ติดตัวเรา.....ไป ทุกๆชาติ

- บุญนำพา รายงาน -


[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

บุฟเฟ่ต์บุญนิยมระดับ ๓
อิ่มละ ๕ บาท ที่ ชมร.เชียงใหม่

นับเป็นครั้งแรกของอุดมการณ์บุญนิยมระดับ ๓ ที่ขายอาหารบุฟเฟ่ต์ อิ่มละ ๕ บาท ที่ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธ.ค.๒๕๔๖ โดยเปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. ซึ่งมีลูกค้ามารับบริการมากกว่าทุกวันที่ผ่านมา ในสัปดาห์นี้

ลูกค้าบางคนสงสัย ถามว่า "ลดทำไมครับ/ค่ะ?", "ไม่ต้องทอนหรอก ครับ", "ส่วนนี้ดิฉันขอทำบุญนะคะ"

โดยในวันนั้น น.ส.พิชญาดา ขันพินิจ ลูกค้าของร้านท่านหนึ่งได้เหมาแผนกขนมจีนแจกฟรี เพื่อทำบุญอายุครบ ๓๐ ปี (โดยจองไว้ตั้งแต่ ๑๓ พ.ย.๔๖) ส่วนคุณวาสนา ได้เหมาส้มตำ ๑,๐๐๐ บาท แจกฟรีในวันครบรอบ ๖๕ ปีของคุณแม่ปราณี จันทร์ตรา รวมทั้งซื้อ ส.ค.ส.จำนวน ๔๐ แผ่น แจกให้กับลูกค้าท่านอื่นๆด้วย

นอกจากนี้ คุณหนึ่งในธรรม ผรช.ชมร.ช.ม.ได้ไปขนมะละกอสุกไร้สารพิษจากสวน ๑ คันรถมาสมทบในรายการอิ่มละ ๕ บาทอีกด้วย

สำหรับเมนูอาหารในวันนั้นมีเกือบ ๔๐ รายการ

บรรยากาศทั่วไปอบอุ่นเป็นกันเอง ลูกค้ามาทานอาหารเหมือนทานอาหารที่บ้านของตัวเอง ลูกค้าแม่ค้าพอเจอหน้า ก็ทักทายกัน ด้วยการไหว้ และรอยยิ้ม ที่เบิกบานแจ่มใส บางคนก็มาร้องเพลงให้ความบันเทิง ทานอาหารเสร็จแล้ว มีเวลาก็ช่วยกันล้างจาน

ชมร.ช.ม. นับได้ว่าเป็นสนามบุญแห่งหนึ่งในระบบบุญนิยม หากท่านใดผ่านไปทางเชียงใหม่ อย่าลืม! แวะไปเยี่ยมสนามบุญแห่งนี้บ้างนะ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
๖๗/๑ ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โทร.๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ ๑,๕๐๐ ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]