ฉบับที่ 222 ปักษ์แรก1-15 มกราคม 2547

[01] บทนำข่าวอโศก: ช่วย "เก็บ" ดีกว่าช่วย "เกิด"
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "อัตตาสาม ที่พาให้เราทุกข์"
[03] ค่ายอบรม สร้างผู้นำ รุ่น ๓ ณ พุทธสถานสันติอโศก
[04] จับกระแส ตอ.
[05] กสิกรรมธรรมชาติ จากบิ๊ก ดีทูบี ถึงเกษตรเอื้อสุขภาพ
[06] สกู๊ปพิเศษ: สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] งานวันเด็กปี'๔๗ พ่อท่านให้คำขวัญ เพื่อความสุขที่สมบูรณ์
[08] ศูนย์สุขภาพ: ทำไมคนจีนอายุยืน
[09] ฉลองหนาวที่ดอยแพงค่าเริ่มที่ ๖ องศาฯ ใช้ไฟฟ้าผลิตเอง
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] ค่ายสุขภาพ ๗ อ. ที่ส่างฝัน มีการเดินเพื่อสุขภาพ
[12] ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อนาที หนี้ที่คุณต้องจ่ายคืน
[13] ดูฝรั่งไร้เมล็ดพันธุ์ต่างชาติในไทย
[14] ข่าวสั้นทันอโศก:
[15] :นางงามรายปักษ์ นางน้อย ชมชื่น

[16] ปฏิทินงานอโศก



ช่วย "เก็บ" ดีกว่าช่วย "เกิด"

ในสังคมที่กำลังพัฒนา มักจะ "เกิด" โครงการใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เพื่อเป็นการพัฒนา หรือเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ทั้งสิ้น ตามคำกล่าวอ้างของผู้ที่ทำให้เกิด

แต่ในการเกิดโครงการใดๆ ก็ตาม ก็ต้องอาศัยแรงกาย แรงปัญญา และเงินตรา

หากผู้ทำให้เกิดไม่มีสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ก็จะขาดการประมาณในการทำให้ "เกิด" การ "เกิด" ก็จะเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ที่สร้างปัญหา ให้สังคม เช่น

อยากมีครอบครัว แต่ไม่มีปัญญาเลี้ยงครอบครัว
อยากมีลูก แต่ไม่มีปัญญาเลี้ยงลูก
อยากทำของขาย แต่ไม่มีปัญญาขายให้คุ้มทุน
อยากปลูกผัก แต่ไม่มีปัญญาดูแลผัก ฯลฯ

ดังนั้น คนในสังคมที่นิยมทำให้ "เกิด" เกินตัว ก็จะมีขยะ หรือมีหางให้ "เก็บ" เยอะ

แต่ขาดคน "เก็บ"

โดยเฉพาะในสังคมชาวโลก คนที่ทำหน้าที่ "เก็บ" ขยะไม่สามารถ "เก็บ" ได้ทันคนที่ทำให้ "เกิด" ขยะ

คนเก็บขยะเป็นงานไม่เท่เท่าคนที่ทำให้เกิดขยะแถมยังถูกดูแคลนด้วยซ้ำ

ขยะจึงมากขึ้น จนเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ในโลก

แล้วในสังคมของชาวอโศกล่ะ!

มีไหมที่ชอบทำโครงการใหม่ๆ แล้วลงทุนซื้อนั่นซื้อนี่ แล้วไม่มีคนทำ เข้าทำนองคนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด ทำให้สิ่งที่ซื้อมา ไม่ว่าจะราคาถูก หรือแพง กลายเป็นเศษขยะที่ขายยากยิ่งกว่าเก็บเศษกระดาษขาย

ดังนั้น ถ้าอยากเป็นคนมีคุณค่า ไม่สร้างปัญหาให้สังคมที่กำลังวิ่งไปข้างหน้า อย่างไม่ประมาณ

พึงสมัครเป็นคน "เก็บ"(หาง) มากกว่าทำให้ "เกิด" (หาง) ดีกว่า เพราะสังคมนั้นจะขาดแคลนคน "เก็บ"

ขยะจะได้ไม่ล้นสังคม โดยเฉพาะ คนสร้างขยะ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อัตตาสาม ที่พาให้เราทุกข์

โอ๊ย...เคร่งเกินไป ปฏิบัติอย่างนั้นมันตึงเกินไป ฉันปฏิบัติสายกลางนะ ไม่เอาหรอก! พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้เลยว่า ปฏิบัติธรรม ต้องเดินสายกลาง อย่าเอามาตรฐาน ของคนในอโศกมาวัดนะ ฉันไม่ใช่คนวัด! ฉันไม่ใช่นิสิต! ฉันไม่ได้คิดจะบวชนะ! ฉันเป็นแค่ญาติธรรม! ยังอยู่บ้าน! ยังครองเรือน! แค่นี้ก็พอแล้ว! และฯลฯ สารพัดเหตุผลที่จะอ้าง ให้กับตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ยังคงมีอีกหลายๆคนถกเถียง หาความลงตัวไม่ได้ว่า มัชฌิมานั้น มีขอบเขตการปฏิบัติแค่ไหน ลองมาฟัง คำอธิบายจากพ่อท่านว่า มัชฌิมาที่เราเข้าใจและกำลังปฏิบัติอยู่นั้น มีเกณฑ์มาตรฐาน ที่ตรงไหน

"ผู้ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง นี่คือมัชฌิมา มัชฌิมาไม่ได้หมายความว่าไม่ ตั้งตนอยู่บนความลำบาก คำว่าตั้งตน อยู่บนความลำบาก จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งเลยว่า เราจะต้องรู้ว่าเราได้ฝืน ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ก็คือฝืน ไม่ใช่บำเรอใจ ถ้าบำเรอใจ ไม่ลำบาก มันอร่อย มันสนุก มันเพลิดเพลิน มันจะสนุกสนาน เอิกเกริก อย่างนั้นมันบำเรอกิเลส มันไม่ฝืน..."
(ทำวัตร ๒๙ ธ.ค.๔๖ ราชธานีฯ)

สั้นๆง่ายๆตรงประเด็น นำ ไปปฏิบัติได้ทันทีสำหรับผู้ที่เป็นนักปฏิบัติธรรม ต่อไปนี้คงได้คำตอบกันแล้วว่า คำว่ามัชฌิมานั้น คือเราได้ฝืนกิเลส ที่ต้องการจะทำ จะกิน จะบำเรอใจ และถ้าเราสามารถฝืนใจในเรื่องต่างๆ ได้จนเป็นปกติ นั้นคือมัชฌิมา และเมื่อฝืนได้ จนเป็นปกติก็ฝืนขึ้นไปอีก เรียกว่า เพิ่มอธิศีล ให้แก่ตัวเองไปเรื่อยๆจนเป็นปกติ เจออาหารอย่างนี้ เจอเหตุการณ์อย่างนี้ เราสามารถคุมกิเลสได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ผลักไม่ดูด นั่นคือ เรากำลังสะสมวิมุติให้กับตัวเอง วันคืนล่วงไป บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่...?

- เด็กวัด. -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ค่ายอบรม สร้างผู้นำ รุ่น ๓ ณ พุทธสถานสันติอโศก

งานอบรมเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๓-๑๗ ม.ค.๔๗ ณ ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก มีผู้มาเข้ารับการอบรมประมาณ ๓๐ กว่าท่าน ซึ่งส่วนมากอยู่ในวัยกลางคน

เริ่มวันแรกหลังลงทะเบียนแล้วให้ผู้เข้ารับการอบรมร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน หลังจากนั้นเป็นช่วงสลายพฤติกรรม แบ่งกลุ่ม ประมาณ ๕ กลุ่ม พอวันที่ ๒ ให้เข้าเรียนรู้ฐานงานต่างๆของชุมชนและลงมือทำงานร่วมกัน

ช่วงบ่ายมีการสาธิตการทำซาลาเปา เคอรี่พัฟ และอาหารต่างๆ โดยนร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ให้ผู้เข้าอบรมแต่ละสี สลับหมุนเวียน เรียนรู้ฐานงานต่างๆ จนถึงวันสุดท้าย ซึ่งผู้เข้าอบรมก็ให้ความสนใจเป็นอย่างดี

สำหรับช่วงเย็นของวันสุดท้าย มีรายการแสดงต่างๆ ทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก ต่างสนุกเฮฮากัน และในขณะเดียวกัน ก็ได้ทั้งสาระ ประโยชน์มากมายให้ได้เรียนรู้ทั้งผู้เข้ารับการอบรมและพี่เลี้ยง แม้บางท่านไม่ได้สมัครใจมา แต่ก็อยู่จนครบ การอบรม แถมจะไปร่วมงานพุทธาฯอีกด้วย

สำหรับความรู้สึกของผู้รับการอบรมบางท่าน มีดังนี้

คุณสุจิน พลนาค อายุ ๔๐ ปี อาชีพรับจ้างเฝ้าบ่อปลา "มาอบรมเป็นครั้ง ที่ ๓ แล้ว อย่างแรกเพราะอยากมาเอาความรู้ อยากมาสงบจิตใจ และที่นี่ก็สงบดี เป็นกันเอง ดูแล้วอบอุ่น มาครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกที่เข้าฐานงานแค่ ๖ ชั่วโมง ซึ่งเร็วไป แต่ครั้งนี้ให้เวลานานกว่าได้ความรู้เยอะครับ

คาดหวังว่า อยากเปลี่ยนอาชีพมาทำงานอยู่ข้างวัดบ้างครับ"

คุณสมเจต มิลินทจินดา อายุ ๕๔ ปี อาชีพรับเหมาก่อสร้าง "มาอบรมเป็นครั้งแรก ได้ความรู้แปลกๆใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น ทำปุ๋ย ทำน้ำยาซักผ้า ฯลฯ อยากให้ทางศูนย์ฝึกอบรมเพิ่มธรรมะหรือน่าจะมีสมณะสักรูปมาตอบปัญหาบ้าง และอยากให้ลดเวลาว่างให้น้อยลงในรุ่นต่อๆไปครับ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


บจ.พลังบุญ

บรรยากาศก่อนปีใหม่ ลูกค้าคับคั่งเบียดเสียดเลือกซื้อสินค้ากันเหมือนกำลังมีงานมหกรรมใหญ่ ลูกค้าสาวสวย แนะนำตัวเองว่า เป็นเลขาฯ ผู้จัดรายการวิทยุ เจ้านายส่งให้มาซื้อสินค้าสุขภาพ เพื่อนำไปจัดกระเช้า ของขวัญปีใหม่ แจกลูกค้า ซื้อเพลิน พอคิดเงินเสร็จ โอ้โฮ้...ตั้งหลายพันนะนี่ สินค้ากองโตเบ่อเร่อ พลันคิดได้ !

ลูกค้า... "จะขนไปยังไง ของมากมาย เออ...ทางบริษัทมีรถรับส่งสินค้าไหม"
พนักงาน..."ไม่มีค่ะ คงต้องเรียกแท็กซี่"
ลูกค้า... "แท็กซี่ ใส่ไม่หมดแน่ ทำไงดีนะ"
พนักงาน... "เอางี้นะคะ เดี๋ยวเราจะลองติดต่อรถปิคอัพให้"
หมุนโทรฯ ติดต่อ บจ.ฟ้าอภัย คุยกับคุณแซมดิน เลิศบุศย์ รองประธานชุมชน ผู้รับสารพัดหน้าที่ ขจัดทุกข์ บำรุงสุข
ชาวอโศก ก็ได้รับความอนุเคราะห์ให้เบอร์โชเฟอร์ (ที่พวกเราใช้บริการกันอยู่) ไม่มีใครว่างสักคัน เพราะธุรกิจยุ่งเหยิง ช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่นั่นเอง
ลูกค้า... "แย่ละซี ตอนซื้อก็ลืมคิดเรื่องนี้"
พนักงาน..."มีทางเดียว รวบรวมสินค้าใส่กล่องให้หมด และพยายามยัดอัดใส่ไปในรถแท็กซี่นั่นแหละ ต้องได้!"
ผลสรุป... ในที่สุดก็ได้ เฮ้อ โล่งไปที

 

บริการทุกระดับประทับใจ

ลูกค้า... "หนังสือ 'แพทย์ทางเลือก' ไม่เห็นวาง หมดแล้วหรือครับ"
พนักงาน..."เอ ไม่เคยเห็นผ่านตา เคยซื้อจากที่นี่หรือคะ"
ลูกค้า... "ใช่ครับ นี่ผมก็อยากได้อีกสัก ๕ เล่ม ซื้อไปแจกปีใหม่"
พนักงาน... "งั้น รอสักครู่ จะติดต่อให้"
ธรรมทัศน์... "อ๋อ! หนังสือแพทย์ทางเลือก มีครับ ให้ลูกค้ามาซื้อได้เลย แล้วจะส่งให้พลังบุญอีกสัก ๒๐ เล่ม"
พนักงาน... "เชิญติดต่อซื้อได้ที่ธรรมทัศน์ ซึ่งเป็นร้านค้าในเครือเดียวกัน เดินออกจากพลังบุญ เลี้ยวซ้ายตรงไป อยู่ติดศูนย์อาหารฯ ค่ะ"
ลูกค้าหายไปครู่ใหญ่
ลูกค้า... "ผมยังไม่ได้ซื้อหนังสือ เพราะหาร้านไม่เจอ"
พนักงาน... "รอสักครู่นะคะ"
ธรรมทัศน์... "ครับๆ ผมจะส่งไปให้เดี๋ยวนี้เลยครับ"
พนักงาน... "ขอบคุณมากๆเลยนะคะ" (พลังบุญซาบซึ้งธรรมทัศน์)
ลูกค้าดีใจ... "ได้หนังสือมาแล้ว ผมขอซื้อ ๕ เล่ม ขอบคุณมากครับ" (ลูกค้าซาบซึ้งพลังบุญ)
บริการรวดเร็ว มีความกระตือรือร้น คือน้ำใจที่มอบแก่กัน คือความประทับใจของผู้รับ คือความสุขเล็กๆน้อยๆที่ให้กันได้.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จากบิ๊ก ดีทูบี ถึงเกษตรเอื้อสุขภาพ
(ตอนจบ)

ตาราง ผลดีผลเสียของการทำเกษตรสารเคมี กับเกษตรแบบยั่งยืน
ด้าน เกษตรใช้สารเคมี เกษตรแบบยั่งยืนสังคม ครอบครัวล่มลสาย ประเพณีเสื่อมถอย รวมกลุ่มเป็นปึกแผ่น ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีเวลาเข้าร่วมงาน ประเพณีเศรษฐกิจ รายได้ไม่มั่นคง สูญเสียอาหารตามธรรมชาติ มีแหล่งอาหารพอเพียงและมั่นคง ลดรายจ่าย
รายจ่ายเพิ่มขึ้นมาก ปัจจัยการผลิตเสื่อมลงทุกปี มีปัจจัยการผลิตเพิ่มพูน พึ่งตนเองได้มาก
พึ่งพาภายนอกสูง อาชีพ มีงานทำบางฤดูกาล ต้องหางานทำต่างถิ่นเสริม มีงานทำตลอดปี ไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่น ไปหางานทำ การศึกษา จำเป็นต้องทำตามที่บริษัทขายสารเคมีบอกเป็นหลัก เรียนรู้ธรรมชาติ ปรับปรุงและทดลองวิธีการใหม่ๆได้เองตลอดเวลา สุขภาพกายใจ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเจ็บป่วยบ่อย ตายผ่อนส่ง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อารมณ์จิตใจแจ่มใส สดชื่น
โรคร้ายรุมเร้า สุขภาพจิต วิญญาณ มีความโลภเป็นสรณะ มุ่งทำลายชีวิตผู้อื่นเพื่อเงิน อยู่กับชีวิตอื่นๆอย่างเกื้อกูล สติปัญญางอกเงยแตกฉานทุกวัน
และผลผลิตระยะสั้น สติปัญญาเสื่อมถอย มีความภาคภูมิใจในตนเอง ชีวิตมีคุณค่า
เข้าสู่ทางตัน ชีวิตไร้ค่า ไร้ศักดิ์
สิ่งแวดล้อมและ ดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้เสื่อมโทรมลงทุกปี มีความสมบูรณ์ หลากหลาย อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งมีพิษปนเปื้อน ระบบนิเวศย่อยยับ ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ฯลฯ
แมลงดื้อ ยาเพิ่มจำนวน ฯลฯ

สารเคมีเป็นพิษเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางร่างกาย ผิวหนัง ปาก การหายใจ ถ้าสะสมเวลานานๆ เสี่ยงต่ออัมพาต โรคระบบการหายใจ โรคทางเดินอาหาร

ด้วยเหตุที่สารเคมีมีพิษร้ายแรงขนาดนี้ ลำพังเพียงการแก้ไขโดยวิธีฉีดสารเคมีเหนือลม การใส่หน้ากาก ถุงมือ รองเท้าบู๊ต ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว อาบน้ำ ล้างภาชนะทุกครั้ง ไม่เพียงพอต่อเกษตรกร และพวกเราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคผัก ผลไม้ และ สัตว์นานาชนิด ที่กินได้ย่อมมีสารพิษเจือปน

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงได้มีเวทีระดมความคิดเห็นและเสนอทางออก โดยขอให้รัฐบาลลดการนำเข้าสารเคมีเป็นพิษ จัดตั้งกองทุน ส่งเสริมการรวมตัว ของเกษตรกรในการทำเกษตรชีวภาพ เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ และเปลี่ยนแปลง ระบบการเกษตร จากเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ใช้สารเคมี จำนวนมาก มาสู่เกษตรเอื้อสุขภาพ ที่มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น เกษตร ผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรธรรมชาติ วนเกษตร ไร่นาสวนผสม เกษตรทางเลือก เกษตรยิ่งยืน เกษตรถาวรภาพ ฯลฯ

โดยคำว่า เกษตรเอื้อสุขภาพน่าจะเป็นคำรวมที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของวิถีการผลิตทางการเกษตรกับผลกระทบ ทางสุขภาพ อันจะเปลี่ยนแปลง จากร้ายมาเป็นดี ให้กับชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภคอันหมายถึงพวกเราทุกคน

ผศ.น.พ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สรุปฟันธง ผลดีผลเสียของการทำเกษตรสารเคมีกับเกษตร แบบยั่งยืนไว้ (ตาราง)

รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เอื้ออาทรประชาชนในหลายโครงการแล้ว ถึงเวลารับเรื่องเกษตรเอื้ออาทร ที่ส่งผลกระทบต่อตัวท่าน ลูกเมีย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และประชาชนทุกคน จึงควรกำหนด นโยบาย เป้าหมาย ยุทธศาสตร์รูปธรรม เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่กำลังทำอยู่ด้วย

ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร อบต. เทศบาล อบจ. ควรมีแผนปฏิบัติการและสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชมรม สมาคมต่างๆ ให้ผลักดันการปลูกผักปลอดสารพิษ การทำเกษตรเอื้อสุขภาพกันอย่างจริงจัง และ กำหนดเป้าหมายให้มีปริมาณและคุณภาพมากขึ้น

สำหรับประชาคมสุขภาพและเกษตรกรที่รวมตัวกันทำอยู่แล้ว จะได้รณรงค์อาหารปลอดภัย และเกษตรเอื้อสุขภาพ ให้ขยายวง และเกิดการเปลี่ยนแปลง การผลิตและการบริโภค รวมกันทั่วประเทศ

ส่วนเกษตรกรและผู้บริโภค ควรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต การบริโภค มาปลูกผักปลอดสารพิษกินผักผลไม้พื้นบ้าน การใช้สารเคมี มาใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ

ระดมทำกันทุกภาคส่วน ครัวโลกก็ไม่เป็นครัวโรค ที่หวาดกลัวอาหารไทยกันทั้งโลก แต่จะสอดคล้องกับ คุณภาพ มาตรฐานสากล ตั้งแต่กระบวนการผลิต ที่ปลอดภัย ไปจนการแปรรูปเป็นอาหารที่ดี อันจะทำให้สุขภาพดี ทั้งคนไทย และ คนต่างประเทศ นโยบายครัวโลกด้วยอาหารไทยก็จะกระฉ่อนได้จริงๆ.

(จาก นสพ.มติชน วันที่ ๖ ก.ย.๔๖ โดย สมพันธ์ เตชะอธิก)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร

ขอต้อนรับทุกท่านสู่ปีลิง (ที่กินมังฯ เหมือนพวกเรา) งานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ผ่านไปแล้ว หลายท่านโกยบุญเต็มที่ ทั้งสละแรงงาน วัตถุข้าวของ ปีนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ขอเชิญพบกับคำให้สัมภาษณ์จากสมณะเดินดิน ติกขวีโร ค่ะ

*** ในงานปีใหม่ที่ผ่านมาท่านมีข้อคิดอะไรบ้างคะ

๑. ได้เห็นความมหัศจรรย์ของระบบสาธารณโภคี ที่ทำให้พวกเราได้มารวมตัวกัน ช่วยกันจัดงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องถือว่า ปีนี้งานลงตัวที่สุด ในบรรดางานของชาวอโศกทั้งหมด เพราะเป็นงานที่มีปัญหามากที่สุด มีคนมามากที่สุด แต่ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด ดังนั้นโจทย์ใหญ่ข้อนี้จะต้องมีการตั้งรับกันอย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม จึงจะสามารถ ผ่านข้อสอบ ข้อนี้ไปได้ อย่างเรียบร้อยลงตัว

๒. ปีนี้พวกเรารวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่การเตรียมงาน การจัดซื้อสินค้า การทำอาหารจำหน่าย ก็รวมตัวกัน เป็นกองกลาง เพื่อให้ความสะดวกกับพ่อครัวแม่ครัวที่จะได้แสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ ทำให้ทุกอย่างไหลลื่น เรียบร้อย ลงตัว เป็นอย่างดี

ทั้งนี้เพราะพวกเราลดกิเลสได้จริง แต่ละคนพยายามลดความสำคัญของตนลง เพื่อให้ส่วนกลาง เกิดการทำงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าแต่ละคน ต่างก็ถือว่า ตัวเองสำคัญ คนทำขนมก็คิดว่าตัวเอง สำคัญ คนทำกับข้าวก็คิดว่า ตัวเองสำคัญ ตรงนี้จะไม่เกิดการจัดสรร ให้อย่างมีประสิทธิภาพเลย แต่ถ้าทุกคนลดความสำคัญของตนลงมา ร่วมมือกัน เพื่อช่วยกัน ผนึกกำลังแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ตรงนี้เราจะได้เห็น ระบบสาธารณโภคี ที่ประกาศบุญนิยม ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

๓. คุณโสภณ สุภาพงศ์ ได้มาช่วยชี้ขุมทรัพย์ให้พวกเราว่า ชาวอโศกน่าจะให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษา เวลาชุมชน ต่างๆ จะตั้งโรงเรียน ญาติธรรม จะพากันยกโขยง มาแสดงพลังให้เห็นว่ามีความพร้อมมากที่สุด แต่พอพ่อท่านเปิดไฟเขียว ให้การสนับสนุนแล้ว ก็จะแตกต่าง จากสภาพวันมาขออนุญาต พอมีเด็กเข้ามาจริงๆ จะหาคนรับผิดชอบ เป็นตัวเป็นตน ค่อนข้างที่จะยากลำบาก พวกเราคิดแต่จะได้ประโยชน์ แต่ไม่คิดจะลงทุน ในการสร้างผู้สืบทอด


ผู้สืบต่อเท่าไร ซึ่งเป็นจุดที่อันตราย เพราะเมื่อไม่มีการสืบต่อศาสนาหรือความดีงามที่เรามีก็จะหมดห้วน ไม่สามารถ ที่จะสืบต่อออกไปได้ อยากจะให้พวกเรา เห็นความสำคัญของเด็กๆ เยาวชนที่เอาชีวิตเข้ามาอยู่ร่วมบุญกับพวกเราด้วย

*** ปีนี้เป็นปีลิง บางกระแสก็ว่าเป็นปีลิงป่า บ้างก็ว่าเป็นปีลิงทอง สำหรับชาวอโศกแล้วน่าจะเป็นปีอะไรคะ

พ่อท่านบอกว่าปีนี้น่าจะเป็นปีก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของชาวอโศก เป็นปีเลข ๗ ที่พ่อท่านมักจะมีตัว ๗ ประกอบอยู่เสมอ เช่น เกิดปี ๒๔๗๗ แล้วปีนี้ก็ปี ๒๕๔๗ พ่อท่านจะอายุครบ ๗๐ ปีบริบูรณ์ อาจจะถือโอกาสนี้เป็นเสมือนปีทองของชาวอโศก ที่จะได้เตรียมตัว เตรียมใจเฉลิมฉลองใหญ่ ในปีที่พ่อท่าน จะอายุครบรอบ ๗๒ ปี พ่อท่านเองก็บอกอยู่หลายครั้งว่า อาจจะเป็น ปีอายุขัยของท่าน ในชาตินี้ก็ได้ ซึ่งจะยืนยาว อีกไปได้หรือเปล่า คิดว่าพวกเรา สามารถทำให้พ่อท่าน มีเวลาพัก หรือไม่ต้อง มาเหน็ดเหนื่อย กับพวกเรามากน้อยแค่ไหน ตรงนี้พวกเรา คงต้องมาช่วยกัน สร้างสรร เสียสละ ลดละ ความเป็นส่วนตัว ให้น้อยลงไป ทำส่วนกลางเกิดความเจริญขึ้น บริบูรณ์ขึ้น มีความเป็น สาธารณโภคี ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ระบบ บุญนิยม มีความชัดเจน น่าศรัทธาเลื่อมใส จนคนสัมผัสได้ว่า ดีกว่าระบบทุนนิยม หรือสังคมนิยม

ไม่อยากให้พวกเราประมาท เพราะพ่อท่านเตือนอยู่เสมอว่า อกุศลวิบากเหมือนกับหมาไล่เนื้อที่คอยวิ่งไล่งับ พร้อมที่จะงาบเรา อยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากกุศล หรือความดีที่จะไม่เร็วจี๋เร่งรีบเหมือนอกุศลเท่าไร ตอนนี้เรายังโชคดีที่อกุศลวิบาก ไม่ตามมา เล่นงาน ควรจะใช้ โอกาสทองนี้ สร้างบารมีของเรา ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อศาสนาให้ได้มากที่สุด พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า บุคคลที่ปล่อยให้ขณะ หรือให้โอกาสทองล่วงเลยไป คนทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมพากันไปยัดเยียดอยู่ในนรก

ในงานปีใหม่มีเด็กสัมมาสิกขาบางคน หนีไปเที่ยวข้างนอก ทั้งที่เด็กส่วนใหญ่ช่วยกันรับผิดชอบกันคนละไม้คนละมือ อย่างเต็มที่ เต็มกำลัง แต่แทนที่เขาจะใช้โอกาส รวมหมู่รวมกลุ่มรวมพลังกันอย่างนี้สร้างสิ่งที่ดีงาม กลับหนีไปทำความชั่ว คนแบบนี้อันตรายมากทีเดียว ถ้าอยู่คนเดียว จะทำความชั่ว ความเลวได้อีก เพราะในขณะที่มีหมู่มิตรดี ยังไม่สามารถ ควบคุมจิตใจได้ จึงสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลที่ปล่อยให้ขณะ หรือ โอกาสทอง ผ่านเลยไป เขาย่อมไปแออัด อยู่ในนรก

ปีนี้เป็นปีทองที่พวกเราไม่น่าจะปล่อยโอกาสทองให้ผ่านพ้นไป ควรจะใช้โอกาสนี้มาทุ่มกายใจให้เป็นประโยชน์ กับศาสนา สร้างบารมี ของตัวเราเอง ให้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องไปแออัดยัดเยียด ที่มีกันจนล้นแล้วทุกวันนี้

*** ท่านจะฝากอะไรให้กับชาวอโศกบ้างคะ

อยากให้พวกเราได้เห็นความสำคัญของการศึกษา ทุกวันนี้เราได้พัฒนากันมาดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าใส่ใจใฝ่ใจ ในการศึกษา เพิ่มขึ้น ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก เหตุปัจจัย ที่ทำให้พวกเรา ไม่ใส่ใจใฝ่ใจในการศึกษา น่าจะมาจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประการก็คือ

๑. เป็นคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ตัวเอง เคยทื่อหรือทึ่มมะลึ่มทึ่มอยู่อย่างไรก็อยู่ในภพในภูมิเดิมไปอย่างนั้น เมื่อไม่คิด จะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ไม่รู้จะไปศึกษาอะไรอีกทำไม

๒. ไม่พยายามเพิ่มพูนสัมมาทิฐิให้ยิ่งขึ้นไป ทิฐิในทางศาสนาพุทธจะเกิดได้เพราะว่าเราพยายามรับฟังคนอื่นให้มาก เรียกว่ามี ปรโตโฆสะ เมื่อฟังแล้ว ก็เอามาใคร่ครวญ ไตร่ตรอง (มีโยนิโสมนสิการ) ซึ่งสัมมาทิฐิเป็นประธาน ของการปฏิบัติธรรมทีเดียว เหมือนเข็มทิศ ดังนั้น ถ้าคนที่ไม่ใส่ใจการศึกษา ก็ยากที่จะมี สัมมาทิฐิในการปฏิบัติธรรมได้

อาตมาเคยอ่านเจอนักธุรกิจมือหนึ่งของประเทศไทย เขามีความคิดในการบริหารงานที่น่าสนใจ อย่างเช่น เขาซื้อกิจการ มาอย่างหนึ่ง เขาจะดูว่ามีกำไร อยู่เท่าไหร่ แล้วเขาจะศึกษาระบบที่มีอยู่เดิม ที่ทำกำไรและรักษาเอาไว้ แล้วเขาไปจ้าง คนที่เก่งกว่าเขา มาช่วยบริหารด้วย เพื่อทำให้กำไรที่มีอยู่เดิมแล้ว ให้ได้มากยิ่งๆ ขึ้นไป จะเห็นได้ว่าเขาก็มีการพัฒนา แบบถอดตัว ถอดตนของเขาเหมือนกัน ที่แทบจะไม่เอาตัวเขาเป็นหลักเลย เพื่อทำให้ธุรกิจของเขา ได้กำไรยิ่งขึ้น จนเป็นนักธุรกิจ ระดับมือหนึ่งของประเทศไทยได้

ถ้าชาวอโศกพยายามที่จะไต่ถามกัน เรียนรู้ระบบเดิมที่มีอยู่ จะช่วยลดความสูญเสียภายในชุมชนของเรา เป็นอย่างมากเลย และที่สำคัญ เป็นการลดอัตตา ของตัวเราเอง อย่างยิ่ง การที่เราไม่อยากจะถามคนอื่น ไม่ศึกษาของเดิมๆที่มีไว้แล้ว นั่นก็เป็น อัตตา ของเราอย่างมาก ที่เอาตัวเองเป็นใหญ่ เป็นผู้กำหนด ทุกสิ่งทุกอย่าง

การประชุม ครม.เมื่อเร็วๆนี้ ถ่ายทอด โทรทัศน์วิทยุสู่สาธารณชน นายกฯทักษิณ ได้รับคำชมอย่างมากจากหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่ว่า สมกับเป็นผู้นำ ที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นผู้นำ แบบตรายาง สามารถรู้รอบด้าน มีข้อมูลมีรายละเอียด ในเรื่องต่างๆ ได้อย่าง น่าทึ่ง จะเห็นว่านายกฯ เป็นคนชอบศึกษา ชอบอ่านตำรา ชอบเรียนรู้ อยู่เป็นประจำ คนที่จะเป็นผู้นำ อยู่ในวงกว้าง ออกไปได้ ก็จะต้องเป็นคนที่มีความแววไว มีความรอบรู้ ในองค์ประกอบ หลายๆอย่าง ถ้าเราเป็นคนที่ ไม่พยายามเปิดกว้าง อยู่แต่ในภพ อยู่ในโลกของตัวเอง ก็ยากที่จะออกมาเป็นผู้นำในวงกว้าง ออกมาเป็นผู้นำ ของประชาชนได้ เพราะว่า นำตัวเอง ก็ยังไม่ค่อยจะได้เลย ก็เลยไม่สามารถที่จะไปนำคนอื่นได้

เหมือนชาวอโศกทุกวันนี้ กินอาหารดี แล้วมีสุขภาพดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าอาหารที่ทำให้เราสุขภาพดี มีองค์ประกอบ ที่สำคัญอย่างไร เหมือนคนบ้านนอก ที่มีอายุอยู่ร้อยๆปี เมื่อมีคนถามว่า ทำไมยายอายุยืน ฉันกินตำลึง ฉันกินน้ำพริก หรือกินผักบุ้งทุกวัน อธิบายได้เท่านี้เอง แต่องค์ประกอบ รายละเอียด ที่สนับสนุนทำให้ชีวิตของเขายืนยาว เขาบอกไม่ได้ รู้แต่ว่ากิน ตำลึงจิ้มน้ำพริก แล้วอายุยืน มีความรู้เท่านี้เอง ทุกวันนี้ ชาวอโศก เหมือนกับเปิดม่านศีลออกไปในวงกว้าง เราคงต้องใส่ใจ ในการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเราเอง เพิ่มพูนสัมมาทิฐิ และขยับฐานของเรา ให้สูงขึ้น เพื่อพร้อมจะเป็นผู้นำ ให้กับสังคมในวงกว้างออกไปได้

ผ่านไปอีกปี ได้งบดุลตัวเองบ้างไหม หากยังย่ำอยู่กับที่ นั่นเรากำลังเสื่อมลง หรือชาตินี้ต้องการเพียงแค่อยู่ในอโศก ทำงานฟรี กินมังฯ แต่ไม่ยอม เลื่อนฐานตัวเอง เท่ากับมีส่วนทำให้พ่อท่านต้องหนักเพราะเรา ถือว่ายังเป็นลูก‚ อ..ก...ตัญ...ญู..."

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


งานวันเด็กปี'๔๗ พ่อท่านให้คำขวัญ
เพื่อความสุขที่สมบูรณ์

วันเด็กแห่งชาติปี ๒๕๔๗ ชาวชุมชนอโศกต่างจัดกิจกรรมภายในชุมชนของตนเอง โดยเน้นจัดกันแบบเรียบง่าย มีสาระเพื่อให้เด็กได้ร่วมกิจกรรม ได้สนุกสนานและเพิ่มสัมพันธ์อันแน่นเฟ้นแก่ชาวชุมชนในทุกวัย ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ส่วนใหญ่ ก็คล้ายคลึงกับปีก่อนๆ

ส่วนคำขวัญวันเด็กปีนี้ พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ได้กรุณาให้คำขวัญแก่เด็กๆลูกหลานชาวอโศกไว้ว่า

"ทั้งเด็ก ทั้งคนแก่ ถ้ามีความรัก ความเกื้อกูล ก็จะมีความสุขที่สมบูรณ์"

สำหรับบรรยากาศของงานวันเด็ก'๔๗ จากบางชุมชนอโศก มีดังนี้

*** สันติอโศก
คณะครูและชาวชุมชนร่วมกันจัดงานวันเด็กในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ม.ค.๔๗ ณ พุทธสถานสันติอโศก โดยภายในงาน ได้มีการขายสินค้า และพืชผักไร้สารพิษในตลาดอาริยะ (ขายต่ำกว่าทุน) ซึ่งมีผู้สนใจ เข้าคิวซื้อจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรม ตามซุ้มต่างๆ เช่น กิจกรรมตอบคำถาม กิจกรรมผจญภัยผ่านด้าน แข่งวิ่งสามขา กินวิบาก ประกวด ร้องเพลง และประกวดแฟนซีสรรสร้าง เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดบริการอาหารมังสวิรัติฟรีตลอดงาน

 

*** ภูผาฟ้าน้ำ
งานวันเด็กปีนี้ จัดที่ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ ม.ค.๔๗ มีคนวัด,คนชุมชน,ญาติธรรม,คุรุ และนร.สัมมาสิกขา ภูผาฯ ร่วมกิจกรรม จำนวน ๕๕ คน ส่วนช่วงบ่าย ได้มีนร.จากบ้านหัวเลา ๙ คน และจากบ้านแม่เลา ๑ คนมาร่วมงานด้วย

กิจกรรมมีการใส่บาตร,ทำอาหาร, น้ำผลไม้และขนม โดยนร.ชั้นประถมและมัธยมฯ ได้ร่วมกันจัดเตรียมวัสดุ การทำอาหารบางส่วน ตั้งแต่ตอนเย็นของวันที่ ๙ ม.ค.

ส่วนกิจกรรมบนเวที มีการตอบคำถาม การแสดงละครสรรสร้าง เช่น นร.ชั้น ม.๑ สื่อให้เห็นถึงวิบากของกรรมทั้งดีและชั่ว, นร.ชั้น ม.๒ สื่อถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เช่น การแต่งกายแบบไทย เป็นต้น นอกนั้นเป็นการร้องเพลง เล่นเกมร่วมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

 

สิ่งที่น่าประทับใจในงานวันเด็กของที่นี่ คือ นร.ทั้งชั้น ม.๑ และ ม.๒ ซึ่งหลังกลับจากค่าย ยอส.ที่บ้านราชฯแล้ว ทุกคนต่างมีพลัง และความคิด สร้างสรร ร่วมกันตกแต่งเวทีกันเอง รวมทั้งได้นำกระบวนการกลุ่ม ประสานสัมพันธ์กัน ทั้งพี่และน้อง ได้อย่างกลมเกลียวกันดี ในขณะที่บางคน กล้าแสดงออก จนผู้ใหญและเพื่อนๆ ต่างแปลกใจ ถึงขนาด เอ่ยปากว่า "โอ้! ทำได้อย่างไร?"

 

*** ชุมชนราชธานีอโศก
จัดงานวันเด็ก'๔๗ ในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ม.ค. โดยส่วนใหญ่เอ่ยชมงานว่า ปีนี้จัดได้สนุกและกลมกลืนกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้มีพิเศษ ตรงที่ผู้มาร่วมงาน สามารถแต่งแฟนซีมาร่วมงานได้ งานนี้จึงเห็นผู้ใหญ่ แต่งตัวเป็นเด็ก มาร่วมกิจกรรม อย่างไม่มีช่องว่าง ระหว่างวัย สร้างความประทับใจ ให้กับหลายคนที่พบเห็น นอกจากนี้ยังมีการประกวดร้องเพลงของ พ่อท่าน เป็นต้น

นอกจากนี้ ชาวศีรษะฯ, สีมาฯ, และปฐมอโศก ก็มีการจัดงานวันเด็กในชุมชนของตนเช่นกัน.

 

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ทำไมคนจีนอายุยืน

ประเทศจีนขณะนี้มีประชากรเกือบ ๑,๓๐๐ ล้านคนแล้ว ในจำนวนนี้มีราว ๑๐,๐๐๐ คน ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี อยู่ในวัย ๗๐ ปี มี ๓๐ ล้านคน และอายุ ๖๐-๗๐ ปี มีอีก ๑๒๐ ล้านคน นับเป็นตัวเลขที่น่าทึ่ง เพราะประเทศจีนไม่ได้เป็นประเทศมั่งคั่ง และ พัฒนาสุดๆ เหมือนทวีปยุโรป หรืออเมริกา แต่มีอายุที่ยืนยาวกว่ามาก

คนจีนมีความเชื่อว่า การสวดมนต์ ภาวนา การทำจิตใจให้สงบ การนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการนึกถึงสิ่งที่เป็นมงคล อยู่เสมอ จะทำให้อายุยืนได้

คนจีนยังชอบคิดท่าบริหารร่างกาย และอาหารที่ทำให้อายุยืนหรือเป็นยาอายุวัฒนะ มีคนจีนในจังหวัดชางตุง ทางภาค ตะวันออก ของประเทศ นิยมบริโภคกระเทียม และเกิดบูมสุดขีด มีรายงานว่า ในภูมิภาคดังกล่าวมีคนอายุเกิน ๑๐๐ ปี ถึง ๓๕ คน ราษฎรของจังหวัด ที่มีชื่อว่า มาดามเชา มีอายุ ๑๐๘ ปี รับประทานกระเทียมสับทุกวัน ซึ่งนอกจาก จะอายุยืนแล้ว ยังแข็งแรง สายตาดี การได้ยินดี และพูดจาด้วยเสียง ชัดเจนด้วย ความเชื่อเรื่อง การกินกระเทียมนี้ ไปพ้องกับตำรา แพทย์จีนเก่าๆว่า กระเทียมช่วยบำรุงรักษาสุขภาพและทำให้อายุยืน

ค่ะนี่ก็เป็นอีกทัศนะหนึ่งของคนจีนที่ทำให้อายุยืน ผู้เขียนเองมีความฝันว่า อีกหน่อยกลุ่มพวกเราชาวอโศก ก็จะมีคนต่างๆ นักศึกษานักวิจัยทั่วโลก มาศึกษาว่า พวกเราอยู่อย่างไร กินอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ทำไมจึงอายุยืนและแข็งแรงได้ขนาดนี้ มีแต่คนอายุเกิน ๑๐๐ ปี เต็มชุมชนไปหมด แต่ผู้เขียนเอง ไม่มั่นใจตนเองว่า จะมีโอกาสอยู่ให้ผู้คนมาศึกษา ได้ถึงขนาดนั้น หรือเปล่า ซึ่งทุกวันนี้ก็กำลังพยายามเดินไปให้ถึงจุดนั้นอยู่

มา...เรามาเดินไปพร้อมๆกัน ให้ถึงฝันอายุเกิน ๑๐๐ ปี แบบชีวีเป็นสุข ด้วยหลักปฏิบัติ ๗ อ.ของเรากันดีกว่านะคะ ตอนนี้ได้ข่าวว่า พี่น้อมบูชา คุณหมอเขียวคนเก่งของเรา กำลังตระเวนสอนตามชุมชนต่างๆให้เป็นหมอ ดูแลตนเองได้

ค่ะ ขออนุโมทนาสาธุด้วยจริงๆค่ะ.

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ฉลองหนาวที่ดอยแพงค่าเริ่มที่ ๖ องศาฯ
ใช้ไฟฟ้าผลิตเอง
ชุมชนหลายดอยร่วมแข่งกีฬาอาริยะ

ชาวดอยคว้าชัยกีฬาอาริยะ
พ่อท่านชื่นชมชาวภูผาฟ้าน้ำ รู้จักเก็บผักป่ามากิน

ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ(ดอยแพงค่า) จัดงานฉลองหนาว ธรรมชาติอโศก ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ ม.ค.๔๗ โดยมี จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ชาวอโศก ได้มาพักผ่อน หลังจากที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี และมีโอกาสพบปะ คบคุ้น สนทนาแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ การปฏิบัติธรรม และการทำงานศาสนา สุดยอด ของงานครั้งนี้ คือ ฟังสัมมาทิฐิจากพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ น้อมนำเป็นแนวทาง ในการปฏิบัติธรรม และการทำงานศาสนาต่อไป

ช่วงวันที่ ๑๐-๒๐ ม.ค. นร.สัมมาสิกขาชั้น ม.๖ จากทุกแห่งมาเข้าคอร์สขบวนการกลุ่ม ทบทวนตัวเอง และช่วยเตรียมงาน ฉลองหนาว ทั้งด้านสถานที่พัก-ถนน-ที่จอดรถ -เวทีภาคค่ำ-ซุ้มอาหาร โรงบุญ-ห้องน้ำ-เตาหุงข้าว

อากาศบนดอยแพงค่าก่อนเริ่มงานอุณหภูมิต่ำสุดถึง ๒-๓ องศาเซลเซียสและค่อยๆสูงขึ้น ๖-๑๒ องศาฯ ในช่วงงาน สำหรับระบบ แสงสีเสียง ที่ใช้ในงานครั้งนี้ ได้จากการแปรพลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานไฟฟ้า

บรรยากาศของงาน เริ่มต้นที่ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ (ชมร.ช.ม.) สมณะ-สิกขมาตุ ญาติธรรม ที่เดินทาง มาร่วมงาน จากที่ต่างๆ ได้เดินทางมาพบกันที่นี่ โดยมิได้นัดหมาย เพื่อไปรับพ่อท่านที่สนามบินเชียงใหม่ และฉันภัตตาหารที่ ชมร.ช.ม. หลังจากนั้น ญาติธรรม ได้กราบนิมนต์พ่อท่าน ไปชมงานไม้แกะสลักที่ล้ำค่า แห่งล้านนา งานอนุรักษ์ เพื่อมวลชน เป็นศิลปะที่หาดูได้ยากยิ่งที่บ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง วันนั้น อ.จรวย ณ สุนทร เจ้าของบ้านฯ ได้ร่วมทำบุญ เปิดให้สมณะ และคณะญาติธรรม ชมฟรี เวลา ๑๕.๔๐ น. โดยประมาณ พ่อท่านเดินทางถึงพุทธสถาน ภูผาฟ้าน้ำ ดอยแพงค่า

สำหรับรายการในแต่ละวัน ๐๖.๐๐ น. เริ่มต้นเปิดโรงบุญ ๐๘.๓๐ น. พ่อท่านนำหมู่สมณะ-สิกขมาตุบิณฑบาต ในชุมชน ๐๙.๓๐ น. พ่อท่านแสดงธรรม ที่ลานหญ้า หน้าศาลาซาวปี๋ ญาติธรรมที่ไม่ได้ไปร่วมงานควรหาเทปมาฟังให้ได้ ส่วนญาติธรรม ที่ไปร่วมงาน ก็ควรหาเทป มาฟังซ้ำอีกหลายๆ รอบด้วย ดีจริงๆ ๑๘.๐๐ น. การแสดงภาคค่ำ บริเวณลานหญ้า หน้าศาลาซาวปี๋ จากพี่น้องชุมชนต่างๆที่มาร่วมงาน มีโคมล้อหมุนโศลกธรรม "ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำด้วยวิชชา" ตั้งโชว์ อยู่ด้านข้างเวที

๒๒ ม.ค. เวลา ๐๕.๐๐-๐๙.๕๐ น. สมณะมหาเถระจำนวน ๒๔ รูป (ไม่ได้มา ๔ รูป) ร่วมประชุมครั้งที่ ๑ ที่ศาลาจงกรม เขตสมณะ พักฉันภัตตาหาร และประชุมต่อจนถึงเวลา ๑๓.๔๕ น. โดยมีพ่อท่านให้โอวาทปิดประชุม

ภาคค่ำรายการเอื้อไออุ่นจากสมณะมหาเถระ และเป็นการทดลองระบบไฟฟ้า-เครื่องเสียงที่เวทีธรรมชาติไปในตัว ดำเนินรายการ โดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร สมณะมหาเถระขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ การเข็นกงล้อธรรมจักร ที่กำลังพาทำ และเรื่องราวแต่หนหลัง ของบรรพชนภูผาฯ ทั้งสมณะกระบี่บุญ มนาโป และคุณภูฟ้า (ยุทธนา) แพงค่าอโศก ที่ต่าง ล่วงลับไปแล้ว เหลือไว้แต่คุณงามความดี และผลงานฝากไว้ เป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลัง ได้จดจำและดำเนินรอยตาม

๒๓ ม.ค. ต้อนรับงานฉลองหนาวฯ ด้วยอุณหภูมิ ๖ องศาฯ ด้วยบรรยากาศของโรงบุญฯอาหารมากมายจากพี่น้องทั่วประเทศ กาแฟถั่วเหลืองร้อนๆกลิ่นหอมกรุ่น พร้อมขนมปังโฮลวีทปิ้งร้อนๆทาครีมงาเป็นหนึ่งในหลายเมนูเชิญชวนให้ขับไล่ความหนาว หรือ จะเป็นปาท่องโก๋ จากปฐมอโศก ที่ทอดด้วยน้ำมันใหม่ๆ ไร้สารอนุมูลอิสระ หากอยากจะชิมขนมครก แป้งข้าวกล้องรสเลิศ ที่ผู้กิน มาช่วยกันหยอด ช่วยกันแคะ บรรยากาศของโรงบุญอบอุ่นด้วยมิตรไมตรีของการให้ซึ่งกันและกัน ที่ผู้ให้ก็ยินดี ผู้รับก็ยินดี ดุจเป็นแดนสวรรค์ สุดขอบฟ้า ดินแดนแห่งการให้ ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน

หลังฉันพ่อท่านพร้อมสมณะ-สิกขมาตุ ร่วมเปิดพิพิธกัมม์บนท่อนซุง บริเวณที่จะสร้างพระวิหารดอยฟ้า และที่เขตสมณะ มีสมณะ-ญาติธรรมจำนวนหนึ่ง ช่วยกันสร้างกุฏิดิน ซึ่งสามารถสร้างเสร็จภายใน ๓ วัน

๑๖.๐๐ น. ประชุมสภานิสิตทุกวิชชาเขต เพื่อร่วมเตรียมงานพุทธาภิเษกฯที่ศาลีอโศก โดยนิสิตม.วช. และ นร.สัมมาสิกขา ชั้นม.๑ ทุกแห่ง เข้าพื้นที่ ช่วยเตรียมงาน

 

 

ก่อนรายการภาคค่ำ พี่น้องปกากะญอ มาฟ้อนดาบแบบโบราณต้นฉบับของปกากะญอให้ชมที่ลานสนามหญ้า

ภาคค่ำรายการแสดงบนเวทีธรรมชาติ จากชุมชนต่างๆที่มาร่วมงาน พร้อมภูมิปัญญาไทยจากคุณใจเดียว ปฐมอโศก โชว์ผลงาน แปรพลังงาน จากใบไม้ที่ทับถม มาเป็นแก๊สบรรจุถัง เพื่อจุดตะเกียงให้แสงสว่าง และนำพลังงานความร้อน จากตะเกียง ต้มน้ำร้อน รับประทานได้อีก

๒๔ ม.ค. งานวันที่ ๒ พร้อมกับอุณหภูมิ ๘ องศาฯ ภาคบ่ายเปิดตลาดอาริยะขายเสื้อยืดต่ำกว่าทุน แล้วร่วมกันสนุกสนาน ได้สาระจาก กีฬาอาริยะ ที่ได้ผลงาน ฝากไว้ให้ชาวภูผาฯได้ใช้ประโยชน์ ทั้งจักตอก ผ่าฟืน ตำข้าว เสร็จแล้วผู้เข้าแข่งขันและ ผู้ชมร่วมบุญขนฟืนจากการแข่งขันเข้าโรงครัว ต่อด้วยกีฬาตักทราย จากลำธาร เก็บฟืนจากป่า เก็บผักป่า ตามลำดับ

ภาคค่ำพักผ่อนหย่อนใจและวางใจ ชมการแสดงจากเครือข่ายชุมชนต่างๆ และแสดงทิหวา (ทิแปลว่ากระทบ, หวาแปลว่าไม้ไผ่) เป็นการแสดงดั้งเดิม ของพี่น้องปกากะญอ ที่กำลังจะสูญหายคล้ายๆกับการเต้น ลาวกระทบไม้ แบบตาหมากรุกโดยพี่น้องปกากะญอ จากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน แม่ฟ้าหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และผู้ชนะเลิศที่ ๑-๓ จากกีฬาอาริยะทั้ง ๖ ประเภทเข้ารับโล่รางวัลจากพ่อท่าน โล่รางวัลที่ ๑ เป็นเหรียญทอง ๑ สลึง รางวัลที่ ๒ เป็นเหรียญเงิน ๑ บาท และรางวัลที่ ๓ เป็นเหรียญทองแดง ๕ บาท การแข่งขันปีนี้ พี่น้องจากปกากะญอแชมป์เก่า กวาดรางวัลที่ ๑ ไปเกือบทุกประเภท เหลือเพียงกีฬาจักตอกเท่านั้นที่ไม่ได้

๒๕ ม.ค. ๐๕.๐๐-๐๘.๓๐ น. ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อฟ้าดิน ที่ศาลาซาวปี๋ พ่อท่านเป็นประธาน ย้ำยืนยัน ถึงการเมือง แบบอริยะคือการทำงานศาสนา

ภาคบ่ายพักผ่อนตามธรรมชาติ บ้างเที่ยวชมธรรมชาติที่หน้าต่างโลก บ้างไปแช่น้ำร้อนที่โป่งเดือด

๖ โมงเย็น รายการเอื้อไออุ่นโดยพ่อท่าน พร้อมกับฝากสุดท้ายจากพ่อท่านว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์

๒๖ ม.ค. อาจารย์ ๑ นำหมู่สมณะบิณฑบาตในชุมชน แล้วร่วมรับประทานอาหารเอกภัตร อาหารเรียบง่าย แต่มากมาย ด้วยคุณค่า ที่มีที่นี่เพียงแห่งเดียว

แต่ละคนเก็บสัมภาระอำลาดอยแพงค่า ด้วยความประทับใจในมิตรไมตรีจากทุกๆคน โดยเฉพาะชาว ชมร. ช.ม. ที่ให้บริการ ทุกระดับ ประทับใจไม่รู้ลืม ทั้งที่พัก อาหารและความสะดวกในการเดินทางสู่ดอยแพงค่า อย่างอบอุ่น และพี่น้อง ชาวภูผาฯ ที่ให้การต้อนรับ อย่างอบอุ่น ตลอดงานเช่นกัน

สำหรับผู้มาร่วมงาน ได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

น.ส.จิราพร หวานแก้ว ทักษิณอโศก "มาครั้งแรกค่ะ ประทับใจสถานที่เป็นธรรมชาติมาก เป็นคนกลัวหนาวมาก ก็ลองมาดูว่าจะสู้ได้แค่ไหน ปีหน้าถ้ามีโอกาสจะมา ประทับใจความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของชาวชุมชนที่พยายามใช้ทรัพยากรในชุมชน ลดการนำเข้า จากข้างนอก อาหารก็ดี ทุกคนเทแรงใจ มาจัดโรงบุญ ทุกคนทำตัวเป็นเจ้าภาพไม่มีทำตัวเป็นแขก ประทับใจรายการเอื้อไออุ่นของพ่อท่าน ที่มีหลายคำถาม เหมือนมีคนช่วยถามแทน ทำให้เราได้คำตอบ"

ด.ญ.เมทินี ชื่นสุขเลิศเกษม ชุมชนแม่ฟ้าหลวง อ.แม่แจ่ม "ร่วมแข่งขันตำข้าวค่ะ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของหนูอยู่แล้วค่ะ สนุกค่ะ แต่ที่บ้านของหนู ตำข้าวแบบใช้เท้าเหยียบค่ะ"

นายวันชัย โพดู ชุมชนแม่ฟ้าหลวง อ.แม่แจ่ม "คนที่นี่ช่วยกันดี มีความสามัคคีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาหารการกินดีมาก ผมร่วมแข่งขันตำข้าวสนุกมากครับ ถ้ามีโอกาสจะมาอีก"

นายแก่นสาร แป้นวงศ์ ปฐมอโศก "มาร่วมงานเป็นครั้งแรก ที่นี่เหมือนเป็นอีกเมืองหนึ่งในหุบเขา อากาศหนาวเย็นแต่สดชื่น น่าอยู่มาก อาหารมีให้เลือก มากมาย หลายอย่าง คนก็อัธยาศัยดี เจอกันก็ทักทาย ประทับใจกีฬาอาริยะที่ไม่เคยเห็นที่ไหน เป็นกีฬาที่สร้างสรร ไม่เอาแพ้ชนะ แต่มีความสามัคคี"

นางดีบุญ อิ่มสุข ภูผาฟ้าน้ำ "กลุ่มแม่บ้านแม่เลานำน้ำเสาวรสมาแจก พี่น้องปกากะญอจากบ้านหัวเลานำข้าวและฟัก ผักผลไม้ไร้สารพิษมาร่วมงาน แล้วช่วยเตรียมงานหาฟืน ตำข้าว โดยเขารับรู้จากวิทยุชุมชนและเราไปเยี่ยมเยียนเขาก็บอก บ้านให้พี่น้องพักเต็มที่เกือบ ๒๐ คน ส่วนพี่ ลงมากางเต็นท์ นอนข้างบ้าน ก็เอาตัวอย่างจากบ้านราชฯไง"

สมณะลานบุญ วชิโร ภูผาฟ้าน้ำ "คนมาร่วมงานมากกว่าปีที่แล้วทั้งสมณะและญาติธรรม และมีสมณะมหาเถระมาร่วมประชุมด้วย สถานที่ขยายกว้างขึ้น จึงดูเหมือนคนมาน้อย โรงบุญมากกว่าปีที่แล้วเช่นกัน ปีนี้มีตลาดอาริยะย่อมๆขายเสื้อยืดต่ำกว่าทุนเกิดขึ้น และโชคดีได้ฟังพ่อท่าน แสดงธรรมว่า ไม่เคยแสดง ที่ไหนมาก่อน ก็นับว่าเป็นโชคดีของผู้มาร่วมงาน บรรยากาศ ของการฟังธรรมก็เงียบสงบ ทำให้ได้รับอะไรดี จากการฟังธรรมไปด้วย คิดว่าหลายๆ คนมีสภาวะเช่นเดียวกัน"

น.พ.แสนดิน จิตวงศ์นัน (หมอแก้ง) "มาร่วมงานเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งแรกมาฟังเอื้อไออุ่นแล้วก็ลงไป บรรยากาศเหมือนพี่ เหมือนน้อง นั่งกินข้าวเป็นวงๆสบายๆ อากาศหนาว แต่อบอุ่น บรรยากาศตลาดอาริยะ การแข่งขันกีฬาอาริยะ อาหารดีมาก มีหลากหลาย แต่มันไปหน่อย คิดว่าควรมีอาหารตามธาตุบ้าง มีเผือก มันปิ้งมากๆ จะดีครับ อาหารทอดมีบ้าง แต่เยอะเกินไปไม่ดี ครั้งนี้ประทับใจพ่อท่านมาเอื้อไออุ่น".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๒๓ (๒๔๕)ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ม.ค. ๒๕๔๗

ฉลองหนาว....งานฉลองหนาวธรรมชาติอโศกของชาวอโศกในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ (แต่เป็นครั้งที่ ๔ ที่จัดงาน ณ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ) ดังนั้นจึงมีเลขรหัสว่า ครั้งที่ ๒ () ไงฮะ

ช่วงก่อนงานอุณหภูมิลดลงเหลือ ๓-๒ องศาเซลเซียส แต่พอวันงานอุณหภูมิ สูงขึ้น เป็น ๖-๘ องศาฯ และ ๑๒ องศาฯ ในวันที่ ๒๓, ๒๔ และ ๒๕ ม.ค. ตามลำดับ ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานไม่ต้องทนกับอากาศที่หนาวมาก (แต่บางคนก็รู้สึกทนได้ยาก ต้องลงดอยไปก็มี)

พ่อท่านเดินทางถึงภูผาฯเมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ของวันที่ ๒๑ ม.ค. ๒๕๔๗

ในเวลา ตี ๕ ของวันที่ ๒๒ ม.ค. สมณะมหาเถระประชุมที่ศาลาจงกรม เวลา ๖.๐๐ น. พ่อท่านอบรมสมณะนวกะ ที่ศาลาบรรพชน เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. พ่อท่านกล่าวให้โอวาทมหาเถระเป็นการปิดประชุม

ส่วนตอนเย็น พ่อท่านพักผ่อนที่กุฏิอย่างสบายๆโดยอ่านหนังสือไปด้วย

พ่อท่านได้เทศน์เปิดงานในช่วงเช้าของวันที่ ๒๓ ม.ค.ว่า ไม่ได้มีโอกาสได้พักผ่อนอิริยาบถเช่นนี้มานาน มางานฉลองหนาวฯนี้ก็ ได้มีโอกาส พักผ่อนเต็มที่

งานปีนี้ที่น่าประทับใจคือมีญาติธรรมมาตั้งโรงบุญฯแจกอาหารกันหลายโรงบุญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไฟฟ้า เราใช้ไฟฟ้า จากพลังแสงอาทิตย์และพลังน้ำตลอดงาน พูดไปแล้ว จิ้งหรีดก็รู้สึกทึ่ง ในความสามารถ ของพวกเราที่เราทำได้

มีชาวดอยจากที่อื่นๆมาร่วมงานฉลองหนาวฯมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นร.ม.๖ จากสัมมาสิกขาของแต่ละพุทธสถาน มาขอเข้าคอร์ส มหัศจรรย์ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๐ ม.ค. และมาช่วยงานฉลองหนาวฯด้วย ได้ของที่ระลึก จากชาวดอย ใครอยากรู้ว่า เป็นอะไร ก็ถามเด็กรุ่นนี้ (ที่ได้ชื่อรุ่นว่า "รวม ม.๖") ได้นะฮะ... หลังงานปอยหนาวมีการจัดคอร์สสุขภาพให้สมณะ และ ญาติธรรม โดยทีมงานกันเอง มีสมณะแสดงความเห็นว่างานนี้ลงตัว คือช่วงงานอาหารมากมายทั้งขนม ก๋วยเตี๋ยว กินกัน ทั้งวันได้ ก็เป็นการเอาพิษเข้าร่างกาย พอจบงานมีการจัดคอร์สสุขภาพ ก็เป็นการเอาพิษออก ลงตัวพอดี...จี๊ดๆๆๆ

ย้ายก็ดี....ช่วงนี้ถ้าใครไปที่สันติอโศกคงได้เห็นแผนกเทปย้ายไปอยู่ที่ตึกข้างร้านขายไอศกรีมสมุนไพร ในซ.เทียมพร

ส่วนแผนกการเงิน ก็ย้ายมาอยู่บ้านดอกไม้ ได้ระยะหนึ่งแล้ว เพื่อซ่อมแซมพื้นที่ทำการเดิมที่ทรุด พอไปเจอ คุณวนิดา วงศ์พิวัฒน์ ที่เดี๋ยวนี้มาช่วยงานประจำ แม้ยังไม่ได้มาอยู่เป็นคนวัดกะเขา

จิ้งหรีดก็อดถามไม่ได้ว่า แล้วเป็นยังไงได้ย้ายมาที่นี่ คุณวนิดาก็ยิ้มกว้างตอบว่า ที่นี่ก็โปร่งดี ชักไม่อยากย้ายกลับซะแล้ว

นี่แหละฮะ นักปฏิบัติธรรม จะย้ายไปที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่บ่น ไม่จู้จี้ แต่มีความสุขได้ในทุกสถานการณ์ (แม้สถานการณ์นั้นๆ จะยากลำบาก กว่าเดิมก็ตาม)

ยิ่งคุณวนิดามีลูกสาวเรียนจบดร.แล้ว ส่วนลูกชายก็เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาคณะบัญชีฯที่จุฬาฯ ทุกคนล้วนพึ่งพา ตัวเองได้ (แม่ก็เลยสบายใจ มาสะสมบุญ ช่วยงานที่วัดได้เต็มที่)

แบบนี้ครูพุทธธรรมที่สันติฯคงชื่นใจที่ศิษย์เก่าได้ดิบได้ดีตามฐานะแน่ๆเลย...จี๊ดๆๆๆ

รู้เป้าหมาย....น.ส.อภิรดี (หนูดี) ลูกสาวแม่ศรีฟ้า ณ บ้านอโรคยา ได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่ ให้เรียนปริญญาโท ด้านเภสัชฯ ก็เรียนมาได้ ระยะหนึ่ง ก็มาถามตัวเองว่า เราจะเรียนเพื่ออะไร เพราะระหว่างเรียน ก็ช่วยงานทั้งที่บ้าน และที่สันติฯ จนแทบจะไม่มีเวลาเรียน

ดังนั้นจึงตัดสินใจว่า เราเอาเวลามาช่วยงานส่วนรวมดีกว่า จึงขอสละปริญญาโท เพื่อเดินสู่เป้าหมายชีวิตที่ตัวเองตั้งไว้

ใครสงสัยว่าเป้าหมายของหนูดีคืออะไร ถ้าอยากรู้ชัดๆ ก็ไปถามเอาเองนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ

วัยงาน...จิ้งหรีดที่ปฐมอโศกได้ยินเสียงประกาศจากคุณแรงรุ่งว่า ให้ม.วช.วัยงานมาร่วมประชุมกัน ในเวลาและสถานที่ ที่กำหนด

เมื่อถึงเวลาประชุม คุณแรงรุ่งก็แปลกใจเพราะไม่มีใครมาร่วมประชุมเลย

จิ้งหรีดถามม.วช.ฝนฟ้าว่าได้ยินประกาศเรียกประชุมหรือเปล่า

คุณฝนฟ้าบอกว่าได้ยินแต่ไม่รู้ว่าวัยงานนี่ วัยขนาดไหน? จึงไม่ได้ไปประชุม

ต่อไปเวลาคุณแรงรุ่งประกาศ คงต้องบอกรายละเอียดว่า วัยงานนี้เป็นอย่างไร หรือ ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

เพราะม.วช.ส่วนใหญ่หรืออาจทั้งหมด ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นวัยงาน โดยเฉพาะม.วช. ที่อายุไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี อาจคิดว่าตัวเอง เป็นวัยงอม หรือวัยใกล้โลงซะมากกว่า

ส่วนที่อายุต่ำกว่านั้น อาจคิดว่าตัวเองเป็นวัยศึกษาธรรมะก็ได้

เมื่อถึงเวลาประชุม จึงหาคนอยู่ในวัยงานมาประชุมกันไม่ได้

แต่ยังไงๆ โอกาสต่อไปใครสงสัยว่าวัยไหนก็ให้สอบถามผู้ประกาศก็ได้นะฮะ เพราะบางทีผู้ประกาศอาจอยู่ในภพว่า เขา (ผู้ฟัง) คงฉลาดรู้ว่าวัยงาน คือวัยอะไรกระมัง...จี๊ดๆๆๆ

แต่เราทำ.... จิ้งหรีดมีโอกาสไปที่ที่พล.ต.จำลอง ใช้ที่เป็นสถานที่อบรม ได้พบทีมพัฒนาคุณภาพชีวิต เห็นการทำงาน ของหมอตรี แล้วก็รู้สึกประทับใจ หลายคนในทีมงานก็ประทับใจ เพราะแม้เป็นหมอก็ทำหน้าที่ขัดส้วม ได้อย่างสะอาด และ ทำงานทุกอย่าง อย่างพอใจ ตรงกับโศลกธรรมของพ่อท่านในปีนี้เลยว่า "ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ"

อ.พะเยาว์ก็ไม่เบา เพราะตอนนี้เริ่มเบาสบายขึ้นเยอะ ผิดกับแต่ก่อนเวลาเดินไปปิดไฟ แต่ละดวง ในหอประชุม ปิดดวงหนึ่งใจ ก็คิดว่าทำไมไม่ช่วยกันปิด ปิดอีกดวงหนึ่งก็คิดว่าทำไมไม่ช่วยกันรับผิดชอบ ปิดอีกดวงหนึ่ง ทำไม และทำไม

โอ้ย...เครียดจัง ตอนปิดไฟแต่ละดวง ไม่รู้หรอกว่าใจแต่ละดวงก็พลอยมืดไม่สว่างสดใสไปด้วย จึงมองไม่เห็น ความเคร่งเครียด

แต่จิ้งหรีดได้ยินอ.พะเยาว์รายงานสภาวะจิตสภาวธรรมให้สมณะฟังแล้วว่า ตอนนี้ปิดไฟแต่ละดวง จิตแต่ละดวง ก็สว่างขึ้น ไม่ทำเรื่องเล็ก ให้เป็นเรื่องใหญ่ (หาเรื่อง) แต่กลายเป็นเรื่องบุญ เรื่องกุศลขึ้นมาแทน

จิ้งหรีดก็ขออนุโมทนา หากใครไม่เชื่อก็ไปพิสูจน์กันเอาเองที่เมืองกาญจน์นะฮะ..จี๊ดๆๆๆ

พลาภิบาลปฐมอโศก... แม้อาคารจะทำได้เพียงตอกเสาเข็ม เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงไว้ ส่วนที่เหลือยังรอ.. พี่น้องช่วยกัน สมทบทุนสร้าง

ด้านบุคลากร ประชุมงวดนี้ (๙ ม.ค. ณ หอประชุมศาลาเจาะวิจัย)ฟิตจัง ปฐมอโศกได้ของขวัญชิ้นง้ามงาม ฟ้าส่ง คุณหมอ มาทั้ง ๒ ท่าน ไม่ใกล้ ไม่ไกล ลูกหลานของเราเอง คุณหมอไฟเพชร (หมอก้อง) และคุณหมอแสนดิน (หมอแก้ง) ทำให้ทีมงานเรา สมบูรณ์แบบมากขึ้น บรรยากาศอบอุ่นมาก เรารวมหัวกันคิด เสนอแนวทาง พูดคุยกันด้วยรอยยิ้ม ถึงแม้องค์ความรู้ ด้านสุขภาพในชุมชนของเรา หลากหลายมาก มีทั้งแผนไทย ทางเลือก แผนปัจจุบัน และอีกหลายศาสตร์ แต่ทุกศาสตร์ มีเป้าหมายเดียวกันคือ เราจะสร้างสรรค์ให้เป็นชุมชนคนอายุยืน ทั้งท่านสมณะและสิกขมาตุ ก็เป็นที่ปรึกษาได้ อย่างยอดเยี่ยม อย่างนี้งานสุขภาพบุญนิยม ซึ่งเป็นบุญญาวุธหมายเลข ๔ น้องนุชสุดท้อง คงไปได้สวย ช่วยกันจับตา ดูด้วยนะฮะ

ข้อสรุปที่เราร่วมกันทำงาน
๑. รวบรวมข้อมูลสุขภาพของชาวชุมชน
๒. รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
๓. ให้การศึกษากับชาวชุมชน
๔. โครงการคลินิคพลาภิบาล
๕. บูรณาการวิถีชีวิต(กิน อยู่ หลับนอน)
๖. ระดมทุนสร้าง

เพื่อเป็นที่พึ่งพิงของพี่น้องชาวอโศกทั้งหมด คงไม่นานเกินรอ อนุโมทนาสาธุกับทีมงานพลาภิบาลทุกๆคนฮะ...จี๊ดๆๆๆ

ทายาทน้อย..."พี่คะเชิญทางนี้หน่อยคะ" เป็นเสียงของเด็กนร.สัมมาสิกขารุ่นพี่คนหนึ่ง ที่กำลังพาน้องๆ สัมมาสิกขา เตรียมสถานที่จัดงานวันเด็ก ทำให้จิ้งหรีดต้องหันกลับไปมองขณะบินเพลินๆ

"พี่ว่าหนูจัดสถานที่อย่างนี้เหมาะไหมคะ" น้องคนนั้นถามรุ่นพี่ต่างพุทธสถานด้วยความนอบน้อม จิ้งหรีดเห็นแล้ว ก็ประทับใจ ในทายาทตัวน้อย ของชาวอโศก ที่ทำงานอะไรแล้วรู้จักปรึกษาผู้อื่น ไม่คิดว่าความคิดของตัวเองดีที่สุด ถูกที่สุด ทุกอย่างไป ขออนุโมทนาสาธุ ให้กับเด็กไทยหัวใจพุทธด้วยนะฮะ..จี๊ดๆๆๆ

ปิดชั่วคราว...ข่าวอโศกเคยรายงานให้สมาชิกรู้ว่าเมื่อวันแม่ปีที่แล้ว ที่จ.กำแพงเพชร เปิดศูนย์อาหารมังสวิรัติ กำแพงเพชร กิจการ ก็พอเป็นไปได้ แต่ขาดบุคลากรทำอาหารขาย ทำให้กำไรไม่พอค่าเช่าตึก

ช่วงนี้จึงปิดกิจการชั่วคราว และกำลังจะเปิดในที่ใหม่ ซึ่งทางผวจ.กำแพงเพชร พร้อมหนุนเต็มที่ แถมยังพร้อมสนับสนุน ให้ทำกสิกรรมไร้สารพิษ อย่างครบวงจร เพื่อให้ครัวไทย เป็นครัวโลกที่ปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐบาล

ข้อสำคัญการเปิดใหม่คราวนี้ คงจะปรึกษากันดีๆ จะได้ไม่มีปัญหาให้ต้องหนักใจทีหลังนะฮะ... จี๊ดๆๆๆ

ปฐพีพุทธ... เป้าหมาย ๔๒ ล้าน ตอนนี้เหลือ ๓ ล้านบาทแล้ว จิ้งหรีดได้ยินพ่อท่านพูดให้พวกเราฟัง ที่ปฐมอโศก ช่วงปลายปีที่แล้ว ยังเหลืออยู่ ๖ ล้าน โดยเฉพาะองค์กรหลักๆ เช่น บจ.พลังบุญ บจ.ฟ้าอภัย และบจ.แด่ชีวิต พยายาม ช่วยเกื้อ ช่วยหนุน นอกจากนี้ก็ยังมีเทวดาที่ไม่ประสงค์ออกนามก็พยายามช่วยอย่างมั่งคงแต่เงียบๆ

นี่พ่อท่านก็ไฟเขียวเรื่องการสร้างโรงพลาภิบาล ซึ่งชาวเราก็เห็นว่า เรื่องนี้พ่อท่านจะ พาทำให้แก่โลก เป็นสิ่งสุดท้าย หากอายุเป็นไปตามอายุขัย ซึ่งเหลือเวลาประมาณ ๒ ปี

ที่ว่าพ่อท่านเปิดไฟเขียว ก็คือให้ปฐมอโศก สามารถระดมเงินแบบโครงการปฐพีพุทธ จิ้งหรีดได้ข่าวมาอย่างนี้ ใครอยากรู้ รายละเอียด และต้องการสนับสนุนก็ให้ติดต่อทางปฐมอโศก เอาเองนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ

ตำรวจดี... ก่อนถึงงานปีใหม่ ตำรวจก็พยายามทำหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาล "เมาไม่ขับ" จึงต้องตรวจรถทุกคัน แต่พอมาถึงรถ ที่ท่านสมณะนั่งอยู่ ตำรวจขอใบขับขี่คนขับ แล้วเหลือบไปเห็นสมณะ จึงถามว่าจะไปไหน คนขับบอกว่า จะไปงาน ที่ราชธานีอโศก พอตำรวจได้ยินโชเฟอร์พูดก็อุทานว่า "อ๋อ..สำนักอโศก ไปได้เลย"

จิ้งหรีดอยู่ในรถก็อดปลื้มไม่ได้ แต่ก็เป็นห่วงพลขับของอโศกทั้งหลาย อย่าได้ทำผิด กฎจราจร ให้เสียชื่อสำนักนะฮะ โดยเฉพาะ เรื่องความเร็ว และวิ่งชิดเลนซ้าย เมื่อแซงรถ คันอื่นแล้ว

หลังงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๗ ที่ บ้านราชฯ พวกเราก็ทยอยกันเดินทางกลับ ก็มีตำรวจช่วยตรวจ "เมาไม่ขับ"อีก เพื่อลดอุบัติเหตุ ซึ่งช่วงปีใหม่ปีนี้มีคนตายประมาณ ๙๐๐ คน มากกว่าปีที่แล้ว แต่อุบัติเหตุมีไม่ถึงสองหมื่น ก็ถือว่า น้อยกว่าครั้งที่แล้วโน้น

รถที่ชาวแด่ชีวิตนั่งกลับ ตำรวจก็เรียกตรวจตามหน้าที่ แต่สิ่งที่ชาวแด่ชีวิตประทับใจก็คือ อัธยาศัยของตำรวจ ที่มาตรวจ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน อำนวยความสะดวก ให้ความอบอุ่น ไม่เรียกเก็บเงินเหมือนก่อนๆ ที่เคยเจอ ที่ดูใช้อำนาจบาตรใหญ่ เวลาผิดกฎจราจร ก็จะเอาเงินลูกเดียว

แต่ตำรวจยุคนี้เจอใครทำผิดพลาด ก็ตักเตือนด้วยดีเป็นที่ประทับใจของผู้บริหาร บจ.แด่ชีวิตที่นั่งไป จิ้งหรีดได้ยิน เรื่องตำรวจทำดี ก็อยากนำมาให้ชาวเรา ได้ชื่นชมตำรวจดีๆ จะได้สวัสดีปีใหม่ทุกท่านนะฮะ และนี่คือพฤติกรรมของตำรวจ ที่เหมือนให้ส.ค.ส. แก่ประชาชน ในปีใหม่นี้... จี๊ดๆๆๆ

-/-/- มรณัสสติ
นายไพบูลย์ ภาคภูมิ อายุ ๘๐ ปี (อาสาสมัครประจำร้าน ชมร.หน้าสันติอโศก) เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อ ในทางเดินอาหาร เมื่อวันที่ ๘ ม.ค.๔๗ ฌาปนกิจศพวันที่ ๑๔ ม.ค.๔๗ ที่วัดเสมียนนารี กทม.

นาวาอากาศเอกบุญส่ง ทัพวนานต์ อายุ ๗๐ ปี (บิดาของคุณดาบดิน ทัพวนานต์) เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ ๒๒ ม.ค.๔๗ ฌาปนกิจศพ เมื่อวันที่ ๒๗ ม.ค.๔๗ ที่วัดลาดพร้าว กทม.

นางเล็ก แซ่อึ้ง อายุ ๗๗ ปี (มารดาของคุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์) เสียชีวิตด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ ๒๘ ธ.ค.๔๖ จะฌาปนกิจศพ วันที่ ๓ เม.ย.๔๗ ที่วัดอีสาน จ.บุรีรัมย์

นางเอี้ยวเตียง แซ่เอี๊ยบ อายุ ๘๖ ปี (มารดาของคุณสิทธิชาติ โชติปรีชารัตน์) เสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๒ ม.ค.๔๗ บรรจุศพ วันที่ ๒๖ ม.ค. ที่สุสานบัวทอง จ.สระบุรี

พบกันใหม่ฉบับหน้า-

จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ค่ายสุขภาพ ๗ อ. ที่ส่างฝัน
มีการเดินเพื่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ ๒๓-๒๗ ธ.ค.๔๖ สวนส่างฝันได้มีการจัดค่ายสุขภาพ ๗ อ.ขึ้น เพื่อเป็นการซ่อมแซมสุขภาพของคน ในชุมชน มีสมณะเด็ดขาด จิตตสันโต และสิกขมาตุผุสดี สะอาดวงษ์ มาเป็นหลักและบรรยายในค่ายครั้งนี้ด้วย โดยภายในค่าย ได้จัดให้มีการฝึกปฏิบัติ ดูแลสุขภาพ ด้วยตนเอง สลับกับการฟังบรรยายเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ โดยคุณใจเพชร นาวาบุญนิยม และคุณไพโรจน์ อรรคสีวร ระหว่างค่ายสุขภาพ สมณะนาไท อิสสรชโน และ สมณะแก่นหล้า วัฑฒโน ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจ ชาวสวนส่างฝัน หลังจากทราบข่าวไฟไหม้ และวันที่ ๒๖ ธ.ค.๔๖ สมณะดินไท ธานิโย และสมณะมือมั่น ปูรณกโร ได้เดินทาง มาสมทบเพื่อร่วมกิจกรรมค่ายสุขภาพด้วย

วันสุดท้ายของการอบรมได้มีการเดินจาริกเพื่อสุขภาพระยะทาง ๑๕ ก.ม. คณะเดินทางทั้งหมด ๒๔ ชีวิต รวมสมณะ และ สิกขมาตุด้วย ออกเดินทาง จากสวน ตอนเช้าตรู่ ผ่านตึกรามบ้านช่อง ทุ่งนาและป่าเขา สลับกันเป็นช่วงๆ ตามทางที่เดิน มีคนให้ความสนใจ และตามตักบาตร กันอย่างคับคั่ง สร้างความประทับใจ ให้กับคณะเดินทางกันเป็นอย่างมาก การเดินครั้งนี้แม้จะลำบาก แต่ทุกคนก็สู้อย่างไม่ถดถอย สิกขมาตุผุสดี ถึงแม้อายุจะ ๗๙ ปีแล้ว แต่ท่านก็ไม่ละ ความพยายาม ยืนยันร่วมเดินทาง จนถึงจุดหมาย การเดินทางครั้งนี้จากที่น่าจะช้า เพราะคณะเดินทางเหนื่อย และอ่อนล้า กลับกลายเป็นช้า เพราะทุกคน มัวเพลินกับการชมธรรมชาติ และเก็บผักป่าที่มีอยู่ตลอดทาง คณะจึงมาถึงจุดหมายช้ากว่ากำหนด มาพัก รับประทานอาหารกัน ที่ริมอ่างน้ำห้วยสีโท อาหารวันนี้ยังคงเป็นอาหารธรรมชาติ รสไม่จัดจนเกินไป ที่สำคัญ และขาดไม่ได้ ก็คงเป็นผักป่า ที่ทุกคนช่วยกันเก็บ ซึ่งได้รับคำบอกเล่า จากท่านผู้รู้ว่า "ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีประโยชน์ บางอย่างสามารถ ต้านโรคได้ เป็นผักพื้นบ้านอาหารอายุยืน และที่สำคัญ ไร้สารพิษ สดจากต้น"

หลังจากสรุปค่ายแล้วทุกคนลงความเห็นว่า ประทับใจค่ายสุขภาพครั้งนี้มาก ที่ประทับใจมากที่สุดคือ การจาริกเพื่อ สุขภาพ ในวันสุดท้าย และคิดว่าน่าจะจัดให้มีอีกในครั้งต่อๆไป

สมณะมือมั่น ปูรณกโร "ปกติการเข้าค่ายสุขภาพ ๗ อ.ก็ดีอยู่แล้ว แต่ที่ค่าย สวนส่างฝันนี้ ได้จัดพิเศษมากกว่านั้น คือ การเดินจาริก เพื่อสุขภาพ ระยะทาง ๑๕ ก.ม. ซึ่งที่อื่นไม่มี อาตมาเคยจาริกแต่ตามถนน ไม่เคยเดินตามทุ่งนา และลุยมาก ขนาดนี้ แต่ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย กิจกรรมเดินทางไกลนี้ เห็นควรคงไว้ในค่ายสุขภาพ ๗ อ.ของสวนส่างฝันต่อไป"

สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงษ์ "ค่ายสุขภาพที่นี่ก็ดีนะ ง่ายๆและได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกเยอะ การจาริกเพื่อสุขภาพก็ดี สิกขมาตุไม่ได้จาริก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๙ ก็ ๒๗ ปีแล้ว และที่เคยจาริกก็ไม่ได้เดินตามป่าตามทุ่งอย่างนี้ มีแต่เดินตามถนน บรรยากาศดีนะ อากาศบริสุทธิ์ ไม่มีควันรถ ได้เห็นธรรมชาติจริงๆ ตอนนี้ สิกขมาตุอายุ ๗๙ ปีแล้ว คิดว่าจะอยู่จนอายุ ๙๐ ปีขึ้นไป"

นายแห่งไท กมลรัตน์ "รู้สึกต้องต่อสู้กับน้ำตาลไปอีกนาน ได้เห็นคุณค่าของผักพื้นบ้าน อาหารยั่งยืนชัดเจน และได้รู้ วิธีการดูแลสุขภาพ ซึ่งกันและกัน การจาริกเพื่อสุขภาพในค่ายนี้ก็ได้เห็นเส้นทางแห่งบุญ ของประชาชน ที่ตามตักบาตร ได้เห็นความอดทน ของสิกขมาตุ หรือแม้แต่ญาติธรรมที่อายุมากแล้ว แต่ก็เดิน ได้ถึงที่หมาย และที่สำคัญ ได้เห็นญาติธรรม ที่เคยได้รับ แต่ความสะดวกสบายมาตลอด เดินตามหลังสิกขมาตุอย่างไม่ท้อถอย ได้ฟังสิ่งดีๆ จากท่านสมณะ ได้รับความเป็นกันเอง และน้ำใจจากเพื่อนร่วมทาง ยังความอบอุ่นให้มีมากขึ้น"

น.ส.เศษฝัน ดวงมะณีย์ "ดีใจค่ะที่มีค่ายสุขภาพขึ้นในชุมชน เพราะทุกคนทำงานหนักกันมาก มีโอกาสได้ซ่อมแซม สุขภาพ บ่อยๆก็ดี ได้รู้วิธีทำอาหาร แบบใหม่ โดยไม่ผ่านไฟ ค่ายนี้ได้ประโยชน์มากจริงๆ และประทับใจการเดินจาริก เพื่อสุขภาพ เพราะเคยอธิษฐานไว้ว่า อยากมีโอกาส ได้เดินจาริก ตามหลังสมณะ และสิกขมาตุ อยากอธิษฐานอีกว่า น่าจะให้มีอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ อบอุ่นที่มีสมณะและสิกขมาตุร่วมเดินทางด้วย ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย และสนุกมากค่ะ"

นายนักบุญ จันทพันธ์ "แต่ก่อนเคยมีอาการง่วงงาวหาวนอน ซึม เลือดลม เดินไม่สะดวก บางทีก็วิงเวียนศีรษะ เวลาลุก แต่พอได้มากิน ยำสมุนไพร ของอาไพโรจน์ ปรากฏว่าเลือดสูบฉีดดี หน้าแดงขึ้น เลือดลมหมุนเวียนดี สดชื่นเปล่งปลั่ง เข้าใจสัจธรรมเรื่อง อาหารเป็นหนึ่งในโลก และคุณเป็น เหมือนกับคุณกิน และประทับใจ การจาริกที่ได้ฝึกความลำบาก ได้เดินร่วมกันเป็นทีม รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้จะหิวแต่ไม่ทิ้งกัน"

นางดอกแก้ว ไผ่เลี้ยง (ผู้ป่วยโรคมะเร็ง) "เคยไปเข้าค่ายสุขภาพมาหลายที่แล้ว แต่ไม่มีที่ไหนเหมือนที่นี่และได้เดินไกล ขนาดนี้ เหนื่อยนะ กว่าจะถึง และสนุกที่ได้เก็บผักป่า เพลินกับการเก็บย่านางจนเดินไม่ทันขบวน และคิดว่า ไม่คนก็มะเร็งหละ ที่ต้องตาย จากกัน".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รู้เขารู้เรา
๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อนาที หนี้ที่คุณต้องจ่ายคืน

คุณทราบหรือไม่ว่า งบประมาณกว่า ๓-๔ แสนล้านบาทต่อปี ประเทศไทยต้องหมดไปกับการนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งกว่า ๙๕ % ต้องใช้บริโภค ในประเทศ เพื่อให้คนไทยมีน้ำมันใช้อย่างไม่ขาดแคลน

ปัจจุบัน คนไทยกำลังเผชิญกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น จากอดีตที่คนไทยเคยใช้น้ำมันเบนซิน เพียงลิตรละ ๑๕ บาท น้ำมันดีเซล ลิตรละ ๑๓ บาท แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันตามความจริง ที่ประชาชนต้องจ่ายนั้น ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ตามราคา ตลาดโลก โดยราคาน้ำมันเบนซิน สูงสุดจะอยู่ที่ระดับ ๑๙.๘๘ บาทต่อลิตร และราคาดีเซลสูงสุดอยู่ระดับ ๑๕.๖๖ บาท ต่อลิตร ทำให้ประเทศไทยต้องรับภาระหนักขึ้นอีก ในการนำเข้าน้ำมันราคาแพง

เพื่อไม่ให้ระดับราคาสูงขึ้นจนเกินไป รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจประกาศการตรึงราคาน้ำมันทุกชนิด โดยให้ มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๗ สำหรับเบนซินออกเทน ๙๕ อยู่ที่ระดับ ๑๖.๙๙ บาทต่อลิตร เบนซินออกเทน ๙๑ อยู่ที่ระดับ ๑๖.๑๙ บาทต่อลิตร และดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ระดับ ๑๔.๕๙ บาทต่อลิตร ซึ่งหมายถึง น้ำมันเบนซินลดลงทันที ๘๐ สตางค์ต่อลิตร และดีเซลหมุนเร็ว ๑๐ สตางค์ต่อลิตร

ส่วนวิธีการที่รัฐนำมาใช้ คือ นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยตรึงราคา และชดเชยให้กับโรงกลั่นน้ำมัน ตามราคาตลาดโลก ที่เกิดขึ้นจริง จนกระทั่ง เมื่อราคาน้ำมัน กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และต่ำกว่าเพดาน ที่รัฐกำหนดไว้ รัฐก็จะนำเงินเก็บเข้ากองทุนฯ แทน

นับจากวันที่รัฐเริ่มตรึงราคาน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบันในอัตราสูงสุดนาทีละ ๑ แสนบาท หรือวันละประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท ซึ่งการตรึงราคาน้ำมันที่ผ่านมา ๑๐ วัน รัฐได้จ่ายเงินไปแล้วเกือบ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ประชาชนจะต้องมาจ่ายใช้หนี้คืนเมื่อเวลาน้ำมันลดลงนั่นเอง

ดังนั้น วิธีการที่ประชาชนทุกคนจะช่วยให้เราจ่ายเงินชดเชยราคาน้อยลง ก็ต้องเป็นวิธีการประหยัดน้ำมัน เพื่อประหยัดเงิน ในกระเป๋าเรา และประหยัดเงินค่าน้ำมันที่เราต้องจ่ายให้ต่างประเทศ ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงแค่ปรับพฤติกรรม การใช้รถยนต์ ของคุณ เช่น ขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน ๙๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง การดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่สภาพดีเสมอ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ได้มีทางเลือกในการประหยัดเงินในกระเป๋าประชาชนในทันที โดยการเลือกเติมน้ำมัน ก๊าซโซฮอล์ ซึ่งราคาถูกกว่าเบนซินลิตรละ ๕๐ สตางค์ ที่ปั๊ม ปตท. และปั๊มบางจาก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน ๑๖๘ ปั๊ม นอกจากนั้น ยังมีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ด้วยการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ (NGV) แทนการใช้น้ำมันด้วย

วันนี้จำเป็นอย่างยิ่งแล้วที่คุณต้องหันมาประหยัดน้ำมัน และช่วยกันใช้อย่างประหยัด อย่างน้อยเพื่อเป็นการลดภาระ กระเป๋าชาติ และกระเป๋าเงินคุณด้วย

ประหยัดน้ำมันให้ชาติ เพิ่มเงินบาทให้คุณ

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เก็บมาฝาก - โดย เศษเหล็ก -

ดูฝรั่งไร้เมล็ดพันธุ์ต่างชาติในไทย

ผ่านพ้นไปสำหรับงานมหกรรมกล้วยไม้ ๒๐๐๔ เทิดพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชินี ที่จัดโดยสมาคม ชาวสวนกล้วยไม้ แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ส่งออก ดอกกล้วยไม้แห่งประเทศไทย กับองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า ๑๐ องค์กร ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม ที่นับว่า เป็นการเปิดรับ ศักราชใหม่ ในวงการเกษตรบ้านเรา และต่อจากงานนี้ ซึ่งเป็นงาน ยิ่งใหญ่ประจำปี เกี่ยวกับวงการ เกษตรบ้านเราเช่นกัน นั่นก็คือ งานเกษตรแฟร์ ๒๕๔๗ และเช่นเคยสถานที่จัดงาน คือ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน กทม. (วันที่ ๓๐ ม.ค.-๗ ก.พ.๔๗)

สำหรับปีนี้ นายชัยวัฒน์ ศีตะจิตต์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานฯ บอกมาว่า ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปีก่อนๆ ที่ผ่านมา และที่นอกเหนือ เพิ่มเติมกว่าก็เห็นจะอยู่ที่งานด้านวิชาการ เพราะปีนี้มีเป้าหมายสำคัญ ในด้านการส่งเสริม และสนับสนุน งานการวิจัย ที่มีเป้าหมาย เพื่อความเป็นไปได้ ด้านการเปลี่ยนแปลง ไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นในวงการเกษตรบ้านเรา ส่วนจะมีอะไรบ้าง ก็ไปดูกันด้วยตัวเองในวันเวลาดังกล่าว

ส่วนในด้านพืชผลทางการเกษตรนั้นก็แน่นอน เช่นกันว่างานนี้มีดีหลายรายการมาแสดงให้ได้พบเห็น ก็ขอยกตัวอย่าง หนึ่งรายการ จากหลายๆรายการ ที่เจ้าของบอกว่า จะนำมาแสดงอย่างแน่นอนในงาน ดังกล่าว คือ ฝรั่งไร้เมล็ดลูกโต สายพันธุ์ต่างประเทศ แต่สามารถนำมาปลูก ในประเทศไทย ได้อย่างไม่มีปัญหา สามารถให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ เมื่อปลูกไปแล้ว ประมาณ ๗-๙ เดือน และจะให้ผลผลิตนานไปจนกว่า เจ้าของจะเบื่อ

เจ้าของรายการฝรั่งไร้เมล็ดนี้คือ นายสุชาติ ศรีเลอจันทร์ หนึ่งในสมาชิกชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ในวงการเกษตรบ้านเรา มีแปลงเพาะปลูกประเภท พืชสวน นับตั้งแต่ พุทราจัมโบ้ ไปจนถึง มะขามเปรี้ยวฝักดกและฝรั่งไร้เมล็ด มีแปลงเพาะ ขยายพันธุ์ อยู่ที่หน้าปฐมอโศก ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม

สำหรับฝรั่งไร้เมล็ดนี้ คุณสุชาติบอกว่า เมื่อหลายปีก่อน ตนย้ายถิ่นมาทำงานอยู่ในปฐมอโศก ได้มีโอกาส รู้จักกับผู้คนมากราย ทั้งคนไทย และคนต่างประเทศ ขณะเดียวกันทั้งความเชื่อ และศรัทธาต่อปฐมอโศกฯ จึงหาซื้อที่แปลงหนึ่ง ในละแวกเดียวกัน เพื่อทำงาน ในปฐมอโศก และ ทำสวนผลไม้ ไปพร้อมๆ กันด้วย แต่ต่อมาต้องเปลี่ยนใจ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า หากปลูกพืชสวนกันทั้งหมด ของเกษตรกร ในบ้านเรา โอกาสที่จะมีพืชพันธุ์ดีๆ ขึ้นมาให้ได้ปลูก และให้ผู้คนในสังคม ได้บริโภคกันอย่างมาก ชนิดย่อมที่จะเป็นไปได้ยาก ตนจึงเปลี่ยนใจ มาปลูกพืช เพื่อการขยายพันธุ์แทน และแปลงปลูก ที่ใช้พื้นที่ ไม่มากนัก ก็สามารถทำกิจการด้านนี้ได้

ภายในพื้นที่ของสวนแปลงเพาะพันธุ์ของคุณสุชาติ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ของการใช้พื้นที่ เพื่อการขยายพันธุ์ไม้ได้เป็นอย่างดี พันธุ์ไม้หลายชนิด ที่เพาะขยายพันธุ์ในพื้นที่แห่งนี้ต่างมีความสมบูรณ์เต็มที่ และที่สำคัญ ในพืชที่ไม่ใช่สายพันธุ์ในประเทศไทย แต่ผลผลิต เป็นที่ยอมรับ และ นิยมทั่วไป ของผู้บริโภคก็สามารถ นำมาขยายพันธุ์ ในพื้นที่แห่งนี้ ได้เช่นกัน อย่างฝรั่งไร้เมล็ดดังที่กล่าวมาข้างต้น คุณสุชาติบอกว่า ได้รับพันธุ์ฝรั่ง ไร้เมล็ดนี้ จากชาวมาเลเซีย ท่านหนึ่ง จากนั้นจึงนำมาขยายพันธุ์ ปรากฏว่าได้รับผลสำเร็จ หลายคนที่ปลูกพืช ประเภทกินผลมาเห็นเข้า จึงขอแบ่งไปปลูก ในพื้นที่ของตนบ้าง ก็ให้ไป ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มมีคนเข้ามามากขึ้น เพราะไปเห็นจากแปลงอื่น ที่ปลูกขึ้นดี และให้ผลผลิตได้ดี ตามที่ต้องการ สามารถเก็บไป จำหน่ายในตลาดสร้างรายได้ เป็นกอบเป็นกำเรื่อยมา

จากผลดังกล่าวในพื้นที่ย่านนั้น จึงเรียกคุณสุชาติว่า ผู้เพาะพันธุ์พืชผลทางการเกษตรพันธุ์ต่างชาติในไทย

สำหรับฝรั่งไร้เมล็ด ของคุณสุชาตินี้ ในงานเกษตรแฟร์ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะมีไปโชว์ให้ดู

เสน่ห์ประการหนึ่งของฝรั่งไร้เมล็ดที่ผู้บริโภคนิยม ก็เนื่องจากเนื้อในของฝรั่งนั้น นิ่มแบบกรอบ กัดกินไม่ระคายเคืองไรฟัน ที่อาจจะเกิดจาก เมล็ดฝรั่ง เพราะฝรั่งพันธุ์นี้ไม่มีเมล็ด หากท่านใดที่นิยมผลไม้ต่างประเทศ จำพวกแอปเปิ้ล สาลี่ หลายท่าน ที่ลิ้มลองมาแล้ว บอกว่าไม่ต่างจากกันเลย และที่สำคัญฝรั่งไร้เมล็ด ที่ปลูกในไทยราคาไม่แพง และรสชาติถูกปากคนไทย ด้วย กับผู้คนที่เดินทาง เข้าไปเที่ยวงาน ได้ศึกษาพิจารณา ด้วยรายการหนึ่ง ของพืช ให้ผลสายพันธุ์ต่างประเทศ ที่สามารถ นำมาขยายพันธุ์ และปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในบ้านเราได้

สนใจก็ลองแวะ ไปดูได้ในงาน หากมีเวลาไม่พอกับการเดินทาง เพื่อไปชมถึงแปลงปลูกต้นแหล่งกำเนิดพืช สำหรับ กินผลพันธุ์ ต่างชาติในไทยนะครับ.

(จาก นสพ.เดลินิวส์ วันที่ ๒๔ ม.ค.๔๗ โดย พีรศิษฐ์ สมแก้ว)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ร้อยเอ็ดอโศก จัดงานอบรม "รวมพลังคนสร้างชาติ" ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๖
ณ ชุมชนร้อยเอ็ดอโศก จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้งบประมาณการจัดงานมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีผู้มาร่วมงานลงทะเบียน ๓๔๐ คน นักเรียน ๑๐๐ คน ญาติธรรมประมาณ ๕๐ คน ซึ่งเป็นการจัดงานที่ใหญ่ที่สุด ของศูนย์อบรม ร้อยเอ็ดอโศก


[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชื่อ นางคำน้อย ชมชื่น
เกิด ๑๕ ก.ย.๒๔๗๗ อายุ ๗๐ ปี
ภูมิลำเนา จ.ลำพูน
การศึกษา ม.๑
สถานภาพ ม่าย บุตร ๕ คน
น้ำหนัก ๕๕ กก.
ส่วนสูง ๑๕๕ ซ.ม.

ในงานฉลองหนาว ธรรมชาติอโศก ครั้งที่ ๒ แม่อุ๊ยคำน้อยแจกขนมจีนน้ำเงี้ยวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา น้ำเงี้ยวของแม่อุ๊ยก็รำแต๊ๆ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ไปร่วมงานยิ่งนัก แล้วยังทำน้ำพริกตาแดงแจกผู้ที่จะเดินทางกลับสำหรับกินกลางทางอีกด้วย ไปรู้จักกับแม่อุ๊ยกันเลยค่ะ

*** ครอบครัว
แม่เป็นพี่คนโต มีพี่น้อง ๖ คน พ่อแม่มีอาชีพทำไร่ทำนา ตอนเล็กชีวิตลำบาก ตอนนั้นน้ำท่วมข้าว น้องก็จะเรียน แม่เลยเสียสละให้น้องเรียน ไม่เสียดาย แม้จะชอบเรียน

จบ ม.๑ ไปเรียนเย็บผ้าที่ลำพูน แล้วออกมาตัดผ้าเป็นอาชีพทำอยู่หลายปี แต่งงานตอนอายุ ๑๙ พ่อบ้านอายุ ๒๐ ปี อาชีพทำไร่ทำนา ทำสวน เขาเป็นลูกคนเดียว แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่บ้านสามี มีลูกด้วยกัน ๕ คน ชาย ๓ หญิง ๒ แม่ก็ยังเย็บผ้า ทำนา ทำสวน เลี้ยงลูก ชีวิตครอบครัวก็ลำบาก แม่ก็หาบของไปขายที่ตลาด พ่อบ้านก็ทำนาทำสวน ส่งลูกเรียนทุกคน อยากให้ลูกเรียนสูงๆ ชีวิตครอบครัวราบรื่น

*** เจออโศก ทำงานกับอโศก
ปี ๒๕๓๑ ลูกสาวคนโตชวนไปที่ลานนาอโศก เจอพ่อท่านพอดี ได้กราบ พ่อท่านประทับใจมาก ฟังพ่อท่านเทศน์ก็รู้เรื่อง ถูกทุกอย่าง มาที่ลานนาฯ ตลอดไม่ไป ที่ไหนอีกเลย มังสวิรัตินั้นเริ่มกินตั้งแต่ไปร่วมงานมหกรรมรักษาศีลที่วัดพันอ้น สมัยอาจารย์ดวงดี เป็นเจ้าอาวาส แล้วกินมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

อยู่บ้านก็ไม่มีอะไรทำ นั่งๆนอน เลยมาช่วยงานที่ชมร.ช.ม. อยากจะมาทำบุญ อยู่ที่ชมร.รับทำอาหารเมือง เช่น ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง น้ำพริกตาแดง แกงบอน แกงแค ทำงานก็เหนื่อย แต่นอนพักแล้วก็หาย พักและทำงานอยู่ที่ชมร. ๕ วัน แล้วกลับไปบ้าน วันเสาร์ไปลานนาอโศก แม่เป็นเลขาฯ ชมรมผู้อายุยาว ทำหน้าที่รับบริจาค ชมรมฯ ได้สร้างบ้าน ๒ หลังให้ผู้อายุยาวพักค้างของฝ่ายชายหนึ่งหลัง ฝ่ายหญิงหนึ่งหลัง สำหรับกิจกรรม ก็มีฟังเทศน์ กินข้าวร่วมกัน อาทิตย์ที่สองของเดือน ก็ประชุมกันทุกเดือน มีสมาชิกประมาณ ๕๐ กว่าคน ซึ่งเข้ากันได้ดี สมาชิกที่อายุมากที่สุดก็ ๘๐ กว่าปี

*** ชีวิตในบั้นปลาย
แม่เอาเรื่องเอาราวกับใครไม่เป็น ใครใช้ให้ทำอะไรก็ทำ เวลาใจไม่ยอมก็ฝืนใจ ถ้าเจออะไรก็ค่อยๆแก้ไป เวลาเจอผัสสะก็ อดทนเอา เขาว่าอะไรก็ช่างเถอะ ปล่อยไป เราไม่เป็นอย่างที่เขาว่าก็แล้วกัน เวลาเขาทำอะไรไม่ได้ดังใจเรา เราก็ทำเอง ไม่ไปโมโหให้เขา

แม่มีความสุขอยู่กับการทำงาน ไม่ห่วงอะไร สมบัติมอบให้ลูกหมดแล้ว ไม่เอาสักอย่าง หากลูกไม่เลี้ยงแม่ก็มาอยู่วัด ไม่กลัวตาย ตายวันไหนก็ได้ ร่างกาย ก็มอบให้โรงพยาบาลสวนดอก เขาจะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่เขา สุขภาพเข่าไม่ค่อยดี ต้องนั่งเก้าอี้

*** ฝากสุดท้าย
ขอให้ทุกคนปฏิบัติตัวให้ดีๆ สุข-ทุกข์อยู่ที่ใจ โลกใบใหม่ของแม่อุ๊ยคำน้อย ไม่มีสมบัติติดตัว ตายวันไหนก็ได้ ศพก็มอบ ให้โรงพยาบาล แม่อุ๊ยพร้อมแล้วกับการเดินทางไกลในวันที่จะมาถึง ต่างจากโลกใบเก่า ของอีกหลายคน ที่ยังหวงห่วงสมบัติบ้า ประคบประหงมตัวเอง ด้วยความกลัวตาย ตอนนี้ เรามีชีวิตอยู่ในโลกใบไหนกันแน่?

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ปฏิทินงานอโศก
ประชุมสมณะมหาเถระ ณ พุทธสถานศาลีอโศก วันที่ ๒๘ ก.พ.๔๗ เวลา ๐๕.๐๐ น.
งานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๒๘ ณ พุทธสถานศาลีอโศก วันที่ ๒๙ ก.พ. - ๖ มี.ค. ๔๗

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
๖๗/๑ ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โทร.๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ ๑,๕๐๐ ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]