ฉบับที่ 227 ปักษ์หลัง 16-31มีนาคม 2547

[01] พิธีมอบกลดอบอุ่นและศักดิ์สิทธิ์ ปีนี้ม.๖ เรียน จบ ๕๙ คน
[02] ผู้ช่วย ผอ.เขตบึงกุ่ม เปิดงานมหกรรมกู้ดินฟ้า ครั้งที่ ๑
[03] คุรุจากราชธานีอโศกรับเชิญเป็นวิทยากรโครงการ ร.ร.วิถีพุทธ
[04] ธรรมะพ่อท่าน เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ตอน ๑
[05] ปฏิวัติประเทศไทยด้วยเกษตรอินทรีย์ อาหารที่ปลอดภัยที่สุดในโลก (ตอน ๒)
[06] สกู๊ปพิเศษ สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และคณะเยี่ยมชมราชธานีอโศก
[08] ศูนย์สุขภาพ: ความห่วงใยของหมอมังสวิรัติต่อนักมังสวิรัติ
[09] ฉลาก น้ำหมึก อะไรหรือ?
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า
[11] งานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๒๘ วันที่ ๔ ถึง ๑๐ เมษายน ๒๕๔๗
[12] ไฟป่าไหม้ใกล้ภูผา สมณะช่วยดับแต่เกือบดับ
[13] นางงามรายปักษ์ นางสาวหนู ชอบประดิษฐ์
[14] ไข้หวัดนก
[15] อย่าลืม อ. แรก
[16] ปฏิทินงานอโศก


สกู๊ปพิเศษ ปักษ์หลังมี.ค.๔๗

งานพุทธาฯที่ผ่านมา แต่ละคนได้พลังใจและสัมมาทิฏฐิในการปฏิบัติธรรม ฉบับนี้มาฟัง ข้อคิดจากงานพุทธาฯ ความไม่สมดุลสาเหตุของการเจ็บป่วยจะแก้ไขได้อย่างไร จากสมณะ เดินดิน ติกขวีโร และพิเศษสุด โอวาทพ่อท่าน ที่ให้ไว้ ในคราวประชุม สมณะมหาเถระ ที่ผ่านมา

* ท่านได้ข้อคิดอะไรในงานพุทธาภิเษกฯที่ผ่านมาคะ
งานพุทธาภิเษกฯก็ดีหรืองานปลุกเสกฯก็ดี ถือว่าเป็นงานที่เพิ่มพลังให้กับญาติธรรม ของเราโดยตรง จะสังเกตได้ว่า เมื่อพวกเรา ไปร่วมในงานนี้ ส่วนใหญ่จะกลับมาอย่างมีพลัง ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์ว่าอะไรที่ทำให้พวกเราเกิดพลัง ก็คงจะมีหลายเหตุปัจจัย ด้วยกัน เป็นต้นว่า

๑. เพราะพวกเราตั้งใจมาศึกษาปฏิบัติธรรม ฟังธรรมะกันอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่ พวกเราอยู่ในวัด ก็จะหมกมุ่นไปกับงาน จมอยู่กับงานของตัวเองเป็นใหญ่ พอได้วางงาน ออกจากพื้นที่ก็จะรู้สึกโล่งขึ้น แล้วก็ได้มาฟังธรรมะกันมากขึ้น ทำให้มีจิต ที่คิดปล่อยวาง ได้มากขึ้น มีจิตที่จะเอาธรรมะเป็นใหญ่กันมากขึ้น ถ้าอยู่พื้นที่อาจจะเอาเป็นเอาตาย กับช้อนมีดพร้ากะทะขวาน หรือเรื่องวัตถุข้าวของต่างๆ พอเราได้ออกจากพื้นที่ก็ได้ปล่อยวาง และก็ตั้งใจที่จะเอาธรรมะเป็นใหญ่ ได้ฟังธรรมะกันให้มาก ส่วนนี้ก็ทำให้เราเกิดพลังขึ้นมา

๒. ในงานนี้พวกเราตั้งใจรักษาศีลให้เคร่งครัด บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ก็เป็นส่วนที่ทำให้เราเกิดพลัง อยู่ในชุมชนของเรา ก็อาจจะตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้างที่จะถือศีล กินข้าวมื้อเดียวบ้าง สองมื้อบ้างตามอารมณ์ แล้วแต่ลมเพลมพัด ไม่ได้ตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรม ให้ศีลของตัวเอง เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาขึ้นมา เมื่อเราตั้งใจที่จะรักษาศีลให้เคร่งครัด บริสุทธิ์ขึ้น ก็ทำให้จิตของเรามีพลัง

๓.บางคนก็ตั้งใจที่จะเก็บภพของตัวเอง อยู่ในชุมชนทำอะไรก็ทำตามภพ เอาแต่ใจตัวเอง เป็นใหญ่ แต่เมื่อเราออกจาก พื้นที่จากชุมชนมาก็พยายาม จะไม่เอาแต่ใจตัว หรือไม่เอาแต่ภพ ของตัวเอง ได้ออกมาสังสรรค์กับหมู่กลุ่ม กับเพื่อนฝูง หลายชุมชนด้วยกัน ทำให้เกิดความอบอุ่น มีปิติ มีปัตตานุโมทนามัย ได้อนุโมทนาชื่นชมยินดีกับคนอื่นมากขึ้น จริตบางคน จะมีนิสัย ชอบล็อคตัวเอง หรือว่ากำหนดภพของตัวเองไว้ เช่น ฉันมางานปลุกเสก-พุทธา ฉันจะต้อง พยายามนั่งแถวหน้า ให้ได้ทุกๆรายการ บางครั้งก็ต้องตื่นมาตั้งแต่เที่ยงคืน ตี ๑ ตี ๒ ทำให้อ่อนเพลีย ในการฟังธรรม ซึ่งก็จะไม่ได้ประโยชน์ในการฟัง บางครั้งก็ไปขัดแย้ง เกิดการแย่ง พื้นที่กัน ทำให้ภราดรภาพต้องสูญเสียไป หรือบางคนก็ตั้งภพไว้ว่า งานนี้ฉันจะต้อง ฟังอภิธรรม ฟังธรรมะชั้นสูงลึกๆ โดยเฉพาะในวันมาฆบูชา แต่พอพ่อท่านเอาเรื่อง ชุมชนเข้มแข็ง มาเน้น บางคนก็รู้สึกว่า เอ๊ะ!..ไม่ตรงกับภพของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราปลดล็อค ของตัวเองออกได้ ไม่เอาแต่ภพหรือไม่เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่ ก็จะมีความสุขขึ้น อภิธรรม ไม่ได้อยู่ที่การได้ฟังธรรมะสูงๆ อภิธรรมก็คือการได้เห็นจิตสูงๆของเรา จิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตที่เอาทุกเหตุการณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ จิตที่ปล่อยได้ วางได้ นั่นคือการได้เข้าถึงอภิธรรม ไม่ใช่พูดเรื่องภาษาจิตได้สูง แต่ว่าสภาจิตของตัวเองคนละเรื่องกับภาษาที่พูดออกมา

ดังนั้นเมื่อทุกคนพยายามเก็บภพของตัวเอง ไม่ปล่อยตัวเองไปจมอยู่ในภพ หรือตกภพ ก็จะทำให้เรารู้สึกว่าเรามีพลัง เพราะได้ออกจากภพ มาพบกับผู้ที่มีศีล กับผู้ที่ทรงศีล ได้มีความชื่นชมยินดีอนุโมทนาร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัย ที่ทำให้เกิดพลัง และแม้จะเสร็จงานไปแล้ว ถ้าเราสามารถที่จะปฏิบัติเจริญคือมีภาวนา ทำอย่างนี้ให้เจริญต่อไป มีพหุลีกัมมัง มีการทำให้มาก มีอเสวนามีการคบคุ้นต่างๆเหล่านี้ให้มาก พลังของเราก็จะต่อเนื่อง ยั่งยืนยาวนาน

ในงานพุทธาภิเษก พ่อท่านบอกว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยของเรา ส่วนหนึ่งเกิดจาก ความไม่สมดุล โรคของความไม่สมดุลจะแก้อย่างไรคะ

อาตมาคิดว่าโรคของความไม่สมดุล น่าจะเป็นสาเหตุของโรคที่พวกเราเป็นส่วนใหญ่ และ จะแก้อย่างไร ในมุมมองส่วนตัวเอง ที่ก็ป่วย ด้วยเหมือนกัน ก็มองว่าสาเหตุลึกๆ โรคของความไม่สมดุล มาจากความเอาแต่ใจตัวของเราเองเป็นใหญ่ด้วย เหมือนกัน เพราะเรา มีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ก็ทำให้เรามีชีวิตขาดๆเกินๆโต่งไปโต่งมา มากไปบ้าง น้อยไปบ้าง จะไม่ค่อย พอดีเท่าไร โดยเฉพาะ ในยามที่ร่างกายเราแข็งแรง เราชอบในงานเรื่องอะไร ก็จะลุยไปเต็มที่ โดยไม่ฟังเสียง หรือไม่ฟัง สัญญาณ ที่ร่างกายเตือนมาว่า ควรจะพักได้แล้ว ผ่อนคลายได้แล้ว พระพุทธเจ้าท่านใช้ศัพท์ว่า การทำความสบายให้กับตัวเอง เราจะไม่คำนึง ถึงตรงนี้เท่าไร จะมุ่งที่จะเอางานให้สำเร็จ แต่จริงๆแล้ว งานอาจจะสำเร็จแต่ก็เป็นปาณาติบาต คือเป็น การทำร้าย ร่างกายของตัวเราเองให้เจ็บป่วยขึ้นมา

โทษภัยของการเอาแต่ใจตัวเอง จะทำให้ร่างกายของเราขาดสมดุลอย่างมากทีเดียว อย่างเช่น กระแสสุขภาพต่างๆ ที่เข้ามาในชาวอโศก พอกระแสน้ำผักปั่นเข้ามา พวกเราก็จะปั่นกัน ทั้งวันเลย กินทั้งน้ำผึ้งน้ำตาลเข้าไป ไม่รู้ว่า จะทำให้ภูมิต้านทานต่ำลงไปแค่ไหน หมอหลายๆคน บอกว่าตัวความหวาน เป็นตัวทำให้ภูมิต้านทานต่ำโดยตรง อาจจะทำให้โรคหนึ่งดีขึ้น แต่ว่าไปได้โรคใหม่ เข้ามาอีกหลายโรค หรือว่าพอกระแสดีท็อกซ์เข้ามา พวกเราจะคิด แต่เรื่องดีท็อกซ์กันทั้งวัน ดีท็อกซ์กันจนผอมเหลือแต่กระดูก เพราะเอาออกตลอดทั้งวัน โดยที่ส่วนเอาเข้าน้อยกว่า แต่พอผอมมากๆเข้า จนร่างกายแทบจะหมดสภาพแล้ว ก็รู้แล้วว่า เกิดความไม่สมดุลขึ้นมา คราวนี้ก็มาตั้งหลัก กันใหม่ว่า ต้องเอาเข้าอีก พอเอาเข้าอีก คราวนี้ก็อัด ไปจนแน่นตัวบวมปึ๊กขึ้นมาอีก ทำให้ร่างกายของเราจะหาความพอดีที่เป็นสัมมา เป็นมัชฌิมา ไม่ค่อยได้เท่าไร

อาตมาเองก็มาระลึกถึงโทษภัยของการเอาแต่ใจตัวเอง ว่ามีโทษอะไรบ้าง

๑. ทำให้การปฏิบัติธรรมของเราโต่งไปโต่งมา ตอนเคร่งครัดก็เคร่งเปรี๊ยะเลย จนแทบจะไม่อยาก จะพูดจากับใคร พอจะยืดหยุ่น ออกมาก็หย่อนยานโตงเตงไปเลย จนแทบเห็นใคร ก็อยากจะพูด ไปหมด ทำให้เป็นนักปฏิบัติธรรมที่เข้าหาสัมมา มัชฌิมา จนกระทั่ง อรหันต์ อันเป็นความพอดี อันสูงสุดเข้าถึงได้ยาก ไม่อัตกิลมถานานุโยค ก็กามสุขขัลลิกานุโยค คือโยกไปโยกมา อยู่ตลอดเวลา จะหาความเที่ยงหาตรงกลางได้ยาก

๒. ทำให้เป็นคนที่ไร้ญาติขาดมิตร กลายเป็นโดดเดี่ยวผู้น่าสงสาร เพราะคนที่เอาแต่ใจตัวเอง จะไม่ค่อยคิดถึงคนอื่นเท่าไร ทำอะไรก็จะเอาใจของเราเป็นหลัก หาเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ ที่เป็นทั้งหมด ทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ไม่ได้ ไม่มีทาง ที่จะบรรลุธรรม ได้อีกเหมือนกัน เพราะคนที่ จะบรรลุธรรมต้องมีมิตรดี สหายดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์

๓. เป็นคนที่ทุกข์ทรมานมากกว่ามนุษย์ทั่วๆไป จุดสุดท้ายของการเอาแต่ใจตัวเอง คือไปสู่ โลกันตะ ที่สุดของนรก นั่นแหละ เพราะคนจะพ้นทุกข์จะต้องพยายามที่จะออกจาก โลกของตัวเอง มีความคิดคำนึงถึงผู้อื่นให้มาก แต่คนที่ทุกข์มากๆ ทุกข์เจียนตาย ส่วนใหญ่ จะไม่สามารถออกจากโลกของตัวเองหรือภพของตัวเองได้ จะหมกมุ่นครุ่นคิดแต่ความทุกข์ ของตัวเอง ทั้งๆที่มีเพื่อนมนุษย์อีกมากมายที่เขาทุกข์กว่าเราเยอะแยะ โดยเฉพาะพวกเรา ที่มาถือศีลปฏิบัติธรรม ทุกข์ของเราเอง แทบจะน้อยกว่าคนที่เขาสาหัสสากรรจ์อยู่ทางโลก แต่คนที่เอาแต่ใจตัวเอง ก็จะจมทุกข์อยู่กับทุกข์เล็กๆน้อยของตัวเอง เพราะไม่สามารถ ออกจากโลกของตัวเองได้ อันนี้ก็คือโทษภัยของการเอาแต่ใจตัวเอง สุดท้ายก็จะทำให้เรา ไม่สามารถ ที่จะทำชีวิตเกิดความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นเหตุสำคัญ นำไปสู่ ความเจ็บป่วยของตัวเรา

วิธีแก้ไขที่ดีก็คือ ในพระไตรปิฎกท่านใช้คำว่าเก็บใจของตัวเรา ภาษาอีสานเขาจะมีสำนวนว่า แล้วแต่หมู่ คือเอาหมู่เป็นใหญ่ ยังไงก็ได้ ไม่ต้องไปคิดอะไรที่มุ่งมั่นให้ได้ดังใจของเรามาก พยายามที่จะปรึกษาหารือกันก็จะทำให้เกิดความอบอุ่น ความเป็นพี่ เป็นน้อง แล้วก็ความสมบูรณ์ สมรรถภาพของเราก็จะดีขึ้นถ้าไม่เอาแต่ใจตัวเอง เป็นทั้งสมรรถภาพ เป็นทั้งภราดรภาพ เป็นทั้ง สันติภาพ เป็นทั้งบูรณภาพก็จะเกิดขึ้นจากการที่เราเก็บใจของตัวเรา

ท่านอยากจะฝากอะไรให้กับญาติธรรมของเราบ้างคะ

อยากจะฝากโอวาทของพ่อท่านที่ให้ไว้ในการประชุมสมณะมหาเถระ ก่อนงานพุทธาภิเษก ท่านเน้นว่า การจะบรรลุธรรมได้นั้น จะต้องมีการงาน มีการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ควบคู่กันไป ซึ่งการปฏิบัติมรรค มีองค์ ๘ ก็คือการเจริญสมาธิ การปฏิบัติ สัมมาสมาธิ คนใหม่ๆ เขาก็มาที่ ชุมชนของเรา หลายๆคนก็จะสงสัยว่า เรามีการทำสมาธิกันหรือเปล่า มีการปฏิบัติธรรม หรือเปล่า เพราะวันๆเห็นเอาแต่งาน ดังนั้นเราจะต้องทบทวนว่าทุกวันนี้เราทำงาน ทำงานด้วย มรรคมีองค์ ๘ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งพ่อท่าน ก็ได้เน้นเรื่องนี้ไว้ให้กับสมณะมหาเถระ ดังเนื้อหา ต่อไปนี้

"…..พวกเราเป็นมหาเถระ อายุก็ปูนนี้แล้ว มันคงไม่เหมือนกับทางโลกเขานะ ทางโลกอายุ ๖๐ ก็หนีออกไปแต่งงาน ๖๐ ก็ยังหนีออกไปใช้เงิน เพราะเขามีเงิน เขามีรายได้ เขามีเงิน พอเวลา ๖๐ โอ้โห..เยอะแล้วเว้ย มีรายได้ ๖๐ กว่าล้าน แหม.. อยู่ทางนี้มันโอ้โฮ..จะเอาไปเที่ยวไนท์คลับ เอาไปเที่ยว เอาไปกินเหล้ากินเบียร์ มันไม่ได้นี่หว่าเงินนี่มันโอ้โห…โลกีย์ เขาโลกีย์ ธรรมดา เพราะฉะนั้น เขาสึกออกไปได้ เรื่องกิเลสต่างๆ สึกออกไปใช้เงิน สึกออกไปแต่งงาน เสร็จแล้ว ไปมีภาระ มีครอบ มีครัว มีลูกมีเต้ามีอะไร ๖๐-๗๐ แล้วไปมีได้ มันก็เป็นไปทางโลกเขา

แต่พวกเราหรือพวกคุณ ผมคิดว่ามันคงจะไม่เข้าแบบนั้นนะ จะมีตกหล่นบ้างหรือไม่อย่างไร ผมก็ไม่รู้นะ แต่ว่ามันก็ไม่น่าจะเป็น เพราะฉะนั้น น่าจะไม่เหมือนกันในเรื่องนี้ คงจะต้อง ดูสังขารเราดีๆ แล้วก็ดูงานหน่อย

การทำงาน เป็นตัวปฏิบัติธรรม กรรมแปลว่าการงาน มโนกรรม วจีกรรม กัมมันตะ อาชีวะ อยู่ในมรรคองค์ ๘ เป็นตัวปฏิบัติธรรม เพื่อไปสู่นิพพานทั้งนั้นแหละ มรรคองค์ ๘ เป็นตัวปฏิบัติ เพื่อไปสู่นิพพาน เพราะฉะนั้น ตัวที่จะไปสู่นิพพานจริงๆ คือกรรมทั้ง ๔ กรรมจากสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ กรรมการงาน การกระทำ บทบาทลีลานี้ทั้งนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่กว่านอกบทบาท ๔ นี้เลย พวกคุณคงไม่งง เพราะมันชัดๆ อยู่แล้ว ทางนี้เป็นทาง ปฏิบัติไปสู่นิพพาน มรรคองค์ ๘ แล้วท่านก็สรุปแล้ว เป็นทฤษฎีเอก เป็นทฤษฎีหลัก เป็นทฤษฎีใหญ่

เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร เราจะปฏิบัติสังกัปปะให้ชัด เพราะสังกัปปะเป็นตัวประธาน มันอยู่ที่ ต้นทางสังกัปปะ ถ้าเราสามารถ อ่านอีกถึงองค์ธรรม ๗ ของสังกัปปะได้ ตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภิโรปนา วจีสังขารา เข้าใจลักษณะสภาวธรรมจริงๆเลย แล้วคุณก็อ่านออก แล้ววิจัยธรรม มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์เสมอๆ มันก็จะไป ช่วยวจี วาจาเป็นสัมมา ไปช่วยกัมมันตะเป็นสัมมา ไปช่วยอาชีวะเป็นสัมมา เพราะมันมีองค์ประกอบ หนาขึ้น แรงขึ้น

เพราะฉะนั้นมาถึงขั้นอาชีวะ แม้เราเป็นสมณะแล้ว อาชีวะของสมณะ มันไม่ใช่บิณฑบาต อย่างเดียว เขามาพูดสัมมาอาชีวะ ของพระ คือบิณฑบาตเลี้ยงตน ยังชีพ อาชีวะเขาถือว่ายังชีพ เลี้ยงชีพ ก็เลยเอาแต่ให้บิณฑบาตเลี้ยงชีพ ไม่ให้ทำงานอื่น บ้ากันใหญ่เลย เป็นพระเป็นเจ้า มานั่งบิณฑบาต กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน นั่นคือเลี้ยงชีพอาชีวะ งานอาชีวะของพระคือ บิณฑบาต ไม่ผิด อาหารปริเยฏิทุกข์ เป็นทุกข์ในการแสวงหาอาหาร

ผมไม่ได้แปลอาหารว่าเครื่องอาศัย อาหารเข้าท้องเท่านั้น อาหารก็เป็นเครื่องอาศัยของชีวิต อันประเสริฐ การงานของคน ก็เป็นเครื่องอาศัยของชีวิตอันประเสริฐ มนุษย์ไม่มีการงาน มนุษย์ไม่มีบทบาท ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์คุณค่าต่อตนต่อผู้อื่นเลย กินก็ไม่ทำ อะไรก็ไม่ทำ หนักเข้า ให้คนป้อน ผ้าก็ไม่ซัก อะไรก็ไม่ทำอะไรเลย อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ตนช่วยตน ก็ช่วยที่ตนทำ หรือยิ่งประโยชน์ผู้อื่น ทำเพื่อผู้อื่น เป็นการงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น อันนี้แหละ เป็นสูตรวิเศษ ศาสนาพระพุทธเจ้า พหุชนะหิตายะ พหุชนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ ผู้ที่ถึงการเจริญ มีความประเสริฐจริง ก็เป็นคนมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ พหุชน ทำให้พหุชน เขาเป็นสุข หรือช่วยเหลือเกื้อกูลพหุชนเขาอยู่หรือโลก โลกานุกัมปา อนุเคราะห์โลก เขาอยู่ เป็นผู้อนุเคราะห์โลก ไม่ใช่มาเป็นผู้เฉยเมย เป็นผู้อยู่เฉยๆ

เพราะฉะนั้น เราจะทำการงานใดๆมันไม่ทุกข์ หรือทำการงานใดๆทุกข์อริยสัจมันหมดไป เหลือแต่ทุกข์ ที่เลี่ยงไม่ได้เท่านั้น ก็สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร เราจะพิสูจน์ทำงาน โดยไม่ทุกข์

อโศกมีงานประจำปีหลายงาน ถ้าสามารถหยุดพักงานประจำชั่วคราว ไปร่วมงานดังกล่าว เสียบ้าง จะทำให้เราได้อะไร สัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้น เราอาจจะวนและสู่ทางตัน ทำงานเสียสละ แต่คู่ไปกับการเอาแต่ใจตัวเอง อยู่ตลอดเวลา ขาดสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ ห่างไกลจากนิพพาน ทีเดียวนะ

ทีมข่าวพิเศษ รายงาน



ข่าววิทยุชุมชน

วันพุธที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่อง ๗ และช่อง ๑๑ ได้มาถ่ายภาพ กิจกรรมออกอากาศของศูนย์การเรียนรู้วิทยุชุมชนบัวกลางมูล ซึ่งขณะนั้น สมณะฟ้าไท สมชาติโก กำลังจัดรายการ พุทธธรรมนำชีวิต

เวลา ๐๙.๓๐ น. นายปราโมช รัฐวินิจ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายสมศักดิ์ วีระหงส์ ผู้อำนวยการ สำนักประชาสัมพันธ์ เขต ๒ อุบลราชธานี นายชนวิช ศรีสุข ประชาสัมพันธ์ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมคณะรวม ๑๙ คน ได้มาเยี่ยมชม ชุมชนราชธานีอโศก โดยมีสมณะ ฟ้าไท สมชาติโก ให้คำอธิบาย เกี่ยวกับความเป็นไปของชุมชน และการดำเนินการ ของวิทยุชุมชนฯ หลังจากนั้น ได้เดินชมบริเวณ เฮือนศูนย์สูญ ตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้น ๔ ก่อนกลับท่านรองอธิบดีฯ ได้เซ็นเยี่ยมในสมุดว่า

"ขอแสดงความชื่นชมในเจตนารมณ์และกิจกรรมต่างๆ ณ ที่นี้ อันสอดคล้องกับนโยบาย ในการให้ข้อมูล ข่าวสารกับ ประชาชนในท้องถิ่น ที่กรมประชาสัมพันธ์ ถือเป็นหน้าที่อันสำคัญ ขอให้เจตนารมณ์ คงอยู่ตลอดไป เพื่อรังสรรค์ ความเจริญสู่ท้องถิ่น" หลังจากนั้นได้ถ่ายรูป หน้าเฮือนศูนย์สูญ เป็นที่ระลึก ร่วมกัน

ศูนย์การเรียนรู้วิทยุชุมชนบัวกลางมูล ตั้งอยู่ที่ชั้น ๔ ตึกศูนย์สูญ หมู่บ้านราชธานีอโศก ม.๑๐ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ โทร.๐๔๕-๓๑๘๐๗๓ ได้รับอนุมัติโครงการ จากกองทุน เพื่อสังคม เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค. ๒๕๔๕ ทำการส่งกระจายเสียง ครั้งแรกเมื่อ ๑ ธ.ค. ๒๕๔๕ ในระบบ FM 93.2 MHz เปิดสถานี ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐-๒๑.๐๐ น. หยุดพักการกระจายเสียง ในเวลา ๑๐.๓๐-๑๕.๐๐ น. ผู้จัดรายการ ๙๙% เป็นนักบวช และสมาชิกในชุมชน มีบุคคล ภายนอกจาก กศน. มาร่วมจัดเพียงรายการเดียว ผังรายการ ส่วนใหญ่เป็นรายการธรรมะ ๗๕% รายการเกี่ยวกับกสิกรรมธรรมชาติ ๒๐% และรายการ บันเทิง ที่มีสาระ ๕%

โอกาสนี้ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์ถึงการมาเยี่ยมชมและสถานการณ์ของการจัดตั้งวิทยุชุมชน

นายปราโมช รัฐวินิจ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ "เป็นครั้งแรกที่ได้มาเห็นความตั้งใจดี และเห็น การทำงานเพื่อมวลชนนะครับ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนอย่างสำคัญ ในการที่จะให้ชุมชน มีการดูแล ซึ่งกันและกัน การที่ชุมชนมีความสัมพันธ์ต่อกัน เพราะว่า อันนี้เป็นนโยบาย หรือตาม รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า คนในแต่ละส่วน ในแต่ละพื้นที่ จะต้องสามารถติดต่อสื่อสารกัน คนในท้องถิ่น ต้องได้รับความรู้ ต้องได้รับข้อมูลเท่าเทียมกัน

เพราะฉะนั้นนโยบายดังกล่าวที่ผมกราบเรียนนะครับว่า กรมประชาสัมพันธ์โดยความตั้งใจ หรือโดยนโยบาย ก็จะเป็นสื่อกลางในท้องถิ่นในภูมิภาค ซึ่งเราจะต้องเรียนว่ากิจกรรมต่างๆ ในที่นี้ สามารถที่จะสอดคล้อง หรือต่อเนื่องกัน ต่อกรมประชาสัมพันธ์ได้ และกรมประชาสัมพันธ์ ก็คงต้องใช้คำว่า ปวารณาตัวนะครับว่า ใดๆก็ตามที่จะมีขึ้นในอนาคต ในทุกรูปแบบนั้น ทางกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมที่จะมีส่วนร่วม และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ตามวิถีทางของตรงนี้ เพราะว่าท้องถิ่น ต้องเพื่อท้องถิ่น คนในท้องถิ่นต้องมีสิทธิ มีความเสมอภาพเท่าเทียม กับคนทุกคน ในประเทศไทยครับ

ที่นี่ก็เป็นแบบอย่างอันหนึ่ง ผมเริ่มต้นเป็นครั้งแรกที่นี่ ได้มารับรู้ เดิมจะรับรู้จากเอกสาร จะดูข้อมูล ตรงไหน ทำอะไรทั้งหลาย และวันนี้ก็ได้มาดู โดยเจตนารมณ์ ผมว่าเจตนารมณ์ สำคัญ เจตนารมณ์แห่งแรก ในการดำเนินการเพราะ ๑-๒-๓-๔-๕ เพราะอะไร อย่างไร และความหมาย เป็นอย่างไร ถ้าเราเห็นถึงเจตนารมณ์และเป้าหมายสอดคล้องกัน ผมว่าทุกอย่างเดินไปอย่างดีครับ

ทางกรมประชาสัมพันธ์จะมีการเชิญวิทยุชุมชนมาร่วมหารือกันตอนนี้ ในขณะนี้ จะเข้ามาร่วม มาหารือกัน ในกิจกรรมการเรียนรู้ การทดลองการเรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชน ตอนนี้เรากำลังเร่ง ดำเนินการ อยู่ตรงนี้ครับ ในกระบวนการ

จะดำเนินการโดยเร็วครับ เพราะฉะนั้น เร่งโดยเร็วที่สุดนะครับ วันเวลาก็จะอยู่ที่ขั้นตอนของ การปฏิบัติว่า เป็นในแง่เรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องนะครับ แล้วกรมประชาสัมันพันธ์ ก็ต้องมีหน้าที่ในการดูแล กฎเกณฑ์ กฎระเบียบของสังคมตรงนี้ด้วยนะครับ ทั้งหมด จะจัดมาพร้อมกัน ทั้งในเรื่องของความถี่ ในเรื่องของการให้ออกอากาศ ในเรื่องของผังรายการ เนื้อหาจะออกอากาศก็มาแสดงเจตนารมณ์ต่อกัน

สำหรับที่มีอยู่แล้ว ต้องเข้ามาร่วมกัน เพราะบางพื้นที่ อย่างสมมุติคลื่นตรงนี้นี่ อาจจะอยู่ ในข้อห้าม ของกรมไปรษณีย์โทรเลข อาจจะไปรบกวนสถานีอื่น ก็จะมาปรับหาความถี่ที่เรามี ซึ่งเราได้เลือกสรรแล้ว หากกรมไปรษณีย์โทรเลขรับรองว่า จะไม่เป็นการรบกวนกัน และ สามารถที่จะส่งได้เต็มที่ อยู่ในพื้นที่ ที่กำหนดไว้ได้เสมอครับ"

นางกมลพร คำนึง นักประชาสัมพันธ์ ๗ สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.อุบลฯ ผู้ช่วย ประชาสัมพันธ์จังหวัด "รู้สึกว่าผังรายการของวิทยุชุมชนที่นี่ หรือเรื่องการนำเสนอ พี่ว่ามันเป็นประโยชน์เพื่อสาธารณะ ไม่ได้เพื่อใคร คนใดคนหนึ่ง คิดว่าเป็นต้นแบบได้ ในเรื่องของวิทยุชุมชน คิดว่าถ้าหากว่าที่อื่น วิทยุชุมชน น่าจะเป็นคล้ายๆกัน ก็คือเพื่อประโยชน์ เพื่อวัฒนธรรม เพื่อชุมชนทำนองนี้ เพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยที่ไม่หวังอะไรแอบอ้าง ไม่มีอะไรแอบแฝง คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ควรที่จะมีการส่งเสริมต่อไป"

นายสมศักดิ์ วีระหงส์ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต ๒ อุบลฯ "ผมเพิ่งย้ายมา เพิ่งมาที่นี่ ครั้งแรก สถานที่ร่มรื่นดีครับ ประทับใจ ถ้าว่างก็จะมาเยี่ยมเยียน เพราะผมเป็นคนที่ชอบธรรมะ แต่ก็ไม่ได้จะต้อง เคร่งครัดเต็มร้อยอะไร อะไรที่ดีที่สุด หลักในการดำรงชีวิต ให้เกิดความพอดี กับตัวเอง ผมยังไม่เคยฟัง รายการของทางวิทยุชุมชนเลยครับ"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ความห่วงใยของหมอมังสวิรัติต่อนักมังสวิรัติ
(น.พ.สมนึก ศิริพานทอง รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี)


* นักมังสวิรัติกับดีท็อกซ์
การทำดีท็อกซ์เหมาะสำหรับคนกินเนื้อ มีการวิจัยกันว่า คนที่กินผักเยอะ พอกินเสร็จ ๑๘ ช.ม. ก็จะถ่าย เพราะไฟเบอร์จะเยอะมันจะล้างตลอดเวลา อย่างพวกหรรษาที่อายุยืน เขาถ่ายวันละ ๓ ครั้ง และส้วมที่เราใช้ ถ้าเป็นส้วมนั่งโถชักโครกอุจจาระจะค้าง ก้อนสุดท้าย จะไม่ออก แต่ถ้าเป็นส้วมนั่งยองๆ อุจจาระเกือบทั้งหมดจะออก

เพราะฉะนั้น ถ้าเรากินมังสวิรัติแล้วนั่งยองๆถ่าย ไม่จำเป็นต้องไปดีท็อกซ์ เพราะชาวหรรษา อายุยืนเป็นร้อยๆปี เขาไม่รู้จักดีท็อกซ์ ไม่รู้จักกาแฟด้วยซ้ำ เขาอยู่มาเป็นร้อยๆปี ดีท็อกซ์ เหมาะสำหรับคนเมือง พวกฝรั่งที่ชอบกินแต่เนื้อ เพราะกินวันนี้อีก ๓ วันเขาถึงจะถ่าย เพราะมันไปค้างอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ประมาณ ๒ วัน แล้วสุดท้ายเขานั่งถ่าย เขานั่งโถชักโครก อุจจาระมันไม่เคยหมด มันก็เลยเน่า

ที่ดีท็อกซ์ดังก็เพราะจอนห์เวย์ตาย พอเขาไปผ่าตัด โอ้โห! ลำไส้อุดตันเลย มีแต่เนื้อ เราเป็นนักมังสวิรัติ แล้วนั่งโถเตี้ย การดีท็อกซ์ก็ไม่จำเป็น มันไม่มีท็อกซิน อาหารเราก็ปลูกเอง กินเอง ท็อกซินจะมาจากไหน อยู่ที่นี่มีแต่ธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น จึงอ้างอิงไปถึงชาวหรรษา ทำไมอายุยืน เขาไม่มีการดีท็อกซ์ และผักที่เรากินเข้าไป คือแปรงฟันอย่างธรรมชาติ เพราะผักมีไฟเบอร์ เมื่อเรากินเข้าไปมันก็กวาด เป็นตัวกวาดตลอด โดยเฉพาะข้าวกล้อง มีเส้นใยที่ละลายน้ำได้ด้วย

ในความเห็นผมดีท็อกซ์เหมาะสำหรับคนเมือง คนกินเนื้อ คนนั่งโถชักโครก

* อันตรายของอัลฟ่าท็อกซิน
ข้าวอาร์ซีที่เขาห่อขายตามห้างสรรพสินค้า มหา'ลัยเกษตรเคยเอาไปตรวจ พบมีสารก่อมะเร็ง โดยส่วนใหญ่ ๑๐% มีอัลฟ่าท็อกซิน ถ้าเราไปดูจะเห็นเป็นขุยๆเยอะ ขึ้นเชื้อรา ข้าวกล้อง อย่าไปเก็บนานแค่เดือนหนึ่ง (สี่อาทิตย์) เชื้อราก็ไปแล้ว ดังนั้นนักมังสวิรัติ กลายเป็นมะเร็งตับเยอะ เพราะไปกินธัญพืชที่เก็บไว้นาน

อย่างถั่วเหลืองที่อเมริกาเคยเป็นอัลฟ่าท็อกซินทั้ง Lot อเมริกาห้ามขาย เขาก็เก็บเอาไว้รอต้นปี เอารุ่นใหม่มาผสม แล้วส่งมาขายให้ประเทศไทย เพราะฉะนั้น มังสวิรัติกินธัญพืช เกิดอัลฟ่าท็อกซิน พวกมังสวิรัติปลูกเองกินเอง ปลอดภัยที่สุด แต่เก็บนานก็ไม่ได้

ทำไมนักมังสวิรัติถึงเป็นมะเร็งตับ ก็ไปเจอสาเหตุเดียวคือธัญพืช

* ผักพื้นบ้าน
ผักพื้นบ้านมีอ็อกซาเลส (oxalate) สูง ถ้ากินเยอะจะเป็นนิ่ว ซึ่งคนอีสานเป็นนิ่วเยอะ การแก้ก็คือ ถ้าเรากินผักพื้นบ้าน เราต้องกินถั่วหรือเต้าหู้เยอะ เพราะในเต้าหู้มีฟอสเฟตเยอะ กินเข้าไปแล้ว ไปผสมผสานกัน คือถ้าเรากินน้ำพริกกับผักกระโดน ผักเม็ก แล้วกินข้าว พวกนี้จะเป็นนิ่ว เพราะว่าเป็นอ็อกซาเลส (oxalate) ต้องกินถั่ว

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ข่าว ร.ร.วิถีพุทธ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามุกดาหาร เชิญคุรุโรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก ซึ่งเป็นโรงเรียน วิถีพุทธนำร่อง เป็นวิทยากร ให้ความรู้ในการปฐมนิเทศ คณะครูที่โรงเรียนสมัคร เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน ๓๖ แห่ง ที่สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษา มุกดาหาร ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ มี.ค. ๒๕๔๗

วันแรกสมณะฟ้าไท สมชาติโก อภิปรายเรื่อง ปัญหาเด็กกับเยาวชน ร่วมกับพระมหายุทธนา นรเชฏโฐ และพูดเรื่อง พุทธธรรม กับการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธ โดยฉาย Power Point และ VCD โรงเรียนวิถีพุทธ ราชธานีอโศกให้ชม และเปิดให้ซักถาม ได้ในช่วงท้าย นอกจากนี้ ยังนำแผ่น CD โรงเรียนวิถีพุทธราชธานีอโศก ไปจำหน่ายด้วย มีครูที่สนใจซื้อไป ๒๓ แผ่นจาก ๓๖ แห่ง

วันที่สอง คุรุมิ่งหมาย บุญเฉลียว และคุรุถึงดิน วิฆเนศ พูดเรื่องการพัฒนาตนเอง ก็อธิบายถึง การตรวจศีล โดยให้ครู สมมุติตัวเองเป็นนักเรียน แล้วมาตรวจศีล บรรยากาศสนุกสนาน ตอบรับดี และมีน.ร.สัมมาสิกขาฯ ร่วมตอบปัญหาด้วย

สมณะฟ้าไท สมชาติโก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า " เขาตอบรับดี เขาอยากให้เราไปช่วยเขา เราก็บอก ให้เขามาที่ราชธานีอโศกก็แล้วกัน ครูเขาจะมาดู และจะพาเด็กมาอบรม คิดว่า ๓๖ โรงเรียน สนใจแค่ โรงเรียนเดียวก็ดีแล้ว ครั้งนี้ถือว่าเกินคาด เราคงต้อง พัฒนาตัวเองขึ้นมากๆ และ มีหลักฐานยืนยันชัดเจน มีหลักการสามารถอธิบายได้ เพราะว่าเขาต้องการเรา การไปครั้งนี้ ถือว่าได้ผลดี กลับมาเปิดอินเทอร์เน็ตดู ปรากฏว่า เขาลงรูปของเรา ในเว็บไซต์ การศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ การจะเปลี่ยนแปลง เป็นโรงเรียนวิถีพุทธได้ ครูต้องมาถือศีล รับรองเป็นได้แน่นอน"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

งานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๒๘
ระหว่างวันเสาร์ที่ ๔ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๗

วัน / เวลา ทำวัตรเช้า
๐๓.๓๐-๐๕.๓๐น.
หลังทำวัตรเช้า
๐๖.๐๐-๐๘.๓๐น
. แสดงธรรมก่อนฉัน
๐๙.๐๐-๑๐.๐๐น.
ทำวัตรภาคบ่าย
๑๖.๑๐-๑๗.๓๐ น.
รายการภาคค่ำ
๑๘.๐๐-๒๐.๐๐ น.
อา ๔
เม.ย.
---------- ลงทะเบียน
และ
รับเอกสาร
ผู้ว่าฯศรีสะเกษเปิดงาน
พ่อท่านนำปฏิญญาณฯ
ปลุกเสกอย่างไร
ให้สุขภาพกาย-ใจ แข็งแรง?
จาก ทีมงานสุขภาพบุญนิยม
ผู้นำจากสัจธรรมชีวิต
โดย ส.ตถภาโว
จ. ๕
เม.ย.
วิถีพุทธ
โดยพ่อท่าน
คกร.+ธ.ก.ส.
ประชุม
เตรียมงาน
พฟด.

สมณะ เกจิฯ

สิกขมาตุ

แสดงธรรม

สัมมนากลุ่มย่อย
-ประชุมสุขภาพบุญนิยม
-ประชุมร้านมังฯของชาวอโศก
ฝันให้ไกล - ไปให้ถึง
โดย ส.ถิรจิตโต
อัง ๖
เม.ย.
วิถีพุทธ
โดยพ่อท่าน
. ปลุกเสกภาคบ่าย ตลาดบุญญาวุธ
หมายเลข ๓
โดย ส.สมชาติโก
พุธ ๗
เม.ย.
วิถีพุทธ
โดยพ่อท่าน
. สัมมนากลุ่มย่อย
-ประชุมเครือข่าย
กสิกรรมไร้สารพิษ
จนไม่กลัว - กลัวไม่จน
โดย ส.ชาตวโร
พฤ ๘
เม.ย.
วิถีพุทธ
โดยพ่อท่าน
. ตอบปัญหา โดยพ่อท่าน
ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ
โดย ส.ติกขวีโร
ศ. ๙
เม.ย.
วิถีพุทธ
โดยพ่อท่าน
. สัมมนากลุ่มย่อย
-ประชุมพรรคเพื่อฟ้าดิน
และองค์กรบุญนิยม
๒ นาทีทองของเกจิฯ
ส. ๑๐
เม.ย
วิถีพุทธ
โดยพ่อท่าน
ช่วยกัน
เก็บบุญ
สรุปงาน แยกย้ายกันเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

** สัมมนากลุ่มย่อย แบ่งเป็น ๑๐ ฐานเลือก
๑.สนทนาธรรมกับสมณะ-สิกขมาตุ เกิจฯ ๒.ธรรมะกระดานดำ ๓ จุด
๓.เดินจงกรม-นั่งสมาธิ ๔.โยคะและกายบริหารบำบัด ๕.ปุ๋ยสูตรต่อยอด
๖.การเผาถ่านเพื่อกลั่นเอาน้ำส้มไม้ ๗.เชื้อทำเต้าเจี้ยว-ซีอิ๊ว, ปลาร้าเจสูตรสุดยอด ฯลฯ
๘.การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม(๗ อ.) ๙.อาหารปรับธาตุ ๑๐.การประชุมขององค์กรต่างๆ

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางสาวหนู ชอบประดิษฐ์
เกิด วันพฤหัสฯ เดือน ๘ ปีกุน อายุ ๘๒ ปี
ภูมิลำเนา บ้านหนองสระ จ.นครสวรรค์
การศึกษา ไม่ได้เรียน
สถานภาพ โสด
น้ำหนัก ๓๓ กก.
ส่วนสูง ๑๔๕ ซ.ม.

คุณยายหนูเป็นญาติธรรมศาลีอโศกมาตั้งแต่รุ่นแรก แม้อายุจะมากแล้วแต่ก็ขยันทำงานตลอดทั้งวัน นอกจากจะเป็น คนอารมณ์ดีแล้ว ยังสามารถครองความโสดมาถึงทุกวันนี้อีกด้วย

ช่วยแม่เลี้ยงน้อง
เพราะ
เป็นพี่สาวคนโต มีพี่น้อง ๗ คน ยายเป็นคนที่ ๒ พี่คนโตเป็นผู้ชายเข้ากรุงเทพฯไปเรียนหนังสือ ส่วนยายเรียนหนังสือ ได้หน่อยเดียว แม่ก็ไม่ให้เรียน บอกว่าผู้หญิงไม่ต้องเรียนหรอก น้องเยอะให้ดูน้อง มาเรียนอีกทีตอนอายุ ๒๘ ปีแล้ว เรียนสวดมนต์ ตอนเข้าวัดทางโลก

พ่อแม่ทำนา แต่ก่อนมีนาร้อยกว่าไร่ ตอนนี้เหลืออยู่หน่อยเดียว ตอนเล็กๆช่วยทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่ตั้งหม้อข้าวยังไม่ไหว พอหม้อข้าวเดือด แม่ก็บอกให้เรียกแม่มารินให้ เพราะยายยังตัวเล็ก ทำงานทุกอย่างสารพัดไม่เหมือนเด็กทุกวันนี้ดอก

ขี้เหร่หรือไงถึงไม่แต่งงาน
ตอนเป็นสาวก็มีหนุ่มมาชอบ สมัยก่อนตอนกลางคืนยายตำข้าว หนุ่มๆเขาก็มาเที่ยว ก็คุยๆกับเขาไปอย่างนั้นแหละ จะบอกเขาว่า อย่ามาเที่ยวเลยพ่อฉันดุ กันไว้ก่อน ตอนนั้นอายุ ๑๗ ปี ไม่เคยนึกชอบใครเลย เลี้ยงน้อง โอ้โห..เบื่อ..ทุกข์จังเลย ไม่อยากแต่งงาน น้องก็ต้องเลี้ยง งานก็ต้องทำ สมัยก่อนเบิกนาใหม่ ต้องเอาจอบสับ ต้องใช้มือเราจริงๆ ลำบากหลายอย่าง ไม่เหมือนสมัยนี้ ใช้รถไถ

อายุ ๒๘ ปี พี่ๆน้องๆแต่งงานมีครอบครัวกันไปหมดแล้ว ยายก็เข้าวัดเลย ได้เรียนบาลี ได้สวดมนต์ สวด ๗ ตำนาน ก็ไปถามทิด ที่เขาสึก ให้เขาสอน บ้านยายอยู่ใกล้วัด ทำงานบ้าน ช่วยงานวัดไม่ได้หยุดหรอกมีงานทำอยู่ตลอด

รู้จักอโศก-อยู่อโศก
แต่ก่อนยายชอบไปทอดผ้าป่าก็รู้จักกันกับครูดม(ครูอุดม พรหมสีดา อุปัฏฐากศาลีฯ) ตอนนั้นอายุ ๔๐ กว่าแล้ว ลำคอ มันตีบตันเหมือนเขาไม่ให้กินของคาว มีคนบอกว่าให้มากินมังสวิรัติที่ศาลีอโศก พอดีมาเจอครูอุดม เขาก็ชวนอยู่วัด ยายก็อยู่เรื่อยมา จนเท่าทุกวันนี้ ไม่เคยย้ายไปวัดไหนเลย ไปอยู่ไหนก็ไม่เหมือนไพศาลี

พอมากินมังฯ ลำคอก็ดีขึ้น เนื้อสัตว์ยายเลิกขาดแค่อาทิตย์เดียว อาลัยอาวรณ์กับปลาจ่อมกับปลาทูนึ่งจนเก็บไปนอนฝัน ในฝันก็บอกตัวเองว่าเรากินมังฯ จะมากินปลาจ่อมได้ยังไง ตั้งแต่นั้นมาก็หายอยากเนื้อสัตว์ เลิกมาได้ ๒๕ ปี เนื้อสัตว์ เลิกง่ายที่สุด แต่หมากนี่ใช้เวลาเป็นเดือน มันหิว แต่ไม่หาว

ชุมชนคนขยัน
ตอนนี้อยู่กับยายเจียม ๒ คน มีแม่บังอรหาให้กิน ทำเองก็ไหวอยู่ เรื่องกินไม่ยุ่ง กินง่ายๆ ต้มผัก น้ำพริกก็พอแล้ว ไม่เคยทุกข์ร้อน เรื่องกินเรื่องอยู่ กินมื้อเดียวมา ๘ ปี ต่อมาป่วยกิน ๒ มื้อ เช้าเย็น วันพระกินมื้อเดียว

เป็นแต่สังขารนี่แหละ สุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ปวดหลัง ปวดเอว หลังมันงอลง หูก็ตึง ไม่ค่อยได้ยิน ตาก็ฝ้าๆมัวๆ ฟันก็ไม่มี เดินต้องพึ่งไม้เท้า แต่นอนหลับดี กินข้าวอร่อย สบายใจดี ไม่วุ่นวายเหมือนทางโลก ทำงานทั้งวันก็ทำได้ ขุดดิน ดายหญ้า ทำสวน ทำผัก ปอกหอม ปอกกระเทียม แกะมะขามเปียกส่งเข้าโรงครัว

ช่วงงานอบรมแกะกันเอาซะแย่เหมือนกัน นั่งจนเจ็บก้น นั่งงานเกินไปจนลุกไม่ไหว เข้ามาอบรมทุกพุทธ อบรมไป ๕๐ กว่ารุ่น พี่เลี้ยงหน้าแห้งเป็นแถว สู้กันขนาดนั้น จะหนีไปนอนก็กลัวไม่ทันแม่ครัว แม่ครัวก็น้อย คนทำงานก็มีน้อย ก็มีแต่คนแก่ บอกตัวเองว่าสู้ๆ เป็นลูกพ่อท่านต้องสู้ๆ ต้องเก่ง อยู่กับอโศกไม่ต้องกลัวตกงาน งานมันเยอะกว่าคนเสียอีก

มรรคผลที่ได้
เจอผัสสะ ก็ไม่ค่อยขึ้นแล้วเดี๋ยวนี้ โมโหมันถอยแล้ว มันเฉยๆ แต่ก่อนถ้าหลานเถียงร้อนไปถึงหูถึงหาง เดี๋ยวนี้มันเฉยๆ ไม่เห็นมันขึ้น กระทบอะไรมันก็เฉยๆ แต่ก่อนนี้โมโหเป็นฟืนเป็นไฟเลย ยายคิดว่ามันหลุดออกได้เพราะเรากินผัก

เรื่องตายเฉยๆ เวลาสวดมนต์แผ่เมตตา ก็คิดถึงเพื่อนๆที่ตายไปแล้ว หลายเฒ่าที่เคยอยู่ที่นี่ หลานหมดห่วงแล้ว ตอนเล็กๆ ก็ห่วง ตอนนี้ไม่คิดถึงใครแล้ว

กลับไปบ้านไม่มีเพื่อน ไม่มีมิตรดีสหายดี อยู่วัดนี่ดีจริงๆ มีความสุข ตื่นเช้าก็ได้ใส่บาตร เห็นพระมากๆก็ปลื้มใจ บอกตัวเองว่า อย่าเพิ่งตายให้ใส่บาตรก่อน

ยายบอกว่าอยู่กับอโศกไม่ต้องกลัวตกงาน วันเวลาของยายผ่านไปอย่างมีคุณค่า มีสาระสั่งสมบุญให้กับตัวเอง ใครที่นั่งๆ นอนๆ เล่นๆ ปล่อยคืนวันให้ผ่านไป กับการสั่งสมโมหะ..เฮ้อ..เสียชาติเกิด!!!

บุญนำพา รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
๖๗/๑ ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โทร.๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ ๑,๕๐๐ ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]