ฉบับที่ 235 ปักษ์หลัง 16-31 กรกฎาคม 2547

[01] หยุดดูหนัง
[02] สติแบบไหน ปฏิบัติแล้วพาบรรลุถึงพุทธรรม (ตอนที่๑)
[03] คืนสู่เหย้าฯเข้าคืนรังครั้งที่ ๑ หลายคนบอกอบอุ่นขึ้น เตรียมจัดตั้งสมาคม นศ.ปธ
[04] นำร่องก่อนใครที่อำนาจเจริญโครงการเตรียมความพร้อมก่อนให้สินเชื่อ
[05] วนเกษตรตามแบบผู้ใหญ่วิบูลย์พึ่งพาตนเอง ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
[06] สกู๊ปพิเศษ:สัมภาษณ์สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] สัมภาษณ์พิเศษ:จุฬารัตน์ นิรัติศยกุล พิธีกรชื่อดัง
[08] อาหารต้านมะเร็ง
[09] วิทยุชุมชนบุญนิยม
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] มารู้จักกับ มผช.(มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) กันเถอะ
[12] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี
[13] นางเมี้ยน พรหมมา
[14] เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ
[15] ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
[16] ชุมชนปฐมอโศกจัดอบรมสื่อบุญนิยม ครั้งที่ ๒



หยุดดูหนัง !

ในช่วงการประชุมมหาปวารณาเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.๒๕๔๖) หมู่สมณะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจภาพยนตร์ แทนพ่อท่าน ขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่เหมือน กบว. คอยเซ็นเซ่อร์ภาพยนตร์ ก่อนฉายออกสู่สังคมชาวเรา

ในระยะเวลาที่พ่อท่านยัง ทำหน้าที่อยู่ ก็มีชาวเราบางคนนำภาพยนตร์ที่ยังไม่ผ่านการ เซ็นเซ่อร์จากพ่อท่านมาดูกันในชุมชน

แม้ในทุกวันนี้หมู่สงฆ์จะมีคณะกรรมการเซ็นเซ่อร์ ก็ยังมีชาวเราบางคนละเมิดกฎระเบียบ นำภาพยนตร์ ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ จากคณะกรรมการ เข้ามาดูในชุมชนทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

ตามกฎ-ระเบียบที่พ่อท่านและหมู่สงฆ์ให้ไว้ในเรื่องภาพยนตร์ ก็คือ ทุกเรื่องที่นำ มาฉายจะต้องผ่านการ เซ็นเซ่อร์ก่อน ยกเว้น ภาพยนตร์ประเภทสารคดี เช่น ชีวิตสัตว์ เป็นต้น

ใครหรือที่ใดไม่รู้กฎ-ระเบียบนี้ ก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎ-ระเบียบที่หมู่สงฆ์กำหนดไว้ดีแล้วด้วย เพื่อความสงบเรียบร้อยต่อตน และคนอื่นๆในชุมชน.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สติแบบไหน ปฏิบัติแล้วพาบรรลุถึงพุทธธรรม (ตอนที่ ๑)

"ทำอะไรต้องมีสติสิ ถึงจะไม่ผิดพลาด" คงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง รู้หรือไม่ว่า คำว่า"สติ" ของคนใน ศาสนาพุทธนั้น แบ่งได้ถึง ๓ ชนิด คือ ๑.สติปุถุชน ๒.สติกัลยาณชน ๓.สติอาริยชน มาดูกันว่า สติที่มีอยู่ ในตัวเราขณะนี้ เป็นสติชนิดไหน (พ่อท่านเขียนลง นสพ. เส้นทางเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๑๖-๓๐ มิ.ย.๒๕๔๗)

สติปุถุชน คือ"สติ"ปกติธรรมดาของคนทั่วไปที่มีคุณลักษณะสามัญปุถุชน คำว่า"สติ"ก็หมายถึง ความระลึกได้, ความไม่เผลอ, ความรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่กับองค์ประกอบรอบตัว ในขณะนั้นๆ หรือการรู้พร้อมอยู่กับกรรมกิริยา ของตนที่ทำงานตามหน้าที่ของขันธ์ ๕ ครบถ้วน คนมี"สติ" คือคนไม่"เสียสติ" ไม่"สติเลอะเลือน" ไม่"สติฟั่นเฟือน" ไปจากปุถุชนคนปกตินั่นเอง

ซึ่งตามประสาปุถุชน ก็จะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหา ลาภ-ยศ-สรรเสริญ- โลกียสุข ให้แก่ตนเองเป็นปกติต ามฐานะของแต่ละคน และจะระมัดระวังสังวร ไม่ให้ตนเสื่อมลาภ -เสื่อมยศ-นินทา-ทุกข์ ไปตามอำนาจกิเลส และอวิชชา ธรรมชาติ ของปุถุชนไม่ได้จริงจังที่ระวังสังวรรักษาศีลปฏิบัติธรรม หรือไม่ได้คำนึงถึง ศีลธรรมกัน อย่างมีความตั้งใจ ประพฤติตนเพื่อ "ละชั่ว-ประพฤติดี" ชนิดมีความมุ่งมั่นอะไรเท่าไหร่หรอก จะไม่ทำชั่ว-กระทำดีบ้างก็ตาม สามัญสำนึกไปอย่างนั้นเอง ชีวิตดำเนินอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าเรือน

ปุถุชนสามัญเต็มขั้นนั้น แม้จะมี "สติ"เต็มที่ ไม่บกพร่องเลย กิเลสในตนก็จะพาโลภพาโกรธพาหลงไปตามประสา เพราะจิต ไม่ถึงขั้นมีหิริ-โอตตัปปะ ไม่รู้จริงรู้แจ้ง ในสัจธรรมว่า ตนกระทำการโลภก็ดี กระทำการโกรธก็ดี กระทำ การหลงก็ดี ล้วนเป็น"ทุ..จริต"ทั้งสิ้น มิใช่"สุ..จริต"เลย ถ้ากิเลส มันออกฤทธิ์มากขึ้นคราใด ก็ทำทุจริตร้าย ทำชั่วแรง ชั่วหนักเกินไป ทั้งๆที่รู้ตัวมีสติอยู่เต็มนั้นแหละ ได้สารพัด ตามฤทธิ์แรงของความโลภ-โกรธ-หลงนั้นๆ ซึ่ง"สต"" ก็มีอย่างตั้งมั่นแน่วแน่อยู่นั่นเอง และขณะทำก็ใช้ความฉลาดอย่างที่สุดอีกด้วย ดังตัวอย่างเช่น คนที่กำลังพยายาม ทำการปล้น คนที่กำลังพยายาม ทำการฆ่า คนที่กำลังพยายามทำการโกง หรือแม้แต่คนที่ กำลังพยายาม ทำการเอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น มิจฉาสติเหล่านี้ ล้วนคือ ปุถุชนคนมี "สติ"เต็มๆทั้งสิ้น ไม่ใช่คน เสียสติ หรือคนสติฟั่นเฟือนเลย ตรงกันข้ามถ้าเขามีสติไม่เต็ม หรือสติตก นั่นต่างหาก ที่จะทำให้เขา ทำการ ทุจริตนั้นๆ ไม่ประสบผล

เราบอกกับใครๆว่าเราคือนักปฏิบัติธรรม ถือศีล กินมังสวิรัติ อยู่ในวัด-ในชุมชน แต่ยังเผลอตบยุง บี้มด อยากจะว่าใครก็ว่า (อย่างสะใจ) อยากจะแสดงกิริยาไม่เหมาะสมก็แสดง นินทาผู้อื่นเสมอๆ อยากจะกินอะไร ก็หามากิน หามาบำเรอตัวเอง พจนานุกรมในสมอง ไม่มีคำว่าขัดใจ ขัดเกลาตนเอง รู้ไว้เถอะว่า สติของเรานั้น ยังอยู่ในระดับปุถุชนเท่านั้นเอง.

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


คืนสู่เหย้าฯเข้าคืนรังครั้งที่ ๑
หลายคนบอกอบอุ่นขึ้น เตรียมจัดตั้งสมาคม นศ.ปธ.

มีเวลาให้กันมากขึ้น นักบวชศิษย์เก่ามาร่วมงานหลายรูป
รวมพลังหนุ่มสาวรุ่นเก่าเข้าวัด

งาน "คืนสู่เหย้า เข้าคืนรัง นศ.ปธ. ครั้งที่ ๑" ระหว่างวันเสาร์ที่ ๑๗ อาทิตย์ที่ ๑๘ ก.ค. ๒๕๔๗ ณ ชุมชน สันติอโศก กทม. เป็นการกลับมา พบปะกัน ของนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เคยปฏิบัติธรรม ของชาวอโศก มีผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด ๑๗๒ คน

คณะทำงานได้ส่งสูจิบัตรงานพร้อม จ.ม.ของพ่อท่านที่เขียนถึงศิษย์เก่านศ.ปธ. ทั้งหลายว่า

"..คนที่อยู่ข้างนอกก็ทำงานไปหาเงินไป ทุนนิยมก็กินเนื้อกินหนังกินหัวใจไปเรื่อย ขาดการติดต่อขาดหายไป กับสายลม อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ นับวันจะยิ่งสูญหาย สูญเสีย ลบเลือนหายไป

คืนสู่เหย้า คือทางผ่านที่คนเคยผ่านจุดนี้ไปบ้าง จะคืนมาแลหลังตรงนี้ได้ไหม?)

การคืนสู่เหย้าคล้ายๆงานเช็งเม้ง คล้ายงานวันที่รำลึกถึงบรรพบุรุษ มันมีความสำคัญอันใดอันหนึ่งใช่ไหม

การคืนสู่เหย้า คือการมาผนึกรวมกัน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าขบวนการกลุ่มมันมีประสิทธิภาพ มันมีพลังที่ ยิ่งใหญ่ ทำอะไรได้ เป็นเรื่องเป็นราว

ถ้าเราสามารถรวบรวมกันได้ จะด้วยวิธีการเชื่อมต่อ วิธีบูรณาการ วิธีการลงแขกจะเกิดการผนึกแน่น ก็จะรวดเร็ว ในการรวบรวม หมู่มวล

มันจะเป็นอะไรกันเชียวที่จะสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ มันเป็นความเสื่อมหรือไง?)

ถ้าจะสละเวลามา ปีหนึ่งหนหนึ่งจะไม่ได้เชียวหรือ?) ใครเห็นด้วยก็มา"

จากพ่อของลูก
พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
๒๑ มิ.ย. ๒๕๔๗

สำหรับบรรยากาศของงาน รายการเริ่มขึ้นตั้งแต่ ๔ โมงเย็น วันที่ ๑๖ ก.ค. ซึ่งถือเป็นวันสุกดิบของงาน เพื่อนพี่น้อง นศ.ปธ. เริ่มทยอยกันมา ช่วยกัน จัดเตรียมสถานที่ บริเวณลานหิน ใต้พระวิหารพันปีฯ และงานฝ่ายอื่นๆ ที่ยังไม่เสร็จ สังสรรค์ ประสาน้องพี่ ที่ไม่ได้เจอะเจอ กันมานาน ร่วมกันโหมโรง ร้องเพลงมาร์ช ร.บ.ธ.และมาร์ช นศ.ปธ.

เช้าวันเสาร์ที่ ๑๗ ก.ค. ลงทะเบียนแยกตามชั้นปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงปัจจุบัน และรับป้ายชื่อ ถ่ายรูป ทำทะเบียนประวัติ เข้าที่พัก ฝ่ายหญิง พักที่ตึกขาว ส่วนฝ่ายชายพักบนโบสถ์และบริเวณพระวิหาร

บนเวทีพี่น้องนศ.ปธ. หมุนเวียนขึ้นมาพูดคุยอดีตและปัจจุบันที่กำลังดำเนินชีวิต

บางคนมีภารกิจมากมาย ก็ยังสละเวลามาร่วมงานแม้เพียงพอน้อยนิดก็ขอให้ได้มา และบางคนก็อุ้มทายาท น้อยๆ มาร่วมงาน ให้ได้รู้จักกับป้าๆอาๆกัน

๑๐.๐๐ น. ฟังปฐมนิเทศ โดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร และสมณะบินบน ถิรจิตโต ข้อคิดเพื่อนำไปใช้ในชีวิต หากอยากสบายใจให้มาทำงานที่วัด ปัจจุบัน มีนศ.ปธ. มา ทำงานในองค์กรต่างๆของชาวอโศกไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน

หลังจากนั้นให้ผู้ที่เดินทางมาไกลที่สุดจากอ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เปิดแผ่นป้ายเพลงอยู่บ้านเถิดลูก กิจกรรม สลายพฤติกรรม เกลียวใจให้เป็นหนึ่ง รุ่นพี่เปิดใจ แบ่งกลุ่มคละกันระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง พร้อมสีผ้าพันคอ ประจำกลุ่ม

๑๑.๓๐ น. รำลึกอดีต-สำนึกปัจจุบัน พูดคุยระหว่างกลุ่ม และอยากให้งานคืนสู่เหย้าในครั้งต่อไปเป็นอย่างไร ช่วยกันเขียนออกมา

๑๒.๔๕ น. ๓๐ ปีแห่งการงานของพ่อท่าน สมณะฟ้าไท สมชาติโก, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ และคุณร้อยแจ้ง จนดีจริง พูดถึง การงานต่างๆ ของชาวอโศกขณะนี้มีมากมาย ที่ได้รับการตอบรับจากภายนอก และสถาบัน บุญนิยม ๑๑ สาขา แต่ยังขาดกำลังพล ที่จะเข้ามาช่วยเสริมงานให้กว้างและแน่น ยินดีต้อนรับ พี่น้อง นศ.ปธ.ที่กำลังตัดสินใจเข้ามาช่วยงานพ่อท่าน

๑๔.๐๐ มุ่งมั่นอนาคต กับ ๔ องค์กรที่ขาดทุนและบุคลากร ระดมสมองพวกเราจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร พลาภิบาล (ขาดทุน, บุคลากร), ศูนย์ฝึกอบรม(ขาดบุคลากร), การศึกษา(ขาดบุคลากร), กสิกรรม (ขาดผู้ผลิต, ผลผลิต ไร้สารพิษ) และ ฐานข้อมูล/ การสื่อสาร (ขาดผู้เชี่ยวชาญ)

๑๕.๐๐ น. เอื้อไออุ่น พ่อท่านกับลูกๆ กลับมาใกล้ชิดอีกครั้งหลังจากที่หลายคนห่างหายไปนานเท่าไหร่แล้ว ก็ไม่รู้ จนถึง ๑๗.๒๐ น. แต่ละกลุ่ม ถ่ายรูป ร่วมกับพ่อท่าน สมณะ-สิกขมาตุ แล้วช่วยกันลงแขก ขนแป้นเกล็ด เพื่อมุงบ้านดิน

ก่อนรายการภาคค่ำ น้องๆสัมมาสิกขาแสดงรีวิวประกอบเพลง หลังจากนั้นพี่ๆที่รังสรรค์งานศาสนา พี่ธำรงค์ แสงสุริยจันทร์, พี่สมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ ขึ้นบอกเล่า งานศาสนาของชาวอโศก ที่ได้ทั้งประโยชน์ตนและ ประโยชน์ท่าน แต่ยังขาดผู้ร่วมงาน ยินดีต้อนรับนศ.ปธ. ที่อยากช่วยงาน ที่มีรายได้พอเพียง ตามแบบฉบับ ชาวอโศก หรือทำงานฟรี

คุณกรักน้ำเพชร พจน์พาณิชย์ อดีตคุณป้าประคอง อุปัฏฐากของชาวนศ.ปธ.ที่ขาดอะไรให้บอกป้า ทั้งแรงงาน และ กำลังทุนทรัพย์ พี่ฟ้าดาว นาวาบุญนิยมและพี่ ใจฟ้า ทรัพย์สินทวีลาภ ผู้บุกเบิกอาหารมังสวิรัติใน ม.รามคำแหง และ มีอุปการะคุณ ต่อนศ.ปธ. บอกเล่าความในใจในอดีตและปัจจุบัน

ชมมิวสิควีซีดี เพลง ร.บ.ธ., นศ.ปธ., มนุษย์สะพาน และมหกรรมลากเรือโคกใต้ดินที่ราชธานีอโศก

พิธีรำลึกอดีตและ สำนึกในปัจจุบัน อยู่บ้านเถิดลูกพ่อปลูกอโศกเพื่อเจ้า ยืนอยู่ในหมู่เราก็ไหนเจ้าว่าหมู่นี้ดูดี

เช้า ๑๘ ก.ค. สมณะ-สิกขมาตุ ที่เคยดูแล และรุ่นพี่ที่อยู่ในฐานะนักบวช ร่วมแสดงธรรม "หัวใจดั่งลูกพญาแร้ง" ความปรารถนาดี ต่อจิตวิญญาณ ของนศ.ปธ.ทุกๆคน

ตักบาตรร่วมกัน กตัญญูสถานที่เชื่อมร้อยเครือข่ายน้องพี่ มีมติจัดตั้งสมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม มีผู้ก่อการดี ๗ คน รับของที่ระลึก จากพ่อท่าน ร่วมฟังธรรมก่อนฉันกัณฑ์พิเศษโดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ นศ.ปธ.พร้อมใจ กราบขอบพระคุณ ญาติธรรม ที่ให้ความช่วยเหลือ ด้วยดีเสมอมา รุ่นน้อง กราบรุ่นพี่ พิธีอำลาแต่ไม่อาลัย แล้วแยกย้าย กันไปเพื่อเตรียมแผนชีวิตในอนาคต หากจะกลับมาอยู่ ในหมู่สังคมของคนดี

ขออนุโมทนาพี่น้องนศ.ปธ.จ.ระยอง, อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา, กทม.นำผักผลไม้ไร้สารพิษ, ขนมปังโฮลวีท มาร่วมงาน บางคนเข้าครัวทำอาหาร และทุกๆคน ที่มาร่วมงาน

ผู้มาร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

สิกขมาตุนวลนิ่ม ชาวหินฟ้า "จัดทุกปีก็ดี แม้ครั้งนี้น้องรุ่นหลังๆจะไม่ค่อยได้มา หรือบางคนที่จบเองแต่ก็ไม่มา อาจเป็นเพราะ ไม่ได้ข่าว หรือติดภาระ หรือไม่เห็น ความสำคัญ ถ้าเราเป็นหลักที่มั่นคง เชื่อว่าเขาคงจะมากัน ได้บ้างสักครั้ง หรือครั้งต่อๆไป ใครไม่มาแต่เรามา เรานี่แหละ คือผู้ที่จะประสาน สัมพันธ์ ต่อไป

สำหรับกิจกรรมที่จัดก็ดูดี ได้พูดกันทั่วถึง แม้ตัวเองไม่มีโอกาสได้พูด ก็มีผู้พูดถึงเช่น ดำ(สุธี) ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ในขณะที่ กำลังคิดสืบสานศาสนาต่อ

เพลงมาร์ช ร.บ.ธ.และนศ.ปธ.น่าฟังมาก"

นายอนุรักษ์ พูลหนู "มาร่วมงานเป็นครั้งที่ ๒ ตั้งใจตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะมาร่วมงานด้วย ได้พบปะกับเพื่อนเก่าๆ ลักษณะของ ความเป็นเพื่อน ในความรัก ไม่ใช่สร้างกันได้ง่ายๆ เมื่อมีแล้วพยายามที่จะรักษากันไว้ นอกจากนี้ ได้ฟื้นความรู้สึกเก่าๆ ความสัมพันธ์และความรัก ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงไว้เหมือนเดิม สิ่งที่ได้รับมากกว่านั้น ก็คือ ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ มาฟังธรรม ได้รับประโยชน์ในฝ่ายจิตวิญญาณ และได้รู้ว่าเพื่อนเก่าๆ ตอนนี้เขาทำ อะไรอยู่ ไปถึงไหนแล้ว ชีวิตเป็นยังไง มีโอกาสเห็นใจกัน แชร์ประสบการณ์ และได้ติดต่อกันมากขึ้นในอนาคต เพื่อที่จะประสานว่า ในส่วนที่เขาทำ มีส่วนที่เราจะช่วยเขาได้ยังไง และในส่วนที่เราทำ เขามีส่วนที่จะช่วยเรา ได้ยังไง เพื่อที่จะเป็น network เอาไว้ เพื่องานที่จะเกิดผลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง กับสังคม และ กับครอบครัว

การตั้งสมาคมก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าจะได้เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนการบังคับโดยอ้อมให้ทุกๆคน เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะ ผู้ที่จะเริ่มก่อการ ทางด้าน คณะกรรมการ เมื่อเป็นสมาคมแล้ว ความน่าเชื่อถือ ก็มีมากขึ้น ในสังคม ไม่ว่าจะต่อนศ.ปธ. หรือนักศึกษาผู้ที่กำลังจะเข้ามาใหม่

นายพันชนะ กันพงษ์ "ครั้งนี้เป็นการรวมหมู่รวมกลุ่มกันอย่างเป็นปึกแผ่น มากยิ่งขึ้น ประทับใจรุ่นพี่ๆ เก่าๆ ที่ไม่เคยติดต่อกันเลย ก็มางานนี้ ได้พบปะเพื่อนๆ เก่าๆ ได้ความเป็นพี่น้อง ได้บรรยากาศเก่าๆ กลับคืนมา อยากให้จัดงานแบบนี้ทุกๆปี และจะพยายามผลักดัน งานของสมาคม ให้เกิดเป็นรูปธรรม"

น.ส.สุวิมล งามเนตร "ดีใจที่ได้มาเจอเพื่อนๆ แต่รุ่นเก่าก็หายไปเยอะ ได้เจอน้องใหม่ๆ การรวมตัว อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นการทำงานร่วมกัน และความรู้สึกเก่าๆ ที่คิดว่า เราจะทำยังไง ที่จะรวมกลุ่มพวกเรา ที่มีความคิด ตรงกัน ที่อยากช่วยงานวัดด้วยปฏิบัติธรรมด้วย เรียนไปด้วย ทำยังไงที่เราจะมีกลุ่ม เป็นกำลังใจให้กัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเรียน เรื่องงาน"

สมณะมือมั่น ปูรณกโร "ประทับใจพ่อท่านที่ให้ความสำคัญของนศ.ปธ. ให้จัดเป็นงานประจำปี ยุคนี้ แม้นศ.ปธ. ไม่ได้จัดกิจกรรม ในมหาวิทยาลัย รามคำแหงแล้ว คนร่วมกลุ่มเหมือนมีน้อยลงไป นศ.ปธ. เคยเป็นแก่น เป็นแกน มาปฏิบัติธรรม มาร่วมอุดมการณ์ มาทำกิจกรรมมากมาย ก็ได้คนหนุ่มสาวมาเยอะ

จริงๆแล้วงานอโศกเราก็เยอะ ก็ตั้งใจว่าจะมางานนี้ให้ได้ มีการจัดตั้งเป็นสมาคม แสดงว่าพวกเราเอง จะต้อง มีอะไร รองรับ ที่จะได้ดำเนินกิจการต่างๆไปได้ เมื่อเป็น นิติบุคคลแล้ว คงมีงานเพิ่มขึ้น มีการประชุม เป็นวาระๆไป หากมีกิจกรรม ที่เราจะช่วยกันทำก็ทำไป ปีหนึ่ง เราก็มารวมตัวกัน ครั้งหนึ่ง

ย้อนรำลึกถึงอดีตแม้ว่าจะผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่รู้สึกว่ามันไวเหลือเกิน ยังรู้สึกว่าเรายังเป็นหนุ่ม อยู่นะ ทำให้มีไฟ ที่จะพัฒนาหมู่กลุ่ม และตัวเองให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก"

สมณะลานบุญ วชิโร "ประทับใจที่มีการตั้งสมาคมนศ.ปธ.แห่งประเทศไทย เป็นรูปรอยที่เห็นเด่นชัดขึ้น เพราะทุกที ดูจะลอยๆ ไม่ค่อยจะแน่นเท่าไหร่ แต่คราวนี้ จะได้มีบทบาทมากขึ้น ตามกฎหมาย มีผู้มาทำงาน เป็นศูนย์รวม ที่จะได้ประสานกับเครือข่ายต่างๆ ใครอยู่ใกล้ตรงไหน คงจะได้ไปรวมกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ตรงนั้น เราทำเป็น อุดมการณ์ จบมาแล้ว ก็ถ่ายทอดกิจกรรมให้สานต่อ

พ่อท่านเคยพูดเมื่องาน ๒๐ ปี รบธ. ว่า กลุ่มนศ.ปธ.เป็นเอ็นจีโอของอโศก แต่ตอนนี้เราจะเป็นส่วนหนึ่ง ขององค์กร ของอโศก ใกล้ชิดยิ่งขึ้น คล้ายๆกับ เป็นพี่เลี้ยง ให้กับศิษย์เก่า สัมมาสิกขา ในฐานะที่มี ประสบการณ์ มาก่อน มาเชื่อมโยงกัน ศิษย์เก่าสัมมาสิกขา ที่จบแล้วแต่อยู่ข้างนอก และม.วช. ที่อยู่ข้างใน ก็มาประสานกัน ทั้งภายในและภายนอก ก็จะสมบูรณ์ได้มาทำงานร่วมกัน".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


นำร่องก่อนใครที่อำนาจเจริญ
โครงการเตรียมความพร้อม ก่อนให้สินเชื่อ (เกษตรกรพันธุ์ใหม่)

ธ.ก.ส.จังหวัดอำนาจเจริญ ได้มีโอกาสอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเตรียมความพร้อมก่อนให้สินเชื่อ แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่สมัครเข้าโครงการใหม่ จัดเข้าหลักสูตรสัจธรรมชีวิต รุ่นที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๘-๑๒ ก.ค.๔๗ ใช้ศูนย์ คกร. สวนส่างฝัน เป็นที่สัมมนา โดยท่านผู้ว่า ราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายสมพงษ์ อนุยุทธพงษ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ท่านผู้ว่าฯ ชี้ประเด็นชัดเจนว่า การแก้ไขปัญหาของประชาชน ต้องเน้นคุณธรรม การลดละเลิก อบายมุข การทำกสิกรรมไร้สารพิษ และการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดและความเป็นมาของโครงการนี้คือ ธ.ก.ส.จังหวัดอำนาจเจริญ และ คกร. สวนส่างฝัน ได้หารือ และ มีแนวคิด ร่วมกันว่า ถ้าสนับสนุน ทุนกู้ยืม ให้แก่เกษตรกร โดยไม่พัฒนาคุณธรรม โดยเฉพาะการลดละเลิก อบายมุข สิ่งฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น การเข้าใจ แนวคิด การประกอบอาชีพ ที่มีความปลอดภัย คือกสิกรรม ไร้สารพิษ การดำรงชีพ แบบเศรษฐกิจพอเพียง พยายามพึ่งตนเองในทุกๆด้าน และรวมกลุ่ม เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน เมื่อปล่อยเงินกู้ หรือทุนสนับสนุน ก็จะเกิดความเสียหายแก่ทั้งเกษตรกรและหน่วยงานที่สนับสนุน แต่ถ้ามีการพัฒนา คุณธรรม และสัมมาอาชีพก่อน ก็จะเกิดคุณประโยชน์ และความมั่นคงทั้งต่อเกษตรกร และ หน่วยงานที่สนับสนุน จึงเกิดการอบรมสัมมนา เชิงปฏิบัติการ โครงการเตรียมความพร้อม ก่อนให้สินเชื่อ (เกษตรกรพันธุ์ใหม่) ลูกค้า ธ.ก.ส. จ.อำนาจเจริญ ซึ่งจะดำเนินการนำร่องทั้งหมด ๑๒ รุ่น เงื่อนไขคือ ทุกคน ที่เข้าโครงการ ต้องผ่านการอบรม ที่สวนส่างฝัน เท่านั้น จึงจะมีสิทธิกู้ยืมได้ โดยในรุ่นแรกอบรมระหว่างวันที่ ๘-๑๒ ก.ค.๔๗ มีเกษตรกรเข้าร่วมลงทะเบียนทั้งหมด ๑๔๗ คน

ในการอบรมครั้งนี้ ทาง สวท.อำนาจเจริญ ได้ประสานโครงการประชาสัมพันธ์ผลิตสื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จัด "เวที ประชาคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม -การรณรงค์ปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ" โดยใช้ คกร. สวนส่างฝัน เป็นสถานที่ดำเนินโครงการ และถ่ายทอดสด ทาง สวท.อำนาจเจริญ ในวันที่ ๑๑ ก.ค.๔๗ เวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. โดยสัมภาษณ์ตัวแทน จาก ธ.ก.ส., สวนส่างฝัน และตัวแทนจาก ร.ร.ชาวนา คุณธรรม กสิกรรม ไร้สารพิษ เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดียิ่งจากผู้ฟังที่อยู่ร่วมรายการทั้งหมด ประมาณ ๒๕๐ คน และผู้ฟัง ที่อยู่ทางบ้าน ที่เปิดวิทยุรับฟัง จากทางสถานีวิทยุ

วันที่ ๑๑ ก.ค.๔๗ เป็นวันที่ ๔ ของการอบรมมีกิจกรรม "การประชุมแกนนำเชื่อมร้อยเครือข่ายตุ้มโฮมคนเฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน (สนับสนุนโดย สสส.)" โดยมีตัวแทน จากสมาชิก โรงเรียนชาวนา ของ คกร.สวนส่างฝัน ทั้ง ๑๖ แห่ง แห่งละ ๕ คนรวม ๘๐ คน ร่วมกันประชุมสัมมนา หาแนวทางผลิตข้าว และพืชผักไร้สารพิษ มีมติ ที่จะทำร่วมกันคือ

๑. สมาชิกแต่ละคน ให้ปลูกพืชภาคบังคับอย่างละ ๒๐-๓๐ ต้น คือ มะละกอ, อ้อย (ใช้หมักจุลินทรีย์), กล้วย, มะพร้าว, ผักบุ้งจีน คนละ ๒ แปลง, ประคำดีควาย (ใช้ทำน้ำยาซักล้าง) เป็นต้น

๒. ผลผลิตที่ได้ส่งมาขายที่สวนส่างฝัน หากส่งมาขายในนามกลุ่มจะให้ราคาดีกว่าส่งขายแบบส่วนตัว เพราะจะเน้น ให้ทำงาน แบบกระบวนการกลุ่ม

การอบรมรุ่นแรกของเกษตรกรพันธุ์ใหม่นี้ สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าอบรมเป็นอย่างยิ่ง ผู้เข้าอบรม ก็ตั้งใจด้วยดี สร้างความมั่นใจแก่ ธ.ก.ส. จังหวัดอำนาจเจริญเป็นอย่างยิ่ง.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


"วนเกษตร" ตามแบบผู้ใหญ่วิบูลย์
พึ่งพาตนเอง ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

เรื่องราวของ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเจริญ คนดีที่สร้างสรรค์ชุมชนด้วยการสร้างองค์ความรู้ ในการรักษาฐาน ทรัพยากร เปลี่ยนทิศทางเกษตรกรรม แผนใหม่ ที่เน้น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่สร้างหนี้สินท่วมตัว มาเป็นการ แสวงหา ความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ผ่านระบบวนเกษตร ที่มุ่งพึ่งพาตนเอง ในชุมชนเป็นหลัก ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าขาน ในสังคมบ่อยครั้ง เหตุเพราะ เป็นแบบอย่างที่ชัดเจนของคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" อันเป็นพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ความจริงในวันนี้ ผืนป่า ๙ ไร่เศษ ใน ต.ลาดกระทิง อ.สนามไชยเขต จ.ฉะเชิงเทรา อันเป็นที่ตั้งของบ้าน ผู้ใหญ่ วิบูลย์ ยังมีชาวบ้านห้วยหิน และพี่น้องเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เดินทางไปศึกษาและสัมผัส วิถีวนเกษตร ของผู้ใหญ่วิบูลย์ หลายครอบครัว เลือกเดินตาม นำไปปฏิบัติ ในท้องถิ่น แต่ผู้สนใจ ไม่ได้มีแต่ ชาวบ้านเท่านั้น เมื่อ เร็วๆนี้เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม [SVN,Asia (Thailand)] ได้ยกทีมพกันไปฟัง ประสบการณ์ และมุมมองที่หลากหลาย ในเรื่องวนเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง จากปากของนักปราชญ์ แห่งบ้านห้วยหิน

"เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ผมปลูกมันเต็มพื้นที่ ๒๐๐ กว่าไร่ของตนเอง ขาดทุนเป็นหนี้ธนาคาร รายได้ไม่พอจ่าย ถือเป็นช่วงชีวิต ที่เจ็บปวดไม่เคยลืมจนทุกวันนี้ จึงมาทบทวนตัวเอง กลับมา พึ่งตนเองด้วยระบบวนเกษตร ผมขายที่เหลือไว้เพียง ๙ ไร่ ปลูกต้นไม้ พืชผักที่กินได้ และมีสมุนไพรมากกว่า ๔๐๐ ชนิด ทำเพื่อกินเอง ใช้เอง ไม่ใช่ทำเพื่อขาย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ปุ๋ย ชีวิตก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ มีรายจ่ายน้อย ไม่มีหนี้สินเพิ่ม แล้วก็ปลดหนี้ ได้สำเร็จ เพราะมีรายได้ จากการขายพันธุ์ไม้ และการนำพืชมาแปรรูป ตากแห้งหรือทำยารักษาโรค ขายในชุมชน ของใช้ ก็ทำใช้เองมากกว่าซื้อ ทั้งผงซักฟอก แชมพู ยาสระผม ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน" ผู้ใหญ่วิบูลย์ เล่าให้ฟัง

ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ได้หยุดคิดและเรียนรู้ว่า การที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้นั้น ต้องพึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่เป็นหลัก หลังจากนั้น จึงได้เปิดศูนย์ การเรียนรู้ชุมชน รอบป่าตะวันออก เพราะอยาก ให้คนเรียนรู้เพื่อพึ่งตนเอง คนทำไร่ทำนาในภาคการเกษตรวันนี้ ไม่สามารถ จัดการชีวิต และ เศรษฐกิจ ได้เป็นหนี้สินกันทั่วถึง จะบอกว่าถึงทางตันก็ไม่ผิด รัฐแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มหนี้ ให้ชาวบ้าน ตลอดเวลา ชาวบ้านเข้าสู่วงจรหนี้ ขณะที่การศึกษา ทำให้คนรู้จัก แต่ความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี เพียงอย่างเดียว ไม่ได้สอนให้คนรู้จักทรัพยากรของตัวเองจนพึ่งพาตนเองไม่ได้ ปัญหาตามมาคือ ชุมชน ไม่เข้มแข็ง

ตัวอย่างหนึ่งที่เจ้าของเศรษฐกิจพอเพียงขนานแท้หยิบยกขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การพึ่ง ตนเองได้

"ข้าว ทุกวันนี้ชาวนาทำได้เพียงปลูก แล้วรอเวลาขายข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว แต่จากการค้นหาความรู้ การค้นคว้า ทดลองแบบชาวบ้านในชุมชน เรามีกระบวนการเรียนรู้ ในการจัดการข้าวเพื่อชีวิต ประเทศไทย มีพันธุ์ข้าวมากมาย มีภูมิปัญญา ในการจัดการข้าว สามารถนำมาแปรรูปได้เป็นร้อยๆชนิด ตั้งแต่รากข้าว ต้นข้าว ใบข้าว ดอกข้าว ข้าวเปลือก ข้าวสาร รำข้าว ข้าวเก่า จนกระทั่งข้าวสุกที่เหลือกิน ผมคาดหวังว่า การเรียนรู้ ที่จะพัฒนา ดัดแปลง ปรับใช้ สิ่งที่มีในธรรมชาติ ด้วยความสามารถของตัวเองจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาในชุมชน" ผู้ใหญ่วิบูลย์กล่าว

ข้อแนะนำเกษตรกรที่สนใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ทิ้งท้ายไว้ก็คือ ไม่ต้องเลิกปลูกพืช เชิงเดี่ยวทั้งหมด เพียงแค่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ ๒๕ % หันมาปลูกผักสวนครัว สร้างสวนสมุนไพร และทำ วนเกษตร ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก สิ่งเหล่านี้ จะเป็นหลักประกัน ในชีวิตว่ามีกิน ถึงไม่มีเงิน ก็ไม่เดือดร้อน ถ้ามีเหลือเกินกว่าที่กินก็จะเป็นรายได้

ประโยชน์ของวนเกษตรนอกจากจะทำให้มั่นใจในการพึ่งพาตนเองแล้ว ส่วนหนึ่งจะช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สภาพป่า ให้สัตว์นานาชนิดได้พึ่งพา อาศัย.

(จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๓ พ.ค.๔๗)

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


- สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร -

ชัยชนะของทีมกรีซในฟุตบอลยูโร เอาประโยชน์มาเป็นข้อคิดในทางธรรมะได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ นักปฏิบัติธรรม ต้องระมัดระวัง ในยุคโลกาภิวัตน์ และพบกับบทเพลงแห่งความสุข ของฝากเวอร์ชั่นใหม่ ในปักษ์นี้ จากสมณะ เดินดิน ติกขวีโร ได้แล้วค่ะ

*** เหตุการณ์ระดับโลกที่ผ่านมา คือเรื่องของฟุตบอลยูโร ท่านมีข้อคิดอะไรในทางธรรมะบ้างคะ

ทุกวันนี้เรื่องของ กีฬาอบายมุขโดยเฉพาะฟุตบอล เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ระดับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ระดับผู้นำ จะต้องไปลุ้นกันทีเดียว ดูกระแสตามข่าวหนังสือพิมพ์ที่เขาได้นำเสนอกัน สิ่งที่น่าเป็นข้อคิด หลังจาก ที่ฟุตบอล ได้ปิดตัว ไปแล้วก็คือ การแข่งขันปีนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เป็นปาฏิหาริย์ สำนวนฟุตบอลเรียกว่า เซียนต้องไปอยู่รู หมูต้องขึ้นไปอยู่ตึก ทีเดียว เพราะทีมที่เป็นแชมป์ชนะในการแข่งขัน เรียกว่าม้านอกสายตา เป็นตัวบ๊วยท้ายๆ แต่สามารถที่จะเอาชนะตัวเต็ง อดีตแชมป์โลก ตัวเก็ง ได้หมด ซึ่งพวกเซียนวิจารณ์กันว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมกรีซพุ่งจากทีมบ๊วยท้ายๆ สามารถขึ้นมา คว้าแชมป์ ครั้งนี้ได้ เพราะเขาสามารถ จัดขบวนการทีมของเขาได้เหนียวแน่น โดยโค้ชจะไม่ให้ความสำคัญกับฮีโร่ จะไม่เน้น เรื่องตัวเก่ง แต่จะเน้น เรื่องกลุ่ม เน้นเรื่องขบวนการทีมให้แข็งขัน แทบจะไม่มีระบบฮีโร่ในทีมนี้

ประการที่สองเขาวิจารณ์กันว่าเป็นทีมฟุตบอลที่เหนียวแน่น กองหลังเขาจะเหนียวแน่นที่สุด ใครจะเข้ามา เจาะประตู ได้ยากมาก แล้วเขาจะอาศัยจังหวะช่วงที่คู่แข่งขันของเขามีข้อผิดพลาดเมื่อไหร่ เขาพร้อมที่จะลุย ขึ้นไปยิง ให้ได้แต้ม อยู่เสมอๆ เป็นการเล่น ที่ไม่เน้น ที่ว่าจะต้องให้สะใจคนดู แต่มุ่งที่จะอุดไม่ให้ตัวเองมีรูรั่ว หรือช่องว่าง แต่ถ้าฝ่ายตรงข้าม มีข้อผิดพลาดเมื่อไหร่ ก็พร้อมที่จะเข้าไปทำประตูได้ทุกครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นข้อคิด ในแง่ทางธรรม ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะ วันที่เขาชิงชนะเลิศ จริงๆเขาก็ชนะทีมเจ้าภาพโปรตุเกส ในรอบปฐมฤกษ์ เปิดสนามไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่า ในวันสุดท้าย ปิดสนาม เขาต้องมาพบเจ้าภาพ อีกรอบหนึ่ง ซึ่งในวันชิงชนะเลิศ ทีมกรีซเขารู้สึกว่า เขาไม่มีอะไรต้องเสียอีกแล้ว เพราะเขาเคยชนะโปรตุเกส มาแล้ว ถ้าจะผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มองว่า กรีซจะเป็นรอง แต่ความที่ใจเขา ไม่ได้มุ่งมั่นว่าจะต้องชนะให้ได้ ใจของเขาที่เขารู้สึกว่าเขาเคยชนะมาแล้ว ถ้าจะแพ้ก็ไม่เป็นไร ใจที่สบาย ซึ่งต่างจาก เจ้าภาพ ซึ่งจะต้องชนะ ให้ได้อย่างเดียว และถือตัวว่ามีฝีมือเหนือกว่าอีกด้วย คิดว่าอันนี้ก็เป็นข้อคิดที่ว่า สุดท้าย ก็ชนะกันด้วยใจ ใจที่เขาฉลาดในการที่จะทำอารมณ์ให้สบาย เป็นอี.คิว. (ฉลาดในการที่จะทำอารมณ์ให้สบาย) สุดท้าย ก็สามารถ ที่จะประสบชัยชนะ เป็นแชมป์ในฟุตบอลยูโรนี้ได้

สิ่งที่เป็นข้อที่น่าคิดในการปฏิบัติธรรมก็คือ ชัยชนะครั้งนี้เหมือนเป็นปาฏิหาริย์ พวกเราปฏิบัติธรรม ก็เหมือนกัน ปาฏิหาริย์ จะเกิดขึ้นได้ เพราะว่าแต่ละคนไม่เน้นว่า ตัวเองต้องเป็นฮีโร่ แต่เน้นเรื่องขบวนการกลุ่มที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญ กับกลุ่ม อันนี้ก็จะสร้างปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ อย่างเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ เขาจะคิดแต่รายได้ คิดแต่จะได้มากๆ แต่ว่ารูรั่ว ช่องว่าง ต่างๆนานา เขาไม่พยายามที่จะให้ความสำคัญ แต่ทีมฟุตบอลกรีซนี่ ใครจะเข้ามาเจาะเขาได้ยากมาก เป็นทีมที่อุด อย่างเหนียวแน่น ในข่าวบอกว่าแม้จะดูไม่สนุก แต่ว่าเขา จะเหนียวแน่นมาก ไม่มุ่งที่จะให้สะใจคนดู แต่มุ่งที่จะป้องกัน ไม่ให้ใครมาเจาะได้ง่ายๆ

สังคมทุกวันนี้ค่อนข้างจะวิ่งไปกับวิสัยทัศน์ วิ่งไปกับว่าเราจะได้อะไรมากๆ แต่ลืมดูว่าเรามีช่องโหว่อะไร เรามีรูรั่วอะไร ตรงนี้ ก็ทำให้ไม่ประสบชัยชนะหรือความสำเร็จได้ แล้วเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ ความฉลาด ทางอารมณ์ อี.คิว. ก็เป็น สิ่งที่สำคัญ ถ้าใจเราดี ถ้าใจเราสบายก็ชนะได้


** ในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งมีกระแสต่างๆเข้ามาต้องรับรู้กันไปหมด สิ่งที่นักปฏิบัติธรรมต้องระมัดระวัง คือ อะไรคะ

นักวิชาการมองว่าคนไทยสามารถที่จะปรับตัวได้ไว สามารถที่จะไปกับกระแสต่างๆ ได้เร็ว มีผู้รู้เปรียบเทียบ ไว้ว่า คนไทยเหมือน กับน้ำ ถ้าอยู่กับจาน น้ำก็กลายเป็นจาน ถ้าอยู่กับแก้วก็กลายเป็นแก้ว อยู่กับขวด ก็กลายเป็น ขวด แต่จุดอ่อน ของคนไทย ก็คือเรา ปรับตัวได้เร็วปรับตัวได้ไว แต่เราจะลืมง่าย โดยเฉพาะสิ่งที่ผิดพลาด ที่เคยเป็น ความเจ็บปวดที่ผ่านมา เราจะไม่ได้ค่อย ได้เอาบทเรียน ในอดีตที่เคย เจ็บปวดเอามา พิจารณาแก้ไข เพื่อทำให้อนาคต ดีขึ้นเท่าไหร่ อย่างเราเคยฟองสบู่แตก เพราะว่า เราขาดดุลการค้า เราซื้อสินค้า ฟุ่มเฟือยจาก ต่างประเทศเข้ามา พอฟองสบู่แตกเราก็มารณรงค์ให้ใช้สินค้าในไทย แล้วก็ให้ลด การซื้อสินค้า จากต่างประเทศ แต่พอไม่นานเท่าไหร่ เราก็ลืมไปแล้ว ตอนนี้ก็กลับไปสู่ภาวะเดิมใหม่ เราก็ขาดดุลการค้า อย่างเก่า เราก็สั่งซื้อ สินค้าฟุ่มเฟือย เข้ามามากอย่างเก่า ซึ่งเราก็เพิ่งเจ็บปวด กันไปไม่นาน ตอนนี้เราก็กลับไปเหมือนเดิม เพราะว่า กระแสบริโภคนิยม กระแสโฆษณา เข้ามามาก จนทำให้คนไทยแทบจะวิ่งไปตามกระแส โลกาภิวัฒน์ ที่เข้ามาปลุกเร้า มอมเมาพวกเราอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่ชาวอโศกเราทุกวันนี้ก็ตกอยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์ที่มีกระแสต่างๆเคลื่อนตัวเข้ามาในสังคม ของเราอยู่ ตลอดเวลา โดยเฉพาะ กระแสที่เราได้รับการยอมรับเข้ามามากๆ มันก็จะทำให้เราต้องมีกิจกรรมต่างๆ ออกไปสัมพันธ์กับ สังคมภายนอก อยู่ไม่ใช่น้อย ตรงนี้จะทำให้เรามีจุดด้อยหรือจุดอ่อนตรงที่ว่า เราจะพุ่งไปกับ กิจกรรมต่างๆมากมาย จนไม่สามารถ ทำกิจการภายใน ให้เกิดผลเจริญได้ อาจจะคล้ายๆกับทีมฟุตบอลดังๆ ที่พุ่งแต่ไปยิง ไปเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว แต่ว่ากองหลัง หรือภายในมีจุดรั่ว จุดอ่อนอยู่เยอะ เพราะฉะนั้น ต่อให้เป็นแชมป์แค่ไหนแต่มีจุดอ่อนอยู่มาก มันก็ทำให้เกิด ความพ่ายแพ้ หรือเสียหายได้ แม้แต่สังคมภายนอก เหมือนกัน ทุกวันนี้อย่างรัฐบาลปัจจุบัน ก็ถูกท้วงว่า กำลังพาประเทศชาติ หลงไปแต่ข้างหน้า เอาแต่ตาดูดาว จนลืม เท้าติดดินหรือเปล่า หลายๆฝ่ายก็ห่วงว่าเราคิดแต่เรื่องจะร่ำรวยอย่างเดียว แต่ไม่ได้คิด เรื่องทำ ให้เราพึ่งตัวเองได้ ใช้เศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างไร

ปัญหาชาวอโศกทุกวันนี้ก็จะคล้ายๆกัน เรามีเรื่องราวต่างๆให้เข้ามาได้เรียนรู้กันเยอะ ไม่ว่าเรื่อง การดูแล สุขภาพ ก็มีสูตรนั้น สูตรนี้ เข้ามามากมาย เรื่องสูตรการทำปุ๋ย ก็มีปุ๋ยกันอยู่หลายสูตร ซึ่งกระแสต่างๆเหล่านี้ มันเคลื่อนตัว เข้ามา ปัญหาว่า มันเข้ามามาก จนเราเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ปรับตัวไปตามกระแส จนสุดท้าย เราก็ไม่รู้ว่าสูตรไหน ดีที่สุด เพราะว่า มันมีเข้ามาเรื่อยๆ แล้วเราก็ปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ข้อสรุปกัน

ประเด็นสำคัญก็คือเราไม่ค่อยได้มีการทบทวน แล้วก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรให้มันต่อเนื่องยาวนาน ทุกวันนี้ พ่อท่านเอง ก็มีนโยบาย ให้เริ่มต้นที่นิสิตมว.ช.ก่อนว่า ทุกวันจันทร์ให้มีชั่วโมงบุพเพฯ ให้แต่ละคนมาย้อน ทบทวนว่า ในอาทิตย์ ที่ผ่านมา เรามีอะไร ที่ต้องทบทวนบ้าง มีอะไรที่เราต้องแก้ไขปรับปรุงบ้าง มีอะไรที่เกิดขึ้น กับชีวิต ของเราบ้าง เรียกว่า เราต้องทบทวนอดีต ของเราอยู่เสมอๆ ไม่ใช่ว่ามุ่งแต่เดินไปข้างหน้า จนไม่รู้ว่า ทุกวันนี้ เรากำลังยืนอยู่ตรงจุดไหน อาจจะเรียกว่า เหมือนกับคนไทย ทุกวันนี้ คิดจะรวยกันเละเลย แต่ลืมไปว่า ทุกวันนี้เราขาดดุลการค้า ชาวบ้าน พากันมีหนี้สิน ล้นพ้นตัวขึ้นมา เพ่งมองแต่จะมี จี.ดี.พี. รายได้ประชาชาติ สูงขึ้น แต่ว่าในสังคมเต็มไปด้วย การคอร์รัปชั่น การผิดศีลธรรม การฆ่าข่มขืน การระบาดของ ยาเสพติด เราคิดแต่จะพุ่งไปข้างหน้า ปัญหาที่ อยู่ข้างหลังเราไม่ได้ทบทวนกัน เป็นนโยบายของพ่อท่าน ที่เราคงจะต้อง ทบทวน ในอดีตให้ชัดเจน แล้วพยายาม ที่จะเอากิจกรรมมาทำให้เกิดกิจการ มีผลเจริญ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะ ต้องพยายาม ทำบ่อยๆ ทำให้เกิดความเจริญ แล้วก็ทำให้มากขึ้นไปให้ต่อเนื่อง ภาษาบาลีเรียกว่า อเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง ก็จะทำให้เรา ไม่วิ่งวุ่นไปกับ โลกาภิวัตน์ หรือโลกาพิบัติ ถ้าเราไม่ชัดเจนมันก็จะวุ่นวายไป กับในยุคโลกาภิวัตน์ หรือโลกาพิบัติไปด้วย


*** ท่านมีข้อคิดอะไรที่จะฝากให้ญาติธรรมบ้างคะ

ขอฝากบทเพลงแห่งความสุขให้พวกเราไปพิจารณาก็แล้วกัน

ฉันคงมีความสุขมากๆ
หากใครๆเขาว่าฉันได้
และทุกๆครั้งที่ฉันถูกบอกถูกว่า
ฉันก็สามารถเก็บประโยชน์มาใช้ได้เสมอๆ

ฉันคงมีความสุขมากๆ
หากฉันสามารถเปิดใจกว้างรับฟังเหตุผลที่แตกต่าง
และเข้าใจในนัยสำคัญในเหตุผลของคนอื่น
มากกว่าให้ความสำคัญกับเหตุผลอันคับแคบและยึดจัดของตัวเอง

ฉันคงมีความสุขมากๆ
หากฉันคิดอะไรขึ้นมา
ใครๆก็สามารถมาร่วมสังเคราะห์ โต้แย้งได้
จนทำให้ฉันสามารถปิดจุดอ่อนในทุกๆด้าน
ย่อมทำให้ฉันได้พัฒนาการงานและจิตวิญญาณควบคู่กันไป

ฉันคงมีความสุขมากๆ
หากเกิดข้อขัดแย้งในทุกๆครั้ง
ฉันสามารถรีบแก้ไขจุดที่ถูกทิ่มแทงให้หมดไปได้
โดยไม่เสียเวลาไปคิดล้างแค้นหรือตามล่าตัวการให้เหนื่อยเปล่า

ฉันคงมีความสุขมากๆ
หากฉันเฝ้าแต่คิดจะจัดการตัวเองแทนที่จะไปเที่ยวจัดการผู้อื่น
เพราะความคิดร้ายที่จะไปจัดการผู้อื่นนั้น
ย่อมมีวิบากให้หันมาทำร้ายตัวเองให้ ตกต่ำไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ฉันคงมีความสุขมากๆ
หากเกิดเรื่องเลวร้ายในชีวิต
ฉันสามารถเก็บเอาสิ่งดี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
เมื่อฉันมีใจที่ดี มีความคิดที่ดี ทุกอย่างย่อมดีตามด้วย

ฉันคงมีความสุขมากๆ
หากฉันมุ่งเพ่งเรียนรู้แต่ความหลงผิดในตน
มากกว่าความหลงผิดที่เป็นอวิชชาของคนอื่น
เพราะต้องรู้ความหลงผิดในตนจึงจักพ้นทุกข์ได้

คนที่มี อี.คิว. ทำอะไรก็ประสบผลสำเร็จ เพราะเขาไม่ได้คาดหวังผลที่จะเกิดขึ้น แต่จะทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด แพ้ -ชนะ เป็นเรื่อง ของสมมุติโลกเท่านั้น ในยุคของโลกาภิวัตน์ การทบทวนบทเรียน และกระทำต่อเนื่อง ยาวนาน เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วเมื่อนั้น บทเพลงแห่งความสุข จะเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน

- ทีมข่าวพิเศษ -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จุฬารัตน์ นิรัติศยกุล พิธีกรชื่อดัง ผู้ผลิตสื่อด้านการเกษตร ที่ทำเพราะไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาชีพ แต่เกิดมาจาก สำนึก ที่อยู่ในหัวใจ เมื่อได้พบ กับความจริง ของพี่น้องเกษตรกร ด้วยตนเองแล้ว เธอกล่าวว่าเมื่อมีโอกาส มาทำงานเกษตร ก็คิดว่าน่าจะเป็นงานเกษตร เพื่อการพัฒนามากกว่า

*** จากการไปทำงานเกี่ยวกับด้านเกษตรที่ผ่านมาได้อะไรบ้างคะ

คำว่าเกษตรในความหมายที่ทำ คือ ได้มีโอกาส ไปคุย ไปเห็น ไปเรียนรู้กับชีวิตจริงของเกษตรกร ส่วนใหญ่ ก็จะอยู่ในชนบท ได้เห็นชีวิต ของเกษตรกร บนความลำบาก ที่คนเมืองเข้าใจพูดได้ท่องได้ มันเป็นคนละเรื่อง กับสิ่งที่เป็นจริง ประการที่ ๑ คนเมืองรู้สึกว่า การไม่มีสตางค์ คือความทุกข์ของเขา ก็พยายาม จะหาสตางค์ให้ ความหวังดีคิดว่าอยากจะช่วย แต่อันที่จริงทุกข์ของเกษตร อาจจะไม่ใช่การไม่มีสตางค์ แต่อาจจะหมายถึงว่า ทำยังไง ถึงได้ลูก อยู่ใกล้ๆบ้าน ทำยังไงถึงจะได้รับการยอมรับนับถือว่า ฉันเป็นคนที่อยู่ในสังคมนี้

จากการที่ได้ไปเรียนรู้ทำให้เราได้วิธีคิดใหม่ว่า เรื่องของการเกษตรเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต ไม่ใช่เรื่องของ การปลูกแล้วขาย ไม่ใช่เรื่องของการหาผลผลิตให้ได้ ไม่ใช่เรื่องของ การสร้างเศรษฐกิจ โดยการมีรายได้ แต่หมายถึงว่าเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ถึงจะมีความสุข มีกินมีใช้ มีสภาพแวดล้อมที่ดี สุดท้าย เศรษฐกิจ เขาดีด้วย ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นที่ได้รู้ ทำให้เราได้เข้าใจเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ได้รู้ว่าสิ่งที่ได้เรียนมา จากมหาวิทยาลัย มันนิดเดียว บางทีมันก็ไม่จริงเสมอไป บางที มันก็ใช้ไม่ได้ หมายถึงว่าตัวเองเรียนวิทยาศาสตร์เคมีมา ตอนสมัยเรียน เราก็รู้ว่าการที่ผลผลิตต่ำ ก็เพราะว่า พี่น้องไม่ดูแล ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใส่ยา ไม่เพิ่มธาตุอาหาร ซึ่งอันที่จริงมันไม่ใช่

ที่บอกเขาให้เพิ่มธาตุอาหาร ใส่ปุ๋ย ใส่ยา แล้วบอกเขาไม่หมด แล้วไปทำร้ายเขาอีก แล้วสุดท้าย แม้บอกหมด ถามว่า มันเหมาะกับเมืองไทยไหม มันก็ไม่ใช่อีก ที่ตัวเอง เริ่มรู้สึกว่า เกษตรเคมีน่าจะไม่ใช่ทางรอดของ เกษตกรรายย่อย หลังจากที่ตัวเองทำงานเกษตรมา ๓-๔ ปี

เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่แล้วมีโอกาสได้ไปเห็นท่าน ผู้รู้ที่ปฏิเสธเรื่องนี้จากประสบการณ์ของท่านว่ามันไปไม่ได้ เช่น พ่อเชียง พ่อใหญ่วิบูลย์ ที่ได้มีโอกาสรู้

ได้เห็นเกษตรกรที่ยังวนอยู่ในวังวนนี้ คืออยู่ภายใต้ระบบส่งเสริมของหน่วยงานรัฐ ตัวเองก็รู้สึกแย่ ก็ได้ฉุกใจคิด เมื่อมีนักเขียน ชื่อคุณไพลิน รุ้งรัตน์ มีไปรษณียบัตร มาถึงดิฉันว่า รู้สึกชอบมากที่เอาชีวิตเกษตรกรมาทำ แต่มีเรื่องเดียวที่ไม่ชอบเลย เปลี่ยนได้ไหม อย่าแนะนำ ให้ชาวบ้านซื้อปุ๋ย ซื้อยาเคมี ซึ่งไปรษณียบัตรนี้ ยังเก็บไว้เลย ตั้งใจไว้กับตัวเองว่า ต่อไปนี้ทำรายการเกษตรของตัวเอง จะปฏิเสธเด็ดขาด ทั้งปุ๋ยทั้งยาเคมี ปฏิเสธเด็ดขาด คือจะไม่แนะนำให้ใช้ หรือในการรับเขามา เป็นสปอนเซอร์ หรือไปเป็นพิธีกรให้เขา แม้จะได้สตางค์ ซึ่งก็ต้องสู้พอสมควร ก็โชคดีที่มีน้องๆมาช่วยด้วย

*** ที่ผ่านมาเกษตรไร้สารพิษ ได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหนคะ

การยอมรับมี ๒ เรื่องค่ะ ๑.การยอมรับจากผู้บริโภค ด้วยกันว่ามันน่าจะดี บางทียังไม่ไปถึงไหน เพราะว่า เกษตรไร้สาร ที่เราหมายถึง หมายถึงว่า เราไม่ใช้ทั้งปุ๋ย ทั้งยาเคมี ทั้งอะไรที่เป็นเคมี เพราะว่าเราต้องพึ่งพา จากภายนอก เกษตรไร้สารของเราหมายถึง การพึ่งพาตัวเอง ผลผลิตที่ได้แบบนี้ มันจะแปลกกว่า ที่เขาเคยเห็น ต้นไม่อวบ จะแกร่งๆ ไฟเบอร์อาจจะย่อยยาก อาจจะแข็ง อาจจะกระด้าง เขาก็รู้สึกว่ามันไม่ดี การยอมรับตรงนี้ ต้องให้ความรู้มากกว่า ที่ตามองเห็น คำว่าดีคือดีอย่างไร

๒.การยอมรับว่าการทำเกษตรไร้สารมันช่วยตัวเอง ช่วยสิ่งแวดล้อม แล้วช่วยรักษาชาติ เริ่มมีมากขึ้น แต่ถามว่า การสนับสนุน ในความหมาย ของตัวเอง หมายถึงว่า ทำให้เป็นเรื่องกว้างไกล เป็นเรื่องไม่ถูกทำลาย ทำให้เป็นเรื่อง ไม่มีโฆษณา มาหลอกลวงชาวบ้าน ใครทำไปถึงไหนแล้ว ยังไม่มี ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในรายการบอกว่า ฉันกำลังแนะนำการทำเกษตรไร้สาร พอพักสักครู่ปั๊บ โฆษณาราวน์อั้พ มันเหมือนกับ ไม่ได้เกิดจากสำนึกจริงๆ เพราะฉะนั้น ความยอมรับ ที่หมายถึงนี่ ยอมรับแค่ไหน โดยรวมแล้วคิดว่า ยังยอมรับไม่จริง ยังยอมรับตามกระแส แล้วพร้อมกันคนที่เขา เรียนเกษตรมาจริงๆ คิดว่า ๙๐% เขาไม่ยอมรับ เพราะเขาถือว่า มันไม่ใช่ เขาถูกปลูกฝังมาจาก สำนักของการที่ต้องใส่ต้องให้ แล้วมันถึงจะได้ แต่มันไม่ใช่

*** ตัวเกษตรกรมีความตื่นตัวแค่ไหนคะในเรื่องของเกษตรไร้สาร

คิดว่าเป็นกลุ่มๆ เกษตรกรที่ได้เห็นผู้นำ การนำความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการได้เห็นผู้นำ ไปได้เห็น ได้ทำ ได้สัมผัสมา แล้วกลับมาได้ทำ ซึ่งตรงนี้ ถ้าเห็นแล้วว่าไปได้ ก็เริ่มตื่นตัว แต่พอตัวเองไปทำบ้าง ไม่อดทน เพราะว่าการเห็นคนอื่นสำเร็จ แต่ไม่ได้เห็นว่า กว่าจะสำเร็จมันต้องอดทนขนาดไหน พอตัวเองทำบ้าง ต้องผ่านความยากลำบาก ก็จะละทิ้ง ตื่นตัวเท่านั้นแต่ไม่สำเร็จ

คนที่ตื่นตัวแล้วสำเร็จ เท่าที่เห็นควรจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ปรึกษาหารือปรับทุกข์กัน อยู่กันเป็นหมวดหมู่ เป็นชุมชน แล้วก็รู้สึกว่า เราไม่ใช่แค่ ทำดีกับตัวเองแต่เราทำดีกับคนอื่นด้วย

*** บทบาทหน้าที่ที่เข้าไปทำในเรื่องของเกษตรเป็นอย่างไรบ้างคะ

อันที่จริงแล้ว ภาระหน้าที่ของเราที่เป็นอาชีพนะคะ เราก็คืออาชีพคนทำสื่อ คือเอาสาระมาบอกกล่าว แต่ตัวเองรู้สึกว่า การทำสื่อเท่านั้นไม่พอ เพราะบังเอิญ คนรับสื่อของเรา คือชาวบ้าน คือเกษตรกร คือคนเล็กๆ ซึ่งตัวเองคิดว่าเขาถูกทอดทิ้ง หมายความว่า ไม่มีใครสนใจที่จะทำสื่อ เพื่อให้เขาได้รับรู้ ไม่มีคนสนใจ เอาข่าวสาร เอาความคิดของเขามาบอกกล่าว รวมทั้งไม่มีใครเอาความที่น่าความภูมิใจ ที่น่าเชิดชูของเขา ไปบอกล่าว ต่อคนอื่น เขาเลยถูกทิ้งไป คิดว่าเป็นหน้าที่ ของคนทำสื่อ ไม่ใช่เพียงแค่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วทำมาเป็นข่าว มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแล้วนำมาเสนอ แต่เราต้องไปค้นหาว่า อะไรคือเรื่องดี ที่เกิดขึ้นบ้าง อยู่ที่ไหน แล้วมานำเสนอ แล้วต้องเป็นเรื่องของการให้ความรู้ แล้วต้องระมัดระวังพอสมควร

จุฬารัตน์ นิรัติศยกุล มีพี่น้อง ๕ คน จบวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนต่างจังหวัด กึ่งคนเมือง พ่อแม่ทำงาน ที่กรุงเทพฯ ทุกปิดเทอม จะกลับไปอยู่กับคุณปู่คุณย่า ที่ต่างจังหวัด ซึ่งสอนให้รู้ว่า ชีวิตมันคืออะไร ปู่เป็นครูประชาบาลบอกว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นมรดกให้กับลูกหลานนอกจากการเรียน ปู่ก็ส่งพ่อเรียน แล้วพ่อก็ส่งให้เราเรียน พ่อก็บอกว่าไม่มีสมบัติอะไร นอกจากให้ลูกได้เรียนได้ทำความดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เห็น สิ่งที่ปู่ย่าทำ เห็นสิ่งที่พ่อแม่ทำ อย่างเช่น คุณย่าเป็นเจ้าของตลาด แต่ไม่รู้หนังสือเลย แต่สามารถ ทำให้คนในตลาดเกรงใจ ย่าเป็นคนขยัน เวลาไปเก็บเงินที่ตลาด ก็จะเก็บผัก หลังบ้านไปขาย แล้วมานั่งแยกผัก ตัวเองก็ถามว่าทำไมต้องแยก แล้วย่าให้ดิฉันมาช่วยแยกด้วย ย่าก็บอกว่า ถ้ามันงาม ก็ขายได้ราคาแพง คนมีสตางค์หน่อย ก็ซื้อได้ ส่วนที่ไม่ค่อยงามก็แจกคนได้เพราะเราได้กำไรตรงที่งามแล้ว นี่คือย่าสอน ตั้งแต่เรายังเด็ก การสอนคือการทำให้เห็น

ปู่ก็จะสอนให้รู้ว่าการเป็นครูที่ใจเป็นที่ตัวเองเป็นอย่างไร แม่ก็เป็นผดุงครรภ์ ทุกคนรู้สึกว่าแม่มีแต่ให้ๆ แล้วแม่ ก็รู้สึกดี ทั้งๆที่ตัวเอง ไม่ได้รู้สึกว่าอยากได้อะไร มันเป็นสิ่งที่ เราปลูกฝัง จากตรงนี้พอมาเรียนกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่ คนเมืองที่ทิ้งรากของความคนชนบท แต่ไม่ใช่คนชนบทที่ไม่มีโอกาสในการเรียนเรียน ดิฉันจึงสอนลูกว่า ยิ่งเรามีโอกาส ทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น มีอะไรที่ดีๆ เราต้องกลับไปบอกเขา

- ทีมข่าวสัญจร -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


อาหารต้านมะเร็ง

วิธีหนึ่งที่สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งได้คือ เลือกรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้

๑. พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บรอคโคลี่ ฯลฯ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ส่วนปลาย กระเพาะอาหาร และอวัยวะระบบทางเดินหายใจ

๒. อาหารที่มีกากมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด และเมล็ดธัญพืชอื่นๆ ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

๓. อาหารที่มีเบต้าแคโรทีน และวิตามินเอสูง เช่น ผลไม้สีเขียว-เหลือง ป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร กล่องเสียง และปอด เบต้าแคโรทีน สารมหัศจรรย์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายนำไปใช้สร้างวิตามินเอ ที่เรียกว่า โปรวิตามินเอ ช่วยบำรุงสุขภาพสายตา สร้างภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ สาเหตุของ มะเร็งโรคร้าย สารชนิดนี้ มีมากในพืชผัก สีแดง เหลือง ส้ม หรือเขียวเข้ม

ผู้ที่ตระหนักถึงภัยของมะเร็งจึงตื่นตัว และหันมาบริโภคหัวแคร์รอต บีทรู้ต บรอคโคลี่ ลูกพรุน ซึ่งส่วนมาก ต้องนำเข้ามา จากต่างประเทศ ทำให้ราคาแพงและ หายาก ลองหันมาดูผักบ้านเรา หลายชนิดมีคุณสมบัติ และ เบต้าแคโรทีนไม่น้อยไปกว่ากัน ผักที่ว่านี้ได้แก่

ยอดมะยม มีเบต้าแคโรทีนสูงมากถึง ๑,๖๖๒.๔๖ อาร์อี (RE)

ผักขม ของโปรดของป๊อปอายที่หาง่ายในเมืองไทย มีถึง ๕๕๘.๗๖ อาร์อี (RE)

ตำลึง รั้วกินได้ที่มีแคลเซียมสูง และเบต้าแคโรทีน ๖๙๙.๘๘ อาร์อี (RE)

กระถิน มีเบต้าแคโรทีนถึง ๔๖๐.๔๐ อาร์อี (RE)

ยอดแค ใช้ลวกจิ้มน้ำพริก มีอยู่ถึง ๓๗๒.๘๕ อาร์อี (RE)

ชะพลู ที่คุณยายใช้กินกับหมาก แต่เอามาทำอาหารได้หลายอย่าง มีเบต้าแคโรทีน ๔๑๔.๔๕ อาร์อี (RE)

ผักชีฝรั่ง มีสูงถึง ๘๗๖.๑๒ อาร์อี (RE)

"RE" หมายถึง ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล

๔. อาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ควบคุม
น้ำหนักตัว โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งมดลูก ถุงน้ำดี เต้านมและลำไส้ใหญ่ การออกกำลังกาย และ การ ลดรับประทานอาหาร ที่ให้พลังงานสูงจะช่วยป้องกันมะเร็งเหล่านี้ได้.

(จาก คอลัมน์ "ส่องโรค ไขสุขภาพ" นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๓ พ.ย.๔๖)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


วิทยุชุมชนบุญนิยม

เมื่อวันที่ ๗ เม.ย.๔๗ เวลา ๐๖.๑๐น. ชมรมวิทยุชุมชนบุญนิยม ได้จัดประชุม "วิทยุชุมชนเครือข่ายชาวอโศก" ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ ขึ้น ณ ชุมชนวัฒนธรรม ศีรษะอโศก มีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ สมณะ ๘ รูป,ตัวแทนวิทยุชุมชน ๑๑ แห่ง และนักจัดรายการ ในวิทยุชุมชนอื่นๆ อีก ๑๐ ท่าน โดยมีพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เป็นประธาน ในที่ประชุม

สำหรับรายละเอียดของการประชุมมีดังนี้

วาระที่ ๑ นโยบายของพ่อท่าน

๑.๑ การดำเนินงานวิทยุชุมชนให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ใช่ประโยชน์ตนเอง สื่อวิทยุชุมชนเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่มี กรรมการควบคุมคลื่นโดยตรง จึงควรระมัดระวัง ให้ยิ่ง เพราะเป็นสื่อที่กว้างและสื่อสารได้รวดเร็ว

๑.๒ การเผยแพร่สื่อ ให้เผยแพร่ โฆษณา ประกาศความจริงเท่านั้น

๑.๓ วิทยุชุมชนเครือข่ายชาวอโศก จะไม่สมัครเป็นสมาชิก "สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ" เพราะการเป็นสมาชิก จะเข้าสู่ระบบ และเงื่อนไข ของสหพันธ์ฯ ฉะนั้น วิทยุชุมชนใด ที่เป็นสมาชิกสหพันธ์วิทยุ ชุมชนแห่งชาติ ก็ขอให้ลาออก แต่เราสามารถให้ความร่วมมือกับสหพันธ์วิทยุ ชุมชนแห่งชาติ ในนามผู้สังเกตการณ์ และไม่ขอรับเงินสนับสนุนใดๆ จากสหพันธ์ฯ

๑.๔ การติดต่อสื่อสารภายในเครือข่าย วิทยุชุมชน ควรให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนหรือประชุมร่วมกัน มีหลักการ ให้คล้ายคลึงกัน เพื่อความแน่นแฟ้น และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


วาระที่ ๒ เลือกตั้งกรรมการ "ชมรมวิทยุชุมชนบุญนิยม"

เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเผยแพร่สื่อสารบุญนิยมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีนโยบายที่สอดคล้องกัน ในแต่ละชุมชน ที่มีการ กระจายเสียง ทางคลื่นวิทยุชุมชน บุญนิยม จึงตั้งคณะกรรมการทั้งหมด ๑๗ ท่าน ดังต่อไปนี้

๑. สมณะเสียงศีล ชาตวโร ประธาน
๒. สมณะบินก้าว อิทธิคุปโต รองประธาน ๑
๓. สมณะหินกลั่น ปาสาณเลโข
๔. สมณะฟ้าไท สมชาติโก
๕. สมณะเพื่อพุทธ ชินธโร
๖. สมณะร้อยดาว ปัญญาวุฑโฒ
๗. คุณสู่ดิน ชาวหินฟ้า รองประธาน ๒
๘. คุณสู่เสรี สีประเสริฐ
๙. คุณสุรชัย ชื่นด้วง
๑๐.คุณสมภาร บุญทะจิต
๑๑.คุณปรีชาพล ประชาโชติ
๑๒.คุณทองใบ โฮมแพน
๑๓.คุณรัชนี สิทธิพันธุ์
๑๔.คุณตะวันธรรม ข่าทิพย์พาที
๑๕. คุณวรัทยา ธรรมรักษ์
๑๖. คุณแก้วตะวัน พวงบุปผา เลขานุการ
๑๗. คุณช่วยบุญ จันทรักษา ผู้ช่วยเลขานุการ

คณะที่ปรึกษา ได้แก่คณะกรรมการวิทยุ ชุมชนชุดเดิม และคณะกรรมการสื่อสารบุญนิยมชุดปัจจุบัน ซึ่งจะคุยกัน ในรายละเอียดต่อไป ส่วนสำนักงาน คณะกรรมการ "ชมรมวิทยุชุมชนบุญนิยม" เลขที่ ๖๖ หมู่ ๕ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ๗๓๐๐๐ โทรศัพท์ ๐๓๔-๒๕๘๔๖๒ / ๐๙-๐๐๙๖๕๔๔


วาระที่ ๓ เรื่องอื่นๆ

ชื่อสถานีและคลื่นกระจายเสียง สถานีวิทยุชุมชนทั้ง ๑๑ แห่งในเครือข่ายบุญนิยม ให้กรอกรายละเอียด ในแบบฟอร์ม เพื่อแนบงบประมาณที่เครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย จะโอนงบประมาณ ให้แต่ละสถานี ในเครือข่ายทั้ง ๑๑ แห่ง พร้อมกับแนบ แผนผังรายการ ผู้ดำเนินรายการแต่ละรายการ ส่งที่ สำนักงานกลาง คกร.

ปิดประชุมเวลา ๐๘.๓๐ น.

กำหนดการประชุมใหญ่ วันที่ ๑๐ มิ.ย.๔๗ เวลา ๑๓.๓๐ น.

แก้วตะวัน พวงบุบผา บันทึกการประชุม

ชมรมวิทยุชุมชนบุญนิยมขอเชิญชวนส่ง "คำขวัญ/สโลแกน ชมรมวิทยุชุมชนบุญนิยม" (ตัวอย่างเช่น "ชมรมวิทยุชุมชน บุญนิยม เพื่อสังคมร่มเย็น" เป็นต้น) มาได้ที่ ๖๖ หมู่ ๕ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ๗๓๐๐๐.

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

?)P1_Prod_Version=ShockwaveFlash" type="application/x-shockwave-flash" width="200" height="200">

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี เวียนมาพบนสพ. ข่าวอโศกฉบับที่ ๒๓๕ (๒๕๗) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ก.ค.๔๗

วันที่ ๑ ส.ค.๔๗ นี้เป็นวันเข้าพรรษาแล้ว ต่อไปอีก ๓ เดือนสำหรับนักปฏิบัติธรรมก็จะได้ถือเป็นโอกาสอันดี ซึ่งถ้ามีข้อสงสัย หรือติดขัดในการปฏิบัติใดๆ ก็จะได้อาศัยช่วงเข้าพรรษาที่มีสมณะสิกขมาตุจำพรรษานี้ ขอคำแนะนำ และชี้ทาง ในการปฏิบัติธรรม ลดละกิเลส จากท่านได้อย่างเต็มที่ แล้วเราจะได้ใช้ธรรมาวุธเหล่านี้ ในการต่อสู้กับกิเลสต่างๆ ที่เราตั้งใจ จะลดละ ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล (แล้วอย่าลืมเล่าสู่กันฟังด้วยนะฮะ)

สำหรับข่าวในแวดวงชาวเราประจำฉบับนี้ขอนำเสนอ ดังนี้

งานบุญมีหลายจุด...สำหรับผู้ไม่หยุดอยู่ในกุศลธรรมนั้นสามารถหางานสะสมบุญ ให้ตนเองได้มากมาย อย่างงานดูแล การจราจร และการจอดรถในซอยเทียมพร ข้างสันติอโศก โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ อาจเรียกได้ว่า หนักหนา อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าอาทิตย์ไหนที่คุณเล็ก กังงา ไม่ได้มาดูแลการจราจร บริเวณสันติอโศก ก็จะมีปัญหา รถวิ่งติดขัด ทันที อย่างเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๐ มิ.ย. ที่ผ่านมา คุณแดง (ต้นไพร) และคุณกรุ๊งกริ๊ง ได้มาช่วยคุณเล็ก จัดการจราจร ได้คิดวิธีแก้ไข เรื่องรถจอดซ้อนคันได้ว่า หากรถคันไหน จะจอดซ้อนคัน ก็จะขอเบอร์มือถือ เจ้าของรถไว้เลย หากจะต้องเลื่อนรถ เพื่อให้รถคันในออก ก็จะได้โทร. ตามได้ทันที

หรืออย่างวันก่อนที่รถของนักข่าว ช่อง ๑๑ ซึ่งมาจอดที่หน้าตึกแดง พอจะกลับแล้วรถออกไม่ได้ จิ้งหรีดก็ได้เห็น และรู้สึกประทับใจ สมณะเมืองแก้ว ติสสวโรและคุณอาภรณ์ วิชัยดิษฐ์ ที่มาช่วยดูแล

ส่วนตรงบริเวณหน้าปากซอยเทียมพรทั้งสองฝั่ง ทั้งตรงหน้าศูนย์มังสวิรัติ และบริเวณตรงหน้าร้านขายผลไม้ ก็ไม่ควรจอดรถ เพราะรถ จะเลี้ยวเข้าซอยเทียมพร ต้องชิดถนนด้านซ้ายมือ จึงจะเลี้ยวเข้าสะดวก ในขณะที่ รถจะเลี้ยวยูเทิร์น ก็จะได้เข้าซอย ได้เหมือนกัน

ส่วนรถในซอยเทียมพรที่หลีกกันไม่ได้ หากพอเป็นไปได้ก็อยากแนะนำให้รถด้านใน ควรถอยให้ก่อน ก็น่าจะดีกว่า เพราะหาก จะให้รถที่มาจากด้านนอกถอยก็จะออกไปกีดขวางการจราจรบนถนนนวมินทร์ทำให้ติดขัดมากขึ้น นี่ก็อีกหนึ่ง คำแนะนำ ฝากถึงกัน ส่วนใครมีข้อเสนอแนะดีๆ ก็ช่วยๆส่งกันมานะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...


ประทับใจ...จิ้งหรีดได้มีโอกาสไปเยือนชาวสีมาฯ เมื่อเร็วๆนี้ ก็ให้รู้สึกประทับใจสาวน้อย ณ ชราภิบาล หลายๆ ท่าน เมื่อท่าน อาจารย์ ๑ สมณะบินบน ถิรจิตโต ทักว่า "พวกเราทะเลาะกันบ้างมั้ย?)" สาวน้อยทั้งหลายก็ตอบว่า "ไม่แล้ว แม้เวลา จะบอกกล่าวกัน ก็ค่อยๆบอกกล่าวกัน"

แล้วจิ้งหรีดก็แวะไปที่ศาลาเรียน ก็ได้เห็นว่า ข้อสรุปการประชุมของ ม.ร.ส.ที่เขียนไว้บนกระดาน ว่า

- งานหลักของเรา คือ สร้างคน
- ควรมีการบอกกล่าว ตักเตือน โดยใช้ศิลปะ
- คุมอารมณ์ ฝึกใจ วางใจ
- การเอาใจใส่เด็ก รักเด็ก
- ไม่มีการสรุปแต่ละวัน

ซึ่งพอท่านอาจารย์ ๑ เห็นดังนั้นก็บอก ๕ หนุ่มที่ติดตามมาว่า หากไม่มีการทำอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องยาก"... จี๊ดๆๆๆ...


ม.วช....จิ้งหรีดนั่นดีใจปลื้มใจไปกับ เหล่า ม.วช.สันติอโศกด้วยจริงๆ ที่พ่อท่านเมตตารับเป็นคุรุสอนให้ ทุกวันจันทร์ (ยกเว้น ติดกิจสำคัญ)โ ดยเริ่มวันจันทร์ที่ ๕ ก.ค. ๔๗ เป็นวันแรก ซึ่งก็นับเป็นบุญแก่ชาว ม.วช. สันติอโศก จริงๆ แหม!...เรื่องดีๆ อย่างนี้ จิ้งหรีด คงต้องบินไปเก็บข้อมูลมาฝากกันแล้วล่ะ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...


วิถีธรรม...สื่อดีๆ ย่อมพัฒนาจิตวิญญาณ จิ้งหรีดได้มีโอกาสดูรายการวิถีธรรม จากไอทีวี เมื่อเช้าวันอังคาร เวลา ๐๕.๓๐-๐๖.๐๐ น. แล้วรู้สึกประทับใจโดยเฉพาะตอน "ฝึกวิถีไทยใฝ่วิถีธรรม" ทำให้ระลึกถึง เรื่องของ วิบากกรรมของ หลวงพ่อตัน เรื่องการแจก อาหารในโรงบุญมังสวิรัติ เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ที่เต็นท์ของ มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน ในบริเวณ ท้องสนามหลวง ภาพผู้รับอาหารเข้าแถวเรียบร้อย รับอาหารใส่กระทงใบตอง ผู้ใหญ่รับแล้ว ส่งให้เด็กน้อย เป็นภาพที่ ประทับใจมาก จิ้งหรีดเลยหวนระลึกไปว่า เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งนั้น ยังเรียกกันว่า โรงทานอาหารมังสวิรัติ ประชาชน ยังไม่กล้า เข้ามารับอาหารที่เราบริการ จนต้องเรียก เชิญชวนสารพัด แต่มาถึงวันนี้ทุกอย่างได้พัฒนาไปจนดูดี และน่า อนุโมทนายิ่ง ...จี๊ดๆๆๆ...


เหมือนเจ้าของ...ถ้าใครไปปฐมอโศก อาจสังเกตเห็นตุ๊กแกที่อยู่ใกล้ชิดคุณใบพุทธ หนึ่งในพยาบาลของ ปฐมอโศก ที่ประจำอยู่ บ้านอารมณ์ดี มีอยู่วันหนึ่งคุณใบพุทธนำตุ๊กแกติดตัวเกาะอยู่บนบ่า ไปดูนักเรียน สส.ฐ.เข้าแถวด้วย ก็เป็นที่ฮือฮา ของนักเรียน และ นักเรียน สส.ฐ.หลายคน ต่างก็ลงความเห็นว่า ตุ๊กแกตัวนี้ มีความละม้าย คล้ายอาใบพุทธมาก ดีว่าเป็นตุ๊กแกยาง เพราะถ้าหาก เป็นตุ๊กแกจริงๆ จะน่ารักน่าชังแค่ไหน ก็จินตนาการกันเอาเองนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...


ปรับสู่ชุมชน...ตอนนี้กลุ่มภูผาฟ้าน้ำก็กลายเป็นกลุ่มเล็กไปเสียแล้ว หลังจากเป็น กลุ่มใหญ่มาตลอด เพราะตอนนี้ ชุมชนภูผาฯ มีขนาดใหญ่ขึ้น จนสมาชิกมากกว่ากลุ่มภูผาฯ ดังนั้นจากการประชุมครั้งล่าสุด ก็มีการปรับ เหรัญญิกชุมชน และลักษณะ ของกลุ่ม ให้เป็นลักษณะของญาติธรรมที่ยังอยู่นอกชุมชนภูผาฯ

พอปรับเสร็จปั๊บ ประธานชุมชนภูผาฟ้าน้ำก็ขอลาบวช โดยขอความเห็นใจว่า "ผมอายุมากแล้ว เวลาเหลือน้อยแล้ว" ปรากฏว่า ในที่ประชุมชุมชน เปล่งกล่าว "สาธุ" ดังสนั่นศาลา นี่ถ้าสามารถเลื่อนฐาน จนเป็นนักบวชได้ ก็ต้องถือว่า เป็นประธาน ชุมชนคนแรก ของชาวอโศกที่ ออกบวชได้สำเร็จ...จี๊ดๆๆๆ...


คนไม่ป่วยยังแพ้...พ่อทองใบ อยู่รักษาตัวด้วยโรคมะเร็งขั้น ๔ (ตามที่หมอใน โรงพยาบาลวินิจฉัย) ได้มารักษาตัว อยู่ที่นา ๙ ไร่ของชุมชน ปฐมอโศก จิ้งหรีดไปเยี่ยม ก็เห็นพ่อทองใบช่วยสร้างที่พักให้ผู้ป่วยอย่างขมีขมัน ก็รู้สึกทึ่ง ก็ขนาดมีคน เป็นมะเร็ง ตายไป ๒ รายแล้ว พ่อทองใบก็ยังมีกำลังใจ ทำงานทำการ ไม่ยอมท้อถอย ต่อชีวิต จนแซงหน้าคนปกติ อย่างจิ้งหรีดเสียอีก จิ้งหรีด ก็ขอยอมแพ้ และคารวะด้วยน้ำหญ้าม้า ๑ จอกฮะ... เอื๊อก...จี๊ดๆๆๆ...


มีฝีมือแม้เป็นหญิง...ก็จะใครที่ไหนกันล่ะ คุณหนึ่งเพียรนะซิ ได้สร้างบ้านดิน เสร็จไป ๑ หลังแล้ว มีรูปให้เพื่อนดู เป็นแฟ้มเชียว ก็เป็นที่สนใจ ของคนหลายๆคน โดยเฉพาะคนที่ปฐมอโศก จิ้งหรีดก็นึกไม่ถึงว่า ผู้หญิงตัวคนเดียว จะสร้างบ้านดิน ได้ถึงขนาดนี้ อย่างนี้จิ้งหรีดตัวผู้ ยังต้องอายเลย...จี๊ดๆๆๆ...


เอาภาระ...ข่าวล่ามาเร็ว หลังจากอาๆ ที่ศีรษะอโศกเข้าใจในจิตใจวัยรุ่นที่เป็น ม.วช.ศีรษะอโศก ดังนั้น แม้อาจจะมีข้อบกพร่อง จึงไม่ได้พูดจาถากถางถล่มซ้ำเติมกัน แต่กลับพูดให้กำลังใจในการพัฒนา ทำให้เหล่า ม.วช.เกิดไฟในการทำงาน รวมกลุ่มกัน ช่วยดูแลน้องๆต่อไป จิ้งหรีดหลายตัวที่ศีรษะฯ รู้เรื่องก็เปล่งเสียง อนุโมทนา สาธุกันเซ็งแซ่ และภาวนา ให้สิ่งดีๆเหล่านี้ เกิดอยู่นานเท่านาน ไม่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา นะฮะ... จี๊ดๆๆๆ...


แจ้งข่าว... ช่วงนี้บริเวณลานจอดรถ ด้านหลัง บจ.พลังบุญ ต้องปิดชั่วคราว เพื่อ ปรับปรุงพื้นที่ สำหรับสร้าง อาคารบุญนิยม หลังใหม่ ลูกค้าและผู้มาติดต่อสามารถนำรถมาจอด ในซอยนวมินทร์ ๔๔ ต้อง ขออภัย ในความไม่สะดวกฮะ... จี๊ดๆๆๆ...


มรณัสสติ
นายมานพ (น่านผา) หาญจริง อายุ ๕๓ ปี (จิ้งหรีดจำได้ว่าครั้งยังมีชีวิตเคยขึ้นเวทีของชาวอโศกว่า เป็นครอบครัว ตัวอย่าง ที่พานำให้คนในครอบครัว มาปฏิบัติธรรม และมีการเปิดใจชี้ขุมทรัพย์ให้กันทั้งพ่อ-แม่-ลูกด้วย) ขณะนี้ เสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็ง และฌาปนกิจศพ ที่เมรุปฐมอโศกแล้ว เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ก.ค.๔๗

นางแก้ว ไผ่เลี้ยง อายุ ๔๑ ปี (พี่สาวของคุณดาวเย็น นาวาบุญนิยม) เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๗ ก.ค.๔๗ ฌาปนกิจศพ วันที่
๑๙ ก.ค.๔๗ ที่ราชธานีอโศก

ก่อนจาก ขอฝาก คติธรรม-คำสอน ของพ่อท่านที่ว่า

วิบากกรรมนั้นเป็นของต้องมีต้องเป็น
มนุษย์ผู้ฉลาดย่อมไม่หยุดยั้ง
ในการสั่งสมคุณธรรมความดีอีก และอีก-อีก
อยู่ทุกลมหายใจ
แม้จะล้มก็ต้องลุกขึ้นทุกเมื่อ
เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น
ปราชญ์หรือพระอาริยเจ้าแท้ย่อมรู้ว่า
คือ การเกิดมาเพื่อสั่งสมความดี
มิใช่เกิดมาเพื่อทำชั่ว
หรือแม้แค่ท้อถอยในการทำความดีเลย.
(๑๐ ส.ค.๒๒)
(จากหนังสือโศลกธรรมสมณะโพธิรักษ์ หน้า ๕๘)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


มารู้จักกับ มผช.(มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) กันเถอะ

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาส เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จัดโดยสำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) โดยมีนโยบายให้กำหนดมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ชุมชน และเพื่อรองรับ มาตรฐานของสินค้าโครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยในปี ๒๕๔๗ มีนโยบายออกมาตรฐานถึง ๙๒ รายการ การสัมมนาครั้งนี้ จัดที่ชลบุรี ที่น่าสนใจคือสัมมนาครั้งนี้ นอกจาก ภาครัฐจะให้ความรู้ เรื่องผลิตภัณฑ์ชุมชน แก่ผู้ผลิตชุมชน นักวิชาการ ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้บริโภค ยังเปิดโอกาสให้ประชาพิจารณ์ เกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าว (ซึ่งร่างโดย นักวิชาการที่มีความชำนาญ เฉพาะเรื่องนั้นๆ และเจ้าหน้าที่ มผช.) หลังจากจบการสัมมนาก็จะรับข้อเสนอ ในที่ประชุม ไปพิจารณาต่อไป

เมื่อได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์มาแล้ว ผู้ผลิตสามารถยื่นคำขอได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งนับเป็น ภาพลักษณ์ใหม่ ของภาครัฐฯ ที่มีการเอื้อประชาชน (ผู้ผลิต) ให้ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน สู่ผู้บริโภค อย่างแท้จริง

และเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ เพราะร่าง มาตรฐานได้ถูกนำไปพิจารณาคาดว่า จะคลอดออกมา เร็วๆนี้ หลายคน ตั้งตารอคอย เพราะการได้รับเครื่องหมาย มผช. คือบันไดขั้นแรกของการขอ อย. เป็นการ รับประกันว่า ผู้ผลิต ผลิตสินค้า มีคุณภาพ และมีผลต่อแต้มคะแนนในการคัดสรร สุดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ อีกด้วย สำหรับขั้นตอนการขอ มผช. ก็ไม่ยากเย็นอะไร เพียงแต่ต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นผู้ผลิตในชุมชน หรือ จากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือเป็น กลุ่มสมาชิก ของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มอื่นๆ ตามกฎหมาย เมื่อกลุ่มเรามีคุณสมบัติ เข้าข่าย ก็ปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

๑. ยื่นคำร้องขอการรับรอง โดยมีเอกสารที่ต้องแนบมาด้วย คือ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน เอกสาร ยืนยันกลุ่ม (กระซิบบอกนิดนึง เราสามารถยื่นร้องผ่านอินเตอร์เน็ตได้ด้วย)

๒. เจ้าหน้าที่จะนัดหมายเพื่อตรวจสอบ
๒.๑ ตรวจสอบสถานที่ผลิตและเก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิตส่งตรวจสอบ เพื่อพิจารณาออกใบรับรอง รวมถึง มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา
๒.๒ ตรวจติดตามคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง โดยสุ่มซื้อตัวอย่างที่ได้รับการรับรอง จากสถานที่ จำหน่าย เพื่อตรวจสอบ

(ถ้าตัวอย่างไม่ผ่านก็มีโอกาสส่งตรวจอีก ๑ ครั้ง แต่ถ้าไม่ผ่านอีก จะถูกถอนใบคำร้อง เมื่อผู้ผลิตพร้อม ก็สามารถ ยื่นใหม่ได้) ใบรับรอง ผลิตภัณฑ์มีอายุ ๓ ปี นับแต่วันที่ระบุในใบรับรอง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจติดตามผล อย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง รวมที่สำคัญทั้งหมดนี้ ฟรีค่ะ

ปัจจุบันหน่วยงานนี้สามารถออกมาตรฐาน ได้ถึง ๔๐๐ กว่ารายการ ไม่เฉพาะของกินเท่านั้น เขียงไม้ กระดาษสา เครื่องเรือน ไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์อะไรได้ทั้งนั้นขอให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่ถ้าตรวจสอบดูแล้ว สินค้า เรายังไม่มี มาตรฐาน มาตรวจวัด ก็สามารถ ดำเนินการเสนอ ขอมาตรฐานเฉพาะผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย หากผู้ผลิตท่านใด สนใจ จะสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักบริหารมาตรฐาน ๓ โทรศัพท์ (๐๒) ๒๐๒-๓๓๖๓-๔ www.tisi.go.th/otop/otop1.html

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี

เมื่อวันที่ ๒๒-๒๕ พ.ค.๔๗ ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนอินทร์บุรี ร่วมกับ ธ.ก.ส. จัดให้มีการอบรมผู้นำชาวนาอินทรีย์ขึ้น โดยใช้เวลาอบรมและ หลักสูตรเหมือนหลักสูตรสัจธรรมชีวิต

การอบรมคราวนี้มี จนท.ระดับผู้ใหญ่ของ ธ.ก.ส. มาคอยดูแลและเข้าร่วมอบรมด้วยกันหลายท่าน เช่น ผอ. พิมพ์ผกา วิธุรัติ คุณอมร ณ สุวรรณ คุณสมหมาย สเตทรัพย์ คุณนิคม เพชรผา ฯลฯ มีผู้นำชาวนาจาก ๔๐ จังหวัด และเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ทั้งหมดประมาณ ๘๐ กว่าคน เข้าร่วมอบรม บรรยากาศเป็นไปด้วยดี เพราะมี วิทยากร เด็ดๆ มาให้การอบรมหลายท่าน เช่น ลุงทองเหมาะและคณะ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ดร.บุญหงษ์ จงดัด (ผู้เชี่ยวชาวเรื่องข้าว) ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ

เหตุที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนฯได้รับเกียรติให้มีการอบรมคราวนี้ ก็เพราะเรามีนาอินทรีย์ให้ดูตัวอย่าง มีโรงผลิต ปุ๋ยหมัก ที่ได้มาตรฐาน และมีน้ำสกัดชีวภาพ ที่โด่งดังทุกสูตรให้ได้ชม

การอบรมคราวนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องการทำนาที่ไม่ใช้สารเคมีแล้วได้ผลดีกว่านาแบบเคมี ถึงกับให้ลงสำรวจ ในแปลงนา ถอนข้าวทั้งกอ มานับต้น เปรียบเทียบกันเลย ซึ่งปรากฏว่า ข้าวอินทรีย์ กอใหญ่กว่า นับได้ถึง ๙๔ ต้น แต่ข้าวเคมีนับได้เพียง ๕๐ ต้น ระบบรากก็ใหญ่ และสมบูรณ์กว่า ได้พิสูจน์ให้เห็น ต่อหน้าพร้อมๆ กันและให้ผู้เข้ารับการอบรม ให้เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.เลือกกอข้าวถอนขึ้นมา พิสูจน์กันเอาเอง นับกันเอง เพื่อพิสูจน์ความจริง และยังมีปรากฏการณ์ ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งคือ ตอข้าวที่กองแล้ว เราได้นำไป ใส่ภาชนะไว้ประมาณ ๘ ช.ม. ปรากฏว่า ข้าวอินทรีย์ยังสด เขียวเหมือนเดิม แต่ข้าวเคมี เหี่ยวแห้ง ใบห่อ อย่างเห็นได้ชัด ข้อสังเกตนี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ทราบมาก่อน แสดงว่าข้าวเคมีไม่ยั่งยืนมั่นคง ไม่แข็งแรง ส่วนข้าวอินทรีย์ แข็งแรงยั่งยืน โรคแมลงก็ไม่มารบกวน นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ พิเศษที่เราสังเกตเห็น

การอบรมครั้งนี้ มีนายพนาย สุวรรณรัตน์ ผวจ.สิงห์บุรี มาเป็นประธานเปิดงาน มีนายอำเภออินทร์บุรี มากล่าวรายงาน และเดินชม สถานที่อย่างสนใจ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อเดิม นางเมี้ยน พรหมมา
ชื่อใหม่ บัวเมือง
เกิด วันจันทร์ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๒ อายุ ๘๕ ปี
ภูมิลำเนา จ.พิษณุโลก
การศึกษา ป.๔
สถานภาพ หม้าย บุตรบุญธรรม ๑ คน
น้ำหนัก ๕๐ ก.ก.
ส่วนสูง ๑๕๐ ซ.ม.

คุณยายบัวเมืองเป็นผู้อายุยาวที่แข็งแรง ทุกๆเช้าจะมาคอยตักบาตรสมณะ-สิกขมาตุ ที่หน้าตะวันงาย ๒ เป็นประจำ ลูกหลานที่นี่บอกว่ายายเป็นคนเข้มแข็ง อดทนไม่เรียกร้อง และความจำก็ยังดีอีกด้วย ไปคุยกับคุณยายกันค่ะ

*** เรื่องจริงในอดีต
มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ยายเป็นคนที่ ๖ พ่อเป็นทหาร แม่เป็นแม่บ้าน ตอนเล็กๆไปเรียนหนังสือ ที่ศาลา วัดบางพยอม มีครูสอนหลายคน ใจดีทุกคนเลย สมัยก่อน เขาง้อเด็กให้ไปเรียน ป.๔ ยายสอบได้ที่ ๑ ครูไปบอกแม่ ให้ยายเรียนต่อ แต่แม่ไม่อนุญาต ยายนี้ร้องไห้เลย จบ ป.๔ ก็ออกมาช่วยทำนา สมัยก่อน ปู่ย่าตายาย บุกเบิกนากันเอง ทำพอกิน เขาไม่งกเหมือนคนสมัยนี้หรอก ที่นาก็ไม่ต้องซื้อ มีแรงเท่าไหร่ ก็หักร้างถางพงเอาเอง แล้วพี่ๆน้องๆ ก็บุกเบิก อยู่ในบริเวณเดียวกัน บางคน ไม่มีกำลังจะบุกเบิกนา ก็มาหาซื้อนา ของคนอื่นเอา ๑๐ บาท ๒๐ บาท ก็ได้ที่นาไปตั้งเยอะ

สมัยก่อน ที่นาก็ไม่ได้ใส่ปุ๋ยอะไร ควายของใครๆก็ขี้ลงในนา มันก็เป็นปุ๋ยอย่างดี แล้วเขาก็ไม่เผาตอซัง กันหรอกนะ เพราะกลัว จะลามไปไหม้บ้าน เขาจะคอยดู ตอนที่เขาใช้ปุ๋ยกัน ยายเลิกทำนาแล้ว

ออกจากทหาร พ่อก็ไปเป็นเสมียนอำเภอ แม่บอกให้พ่อลาออกมาทำนา บอกว่าไปทำทำไม เงินเดือน ๑๕ บาท ไม่พอกิน ไปทำนากินดีกว่า ได้ข้าวเยอะดี พ่อก็เชื่อแม่ ข้าวสารก็ถังละ ๕๐-๖๐ สตางค์ ครั้งหนึ่งพ่อซื้อหมูมา ๑ บาท แม่บอกว่า ซื้อมาทำไมมากมาย ซื้อมา ๑๐สตางค์ ก็พอ สมัยก่อนของถูกมาก อุดมสมบูรณ์

*** ครอบครัว
อายุ ๑๘ ปี ทางผู้ใหญ่จะให้ยายแต่งงานกับคนที่ยายไม่รู้จัก ยายโมโหพ่อแม่ เลยไปอยู่กับคนที่ชอบๆกันอยู่ มีลูก ๑ คน ก็แยกทาง เพราะเขาเจ้าชู้ ภายหลัง เขามาขอคืนดีด้วยยายก็ไม่คืนดี

แต่งงานครั้งที่สอง ตอนอายุ ๓๐ ปี ไม่มีลูก พ่อบ้านเป็นทหาร อยู่ด้วยกันจนกระทั่ง พ่อบ้านเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็ง เพราะสูบบุหรี่ -กินเหล้าทุกวัน

ตอนที่พ่อบ้านยังมีชีวิตอยู่ มีคนอายุ ๒๐ กว่าๆ แต่งงานแล้วและมีลูกด้วย มาขอสมัครเป็นลูกบุญธรรม ด้วยเหตุผลว่า เขาไม่มีพ่อ เตี่ยเขาตาย เขาอยากมีพ่อ เตี่ย และแม่ของเขา มาจากเมืองจีน ตอนนี้แม่เขา ก็ยังอยู่ พ่อบ้านยาย ก็ดีใจ ยายก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ตอนนั้นเราก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ทำไมเขาถึงขอสมัคร เป็นลูกบุญธรรม และเลี้ยงดูยาย มาจนถึงทุกวันนี้

*** อยากเห็นหน้าพ่อท่าน
ปี ๒๕๒๗ อ่านหนังสือพิมพ์เขาเขียนเรื่องของพ่อท่าน ว่าเป็นพระที่ไม่กินเนื้อสัตว์ หน้าตาสดใส ไม่ซีดเซียว ก็ชวนพ่อบ้าน กินมังฯ เขาก็ไม่เอาด้วย ส่วนยายสนใจ เรื่องธรรมะธัมโม เรื่องกินเจมานานแล้ว หลังจากพ่อบ้าน เสียชีวิตได้ข่าวว่า มีบวชชีพราหมณ์ที่ไหน ยายก็ไปเข้าพรรษามาหมด มีกลด มีย่าม ก็ไปเลย

ยายก็บอกลูกบุญธรรมซึ่งเขาเป็นญาติธรรม ว่า อยากจะเห็นหน้าพ่อท่าน ลูกก็พามาที่ สันติอโศก ตอนนั้น ยายก็แต่งตัวสวย ใส่เสื้อดอกลายมาเลยนะ มาเห็นคนที่นี่ ใส่ม่อฮ้อม ก็อายเขาแทบแย่ คุณจำลอง ก็เข้ามา ทักยายด้วย หลังจากกลับไปพิษณุโลก ก็บอกลูกชายว่าอยากมาอยู่สันติอโศก ลูกชายก็เลยมาจอง ห้องตะวันงาย ๒ ตั้งแต่เขาเริ่มตอกเสาเข็ม พอสร้าง เสร็จปี ๒๕๓๙ ยายก็เข้ามาอยู่จนถึงทุกวันนี้

*** ท้องยุบต้องกินมังฯ
พ.ศ.๒๕๓๔ ลูกพาไปงานมหาปวารณา ที่ปฐมฯ ได้คุยกับญาติธรรมชายคนหนึ่งเขาอ้วน พุงพลุ้ยมาก เขาบอกว่า พุงเขายุบไปตั้งเยอะ ตั้งแต่กินมังฯ ยายก็นึกในใจ นี่ขนาด ยุบแล้วยังพลุ้ยขนาดนี้ ส่วนพุงของยาย ก็ไม่น้อยไปกว่าเขาเท่าไหร่หรอก ยายเลยอธิษฐานว่า ภายใน ๗ ปีถ้ายายกินมังฯแล้วพุงยุบ ยายก็จะกิน ตลอดไป ปีแรกพุงก็ยุบลงมาหน่อยๆ ปีที่สามเห็นชัด เดี๋ยวนี้ท้องแห้งเลย เมื่อก่อนน้องสาวแซวว่า ท้องไม่รู้จักคลอด พอมากินมังฯแล้ว ท้องค่อยๆ ยุบไปเรื่อยๆ แม้จะกิน ๓ มื้อก็ตาม

*** ความตายล่ะ?)
ไม่กลัวเลยเฉยๆ สั่งเสียไว้นานแล้ว ยังไม่เห็นตายเลย ยายไม่มีใครแล้ว ไม่รู้จะห่วงใครห่วงไปทำไม ตัวคนเดียวแล้ว เพื่อนยายบางคน ตัวคนเดียว ก็ร้องห่มร้องไห้ ยายก็บอกร้องทำไมเสียน้ำตา ร้องก็ตาย ไม่ร้องก็ตาย เกิดมาทุกคนก็ต้องตาย ใครอยู่ได้บ้าง เกิดร้อยคน ตายร้อยคน เกิดหมื่นคนตายหมื่นคน ตายหมด ไม่มีใครเหลือ เลยไม่รู้จะกลัวตายไปทำไม

ทุกวันนี้กินได้ แต่นอนไม่ค่อยหลับ เพราะอยากจะไปไหนลูกเขาไม่ให้ไป ต้องมีคนไปส่ง เมื่อก่อนงานพุทธาฯ -ปลุกเสกฯ -งานมหาปวารณาไปทุกปี

โรคประจำตัวตอนนี้เป็นความดันสูง มันก็ขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวก็ปกติ ส่วนหู ขา ตา เข่า ก็เสื่อมไปตามวัย แต่ยังช่วยเหลือ ตัวเองได้


ยายไม่กลัวตาย เพราะเกิดมาทุกคนก็ต้องตาย คนที่ยังกลัวตายอยู่ต้องหันมาทบทวนดูว่า ทำไมเรายังกลัว อาจเป็นเพราะ ขณะที่มีชีวิตอยู่ เราไม่ได้พิจารณา ถึงความตายเลย พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องพิจารณา ถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออกกันทีเดียว แล้วเราได้ทำกันบ้างหรือยัง?)

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ

เป็นงง !

ณ บจ.พลังบุญ ลูกค้าถือถุงถั่วที่ไม่มีฉลาก เดินมาที่โต๊ะแคชเชียร์
ลูกค้า : "ถั่วอะไรคะ"
แคชเชียร์ : (นึก) "อืม! เป็นถั่วสีเหลืองแล้วผ่าซีก"
"ถั่วเหลืองซีกค่ะ"
พลันพนักงานขายได้ยินตอบว่า : "ถั่วเขียวซีกครับ"
และแล้วหัวหน้าฝ่ายขายได้ยิน : "ถั่วทองครับ"
ลูกค้า เป็นงง ! "ตูเชื่อใครดีหว่า?)"

คุณ...คิดอะไร?)
ถ้าเป็น ผู้ค้า (ผู้ผลิต) ควรคำนึงถึงสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับ (ฉลากสินค้า)
ถ้าเป็น ลูกค้า (ผู้บริโภค) พึงคำนึงถึงสิทธิของตนที่ควรได้รับ (ทวงถามข้อมูลที่ขาดหายไป)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
- โดย แม่ครัวจำเป็น -

เพื่อส่งเสริมการบริโภคผักพื้นบ้าน แม่ครัวจำเป็นขอเสนอเมนูผักพื้นบ้านสำหรับสมาชิกข่าวอโศก โดยจะหมุนเวียน ให้ท่านได้รู้จัก ผักพื้นบ้าน และอาหารพื้นเมืองของภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

เมนูภาคเหนือ
แกงแคไก่เจ
เครื่องปรุง
ไก่เจ หรือโปรตีนเกษตร หั่นฝอย ๑ ถ้วย
เห็ดกระด้าง เห็ดขอนขาว ๑ ถ้วย
เห็ดฟางหรือเห็ดนางฟ้า ๑/๒ ถ้วย
ข่า ๒ แว่น
หอมแดง ๒ หัว
พริกแห้ง ๑๐ เม็ด
เกลือ ๑/๒ ช้อนชา
ปลาร้าเจ ๑/๒ ขีด
มะแข่น (ถ้ามี)

ผักพื้นบ้าน
ใบพริก ผักชะอม ยอดมะระขี้นก ผักเผ็ด (ผักคราดหัวแหวน) ใบพญายอ(เสลดพังพอนตัวเมีย) หน่อข่า และผักพื้นบ้านอื่น ตามชอบ

วิธีปรุง
ใส่พริกแห้ง ข่า หอม มะแข่น ใส่รวมกัน ตำให้ละเอียด ใส่เห็ดฟางหรือเห็ดนางฟ้าให้น้ำข้นขึ้น
คั่วในกะทะพร้อมไก่เจ หรือโปรตีนเกษตรฉีกฝอย คั่วให้หอม ใส่น้ำพอประมาณ
ใส่ผักพื้นบ้านต่างๆ ทั้งหมดขณะน้ำแกงเดือด แล้วยกลง รับประทานร้อนๆ

น้ำพริกแคบหมูเจ
เครื่องปรุง
พริกชี้ฟ้า ๕ เม็ด
หอมแดง ๕ หัว
กระเทียม ๑ หัว
ปลาร้าเจเผา ๑ ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น ๑ ช้อนชา
แคบหมูเจหักเป็นชิ้นเล็กๆ ๑/๒ ถ้วย

วิธีปรุง
ล้างพริกชี้ฟ้า หอมแดง กระเทียมให้สะอาด นำไปเผาไฟให้หอม
ปอกเปลือกหอม กระเทียม นำไปโขลกให้ละเอียดรวมกับพริก เกลือ ปลาร้าเผา
ใส่แคบหมูเจโขลกให้เข้ากันดี ตักใส่ถ้วย
รับประทานกับข้าวกล้องหุงร้อนๆ พร้อมเห็ดนึ่ง ผักลวกและผักสด

ผักพื้นบ้านที่นิยม
ผักสุก ตำลึงลวก ผักกาดจ้อนลวก ผักบุ้งผัดน้ำมัน หน่อไม้ต้ม ฟักทองนึ่ง
ผักสด หัวปลีกล้วย มะเขือพื้นบ้าน แตงพื้นบ้าน ถั่วปี๋ฝักอ่อน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชุมชนปฐมอโศกจัดอบรมสื่อบุญนิยม ครั้งที่ ๒

เมื่อวันที่ ๑๐-๑๕ ก.ค.๔๗ ณ ชุมชนปฐมอโศก นับเป็นการก้าวอีกก้าวหนึ่งของชาวอโศก ที่มีการอบรมเรื่อง "สื่อ" โดยเฉพาะ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ เรียกว่า อโศกยุคนี้ต้องเปิดกว้างมากขึ้น พร้อมที่จะรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพ ให้กับตน และงาน เพราะที่ผ่านๆมา อาศัยใจรักทำกันทั้งนั้น ไม่มีประสบการณ์ มาถึงวันนี้ ชาวอโศก ต้องเกี่ยวข้องกับสื่อมากขึ้น ประจวบเหมาะ ก็มีผู้รู้มากด้วยประสบการณ์ ในวงการสื่อสาร ได้มาคบคุ้น และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ให้กับพวกเรา จะได้ทำอะไรๆ (สื่อ) ตามหลักของชาวโลกเขา

งานอบรม "สื่อบุญนิยม" จึงเกิดขึ้นโดย อาจารย์สุทธิพร สุทัศน์ ณ อยุธยา มาเป็นวิทยากรให้ สำหรับผู้เข้าอบรม มีทั้งสิ้น ๑๐๐ คน จาก ๑๑ เครือข่าย มีเครือข่ายจากศีรษะอโศกมาอบรมมากที่สุด รองลงมาคือ ศาลีอโศก และปฐมอโศก ตามลำดับ

โดยวันที่ ๑๐ ก.ค.๔๗ เวลา ๐๘.๐๐-๐๘.๓๐ น. เปิดงานโดยสมณะกรรมการ กุสโล ซึ่งท่านได้ย้อนอดีตให้ฟังว่า ในยุคแรกๆ ชาวอโศก เราทำสื่อกันยังไง ตัดต่อเทปการเทศน์ของพ่อท่าน ทำเทปธรรมคีตะ ยากลำบาก พอสมควร ไม่รู้หรอกว่า เขามีหลักการ กันอย่างไร อาศัยใจรักและประสบการณ์ส่วนตัว จึงมีผลงานออกมา ให้พวกเราได้ฟังกัน เรียกว่า "แม้ไม่มีความรู้ แต่ถ้ามีใจรัก ก็สามารถทำได้" (ภาษาธรรมะเรียกว่า การมีฉันทะ)

จากนั้นเริ่มเข้าสู่บทเรียนในเรื่องของการผลิตสื่อ ว่าการทำสื่อนั้นมีสื่ออะไรบ้าง (มี ๑.สื่อสิ่งพิมพ์ ๒.สื่อแพร่ภาพ และ กระจายเสียง ๓.สื่อเบ็ดเตล็ด เช่น ป้าย, แผ่นพับ เป็นต้น) สอนวิธีสร้างสรรงานโฆษณา, วัตถุประสงค์ ทางการตลาด และโฆษณา, การกำหนดแผนสื่อโฆษณา, หลักการกำหนดกลยุทธ์ความคิดสร้างสรร, กลยุทธ์ สร้างสถานการณ์ การโฆษณา แนวทาง การนำเสนอโฆษณา, บทสรุปการสร้างสรร งานโฆษณา, กระบวนการ ผลิตสื่อ, ๑๒ แนวทาง การเขียนโฆษณา มืออาชีพ, การจัดตำแหน่งหน้าที่, การเขียนคำขวัญ โฆษณา, หลักการเขียนโฆษณา ฯลฯ

ในขณะที่อาจารย์สอนไป ก็จะให้ทำ Work Shop ภาคปฏิบัติเป็นช่วงๆ มีทั้งการคิดคำโฆษณาบนป้ายทางด่วน, โฆษณาสินค้า ทางวิทยุภายในเวลา ๓๐ วินาที ผู้อบรมสนุกสนานกับการนำเสนอผลงานมาก เพราะมีทั้งตลก แหวกแนว ทั้ง ๑๑ กลุ่ม ได้ฝึกคิด โฆษณาสินค้าอย่างเดียวกัน แต่ไม่เหมือนกันสักกลุ่ม

๑๑ ก.ค. ช่วงเช้า Work Shop คิดโฆษณาปุ๋ยชีวภาพตราดอกลำดวน ช่วงบ่ายแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงาน เรียกเสียงฮา ได้สุดๆ คิดโฆษณา ไม่เหมือนกันสักกลุ่มอีกเช่นเคย จากนั้นอาจารย์ให้ดูผลงานของ รุ่นที่แล้ว ซึ่งมีประมาณ ๔-๕ กลุ่ม ดูข่าวอโศก และโฆษณา แล้ววิเคราะห์ให้ฟัง ตามด้วยการให้ความรู้เรื่อง หลักการถ่ายภาพ การถ่ายภาพเคลื่อนไหว แล้วให้ลงมือปฏิบัติ โดยออกไป ถ่ายภาพนอกห้องเรียน ๑ ช.ม. มีภาพ Long Shot,Medium Shot,Close Up,Extream,Bird Eye view และภาพ Worm Eye View เสร็จแล้วนำเสนอผลงาน รู้สึกตื่นตาตื่นใจ กับภาพที่สวยงาม ที่พวกเราไปสรรหามา

๑๒ ก.ค. ช่วงเช้าเข้าบทเรียนด้วยเรื่อง การเขียนบทภาพยนตร์โฆษณา พอรู้ทฤษฎีแล้วก็ให้ลงมือปฏิบัติเช่นเคย ช่วงบ่าย นำเสนอ และเรียนเรื่องการทำภาพยนตร์สารคดี แล้วให้พวกเราฝึกทำ ความยาวของสารคดี ๓ นาที, ทำโฆษณา ๓๐ วินาที ห้ามขาด ห้ามเกิน และให้ทำงานตามหน้าที่ที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว ตั้งแต่วันแรก ให้เวลาทำ ถึงวันที่ ๑๕ ก.ค.๔๗ เวลาบ่ายโมง ให้นำผลงาน มานำเสนอ ซึ่งแรกๆ บางคนก็รู้สึกว่า ทำไมอาจารย์ให้เวลา มากจัง แต่พอถึงเวลาจริง กลับน้อยมาก เพราะกว่า จะเขียนเรื่องเสร็จ กว่าจะถ่ายภาพได้ กว่าจะตัดต่อ ประกอบภาพและเสียง หลายๆท่านต้องอดหลับ อดนอน เพื่อให้งานเสร็จ ทันเวลา

๑๕ ก.ค. แล้วเวลานำเสนอผลงานก็มาถึง โดยก่อนนำเสนอผลงาน อาจารย์ได้ให้ขุมทรัพย์ก่อนเป็น อันดับแรก เพราะพวกเรา บางกลุ่ม ไม่ได้ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ที่ได้แบ่งกันไว้ ทำอะไรก็ตามกันไปหมด แถมทำ คนเดียวอีกต่างหาก คนอื่น ก็ไม่เป็นงาน ถือว่าล้มเหลว เพราะถ้าไม่ทำงาน ตามตำแหน่งหน้าที่แล้ว งานจะเสร็จช้า และเสียเวลามาก สุขภาพก็เสื่อมโทรม เพราะฉะนั้น งานนี้อาจารย์ยังไม่ให้คะแนน แต่ให้การบ้าน ไปทำต่อ โดยให้ไปทำสารคดีแนะนำชุมชนของตนเอง ความยาว ๑๕ นาที ทำโฆษณาอีก ๓ อย่างๆละ ๓๐ วินาที กำหนดนำเสนอผลงานในวันที่ ๗ พ.ย.๔๗ ในงานมหาปวารณา แล้วอาจารย์ จะให้คะแนนตอนนั้น

เรียกว่า บุญหล่นทับนั่นแหละ หลายแห่งอยากจะทำสารคดีของชุมชนมานาน แต่ไม่ได้ทำสักที คราวนี้ได้ทำแน่ๆ และต้อง ทำเองด้วย ผู้ใดสนใจสามารถติดตามชมได้ ในงานมหาปวารณา

หลังจากรับขุมทรัพย์จากอาจารย์แล้ว แต่ละกลุ่มได้เปิดใจและนำเสนอผลงาน ซึ่งหลายกลุ่มทำได้ดี จนคนชมติดใจ เป็นอย่างมากทีเดียว

สำหรับความรู้สึกของผู้เข้าอบรมส่วนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

น.ส.แก้วเกร็ดรุ้ง ศรีวงษา อายุ ๒๑ ปี จากสีมาอโศก "ประทับใจการสอนของอาจารย์ เทคนิคต่างๆที่สื่อออกมา รู้สึก อบอุ่น ที่เห็นทีมงานแต่ละแห่ง มาเป็นหมู่เป็นมวล คือมองเห็นอนาคตข้างหน้า งานนี้ไม่ใช่เล็กๆเลย เป็นอะไรที่สำคัญ และน่าสนใจมาก

ได้ความรู้แล้วยังได้ประโยชน์ได้ฝึกการทำงานที่เป็นระบบและชัดเจน ได้ฝึกวางใจและวางมือ กับสิ่งที่เคย ทำงานคนเดียว แล้วมา ทำงานเป็นทีม ได้ความละเอียด กับการคิดและเขียนบทโฆษณา ทำให้รอบคอบ กับสิ่งที่ทำมากขึ้น และได้รับ ความไว้วางใจ..."

นายปรเมษฐ์ ทัศโน จากสันติอโศก "รู้สึกว่า เราคงทำอะไรได้ง่ายขึ้น เพราะได้รู้จักกัน ประโยชน์คือ ได้รู้ศัพท์เทคนิค และหลักการ รวมทั้งการทำงาน ในผลิตสื่อด้วย ก็จะนำหลักในการทำงาน และความรู้ เกี่ยวกับภาพที่ได้ไปใช้ครับ"

คุณผ่องตะวัน คงนาวัง อายุ ๓๙ ปี จากหินผาฟ้าน้ำ "ดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม นับเป็นเรื่องใหม่ที่น่าเรียนรู้ ได้รับความรู้ หลายอย่าง อยากให้มีการอบรมแบบนี้อีกค่ะ"

คุณอรทัย ยศอินต๊ะ กลุ่มภูผาฟ้าน้ำ "ทันทีที่ได้อ่านตารางการอบรมฯ ตัดสินใจมาอบรมทันที เพราะเห็นว่า เป็นสิ่งที่มีความ สำคัญ ในอนาคตสำหรับทุกศูนย์อบรมของเรา มาอบรมครั้งนี้ได้รับประโยชน์มาก ทั้งในแง่ การผลิตสื่อ ทำให้รู้อย่างลึกซึ้ง ถึงเบื้องหลัง ของการถ่ายทำโฆษณาหรือภาพยนตร์ ว่ามีความลำบาก และต้องใช้ความพยายามสูง รวมไปถึง การได้ฝึกคิด ให้เป็นระบบ รู้จัก ทำงานเป็นกลุ่มอย่างมีระบบ หลังจากการอบรมแล้ว ตั้งใจจะไปร่วมกับทีมงาน ทำสารคดี และสื่อต่างๆ ที่มีประโยชน์ให้กับกลุ่มต่อไป"

คุณเพชรส่องธรรม เบ้าทอง จากศีรษะอโศก "รู้สึกการอบรมครั้งนี้ดีมากๆ ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลักสูตรนี้ จะเรียน ได้ก็ต่อเมื่อ จบปริญญา เป็นการอบรมแบบบูรณาการได้ปฏิบัติจริง รู้สึกเต็มที่กับหน้าที่มากๆ"

คุณบัวขาว วังเมือง อายุ ๔๕ ปี จากทักษิณอโศก "รู้สึกสนุกและได้ความรู้ทักษะในเชิงวิชาการ แต่ที่ได้ประโยชน์ มากที่สุดคือ บทเรียน ในการทำงานร่วมกัน ได้มองเห็น 'ตัวตน' ของตัวเองและเพื่อนร่วมงานชัดเจน ได้สภาวะธรรมที่ว่า 'การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม' อย่างดีที่สุด และประทับใจที่ว่า เราต้องทำงานร่วมกับระบบสากลให้ได้

ส่วนตัวสนใจอยากทำงานสื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น สารคดีพุทธประวัติ สังเวชนียสถาน ยินดีรับใช้ค่ะ"

อาจารย์สุทธิพร สุทัศน์ ณ อยุธยา "ดูทุกคนมีความตั้งใจเป็นอย่างมาก ที่จะมาอบรม มีความพอใจกับ ผลการอบรม ครั้งนี้ เห็นการพัฒนา ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ คนที่ไม่มีพื้นฐานทำได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งมากแล้ว สำหรับ สิ่งที่ควรแก้ไขก็คือ การบริหารการจัดการ ต้องมีระบบมีขั้นตอน ถ้าไม่มีระบบจะถึงจุดหมายปลายทางได้ยาก และหลักการคิดต้องคิดใหม่ให้ทันสมัย มองให้ไกลกว่านี้ อย่ามองแค่เฉพาะ รอบข้างตัวเรา"

สมณะเพื่อพุทธ ชินธโร "การเข้าร่วมอบรมสื่อบุญนิยมครั้งนี้ รู้สึกคุ้มค่า เข้าใจแนวทางในการทำงานที่เป็นระบบ งานสื่อด้าน วิดีโอ ของเราควรนำระบบสากลของการทำงานมาประยุกต์ใช้ให้ทันยุคสมัย 'รู้เขา รู้เรา รบชนะ' ".

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,500 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]