ฉบับที่ 237 ปักษ์หลัง16-31 สิงหาคม 2547

[01] เส้นทางอาริยชน
[02] ธรรมะพ่อท่าน: คนเก่งจะอยู่กับอโศกได้อย่างไร
[03] ชมร.ถึงยุคปลากะพงพร้อมปิดร้านทันทีถ้าไม่มีพืชผักไร้สารพิษ
[04] ชาวอโศกจัดงานวันแม่ บูชาบุพการีหรือผู้มีพระคุณ หลายแห่งซาบซึ้งน้ำตาไหลท่วมเวที
[05] "ซูเปอร์มาร์เก็ต"กลางป่า (ตอนจบ)
[06] สกู๊ปพิเศษ: สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] นร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ร่วมงานงดเหล้าเข้าพรรษา ณ ทำเนียบรัฐบาล
[08] กวาดบ้านถูบ้านต้านมะเร็งสตรีได้ไม่แพ้กับออกกำลังด้วยการเดิน
[09] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] สบู่ใครคิดว่าสำคัญ
[12] กำหนดแนวทางเรื่องทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรอโศกในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ฯ
[13] นางงามรายปักษ์ นางพวงทอง วิรุฬหกุล



เส้นทางอาริยชน

พ่อท่านเคยสอนชาวเราว่า ผู้ไม่ทบทวน ย่อมไม่มีทางบรรลุธรรม

ดังนั้นในช่วงนี้ พ่อท่านจึงพานิสิต ม.วช.ฝึกทบทวนตัวเองสัปดาห์ละ ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย

นิสิตที่เข้ามาฝึก จะทบทวนตัวเองว่า ในรอบสัปดาห์ตัวเองมีผัสสะอะไร (บุพเพนิวาสานุสติญาณ) เกิดกิเลส ตัวใด (จุตูปปาตญาณ) แล้วดับมันลงได้อย่างไร (อาสวักขยญาณ)

ซึ่งครูบาอาจารย์และเพื่อนๆจะได้ฟัง และมีส่วนเสริมวิธีปฏิบัติธรรมตามที่ตัวเองได้ผล ให้แก่กันและกัน ผู้ฟังก็จะเกิดสัมมาทิฏฐิมากยิ่งขึ้น (ถ้ามีปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ)

พ่อท่านได้สอนชาวเราอีกว่า การทบทวนที่ดีที่สุดก็คือ มีสติเมื่อขณะผ่านไป เราก็สามารถทบทวนตัวเองได้ ทันทีว่า เมื่อกี้เรามีสภาวธรรมหรือสภาวจิตอย่างไร แล้วทรงสภาวะที่ดีที่สุดของเรา หรือสภาวนิพพานที่เรามีอยู่ ได้อย่างไร

นี่แหละคือเส้นทางของอาริยชน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

คนเก่งจะอยู่กับอโศกได้อย่างไร

ทำไมคนเก่งมักอยู่กับชาวอโศก ไม่ได้ แม้บางคนตั้งใจดี เจตนาดี อยากอยู่ช่วยงาน มีคนมองว่า คนเก่งอยู่กับ อโศกยาก อโศกจึงพัฒนาช้า? ในเรื่องนี้พ่อท่านได้ให้ความกระจ่างว่า...

* ก็เป็นไปได้ เพราะคนเก่งมี อัตตามานะ มานะคือการถือดี อัตตาคือการถือตัว เมื่อเรามีดีจริงๆ แต่เราลด การถือดี ไม่ได้ ก็เป็นมานะ จะเอาดังใจเรา จะทำงานแบบที่ตามใจตัวเองทุกอย่าง ไม่ได้ดังใจก็จะไม่ทำหรือรวน และทางอโศก เราทำงานโดยไม่ได้ใช้เงินทองล่อ ไม่ให้ใช้โลกธรรม หรือลาภยศสรรเสริญ อะไรเป็นเครื่อง แลกเปลี่ยน และก็ให้อิสระเสรี ใครจะทำก็สมัครใจมาทำ เพราะฉะนั้น เมื่อมาทำงานที่นี่แล้ว ถ้าผู้ใดไม่ตั้งใจ ปฏิบัติธรรม เรียนรู้อาการอัตตามานะของตัวเอง ลดอัตตามานะของตัวเองลงให้ได้ ยิ่งผู้นั้น มีความรู้ความเก่ง เมื่อไม่ลดกิเลส อัตตามานะก็จะเกิด คือ ไม่ได้สมใจตัวเอง ไม่ได้ดังอำนาจ ไม่ได้ดังความคิด ไม่ได้ดังความเห็น ไม่ได้ดังความรู้ของฉัน หรือมีการกระทบไม่ได้ดังที่เราคิดนั่นแหละ ความไม่พอใจก็จะเกิด เพราะเราเห็นว่า เราถูกเราเก่ง เราดี หากคนอื่นค้านแย้งบ้างอาจจะไม่เอาตามเราบ้าง ไม่ได้สมใจบ้าง อัตตาก็จะยิ่งโตขึ้นๆ อัตตาที่โตนี้จะถือตัวยิ่งขึ้น จะข่มเบ่งเก่งขึ้น จะจิตใจคับแคบยิ่งขึ้น เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเมื่อมันโตขึ้นๆ มันก็อยู่ไม่ได้ เพราะที่นี่ไม่มีลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขผูกไว้เลย มีแต่อิสระเสรี จะไปเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าลด กิเลสได้ก็จะอยู่ได้ เพราะไม่ถือตัวถือตน เพราะยอมได้ลดได้ตามควร เพราะฉะนั้น อาการกดดันเก็บกด หรือความคับแค้นใจ ก็น้อย มีบ้างก็พอทนได้ หรือยิ่งลดได้ดีจริงๆ ไม่มีความคับแค้นใจ ใดๆเลย รู้จักรับรู้จักผ่อนปรน ทำงานร่วมกันไปได้ และเรียนรู้ไปด้วยว่า เราทำอยู่นี้ดีแล้ว กาละนี้ได้เท่านี้ คนผู้นี้ได้แค่นี้ ก็รู้จักอนุโลม ก็อยู่ได้สบาย

เพราะฉะนั้น คนที่มาทำงานกับอโศก จึงเป็นคนเจริญในธรรม คนที่ไม่เจริญในธรรมต่อให้เก่งให้ตายอย่างไร ก็มีแต่จะเพิ่มกิเลส ก็อยู่กับเราไม่ได้แน่นอน เพราะรายได้ของคนที่มาทำงานกับคนอโศก คือ การปฏิบัติธรรม ลดละกิเลส ของตัวเอง นั่นคือรายได้ทางธรรม เมื่อไม่มีรายได้นี้หล่อเลี้ยงเลย ก็อยู่ไม่ได้

เพราะฉะนั้น รายได้ที่แท้จริงของชาวอโศก จึงคือ ต้องลดละกิเลสให้ได้ จึงจะอยู่รอด ซึ่งนัยนี้อาจมองว่า อโศกจะพัฒนาช้า แต่จะพัฒนาช้า ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นเรื่องความประเสริฐ เป็นความยั่งยืน เป็นประโยชน์ ต่อสังคมมนุษยชาติที่แท้จริง เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านที่แท้จริง จะช้าอย่างไร ก็ไม่มีปัญหา เราไม่ได้ ไปเร่งร้อน รีบร้อนอะไร แต่เราก็ไม่เฉื่อยชา ชักช้า เราขมีขมันเต็มที่ก็แล้วกัน เราต้องการความจริง ความจริง จะมีความยั่งยืนและเป็นความดีที่จริงเอง ไม่ใช่เป็นผักชีโรยหน้า เป็นการ ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน ครู่เดียว เสร็จแล้วก็เหมือนเดิม มันไม่ใช่

แต่นี่เป็นการสร้างฐานะให้ถาวรแน่นอนทั้งวัตถุและจิตวิญญาณ และเป็นความจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้น จะช้าก็ไม่เป็นไร ถึงช้า เท่าไร มันก็แน่นอนมั่นคงไปอีกยาวนาน ไม่ต้องกังวล เราทำได้เท่าไรก็เท่านั้น เพียงอย่า เป็นของปลอม เป็นเรื่องของการทำเพื่อ ฉาบฉวย รีบร้อนเท่านั้น

(*จากสารอโศก ฉบับ มหาปวารณา'๔๖)

...การลดกิเลสจึงเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกับชาวอโศกได้ ยาวนาน ยิ่งเก่งด้วยก็ยิ่งช่วยงานได้มากขึ้น...

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชมร.ถึงยุคปลากะพง
พร้อมปิดร้านทันที ถ้าไม่มีพืชผักไร้สารพิษ

ชมร.ขานรับนโยบายพ่อท่าน
ซื่อสัตย์ จริงใจต่อผู้บริโภคพืชผักพื้นบ้านเริ่มเป็นพระเอก

ร้านอาหารมังสวิรัติของชาวอโศกขณะนี้ ขึ้นป้ายว่า "อาหารในร้านปรุงด้วยพืชผักไร้สารพิษเท่านั้น" เช่น ชมร. สาขาเชียงใหม่ ซึ่งเน้นผักป่าจากภูผาฟ้าน้ำ, ชมร.สาขาหน้าสันติอโศก ใช้ผักจากร้านกู้ดินฟ้า และอุทยาน บุญนิยม จ.อุบลฯ ใช้ผักที่ปลูกเอง และจากเครือข่ายฯ

ต่อมาตรวจพบว่าผักหลายชนิดของร้านกู้ดินฟ้าที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายนั้นอยู่ในขั้นปลอดสารพิษ มีผลให้ ร้านกู้ดินฟ้า ต้องปิดจำหน่ายชั่วคราว และส่งผลกระทบต่อร้านชมร.สาขาหน้าสันติฯ และเทศกาลอาหารเจ ที่จะมาถึง ในเดือนตุลาคม นโยบายรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นของชมร. สาขาหน้าสันติจะเป็นอย่างไร พบกับคำ ให้สัมภาษณ์ของคุณดาบบุญ ดีรัตนา ผู้รับใช้ ชมร. สาขาหน้าสันติอโศก ได้ ณ บัดนี้

สถานการณ์ร้านชมร.สาขาหน้าสันติ
ชมร.สาขาหน้าสันติฯ ใช้ผักจากร้าน กู้ดินฟ้ามาปรุงอาหาร ซึ่งต่อมาตรวจพบว่า หลายชนิดอยู่ในขั้น ปลอดสารพิษเท่านั้น ไม่ไร้สารพิษ ๑๐๐% คือมีการฉีดยาฆ่าแมลง, ใส่ปุ๋ยเคมี แม้จะเก็บเกี่ยวในระยะ ปลอดภัย จึงได้งดซื้อ ผลิตผลของเกษตรกรดังกล่าว

เมื่อพ่อท่านฯทราบข่าวนี้จึงมีนโยบายปิดร้านกู้ดินฟ้า หากไม่มีพืชผักผลไม้ไร้ สารพิษมาจำหน่าย ด้วยเหตุผลว่า เราเปรียบเสมือน ร้านขายข้าวต้มปลากะพงที่ได้รับความเชื่อถือ ไว้เนื้อเชื่อใจจากลูกค้า หากวันใดไม่มีปลากะพง ก็ต้องงดขายไป จนกว่าจะมีปลากะพง จึงจะจำหน่าย ร้าน กู้ดินฟ้าก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่มีพืชผักผลไม้ ไร้สารพิษ เราก็ต้องปิดร้าน จนกว่าจะมีพืชผักผลไม้ไร้สารพิษ

ร้านกู้ดินฟ้า
ตอนนี้เปิดจำหน่ายตามปกติแล้ว แต่มีผักน้อยลง พืชผักผลไม้ไร้สารพิษมาจากเครือข่ายชาวอโศก ที่ได้ผ่าน การตรวจสอบว่า ไร้สารพิษ ๑๐๐ % คือ จากเครือข่ายฯ ร.ร.ผู้นำ จ.กาญจนบุรี (ซึ่งจะมาส่งในวันพุธ, พฤหัสและเสาร์), เครือข่ายฯวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา (พุธ, ศุกร์, อาทิตย์) และจากชุมชนต่างๆของอโศก เช่น ศีรษะฯ ส่งหน่อไม้มาให้ ๒ ตัน บ้านราชฯส่งฟักทองมาให้ เพื่อให้ชมร.ดำเนินการต่อไปได้

วันอังคารจะไม่มีผักจากที่ใดๆเข้ามา ชมร.สาขาหน้าสันติฯใช้วิธีนำผักพื้นบ้าน มาปรุงเป็นอาหาร เช่น ดอกโสน ดอกแค ผักบุ้ง หัวปลี อ่อมแซ่บ(พ่อท่านตั้งชื่อใหม่ว่า บุษบาริมทาง)

ในส่วนของผลไม้ยังมีต่อเนื่อง เพราะมีผลไม้ไร้สารพิษมาจากจันทบุรี, และสวนธรรมชาติอโศก อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร อยู่เป็น ประจำ

นโยบายแก้ปัญหา
ขณะนี้ผู้รับใช้ร้านกู้ดินฟ้าคือคุณพลอยไพร นาวาบุญนิยม และทีมงาน อาสาออกไปปลูกผักที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.กลางดง จ.นครราชสีมา การแก้ปัญหาในเบื้องต้นคือไปลงมือปลูกเองโดยรับงบประมาณจากชมร. การแก้ปัญหา ระยะยาว คือเตรียมไปปลูกเอง ในพื้นที่ซึ่งมีผู้บริจาค

ในส่วนของการปรุงอาหาร ตอนนี้ใช้ผักน้อยลง ใช้เต้าหู้เข้ามาแทน และรณรงค์ให้คนหันมากินผักพื้นบ้านด้วย ใช้ผักพื้นบ้าน ต่างๆ เป็นส่วนประกอบ เช่น ดอกเข็ม ดอกบัว อ่อมแซ่บ ดอกแค หัวปลี สีสรรของสีเขียว อาจน้อยลง แต่ยังไงก็ไร้สารพิษ ขณะนี้ยอดขาย ลดลงแต่ไม่มีผลกระทบ

เรามีทีมตรวจสอบที่เข้มแข็งมาก เข้า ไปถึงแหล่งผลิต ขอดูดินที่ปลูกว่าทำด้วยวิธีธรรมชาติจริงหรือไม่ หากเราพบว่า ดินแข็ง เราจะสั่ง งดเลย

บางคนมีผักก็นำมาให้เรา เป็นระบบบุญนิยม พอเราขาดแคลนก็ประกาศไปทั่ว เดี๋ยวก็มีคนมาวางไว้

รองรับเทศกาลเจ
เทศกาลอาหารเจ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ต้องใช้ผักมากมาย ต้องทำอาหารเพิ่มขึ้น ทีมงานที่ออกไปปลูกผัก บอกว่า ผักจะโต ในเทศกาลเจพอดี หากไม่สามารถบรรลุเป้า ก็จะใช้ผักพื้นบ้าน หรือถ้าไม่มีผักมาปรุง อาหารจริงๆ เราก็จะปิดร้านชมร. จนกว่า จะมี นี่คือนโยบาย

ไร้สารพิษ ๑๐๐ %
หอมกระเทียมเราสั่งจากเครือข่ายศีรษะฯ แม้แต่น้ำพริกเครื่องแกง เรามีการตรวจเช็คว่า พริกที่นำมาทำ เครื่องแกงไร้สารพิษ หรือไม่ ที่ใช้ทุกวันนี้เป็นเครื่องแกงของญาติธรรมจากกาญจนบุรี ถั่วงอกก็เพาะเอง จากเมล็ดถั่วเขียว ไร้สารพิษ

แม้แต่น้ำเสาวรสที่ร้านก็ผลิตจากเสาวรส ไร้สารฯจากสีมาอโศก เรากล้าติดฉลากข้างขวดว่าเสาวรส ไร้สารพิษ ในขณะที่ เสาวรสทั่วไป เขาเร่งสารเคมี เพื่อส่งออกได้เร็วๆ

ข้าวกล้องก็มาจากสหกรณ์ของศีรษะฯ และราชธานีาฯ สำหรับซีอิ๊วที่คนทั่วไปนิยม เราก็ไม่ใช้ เพราะสาร ปรุงแต่ง (ผงชูรส)

ตอนนี้ชมร.กู้ดินฟ้า ทำบัญชีเดียวกันแล้ว ชมร.ขายผักออกทุนเพราะว่ากู้ดินฟ้า ยังไม่มีทุนเพียงพอ

ตลาดไร้สารฯหากดูว่าบางตา ก็จงรู้ไว้ว่า เราคัดแต่ไร้สารฯ ที่เป็นปลอดสารพิษเราไม่ให้มาขาย ตรวจละเอีย ดลออ ถึงหอม กระเทียม

นโยบายของที่นี่ไม่ได้เน้นเรื่องเงินเป็นหลัก แต่เน้นเรื่องคุณภาพของสินค้า เพราะเราค้าขายด้วยระบบ บุญนิยม ดังนั้น ผู้บริโภค มั่นใจได้ว่า อาหารที่นี่ปลอดภัยจากสารพิษต่างๆ ๑๐๐ %.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาวอโศกจัดงานวันแม่
บูชาบุพการีหรือผู้มีพระคุณ
หลายแห่งซาบซึ้งน้ำตาไหลท่วมเวที

๑๒ สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ชุมชนชาวอโศกแต่ละแห่งได้จัดกิจกรรมเหมือนเช่นทุกปี สำหรับบรรยากาศ ของงาน ผู้สื่อข่าวของเรา ได้รายงานเข้ามาดังนี้

สันติอโศก
๗ สิงหาคม นร.สัมมาสิกขางดเข้าฐานเพื่อต้อนรับแม่ เที่ยงตรงประชุมผู้ปกครองที่โบสถ์ เรื่องกฏระเบียบ ต่างๆของ ร.ร. ปิดท้ายด้วย กิจกรรมสัมพันธ์โดยคุรุกวี ปริกัมศีล

ห้าโมงเย็น รับประทานอาหารร่วมกันโดยฝีมือลูกๆ ภาคค่ำ เริ่มรายการด้วยการกราบแม่ แจกรางวัลนักเรียน ดีเด่น เรียงความดีเด่น การแสดง สมณะกล้าตาย ปพโล ฝากข้อคิดปิดท้ายว่า การแสดงของเด็ก สะท้อน แง่คิดดีๆ หลายแง่มุม ประทับใจคำพูดของ เด็กนักเรียนว่า ลูกเป็นตัวแทนลมหายใจของแม่ ถ้าลูกดี แม่ก็ดีใจซาบซึ้ง ในสิ่งดีๆของลูก จากนั้นนั่งสมาธิ น้อง ม.ต้น ช่วยกันเก็บบุญ พี่ ม.ปลายสรุปงาน

๘ สิงหาคม แม่ลูกสัมมาสิกขาร่วมกันทำบุญตักบาตร ผู้ปกครองนักเรียนพุทธธรรมร่วมกันทำอาหารเมนู สูตรเด็ด ก๋วยเตี๋ยวลำไยเพื่อลูกๆ

เที่ยงตรง สมณะซาบซึ้ง สิริเตโช กล่าวเปิดงาน หากพ่อแม่เข้าใจลูก ลูกเข้าใจพ่อแม่ ครอบครัวย่อมอบอุ่น และมีความสุข การแสดงเด็กๆ มีความตั้งใจที่จะแสดงละครให้พ่อแม่ดู เพื่อแสดงถึงความรักที่มีต่อพ่อแม่ วันแม่เป็นวันเชื่อมหัวใจเข้าด้วยกัน ประสานสัมพันธ์ให้สถาบันครอบครัวอบอุ่นยิ่งขึ้น จากนั้นผู้ปกครอง เปิดใจ ตัวแทนสัมมาสิกขา และนักเรียนพุทธธรรม อ่านเรียงความ สวดบทสรรเสริญ คุณบิดามารดา กราบแม่ด้วยความซาบซึ้ง

การแสดงต่างๆจาก นร.พุทธธรรม, ผู้ปกครองพุทธธรรม และนักเรียนสัมมาสิกขา และปิดท้าย ร่วมกัน ร้องเพลง อิ่มอุ่น

สิกขมาตุบุญจริง พุทธพงษ์อโศก กล่าวปิดงาน ถ่ายรูปร่วมกัน ช่วยกันเก็บบุญ แล้วแยกย้ายไปทัศนศึกษากับคุณแม่ ตามอัธยาศัย

ราชธานีอโศก
งานวันแม่ที่ราชธานีอโศกปีนี้บรรยากาศอบอุ่นแบบเมืองน้ำ คุณแม่ที่มาร่วมงานได้รับประสบการณ์ชีวิต ใหม่ๆ สัมผัสบรรยากาศ บ้านราชฯเมืองเรือช่วงน้ำท่วม เรือสำราญจากท่าเรือบ้านคำกลาง เที่ยวหกโมงเย็น ของวันที่ ๑๐ สิงหาคม บรรทุกญาติพี่น้อง และของฝากเป็นผลิตผลการเกษตรมาร่วมงานวันแม่ทีมแรกเต็มลำเรือ คณะผู้ปกครอง มากันทั้งครอบครัวและบุตรหลาน ตัวน้อยๆ ทยอยเดินทางเข้าพื้นที่ในช่วงค่ำของวันนี้ โดยมีลูกๆ สสธ. คอยต้อนรับแล้วขึ้นพักที่ชั้น ๔ เฮือนศูนย์สูญ และบ้านที่น้ำ ยังไม่ท่วม

๑๑ สิงหาคม หลังจากลงทะเบียนแล้ว ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ฟังปฐมนิเทศโดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร ที่ศาลาเฮือนเพิงกัน ๑๓.๐๐-๑๔.๐๐ น. ผู้ปกครองพบคุรุเพื่อรับทราบข้อมูลกิจกรรม การเรียนการสอน ของโรงเรียนสัมมาสิกขา ราชธานีอโศก หลังจากนั้น แบ่งกลุ่ม พบสมณะจนถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.

๒๐.๓๐ น. ชมการแสดงภาคค่ำบริเวณเฮือนศูนย์สูญ

๑๒ สิงหาคม ธรรมะรับอรุณ โดยสิกขมาตุกล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล เตือนให้แม่ได้คิดเรื่องชีวิต ของคนที่ต้อง ดิ้นรนหาเงิน เพื่อเก็บไว้ ให้ลูก แต่กลับต้องทุกข์ต้องร้องไห้กับคน ที่ตนรัก แม้จะมีเส้นทางที่ดีกว่าให้เลือก ก็ไม่กล้าออกมา เพราะพอใจที่จะอยู่ กับทุกข์ แล้ว ก็ตายจากไป คนที่แม้จะเข้าใจมีดวงตาเห็นธรรม แต่พัฒนาตน ออกมาไม่ได้เพราะติดยึดกับครอบครัว เป็นความรัก ที่ไม่พ้นขั้นหลง

หลังจากนั้นสมณะเดินดิน ติกขวีโร แสดงธรรม ฝากข้อคิดเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณของแม่ว่า ชีวิตของแม่ เป็นชีวิต ของความ เป็นทุกข์ ผูกพัน ห่วงหาสามีและลูก แม้แต่ลูกของเราเขาก็มีเส้นทาง ของเขา จะให้เขามาเป็น อย่างที่เราคิดไม่ได้ ทางที่ดีที่สุด ต้องทำตัวเราให้พ้นจากคำสาป (การหาเงินหาทองให้เขา) ตัวเราต้องแข็งแรง มีคุณธรรม แล้วทำให้ลูกแข็งแรง จะได้ไม่เรียกร้อง และอย่าหวังพึ่งลูก พึ่งตนจนเป็นที่พึ่งคนอื่นได้ ไม่หวังพึ่งลูก จะทำให้พ้นเวรพ้นกรรม แม่ยังไม่เป็นพระพรหมของลูก มีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ไม่มีอุเบกขา การถือศีล ปฏิบัติธรรม ทำให้เข้มแข็ง ตัดทุกข์ ตัดสังสารวัฏได้ จึงจะพ้นทุกข์ พ้นคำสาป พ้นจากลูกหนี้ ของลูกบังเกิดเกล้าได้ เสร็จแล้วเป็นกิจกรรมยืดสายคลายเส้น ออกกำลังกาย ร่วมกันโฮมแฮง แม่ลูกช่วยกัน ทำอาหาร

๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ แสดงธรรม เน้นถึงเนื้อหาที่มี ที่เป็นของสังคมบุญนิยม ฝากพ่อ แม่ว่า ถ้าลูกหลาน อยากอยู่วัดควรให้เขาอยู่เพราะอยู่แล้วเขามีสมบัติทันที ขอให้มีคุณสมบัติเป็นชาวอโศก หลังจากนั้น เป็นพิธีบูชาบุพการี และกราบแม่ พิธีมอบ รางวัลประกวดเรียงความ แต่งกลอน วาดภาพ เสร็จพิธี นักเรียนชั้น ม.๑ ม.๓ และม.๔ เดินทางกลับ พร้อมผู้ปกครอง เนื่องจากปิดเทอม

ภูผาฟ้าน้ำ
กิจกรรมวันแม่ที่ภูผาฟ้าน้ำปีนี้ จัดระหว่างวันที่ ๑๑-๑๒ ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง (โดยเฉพาะ คุณแม่ทั้งหลาย), ผู้ปกครอง ของนักเรียน และนักเรียนบางคน มีสมาชิกในครอบครัว ยกทีมมาร่วมงานด้วย

สำหรับกิจกรรมในวันที่ ๑๑ ส.ค. ช่วงบ่ายมีกิจกรรมฉันแม่ลูก ส่วนตอนเย็นมีการพบปะสัมมนาคุรุกับ ผู้ปกครอง โดยแบ่งกลุ่ม ผู้ปกครอง พบคุรุประจำชั้น เพื่อรับรู้กฎระเบียบของโรงเรียน รวมไปถึง ปัญหาและแนวทาง แก้ไขพฤติกรรม ของนักเรียนร่วมกัน

ส่วนในวันที่ ๑๒ ส.ค. ช่วงเช้าจัดให้มีกิจกรรมฉันญาติพี่น้อง โดยแบ่งกลุ่มทำงานในฐานต่างๆ เช่น ฐาน ตักทราย, ฐานครัว, ฐานสีข้าว,ฐานขนฟืน และใส่บาตรร่วมกัน

ช่วงกลางวันรับประทานอาหารและชมการแสดงของนักเรียนทุกระดับชั้น

ตอนเย็นมีกิจกรรมพิเศษเพื่อแม่, ดูภาพยนตร์เรื่อง "มาตาที่รัก" ซึ่งแสดง โดย นร.ชั้น ม.๑-๓ จบด้วยกิจกรรม กราบแม่ ทำให้ บรรยากาศอบอุ่น แม่ลูกทั้งหลายน้ำตาไหลด้วยความปลื้มปีติ

สำหรับชุมชนอื่นๆของชาวอโศก ต่างได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันแม่เช่นเดียวกัน.

แม่จ๋าลูกมาอยู่ที่วัด ต้องเคร่งครัดทำตามคำสั่งสอน
ทั้งเช้าสายบ่ายค่ำแม้ยามนอน ต้องสำรวมสังวรสอนตนเอง

กฎระเบียบที่นี่มีมากนัก วิชาการงานหนักศีลก็เคร่ง
บางวันลูกเงียบเหงาเศร้าวังเวง เมื่อได้ยินเสียงเพลงค่าน้ำนม

เห็นเพื่อนเพื่อนโทรศัพท์รับจดหมาย พัสดุมากมายล้วนขนม
ลูกก็คอยวันคืนหวังชื่นชม แต่ไม่สมดั่งใจเพราะไม่มี

ไม่เป็นไรแม่จ๋าลูกทนได้ แม้ทุกข์ยากอย่างไรยังไม่หนี
จะอดทนเพื่อแม่ที่แสนดี เพียงหกปีลูกจะสู้อยู่ต่อไป

ทุกวันที่สิบสองเดือนสิงหา หวังว่าแม่คงมาหาลูกได้
ขอให้แม่ทำเช่นนี้ทุกปีไป เพื่อมาเป็นแรงใจให้ลูกเอย.
*** สมณะเด่นตะวัน นรวีโร

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


"ซูเปอร์มาร์เก็ต"กลางป่า (ตอนจบ)

หมู่บ้านนี้รวยที่สุด ไม่มีใครไปขึ้นทะเบียนคนจน เพราะไม่มีเงินก็อยู่ได้ เพียงเพราะสามารถรักษา ทรัพยากร ธรรมชาติเอาไว้ นอกจากนี้ เด็กๆ ก็เจริญรอยตามผู้ใหญ่ เด็กบ้านหินลาดใน จะรู้จักอาหารจากป่า เป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องป่า เรื่องสมุนไพร เพราะผู้ใหญ่ ในหมู่บ้าน จะช่วยให้ความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น การเก็บหา ของป่า ไม่ให้ถูกกระแส วัฒนธรรมตะวันตกครอบงำ ทั้งหมด เยาวชนเป็นกำลังสำคัญ ที่จะสืบทอดภูมิปัญญา ในการดูแลรักษาป่า

"ที่ผ่านมามีโครงการหรือหน่วยงาน ต่างๆของรัฐที่มาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำไร่ถาวร ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อขาย เป็นการปลูก เชิงพาณิชย์ เพราะจะได้ราคาดีกว่า แนะนำให้ทำสวนชาสมัยใหม่ ซึ่งต้องแผ้วถางป่า ใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เราคิดว่า เป็นการทำลายป่า มากกว่า ชาวบ้านขอทำแบบธรรมชาติเหมือนเดิม ที่เรียกว่า วนเกษตร คนต้องอยู่กับป่า ป่ามีคุณค่าต้องช่วยกันดูแลรักษา" พ่อหลวงปรีชา กล่าวและว่า ในช่วง ๑๐ กว่าปี ที่ผ่านมา ป่าฟื้นตัวกลับมา หลังจากเมื่อทางราชการได้เปิดสัมปทานป่า ช่วงปี ๒๕๒๙-๒๕๓๒ สภาพป่า ที่เคยมีต้นไม้ ขึ้นหนาแน่น ถูกทำลายไปเยอะ เกิดความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้าน กับทางราชการ นำไปสู่การต่อสู้ จนต้องยกเลิก สัมปทานป่าในที่สุด ป่าชุมชนคือวิถีหนึ่งในการอนุรักษ์ป่า

ในบ้านหินลาดใน สวนชาหรือสวนเมี่ยง จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ให้กับชาวบ้าน ในแต่ละปี จะมีชาดิบ ส่งออกจากหมู่บ้านกว่า ๖๐,๐๐๐ กิโลกรัม เป็นที่ต้องการของตลาด

ชัยประเสริฐ โพคะ ชาวปกาเกอะญอ บ้านหินลาดใน เล่าว่า การทำสวนชาใช้พื้นที่รอบหมู่บ้าน ลักษณะ สวนชา อาจดูเหมือน เป็นป่า ต้นชาขึ้นอยู่ กระจัดกระจายใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นชาพันธุ์พื้นเมือง ไม่ต้องดูแลมากนัก แค่ถากหญ้า สวนชาก็เก็บได้ตลอดทั้งปี ชาหนึ่งต้น เก็บได้กว่าสามครั้งต่อไปี ครั้งแรกจะเก็บในเดือนเมษายน เรียกว่า "ชาหัวปี" เป็นชาที่มีคุณภาพดีที่สุด และราคาดีที่สุด ชาดิบ ส่งออกจากหมู่บ้าน กิโลกรัมละ ๑๐ บาท ถ้าแปรรูปแล้วกิโลกรัมละ ๖๐ บาท หลังจากนั้นก็จะเริ่มเก็บชาในกลางเดือน มิถุนายน หลังจาก เก็บชาหัวปี หมดไปแล้ว ช่วงสุดท้ายประมาณเดือนพฤศจิกายน เป็นการเก็บชาเหมยหรือชาหน้าหนาว ชามีน้อย แต่ราคาดี เท่าชาหัวปี

"รอบสวนชายังมีไผ่หก หวาย มะแขว่น มะนาว พลับ มะขามป้อม มะเขือ แตง บวบ ผลไม้อื่นๆ มากมาย เก็บได้ ก็นำไปขายด้วย เรากินป่า รักษาป่า แต่คนไม่เข้าใจ คิดว่ากินป่า ป่าก็หมด อยากให้รัฐบาลช่วยผลักดัน กฎหมาย ป่าชุมชน รับรองสิทธิของชุมชน ผู้อยู่ป่า มาแต่ดั้งเดิม ช่วยดูแลรักษาป่าไม่ให้ถูกทำลายมายาวนาน ให้สามารถ ดูแลรักษาป่า และใช้ประโยชน์จากป่าต่อไป โดยมีกฎหมาย รองรับ ทำให้ชุมชนสามารถ เป็นผู้ดูแลป่า อย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย" ชัยประเสริฐฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

ประสบการณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านหินลาดใน ที่มีกลวิธีในการ จัดการดิน น้ำ ป่า อย่างชาญฉลาด ใช้ความเชื่อ ความเคารพ รักษาป่าผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่น นี่เป็นชุมชนดั้งเดิม ที่ได้พิสูจน์ว่า มีการจัดการ และการใช้ทรัพยากร อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ป่าที่ใช้สอยแล้วหมดไปอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ.

(จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๕ ก.ค.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


- สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร -

น้ำมาเยือนบ้านราชฯอีกครั้ง หลังจากเว้นช่วงไป ๑ ปี สถานการณ์บ้านราชฯวันนี้เป็นอย่างไร และฟังข้อคิด ที่น่าสนใจ จากสมณะเดินดิน ติกขวีโร ได้ ณ บัดนี้

*** สถานการณ์น้ำท่วมบ้านราชฯปีนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ

ปีนี้น้ำมาเร็วและก็มาแรง เนื่องจาก ฝนตกหนักในบริเวณกว้าง และก็ท่วมจังหวัดต่างๆทางอีสานตอนใต้ ตั้งแต่ร้อยเอ็ด ยโสธร กาฬสินธุ์ ซึ่งน้ำจากที่ต่างๆ เหล่านี้ สุดท้ายก็จะไหลมารวมกัน บริเวณอำเภอวารินฯ ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำ โดยเฉพาะที่บ้านราชฯ ของเราน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของอำเภอเลยก็ได้ น้ำทั้งหมด ก็จะมารวมกันที่เรา เพื่อออกสู่น้ำโขง ตอนนี้ใกล้ๆช่วงกลางเดือนสิงหา เราเหลือพื้นที่ดินให้เดินอยู่ สักประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นน้ำท่วมหมดทั้ง ในหมู่บ้าน และทางเข้า-ออก ก็จะต้องใช้เรือ คอยรับ - ส่งกัน

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นเกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาพืชผักที่เราปลูกเอาไว้ ปีนี้เราทำนากันประมาณ ๓๐ ไร่ ตอนนี้น้ำท่วม หายไปเรียบร้อย ต้นกล้วย ต้นมะละกอที่ปลูกเอาไว้ตั้งแต่ต้นๆปีกำลังออกลูกออกเครือ กำลังงาม ตอนนี้ก็ค่อยๆยืนตายกันไปตามลำดับ แต่ในความเสียหายทางวัตถุ เราก็ได้ทางจิตวิญญาณ ขึ้นมาทดแทน ได้พัฒนากัน ในหลายๆ ด้าน ที่ได้เห็นชัดก็คือระบบ ๕ ส. ในการที่ จะเตรียมหนีน้ำ ได้ชำระสะสาง ของที่ควร จะโละทิ้งก่อน ทำให้บ้านแต่ละหลังค่อนข้างจะโล่ง ซึ่งถ้าใคร ดูแลไม่ดีน้ำก็จะช่วยทำ ๕ ส. ไปในตัวด้วย แล้วก็อีกข้อหนึ่ง ก็คือฝึกใจของเรา ให้เย็นลงช้าลง สำนวนของชาวบ้านราชฯ ก็เรียกว่า ต้องฝึกหัวใจให้ว่างเปล่า (จากกิเลส) ที่เคยรีบเร่งรีบร้อนตอนนี้ก็ต้องช้า กว่าจะรอกันให้พร้อมกว่าเรือ จะออก จะเร็วอย่างเก่าไม่ได้ ตอนน้ำไม่ท่วมเราก็เร่งดำนา เร่งปลูกผัก เร่งทำโน่นทำนี่ แต่ตอนนี้ ต้องใช้ "รอ" คือทั้งรอด้วย และก็รอเรือด้วย ได้ฝึกทำใจให้เย็นเหมือนน้ำที่กำลังมามาก ทำให้เรา มีเวลาที่จะได้เข้ามาปรึกษาหารือ มาเคี่ยวในกัน ได้เพิ่มขึ้น และตอนนี้ชาวบ้านราชฯ ก็ได้ข้อสรุปกันว่า เราเป็นหมู่บ้านน้ำท่วม ไม่เหมาะ ที่จะทำอะไร เป็นโครงการใหญ่ๆ เหมาะสำหรับ ทำเล็กๆ ทำจิ๋วเสียให้มันแจ๋ว อย่างทำจุลินทรีย์ เรามีถังขนาดพันลิตรไม่รู้กี่สิบถัง ตอนน้ำท่วมที ขนกันไป ขนกันมาลำบากมาก ทุกวันนี้ฝ่าย กสิกรรมก็ใช้สูตรจุลินทรีย์แบบเก็บใส่กระปุกเล็กๆ สักกระปุกเดียว ก็พอ ไม่ต้องไปใช้ถังพันลิตรอย่างเก่า เวลาน้ำท่วมมา ก็ย้ายกระปุกเล็กๆนั่นแหละเอาไป เอาเฉพาะหัวเชื้อ จุลินทรีย์ไป อุทกภัย ทำให้เรา ได้พัฒนาการทำงานให้มันเล็กและได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้นก็จึงอยากจะฝากบอกข่าวนี้ว่า คงไม่ต้องมีอะไรที่น่าเป็นห่วง อาหารการกินเราก็มีหลายสวนที่ทำให้ เฉพาะชาวบ้านราชฯเอง พอที่จะพึ่งตัวเองได้ คงไม่ต้องรบกวนพี่น้องของเรา ส่วนการจัดงานฉลองน้ำ พ่อท่านก็ดำริเปรยๆ ว่าถ้าน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็น ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งความชัดเจนแน่นอน ก็ต้องรอฟังข่าว อีกครั้งหนึ่ง

*** ในภาวะที่เกิดอุทกภัยหลายพื้นที่และน้ำมันราคาแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่นนี้พวกเราควรจะได้เตรียมการ กันอย่างไรบ้างคะ

ก็ต้องถือว่าเป็นยุคข้าวยากแม้ไม่มีหมากแพง แต่น้ำมันก็แพงยิ่งกว่าหมากอีก พวกเราซึ่งเป็นพวกคนจน เราคงจะต้องตระเตรียมเนิ่นๆ กันไว้ก่อน ปีนี้ก็นับว่ามีนิมิตหมายที่ดี แม้แต่สมเด็จพระบรมราชินีฯ ก็ยังได้ตรัส ถึงเรื่องคนจน ซึ่งท่านก็เน้นย้ำว่าคนจนไม่ต้องอาย คนที่ควร จะอายคือคนที่ขี้โกงและก็พูดถึงชาวบ้าน ที่ยากจน เขาก็มีความสุข มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่กัน พวกเราซึ่งเป็นคนจนอยู่แล้ว ก็คงจะต้องนำร่อง ในเรื่องของ การประณีตประหยัด มาเป็นอันดับหนึ่งก่อน มีผลการวิจัยหลังจากที่ภาวะฟองสบู่แตก ครั้งแรก เขาบอกว่า บริษัทที่สามารถ ดำเนินธุรกิจอยู่ได้ จะมีแต่เฉพาะบริษัทที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆลง จึงจะอยู่ได้ นอกนั้น ก็จะล้มคว่ำ ไปตามๆกัน

ดังนั้น ในสังคมบุญนิยมของเรา เราคงต้องมาเน้นคุณธรรมในเรื่องของประณีตประหยัดกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะ เรื่องของ การใช้รถ การดูแลรถ ซึ่งในแต่ละชุมชนจะมีค่าใช้จ่ายมากเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเทียบกับค่า ที่คนกินอาหาร กับค่าน้ำมันที่รถกิน ค่าน้ำมันที่ รถกิน บางชุมชน มันจะมากกว่าเป็นสิบเท่าตัวเลย ก็คงจะต้องไประดมสมอง กันว่า เราจะใช้รถได้อย่างไรถึงจะประหยัด มีการดูแลรถ กันได้อย่างไร ถึงจะไม่ปล่อยให้น้ำแห้ง หรือ น้ำมันเครื่องแห้ง จนรถพังไปตามๆกัน คงจะต้องไปช่วยกันคิด หรือในเรื่องอื่นก็ตาม

และสิ่งที่สำคัญของชาวบุญนิยม ก็คือนโยบายควบแน่นที่พ่อท่านพยายามที่จะเน้นเน้นเนื้อให้เหนือกว่ามาก เน้นลาก แม้ยากกว่าแล่น เน้นเนื้อ เน้นแน่น เน้นแก่น เราคงจะต้องพยายามที่จะระลึกถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ อย่างปีนี้พ่อท่าน จะให้ชมร. หรือศูนย์ร้านขายอาหาร ของส่วนกลางทุกแห่ง แม้แต่ที่อุทยานบุญนิยม ที่ราชธานีอโศก ท่านก็จะกำชับให้เขียนโฆษณาว่า เราขายเฉพาะผักไร้สารพิษเท่านั้น ซึ่งพวกชาวอุทยานฯ ที่ไปขายของกัน เขาบอกว่า เขาหัวโล่งเลยตอนนี้ เมื่อทำตามนโยบายพ่อท่าน เขาหัวโล่งสบาย เพราะว่า เรามีเท่าไหร่ เราก็ขายเท่านั้น แต่ก่อนเราทำน้ำข้าวโพด ขายดีมากลูกค้าติดใจ บางทีข้าวโพด ไม่พอเราก็ไปเอา มาจากตลาด ที่เขาขายพืชผัก มีสารเคมีทั่วๆไป เพื่อมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งทำกันจนเมื่อย ไปตามๆกัน ขายเท่าไหร่ๆก็ไม่พอ แต่ตอนนี้พวกพ่อค้าแม่ค้าบอกว่าหัวโล่ง น้ำข้าวโพดไม่มี เขาทำน้ำซุปงา ออกมาขายแทน ของอะไรมีก็ทำเท่าที่มี ถ้าไม่มีก็พัก...สบาย... ซึ่งถ้าเราไปทำ วิ่งตามกระแส ความต้องการ ของสังคม เราคงจะตายก่อนที่จะสนองความต้องการ ของสังคมได้ แล้วก็ยังต้องผสม ปลอมปนของไม่ดี นิสัยไม่ดี ของเราเข้าไปด้วย แต่ถ้าเราเน้นเรื่องการควบแน่นทำคุณภาพ ให้ดีที่สุด มันก็จะเกิดความสมดุล ทั้งตัวเราเอง และสมดุล ทั้งกิจการ ทำให้การดำเนินการไปได้ยั่งยืนยาวนานอีกด้วย

*** ท่านมีข้อคิดอะไรที่จะฝากให้พวกเราในปักษ์นี้บ้างคะ

ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ในพรรษาที่แล้ว พ่อท่านเองก็เน้นพวกเราว่า จุดอ่อนของชาวอโศก มีสองเรื่อง ด้วยกันก็คือ หนึ่ง เราเองขาดการพิจารณา เมื่อขาดการพิจารณาแล้วก็ทำให้เราไม่เกิดจิตที่แยบคาย เมื่อไม่มีจิต ที่แยบคาย ก็ทำให้เราไม่มี สติสัมปชัญญะ ทำให้ทุจริตต่างๆ ก็เกิด เมื่อทุจริตทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เกิด นิวรณ์ ๕ ก็จะตามมา ดังนั้น คนที่ไม่ค่อยได้หยุดพิจารณา หรือไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็จะเป็นคนที่ไม่แม่นเป้า ไม่ชัดเจน และยิ่งในยุคทุกวันนี้ คนก็จะไปหลง เรื่องวิสัยทัศน์ หลงเรื่องอนาคตข้างหน้ากันเยอะ ไปหลงตาดูดาว หลงปัญญา แต่ลืมเท้าที่ติดดิน ลืมสร้างพื้นฐานของตนเอง ให้แข็งแรง ก็อยากจะฝากในจุดนี้ อะไรที่เป็นสักกายะ ของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไขปรับปรุง เราควรนำมาพิจารณาให้มาก เพื่อความแม่นเป้าชัดเจน ในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าถ้าเราไม่หมั่นพิจารณา จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่เกิดกำลังที่จะทำให้ อินทรีย์พละ กล้าแข็งขึ้น

ข้อที่สองก็คือเรามีการทำแบบฝึกหัดกันค่อนข้างจะน้อย ไม่พยายามที่จะเข้ามาอ่านใจพิจารณาใจของเรา ให้มาก สังคมทุกวันนี้ นิยมแต่การที่จะได้เพิ่มไอคิว แต่ไม่ค่อยรู้เท่าทันในเรื่องของอีคิว ไอคิว ก็คือความเป็นผู้มีเหตุผล มากมายร้อยแปด แต่ในการที่จะมา จับอ่านเวทนาร้อยแปด ของตัวเองจะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ สุดท้าย ถ้าเราไม่พยายาม จะทำแบบฝึกหัด ไม่ค่อยได้เข้ามาอ่านใจ ของตัวเราเอง ก็จะกลายเป็นคน หมกมุ่นวุ่นวาย จมไปกับการงาน สุดท้ายเราก็ได้เป็นเพียงแค่กรรมกรศาสนา สร้างอนุสาวรีย์ของความ โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเศษขยะ เศษวัตถุขึ้นมาในโลกเท่านั้นเอง โดยไม่สามารถที่จะเป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร หรือเป็นผู้ที่ ทำงานศาสนา แล้วได้ประโยชน์ จากศาสนา ได้เนื้อหา ที่วิเศษ ได้ใจที่วิเศษจากศาสนาด้วย ถ้าเราขาดการทบทวน ขาดการพิจารณา บางทีเรา ก็จะหลงประเด็น ไปทุ่มเทเอากับวัตถุข้าวของที่ไม่ต่างอะไรกับเศษขยะของโลก จนลืมจิตใจที่วิเศษ ที่ดีงามของเรา ซึ่งใจ วิเศษ ที่จะได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่ขยันทำแบบฝึกหัด ขยันอ่าน ขยันพิจารณา จิตใจและอารมณ์ของเรา ให้ได้อยู่เสมอๆ

วิถีชีวิตของกรรมกรศาสนา ทำงานพร้อมกับการสั่งสมอัตตาโดยไม่มีสติรู้ตัว หลงประเด็นของปริมาณ มากกว่าคุณภาพ แต่วิถีชีวิต ของนักปฏิบัติธรรม การงานจะดำเนินไปพร้อมกับอ่านจิต ตรวจจิตอยู่ทุกขณะ มีการลดละ อยู่ตลอดเวลา และนี่แหละคือวิถีชีวิตของคนบุญนิยมตัวจริง!

- ทีมข่าวพิเศษ -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


นร.สัมมาสิกขาสันติอโศก
ร่วมงานงดเหล้าเข้าพรรษา
ณ ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ๕๐ องค์กร องค์กรงดเหล้า ๕๐ องค์กร จัดงานเปิดตัวเครื่องดื่มทางเลือกใหม่ "อัลเทอร์เนทีฟ ดริงก์" (Aternative Drink) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่ทำจากสมุนไพรและผลไม้ ที่คิดค้นโดย นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นการสนอง ต่อมติของคณะรัฐมนตรี ที่รณรงค์ให้ทุกวันอาทิตย์ เป็นวัน ครอบครัวแข็งแรง และให้หน่วยงานต่างๆควบคุม และลดการดื่มเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมี น.ส.มรกต กิตติสาระ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สและรองทั้ง ๒, กลุ่มนิสิตนักศึกษาจาก ๑๒ สถาบัน นำเครื่องดื่ม ไร้แอลกอฮอล์ หลากหลายชนิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีดื่ม เพื่อรณรงค์ ให้คนรุ่นใหม่ ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำลายสุขภาพในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ปรากฏว่า ได้รับความสนใจ จากบรรดารัฐมนตรีที่มาลองชิมรสชาติเครื่องดื่มทางเลือกใหม่จำนวนมาก

นายศักดา ยมโคตร นักเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก ชั้น ม.๕ ได้เล่าบรรยากาศให้ฟังว่า "ไปกันทั้งหมด ๑๑ คน เป็น นร. ชั้น ม.๕, ม.๖ ช่วยถือป้ายรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานเปิดงาน และมีมิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์ส พร้อมรอง มาถือป้ายด้วย

เพื่อนๆที่ไปก็ชูป้ายรณรงค์งดเหล้าให้คณะรัฐมนตรีดู ผมและพี่ท็อปมีหน้าที่ถ่ายวิดีโอเก็บบรรยากาศ พอรัฐมนตรี เดินออกมา หรือเดินเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล พี่นักศึกษา ก็จะแจกเข็มกลัดติดเสื้อ, สติ๊กเกอร์ และเสื้อยืด งดเหล้าฯ และนำน้ำผลไม้ชนิดต่างๆ ให้ดื่มดับกระหายหลังประชุม เป็นเครื่องดื่ม ทางเลือกใหม่ มีนักข่าวเดินชิม คุณสุดารัตน์ ก็เดินดูและชิมน้ำต่างๆ หลังจากนั้น ถ่ายรูปร่วมกันกับ คุณสุดารัตน์ ประมาณ ๑๔.๓๐ น. งานเสร็จ ช่วยกันเก็บกวาด

มีพี่นักศึกษา นักข่าวเข้ามาถามเหมือนกันว่าทำไมแต่งตัวอย่างนี้ ไปครั้งนี้รู้สึกประทับใจ ที่ครั้งหนึ่ง ในชีวิต ของเรา ได้มีโอกาส เข้าไปเหยียบ ถึงทำเนียบรัฐบาล ได้เห็นคณะรัฐมนตรี ได้เห็นนายกฯอย่างใกล้ชิด ได้เห็น การทำงาน ของนักข่าว ก็ได้ประสบการณ์ตรงนี้

โครงการงดเหล้าฯ รู้สึกดีที่ช่วยกันรณรงค์เรื่องการงดเหล้า เพราะประเทศไทย สูญเสียงบประมาณ แผ่นดิน สิ่งของมีค่า ทรัพย์สินเงินทอง ไปมากมายเพราะการ ดื่มเหล้า ก็อยากให้ครม.เห็นความสำคัญในจุดนี้ และ แค่ครม. อย่างเดียว ก็ไม่ได้ ต้องกระจายความรู้ การรณรงค์สู่ประชาชนด้วย เพราะจะได้รับรู้ถึงโทษภัย จึงจะประสบ ความสำเร็จ"

น.ส.เกษราภรณ์ แจ่มใส นร.สส.สอ. ชั้น ม.๖ "บรรยากาศภายในงาน ท่านรัฐมนตรี สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้มาเยี่ยมชม และชิมเครื่องดื่ม ที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ของแต่ละซุ้ม โดยที่แต่ละซุ้มจะมีสโลแกน และ ท่าประกอบ การนำเสนอ เครื่องดื่มของตน ให้ท่านรัฐมนตรีสุดารัตน์ได้ชม ซึ่งเป็นเทคนิค การเชิญชวน ให้ดื่มเครื่องดื่ม ที่มีประโยชน์อย่างหนึ่ง

สุดท้ายมีการถ่ายรูปร่วมกัน แต่งานของพวกเรายังไม่จบนะคะ เพราะต้องรอเชิญชวนคณะรัฐมนตรี ที่ประชุม เสร็จแล้ว ให้ร่วมรณรงค์ การงดเหล้าเข้าพรรษาด้วย ถึงแม้พวกเราจะต้องยืนนานจนเหนื่อย และเมื่อยล้า กันมาก แต่พวกเรา ก็อดทน ทำหน้าที่ที่เป็นกุศล ให้สำเร็จ

สำหรับหน้าที่หลักของ นร.สัมมาสิกขา คือ ช่วยถือป้ายรณรงค์ ซึ่งเป็นส่วนให้งานนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยมีข้อความ เช่น "ทำเพื่อลูกมาทั้งชีวิต เข้าพรรษานี้งดเหล้า เพื่อแม่บ้าง", "อย่าเสียคนด้วยน้ำเมา", ฯลฯ และ อีกหลายๆ ข้อความ ที่เป็นสิ่งเตือนใจ ให้งดดื่มเหล้าเข้าพรรษา".

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

กวาดบ้านถูบ้านต้านมะเร็งสตรีได้
ไม่แพ้กับออกกำลังด้วยการเดิน

ฉบับนี้นำบทความจาก นสพ. ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑ เม.ย.๔๗ มาฝาก เพราะเห็นว่า น่าจะมีประโยชน์ต่อ ท่านสมาชิก หญิงๆ ของเรา ที่แม้จะมีบทบาทในสังคมอย่างไร แต่ถึงอย่างไร ก็ยังต้อง คุ้นกับ "งานบ้าน" อยู่ดี เรื่องของเรื่องก็มีดังต่อไปนี้

"ผู้หญิงที่ขยันทำงานบ้าน แม้แต่กวาดบ้านถูบ้านจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งมดลูกไม่ให้มาแผ้วพาน ได้เกือบถึง ๓๐ % มากเท่าๆ กับการออกกำลังด้วยการเดิน

ทั้งนี้ เป็นรายงานผลการศึกษา ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมสมาคมวิจัยโรคมะเร็งอเมริกัน รายงานได้ แสดงให้เห็นว่า ยิ่งแม่บ้านที่ทำงานบ้านวันละนานๆ ก็ยิ่งจะห่างไกลโรคร้ายได้มากขึ้น เช่น ผู้ที่ทำงานบ้านวันละเกินกว่า ๔ ช.ม. ก็จะหนีโรคได้มากกว่าเพื่อนที่ทำไม่ถึงวันละ ๒ ช.ม. เยี่ยงเดียวกับผู้ที่ออกกำลังด้วยการเดิน ผู้ที่เดินได้นาน วันละ ๑ ช.ม. ก็ย่อมปลอดจากโรค ได้มากว่าผู้ที่เดินเพียงแค่ วันละไม่ถึง ๓๐ นาที

ดร.ชาร์ลส์ แมทธิวส์ ในคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยแวนเดอบิลต์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ผลการศึกษา ได้ยืนยัน ความเชื่อที่ว่า ถ้าคนเรา ทำตัวให้เป็นคนขยันเอาไว้ ก็สามารถจะหลบเลี่ยงโรคมะเร็งได้ ชั่วแต่ทำกิจกรรม ที่ง่ายๆ ไม่หนักหนาอะไรมาก อย่างเช่น ด้วยการเดินและทำงานบ้านเท่านั้น"

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ต่อไปนี้หลาย ต่อหลายคนที่อาจเห็น "งานบ้าน" เป็นยาขม ก็อาจจะเปลี๋ยนไป หันมาเพิ่ม น้ำหนัก และให้ความสำคัญ กับการทำงานบ้านมากขึ้น ก็เพราะ"งานบ้าน" ให้เราได้มากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ของความสะอาด ที่จะนำมาถึง สุขอนามัยที่ดี รวมไปถึงความสบายหูสบายตาของทุกๆคน ในครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้ได้ ออกกำลังกาย ซึ่งจะกลายเป็นยาดี หนีมะเร็งมดลูกได้ถึง ๓๐ % อีกด้วย

โอโฮ! เห็นจะมัวรอช้าอยู่ไม่ได้ ชวนกันมีความสุขกับงานบ้านกันดีกว่า ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด จริงๆนะเนี่ย.

- บุญนำมา รายงาน -

(จาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑ เม.ย.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี

เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค. - ๔ มิ.ย.๔๗ ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี ได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตร เยาวชนคน สร้างชาติ มีโรงเรียน ๓ แห่งส่งเด็กเข้าอบรมรวมทั้งหมด ๘๐ กว่าคน มีครูมาช่วยดูแลโรงเรียนละ ๒-๓ คน ทีมครูฝึก และพี่เลี้ยงของเรา ก็มาจากปฐมอโศกและสันติอโศก มาช่วยกันปราบเซียน อบรมผู้ใหญ่มา ๒๐ กว่ารุ่น ไม่เคยมีปัญหาอะไร พอมาเจอเจ้าตัวเล็กรุ่นนี้เข้า ก็แทบไม่ได้หลับได้นอนเลย มุ้งขาดไปหลายรู ก๊อกน้ำ ก็หัก ถังน้ำก็แตก ต้องพยายามปรับกลยุทธ์กันอย่างหนัก กว่าจะจบหลักสูตร ๕ วัน ๔ คืน ครูฝึกของเรา ก็แทบหมดแรง ไปตามๆกัน แต่ผลออกมาเราก็ชนะใจคุณครูที่พาเด็กมาอบรม เพราะแรกๆเขาไม่เชื่อว่า ทีมอบรมของเรา จะเอาเด็กของเขาอยู่ งานนี้ผู้ปกครอง ยังตามมาคอยเชียร์ คอยให้กำลังใจครูฝึกของเรา แทนที่จะให้กำลังใจ เด็กของเขา

วันสุดท้ายช่วงพิธีอำลา เด็กๆน้ำตาไหลกันกว่าครึ่ง ต้องยกความดีให้กับครูฝึกของเราที่มีความอดทน เป็นเยี่ยม เอาชนะใจครู เด็กและผู้ปกครองได้หมด ถึงกับเรียกร้องให้เราจัดอบรมอีก แต่คงต้องคิดดูก่อน เพราะเหนื่อยจริงๆ ! (ฮา).

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

?P1_Prod_Version=ShockwaveFlash" type="application/x-shockwave-flash" width="200" height="200">
หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ. ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๓๗(๒๕๙) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ส.ค.๔๗

ขอนำข่าวความเคลื่อนไหวของชาวเรามาฝากกัน ดังนี้

ถวายเป็นพระราชกุศล...เนื่องในวโรกาสเทศกาลวันแม่ ซึ่งปีนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมายุ ครบ ๖ รอบ (๗๒ พรรษา) ทาง ชมร.เชียงใหม่ จึงตั้งใจทำอาหารด้วยพืชผักไร้สารพิษ ๑๐๐ % (เมื่อวันที่ ๓ ส.ค.๔๗) หลังจากทำบุญวันเกิดของร้านครบ ๑ นักษัตรเมื่อวันที่ ๒ ส.ค.๔๗ เพื่อให้ลูกค้า ได้รับประทานอาหาร ที่ปลอดภัยสะอาดบริสุทธิ์จากสารเคมีจากแม่(ค้า) ความจริงน่าจะเรียกว่า แม่(ให้) มากกว่า เพราะต่างมา ทำงานฟรีไม่มีเงินเดือน จนกระทั่งในขณะนี้ลูก(ค้า) ก็กลายเป็นลูก(ให้) ตามแม่(ให้) กันหลายคน เพราะได้เห็น ความกล้าจนของแม่(ให้) ที่นอกจากจะทำงานให้ฟรีแล้ว ยังแจกอาหารฟรีอยู่บ่อยๆ

และในวันที่ ๑๒ ส.ค.ที่ผ่านมา บรรดาแม่(ให้) ก็ได้ให้ได้แจกสมุนไพรให้ลูกค้ากลับไปต้มดื่มกันที่บ้าน

การส่งเสริมพืชผักไร้สารพิษ จะช่วยให้ผู้ปลูกหรือกสิกรไม่ทำร้ายดินด้วยสารเคมี อันจะส่งผลดีต่อดิน น้ำ อากาศ ก็จะสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น ต้นน้ำลำธารแหล่งชีวิตของป่าและสรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งคนด้วย ก็จะใส สะอาด ปราศจากพิษภัย นานาประการ

การรักษาสิ่งแวดล้อมของ ชมร.ช.ม. นอกจากจะใช้พืชผักไร้สารพิษล้วน (แต่ก่อนก็เกือบ ๑๐๐ % แต่ในเทศกาล วันแม่ เดือน ส.ค.ปีนี้ทำได้ถึง ๑๐๐ %) ก็ยังงดใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และนำกล่องโฟม มันสำปะหลัง ซึ่งย่อยสลายง่าย เป็นอาหารสัตว์ ก็ได้ (พูดง่ายๆก็คือสัตว์สามารถเคี้ยวกลืนทั้งกล่องได้เลย) มาใช้เป็นภาชนะ ใส่อาหาร โดยยอมลดราคากล่องโฟมมันสำปะหลัง จากราคา ๖ บาทเหลือเพียง ๔ บาท สร้างความเป็น "งง" ให้กับลูกค้า ที่เรากล้าให้ จนมีเจ้าหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมใน จ.เชียงใหม่ มาติดต่อให้เราเป็นผู้นำ ด้านการรักษา สิ่งแวดล้อม...จี๊ดๆๆๆ...

วิกฤตเป็นโอกาส...จะมีสักกี่คนที่จะเชื่อว่า มีคนหลายคนในหมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศกอยากให้น้ำท่วม สูงๆ โดยเฉพาะเด็กๆ ในหมู่บ้าน ในขณะที่ประชาชนในหมู่บ้านอื่น รู้สึกหวาดวิตก และเดือดร้อนจากน้ำที่สูงขึ้น จนเกือบถึง หลังคาบ้าน บางบ้านก็โผล่ขึ้น จากน้ำเพียงแค่หลังคานิดหน่อย

แต่จิ้งหรีดเชื่อนะฮะ ใครไม่เชื่อก็เดินทางไปดูได้ที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นี่ถ้าท่วมขึ้นไปเรื่อยๆ พ่อท่าน ก็จะให้จัดงาน ฉลองน้ำใน หมู่บ้านเช่นเดียวกับทุกปีที่น้ำท่วม ซึ่งน้ำก็ท่วมเกือบทุกปี จนชาวบ้านเคยชิน กับการย้าย ข้าวของหนีน้ำ

โรงสีข้าวที่คิดว่าจะย้ายไปสร้างที่นั่นที่นี่ แต่พอเกิดอุทกภัย พวกเราก็เกิดปัญญา พูนดินให้เป็นกองสูง เพื่อขนย้าย ข้าวเปลือก ขึ้นเนินดินที่พูนขึ้นมานั้น แล้วสร้างโรงเรือนกันสายฝนตกลงมาถูกข้าวเปลือกเปียก ที่จริง ปัญหาน้ำท่วม ก็มีแทบทุกปี แต่เพิ่งจะได้โอกาสที่ดี ในปีนี้เนรมิตโรงเก็บข้าวเปลือกที่น้ำท่วมไม่ถึง สร้างที่พัก ข้าวเปลือก ได้ทันก่อนถูกน้ำท่วม

หลวงตารูปหนึ่งได้พูดถึงบ้านราชฯว่า กู้เรือเก่ง แต่รักษาเรือยังไม่เก่ง เพราะปล่อยให้เรือจมไปหลายลำ ขนาด หลวงตาเทินธรรม ยังพลาดท่าตกน้ำ ซึ่งก่อนจะลงน้ำ สีข้างลำตัวก็ไปฟาดกับขอบเรือจนบวมปูด แต่หลวงตา ก็บอกว่า พอทนได้ ส่วนพลาดแบบไหน คงต้องไปถามหลวงตาเทินธรรม และเหตุการณ์นี้ ก็คงเป็นการยืนยัน คำพูดของหลวงตาที่ว่า "กู้เก่ง แต่รักษาไม่ค่อยเก่ง" ได้กระมังฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

เลือกผู้ว่าฯ...จิ้งหรีดก็ขอฝากมาถึงญาติธรรมทุกท่านที่คิดว่า ตัวเองเป็นพลเมืองดีของชาว กทม.นะฮะ ก็อย่าลืม วันที่ ๒๙ ส.ค.นี้ ช่วยกันไปลงคะแนนให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใด คนหนึ่ง ที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม ที่จะให้มาเป็น ผู้รับใช้ชาว กทม. จิ้งหรีด สืบรู้มาว่า คราวนี้ญาติธรรมเรามีคนในดวงใจต่างกันหลายคนด้วยนะฮะ ก็ไม่เป็นไร เลือกใครก็ได้ แต่ขอให้ไปช่วยกันลงคะแนน จะได้เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคมฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

เริ่มลงมือก่อสร้าง... เริ่มดำเนินการสร้างแล้วสถาบันบุญนิยมบริเวณที่จอดรถหลังบจ.พลังบุญ ส่วนที่จอดรถ ย้ายไปที่ ซอยเทียมพร สำหรับตลาดนัดวันอาทิตย์ก็ย้ายมาอยู่ซอยหน้าวัดเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ส.ค. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป แล้วปีหน้า เราจะได้พบกับ สถาบันบุญนิยมอยู่ที่นี่ ...จี๊ดๆๆๆ...

พัฒนาล้ำหน้า... นอกจากจะมีศาลาไทยอีสานหลังใหม่เพิ่มขึ้นอีก ๑ หลังรวมเป็น ๓ หลัง พร้อมกับ บรรยากาศ อันร่มรื่น ของน้ำตก ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา อุทยานบุญนิยมฯ จ.อุบลฯ เปิดจำหน่ายทุกวัน โดยมีทีมนิสิต-นร.สสธ. หมุนเวียนไปช่วยอย่างลงตัว และทุกวันพระ ก็ยังมี นร.สสธ.ออกเดินขายอาหารตามบ้านอีก ๓ ทีม คือ ตลาดใหญ่, ตลาดน้อย และตลาดบ้านดู่ ซึ่งได้รับการอุดหนุนอย่างดี จากพี่น้องชาวอุบลฯเหมือนเช่นเคย

โดยใช้เฉพาะผักไร้สารพิษเท่านั้นและพิเศษกว่าที่อื่นคือปรุงด้วยน้ำมันงา จึงมีการปรับราคาอาหารเป็น ข้าวราด กับ ๑ อย่าง ๑๐ บาท ราดสองอย่างขึ้นไปราคา ๑๕ บาท ข้าวเหนียวกล้องคลุกงาเปลี่ยนเป็น ๗ บาท กับข้าว ใส่ถุง ๑๒ บาท อาหารเป็นชุด ๑๕ บาท อย่างนี้เรียกว่าอาหารเพื่อสุขภาพจริงๆ และทุกวันพุธ, ศุกร์และอาทิตย์ มีตลาดนัด พืชผักผลไม้ไร้สารพิษเป็นประจำอีกด้วย จิ้งหรีดขออนุโมทนา... จี๊ดๆๆๆ...

สถานการณ์น้ำท่วมบ้านราชฯ ขณะนี้... บรรดาครอบครัวที่มีลูกเด็กเล็กแดง และผู้อายุยาวส่วนหนึ่ง ก็ย้ายไป อยู่ที่อุทยานฯ ชั่วคราว ทำให้อุทยานฯช่วงนี้คึกคักเป็นพิเศษ สำหรับงานฉลองน้ำ คาดว่าจะเป็นเดือน กันยายน หากว่าน้ำ ไม่ลดลงไปเสียก่อน....

แม้น้ำจะท่วม แต่โรงสีบ้านราชฯ ก็สามารถส่งข้าวไปขายได้ตามปกติ เพราะได้ทำฉางข้าวบนภูเขา ที่ถมดินไว้ ใกล้โรงสี เรือใหญ่เข้าถึงลานตาก และขนข้าวขึ้นเรือมาขายได้สบายๆๆ.... จี๊ดๆๆๆ...

มรณัสสติ
นางทอง สุเวชพงษ์ อายุ ๘๓ ปี (โยมแม่ของสมณะชาติดิน ชัญโญ) เสียชีวิต ฌาปนกิจศพที่วัด สามัคคีสโมสร อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เมื่อวันพุธที่ ๒๘ ก.ค.๔๗

ช่วงท้ายขอฝากคติธรรม-คำสอนของพ่อท่าน ที่ว่า

การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการ
ด้วย "อำนาจ" ที่เป็น "ธรรม"
ศาสนาเป็นเรื่องของการจัดการ
ด้วย "ธรรม" จนมีฤทธิ์มีผลเป็น "อำนาจ"
งานการเมืองเป็นงานสร้าง "ระบบ"
เป็นงานสร้าง "โครงสร้าง" และใช้ "ระบบ" เป็นหลัก
งานศาสนาเป็นงานสร้าง "คน" ให้ดี
แล้วคนดีจะไปสร้าง "ระบบ"
"ระบบ" หรือ "โครงสร้าง" แม้จะดี
แต่ถ้าคนไม่ดี สังคมก็จะแย่ จะเสื่อมเสียเลวร้ายได้
ในทำนองกลับกัน
"ระบบ" หรือ "โครงสร้าง" แม้จะไม่ดี
แต่ถ้าคนดี สังคมก็ยังจะพอเป็นอยู่สุขได้
ดังนั้นงานศาสนาจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
เป็นหลักสำคัญยิ่งกว่างานการเมือง.
(๑๒ มี.ค.๓๕)

(จากหนังสือโศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๘๕)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

สบู่ใครคิดว่าสำคัญ ?

*** ข้อคิดจากพ่อท่านเรื่องสบู่
อาตมารู้ว่าคนเรามีอุปาทานอย่างหนึ่ง ว่าถ้าไม่ได้ถูสบู่เหมือนไม่ได้อาบน้ำ แต่ถ้าได้ฝึกจริงๆแล้วไม่ต้อง ถูสบู่ อาบน้ำใช้ผ้าผืนหนึ่ง ถูเช็ดตัว เช็ดขี้เหงื่อ มันก็เรียบร้อย อาตมาก็ทำมา ๓๐ กว่าปีแล้ว ก็ไม่ได้ใช้สบู่ แล้วไม่รู้ว่า ใช้ทำไม ใช้ไม่เป็นแล้ว ก็ไม่เห็นว่า เราสกปรกตรงไหนหรือมันเป็นอะไรในตัวของเรา ไม่รู้สึกว่ามันขาด ไม่รู้สึกว่า มันบกพร่องตรงไหน ที่เราไม่ได้ใช้สบู่ ถ้าฟอกสบู่ ล้างที่เลอะเทอะก็เป็นเรื่องสุดวิสัยที่ต้องใช้สบู่ อาตมารู้ว่า อาตมาไม่ได้สกปรก เหม็น เลอะเทอะอะไร อาตมาไม่ได้ใช้สบู่ มาตั้ง ๓๐ ปี อาตมาว่า ทำไมจะทำไม่ได้ มันน่า จะพัฒนาได้ นี่ก็ฝากให้ลองไปฝึกฝนดูซิ

มีอันหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทานมากก็คือ ในสบู่นี้มีโซดาไฟ ทีนี้ผิวหนังของคน เมื่อโซดาไฟทำปฏิกิริยากับไขมัน ที่ฉาบผิวเรา มันจะทำปฏิกิริยา ชำระไขมันที่ฉาบผิวเราออก คนจะรู้สึกว่ามันแห้ง ทำให้รู้สึกว่า มันเกลี้ยง ที่จริงมันผิดธรรมชาติ แล้วเอาความรู้สึก เอาสัมผัสนั้น เป็นความสะอาดสะอ้าน แต่ความจริงความสะอาด ที่ไขมัน ฉาบผิวออกไปนี้ เสียหายนะ เป็นทางมาแห่งโรคได้เร็วขึ้นด้วย เพราะว่าน้ำมันธรรมชาติ ที่มันหล่อเลี้ยงอยู่ มันช่วยผิวหนัง ป้องกันอะไรได้ตั้งเยอะ และทำให้ผิวหนังให้เราดีด้วย แต่คนเราเอาความรู้สึก เพราะฉะนั้น ต้องอธิบายความจริงพวกนี้ ให้เขารู้สึกอุปาทานนั้นจริงนะ มันแห้ง เขารู้สึก เออ!! แห้งคือเกลี้ยง แต่ความจริง แห้งจริง เพราะโซดาไฟทำปฏิกิริยาเอาไขมันออก คุณก็จะขาดน้ำมันนั้นออกไป แล้วก็เลยยึดติดว่า แห้งคือ สะอาด จริงๆมันเกินสะอาด มันไม่ใช่สะอาด มันทำลายตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ว่า ผิวหนังที่มีความมัน นิดหน่อยนี้ กำลังพอดี แต่มันไม่ได้สกปรก ไม่ได้เป็นอะไร มันกำลังดี ต้องเข้าใจอันนี้ ถ้าไม่เข้าใจ เราจะรู้สึก ว้า!! เหนียวเหนอะหนะ จะรู้สึกว่าไม่สะอาด เพราะมันไม่แห้ง ถ้าเข้าใจตรงนี้จะชัดเจน

ทำใจใหม่ ผิวหนังคนที่มีความมันนิดหนึ่งมาเลี้ยง เป็นผิวหนังที่มีคุณภาพดี และทำให้เกิดความยืดหยุ่น ความสด ที่ถูก ไขมันหุ้ม ไขมันธรรมชาติทำให้หล่อเลี้ยง ความสด หล่อเลี้ยงให้เกิดความยืดหยุ่น จะเป็นผิวหนัง ที่ทนทาน เป็นผิวหนังที่ดี ตามธรรมชาติ แต่คนไปหลอกล่อกัน อาตมาว่าความจริงสมัยโบราณ ไม่มีการถูสบู่ แล้วก็ไม่เห็น จะเป็นอะไร นี่คือความพอดีที่สะอาดที่สุด สะอาดที่ต้องมีสิ่งนี้พอเพียง ถ้าไม่มีสิ่งนี้กลับเกินสะอาด มันแห้งเกินไป พอแห้งเกิน ก็ซื้อน้ำมันมาทา โง่ตายชักเลยคนพวกนี้ แล้วก็มาล้าง ล้างแล้วก็มาทาใหม่ จะบ้าหรือไง ต้องเข้าใจ ตรงนี้ให้ชัด พอจิตรู้จักจุดกลับตรงนี้ก็จบ ต่อไปอนาคตไม่มีปัญหา

ส่วนการที่ร้านค้าจะขาย เราต้องรู้ว่าร้านค้าเขาก็ต้องค้าบางสิ่งบางอย่างที่แม้พวกเราก็ไม่ได้ใช้ สินค้าในร้าน มีเยอะไป ที่เราไม่ได้ใช้ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนี้ เราก็สบายๆ จะขายก็ขายไป แต่ถ้าเราจะไปผลิตสินค้า ที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ก็เมื่อเราไม่ได้ใช้แล้วจะผลิตทำไม มันไม่ได้มอมเมา มันไม่ได้ทำพิษทำภัย ไม่ได้เป็นมิจฉาณิชชา เราก็ขาย มันเป็นความจำเป็นที่เขาต้องใช้ แต่เราพ้นมากว่านั้นแล้ว เราไม่ใช้ เหมือนเราไม่ได้ใช้เสื้อสวย เสื้อสวย มันไม่ได้เป็นพิษหรอก มันก็มอมเมาบ้างเท่านั้นเอง แต่ถึงมอมเมา เราก็มีสวย แค่ขนาดหนึ่ง เราก็ไม่ได้มอมเมา เราก็มีขายอยู่บ้าง เสื้อสวยกว่าปกติ ซึ่งเราก็ไม่ได้ซื้อใช้กันแล้ว

ของจำเป็นที่เราจะผลิตมีมากกว่านั้น เอาแรงงานมาผลิตของที่จำเป็นมากกว่านั้นดีกว่า

บางทีอยู่ที่ประเด็นเงิน เราต้องมารู้เนื้อหาสาระ เราทำงานเพื่ออุดมการณ์ เพื่อสาระ เราไม่ได้ทำงาน เพื่อเงิน งั้นใคร ที่ไปมองขี้โลภอยู่ อย่างมองเงิน ก็แน่นอน คุณก็หลงทิศไปทางโน้น ถ้าใครไม่ได้หลงทิศไปทางโน้น เพราะเขา ไม่หลงเงิน มันก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามขัดเกลาคนที่ติด เงินอยู่

ฉะนั้นบางสิ่งบางอย่างเราไม่ได้ใช้ ถ้าเราไม่ได้ใช้เราก็ขายของคนอื่น เอาขีดตรงนี้ก็ได้ ถ้าอะไรที่เราไม่ได้ใช้ แต่ก็เป็น ของสังคม มันก็ไม่ใช่ของพิษของภัยอะไร ร้านค้าก็ขายบ้าง อันนี้เราก็ไม่ต้องไปผลิตสิ

สรุป สบู่ก้อนถูตัวเราก็ไม่น่าจะผลิต การสอนชาวบ้านก็สอนไป เราก็บอกเขา บอกคนที่เราสอนนี่แหละว่า เราสอน ให้ได้ แต่พวกเราไม่ได้ใช้กันแล้ว เราก็เลยไม่ผลิตกัน แต่เราก็มีความรู้สอนได้ คุณจะไปทำอะไร ก็เรื่องของพวกคุณ เราก็บอก ให้เขาทราบอย่างนี้ มันก็จะได้ไม่ขัดแย้ง ถ้าเขาถามเหตุผลเพิ่มเติมขึ้นว่าทำไม ก็บอกว่า เราไม่จำเป็นแล้ว

ส่วนเด็กสัมมาสิกขาจะใช้ก็สอนกันไป เด็กเรารับใหม่ทุกปี ก็ต้องบอกสอนกันไปเรื่อยๆ

ที่มา : ที่ประชุมพาณิชย์บุญนิยม เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗


*** ความรู้เรื่องผิวหนัง
ความยืดหยุ่นของผิวหนังขึ้นกับปริมาณความชื้น ถ้าสูญเสียความชื้นไปมากเซลล์จะแตก และเปราะ ซึ่งไม่สามารถ ทดแทนได้ด้วยน้ำมัน แต่ถ้าเพิ่มน้ำให้กับเซลล์ ความยืดหยุ่นจะกลับดีขึ้นมาได้

การที่หนังกำพร้าไม่แห้ง เพราะมีความชื้น และไขมันมาเคลือบอยู่ Flesch (๑๙๕๖) ได้มีการศึกษาพบว่า หนังกำพร้า มีสารที่ละลายน้ำได้ ๒๐% ซึ่งเป็นสารดูดความชื้นได้ดี (hygroscopic) เช่น กรดไขมันอิสระ, ribose, desoxyribose และ purine ส่วนไขมัน (skin fat และ sebum) เป็นตัวช่วยกั้นการผ่านออกของน้ำ ช่วยลดการระเหยของน้ำออกจากผิว

เครื่องสำอางหลายชนิดที่มีผลต่อหนังกำพร้า เช่น ผงซักฟอกและสบู่ จะขจัดไขมันออกจากผิวหนัง ทำให้ผิวแห้ง เพราะความชื้น ระเหยเร็วออกมากกว่าปกติ การใช้ครีมทาผิวสามารถทดแทนไขมันส่วนนี้ได้ จะช่วยให้ผิว ไม่แห้งได้

สภาพกรด (Acid mantle) ของผิวหนัง
ผิวหนังที่สมบูรณ์ที่แข็งแรง จะมีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ (พีเอช ๔-๖) ความเป็นกรดของผิวหนังในแต่ละคน และใน แต่ละบริเวณ จะไม่เท่ากัน ขึ้นกับส่วนประกอบที่ทำให้เกิดกรดเหงื่อ ความเครียดของอารมณ์ เป็นต้น ความเป็นกรด ของผิวหนัง จะช่วยยับยั้ง การเจริญเติบโตของเชื้อรา และแบคทีเรีย บนผิวหนัง (ซึ่งเจริญดีที่ พีเอช ๖-๗.๕) บริเวณที่อับชื้นง่าย เช่น รักแร้ ง่ามนิ้วมือ ง่ามนิ้วเท้า น้ำระเหยออกยาก ผิวหนังอาจมีพีเอชสูงถึง ๗ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าว เจริญได้ง่าย ก่อให้เกิดกลิ่นตามมา Peck (1974) ศึกษาพบว่า propionic acid, capronic acid และ caprylic acid ที่มีในเหงื่อ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้ดี นอกจากนี้ไขมันบนผิวหนัง เช่น C9-15 saturated fatty acid มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้, C14-22 unsaturated fatty acid ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได

buffer capacity ของผิวหนังมีความสำคัญต่อการปรับสภาพกรด - ด่าง ของผิวหนัง Szakall ทดลองใช้สบู่ล้างผิว ผิวจะมีพีเอช เพิ่มเป็น ๗ ซึ่งสามารถ สะเทินโดยผิวหนังภายในครึ่งชั่วโมง ทำให้ผิวหนังมีความเป็นกรด อย่างเดิม แต่ถ้าเป็นแบบนี้ บ่อยๆ จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญดีขึ้นมาได้ เพราะลดความต้านทานของ คีราตินลงไป (กรดบนผิว ถูกสะเทินบ่อยๆ ประสิทธิภาพจึงลดลง) ดังนั้นการใช้สบู่ล้างมือบ่อยๆ นอกจาก ทำให้ผิวแห้ง เพราะสูญเสีย ไขมันแล้ว ยังทำให้คีราติน มีความต้านทานเชื้อโรคลดลง และมีความเปราะ ทำให้ผิวหยาบ แห้งตามมา

ระบบการสร้างคีราติน (Keratinization) ของผิวหนัง
สารคีราติน (keratin) เป็นสารที่พบในเซลล์หนังกำพร้าชั้นบนสุด ซึ่งเป็น เซลล์ที่ตายแล้ว และมีวงจรหลุดลอกออก เป็นขี้ไคลได้ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบของเส้นผมและขน เล็บ คีราตินเป็นโปรตีนที่มีโครงสร้าง disulfide bridge สารนี้ปกติ จะช่วยปกป้องร่างกายจากสิ่งต่างๆ เช่น สารเคมี แสงแดด เป็นต้น เพราะเป็นสารไม่ละลายน้ำ ทนกรด -ด่าง และช่วยสะท้อนแสง UV ที่ทำอันตรายต่อผิวหนัง

การระคายเคืองจากเครื่องสำอาง มักเกิดจากสบู่ ซึ่งมีความเป็นด่าง ทำให้ผิวหนังแห้ง และถ้าผู้ใช้สบู่ มีการถู แรงๆ เพื่อให้สิ่งสกปรก หลุดออก ผิวจะสากแห้งมากขึ้นทำให้เกิดการแพ้สารอื่นตามมาได(cross sensitization) นอกจากนี้อาจเกิดการรบกวนรูขุมขน เกิดการระคายเคืองต่อต่อมไขมัน ทำให้ไขมันอุดตัน รูขุมขน ทำให้เกิดสิว ตามมาได้.

หนังสืออ้างอิง : เครื่องสำอางสำหรับผิวหนัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมพร ลีลาพรพิสิฐ ภาควิชาเภสัช อุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กำหนดแนวทางเรื่องทุนการศึกษา
เพื่อพัฒนาบุคลากรอโศก
ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก และประกาศนียบัตรชั้นสูง

อาตมาสมณะโพธิรักษ์ได้อนุมัติเห็นชอบให้กำหนดแนวทางดำเนินการเรื่องทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากร อโศก ในระดับ ปริญญาตรี-โท-เอก และประกาศนียบัตรชั้นสูง ตามที่คณะกรรมการสถาบันบุญนิยม ได้ระดมความคิด เสนอ โดยอาตมาได้เพิ่มเติม ให้สมบูรณ์ครบถ้วนดังนี้

ก. เกณฑ์พิจารณา
๑. การศึกษาในแขนงใด ต้องเป็นไปตามที่องค์กรชุมชนอโศกต้องการและประกาศทั่วทุกชุมชนชาวอโศก เพื่อให้ได้ ผู้เสียสละ ไปศึกษา อย่างเหมาะสม ตามลำดับความเร่งด่วนและความจำเป็นขององค์กรอโศก

๒. การรับสมัครจะต้องพิจารณากำหนดช่วงเวลาตายตัว เช่น ปีละ ๑ ครั้ง โดยผู้สมัครจะต้องศึกษา รายละเอียด ของหลักสูตร อย่างถี่ถ้วน และพิจารณาความพร้อมของตนให้มั่นใจได้ว่า จะไม่เกิดความเสียหาย ต่อการดำเนินงานทั้งปวง ขององค์กรอโศก

๓. หลักสูตรที่อนุญาตให้เข้าศึกษา จะต้องเป็นการศึกษานอกเวลาทำการขององค์กรอโศก เพื่อไม่ให้เสียงาน โดยรวม ขององค์กร เว้นแต่กรณีศึกษา ในหลักสูตรระยะสั้น

๔. ผู้ได้รับทุนจะเป็นผู้เสียสละ ทุ่มเทความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ ถ้าในขณะการศึกษา มีพฤติกรรม โดยมีหลักฐาน เพียงพอว่า ไม่เหมาะสมในการเรียน จะถูกพิจารณาระงับทุน

๕. เมื่อจบการศึกษาที่ได้รับทุน หากผู้ได้รับทุนไม่ยินดีช่วยงานขององค์กรอโศก ซึ่งเป็นงานไม่รับรายได้ ย่อมจะได้รับทัณฑ์ เสมอกับปาราชิก

๖. ผู้ที่มีสิทธิได้รับทุนต้องเป็นผู้ที่เอาภาระชุมชน เป็นเบื้องต้น

๗. ผู้ที่มีสิทธิได้รับทุนต้องอยู่ในพุทธสถาน/สังฆสถานขององค์กรอโศก (ต่อเนื่อง) อย่างน้อย ๖ ปี

๘. ผู้มีสิทธิได้รับทุนต้องปฏิบัติศีล ๘ เป็นอย่างต่ำ

๙. ผู้มีสิทธิได้รับทุนต้องมีสุขภาพดี

๑๐. ชุมชนที่ผู้สมัครสังกัด ต้องสมทบทุนอย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ของทุนที่อนุมัติให้ผู้ได้รับทุนจากชุมชนของตน


ข. ผู้รับผิดชอบกระบวนการพิจารณาให้ทุน
เบื้องต้น

๑. ชุมชนโดยที่ประชุมชุมชนพิจารณากำหนดความต้องการในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และส่งให้ ผู้จัดการ สำนักงานเลขาธิการ สถาบันองค์กรบุญนิยม เพื่อรวบรวมเป็นประกาศให้ทุกชุมชนทราบทั่วกัน
๒. ชุมชนโดยที่ประชุมชุมชนร่วมกันพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครขอรับทุนตามเกณฑ์ใน ก.

เบื้องกลาง
๑. หมู่สงฆ์ของชุมชนพิจารณากลั่นกรองขั้นสุดท้ายของชุมชนนั้น
๒. คณะกรรมการสถาบันบุญนิยมโดยคณะทำงานด้านเงินทุนการศึกษาขององค์กรอโศก จัดลำดับตามความจำเป็นเร่งด่วนของความต้องการโดยรวมขององค์กรอโศก พร้อมความเห็นกำกับ เพื่อความชัดเจน

เบื้องปลาย
๑. สมณะโพธิรักษ์พิจารณาอนุมัติ
๒. คณะกรรมการสาธารณโภคีดำเนินการจัดสรรทุนตามลำดับความเร่งด่วน ที่ได้รับอนุมัติมาแล้ว กรณีเงินทุน ไม่เพียงพอ ให้ขึ้นบัญชีรอไว้ สำหรับผู้ผ่านการอนุมัติลำดับต่อไป และประกาศชื่อ ผู้ได้รับทุน ให้ทราบทั่วกัน เมื่อได้รับ การบริจาคทุนเพิ่มเติม ให้พิจารณาจัดสรรเพิ่มเติม ให้ผู้ที่ขึ้นบัญชีรอไว้จนครบ หรือจนกว่าจะหมดทุน

๓. คณะกรรมการสาธารณโภคี ดำเนินการด้านสัญญาในฐานะผู้แทนระหว่างองค์กรอโศกกับผู้รับทุน โดยการมอบทุน จะทยอยจ่าย ตามหลักฐานการเรียกชำระ ค่าใช้จ่ายของสถาบันการศึกษา ผู้รับทุน มีหน้าที่ ต้องนำหลักฐาน การชำระเงิน มอบให้คณะกรรมการ สาธารณโภคี เพื่อเป็นหลักฐานทางบัญชี

๔. คณะทำงานด้านเงินทุนการศึกษาขององค์กร อโศก ในฐานะผู้แทนสถาบันบุญนิยม มีหน้าที่ประเมินผล การศึกษา ของผู้ได้รับทุน โดยเทียบเคียง กับเกณฑ์ความคาดหวังเพื่อการพัฒนาองค์กรอโศก หากพบว่า ผู้ได้รับทุน ไม่สามารถผ่านเกณฑ์ ความคาดหวัง หรือมีพฤติกรรม ไม่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ ในข้อ ๔ ก. และ ไม่สามารถปรับปรุงตนได้ ตามเวลาที่กำหนด ให้คณะทำงานฯ นำเรื่องสู่การพิจารณา ของสมณะโพธิรักษ์ เพื่อระงับทุน

ค. องค์ประกอบของคณะทำงานด้านเงินทุนการศึกษาขององค์กรอโศก
ประกอบด้วยผู้แทนคณะสงฆ์ และผู้แทนฝ่ายฆราวาส ดังนี้
๑. สมณะติกขวีโร ประธาน
๒. สมณะสิริเตโช คณะทำงาน
๓. สิกขมาตุจินดา คณะทำงาน
๔. สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน คณะทำงาน
๕. นางจุฬา สุดบรรทัด คณะทำงาน
๖. ทญ.ฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล คณะทำงาน
๗. นางสาวน้อมขวัญ ปัฐยาวัต คณะทำงาน
๘. นายร้อยแจ้ง จนดีจริง เลขานุการคณะทำงาน

ง. การพัฒนากองทุนการศึกษาฯ
โดยที่กองทุนการศึกษาเริ่มจากเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงจะต้องพัฒนา ให้กองทุนนี้ เติบโต และแข็งแรง เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนาคน ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทำประโยชน์ให้ส่วนรวม โดยไม่ให้ขาดสาย นับเนื่องเป็นนโยบายสำคัญ ประการหนึ่งขององค์กรชาวอโศก

จ. บทเฉพาะกาล
ให้กองทุนประเดิมผู้ได้รับทุนที่ผ่านเกณฑ์เป็นรายแรกในการพิจารณาของชุมชนสันติอโศก เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ นอกจากนี้ ให้ดำเนินการตามเกณฑ์ใน ก. โดยให้คณะทำงานด้านเงินทุนฯ ตาม ค. เป็นผู้รับผิดชอบ และปรับปรุง การดำเนินการ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์อยู่เสมอ

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางพวงทอง วิรุฬหกุล
เกิด ๓๐ มิ.ย. ๒๔๖๖
อายุ ๘๑ ปี
ภูมิลำเนา หลานหลวง กทม.
การศึกษา อาชีวะ(ตัดเย็บเสื้อผ้า) ร.ร.เสาวภา
สถานภาพ ม่าย บุตร ๕ คน
น้ำหนัก ๔๗ กก.
ส่วนสูง ๑๕๗ ซ.ม.

คุณยายพวงทอง อาสาสมัครอีกคนหนึ่งของชมร.ตั้งแต่อยู่ฝั่ง อ.ต.ก. ไปช่วยทำอาหารและช่วยตัก อาหารขาย เป็นคนขยัน ไม่อยู่นิ่ง ทุกวันนี้ยังแข็งแรง นั่งรถเมล์มาฟังธรรมที่สันติฯเกือบทุกอาทิตย์ ญาติธรรมใหม่ อาจไม่รู้จักยาย

*** แลไปข้างหลัง
มีพี่น้อง ๑๐ คน ยายเป็นคนโต พ่อเป็นตำรวจสันติบาล ต่อมาพ่อลาออกมาขายน้ำมันของเชลล์(shell) ตอนนั้น ยังไม่มีปั๊มน้ำมัน ขายแบบหัวเดียว โซล่าลิตรละ ๘๐ สตางค์เท่านั้น เบนซินลิตรละบาทกว่า แต่ได้กำไร ดีกว่าเดี๋ยวนี้นะ ขายอยู่ที่บ้านแถวบางเขน มีไม่กี่เจ้าหรอก รถยังไม่เยอะเหมือนอย่างนี้ ตอนนี้เลิกขายแล้ว

จบ ม.๓ จาก ร.ร.สายปัญญา แล้วไปต่ออาชีวะฯที่ ร.ร.เสาวภา หลักสูตร ๓ ปี เมื่อก่อนมี ๒ แผนกเท่านั้น ยายเรียนแผนก ตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนอาหารนี่เป็นประเภทครูพักลักจำ ตอนเรียนอาชีวะฯปีสุดท้าย สงครามโลก ครั้งที่ ๒ กำลังจะเลิก เขาก็เลยให้จบ ยกให้ฟรีปีหนึ่งไม่ต้องสอบ ถ้าสอบก็สอบได้ไม่ยากหรอก

เคยไปประกวดอาหารที่อำเภอบางเขน เป็นงานประจำปี สมัยนั้นมาลานำไทย ใส่หมวกตลอด เวลากรรมการ เดินมาที่ร้าน ยายก็ไม่มีเวลาไปทักทาย ไม่ได้เชิญเขา มัวแต่ทำอาหาร เพราะทำอยู่คนเดียว น้องก็ตัวเล็กๆ โฮ้ย..ยายนี่เหนื่อย ได้แค่รางวัลที่ ๒ ตอนนั้น ทำก๋วยเตี๋ยวราดหน้าประกวด

แต่งงานตอนอายุ ๒๓ ปี พ่อบ้านแก่กว่ายาย ๑๐ ปี ทำงานที่เดียวกันกับอาที่ โรงงานยาสูบ เป็นคนเมืองเพชร ส่วนยาย ก็รับตัดเย็บเสื้อผ้า แต่งงานแล้วมีลูกด้วยกัน ๕ คน ชาย ๒, หญิง ๓ พ่อบ้านเพิ่งเสียชีวิตไป เมื่อต้นปีนี้เอง แต่งงานแล้ว ก็เลี้ยงลูก สมัยก่อน เลี้ยงลูกเองไม่ลำบากหรอก

*** สังคมบุญนิยม
พ.ศ.๒๕๒๕ ยายอายุ ๕๙ ปี ญาติธรรมพามาที่สันติฯ เมื่อก่อนที่นี่ยังไม่เป็นแบบนี้เลย ก็เริ่มฝึกกินมังสวิรัติ ทางบ้าน ก็ไม่มีใครว่า เวลามาวัดก็จะไปอยู่กับกลุ่มของคุณยายสำอางค์

ทุกเสาร์-อาทิตย์ยายจะไปช่วยที่ชมร. ตรงเกาะลอยฝั่ง อ.ต.ก. ต่อมาย้ายมาที่ฝั่ง จตุจักร ไปช่วยตักอาหารขาย ตั้งแต่อาหาร จานละ ๕ บาท ช่วยทำขนมเต้าส่วนใบเตย ขายดีมาก ทำขายทุกอาทิตย์ คนติดใจ ไม่ไปคนถามหา บางที ก็ทำหมี่กรอบไปขาย ก็ยกให้วัดหมด ไม่ได้เอากลับคืนมา ออกทุนเอง ค่ารถเสียเอง ตอนย้ายมา หน้าสันติอโศก ยายไม่ได้มาช่วยแล้ว

เคล็ดลับของเต้าส่วน ถั่วที่นึ่งต้องบานและทิ้งให้เย็น ก่อนจึงนำมาใส่ มิฉะนั้นจะทำให้ถั่วจม ใช้แป้งท้าว ดีกว่า แป้งมัน

*** สิ่งที่เปลี่ยนแปลง
กินมังฯตั้งแต่โน่นแหละ ๒๒ ปีแล้วล่ะ เริ่มกินมังสวิรัติใหม่ๆ อาหารเนื้อสัตว์ก็ยังอยากกินเหมือนกันแต่ก็อดได้ แต่เดี๋ยวนี้ สบายแล้ว ใจก็สบาย มาวัดเกือบทุกอาทิตย์ บางครั้งก็ไปวัดต่างจังหวัดกับลูกบ้าง ก็ได้เห็นอะไร แปลกๆ บ้าง

ไม่ห่วงอะไร ลูกคนเล็กก็ ๔๖ ปีแล้ว ลูกคนโตจะปลดเกษียนแล้ว ไม่กลัวตาย หมอดูเขาบอกว่ายายจะตาย อายุ ๘๐ ปี ตอนนี้ ๘๑ แล้ว หูยังได้ยิน ตายังเห็นชัด แต่หัวเข่าไม่ค่อยดี ก็เสื่อมตามวัยน่ะ ขาไม่เหมือนเก่า เดินช้าลง ก้าวช้าลง พอไปได้ กินได้แต่ไม่มาก ต้องแบ่งกินทีละนิด ชอบฟังพ่อท่านเทศน์ ท่านเทศน์ดี เวลาไปไหน ก็ไปคนเดียว บางครั้งก็ไปเที่ยวกับลูกบ้าง ไปพักผ่อน เวลามาวัดก็ไป-กลับรถเมล์สาย ๑๕๐ ถึงบ้านเลย นั่งมอเตอร์ไซค์ เข้าบ้านอีกนิดเดียว ตอนเช้ายายก็เดินออกมาขึ้นรถเมล์ ตอนสายก็นั่งมอเตอร์ไซค์ เพราะมันร้อน

พ่อบ้านเพิ่งเสียเมื่อต้นปีนี่เอง อายุ ๙๐ ปีแล้ว ก็คิดถึงเหมือนกัน ปฏิบัติธรรมทำให้เราทำใจได้ง่ายขึ้น

เมื่อครั้งยังมีเรี่ยวแรงยายก็มา ช่วยงานวัด แม้เมื่อกำลังอ่อนล้าลงก็ยังคงมาฟังธรรมที่วัด เวลาและวัย ผ่านไป อย่างมีคุณค่า ยายเก็บเกี่ยวทั้งกุศลโลกีย์และกุศลโลกุตระ แล้วท่าน ล่ะ?... วันคืนล่วงไป เก็บเกี่ยวอะไร ให้กับตัวเอง

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,500 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]