ฉบับที่ 240 ปักษ์แรก1-15 ตุลาคม 2547

[01] บทนำข่าวอโศก:มาเป็นชาวบุญนิยมกันเถอะ
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "สัจจะของความรัก ตอนจบ"
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ: เมตตา-มหาบุญนิยม เทศกาลเจ-มังฯ
[04] มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ให้เครือข่ายชุมชนชาวอโศก เป็นองค์กรดีเด่นประจำปี' ๔๗.
[05] รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (๑)
[06] ชมร.หน้าสันติอโศกใจป้ำ ขายเจอิ่มละ ๒๐ บาท ต้อนรับเทศกาลกินเจ
[07] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี
[08] เรื่องของแปรงสีฟัน!
[09] ส.ป.ก.เลื่อนรังวัดที่จำลอง

[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] :ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
[12] ข่าวสั้นทันอโศก
[13] นางงามรายปักษ์ น.ส.สำอาง คงคาสวัสดิ์



มาเป็นชาวบุญนิยมกันเถอะ

ทุนนิยม คือ เอาแต่ใจ
บุญนิยม คือ ไม่เอาแต่ใจ

โลกของทุนนิยม จะมีการทะเลาะเบาะแว้งฆ่าแกงกัน

ดังกรณีสงครามในประเทศต่างๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ ประเทศอิรัก แม้คนในประเทศเดียวกันก็ยังฆ่าแกงกัน ทางภาคใต้ ที่อยู่ชายแดนก็มีกรณีคนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเองแทบทุกวัน

เหตุใดคนในชาติเดียวกันยังฆ่าแกงกันเอง เรื่องทะเลาะเบาะแว้งไม่ต้องพูดถึงเลยก็ว่าได้สำหรับในดินแดน ที่กล่าวมา ย่อมมีแน่นอน

การทะเลาะเบาะแว้งก็เกิดจากผลประโยชน์ โดยเฉพาะความเชื่อหรือความเห็นที่มีความแตกต่างกัน โดยเริ่ม จาก มีคนๆหนึ่ง หลงผลประโยชน์ หลงความเชื่อหรือความเห็นของตัวเอง ซึ่งในทางศาสนาเราเรียก ความหลง ว่าเป็นความยึดก็ได้

พอมีคนๆหนึ่งหลงหรือยึด ก็จะเกิดทุกข์ในใจ แล้วต่อไปก็จะก่อการทะเลาะเบาะแว้ง และฆ่าแกงกันได้ในที่สุด เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ซึ่งอาจจะเป็นวัตถุ หรือความเชื่อ-ความเห็นที่ตัวเองไปหลงหรือยึดไว้

เราไม่อยากให้ชาวอโศกเป็นแบบทุนนิยม ที่ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง แม้ไม่ถึงขั้นฆ่าแกงกันแบบชาวโลกก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะพื้นฐานของทุนนิยมคือ เอาแต่ใจ

ดังนั้นชาวอโศกซึ่งเป็นชาว บุญนิยม ก็คือคนมาฝึกไม่เอาแต่ใจ เพื่อเป็นชาวบุญนิยมที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะไม่มี การทะเลาะเบาะแว้ง แต่มีความขัดแย้งกัน อย่างพอเหมาะ ซึ่งพ่อท่านกล่าวว่าลักษณะนี้ คือ ความสามัคคี ทั้งนี้เพราะเราไม่เอาแต่ใจ

แต่ใครที่ก่อการทะเลาะเบาะแว้ง อยู่ คนนั้นก็คือคนเอาแต่ใจ เป็นชาวทุนนิยมที่แฝงตัวในชาวบุญนิยม.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สัจจะของความรัก (จบ)

ผู้ที่คิดจะเพิ่มอธิศีลของศีลข้อ ๓ หรือผู้ที่กำลังดื่มด่ำกับความรักหรือผู้ที่สมหวังในเรื่องของความรัก หรือแม้แต่ ผู้ที่ผิดหวัง ในเรื่องของความรัก เคยคิดจะเลิกรักบ้างไหม ธรรมะพ่อท่านฉบับนี้ ขอนำคำอธิบาย เกี่ยวกับเรื่อง "มรัก"(จากหนังสือสัจจะชีวิต ของสมณะโพธิรักษ์ (ฉลอง ๗๒ ปี) เล่ม ๑ "ภาค ๑ ชีวิตโลกียะ") ที่พ่อท่าน ได้ขยายความถึง สัจจะของความรัก ไว้อย่างน่าศึกษาว่า...

ในเรื่องของ"มวิบาก"้นเป็น"จินไตย"ินคิด ซับซ้อนมากเกินที่จะเอามาเล่าบรรยายได้ เพราะ"สรรพสิ่ง" สัมผัส สัมพันธ์ หมุนเวียน ผ่านภพให้สุขๆ ทุกข์ๆ ไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น แล้วๆเล่าๆ เป็นบาป-เป็นเวร-เป็นภัย -โกรธ -เกลียด -อาฆาต -พยาบาท -แก้แค้น-รักๆ-ชังๆ กันไป ไม่รู้กี่ภพ-กี่ชาติ-กี่ปาง

เพราะคนเรา "ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้หนทางดับทุกข์"โง่งมงายไปตามธรรมดาของโลกโลกีย์ ที่เขา พยายามมอมเมา- ปลูกฝังให้ติดยึดจมดิ่งกับโลกีย์

เห็นความจริงตามสัจธรรมให้ได้ ว่า "เรื่องกามราคะ" เป็นความหลอกของจิต จิตโง่ถึงได้ถูกหลอก เมื่อ "ปฏิบัติธรรม ลดละกาม"ได้บ้าง จนจิต เข้ากระแส อาริยะ"แล้ว จะเลิกล้างจางคลายได้ จะไม่รุนแรง เจ็บปวด เหมือนเดิม จิตใจจะไม่หวือหวา โลดแล่นไปในทิศทาง อวิชชา" อย่างนั้นเต็มที่ จะมีความละอายยับยั้ง

คนที่เข้าใจธรรมะแล้ว ปฏิบัติตนจนหลุดพ้น "กาม" เหนือธรรมชาติธรรมดาของโลกขึ้นมาได้ จะมีจิตใจรู้ว่า "ความรัก เป็นทุกข์ ความเกี่ยวเกาะ ผูกพัน เป็นห่วง เป็นภาระ เป็นเวร เป็นภัย เป็นการสร้าง สิ่งที่ไม่เป็นคุณค่า ให้แก่ชีวิต"

เรื่อง "กาม ก็ต้องเลิก อาตมาก็วางได้-ปล่อยได้-สลัดออกไปได้ ไม่ยากเลยจริงๆ เพราะ "บุญเก่า"มีแล้ว -เป็นแล้ว ไม่ต้องไปปฏิบัติ ลดละอะไรมากมาย

ถ้าใครที่ยังไม่เคยละล้าง ไม่เคยสั่งสมบุญมาก่อน ก็ยาก! ต้องปฏิบัติสั่งสม

แม้ยาก! ก็ต้องพากเพียรปฏิบัติเลิกละล้าง "กิเลสกาม"ให้ได้! ! !

ผู้ใดฆ่า"กิเลส"ได้หมดแล้ว ก็จะไม่เกิดอารมณ์"กาม"อีก มีแต่ธาตุรู้ที่รู้คุณค่าประโยชน์ รู้ความดี-ความชั่ว แล้วเราก็ทำแต่ "กรรมดี" ไม่จำเป็น ต้องไปมีอารมณ์ผูกพัน เป็นทุกข์ ไม่ต้องไปเฟ้อ ไปเปลืองกับเรื่อง "ความรัก"

เราจะมีแรงงานเหลือ พลังงานจะไม่สิ้นเปลืองไปกับความโหยหา อาวรณ์

อารมณ์ "ราคะ-โลภะ" เป็นการจ่าย "พลังงาน" อย่างสิ้นเปลืองไร้ค่า !

เรื่อง "ผู้หญิง-ผู้ชาย"จะคบหากันได้อย่าง "เป็นพี่-เป็นน้อง" ร่วมกัน สร้างสรรแต่สิ่งที่ "ดีๆ" เป็น "กุศลธรรม" อย่างบริสุทธิ์ สะอาดเท่านั้น

โลกยุคกาลนี้ ยิ่งไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มประชากร ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมารักกัน สมสู่กันอย่างโลกีย์ แต่น้อยคนนัก ที่จะเลิก กิเลสกาม"นี้ได้

ผู้เลิกได้ ก็สมควรต้องได้รับการกราบไหว้เคารพบูชา ถือว่า "ประเสริฐจริง มีพลังจิตสูง" เกิดเป็นคนไม่มีอะไร ประเสริฐเท่าเลิก "ราคะ-โลภะ-โทสะ-โมหะ"

"โมหะ" คือ "ความหลงผิด" เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นสิ่งไม่ดี-ต่ำ-หยาบ เป็นทุกข์ ก็นึกว่า "ดี เป็นความสุข เป็นความเลิศ" จงพิจารณาให้ดีๆ "อย่าพ่ายแพ้ต่ออารมณ์โลก" เลิกละสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายให้ได้ เป็นขั้น เป็นตอน

แล้วเราจะเห็นสิ่งที่ละเอียดลออลึกๆ สิ่งที่สำคัญใหญ่ๆ ใหม่ๆ อีกมากมาย

เห็นสัจจะความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นความประเสริฐแท้จริงของมนุษย์ คืออะไร? และประกอบกิจที่เป็นกุศลไป
เรื่อยๆ ใครทำได้ก็เป็น "บุญบารมี" ของตน

"กาม" เป็นเรื่องที่ผูกพันติดยึด เป็นเรื่องที่จะต้องเสพสัมผัสบำเรออารมณ์

"พระพุทธเจ้า" สอนให้ลดละ ไม่เสพได้เลย ดี ! หมด "กาม" เลย ยิ่งดี !

แต่ "มนุษย์" เป็นสัตว์โขลง เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่รวมกัน ต้องเกี่ยวข้องกัน ก็ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ต่อกัน อย่างประเสริฐ

"มนุษย์" จึงสามารถรัก สนิทชิดเชื้อกันได้ อย่างชนิดที่มี"ภูมิธรรม" รู้สัดส่วน ความพอเหมาะ-พอเพียง อย่างมี
"ภูมิปัญญา"โดยไม่มี "กาม"ได้ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างประสานพลัง มีความสงบ-ราบรื่น-อบอุ่น -ร่วมกันคิด -แก้ไข-ปรึกษา-หารือ-ตัดสิน-ช่วยกันสร้างสรร-เสียสละ อย่างชนิดที่มี "พฤติธรรม ๗"

ตามที่ "พระพุทธเจ้า" ตรัสไว้ใน "สาราณียธรรม" อย่างสมบูรณ์

"พฤติธรรม ๗ ประการ" นี้ เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึงกัน (สาราณียะ) เป็นที่รักกัน (ปิยกรณะ) เป็นที่เคารพกัน (ครุกรณะ) เป็นไปเพื่อ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (สังคหะ) เป็นไปเพื่อ ความไม่ทะเลาะเบาะแว้งวิวาทกัน (อวิวาทะ) เป็นไปเพื่อ ความพร้อมเพรียงกัน (สามัคคียะ) เป็นไปเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เอกีภาวะ) "

แต่ไม่ติดยึดห่วงหาอาวรณ์ ไม่มีกิเลส "กาม"ผูกพันดูดดึง.

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



เมตตา-มหาบุญนิยม เทศกาลเจ-มังฯ

ถึงเทศกาลเจอีกปีแล้ว พ่อท่านพยายามให้ใช้คำว่า "มังฯ" ติดไปร่วมกับ "เจ" เมื่อคำว่า "เจ" นั้นเป็นที่รู้กัน โดยทั่วแล้ว คำว่า "มังฯ" ก็น่าจะติดปากคน ได้เช่นกัน ด้วยชาวอโศกเป็นกลุ่มที่กินมังสวิรัติตลอดชีวิต ไม่ใช่กินเฉพาะ ช่วงเทศกาลเจ ๙ วันเท่านั้น แต่เทศกาล เจก็ช่วยให้คนได้มาระลึกถึง การละเว้นการบริโภค เนื้อสัตว์ขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญจะได้ตระหนักถึง เรื่องบาป-บุญ และการถือศีล

ดูเหมือนว่าปีนี้สื่อต่างๆนำเสนอข่าวเทศกาลกินเจน้อย ไม่คึกคักเช่นปีที่ผ่านๆมา ซึ่งอาจมีผลทำให้คนกินเจ น้อยกว่าทุกปี แต่บางสื่อก็ว่า จะมีคนกินเจมากขึ้น ด้วยเหตุผลว่าคนรักสุขภาพมากขึ้นและกรณีไข้หวัดนก ถึงอย่างไรที่อุทยานบุญนิยม ได้เตรียมการต้อนรับ ลูกค้าเต็มที่ จัดแต่งร้าน เพิ่มพื้นที่ให้ลูกค้า นั่งรับประทาน ได้สะดวกขึ้นด้วย ขณะที่เฮือนไทยอีสานหลังใหม่ เสร็จใช้งานมา หลายเดือนแล้ว อาทิตย์ (๓ ต.ค.) ที่ผ่านมาพ่อท่านให้ชื่อเป็นภาษาอีสานว่า ถ่าหมู่แน แปลความได้ว่า รอหมู่ด้วย หรือได้ดีแล้วรอกันบ้าง ส่วนเฮือนไทยอีสานที่ขายสินค้าของชุมชน ให้ชื่อว่า แพงบ่หล่า เพื่อเป็นการเตือนสติผู้ขายว่าอย่าขายแพงนะ ส่วนเฮือน ที่ใช้เป็นที่พักนอน ชื่อว่า เซามีแฮง แปลว่าพักแล้วจะได้มีแรง และเฮือนหลังแรกที่ใช้ทำกับข้าว -ขายอาหาร -ทำเต้าหู้ นั้นมีชื่อว่า เฮือนหมู่เจ้า แปลว่า เรือนของพวกเจ้า

อุทยานบุญนิยมดูจะเป็นร้านอาหารของชาวอโศกที่โก้หรูมากที่สุด พื้นขัดเป็นมันอย่างดี ชุดโต๊ะเก้าอี้ ผ้าคลุมโต๊ะ ก็สวยงาม ไม่ได้ด้อยกว่าร้านอาหารหรูๆของคนชั้นสูงเลย ส่วนราคานั้นยังคงถูกเหมือนเดิม จานละ ๑๐ บาท ถ้ากับข้าว สองอย่างก็ ๑๕ บาท

พูดถึงราคาต้องขอแวะไปที่ร้านศูนย์มังฯหน้าสันติอโศก คุณดาบบุญผู้รับใช้ของร้านได้รายงานให้พ่อท่าน ทราบว่า ที่ประชุม ได้มีมติ จะทดลองคิดราคาแบบ "อิ่มละ ๒๐ บาท" เริ่มในเทศกาลเจนี้ หมายความว่า ลูกค้าที่เข้ามาในร้าน จะกินอะไร หรือกินเท่าไหร่ ก็คิด ๒๐ บาท เช่นเข้ามาแล้ว กินข้าวราดแกงหนึ่งจาน แล้วกินก๋วยเตี๋ยวอีกหนึ่งชาม กินขนมจีนอีกหนึ่งจาน กินขนมอีกหนึ่งถ้วย หรือถ้ากระเพาะ ยังพอจะกินอะไร เข้าไปได้อีก ก็คิดเพียง ๒๐ บาท โดยก่อนหน้านี้ ได้คิดราคาจานละ ๑๕ บาทแถมให้ลูกค้าตักกันเอง ใครจะตักพูนจานก็ได้ ไม่ว่ากัน แต่อาจจะมีเหล่ๆแลๆบ้าง ขณะที่ข่าวรายงานว่าร้านอาหารเจแถวเยาวราช ราคาจานละ ๓๐ บาท อาหารถุงละ ๓๐ บาทเช่นกัน ร้านอาหารเจ โดยทั่วไป มักฉวยโอกาสขึ้นราคาอาหาร หรือตั้งหน้าตั้งตาโกยเงินให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับร้านของ ชาวบุญนิยมแล้ว ไม่ได้มี จุดมุ่งหมายอย่างนั้น ด้วยหลักการค้าของบุญนิยม ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบ ลูกค้าแน่ ยอดรายได้ที่มากขึ้น ก็มาจากราคาถูก คนมาอุดหนุนกันมาก ที่ราคาถูกได้ก็เพราะแรงงานฟรี ลูกค้าหลายคน ก็แสดงความเป็นห่วง เกรงว่า จะอยู่ไม่ได้ อยากให้ขึ้นราคาอีกก็ได้

ทราบว่าวันแรกของการคิดราคาแบบ "อิ่มละ ๒๐ บาท" นี้ลูกค้าแน่นร้านเลย พวกเราเองก็เหนื่อยไปตามๆกัน... วันนี้ (๑๓ ต.ค.) คุณดาบบุญ รายงานว่า มีลูกค้าใจบุญ คนหนึ่งกินอิ่มแล้วให้ ๑๐,๐๐๐ บาท บอกผมช่วย ทำบุญด้วย เขาไม่ใช่ญาติธรรม

พ่อท่านบอกเล่าความก้าวหน้าของศูนย์มังสวิรัติฯ ที่คิดราคาแบบ "อิ่มละ ๒๐ บาท" นี้ ให้ผู้ใหญ่บ้าน คุณรินไท ที่มาช่วยงานค้า ที่อุทยานบุญนิยมด้วย คุณรินไทบอกว่า ทางอุทยานบุญนิยม ยังใจไม่ถึงขนาดนั้น เพราะคนอีสาน นี่กินจุ แต่ละคน ถือถาดอาหาร คิดแล้วประมาณ ๕๐-๖๐ บาท พ่อท่านยิ้มๆตอบรับว่า ใช่คนอีสานนี่ กินเก่งกว่าคนภาคกลาง

เทศกาลเจแต่ไหนแต่ไรมาที่อุบลฯไม่ได้คึกคักเลย ร้านอาหารเจนับร้านได้ ทั้งฝั่งเมือง และฝั่งวารินฯ รวมกันแล้ว มีไม่ถึง ๑๐ ร้าน แต่หลังจาก ชาวบ้านราชฯ เริ่มออกมาขายอาหารในเทศกาลเจที่ทุ่งศรีเมือง แล้วก็ต่อมา เป็นร้าน อุทยานบุญนิยมนี้ ชาวอุบลฯ ตอบรับเทศกาลเจ คึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีร้านค้าของทุนนิยม พยายามเลียนแบบอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะ ๑.ทุนนิยมใจไม่ถึง ที่จะขายถูกๆอย่างนี้ ๒.คนขายไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้มาเสียสละ เป็นเพียงประกอบอาชีพหาอยู่หากินเลี้ยงชีวิตตนไปเท่านั้น ๓.ไม่มีวิถีชีวิต และวัฒนธรรม อย่างนี้ ซึ่งเป็นอาหารใจ ที่สำคัญให้ลูกค้าได้สัมผัส ด้วยที่นี่มีคนทุกวัยช่วยงานทั้งแก่เฒ่า หนุ่มสาว และเด็กๆ คือมากัน ทั้งหมู่บ้าน เมื่อวาน (๑๒ ต.ค.) ลูกค้าคนหนึ่ง เปรยด้วยความชื่นชมว่า ดูสามัคคีกันดีนะ เด็กๆเอามุ้ง เอากลดไปกางนอน ร่วมลำบากกับผู้ใหญ่ไปด้วย แม้จะซนเล่นไปตามวัย ที่ยังไร้เดียงสามาก แต่ก็ได้ช่วยงาน ต่างๆ ได้เหมือนกัน บ้างก็นั่งติดราคาสินค้า เก็บภาชนะถ้วยชาม ปัดกวาด ช่วยขาย ช่วยงานเล็ก งานน้อย ได้บ้าง เป็นภาพชีวิตที่หาดูได้ยากแล้ว ในสังคมยุคไอทีนี้

เมื่อวาน(๑๒ ต.ค.)พ่อท่านก็ละวางงานเขียน ออกมาที่อุทยานฯดูงานการยกหน้าบันทองเหลือง ที่หล่อและ ขนย้ายกันมา จากสันติอโศก เพื่อนำมาประกอบ ติดที่หน้าบันของเฮือน ถ่าหมู่แน เข้าใจว่าพ่อท่าน คงจะเกรงว่า อาจมีปัญหาบางอย่าง ที่คนอื่นไม่กล้าตัดสินใจ จะได้มาช่วยคิด ช่วยดู อีกทั้งอาจเป็นกำลังใจ ให้กับผู้ที่ช่วย ทำงานนี้ด้วย พ่อท่านเปรยว่า เป็นห่วงอย่างเดียว เรื่องอุปัทวะเหตุ เพราะเป็นของใหญ่ มีน้ำหนักถึง ๑ ตัน แล้วต้องยกขึ้นไปติดในที่สูง ทำให้พ่อท่านทั้งยืนชี้ยืนบอก และสนทนาเรื่องทั่วๆไป กับคนที่มาช่วยงานนี้ เริ่มตั้งแต่ ประมาณ ๙ นาฬิกาไปจนถึง ๑๕ นาฬิกาเศษ พักยกในช่วง ฉันอาหารเท่านั้น

กรณีข่าวฆ่าหั่นคอส่งวิญญาณเส้นสรวงพระอินทร์ที่เป็นข่าวดัง มีนักจิตวิทยาและแพทย์รวมถึง บุคคลอีก หลายอาชีพ วิพากษ์วิจารณ์กันมาก แต่พ่อท่านเห็นว่า ยังไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ที่กระจ่างได้ เนื่องด้วย พ่อท่านเอง มีประสบการณ์ เคยเป็นคนทรงเจ้า สมัยเป็นฆราวาส เมื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า ทำให้เข้าใจเรื่องการทรงเจ้า และจิตวิญญาณเป็นอย่างดี จึงคิดจะอธิบายเรื่องนี้ ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิด ความเข้าใจที่ดี กับประชาชนทั้งหลาย เสร็จจากงานยกหน้าบันทองเหลือง ที่อุทยานฯ พ่อท่านให้ติดต่อ ผู้ที่สามารถเชื่อมโยง ไปยังสื่อต่างๆได้ เพื่อเสนอเรื่องนี้ ให้กับผู้ดำเนินรายการต่างๆ แต่ยังไม่มีใครสนใจ มีเพียงท่านจันทร์เท่านั้นที่ตกลง และให้เวลาได้เต็มที่ทันที พ่อท่านตัดสินใจ รีบเดินทางเข้ามา กทม. ในค่ำคืนนั้น ทันที ปัจฉาฯ ก็พลอยกระหืดกระหอบ เก็บงานเก็บของเดินทางทันที และติดต่อนัดหมาย ถ่ายทำรายการ ก่อนขึ้นเครื่องบินเล็กน้อย

การถ่ายทำในวันนี้ (๑๓ ต.ค.)ที่สันติอโศก คณะถ่ายทำของปฐมอโศกเป็นหลัก เมื่อถ่ายทำไปได้กว่า ๔๐ นาที แล้ว เพิ่งจะทราบว่า มีปัญหาเรื่อง ระบบเสียงใช้ไม่ได้ ทำให้ต้องหยุดกลางคัน แล้วนัดหมายใหม่ ไปถ่ายทำที่ ไททีวี สามทุ่มคืนนี้ออกอากาศสดๆ ใช้รายการวิถีธรรม ของท่านจันทร์ และจะถ่ายทำอีก ในวันรุ่งขึ้น (๑๔ ต.ค.) ที่ไททีวีนี้เช่นกัน ซึ่งจะมีคุณโสภณ สุภาพงศ์ และคุณจักรกฤษณ์ พลชัย นักจัดรายการ เพลงเพื่อชีวิต มาร่วมด้วย นอกจากนี้ท่านจันท์แจ้งว่า คณะของ ดร.เจิมศักดิ์ สนใจจะไปถ่ายทำรายการ ที่บ้านราชฯในวันที่ ๑๙ นี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ผลจากการนี้จะเป็นอย่างไร

วันที่ ๑๑ ต.ค.ที่ผ่านมา พ่อท่านได้ไปเยือนศีรษะอโศก บิณฑบาตแล้วเทศน์กัณฑ์พิเศษเรื่องการเมือง โดยเฉพาะ สืบเนื่องมาจาก พ่อท่านเปรยว่า การรายงานกิจกรรมของ พรรคเพื่อฟ้าดินให้ กกต.ได้ทราบนั้น น่าจะมีการรายงานไปด้วยว่า กรรมการได้ร่วมกันฟังเทศน์ ฟังธรรม พอดีมีกำหนดการ จะไปที่ศีรษะอโศก อยู่แล้ว ซึ่งทั้งหัวหน้าและเลขาธิการพรรค รวมถึงกรรมการสาขา ก็อยู่ที่นั้น จึงถือเอาเป็นฤกษ์ ในการเทศน์ พิเศษ เรื่องการเมืองของ พรรคเพื่อฟ้าดิน จะได้มีการรายงาน เป็นกิจจะลักษณะให้ กกต. ได้ทราบ นับเป็น มิติใหม่ ที่การฟังธรรม ถือเป็นกิจกรรม ของพรรคการเมืองด้วย

มีผู้สงสัยว่าทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อฟ้าดินจะเป็นอย่างไร พ่อท่านตอบในหลายที่หลายแห่งมาแล้วว่า ก็เป็นอย่างที่ ชาวอโศกเคยทำ และเป็นกันมาแล้ว ๓๐ กว่าปีนั่นแหละ พรรคเพื่อฟ้าดินเป็นเพียงหัวโขน หรือหมวกอีกหนึ่งใบ ที่เอามาสวมเข้าไปเท่านั้นเอง เพื่อจะได้เลื่อนชั้น การทำงานกับสังคม ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ส่วนกิจวัตร กิจกรรม กิจการที่เคยทำมา ก็ยังทำอยู่ต่อไปตามปกติ

พรรคเพื่อฟ้าดินแม้จะไม่มีคนที่มีชื่อเสียงเด่นดังเข้าร่วม หรือไม่มีแม้ สส.สักคนเดียว แต่ก็เป็นที่รู้จักของ หลายต่อหลายคน ที่ติดตาม ข่าวสารบ้านเมือง หลายคนมองว่า เป็นพรรคการเมืองอุดมคติสุดๆ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง นักวิชาการ นักการศาสนา ต่างรู้กันเลยว่าพรรค เพื่อฟ้าดิน เป็นพรรคของคนถือศีล ปฏิบัติธรรม

เมื่อ ๒๗ ก.ย.ที่ผ่านมา พ่อท่านได้รับนิมนต์จากสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ไปร่วม เสวนา ในหัวข้อธรรมะ เพื่อสันติภาพ ในบรรดาผู้เข้าร่วม การเสวนาหลายท่าน กล่าวถึงพรรคเพื่อฟ้าดิน แม้แต่คุณสมพร เทพสิทธา ผู้ที่เคยร่วมเป็นพยานโจทก์ กล่าวโทษพ่อท่าน และสมณะ ต่างๆนานา มาถึงวันนี้ กลับนมัสการทักทาย จับมือพ่อท่าน ราวกับสนิทสนม รู้จักกันดีมาก่อน ที่สำคัญกล่าวถึง พรรคเพื่อฟ้าดิน ของหลวงพ่อ ต้องผลักดันขึ้นมาให้มีอำนาจบริหาร จะได้นำเอาธรรมะ มาใช้แก้ปัญหาสังคมได้ พ่อท่านและ พวกเรา ที่อยู่ในที่นั้นได้ฟังแล้ว ล้วนยิ้มเหนียมๆ เจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ เพราะรู้กันดีว่า พรรคเพื่อฟ้าดิน ยังเล็ก ยังน้อย ยังไม่ถึงเวลาที่จะคิดการใหญ่ ปานนั้นเลย

ส่วนการเมืองระดับประเทศนั้น มีความพยายามจากผู้ที่ต้องการล้มรัฐบาล ติดต่อมาหลายครั้ง และหลาย รูปแบบ เพื่อชักชวน ให้ไปร่วมกิจกรรม กับกลุ่มคนดังกล่าวนั้น แม้พ่อท่าน จะไม่เห็นด้วยกับนโยบาย และท่าที ของรัฐบาล ในหลายๆเรื่อง แต่ก็ไม่ถึงกับคิดว่า จะต้องล้มล้าง และพยายามอย่างยิ่ง ไม่ให้เกิดภาพว่า ชาวอโศก เป็นศัตรูกับใคร หรือกลุ่มใดๆ จึงขอส่งสัญญาณเตือน มายังญาติธรรม ที่กำลังเข้าร่วมกับ กิจกรรมเหล่านั้น อย่าได้ดึงลากเอาชื่อขององค์กรชาวอโศก เข้าไปใช้ร่วมด้วย ถ้ายังพอใจ ที่จะทำเช่นนั้น ก็ขอให้ทำเป็นส่วนตัวไปซะ ที่จริง ถ้าไม่ปักมั่น กับความคิดของตนจนเกินไป ก็น่าจะมองออก ถึงแม้พ่อท่าน จะไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการอย่างนั้น จึงไม่ทำเช่นนั้นด้วย


ต้นเดือนตุลานี้ได้รับเอกสารจากมูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป นิมนต์พ่อท่านไปเป็นเกียรติร่วมงาน ด้วยคณะกรรมการ มูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป ได้มีมติประกาศเกียรติคุณให้ เครือข่ายชุมชนชาวอโศก เป็นองค์กรดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๗ ของมูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งจะประกาศเกียรติคุณดังกล่าว ในวันเสาร์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ. อาศรม วงศ์สนิท รังสิตคลอง ๑๕ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ผู้ที่ลงนามในเอกสารนิมนต์ก็คือ ประธานกรรมการ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์


นอกจากนี้ยังมีเอกสารอีกฉบับหนึ่ง เชิญผู้นำชุมชนเครือข่ายชาวอโศก ร่วมเวทีสัมมนารวมพล ชุมชนทางเลือก ในเมืองไทย ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ ธ.ค.๔๗ ณ.อาศรมวงศ์สนิท เช่นกัน ลงนามโดยผู้จัดการโครงการฯ นายสมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์ จากเอกสารที่แนบมา ชุมชนทางเลือก ที่ได้รับเลือกเพื่อศึกษาวิจัยมี ๑๓ แห่ง อาศรมวงศ์สนิท, สวนโมกขพลาราม, กระบวนการสร้างชุมชนแบบสันติอโศก, ชุมชน ท่าสว่าง, บ้านสบลาน, หมู่บ้านสะเน่พอง, ชุมชนคนสวน, สวนแสงอรุณ, สวนสายน้ำ, หมู่บ้านเด็ก, วัดป่าสุคะโต, กลุ่มอินแปง, ชุมชนหมู่บ้าน แม่มูลมั่นยืน.

กระบวนการสร้างชุมชนแบบสันติอโศกนั้น ในเอกสารสรุปว่า เป็นปรากฏการณ์ชุมชนที่มีลักษณะท้าทาย และถอนรากถอนโคน ทางความคิด เกี่ยวกับชุมชน แบบพุทธ ที่เน้นเรื่องวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด แต่ก็ได้สร้าง นวัตกรรมทางเลือก มากมาย ทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์ การสร้างเทคโนโลยี ระดับกลาง การศึกษารูปแบบใหม่ และวิถีชีวิตแบบชุมชน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ทางการเมืองด้วย อ่านกันมาถึงตรงนี้ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่าน รู้สึกและคิดกันอย่างไรบ้าง ส่วนผู้เขียนเริ่มเห็นนิมิตที่ดีๆ ของศาสนากับการเมือง บุญนิยม ราวกับสังคม กำลังเล็งแล และหวังจะให้เกิด พรรคการเมืองที่ดีจริงๆขึ้นมาในสังคม แทนที่จะได้ ก้อนอิฐ ก้อนหิน อย่างที่คาด เนื่องด้วยศาสนา เข้ามาเกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ของสังคม เหมือนเช่นนกแร้ง แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ ยังไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้สนใจว่า พรรคเพื่อฟ้าดิน เป็นอย่างไร อีกส่วนหนึ่ง ก็กำลังจับตาดูไปเรื่อยๆก่อน อีกส่วนหนึ่งก็ตอบรับ อยากจะให้เกิด เอาใจช่วยอยู่ ส่วนที่จะโห่ฮาว่าให้เสียหาย ยังไม่มีปรากฏ อย่างนี้ต้องถือว่า เป็นความสำเร็จ ในการเริ่มต้นที่ดี เหลืออย่างเดียวก็คือ ชาวอโศกเอง จะเป็น ตัวจริง ตามอุดมการณ์หรือเปล่า ลดละกันได้จริงไหม และจะทำพรรคการเมือง ในอุดมคตินี้ ให้เกิดผล ได้เร็วกว่า ๕๐๐ ปีได้เท่าไหร่เท่านั้น

- สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
ให้เครือข่ายชุมชนชาวอโศกเป็นองค์กรดีเด่นประจำปี' ๔๗

เมื่อวันที่ ๑ ต.ค.๒๕๔๗ มูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป โดยประธานกรรมการ นายสุลักษณ์ สิวรักษ์ ได้มี หนังสือนมัสการ มายังพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติประกาศเกียรติคุณให้ เครือข่ายชุมชนชาวอโศก เป็นองค์กรดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๗ ของมูลนิธิ เสฐียร โกเศศ- นาคะประทีป ซึ่งจะได้ประกาศเกียรติคุณ ดังกล่าว ในวันเสาร์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ อาศรมวงศ์สนิท ถนนรังสิต คลอง ๑๕ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงาน ด้านสืบสานภูมิปัญญาอย่างไทย และ ส่งเสริม สนับสนุน ให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้าถึงคุณ และสาระของวัฒนธรรมไทย ในทางเนื้อหา โดยให้กำลังใจแก่บุคคล หรือองค์กร ที่อุทิศตนเพื่อสังคม อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้ประกาศเกียรติคุณ เชิดชูเกียรติแก่บุคคล หรือองค์กรเอกชน เพื่อให้เป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ ใฝ่ใจในการทำงานเพื่อสังคม มาโดยตลอด สำหรับ รายละเอียด ของการไปรับประกาศเกียรติคุณ ทางข่าวอโศก จะเสนอในโอกาสต่อไป

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (๑)

นับแต่ได้เข้ามาเริ่มงานนี้ เริ่มต้นจากพนักงานในร้านกู้ดินฟ้าช่วยจัดผัก แต่งผัก ขายผักซึ่งเป็นผักไร้สารพิษ ในแต่ละวัน ผักในร้านขายดีมาก ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นผู้จับจ่ายทั่วไปที่ ดูแลเรื่องสุขภาพของตน และครอบครัว ตลอดจนคนป่วย ที่มีความจำเป็น ต้องรับประทานอาหาร ที่ปราศจากสารเคมี ทุกชนิด หรือ แม้แต่ร้าน ชมร.หน้าสันติอโศก และครัวในชุมชนเอง ก็นำผักจากกู้ดินฟ้า ไปประกอบอาหาร เพื่อความปลอดภัย จากสารเคมีทุกชนิด ต่อคนในชุมชนเอง และผู้ที่มารับประทานอาหาร ในร้านมังสวิรัติ ของพวกเราชาวอโศก

ตลอดเวลาที่ผ่านมายอดขายในร้านมีแต่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นตลาดพืชผักไร้สารพิษที่โตเป็นระดับแนวหน้า ของประเทศ ก็อาจจะว่าได้ แต่ก็มีข้อสังเกต ในการเติบโตของตลาด ซึ่งแปรผันตรงกับการเติบโตทางการผลิต ผนวกกับข้อมูล ที่ทางผู้บริโภคให้กับทีมงาน ของกู้ดินฟ้าว่า ผู้ผลิตบางราย ไม่ชัดเจนในกระบวนการที่นำ ผลผลิตมาขาย ให้กับทางร้านกู้ดินฟ้า เพราะไม่ได้ปลูกเอง แต่ไปรับซื้อที่อื่นมา ทำให้ทีมงานเรา เริ่มทบทวน กระบวนการทำงาน โดยข้อมูลเดิม ทุกคนทราบตรงกันว่า ผักโดยส่วนใหญ่ ในร้านกู้ดินฟ้า ประมาณ ๖๐ % ที่มาจากโคราช ในโควตาของ กำนันใจ (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นแค่ผักระดับ ปลอดสารพิษเท่านั้น แต่ก็ขายกันมา การตรวจสอบ โดยเริ่มจาก การขอเข้าเยี่ยมชม แหล่งผลิตในแต่ละราย ที่นำพืชผักมาส่งที่ร้านกู้ดินฟ้า โดยขอเยี่ยม ชมสวนผลไม้ ต่างๆ ซึ่งในหน้าร้อนนี้ ผลไม้เกือบทุกชนิด ที่เป็นไปตามฤดูกาล เป็นที่นิยมมากต่อ ผู้บริโภค ที่ให้ความเชื่อมั่นต่อชาวอโศกเรา เริ่มจากแตงโมที่ป้านิด (นามสมมุติ) นำมาส่งกับเรา แหล่งที่มาคือ ที่อุทัยธานี ป้านิดไม่ได้ปลูกเอง แต่ไปรับแตงโมจากกสิกรทั่วๆไป เพียงถามเขาว่าเป็นแตงโมไร้สารฯหรือไม่ แต่ป้านิดก็มั่นใจ ในกระบวนการตรวจสอบสารเคมี ในผลผลิตของตน ที่ทางกู้ดินฟ้า มีห้องปฏิบัติการ สำหรับตรวจผลผลิต ทางกสิกรรม ซึ่งผลการตรวจ ก็อยู่ในเกณฑ์ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์

ขอหยุดพักเรื่องหลักมาพูดถึงเรื่อง การตรวจสารตกค้างทางเคมีในพืชผักโดยห้องปฏิบัติการ จากการตรวจสอบ อยู่บ่อยๆ ที่ทางห้องปฏิบัติการ แจ้งผลลงมาที่กู้ดินฟ้า สามารถอธิบายให้ทุกท่าน เข้าใจได้โดยไม่ยากดังนี้ ถ้าสมมุติว่ามี กสิกร ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก ทำกสิกรรมไร้สารพิษ ๑๐๐ % โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ทุกชนิด และไม่ใช้ สารเคมีทุกชนิด ในการต่อสู้กับโรคและแมลงของพืชผัก แต่พื้นที่การเพาะปลูก ของกลุ่มแรกนั้น ล้อมรอบ ด้วยพื้นที่ การเพาะปลูกของชาวบ้าน ซึ่งทำกสิกรรมแบบใช้เคมีทุกชนิด ซึ่งสารเคมีตกค้าง จากพื้นที่ ที่ล้อมรอบ ดังกล่าว ถูกพัดพาโดยอากาศ หรือน้ำเข้ามาในพื้นที่ของกสิกร ในกลุ่มแรกนี้ ผลผลิตที่ได้จากกสิกรกลุ่มแรก เมื่อนำไปตรวจ ในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีค่า ปนเปื้อนทางเคมี เท่ากับ ๑+(เป็นหน่วยของการตรวจ) ซึ่งเป็นเกณฑ์ ที่ยอมรับได้ว่า ไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ กสิกรกลุ่มนี้ มั่นใจในผลผลิตของตนว่า เป็นผลผลิตไร้สารพิษ และนำสินค้ามาขาย ในร้านกู้ดินฟ้า ส่วนกสิกรอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ทำกสิกรรมแค่ปลอดสารพิษ คือมีทั้งการใช้ ปุ๋ยเคมี และการใช้สารเคมีบางตัว เพื่อต่อสู้ กับโรคและแมลงของพืชผักที่ตนปลูก แต่ทิ้งช่วงระยะเวลา เก็บเกี่ยว เพื่อให้สารเคมีบางส่วน สลายตัวไปจากผลผลิต (แต่ไม่ได้สลายตัวไปจากดิน) แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งการนำผลผลิตไปตรวจสอบ ในห้องปฏิบัติการ ก็จะพบค่าสารเคมีตกค้าง มีค่าประมาณ ๑+เช่นกัน ผู้ผลิต กลุ่มนี้เอง ที่ใช้โอกาสหลัง ทราบผลการตรวจสอบ จากห้องปฏิบัติการ และพูดถึงผลผลิต ของตนเองว่าเป็น ผลผลิต ไร้สารพิษได้โดยไม่ยาก เพราะสามารถขายในร้านกู้ดินฟ้าได้.

(อ่านต่อฉบับหน้า)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชมร.หน้าสันติอโศกใจป้ำขายเจอิ่มละ ๒๐ บาท
ต้อนรับเทศกาลกินเจ

ลูกค้าฝึกตักเองล้างจานเอง บางคนให้เองอิ่มละหมื่น
แปลก! อาหารเหลือทิ้งน้อยลง

เทศกาลเจปี ๒๕๔๖ ชมร.สาขาหน้าสันติอโศก ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบบุฟเฟ่ต์ ให้ลูกค้าตักอาหารเอง โดยคิด ราคา ราดกับข้าว ๒ อย่าง ๑๒ บาท หากราดกับข้าว ๒ อย่างขึ้นไปราคา ๑๕ บาท

สำหรับในเทศกาลเจปี ๒๕๔๗ ชมร.ฯได้นำระบบอิ่มละ ๒๐ บาทมาใช้ โดยลูกค้าสามารถเลือกตักอาหาร ได้ทุกอย่างจนอิ่ม ในราคาเพียง ๒๐ บาท ไม่ว่าจะเป็นข้าวราดแกง ขนมจีน สลัดผัก ก๋วยเตี๋ยว กระเพาะ มังสวิรัติ น้ำเต้าหู้ น้ำกระเจี๊ยบ และฯลฯ ซึ่งการทดลองครั้งนี้ หลังเทศกาลเจ จะมีการประชุม เพื่อขอมติว่า ดำเนินการต่อไปหรือไม่ ข่าวอโศกจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

ในช่วงเทศกาลเจ มีลูกค้ามาร่วมบุญบริจาคเงิน ๑ หมื่นบาท และช่วยกันล้างภาชนะของตนเองมากขึ้น หลังจาก รับประทานเสร็จแล้ว นอกเหนือจาก ที่ช่วยกันเก็บภาชนะมาคืนยังที่ร้านจัดเตรียมไว้ให้แล้ว นอกจากนี้ เศษอาหารเหลือทิ้ง ก็น้อยลงไป และวันนี้ (๑๓ ต.ค.) ขายขนมทองม้วน ราคากำไรอาริยะ ต่ำกว่าทุน คือรับมา ๘ บาท แต่ขาย ๕ บาท เพราะความเข้าใจผิด

สำหรับอาสาสมัครและผู้มาใช้บริการได้ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

น.ส.เบญจพร ชัยปาริฉัตร "มาทานตั้งแต่อยู่ที่ชมร.จตุจักร อิ่มละ ๒๐ บาทนี่ วัดจะแย่นะ สมมุติว่ามีขนมหวาน สลัด ไอ้โน่นไอ้นี่ จริงๆต้นทุน มันไม่ไหว บางคนตักโน่นตักนี่ แล้วก็กินไม่หมดก็มี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสำนึกตรงนั้น หมายความว่า เอาสลัดจานหนึ่ง ข้าว ขนมจีน คือเราต้องมองว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องอยู่ได้นะ วัดก็อยู่ได้เหมือนกัน

ถ้าทำแบบเมื่อตอน ๑๕ บาท ในความรู้สึกว่าถ้าเรามาสาย ก็ยังมีเหลือแบบที่มีคุณภาพ อาหารที่มีคุณภาพ อย่างเช่น เต้าหู้ คือคนที่ตัก เขาก็ตักแบบ บันยะบันยังหน่อย

แต่จากความรู้สึก ความคิดเห็น อยากให้เป็นแบบ ๑๕ บาท คนตักจะชั่งใจในการตัก จะมีความบันยะบันยัง มากหน่อย คือเอาตรงนี้ เหมือนกับว่า ไปคุมลูกค้า

วัดทำแบบนี้เหมือนกับได้บุญมากนะ แต่จิตในการพิจารณาของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน เพราะลูกค้า ที่มาสายหน่อย จะไม่ได้อาหาร ที่มีคุณภาพ มีแต่ผัดโปรตีน ไม่เหมือนกับเต้าหู้ และอาหารอย่ารสจัดเกินไป ตอนนี้ รสเผ็ดมาก"

นางยิ่งรัก เตโช อาสาสมัครแผนกคิดเงิน "คิดเงินง่ายขึ้น ต่างกว่าจากเดิมที่คิด ๑๕ บาท เพราะอย่างนี้เราคิด เป็นรายหัว จะกินกี่รอบก็ได้ จนกว่าเขาจะอิ่ม จะกินกี่จานก็ได้

ในส่วนตัวคิดว่า ระบบนี้ดีนะ ข้อแรกได้อ่านใจตัวเองแล้วแหละ เพราะเมื่อก่อนเราเคยเห็นลูกค้ากินคนละ ประมาณ ๓๐-๔๐ บาท ก็มาจ่ายเหลือแค่ ๒๐ บาท ก็มาอ่านใจเราว่า ณ จุดตรงนี้ใจเราจะยอมมั้ย ใหม่ๆ ก็รู้สึกไม่ยอม รู้สึกว่า เราจะขายถูก จนเกินไป เพราะวัตถุดิบ ของเราแพง และปกติเราก็ขายบุญนิยมอยู่แล้ว แล้วก็ยิ่ง บุญนิยมขึ้นไปอีก แต่หมู่กลุ่มเขาเอาก็ลองดู ของทุกอย่าง ก็ต้องลองกัน ถ้าไม่ลอง ก็จะไม่ทราบว่า จะมีอะไรเกิด ก็ได้ทำใจอีก ๙ วัน ลูกค้ากินถูกขึ้นเยอะเลย และเศษอาหารไม่เหลือเท่าเดิม"

อาจารย์จินตนา ฮ้อสิทธิสมบูรณ์ "ส่วนมากจะมาทานเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ มีเวลาก็จะแวะเข้าไปฟังเทศน์ การปรับ เป็นอิ่มละ ๒๐ บาท เป็นการช่วยเหลือคน แล้วทางชมร.ก็ได้ทำบุญ แต่ทีนี้นิสัยคนไทย ยังติดที่ว่า เห็นอะไรแล้วก็ตักเยอะ ซึ่งบางครั้งเ ราดูแล้วไม่น่าจะทานหมด ซึ่งบางครั้ง เราเสียดายแทน คนที่เขาไม่ได้ มีโอกาสที่ จะทาน ซึ่ง ๒๐ บาทก็ถูกมาก เพราะว่าอย่างที่ตลาด กับข้าวเจถุงละ ๒๐ บาทแล้ว เมื่อคืนนี้ พี่ทานเต้าหู้ หนึ่งชิ้นก็ ๓๐ บาทและต้มจับฉ่าย ก็มีแต่ผักขมกับเห็ดหอมก็ ๓๐ บาท ขนาดพี่เป็นคนทานน้อย ก็รู้สึกยังไม่อิ่ม แต่ที่นี่เห็นแล้ว คนทำก็ได้บุญ คนทานก็อิ่มใจ แต่เราจะฝึกยังไง ให้คนรู้จักว่า ตักทีละน้อย ถ้าไม่พอแล้วไม่ต้องอาย ไปตักใหม่ เสียดายที่ว่า ของเหลือทิ้งนะคะ"

น.ส.สุปรียา ผลทวี "ดีค่ะ ระบบนี้ค่ะ เราจะได้รู้ว่าเรากินเท่าไหร่ก็ตักตามที่เราต้องการ กินเยอะก็ตักเยอะ กินน้อย ก็ตักน้อยๆ แต่ ๒๐ บาทนี้ไม่แพงเลย เพราะเราตักได้มากกว่า ตักอย่างละเล็กละน้อยก็เยอะ"

น.ส.วาสนา วงศ์ศีลวิเศษ "มาทานเป็นประจำค่ะ ประทับใจที่นี่ คือ ที่นี่ไม่เอาเปรียบ การบริการทุกคน ก็เหมือนกับ เป็นพี่น้องกัน เข้ามา ณ สถานที่นี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยู่ในโลกแห่งความบริสุทธิ์ เจอหน้าทุกคน จะไม่มีการโกหก และมาทาน ด้วยความสบาย คือไร้สาร ไร้สิ่งสกปรก ไร้ซึ่งความเอาเปรียบ แล้วก็ถูกด้วย ซึ่งราคาแบบนี้ ๒๐ บาทไม่ได้หรอก เพราะตอนนี้ ทุกอย่างมันแพง เปรียบกับตามห้างนั้นแพงมาก เมื่อวาน ลองไปทานที่ห้าง ท้องเสียเลย และแพงด้วย ๓๐ บาท แล้วข้าวก็แข็งมากทานไม่ได้เลย ถ้าเปรียบเทียบกับ ตอนนี้ ที่สวนหลวง เขามีการเลี้ยงกัน ๙ บาท อาจเป็นมูลนิธิที่เขาไปจัดกัน ก็เป็นหลายร้อยเจ้า แต่อยากจะมา ที่นี่ มากกว่า เพราะที่นี่เป็นแหล่งที่ถาวร ที่นั่นเขาจัดแบบชั่วคราว แต่ที่นี่รู้สึกว่า ทุกคนสามัคคีกัน ถ้าใครมีบุญ ได้เข้ามารับใช้ในสถานที่นี้ ท่านพ่อสอนดี

๒๐ บาทไม่แพงเลยคะ เพราะไม่ได้จำกัดให้ทานเท่านั้นเท่านี้ แต่คุณสามารถทานเท่าที่คุณทานได้ เราสามารถ จะเลือกเฟ้นอาหาร อย่างละนิดละหน่อย ว่าอันไหน อร่อยจะได้ซื้อกลับบ้านด้วย คิดว่า ๒๐ บาท น่าจะเป็น มาตรฐาน ราคาสูงอีกหน่อย แต่ได้กินครบทุกอย่างที่ต้องการ นี่พี่ต้องนั่งรถตู้มาไปกลับ ๔๐ บาท เพื่อมารับประทานอาหารที่นี่ พี่อยู่แถว รามอินทรากิโล ๑ มารับปประทานบ่อย"

น.ส.กันยานิตย์ ตังก้านพระ "มารับประทานที่นี่ประจำค่ะ ๒๐ บาท ไม่แพงหรอกค่ะ บางคนคิดว่าตักไปเลย ๒๐ บาทรอบเดียว แต่พี่คิดแบบธรรมะ ทำไมต้องโลภด้วย ไม่อิ่มแล้วค่อยมาตักใหม่จะดีกว่า เมื่อวานนี้ เห็นบางคน เททิ้งเสียดายมากเลย เพราะว่าเพิ่งเริ่มใช้ระบบนี้ เขาอาจจะไม่เข้าใจ เพิ่งเข้ามา พอวันนี้สังเกตดู ก็น้อยลงไปหน่อย แต่พี่จะเป็นคนเสียดายมาก ที่เขาเหลือทิ้ง แบบตักมาหลายๆจาน ใส่หลายๆถ้วย แล้วเททิ้ง

๑๕ บาทสบายใจกว่า เพราะเรารับปประทานประจำ เราตักพอประมาณเราอิ่มไปเลย แต่ ๒๐ บาทนี่ คิดไม่เหมือนกัน แต่พี่คิดว่า ๑๕ บาทดีกว่า

ช่วงนี้อาหารรสเข้มข้นขึ้นนะ เพราะตัวเองเป็นคนรับประทานจืดอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกค้าข้างนอกเข้ามาก็จะชอบนะ เพราะเขากินรสจัด"

นายพลังไท วงศ์สะนัน อาสาสมัครแผนกคิดเงิน "ข้อดีคือ ก็คิดเงินสะดวก แล้วลูกค้าก็ได้ทานอิ่มจริงๆ ข้อเสียก็คือ เขาไม่ได้เอาจานเก่ามาตัก เขากินแล้วก็ไปเลย เลยไม่รู้ว่าเขาเพิ่งตักใหม่หรือกินแล้ว แล้วจ่าย ครั้งแรก จ่ายหรือไม่จ่าย แต่ผมก็ปล่อยวาง ถือว่าให้ แล้วที่บอกว่า กินไม่หมด จะเอากลับบ้าน ก็ไม่ได้มาขอถุงที่นี่หรอก บางคนเขาเอาถุง มาใส่เองกลับไปเลย เราก็ไม่รู้ เพราะ ๓ วันมานี้ ยังไม่มีใครกินเหลือ แล้วมาขอถุงเลย สักคนเดียว"

น.ส.ปิยะนันท์ เปรมปรีดิ์วรรณ "ลูกค้าที่นี่ประจำทุกวัน เปลี่ยนเป็น ๒๐ บาทก็ดีนะคะ ดีมาก ทางร้านก็ได้บุญ มาก สงสัยต้องหากองทุนมาเพิ่ม ต่างกับ ๑๕ บาทก็คือ ลูกค้าสบายใจขึ้น ได้เลือกกินในสิ่งที่ตัวเองชอบ ๑๕ บาทก็ดีแล้ว แต่ ๒๐ บาทก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะทางนี้ได้บุญเยอะมาก ก็อนุโมทนาบุญด้วยคะ เห็นด้วยกับ ๒๐ บาท เพราะที่อื่นแพงมาก ที่เยาวราชจานละ ๓๐ บาท ของเราที่นี่ ให้บุญเยอะมากทีเดียวนะคะ แล้วดีใจ ที่ได้มาร่วมบุญด้วย"

นายดาบบุญ ดีรัตนา ผู้รับใช้ ชมร. สาขาหน้าสันติอโศก "นโยบายอิ่มละ ๒๐ บาทเป็นการตกลงในที่ประชุม ของชมร. สาขาหน้าสันติอโศก ว่าช่วงเทศกาลเจเราจะลองจัดแบบบุฟเฟ่ต์ ให้ลูกค้าตักกันเอง กินเท่าไหร่ก็ได้ อิ่มละ ๒๐ บาท โดยมีเป้าหมาย เพื่อที่จะให้คน ที่ต้องการจะทานเจ ในช่วงนี้ได้ทดลองทานอาหารเจ หลายๆ อย่าง และเป็นการประหยัดด้วย เพราะว่าอาหารเจ ข้างนอกจะแพงมาก อาหารเจทั่วๆไป จะขายกันที่ราคา ประมาณ ๓๐ บาทหรือใส่ถุงกลับบ้านก็ ๓๐ แต่ของเรา ทำไปในทางตรงกันข้ามเลย ซึ่งเราก็รู้ข้อมูล มาก่อนแล้ว ก่อนจะตัดสินใจทำ

๒๐ บาทนี้คิดว่าเราอยู่ได้ครับ เพราะว่าเป็นอาสาสมัครทั้งหมด ไม่ต้องจ้างแรงงาน และบางท่านเห็น ในบุญกุศล เอาผักมาบริจาค เอาเงินมาบริจาค คิดว่าเป็นส่วนที่จะช่วยให้เราอยู่ได้ครับ

ในเรื่องอาหารเหลือทิ้ง ก็มีคนคอยดูอยู่หลายจุด ปรากฏเศษอาหารเหลือทิ้งน้อยลงไปกว่าปกติ ในวันแรก (๑๒ ต.ค.) ที่เราใช้ระบบนี้ มีเศษอาหารแค่ครึ่งกระป๋อง ซึ่งในขณะที่เราใช้ระบบเดิม คือคิดเป็นจาน ปรากฏว่า เศษอาหาร ๒-๓ กระป๋อง ต้องเท ๒-๓ หน

ยอดจำหน่ายไม่ลด แต่มากขึ้น เพราะว่ามีคนมาใช้บริการมากขึ้น คือเราให้เกียรติเขา ให้เขาประมาณในการ ตักอาหารเอง ส่วนใหญ่ ก็จะตักกันพอดี ไม่น้อยเกินหรือไม่มากเกินไป ส่วนที่มีหลายคน เป็นห่วงว่า คนจะมาตัก กันไปเยอะๆ แล้วไปเททิ้ง เพราะว่าให้อิ่มเลย แค่ ๒๐ บาท ซึ่งประเด็นนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่ คือมีเพียง ส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

คนที่เขามาทานอาหารมังสวิรัตินี้ ต้องการที่จะละเว้นจากการฆ่าสัตว์ เพราะฉะนั้น มีจิตที่เป็นกุศลอยู่แล้ว ก็ทำให้การดำเนินงาน ของเราง่ายยิ่งขึ้น

เราเพียงแค่ประชาสัมพันธ์ว่า อย่าตักอาหารไปเหลือทิ้ง ให้ตักไปพอดีๆ ถ้าไม่อิ่มก็มาตักใหม่ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่แล้ว ๘๐-๙๐ % รับประทาน อาหาร ได้หมดจาน ก็เหลือเศษอาหารน้อยมาก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นข้อดี

คนมาทานมังสวิรัติ คือตั้งใจมาทำบุญ ระบบนี้เป็นระบบบุญนิยม ทีมงานเลยตัดสินใจที่จะทำ เราช่วยกันคิด ช่วยกันหา ข้อดีข้อเสีย

หลังเทศกาลเจจะสรุปผลอีกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ดี จะนำมาใช้ตลอดไป เราตกลงกันว่าจะทำ ๑๑ วันก่อน ถ้าผล สรุปว่าดี ทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็อาจจะดำเนินต่อไปอีก

ฝากสุดท้ายว่า ทุกคนทำงานเสียสละกันอย่างเต็มที่ เพื่อจะให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ไม่มีใครรับรายได้ ขออนุโมทนา บุญกับทุกคน

ส่วนร้านอื่นๆในเครือข่ายชาวอโศก คณะทำงานแต่ละแห่งก็ลองตกลงกันดูนะครับว่าจะทำอย่างชมร.ที่นี่หรือไม่ ในนโยบาย อิ่มละ ๒๐ บาท

ส่วนนโยบายการใช้ถุงพลาสติก เราเคยเอาปิ่นโตมาขายที่ร้าน เคยให้ลูกค้าเอาปิ่นโตมาใส่แต่มีประเด็น ที่หลายๆท่าน ซื้ออาหารเพื่อใส่บาตร ไม่สะดวกที่จะซื้อใส่ ปิ่นโตแล้วเอาไปใส่บาตร ก็ต้องยังคง ถุงพลาสติก บ้างบางส่วน ยังไม่ถึงขั้น ยกเลิกไปเลย ตรงนี้ยังทำไม่ได้ แต่มีหลายท่าน เห็นด้วย มาซื้อปิ่นโต ใส่อาหาร ไปที่ทำงาน แต่เราลดการใช้ถุงพลาสติก มาได้ระดับหนึ่ง".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี

เมื่อวันที่ ๖ ก.ย.๔๗ คณะสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มาขอศึกษาดูงานที่ชุมชนปฐมอโศก สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้ให้การต้อนรับ เริ่มด้วยการฉายวิดีโอ "๒๐ ปี ชุมชนปฐมอโศก" จากนั้นได้มีการ ซักถาม แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ และปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. หลังจากนั้นทางชุมชน ปฐมอโศกเลี้ยงอาหารกลางวันและพาชมสถานที่ต่างๆของชุมชน

มีผู้เข้าเยี่ยมชมทั้งหมดเกือบ ๒๐ คน เป็นกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร บรรยากาศของการสนทนา คณะสภา ที่ปรึกษาฯ ได้ซักถามถึง ความเป็นมาของ ชาวอโศก การทำงานกับสังคมภายนอก วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเปลี่ยนแนวคิด ของเกษตรกร จากเกษตรเคมี เป็นเกษตรอินทรีย์จะทำอย่างไร?

สมณะเสียงศีล ได้ตอบและแนะนำไปว่า การแก้ปัญหาทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ ตัวเราเองก่อน พวกเราเริ่มต้น ด้วยการศึกษา และปฏิบัติธรรม ให้มีสัมมาทิฐิ ต้องมีศีล ๕ ละอบายมุขให้ได้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นก่อน ต่อมา ก็จะเกิด การรวมกลุ่ม ของคนมีศีล มีธรรมขึ้น คนเราเมื่อจิตใจดี ทุกอย่าง ก็จะดีไปหมด จะรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละช่วยเหลือคนอื่น ถ้าภาระของเราน้อยลงก็จะมีเวลาช่วยคนอื่นมากขึ้น แต่ก่อน จะช่วยคนอื่น ต้องช่วย ตัวเองให้ได้ก่อน ต้องเป็นตัวอย่างให้ได้ก่อนที่จะแนะนำหรือสอนคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอบายมุข หรือ เรื่องของการทำ การเกษตรก็ตาม ถ้าเราทำได้แล้ว สำเร็จแล้ว เราจะมีเรื่องที่จะพูดจะแนะนำมากมาย และ พูดได้อย่างเต็มปาก เต็มคำด้วย ชาวบ้านก็จะมั่นใจ และมีกำลังใจ ทำด้วย ยังมีคำถามอีกหลายประเด็น เช่น เกษตรกรยังเป็นหนี้เป็นสิน ยังใช้สารเคมีอยู่อีกมาก จะมีวิธีแก้อย่างไร? ปัญหาเยาวชน ปัญหาเรื่องการศึกษา ที่นับวันจะตกต่ำ และมีปัญหามากขึ้น จะแก้อย่างไร? เป็นต้น

ได้ซักถามพูดคุยกันจนลืมเวลากลับ สนใจรายละเอียดขอชมวิดีโอได้ที่พุทธสถานปฐมอโศก เพื่อนช่วยเพื่อน ชั้น ๔ ตึกศาลางาน (ตึกโรงพิมพ์) .

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

เรื่องของแปรงสีฟัน!

ปกติเราๆก็รู้กันอยู่ว่า เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องดูแลข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ให้สะอาด และถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน เครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหลาย และแปรงสีฟัน ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่เรารู้ว่า ต้องดูแลให้สะอาด พอใช้ไปจนขนแปรงเริ่มบานก็เปลี่ยนใหม่กันเสียที ว่ากันว่าเพื่อประสิทธิภาพ ในการทำความสะอาดฟัน พอสุขภาพฟันดีเราก็ไม่ต้องทรมานกับโรคฟันทั้งหลาย ซึ่งทุกคนก็รู้อยู่ว่า ปวดฟันนั้น ปวดทรมานแค่ไหน แถมค่ารักษาก็แพงน่าดู ดังนั้นใครที่ไม่อยากมีปัญหาเหล่านี้ จึงพากันให้ความสำคัญ ในการดูแล ความสะอาดของฟัน ส่งผลถึงแปรงสีฟันซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักที่ต้องใช้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ข้างต้น เราจึงมีแปรงสีฟัน อย่างน้อยๆก็คนละอัน หรือก็ไม่น่าแปลกใจ ถ้าใครบางคนอาจต้องมีแปรงอีกหลายอัน (ชนิด) ตามปัญหาสภาพ ในช่องปากด้วย และห้องน้ำแต่ละบ้าน ก็เป็นที่เก็บและรวมแปรงสีฟัน ของเหล่าสมาชิก เรื่องก็ดูดี และก็น่าจะจบแค่ตรงนี้

แต่ใครจะคิดว่า "การเก้บรักษาแปรงสีฟันไว้รวมกัน จะแพร่โรคใส่กันในหมู่คนในบ้าน"

ที่มาก็คือ ได้อ่านเจอในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า "สมาคมสุขภาพปากและฟันของสหรัฐฯ ได้ประกาศ เตือนประชาชนเรื่อง การเก็บแปรงสีฟันในบ้านเอาไว้รวมกัน อาจทำให้ติดโรคหวัดสามัญ และไข้หวัดใหญ่กันได้

นักวิจัยได้พบในการศึกษาว่า ขนของแปรงสีฟันเป็นที่ซ่องสุมเชื้อโรคต่างๆอย่างดี เช่น เชื้อโคลิฟอร์ม ซึ่งเป็นตัวการ ทำให้เป็นโรคอุจจาระร่วง และยังได้พบหลักฐานส่อว่า เชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ในช่องปาก ยังอาจมีส่วนทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวานและคลอดลูกก่อนกำหนด ได้อีกด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แนะนำให้ต่างคนต่างเก็บ แปรงสีพันของตนไว้คนละที่ และหมั่นทำความสะอาดมัน เป็นประจำ จะดีกว่า"

ข้อมูลที่นำมาฝากนี้เป็นอีกหนึ่งความห่วงใยในสุขภาพ คงมีประโยชน์กับท่านสมาชิกบ้างไม่มากก็น้อย

ดูแลใส่ใจ เรื่องของสุขอนามัยภายนอกแล้ว เราจะได้มีร่างกายที่แข็งแรง ไว้ปฏิบัติธรรม และใช้ชีวิตนี้ เพื่อสะสมบุญได้นานๆ ไงคะ

ดูแลสุขภาพนะคะ ฉบับหน้าจะนำเรื่องดีๆมาฝากกันอีกค่ะ.

- บุญนำมา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เก็บมาฝาก - โดยเศษเหล็ก -

ส.ป.ก.เลื่อนรังวัดที่จำลอง
รอผลพิสูจน์สิทธิ-หวั่นถูกมองเลือกปฏิบัติ

"เนวิน"ยันตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.อย่างตรงไป ตรงมา ใช้มาตรฐานเดียวกัน ปฏิเสธจ่ายชดเชยที่ดิน ส.ป.ก. ที่ถูกยึดคืน ชี้จะก่อปัญหามากขึ้น ด้านฝ่ายค้านเตรียมตั้งกระทู้ถาม ชี้สังคมคาใจ ขณะที่ ส.ป.ก. กลับลำ เลื่อนรังวัดที่ดินมูลนิธิ พล.ต.จำลอง เลขาฯ ส.ป.ก.เผยรอประสานมูลนิธิพิสูจน์สิทธิก่อน กลัวถูกมอง เลือกปฏิบัติ

นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงการตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.ของมูลนิธิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โดยยืนยันว่า ทำทุกอย่างตามหน้าที่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตรงไปตรงมากับที่ดินทุกแปลง เพราะมีประชาชน ๑.๓ ล้านคน ยังรอการจัดสรรที่ทำกินจากรัฐอยู่ และอยากให้ทุกฝ่ายออกมาพิสูจน์ ถ้ามีกรรมสิทธิ์จริง ก็ได้เอกสารสิทธิ จากกรมที่ดินไป แต่ถ้าไม่มี ก็ขอความกรุณา สละสิทธิ์เพื่อจัดสรรเอกสารสิทธิ ให้คนไม่มี ที่ทำกินด้วย

ส่วนเรื่องการชดเชยที่ดินนั้น นายเนวิน กล่าวว่า โดยหลักการหากชดเชยให้ผู้ที่บุกรุกที่ดินของรัฐ ต่อไปการบุกรุก เพื่อหวังผลการชดเชยของรัฐ โดยไม่ได้หวังที่ทำกินก็จะมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การป้องกัน ดูแลที่ดินของรัฐ ยากลำบากขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าในวันที่ ๓๐ ก.ย.นี้ วิปฝ่ายค้านจะตั้งกระทู้ ถามรัฐบาล เรื่องการตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.มูลนิธิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เพราะก่อนหน้านี้เคยบอกว่า จะยึดที่ดินคืน แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ดำเนินการ ทำให้สังคมค้างคาใจ และต้องการคำตอบ

นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึง ความคืบหน้า การตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ของมูลนิธิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในจ.สุพรรณบุรีว่า ทาง ส.ป.ก. สุพรรณบุรี ได้ยกเลิกกำหนดการที่จะลงพื้นที่ ร่วมกับกรมป่าไม้ในการรังวัดที่ดิน ๕๓๖ ไร่ดังกล่าว เพื่อกันพื้นที่ป่า คืนให้กรมป่าไม้ เนื่องจากตอนแรก เข้าใจผิดว่าทาง ส.ป.ก.สุพรรณบุรี ได้มีการติดต่อ กับทางมูลนิธิแล้ว จึงประสานงานกัน เพื่อไปตรวจสอบรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่เมื่อสอบถามไปทาง ส.ป.ก. สุพรรณบุรี จึงทราบว่า ทางมูลนิธิยังไม่ได้ติดต่อ นำเอกสารข้อมูล มาพิสูจน์สิทธิ แต่อย่างใด

"ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องเข้าไปรังวัดกันแนวเขตในช่วงนี้ เพราะถือว่า ยังไม่มีการร้องขอมา หากเข้าไป ดำเนินการ เฉพาะรายของมูลนิธิ จะถือว่าเลือกปฏิบัติได้ ถ้าจะไปรังวัดแปลงนี้ ก็ต้องทำแปลงอื่น ให้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า จะยกเลิกการตรวจสอบที่ดินของมูลนิธิ เพียงแต่ยังอยู่ในช่วงเวลา ๖๐ วัน ที่นายเนวิน กำหนด ดังนั้น มูลนิธิจึงยังมีเวลา ที่จะติดต่อเข้ามา"เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว.
(จาก นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๓๐ก.ย.๔๗)


รัฐเปลี่ยนเขตปกครอง ทำที่ดิน ส.ป.ก. 'จำลอง' วุ่น

เป็นประเด็นร้อนแรงหนึ่งในหลายๆเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนเมื่อ นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าตรวจสอบการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ในจ.สุพรรณบุรี ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานมูลนิธิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ว่าได้มาถูกต้อง ตามกฎหมายหรือไม่ กระทั่ง สุดท้าย เรื่องกลับเงียบหายไป เพราะถูกกลบด้วยกระแสการเมือง ที่ร้อนแรงมากกว่า

"คม ชัด ลึก"ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ดินของมูลนิธิ ใน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กินเนื้อที่ ๒๑๑ ไร่ ๓ งาน ๙ ตารางวา แบ่งทำการเกษตร ๑๐๐ ไร่ โดยจัดสรรให้เกษตรกร ๕ ครอบครัว ครอบครัวละ ๖ ไร่ ส่วนที่เหลือ มูลนิธิ ได้ปลูกงาเพื่อใช้เป็นทุน ในการทำกิจกรรมของมูลนิธิ สำหรับที่ดินอีก ๑๑๑ ไร่ เป็นป่าเขา ได้รับการดูแล ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งปลูกป่าทดแทน กลายเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์

ขณะที่ผู้สื่อข่าวลงไปในพื้นที่ พบชาวบ้านกว่า ๑๐ คน กำลังจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องที่กำลังเป็น ประเด็นข่าวร้อนแรง ส่วนใหญ่แสดงความวิตกกังวล กับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนางบุญมา บัวนคร อายุ ๓๙ ปี ชาว กาฬสินธุ์ยอมรับว่า หลังเกิดกรณีพิพาท บรรดาเกษตรกรที่อาศัยอยู่กับ มูลนิธิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รู้สึกกังวลใจมาก เนื่องจากไม่รู้ว่า ทางราชการจะยึดที่ดินของ มูลนิธิคืนไปเมื่อไร เพราะมูลนิธิ ได้พลิกฟื้น จากป่ารกร้าง จนกลายเป็นป่าสมบูรณ์ ตลอดจนเป็นแหล่งทำกิน สร้างรายได้ ยังชีพของพวกเรา

"ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นเพราะมูลนิธิได้ยื่นเรื่องขอครอบครอง ที่ดินตรงนี้ไปแล้ว แต่เรื่องยังค้างคาอยู่ที่สำนักงาน ที่ดิน
จังหวัดสุพรรณบุรี ถ้าเขามายึดคืนจริงๆ เราคงไม่ยอมง่ายๆ พวกเรารักที่นี่ เราสามารถทำให้ครอบครัว ของพวกเรา ยืนหยัดขึ้นมาได้ มีความผูกพันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้เป็นเพราะเรื่องการเมืองหรือเปล่า เพราะผู้ครอบครอง ที่ดินรอบนอกจำนวนมาก แต่ไม่เห็นมีใครทำอะไร"บุญมา กล่าว

เมื่อ ๓ ปีก่อนนางบุญมาตัดสินใจเลิกอาชีพปลูกอ้อยและอพยพครอบครัวประกอบด้วยสามีและ ลูกอีก ๒ คน จาก จ.กาฬสินธุ์ เข้ามาขออาศัยอยู่กับมูลนิธิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ใช้ชีวิตตามแบบอย่าง หรือกฎกติกา ของมูลนิธิ ด้วยการกินมังสวิรัติ ประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ปลูกผักปลอดสารพิษขาย มีรายได้ ตกเดือนละ ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาท เพียง ๒ ปีก็มีเงินชดใช้หนี้สินที่กู้ยืมมา ลงทุนปลูกอ้อยใน จ.กาฬสินธุ์ จนหมด ดังนั้น เธอและครอบครัวจึงรู้สึกผูกพันกับมูลนิธิ และที่ดินทำกิน นอกเหนือไปจาก แหล่งรายได้ แต่ในฐานะ เป็นแหล่งสร้างชีวิตครอบครัว

"ูย้ายบ้านมาแล้วครั้งหนึ่ง หนูไม่อยากย้ายไปไหนอีก เพราะไม่รู้ว่าจะต้องลำบากเหมือนเดิมหรือเปล่า อยากให้ลุงจำลอง ช่วยครอบครัวหนูด้วย" ด.ญ.สุจินดา บัวนคร อายุ ๑๔ ปี บุตรสาวนางบุญมา กล่าววิงวอน เนื่องจาก เธอกำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.๓ ร.ร.หนองปรือวิทยาคม จ.กาญจนบุรี เป็นความรู้สึกที่ไม่อยาก จากเพื่อน และที่สำคัญคือ ไม่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตลำบาก ในจังหวัดบ้านเกิดอีก

ขณะที่ นายหินแท้ พระนารา ชาวขอนแก่น ที่เข้ามาทำกินอยู่บนที่ดินของมูลนิธิมากว่า ๑๑ ปี ยืนยันว่า หลังจากเขา และเกษตรกรรวม ๕ ครอบครัว ย้ายเข้ามาทำกินบนที่ดินผืนดังกล่าวนี้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น กว่าเดิมมาก จากกรรมกรแบกหามตามสถานที่ ก่อสร้างตระเวนทำงานไปตามแต่บริษัทรับเหมาจะพาไป ไม่มีที่พักและสถานศึกษาให้ลูกเรียนเป็นหลักแหล่ง ปัจจุบันเขาปลูกผักปลอดสารพิษขาย กลายเป็นเกษตรกร ที่ไม่ต้องเป็นภาระ ของสังคม สร้างผลิตผลมีคุณภาพออกไปให้ประชาชนได้บริโภค หากจะให้ชีวิตกลับไปเป็น อย่างเก่า คงยอมไม่ได้

"ผมยอมไม่ได้หากรัฐจะยึดที่ทำกินของพวกผมไป เราสร้างมันมากับมือ เราอนุรักษ์ป่าให้สมบูรณ์ จากเดิม ที่เป็นป่ารกร้าง มีแต่ผู้คนที่จะเข้ามาตัดถางป่า แต่เราปลูก เราอนุรักษ์ไว้ให้เหมือนเดิม เราจะสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อความเป็นธรรมของพวกเรา" นายหินแท้ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมทีที่ดินของมูลนิธิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อยู่ในเขตการปกครองของ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้มีการจัดสรรเขตการปกครองใหม่ ทำให้ที่ดินทั้ง ๒๑๑ ไร่ ตกไปอยู่ในเขต รับผิดชอบของ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จึงกลายเป็นปัญหาเรื่องการออกเอกสารสิทธิขึ้น ทั้งนี้ "คม ชัด ลึก" สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จ.กาญจนบุรี รายหนึ่ง ได้รับคำอธิบายว่า สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ยังไม่ออก เอกสารสิทธิให้ เกิดจากระหว่างที่มูลนิธินำเอกสารไปยื่นต่อ ส.ป.ก.กาญจนบุรี ได้ถูกชะลอ การดำเนินงานไว้ เนื่องจากขณะนั้น มีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ ที่ดินผืนนี้ตกไปอยู่ในเขตปกครองของ จ.สุพรรณบุรี ดังนั้น จึงเป็นอำนาจของ จ.สุพรรณบุรี ที่จะพิจารณาออกเอกสารสิทธิ

เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าวต่อว่า ระหว่างที่มูลนิธิกำลังดำเนินการขอเอกสารครอบครอง ที่เกิดการร้องเรียน เรื่องการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. กระทั่งกลายเป็น ประเด็นร้อนแรงขึ้นในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปกติแล้ว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จะมาที่มูลนิธิเดือนละ ๒ ครั้ง ซึ่งหลังจาก เกิดเรื่องขึ้น ได้เข้ามาพูดคุยกับเกษตรกรหลายครั้ง โดยบอกให้เกษตรกรทุกครอบครัว ทำใจเย็นไว้ก่อน คอยดู สถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพราะขณะนี้มูลนิธิได้เตรียมเอกสาร ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องแล้ว.

(จาก นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๓๐ ก.ย.๔๗ โดย ไชยฤทธิ์ เสนาะวาที)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๔๐(๒๖๒) ปักษ์แรก ๑-๑๕ ต.ค.๔๗ ขอเสนอข่าว ความเคลื่อนไหว ในรอบปักษ์ที่ผ่านมา ดังนี้

ลูกค้าพัฒนา...ที่ บจ.พลังบุญ ยามนี้ลูกค้าที่มาซื้อของต่างก็นำถุงหูหิ้วบ้าง ถุงผ้าบ้างมาใส่สินค้า บางคน ก็นำถุงใช้แล้วมาบริจาค เห็นแล้วก็ประทับใจในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแต่ละท่าน เหลือแต่ ชาวเราละฮะ...ออกจากบ้านไปซื้อสินค้าวันนี้ มีถุงผ้าหรือถุงพลาสติกติดตัวไปแล้วหรือยัง ก็คงต้องช่วยๆ กันหน่อย ละฮะ เพราะขยะจะล้นโลกอยู่แล้ว ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังจะได้ไม่ต่อว่าคนรุ่นเราๆไง...จี๊ดๆๆๆ...


โกอินเตอร์ซะแล้ว...ใครว่าอโศกไม่โกอินเตอร์ ไม่จริ๊งไม่จริง ก็เด็กรุ่นใหม่ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา ศิษย์เก่า พุทธธรรม และสัมมาสิกขาสันติอโศก น้องชิดตะวัน กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ การเมือง ที่เยอรมัน ส่วนน้องเจน สจิตา ก็กำลังต่อมัธยมฯปลาย ที่อังกฤษโน้นแน่ะ จิ้งหรีดก็ขอเอาใจช่วย ให้จบไวๆ จะได้มาเป็นกำลังสำคัญ ให้แก่อโศกต่อไป ขออนุโมทนาด้วยฮะ...จี๊ดๆๆๆ...


ฮึดสู้...จากกู้ดินฟ้าเจอวิกฤต ถูกแม่ค้าหลอกขายผักไม่ปลอดสารพิษ จนต้องปิดร้านไปหลายวัน เพราะหาผัก ไร้สารพิษไม่ได้ คุณพลอยไพรเลยฮึดสู้กู้วิกฤต ด้วยการชักชวนผู้ร่วมอุดมการณ์ มีคุณพุดสามสี พี่ชายและพ่อ ไปบุกเบิก ปลูกผักไร้สารพิษด้วยตัวเอง เวลาผ่านมาสองเดือนกว่า ได้ผักหลายชนิดมาขายแล้ว ได้ข่าวว่า เจ้าตัวไม่อยากจะกินเลย เพราะปลูกยากเหลือเกิน

ด้วยความรอบคอบ คุณพลอยไพรส่งผักทุกครั้ง ก็มีการชั่งและกำหนดราคาไว้ เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง การซื้อผัก จากคนอื่น กับการปลูกเองขายเอง จะมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้จิ้งหรีด ก็ต้องขอชื่นชม เป็นพิเศษ

ส่วนเธอไปปลูกที่ไหน จังหวัดอะไร สอบถามกันเองนะฮะ พอรู้แล้วก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยียน หรือถ้าจะให้ดี ก็อยู่ร่วมอุดมการณ์เลย ก็จะดีไม่น้อยนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...


กินข้าวห้อง...ขอต้อนรับสู่งานกินข้าวห้อง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ก.ย.๔๗ ชมรมสัมมาสิกขาพุทธธรรม ได้จัดงานนี้ ที่ชั้นล่างของพระวิหารพันปีฯ บริเวณหน้าน้ำตก มีการจับจองพื้นที่แจกอาหารก่อนวันงาน จิ้งหรีดก็รู้สึก ประทับใจ เพราะนี่ขนาดแลกอาหารด้วยใบไม้ ผู้มาเปิดร้านแต่ละเจ้า ต่างก็พยายามเลือกทำเลทอง ทำเลที่คนมา รับแจกอาหารสะดวก จะได้มากินกันได้เยอะๆ

กลุ่มดอกไม้บาน (ด็กพุทธธรรมรุ่น ๗ ขวบ) แม่ศรีฟ้านำทีมเด็กๆมาทำขนมน้ำแข็งใส โดยมอบหมายให้เด็ก แต่ละคนรับผิดชอบ ทำขนมมาคนละอย่าง เพื่อมาทำรวมกัน พอมาถึงทุกคนก็พร้อมบริการ พับแขนเสื้อ เตรียมลุย (แต่คนกินพร้อมนานแล้ว)

จิ้งหรีดเห็นแถวที่เข้าคิวมารับบริการ ก็คิดว่าน่าจะชื่อ ร้านน้ำแข็งใสทรหด เพราะนอกจากผู้ไส ต้องต่อสู้กับ อุปกรณ์ ไสน้ำแข็ง รุ่นคุณปู่แล้ว ลูกค้ายังต่อแถวรอแบบทรหดอีก เพราะไสได้ช้าและน้อย กว่าจะได้ น้ำแข็งไส แต่ละถ้วย ก็เล่นเอาเหงื่อแตกพลั่ก ดังนั้นตำแหน่งผู้ไสน้ำแข็ง จึงตกเป็นของสาธารณะไป คือใครมีแรง ก็ผลัดกันมาไสให้เด็กๆ ถ้าเป็นมวยปล้ำก็ผ่านการแตะมือไม่ต่ำกว่า ๘ คน และแต่ละคน คงได้กล้าม กลับไปเป็นมัดๆแน่

หันมามองอีกมุม เด็ก ๙ ขวบ กลุ่มน้ำใจเด็กดี ที่มีครูตูนและคุณแม่ดูแลอยู่กำลังทำขนมครกกันอย่าง สนุกสนาน เอื้อเฟื้ออุปกรณ์โดยผู้ปกครอง จิ้งหรีดสังเกตเห็นถาดขนมครกไม่มีเหลือเป็นสต็อกเลย แสดงว่า ขายดีจริงๆ

รายการบนเวทีก็มีอย่างต่อเนื่อง กลุ่ม ๘ ขวบทำขนมปังปิ้งทาแยม เมนูอาหารมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ เห็ดปิ้ง ขนมปังหน้าหมู(จ) ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เลิศรสยั่วกิเลสให้ดิ้นออกมาทั้งสิ้น กินอิ่ม ก็มีดนตรี แบบสาระดีๆจากพี่ๆสัมมาสิกขาขับกล่อม และจากอาหินทอง ดีรัตนา ที่มาสร้างความสุขให้กับเด็กๆ

ก่อนปิดร้านมาตรวจสอบเด็กๆ ปรากฏว่า เด็กๆทานอาหารตามใจชอบแทบจะไม่ได้ทานข้าวเลย จึงต้อง ยกขบวนเข้าไปทานข้าวกันในครัวกลาง นั่งทานไปเล่นซนกันไปตามประสาเด็ก น้องบีมจะกินยากมาก เลือกกับข้าวไม่ได้ ก็กินข้าวกับผักสด โอโห! จิ้งหรีดเห็นแล้ว หนาวยะเยือก เด็กอะไรเก่งกว่าจิ้งหรีดซะอีก

งานนี้เป็นงานแปลก จบงานที่อื่นทางโลกก็ต้องเก็บกวาดอย่างมโหฬาร แต่จบงานนี้ สถานที่สะอาด ใบไม้แห้ง ไม่ต้องพูดถึง แทบไม่เหลือ โอ้หนอ! ช่างมหัศจรรย์จริงๆ งานกินข้าวห้องของชาวพุทธธรรมสันติอโศก...จี๊ดๆๆๆ...


กินไม่เหลือ...จิ้งหรีดที่ชุมชนหินผาฟ้าน้ำรายงานบรรยากาศมาว่า ไม่แพ้ที่ภูผาฯ เท่าไหร่ในด้านสัปปายะ เพราะ ที่ภูผาฟ้าน้ำมีดอยแพงค่า ส่วนที่หินผาฟ้าน้ำมี "ดอยถ้ำวัวแดง"บนดอยมากไปด้วยพืชผักไร้สารพิษ หน่อไม้ ก็หักจากต้นไผ่มาทำอาหารกันแบบสดๆร้อนๆทุกวัน มีผักหวานป่าหลายต้น ชาวเราช่วยอนุรักษ์ไว้ พอเดินทาง ไปถึงหินผาฯ จิ้งหรีดก็สัมผัสลมหนาวได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้นพรรษาก็มีการดำนา กินข้าวนา นักเรียน สส.ผ. ก็สนุกกับการทำนา สมณะก็พลอยปลื้มปีติยินดีไปด้วย เห็นเด็กๆ ขยัน สามัคคี คนชุมชนก็ร่วมลงแขก ไปพร้อมกับเด็กๆ ดุจครอบครัวใหญ่ ทำนาไปก็หาเก็บพืชผักหน่อไม้ไปในตัว และในช่วงอธิษฐานเข้าพรรษาปีนี้ ชาวหินผาฯก็ได้ตั้งตบะร่วมกิน คือ กินไม่เหลือทั้งสมณะ ผู้ใหญ่ เด็ก โดยใช้กฎกติกาแบบที่เคยทำอยู่ที่ภูผาฯ เปี๊ยบเลย จิ้งหรีดมองดูหินผาฟ้าน้ำแล้ว ไม่เห็นเศษขยะอาหารที่กินเหลือในถังขยะเหมือนความฝัน อ้าว! จิ้งหรีด กำลังฝันไปนะเนี่ย คิดว่าความจริง นี่จิ้งหรีดต้องเดินไปถังขยะสักหน่อย เพราะความฝัน อาจเป็นความจริง ก็ได้นะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...


สีมาอโศก...จิ้งหรีดที่สีมาฯรายงานมาว่า ท่านพอจริงช่วงนี้อาพาธบ่อย แต่ก็สอน ม.วช. ตามปกติ ทุกวันอังคาร, พฤหัสบดี ก็ได้รับความนิยมสูง ทั้งผู้ไม่ใช่ ม.วช. และญาติธรรมที่อยู่นอกวัดก็มาเรียนกัน เป็นเรื่องการ รักษาศีล การเพิ่ม อธิศีล

ส่วนท่านปฐวีรโส ภูมิแพ้กลับมาเยือน กลางคืนหายใจไม่สะดวก ท้องเสียบ่อยๆ อาการเป็นๆหายๆ แต่กระนั้น จิตใจก็ เบิกบานดี การทำงานก็พอเป็นไป

ท่านนานุ่มอาการป่วยดีขึ้นแล้ว ส่วนหลวงปู่อมโรก็เช่นกันกลับมานอนที่กุฎิตามเดิมและแข็งแรงขึ้น

งานเจปีนี้เปิดที่ มรส. ร้านเดียวก็คงไม่หนักอะไร

ช่วงนี้สีมาฯ (ดือน ก.ย.) ฝนตกบ่อยๆ ผักที่นักเรียนปลูกไว้ก็ขึ้นแข่งกับหญ้า เพราะลงทำกันเฉพาะวันพุธ สัปดาห์ ละครั้ง จึงไม่ค่อยทัน ฝนตกบ่อยหญ้าเลยขึ้นเร็ว

บรรยากาศเช้า-เย็น เปิดเทปเรื่องแสงเทียน พระอานนท์พุทธอนุชา ดีกว่าเปิดเพลงมากเลย เด็กๆก็ฟังกันดี น่าจะเปิดซ้ำ ได้อีกเรื่อยๆ เพราะมีหัวข้อธรรมที่ฟังง่ายๆ เป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม

สมณะไปบิณฑบาต มีคนใหม่ๆมักถามเสมอว่า มาจากไหน ทำไมไม่รับเงิน ท่านธาตุดินก็เสนอหมู่สมณะ ทำแผ่นพับแจก ใครอยากรู้ข้อความ ในแผ่นพับ ก้ไปขอดูได้ที่สีมาฯ นะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...


มรณัสสติ
นางพลอย เรืองศรี อายุ ๘๔ ปี
ญาติธรรมรุ่นเก่าของชาวอโศก (โยมแม่ของสิกขมาตุมณทิพย์ เรืองศรี) เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ ต.ค.๔๗ ฌาปนกิจศพที่เมรุ ชุมชนปฐมอโศกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ต.ค.๔๗


ท้ายฉบับขอฝากคติธรรม-คำสอน ของพ่อท่าน ที่ว่า

เห็นไหมเอ่ย! ว่าอาตมาอยู่ท่ามกลาง
แสง-สี-กลิ่น-รส ตกแต่ง ประดับประดา
ชูช่อชูเชิด เอิกเกริกออกปานใด
แต่นั่นแหละ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น
มันไม่ใช่อะไรของอาตมาเลยจริงๆ
มันมี "ค่า"จริงๆ
แต่เกินกว่าอาตมาจะหลงติดมันแล้วเด็ดขาด.
(๕ ก.ค.๒๒)

(จากหนังสือโศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๕๗)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
- แม่ครัวจำเป็น -

เนื่องจากฉบับนี้ ทาง ตอ.ส่งข้อมูลให้ไม่ทัน ผู้เขียนจึงขอนำเมนูอาหารจากหัวปลี มาฝากผู้อ่านกัน เต็มอิ่มเลย แหละค่ะ เพื่อจะได้เป็นการสืบสานวัฒนธรรมการกินผักพื้นบ้านไร้สารพิษช่วงเทศกาลเจพอดีไงคะ สนใจ สูตรไหน ก็ลองทำดูนะคะ แล้วอย่าลืมส่งมาให้ชิมกันบ้างนะคะ ฮิฮิ ก็ขอให้อิ่มบุญโดยถ้วนหน้ากัน ทุกท่าน ทุกคนเลยค่ะ

ต้มข่าหัวปลี
เครื่องปรุง หัวปลีเผา ๑ หัว เห็ดฟาง ๒ ขีด ข่าอ่อน ๑๐ แว่น มะพร้าว ๑/๒ ก.ก. ใบมะกรูด ๕ ใบ ตะไคร้ ๒ ต้น พริกขี้หนูสวน ๕ เม็ด พริกแห้ง ๓ เม็ด มะนาว, ซีอิ๊วขาว, ผักชี, น้ำมัน

วิธีปรุง
๑. เผาหัวปลีทั้งหัวในเตาถ่านให้สุก ลอกกาบนอกที่ไหม้ทิ้ง หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม
๒. ทอดพริกแห้งกับน้ำมันพอเหลือง ฉีกเป็นชิ้นเตรียมไว้ (จใส่น้ำพริกเผาแทนก็ได้)

๓. คั้นกะทิตั้งไฟพอเดือด ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หัวปลี เห็ด
๔. ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว มะนาว ทุบพริกขี้หนูสวนพอแตก พอเดือดยกลง โรยผักชีและพริกทอดที่เตรียมไว้


แกงป่าหัวปลี
เครื่องปรุง หัวปลี ๒ หัว ใบชะอม ๑/๒ ถ้วย ใบชะพลู ๕-๖ ใบ ถั่วฝักยาวเด็ดสั้น ๆ ๒ ฝัก ถั่วแดงหลวงต้มเปื่อย ๑/๒ ถ้วย

เครื่องปรุงน้ำพริก
พริกสด ๒ เม็ด เกลือ ๒ ช้อนชา หอมแดง ๓ หัว กระเทียม ๕ กลีบ น้ำ ๒ ถ้วย

วิธีปรุง
๑. ทุบหัวปลีแกะเอากาบแก่ ๆ ออก ผ่าเอาไส้ออก หั่นเป็นท่อน ๑ ๑/๒ นิ้ว แช่น้ำ ล้างชะพลู ฉีกใบละ ๒-๓ ชิ้น
๒. โขลกทำเครื่องน้ำพริกให้ละเอียด ใส่น้ำพริกลงในหม้อที่ใส่น้ำ ๒ ถ้วย พอแกงเดือดใส่หัวปลี แล้วใส่ถั่วแดงต้ม พอหัวปลีเปื่อยใส่ผักที่เหลือลง คนให้ทั่วแล้วยกลง


ยำหัวปลีกะทิสด
เครื่องปรุง
มะพร้าว ๑/๒ ก.ก. หัวปลี ๓ หัว ตะไคร้ ๑ ต้น กระเทียม, หัวหอม ๓ หัว ใบโหระพา ๓ ยอด ใบชะพลู ๓ ใบ ผักชีฝรั่ง ๓ ต้น พริกแห้ง ๗ เม็ด ต้นหอม ๕ ต้น ถั่วลิสงป่น ๓ ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทรายแดง ๒ ช้อนชา น้ำส้มมะขาม ๒ ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊วขาว ๓ ช้อนโต๊ะ

วิธีปรุง
๑. คั้นกะทิ ๒ ถ้วยตวง เผาหัวปลีแกะเปลือก ฉีกฝอย ใบโหระพาเด็ด ใบมะกรูดหั่นฝอย ต้นหอมหั่นละเอียด
๒. เผาพริกแห้ง โขลกละเอียดกับกระเทียมเผา หอมเผา
๓. ผสมกะทิกับหัวปลี ต้มพอเดือดยกลง ตั้งให้เย็น ใส่น้ำพริกที่โขลกละเอียดแล้วผสมตะไคร้ ใบโหระพา ใบมะกรูด ผักชีฝรั่ง ต้มหอม ส้มมะขาม ถั่วลิสงป่น ซีอิ๊วขาวปรุงรส


ห่อหมกหัวปลี
เครื่องปรุง
กะทิข้น ๑ ถ้วย หัวปลีส่วนขาวหั่นขวางบาง ๆ
๒ ถ้วยตวง แป้งข้าวเจ้า ๒ ช้อนโต๊ะ เห็ดฟางตูม
๑ ถ้วยตวง เต้าหู้ยี้ ๑ ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทรายแดง ๑ ช้อนชา ซีอิ๊วขาว

เครื่องปรุงน้ำพริก
พริกแห้ง ๑/๒ ถ้วยตวง เกลือป่น ๑ ช้อนชา ข่าซอย ๑ ช้อนชา ตะไคร้ซอย ๒ ช้อนโต๊ะ ผิวมะกรูดซอย ๑/๒ ช้อนชา กระชายซอย ๑ ช้อนชา กระเทียมซอย ๔ ช้อนโต๊ะ พริกไทยป่น ๑ ช้อนชา หอมเล็กซอย ๔ ช้อนโต๊ะ ถั่วลิสงคั่วป่น ๑ ช้อนโต๊ะ

เครื่องปรุงแต่งหน้า
ใบผักชี, พริกชี้ฟ้าหั่นฝอย ๑ ดอก, ใบมะกรูดหั่นฝอย ๑ ช้อนชา

วิธีปรุง
๑. โขลกพริกแห้งกับเกลือป่นจนละเอียด ใส่ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด หัวกระชายโขลกละเอียดดีแล้วใส่ กระเทียมโขลกต่อ ใส่หอม พริกไทยโขลกให้ละเอียด
๒. ละลายน้ำพริกกับกะทะ แป้งข้าวเจ้า ใส่ซีอิ๊ว น้ำตาล เต้าหู้ยี้ (ไม่มีใช้เต้าเจี้ยวแทน) คนให้เข้ากัน ใส่หัวปลีและเห็ด คนให้เข้ากัน
๓. ตักส่วนผสมใส่กระทงใบตอง นึ่ง ๒ นาที ยกลง หยอดกะทิผสมแป้งข้าวเจ้าพอข้น ๑ ช้อนชา ตรงกลางกระทง แต่งหน้าด้วยผักชี มะกรูด พริกแดง หัวปลีนึ่งต่อ ๒-๓นาที ยกลง


พล่าหัวปลี
เครื่องปรุง
หัวปลี ๖ หัว พริกแห้ง ๒๐ เม็ด มะนาว ๔-๕ ผล น้ำตาลปีบ ๒ ช้อนโต๊ะ ต้นหอม ๒๐ ต้น ตะไคร้ ๖ ต้น หอมแดง ๑๕ หัว ซีอิ๊วขาว ๓ ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูสด ๒๕ เม็ด มะขามเปียก ใบสะระแหน่

วิธีปรุง
๑. ย่างหัวปลีทั้งหัว เอาส่วนไหม้ทิ้ง ฉีกฝอยส่วนที่เหลือ และเตรียมเครื่อง โดยหั่นตะไคร้เป็นฝอย พริกแห้งทอดกรอบ หั่นพริกขี้หนูสด ฝานหอม เด็ดใบสะระแหน่ หั่นต้มหอมยาว ๑ ซ.ม. คั้นมะนาว นำน้ำมะขามเปียก น้ำตาล ซีอิ๊วผสม ตั้งไฟให้เดือด ชิมให้ได้ ๓ รส
๒. คลุกกับน้ำ ๓ รส ใส่ตะไคร้ หัวหอม พริก
ขี้หนูสด ชิมรสใส่ต้นหอม ใบสะระแหน่ จัดลงจานแต่งหน้าด้วยใบสะระแหน่ และพริกขี้หนูแห้งทอดกรอบ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

สืบสานวัฒนธรรมการกินผักพื้นบ้าน ทำไม?
เพราะ... ผักพื้นบ้านกำลังจะถูกลืม
เพราะ... ช่วยกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
เพราะ... ผักพื้นบ้านราคาถูก และปลอดภัย
เพราะ... คนจนมีมาก ช่วยให้คนไทยพึ่งตนเองได้
เพราะ... ผักพื้นบ้านต้านโรค

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


วันอังคารที่ ๒๘ ก.ย. ๒๕๔๗ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ได้รับนิมนต์ไปร่วมสัมมนา "ธรรมะกับสันติภาพ" สำนักงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ

วันพุธที่ ๒๙ ก.ย. ๒๕๔๗ เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ เป็นตัวแทนองค์กรชาวอโศกไปร่วมเสนอความเห็นเรื่อง จีเอ็มโอ ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัย จุฬาภรณ์ กทม. จัดโดย สนง.พัฒนากระบวนการเรียนรู้ นโยบาย สาธารณะ เพื่อสุขภาพ (สกนส.) แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และระบบ การประเมินผล กระทบทางสุขภาพ สถาบัน วิจัยระบบสาธารณสุข

วันอาทิตย์ที่ ๓ ต.ค. ๒๕๔๗ ตลาดนัดกสิกรรมไร้สารพิษ ทุกวันอาทิตย์ ที่สันติอโศก ได้ย้ายไปขายบริเวณ ลานหิน ใต้ศาลาพระวิหารพันปีฯ

วันจันทร์ที่ ๑๑ ต.ค. ๒๕๔๗ ตัวแทนองค์กรชาวอโศก คุณ ร้อยแจ้ง จนดีจริงและคุณสู่ดิน ชาวหินฟ้า ร่วมสัมมนา สังเคราะห์องค์ความรู้ "เกษตรกรรมยั่งยืน องค์กรชุมชน กับเศรษฐกิจพึ่งตนเอง" ณ ห้องประชุม เกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเสนอกรณี ศีรษะอโศก โดย รศ.ดร.กนกศักดิ แก้วเทพ ด้วย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ต.ค. ๒๕๔๗ คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ และ คุณแซมดิน เลิศบุศย์ เป็นตัวแทนองค์กรอโศก ไปร่วมการแถลงข่าว "ณรงค์เรื่องอาหารดัดแปรพันธุกรรม" และรับฟังมุมมองจากทั่วโลก เรื่องจีเอ็มโอ ณ โรงแรม รอแยล พริ๊นเซส หลานหลวง กทม.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ น.ส.สำอาง คงคาสวัสดิ์
ชื่อใหม่ ใจพอ
เกิด ๖ ก.ค. ๒๔๗๒ อายุ ๗๕ ปี
ภูมิลำเนา สิงห์บุรี
การศึกษา ปริญญาตรี
สถานภาพ โสด
น้ำหนัก ๓๘ กก.
ส่วนสูง ๑๕๒ ซ.ม.

คุณยายใจพอ บรรพชนอีกคนหนึ่งของ ชมร.กทม. ร่วมงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกหลานมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ทุกวันนี้ ใช้ชีวิตอยู่ที่ปฐมอโศก แล้วยังครองตัวเป็นโสดมาได้ น่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะ

*** อาชีพเรือจ้าง
มีพี่น้อง ๑๑ คน ยายเป็นคนสุดท้อง พ่อเป็นชาวนา แม่ค้าขาย ทางบ้านส่งเสริมให้เรียน ได้วุฒิ ม.๓ ไปเรียน ประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู ว.) แล้วสอบเทียบ เป็นวิชาชุดมาเรื่อย จนได้ปริญญาตรี ทำงานเป็นครูมาตลอด ๓๑ ปี ลาออกตอนอายุ ๕๖ ปี

*** เป็นโสดทำไม
คงไม่มีเนื้อคู่มั้ง มีคนมาชอบมาจีบบ้าง แต่เพียงแค่ผ่านๆ เมื่อก่อนเห็นเพื่อนๆเขามีแฟน เขาไปเที่ยวไหน ก็ไปกับเขา เราคงไม่มีเนื้อคู่กับเขานะ ก็อยู่ของเรามาได้

ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าแก่ๆจะไม่มีใครมาเลี้ยง แต่เมื่อมาพบพ่อท่าน ได้ฟังธรรม ก็เข้าใจ รู้สึกเราโชคดี ที่ไม่ต้องไปแต่งงาน คิดว่าเรานี่ก็มีบุญนะ ที่ผ่านมาได้

เห็นหลานๆเขามีลูกกัน เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน บางคู่เจอผัวขี้เหล้า ลูกเต้าไม่ดีดังใจ คิดว่าเราโชคดีแล้วหนอ ภูมิใจ ที่เป็นโสด

*** คนมีบารมี
เป็นญาติกับโยมแม่ท่านเสียงศีล ชาตวโร (แม่บุญมาก เสียชีวิตแล้ว) ได้นิมนต์พระอโศกไปเทศน์ที่บ้านสิงห์บุรี ก็ชวนยายไปด้วย ไปก็ไม่ค่อยเต็มใจ ไม่ชอบที่พ่อท่านท่านโพธิรักษ์ทิ้งทรัพย์สมบัติมาบวช ฟังแล้วก็ไม่ค่อยพอใจ

ปี ๒๕๒๔ พี่สาวเขาชวนไปงานพุทธาฯที่ไพศาลี หลังจากนั้นก็ติดมาเลย รู้สึกว่าอโศกนี่ดีนะ กลับมาถึงบ้าน ก็ยกที่นอนให้หลานหมด รู้สึกว่า บ้านเรากว้างขึ้น เราก็มานอนเสื่อ สบาย

หลังจากนั้นก็ฟังธรรมมาเรื่อยๆ ก็ได้คิดว่าเราเป็นครูก็ยังผิดศีล บางข้ออยู่นะ ปี ๒๕๒๗ ก็ลาออก ครูใหญ่ ก็บอกว่า ให้อยู่ต่อสัก ๓ เดือน เขาจะให้เงินเดือน อีกขั้นหนึ่ง ก็ไม่เอา เพราะมาเจอธรรมะ ทำอะไรก็บาปไปหมด ลาออกดีกว่า ตอนนั้นอายุ ๕๖ ปี

พ.ศ.๒๕๒๗ ลาออกแล้วก็ไปอยู่ที่สันติอโศก ช่วยงานที่ ชมร.จตุจักรเรื่อยมา พ.ศ. ๒๕๓๔ ก็ลองไปอยู่ปฐมอโศก ก็อยู่มาจนถึงบัดนี้

เป็นอาคันตุกะประจำ เมื่อก่อนเข้าครัวเป็นลูกมือช่วยทำอาหาร เดี๋ยวนี้ตามองไม่ค่อยเห็น ไปผ่าต้อกระจกมา ก็ช่วยหั่น สมุนไพร ทำผ้าเช็ดเท้า ทำใช้ในวัด ถ้าเหลือก็ขายบ้าง

ประทับใจพ่อท่าน เทศน์อะไรดีไปหมด ที่ท่านบอกว่าคอยดูไป แล้วจะรู้ว่าอาตมาเป็นใคร ท่านพูดอะไรไว้ ตรงทุกอย่างนะ

*** ผัสสะผู้อายุยาว
อยู่กันก็มีผัสสะ เพราะอยู่กับคน หมู่มาก ก็รู้ว่าผัสสะมันมา ก็ต้องทำใจเอา ใครจะว่าเราก็ว่าไป ช่างเขา เราก็มา ดูใจเรา เพราะเรารู้ตัวเราดี เราเป็นแค่ไหน เราเจ็บแค่ไหน

เดี๋ยวนี้นั่งนานปวดหลัง ก็พยายาม ออกกำลังกายเอาเอง ขึ้นศาลาไม่ได้ เพราะเขาทำถนนสูง ตาเราไม่ค่อยดี เดินไม่สะดวก แต่หูยังฟังชัด

*** ไม้ใกล้ฝั่ง
ไม่ห่วงอะไร บ้านช่องก็ยกให้เขาหมดแล้ว ทรัพย์สมบัติก็ขายหมดแล้ว ได้เงินมาก็แบ่งให้หลานบ้าง ทำบุญบ้าง ส่วนตัวเอง ก็แบ่งใช้ จากบำนาญ ที่เหลือก็ทำบุญอีก ส่วนมากใช้ไปในการหาหมอ

ทาน ๒ มื้อ เช้ากับกลางวัน ตอนเช้าหั่นสมุนไพรแล้ว กินข้าวเสร็จแล้วก็ไปทำผ้าเช็ดเท้า มีความสุขอยู่กับชีวิต ไปวันๆ ทำโน่น ทำนี่ ตามกำลัง

ไม่กลัวตาย ตายแล้วก็เผาที่นี่ เกิดมาแล้วก็ต้องตายทุกคน จะตายก็ไม่เสียดายชีวิตหรอก แต่ถ้ายังไม่ตาย ก็ขอปฏิบัติธรรม ตลอดไป ไม่ทิ้งธรรมะ ก็พยายามทำแต่ความดี

หลานบอกให้กลับไปอยู่บ้านเถอะ ยายก็ไม่ไป ไปอยู่กับเขาพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะเขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ เขาบอก จะหาให้กิน เหงานะ กลับไปอยู่บ้านน่ะ อยู่นี่คนโน่นดูแลบ้าง ไม่ดูแลบ้าง เราก็ยังมีที่กินที่อยู่ พอช่วยเหลือตัวเองได้

*** ฝาก
เราแก่แล้ว ก็อยู่ตามแก่ อย่าไปทำตัวจุ้นจ้าน จะไหว้วานใคร ก็ต้องดูว่าเขาว่างหรือเปล่า อย่าไปใช้สุ่มสี่สุ่มห้า พยายาม ช่วยเหลือตัวเอง ให้มากที่สุด

ไม่อยากอยู่นาน ถ้าไปไวๆก็ดี นานไปก็ลำบากตัวเอง และลำบากคนอื่นเขาด้วย ตายก็ไม่เสียดายชีวิต ทุกวันนี้ยังกินได้ แต่นอนไม่ค่อยหลับ อาจจะเป็นเพราะ นอนมาเยอะ ก็คิดถึงธรรมะบ้าง คิดถึงความตาย ดูลมหายใจบ้าง

ยายบอกว่าถ้ายังไม่ตายก็ขอปฏิบัติธรรมตลอดไป ไม่ทิ้งธรรมะ ขณะที่บางคนยังมีชีวิตอยู่สุขภาพแข็งแรง แต่กลับทิ้งธรรม ไปไขว่คว้า อะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่เป็นแก่นสารของชีวิตเลย และไม่สามารถติดตัว ข้ามชาติได้... อนิจจา... สัตวโลก ย่อมเป็นไปตามกรรม..

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
๖๗/๑ ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โทร.๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ ๑,๕๐๐ ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]