ฉบับที่ 244 ปักษ์แรก 1-15 ธันวาคม 2547

[01] บทนำข่าวอโศก เล็กไว้ก่อน
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "วิธีอยู่กับอโศกอย่างถูกต้องโดยมีทุกข์น้อยลงๆ ควรปฏิบัติอย่างไร"
[03] สดจากปัจฉาสมณะ : การวางตัว
[04] ชาวอโศกระดมพลังตั้งโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯมหาราชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล.
[05] รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (ตอน ๕)
[06] ศาลีอโศกคว้ารางวัลชนะเลิศ ๒ ประเภท ประกวดกระทงระดับชุมชนและชุมชนแข้มแข็ง ฯ
[07] หินผาฯ จัดงานบุญลอมข้าว เห็นข้าวรวมกอง พี่น้องรวมใจ
[08] ศูนย์สุขภาพ: ทำไม จึงปวดข้อ (ตอน ๑)
[09] ชาว รบธ.จัดเข้าค่ายที่ จ.ชัยภูมิ ให้หนุ่มสาวฝึกตื่นแต่เช้าฟังธรรม ฝึกทำงานจริง มิใช่แค่รู้
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:ห
[11] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ปฐมอโศก และ อินทร์บุรี
[12] เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ
[13] นางงามรายปักษ์ นางพัน ชำนาญ
[14] ห้ามพระเดินห้าง ทางออกอยู่ไหน:



เล็กไว้ก่อน

การทำนาที่ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ในปีนี้ (พ.ศ.๒๕๔๗) ทำเพียง ๑๐ กว่าไร่ ปรากฏว่าได้ข้าวเปลือก มากกว่าการทำนาในปีก่อนๆ ซึ่งทำประมาณ ๒๐ กว่าไร่

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะมีการดูแลอย่างทั่วถึง

จึงเป็นข้อคิดที่สำคัญว่า ถ้าเราทำอะไรเล็ก โดยไม่หลงกว้าง หลงมาก หลงใหญ่ แล้ว ดูแลได้อย่างทั่วถึง จะช่วยให้ได้ผลดีกว่า

หรือดั่งเช่นชาวนาทุกวันนี้ที่ปลูกเพื่อขาย จะเสี่ยงต่อการเป็นหนี้สินมากกว่าชาวนาที่ปลูกเพื่อกิน เพราะชาวนาที่ปลูกเพื่อขาย ก็จะทำนาเกินตัว เกินแรงงาน ก็ต้องไปจ้าง เงินไม่พอก็ต้องไปกู้ พอได้ผลผลิตก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน นี่ยังไม่ได้พูดถึงปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชที่ต้องซื้อมาใช้ เพื่อหวังให้ได้ ผลผลิตดีและไว แล้วก็มากๆสมใจคนปลูก

ดังนั้นพ่อท่านจึงสอนให้ชาวอโศกมีแนวนโยบายว่า
"เน้นเนื้อให้เหนือกว่ามาก
เน้นลากแม้ยากกว่าแล่น
เน้นจริงให้ยิ่งกว่าแค่น
เน้นแก่นให้แน่นกว่ากว้าง".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


วิธีอยู่กับอโศกอย่างถูกต้องโดยมีทุกข์น้อยลงๆ ควรปฏิบัติอย่างไร

ในหนังสือสารอโศกฉบับหนึ่ง ในคอลัมน์ ๑๕ นาทีกับพ่อท่าน มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ ว่า วิธีอยู่กับอโศกอย่างถูกต้อง โดยมี ทุกข์น้อยลงๆ ควรปฏิบัติอย่างไร ซึ่งพ่อท่านได้ให้คำตอบว่า

ต้องอ่านตัวเองตลอดเวลา ซึ่งถ้าอยู่อย่างถูกต้องแล้ว ยิ่งอยู่นานยิ่งจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และจะยิ่งไม่ถือสา เพราะจะรู้แต่ สัจจะความจริง ว่าคนนี้เป็นอย่างไร จะช่วยเขาได้หรือไม่ ช่วยเขาได้ก็พยายาม ช่วยๆกันไป เมื่อมีการช่วยเหลือ แม้เล็กแม้น้อย ก็แล้วแต่ มันก็เป็นการช่วยกันดีขึ้น หรือไม่ก็พยายามปรึกษาหารือกับหมู่กับกลุ่ม เพื่อจะหาทางช่วยเขาไปเรื่อยๆ นั่นแหละ คือ ประโยชน์ของมิตรดีสหายดี สิ่งแวดล้อมดี เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ๆไปแล้วไม่เจริญขึ้น มีแต่เสื่อมลงๆ แสดงว่าเขาไม่ปฏิบัติ เพิ่มเติมขึ้น เมื่อหยุดอยู่ก็เท่ากับ เริ่มเสื่อมลงแล้ว

การไม่สนใจฟังธรรม ไม่เข้าหาสัตบุรุษ ไม่ตรวจตนเอง ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่มีโภชเน มัตตัญญุตา ไม่มีชาคริยานุโยคะ หรือว่ามี ความเสื่อม ๗ ประการ คือ ๑.ไม่มาวัด ขาด การเยี่ยมเยียนสมณะ ไม่ว่าจะอยู่ในอโศกหรือไม่ก็ตาม แม้อยู่ในวัดก็ไม่ฟังธรรม ไม่หาพระหาเจ้า มีแต่ห่างไปเรื่อยๆ ๒.ละเลย การฟังธรรม ๓.ไม่ศึกษาในอธิศีล ๔.ไม่มากด้วยความเลื่อมใส ในสมณะ ทั้งที่เป็นเถระ ผู้ใหม่ และผู้ปานกลาง ๕.ฟังธรรมเพ่งโทษ ๖.แสวงหาเขตบุญนอกศาสนานี้ ๗.ทำความสักการะก่อน ในเขตบุญนอกศาสนานี้

พอเกิดความเสื่อมตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๗ ข้อนี้ชัดเจน นั่นคือความศรัทธาจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เราจะสังเกตใครก็ได้ สักคน อยู่กับวัดก็ไม่เข้าหาพระ เข้าหาพระก็ไม่ค่อยฟังธรรมฟังเทศน์ พูดแต่เรื่องไม่เข้าเรื่อง บางคนเอาแต่เรื่องงาน มาหาพระ หาเจ้า มีแต่เรื่องงาน ธัมมะธัมโม ไม่ค่อยสนใจฟัง ไม่สนใจจะคุย แต่ถึงไม่คุยเดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องมือสื่อสาร แม้ไม่ได้คุยโดยตรง ก็คุยโดยปริยาย มีทั้งธรรมะ ด้านโน้นด้านนี้ก็ยังไม่ใส่ใจ ส่วนข้อ ๓.ไม่ศึกษาในอธิศีล ข้อนี้เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจน คำว่า ไม่ศึกษา ในอธิศีลนี่ยิ่งใหญ่นะ คือศีลเป็นอย่างไร ศีลของเราไม่เจริญ อธิศีลไม่เจริญ อธิจิต ก็ไม่เจริญ อธิปัญญาก็ไม่เจริญ ซึ่งก็คือไตร สิกขาไม่เจริญทั้งหมดทั้งขบวนเลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกไม่เข้าหาพระ คนที่อยู่ข้างนอกไม่มาวัดก็ตาม แต่ถ้ามีเท็ปมีอะไร ไปฟังกันตามเรื่องตามราวของเขา และเขาเจริญในอธิศีล เขาก็ไม่ใช่คนเสื่อม

คำว่า "อธิศีล" หมายความว่า เมื่อศีลขัดเกลากาย วาจา และขัดเกลาใจ คือการเจริญอธิจิตไปด้วย และก็จะมีปัญญารู้ว่า ตนเอง เกิดการขัดเกลา ได้ปฏิบัติถูกทาง เป็นสัมมาทิฐิแล้ว มีวิราคานุปัสสี คือตามเห็นความจางคลายตัวตน เห็นว่าศีลที่ปฏิบัตินั้น พาให้เราลดละจางคลายกิเลส ในตัวเราได้จริง เราเจริญขึ้น แล้วคุณก็เพิ่มศีล เพิ่มข้อปฏิบัติสูงขึ้นไปอีก เป็นอธิศีลที่สูงขึ้น การเกิดอธิศีล ที่เจริญได้อีก ก็เพราะว่าได้ปฏิบัติ จนมีฐานจิตเป็นอธิจิต อธิปัญญารองรับศีล สมาธิ ปัญญา จึงเจริญ ขึ้นไปเรื่อยๆพร้อมกัน

การไม่เจริญอธิศีล จึงเป็นตัวบ่งชี้ความเสื่อมที่ชัดเจน เมื่อไม่เจริญในอธิศีล ทีนี้ก็ไปใหญ่แล้ว ความเสื่อมข้อที่ ๔, ๕, ๖ ก็จะตาม มา คือไม่มากด้วยความเลื่อมใสในสมณะ ทั้งที่เป็นเถระผู้ใหม่และปานกลาง คือเมื่อไม่เจริญ การศึกษาก็ไม่ชื่นชม ศีล ไม่เจริญ จิตไม่เจริญ ปัญญาไม่เจริญ ก็ย่อมจะไม่เลื่อมใสในสมณะผู้ขึ้นไปตามลำดับ หนักขึ้นก็ฟังธรรมเพ่งโทษ มีจุดขัดแย้ง คุณลอง สังเกต คนที่ไม่เจริญในอธิศีล จะมีจุดขัดแย้งเป็นมิจฉาสมาธิ ศีลก็ไม่เจริญ เป็นมิจฉาจิต จิตก็ไม่เจริญเป็นแนวทางอื่นไป และจะเกิดมิจฉาปัญญาเข้าใจ ไปในเชิงอื่น เพราะฉะนั้น ฟังธรรมก็จะเพ่งโทษ แย้งตอนนี้ไม่เห็นด้วยกับตอนนั้น ต่อให้ใหญ่ ขึ้นไปเท่าไรๆ ก็ยิ่งเห็นแย้งไปเรื่อย เห็นได้เลยว่า เกิดความเสื่อม พอฟังธรรม เพ่งโทษแล้ว ที่นี้ก็เสื่อมเป็นขบวนไปทั้งพุทธ ทั้งธรรมทั้งสงฆ์ แม้เป็นผู้ทรงธรรมสูงส่ง ก็ค่อยๆลดศรัทธาลงไปๆ และจะแยกความเห็น ไปนอกขอบเขตพุทธไปเรื่อยๆ แสวงบุญ นอกทิศนอกทาง นอกขอบเขตของศาสนาที่ตนเคยเห็นตามมากขึ้นๆ กระทั่งเห็นความสำคัญ ความน่าสักการะเคารพ ในลัทธิแบบอื่นที่นอกไปจากศาสนาที่เคยนับถือออกไปสักการะอื่นๆนอกขอบเขตพุทธ สุดท้ายก็ออกนอก ขอบเขตพุทธไปเลย

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนและอาตมาก็เคยเตือนอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ "ฐีติ" (อยู่เท่าเดิม) เพราะนั่นไม่ใช่ ความเจริญแน่นอน ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อม ฉะนั้นจะต้องมี "วุฒิๆ" (เจริญๆขึ้น) เตือนมาเท่าไรแล้ว

ขอให้ตราไว้เลยว่า ความเจริญนี่คือ เราจะต้องอยู่ในหมู่กลุ่มได้ดี มีไฟ เบิกบาน แจ่มใส เข้ากับหมู่กลุ่มได้ ปรับตัวเองได้ดี นั่นคือ ความเจริญ ยกเว้นแต่ว่า หมู่กลุ่มส่วนใหญ่จริงๆนั้นเสื่อมลง จนเราไม่สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้แล้ว คุณว่าอโศกเสื่อมลง หรืออโศก ไม่ได้เสื่อมลง แต่ทำไมเรา กลับเสื่อมลง ทำไมเราแยกออก มันน่าจะเข้าใจได้โดยปริยาย แสดงว่าเราเสื่อมไม่ใช่หรือ

อ่านแล้วก็ลองมาตรวจตัวเองดูว่าเรา สาเหตุใดที่ทำให้เราอยู่แล้วไม่มีความสุขคืออะไร ต่อแต่นี้ไปเราจะได้อยู่ท่าม กลางพี่ๆ น้องๆ อย่างมีความสุขเสียที อย่าลืมนะ คนดีชอบแก้ไข คน....... อะไรชอบแก้ตัว.....

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


- สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

การวางตัว

๑ ธันวาคมได้ไปเยี่ยมอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง อดีต บก.สตรีสาร ซึ่งพ่อท่านรู้จักตั้งแต่ยังไม่ได้บวชสมัยจัดทำรายการโทรทัศน์ โดยมีอาจารย์ขวัญดี ช่วยประสานนำไปพบที่บ้าน ดูอาจารย์นิลวรรณเป็นผู้ใหญ่ที่ควรแก่การเคารพ ชีวิตความเป็นอยู่ ค่อนข้างจะ สมถะมาก แต่ยังคงห่วงใยปัญหาสังคมอย่างยิ่ง เรื่องข่าวสารบ้านเมืองนั้นทั้งกว้างและลึก ต่างไปจากคน วัยเดียวกัน (๙๑) ทั้งๆ ที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์ หรือแม้แต่วิทยุ ก็ไม่ฟังเลย มีแต่อ่านจากข่าวและหนังสือต่างๆเท่านั้น

อาจารย์นิลวรรณพูดถึงพรรคพลังธรรม ว่า ชื่อมีความหมายดีมาก แต่เสียดายที่ไม่สามารถทำให้ได้ตามชื่อนั้น แล้วหันมาเย้า พรรคเพื่อฟ้าดินว่า ได้ยินชื่อแล้ว ไม่น่าสนใจ เลย พ่อท่านได้แต่ยิ้มตอบรับคำวิจารณ์ ไม่ได้แก้หรือชี้แจงอะไรในเรื่องชื่อนี้เลย ตลอดการสนทนา ร่วมสองชั่วโมง อาจารย์นิลวรรณ พูดเป็นส่วนมาก พวกเราเป็นผู้นั่งฟังและซักถามบ้าง เข้าใจว่าเป็น สามัญสำนึกธรรมดา เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ ที่ควรค่าแก่การเคารพ ผู้น้อยก็ควรนิ่งฟังอย่างสงบเสงี่ยมเช่นนี้ พ่อท่านเองก็เช่นกัน

ด้านงานเพลงที่ฝ่ายผลิตจัดเตรียมสำหรับฉลอง ๗๒ ปีของพ่อท่านนั้นก็ยังคงดำเนินต่อไป ปลายเดือนที่ผ่านมามีประชุมชุมชน ปฐมอโศก มีโอกาสแวะดูการบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงป๊าดติโท่ แค่การเป่าฟลูท (Flute = ขลุ่ยฝรั่ง) เพื่อประกอบเพลงๆ หนึ่งก็ใช้เวลา ไม่น้อยเลย กว่าจะปรับแก้แต่งเสียงให้ได้ตามที่ผู้เรียบเรียงเสียงต้องการก็เป่าแล้วเป่าอีก ไม่รู้ใจผู้เป่าและ ผู้เรียบเรียง จะเบื่อกันบ้างหรือเปล่า เพราะมัน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่สนุกเหมือนคนฟังที่ได้ฟังสิ่งที่เป็นผลสำเร็จมาแล้ว งานอย่างนี้ นอกจากจะใช้ความละเอียดประณีตแล้ว ยังใช้ทุนจำนวนมาก แม้งานเพลงอย่างนี้จะไม่ได้รับความนิยม แถมทำโดยมิได้ หวังผลกำไรหรือเพื่อการค้า แต่พ่อท่านก็ยังอุตส่าห์ หาทุนเจียดมาให้ทำ คุณปฏิพล เหมวรานันท์ ตั้งใจว่าจะทำให้เป็น ผลงานสำคัญในชีวิตของเขาเลยทีเดียว กระซิบตรงนี้ว่าเป็นงานเพลง ที่แปลกออกไป ในหลายๆแนว มีระดับระนาดเอก จากภาพยนตร์ โหมโรงเข้ามาร่วมด้วย แม้ตลาดยุคนี้จะไม่นิยม แต่ก็ทำเพื่อเป็นผลงานเพลง ในระดับโลกุตระ ฝากไว้ให้ อนุชนรุ่นหลัง

ส่วนการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โดยเน้นประเด็น "พุทธที่ไปนิพพาน" ก็ยังคงหาเวลาร่วมกับท่านจันทร์ เพื่อบันทึกเก็บตุนไว้ใช้ ในช่วงที่พ่อท่าน จะต้องไปอยู่ที่บ้านราชฯ ก่อนงานปีใหม่ ส่วนมากจะเป็นวันศุกร์และวันอาทิตย์ ผลที่ผ่านๆมา แม้พ่อท่าน จะพูด เข้าไปสู่จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ยังมีผู้สนใจ ตอบรับมาดี ถ้าไม่มีปัญหาอื่นใดมาแทรก คาดว่าก็คงบันทึกถ่ายทำ รายการนี้ไปได้อีกนาน จนกว่าทางไททีวี จะเปลี่ยน แปลงรายการกระมัง

สำหรับวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ๕ ธันวาคมนั้น พ่อท่านได้แต่งโคลงสี่สุภาพ เป็นอาศิรพจน์หรือภาษาชาวบ้านก็คือ คำอวยพร เพื่อร่วม เฉลิมพระเกียรติ์ พระเจ้าอยู่หัวฯ โดยผ่านทางหนังสือเราคิดอะไร ซึ่งเบื้องหลังของผลงานอาศิรพจน์บทนี้ ได้ในขณะ พ่อท่านเดินสายบิณฑบาต คำความ มันผลุดขึ้นมาในสมอง ทำให้ต้องรีบบอกให้สมณะ ที่ร่วมเดินสายบิณฑบาตเดียวกัน ช่วยจดบันทึกให้ด้วย

คืนวันที่ ๔ ธันวาคม พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสกับคณะบริหารของบ้านเมือง และพสกนิกรที่ไปร่วมถวาย พระพรนั้น พ่อท่าน ก็อยู่ดูจนจบ แม้จะเกินเวลาที่ปกติพ่อท่านจะจำวัดก่อนสามทุ่มก็ตาม ผลก็เป็นเช่นเดียวกับที่หลายคนชื่นชม ในการสอน ที่สุภาพ และมีเชิงปราชญ์ แฝงอยู่

๖-๗ ธ.ค.ที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานโฮมบุญลอมข้าวที่หินผาฟ้าน้ำ ส่วนใหญ่ของ ผู้มาร่วมงานได้ร่วมแรงกันฟาดนวดข้าว นอกจากนี้ มีกลุ่มรามบูชาธรรม ได้มาออกค่ายทำกิจกรรมที่หินผาฟ้าน้ำนี้หลายวันแล้ว

การแสดงธรรมทำวัตรเช้า ๗ ธ.ค.นี้น่าสนใจในหัวข้อ "พลังกู้ดินฟ้า พาไทยพ้นทาส" ซึ่งพ่อท่านนำเอาความรัก ๑๐ มิติ มาอธิบาย ประกอบ ผู้สนใจน่าจะติดตามหามาฟังก็ดี

ช่วงการประชุมพรรคเพื่อฟ้าดิน เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากหลายที่หลายแห่ง แม้แต่ในวงการมหาวิทยาลัย ก็แนะให้นักศึกษา ระดับปริญญาโท ได้แวะมาศึกษาเรียนรู้ ขณะที่เกิดความเสื่อมของการประพฤติตัว นักเรียนสัมมาสิกขา ในหลายแห่ง มีพฤติกรรมที่ผิดหยาบ และแรงขึ้น จึงอยากจะให้ทุกที่ต้องหันกลับมาเอาใจใส่ดูแลเด็กๆของเรา ที่สำคัญ ผู้ใหญ่อย่าไปรับ งานนอกมาก ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็ก

พ่อท่านเสริมอย่างที่สันติอโศกมีการอบรมศีล ๘ ฝึกเดินสำรวม จึงเปรยเสนอให้นักเรียนสัมมาสิกขาก็น่าจะมีบทฝึกหัด ในการ สำรวมสังวรด้วย

๙ ธ.ค.พระจิ้งเซี่ยงฝ่าซือหรืออดีต สมณะสมณลักขโณได้นำหมอจีน พร้อมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสุขภาพ ซึ่งสามารถ ตรวจสุขภาพ ได้ถึง ๘,๐๐๐ รายการ โดยไม่ต้องตรวจเลือดและ X-RAY สามารถตรวจถึงอารมณ์และสารอาหาร ที่ขาดหรือเกิน ในร่างกาย สารพิษ โครงกระดูก โครโมโซม และยีนในร่างกาย

การตรวจเริ่มจากมีสื่อนำคล้ายสายไฟฟ้า มัดที่ข้อมือข้อเท้าและศีรษะ ซึ่งเป็นจุดชีพจรที่ร่างกายสามารถส่งคลื่นกระแสไฟฟ้า ไปยังเครื่อง ในเวลา ๓ นาทีข้อมูลทั้งหมด ในร่างกายจะป้อนไปสู่เครื่อง จากเครื่องที่แสดงผลออกมาประการแรก เรื่องอาหารควรลดรสเค็ม และเพิ่มน้ำส้มสายชู ซึ่งจะช่วยจัดสมดุล ในร่างกายได้ และช่วยย่อย

เมื่อหมอบอกว่ากรามข้างขวาใหญ่กว่าข้างซ้าย เพราะเคี้ยวอาหารข้างขวามากกว่า พ่อท่านเผยว่าความจริงก็คือกราม ข้างซ้าย ถูกถอนออกไป ๒ ซี่ ข้างขวายังมีครบ จึงเคี้ยวข้างขวาได้มากกว่า

นอกจากนี้เมื่อมีอากาศเปลี่ยนแปลงพ่อท่านจะเป็นหวัดได้ง่าย และการที่พ่อท่าน ใช้สมองตลอดไม่ได้ผ่อนคลายจะทำให้ ภูมิคุ้มกันไม่ดี

เครื่องยังได้แสดงภาพเป็นผลออกมาว่า ส่วนที่มีปัญหามากที่สุดของพ่อท่านในขณะนี้ก็คือคอ ซึ่งพอดีกำลังเริ่มเป็นหวัด และมีอาการไอ ก่อนที่หมอจีนจะมาตรวจ ต่อมาอดีตท่านสมณลักขโณ ได้แซวหมอว่า ตาของพ่อท่านข้างหนึ่งก็มีปัญหา แต่เครื่องตรวจไม่พบ แสดงว่าสอบตก

ที่ถือว่าเป็นที่ครื้นเครงมากก็ต่อเมื่อเครื่องตรวจบอกถึงอดีตชาติของพ่อท่านว่า เมื่อ ค.ศ.๕๕๗ พ่อท่านได้ไปเกิดเป็นหญิง อาฟริกา เป็นผู้คุมเรื่อง การเงินและการค้า แต่หมอจีนบอกว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องฟังสนุกๆ อย่าถือเป็นจริงเป็นจัง เพราะไม่มีใครพิสูจน์ได้

๑๐-๑๒ ธ.ค.มีงานครบรอบ ๒ ทศวรรษ อาศรมวงศ์สนิท อนุสรณ์สถานพระยาอนุมานฯ-พระสารประเสริฐ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ -นาคะประทีป ได้จัดเวทีสัมมนา รวมพลชุมชนทางเลือกในเมืองไทย ซึ่งพ่อท่านได้รับหนังสือเชิญให้ไปร่วม โดยวันที่ ๑๑ ธ.ค. จะมีการประกาศเกียรติคุณ บุคคลและองค์กรดีเด่น ของ มูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป ประจำปี ๒๕๔๗ แก่ เครือข่าย ชุมชนชาวอโศก ซึ่งพ่อท่าน ไปร่วม ในวันแรก ๑๐ ธ.ค. ที่เปิดงาน แรกทีเดียวตั้งใจว่าจะอยู่ฟังรายการต่างๆจนถึงเย็น แต่อาการ ไอกำเริบ ทำให้ต้องเปลี่ยนความตั้งใจ อยู่ฟังถึงเที่ยงก็จึงกลับ ส่วนการรับรางวัล หรือใบประกาศเกียรติคุณนั้น ให้ฆราวาส เป็นผู้รับแทน ในนามองค์กรเครือข่ายชุมชนชาวอโศก ด้วยพ่อท่านเห็นว่า การที่นักบวชจะไปรับรางวัลใดๆก็ตาม จากฆราวาสนั้น เป็น เรื่องที่ผิดธรรม แต่ในอนาคตอาจจะมีกรณีพิเศษ ที่ต้องยกไว้ สำหรับเหตุปัจจัย ที่เลี่ยงไม่รับ ก็ไม่ควรจำต้องไปรับ ก็อาจเป็นได้ (ประเด็นท้ายนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเอง ซึ่งคาดว่า น่าจะสอดคล้อง กับความเห็นของพ่อท่านด้วย)

เนื่องจากอดีตที่ผ่านมา การไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอื่น ชาวอโศกได้รับคำตำหนิว่ามักไปครอบงำหรือ Dominate คณะอื่นๆหมด เช่น งานระดมธรรม ที่เกาะลอยสวนลุมฯ เป็นต้น ทำให้ครั้งนี้พ่อท่านเองก็เห็นว่า ชาวอโศกไม่ควรไปกันมาก เพราะไม่เหมือนกับ งานประจำปีต่างๆ ที่ ชาวอโศกจัด แม้ผู้เขียน จะพยายามมองอีกมุมหนึ่งว่า ตามธรรมดาใครจัดงาน ก็ต้องการให้มีคน มาร่วมดูงานมากๆ สำหรับงานนี้ ถ้าไม่ได้มาพักค้าง หรือ ร่วมรับประทานอาหารด้วย ก็น่าจะไปร่วมได้ เนื่องด้วยมีสมณะ รูปหนึ่ง ที่สันติอโศกเห็นว่า น่าจะชวนเด็กนักเรียนของเรา ไปร่วมดูงานด้วย เพื่อให้งานของเขา ดูคึกคักขึ้น ซึ่งพ่อท่าน ก็มองมุมกลับอีก ด้วยความระมัดระวังว่า อย่าไปคิดว่า คนอื่นเขาจะคิดอย่างเรา

หลังการรับใบประกาศแล้ว ได้รับรายงานจากผู้ไปร่วมว่า มีผู้ชี้ขุมทรัพย์ข้อบกพร่องที่เขาเห็นก็คือชาวอโศกมีลักษณะครอบงำ มักจะทำอะไร เหมือนๆกัน เดินเหมือนกัน แต่งตัวเหมือนๆกัน ทำให้เกิดการพัฒนาความรู้และความคิดได้ยาก ไม่รับสิ่งที่ แตกต่างไปจาก ที่ตนรับรู้มาก่อน กลุ่มอื่น จะเข้ามาร่วมก็ยาก

นอกจากนี้มีกรณีศึกษาที่ควรค่าแก่การไปร่วมกับกลุ่มอื่นๆก็คือ ชาวอโศกผู้ไปร่วมงานคนหนึ่งเสนอว่า จบงานแล้ว ก่อนกลับ พวกเราน่าจะได้ไปกราบ ท่านผู้ใหญ่ผู้สูงวัยของที่นั่น อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของคารโว นิวาโต และเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม ของชาวอโศกอยู่แล้ว แต่ก็มีพวกเราที่เห็นต่างว่าไม่ควรหรอก แค่การยกมือไหว้คารวะ ก็น่าจะพอแล้ว จึงได้ปรึกษาพ่อท่าน ว่าเห็นควรอย่างไร ซึ่งพ่อท่าน ก็เห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องปกติ เป็นวิถีชีวิตของพวกเราก็ตาม แต่สถานที่อย่างนั้น ถ้าพวกเราไปกราบ กลุ่มอื่นๆเขาจะรู้สึกอย่างไร อาจจะมีผู้ที่คิดว่า พวกเราประจบประแจง หรือเว่อ (สำนวนที่มาจาก Over = เกินไป)

สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้เป็นเรื่องของสัปปุริสธรรม ในการร่วมกิจกรรมกับคณะอื่นๆ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ยังมิใช่กฎเกณฑ์ หรือ หลักการตายตัว อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตามเหตุปัจจัยในขณะนั้น ถึงอย่างไรการช่วยกันคิดร่วมกันทำ ก็ย่อมดีกว่า คิดคนเดียว ทำคนเดียว เป็นศิลปินเดี่ยว โดดเดี่ยว เดียวดาย โอกาสผิดพลาด ย่อมน้อยกว่า ท่านผู้อ่านว่าจริงไหม แล้วเรามีส่วนเป็นเช่นนั้นบ้างหรือเปล่า.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาวอโศกระดมพลังตั้งโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯมหาราชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

กู้ดินฟ้า ๑ แจกพืชพักไร้สารพิษ
บ้านราชฯ ระดมโรงบุญฯ สู่เครือข่าย สร้างความประทับใจ

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ธันวาฯ มหาราช ปีนี้และนับเป็นเวลาติดต่อกัน หลายปี มาแล้ว ที่ชาวอโศกทั่วประเทศถือเป็นวโรกาสอันสำคัญยิ่ง ที่จะได้ร่วมแรงร่วมใจจัดโรงบุญมังสวิรัติ อย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ถวายแด่พ่อหลวงของชาวไทย

ผู้สื่อข่าว นสพ.ข่าวอโศก ได้รายงานบรรยากาศโรงบุญฯบางส่วนเข้ามา ดังนี้

*** สันติอโศก / กทม.
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พ.ย.๔๗ บริเวณ ซ.นวมินทร์ ๔๔ (ซอยกลางพุทธสถานสันติอโศก) ได้มีการตั้งโรงบุญฯ ล่วงหน้าเพราะ คาดว่า หากระดมแจก ในวันที่ ๕ ธ.ค. เพียงวันเดียว ผู้กินอาจจะแพ้อาหารก็เป็นได้ สำหรับรายการอาหารในวันนั้น ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ขนมกุ๊ยฉ่าย ส้มตำ ลูกชิ้นเจ ขนมจีน ลอดช่อง และน้ำหวานต่างๆ นอกจากนี้บริเวณหน้า บจ.แด่ชีวิต มีโรงบุญฯ แจกซุปงา ซุปผัก ซุปฟักทอง ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ขนมงา ฯลฯ ซึ่งการตั้งโรงบุญฯ ในวันนั้น ส่งผลให้ร้าน ชมร.สาขาหน้าสันติฯ ลูกค้าบางตาลงไปพอควร

ส่วนในวันที่ ๕ ธ.ค.๔๗ ชมร.สาขาหน้าสันติอโศก เปิดโรงบุญฯแจกอาหาร สำหรับร้านกู้ดินฟ้า ๑ แจกผักผลไม้ฟรี โดยใส่ผลไม้ และส้ม ในถุงเดียวกัน ใช้เวลาแจกประมาณ ๑ ช.ม.ก็ยุติ ฝ่ายกสิกรผู้มาส่งผักเมื่อทราบข่าวแจกผักฟรี ก็ได้นำผัก มาร่วม แจกด้วย

กลุ่มอุโบสถศีล แจกบริเวณสันติอโศก และร้านข้าวแดงแกงร้อน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยนวมินทร์ ๕๐ (ซอยจำเป็น) แจกอาหารที่ร้าน

ส่วนศิษย์เก่าพุทธธรรม-นักเรียน-ผู้ปกครองพุทธธรรม-สัมมาสิกขาสันติอโศก ตั้งโรงบุญฯแจกอาหารที่สวนพฤกษชาติ คลองจั่น


*** ชมร.ช.ม.
การแสดงความกตัญญูถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาส ๕ ธันวาฯ มหาราช ที่ ชมร.ช.ม.ปีนี้ มีความพร้อม และรูปแบบ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา

โดยได้นิมนต์สมณะจากภูผาฟ้าน้ำมาโปรดรวม ๒๒ รูป พระอาคันตุกะ ๑ รูป ซึ่งท่านได้ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ๒ สาย นำโดย ท่านอาจารย์ ๑ และ อาจารย์ ๒ กลับถึง ชมร.ช.ม.ในช่วง ๐๘.๓๐ น. โดยมีญาติธรรม เข้าแถวรอตักบาตรเป็นจำนวนมาก ปีนี้ แจกอาหารตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. มีการแสดงธรรมก่อนฉันในเวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นเวลาประมาณ ๓๐ นาที จากนั้น คุณหนึ่งในธรรม ผรช.ชมร.ช.ม. อ่านบทประพันธ์ สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นร.สัมมาสิกขาภูผาฯ ร้องเพลงสดุดี-ภูมิของแผ่นดิน ถวายอาหารสมณะ ญาติธรรมและแขกผู้มีเกียรติร่วมรับประทานอาหาร

การจัดงานปีนี้ได้รับความร่วมมือจากญาติธรรมทุกฐานะที่จังหวัดเชียงใหม่

มีภาคบันเทิงตลอดรายการ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนเจิง จากชมรมผู้อายุยาว และการแสดงจาก นร.สัมมาสิกขาภูผาฯ

ส่วนอาหารที่ทำแจกในปีนี้มีมากมายหลายชนิด มีลูกค้าและผู้สนใจมารับบริการตั้งแต่เช้า และล้างจานด้วยตัวเอง
ส่วนโรงบุญฯ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กลุ่มที่จัดเตรียมอาหารมาแจก คือ
๑. กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ก๋ำปอ
๒. กลุ่มสู่ผืนดิน
๓. กลุ่มผลิตภัณฑ์กะลา

โดยมีมีเด็ก นร.สัมมาสิกขาศีรษะอโศก ที่มาเข้าคอร์สฯ มาช่วยจัดเตรียมและแจกในงานนี้ด้วย ซึ่งในปีนี้ทุกกลุ่มได้จัดเตรียม อาหารมามากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วอาหารไม่พอแจก

อนึ่ง ปีนี้ อ.สันทรายได้บรรจุเอากิจกรรมโรงบุญฯ นี้เป็นแผนงานกิจกรรมประจำปีของ อ.สันทราย อีกด้วย


*** ชุมชนศาลีอโศก
วันที่ ๕ ธ.ค.ของทุกปีมาถึงชาวชุมชนศาลีอโศกและญาติธรรมรอบนอกพุทธสถาน ต่างรวมตัวกันตั้งโรงบุญมังสวิรัติ เพื่อโดย เสด็จพระราชกุศล สำหรับสถานที่ปีนี้เช่นเคย ทางชุมชนได้ใช้บริเวณร้านใจฟ้า ซึ่งเป็นร้านค้าของชุมชนเป็นที่แจกอาหาร

บรรยากาศโดยทั่วไปมีข้าราชการ ประชาชน และเด็กๆ ทยอยมาร่วมรับประทานอาหาร โดยเฉพาะท่านนายอำเภอคนใหม่ (นายดนัย กรัมพากร) ยังให้เกียรติทักทายและร่วมรับประทานอาหารบริเวณโรงบุญฯ และที่พิเศษกว่าปีอื่นๆ คือทางชุมชน ศาลีอโศก ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ได้นำนิสิตปริญญาเอก สาขาพัฒนาสังคม ๓๐ คน เข้าร่วมกิจกรรม กับชาวชุมชน เช่น เกี่ยวข้าว ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และ แจกอาหาร บริเวณโรงบุญฯในครั้งนี้ด้วย

สำหรับกิจกรรมโรงบุญฯ ในปีนี้ นอกจากจะจัดบริเวณชุมชนศาลีอโศกแล้ว ยังมีโรงบุญฯ บริเวณบ้านคุณสุพรรณ วุฒิ ได้ร่วม จัดกิจกรรม ในครั้งนี้อีกแห่งหนึ่ง


*** กลุ่ม แดนฝันอันดามัน (พิงกันอโศก)
ตลาดอำเภอท้ายเหมือง พังงา
โรงบุญ ๕ ธันวาฯมหาราช ของกลุ่มแดนฝันอันดามัน (พิงกันอโศกเดิม) ย่างเข้าสู่ปีที่ ๒๐ และปีนี้ได้ย้ายจากตัวจังหวัด มาจัด แถวภูธร บริเวณตลาด อำเภอท้ายเหมือง จ.พังงา เนื่องจากกลุ่มฯได้รับบริจาคที่ดินให้เป็น ที่ทำการกลุ่ม เลยมีมติให้จัดที่นี่ ทั้งในปีนี้ และปีต่อๆไป เพื่อให้พวกเราได้คุ้นเคย ชินกับสถานที่จัดตั้งกลุ่ม

ผู้มาร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศของงาน ดังนี้

นายอดุลย์ จิวะรัตน์ ผู้รับใช้กลุ่ม ได้เล่าถึงบรรยากาศของงานว่า "การจัดงานปีนี้ลงตัวมาก แม้คนเราจะน้อย ดูเหมือนจะหนัก แต่พอถึงวันจริงๆ กลับไม่หนักเลย เพราะเรารู้งานกันมากขึ้น ไม่ต้องชี้นิ้วใช้กัน และทุกคนสามารถแทนที่กันได้ทุกจุด"
นอกจากนี้ในโรงบุญฯ ทั้งผู้ให้และ ผู้รับต่างช่วยกันพับนกสันติภาพประดับเต็นท์ร่วมกัน นับเป็นบรรยากาศที่ดียิ่ง


*** ทักษิณอโศก

โรงบุญฯปีนี้จัดที่เดิมคือ ที่ทักษิณอโศก มีผู้มาร่วมงานมากกว่าปีที่แล้ว หลายคนหิ้วผลไม้มาร่วมบุญด้วย เป็นที่น่าสังเกตปีนี้ ผู้มาร่วมงาน ให้ความเป็นกันเอง มากขึ้น จะช่วยกันล้างจาน และช่วยเก็บงาน นอกจากนี้ยังมีคณะของคุณสมพร ยอดระบำ จาก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสมาชิก เครือข่ายฯ ที่เคยมาอบรมที่ศูนย์ของทักษิณอโศกนำวัตถุดิบและมาช่วยงานด้วย


*** ชุมชนดินหนองแดนเหนือ
ปีนี้จัดโรงบุญฯพร้อมกับการจัดค่าย ศิลปะรณรงค์งดเหล้าเฉลิมพระเกียรติ มีกิจกรรมประกวดเรียงความและคำขวัญในหัวข้อ สังคมดีไม่มีเหล้า เด็กๆ ให้ความสนใจ เกินเป้าหมาย สำหรับโรงบุญในปีนี้จัดเป็นโรงบุญขนาดใหญ่ถึง ๖ เต็นท์ทีเดียว


*** กลุ่มชลบุรีอโศก
กลุ่มชลบุรีอโศกได้จัดโรงบุญมังสวิรัติ ๕ ธันวาฯมหาราช เป็นปีที่ ๑๘ เริ่มแรกจัดที่หน้าฑัณทสถานหญิง หน้าหอพระฯ อ.เมือง ชลบุรี และจัดต่อมาทุกปีนานถึง ๑๖ ปี ต่อมาเมื่อสร้างสวนหย่อมที่บริเวณหน้าฑัณทสถานหญิง ทำให้ไม่อาจจัดโรงบุญ ที่เดิมได้ จึงได้ย้ายไปจัดที่ อ.บ่อทอง เป็นปีแรก และในปี ๒๕๔๗ นี้ได้จัดบริเวณสนามหน้าตลาดสด อ.บ่อทอง จ.ชลบุรีเป็นปีที่ ๒ โดยร่วมกัน เตรียมอาหาร ในวันที่ ๔ ธ.ค.ที่ วนเกษตรชลบุรี รุ่งเช้าวันที่ ๕ ธ.ค. ได้ช่วยกันนำอาหารไปบริการประชาชน ณ โรงบุญฯ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๗.๓๐-๑๒.๓๐ น. ซึ่งผู้รับบริการ ได้ทยอยมารับอาหาร ตลอดเวลา

ในงานครั้งนี้ กลุ่มชลบุรีได้รับความเอื้อเฟื้อและได้คบคุ้นกับหน่วยงานท้องถิ่นและผู้มารับบริการมากขึ้น เช่น เทศบาลตำบล บ่อทอง ได้บริการน้ำใช้ถึง ๑,๖๐๐ ลิตร และตั้งถังขยะไว้ให้ใช้ด้วย การเก็บล้างจึงสะดวกมากขึ้น ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มฯ ต้องซื้อ น้ำใช้ นอกจากนั้น ยังได้รับน้ำใจไมตรี จากชาวบ้าน ร้านค้า และจากหน่วยงานส่วนกลางของอโศกทั้งจาก สนพ.กลั่นแก่น และ นร.สส.สอ มาช่วยงานด้วย


*** โรงบุญชุมชนราชธานีอโศก
โรงบุญที่ชาวบ้านราชฯจัดปีนี้ เป็นกิจกรรมการศึกษาร่วมกันของชุมชน แต่ละโรงบุญได้งบประมาณจากส่วนกลางโรงบุญละ ๓,๕๐๐ บาท และการบริจาค สมทบของญาติธรรม มีการประชุมตกลงร่วมกันเรื่องเมนูอาหารให้ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการ ประโยชน์สูง -ประหยัดสุด และสะดวกในการซื้อวัตถุดิบ จัดเป็นบูรณาการการศึกษาของโรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก มีการเข้าชั้นเรียน ร่วมกับนิสิต และชาวชุมชน ในช่วงเตรียมงาน และการประชุม สรุปประเมินผลการทำงาน

การจัดโรงบุญจัดในวันที่ ๓ และ วันที่ ๕ ธันวาคม รวมทั้งหมด ๑๒ โรงบุญตามหมู่บ้านเครือข่ายฯ และหมู่บ้านที่อยู่บริเวณ รอบ ๆ บ้านราชฯ เป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกัน


โรงบุญที่จัดวันที่ ๓ ธันวาคม
๑. โรงบุญบ้านหนองหว้า อ.เมือง จ. อุบลฯ ผู้ประสานงานคือนิสิตดาวพร โรงบุญจัดที่วัดหนองหว้า ผู้กล่าวเปิดงานคือ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองหว้า หลังจากนั้น คุณดาวพร ชาวหินฟ้า ประธานเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ และคุณดาวเพ็ญ นาวาบุญนิยม ประธานสาขา พรรคเพื่อฟ้าดิน กล่าวกับผู้มาร่วมงาน มีผู้มาร่วมกิจกรรมจากศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนบ้านหนองหว้า และชาวบ้าน จำนวน๓๕๐ คน

แจกตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เมนูอาหาร ข้าวกล้อง ลาบเต้าหู้ แกงอ่อม ก๋วยจั๊บ ปลาจ่อมเจ ข้าวเกรียบ ขนมจีนน้ำยา แตงโมไร้สารพิษ ซึ่งเครือข่ายบ้านหนองหว้า ปลูกเอง ชาวบ้านนำส้มเขียวหวานมาสมทบ ๓๐ กก. ครูใหญ่โรงเรียน บ้านหนองหว้า กล่าวขอบคุณ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมโรงบุญ มีการประชุมสรุปงานร่วมกันของกลุ่มเครือข่าย กสิกรรม ไร้สารพิษ บ้านหนองหว้า และชาวบ้านราชฯ มีสมาชิกที่ปลูกแตงโม ไร้สารพิษนำแตงโมมาฝากชาวบ้านราชฯ เพื่อถวาย สมณะจำนวน ๒๐๐ กก. ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๔,๕๐๐ บาท

๒. โรงบุญบ้านกุดระงุม อ.วาริน ชำราบ ผู้ประสานงานคือคุรุมิ่งหมาย ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนที่โรงอาหารโรงเรียน บ้านกุดระงุม ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ -๑๓.๐๐ น. มีนักเรียน คณะครูและชาวบ้านมารับประทานประมาณ ๑๕๐ คน โดยมีทีมงานคุรุ นักเรียนสสธ. และชาวต่างชาติ กลุ่มกรีนเวย์ คอยให้บริการ เมนูอาหาร คือ ขนมจีนน้ำยา ข้าวเกรียบ และน้ำมะตูม

๓. โรงบุญบ้านคำกลาง อ.วารินชำราบ ผู้ประสานงานคือนิสิตฝากดิน ทีมงานนิสิตและชาวชุมชนผู้อายุยาว นักเรียน สสธ. จำนวน ๓๐ คน

โรงบุญจัดที่ศาลากลางบ้านบริการอาหารตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๐๙.๐๐ น. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ใหญ่บ้าน และทีมแม่บ้านเรื่องจัดเตรียมสถานที่และอำนวยความสะดวก มีผู้มารับประทาน อาหารประมาณ ๒๐๐ คน และทีมงาน โรงบุญได้นำอาหารไปถวายที่วัดคริสต์

เมนูอาหาร ข้าวกล้อง ขนมจีน แกงเขียวหวาน ลาบหัวปลี ส้มตำ ผัดหมี่ ขนมปังปิ้ง กล้วยกรอบ น้ำหวานสมุนไพร

๔. โรงบุญบ้านวังกางฮุง ผู้ประสานงานคือนิสิตงามบุญ, คุณดาวนา เป็นโรงบุญ มือใหม่ มีผู้มารับประทานอาหารตักกลับบ้าน มาก จึงเฉลี่ยไม่ทั่วถึง แจกอาหารภายในครึ่งชั่วโมง อาหารหมด เปิดโรงบุญเวลาเวลา ๐๙.๐๐-๐๙.๓๐ น. เป็นความร่วมมือกัน ของชาวชุมชน คุ้มตะวันออก ซึ่งแต่ละบ้านทำอาหารแล้วให้ทีมงานสวนไวพลังไปแจก เมนูอาหาร ข้าวกล้อง ต้มยำ ผัดหมี่ ขนมจีน ข้าวเกรียบ น้ำมะตูม ใช้งบประมาณ ๓,๓๙๐ บาท

๕. โรงบุญร้านมังฯ บุฟเฟ่ต์ อ.วารินชำราบ ผู้ประสานงานคือนิสิตซึ้งดิน
ร้านมังฯ บุฟเฟ่ต์เปิดโรงบุญตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ -๑๔.๐๐ น.มีข้าราชการที่มาติดต่องานกับ สพท.เขต ๔ มารับประทานอาหาร เป็นส่วนใหญ่และมีบางส่วนเป็นแม่ค้าตลาดวารินฯ และประชาชนทั่วไป ใช้งบประมาณ ๒,๕๐๐ บาท

๖. โรงบุญศูนย์การศึกษาพิเศษคนพิการ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ผู้ประสานงานคือนิสิตฝุ่นธรรม ทีมงานคือ สมณะ ๓ รูป ผู้ใหญ่ ๙ คน นักเรียน สสธ.และสมุนพระราม ๓๐ คน
ที่ศูนย์การศึกษาคนพิการ จ.ศรีสะเกษ มีการจัดงานวันคนพิการสากล โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน เปิดงาน มีการแสดงบนเวทีของเด็กนักเรียนปกติและนักเรียนคนพิการ โรงบุญเริ่มแจก อาหารตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. มีผู้มารับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก
เมนูอาหาร ข้าว ลาบเต้าหู้ ผัดผัก ขนมจีนลูกชิ้น ขนมปังใส้เผือก น้ำเต้าหู้ แตงโม มะละกอ ใช้งบประมาณ ๘,๐๐๐ บาท หลังจาก ปิดโรงบุญ ทีมงานโรงบุญ ได้ทำกิจกรรมเก็บเศษขยะในงาน

โรงบุญที่จัดวันที่ ๕ ธันวาคม เป็นการทำงานเชื่อมกันระหว่างบ้านราชฯ และธ.ก.ส. บางหมู่บ้าน มีรถจาก ธ.ก.ส. รับ-ส่ง โรงบุญแต่ละแห่ง เดินทาง เข้าหมู่บ้าน ตั้งแต่วันที่ ๔ ธ.ค. โรงบุญบ้านดอนหมู อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ผู้ประสานงาน คือ นิสิตดาวพร ทีมงานสมณะ ๑ รูป สามเณร ๑ รูป ผู้ใหญ่ ๗ คน นักเรียนสสธ. ๑๖ คน

ช่วงเย็นของวันที่ ๔ มีกิจกรรมพบสมณะ โดยแบ่งผู้ใหญ่พบสมณะ เด็กเยาวชนพบสามเณร ในวันที่ ๕ เปิดโรงบุญ ที่ ร.ร. บ้านดอนหมู โดยอาจารย์ใหญ่บ้านดอนหมู และประธาน อบต.ต.ขามเปี้ย เป็นประธานในพิธี มีผู้มาร่วมรับประทานอาหาร จำนวน ๒๐๐ คน

เมนูอาหาร ข้าวกล้อง ผัดหมี่โคราช ขนมจีนน้ำยา ลาบ ข้าวเกรียบทอด ขนมสาคูเผือกใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๔,๓๐๐ บาท ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน และกลุ่มเยาวชนซึ่งเคยมาอบรมเยาวชนคนสร้างชาติเป็นอย่างดี หลังจากปิดโรงบุญ มีการประชุมสรุปงาน และมีชาวบ้านบริจาคฟาง เพื่อใช้ในงานปีใหม่ จึงมีกิจกรรมการโฮมแฮงขนฟาง ๒ คันรถ

๒. โรงบุญบ้านนาทุ่ง อ. เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ผู้ประสานงานคือนิสิตในเพชร ทีมงาน สมณะ ๑ รูป ผู้ใหญ่ ๑๐ คน นักเรียน สสธ. ๙ คน เป็นการจัดโรงบุญ ครั้งแรก ของหมู่บ้านนี้ แต่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการงานดีมาก มีการเตรียมงาน ร่วมกัน ตั้งแต่กลางคืนของวันที่ ๔ ในวันที่ ๕ จัดโรงบุญบริเวณ วัดบ้านนาทุ่ง เป็นการทำบุญ ๕ ธันวาฯ มีพิธีทางศาสนา และแสดงธรรมโดยเจ้าอาวาส วัดบ้านนาทุ่ง และ สมณะผองไท รัตนปุญโญที่ศาลาวัด ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานในพิธี เปิดโรงบุญ ชาวบ้านมาร่วมรับประทานอาหารจำนวน ๒๐๐ คน เมนูอาหารข้าวกล้อง ลาบ ผัดพริกถั่ว ผัดหมี่ ขนมจีนน้ำยา ขนมหวานสาคูถั่วดำ ชาวบ้านนำมะพร้าวและผักพื้นบ้านมาสมทบ บริการอาหารตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๓.๐๐ น. ใช้งบประมาณ ๕,๐๐๐ บาท

หลังจากกิจกรรมโรงบุญเสร็จสิ้นมีการประชุมสรุปงานร่วมกันกับแกนนำและสรุปกิจกรรมเครือข่าย ซึ่งทางกลุ่มรายงานว่า ทางการจะให้กลุ่มทำไวน์แต่กลุ่มปฏิเสธ เพื่อจะคงอุดมการณ์ ลด ละ เลิก อบายมุข ส่วนเรื่องกสิกรรมไร้สารพิษ มีปัญหา ขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ยังคงมีการทำกสิกรรมไร้สารพิษอย่างต่อเนื่อง

๓. โรงบุญบ้านแก้งลิง อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี ผู้ประสานงานคือนิสิตแก้วแสงบุญ ทีมงาน สมณะ ๒ รูป ผู้ใหญ่ ๙ คน สสธ. ๘ คน

กิจกรรมภาคค่ำของวันที่ ๔ มีการเตรียมงานร่วมกันและรับประทานอาหาร เวลา ๑๘.๓๐ - ๒๐.๐๐ น. ชาวบ้าน ฟังธรรมะ จากสมณะแดนเดิม พรหมจริโย

เช้าวันที่ ๕ จัดโรงบุญที่ โรงเรียนบ้านแก้งลิงโดยมีคณะครูและกลุ่มแม่บ้านมาช่วยงาน เปิดโรงบุญเวลา ๐๘.๓๐ น. มีผู้มา รับประทาน อาหารประมาณ ๓๐๐ คนกิจกรรมเสร็จสิ้นเวลา ๑๑.๐๐ น.
เมนูอาหาร ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีนน้ำยา ข้าวเกรียบ น้ำชาเย็น ใช้งบประมาณ ๔๘๔๑ บาท

๔. โรงบุญบ้านนาเจริญ อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี ผู้ประสานงานคือนิสิตฝั่งบุญ ทีมงาน สมณะ ๑ รูป ผู้ใหญ่ ๔ คน สสธ. ๑๕ คน

ในเวลาเย็นของวันที่ ๔ มีการแสดงธรรมของสมณะดาวดิน วันที่ ๕ มีพิธีเปิดโรงบุญและฟังธรรมก่อนรับประทานอาหาร กิจกรรม มีตั้งแต่เวลา ๐๘.๐ - ๑๒.๐๐ น. มีผู้มารับประทานอาหารประมาณ ๑๓๖ คน
เมนูอาหาร ข้าวกล้อง ลาบ แกงอ่อม ผัดหมี่ ข้าวเกรียบ ส้มตำ น้ำมะตูม และชาวบ้านทำอาหารมาสมทบคือ ข้าวเหนียว แกงหน่อไม้ ข้าวต้มมัด ลอดช่อง ใช้งบประมาณ ๒,๙๒๓ บาท

๕. โรงบุญบ้านขามป้อม อ.เขมราฐ จ. อุบลราชธานี ผู้ประสานงานคือนิสิต ดินงาม ทีมงาน สมณะ ๒ รูป ผู้ใหญ่ ๙ คน สสธ. ๑๗ คน

มีการจัดโรงบุญที่โรงเรียนบ้านขามป้อม ได้รับความร่วมมือเตรียมงานอย่างดีจากชาวบ้านและนักเรียน พิธีเปิดโรงบุญเริ่มเวลา ๐๙.๐๐ น โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขามป้อมเป็นประธาน มีผู้มารับประทานอาหารประมาณ ๓๐๐ คน
เมนูอาหาร ข้าวกล้อง น้ำพริกเห็ด ผักสด ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวเกรียบทอด น้ำมะตูม และมีชาวบ้านนำแตงโมและส้มมาสมทบ ใช้งบประมาณ ๖๔๐๒ บาท

๖. โรงบุญอุทยานบุญนิยม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ผู้ประสานงานคือนิสิตปานรุ้ง ทีมงานผู้ใหญ่ ๓๐ คน สสธ. ๑๔ คน

อุทยานบุญนิยมจัดโรงบุญตรงกับวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันที่เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษนำพืชผักไร้สารพิษมาจำหน่าย จึงมีแม่ค้า นำผักมาร่วมบุญด้วย ในช่วงเช้ามีสมณะจากพุทธสถานราชธานีอโศกไปบิณฑบาต เปิดโรงบุญตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. ลูกค้าที่มา รับประทานอาหาร ในวันนี้ได้ล้าง ภาชนะเองหลังจากทานอาหาร มีผู้มารับประทานอาหารประมาณ ๕๐๐ คน บริการจนถึง เวลา ๑๔.๐๐ น. อาหารที่บริการในวันนี้มีหลากหลาย เช่นเดียวกับวันขายปกติและเพิ่มการแจกขนมปังไส้เผือก ๑๕๐ ก้อน ใช้งบประมาณ ๓,๕๐๐ บาท

สำหรับบรรยากาศของโรงบุญฯในที่อื่นๆ สามารถติดตามรายละเอียดได้ในหนังสือสารอโศก.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (ตอน ๕)

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

๒๑-๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เดินทางไปอำเภอหนองปรือ จ.กาญจนบุรี กลุ่มกสิกรของลุงจำลอง ศรีเมือง ได้ทำความเข้าใจ วางแผนกัน ในเรื่องที่จะส่งผักให้กับร้านกู้ดินฟ้า ๑ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ได้พูดคุยกันเรื่องการปรับปรุงพัฒนา คุณภาพปุ๋ย ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเน้นให้ทดลองหมักปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง ซึ่งกสิกรกลุ่มหนองปรือยังใช้แต่ปุ๋ยคอก ประเภทมูลวัว มูลไก่ และมูลแพะอยู่ทำให้สภาพดินในพื้นที่เพาะปลูกของกลุ่มมีลักษณะแข็งและมีแมลงรบกวนเยอะ

ช่วงบ่ายเดินทางต่อไปยังสวนกู้ไท โป่งกระทิง ราชบุรี ค้างคืนที่นี่ ๑ คืน สวนกู้ไท ดูแลจัดการโดยญาติธรรม คุณธเรศ ได้รับ การต้อนรับ อย่างพี่ๆ น้องๆเป็นกันเอง ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๔๐ ไร่ของคุณธเรศโดยมากได้ลงผลไม้ประเภท ชมพู่ เพชรสายรุ้ง มะพร้าวน้ำหอม เป็นจำนวนมาก ส่วนผลไม้ชนิดอื่นมีพอรับประทานไม่พอกับการจัดจำหน่าย นอกเหนือจากนี้ ได้ปลูกผักในร่องกลางแถวของต้นชมพู เป็นจำพวก ผักคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี พริก มะเขือเทศสีดา ผักบุ้ง คุณธเรศ ได้ผลิตปุ๋ยใช้เอง ซึ่งใช้อินทรียวัตถุจำพวกใบกระถินยักษ์ เป็นตัวหลัก ซึ่งเน้นให้ความรู้ ความเชื่อมั่นว่า เป็นสูตรปุ๋ย คุณภาพดีมาก เหมาะกับสภาพดินในท้องที่ โดยภาพรวมสวนกู้ไท มีศักยภาพ ในการที่จะผลิต พืชผักไร้สารพิษ ให้กับกู้ดินฟ้า ๑ ได้ดี ทั้งนี้ก็ได้กำหนดชนิดของพืชผักที่เหมาะสมกับพื้นที่และได้ทำ โควตาการผลิต กับทางคุณธเรศไว้ และดำเนิน การติดตามผลอีกที

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ไปคลองตะเกราเพื่อตรวจดูความคืบหน้าของการผลิต ปรากฏว่าฝนตกเป็นปัญหาในการไถพรวน ทางกลุ่มผู้ผลิตที่นั่น จึงหันไปปลูกไม้ผลจำพวก กล้วย น้อยหน่า บนพื้นที่อีกแปลงซึ่งห่างจากที่นั่นประมาณ ๑-๒ ก.ม.

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เดินทางไปบ้านไทยสมพร อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ตอนค่ำได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มกสิกรที่บ้านพ่อ หนูใจ (พ่อของศิษย์เก่า สส.สอ.) ประกอบด้วย ๗ ครอบครัว มีพ่อหนูใจ พ่อตี๋ (สงคราม) พ่อเรนทร์ คุณเดี่ยว/คุณสมพร คุณลำพอง พ่อสุดแก่น พ่อทวี และพ่อโทน ซึ่งบางครอบครัวไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน ไทยสมพรแต่อยู่หมู่บ้านใกล้เเคียงกัน ห่างกันประมาณ ๒๐-๓๐ กิโลเมตร ต้องเดินทางมาประชุม วางแผนการผลิตร่วมกัน ทั้ง ๗ ครอบครัวส่วนใหญ่ มีลูกหลาน เรียนอยู่กับโรงเรียน สัมมาสิกขาของเรา ในการประชุมเริ่มจาก ทีมงานได้ชี้แจง ถึงเหตุในการมา และสร้างความชัดเจน ในเรื่องของ กสิกรรมไร้สารพิษต่อที่ประชุมเพื่อให้เข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะ ความหมายที่แตกต่าง ของคำว่า "ปลอดสารพิษ" และ "ไร้สารพิษ" ต่อจากนั้นก็ให้แต่ละครอบครัวเสนอว่า จะผลิตอะไรได้บ้าง ที่สอดคล้องกับโควตา ในการผลิต ที่เรามี ตัวเลขอยู่ ตลอดจนหาผู้รับผิดชอบเรื่องการขนส่ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับกลุ่มกสิกร ที่อยู่ห่างไกลกับตลาด และก็ได้รับ การเสียสละ จากพ่อตี๋ สุดท้ายให้พ่อหนูใจ ซึ่งเป็นญาติธรรมอาวุโสและเป็นแกนนำกลุ่ม กล่าวปิดใน ที่ประชุม พวกเรานอนค้างคืนที่นี่ ๑ คืน

๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ซื้อปุ๋ยหมักชีวภาพของพ่อหนูใจ ๕๐๐ กก. เพื่อเอาไปให้ญาติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์ ตอนเดินทางกลับ เพื่อใช้ในนา ข้าวไร้สารพิษ จากนั้นก็เดินทางไปราชธานีอโศกและต่อไปยังศีรษะอโศก คุยกับคุณคมไวเรื่องหอมหัวแดง และกระเทียม ทราบว่าที่ผ่านมา กสิกรทำได้แค่ปลอดสารพิษเท่านั้น ทางร้านกู้ดินฟ้า ๑ จึงขอระงับการส่ง และได้วางแผน ร่วมโควตาการผลิตทั้งหอมหัวแดง และกระเทียมกันใหม่ ตลอดทั้งได้คุยกับ คุณอุ่นเอื้อ (คุณสุ) เรื่องการปลูกเสาวรสไร้สารพิษ โดยให้โควตาการผลิตไว้ที่ ๑๐ ไร่ ทีมงานได้นอนค้าง ที่ศีรษะอโศก ๑ คืน

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ไปส่งปุ๋ยให้ญาติธรรมที่สุรินทร์ใช้ทำนาข้าวไร้สารพิษ จากนั้นเดินทางไปวังน้ำเขียวตรวจไร่เสาวรส ไร้สารพิษ ที่ทางวังน้ำเขียว ปลูกอยู่ แล้วเดินทางไปสีมาอโศกรับข้าวโพดไร้สารพิษในเครือข่ายของสีมาอโศกมาขายที่กู้ดินฟ้า ๑ หน้าสันติอโศก เสร็จก็เดินทาง ต่อไปยังส่วนกลางดง เก็บพริกแดงและดูความก้าวหน้าของการผลิตที่นั่นด้วย สุดท้าย เดินทางกลับ ถึงสันติอโศก ประมาณสามทุ่ม

๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ไประยองซื้อแก้วมังกรของป้าซ่อนกลิ่น โดยเอาปุ๋ย ๕๐๐ กก.ไปแลกกับแก้วมังกรตามที่ได้บอกกล่าว กันไว้ในครั้งที่แล้ว ส่วนเกินที่เหลือก็จ่ายเป็นตัวเงิน

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ไปคลองตะเกราตรวจดูความก้าวหน้าของการผลิตซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังประสบกับปัญหาเรื่องฝนตลอด ทีมงานเก็บข้อมูล ผลผลิต ที่ได้ทำการปลูกไปแล้วและปัญหาที่ประสบ ในครั้งนี้ได้ส่งปุ๋ยให้กับทางคลองตะเกรา ซึ่งได้สั่งปุ๋ยอินทรีย์ ของเพื่อนช่วยเพื่อนไว้จำนวน ๕๐๐ กก.

(อ่านต่อฉบับหน้า)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ศาลีอโศกคว้ารางวัลชนะเลิศ ๒ ประเภท
ประกวดกระทงระดับชุมชนและชุมชนแข้มแข็ง ของเทศบาล ต.ไพศาลี โดยเน้นความเรียบง่าย

งานลอยกระทงปี ๒๕๔๗ ทางเทศบาล ต.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ พร้อมด้วยชุมชน โรงเรียนและส่วนราชการ ร่วมกันจัดงาน ลอยกระทงขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย.๔๗ บริเวณ รร.อนุบาลไพศาลี การจัดงานครั้งนี้ ทางเทศบาลเน้นการทำกระทง แบบโบราณ ด้วยวัสดุธรรมชาติ ซึ่งทางเทศบาลมีงบให้ ๓,๐๐๐ บาท เป็นค่าวัสดุและค่าตบแต่งรถยนต์ สำหรับชุมชนและโรงเรียน ที่ส่งกระทงเข้าประกวด

ทางด้านชุมชนศาลีอโศก ได้ส่งกระทงเข้าประกวดพร้อมการแสดงของ นร.สัมมาสิกขาศาลีอโศก ขบวนแห่กระทง ของแต่ละ ชุมชน และโรงเรียน เริ่มที่ รร.ไพศาลี พิทยาคม ช่วงเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. รูปขบวนแห่ของชุมชนศาลีฯ ตบแต่งแบบ เรียบง่าย และที่เป็นพิเศษสำหรับปีนี้ มีขบวนสามล้อ ของผู้สูงอายุเข้าร่วมขบวนกับเขาด้วย ยังความชื่นชมแปลกตาแก่ ผู้พบเห็น สองข้างทาง ที่กระบวนแห่ผ่านไป

ด้านการแสดงของเด็ก นร.สัมมาสิกขา บนเวทีเริ่มประมาณสองทุ่มเศษๆ ส่วนใหญ่ เป็นรีวิวประกอบเพลง ๒ บทเพลงด้วยกัน หลังการแสดงของ นร.สัมมาสิกขา แล้วเสร็จ ก็เดินทางกลับชุมชนเพื่อพักผ่อน ด้วยเกรงว่าอาจจะไม่ปลอดภัย ด้วยวัยรุ่น บางกลุ่ม ที่มาชมงานยกพวกตีกัน

เวลาประมาณ ๕ ทุ่ม ผลการประกวดกระทงได้ออกมาว่า กระทงชุมชนศาลีอโศก ประเภทชุมชนชนะเลิศอันดับ ๑ และรางวัล ชุมชนเข้มแข็ง อันดับ ๑ อีกหนึ่งรางวัล ซึ่งทั้ง ๒ รางวัลมีใบเกียรติบัตรและเงินสดจำนวน ๒,๐๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท ที่ทางเทศบาล ต.ไพศาลีมอบให้

นายชัยสิทธิ์ มานะดี ประธานชุมชนศาลีฯ กล่าวเปิดใจหลังทราบข่าวว่า "ผมว่าทางชุมชนข้างนอกเขามองเราว่า เป็นชุมชน เข้มแข็งนั้น มันก็ดี แต่คำว่าเข้มแข็ง ของเรานั้น กินขอบเขตขนาดไหน ดีกว่านี้ยังมีอยู่อีกมาก หลายเรื่องพวกเรา ก็ยังไม่เข้มแข็ง..."

น.ส.อมรรัตน์ ฟังนิยมอมตะ หัวหน้าผู้ประดิษฐ์กระทง "เป็นงานชิ้นที่ ๒ ที่ได้ส่งเข้าประกวด เป็นอะไรที่ภูมิใจมาก ที่ได้แสดง ความสามารถออกมา ยิ่งได้แรงใจจากสมณะ สิกขมาตุ ชาวชุมชน และน้องๆ นร.สัมมาสิกขา ก็รู้สึกอบอุ่น อีกอย่าง งานประเภทนี้ ต้องเป็นคนละเอียด เลยพลอยได้นิสัย เป็นคนต้องใจเย็น ปีหน้าหากมีโอกาสคงได้ร่วมกิจกรรมนี้ กับชาวชุมชนใหม่ ด้วยจิตศรัทธา..."

มว.ช.ไหม แซ่ม้า "งานด้านนี้ไม่ชอบเลย แต่หลังจากได้เป็นไม้เป็นมือแทนพี่เข้าบ้าง ภูมิใจนะที่ตัวเองทำอะไรได้นาน และ ยิ่งงาน บรรลุเป้าหมาย ยิ่งเห็นประโยชน์ ความสุขุมเป็นอย่างมากเลยค่ะ"

สัมมาสิกขาโบว์ "อดหลับอดนอนมาหลายวัน แต่งานออกมาแล้วเป็นสากล รู้สึกพอใจ การศึกษานอกกรอบแบบนี้ ก็เป็นประสบการณ์ตรง อย่างหนึ่งค่ะ..."

สัมมาสิกขานุ๊ก "เฝ้าลุ้นถึงนาทีสุดท้าย ได้เห็นผลงานของชุมชนอื่นๆ เขาก็ดีนะ แต่พอรู้ว่าของเราชนะเลิศ ก็หายเหนื่อยค่ะ..."

คืนนั้นกว่าทีมงานสุดท้ายของชุมชนศาลีอโศก จะได้ปิดเปลือกตาหลับอย่างสนิท ก็กินเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว การรู้จักพัก รู้จักเพียร ชีวิตย่อมมีคุณ และค่าแท้เทียว.

- ทีมข่าวศาลีฯ รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


หินผาฯ จัดงานบุญลอมข้าว เห็นข้าวรวมกอง พี่น้องรวมใจ
พรรคเพื่อฟ้าดินร่วมสัมมนา

ชุมชนหินผาฟ้าน้ำจัดงาน บุญลอมข้าว ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๖-๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ สำหรับบรรยากาศของงานมีดังนี้

ปีนี้มีนักศึกษากลุ่มรามบูชาธรรมเดินทางมาเข้าค่ายจริยธรรมหนุ่มสาวตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาฯ จึงทำให้บรรยากาศ ของหินผาฟ้าน้ำ คึกคักก่อนถึงวันงาน ในวันที่ ๕ ธันวาฯได้ไปร่วมตั้งโรงบุญฯที่ตลาด อ.แก้งคร้อ

๖ ธันวาฯ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์และปัจฉาสมณะ สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ ได้เดินทางมาถึงประมาณ ๘ โมงเช้า มีชาวชุมชน และ ญาติธรรม จากกลุ่มต่างๆ เช่น เลไลย์อโศก ขอนแก่นอโศก ร้อยเอ็ดอโศก สันติอโศก ทักษิณอโศก ราชธานีอโศก ศาลีอโศก สีมาอโศก ปฐมอโศก ภูผาฟ้าน้ำ และสมาชิกเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษฯ รวมประมาณ ๕๐๐ คน รอรับอยู่บริเวณ ทางเข้า ชุมชน หลังจากเดินทักทายลูกๆ หลานๆแล้ว พ่อท่านได้แสดงธรรม ก่อนฉัน เสร็จแล้วรับประทาน อาหาร โดยมีญาติธรรม จากกลุ่มต่างๆ ร่วมเปิด โรงบุญฉลองงาน บุญลอมข้าว ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ส้มตำ ข้าวจี่ โรตี หมี่กะทิ ผัดไทย ชามะขาม น้ำใบเตย ขนมทองพับ ซาลาเปา ฯลฯ

ภาคบ่าย รายการสัมมนาพลังกู้ดินฟ้า พรรคเพื่อฟ้าดิน โดยนายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ นายแก่นฟ้า แสนเมือง น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ ดำเนินรายการโดย เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ หลังรายการภาคบ่าย พี่น้องที่มาร่วมงานร่วมกันฟาดข้าว ทำให้รวงข้าว ที่กองรวมกัน กลายเป็นเมล็ดข้าวเปลือก กองโตด้วยพลังสามัคคี สมดังข้อความที่เขียนไว้ว่า ข้าวรวมกอง พี่น้องรวมใจ

ภาคค่ำ การแสดงสาระบันเทิงของลูกๆ และ ๑๘.๐๐ น. รายการเอื้อไออุ่น โดยพ่อท่านพูดคุย ตอบคำถามลูกๆ จนถึงเวลา ประมาณ ๒๐.๐๐ น. ก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน

๗ ธันวาฯ พ่อท่านนำทำวัตรเช้า "พลังกู้ดินฟ้า พาไทยพ้นทาส" หลังทำวัตรเช้า พ่อท่านนำหมู่สมณะ สิกขมาตุ บิณฑบาต ในชุมชน ๐๗.๐๐ - ๑๐.๓๐ น. ประชุมพรรคเพื่อฟ้าดิน โดยสาขาพรรคเพื่อฟ้าดินลำดับที่ ๑๑ จ.ชัยภูมิ ร่วมกันรับประทาน อาหาร ข้าวใหม่ที่อ่อนนุ่ม และเปี่ยมด้วย น้ำใจของ ชาวหินฟ้า รสเลิศยิ่งนัก ๑๒.๐๐ น.เศษ แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา และ บางส่วน ไปส่งพ่อท่านที่สนามบิน จ.ขอนแก่น

ชาวหินผาฟ้าน้ำได้ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดงานครั้งนี้

น.ส.แพรดินไพร ชัยกิจ สัมมาสิกขา หินผาฟ้าน้ำ ม.๓ "ประทับใจมากๆที่พ่อท่านมาเยี่ยมพวกเรา เพราะนานๆพ่อท่านถึงจะมา สักครั้ง พวกเราเป็นชุมชนเล็กๆ ไม่เหมือนที่อื่นๆ ปีนี้ญาติธรรมมาเยอะมาจากทุกภาค ภาคใต้ก็มา ภาคเหนือก็มา เตรียมงาน ก็เหนื่อยค่ะ ขนฟาง แต่เพื่อพ่อ แพ้บ่ได้ค่ะ หนูอยู่ฐานทองม้วน ทองพับ ฝากถึงเพื่อนๆว่า อยากให้อยู่ได้นานๆ ไม่ต้องคิด ออกไปข้างนอก เพราะที่นี่ดีที่สุดแล้ว ร่มเย็นมากค่ะ"

นางม่านพร ขวัญสำราญ ชาวหินผาฯ "เป็นแบบฝึกหัดที่เราจะต้องฝึกทำไป เห็นจุดบกพร่องของชุมชนเรา เห็นพลัง เห็นน้ำใจ เห็นความจริง ที่พ่อท่านพาทำ กิจกรรมข้าวรวมกอง เห็นความเป็นพี่เป็นน้อง ร่วมมือกัน พึ่งพากันได้จริง รู้สึกขอบพระคุณ พ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ และพี่น้องชาวอโศก ที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน มาแสดงออกในสิ่งเดียวกัน มันเป็นพลัง โดยเฉพาะ มาฟังธรรมพ่อท่าน เมื่อเช้านี้ พลังกู้ดินฟ้า พาไทยพ้นทาส ถ้าเราลดกิเลสกันได้มาก มันเป็นพลัง เราจะต้องทำอย่างนี้ต่อไป ลดกิเลสได้มากเท่าไหร่ เราจะได้เป็นนาย ไม่เป็นทาส โดยส่วนตัว ตัวเองไม่มีโอกาสพูดคุย กับพี่น้องเลย ก็พูดในใจว่า ข้อบกพร่อง จะขอนำไปปรับปรุงแก้ไขตัวเอง ส่วนที่ดีก็คืออุดมการณ์ ที่เราทำร่วมกัน

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ลงตัวกว่าทุกๆครั้ง โดยส่วนตัว ไม่หนักใจเลย เราเริ่มเกี่ยวข้าววันที่ ๘ พฤศจิกายน ทำนา ๖๕ ไร่ ได้ข้าวไร่ละ ประมาณ ๖๐ ถุงปุ๋ย ได้ผลกว่าทุกๆปี อยากบอกกับพี่น้องว่า ไม่ได้ดูแลเต็มที่ก็เป็นห่วงตรงนี้ ขออภัยด้วยหากขาดตกบกพร่อง หากมีอะไร ให้แก้ไขก็บอกมาด้วย จะได้แก้ไขให้ดีขึ้น"

นายแผนผา คงนาวัง ชาวหินผาฯ "เห็นพี่น้องมาอบอุ่น ภูมิใจ มีทั้งพี่น้องเครือข่ายฯและชาวอโศกด้วย พี่น้องเครือข่ายฯ เขาก็รับเราได้ ก็ดีใจครับ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ทำไม จึงปวดข้อ (ตอน ๑)

ก่อนจะพูดถึงการปวดข้อ ที่ทำ ให้หลายๆคนต้องทนทุกข์ทรมาน คงต้องแนะนำให้รู้จักกับข้อของเราก่อนนะคะว่า ข้อของเรา เป็นอย่างไร?

ข้อ ก็คือ กระดูก ๒ ชิ้นมาชนกันแล้วทำให้เคลื่อนไหวได้ การชนกันของกระดูก ๒ ชิ้นถ้าไม่มีโครงสร้างที่พิสดาร ที่คอยช่วยลด แรงเสียดทาน ของการเสียดสีของกระดูก หรือโครงสร้างนั้น สูญเสียหน้าที่ รับรองว่าคุณต้องปวดข้อและทุกข์ทรมานมากๆ

ข้อของคนเราแต่ละข้อ มีของเหลวอยู่ที่ปลายกระดูก เหมือนน้ำมันจารบี เรียกง่ายๆว่า น้ำไขข้อ และน้ำไขข้อนี้จะมีกระเปราะหุ้ม กันน้ำไขข้อ รั่วออกด้วย กระเปราะหุ้มนี้เป็นเนื้อเยื้อ ที่เหนียว ทำหน้าที่กักน้ำในข้อไว้ ด้านในของกระเปราะ มีเยื้อบุอีกชั้น เป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่ผลิตน้ำไขข้อ ให้เต็มเสมอ เพราะถ้าน้ำไขข้อแห้ง คุณจะต้องปวดข้อแน่ๆ

ร่างกายของเรายังมีความวิจิตรพิสดารอีกอย่างคือ ที่ปลายของกระดูกทั้ง ๒ ที่มาชนกัน มีกระดูกอ่อนหุ้มที่ปลายทั้งสองไว้จนมิด เป็นกระดูก ที่มีความแววมันและลื่น จะเป็นตัวช่วยลดแรงเสียดสีระหว่างกระดูก และช่วยรับ น้ำหนักได้เป็นอย่างดี วันร้าย คืนร้าย ถ้ากระดูกอ่อน เกิดผิดปกติ เสื่อมสลาย เป็นรูพรุน เสียคุณสมบัติไป คุณก็หนีไม่พ้นอาการปวดข้อ

ธรรมชาติช่วยเรามากกว่าที่คิด คือมอบถุงน้ำอีกใบหนึ่ง ที่อยู่นอกข้อแต่ชิดกับข้อ ทำหน้าที่ผลิตของเหลวเหมือนไขข้อ ออกมา หล่อเลี้ยง รอบข้อ เอ็น พังผืด กระดูกและกล้ามเนื้อ ให้ทำงานประสานกันโดยไม่ติดขัดและช่วยส่งอาหารให้กระดูกอ่อน ซึ่งไม่มีเส้นเลือด มาหล่อเลี้ยง

ถ้าส่วนประกอบต่างๆของข้อมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดี การเคลื่อนไหวก็จะคล่องแคล่วไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเกิด การเสื่อม หรือการอักเสบ ของข้อขึ้น คุณก็จะต้องทนทุกข์ทรมานกับการปวดข้อชนิดที่ลุกก็โอย นั่งก็โอย เหมือนดอกไม้โรย ไม่มีแก่นสารเป็นแน่ น้อยคนนัก ที่จะหลุดพ้นปัญหา เหล่านี้ไปได้ในยามชรา แต่ทำอย่างไร ให้ปัญหานี้ เกิดกับเราน้อยที่สุด

คำถามนี้มีคำตอบในฉบับหน้าคะ โดยที่เราเองก็ต้องทำในใจให้แยบคายไปด้วยว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา".

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาว รบธ.จัดเข้าค่ายที่ จ.ชัยภูมิ ให้หนุ่มสาวฝึกตื่นแต่เช้าฟังธรรม
ฝึกทำงานจริง มิใช่แค่รู้

ระหว่างวันที่ ๔-๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ กลุ่มรามบูชาธรรมจัดกลุ่มรามบูชาธรรมบุญลอมข้าว ที่ชุมชนหินผาฟ้าน้ำ บ้านนาแก ต.นาหนองทุ่ม อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ มีรุ่นพี่-รุ่นน้องรามบูชาธรรมไปร่วมงานทั้งหมด ๓๘ คน มีน้องใหม่ ๘ คน

๔ ธันวาฯ ออกเดินทางโดยรถปุ๊ๆถึงชุมชนหินผาฯประมาณ ๕ โมงเย็น เข้าที่พัก รับประทานอาหาร ภาคค่ำ บรรยากาศอบอุ่น ณ ลานฟ้าม่วน กับรายการที่นี่ หินผาฟ้าน้ำ ฮู้จักมักจี่กับพี่ๆน้องๆชาวชุมชนหินผาฟ้าน้ำ และน้องๆสัมมาสิกขา แล้วนั่งเจโตสมถะ ก่อนกลับไปพักผ่อน

๕ ธันวาฯ หลังทำวัตรร่วมเดินธรรมยาตราพร้อมกับน้องๆสัมมาสิกขา ช่วยกันแจกโรงบุญที่ตลาดแก้งคร้อ โดยนายอำเภอ แก้งคร้อ ให้เกียรติเป็นประธาน เปิดโรงบุญและร่วมรับประทานอาหาร ชาวรามบูชาธรรมร่วมสร้างสีสันเล่นดนตรีให้กับโรงบุญ ภาคบ่าย ร่วมกันขนฟาง ภาคค่ำ สมณะแต่ละรูปบอกเล่าเรื่องราวก่อนมาพบและได้บวชกับชาวอโศก โดยสมณะดินดี สันตจิตโต, สมณะเด็ดขาด จิตตสันโต, สมณะพอแล้ว สมาหิโต, สมณะกลางดิน โสรัจโจ, สมณะแก่นผา สารุปโป และ สมณะตรงมั่น อุชุจาโร

๖ ธันวาฯ ทำวัตรเช้า ออกกำลังกายด้วยการขนฟางอีกครั้งหนึ่ง รอรับพ่อท่านที่ชุมชน ฟังเทศน์ก่อนฉัน ภาคบ่ายกิจกรรม สานสัมพันธ์ พี่น้องกลุ่มรามบูชาธรรม ตอน ก๊อก ก๊อก ก๊อก ที่โรงเรียนดินสัมมาสิกขาฯ แล้วช่วยกันฟาดข้าวกับพี่ๆน้องๆ ภาคค่ำ ร่วมรายการเอื้อไออุ่น ที่เวทีลานฟางธรรมชาติ

๗ ธันวาฯ ทำวัตรเช้า น้องใหม่เข้าไป กราบขอชื่อจากพ่อท่าน ร่วมกันทำบุญตักบาตร ถ่ายรูปร่วมกับพ่อท่าน เข้าครัว ช่วยทำ อาหาร ภาคบ่าย ทัศนศึกษา ภูแลนคา ภาคค่ำสาระบันเทิง และชมวิดีโอที่มีสาระ

๘ ธันวาฯ ช่วยกันทำอาหาร ชาวราม บูชาธรรมเปิดใจกับการเข้าค่ายครั้งนี้ ตัวแทนชุมชนบอกเล่าความรู้สึก พิธีอำลาแบบ วัฒนธรรมไทย ด้วยการ กราบผู้ใหญ่ในชุมชน แล้วรับหนังสือจากสมณะ เดินทางกลับ

กลุ่มรามบูชาธรรมที่ไปร่วมเข้าค่ายจริยธรรมฯครั้งนี้ ได้ให้สัมภาษณ์

นายศิริโรจน์ จันโท คณะวิทยาศาสตร์ ปีที่ ๒ "เพิ่งมาเข้าค่ายกับกลุ่มรามฯเป็นครั้งแรก รู้สึกดีมากๆ ได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ทำ สิ่งใหม่ๆ ได้รู้จักผู้คนที่นี่ ได้ทำงานจริงๆ ได้เรียนรู้จริงๆ ได้ไปขนฟาง ได้ตื่นตี ๔ ทำวัตรเช้า ได้แจกอาหารที่โรงบุญ ซึ่งผมไม่เคย ร่วมมาก่อน ประทับใจ ทุกคนเป็นมิตรกันดี

อยากให้ทุกคนมาสัมผัสค่ายนี้ ได้มาเรียนรู้จริง แล้วจะเห็นด้วยตัวคุณเองว่า คุณได้เห็นสังคมอีกสังคมหนึ่ง เห็นโลกอีกโลกหนึ่ง ที่ทานมังสวิรัติ พึ่งตนเอง ทำจริงๆ อยากให้คนทั่วไปเป็นอย่างนี้ แล้วชุมชนเรา ประเทศเราจะแข็งแรง"

นายทศพล โสดา นิติศาสตร์ ปีที่ ๒ "พ่อท่านตั้งชื่อใหม่ให้ว่า 'กลางธรรม' ครับ ประทับใจมาก ผมไม่เคยเห็นวิถีชีวิตอย่างนี้ ผมเกิดท่ามกลางชีวิต ที่ได้แต่วัตถุ แต่ละวันมีแต่เรียนกับกิจกรรมที่โลกๆเขาทำกัน ซึ่งพ่อแม่ผมมองว่า เป็นชีวิตที่ลำบาก ที่ลูกไม่ควรไปสัมผัส ผมฟังพ่อท่านเทศน์ แล้วได้แง่คิด ที่ท่านอธิบายมองตรงกันข้ามที่ผมมอง

ชีวิตแบบนี้เป็นชีวิตที่พึ่งตน พิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเกิดขึ้นได้จริงในการพึ่งพาตนเอง เสียสละก็เสียสละกันจริงๆ ใช้ชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์ได้จริง ความเมตตาก็เมตตาจริง

เมื่อก่อนผมมองว่าเราต้องแสวงหาวัตถุมาให้แก่ตนแล้วจะมีความสุข แต่มาที่นี่ผมได้ข้อคิดว่าทางที่จะนำพาเราไปสู่ความสุข คือการที่เราได้ ลดละตัวเอง มีความเมตตา พึ่งพาตนเอง เสียสละเพื่อผู้อื่น ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จริง ไม่ใช่เป็นแค่เพียงทฤษฎี ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่พ่อท่าน สามารถพาหมู่คณะ ทำได้ทั้งชุมชน ผมเห็นแล้วประทับใจมากว่าอย่างนี้มีด้วยหรือ เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่งเลย ของสังคมไทย ผมคิดว่าตรงนี้ จะเป็นการเยียวยาสังคมโลก ที่กำลังอ่อนล้า ที่เขาวุ่นวายอยู่กับวัตถุ สังคมอย่างนี้ โอ...ประเสริฐมากครับ

ผมเคยไปรับน้องที่สีมาอโศกครั้งหนึ่ง ได้เห็นวัฒนธรรมชีวิต แต่เพียงแค่ผ่านๆ และมาที่หินผาฯมาอยู่มากินมานอนที่นี่เลย ตื่นมาทำวัตรเช้า ซึ่งผมไม่เคยตื่นเลยตี ๓ ตี ๔ ก็มาตื่น วันแรกปรับตัวไม่ได้ รู้สึกว่าทำไมเราต้องมาทรมานตัวเอง แต่พอวันที่ ๒ ที่ ๓ รู้สึกจิตใจสดชื่น

วันที่ไปขนฟางรู้สึกว่าเราได้เสียสละเพื่อสังคม รู้สึกว่าใจเบาสบาย วิถีชีวิตที่นี่ผมว่าเป็นวิถีชีวิตที่ร่ำรวยที่แท้จริง คือร่ำรวย คุณธรรม ร่ำรวยสิ่งที่ดีงาม ผมได้ซึมซับวิถีชีวิตที่เป็นพุทธแท้ ที่พ่อท่านพาทำและพาเป็นจากเทวนิยมมาเป็นอเทวนิยม ผมคิดว่า ผมจะต้องพา คุณพ่อคุณแม่ มาสัมผัสชีวิตแบบนี้ให้ได้ครับ"

น.ส.นงเยาว์ ไชยสีดา บริหารการตลาด ปีที่ ๓ "หนูเคยไปเข้าค่ายศีล ๘ ที่สันติอโศก แล้วเพื่อนชวนมาค่ายนี้มาศึกษาวิถีชีวิต ชาวบ้านที่นี่ มาที่นี่ ประทับใจพี่ๆ สมณะ ชาวบ้านและเด็กๆ จริงๆแล้วเราไม่ต้องเรียนจบแล้วไปทำงานอย่างที่เขาทำกัน หนูอยาก ทำเกษตร ปลูกผัก ปลูกข้าว ที่ทำให้เรามีกินทั้งปี โดยไม่ต้องไปซื้อ หนูว่าการศึกษาสมัยนี้ทำให้คนปัญญาทราม กล้าที่จะโกงชาติได้ หนูเคยไปทำงานบริษัท แต่ลาออกมา เพราะทนไม่ได้ ที่เห็นเขาใช้เทคนิคทางการค้า โกงประชาชน หนูรู้สึกว่ามันขัดแย้งกับตัวเองมาก

หนูคิดว่าสังคมในอุดมคติมันน่าจะมีอยู่จริงๆ หนูได้มาเจอสังคมที่นี่ ที่มีวัด บ้าน โรงเรียนอยู่ด้วยกัน หนูอยากจะไปทำอย่างนี้ ที่บ้านหนูบ้าง อยากเรียนรู้จากที่นี่ ไปพัฒนาที่บ้านหนูบ้าง"

น.ส.ลัดดา (ดุจหิน) รัตนชัย รัฐศาสตร์ ปีที่ ๔ "ค่ายนี้ พี่ๆให้ความสำคัญ ให้ความ สนใจ ไม่ได้ทิ้งน้องๆ แล้วน้องใหม่รุ่นนี้ เขาสนใจมาก งานนี้กิจกรรม กระจายไปกับกิจกรรมของชุมชน พี่ๆที่ทำงานอยู่ก็อยากให้ช่วยจัดสรรเวลามาร่วมกิจกรรม กับน้องๆบ้าง อย่างน้อย ก็เป็นกำลังใจให้ น้องๆ ที่กำลังทำงานอยู่ค่ะ"

นายเทวินทร์ สิทธิน้อย รุ่นพี่ "งานนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะมาตรงกับช่วงงานบุญลอมข้าว แล้วตรงกับโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯ เหมือนกับ พาน้องๆมาร่วมงานกับชาวอโศก ทำให้น้องใหม่ได้ประโยชน์เยอะ เพราะได้เห็นรูปแบบวิถีชีวิตต่างๆของชาวอโศก และครั้งนี้ ได้ฟังเทศน์ จากพ่อท่านด้วย น้องๆประทับใจและไปขอชื่อใหม่จากพ่อท่านหลายคน คิดว่าปีใหม่น้องใหม่คงไป ร่วมงานเยอะ ประทับใจ ชาวชุมชนในคืนแรก รายการ ที่นี่หินผาฟ้าน้ำ บรรยากาศ เป็นกันเอง นั่งล้อมวงกัน แล้วอยากรู้อะไร ก็ซักถาม แล้วน้องใหม่ก็กล้าที่จะซักถามด้วย"

น.ส.มะลิวัลย์ นิยม รัฐศาสตร์ "บรรยากาศอบอุ่น มี่พี่น้องเยอะแยะ ประทับใจเพื่อนๆในกลุ่ม ญาติธรรมที่นี่ก็เป็นกันเอง เป็นพี่ เป็นน้อง บรรยากาศอย่างนี้ ได้เห็นหลายๆอย่าง ได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่าง ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเรากับน้องใหม่ เท่านั้น"

นายธรรมสิทธิ์ แก้วแสน นิติศาสตร์ ปีที่ ๒ "ชื่อใหม่ของผมคือ กะลาฟ้า งานนี้มีเพื่อนเยอะ ผมรู้จักอโศกทางหนังสือ เราคิดอะไร ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ แต่ไม่มีโอกาส มาร่วมงานสักที แทบไม่เชื่อว่าในสังคมไทยจะมีสังคมดีๆอย่างนี้ สังคมทุกวันนี้เหลวแหลก ไร้คุณธรรม ไร้ศีลธรรม ผมคิดว่า คนที่ไหลไปตามกระแสของสังคม คือคนโง่ เพื่อนถามผมเกี่ยวกับชาวอโศก ผมเลยพาเขา มาร่วมงานค่ายซะเลย จะได้คำตอบ ที่ชัดเจน ยิ่งกว่าผมตอบให้เขา รู้สึกว่าเขาได้มาสัมผัส ทำให้เข้าใจอะไรได้เยอะขึ้น ผมก็รู้สึกดีใจด้วย".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับข่าวความเคลื่อนไหวของชาวเราใน นสพ. ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๔๔ (๒๖๖) ปักษ์แรก ๑-๑๕ ธ.ค.๔๗ สำหรับหน้าปัดชาวหินฟ้า ฉบับนี้ขอนำเสนอ ดังนี้

สมณะใหม่...อนุโมทนาสาธุกับข่าวนักรบกองทัพธรรม โดยเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ พ.ย.๔๗ มีพิธีอุปสมบทสมณะและบรรพชา สามเณร ณ เรือโบสถ์ พกข่วมโอฆสงสาร (พกข้ามโอฆสงสาร) โดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร เป็นอุปัชฌาย์ โดยมีสมณะร่วมพิธี ๑๒ รูป สิกขมาตุ ๔ รูป ญาติธรรม ร่วมอนุโมทนาจิต ๑๐๐ ชีวิต นั่งเต็มเรือพี่นิพพาน (ที่นี่นิพพาน) ซึ่งเทียบท่าเคียงเรือโบสถ์ จอดอยู่บริเวณ บุ่งไหมน้อย ด้านตรงกันข้าม กับที่ทำงานพ่อท่าน

เวลา ๐๘.๕๐ น. เริ่มพิธีอุปสมบทสมณะ จากสามเณรแด่ธรรม คะนึงสัตย์ธรรม เป็นสมณะลำดับที่ ๑๐๖ ของชาวอโศก โดยมีฉายาว่า ธรรมรักขิโต หลังจากนั้นเป็นการบรรพชานาคด่วนดีเป็นสามเณร และเนื่องจากจำนวนสมณะ เพียงพอต่อการ เลื่อนฐานะ การบวชสิกขมาตุ ได้แล้ว ในช่วงบ่าย ของวันเดียวกัน สมณะเดินดิน ติกขวีโร จึงได้เดินทางมาสันติอโศก และ ปฐมอโศก เพื่อร่วมพิธีโหวตกรัก ขึ้นเป็นสิกขมาตุต่อไป

สำหรับสมณะแด่ธรรม ธรรมรักขโต ขณะนี้อายุ ๖๐ ปี ๖ เดือน ปฏิบัติธรรมกับชาวอโศกมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ส่วนสามเณรด่วนดี เตียเจริญ ขณะนี้อายุ ๔๑ ปี สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

รายงานจากสมาชิก...คุณอำนวย เอกทักษิณ ซึ่งเป็นพี่ชายของ ดร.น.พ.วิชัย เอกทักษิณ รายงานจาก จ.พัทลุง มาว่า "...สิ่งที่ กระผม ควรรายงานตัวสิ่งแรก ก็คือ กระผมบริสุทธิ์ด้วยศีล ๕ อยู่ฤา ความไม่ประมาท กับ การกล้ายืนยันจะมาพร้อมกันเสมอ ความด่างพร้อยของศีล ของกระผมอาจจะมีบ้าง เพราะเหตุแห่งโทสะ แต่ด้วยความเป็นปกติแล้ว กระผมไม่เคยอึดอัดขัดข้อง ลำบากกาย ลำบากใจ ต่อการถือศีลเลย พ่อท่าน บอกว่า ศีล ๕ นั้น หยาบและต่ำที่สุดแล้วของความเป็นคน

ใน นสพ.เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ บทความ 'กำไร-ขาดทุนแท้ของอาริยชน' หน้า ๑๗ ซึ่งพ่อท่านเขียนถึง 'บาปสมาจาร' ว่า... ไม่ว่าใคร จะถือศีล หรือไม่ถือศีลก็ตาม หากใครทำอยู่ก็เป็นบาป เช่น ยกตัวอย่างผิดศีลข้อ ๕ เป็นต้น..."

นอกจากนี้คุณอำนวยยังได้เล่าอาการของคุณแม่ที่ไม่สบายมาถึงขณะนี้ ก็ ๔ ปีเศษแล้ว คุณอำนวยก็ดูแลทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ตามฐานะ ของคนที่มีครอบครัวแล้ว โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายเลย

และยังได้ฝากถึงแม่ใบจริงว่า ยังไม่ได้รับข่าวอโศก ฉบับวันที่ ๑-๑๕ ก.ย.๔๗ พร้อมทั้งคำขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่แม่ใบจริง กรุณา ส่งให้ตลอดมา จึงจะขอพยายาม ทำหน้าที่เป็น ผรช.กลุ่มพัทลุงเท่าที่สามารถ เวลาพบปะญาติธรรมผู้ใดจะให้ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับอโศก เล่าสู่ให้ทราบกันเสมอ และยังปวารณาตัว ต่อแม่ใบจริงว่า ถ้าไป ทักษิณอโศกก็ช่วยติดต่อคุณอำนวยด้วย จิ้งหรีด ก็ขอให้ข่าวมา ณ ที่นี้ ส่วน ญาติธรรมท่านใด มีข่าวจะให้จิ้งหรีด ช่วยบอกในเรื่องใดๆ ก็จะถือเป็นกุศลยิ่งฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

ลูกกตัญญู...เสร็จจากงานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๓ อาอ๋อย (ต้นกล้า) ก็เดินทางกลับบ้านเพื่อทำหน้าที่เป็นพยาบาลพิเศษ คือดูแล ๒๔ ชั่วโมง ให้คุณแม่ที่บ้านใน อ.จุน จ.พะเยา ซึ่ง คุณแม่อายุ ๘๔ ปีแล้ว และเมื่อไม่นาน มานี้ก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ด่วน คงจะติดเชื้อ ประกอบกับมีโรค ถุงลมโป่งพอง จึงต้องรีบเดินทางไปช่วยดูแล ถ้าอาการดีขึ้น ก็จะเดินทางกลับไปช่วยงาน ที่ศีรษะอโศก

เมื่อต้นเดือน ธ.ค. พี่ชายของคุณมุกดา (ป่าฝน) ก็มาขอให้น้องสาวไปช่วยดูแลยาย ซึ่งเพิ่งออกจากโรงพยาบาล เจตนาก็อยากให้ น้องสาว ช่วยสอน การทำดีท็อกซ์ให้ยาย

ดังนั้นหลังช่วยงานโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯมหาราช ก็จะเดินทางไปดูแลยายที่ จ.กาฬสินธุ์

จิ้งหรีดได้ฟังเรื่องความเจ็บป่วย แล้วขาดผู้ดูแล ซึ่งเดี๋ยวนี้มีกันมาก เพราะลูกหลานแต่งงานแต่งการหรือทำงานหาเงิน จนไม่มีเวลา ดูแลผู้มีพระคุณ บางคนแม้แต่เงินทองข้าวของ ก็ยังไม่ส่ง ให้พ่อแม่หรือผู้มีพระคุณเลยด้วยซ้ำ แถม บางคน ยังพูดจา ให้ผู้ใหญ่ได้ช้ำใจเสียด้วย

พอได้ยินได้ฟังเรื่องดีๆ จึงต้องขออนุโมทนาลูกหลานกตัญญูทุกๆคนด้วยนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

อันตรายของทุนนิยม...หลังจากที่ทางชุมชนภูผาฟ้าน้ำ พยายามสร้างวัฒนธรรมการแลกข้าวของกับชาวบ้านมาเป็นปี ผลปรากฏว่า ชาวบ้าน เริ่มลดความสำคัญ ของเงินลงไป เห็นคุณค่าของการแลกข้าวของเครื่องใช้กันมากยิ่งขึ้น จนมีชาวบ้าน ใกล้เคียงรู้ข่าว แล้วขอเอาอย่าง ทางชุมชนฯ ก็ยินดีขึ้นไปแลกสิ่งของ กับชาวบ้านบนเขา เดินกันเป็นกิโลๆ แต่ก็มีความยินดี ที่มีเรื่องราวดีๆ เหล่านี้เกิดขึ้น

ตอนนี้ก็เริ่มมีความคิดจะแจกกล้าพืชผักให้ชาวเขาไปปลูก เพื่อพวกเขาจะได้นำมาแลกของกินของใช้ที่จำเป็น จิ้งหรีดก็ห่วง แต่ชาวทุนนิยม ที่จะเอาเงิน ขึ้นไปล่อให้ชาวเขาเห็นค่าของเงินทองมากกว่า การเปลี่ยนข้าวของกันเช่นนี้ เพราะบรรยากาศ รอบข้าง กำลังเป็นไปด้วยดี แต่เงินของ ชาวทุนนิยม นี่แหละ จะทำให้วัฒนธรรมดีๆเช่นนี้ เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่อื่นๆ ที่พังเพราะเงินมาแล้ว เช่น ชาวไร่สวนใน จ.เลย แห่งหนึ่ง ตั้งใจปลูกส้ม ไร้สารพิษให้ลูกหลานกิน เหลือจึงค่อยขาย แต่พอพ่อค้า แนะว่า ถ้าฉีดยาฆ่าแมลงจะช่วยให้ส้มผิวสวยขึ้น ราคาก็จะดีขึ้นด้วย จากความตั้งใจ ที่ฟูมฟักมาถึง ๔-๕ ปี ที่จะให้ลูกหลานได้กินผลไม้ไร้สารพิษของ ๓๐-๔๐ ครอบครัว ก็เหลือเพียง ๓-๔ ครอบครัว ที่ไม่ทำตามพ่อค้า ทุนนิยมแนะนำ เพียงระยะเวลาแค่วันเดียว เรื่องเงินเข้ามามีบทบาท ให้วิถีชีวิต หรืออุดมการณ์ที่ดีๆ ต้องเปลี่ยนไป อย่างรวดเร็ว

นี่แหละคือ อันตรายของทุนนิยม ที่ชาวบุญนิยมควรช่วยกันระมัดระวังให้ดี...จี๊ดๆๆๆ...

บุญลอมข้าว...หลังจากชาวชุมชน และ นร.สัมมาสิกขาศาลีอโศก ได้ร่วมแรงกันเกี่ยวข้าวและนำข้าวมารวมไว้ที่ ลานนวดข้าวแล้ว ชาวชุมชน ได้มองเห็นประโยชน์ของยัญพิธี จึงได้จัดกิจกรรมทำบุญลอมข้าวขึ้นเป็นปีแรก โดยพิธีเริ่มขึ้น หลังจากชาวชุมชน รวมตัวพร้อมกัน บริเวณลานข้าว สมณะชินธโร ก็ได้เทศน์ให้เห็นความสำคัญ ของกิจกรรมที่ได้จัดขึ้น สุดท้ายได้พาญาติโยมเปล่งกล่าว น้อมระลึกถึงคุณของ พระแม่โพสพ บรรยากาศนั้นดี๊ดี มีสมณะจากต่างพุทธสถาน มาร่วมงานด้วย โดยมิได้นัดหมาย แว่วมาว่า ปีหน้าจะลงรายละเอียดของงาน ให้มากกว่านี้ สาธุ..จี๊ดๆๆๆ...

โรงบุญฯ...ชาวอโศกเราดำเนินกิจกรรมโรงบุญฯ ๕ ธันวาฯ มหาราช กันมาหลายสิบปี จนคนภายนอกมองเห็นอุดมการณ์บุญ เข้ามาร่วมงาน รวมถึงมาช่วยงานกัน มากขึ้นทุกปี อย่างคุณอนันต์ เลรามัญ อายุ ๖๐ ปี ซึ่งเป็นอาจารย์สอน การออกกำลังกาย แบบ ฟ้อนเจิง ได้เล่าให้ฟังว่า "แม้ผมจะเป็น คริสเตียน แต่ก็ศรัทธาในอุดมการณ์ของชาวชุมชนอโศก และได้ติดตามผลงานของ ชุมชนชาวอโศก มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งที่ กทม. นครปฐม นครสวรรค์ และภูผาฟ้าน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการดำรงตน อย่างสมถะ กลมกลืนกับธรรมชาติ และภูมิปัญญา ของบรรพชน ดีใจที่ได้มีส่วน ในการเผยแพร่ ฟ้อนเจิงเพื่อสุขภาพ หากมีสิ่งใด ที่ผมสามารถมีส่วนร่วมได้ กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย สำหรับงานบุญในวันที่ ๕ ธ.ค. ที่ผ่านมา ผมมีความยินดี ที่ได้เห็น การชุมนุมของสมาชิกชาวอโศก และสมณะ รวมทั้งบุคคลทั่วไป ทำให้คนทั่วไป ได้เห็นความเป็นเอกภาพ และ บำเพ็ญบุญ ของชุมชน ทำให้เกิดความเข้าใจและเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดียิ่ง"

จิ้งหรีดก็ว่าจริงนะฮะ ไม่ใช่มาชมกันเอง แต่เห็นบรรยากาศของโรงบุญฯ ของเราเมื่อเทียบกับสมัยแรกๆแล้ว เห็นได้ว่าพัฒนา ทั้งในด้านรูปแบบ และจิตวิญญาณของผู้ให้ไปได้ไกลจริงๆ ก็ขอให้หัวใจของพ่อให้แม่ให้เต็มเปี่ยม อย่าได้พร่อง หรือลดน้อย ถอยลงเลย สาธุ... จี๊ดๆๆๆ...

คติธรรม-คำสอนของพ่อท่าน
จงเป็นผู้ให้ ดีกว่าเป็นผู้รับ
ให้ด้วยความจริงใจนั่นแหละ
เป็นสิ่งประเสริฐสำหรับเรา.

(จากหนังสือโศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๘๙)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ปฐมอโศก และ อินทร์บุรี

เมื่อวันที่ ๓พ.ย. ๔๗ สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้รับนิมนต์ให้เข้าประชุมกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ประธานคณะกรรมการ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ร่วมกับ ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้ใหญ่หลายหน่วยงาน เช่น กรม ส่งเสริม การเกษตร, กรมพัฒนาที่ดิน,ตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา,บุรีรัมย์,ร้อยเอ็ด,ชัยภูมิ, แม่ฮ่องสอน, กำแพงเพชร และ...ฯลฯ การประชุมคราวนี้ สมณะเสียงศีล ได้มีโอกาสกล่าวในที่ประชุม สรุปที่สำคัญคือ

"ด้วยความเป็นห่วงเกษตรกรต้องเจอปัญหาหนักตลอดทั้งปี ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง น้ำมันแพง แมลงลง ตอนนี้ปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น กว่าเดิม เป็นตันละ หนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาท อาตมาดีใจที่ปุ๋ยเคมีแพงขึ้น เกษตรกรจะได้เลิกซื้อเสียที หันมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้เสียบ้าง เราได้พิสูจน์มาแล้วว่า มันดีกว่าปุ๋ยเคมี ในระยะไม่นานปีเดียวก็เห็นผล เดี๋ยวนี้นาข้าวที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ไม่ต้องใส่ปุ๋ย พ่นยา ไม่ต้องไถ ไม่ต้องหว่าน ข้าวยังขึ้นเอง แถมต้นใหญ่ สูงท่วมหัวอาตมาด้วย ไปพิสูจน์กันวันนี้ก็ได้ วิดีโอ ก็ถ่ายเก็บหลักฐานข้อมูลไว้หมด พลังจุลินทรีย์ชีวภาพ มันมหาศาล และแตกตัว เร็วมาก ช่วยให้ดินมีสารอาหารสมบูรณ์ ดินร่วนซุยและย่อยสลายฟางข้าว ยิ่งนานฟางยิ่งหนา เพราะข้าวสมบูรณ์ เกี่ยวข้าวเสร็จ ปล่อยน้ำหมักฟางไว้เลย ปุ๋ยธรรมชาติ ก็นับวันจะมากขึ้น ไม่ต้องไปลงทุนอะไร ทำไมต้องไปซื้อปุ๋ย อาตมาอยากให้ช่วยกัน เผยแพร่วิธี ที่จะให้เกษตรกร พึ่งตนเอง ให้มากๆ เพราะเขาก็ลำบากและยากจนอยู่แล้ว ผลผลิตออกมาก็ขายยาก ต้องกู้หนี้กันทุกปี เมื่อไหร่จะพ้น จากความยากจน..."

พูดไปแรงๆ หลายเรื่องไม่รู้ว่าเขาจะนิมนต์ไปร่วมประชุมอีกหรือไม่!

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เหตุเกิดใน บจ.พลังบุญ

มติถูกท้าทาย
มติที่ประชุมพิเศษเย็นวันหนึ่ง พร้อมหน้าพนักงานทุกคน "ห้ามลูกค้าเดินกินขนมและดื่มน้ำขวดในร้านก่อนจ่ายเงิน"

บ่ายวันหนึ่ง พี่เป็ดเจ้าเก่าผู้มีฝีมือเลื่องลือในการปรุงอาหารไม่ว่าจะเป็นซุปผัก ซุปงา ฯลฯ หรือของกินเคี้ยวเล่นไว้หลอกเด็ก แทนการเคี้ยว ขนมกรุ๊บ กรอบ (สารพิษเพียบ) ก็มีของกินใส่ถุงเล็กมาแจก ลูกค้าชิมเหมือนเดิม โดยผ่านการอนุมัติ ฉลุย

ลูกค้า..."ข้าวบ้านราชฯจะมาเมื่อไรคะ" (ถามพลางหยิบขนมเคี้ยวใส่ปาก กร๊วบ! กร๊วบ!)

พนักงาน... "ช่วงนี้ข้าวบ้านราชฯ ยังไม่มา มีแต่ข้าวสุรินทร์ค่ะ"

ลูกค้าเดินออกไป เอ้ย! ลูกค้าเดินกินขนมในร้าน ผิดมติที่ประชุมนี่นา ไม่ได้ๆ ต้องจัดการ!

พนักงาน... "ขอโทษนะคะ เรามีระเบียบห้ามลูกค้าเดินกินในร้าน"

ลูกค้ารีบหยิบใส่กระเป๋า และกลืนคำสุดท้ายลงคออย่างรวดเร็ว

พนักงาน..."ขอโทษนะคะ ไม่ทราบว่าของที่กินเป็นสินค้าในร้านหรือไม่คะ และจ่ายเงินหรือยังคะ"

ลูกค้า..."เออ...คือ ทางร้านแจกให้ชิมอยู่ทางด้านโน้น ก็เลยนึกว่ากินได้ ขอโทษนะคะไม่ทราบระเบียบของร้าน"

พนักงาน..."อ๋อ ไม่ทราบก็ไม่เป็นไร ที่มีระเบียบนี้เพราะว่าลูกค้าบางคนซื้อแล้วเดินกินจนหมดก็ทิ้งขวด ทิ้งถุงขนมไว้ตามชั้น ทำให้เกิดปัญหา สกปรกไม่น่าดู แถมไม่จ่ายเงินอีกด้วย ก็ขอขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือ และขอโทษอีกครั้งนะคะ" (พนมมือไหว้)

ลูกค้ายิ้มแย้ม รีบไหว้ตอบ.



เจอทีเด็ดอย่างนี้ ต้องขึ้นป้ายประกาศ
วันอาทิตย์นี้มีลูกค้าเดินจับจ่ายซื้อสินค้าแน่นขนัด เดินขวักไขว่ไปมา โอ้โฮ! แถวลูกค้ารอจ่ายเงินยาวเหยียดทั้ง ๒ เครื่องเลย

ชายหนุ่มหน้ามล พนักงานเก็บเงินของเรา ก้มหน้าก้มตากดเครื่องแคชอย่างตั้งอกตั้งใจด้วยสมาธิเยี่ยม กดแต่ละครั้งก็เงยหน้า บอกราคากับลูกค้า

อ้าว! นั่นเขาเงยหน้าบอกลูกค้าแล้ว แต่ทำไมคราวนี้เขาทำหน้าแปลกๆ ชะงักงัน ตาค้าง จับจ้องบางสิ่ง ทีท่าเลิ่กลั่กอย่างนั้นหละ เกิดอะไรขึ้น ไหนลองขยับไปดูใกล้ๆดีกว่า

นี่ไง! เจอดีแล้วละซี ลูกค้าสาวเปรี้ยว (จี๊ด) นำแฟชั่นด้วยเสื้อยืดรัดรูป คว้านคอลึก

ว้าว! เสียวไส้ ก็โฟโมสต์ของเจ้าหล่อนนะซีเกือบหลุดออกมานอกเสื้อแล้ว อย่างนี้นี่เล่า แคชเชียร์ ของเราสติตกหยิบจับไม่ทันเลย ทำเอาลูกค้ารอจ่ายเงินบางคนอดยิ้มไม่ได้ บางคนก็คงจะคิดสงสาร-หนุ่มน้อยนักปฏิบัติธรรมลองมาเจอโจทย์เจ๋งๆแบบนี้ ดูซิว่า จะเตวิชโชไหวไหม

เห็นทีคงจะต้องมีป้ายตัวโตติด ในบริษัทซะแล้ว เขียนว่า "ลูกค้า บจ.พลังบุญ กรุณาแต่งตัวให้สุภาพมิดชิดด้วย" ฮา!ฮ่า!ฮา!ฮา!.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางพัน ชำนาญ
เกิด ปีระกา เดือน ๕ อายุ ๘๖ ปี
ภูมิลำเนา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ
สถานภาพ ม่าย
การศึกษา ไม่มี
น้ำหนัก ๔๒ กก.
ส่วนสูง ๑๔๕ ซ.ม.

คุณยายพัน อยู่ที่ชุมชนหินผาฟ้าน้ำตั้งแต่เริ่มแรก งานบุญลอมข้าวที่เพิ่งผ่านมานี้ คุณยายนั่งเลือกข้าวอยู่ในครัว เพื่อเอามาหุง เลี้ยงพี่น้อง ที่มาร่วมงาน แม้อายุจะยาวแต่ก็ยังดูแข็งแรงและมีความสุข ไปคุยกับ คุณยายกันค่ะ

*** ชีวิตของยาย
มีพี่น้อง ๑๑ คน เป็นพี่สาวคนโต พ่อแม่ก็ทำไร่ทำนา สมัยก่อนชีวิตลำบากเพราะต้องเบิกป่าเอง (หักร้างถางพง) ไม่ได้หนังสือ เรียนหรอก สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน

แต่งงานตอนไหนก็จำไม่ได้แล้ว พ่อบ้านเป็นคนแก้งคร้อเหมือนกัน เป็นพ่อม่าย (เมียตาย) มีเรือพ่วงมา ๒ คน (ตอนนี้เสียชีวิต หมดแล้ว) อายุมากกว่ายาย หลายปี ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน พ่อแม่ให้แต่งก็แต่ง มีลูกด้วยกัน ๗ คน (เสียชีวิต ๑ คน) ก็อยู่กันมา จนเขาตายจากไป

ยายชอบเข้าวัด ฟังธรรม ชอบทำบุญ เมื่อก่อนยายบวชชีฝึกปฏิบัติสายของหลวงพ่อเทียนอยู่ ๑๐ ปีก่อนมาเจออโศก

*** เจออโศก
แม่สิมมา (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) พายายมาที่หินผาฯเมื่อปี ๒๕๓๙ พอมาเจอ แล้วยายก็เลิกกินเนื้อสัตว์หมดเลย ส่วนหมากนั้น ยายเลิก มานานแล้ว ยายอยู่ที่นี่ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ตอนแรกลูกหลาน ตามหายายไม่พบไม่รู้ว่ายายไปอยู่ที่ไหน จนผ่านไป ปีหนึ่ง เขาถึงรู้ว่า ยายมาอยู่ที่นี่

*** ชีวิตในชุมชนบุญนิยม
มาอยู่ใหม่ๆยายก็ช่วยทอผ้าให้ชาวชุมชน ทำผ้าเช็ดเท้า ตอนนี้ก็ช่วยเลือกข้าว เลือกถั่ว มาอยู่ที่นี่มีความสุขมาก มันสุขกายสุขใจ ในสังคมแห่งนี้ ฟังธรรมของพ่อท่าน รู้สึกว่าถูกยายหมดเลย กิเลส ที่พ่อท่านเทศน์นั้นอยู่ที่ยาย ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก

ผัสสะก็มี แต่มันเกิดแล้วดับได้ไว ที่ยังทำไม่ได้คือกิเลสตัวรังเกียจกลิ่นเหม็นๆ เช่น ห้องส้วม กลิ่นผักชะอม ผักยี่หร่า

ไม่ห่วงอะไรแล้ว ลูกหลานเขาก็มีพ่อมีแม่ของเขา ศพยายก็มอบให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ส่วนตายแล้วเขาจะเผาที่ไหน ก็แล้วแต่ ถ้าได้เกิดอีก ก็อยากมาเกิดที่หินผาฯ นี่แหละ

ยายบอกว่าพอรู้จักอโศกก็เลิก เนื้อสัตว์หมดเลย อะไรก็ไม่ห่วงแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่รู้จักอโศกมาหลายปี แต่ก็ยังยินดี ในเนื้อเพื่อน จะมาวัดแต่ละที ก็ห่วงโน่นห่วงนี่ แล้วอย่างนี้จะมีอะไรติดตัวตามไปชาติหน้าบ้างนะนี่ ?

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ห้ามพระเดินห้าง ทางออกอยู่ไหน

ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ มส. เผยมีหนังสือแจ้งเจ้าคณะปกครอง ห้ามพระเดินห้าง หรือที่ซึ่งเปิดตลาดนัดทั่วไป เพราะได้รับ ร้องเรียนจากพุทธศาสนิกชน ทั้งจดหมายและโทรศัพท์มาก จึงได้นำมติสังฆมนตรี สมัยสมเด็จพระวันรัต มาปรับใช้ให้ทันยุคสมัย โดยออกหนังสือเวียนไปโดยขอความร่วมมือ หากพระหรือสามเณรที่ไปเพื่อการหาความรู้ เจตนาดี ก็ยังไปได้ แต่ขอให้เหมาะสมตามสมณวินัย และ พศ. คงทำความเข้าใจกับพระและสามเณรที่เข้าใจว่าห้ามเด็ดขาด

นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ มหาเถรสมาคม (มส.) เปิดเผยกรณีมีข่าวพระไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ที่ห้ามพระภิกษุ สามเณร ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าและสถานที่ซึ่งเป็นตลาดนัดว่า ไม่ใช่คำสั่งห้าม เป็นเพียงหนังสือขอความร่วมมือแจ้งไปยังเจ้าคณะปกครอง เจ้าคณะจังหวัด พระสังฆาธิการ ให้ตักเตือน พระภิกษุ สามเณรที่อยู่ในเขตปกครอง เพราะที่ผ่านมา พศ. ได้รับหนังสือร้องเรียนทั้งจดหมายและโทรศัพท์ เข้ามาเป็น จำนวนมาก ว่ามีพระภิกษุสามเณรไปเดินตามห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า หรือศูนย์การค้าต่าง ๆ ดูแล้วไม่เหมาะสม เพราะเป็นย่าน ที่จำหน่ายเทป วีซีดี แล้วมีพุทธศาสนิกชนได้พบเห็นก็ไม่สบายใจว่าไม่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.ท.อุดม เจริญ ผู้อำนวยการ พศ. คนก่อน ได้สั่งการให้หาทางป้องกันและปราบปราม ทาง มส. จึงได้นำเรื่องนี้ไปดำเนินการและ ขอความร่วมมือ ในการจะตักเตือนในทางปกครอง

"เข้าใจดีว่าจะมีพระบางรูปที่เจตนาดี ไปดูเครื่องคอมพิวเตอร์ และไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น แต่คนเขามองเข้าไปว่า พระไปเดิน แล้วถูกเบียดเสียดมาก และมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็ร้องเรียนเข้ามา เราก็ขอความร่วมมือให้ช่วยดูแลตักเตือน ไม่ใช่ออก เป็นกฎเหล็กหรือห้ามเด็ดขาด ซึ่งกรณีนี้เราได้ปรับจากมติคณะสังฆมนตรีเกี่ยวกับสถานที่อโคจรที่เคยมีสมัยสมเด็จพระวันรัต สังฆนายก ที่ออกเมื่อปี 2493 กำหนดสถานที่อโคจร และขอให้เจ้าอาวาสกวดขันพระภิกษุสามเณรในวัดไม่ให้ไปในที่อโคจร เตือนพระภิกษุสามเณรไม่ให้ไปเที่ยวตลาดนัดท้องสนามหลวง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเราก็ปรับให้เข้ากัน ซึ่งเปรียบไป ตลาดนัดหรือจตุจักร ก็เหมือนกับท้องสนามหลวง เพราะเป็นสถานที่มีคนเบียดเสียด ทางเราก็ต้องดูด้วยว่าเป็นการเหมาะสม และเอื้อต่อพระธรรมวินัย และทำในเชิงป้องกัน อย่างห้างพันธุ์ทิพย์ ก็มีทั้งวีซีดีหลายประเภท" ผู้อำนวยการ มส. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อพระไม่เห็นด้วยจะปรับหนังสือขอความร่วมมือหรือไม่ นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะเราไม่ได้สั่งห้ามว่าทำไม่ได้ เพียงขอความร่วมมือ แต่เมื่อพระไม่เข้าใจก็จะได้ประชาสัมพันธ์ให้พระทราบ สำหรับ หนังสือเวียนดังกล่าว ลงนามเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 โดย พล.ต.ท.อุดม เจริญ อดีตผู้อำนวยการ พศ. และเพิ่งเวียน ไปยังเจ้าคณะปกครอง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม โดยนางบุญศรี พานะจิตต์ รองผู้อำนวยการ พศ. ระบุว่า เรื่องสามเณรไปซื้อของ ที่ห้างสรรพสินค้า ระบุว่า ด้วย พศ. ได้รับหนังสือจากผู้ใช้นามว่า พุทธศาสนิกชน แจ้งว่ามีพระภิกษุสามเณร ได้ไปเดิน เที่ยวซื้อของที่ห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นห้าง ที่จำหน่าย เครื่องคอมพิวเตอร์และแผ่นซีดี ภาพยนตร์ ทุกประเภท ประกอบกับในห้างดังกล่าว มีประชาชนมากมาย มาเที่ยวเดินซื้อของ การที่พระภิกษุสามเณรไปเที่ยวเดินซื้อของ เบียดเสียดประชาชน เป็นการไม่สมควร จึงขอให้ พศ.พิจารณาดำเนินการ พศ.ขอนมัสการว่า การที่พระภิกษุสามเณร ไปเที่ยวซื้อสิ่งของตามห้างสรรพสินค้าและสถานที่ซึ่งเปิดเป็นตลาดนัด ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เป็นการไม่สมควรแก่ สมณวินัย เนื่องจากสถานที่ดังกล่าว มีประชาชนไปเที่ยวซื้อของเป็นจำนวนมาก และเป็นสถานที่อโคจร อันพระภิกษุสามเณร ไม่ควรเข้าไปตามพระวินัย รวมทั้งเป็นที่ติเตียนของสาธุชนชาวไทยและชาวต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ สังฆมนตรีได้มีมติครั้งที่ 8/2493 กำหนดสถานที่อโคจร และขอให้เจ้าอาวาสกวดขันพระภิกษุสามเณรในวัดไม่ให้ไปในที่อโคจร ในการนี้ สมเด็จ พระวันรัต สังฆนายก ได้มีหนังสือแจ้งเจ้าคณะและเจ้าอาวาสในจังหวัดพระนคร และธนบุรี เตือนพระภิกษุ สามเณร ไม่ให้ไป เที่ยวตลาดนัดท้องสนามหลวง และยืนดูการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่าง ๆ จึงควรที่เจ้าคณะ พระสังฆาธิการ จะได้ตักเตือน พระภิกษุสามเณรและอาคันตุกะซึ่งอยู่ในเขตปกครองและรับผิดชอบ มิให้ไปเที่ยวซื้อสิ่งของ ตามห้างสรรพสินค้า และสถานที่ ซึ่งเปิดเป็นตลาดนัดทั่วไป

ที่มา: นสพ.สำนักข่าวไทย 29 ต.ค.47

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

 


เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,500 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]