ฉบับที่ 254 ปักษ์แรก 1-15 พฤษภาคม 2548 |
สัจจะอธิษฐาน วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ในปีนี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็น วันวิสาขบูชาโลก ที่องค์การสหประชาชาติ ให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานในวันสำคัญนี้ของโลก เพื่อให้วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างแท้จริง ทางท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงได้เป็นตัวอย่าง ของชาวพุทธ ตั้งสัจจะอธิษฐาน กระทำความดีเป็นการปฏิบัติบูชาแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยได้เชิญชวนประชาชน ทุกศาสนา ร่วมกัน ตั้งใจทำความดีในวันนี้ เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายหรือโลก ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ ก็รู้สึกมีความปีติยินดีที่ผู้นำระดับประเทศได้กระทำเป็นแบบอย่างที่ดี มิใช่เฉพาะแต่ชาวพุทธที่มีอยู่ทั่วโลก เท่านั้น แต่เป็นแบบอย่างแก่มนุษย์ทุกผู้ทุกคน ให้มีความตั้งใจในการทำความดีในวาระโอกาสที่สำคัญ ดังเช่น วันวิสาขบูชา ที่ตรงกับ วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า ท่านนายกฯทักษิณ ท่านก็ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "แม้งานจะหนัก ปัญหาจะมาก พ่อจะรักษาอารมณ์ที่เบิกบาน เมื่ออยู่กับแม่และ ลูกๆ ตลอดไป" นอกจากนี้ยังได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวมากล่าวเสริม ในวันที่ถ่ายทำสปอตประชาสัมพันธ์โครงการ "สัจจะอธิษฐาน" ไว้ด้วยว่า "ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ มาร่วมกันตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะทำให้ครอบครัวมีความรักความอบอุ่น เพื่อจะได้เป็นพลังชีวิตของทุกๆคนครับ" แล้วชาวเราล่ะ จะตั้งสัจจะอธิษฐานอะไรกันดี แล้วปีหน้าค่อยมา ทบทวนดูว่า ได้ประโยชน์จากการตั้งสัจจะอธิษฐาน ในวัน วิสาขบูชา มากน้อยแค่ไหน และจะตั้งสัจจะอธิษฐาน อะไรดีในปีต่อไป จะตั้งใจเหมือนเดิมหรือจะตั้งใจทำเรื่องอื่นต่อไป ก็ค่อยมาพิจารณากัน อีกครั้ง. |
||
จำไม่ได้แล้วว่าพ่อท่านเทศน์ไว้เมื่อไหร่ แต่เห็นว่าพ่อท่าน ได้อธิบายเรื่องสติไว้ได้ชัดเจน ลองพิจารณาดูว่า เราปฏิบัติธรรม ทุกวันนี้ มีสติแบบไหน แค่ปุถุชน หรือกัลยาณชน หรือเป็นอาริยชน จะได้แก้ไขได้ถูกต้อง "....ผู้ไม่พากเพียรศึกษา และไม่พยายามสังวร ไม่มีสมัปทาน ๔ ไม่สังวรปทาน ปหานปทาน ภาวนาปทาน อนุลักขณาปทาน ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ ไม่มีสัมมัปทาน ๔ ไม่มีอิทธิบาท ๔ ผู้ที่ไม่มีโพธิปักขิยธรรม ๓ ข้อแรกนี้ คือผู้ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ถ้าไม่มีคุณธรรม ๓ ข้อนี้ คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปทาน ๔ อิทธิบาท ๔ หรือไม่มีโพชฌงค์ ๓ ไม่มีสติสัมโพชฌงค์ ไม่มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ไม่มีวิริยะสัมโพชฌงค์ ถ้าไม่มี ๓ ข้อนี้ ผู้นั้น ไม่อยู่ในฐานะของผู้ใฝ่พัฒนาตนเอง ในแบบของพุทธ ผู้ที่ใฝ่พัฒนาตนเองในแบบของพุทธจะต้องมีสติ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ให้สติปัฎฐาน ๔ นั้นมีคุณภาพถึงสติสัมโพชฌงค์ สติที่มีคุณภาพถึงสติสัมโพชฌงค์ ก็หมายความว่า เป็นสติ ที่ไม่ใช่แค่สติปุถุชน ไม่ใช่สติแค่กัลยาณชน และไม่ใช่สติของปุถุชนแน่นอน แต่สามารถที่จะทำสติของตนเอง อยู่ในคุณภาพ หรือ ประสิทธิภาพถึง ขั้นสติอาริยชน สติของคนที่เป็นเสขบุคคล เป็นผู้ที่เป็นอาริยะ การมีสติธรรมดา คือความรู้ตัวทั่วพร้อมก็มีธรรมดา ปุถุชนทุกคนเขาก็มี แต่เขาก็อยู่ตามฐานะของเขา เขาเป็นปุถุชน กิเลสก็เป็น เจ้าเรือน เขาก็แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อยากจะใคร่ได้อันนั้นอันนี้เขาก็แสดงออกของเขา ไปตามมารยาทสังคม หรือ ตามความละอาย หรือ ไม่ละอายของเขา เขาก็แสดง จะแสดงความโกรธ หรือแสดงความหลงเขาก็จะแสดงตามที่เขามีภูมิปัญญา ภูมิธรรม มีภูมิธรรม มากหน่อย ก็ระงับได้มากหน่อย ควบคุมได้มากหน่อย มีภูมิธรรมน้อยหน่อยก็แสดงออกโจ๋งครึม หน้าด้าน น่าเกลียด น่าชัง ไม่ว่าจะเป็น ราคะ โทสะ โมหะ ก็ตาม ก็มีสติธรรมดา เขาจะทำงานทำการอะไร เขาจะแสดงราคะเขาก็มีสติ มีความละอาย ต่อมารยาทสังคมเท่าไหร่ ควบคุมไม่ได้เขาก็ควบคุมเอา เขาก็แสดง ออกมากๆมายๆตามเรื่อง เขาก็ใช้สติ ใช้ความพยายามในขณะที่เขาเอง จะกระทำการใดๆ ก็แล้วแต่ ไม่มีสติ เขาทำอะไรไม่ถูกหรอกคนไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ งงๆ เบลอๆไปทำอะไรได้ มีสติที่มั่นคง แล้วมีสมาธิด้วยนะ สมาธิคำนี้แปลว่าเคร่ง รวมอยู่ในงานในการเอาใจใส่ เป็นสมาธิ เป็นการเอาใจใส่ มุ่งมั่น เป็น คอนสเตชั่น เป็นสมาธิที่มุ่ง มีคอนสเตชั่น ปุถุชนก็มี ถ้าเป็นกัลยาณชนเขาก็ยิ่งมีแน่ มี คุณธรรม มีภูมิธรรม มีสำนึกดีมากกว่าปุถุชน แต่จะใช้ภูมิธรรมที่มีสำนึกดีของตนเองนั่นแหละ มาห้าม มากั้นในสิ่งที่ควรจะแสดงออก ทางกาย วาจา ใจ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ว่า ไม่แสดงออกในสิ่งที่ไม่ควร ทำตามที่เขาสามารถก็ใช้สติ แล้วก็ใช้ ธัมมวิจัย เขาก็จะวิจัยในธรรมว่าอะไรมันดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร มากน้อยเขาก็จะใช้ เขาใช้เสมอแหละ ไม่งั้นคนเรา ก็ทำตาม แรงกิเลสเต็มที่ ทุกคนก็ยุ่งกันใหญ่ แต่เขาก็กลั่นกรองด้วยธัมมวิจัย แล้วก็ใช้วิริยะ ใช้ความเพียรของเขา เป็นสามัญ ของมนุษย์ จะต้องใช้ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ ตามประสาของคนทุกคน ปุถุชนก็เหมือนกัน กัลยาณชน ก็เหมือนกัน (อ่านต่อฉบับหน้า) - เด็กวัด - |
||
กรรมและสัจจะจะเป็นผู้ตัดสิน งานเพื่อฟ้าดินปีนี้(๑๖-๑๘ พ.ค.) รมว.กระทรวงเกษตรฯจะไปเป็นประธานเปิดงาน เพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับเกษตรกร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลัง ของประเทศ ด้วยเห็นความสำคัญของกสิกรรมไร้สารพิษ อย่างที่ชาวอโศกพาทำ จนได้รับการยอมรับจากสังคมว่า ถ้าจะหาพืชผัก ไร้สารพิษจริงๆ ต้องเป็นของกลุ่มอโศกเท่านั้น จึงจะไว้ใจได้ อีกทั้งเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผ่านๆมา จึงมีหน่วยงานของรัฐ นำเอาชาวบ้าน นักเรียน และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานมาเข้ารับการอบรม งาน ปีนี้ยังจะมีผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ๗๖ คน เกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ ๗๙๐ คน เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.อีก ๓๐๐ คน ชาวบ้านจากกรมพัฒนาที่ดินอีก ๑๐๐ คนไปร่วมงานด้วย เพื่อต้องการกระจายผล ไปยังคนระดับรากหญ้า ทุกภูมิภาค แม้ดูเหมือนว่างานจะใหญ่และกว้างขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆมา แต่ทางเราก็ไม่ต้องการให้คนมากันมากเกิน ด้วยการดูแลต้อนรับจะยาก คุณภาพ หรือประสิทธิผล ก็จะน้อยลงแน่ๆ แค่พันสองพันนี่ก็มากแล้ว สำหรับการจัดงานอย่างนี้ ถ้าเป็นหมื่นเป็นแสนก็ไม่ไหว การอยู่การกิน จะลำบากไปหมด พ่อท่านสอนให้ทำงานเพื่องาน เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่ทำงานเพื่อธุรกิจหรือเพื่อชื่อเสียงหน้าตาของตน
ดังเช่นที่มีให้เห็นกันในสังคม ทั้งทุ่มเทโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ
ไปล่าไปเกณฑ์คนมากันมากๆ จะได้มีตัวเลขไว้แสดงถึงผลงาน งบประมาณก็จะได้มากๆ
สุดท้ายมีแต่ตัวเลขไว้อ้างอวดเป็นผลงาน แต่พฤติกรรมคนไม่เปลี่ยนแปลงอะไร
คนที่มาร่วมงานก็หวังเงิน ผู้จัดงานก็หวังทั้งเงิน ชื่อเสียง และตำแหน่ง
จบเสร็จงาน ก็สูญ ไม่มีผลอะไรเกิดกับสังคมเลย การจัดงานอย่างนี้มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น
เขียนถึงตรงนี้ ก็ขอแวะถึงชาวอโศก และ ชุมชนอโศก ควรคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญของการทำงานกันให้ดีๆ
มีบางที่เน้นรายได้จากงานอบรมเป็นสำคัญ จนไปลด ด้านการบริการ และอาหาร
ไม่สมส่วนกับงบประมาณที่ได้รับ คือรับมากจ่ายน้อย บุญนิยมกลายพันธุ์เป็นทุนนิยมไปฉิบ
หรือ แม้จะเพื่อเป็นค่า ใช้จ่ายของชุมชน หรือเป็นค่าผ่อนชำระที่ดินก็ตาม
ถ้าเน้นการอบรมเพื่อรายได้ จนไม่มีเวลา สำหรับปลูกพืชผัก รวมถึง การผลิตพื้นฐาน
ที่ชุมชนจะต้องกินต้องใช้ ทำให้ต้องไปซื้อหาจากตลาด ซึ่งมีแต่ใช้สารเคมี
ก็จะกลายเป็นได้แต่สอนคนอื่น ตนเองไม่ทำ อย่างนี้ ก็ผิดหลักการบุญนิยม
ส่วนงานคืนสู่เหย้าเข้าคืนถ้ำนั้น(๑๒-๑๔ พ.ค.) เป็นงานของศิษย์เก่าสัมมาสิกขาโดยเฉพาะ ได้ยินว่าศิษย์เก่าหลายคน ก็ไม่สามารถมาได้ นอกจาก กิจกรรมของงาน ที่ไม่มีโลกีย์มาล่อแล้ว การจัดงานที่ไม่ตรงกับวันหยุดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คนจะมาร่วมงานด้วยน้อย แต่ก็เป็น วิธีการคัดกรอง คนของพ่อท่าน ผู้ที่จะมางานอย่างนี้ได้ทุกปีก็ต้องเป็นผู้เห็นความสำคัญจริงๆ หรือมีจิตใจเป็นลูกหม้อ อโศกพันธุ์แท้ด้วย สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา ก่อตั้งมาได้ ๑ ปีพอดี แต่ดูเหมือนศิษย์เก่าหลายคนวางตัวห่างๆในฐานะสมาชิกผู้ทรงเกียรติ แม้เชื้อเชิญ ก็ยังไม่มาเลย ผู้ที่จะเข้ามาช่วยทำงานให้กับสมาคมฯจริงๆแทบไม่มีใครใส่ใจจริงจัง อาจเป็นเพราะกระบี่พุทธ หรือเจ้าจืด ผู้ที่เอาภาระ ในเรื่องนี้ อย่างยิ่ง มีข้อบกพร่องเยอะแยะ ทั้งบุคลิก นิสัย วิธีการทำงาน รวมถึงคุณธรรมยังไม่มากพอ จึงไม่มีเสน่ห์ชี้ชวนให้น้องๆเพื่อนๆ เข้ามาร่วมช่วยงานของสมาคมฯ อีกอย่างอาจเป็นด้วยความไม่ใส่ใจเอาภาระในกิจนี้ของศิษย์เก่าคนอื่นๆ ที่ต่างก็อ้างติดเรียน ติดงาน และทำให้ชุมชน ทำให้ส่วนกลางอยู่แล้ว จึงทำให้พลังของการผนึกรวมเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น จะร่วมประชุมประจำเดือน กับองค์กร อื่นๆ แต่ละที ก็ต้องตามกันแล้วตามกันอีก แค่นแล้วแค่นอีก อาจเป็นเพราะยังใหม่อยู่ก็ได้ ไม่รู้ว่าอีก ๕ ปีสมาคมฯ นี้จะโตขึ้นมา ได้ไหม จะแห้งเหี่ยว เฉาตายเสียก่อนก็ไม่รู้ คงต้องดูกันต่อไป นี่ถ้างานวิสาขบูชายังคงต้องไปร่วมที่พุทธมณฑลละก้อ เดือนนี้ชาวอโศกก็คงจะหนักแอ้แน่ๆ แค่งานคืนสู่เหย้าเข้าคืนถ้ำ และงานเพื่อฟ้าดิน สองงานนี้ก็ทำให้งานประจำชะงักไม่น้อยเลย ยิ่งงานวิสาขบูชาอีกกว่าอาทิตย์ แล้วเป็นช่วงหน้าฝนอีกต่างหาก มีหวังเสร็จงาน ก็คงเข้าคิว ป่วยเจ็บกันระนาวแน่ ฝ่ายการเงินก็คงดีใจไม่น้อย ที่ไม่ต้องควักเนื้อ เพราะการจัดงานของชาวอโศก ไม่มีงานไหนที่ไม่ต้องควักเนื้อเลย แม้จะมีทุน จากหน่วยงาน มาสนับสนุนบ้างก็ตาม ด้วยชาวอโศกจัดงานบุญเพื่อบุญโดยแท้ ไม่ได้จัดงานบุญแบบการค้าหรือธุรกิจ เช่น ไม่เรี่ยไร ไม่หาเงินจากการขายดอกไม้ธูปเทียน ไม่มีการทำบุญตักบาตรด้วยเหรียญ สตางค์อ้างว่าเพื่อสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาชีวิต ไม่ได้เก็บเงิน ค่าเช่าที่จากร้านค้า ฯลฯ อีกนานาสารพัดวิธีการที่จะเอาบุญมาล่อหลอกกัน สรุปแล้วการจัดงานของชาวอโศก มีแต่จ่าย กับจ่าย ยิ่งงานใหญ่ๆ ยิ่งต้องจ่ายเยอะ อย่างงานปีใหม่เป็นต้น ญาติธรรมต่างจังหวัดรายได้ก็ไม่ได้มากอะไร มาร่วมงานอย่างน้อยๆก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายกันเอง แถมงานประจำ ก็ต้องหยุด รายได้ก็ยิ่ง จะน้อยลงไปอีก ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมกินน้อยใช้น้อยก็อยู่ได้ ไม่มีทางมาร่วมงานต่างๆได้หรอก ที่เป็นได้ดังนี้ก็เพราะเข้าใจว่า งานบุญ ก็คือบุญ คือได้ให้ ได้สละ ไม่ใช่คิดแต่จะเอา จะได้เป็นเงินเท่าไร เป็นตัวเลขกี่หลัก เกี่ยวกับปัญหาการจัดงานวิสาขบูชาที่พุทธมณฑล เพื่อเป็นกรณีศึกษา แม้จะไม่เป็นข่าวแล้ว โดยพ่อท่านและศูนย์คุณธรรม ที่มี พล.ต. จำลอง เป็นประธาน ยอมเป็นผู้แพ้ ถอยออกมาไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ แต่ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่ผู้ผิด ตามที่ฝ่ายต่อต้าน กล่าวอ้างถึง การบัพพาชนียกรรมพ่อท่านและสมณะชาวอโศก เมื่อปี ๒๕๓๒ แปลกจังเลย พล.ต.จำลอง รวมถึงฆราวาสชาวอโศก ที่มีชื่อใน คณะกรรมการจัดงาน ก็ถูกกีดกันรังเกียจไม่ให้มีส่วนร่วมในการจัดงานนี้ไปด้วย ทั้งๆที่ ไม่ใช่นักบวช ไม่ได้เกี่ยวกับ การบัพพาชนียกรรม ตามธรรมวินัย อย่างที่กล่าวอ้างเขื่องๆหรูๆเลย และกิจกรรมนี้ไม่ใช่สังฆกรรม เป็นเรื่องของเทศกาล ซึ่งต่างชาติ ต่างศาสนา ก็ย่อมมีส่วน ร่วมงาน เทศกาลอย่างนี้ได้ ป่วยการกล่าวถึงสงฆ์นานาสังวาส หรือต่างนิกาย ก็ย่อมร่วมงานอย่างนี้ได้ เป็นเรื่องมารยาทสังคมธรรมดาๆ ที่ผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจมากกว่า ย่อมต้องแสดงความใจกว้าง ต่อผู้น้อยที่ด้อยกว่า หรือกลุ่มองค์กรศาสนาอื่นๆ แต่เสียดายจัง ที่องค์กรศาสนา กระแสหลัก ไม่ได้แสดงความเป็นผู้ใหญ่ เช่นนั้น ถ้ามองอย่างเข้าข้าง ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา แห่งประเทศไทย ก็อาจมองได้ว่า ผู้ใหญ่ท่านเคร่งครัด ต่อธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามองสื่อที่เสนอข่าวกรณีนี้ เห็นสื่อบางฉบับที่นำเสนอในลักษณะยุแหย่ให้เกลียดชังกันยิ่งขึ้น การเขียนข่าว การพาดหัวข่าว ในฐานะ ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่พึงกระทำเยี่ยงนี้ในวิถีชีวิตของเราเลยเป็นเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคล หรือกลุ่มชุมชน ถ้ามองมาที่องค์กรของอโศกเอง สิ่งที่น่าจะได้เตรียมไว้ตั้งแต่บัดนี้ก็คือ น่าจะมีคณะทำงานแถลงการณ์ที่เป็นกิจจะลักษณะ จริงๆจังๆ ด้วยมีความเป็นไปได้ว่า ข่าวที่พาดพิงมาถึงพ่อท่านและองค์กรอโศกอย่างผิดๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจ เป็นเรื่องเลวร้าย ยังคงมีอยู่เช่นนี้ ไปอีกนาน ๑. เพื่อพ่อท่านจะได้ไม่เปลืองตัวมากไป ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าพ่อท่านต้องไปเหนื่อยเถียงกับใครก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะพูดอธิบายอย่างไรๆ เขาก็คิดเหมือนเดิม เสียเวลาเปล่า เช่นรายการวิทยุของสถานีหนึ่ง ติดต่อขอสัมภาษณ์โดยไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะมี พล.ต.ทองขาวร่วมด้วย เมื่อได้เวลาเข้ารายการถึงได้ทราบ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ รูปลักษณ์ดูไม่ดีเลย เหมือนพ่อท่านต้องไปเถียงกับฆราวาส วันนั้น พ่อท่าน ถึงกับมีอาการเสียงเครือๆ ผู้เขียนเองก็ตกใจ ไม่เคยเห็นพ่อท่าน มีอาการอย่างนี้เลย หลังรายการวิทยุนั้น ผู้เขียนถามพ่อท่านว่า ท้อหรือ พ่อท่านตอบว่า ไม่ได้ท้อ แต่มันเป็นอาการพ้อๆๆ ไม่ว่าจะพูดอธิบายอย่างไร เขาก็มองเป็นเลวเป็นร้ายไปหมด ก็เลยพ้อๆว่า เอ เราจะพูดกับเขาอย่างไร เขาจึงจะเข้าใจ ๒. การให้ข่าวจะได้ออกมาจากแหล่งเดียวไม่สะเปะสะปะ อย่างกรณีที่นักข่าวไปสัมภาษณ์สมณะรูปหนึ่ง แล้วท่านพูดโยงไปถึงเรื่อง บริษัทน้ำเมาหนึ่ง แล้วยังพาดพิงไปถึงสำนักปฏิบัติ อีกแห่งหนึ่ง ผลก็คือภาพลักษณ์ของอโศก ก็จะเป็นเช่นเดียวกับเขา คือคิดอะไร ก็เป็นเกม การเมือง มีผลประโยชน์ รวมทั้งพูดถึง อีกฝ่าย อย่างป้ายสีเลื่อนลอย ขาดหลักฐานความจริง ๓. การแก้ประเด็นข้อกล่าวหาต่างๆ จะได้มีการชี้แจงเป็นแถลงการณ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ รวดเร็ว และกระชับ ดีกว่ารอให้มา สัมภาษณ์ ซึ่งบางที พ่อท่านก็ไม่ได้ติดใจ ที่จะพูดแก้อะไร แถมไม่ได้จำอีกด้วย เช่นพระศรีปริยัติโมลีพูดในรายการไททีวี ๓ เป็นทำนองว่า สันติอโศก ปฏิเสธ พระธรรมวินัย ผู้เขียนฟังแล้ว ออกจะรู้สึกงงๆๆ เพราะเท่าที่เคยสัมผัส พบเจอท่านหลายครั้ง ดูแล้วท่านไม่น่า จะเข้าใจพวกเรา เป็นอย่างนั้นเลย ต่อเมื่อได้มาอ่านข่าว ย้อนทวนในหลายที่ หลายแห่ง พบว่าพระเทพดิลก (มหาระแบบ ฐิตญาโณ) กล่าวว่า สันติอโศก ไม่ยอมรับ พระธรรมวินัย ปฏิเสธไม่ยอมกราบไหว้พระพุทธรูป อ้างว่าเป็นวัตถุ ไม่ยอมรับ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก หรือ อย่างกรณี พล.ต.ทองขาว ที่ได้ไปออกรายการ กับคุณไชยวัฒน์ ทีวี ๑๑ ของเนชั่น พูดถึงพ่อท่าน ที่ประกาศความเป็น นานาสังวาส กับคณะสงฆ์ เถรสมาคม ถ้าเป็นนานาสังวาส ก็ต้องสึกออกไป แสดงว่าการกล่าวด้วยความอันเป็นเท็จอย่างนั้น มีคนเชื่อตามเหมือนกัน ๔. คณะทำงานแถลงการณ์จะได้เป็นกันชน หากจะต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอีก อย่างกรณีที่มีการให้ข่าวขู่ๆว่า ต้องดูแถลงการณ์ ของท่านโพธิรักษ์ว่า ล่วงเกินมหาเถรสมาคมหรือไม่ ถ้าล่วงเกิน ก็จะต้องดำเนินคดีฟ้องร้อง เพราะมีกฎหมาย คุ้มครองอยู่ ถ้าถามผู้เขียนว่ากรณีอย่างนี้เห็นอะไรบ้าง สอง เมื่อต่างฝ่ายต่างมีอคติ การใช้ถ้อยคำส่อเสียดก็เกิดขึ้น เช่นการโยงอ้างบริษัทน้ำเมาอยู่เบื้องหลังการต่อต้าน หรือสันติอโศก จะยึด พุทธมณฑล ที่ส่อเสียดอย่างเนียนๆ อ้างหลักการ อ้างประวัติศาสตร์ เช่นการแย้ง "ที่ท่านนายกฯ บอกว่านับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ก็น่าจะร่วมกันจัดได้ เท่านั้นไม่พอ เพราะถ้าเกิดมีกลุ่มนักบวช ที่มีครอบครัวแล้ว" ทำให้ผู้ฟังคิดเปรียบเทียบว่า สันติอโศกเป็น ดุจเดียวกับ นักบวชมีครอบครัว จึงเอามาร่วมกันจัดไม่ได้ หรือการยกตัวอย่าง กลุ่มลัทธิมรณะ (จิมโจนท์) ที่มีความแปลกไปจาก สังคมส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ฟัง ก็คิดคล้อยว่า สันติอโศก ก็ใกล้ๆกับอย่างนั้น สาม ผู้เขียนขำสำนวนภาษาที่คุณโสภณ สุภาพงษ์พูดกับท่านจันทร์ว่า หนทางของชาวอโศก ยังจะต้องไปอีกไกล อย่าไปมัวใส่ใจ กับโก๋ มอเตอร์ไซค์ ที่ขับรถปาดหน้าเลย นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ จากอาจารย์สุลักษณ์ ที่ได้ให้ข้อคิดที่ดีๆ ไว้หลายประเด็น สี่ ผู้เขียนนึกถึงหนังจีนโบร้าณ โบราณ ที่มีเรื่องเกี่ยวกับสำนักฝ่ายเทพและสำนักฝ่ายมาร ยุคหนึ่งที่ผู้อ้างตนเป็นฝ่ายเทพ แต่กลับ ประพฤติตน เยี่ยงมาร ขณะที่ผู้ถูกขนานนามว่ามาร กลับประพฤติตน เยี่ยงชาวเทพ เขียนอย่างนี้รู้นะว่า ท่านกำลังคิดอะไรอยู่ ผู้เขียนเพียง อยากจะบอกว่า ใครจะเป็นเทพ ใครจะเป็นมาร ก็เป็นเรื่องของกรรม และสัจจะจะเป็นผู้ตัดสินเอง เราและท่าน ไม่ใช่ผู้พิพากษา จริงๆเลย สุดท้ายนี้ ในโอกาสที่จะถึงวัน วิสาขบูชา เรามาลดละความเป็นมาร ในตัวเรากันดีไหม หรือจะเข้าโครงการ ของศูนย์คุณธรรม ๑ คน ๑ สัจจะ ก็ได้. |
||
ผงนัว : แซ่บอีหลีโดยไม่มีผงชูรส เมื่อกล่าวถึงผงนัว คำที่สำคัญคือคำว่า "นัว" มาจากภาษาพื้นถิ่นอีสานหรือภาษาไทยลาว แปลว่า "กลมกล่อม" ผงนัวแปรรูปจาก สมุนไพร หลากหลายชนิด สามารถใช้แทนผงชูรสที่ก่อให้เกิดโทษกับร่างกาย นอกจากนี้ ผงนัวยังนับเป็นรูปแบบหนึ่งของวิธีคิด ที่ทำให้ ระบบเศรษฐกิจ ของฐานล่างโต หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หน่วยงานทางวิชาการ ภาคเอกชนในการพัฒนาผงนัว ให้เป็นผลิตผล เศรษฐกิจ ขยายผลต่อไปในอนาคตจะทำให้พืชพันธุ์จำนวนมหาศาลกลับคืนสู่ท้องถิ่น ผงนัวเกิดจาก วิธีการคิด ในขณะที่ทำแผนแม่บท วิจัยเศรษฐกิจ ของหมู่บ้าน กับชาวกะเริง (เป็นชนเผ่าหนึ่งของชาวอีสาน) จาการที่พบว่าปัจจัยที่ทำให้ชีวิตและสุขภาพ ของชาวกะเริง เสื่อมลง ประการหนึ่ง คือ เรื่องของค่าใช้จ่าย ในการซื้อกิน และสินค้าที่เขาซื้อกินนั้นมีแต่สารพิษเจือปน เช่น อาหารถุง อาหารกระป๋อง ซึ่งมีผงชูรส ผสมปนอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุให้เกิดโรคและพิษภัยและก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆตามมา จึงได้หาแนวทางการแก้ไข โดยการศึกษา กับชาวบ้าน ถึงภูมิปัญญาเดิมด้านการบริโภค การถนอม การปรุงอาหาร ปรากฏว่า มีวิธีการทำอาหาร โดยการนำพืชผัก พื้นบ้าน ในท้องถิ่น ที่มีตระกูลและรส แตกต่างกัน อาทิ - รสมันหวาน ได้แก่ ข้าวเหนียว มันเทศ ก้านตรง ฟักทอง ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กน้อยจากพืชผักพื้นบ้านในเมืองไทยมีรสชาติหลากหลายมากมาย และโดยการระดมสมอง ปรึกษานักวิชาการ ที่สถาบันราชมงคล ที่อ.พังโคน จ.สกลนคร และนักวิชาการที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหาสารคาม แล้วร่วมกันผลิตผงนัวขึ้นมา รูปแบบขั้นต้น ทำเป็นก้อน เหมือนคนอร์ แต่ในปัจจุบันเป็นลักษณะผง ในส่วนของสถาบันราชมงคลมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ส่วนในวิถีชีวิต ชุมชน จะมีรูปแบบ บรรจุภัณฑ์ที่เรียบง่าย ทั้งนี้ได้รับเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลิตออกมา ๓ ชนิด คือ ผงนัว (ของชาวบ้าน) ผงเกษตร (ของสถาบันราชมงคล) และผงแซบ(ของชัยภูมิ) ราคาที่จำหน่ายก็ย่อมเยา อยู่ในอัตราซองละ ๑๐-๑๕ บาท (ตามน้ำหนัก) ๑ ซองสามารถใช้ได้หลายครั้ง ได้มีการทดลองนำผงนัวไปใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า ผงนัว สามารถควบคุม น้ำตาลได้ นอกจากนี้อาการต่างๆของพิษที่เกิดขึ้นในร่างกาย (กล่าวคือ อาการนั่งเฉยๆแล้วจะหลับ ซึ่งเป็นอาการของการได้รับพิษ ที่มีอยู่ ในร่างกาย) ผงนัวสามารถไปทดแทนทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น(ทั้งนี้เป็นความรู้ที่ได้จากการสังเกต แต่ยังไม่มีการทดลองวิจัย ที่เป็นวิทยาศาสตร์ รับรอง) และ ณ ที่นี้จะขอขยายความ รายละเอียดของกลุ่มพืช ที่นำมาทำผงนัวเพียง ๓ ตระกูล ๑. ตระกูลที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและบำรุงอวัยวะภายใน ได้แก่ ข้าวเหนียวที่สีเรียบร้อยแล้ว เป็นยาบำรุงกำลัง (หากได้ข้าวเหนียวดำ พันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมจะดีมาก เนื่องจาก มีคุณค่าทางสารอาหารสูง โดยเฉพาะข้าวที่ไม่มีโดยเครื่องจักร ใช้การตำจะดีมาก) ขณะนี้ ไม่ทราบสูตร ที่ทำอยู่ เพียงแต่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง เนื่องจากชาวบ้านได้มีการพัฒนาสูตรไปมากแล้ว นอกจากข้าวเหนียวแล้ว ยังมีพืช อื่นๆ อีก ได้แก่ มันเทศ (บางคนเรียกมันแกว) หากไม่ใช่สีขาวยิ่งดี (ให้มีสีไว้ เพราะสีจะไปซ่อมเซลล์ไม่ให้กลายพันธุ์ ป้องการ สารก่อมะเร็งได้ มันเทศช่วยถอนพิษได้) หากเป็นใบไม้ธรรมดา นำไปตากแห้ง แต่เป็นมันเทศ ต้องนำไปต้มก่อน จึงจะนำไปตากแห้ง ล้างให้สะอาด ใช้เปลือกด้วย เนื่องจากต้องการสีของมัน ผักก้านตรง (ออกรสมันหวาน ปลูกไม่ยาก ใส่ในกระถาง เด็ดกินได้ ช่วยให้บำรุงกำลัง บำรุงกระดูก) ผักคอนแคน (เป็นไม้ป่า เลื้อย ดอกเป็นช่อยาว รสชาติดีกว่าหน่อไม้ฝรั่ง เป็นอาหารขึ้นของสกลนคร ออกดอกปีละครั้ง ช่อละ ๑๕ บาท ทานสด รสชาติดี นำไปผัดก็ได้ ทานได้ปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น ซึ่งกำลังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกมัน ที่นำมาใช้คือยอดอ่อนนำมาเผาไฟ หมกไฟ เพื่อให้กลิ่นที่หอม หวานออกมา จึงนำไปตากแห้งแล้วบด) มะรุม (จะมีแคลเซี่ยมมาก ธรรมชาติบำบัดในอินเดีย จะใช้มะรุมมาก ช่วยบำรุงกระดูก หากจะให้ออกทั้งปีต้องไปเฉาะๆบ้าง ธรรมชาติ ของต้นไม้ หากรู้สึกว่าจะตายจะรีบออกดอกออกผล) ข้าวโพด (ใช้หนวดข้าวโพดพื้นบ้าน ไม่ใช่ข้าวโพดสวิส ข้าวโพดที่มีหลากสี แข็ง ใช้หนวดข้าวโพด ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะอย่างดี) ฟักทอง (โดยมากใช้ไส้ข้างใน นำมานึ่งทั้งเมล็ด ตัวนี้จะช่วยบำรุงตับไต ไส้พุง เมล็ดฟักทอง สามารถป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ มีเบต้าแคโรทีนสูงมาก คุณค่าของไส้ฟักทอง มีมากกว่าเนื้อฟักทองด้วยซ้ำ) นำส่วนผสมทั้งหมดนี้ มาปรับตามความเหมาะสม ๒. ตระกูลเผ็ดร้อน เกี่ยวข้องกับการขับลมในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร เช่น หอม ข่า กระเทียม ข่าจะใช้หัวเหง้า กระเทียมจะใช้ใบ นอกจากนี้ ยังมีผักแพรว (ทานกับก๋วยเตี๋ยวญวน) กะเพรา ผักแป้น (ใบกุยช่าย) ตะไคร้ ใบมะกรูด (พืชที่กล่าวมาแล้วนี้ไม่ได้ใช้มากนัก) กระชาย (ช่วยบำรุงไตได้มาก) ห้อมป้อม (ไม่ใช้เป็นผักชีพื้นบ้าน ไม่ใช่ผักชีลาว) แมงลัก โหระพา ผักกาดหัว (คือหัวไชเท้า) ผักหวานบ้าน ย่านาง เหล่านี้เป็นของพื้นบ้านที่พวกเรารู้จัก ๓. ตระกูลเบื่อเมา จะขมและเหมือนทำให้เมา ต้องใช้น้อยมาก ไม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ ของอัตราผสมของทั้งหมด พืชตระกูลนี้จะไปคลาย จะไปบำรุง จะไปถอนพิษหลายอย่าง เช่น คลายประสาท พืชตระกูลนี้ได้แก่ ผักโขม ผักโขมที่ใช้กันมากคือโขมหวาน (ผักโขมจะมีเส้นใยมาก คุณสมบัตินี้จะช่วย กำจัดสารก่อมะเร็งที่ ปนเปื้อนในน้ำดื่ม ในไส้กรองได้ดี) ถ้าเป็นผักโขมต้นอ่อนๆอย่างที่ป๊อบอายกิน ซึ่งจะเป็นชนิดของ พื้นบ้านก็ได้ ชนิดที่มีหนามก็ได้ ผักโขมมีประโยชน์สูงมาก ให้วิตามินเค วิตามินอะไรต่างๆมากมาย ควรจะกินประจำ จากการศึกษาและทดลองจนได้พัฒนาเป็นสูตรขึ้นมาเรียกว่าผงนัว ซึ่งขณะนี้สถาบันราชมงคลมีสูตรส้มตำ แกงอ่อม ต้มผัด สูตรหมัก ส่วนที่พังโคนมีรสต้มยำที่ปรับให้เข้ากับภาคกลาง โดยมีเครื่องหมาย อย.เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้มีการส่งผงนัวไปต่างประเทศแล้ว แต่คนไทย ยังไม่ได้กิน คนไทยที่ได้กินคือแรงงานจากภาคอีสานที่ไปทำงานต่างประเทศ โดยทั่วไปจะใส่ผงนัวเวลาที่จะยกอาหารขึ้นจากเตา ปรุงอาหาร ต่างๆ เรียบร้อยแล้วจึงนำผงนัวปรุงรสทีหลัง จำนวนที่ใส่ แล้วแต่เราต้องการ เพราะไม่มีอันตรายเหมือนชูรส ข้อจำกัดของผงนัว คือ ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานทางวิชาการในด้านการวิจัยต่างๆ ซึ่งทางผู้ผลิตมีความต้องการ ที่จะให้นำผงนัว ที่ผลิตได้นี้ นำไปทดลองโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ด้วยความยินดี ถ้าเราสนับสนุนผงนัว เท่ากับดึงน้ำให้กลับมาแผ่นดินอีสานได้มหาศาล เพราะว่าพืชจะเก็บน้ำไว้ที่รากได้ พืชพันธุ์ก็จะ กลับมา สังคมเกษตรกรรมก็จะกลับมา. เรียบเรียงคำบรรยายของคุณยงยุทธ ตรีนุชกร นักพัฒนาอิสระ และครูภูมิปัญญาไทย ในการประชุมวิชาการ กรมพัฒนาแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข วันพุธที่ ๑๖ ก.พ. ๒๕๔๘ ถอดความโดย พ.ท.หญิงสุวิไล วงศ์ธีระสุต
วิธีทำ - จากจดหมายข่าวผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน - ต.อ.กลาง รายงาน - |
||
นายชุมพล ลิลิตธรรม ผู้อำนวยการสำนักสำรวจดินและวางแผนใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า โครงการการใช้ เทคโนโลยี รีโมตเซนซิ่ง (Remote Sensing) และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อประเมินผลผลิตพืชเศรษฐกิจ เป็นรายตำบล ทั่วทั้งประเทศ การดำเนินงานแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน เริ่มจากนำข้อมูลจากดาวเทียม Landsat-๗ ใช้ระบบ ETM+ บันทึกภาพ ทุกช่วงเวลา ของพื้นดิน ที่มีการปลูกพืช พร้อมกับนำผล แสดงภาพ มาวิเคราะห์สีและตัวเลข จากนั้นก็จะส่งเจ้าหน้าที่ ออกไปเป็นทีมสำรวจ จากส่วนวิเคราะห์สภาพการใช้ที่ดิน จากกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อรวบรวมข้อมูล นายเกษมศักดิ์ แสนโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เผยถึงนโยบาย ด้านการเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดสุรินทร์ ว่า จากมติ คณะรัฐมนตรี ได้ให้สุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่อง ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ ทางจังหวัดได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในเรื่อง ของการลด การเผาตอซัง ซึ่งจังหวัดสุรินทร์เวลานี้แทบไม่มีการเผาตอซังในนาข้าวเลย เรียกว่า มีการเผาตอซังข้าว น้อยที่สุด ในประเทศไทย ก็ว่าได้ จากการรณรงค์ต่อเนื่องมาโดยตลอดนี้ทำให้สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศดีขึ้น ชาวบ้านเริ่มหากุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด ได้ง่ายขึ้น ประชาชนเริ่มเห็นประโยชน์เห็นข้อดีของการทำการเกษตรอินทรีย์ ทำให้จนถึงขณะนี้ มีเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ มาทำการเกษตร แบบอินทรีย์แล้วกว่า ๕๐ % ใน ๓ ระดับ พร้อมกันนี้ได้เตรียมจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ของจังหวัดสุรินทร์ (มกสร.) ขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการรับรองสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่เลย ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น ถือเป็นยุทธศาสตร์ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ นายเกษมศักดิ์กล่าว. (จาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๓ ธ.ค.๔๗) |
||
มหกรรมรักษาศีล
'อธิศีล' ที่ลานนาอโศก จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงานอบรมมหกรรมรักษาศีล เป็นครั้งที่ ๓ เริ่มงานวันที่ ๒๙ เม.ย.- ๒ พ.ค.๔๘ งานครั้งนี้ มีพิเศษ ด้วยคำว่า "อธิศีล" และเชิญนายอำเภอสันทรายมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ในงานยังมีเครื่องฉายหนังโปรเจคเตอร์ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมที่มาลงทะเบียนจำนวน ๘๖ คน ต่างก็เบิกบานในธรรมรับธรรมะอย่างเต็มที่ อาหารเรียบง่ายวันละ ๑ มื้อ งานก็สำเร็จไปได้ด้วยดีโดยมีสมณะ ๕ รูป คือ สมณะเก้าก้าว สรณีโย สมณะดวงดี ฐิตปุญโญ สมณะวิเชียร วิชโย สมณะใต้ดาว เหฏฐานักขัตโต สมณะลึกเล็ก จุลลคัมภีโร ซึ่งก็เปรียบเหมือนอินทรีย์ห้า พละห้า ลงตัวพอดี ญาติธรรมจากต่างอำเภอและจังหวัดเชียงรายได้มาลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๒๘ เม.ย.๔๘ เช้าวันที่ ๒๙ เม.ย.เวลา ๐๙.๐๐ น. นายชนะ แพ่งพิบูลย์ นายอำเภอสันทราย ได้มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งท่านสนใจสนับสนุนเต็มที่ สังคมปัจจุบันกำลังแล้งธรรมะ ท่านไม่อยาก ให้พวกเรา หยุดอยู่แค่นี้ กิจกรรมที่พวกเรากำลังกระทำอยู่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติในที่สุด เมื่อมีโอกาส ท่านจะมาร่วมงาน ในวันเสาร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำของผู้อายุยาว ลานนาอโศก สำหรับรายการแต่ละวันเริ่มทำวัตรเช้าเวลา ๐๓.๓๐ น. ยกเว้นวันแรกเริ่ม
๐๙.๐๐ น. ซึ่งรายการในแต่ละวันมีดังนี้ ส่วนรายการทำวัตรเช้าของวันสุดท้ายเป็นรายการ "ถาม-ตอบจริงๆ ยิ่งเข้าถึงอธิศีล" โดยสมณะเก้าก้าว และสมณะดวงดี หลังจากนั้น อาจารย์อนันต์ นำออกกำลังกายด้วยการฟ้อนเจิง เวลา ๐๙.๐๐ น. ธรรมะก่อนฉัน เป็นการสรุปงานโดย สมณะเก้าก้าว สรณีโย และกรรมการจัดงาน เสร็จแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน ด้วยความอิ่มบุญ โดยถ้วนหน้า. |
||
สวนส่างฝันจัดคอร์สสุขภาพ ค่ายสุขภาพบุญนิยม(แม่ครัว) ครั้งที่ ๑/๒๕๔๘ ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ เม.ย.๔๘ ที่ ผ่านมา ณ สวนส่างฝัน ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ โดยมีวัตถุประสงค์ ให้แม่ครัวองค์กรบุญนิยมได้มีโอกาสมาพักในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และได้ฝึกกินอาหารเพื่อสุขภาพ (โดยรู้สึก อิ่มอร่อย และสบายตัว) หลักสูตรที่ได้จากการจัดค่าย คือ ๑. ปรุงอาหารจากผัก ผลไม้สดๆจะดีที่สุด (เก็บแล้วทำเลย) ๒. กินอาหารเรียงลำดับจากย่อยง่าย-ย่อยยาก ๓. ตรวจสุขภาพ ตนเอง ได้ด้วยวิธีการง่าย (ใช้ปรอทวัดอุณหภูมิตัวเอง เช้า/เย็น หรือเวลาที่ตัวเองรู้สึกไม่สบาย กินน้ำฉี่ เพื่อตรวจดูตนเองว่า บกพร่อง อวัยวะ ส่วนใด รู้ปัจจุบัน ของตนเองว่า ขณะนี้เรามีอาการไม่สบาย ลักษณะร้อนหรือเย็นบกพร่อง ๔. รู้วิธีดูแล ทนุถนอม ร่างกายตนเอง โดยการกิน เพื่อสุขภาพ โดยไม่กินแบบทำร้ายตนเองแบบกระแทกกระทั้น สุดโต่ง ๕. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อตอบแทน ร่างกายบ้าง สำหรับกิจกรรมการเข้าค่าย มีดังนี้ ส่วนรายการอาหารตลอดงาน (กินตามลำดับ) สำหรับความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน มีดังนี้ ในอดีตเราเคยทำครัว และโหมงานหนัก จนร่างกายทรุดโทรม ถ้าเปรียบกับรถที่มีสภาพแย่แล้ว ประโยชน์ที่ได้ ก็จะเอามาพัฒนา ตนเอง และคนใกล้เคียง เพื่อไม่เป็นภาระของหมอมากเกินไป อยากขอบคุณทุกๆคนที่สวนส่างฝัน ประทับใจเหมือนพี่เหมือนน้องกัน" คุณแซมดาว นาวาบุญนิยม ศีรษะอโศก "ประทับใจค่ายนี้ เคยไป ร.ร.ผู้นำ แต่ก็ไม่เหมือนที่นี่ ที่นี่อบอุ่นเป็นกันเอง เรียบง่าย แต่อุดม สมบูรณ์พร้อม มีผักอยู่ใกล้ๆครัว พื้นที่ไม่กว้างเกินไป บรรยากาศการอบรมเหมือนการมาพักผ่อน แม้ที่นี่เป็นศูนย์เล็กๆ แต่มีอะไรดีๆ ให้ดูหลายอย่าง เป็นแหล่งวิชาการ มีคนอยู่น้อย แต่ดูมีประสิทธิภาพ ได้มาเรียนรู้การรักษาตนเอง แนวทางแพทย์ทางเลือก นำไปแนะนำ ผู้อื่น ในเรื่องการปรับสมดุลให้กับตนเองได้" คุณป้าอร่าม แม่ครัวประจำอโรคยา ศีรษะอโศก "ได้มาเยี่ยมที่นี่ ในอนาคตจะเป็นตัวอย่างที่ดี อยากได้สภาพแบบนี้ นำกลับไปที่ ศีรษะฯ คงจะดี ได้เหตุได้ปัจจัย มีข้ออ้างอิง ได้แนวคิด ขอบคุณทีมงานสวนส่างฝัน" คุณถึงฝัน ปั้นวิชัย ศาลีอโศก "เป็นการบูรณาการ แม่ครัวกับหมอทางด้านสุขภาพได้ดีที่สุด และเชื่อว่าวิบากกรรมของแม่ครัวมีจริง และ ขอขอบคุณ ทีมงานที่จัดค่ายนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้ที่ชุมชน แล้วเรื่องที่ควรปรับปรุงคือ ระบบเสียงตอนเช้า" คุณภิรมย์ จันทนา (แอ๊ด) เพชรผาภูมิ "อยากให้ทุกคนฝึกแล้วกลับไปปรับปรุง ก่อนมาก็ยังนึกภาพของงานไม่ออก จนสมณะแจ้งรายละเอียด ของสวนส่างฝัน ให้ทราบ พอมาวันแรกทีมแม่ครัวที่มาก็ไม่ค่อยสามัคคีเท่าไหร่ แต่พอวันที่สอง ทุกอย่างก็ลงตัว ทุกคนสนุกสนาน และแม้แต่แม่ครัว ก็ยังสอบตกและอยากฝากถึงทุกคนที่มาอบรมให้นำสิ่งที่ฝึกกลับไปทำ" คุณน้อมบูชา นาวาบุญนิยม "เหตุเพราะมีกองทัพคนป่วย และถูกกล่าวหาว่า แม่ครัวทำให้คนป่วย และแม่ครัวก็ถูกกดดันสารพัดอย่าง ตัวแม่ครัวเองก็หนักมาก คนคิดเก่ง พูดเก่ง ผลักดันเก่ง ยิ่งขยันเท่าไหร่ แม่ครัวก็ยิ่งลำบากเท่านั้น ตัวแม่ครัวก็ป่วยเหมือนเพื่อน ทีมสุขภาพ คุยกันว่า คนไม่เคยเป็นแม่ครัวไม่รู้หรอกว่า หัวอกแม่ครัวเป็นอย่างไร ไม่เป็นหมอก็ไม่รู้หรอกว่า หมอเป็นอย่างไร เพราะหมอก็ถูก กล่าวหาว่า ทำให้คนป่วย แต่คนเป็นหมอ ไม่ถูกกดดันมากเท่าไหร่ แต่วิธีการรักษาตอนป่วยแล้ว เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ คนไข้ก็ไม่ลด หมอก็จะตายหมด พอดีปีนี้หลายคนคิดว่า เราจะแข็งแรง โดยเข้าสู่ วิถีชีวิตชุมชน เพื่อให้พวกเรา แข็งแรงถวายพ่อท่านให้ทัน ๗๒ ปี เราก็เลยปรับใหม่ให้ทุกชุมชนเน้นกิจกรรม ป้องกันและรักษา คือที่ยังไม่เป็น ก็ไม่ให้เป็น ที่เป็นแล้ว ก็ให้คลี่คลาย ถ้าเราไปคิดเอา เขาก็จะหาว่าเราเป็นโรคเครียด นึกเอาไม่ได้ คนแข็งแรง ร้อนเย็นจะพอดี จะไม่ร้อนเกิน เย็นเกิน เอาความรู้สึกจับก็ไม่ได้ เพราะเบลอไปหมดแล้ว ทีมหมอเลยสอนการวัดปรอทให้ทุกคน เพราะเราต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำย่อยที่ออก อุณหภูมิร่างกาย ความหิว ความอยาก เราจะเอามาชนกันไม่ได้ ชาวอโศก มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร นำไปสู่กระดูกบิดเบี้ยว ลมปราณติดขัด โรคต่างๆก็จะมารุมเร้าจนหมด ถึงขั้นมะเร็ง ให้แม่ครัวมาเรียนรู้ แม่ครัวจะได้คลี่คลาย ๓ วันนี้ แม่ครัวได้ฝึกเรื่องร้อนเย็นทำให้ร่างกายดีขึ้น ทำอย่างไร เย็นแก้อย่างไร ร้อนต้องทำอย่างไร งานนี้ใช้งบ ๔๗๕ บาทในการจัดค่าย รักษา ๗๐ คน อนาคต ๐ บาท รักษาทุกโรค หมอใจเพชร (หมอเขียว) "สิ่งที่ได้มามากกว่าเงินคือ สุขภาพและจิตวิญญาณที่ดีขึ้น ที่เงินซื้อไม่ได้ พ่อท่านได้ให้จิตวิญญาณบุญนิยม ที่เกิดกับ พวกเรา ทุกๆคน ที่จะเกิดสิ่งที่ดีขึ้น บุญญาวุธหมายเลข ๔ พระพุทธเจ้าบอกอาหารเป็นหนึ่งในโลก แต่จิตวิญญาณ เป็นประธานสิ่งทั้งปวง ร่างกายจะดีได้เพราะ ๗ อ. อิทธิบาท อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย อากาศ เอนกาย เอาพิษภัยออก สุดท้ายคำตอบอยู่ที่คน ได้ฝึกฝนและพากเพียร ขอให้ทุกคนค่อยๆทำไป เอาภาระสุขภาพ ของตน เอาภาระสุขภาพ ของพี่น้องเรา" นายศรีวิชัย สะท้านภพ สวนส่างฝัน "ดีใจที่ได้บริการพี่น้องชาวอโศก ถึงจะมากันไม่ครบทุกชุมชนก็ตาม งานอบรมงานนี้ไม่หนัก เพราะพืชผัก เรามีเพียงพอ การจัดกระบวนการการทำอาหารก็ลงตัว โดยจัดกันเป็นกลุ่ม ทีมจัดผลไม้จัดเก็บและจัดผักสด ทำอาหาร สำหรับ คนกลุ่มร้อน ทำอาหารกลุ่มสำหรับคนเย็น ทำแกงจืด รู้สึกว่าทุกกลุ่มทำอาหารได้ดี และถูกกับลักษณะอาหาร ผลคะแนนที่ออกมา ทีมหมอ บอกว่า อาหารบางอย่างอาจทำให้เข้าใจผิดว่าร้อนเป็นเย็น หรือเย็นเป็นร้อน เราต้องมาศึกษารายละเอียด สัมผัสได้ว่า ทีมแม่ครัวทุกที่ตั้งใจ จะเอาความรู้ที่ได้ไปปรับปรุง และทำอาหารถวายสมณะ และคนในชุมชน เพื่อให้ท่านมีสุขภาพร่างกาย ที่แข็งแรง จะได้อยู่กับพวกเราไปนานๆ" คุณแห่งไท กมลรัตน์ ประธานชุมชนสวนส่างฝัน "สวนกสิกรรมไร้สารพิษ ๓ ไร่ เป็นประตูเปิดสู่อิสระเสรีภาพ เพราะสวน ๓ ไร่เป็น ๑. ห้อง ทดลองวิทยาศาสตร์ ๒. เป็นแหล่งอาหาร ๓. เป็นซุปเปอร์มาเก็ต ๔. เป็นโรงพยาบาล ๕. เป็น ร.ร.สำหรับบุตรหลานและเพื่อนบ้าน ๖. เป็นมหาวิทยาลัย แห่งอนาคต ๗. เป็นบำนาญชีวิต เป็นหลักประกันอันมั่นคงในครอบครัว สวน ๓ ไร่ จะทำให้ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศมั่นคง ลูกหลานมั่นใจ ก่อนที่จะเป็นสวน ๓ ไร่ ชุมชน เข้มแข็ง สวน ๓ ไร่ นำสุขภาพ แข็งแรง สวน ๓ ไร่ สุขภาพดีถ้วนหน้า รักษาทุกโรค" สมณะดาวดิน "เห็นหน้าแม่ครัว แม่ครัวใหญ่ ได้มาศึกษาเรียนรู้ ปกติงานอบรมแม่ครัว ๑ เดือน อาจใช้เงินถึง ๗,๐๐๐ บาท แต่มาที่นี่ เท่าไหร่ ก็คุ้มค่า ถ้าคืนสุขภาพที่ดีของเรามาได้ ขอให้เก็บความรู้ มาปรับใช้กับตัวเราเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑ อาจมีครั้งที่ ๒,๓ ให้ทุกคน ประสบผลสำเร็จ" ผลสรุปของผู้เข้าค่ายและรับการอบรมของแม่ครัวในครั้งนี้ ส่วนใหญ่พึงพอใจกับการได้กลับมาสู่ทางเกวียนสายเก่า ได้มาเรียนรู้ ในการรู้จัก ตนเองมากขึ้น ได้ฝึกการกินอาหารที่ถูกขั้นตอน ถูกธาตุของตนเอง ได้ฝึกการดูแลพึ่งพาตนเองยามเจ็บป่วยได้ ต่างรู้สึกว่า สภาพร่างกาย และจิตใจของตนเองดีขึ้นแม้มาเข้าค่ายเพียง ๓ วันเท่านั้น ได้มาเรียนรู้ ความเป็นไปของการจะมีสุขภาพที่ดี ที่แข็งแรงแบบวิธีง่ายๆ นำไปใช้ในชีวิตจริง ได้ทันที มีสติในการดูตัวเองแบบเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น เพราะเพียงได้ทำกสิกรรมไร้สารพิษ และกินในสิ่งที่เราปลูก และปลูกในสิ่งที่เราจะกิน ส่วนใหญ่จะกลับไปเป็นตัวอย่างและปรับใช้ในชุมชนของตนเอง. |
||
วิธีแก้อาการไฟกำเริบ (ร้อนเกิน) ฉบับที่แล้วเราก็ได้เรียนรู้อาการไฟกำเริบในกายของเราไปแล้ว ฉบับนี้เรามาทราบวิธีการปรับสมดุล ให้คลายความร้อนในร่างกายของเราลงดีกว่านะคะหมอเขียวได้ให้คำแนะนำไว้อย่างละเอียด แต่ในที่นี้คงนำเสนอได้ไม่ละเอียดนัก แต่พอนำไปปฏิบัติได้ค่ะ เพราะลองทำดูแล้วได้ผลดีคะ ตื่นนอนตอนเช้าให้ดื่ม น้ำมากๆ, สวนล้างลำไส้ใหญ่ (ดีท็อกซ์) ด้วยน้ำมะนาว มะขาม หรือกาแฟ โดยเลือกให้ถูกกับเรามากที่สุดด้วยการดูว่าใช้อะไรสบายที่สุดใช้อย่างนั้น, ช่วงเวลา ๙-๑๔ น. ให้ดื่มน้ำคั้น จาก สมุนไพรเย็น เช่น ย่านาง ผักบุ้ง ใบเตย ใบบัวบก อ่อมแซบ หญ้าปักกิ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน, ช่วงกลางวันควรดื่มน้ำมากๆ, ตอนเที่ยงวัน และตอนเย็น ควรอาบน้ำสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ใบส้มป่อย ใบหนาด ใบเปล้า ไพร ขมิ้น, ถ้าตื่นขึ้นมาปัสสาวะ ในตอนเที่ยงคืน หรือ ตี ๒ แสดงว่า ร่างกายร้อนมาก ให้ดื่มน้ำมากๆ เวลานอนไม่ควรงอแขนขา, ควรกินสมุนไพรรสขม หรือฤทธิ์จืดเย็น เช่นลูกใต้ใบ บอระเพ็ด หรือ ฟ้าทะลายโจร, อาหารที่ควรงดหรือควรทานให้น้อย คือ ข้าวเหนียว ข้าวสีดำแดง เฝือก มัน กลอย, ควรกินผัก ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น มะละกอดิบ ผักบุ้ง ตำลึง อ่อมแสบ บวบ สายบัว มะเขือ ฟักแฟง แตงต่างๆ, ควรงดผักที่มีฤทธิ์ร้อนเช่น หน่อไม้ ฟักทอง คะน้า แครอท กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพลู ผักโขม สาหร่าย ชะอม และอาหารรสเผ็ดร้อน เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ กระเพรา โหระพา กระชาย, ควรกิน ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เห็ดต่างๆ (ยกเว้นเห็ดหอมและเห็ดหลินจือ) ควรงดอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด และอาหารมันทุกชนิด, งดผลไม้ ที่มีฤทธิ์ร้อน เช่นฝรั่ง ขนุน ลิ้นจี้ ลำไย เงาะ ทุเรียน กล้วยไข่ ส้มเขียวหวาน เสาวรส น้อยหน่า ลองกอง มะไฟ มะปราง มะเฟือง มะขามป้อม มะม่วงสุก ลูกยอ, ให้รับประทานผลไม้รสเย็น เช่น มังคุด แตง สับปะรด ส้มโอ กล้วยน้ำว้า กระท้อน ชมพู่ สมอไทย มะม่วงดิบ มะขามดิบ เป็นต้น ถ้าทำตามขั้นตอนนี้ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ต้องปรับสมดุลโครงสร้างและแก้เส้นลมปราณไทย-จีนช่วย ซึ่งก็คงต้อง ให้หมอเขียว ช่วยเป็นการส่วนตัวแล้วละคะ แต่ถ้ามีเรื่องร้อนจิตร้อนใจหรือไฟสุมทรวงคงต้องปรึกษาสมณะ อ่านหนังสือธรรม ฟังเทปธรรม หรือปรึกษา พ่อท่านแล้วละค่ะ. - กิ่งธรรม - |
||
ใครเคยไปวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารที่ชลบุรีมาแล้ว คงจะเห็นความงดงามและยิ่งใหญ่ของวัดหลวงแห่งนี้ได้ดี ภายในวัด ยังมี ศูนย์ฝึก และพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ดำเนินงานโดย สำนักบริหารงาน การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เมื่อวันที่ ๗-๑๑ ก.พ.๔๘ ทางศูนย์ฝึกฯ วัดญาณสังวรารามฯได้จัดงาน มหกรรม เกษตรธรรมชาติ ครั้งที่ ๗ ขึ้น ในงานนี้ สมณะเสียงศีล ชาตวโร ก็ได้รับนิมนต์ให้ไปบรรยายและทางชมรมฯก็ได้รับเชิญไป ออกร้านเป็นเวลา ๕ วัน ๕ คืน เขาจัดงาน ใหญ่มาก มีเครือข่าย ไปทั่วประเทศ และทางศูนย์ฝึกฯเองก็มีชื่อเสียงมานาน นอกจากสมณะเสียงศีล จะได้ไปร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง "เกษตรธรรมชาติ วิถีการปฏิบัติสู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" ร่วมกับ อ.ชนวน รัตนะวราหะ, ดร.สวัสดิ์ ตี๋ชื่น, นายไซกิ จุนจิ ก็ได้ฟังอะไรดีๆหลายเรื่อง ในขณะที่บรรยายมีผู้ใหญ่หลายท่านจะเอ่ยถึงชุมชนของ ชาวอโศก เป็นชุมชนตัวอย่าง ทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์และเรื่องของวัฒนธรรม ในงานนี้ได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการทุกวัน โดยได้เชิญ ผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างมากมายหลายท่าน เช่น อ.สมหมาย หนูแดง ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ส่วนใหญ่ ก็คนคุ้นเคยกันทั้งนั้น การไปร่วมงานครั้งนี้ แม้จะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของงาน แต่ก็ได้ออกบิณฑบาตรทุกเช้า มีชาวบ้านใส่บาตร กันดีมาก บรรยากาศการบรรยาย ก็ได้ถ่ายทำเป็นวีซีดีไว้ด้วย สนใจติดต่อได้ที่ สมณะเสียงศีล ชาตวโร พุทธสถานปฐมอโศก.
|
||
เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๕๔(๒๗๖) ปักษ์แรก ๑-๑๕ พ.ค.๔๘ ก่อนอื่นขอประชาสัมพันธ์สำหรับงานอโศกรำลึก'๔๘ ที่จะถึงในเดือน มิ.ย.นี้ ปีนี้มีพิเศษเพราะได้ยินมาว่าจะจัดกันถึง ๔ วันติดต่อกัน พ่อให้แม่ให้เตรียมตัว สะสมบุญกันได้อย่างเต็มที่ และเพื่อให้การเตรียมงานลุล่วงไปด้วยดี ก็ขอเชิญชวนท่านญาติธรรม ที่ประสงค์ จะร่วม จัดโรงบุญ ในวันอโศกรำลึก ได้แจ้งความประสงค์มายังธรรมโสตก่อนสิ้นเดือน พ.ค.นี้ เพื่อทีมงานจะได้จัดสรร และให้ความสะดวก ได้อย่างเต็มที่นะฮะ ฉบับนี้ขอเก็บข่าวมาฝากกันดังนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าอนุ-โมทนาสาธุ ที่ได้เห็นว่าหน่วยงานที่ภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานระดับสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดกำหนดให้เป็นวัน วิสาขบูชาโลกกันแล้ว ประเทศไทยปีนี้ก็มีกิจกรรมที่น่าอนุโมทนาหลายอย่าง โดยเฉพาะ จะช่วยกันรณรงค์ สร้างกระแส "การตั้งสัจจะอธิษฐาน" เนื่องในวันวิสาขบูชาโลกปีนี้ อย่าง ท่านนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ตั้งสัจจะ ว่า...ไม่ว่างานจะหนักหนาสาหัสอย่างไร ก็จะรักษาอารมณ์ของตนต่อภรรยาและลูกๆให้ดีเสมอ... นี่แหละพุทธแท้ๆ ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย การสะสมบุญ การปฏิบัติธรรมอยู่ในการดำเนินชีวิตนี่เอง...สาธุ มีข่าวว่า การตั้งสัจจะอธิษฐานจะเริ่มขึ้นใน วันวิสาขบูชา หลังการเคารพธงชาติตอน ๑๘.๐๐ น. ณ ท้องสนามหลวง โดยจะมีการ ถ่ายทอดสด ทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่ไม่มีโอกาสไปร่วมงาน ก็สามารถร่วมปฏิบัติบูชาได้ โดยการตั้งสัจจะอธิษฐานพร้อมกันทั่วประเทศ หรือ จะส่งการ์ด สัจจะอธิษฐานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คนที่ตนรักและตนเอง โดยติดต่อขอรับการ์ดสัจจะอธิษฐาน ได้ที่ศูนย์คุณธรรม บ้านพิษณุโลก ที่ว่าการอำเภอและศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งดาวน์โหลดการ์ดผ่านทาง M-card, E-card ได้จาก เว็บไซต์ www.dharmastation.org ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พ.ค.นี้ฮะ จิ้งหรีดก็ขอเชิญชวนชาวเรารวมตั้งสัจจะอธิษฐานในโอกาสนี้ให้เป็นหมู่เป็นมวลให้เกิดพลังบุญในสังคมด้วยนะฮะ... จี๊ดๆๆๆ... เดาผิด...คุณแอ๊ด เพิ่งลาจากบ้านเดิมมาอยู่ชุมชนเพชรผาภูมิได้ไม่นาน ก็มีอันชีพจรลงเท้าไม่ค่อยได้อยู่ชุมชนในช่วงหลังปีใหม่ เป็นต้นมา จนมีข่าวลือ ไปถึงบ้านเดิม ทางบ้านก็เป็นห่วงเกรงว่า คุณแอ๊ดไม่กล้ากลับโพธิ์ทะเล จึงไปโน่นไปนี่ ทางชุมชนเพชรฯ คงไม่อบอุ่นกระมัง พอจิ้งหรีดได้ไปฟังจากปากคุณแอ๊ดโดยตรง ก็รู้ว่า ทางประธานชุมชนเพชรผาภูมิ ได้ส่งคุณแอ๊ดไปศึกษาดูงาน ตามที่ต่างๆ ของชาวอโศก ที่มีการอบรม ไม่ว่าจะเป็น การทำกะปิ ปลาร้าเจที่ศาลีฯ ไปดูการทำอาหารและเข้าคอร์สสุขภาพที่สวนส่างฝัน ไปฝึกอบรมเทคนิค การสอนเด็กเล็ก ที่ปฐมอโศก เป็นต้น นี่ก็จะเตรียมไปปฐมฯอีกช่วงต้นเดือน พ.ค. แล้วจะต้องต่อไปงาน พฟด. ที่บ้านราชฯ ยังไม่ได้กลับไปอยู่ ชุมชนเลย ทั้งนี้ก็เพื่อนำความรู้ มาพัฒนาชุมชน เพชรผาภูมิต่อไป ตอนนี้ทางศาลีฯ ก็จีบให้อยู่ที่ศาลีฯ สมณะบางรูปก็บอกว่า หมดธุระแล้วก็รีบกลับไปชุมชนเพชรผาภูมิเด้อ... แต่ที่แน่ๆ คุณแอ๊ดบอกว่า ไม่กลับไปโพธิ์ทะเลแน่ เพราะชีวิตมีความสุขและได้ประโยชน์ขึ้นมากจากที่มาอยู่ชุมชนเพชรฯ... จี๊ดๆๆๆ... งานยักษ์...ก็จะไม่ใช่งานยักษ์ได้อย่างไร ในเมื่อเรือแต่ละลำที่ขนไปบ้านราชฯเมืองเรือลำใหญ่มาก ขนาดชาวบ้านบางคนทางภาคอีสาน เห็นขนาด ของเรือแล้ว ต้องเดินเข้ามากราบไหว้ บางคนก็ยกมือไหว้ แต่ไกลๆ...น่าประทับใจ ท่านสมณะ ที่มาช่วยงานยักษ์ครั้งนี้ มีหลวงตา พรหมฯ ท่านกล้าดี ท่านเทินธรรม ท่านกรเกล้า และท่านถักบุญ ช่วยเอาภาระดูแลญาติโยม ที่มาช่วยขนเรือเกือบ ๑๐๐ ชีวิต งานขน เรือยักษ์ จาก จ.ปทุมธานี เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๑ เม.ย. ขนขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่เสร็จในวันที่ ๒๒ เม.ย. พอตีสองของวันที่ ๒๓ เม.ย.๔๘ ก็เดินทาง ไปบ้านราชฯ เมื่อวันที่ ๒๖ เม.ย. เวลา ๗.๐๐ น. รวมเวลานับได้ ๗๗ ชั่วโมง นอกจากนี้ที่ยกกันไปเป็นครอบครัวก็มี ๒ ครอบครัว คือ ครอบครัวของ คุณหินหลัก ชำนิกุล(ขาดแต่ลูกสาวที่ชื่อมุก ซึ่งเพิ่งคลอดลูก) และครอบครัวของโอภาส(ผ่านฟ้า) ครอบครัวหลังนี้ มีพ่อแม่ลูก ไปกันครบ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ไม่มีอุบัติเหตุอะไรใหญ่โตเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา คราวนี้มีแค่ถลอก หมอแก้งก็ไม่ต้องทำงานหนัก เลยได้ ทำหน้าที่ เป็นจราจรจำเป็น แต่ก็เกือบเหมือนกันในช่วงเดินทางถึงสีคิ้วเรือหลุดจากรถลากลงข้างทาง ดีที่หลุดในช่วงที่ไม่มีบ้านคน แต่ก็ทำเอาพวกเรา โดยเฉพาะนักธรรม ฟ้าลือ และ เมต ที่อยู่ในเรือใจหายใจคว่ำ แต่ก็ปลอดภัย...คุณทองสุข กับ คุณร่มเย็น หลังจาก ช่วยงานเก็บกรวด ที่ธรรมชาติอโศก ก็มาช่วยงานขนเรือ อยู่แผนกทำอาหาร บทเรียนที่คณะทำงานได้คือ ได้ฝึกลดอัตตา สาธุ...จี๊ดๆๆๆ... ป้ายชื่อ... ตอนนี้หากใครได้แวะเวียนไปแถวลานทราย ข้างตึกแดงที่สันติอโศก คงจะได้เห็นแผ่นหินขนาดใหญ่ ที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งตอนนี้ ช่างได้แกะ เป็นป้ายชื่อ พุทธสถานสันติอโศก ไว้เรียบร้อยแล้ว จิ้งหรีดฟังว่า แบบตัวอักษรที่สลักชื่อนั้น ชาวเราท่านหนึ่ง ได้ออกแบบ เป็นพิเศษ ใครเห็นว่าเป็นอย่างไร ก็แวะเวียนไปดูนะฮะ... จี๊ดๆๆๆ... สร้างภาพ...จิ้งหรีดได้มีโอกาสฟังการประชุมของชาวดอยรายปลายฟ้า ช่วงเปิดใจญาติธรรม ก็ได้ยินพ่อแก้วมูล เปิดใจว่า ร่างกายเสื่อม กิเลสหนา ชอบเข้าข้างตนเอง ซึ่งตอนนี้ตนแก่แล้ว เหมือนมีดที่ทื่อ หากเข้ามาก็เหมือนเป็นการสร้างภาพ จิ้งหรีดได้ฟังถึงตรงนี้ ก็รู้สึกสะดุด อ้าว! ถ้ายังงั้นตัวจิ้งหรีด ถ้าเข้ามาอยู่วัดก็แสดงว่าเป็นการสร้างภาพนะสิ แล้วการสร้างภาพแบบนี้มันเสียหายไหม จิ้งหรีดสงสัยก็เลยขอให้สมณะช่วยไขปัญหาข้อสงสัยตรงนี้ให้ สมณะท่านก็ให้ความเห็นว่า ถ้าพูดถึงการสร้างภาพ ก็เป็นหน้าที่ของคนเราทุกคนที่จะต้องสร้างภาพที่ดีๆให้แก่โลก อย่าไปสร้างภาพชั่วๆ เช่น กินเหล้า สูบยา ฯลฯ ให้มีปัญหาต่อตนเองและสังคม แต่การสร้างภาพที่พูดถึงนี้ เราคงมองเป็นแง่ลบ คือ แสร้งทำ อย่างไม่จริงใจ เช่นบางคนติดบุหรี่ แต่พอเจอผู้ใหญ่ที่นับถือ ก็ทำเป็นไม่สูบ พอลับหลังผู้ใหญ่ก็ควักบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ อย่างนี้เป็นลักษณะทำดีต่อหน้า ลับหลังทำชั่วต่อ ดังนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ เราต้องการคนที่ไม่สร้างภาพ คือ ทำชั่ว คือ สูบบุหรี่ ทั้งต่อหน้า และลับหลังหรือ? หรือ ต่อหน้าทำดี ลับหลัง ทำชั่ว เราต้องการคนแบบไหนล่ะ ความจริงเราก็ไม่ต้องการคนทั้ง ๒ ประเภทที่ยกตัวอย่างมาเช่นนี้หรอก แต่ถ้าให้เลือก ก็คิดว่า ไม่กล้าทำชั่วต่อหน้าคน ก็น่าจะดีกว่า พวกที่ทำชั่ว ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ฉะนั้นการเข้าวัด ก็เป็นการสร้างภาพที่ดี ถ้าแสร้งทำก็ขอให้แสร้งได้ตลอดเถิด แต่ต้องอยู่ในกฎระเบียบของวัดด้วยนะ แต่ถ้าไป แสร้งทำ เราก็ต้อง มีความพยายามที่จะทำดีทั้งต่อหน้า และลับหลัง ดังนั้นในวันวิสาขบูชาปีนี้จิ้งหรีดก็ขอเชิญชวนกันอีกครั้งว่า เรามาตั้ง สัจจะอธิษฐาน ทำดีกันให้มากขึ้น จะดีไหม เพราะรัฐบาลท่านก็ส่งเสริม ขนาดท่านนายกรัฐมนตรี ก็ยังตั้งใจทำดี จะยิ้มแย้มเบิกบาน ต่อหน้าลูก และภรรยา แล้วเราจะตั้ง สัจจะอธิษฐาน ทำอะไรกันดี เพื่อคนอื่นๆในวันวิสาขบูชา อย่าลืมนะฮะ ปีหนึ่งจะมีวันสำคัญเช่นนี้เพียงครั้งเดียว คือเป็น วันคล้าย วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จิ้งหรีดเองก็ตั้งใจว่า เวลาเจออุปสรรค จะพยายามยิ้มสู้ นี่ก็เป็น สัจจะอธิษฐาน ของจิ้งหรีดนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ... คติธรรม-คำสอนของพ่อท่านประจำฉบับ พบกันใหม่ฉบับหน้า
|
||
เมื่อวันที่ ๑๓ เม.ย. ที่ผ่านมา ชุมชน สีมาอโศก จัดงานประเพณี "รดน้ำดำหัวผู้อายุยาว" ิจกรรมได้เริ่มตั้งแต่เช้า มีการทำบุญ ตักบาตร งานนี้ท่านอาจารย์หนึ่ง สมณะบินบน ถิรจิตโต ได้แวะมาร่วมงาน บิณฑบาตและแสดงธรรมก่อนฉัน พร้อมทั้งพบปะกับชาวสีมาฯ รวมทั้งนิสิตสัมมาสิกขาลัย วิชชาเขตสีมาอโศกด้วย ๑๕.๓๐ น. พิธีรดน้ำดำหัว โดยมีสมณะและสิกขมาตุให้พรในวันมหาสงกรานต์ ผู้อายุยาวเปิดใจและให้พร ผู้อายุยาวที่สุด คือคุณยาย เกิดบุญ กล่อมจอหอ อายุ ๘๙ ปี อยู่ที่สีมาฯ ๑๘ ปี ยายกล่าวว่า "วันนี้วันสงกรานต์ ให้พรลูกหลานทุกๆคน ขอให้อยู่ดีมีแรง ให้เจริญ ในธรรมะ ทุกๆคน" คุณยายผ่านผล ชำนาญกลาง อายุ ๘๖ ปี กล่าวว่า "ให้ลูกหลานอยู่ดีกินดีทุกคน ให้อุตสาหะปฏิบัติธรรม" คุณยายเพียรธรรม อายุ ๘๕ ปี อยู่ที่สีมาฯ ๒๕ ปีแล้ว ให้พรว่า "ขอให้ลูกหลานมีความสุขความเจริญ ขอให้ปฏิบัติธรรม ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เด้อลูกเด้อ อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจ ความเจ็บความไข้อย่าให้มี ให้เจริญทุกๆคนเด้อลูกเด้อ" คุณยายสีเงิน พานนางรอง อายุ ๘๔ ปี อยู่สีมา ๒๐ กว่าปี ให้พรว่า "อุตส่าห์ทำเอานะลูกนะ อะไรไม่เท่าอันนี้แล้ว ธรรมะประเสริฐจริงๆ นะลูกนะ ทุกคนจงพยายามทำให้ได้นะลูกนะ" หลังจากรับพรจากผู้อายุยาวแล้ว ชาวชุมชนรวมทั้งนักเรียนสัมมาสิกขา ได้นำน้ำอบ น้ำหอมแช่ดอกไม้มารดน้ำดำหัวให้กับ ผู้อายุยาว สำหรับ น้ำที่ใช้ในพิธี ก็เปรียบเสมือนความเย็นชุ่มชื่น ที่จะทำให้ชุมชนสีมาฯ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งผู้อายุยืน อายุยาว หนุ่มสาว และเด็กๆ ทุกคน ความอบอุ่นและความประทับใจในงานนี้คงจะถ่ายทอดออกมาได้ไม่หมด หากแต่เพียงให้รำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ที่บุกเบิกนำทำ นำทาง ให้พวกเรา เหล่าลูกหลานได้จรรโลงไว้ซึ่งความดีงามตราบนานเท่านาน |
||
*** ประวัติ แต่งงานตอนอายุ ๒๐ ปี พ่อบ้านอายุ ๒๓ อยู่หมู่บ้านเดียวกัน ทำไร่ทำนา พ่อเขากับพ่อยายเป็นเพื่อนกัน สินสอดสมัยนั้น ๔๐๐ บาท แต่งงานแล้วก็ทำไร่ทำนาต่อ พ่อบ้านชื่อสม (พบทาง) ปัจจุบันอยู่ชุมชน ศรีโคตรบูรณ์ ปลูกผัก ทำนา ตอนนี้ที่ชุมชนมี ๗ คน เวลามีงานอบรม ก็มีคนมาช่วยเพิ่มขึ้น *** เจออโศก ต่อมากองทัพธรรมไปที่วัดม่วงไข่ จ.สกลนคร พ่อบ้านก็ไปฟังเทศน์กลับมาเล่าให้ฟังและบอกว่าตั้งใจจะกินมังสวิรัติ พร้อมกับซื้อ โปรตีน มาด้วย เขาชวนยายกินด้วย พอยายตกลงพ่อบ้านก็ดีใจ ก็กินตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ เป็นต้นมา ตอนนั้นยายมีปลาร้า ก็แจกคน ไปหมดเลย *** ชุมชนบุญนิยม ปี ๒๕๔๒ ตั้งชุมชนศรีโคตรบูรณ์ ยายก็ไปปลูกบ้านและอยู่ช่วยจนถึงทุกวันนี้ *** มรรคผล *** ทุกวันนี้ *** ฝาก ยายบอกว่าอยากให้คนมาอยู่วัดทำงานเสียสละได้บุญ และเป็นโสดจะสบาย อย่างนั้นใครมาอยู่วัดและเป็นโสด (รวมทั้งโสด รอบสอง) ก็ได้ทั้งบุญ และสบายซิคะคุณยาย - บุญนำพา รายงาน - |
||
ความดีต้องถึงพร้อมทั้ง กาย วาจา ใจ พูดแต่ปากไม่ปฎิบัติคงลำบากที่จะเชื่อถือ หลักสำคัญของวันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา คือวันวิสาขบูชา คือ รักกันปราศจากเงื่อนไข ผู้เขียนไม่สบายใจเหมือนพุทธศาสนิกชนไทยกับเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนา กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โยงไปถึง สมณะโพธิรักษ์ สันติอโศก ไม่เข้าใจว่าในยามที่จะหันหน้าเพื่อสรรค์สร้างสิ่งดีงาม กลับเกิดความเห็นไม่ตรงกัน การตั้งข้อแม้ หรือข้อผิดพลาด ในอดีตจะอนุโลมกับวันมงคลในวันวิสาขบูชาไม่ได้เชียวหรือ ความไม่แน่ใจเกิดกับใจเหล่าพุทธศาสนิกชน บางเหล่า ทำไมต้องยึดคนตัวตนบุคคลกันจนทำงานลำบาก มนุษย์มีดำ ขาว หากความผิดพลาดในอดีต เป็นแรงส่งให้ทุกคนมุ่งทำความเข้าใจแบบให้อภัย สังคมไทยคงน่ารักยิ่งนัก ในยามที่ปัญหาภาคใต้เกิดจนสภาพจิตใจคนไทยบอบช้ำ กรณีสึนามิ ภาพหลักแห่งการช่วยเหลือ กลับเป็นการช่วยเหลือ เพราะฝ่าย ฆราวาส เกือบ ๗๐% ทำไมการชูโรงของพระสงฆ์จึงลดบทบาทลงหรือทำแต่ไม่ประชาสัมพันธ์ ผู้เขียนไม่อยากให้การสร้างความดีในครั้งนี้ต้องมาตั้งข้อแม้ กล่าวถึงการบ่อนทำลาย ภัยพระพุทธศาสนา หากยุคสมัยคอมมิวนิสต์ ยุคเวียตนาม พอจะเชื่อได้ แต่ในยุคสื่อข่าวสาร ถึงบ้านทุกคน ผู้คนคงไม่มีใครจะมาโน้มน้าว ใจได้ หรือแม้จะตัดสินเพื่อสมาทานให้นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ศรัทธา ก็จะยากนัก ในช่วงที่ทุกคนต้องร่วมกันสมานฉันท์ในทุกส่วน โดยเฉพาะภาคใต้ตั้งคณะกรรมการ สมานฉันท์แห่งชาติโดย คุณอานันท์ ปันยารชุน แก้ปัญหา ภาคใต้ การพับนกเกือบร้อยล้านตัว การโจมตีวันวาเลนไทน์ ว่าวันโลกีย์มากกว่าความรักที่บริสุทธิ์ ผู้เขียนใคร่อยาก ให้คนพุทธ ไทย โปรดตื่นมาสมัครสมานสามัคคี สร้างความดีแท้ในวันวิสาขบูชา ดังนี้ ๑. เลิกต่อว่า ตั้งแง่ ตามหลักการ หลักกู หลักเกณฑ์ อนุโลมเพื่อพลังอันยิ่งใหญ่ ยอมลดตัวตนมาร่วมแสดงพลังเมตตา มาร่วมงาน วันวิสาขะ วันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ หากผู้เป็น เจ้าภาพยังมีอคติต่อกัน จะทำให้พุทธศาสนิกชนศรัทธามาร่วมได้อย่างไร ๒. ร่วมกันจัดงานทุกส่วน จะใครทำ มส. พศ. หรือศูนย์คุณธรรม สถาบันสมมุติทั้งนั้น ที่สำคัญจะโน้มน้าวใจคนให้มาร่วม ปฏิบัติธรรม สร้างความดี ให้กับตนเอง เผื่อแผ่ให้กับสังคมได้เช่นใด โปรดอย่ายึดติดบุคคล องค์กร ต้องร่วมกัน ความดียิ่งดี คือการให้อภัย บาดหมางใจ มาร่วมกัน ทำความดี ความเลวยิ่งคือคิดอาฆาตแค้น ไม่ให้อภัยจะพูดภาษาธรรมเช่นใดใจมีแต่ทุกข์ ๓. ปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพวันวิสาขบูชา โลก ๒๒-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ เริ่มต้นก็เกิดความขัดแย้ง ดูจะไม่งาม แค่วันสงกรานต์ ข่าวทั่วโลก ก็ตีว่า ประเพณีผิดเพี้ยน คงต้องหารือด้วยการลดอัตตาตัวตนที่พระคุณเจ้าสอน ขอท่านเจ้าคุณ พระคุณเจ้าสอนคณะทำงานนี้ ให้สำเร็จ ยิ้มเข้าหากัน ในการทำงาน เพื่อศักดิ์ศรีเกียรติยศที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ๔. ขอให้สื่อมวลชนโปรดตื่นตัวประชาสัมพันธ์วันวิสาขบูชาครั้งนี้ โดยเป็น การรณรงค์ให้สร้างความดี ด้วยพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือหลักธรรมข้อใด ให้เกิดขึ้นในใจไทยทุกคน ๕. ขอเสนอให้สร้างบัตร "ความดี" ซึ่งสร้างความรู้สึกดีๆ นึกถึงใครด้านดีส่งไปหาผู้นั้น ธรรมความดีจะช่วยให้ทุกคนมองคน ในแง่ดี เพื่อสิ่งดีๆ จะมีมากกว่าสิ่งเลวๆ คนเราเมื่อได้รับเกียรติก็ใคร่อยากรักษาเกียรติ นั้นตลอดไป บัตรความดีจะพิมพ์ขาย หรือสมทบทุนก็ทำกันได้ สำคัญว่าให้คนไทยตื่นตัวมองเห็นความดีของคนอื่นบ้าง สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาจัดขึ้นทุกปี แต่จากที่ผ่านมาดูจะเงียบเหงาขาดการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ปีนี้ข่าวดังแต่ไม่ค่อยดี จึงขอให้ข่าวดังค่อยๆดีขึ้นกับวัฒนธรรมทางใจที่ต้องสูงขึ้น โดยลำดับ ผู้เขียนเป็นชาวพุทธโดยสายเลือด ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว เห็นความดีแท้ ทั้งภาคธรรม ภาคปฏิบัติเจริญสติ ตลอดจน โดยหลักการ หลายข้อ พุทธศาสนามีบุญคุณต่อผู้เขียนและหลายคนที่นำไปปฏิบัติ พุทธศาสนาสอนให้ปล่อยละวางในบางเรื่อง ลดอัตตา ตัวตน ในบางครั้ง เหตุการณ์ ความขัดแย้งเพื่อสร้างความสับสน เป็นเรื่องน่าอายต่อลูกหลาน เยาวชน หากข่าวออกไปทั่วโลกก็จะขายหน้า จึงขอกราบผู้มีส่วนร่วมโปรดลดละซึ่ง กิเลสข้อโมหะ ร่วมกันจัดงานเพื่อสร้างสรรค์ สิ่งดีงาม แต่อย่าหลงพิธีกรรม จนลืมหลักธรรม นำไป ปฏิบัติ หากเริ่มต้นกิเลสเต็มตนแล้ว จะหวังให้คนปฏิบัติตามคงยาก ลดๆพิธีกรรม พัฒนาธรรมหลักแท้มาดำรงตน เพื่อสมานฉันท์วันวิสาขะกันเถอะ. - ชลวิทย์ เจียรจิตต์ - |
||
ข่าวสั้นทันอโศก * วันที่ ๑๙-๒๑ เม.ย. ๒๕๔๘ อาสาสมัครช่วยงานสถาบัน บุญนิยม ๓ ท่าน คืออุบาสิกาพรน้ำคำ ป้องกันภัย, น.ส.ปานปั้น แซ่ตัน และ น.ส.จันทนา แก้วชนะ เข้ารับการอบรม "กลยุทธ์การวิจัยเพื่อพัฒนางาน" ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
|
||
สันติอโศกเปิดพระไตรปิฎก สมณะโพธิรักษ์ให้ความรู้
เรื่องนานาสังวาสครั้งพุทธกาล ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับลงข่าวเกี่ยวกับคณะสงฆ์สันติอโศก ซึ่งมีหลายประเด็น ที่อาจทำให้ผู้ที่ไม่รู้ อาจเข้าใจผิดได้ ด้วยเหตุนี้ สมณะโพธิรักษ์จึงได้ออกแถลงการชี้แจงมาดังนี้ แม้จะนานมาจนกาลป่านนี้แล้ว อาตมา(สมณะโพธิรักษ์) และสันติอโศกก็ยังถูกทั้งพระทั้งฆราวาสองค์เล็กองค์ใหญ่ทั้งหลาย กล่าวหา มาตลอด ตั้งแต่ต้นจนถึงทุกวันนี้ ว่าเป็น "ผู้ผิด" อยู่ไม่สร่างซา ทั้งๆที่ท่านทั้งหลายต่างก็ล้วนได้เรียนได้รู้ธรรมวินัย มาอย่างดี กันทั้งนั้นๆ อาตมายอมรับว่า อาตมาและสันติอโศก เป็น "ผู้แพ้" แต่ขออภัยเถิดที่เราต้องขอยืนยันว่า เราไม่ใช่ "ผู้ผิด" อาตมาขออนุญาตพูดบ้างเถิด อย่าหาว่าแก้ตัวเลย... เนื่องจากเกิดกรณีย่ำยี "สันติอโศก" ซ้ำซากขึ้นอีกแล้ว ซัดเราหนักไม่ยั้งมือ จากผู้ยัง ยึดมั่นถือมั่นว่า "อโศกเป็นผู้ผิด อโศกไม่มีความรู้ในธรรมวินัย อโศกไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัยที่มีในพระไตรปิฎก" โดยได้รื้อฟื้นเรื่องเก่าขึ้นมากล่าวหาซ้ำซากว่า สมณะโพธิรักษ์และสันติอโศกเป็น "ผู้ผิด" เฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวหา ที่นำมาอ้าง กับสังคม อยู่ในขณะที่ กำลังมีเรื่องขัดแย้งกัน ช่วงเวลานี้ ก็คือ ประเด็นที่ว่า "บัพพาชนีย กรรม" เราแล้ว ซึ่งทางมหาเถรสมาคม ยืนยันว่า ได้กระทำ หรือได้ทำการขับไล่ "สันติอโศก" ออกจาก "มหาเถรสมาคม" แล้ว เป็นที่ถูกต้อง ตามธรรมวินัย ตามมารยาทที่ดี แต่เราขอยืนยันอีกว่า ทางมหาเถรสมาคมกระทำ "บัพพาชนียกรรม" เราคราครั้งนั้น (เมื่อพ.ศ.๒๕๓๒) ผิดธรรมวินัย สังฆกรรมนั้น จึงไม่มีผลบังคับ ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ แม้จะมีคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคมกระทำสังฆกรรม ลง "บัพพาชนียกรรม" อย่างมีพฤติกรรม จริงก็ตาม แต่ทำผิดธรรมวินัยหลายแง่ การกระทำ ของมหาเถรสมาคมจึง "โมฆะ" ไม่เป็นอันทำ หรือไม่มีผลบังคับ หรือใช้ไม่ได้ ชัดๆก็คือ ทำไปเสียเปล่า ไม่มีผลบังคับ นั่นเอง แต่ท่านก็ใช้บังคับเรา "ผู้แพ้" ที่ไร้อำนาจ ไร้ปากเสียง จนได้ ดังที่เห็นๆกันอยู่ อธิบายความกันให้ชัดและละเอียดขึ้นอีกหน่อย ก็คือ ทางหมู่มหาเถรสมาคมนั้น เป็นหมู่ใหญ่ ท่านได้ทำพิธีกระทำการ "ขับอาตมา และ คณะสันติอโศก ออกจากหมู่ใหญ่หรือออกจากหมู่สงฆ์ที่ชื่อว่ามหาเถรสมาคม" เรียกการกระทำนี้ว่า "บัพพาชนียกรรม" ซึ่งแปลว่า "การขับออกจากหมู่" อันเป็นวิธีการหนึ่งของธรรมวินัย ท่านได้ทำจริงๆ แต่ทำหลังจากที่..อาตมากับคณะได้กระทำการประกาศตนต่อคณะสงฆ์มหาเถรสมาคมสำเร็จเป็น "นานาสังวาส" ก่อนที่ ทางมหาเถรสมาคม จะทำ "บัพพาชนียกรรม" กับเราเสียอีก ตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ [มหาเถรสมาคม "บัพพาชนียกรรม" อาตมากับสันติอโศก ในพ.ศ. ๒๕๓๒] เมื่ออาตมากับคณะสงฆ์ชาวอโศก เป็น"นานาสังวาส" กับมหาเถรสมาคม สำเร็จโดยสังฆกรรมไปเรียบร้อยแล้ว ถูกต้องตาม ธรรมวินัย มหาเถรสมาคม ก็ไม่สามารถจะมาทำ "บัพพาชนียกรรม" เราได้ แม้จะขืนทำกันจนได้ ก็ "โมฆะ" ทำไปเสียเปล่า ไม่มีผลบังคับ หรือใช้ไม่ได้ แน่นอน เพราะตามธรรมวินัยเมื่อภิกษุเป็น "นานาสังวาส" กันแล้ว สงฆ์ต่างคณะย่อมไม่สามารถเป็นผู้คัดค้าน-เป็นผู้ประท้วง (ปฏิกโกสนา) ในท่ามกลางสงฆ์ได้ พระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๑๙๓ บ่งชี้ไว้ชัดเจน แต่มหาเถรสมาคมก็ยังขืนทำ"บัพพาชนียกรรม" อาตมากับคณะอยู่นั่นแหละ และยืนยันว่า อาตมากับคณะเป็น "นานาสังวาส" ไม่ได้ มหาเถรสมาคมไม่พยายามพูดภาษาที่เป็น "ธรรมวินัย" กับเรา ทั้งๆที่การกระทำของเรา คือ "การทำตนเป็นนานาสังวาสด้วยตนเอง" ตามธรรมวินัย ที่ว่าด้วย "ภูมิของนานาสังวาส ๒ ประการ" (พระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๒๔๐) เราก็ประกาศต่อสงฆ์แล้วจริง พร้อมทั้ง มีลายลักษณ์ อักษร ยืนยันมอบให้แก่เจ้าคณะอำเภอ แล้วท่านก็นำส่งขึ้นไป ถึงระดับสูง จนเป็นที่รับทราบกันถ้วนทั่ว อีกด้วยซ้ำ ซึ่งตาม ธรรมวินัยนั้น เพียงแต่ประกาศขอแยกเป็น "นานาสังวาส" ด้วยวาจาแค่นั้น ไม่ต้องถึงกับแถลงการณ์ เป็นลายลักษณ์อักษร ก็แยกตนเป็น "นานาสังวาส" สำเร็จแล้ว ทั้งๆที่ทางมหาเถรสมาคมท่านก็ยอมรับเป็นอันดีในช่วงที่ท่านได้รับหนังสือประกาศขอแยกตนเป็น "นานาสังวาส" นั้นว่า อาตมากับคณะ ได้ประกาศแยกตัว ไม่ขึ้นต่อการปกครองคณะสงฆ์ไทย (หรือมหาเถรสมาคมนั่นเอง) อย่างเปิดเผยท่ามกลางสงฆ์เกือบ ๒๐๐ รูป กลางศาลา วัดหนองกระทุ่ม เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ต่อหน้าพระสังฆาธิการหลายรูป ในหนังสือปกาสนียกรรม ก็พิมพ์รายละเอียด เอกสารพวกนี้ ไว้ครบทั้งหมด เพียงแต่ท่านทำทีเบี่ยงเบนไปเป็นว่า นั่น.. "ไม่ใช่การประกาศตน เป็นนานาสังวาส" ซึ่งเป็นการ "เล่นแง่" หรือ พยายาม "ตะแบง" กันไปเท่านั้นเอง คณะสงฆ์สันติอโศกได้ปฏิบัติตามธรรมวินัยแล้วอย่างถูกต้อง นั่นคือ ได้ประกาศตนเองเป็น "นานาสังวาส" กับคณะสงฆ์มหาเถรสมาคม อย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ถึง ๑๘๐ รูป อันมีเจ้าคณะอำเภอเป็นประธานสงฆ์อยู่พร้อม ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ซึ่งเจ้าคณะอำเภอ ก็ได้รายงาน การประกาศตนเอง เป็น "นานาสังวาส" ของคณะสงฆ์สันติอโศก นี้ ต่อคณะสงฆ์มหาเถรสมาคม รับทราบ ตามระเบียบ ซึ่งมีหลักฐาน เป็นลายลักษณ์อักษร ของผู้ว่าราชการจังหวัด (นายคล้าย จิตพิทักษ์) ถึงอธิบดีกรมการศาสนา ยืนยัน ความจริงนี้ (หนังสือ ที่ นฐ. 23/13430 วันที่ 10 กันยายน 2518) และคณะสงฆ์มหาเถรสมาคมก็ได้รับทราบยอมรับความจริงในการเป็น "นานาสังวาส" นี้แล้วด้วย ตามที่ได้ แสดงออกในหนังสือจากกรมการศาสนาที่มีไปถึงผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟ เมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ซึ่งมีลายลักษณ์ อักษรยืนยันว่า "...กรมการศาสนาได้นำเรื่องเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว ที่ประชุมลงมติ เห็นชอบด้วย ตามเหตุผล ที่กรมการศาสนา เสนอว่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้ พระภิกษุสามเณรในสำนักสันติอโศก มิได้ขึ้นอยู่ในปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕ และไม่ได้อยู่ในความอุปการะของทางราชการ...." (หนังสือจาก กรมการศาสนา ที่ ศธ. ๐๔๐๗/๘๕๓๗) แต่แล้วมหาเถรสมาคมก็ "กลับคำ" หน้าตาเฉย ตามธรรมวินัย เมื่อสงฆ์เป็นนานาสังวาสกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็ปฏิบัติกันไป ตามความเห็นและยึดถือ ที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ ก็คือ สงฆ์ฝ่ายหนึ่งไป ฟ้องร้องชำระความผิดหรืออธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ถ้าฝ่ายใดไปอธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายนั้นต้องอาบัติ และอธิกรณ์นั้นเป็นโมฆะ การตัดสินความนั้นไม่เป็นอันทำ ใช้ไม่ได้ ไม่มีผลบังคับ แต่ทางคณะสงฆ์มหาเถรสมาคม ก็ได้ "กระทำ" กับคณะสงฆ์สันติอโศก ถึงขั้น "อนุวาทาธิกรณ์" หมายความว่า คณะสงฆ์มหาเถรสมาคม ได้โจทหรือฟ้องร้องกล่าวหาสันติอโศก แล้วก็ตั้งคณะพิจารณาตัดสินความกัน นี่ก็เป็น "การกระทำ" ของคณะสงฆ์มหาเถรสมาคม ซึ่งที่จริง ตามธรรมวินัย "กระทำไม่ได้" และอีกอย่าง การทำสังฆกรรมตัดสินความคดีของสันติอโศก มหาเถรสมาคมก็เอาสงฆ์ทั้งฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ทั้งสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นสงฆ์ ๒ ฝ่าย หรือนานาสังวาสกันแท้ๆ มาร่วมกันพิจารณาคดีของสันติอโศก ซึ่งผิดธรรมวินัย ทำไม่ได้ แม้ทำก็ไม่เป็นอันทำ ไม่มีผลบังคับ โมฆะ ใช้ไม่ได้ (วินัยวิบัติ ในประเด็น "คณปูรกะ") แถมที่คณะการกสงฆ์ทำการวินิจฉัยตัดสินความ อาตมา ก็ไม่เป็น "สัมมุขาวินัย" คือ พิจารณาความลับหลังจำเลย เพราะไม่ได้แจ้งจำเลย ไม่ได้เรียกจำเลย คือ อาตมากับสงฆ์สันติอโศกเข้าไปนั่งอยู่ในที่พิจารณาความ ร่วมรับรู้รับฟัง ร่วมให้การ แต่อย่างใดเลย สงฆ์มหาเถรสมาคม "กระทำ" เอาตามอำเภอใจ ดังกล่าวนี้จริงทั้งสิ้น กระนั้นก็ตาม คณะสันติอโศกก็อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ได้ดื้อดึงดัน ยอมในสิ่งที่ยอมเสียสละได้
ซึ่งก็พยายามที่จะไม่ให้เสียธรรม แม้ที่สุด ยอมขึ้นศาล ยอมเปลี่ยนสภาพหลายอย่าง
แต่ที่ไม่ยอม ก็คือ ไม่ยอมสละสมณเพศ ยังขอยืนยันความเป็นสมณะ ตามธรรมวินัย
อยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุฉะนี้ ผู้ที่ไม่เข้าใจในความลึกซึ้งของธรรมวินัย จึงหลงเข้าใจผิดไปได้อย่างผิวเผินว่า
คณะสงฆ์สันติอโศกแพ้คดี ในศาลของ ฆราวาสทางโลก ซึ่งที่จริงไม่ใช่ทางธรรมนั้น
คณะสงฆ์สันติอโศก ก็ต้องขาดจากความเป็น "สงฆ์" ไม่เป็น "สมณะ"
ไปด้วย ทั้งๆที่ประเด็น ของข้อกฎหมาย ที่สมณะโพธิรักษ์ถูกฟ้องร้องนั้น
ประเด็นของข้อกฎหมายมันมีเชิงย้อนให้ชวนงงว่า ทางมหาเถรสมาคมมีมติ สั่งให้
สมณะโพธิรักษ์ สละสมณเพศ ถ้าไม่สละสมณเพศ ก็ผิดกฎหมาย และแล้วสมณะโพธิรักษ์ไม่ยอมสละสมณเพศ ยืนยันครองความเป็นสมณเพศตลอดมา ไม่ยอม "สึก" นั่นเอง นั่นก็หมายความว่า สมณะ โพธิรักษ์ ยังคงเป็นสงฆ์ ยังมีความเป็นสมณเพศอยู่ และก็เพราะยังคงครองความเป็นสมณเพศ ยังเป็นภิกษุเป็นสมณะอยู่นี่แหละ จึงได้ผิด กฎหมาย มาตรา ๒๗ ที่ว่า สั่งให้สึก ถ้าไม่สึกก็ผิดกฎหมายข้อนี้ แต่ในทางธรรมวินัยยังคงไม่ได้สละสมณเพศอยู่นั่นเอง จึงยังคง เป็นภิกษุ ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ชัดๆ ว่า เมื่อไม่ "สึก" ก็ยังคงครองเพศสมณะ เป็นพระ เป็นสงฆ์ อยู่อย่างเดิม ตามธรรมวินัย ใช่ไหม? เพราะ ผู้พิพากษา เป็นฆราวาสจะมาตัดสินคดีอันเป็นธรรมวินัยของพระของสงฆ์ ย่อมไม่ได้แน่นอน เป็นฆราวาสจะมีสิทธิ์เข้าไปทำ "สังฆกรรม" ตัดสินธรรมวินัยได้อย่างไร? การตัดสินธรรมวินัยเป็น "สังฆกรรม" ผู้พิพากษายังมีศีลไม่เท่ากับภิกษุ ไม่มีฐานะเป็นภิกษุ ย่อมตัดสิน ธรรมวินัยไม่ได้ แม้จะเป็นภิกษุแท้ๆผู้จะเข้าร่วมคณะตัดสินคดีธรรมวินัยนั้นต้องบริสุทธิ์ศีล ถ้าเป็นภิกษุที่ไม่บริสุทธิ์ศีล ก็เข้าร่วมคณะ ตัดสินธรรมวินัยไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นภิกษุต่างนิกาย หรือนานาสังวาส ก็ยังร่วมตัดสินไม่ได้เลย ดังนั้น ฆราวาส จึงหมดสิทธิ์ ที่จะตัดสิน ธรรมวินัยเด็ดขาด แม้ทำก็โมฆะ ใช้ไม่ได้ ไม่มีผลบังคับ ตัดสินไปก็สูญเปล่า เพราะมันไม่ถูกเรื่อง ผิดธรรมผิดวินัย ผิดฝาผิดตัว ส่วนทางกฎหมาย อาตมากับคณะก็ยอมทุกอย่าง ไม่ได้ขัดขืนใดๆ เมื่อตัดสินในข้อกฎหมายว่า "ผิด" ต้องโทษ ก็รับโทษ ไปตามข้อ กฎหมายแล้ว ซึ่งทางศาลให้รอลงอาญา ๒ ปี ให้มีการคุมประพฤติ เราก็ทำตามศาลสั่ง จนครบทุกอย่าง ทุกวันนี้ก็ผ่านไปเรียบร้อยหมดแล้ว ทางธรรมวินัยนั้น อาตมากับสงฆ์สันติอโศกไม่ได้มีความผิดถึงขั้นปาราชิก ดังที่กล่าวลือ หรือที่ตู่ว่า อาตมามีความผิดขั้นปาราชิก ไม่ได้เคย ถูกเรียกไปสอบสวน "อธิกรณ์" อาตมากับคณะไม่ได้มีความผิดใดๆตามธรรมวินัยที่จะต้องถึงกับให้สึกแม้ข้อเดียว แม้แต่ลักษณะ ๑๑ ประการ ที่มีบัญญัติไว้ในพระวินัย (พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑๒๕-๑๓๒) ว่า ไม่พึงให้บวช ที่บวชแล้วมารู้ภายหลัง ก็ต้องให้สึก (เช่น กะเทย คนลักเพศ คนฆ่ามารดา เป็นต้น) ในคณะสงฆ์สันติอโศกเราก็ไม่มี นอกจากถูกใส่ความ หรือถูกกล่าวหาไปต่างๆ อาตมากับสงฆ์ สันติอโศก จึงคงเป็นสงฆ์ เป็นพระอยู่ แต่ผู้กล่าวหาก็หาความ ตู่อาตมากับคณะไปได้นานาสารพัด จึงทำให้ผู้ไม่เข้าใจถ่องแท้ เข้าใจผิดว่า สงฆ์สันติอโศก ไม่ได้เป็นพระ เป็นสงฆ์แล้ว เพราะแพ้คดีทางกฎหมาย นี่คือความสับสน ของผู้ที่ไม่ชัดไม่คม ไม่ลึกในส่วนที่เป็นทั้งกฎหมาย และทั้งธรรมวินัย คดีทางธรรมวินัยนั้น สำเร็จผลได้ด้วยสงฆ์ ส่วนคดีทางกฎหมาย สำเร็จผลได้ด้วยฆราวาสที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มันคนละคดี คนละผล คนละเหตุกัน คดีทางธรรมวินัย ที่สงฆ์มหาเถรสมาคมกระทำกับอาตมาไปนั้น อาตมาก็ชี้แจงและยืนยันหลักฐานไปแล้วว่า "โมฆะ" ใช้การไม่ได้ จะปกาสนียกรรมอาตมากับคณะอย่างไร จะบัพพาชนียกรรมอาตมากับคณะกี่ครั้ง ก็ไม่เป็นผล บังคับใช้ไม่ได้ เพราะกระทำภายหลัง ที่อาตมากับคณะ สันติอโศกเป็น "นานาสังวาส" สำเร็จแล้ว อย่างถูกต้องตามธรรมวินัย ส่วนคดีทางกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ฆราวาสก็ได้กระทำไปแล้ว เป็นผลแล้ว เราก็แพ้ รับโทษทุกประการแล้ว และจบไปแล้ว เราก็ยอมทำ ตามกฎหมาย ทุกอย่าง แม้ทางธรรมวินัยเราก็ยอมมาตลอดสารพัด ยิ่งกว่านั้น มีการกล่าวหาว่า คณะสงฆ์สันติอโศกเป็น "นิกาย" ซ้ำเสียอีก ทั้งๆที่คณะสงฆ์สันติอโศกยืนยันและปฏิบัติตนแค่ "นานาสังวาส" ตามธรรมวินัยตลอดมาอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ผู้ที่ "กระทำ" ให้เกิดแตกแยกกันจนเกินเรื่องเกินสัจธรรมไปนั้น จึงมิใช่ "การกระทำ" ของ คณะสงฆ์ สันติอโศก สงฆ์สันติอโศก "กระทำตนเอง" ให้เป็นแค่ "นานาสังวาส" ตามธรรมวินัย สันติอโศก ไม่ได้เป็น "นิกาย" เป็นแค่ "นานาสังวาส" เท่านั้นจริงๆ แต่ก็ "ถูกเหตุการณ์และถูกกระทำ" ให้เกิดแตกแยก (เภท) จนกระทั่ง ประชาชน ที่ไม่รู้ลึกซึ้งในหลักธรรมวินัยเข้าใจผิดไปว่า สันติอโศกเป็น "นิกาย" คนก็หลงผิดไปว่า สันติอโศกเป็น "ผู้กระทำตน" เป็น "นิกาย" แต่จริงๆแล้ว สงฆ์สันติอโศกเป็น "ผู้ถูกกระทำ" ให้เข้าใจผิดไปแท้ๆ ทั้งๆที่สงฆ์สันติอโศก "กระทำตนเป็นนานาสังวาสด้วยตน" ตามธรรมวินัย เท่านั้น ไม่ได้ปฏิบัติผิดไปจาก "นานาสังวาส" เลย ส่วนผู้ที่จะกลับคำ พยายามกลบเกลื่อน ไม่ให้เป็น "นานาสังวาส" ตามธรรมวินัย ก็เป็นจริงของผู้ที่ "กระทำ" (กรรม) จริงนั้นๆ คือ เลี่ยง หรือ บิดเบือนธรรมวินัย เมื่อทำให้เกิดการเข้าใจผิดจนกลายเป็น แตกแยกถึงขั้น "นิกาย" มันก็ยิ่งผิดเข้าข่าย "สังฆเภท" ไปเลย ผู้ทำก็บาป ถึงขั้น อนันตริยกรรม ตามสัจจะแห่งกรรม อย่าพยายามกันนัก เพราะด้วยความจริงคณะสงฆ์สันติอโศกเพียง "ทำตนเอง" เป็นนานาสังวาส ตามวิธีของการเป็นนานาสังวาส ในข้อที่ ๑ จากพระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๒๔๐ บอกไว้ชัดว่า ภูมิของนานาสังวาสมีอยู่ ๒ คือ ๑. ภิกษุทำตนเป็นนานาสังวาสด้วยตน ดังนั้น การทำตนเองเป็น "นานาสังวาส" นี้ ไม่ผิดธรรมวินัยใดๆเลย พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ทำได้ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งกัน จนถึงขีดถึงขั้น ตามที่เป็นจริง วินัยข้อนี้เป็นทางออกประเด็นหนึ่งของสังคมมนุษย์ อันเป็นสุดยอดแห่งพระปัญญาธิคุณของพระพุทธองค์โดยแท้ "นานาสังวาส" ความหมายง่ายๆก็คือ เป็นพุทธร่วมกัน แต่มีสิ่งที่ "แตกต่างกัน(นานา)" ยังไม่ถึงขั้น "แตกแยกกัน(เภท)เป็นนิกาย" ซึ่งมี "กรรม" ต่างกัน มี "อุเทศ" ต่างกัน มี "ศีล" ไม่เสมอสมานกัน ถึงขั้นร่วมกันยากแล้ว เพราะต่างก็มีความเชื่อ (ศรัทธา) และความเห็น (ปัญญา) ไม่เหมือนกัน จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ และสิทธิมนุษยชน มี "กรรม" ต่างกัน ก็คือ มีการกระทำแตกต่างกันไปแล้ว เช่น พฤติกรรมต่างกัน พิธีกรรมต่างกัน กิจกรรมต่างกัน มี "อุเทศ" ต่างกัน คือ คำสอนคำอธิบายธรรมะไม่ไปทางเดียวกัน ยกหัวข้อธรรมข้อเดียวกัน แต่อธิบายความหมาย แตกต่างกัน มี "ศีลไม่เสมอสมานกัน" คือ ศีลข้อเดียวกัน แต่ปฏิบัติไม่เหมือนกันแล้ว เช่น ศีลข้อที่ว่า ไม่รับเงินทอง ไม่มีเงินทอง ไม่สะสมเงินทอง เป็นของตน ฝ่ายหนึ่งรับอยู่สะสมอยู่ใช้อยู่โดยมีข้ออ้างไปต่างๆ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่รับไม่สะสมไม่ใช้ หรือศีลข้อที่ว่า ให้เว้นขาดการรดน้ำมนต์ ฝ่ายหนึ่ง ถือว่า รดน้ำมนต์ไม่ผิดก็รดน้ำมนต์อยู่ แต่อีกฝ่ายถือว่าผิด ไม่รดน้ำมนต์ หรือศีลข้อที่ว่า ให้เว้นขาดการบูชาด้วยไฟ โดยใช้ สิ่งที่จุดเป็นเปลว หรือเป็นควัน ทุกวันนี้ใช้ธูปและเทียน ฝ่ายหนึ่งถือว่าไม่ผิด ก็บูชาด้วยไฟโดยใช้ธูปใช้เทียนจุดไฟอยู่ แต่อีกฝ่าย ถือว่าผิด จึงไม่บูชาด้วยไฟเลยไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นเชื้อไฟ เป็นต้น หรือฝ่ายหนึ่งไม่นับว่า จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล เป็นศีลที่ภิกษุ จะต้องยึดถือ ปฏิบัติสำคัญกันแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังนับว่า จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล เป็นศีลที่ภิกษุจะต้องถือปฏิบัติสำคัญยิ่งด้วยซ้ำ ก็ถือปฏิบัติกัน เคร่งครัดอยู่ ดังนั้น เมื่อขัดแย้งกันถึงขีดถึงขั้น เหตุการณ์ก็ย่อมเป็นไป สุดท้ายแห่งความสุดวิสัย เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีศรัทธา-เชื่อ และต่างก็มี ปัญญา-เห็น ตามศรัทธา และปัญญาของแต่ละฝ่ายจริงๆ ซึ่งเกิดได้เป็นได้ อันเป็นวิสัยมนุษย์ ก็ต้องจบด้วยหลักธรรมวินัย สุดวิเศษของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ นานาสังวาส นี่เอง เป็นข้อยุติเหตุการณ์จริงนั้นๆ ซึ่งเป็น"หลักการที่ให้สิทธิและอิสรภาพสุดยอดแก่ความเป็นมนุษย์" "กรรม" คือ อาการที่เกิดในตัวคน ทั้งทางกาย วาจา แม้แต่ใจที่มีอาการจริง มีจริงที่ใครก็ของคนนั้น ขอยืนยันว่า "สันติอโศก" ไม่ใช่ "นิกาย" ตามธรรมวินัยโดยแท้ "สันติอโศก" เป็นแค่ "นานาสังวาส" เท่านั้น "สังวาส" คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ อันมีการศึกษา(ศีล-สมาธิ-ปัญญา) เสมอสมานกัน มีการทำสังฆกรรมและการชี้แจงร่วมกัน "นานาสังวาส" จึงหมายความว่า ความแตกต่างในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ อันเป็นความหลากหลายในพุทธศาสนา ที่มีเอกภาพในระดับหนึ่ง (unity of diversity) เกี่ยวกับเรื่อง "นานาสังวาส" นี้ ศึกษาได้จากวินัยมุข เล่ม ๓ กัณฑ์ที่ ๓๒ จากพระไตรปิฎก เล่ม ๔ เล่ม ๕ เล่ม ๖ เล่ม ๘ จากพระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๑ เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี. |
||