ฉบับที่ 261 ปักษ์หลัง16-31 สิงหาคม 2548

[01] ทำดีจริงหรือเปล่า?
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "ประเด็นที่อยากกำชับกำชา"
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ:
[04] ผู้ว่าฯ ร่วมเปิดงานเชื่อมร้อยเครือข่าย โรงเรียนคุณธรรมชาวนา "สวนส่างฝัน" ชาวหนองเม็กปลื้มจนน้ำตาคลอ
[05] ใช้พื้นที่ ๕ ไร่ ปลูกผักอินทรีย์ เพียง ๓ ชนิด ทำเงินเดือนละ ๔ หมื่น
[06] พัฒนาชุมชนต้นแบบ สรุปทิศทางข่ายแหชาวอโศก พึ่งตนเองได้จริง
[07] รถกองทัพธรรมมูลนิธิถูกยึด ๔๕ วัน
[08] ร้ายกว่าไวรัสคอมฯ ตอน ๑
[09] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] เขาคือใคร ทนายสว่าง คุณานุรักษพงค์ :
[12] แม่ดีเด่นแห่งปี พร้อมสละโล่เพื่อลูก



ทำดีจริงหรือเปล่า?
การปฏิบัติธรรม ก็คือ การให้ การเสียสละกิเลสออกไปโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ถ้าเรายังหวังสิ่งตอบแทนอยู่ ก็เป็นการกระทำแบบโลกียชน มิใช่โลกุตรชน
การทำดี ก็คือการปฏิบัติธรรม

คนที่ยังปฏิบัติธรรมแล้วยังทุกข์อยู่ ก็เพราะยังไม่สละตัวตนออกไปให้หมด

การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องทำอยู่ทุกขณะ ทุกอิริยาบถ เช่นในขณะที่เราไหว้ใครก็ตาม เราก็ไม่หวังผลตอบแทนว่า เขาจะต้องไหว้ ตอบเรา ถ้าเราหวังผลตอบแทนว่า เขาจะต้องไหว้ตอบเรา ถ้าเราหวังผลตอบแทนเช่นนี้การยกมือไหว้ของเรา ก็จะเป็นการใส่บาตรที่ยังหวัง ความร่ำรวย เงินทองเป็นผลตอบแทน พอไม่ได้ดั่งที่หวังก็เกิดความรู้สึกไม่ดี เช่น ความไม่สบายใจ ความท้อแท้ในการทำดี

อีกกรณีหนึ่ง คือบางคนคิดว่าเราทำดีหรือปฏิบัติธรรมแล้ว ก็เพื่อหวังผลตอบแทนว่าคนจะชื่นชมเรา พอถูกติ ถูกว่า ถูกด่าก็เกิดทุกข์ เกิดความไม่สบายใจ เกิดความท้อแท้ หดหู่ ในการทำดีหรือการปฏิบัติธรรม

ทั้งนี้ก็เพราะเรายังไม่ได้ทำดีเพื่อทำดี ไม่ได้ปฏิบัติธรรม เพื่อการปฏิบัติธรรม อย่างถูกทิศถูกทางนั่นเอง

แล้วขณะนี้เรากำลังทำดี หรือปฏิบัติธรรมอย่างถูกทิศถูกทางอยู่หรือเปล่า

โปรดทบทวน และพิจารณาโดยแยบคาย.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ประเด็นที่อยากกำชับกำชา

เมื่อ ๒๒ ส.ค. ๔๘ พ่อท่าน ทำวัตรเช้าที่สันติอโศก มีประเด็นที่พ่อท่านอยากกำชับกำชาพวกเราเรื่องการอบรม ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเรา ควรจะรับรู้ ร่วมกันยิ่งนัก มิฉะนั้นบางคนอาจจะสร้างบาปขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้

"....พวกเราทำงานกับสังคม สังคมเขาก็เห็นดีเห็นชอบ ก็มีคณะของสังคม คณะที่มีฐานะทางรัฐบ้าง กึ่งรัฐบ้าง มาช่วยมาร่วมมือ มาขอร่วมพัฒนาสังคมด้วย เช่น ให้เงินมาสนับสนุนค่าอบรม

แต่ก่อนนี้เราก็ควักกระเป๋าเอง เราก็ทำได้ สง่างามมาก ใช้เงินเราเอง จ่ายของเราเอง ไม่มีใครมาว่าอะไรเราได้ พอต่อมามีคณะนั้นคณะนี้ ให้เงินมาอบรม เราก็รับเขาบ้าง ก็คิดอัตราพอสมควร ทำอย่างประหยัด ก็มีเงินส่วนเหลือ พวกเราก็หลงใหลกัน หลงเป็นเงินได้ หลายที่ ก็จะตั้งกลุ่มขึ้นมาอบรมก็ดี มีกิจกรรมก็ดี ไม่ค่อยพร้อมนักก็ยังทำ ก็ทางส่วนที่เขาจะมาร่วมจะให้เราก็ทำก็ยินดี ก็กลายเป็นเรื่องเงิน เรื่องทอง เข้ามา แล้วก็ได้เงินได้ทองส่วนเกินเข้ามา เหมือนการหาเงิน เหมือนรายได้อันหนึ่ง เสร็จแล้วก็ไม่เข้าใจ

อาตมาก็พูดว่าอย่าไปหลงใหลเรื่องเงิน ที่เราได้จากการอบรมว่าเป็นเงินรายได้ ถือว่าเป็นเงินพลอยได้ คือเงินที่มันก็ทำไปแล้ว ไม่เจตนา แม้จะไม่ได้เราก็ไม่มีปัญหา มันได้มาก็เป็นผลพลอยได้ เป็นผลที่เสริมเติมมาเท่านั้นเอง เราจะขาดทุน ควักเนื้อบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเรา ทำงานกับสังคมมีส่วนเกิน ถ้าเราพอเป็นไปได้ ไม่ถึงขนาดกระเบียดกระเสียร หรือต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาอบรม อย่างนี้เราก็ไม่ทำ

ทุกวันนี้มีหลายๆกลุ่มข้างนอกเข้ามาร่วมจนกระทั่งถึงระดับของรัฐเป็นกระทรวงเลย แล้วให้อัตราเต็ม พวกเราก็เลยจะหลงใหลได้ปลื้มกัน ก็เอาล่ะ แต่จะต้องเรียนรู้ในใจของเราเลย ใจเราที่รับเงินเหล่านี้มา ไม่ใช่ไปเอาเงินเหล่านี้แล้วก็ดีใจ หลงระเริง แล้วงานที่เราเลี้ยงตัวเอง ก็ไม่เอาถ่าน เลยมามุ่งเอาเงินตรงนี้เป็นหลัก งานอื่นก็เลยวาง มีรายได้นี้เป็นรายได้หลัก

อย่างนี้คือความล้มเหลวระเนระนาด ยับเยิน ถ้าใครคิดอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ แล้วปฏิบัติอย่างนี้ ที่จริงงานอบรมเป็นงานของเรา เป็นงานอาชีพ ได้เงิน-ไม่ได้เงินก็ต้องทำ งานอาชีพไม่ใช่งานได้เงินมาเลี้ยงตน

งานอาชีพคืองานหลักที่เราเห็นว่าเป็นงานของเราแท้ๆ ส่วนอาชีพเลี้ยงตนนั้นทำอะไรก็ได้ ที่มันได้เงินได้ทองมาพอที่จะเลี้ยงตน ซึ่งอาตมา เน้นให้ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยสี่ให้มาก ได้อาศัยเลี้ยงตนจริงๆ ไม่ต้องซื้อมากินใช้ เป็นของตรงแท้ๆ เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เอามาทำบ้านทำเรือน เอามาทำเสื้อผ้า เอามาทำยารักษาโรค จึงเอากสิกรรมเป็นหลักอาชีพ เราต้องเลี้ยงตนให้พอ

อาตมาต้องทำความเข้าใจกับพวกเราชาวอโศกให้หมดเลยว่า เงินที่รับมาจากกลุ่ม ที่เขาอุดหนุนเรา แล้วเราต้องมาอบรม เราต้อง มองให้ชัด มองว่าเป็นเงินพลอยได้ไม่ใช่เงินรายได้ เราต้องมองชีวิตของพวกเราว่าต้องพึ่งตนรอด แม้ไม่มีเงินจากรายได้ทางอบรม ไม่มีอุปถัมภ์ มาจากการอบรม เราก็อยู่รอด หรือเราต้องอบรม ไม่มีรายได้ ควักเนื้อ เราก็ต้องทำให้ได้ พึ่งตนก็รอดแล้ว แล้วยังแถมมีพอที่จะอบรม ก็พอไหว ต้องมีจุดถึงขนาดนี้ให้ได้ ต้องทำใจอย่างนี้จริงๆ

เราจะมีเงินพอหรือไม่พอ แต่ถ้าเราเห็นว่าควรทำ พึ่งตัวเองรอด ควักกระเป๋าบ้าง ก็ยังพอยังไหว เราก็ทำ ส่วนเงินที่เขามา อุดหนุน เราก็ต้องทำใจในใจให้ได้ อย่าไปหลงยินดี อย่าไปหลงเอาเงินเหล่านั้นเป็นเงินหลัก ไปหวังเงินเหล่านั้นเอาเป็นเงินล่วงหน้า ซื้อโน่นซื้อนี่ แล้วค่อยเอาเงินที่ได้จากการอบรมผ่อนจ่ายตามวิธีของมนุษย์สมัยนี้ อย่าไปคิดอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนั้นผิดพลาดในวิธีการของชาวอโศก

ต้องมองว่าเงินสนับสนุนจากองค์กร เป็นเงินที่เราจะต้องทำประโยชน์ต่อผู้อื่นให้เห็นชัด ถ้ารับเงินจากผู้อื่นมาอบรม จะต้องชัดเจนว่า เราสามารถยืนยันว่าเงินที่เขาให้มานี้ เราได้ช่วยคนอย่างมีมรรคผล มีผลต่อผู้อื่นอย่างชัดเจน เป็นผลประโยชน์ขึ้นให้ได้ ประเด็นนี้มองให้ชัด แล้วก็เข้าใจให้ถูกต้อง ต้องตั้งใจทำให้ดี มันซ้อนมาก อย่าปล่อย ปละละเลย มรรคผลนี้เป็นตัวหลักที่เราอบรม อาชีพก็ให้ แต่อาชีพไม่ใช่ มรรคผล แต่ต้องเน้นในทางสัจธรรม ในทางเนื้อหาคุณธรรมให้ดีๆ ต้องให้มีผลงานทางธรรม ทางจริยธรรม

อยากจะปรามพวกเรา ระวังนะอย่าไปเห็นแก่เงิน อย่าไปเห็นแก่รายได้ อย่าไปนึกหลงตัว ผยองว่าคนเขารับเราแล้ว เขายอมเราแล้ว เราเด่นแล้ว แล้วก็ทำกิริยาไม่ค่อยเข้าท่าอย่างหนึ่ง แล้วหลงเงินก็อย่างหนึ่ง

เวลาอบรมมาช่วยเหลือกันบ้าง เอาใจใส่บ้าง เพราะงานอบรมเป็นงานหลัก รายได้ส่วนตัวเราก็ไม่ได้อยู่แล้ว แม้แต่รายได้ส่วนรวม เราก็อย่า ไปถือว่าเงินนั้นเป็นรายได้ของส่วนรวม แต่เข้าส่วนกลางแน่ ถือว่าเป็นผลพลอยได้ อย่าไปดีใจกับมัน ถ้ามีเกินมา ถ้าเราไปทำเป็นนาบุญ ทำเป็นประโยชน์ก็คุ้ม ถ้าเอามาผลาญ สุรุ่ยสุร่าย บาปกินหัวอีก เป็นหนี้อีกต่อ

แล้วส่วนมาก เมื่อมีส่วนเกินมากๆ ก็มักจะเหลิง แล้วใช้สุรุ่ยสุร่าย ก็บาปไม่รู้ตัว เป็นนาบาป มันก็ไม่เข้าท่า เราจะต้องรู้จักงานที่จำเป็น หรือ งานที่สำคัญ งานที่เป็นเนื้อแท้ การอบรมคือการเผยแพร่ คือการสืบสานศาสนา

การอบรมเราเน้นคุณธรรม เน้นเนื้อหาที่จะต้องให้พัฒนาพฤติกรรม โดยเฉพาะให้ถึงจิต ให้จิตเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ความเห็น ความเข้าใจว่า อย่าไปโลภโมโทสันเลย มาไป ทางนิพพานนี้เถอะดีกว่าไปทางโลกีย์ที่ไปเอาลาภยศสรรเสริญ ล่าลาภล่ายศ แย่งลาภ แย่งยศ ไม่ต้องมาทำงานแล้วสร้างสรรนี่แหละเป็นคนดี ไม่ต้องรับลาภยศเลย เสียสละได้มากๆนั้นแหละดี เขาจะเข้าใจว่าผู้ประเสริฐ เป็นอย่างนี้เอง

เพราะฉะนั้นในเรื่องเงินเราจะต้องคิดให้ดี เราจะต้องพึ่งตนให้รอด แล้วเงินที่ได้มานั้นเอามาทำงานจะต้องมีผลประโยชน์ให้แก่ ผู้ที่เรา อบรมเขา อันนี้ต้องมองให้ชัด ต้องเห็นให้จริงแล้วทำงานเพื่อประโยชน์ มิฉะนั้นจะเป็นหนี้ อบรมเขาอย่างเสียไม่ได้ ทำแล้วไม่ได้คุณค่า โดยเฉพาะ ประโยชน์ที่จะให้เขาได้ต้องประโยชน์ทางคุณธรรมเป็นหลักใหญ่ อย่าไปยืดหยุ่นในเรื่องของอื่นๆ แล้วทำให้คุณธรรมลดลง เราจะต้องเน้น ในทางคุณธรรมให้ได้...."

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาวอโศกจัดงานวันแม่แห่งชาติ
สร้างคุณธรรมกตัญญูกตเวที
บรรยากาศอบอุ่นซาบซึ้งใจ

เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ ส.ค. ปีนี้ชุมชนต่างๆ ได้จัดกิจกรรม เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลในมหามงคลวโรกาสนี้โดยทั่วหน้ากัน

สำหรับบรรยากาศของงานแต่ละชุมชน ผู้สื่อข่าวประจำชุมชนได้รายงาน เข้ามาดังนี้

** บ้านราชฯเมืองเรือ
งานวันแม่แห่งชาติของโรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศกได้จัดกิจกรรม ณ เฮือนศูนย์สูญ หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก มีเป้าหมายคือ

๑. นักเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศกจำนวน ๑๒๓ คนได้กราบและทำพิธีบูชาแม่หรือผู้มีพระคุณ

๒. นักเรียนมีความรักและซาบซึ้งในวัฒนธรรมที่ดีงามของตน โดยมีส่วนร่วมในการจัดงาน

๓. นักเรียนจัดการแสดงห้องเรียนละ ๑ การแสดงเกี่ยวกับพระคุณแม่เพื่อแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมสื่อสิ่งที่ดี อย่างสร้างสรร มีคุณค่า

๔. นักเรียนเขียนเรียงความหรือสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับพระคุณแม่ได้

๕. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน มีความเข้มแข็งทางจิตใจ โดยการฟังธรรม ในวันแม่

๖. เกิดความเข้าใจอันดีในการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่าง โรงเรียนกับผู้ปกครองนักเรียน

วันแม่ บ้านราชฯ

กิจกรรมวันแม่จัดในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ผู้ปกครองบางคนเริ่มเข้าพื้นที่ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม กิจกรรมในวันที่ ๑๒ มีดังนี้

เวลา ๐๔.๓๐ - ๐๖.๓๐ น. ทำวัตรเช้าฟังธรรมพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ณ ชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญโดยมีผู้เข้าอบรม ชาวชุมชน ชาวต่างประเทศ (กรีนเวย์) และนักเรียน จำนวนประมาณ ๓๐๐ คน พ่อท่านได้อธิบายลักษณะของบุญนิยม ๑๑ ประการ หลังจากนั้นพักผ่อน ตามอัธยาศัย จนกระทั่งเวลา ๐๘.๐๐ เข้าร่วมพิธีกรรมที่ชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญ

เวลา ๐๘.๓๐ น. ฟังการแสดงธรรม โดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร แล้วให้นักเรียนนำความซาบซึ้งใจ ของคนมีความกตัญญู มาเป็นข้อระลึก เพื่อไม่ทำอะไรให้แม่ไม่สบายใจ คนที่มีจิตคิดกตัญญูไปอยู่ที่ไหนก็จะมีสิ่งที่มาช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย

เวลา ๑๐.๐๐ น. เริ่มพิธีบูชาบุพการี ลูกกราบแม่ เปิดใจแม่และฟังโอวาทจากสิกขมาตุกล้าข้ามฝัน ท่านได้ฝากข้อคิดให้แม่ว่า การที่จะช่วย พัฒนาลูก คือแม่ต้องเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดี หลังจากนั้นเป็นการมอบเกียรติบัตรนักเรียนศีลเด่น เป็นงาน และมอบรางวัล การประกวด เรียงความวันแม่, บทกลอน, วาดภาพแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอน ปลาย พิธีเสร็จสิ้น ในเวลา ๑๑.๐๐ น. แล้ว รับประทานอาหารร่วมกันที่เฮือนเพิงกัน(เรือนพึ่งกัน) และเฮือนฝั่นเซียว (เรือน กระชับมิตร) บรรยากาศ อบอุ่นเป็นครอบครัวใหญ่

ในเวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. ณ ชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญ เป็นรายการสัมมนาผู้ปกครอง และแบ่งกลุ่มสนทนาธรรมกับสมณะ

กิจกรรมภาคค่ำเริ่มในเวลา ๑๘.๓๐ น. เป็นรายการแสดงของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้น ม. ๖ การแสดงของชาวชุมชน และชาว ต่างประเทศ (กรีนเวย์) กิจกรรมเสร็จสิ้นประมาณเวลา ๒๑.๓๐ น.

ในช่วงเช้าของวันที่ ๑๓ สิงหาคม ผู้ปกครองเดินทางกลับ ความรู้สึกของ ผู้มาร่วมงาน

คุณนุชนาฏ จันทร "ปีนี้จัดงานได้อบอุ่นเรียบง่ายและน่าประทับใจ ผู้ปกครองที่มาก็เต็มใจและยินดีที่จะร่วมกิจกรรม บางคนมาอยู่กับลูก ก่อนงาน ดำเนินชีวิตในชุมชนช่วยงานต่างๆ หรือ บางคนมาเปิดร้านทำขนมแจก ได้เห็นความน่ารักความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียนและที่วัด และทางโรงเรียนก็จัดกิจกรรมให้ผู้ปกครองได้อาหารใจ การสัมมนาตอบข้อซักถามก็ดีทำให้ได้ข้อชัดเจนว่า ที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอน อย่างไร"

คุณประภาพรรณ ประชาโชติ "ลูก มาอยู่วัดแม้ว่าจะคิดถึงแต่ก็รู้สึกว่าอบอุ่นใจ ที่เขาอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ดิฉันมาเยี่ยมลูกแต่ละครั้ง ก็จะเห็นว่าเขาพัฒนาขึ้น มาวันแม่ในครั้งนี้นอกจากจะมาร่วมกิจกรรมกับลูกก็ถือโอกาสมากราบ คุณแม่ด้วย ได้เห็นบรรยากาศก็ประทับใจ ได้เห็นลูกแสดงออก และดิฉันได้ร่วมกิจกรรมแสดงกับแม่ท่านอื่นๆ อบอุ่นใจและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของชีวิต

คุณเต็มป่า มะโนรพ "ผมมีลูกเรียนอยู่ชั้นอนุบาล และชั้นประถมปีที่ ๑ ในช่วงกลางวันผมไม่ได้ไปร่วมพิธี เพราะผมต้องทำงานที่ร้านสหกรณ์ ก็ให้แม่บ้านไปร่วม ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมภาคค่ำเป็นบรรยากาศที่ดีมาก อบอุ่น

คุณมิ่งหมาย บุญเฉลียว "สำหรับงานวันแม่ในปีนี้ได้จัดเพียงวันเดียว การเตรียมการมีการประชุมแจ้งให้คณะครู นักเรียน กรรมการชุมชน และชาวชุมชน ได้รับทราบร่วมกัน เนื่องจากในช่วงที่จัดงานวันแม่ มีการอบรมเกษตรกรกว่า ๒๕๐ คน และมีกลุ่มกรีนเวย์จำนวน ๒๐ คน ได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจบริหารจัดการที่ดี กิจกรรมบางกิจกรรมก็จัดร่วมกัน และในส่วนที่แยกก็เป็นไปด้วยดี เพราะเรามีศาลาหลายหลัง รองรับการจัดกิจกรรม ปีนี้เป็นงานวันแม่ที่เรียบง่ายแต่อบอุ่นลึกซึ้ง ประทับใจในความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง บางคนมีงานประจำ ที่ต้องไป ร่วมกิจกรรม ส่วนอื่น แต่ก็ปลีกเวลามาร่วมกิจกรรมเพิ่มความอบอุ่นให้กับลูกๆ เห็นหลายท่าน นำผลผลิตที่บ้านแม่มีจำนวนไม่มาก แต่ก็ติดไม้ ติดมือมาฝากให้ถวายพระ มาฝากลูกๆ บางท่านก็มาช่วยกันทำอาหารที่เด็กๆ ชอบ หรือยกร้านที่เคยหารายได้มาเปิดทำแจก ให้ลูกๆและญาติธรรมกินกันทั้งชุมชน ในส่วนของนักเรียนประทับใจพวกเขาที่แม้จะต้องเป็นพี่เลี้ยง งานอบรมที่พึ่งเสร็จก่อนถึงงานวันแม่ เพียงสองวัน แต่เขาก็ส่งทั้งภาพวาด บทกวี และเรียงความเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก การร่วมกันเตรียมจัดงาน จัดสถานที่ และทำอาหาร หรือเข้าร่วมพิธีกรรม ร่วมทั้งการแสดงภาคค่ำได้เห็นการจัดสรรของเด็กๆ ว่าเขาทำได้ดี ชาวชุมชนและชาวต่างประเทศ ที่มาร่วมงาน ก็กระตือรือร้นและสนุกที่ได้ร่วมกิจกรรมด้วย ผู้ปกครองเขาประทับใจเรื่องได้สนทนากับสมณะ มีผู้ปกครองเสนอแนะว่า ในปีต่อไป ควรเพิ่ม การสาธิต เรื่องอาหารมังสวิรัติเพื่อจะได้ไปทำกิน ที่บ้านและทำให้ลูกกินช่วงลูกปิดเทอมกลับบ้าน ในปีต่อไปก็จะเพิ่มกิจกรรมส่วนนี้

สมณะกล้าตาย ปพโล กิจกรรมวันแม่ที่ราชธานีอโศก เรียบง่ายดีแต่ก็ให้ความประทับใจซาบซึ้งใจ ในส่วนของการสัมมนาผู้ปกครอง เป็นการชี้แจง ของคณะคุรุเพื่อให้ผู้ปกครองชัดเจนและมั่นใจในเป้าหมายของการศึกษาบุญนิยม เท่าที่สังเกตผู้ปกครองมีความมั่นใจ ส่วนเรื่อง การแบ่งกลุ่มย่อยพบสมณะซึ่งเราแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม ผู้ปกครองก็จะถามถึงลูกๆ ว่าเป็นอยู่อย่างไร การแสดงภาคค่ำ ได้เห็นความสามัคคี ความพร้อมและกล้าแสดงออกของนักเรียน มีเนื้อหาสาระดี และใช้เทคโนโลยีเรื่องสื่อที่ทันสมัยมานำเสนอ ทำให้รู้สึกว่า การศึกษาที่เขารับไป เขาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้.

** ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ
งานวันแม่แห่งชาติ ณ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ปีนี้ทางชุมชนร่วมกับ ร.ร.สัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ เริ่มจัดตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๒ ส.ค. จนกระทั่งถึงบ่าย ของวันเสาร์ที่ ๑๓ ส.ค.๔๘

โดยช่วงเย็นวันแรกเป็นการสัมมนากลุ่มผู้ปกครอง ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ เป็นผู้ปกครองของนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษา กลุ่มที่ ๒ เป็น ผู้ปกครอง ฝ่ายชายของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และ กลุ่มที่ ๓ เป็นผู้ปกครองฝ่ายหญิงของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

สำหรับในวันเสาร์ที่ ๑๓ ส.ค. ช่วงตี ๔ ผู้ปกครองกับเด็กร่วมทำวัตรเช้า แล้วร่วมกันใส่บาตรเวลาประมาณ ๘.๐๐ น. เศษ

หลังจากนั้นก็ร่วมกันฟังธรรมก่อนฉัน แล้วให้นักเรียน สส.ภ. ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการเขียนเรียงความ-คำกลอน-และวาดภาพ เกี่ยวกับวันแม่ ในทุกระดับชั้นออกมาอ่านและอธิบาย แล้วต่อด้วยการเปิดใจของตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน สส.ภ.

ช่วงบ่ายเป็นพิธีกราบแม่หรือบุพการี เสร็จแล้วแต่ละครอบครัวพากันไปปลูกกล้วยอย่างน้อยคนละ ๑ ต้น ร่วมกับชาวชุมชน เพื่อสร้าง สิ่งแวดล้อมให้ดีตามนโยบายของชุมชนไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในวันแม่แห่งชาติ

สรุปว่า ปีนี้การจัดงานกระชับและซาบซึ้งตลอดงานจนน้ำตาแห่งความปลื้มปีติในความรักระหว่างแม่กับลูกเกือบท่วมเฮือนญะกิ๋น ที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานวันแม่ในปีนี้เป็นครั้งแรก.

** หินผาฟ้าน้ำ
เวลา ๑๓.๐๐ น.ของวันที่ ๑๒ ส.ค. ที่ผ่านมา ที่สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ลูกๆ นร.สัมมาสิกขาหินผาฟ้าน้ำ ต่างคล้อง แขนแม่ ขึ้นศาลาเพื่อฟังรายละเอียดกิจกรรมวันแม่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยความเบิกบานใจ จากนั้นทั้งลูกและแม่ ควงกันไป ทำอาหารเพื่อร่วมออกร้านในตอนเย็น บรรยากาศเห็นแล้วอบอุ่นก่อนอาหารเย็นมีกีฬาแม่ลูกสามัคคี เพื่อทดสอบสุขภาพ ทั้งแม่ลูก คล้องแขนกันวิ่งเปรี้ยว ชักเย่อ เป็นที่สนุกสนานกันทั่วหน้า หลังจากนั้นแม่ลูกต่างแลกเปลี่ยนอาหารแต่ละกลุ่มชั้นที่ลานฟ้าม่วน โดยมีเสียง ดนตรีพื้นเมืองจากวงโปงออนซอนหาผิน ติดตามด้วยละครที่แม่ลูกร่วมกันแสดง สรุปปิดงานการแสดงโดยสมณะกลางดิน โสรัจโจ

เช้าวันที่ ๑๓ ส.ค. มีรายการทำวัตร ประชุมผู้ปกครอง ใส่บาตร ขึ้นศาลา ทำพิธีบูชาแม่ ทั้งแม่ลูกต่างน้ำตาไหล บางคู่ เปิดใจไปร้องไห้ไป ลูกๆมีโอกาสเปิดใจขอขมาที่เคยเกลียด โกรธแม่ ไม่เข้าใจแม่ ส่วนแม่มีโอกาสโอบอุ้มและให้อภัยลูกเสมอ เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นจริงๆ

สรุปผลการจัดกิจกรรม เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม่ลูกได้พบกัน ได้ร่วมกิจกรรม ได้ฟังธรรม ลูกซาบซึ้งในพระคุณของแม่ ส่วนแม่ ก็เข้าใจลูกมากขึ้น

นางม่านพร ขวัญสำราญ "สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของแม่และลูกให้ดีต่อกันได้ โดยการเปิดใจของลูก ประทับใจแม่ลูก ที่ทำกิจกรรม ร่วมกัน แม่ร่วมแสดง ละครกับลูกเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น และแม่ลูกเปิดใจต่อกันเป็นภาพที่หาดูได้ยาก มีผลทางจิตวิญญาณ"

นางรักบุญ อโศกตระกูล "รู้สึกดีที่ลูกได้แสดงความรักกับแม่ แม่ก็ได้มาพบลูก ให้ความอบอุ่นกับลูก เป็นความรู้สึกที่อ่อนโยน เป็นความจริงใจ ที่ออกมาจากใจของแม่ละลูก นอกจากนี้ยังได้ทำความเข้าใจระหว่างคุรุและผู้ปกครอง ทำให้พ่อแม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น"

นางธารินี ชาลี "การจัดงานวันแม่ดีมาก ให้ลูกและแม่ได้แสดงความรู้สึกต่อกัน บางคนไม่เคยกอดแม่ก็ได้กอด ทำให้ลูกมีสำนึก ต่อพระคุณแม่ การเล่นกีฬาก็เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน"

สมณะแก่นผา สารุปโป "ภาพรวมดี ทำให้แม่ลูกเปิดใจคุยกัน เป็นการดึงแม่เข้าวัด แม่ได้ฟังเทศน์ แต่เวลาน้อยเกินไป น่าเสียดาย ที่แม่รีบกลับ แต่รวมๆเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น"

** สีมาอโศก
วันแม่ปีนี้ สีมาอโศกจัดงาน "เพื่อแม่ เราทำได้" เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูต่อแม่ เป็นโอกาสให้แม่และลูกได้สร้างความสัมพันธ์ ให้มีโอกาส พบธรรมะ และเพื่อให้เด็กได้แสดงออกในความสามารถต่างๆ

งานเริ่มเวลา ๑๗.๓๐ - ๑๙.๓๐ น. โดยบรรยากาศทั่วไปอบอุ่นแบบเรียบง่าย ปีนี้เป็นปีแรกที่ให้นิสิตสัมมาสิกขา ม.วช. ร่วมกราบแม่ของชุมชนด้วยพร้อมกัน ทำให้กระชับเวลาได้ดี

เริ่มจากฟังโอวาทจากสมณะ ต่อด้วยการมอบรางวัลให้นักเรียนที่ส่งผลงาน ที่ชนะการประกวด เช่น เรียงความ บทกลอน ภาพวาด เริ่มบทสวดคุณบิดามารดา สลับกับอ่านบทกลอน เรียงความ และร้องเพลงให้แม่ ลูกๆเข้าไปกราบแม่ แล้วเวียนกราบแม่คนอื่นๆ ด้วย

ช่วงท้าย แม่ลูกพูดคุยแล้วถ่ายภาพร่วมกัน รายการผ่านไปด้วยดีและจบลงด้วยเวลาเพียงชั่วโมงเศษๆ

ปิดท้ายด้วยการฟังโอวาท (พรก่อนจาก)จากสมณะ สิกขมาตุรูปละ ๒-๓ นาที จากนั้นเป็นการประชุมผู้ปกครอง ทางคุรุได้รายงาน ชีวิต ความเป็นอยู่ของนักเรียนแต่ละคน ให้ผู้ปกครองได้ทราบ ร่วมทั้งขอความร่วมมือไม่ให้ตามใจเด็กเมื่อเด็กไปอยู่บ้าน ช่วงนี้ได้แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นจากผู้ปกครองไปจนถึงเวลา ๓ ทุ่ม

สรุปงานวันแม่ปีนี้ ผู้ปกครองมาร่วมงานเกือบทุกคน แต่ผู้ปกครองยังไม่เข้าใจธรรมะของชาวอโศกมากนัก หรือยังไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ ได้มากพอ สังเกตได้ว่า ผู้ปกครองยังให้เวลากับลูกน้อยไป ส่วนใหญ่จะรีบกลับ ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุก็ได้ เช่น ฐานะไม่ค่อยดี ต้องดูแลลูกๆหลายคน เป็นต้น

นางพินิจ สายเบาะ ผู้ปกครองของ ด.ช.ธรรมชาติ สายเบาะ นร.ชั้น ม.๒ "รู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง แต่ดูจะเรียบง่ายเกินไป"

นางกองศรี แสนโคตร คุณแม่ของ น.ส.พรศิริ แสนโคตร นร.ชั้น ม.๖ "รู้สึกภูมิใจที่คณะครูให้ความดูแลสอนลูกๆได้ดี"

นางคิม เรืองสุข คุณแม่ของ น.ส. จิราภรณ์ เรือนสุข นร.ชั้น ม.๔ "มาร่วมงานทุกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ ประทับใจทุกอย่าง เรียบง่าย และดีใจ กับลูก เขาคิดเป็นผู้ใหญ่ขึ้น"

ส่วนในชุมชนบุญนิยมอื่นๆ ก็ได้จัดกิจกรรมในวันแม่แห่งชาติด้วย ติดตามบรรยากาศอบอุ่นระหว่างแม่และลูกได้จากหนังสือสารอโศก ซึ่งจะมีรายละเอียด มาให้ท่านได้ประทับใจเช่นเดียวกัน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ผู้ว่าฯ ร่วมเปิดงานเชื่อมร้อยเครือข่าย
โรงเรียนคุณธรรมชาวนา "สวนส่างฝัน"
ชาวหนองเม็กปลื้มจนน้ำตาคลอ

หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการดำนา กลุ่มโรงเรียนชาวนาคุณธรรมกสิกรรมไร้สารพิษ เศรษฐกิจพอเพียง กลุ่ม "สวนส่างฝัน" พี่เลี้ยงได้นัด พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำนาทำสวนกันเป็นประจำทุก ๓ เดือน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑ ของปีที่ ๒ ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๘ การเชื่อมร้อยเครือข่าย โรงเรียนชาวนาคุณธรรมฯ ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าฯเมืองอำนาจเจริญ (นายสมพงษ์ อนุยุทธพงษ์) เป็นประธานเปิดงาน และบรรยายพิเศษในหัวข้อ "เศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยเท้าพ่อ" ว่า การทำสวน ๓ ไร่แบบผสมผสานอย่างนี้ ทำให้ ประหยัดต้นทุน และ ไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ถ้าหลายๆ ครอบครัวทำสวนอย่างนี้จะทำให้ครอบครัว พอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ท่าน เป็นผู้นำ ทำมาหลายปีแล้ว เศรษฐกิจพอเพียง ต้องประหยัด ตัวอย่างเช่น พระองค์ท่านเป็นถึง พระเจ้าแผ่นดิน ท่านจะใช้ รองเท้า กี่ล้านคู่ก็ได้ แต่ท่านยังเอารองเท้าคู่เก่าไปซ่อมมาใช้จนกว่าจะพัง อย่างผมเป็นผู้ว่าฯ เงินเดือนก็มากพอสมควร ยังต้องประหยัด เพื่อส่งลูกเรียน และใช้ในสิ่งที่จำเป็น ใช้ในสิ่งที่ควรใช้ ชาวนาควรประหยัดเก็บเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น ยามป่วยไข้ การทำเศรษฐกิจพอเพียง แบบนี้เป็นการลดต้นทุน และต้องเลิกอบายมุขด้วย อย่าซื้อหวย อย่าเล่นการพนัน อย่าดื่มเหล้า อย่าสูบบุหรี่ แล้วจะมีเงินเหลือใช้หนี้ ทำสวนทำประโยชน์ต่อตัวเอง และครอบครัว

ก่อนหน้านั้นได้เดินชมสวน สวนลูกขวัญ มีพื้นที่ ๒ ไร่ ซึ่งมี นายสาคร และนางจันดา ดวงมะณีย์ เป็นผู้บรรยายขณะเดินชม ท่านผู้ว่าฯ กล่าวชม ต้นกล้วยสวย ลูกโต เครือใหญ่ ต้นไม้โตเร็วมาก ซึ่งใช้เวลาทำแค่ ๑ ปี กับ ๒ เดือน (สวนนี้ลงทุนแค่ ๔,๕๐๐ บาท มีต้นไม้ ๕๘ ชนิด) ท่ามกลาง ความเขียวชอุ่ม ร่มรื่น และมีของกิน เต็มไปหมด บรรยากาศสบายๆ ท่านเดินชมไป ถามไป ยิ้มไป ผู้แนะนำก็ลดการเกร็ง มีความเป็นญาติมากขึ้น "สร้างดินอย่างไร ทำไมต้นไม้จึงงามเร็ว?" จากสวนลูกขวัญ เดินผ่านสวน ส่วนกลางของกลุ่ม ดูสวนขวัญแม่ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน (พื้นที่ ๒ ไร่) ท่านได้เยี่ยมชมและให้กำลังใจ ชื่นชมต้นไม้งามไวเช่นกัน ดินก็สมบูรณ์เร็ว เต็มไปด้วย กล้วย มะละกอ ขนุน กะท้อน เงาะ ลิ้นจี่ มังคุด น้อยหน่า พืชผักสารพัดชนิด ฯลฯ จากนั้นดูสวนหวายของประธานกลุ่มโรงเรียนชาวนาคุณธรรมฯ โดยมีผู้จัดการ ธ.ก.ส.อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลอำนาจเจริญ และคณะท่านปลัดฯหลายท่าน เดินทางตามชมด้วยความสนใจ จากนั้น ท่านผู้ว่าฯ เดินไปชมแปลงนาข้าวอินทรีย์ของนายสาคร-นางจันดา ได้เห็นข้าวแตกกอเขียวงาม เมื่อเทียบกับแปลงข้างเคียง ซึ่งใช้ปุ๋ยเคมี และปักดำก่อน ๑๕ วัน แต่การแตกกอน้อยและใบสีเขียวออกขาวเหลือง ซึ่งต่างจากข้าวอินทรีย์ เขียวเข้มแตกกอมากกว่า (นาข้าวอินทรีย์อายุ ๕๐ วัน แตกกอ ๔๐ ต้น / นาข้าวเคมี อายุ ๖๕ วัน แตกกอ ๑๕ ต้น)

การเยี่ยมชมครั้งนี้ยังผลให้ชาวหนองเม็กปลื้มปีติ ยินดี จนน้ำตาคลอเบ้า เหมือนฝันแต่เป็นฝันที่เป็นจริง และสนใจ ตื่นตัวการทำนา ทำสวน แบบไร้สารพิษ อย่างมาก

บรรยายเสร็จท่านผู้ว่าฯ อยู่ร่วมรับประทานอาหารเที่ยง พร้อมประธานเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) นายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ อาหารพิเศษในวันนี้ คือ แกงหวาย และกล้วยน้ำหว้า หวานฉ่ำ ไร้สารพิษ ทำให้ท่านผู้ว่าฯเจริญอาหารเป็นพิเศษ บ่ายเดินทางกลับ

บรรยากาศทั่วไป เช้า ๐๗.๓๐ น. คณะโรงเรียนชาวนาคุณธรรมฯ ทยอยกันมาเป็นกลุ่มๆ ร.ร. บ้านฮ่องเตย มาถึงเป็นคณะแรก ตามด้วย ร.ร.โนนค้อทุ่ง จากนั้นก็ทยอยกันมาจนครบ แม้แต่ ร.ร. จากดอนตาล จ.มุกดาหาร ก็มาจากบ้านเชียงเพ็ง จ.ยโสธร ก็มา บรรยากาศ เริ่มคึกคัก ชาวบ้านหนองเม็ก กลุ่มแม่บ้าน มาช่วยทำครัวกันมากหน้าหลายตา พ่อบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน, นายคำภา ศาสตราชัย อบต., ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน, นายทวี อุนาภาค (ผอ.โรงเรียนบ้านหนองเม็ก) นำนักเรียนตัวน้อยๆ มาเยี่ยมชมสวนพร้อมคณะครู - อาจารย์ ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็มากันหลายคน เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล อำนาจเจริญ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดมุกดาหารก็มา และเดิน เยี่ยมชมสวนประทับใจเป็นอย่างมาก ท่านสมณะมาร่วมถึง ๔ รูป พระ ๔ รูป ญาติธรรมจากแม่ข่ายราชธานีอโศก ๒ คันรถ ยอดลงทะเบียน ๒๖๑ คน

๐๘.๐๐ - ๑๐.๐๐ ตัวแทน ร.ร. ชาวนาคุณธรรมฯ รายงาน/แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
๑๐.๐๐ - ๑๐.๓๐ ธรรมป้องกันความเสื่อมจากความดี โดยท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร
๑๑.๐๐ - ๑๒.๐๐ ท่านผู้ว่าฯ บรรยายพิเศษ เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยเท้าพ่อ"

ช่วงบ่าย นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. ผอ.พิมพ์ผกา วิธุรัติ, ผู้อำนวยการธ.ก.ส.ภาคอีสานตอนใต้ คุณปราโมทย์, ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. จังหวัดอำนาจเจริญ, นายกอบจ. นายแพทย์ชัยพร ทองประเสริฐ มาเยี่ยมชมสวนและกล่าวให้กำลังใจในรายการ "จุดไฟเพิ่มพลังใจ" ดำเนินรายการโดย หมอเขียว (ใจเพชร) ก่อนรายการนี้มีรายการพิเศษ คือการแข่งขันกินกล้วย โดยให้โรงเรียน ชาวนาคุณธรรมฯ ส่งตัวแทนมา โรงเรียนละ ๒ คน ทุกคนต้องลุ้นเป็นแรงใจ แรงเชียร์ให้กลุ่มตนชนะ เรียกเสียงฮา เสียงหัวเราะ จนท้องคัด ท้องแข็ง ดำเนินรายการโดย หนุ่มน้อยหนึ่งในดิน และหัวหน้า ธ.ก.ส. คนขยันของเรา (คุณอนุวัฒน์ โสภา) ซึ่งเคยประสานงาน ร.ร. ชาวนาฯ ที่อำนาจเจริญ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ผลปรากฏว่า ผู้ชนะคือโรงเรียนบ้านคึมชาด ๒ คน ช่วยกันกินกล้วยได้ ๑๑ ลูก ภายใน ๒ นาที

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ บรรยายพิเศษ หลังกล่าวเปิดงาน หลังจากนั้นนายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ประธานเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "เห็นสวน ๓ ไร่แล้วเห็นความพอเพียง พอกิน อุดมสมบูรณ์ รวยกว่าผม ที่อยู่กรุงเทพฯ จะหาผักปลอดภัยกินยาก ที่นี่รวยกว่าผม"

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. ชื่มชมยินดีกับสวน "ลูกขวัญ" ได้ต้นแบบจากสวนพ่อชมภู ลดอบายมุข คือ ธงชัยในการ ทำสวนให้สำเร็จ อยากให้มีสวนอย่างนี้ เพิ่มขึ้นมากๆ สวนส่างฝัน, ธ.ก.ส., อบจ., เป็นพี่เลี้ยง ในหลวงของเราได้ให้แนวทาง ดีแล้ว ปี ๒๕๕๐ พระองค์ครบ ๘๐ พรรษา หนองเม็กน่าจะเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงถวายท่าน น้ำมันมีปัญหา ข้าราชการขึ้นเงินเดือน ชาวบ้านไม่มีคน ขึ้นเงินเดือนให้ มีแต่เพิ่มหนี้ที่เพิ่มขึ้น ควรจะหันมาลดรายจ่าย มีสติจะมีสตางค์ ขาดสติ ขาดสตางค์

นายปราโมทย์ ผู้อำนวยการกำกับดูแล ภาคอีสานใต้ ธ.ก.ส. ผู้ที่จะพาชนบทรอดพ้น และเข้มแข็งที่นั่งอยู่ตรงนี้ทุกท่าน สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เห็นการเปรียบเทียบสวน ๓ ปี กับสวน ๑๔ เดือน ต่างกันมาก การแลกเปลี่ยน พบปะเชื่อมร้อยเครือข่ายเป็นความเข้มแข็งของการรวมกลุ่ม เป็นครอบครัวตัวอย่างชุมชน ตัวอย่าง ในการทำเศรษฐกิจพอเพียง

นางพิมพ์ผกา วิธุรัติ ผู้อำนายการฝ่ายพัฒนาบุคลากร ธ.ก.ส. เมื่อ ๒ ปีก่อนเคยมาพักนอนที่สวนส่างฝันบ่อยๆ เป็นชุมชนที่น่าอยู่มากๆ พออบรมสัจธรรมเสร็จน่าจะทำอะไรต่อยอดจึงเป็น โรงเรียนชาวนา, ทางภาคกลาง มีคำขวัญว่า "นาปีมีแต่หนี้กับซัง นาปรังมีแต่ซังกับหนี้" โรงเรียนชาวนา น่าจะเป็นทางออกในการปลดหนี้

นายแพทย์ชัยพร ทองประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับหนังสือเชิญมาร่วมงาน ดีใจมาก อำนาจเจริญ เป็นจังหวัด ที่มีรายได้น้อยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จากใจของผม แม้เราจะมีเงินน้อย แต่เราไม่อด เรามีอยู่มีกิน ก็มีความสุข แล้ววันหนึ่ง เห็นมอเตอร์ไซค์ ๓ - ๔ ร้อยคันซื้อผัก ที่ตลาดไปขายในหมู่บ้านแล้วใจหาย เขากำลัง ขนยาพิษไปให้พี่น้องเรากิน ผมอยากเห็นผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้ อาหารไร้สารพิษ อยู่ในตลาดอำนาจเจริญบ้าง เลยคิดถึงสวนส่างฝัน การแก้ปัญหาโดยการสร้างหนี้น่าเป็นห่วงมาก อำนาจเจริญ ปีที่แล้ว ต้นปีน้ำท่วม ปลายปีเจอภัยแล้ง น่าห่วง ! ต้องขอบคุณสวนส่างฝัน เมื่อก่อนต้องเสียค่ารถพาคนไปดูงานไกลๆ วันนี้ประหยัด ขึ้นเยอะ จะได้พาคนมาดูงานใกล้ๆ อยู่ที่บ้านเราเอง ไม่หวังว่าท่านจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ แต่ขอให้ครอบครัวท่านอบอุ่น มีอาหาร ปลอดภัยกิน ผมมั่นใจว่าถ้าเราได้พัฒนาลูกหลานของเรา ทั้งจิตใจและอาชีพที่ดี สวนลูกขวัญ คือโรงเรียน อยากเพิ่มพื้นที่ป่าให้เป็น ๓๐ % ของจังหวัดอำนาจเจริญ วันนี้เรามีป่า ๓ แสนไร่ ต้องเพิ่มเป็น ๖ แสนไร่ เราคงจะได้ร่วมแรงร่วมใจ ปลูกป่ากันต่อไป "ขาดป่า ขาดน้ำ ขาดชีวิต"

นายประกิต มีนาเขต ผอ. ธ.ก.ส.จังหวัดอำนาจเจริญ ปี'๔๖ - ปี'๔๘ มาทำงานที่ อำนาจเจริญ อ่านข่าวพิลึก วันนี้มาเจอสวนพึลึก ทำสวนแปลก แต่มองลึกๆ แล้วไปรอดแน่ โชคดีที่ได้ทำงานกับสวนส่างฝัน โดยเริ่มจากสัจธรรมชีวิต ลูกค้าเกษตรกรพันธุ์ใหม่ สวนลูกขวัญ เป็นการประเมินโดยไม่ต้องใช้กระดาษเป็นผลของการอบรม ที่สุดคือโรงเรียน ชาวนาคุณธรรม กสิกรรมไร้สารพิษ เศรษฐกิจ แบบสวน ส่างฝัน ได้ความรู้ไป เอาไปปฏิบัติด้วย เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

อ. นักบุญ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมฯ สวนส่างฝัน ถ้าเริ่มต้นจากกล้วย จะประสบ ผลสำเร็จอย่างอื่นจะสำเร็จตาม เป็นกำลังใจ กล้วย เป็นพี่เลี้ยง ช่วยสร้างดิน เก็บน้ำ คนอื่นจะรบกัน ก็รบกันไป แต่เราจะเป็นนักรบเกษตร

ทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ กู้ชาติ กู้แผ่นดินไม่ไหว
ถ้าขาดอาหารเลี้ยงกาย ต้องตายหมดท่าราวี
ต้องมีทหารเกษตร ประเทศคลายทุกข์สุขขี
ยิ่งไร้สารพิษยิ่งดี ชีวีเป็นสุขทุกคน

หมอเขียว (ใจเพชร) เป็นการจุดประกายเศรษฐกิจพอเพียง ๓ ไร่ แก้จน ซึ่งไม่ใช่เป็นไปได้เฉพาะพ่อชมภู ที่อื่นก็ทำได้เช่นกัน ถ้ามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ได้เห็นเจ้าของสวนมีความสุขกว่าเดิม ทั้งๆที่มีรายได้น้อยลง แต่ได้ความปลอดภัย ความอบอุ่นในครอบครัวมากขึ้น การเก็บ อินทรีย์วัตถุ รอบตัวในพื้นที่มาใช้สร้างความมั่นคงให้ตัวเอง ลดการพึ่งวัตถุดิบจากภายนอก เป็นจุดประกายฝันให้คนที่แม้ไม่มีเงินก็ทำได้

พรก่อนจาก
หลวงพ่อประดิษฐ์ ปัญญาธิโป เห็นแล้วภูมิใจ นางาม สวนงาม เพราะการมีคุณธรรม ถ้าไม่มีคุณธรรม สวนจะไม่งาม "ต้อนวัวตามวัว ต้อนควาย ตามควาย ต้อนข้าวไปขาย ใครต้อนใคร ใครตามใคร" (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ศักดิ์ศรีชาวนาของชาติเคยภาคภูมิใจ เป็นกระดูก สันหลังของชาติ วันนี้ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังผุๆ ของชาติน่าเวทนา สวนส่างฝัน เป็นจุดกำเนิด ส่งต่อพ่อชมภู พ่อชมภูส่งต่อ สวนลูกขวัญ / สวนขวัญแม่ "อัศจรรย์ใจกุ้ง สิกิน แข้ใหญ่".

พระวรพจน์ อภินันโท ที่นี่นำร่องให้เห็น อยากให้เอาไปทำให้เพื่อนบ้านได้เห็น มาดูที่นี่อย่าดูเป็นตัวอย่าง แต่จงเอาไปทำเป็นตัวอย่าง

สมณะดาวดิน น้ำเมาทำให้เกิดคดี ฆ่าข่มขืนลูก ข่มขืนกัน ทำร้ายกัน เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทย คนที่มีศีลมีธรรม น่าจะช่วยกัน ดูแลและพาคนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกน้ำเมา ถ้าเราไม่หลงมัวเมากับอบายมุขเล้วจะมีเวลาทำสวน เหมือนพ่อชมภู เหมือนโอ๋แห่งบ้าน ฮ่องเตย เริ่มต้นเสียก่อน ก่อนจะสายเกินไป

สมณะแก่นเกล้า ปลูกกลางคืนโตกลางคืน ปลูกกลางวันโตกลางวัน ท.ท.ท. (ทำทันที)

สมณะเกตุมาลโก สวน ๓ ไร่ ท่านผู้ว่าฯมาดู ถ้าสวน ๑๐๐ ไร่ ท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ต้องมาดู กลับไปทำให้ได้ทุกคน สวน ๓ ไร่ เป็น ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นวัฒนธรรมที่ดี ที่ปลอดภัย วันนี้เป็นหนี้เป็นสินเพราะทำมาห่ากิน หมดไปกับอบายมุข ขอให้เอาความดีไปต่อกับความดี ซึ่งกันและกัน อย่าให้เหมือนตากับตีน

สมณะเดินดิน ติกขวีโร วันนี้เป็นงานบุญ คนมาร่วมงานตั้งหลายร้อยคน ไม่มีสัตว์ตายสักตัว เป็นงานบุญจริงๆ ไม่มีคนสูบยา ไม่มีคน กินเหล้า เตรียมงาน ไม่ต้องฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าหมู ฆ่าวัว ที่นิทานสอนไว้ มีคนถามบุญเป็นจังได๋ คือ เด็กน้อยอมก้อนขี้ดัง เค็มๆ (รายละเอียด ในนิทาน) ถ้าบุญใหญ่ต้องมีลาบ ก้อย ต้องมีการฆ่าอย่างมโหฬาร มันเป็นบุญแบบคนอมก้อนขี้ดัง แต่วันนี้ คืองานบุญที่แท้จริง วันนี้อาตมา ยิ่งมั่นใจว่า เราไม่ต้องมีเงินเยอะๆก็ได้ แต่ทุกคนมีน้ำใจให้กัน อาตมาเป็นคนภาคกลาง ชอบชวนญาติๆ ทางภาคกลางมาอยู่อีสาน เพราะเป็น เมืองที่มีเมตตา เอื้อเฟื้อ ไม่ชอบความรุนแรง มีการทำบุญทุกเดือน ปีหนึ่ง ๑๒ ครั้ง มาอยู่สายบุญกันดีกว่า คนอีสานใจดี มักม่วน (จน มีหนี้มีสินก็ไม่เครียด) มักหมู่(ไม่ถือความเห็นส่วนตัวมาก แล้วแต่หมู่) แต่เสียอยู่นิดหน่อยเวลาผิดพลาดมา กูหั่นหว่า(กูว่าแล้ว )

คนอีสาน มักหมู่ มักน้อย นาทางภาคกลาง ไม่มีต้นไม้โล่ง แต่นาทางภาคอีสานมีต้นไม้ปะปนอยู่ คืออีสานไม่โลภ เส้นทางส้มตำ เป็นเส้นทาง แห่งความอบอุ่น เอื้อเฟื้อ เป็นอาหารสุขภาพ ไม่หวานมันมาก ส้มตำเป็นอาหารสุขภาพที่ดี มีผักเยอะๆ คนอีสานกินมังสวิรัติ เป็นส่วนใหญ่ อยู่แล้ว สวนลูกขวัญ สวนขวัญแม่ สำเร็จเพราะกินมังสวิรัติ เหมือนพ่อชมภู ไม่ใช่ขนฟางอย่างเดียว วันนี้ชื่อโรงเรียนชาวนา คุณธรรม เพราะหลายคน ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ วันหน้าขอให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมชาวนา.

ยุทธศาสตร์สวนส่างฝัน ยุทธศาสตร์อำนาจเจริญ ยุทธสาสตร์ประเทศไทย สวน ๓ ไร่แก้จน เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจ ร่วมขับเคลื่อนให้ไป ให้ถึง

ทฤษฎีสวน ๓ ไร่ (โดยย่อ) ปลูกผลไม้ ๓๐ อย่าง อย่างละ ๑๐ ต้น จะมีผลไม้หลัก ๓๐ ต้น แล้วปลูกไม้รอง จะได้ไม้รองเป็นพันต้น มีไม้พี่เลี้ยง เช่น กล้วย และมะละกอ หลายร้อยต้น ได้พืชระดับหน้าดิน หน้าแล้งปลูกผักอายุสั้นเพื่อเป็นสีสัน ใต้ดิน ปลูกพืชกินหัว รอบสวนปลูกป่า ไม้เนื้อแข็ง เป็นความพอเพียง พออยู่พอกินเป็นความยั่งยืน ของชีวิต ของครอบครัว ของชุมชน ของประเทศชาติ

สร้างฝันขึ้นในใจ ที่สามไร่ก็พอเพียง
ลงแรงอย่าละเลี่ยง หล่อน้ำเลี้ยงด้วยเหงื่อเรา
ไม้ผลสามร้อยเหลือ หนึ่งต้นเพื่อเลี้ยงชีพตน
ต้นสองเลี้ยงผู้คน ที่เหลือล้นแปรรูปเอย

- แห่งไท รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ใช้พื้นที่ ๕ ไร่ ปลูกผักอินทรีย์
เพียง ๓ ชนิด ทำเงินเดือนละ ๔ หมื่น

แม้ว่าครอบครัวของ นายเยือ และนางสมศรี จีนแส มีที่ดินทำกินเพียง ๕ ไร่ที่ ต.หนองชุมพล อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี แต่ทั้งคู่ก็สามารถ ใช้ประโยชน์ จากผืนดินแปลงนี้ได้อย่างคุ้มค่า โดยการปลูกผักแบบอินทรีย์ ๓ ชนิด คือ ถั่วฝักยาว มะระจีน และ แตงร้าน กระทั่งปัจจุบัน แปลงผักของพวกเขาเจริญ งอกงามดี และสามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ทุกวัน ส่งผลให้ครอบครัว จีนแสมีรายรับ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว สูงถึงเดือนละ ๔ หมื่นบาท

การทำสวนของนายเยือ และนางสมศรี นอกจากการยึดหลักเกษตรอินทรีย์ ที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิดแล้ว ทั้งคู่ยังพยายาม คิดค้นวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการเพาะปลูกเสมอ ทั้งด้านการบำรุงดินและต้นพืช นอกจากนี้สำนักงานเกษตรอำเภอเขาย้อย ได้ยกสวน ของนายเยือ เป็นแหล่งเรียนรู้ตามโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ

นายเยือ บอกว่า เดิมเขาและภรรยาเคยปลูกถั่วฝักยาว และมะระจีน เหมือนกับเกษตรกรทั่วไป แต่ประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลง ระบาดหนัก จึงใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้สภาพดินเสื่อมโทรม ผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง สุดท้ายก็เป็นหนี้สิน จำนวนมาก

ต่อมาปี ๒๕๔๔ จึงปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ กล่าวคือ งดใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิด ใช้เพียงปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงดินทุกครั้งก่อนทำแปลงปลูก รวมถึงใช้พืชสมุนไพรเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช พร้อมทั้งปลูกแตงร้านเพิ่มอีกหนึ่งชนิด

"ผลผลิตที่ได้ส่งจำหน่ายที่บริษัท ไร่ปลูกรัก จำกัด ตอนนี้ผมแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับทดลองปลูกซูจีนี่ หรือฟักญี่ปุ่น แต่ยังไม่รู้ว่า จะประสบ ความสำเร็จ มากน้อยเพียงใด เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ปลูกพืชชนิดนี้ รวมทั้งชักชวนเพื่อนเกษตรกรจำนวน ๒๘ ราย ร่วมกันเพื่อปลูกผัก ปลอดสารพิษ เนื่อง จากรายได้ดีและตลาดกำลังต้องการ" นายเยือ กล่าว

ด้าน นางสมศรี บอกว่า ทุกวันนี้เธอและสามี ต้องเก็บผักในสวนส่งจำหน่ายที่บริษัท ไร่ปลูกรัก จำกัด ทุกวัน ซึ่งผักที่ได้คุณภาพตามที่ ทางบริษัท กำหนด จะขายได้ในราคาประกัน คือ ถั่วฝักยาววันละ ๒๐ กก. ราคา กก.ละ ๒๔ บาท มะระจีน วันละ ๖๘ กก. ราคา กก.ละ ๑๘ บาท และแตงร้านวันละ ๒๐ กก. ราคา กก.ละ ๑๑ บาท ส่วนพืชผักที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็จะนำไปขายตลาดระดับล่าง อย่างเช่น ตลาดนัด ในท้องถิ่น รวมแล้วมีรายได้วันละกว่า ๒,๐๐๐ บาท เมื่อหักต้นทุนเบ็ดเสร็จมีกำไรเฉลี่ย เดือนละ ๔ หมื่นบาท

"ฉันยอมรับว่า ผลิตผลทุกชนิดที่ส่งขาย ยังไม่พอต่อความต้องการของตลาด เพราะตอนนี้หากเราทำผักอินทรีย์ได้คุณภาพ ตลาดรับ ไม่จำกัด แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องทำให้ได้มาตรฐาน และที่สำคัญต้องปลูกแบบอินทรีย์เท่านั้น เพื่อป้องกันเรื่องสารพิษตกค้างสู่ผู้บริโภค นั่นเอง" นางสมศรี กล่าว

สำหรับเคล็ดลับในการปลูกมะระจีน ให้ได้ขนาดผลมีความยาว ๑ ศอก และผิวขาวสวยนั้น นายเยือ และนางสมศรี แนะนำว่า ก่อนปลูก มะระ ให้ปลูกปอเทืองคลุมดินก่อน ๓๐ วัน แล้วไถกลบเพื่อทำปุ๋ยพืชสด ขั้นต่อมายกร่องแล้วขุดหลุมหยอดเมล็ดมะระ เสร็จแล้ว ใช้ผ้า พลาสติกคลุม โดยเจาะเป็นช่องเฉพาะที่ปากหลุมให้ต้นมะระเติบโต และทำร้านเตรียมไว้ให้มะระเกาะด้วย

จากนั้นใช้ท่อพีวีซีทำระบบน้ำหยด พร้อมทั้งวางต้นปอเทืองไว้บนผ้าใบด้วย การบำรุงดินก็ใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก จนถึง ๔๕ วัน เมื่อมะระ ออกผลขนาดเท่านิ้วโป้ง จากนั้นนำหนังสือพิมพ์มาห่อ ป้องกันแมลงทำลาย ทิ้งไว้ ๑๕ วัน จึงเก็บขายได้ทันที.
(จาก นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๓๐ ก.ย.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


พัฒนาชุมชนต้นแบบ
สรุปทิศทางข่ายแหชาวอโศก
พึ่งตนเองได้จริง

สมาชิกชุมชนทำงานฟรี
การเงินเป็นสาธารณโภคี
ที่ดินเป็นส่วนกลาง, ผักพืชปลูกเอง

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ ส.ค. ๒๕๔๘ เวลา ๐๘.๐๐ น. พ่อท่าน กล่าวเปิดประชุมสัมมนา "โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้ ค้างชำระ" โดยมีตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว ๕๐ คน และเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย (คกร.) ราว ๘๐ คน รวม๑๓๐ คน ณ ศูนย์บุญนิยมสิกขาปฐมอโศก จ.นครปฐม

ต่อจากนั้น นางพิมพ์ผกา วิธุรัติ ผอ.กองพัฒนาลูกค้าบุคคล ธกส. กล่าวแนะนำโครงการฯ อบรมลูกหนี้ธ.ก.ส. ช่วงเดือน ก.ย.๔๘ - มี.ค.๔๙ มีเป้าหมายให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ๕๗% งบดำเนินงาน ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อศูนย์ฯ โดย ธ.ก.ส.เตรียมข้อมูลลูกค้า ผู้เข้ารับการอบรม การรายงาน และการประเมินผล ส่วน คกร.เตรียมขบวนการ อบรม จัดกิจกรรม อุปกรณ์

๐๙.๔๕ น. แบ่งกลุ่มตามข่ายแหอโศกกับเจ้าหน้าที่ ธกส. สนทนาทำความเข้าใจและหาข้อสรุปชุมชนต้นแบบว่า จะทำที่ไหน? ทำอย่างไร? แบ่งงาน ระหว่าง คกร. กับ ธ.ก.ส.

๑๑.๐๐ น. พักรับประทานอาหาร
๑๒.๓๐ น. ตัวแทนข่ายแหชาวอโศก ออกมาเสนอชุมชนต้นแบบ การดำเนินงานร่วมกันกับ ธ.ก.ส. ได้ข้อสรุปดังนี้ อนุมัติงบฯให้ ๘ ชุมชน รอยืนยัน ๖ ชุมชน

พัก ๑๕ นาที เวลา ๑๕.๐๐ น. ต่อด้วย การสรุปการสัมมนา "สรุปทิศทางการดำเนินงานของข่ายแหชาวอโศก ปี ๒๕๔๘ - ๒๕๔๙" โดย สถาบันบุญนิยม และเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.)

พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์กล่าวเปิดการสัมมนา คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ เสนอการอบรมชุมชนตัวอย่าง เน้นไปที่หมู่กลุ่มชาวอโศก ตัวชี้วัด ภายใน โดยขอให้ตัวแทนข่ายแหชาวอโศก ร่วมพิจารณาตัวชี้วัดภายในศูนย์บุญนิยมสิกขา ได้ข้อยุติดังนี้

๑. มีที่ดินเป็นของส่วนกลาง
๒. มีระบบบริหารจัดการแบบสาธารณโภคี
๓. มีผู้อยู่ประจำในชุมชนมากกว่า ๑๐ คน

กรรมการข่ายแห มีคุณสมบัติเป็นญาติธรรม (ศีล ๕ มังสวิรัติ)

ตัวชี้วัดภายนอก ให้แต่ละศูนย์ไปพิจารณาเอง

๑๗.๐๐ น. พ่อท่านให้โอวาท
๑๗.๒๐ น. ปิดการสัมมนา

ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ รองผู้อำนวยการสถาบันบุญนิยม "วัตถุประสงค์ของการสัมมนาสรุปทิศทางการดำเนินงานของข่ายแหชาวอโศก ในครั้งนี้ เพื่อจะหาข้อสรุปบทเรียนที่เราได้ประชุมกันมาจากข่ายแหทั้ง ๖ แห่งในช่วงตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษามาจนถึงช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ว่ามีผลสรุปอย่างไร ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า ศูนย์อบรมฯของเราจะมีมาตรฐาน ที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์เดียวกันว่า ศูนย์บุญนิยมสิกขา จะต้องมีคุณสมบัติที่จะต้องพึ่งตนเองได้ไม่ต่ำกว่า ๗๐% การเงิน ก็ต้องเป็นสาธารณโภคี คนในชุมชนทำงานฟรี ปลูกผักพืชเอง เป็นการ สร้างเกณฑ์มาตรฐานชีวิต ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดภายใน ส่วนตัวชี้วัดความสำเร็จของงานภายนอกของศูนย์อบรมต่างๆ ก็คือ เราจะวัดกันที่ ผู้ที่ได้รับการอบรมแล้ว มีการละเลิกอบายมุข ถือศีล ๕ ทานมังสวิรัติได้อย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้เรามีข้อสรุป การประเมินการทำงาน ของศูนย์ต่างๆของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งพ่อท่านก็ได้เน้นให้พวกเราพัฒนาตนเองก่อนจะไปพัฒนาผู้อื่น การเลื่อนฐานะจากศูนย์อบรม ไปเป็นศูนย์บุญนิยมสิกขาก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นของคุณธรรมแก่คนในชุมชนให้สูงขึ้น พ่อท่านเน้นว่า เราควรมีวิถีชุมชนได้จริงๆ แล้วจึงไป อบรมคนอื่น แต่ละศูนย์จึงต้องมีการพัฒนาตนให้มากขึ้น การสัมมนาครั้งนี้ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นทั้งกับผู้ปฏิบัติที่ศูนย์ฯ และ เจ้าหน้าที่ ที่ประจำอยู่ที่สำนักงานสถาบันบุญนิยม ก็ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในระดับหนึ่ง ซึ่ง ต่อไปก็คงจะต้อง ร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ยิ่งๆขึ้นไป

ส่วนในช่วงเช้าที่มีการประชุมกับเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ซึ่งทาง ธ.ก.ส.ได้ขอความร่วมมือให้ศูนย์อบรมต่างๆของชาวอโศกช่วยอบรมเกษตรกร ซึ่งในเรื่องนี้ที่ประชุมของเราก็ได้มีมติว่า ให้ช่วยงาน ธ.ก.ส.ได้สำหรับศูนย์อบรมฯ ของเราที่มีความพร้อม"

คุณมุทิตา สุคันธนาค ผจก.ร้านกู้ดินฟ้า ๒ "บรรยากาศวันนั้นเรียบร้อยดี มีการพูดถึงเรื่องอาหารว่า เราควรผลิตกันเอง เช่น ปลูกผัก ปลูกข้าวกันเอง ส่วนทางปฐมอโศกนั้นในด้านจิตภาพแล้วได้เกินกว่า ๙๐ % เป้าหมายของการสัมมนาที่ปฐมฯ ครั้งนี้ ก็เพื่อพัฒนาภายใน ทั้งในด้านศักยภาพ จิตภาพ คุณภาพ กายภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของจิตภาพเป็นหลัก เราจะอบรมคนอื่น จิตใจของเราก็ต้องเข้มแข็ง ต้องมี มาตรฐานที่เข้มขึ้น ซึ่งหากยังทำตามเกณฑ์ของศูนย์บุญนิยมสิกขาไม่ได้ ก็เป็นแค่ศูนย์ฝึกอบรม เท่านั้น...".

- คนเดินทาง

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รถกองทัพธรรมมูลนิธิถูกยึด ๔๕ วัน

เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง แต่ก็ต้องเป็น เรื่องขึ้นมา เหตุเกิดเพราะนายหนึ่งเดียวคิดจะทำบุญโดยบริจาค ไม้สักที่ตนเองปลูกไปถวายวัด รถกองทัพธรรมฯ จึงรับบรรทุกไม้จากสุพรรณบุรี ไปอุบลฯ โดยไม่ได้เอาเอกสารบางรายการมาให้ครบ แต่เมื่อได้พิสูจน์ยืนยันว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการแล้ว เนื่องจากระบบราชการที่ซับซ้อน จึงต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างยาวนาน ถ้าเป็นชาวบ้าน ก็คงสิ้นเนื้อประดาตัว

ความจริง ๔๕ วันที่รถถูกยึดไว้ ต้องถือว่าผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างเร็วที่สุดแล้ว ซึ่งถ้าไม่ได้ความกรุณาของท่านรองนายกฯ พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ ช่วยกำชับกำชามาด้วย ก็ต้องใช้เวลายาวนานยิ่งไปกว่านี้ นี่ขนาดเป็นรถกองทัพธรรมมูลนิธิ ที่มีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นประธานมูลนิธิ ก็ยังสาหัสสากรรจ์ ออกปานนี้ ถ้าเป็นรถเอกชนทั่วไปๆ ต่อให้ถูกต้องยังไงๆ ระบบราชการคงเล่นงานจนอ่วมอรทัย

ความยากและง่ายในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆของระบบราชการ นายรินไท มุ่งมาจน ผู้ใหญ่บ้านราชธานีอโศก ได้บันทึก ลำดับเหตุการณ์ไว้ ดังต่อไปนี้

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เวลาประมาณ ๐๑.๓๐ น. รถกองทัพธรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แจ้งความจับกุมนายหินลือ คนขับรถกองทัพธรรมเป็นผู้กระทำความผิดฐาน "ไม่มีใบเบิกทาง" เพราะนายหินลือ ได้ขับรถบรรทุกไม้สัก ถูกกฎหมาย จำนวน ๒๕๑ ท่อน ซึ่งเป็นไม้จากสวนป่าของนายหนึ่งเดียว ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้บริจาคให้แก่ราชธานีอโศก

วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. ด้วยเงินสดจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของญาติธรรมอำเภอปากช่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ อำเภอปากช่อง ได้อนุญาต ให้ประกันตัวนายหินลือ

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอปากช่อง ได้ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอปากช่องทำการตรวจพิสูจน์ไม้สัก ว่าเป็นไม้ ที่ถูกกฎหมายหรือไม่ พอเจ้าหน้าที่ป่าไม้เห็นสภาพไม้ก็รู้ทันทีว่า เป็นไม้สวนป่าที่ถูกกฎหมาย และพูดว่าน่าจะบอกให้มาพิสูจน์ตั้งแต่ วันแรก ที่จับ เมื่อเป็นไม้ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ ป่าไม้จะเป็นผู้แจ้งความว่ากระทำความผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งความจับกุมไปแล้ว ก็ไม่สามารถปล่อยรถกองทัพธรรม และจำเป็นต้องยึดรถกองทัพธรรมไว้ที่ป่าไม้ จนกว่า เจ้าหน้าที่ ตำรวจทำคดีเสร็จและส่งอัยการ เมื่อเรื่องเสร็จจึงจะคืนรถกองทัพธรรมให้ เหตุที่ต้องเกิดความเสียหาย เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แจ้งความจับกุม ทั้งๆ ที่ตนก็รู้ว่าเป็นไม้สวนป่าถูกกฎหมาย โดยอ้างว่าทำตามหน้าที่

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอปากช่อง ได้ทำสำนวนคดีเสร็จ พิจารณาแล้วเห็นควรสั่ง "ไม่ฟ้อง" และส่งเรื่องต่อ ให้นายอำเภอปากช่อง ทำการตรวจสอบพิจารณา นายอำเภอปากช่อง พิจารณาเสร็จสิ้นภายในวันเดียวกัน เห็นชอบตามตำรวจอำเภอ ปากช่อง จึงได้ส่งสำนวนให้เจ้าพนักงานอัยการจังหวัด อำเภอปากช่องตรวจสอบพิจารณา และเจ้าพนักงานอัยการจังหวัดแจ้งว่า "จะทำการพิจารณา ให้เสร็จ ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม"

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เจ้าพนักงานอัยการ เจ้าของคดีแจ้งว่า "ยังไม่ได้พิจารณา แต่จะพิจารณาให้เสร็จวันนี้ และจะเสนอ เจ้าพนักงาน อัยการจังหวัด ให้ปล่อยรถกองทัพธรรม เพราะของกลางเป็นของถูกกฎหมาย"

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เจ้าพนักงาน อัยการเจ้าของคดีแจ้งว่า "มีปัญหาเกี่ยวกับรายการบัญชีไม้สักจำนวน ๒๕๑ ท่อน แต่ตามบันทึก การจับกุมมีถึง ๒๘๐ ท่อน ซึ่งยอดที่เกินมาเกิดจากทางตำรวจไปนับเอากิ่งเล็กกิ่งน้อยที่เป็นเศษไม้จากไม้สักจำนวน ๒๕๑ ท่อน รวมเข้าไปด้วย จำนวนไม้สักที่ถูกกฎหมายจึงไม่ตรงกัน และไม่สามารถปล่อยรถกองทัพธรรม ไปก่อนได้ เพราะต้องตรวจสอบว่า ไม้สัก ที่มีจำนวนไม่ตรงกันนั้นเป็นไม้สักผิดกฎหมายหรือไม่ จำเป็นต้องส่งสำนวนกลับไปให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตรวจพิสูจน์ กันใหม่ และให้ยืนยันว่าไม้สักส่วนที่เกินมีจำนวน ๒๙ ท่อน นั้นเป็นไม้สักผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ยืนยันมา ตั้งแต่ต้น แล้วว่าไม้ทั้งหมด เป็นไม้ถูกกฎหมาย

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เจ้าพนักงาน อัยการเจ้าของคดี ได้ส่งเรื่องกลับไปให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจเจ้าของคดี เพื่อทำการสอบเพิ่มเติม

วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีได้รับเรื่อง และโทรศัพท์ตามตัวนายหนึ่งเดียว เจ้าของไม้สักที่บริจาคไม้ให้แก่ พุทธสถาน ราชธานีอโศกมาให้ปากคำเพิ่มเติมอีก การทำบุญของนายหนึ่งเดียวครั้งนี้ ต้อง วิ่งขึ้นวิ่งลง หาหลักฐานมาชี้แจงกับ เจ้าหน้าที่ ถึง ๓ ครั้งด้วยกัน

วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ เมื่อเห็นว่าการทำงานของระบบราชการล่าช้า ยิ่งนานวันความเสียหายก็ยิ่งมากขึ้น จึงตัดสินใจทำหนังสือถึง รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรม และได้รับความอนุเคราะห์จากท่านรองนายกรัฐมนตรี และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ติดตามเรื่อง และให้คืนรถบรรทุกพร้อมไม้สักถูกกฎหมายแก่เจ้าของไป

วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอปากช่อง ได้ตามญาติธรรมให้มารับเอกสารของสำนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้ว ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๘ เรื่องแจ้งผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางว่า "พนักงานอัยการไม่ได้ขอริบ" ญาติธรรมของเราที่ปากช่อง ก็ดีใจ เพราะจะได้รับ รถบรรทุก พร้อมไม้สัก ถูกกฎหมายคืน

วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอปากช่อง ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอปากช่อง คืนรถบรรทุกพร้อมไม้สักของกลาง ให้แก่ กองทัพธรรมมูลนิธิ เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตรวจสอบเอกสารของเจ้าพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว จึงแจ้งว่ายังไม่สามารถคืน รถบรรทุก พร้อมไม้สักถูกกฎหมายให้ได้ เพราะตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ นั้น การส่งคืนของกลาง ต้องส่งมอบแก่ เจ้าหน้าที่ ตำรวจอำเภอปากช่อง และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคืนของกลางให้แก่กองทัพธรรมมูลนิธิ จึงจะเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ยังคืนของกลางให้ไม่ได้ จึงติดต่อโทรหาผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจอำเภอปากช่อง เพื่อชี้แจงให้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ คืนของกลาง แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ แจ้งว่ามันผิดขั้นตอนให้ผู้กำกับรับปากว่าจะ ไม่มีเรื่องปัญหาเกิดขึ้น แต่ผู้กำกับ ไม่รับปาก และแจ้งว่า เมื่อมีเอกสารคำสั่งให้คืนของกลาง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ต้องคืนของกลางให้แก่เจ้าของ ไป เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จึงทำบันทึก ให้คืนของกลาง และถ้ามีปัญหาจะขอร้องให้ลงมาช่วย และขอเบอร์โทรไว้พร้อมถ่ายรูปร่วมกัน ไว้เป็นหลักฐาน

เมื่อได้รับรถบรรทุกพร้อมไม้สักถูกกฎหมายคืน จึงได้มอบหนังสือพิมพ์ข่าวอโศกแก่เจ้าหน้าที่ ป่าไม้เพราะไม่มีทรัพย์สินอื่นใด ที่ดีกว่า และ ก็เป็นหนังสือพิมพ์ ที่ลงข่าวเกี่ยวกับเรื่อง รถกองทัพธรรมถูกจับ จึงให้ไว้อ่านเป็นที่ระลึก ส่วนรถบรรทุกถูกยึดไว้นานถึง ๔๕ วัน จึงไม่สามารถ ติดเครื่องได้ ต้องนำรถ ๖ ล้อมาช่วยให้เครื่องยนต์ติด ก่อนกลับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มากระซิบถามขอพระหลวงพ่อ ขลังๆ สักองค์ ถ้าเป็นสมัยก่อนพบชาวอโศก จะมีพระเครื่องที่คัดแล้วมั่นใจว่าขลังมาก ห้อยไว้เต็มคอ แต่เมื่อเชื่อมั่นว่า ตนพึ่งตนเองได้ จึงไม่ต้องใช้พระเครื่อง มาห้อยคออีกแล้ว จึงไม่มีพระเครื่อง ให้เจ้าหน้าที่ ป่าไม้

บทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
บทเรียนในครั้งนี้ เราไม่ได้ติดใจ กับบุคคล ใดๆทั้งสิ้น เพราะเมื่อบุคคลอยู่ในระบบอย่างนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ซึ่งระบบราชการในปัจจุบัน เป็นระบบ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดช่องทางปฏิบัติ มิชอบ จนเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะถ้าประชาชนรู้ไม่เท่าทัน หรือไม่โอนอ่อนตามอำนาจ บาตรใหญ่แล้ว ทุกอย่างจะติดขัดไปหมด เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่า จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตัว มิฉะนั้น ถูกเพื่อนเล่นงานได้ แต่บางเรื่อง ถ้าจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์กันลงตัว จะมั่วจะหลวมอย่างไรก็ได้ เพราะลงเรือลำเดียวกัน ดังนั้น ใครต้องการให้ลื่นไหล ไปได้คล่อง หรือต้องการติดขัดเพื่อให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็พร้อมที่จะให้บริการ ด้วยระบบทูอินวัน ได้ตามความประสงค์

บทเรียนในครั้งนี้ ๑. เรามีส่วนผิดอยู่จริงเพราะเบื้องต้นที่รถขนย้ายไม้ออกมาไม่ได้นำเอกสารมาให้ครบ เนื่องจากหัวหน้าป่าไม้ จังหวัด สุพรรณบุรี ยังไม่ได้เซ็นชื่อ ซึ่งรถของเราไปคอยตั้ง ๓ วันก็ยังไม่ได้ และจะให้รอต่ออีก ๓ วัน พวกเราก็เลยไม่รอและก็ไปคิดกันง่ายๆ ว่า ไม้ถูกต้องอยู่แล้วขนไปก่อน ถ้ามีปัญหาขึ้นมา ก็ค่อยไปเอาเอกสารมาให้ดูกันในภายหลัง แต่เหตุการณ์จริงๆ กลับยุ่งยาก กว่าที่คิดเอาไว้ มากมาย

๒. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุม ยังไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสวนป่าซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติป่าไม้ เจตนาที่ให้มี พระราชบัญญัติสวนป่าขึ้นมา ก็เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ได้ช่วยกันปลูกไม้ ให้มากขึ้น ดังนั้นหลักฐานต่างๆ จึงเป็น แบบฟอร์มที่ทางป่าไม้ให้เอกชนเขียนเอง ตีตราตอกไม้เอง โดยไปขึ้นทะเบียนตราเอาไว้กับทางป่าไม้เท่านั้น แต่เมื่อตำรวจจับกุม เราเอา เอกสารเหล่านี้มาให้ดู ก็อ้างว่าใช้ไม่ได้เพราะเขียนเอาเอง ไม่มีตราเครื่องหมายของทางราชการ และประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อตำรวจ จับรถเรา แล้วไปตั้งข้อหาว่าไม่มีใบเบิกทาง ซึ่งไม้ที่ปลูกเองในสวนป่าก็ไม่ต้องใช้ใบเบิกทางอย่างที่ตำรวจเข้าใจ ขั้นตอนตรงนี้ กว่าจะรู้เรื่องกันได้ ก็ต้องรอเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาชี้แจง เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มาตรวจสอบ ตำรวจถึงได้รู้เรื่อง ว่าเอกสารต่างๆ เจ้าของไม้ เป็นผู้เขียนเอง ทั้งหมดได้ และใบเบิกทางก็ให้เจ้าของไม้เขียนเองทั้งหมด ว่าจะขนไม้ไปจากที่ไหนถึงที่ไหน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรู้ว่า ตั้งข้อหาไปผิด ก็ต้องมาเสียเวลาคิดว่า จะหาทางออกอย่างไร เพราะแจ้งข้อหาลงบันทึกประจำวันไปเรียบร้อย แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็ได้ทักท้วงไปว่า เรื่องการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ส่วนตำรวจ เมื่อรู้ว่าพลาดไปแล้ว แทนที่จะรีบ ให้เรื่องต่างๆ จบลงอย่างรวดเร็ว กลับพยายามหาทาง ที่จะคิดหาทางออกให้ตัวเอง ต้องเสียเวลากันเนิ่นนาน โดยอ้างว่า ต้องสอบสวน ตามระเบียบการ ปฏิบัติของทางราชการ ขั้นตอนตรงนี้ ถ้าเป็นเอกชนทั่วๆไป ธุรกิจของเขา ก็คงจะล้มละลาย เพราะว่า ต้องวิ่งไปวิ่งมา หาหลักฐานต่างๆ แล้วแต่ทางเจ้าหน้าที่จะเรียกมาสอบ มันเป็นขั้นตอนของทางราชการ ที่สร้างความเดือดร้อน ให้แก่ ชาวบ้านจริงๆ แทนที่จะคิดว่าจะช่วยเหลือ ประชาชนอย่างไร กลับว่าจะหาทางเล่นงานได้อย่างไร ขนาดรถของเรา ทางเจ้าหน้าที่ เขาก็รู้กันดีว่า เป็นรถองค์กรการกุศล เป็นรถของมูลนิธิไม่ได้วิ่งทำธุรกิจหาเงินหาทองอะไร และก็มีผู้ใหญ่หลายฝ่าย ช่วยกำชับกำชา ให้ดำเนินการ ให้ถูกต้องยุติธรรม ถึงขนาดนั้น ก็ยังล่าช้า ใช้เวลาแรมเดือน

สุดท้ายจนเรื่องล่วงรู้ไปถึงประธานกองทัพธรรมมูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง ทั้งๆที่เราก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่อยากให้เรื่องต้อง ไปวุ่นวาย ถึงผู้ใหญ่ แต่เวลาผ่านมาเดือนกว่า เรื่องก็วนไปวนมา ไม่มีใครตัดสินใจปล่อยรถออกมาได้ จำต้องใช้บารมีของผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ ได้คุยกัน จึงได้มีคำสั่ง จากทางท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ชิดชัย ท่านช่วยกำชับกำชามายังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงาน รถของกองทัพธรรม จึงหลุดออกมาได้ เรื่องนี้ถ้าเป็นราษฎร ตาสีตาสาทั่วๆไปก็คงจะหมดท่า หรือมิฉะนั้น ก็คงจะเสียเวลาหมดเงินหมดทองกันไป มากมาย

งานนี้ก็คงต้องขอขอบพระคุณทางด้านฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นนายอำเภอปากช่อง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ช่วยกรุณา อนุเคราะห์ ให้ขั้นตอนที่ท่านต้องรับผิดชอบ ดูแลผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะมิฉะนั้นถ้าเรื่องดำเนินตามขั้นตอนปกติวิสัย ก็ไม่รู้ว่า แม้สองเดือน รถจะออกได้หรือไม่ และพวกเราคงจะต้องระมัดระวังกันยิ่งขึ้น เราต้องเตรียมพร้อม ให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้อง และก็จะต้อง ไม่ยอมให้ความไม่ถูก ต้องเกิดขึ้น เช่น ต้องจ่ายเงิน ใต้โต๊ะ ซึ่งพ่อท่านก็ให้ยืนยันว่า แม้นานเท่าไหร่ก็ให้เรารอไป เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม จะได้เกิดขึ้นในสังคม

ข้อคิดสุดท้ายที่จะฝากให้กับญาติธรรมของเราก็คือ พวกเราเป็นพวกที่เชื่อในเรื่องบาปบุญเวรกรรมมีจริงอยู่แล้ว

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ร้ายกว่าไวรัสคอมฯ ตอน ๑

ในยุคของไอทีอย่างนี้ ญาติธรรม ชาวอโศก (รวมไปถึงคนวัดและนักปฏิบัติธรรมอย่างพวกเราที่เน้นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน) ทั้งหลาย จำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่หน้าจอทำงานกับเจ้าคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะงานพิมพ์ งานอาร์ต ทำหนังสือ หรือแม้แต่หาข้อมูล จากอินเตอร์เน็ต เป็นชั่วโมงๆ ซึ่งถ้าหากไม่ใส่ใจดูแลเรื่องท่านั่งที่เหมาะสมแล้ว อาจเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก อย่างเช่น หากเรานั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ แล้วอาจนำมาสู่อาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่า ร้าวมายังขมับและเบ้าตา (Muscle strain หรือ Myofascial pain) ทำให้เกิดเอ็นอักเสบบริเวณข้อไหล่ (Shoulder tendinitis) ปวดบริเวณข้อศอก ด้านนอก (Tennis elbow) ปวดบริเวณ โคนนิ้วโป้ง (De'Quervain's disease) หรือปวดข้อมือ และอาจทำให้มีอาการชาของมือ ตามมาได้ (Carpal tunnel syndrome)

จะเห็นได้ว่ามีโรคต่างๆมากมาย ที่มีผลมาจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกัน ไม่ให้เกิด ผลเสียดังกล่าว ศูนย์สุขภาพฉบับหน้าจะนำข้อมูลเกี่ยวกับท่านั่งทำงานที่ถูกต้องมาฝาก.
(ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ ส.ค.๔๘

- ก. รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี

สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้รับนิมนต์ให้เป็นวิทยากรร่วมประชุมสัมมนาจังหวัดนำร่องเกษตรอินทรีย์ที่ราชธานีอโศก ผู้ร่วมสัมมนามี ๓ กลุ่ม คือ ข้าราชการผู้ใหญ่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการผู้ใหญ่จากกระทรวงมหาดไทย และตัวแทนของจังหวัดนำร่อง ๒๒ จังหวัด ในงานนี้ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนได้นำเอาสื่อด้านเกษตรอินทรีย์ไปเผยแพร่ด้วย เช่น หนังสือ วีซีดี และนิทรรศการ ได้รับความสนใจ จากผู้เข้าสัมมนา เป็นอย่างมาก

ในงานนี้ได้ข้อสรุปเป็นข้อเสนอแนะสำหรับจังหวัดนำร่องทั้ง ๒๒ จังหวัด ดังนี้
๑. ผู้แทนจังหวัดนำร่องที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ต้องนำเรียนผลของการสัมมนาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทราบและเข้าใจในวิธีการทำงาน รวมถึง ความก้าวหน้าต่างๆ ของการดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์

๒. จังหวัดควรจัดตั้งคณะทำงานดำเนิน โครงการเกษตรอินทรีย์ โดยคณะทำงานควรประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ ที่มีความสนใจ และตั้งใจ ในการดำเนิน โครงการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งคนในพื้นที่จังหวัดที่ประสบความสำเร็จ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรต้นแบบ เข้าร่วม เป็นคณะทำงานด้วย.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า


เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ. ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๖๑ (๒๘๓) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ส.ค.๔๘

หน้าปัดชาวหินฟ้าฉบับนี้ เก็บข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวงชาวเรามาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

เหนือความคาดหมาย...วันแม่'๔๘ ที่ภูผาฯ จิ้งหรีดคาดไม่ถึงว่า ตัวเองต้องกลั้นน้ำตาตั้งหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเรียงความ หรือฟังการอธิบายภาพที่สื่อถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก และลูกมีต่อแม่ ก็ซาบซึ้งประทับใจ ยิ่งตอนเปิดใจผู้ปกครอง ก็แม่ของ ด.ช.ปอน นั่นแหละ ที่ทำให้น้ำตา จิ้งหรีดเอ่อคลอเบ้าตาจนรู้สึกได้เลยว่า น้ำตานี่อุ่นๆนะ ขนาดคุณคงเด่น แค่แนะนำตัว ก็ยังต้องชะงัก เหมือนมีอะไร จุกที่คอ ก็หลายครั้ง ก็จะไม่ให้เราตื้นตันได้ยังไง ยิ่งรู้ว่าแม่ส่งลูกมาเรียน ลูกชายก็ไม่เข้าใจ เพราะเคยอยู่บ้านสะดวกสบาย เล่นเกม ดูทีวี ตามใจชอบ แต่ที่ภูผาฯ ไม่มีเหมือนที่บ้าน ช่วงอยู่ ม.๑ ก็น้อยใจแม่ ส่วนแม่ก็ต้องทำใจ เพราะปรารถนาดีต่อลูก ยอมให้ลูกชายไม่เข้าใจ ไปก่อน แต่ก็น้ำตาไหลกับเสื้อทุกตัวของลูก ช่วงที่ลูกไปเรียนบนดอย (สส.ภ.) แม้แต่วันแม่ครั้งนี้ แม่ยังไม่รู้ใจลูกเลยว่า เข้าใจแม่หรือยัง เพราะปีนี้ ลูกชายเรียนชั้น ม.๒ ของ สส.ภ. และการมาร่วมงานวันแม่ครั้งนี้ ก็ใช้เวลาตัดสินใจตลอดคืน เพราะเป็นวันเดียวกับ วันที่ ทางจังหวัด ให้ไปรับโล่รางวัลแม่ ดีเด่นของจังหวัดประจำปีนี้ แต่เมื่อเป็นวันเดียวกับที่แม่จะต้องขึ้นดอย ก็ได้ตัดสินใจ ไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ ที่นับถือหลายคน ในที่สุดผู้ใหญ่ก็ยอมเข้าใจว่า แม่จะไม่ไปรับโล่ แต่จะไปรับ(ขวัญ)ลูกชายบนดอย ยิ่งจิ้งหรีด เห็นภาพปอน ขึ้นมากราบแม่ บนเวทีนี่แหละ ท่านผู้ฟังและผู้ชมทั้งหลาย น้ำตาไหลเอ่อล้น ด้วยความประทับใจ ที่ลูกเข้าใจในความรักของแม่แล้ว น้ำตาเกือบท่วม เฮือนญะกิ๋น ที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานวันแม่ในชุมชนภูผาฯเชียว...

ช่วงไปปลูกกล้วยของแต่ละครอบครัวก็ดูน่าประทับใจ เป็นการร่วมกันทำสิ่งที่ดีๆก่อนพ่อแม่จะเดินทางจากลูก ก็ฝากต้นไม้ให้ลูก ดูแล เพื่อช่วยให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะกล้วย ช่วยสร้างต้นน้ำธรรมชาติได้อย่างดี ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะถวายเป็น ราชสักการะ แด่สมเด็จ พระบรมราชินีฯ หรือแม่หลวงของชาวไทย...

เชียงใหม่น้ำท่วม ก็มีผลให้รัฐบาลจะจัดระเบียบป่าและที่ดินทั่วประเทศ จิ้งหรีดก็ว่าดีนะ เพราะภัยธรรมชาติรุนแรงมากกว่าเดิม ก็เพราะ น้ำมือมนุษย์ ที่กลับกลายเป็นคนเห็นแก่ได้ ตัดไม้ทำลายป่าไม่ว่าจะเป็นภาคไหนของประเทศ ที่เชียงใหม่ปีนี้น้ำท่วมทำความเสียหาย ทางเศรษฐกิจ มากกว่าทุกปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ เพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจที่เจริญทางวัตถุรองจาก กทม. หลายคนบอกว่า ตั้งแต่เกิดมา ก็เพิ่งเคยเห็น น้ำท่วมเช่นนี้ พ่อท่านก็ได้โทร.มาถามไถ่ด้วยความห่วงใย ลูกๆทางภาคเหนือ คุณใจประนม ก็ทนนอนสบายอยู่ที่บ้านไม่ไหว แม้ตัวเอง จะมีกินมีอยู่สบายแล้ว แต่เห็นพี่น้องชาวเชียงใหม่เดือดร้อน ก็มาปรึกษากับทาง ชมร.เชียงใหม่ ผรช.บัวดาว ก็เห็นดีด้วย จึงช่วยกัน ทำอาหาร ไปแจกให้ผู้ประสบภัย ที่รัฐบาลยังเข้าไปไม่ถึง ก็อาศัยญาติพี่น้องของคุณงานช่าง (พ่อของภูศิลา) นั่นแหละ ช่วยเป็นแผนกขนส่ง ลุยน้ำออกมารับข้าวของไปแจก ทางอิสลามก็รับประทานอาหารมังสวิรัติของเราได้ อย่างสบายใจ คุณใจประนม โทร.ไปบอกบุญ ลูกสาวที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถามว่าลูกทำอะไรอยู่ ลูกสาวซึ่งเป็นศิษย์เก่า สส.ษ. บอกว่า รุ่นพี่ให้ไปซ้อมเชียร์ คุณแม่ ก็ให้แง่คิดกับลูกสาวว่า ตอนนี้ชาวเชียงใหม่ กำลังเดือดร้อน เราลูกหลานจะไม่คิดทำอะไรให้สังคมบ้างหรือ ในที่สุดลูกสาว (ออย) ก็ไปพูดคุยชักชวนเพื่อนๆ ไปช่วยคนที่ประสบ อุทกภัย ปรากฏว่าเพื่อนๆต่างเห็นดี ได้รวมกลุ่มไปช่วย ตอนหลังรุ่นพี่ของออยรู้ข่าวว่า กลุ่มออย ไม่ได้ไปซ้อมเชียร์ ก็เรียกมาต่อว่า แต่ที่รุ่นพี่ต่อว่านี่ก็เหนือความคาดหมายของออยและเพื่อนๆ เพราะรุ่นพี่ต่อว่า ว่ามีเรื่อง ช่วยคนเช่นนี้ ทำไมไม่บอก รุ่นพี่ๆจะได้รวมกลุ่มไปช่วยกันด้วย จิ้งหรีดฟังแล้วก็รู้สึกว่า วัยรุ่นยุคนี้เขาก็มีความสำนึกดีอยู่เหมือนกัน แต่ขาด ผู้นำในทางดี ก็มีแต่คนวิจารณ์ไปทางเสีย แต่ขาดผู้ใหญ่อย่างแม่ใจประนม และแม่ของปอน ที่นำลูกๆไปในทาง ที่ดี รุ่นพี่ของออย ก็แสดงออก อย่างเหนือความคาดหมายจริงๆ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ .....

ชุมชนวัฒนธรรม...ก็จะเป็นที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่หมู่บ้านศีรษะอโศก ช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ชาวศีรษะฯก็ลงไร่ลงนากัน เด็กทุกชั้นร่วมกัน รับผิดชอบ ตามกำลัง ถ้ามีงานด่วนก็ประกาศลงแขกร่วมกันได้...ในหนึ่งสัปดาห์ชาวศีรษะฯจะลงแขกร่วมกับนักเรียน สส.ษ. และ ม.วช. ทำกสิกรรมไร้สารพิษทุกวันจันทร์...ตอนนี้ก็มีผลผลิตที่เก็บกินกันได้ตลอดปี โดยเฉพาะมะกล้วยเทศ มะละกอ มีกินตลอดปีเลย บางที ก็มีแตงโม-แตงไทย กินไม่ทัน ก็ต้องนำไปวางจำหน่าย หน้าร้านกสิกรรมไร้สารพิษซึ่งอยู่ข้างๆร้านน้ำใจ คนที่มาดูงานก็อุดหนุนกันดี จิ้งหรีดที่ศีรษะฯ ก็อยากแบ่งปันถึงชุมชนอื่นๆของชาวเราอยู่เหมือนกัน แต่ก็คงเป็นแค่ความรู้สึก ก็คงมีเมล็ดพันธุ์ดีๆเอาไว้แจก หรือไม่ก็ปลูก บริจาคให้ชาวเราได้กินกันในงานปีใหม่ งานปลุกเสกฯ เป็นต้น...ที่ศีรษะฯ ก็สูญเสียนักรบกองทัพธรรมไปอีกท่านอย่างกะทันหัน คือ พ่อยิ่งยอม นันทวงษ์ (ไพฑูรย์) เป็นคุรุใหญ่ของโรงเรียน สส.ษ. จิ้งหรีดที่ศีรษะฯ รายงานมาว่า คุณพ่อทำหน้าที่ตั้งแต่ภารโรงจนถึงครูใหญ่ ทำความสะอาด ซ่อมแซมบูรณะจุดที่บกพร่อง เอาใจใส่การคัดเขียนไทยของนักเรียนให้คัดงาม ออกเสียงอักขระก็ให้ถูกต้อง ท่านเป็นคน มีระเบียบวินัย รู้มารยาทสังคม และจะสอนให้เด็กๆอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะก่อนต่อทุกๆคน ท่านสามารถเข้าได้กับทุกคน เท่าที่ จิ้งหรีดสัมผัสมาตลอด ๒๐ ปี ท่านเปรียบเหมือนวีรบุรุษของจิ้งหรีดอีกท่านหนึ่ง ที่มีความดีงามมากมายที่ทำไว้กับเพื่อนบ้านและพี่น้อง ทั้งทางโลก และทางธรรม ในงานศพของท่าน ส่วนใหญ่ภรรยา(คุณแม่เย็นอภัย นันทวงษ์) ลูกๆ และพี่น้องต่างก็พูดถึงสิ่งดีงาม ที่หลายๆคน ไม่เคยได้ฟัง หลายๆคนยกมือปาดเช็ดน้ำตาด้วยความเสียดายและซาบซึ้ง ท่านฉุดเพื่อนๆขึ้นจากขุมนรกได้มากมายหลายคนได้ชีวิตใหม่ รวมทั้งจิ้งหรีดด้วย จิ้งหรีดก็ขอปฏิบัติบูชาเป็นตัวแทนสิ่งดีงามตามแบบที่พ่อยิ่งยอมได้พาทำต่อพี่น้องโดยจะประสานสามัคคี มีอภัย งานศพของพ่อ ก็จัดแบบเรียบง่ายแบบชาวพุทธที่แท้ คือไม่เก็บศพไว้นานตายเช้าเผาบ่าย ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้มาร่วมงาน นับพันคน เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้จิ้งหรีดได้แง่คิดใหม่ ในการที่จะใส่ใจต่อสุขภาพของผู้อื่นมากขึ้น ยิ่งช่วงนี้ก็มีญาติธรรม จากไปหลายคน ก็มีพ่อประยูร ทางบ้านราชฯ ก็มียายใจพร้อม ที่เผาไล่เลี่ยกัน โดยเผาหลังพ่อยิ่งยอม ๑ วัน ส่วนทางอโรคยาก็มีคนไข้อยู่ ช่วงนั้นก็เป็นไข้เลือดออก ทางสันติฯ ตามข่าวได้ยินว่าก็มีถึง ๘ คน อากาศ ก็ปรวนแปร ทางอีสานก็ร้อนแล้ง ทางเหนือ ก็น้ำท่วม ทางใต้ก็ถูกหมอกควันคลุมเป็นพิษ ทางอากาศ ส่วนคุณศีลเพ็ชร ปีนี้จิ้งหรีดก็รู้มาว่า ด้านสุขภาพกายและจิต ก็เจอคลื่นยักษ์สึนามิ (ส่วนตัว) ทางกายก็มีไข้รุมหนัก ปวดก็ปวด กายทรุดมากพอสมควร ข้อมือซ้ายถึงศอก และสะบักก็มีปัญหามา ๗ เดือนกว่าแล้ว หายใจไม่อิ่ม หน้าอกชาไปถึงศีรษะบ่อยๆ แต่แม่ศีลเพ็ชร ก็ไม่ยอมจำนน พอทนทุกข์ได้ดีอยู่ ยังไปแบ่งเบางานด้านวิทยุชุมชน ต้อนรับแขกทั้งจรและมาค้าง ก็มีความสุขความภูมิใจ ในสังคม บุญนิยม จิ้งหรีดก็ขออนุโมทนาในความเสียสละของทุกๆท่าน แต่ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

บ้านราชฯ เมืองเรือ...คุณหมอพจน์ ราวกลางเดือน ก.ค.ก็ดูกระฉับกระเฉง สดชื่นแจ่มใส ร่าเริงดี ดูไม่เหมือนผู้อายุยาวเมื่อมาบ้านราชฯ ครั้งแรก และจิ้งหรีดได้ข่าวมาว่า คุณหมอไปตรวจเลือดมา ผลปรากฏว่า เชื้อ มะเร็งไม่มีแล้ว ก็ขอสาธุกับคุณหมอพจน์ด้วย แต่ยังไง จิ้งหรีด ก็ยังเป็นห่วงอยู่นะฮะ ก็ขอให้ระวังเรื่องตัวเกรงใจ จิ้งหรีดที่บ้านราชฯ ก็อยากให้คุณหมอวางใจ และอยู่รักษาตัวนานๆ นะฮะ...

นิสิตดาวพร แต่งกลอนดีๆไว้อาลัยแด่คุณยายใจพร้อม(วันทา) ที่จากไป ดังนี้
"ไม่มีแล้วแววตาอันจ้าใส
ที่มอบให้กับทุกคนบนใบหน้า
ไม่มีแล้วรอยยิ้มอิ่มศรัทธา
ที่คุณยายฟันฝ่ามาเพื่อธรรม"

จิ้งหรีดก็ขอรำลึกถึงสิ่งดีๆ ของคุณยาย ใจพร้อม ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดี มีศรัทธาจน สมณะเดินดิน ประกาศว่า ท่านเป็นพระในร่างของ อุบาสิกา ผู้หนึ่ง ซึ่งจิ้งหรีดก็เห็นด้วย ชูสองมือเลยฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

คติธรรม-คำสอนประจำฉบับ
สังคมใดที่คนที่ดีใจเพราะ "ได้ให้"
มากกว่า มีคนที่ดีใจเพราะ "ได้รับ"
สังคมนั้นย่อมสุขเย็นและแน่นแฟ้นถาวร
ยิ่งกว่าสังคมที่มีคนตรงกันข้ามดังกล่าวนั้น.
(๒๔ มี.ค.๒๓)
(จากหนังสือโศลกธรรมสมณะโพธิรักษ์ หน้า ๖๔)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด -

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เขาคือใคร ?

ทนายสว่าง คุณานุรักษพงค์
ทนายมังสวิรัติ ปฏิบัติธรรม ทิ้งเงินเดือนเจ็ดหมื่น เห็นว่างานเบา เงินเยอะ เป็นบาป วันหยุดไปช่วยขายก๋วยเตี๋ยว ที่ชมรม มังสวิรัติ แห่งประเทศไทย ทำมาเกือบ ๒๐ ปี ใจถึงดึงลูกสาว ๒ คนเรียนสัมมาสิกขา ไม่สนว่าด้อยวิชาการ โดนใจที่นี่เน้น ศีลเด่น ขอเพียงให้ลูกมีศีล พึ่งตัวเองได้ ก็พอใจ

ทนายคุณธรรม กินมังฯแล้วหายปวดท้อง สนใจสันติอโศกอยู่ที่ไหน เมื่ออ่านหนังสือสัจจะชีวิตของพระโพธิรักษ์ ช่วยงาน ที่ชมรมมังสวิรัติ ทุกวันเสาร์ แม้จะเหนื่อย แต่ทำแล้วสบายใจ มีพลัง มีความสุขที่ได้เสียสละ

# เรื่องราวชีวิต
ผมชื่อ สว่าง คุณานุรักษพงศ์ เป็นคนกรุงเทพ เกิด ๖ ธ.ค. ๒๔๙๕ มีพี่น้อง ๑๕ คน ผมเป็นคนที่ ๘ พ่อมาจากเมืองจีน แม่เกิดที่เมืองไทย แล้วไปอยู่เมืองจีนแล้วกลับมาเมืองไทย ที่บ้านขายอาหาร ชื่อร้านซำฮั้ว (สามัคคีสาม) อยู่ซอยมังกร ถนนเยาวราช ปัจจุบันเป็นถนนมังกร

# เรียน
ผมเข้าเรียนตอนอายุ ๘ ขวบกว่า แม่อาจงานเยอะหรือลูกเยอะเลยจำไม่ได้ จบ ป.๔ จากโรงเรียนเผยอิง เรียนจีนกลาง, แต้จิ๋ว และภาษาไทย แล้วไปต่อ ป.๕ ที่โรงเรียนมหาวีรานุวัตร อยู่ในวัดไตรมิตร (วัดสามปลื้ม) ตอน ป.๖ ก็ไปสอบเทียบ ป.๗ ได้ เลยเรียนซ้ำ ป.๗ สมัยก่อนการสอบเทียบ เขาเปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาผู้ใหญ่ เขาไม่ห้ามไปสอบ แต่สอบได้ ห้ามเข้าเรียน โรงเรียนสามัญ

จบ ป.๗ ผมอายุ ๑๖ ปี เกิน ไป ๕ เดือน เข้าโรงเรียนรัฐฯไม่ได้ เลยต้องไปเข้าโรงเรียนเอกชน ชื่อ ผดุงศิษย์วิทยา เรียนม.ศ. ๒ ก็สอบเทียบ ม.ศ.๓ ได้ แต่เขาก็ห้ามเข้า ร.ร.สามัญ ก็เรียนซ้ำ ม.ศ. ๓ แล้วเรียน ม.ศ.๔ แผนกวิทย์ ที่เดิม ไปสอบเทียบ ม.ศ.๕ ก็สอบได้อีก เลยไปเอ็นทรานซ์แต่ไม่ติด ก็ไปเรียนรามฯ คณะวิทย์ฯ รุ่นพี่แนะนำให้เรียนกฎหมาย เพราะตอนนั้นคณะวิทย์ จบแล้ว หางานยาก เลยย้ายไปเรียนนิติศาสตร์ ใช้เวลา ๓ ปีครึ่ง ตอนเช้า ก็ช่วยเปิดร้าน จัดโต๊ะ ติดเตา ตอนนั้นใช้เตาถ่าน ตั้งน้ำซุป แล้วไปเรียน

# ฝึกงาน
เหลืออีก ๒ วิชาก็จบ เลยไปฝึกงานกับเพื่อนพี่ชาย ไปศาล จัดเอกสาร กลับสำนักงาน เขียนบันทึก บางครั้งไปยื่นเรื่อง ยื่นแถลง ยื่นคำร้อง ไปตามเรื่อง ไปส่งหมายนำ ซึ่งทนายใหม่ต้องฝึกพวกนี้ เป็น การฝึกงาน ไม่ได้เงินเดือน พร้อมกันนั้นผมก็เรียนเนติฯ ไปด้วย ตอนแรกมุ่งจะไปทางผู้พิพากษา แต่สอบไม่ได้

# อาชีพการงาน
หลังจากฝึกทนายมา ๔-๕ ปี ก็ไปหาลูกค้าเอง โดยมีคนแนะนำให้ ทำอยู่ ๒-๓ ปี แล้วไปทำงานสำนักงาน ชื่อ ติลลิกี แอนด์กิบบินส์ เป็นของอเมริกัน ลูกความส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ เป็นคดีเกี่ยวกับเรือขนส่ง ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะ เครื่องหมายทางการค้า เพราะคนไทย ไปละเมิดสิทธิเขาเยอะ ผมอยู่แผนกว่าความ สำนักงานนี้ตั้งมา ร้อยกว่าปี ผมทำอยู่ที่นี่ ๑๓ ปี

# มีครอบครัว
แม่บ้านเป็นญาติของลูกความที่กำแพงเพชร เป็นคนจีนแต่พูดจีนไม่ได้ เจอหน้ากัน ๓-๔ ครั้ง ผมก็พามาให้แม่ดู แม่บอกว่าดี จริงๆแล้ว ผมไม่มีความคิดเรื่องมีครอบครัว แต่คนจีนเขารบเร้าให้แต่งงาน ผมแต่งตอนอายุประมาณ ๓๕ ปี ส่วนแม่บ้าน ๒๗ ปี มีลูกสาว ๒ คน

# กินจับฉ่าย หายปวดท้อง
ต้นปี ๒๕๓๑ เพื่อนคนหนึ่งรู้จักอโศกจากหนังสือ คั้นออกมาจากศีล เขาให้อาหาร มังสวิรัติผมถุงหนึ่ง เป็นจับฉ่าย ตอนนั้นผม ปวดท้องอยู่บ่อยๆ พอกินจับฉ่ายถุงนี้แล้วหายปวด เลยถามเพื่อนว่าซื้อที่ไหน ต่อมา เขาก็เอาหนังสือ สัจจะชีวิต พ่อท่านมาให้อ่าน อ่านแล้วน่าสนใจ เลยถามว่า สันติอโศกอยู่ตรงไหน ไปยังไง

# ช่วยล้างจาน
เดือนมีนาคม ปี ๒๕๓๑ ก็นั่งรถมาสันติอโศก มาฟังเทศน์ทุกอาทิตย์ วันเสาร์เขาบอกว่ามีชมรมมังสวิรัติ อยู่ที่จตุจักร ผมก็ไป ช่วยเก็บจาน เช็ดโต๊ะ ล้างแก้ว ตอนหลังก็ไปช่วยขายสลัด ก๋วยเตี๋ยว ก็ทำอยู่อย่างนี้ จนลูกสาวคนโต ก็ตามไปด้วย ไปช่วย ล้างแก้ว เขาไม่รบเร้าให้พาไปเที่ยว พอลูกสาวคนเล็กโตหน่อย ก็พากันมาเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์ ผมช่วยอยู่อย่างนี้มา ประมาณ ๑๘ ปี

# มาช่วยล้างจานแล้วได้อะไร
ไปช่วยงานแล้วรู้สึกสบายใจ มีความสุข เหนื่อยแต่ดี ไม่มีการเสแสร้ง เราได้เสียสละ ทำให้มีพลัง อยากจะมาช่วย ช่วยจน ร้านเลิก ก็กลับบ้าน พอร้านย้ายมาอยู่หน้าสันติอโศก ผมก็มาวันอาทิตย์ ผมต้องขึ้นรถเมล์มาตลอด เพราะขับรถไม่เป็น

# เริ่มทานมังสวิรัติ
เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ผมทานคนเดียว เห็นพ่อท่านฉันข้าว ถั่ว งา มื้อเช้าผมก็กินข้าวกล้อง ถั่ว งา ถั่วก็ต้มครั้งเดียวกิน ๕-๖ วัน แล้วก็มี มะละกอ กล้วยน้ำว้า กับข้าวไม่มี ช่วงกลางวัน ก็หากินแถวที่ทำงาน แต่ไม่กินเนื้อสัตว์

ช่วงที่กินมื้อเดียวผมถูกทดสอบ ลูกความชาวญี่ปุ่น ซึ่งผมรับผิดชอบอยู่ชนะคดี พาไปเลี้ยงที่เหลาบ้าง ภัตตาคารบ้าง ๗ วัน แต่ตบะผมแข็ง ไม่กิน ตอนนั้นผมต้องอธิบาย เพราะเขาคิดว่า เราไม่ให้เกียรติเขา ตอนนั้น ผมกินมาจากบ้านเรียบร้อย

# แล้วมีปัญหาครอบครัวมั้ย
เพราะเราไม่อยากไปเที่ยวไหน อยากมาช่วยล้างจาน มาวัด และทำงานเท่านั้น แต่แม่บ้านก็ดีไม่รบเร้า ไม่เรียกร้อง ไม่ต้าน เขาหุงข้าวกล้องให้ ต่อมาลูกสาวคนโต ก็กินมังฯตาม

กินมื้อเดียวได้ไม่นาน แม่บ้านชักมีอาการ เขารับไม่ได้ ผมก็เลยกลับไปกินสองมื้อ ตอนนี้เขาดีเข้าใจขึ้นเยอะ ผมก็ยินดีด้วย ครอบครัวก็ดีขึ้น

# เพื่อนร่วมงาน
ในชีวิตกินอยู่ครั้งเดียวกับเพื่อนที่เรียนรามฯ สมัยทำงานผมนั่งกับเพื่อนได้ แต่ผมไม่กิน ผมก็แชร์เงินเท่ากัน เลี้ยงเพื่อนก็ได้ ผมเป็นคนควักไว พอผมมาปฏิบัติธรรม เขาก็ไม่มาชวนผม

# ไม่สนผู้จัดการ
กลางปี ๒๕๓๙ มีคนรู้จักดึงผมไปทำงานแบงก์ดังแห่งหนึ่ง เป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย เห็นว่าแบงก์อยู่ได้ด้วยดอกเบี้ย ทำได้ ๗ เดือน ผมก็ลาออก เพราะรู้สึกว่าเอาเปรียบ มันบาป เป็นอิทธิพลมาจากการฟังธรรม ตอนนั้นเงินเดือน ๔,๓๐๐ บาท พอยื่น ใบลาออก เขาจะให้เงินเพิ่ม แต่ผมไม่เอา ตอนนั้นคิดจะเข้าวัด มาทำงานวัด แต่ลูกสาวคนเล็กร้องไห้ บอกว่ารอให้เขาจบ ป.๖ เขาจะตามมา ผมเลยไปทำงานกับเพื่อนอีก ๓ ปี เป็นกรรมการบริษัทบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนลแอนด์แอสโซซิเอท ย่านสีลม เกี่ยวกับการลงทุน อยู่ที่นี่มีความสุข หากไม่เจอวัด คงอยู่ยาว แต่ได้สัญญากับลูกสาวไว้ว่า ทำแค่ ๓ ปี เขาให้เงินเดือน ๕๕,๐๐๐ บาท โบนัส ๔ เดือน เฉลี่ยเดือนละ ๗๓,๐๐๐ บาท

# ลาออกไม่เสียดายเหรอ
ก็ครบ ๓ ปีตามสัญญา งานสบาย นั่งห้องแอร์ เงินเยอะ งานเบา กลัวบาป ตั้งใจว่าจะมาทำงานให้วัด แล้วลูกสาวก็มาเรียน สัมมาสิกขา พอดีผมก็ป่วย ลูกสาวก็ปวดท้องปวดหัว

# ว่าที่ซินแส
ตอนเป็นทนายไปรู้จักกับหมอจีน เขาถ่ายทอดตำรายาให้ ผมชอบศึกษา ไม่พอใจ หมอแผนปัจจุบัน ถามอะไร ก็ไม่บอก รายละเอียด ถามมากก็ว่า เลยรักษาเองดีกว่า แม้ผมมีประกัน แต่ผมก็ไม่เบิก

ตอนเป็นทนายไม่มีเวลามาศึกษาเรื่องนี้ ตอนนี้มีเวลาก็ได้ศึกษา เอาร่างกายเราลองยา บางทีก็ดี บางทีก็ผิดพลาด

# เอาลูกมาเรียนสัมมาสิกขา
ผมเห็นการศึกษาข้างนอก โอย..ไม่ไหว ผมไม่ชอบ เด็กไปเต้นเยิ้วๆอยู่กลางถนน ลูกมาเรียนที่นี่ ผมว่าลูกผมดีขึ้นนะ ทางแม่บ้านไม่ค้าน เขาเห็นเด็ก พอขึ้น ป.๖ เริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มกระด้าง จะดื้อ แข็ง แม่จะเอาไม่อยู่ แต่พอเขามาเรียนที่นี่ เขาดีขึ้น เป็น อีกชีวิตหนึ่ง ผมว่าเพราะเขาต้องมาต่อสู้ มาลำบาก เขาต้องปรับตัว เรื่องแข็งกระด้างเปลี่ยนไป ดูแล้วก็ดี

# ไม่กลัวลูกด้อยวิชาการ
ผมได้สนใจเรื่องวิชาการ ผมก็จะทิ้งอยู่แล้ว เอาไปทำไมวิชาการ แล้วสมัยก่อน ผมก็เรียนมามากมาย ไม่ได้เอามาใช้ก็เยอะ คืนโรงเรียนไปหมด

เป้าหมายที่ให้ลูกมาเรียน เพื่อให้เขาเป็นคนดี แล้วช่วยตัวเองได้ ผมก็บอกแม่บ้านว่า ถ้าหากว่าเขาช่วยตัวเองได้ ใช้เวลาน้อย โตไป ก็ไม่เป็นภาระกับเรา เด็กมีความรับผิดชอบ ดีกว่าที่เราจะไปเลี้ยงเขาตลอดชีวิต คือขอให้เด็กมีศีล แล้วดี เพราะที่นี่เน้นศีล คือศีล จะขัดเกลาให้ดี ศีลพาให้คนดี มีศีลแล้วไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้ ทนายตกงานแน่ แต่สังคม มองตรงนี้ไม่ออก

ลูกผมดีขึ้นนะ แม่บ้านเขาก็เห็น เด็กดีขึ้น พอเห็นลูกคนโตเปลี่ยน เขาก็เอาคนเล็กเข้ามา ถ้าเรียนข้างนอก คงจะรุนแรง แม้เขาจะเรียนแค่ ๓ ปี ทั้งที่ผมอยากให้เขาจบ ม.๖ ที่นี่ แต่เขาได้ความขยัน ผมไม่เคยรบเร้าเรื่องเรียน เขามุ่งเรียน ผิดกันคนละคน เอาใจใส่มาก จนได้รับคำชมเชย

# สิ่งที่ได้จากการปฏิบัติธรรม
ทำให้ได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น อ่านกิเลสได้บ้าง จับได้ แล้วควบคุมได้ ยกเว้นตัวหนาๆ เหนียวหนึบ แต่มันบางลง เมื่อก่อนมันใหญ่ กิเลสมักจะมาทีเผลอ เราได้เรียนรู้ ปฏิบัติธรรมแล้วสนุก รบกับกิเลสสนุก

ไม่มีใครผมก็อยู่คนเดียวได้ ปฏิบัติธรรม จะให้กิเลสแต่ละตัวเกลี้ยงไม่ใช่ของง่าย เพราะบางตัวไม่ใช่จะต่อสู้ได้ง่ายๆ แล้วเรา ก็ต้องเอื้อคนอื่นด้วย ลูกเมียด้วยไปไหวมั้ย ทิ้งไปเลย ใจก็ไม่แข็งพอ ก็ช่วยแม่บ้านไป วันหนึ่งเขาไม่ต้องอาศัยเราแล้ว

# ฝาก
ผมว่าชีวิตหนึ่ง ถ้าไม่มาเรียนรู้ไม่มาปฏิบัติธรรม ผมว่าเสียดายเหมือนกันนะ มิฉะนั้นเราก็ไปตามโลกๆ แข่งกับเขา แย่งกับเขา ผลสุดท้าย เราก็เป็นฝ่ายแพ้ เพราะไม่มีที่จบ แล้วจะทุกข์มากกว่านี้ เมื่อเรามาปฏิบัติธรรมอย่างน้อยเราก็รู้ทุกข์ของเรา ต้องมา ศึกษาตัวเอง ตำราพิชัยสงครามฉบับภาษาจีน บอกไว้ว่า คุณตีเมือง ได้สิบเมือง ก็ไม่สู้คุณเอาชนะใจตัวเองได้ แต่ทำอย่างไร เราถึงจะชนะใจตัวเอง ถ้าไม่มาศึกษาเรียนรู้ว่ามันคือกิเลสตัวไหน

ตอนยังไม่รู้จักธรรมะ มีคนถามผมว่าชีวิตต้องการอะไร ผมตอบโดยไม่ได้คิดว่า ก่อนตายต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ตอนหลัง มารู้ว่าเอาชนะใจตัวเอง คือเอาชนะกิเลส ถ้าเราไม่ศึกษา เราก็เสียดาย แม้เราศึกษาแล้วเราแพ้ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ศึกษา.

- บุญนำพา รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


แม่ดีเด่นแห่งปี
พร้อมสละโล่เพื่อลูก

แม่บัวทอง บัวแก้ว ได้รับรางวัลแม่ดีเด่นแห่งปีของ จ.เชียงใหม่ แต่ในวันที่รับโล่ เธอจะต้องไปรับขวัญลูกในวันแม่ ที่ชุมชน ภูผาฟ้าน้ำ เธอคิดหนักตลอดคืน ว่าจะไปเอาโล่ หรือ เอาลูก ในที่สุดเธอก็ยอมทุกอย่างเพื่อลูก

ก็สมแล้วกับรางวัลแม่ดีเด่นในปีนี้ของคุณแม่บัวทอง ต่อไปนี้เป็นประวัติ และความรู้สึกนึกคิดของแม่ดีเด่นคนนี้

แม่บัวทอง มีบุตรชาย ๒ คน คนโตเรียนอยู่ชั้น ม.๒ ร.ร.สัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ คนที่สองเรียนอยู่ ร.ร.เทศบาล วัดศรีปิงเมือง

ภูมิลำเนาเดิม อาศัยอยู่ จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันเธอย้ายมาตั้งรกรากอยู่ จ.เชียงใหม่ได้ ๑๐ ปีกว่าแล้ว

มีความคิดเห็นอย่างไร จึงตัดสินใจส่งลูกคนโตมาเรียน ร.ร.สัมมาสิกขา ?
- รู้สึกว่าสภาวะข้างนอกไม่ค่อยดี สภาพแวดล้อมไม่ดี เลยคิดเอาน้องปอนมาเรียนที่นี่ดีกว่า จะได้ศึกษาพระธรรม มีโอกาส ที่จะแก้ไขภายใน และจะได้ฝึกหัดย้อนมองดูตัวเอง เพราะถ้าอยู่ข้างนอก น้อยนักที่จะได้หัดมองดูตนเอง เขาจะไม่สามารถ แยกแยะได้เลยว่า เขาทำถูกหรือทำผิด แต่ถ้าเรียนที่นี่เขาจะสามารถแยกแยะได้ เมื่อเขามีการศึกษาหรืออยู่ที่นี่นานๆ

เพราะเหตุใดจึงคิดตัดสินใจมาร่วมงานวันแม่กับลูกที่นี่ ไม่ไปรับโล่รางวัลแม่ดีเด่นแห่งปี ?
- คิดถึงลูกว่า ลูกคงจะรอคอยแม่อยู่เวลานี้ สิ่งนั้นก็สำคัญ สิ่งนี้ก็สำคัญ แม่มาพิจารณาดูแล้ว ลูกคือสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่น โล่อาจเป็นเพียง แค่เครื่องประกอบคุณงามความดี สิ่งสำคัญกว่านั้น ลูกต้องการเราที่สุด และมีคุณค่าที่สุด ที่ได้เห็นหน้าลูก ลูกก็รักแม่ ส่วนแม่ก็อาลัยหาลูกว่า อันนั้นสำคัญ แต่ลูกสำคัญยิ่ง

เพราะเหตุอะไรจึงได้รับเลือกเป็นแม่ดีเด่นแห่งปี?
- ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้รับโล่ รับเกียรติ แม่เองก็ไม่ได้ทราบตัวเองเหมือนกันในก่อนหน้านี้ ไม่ได้รู้สึกตัวเองว่าได้ทำดี หรือ เป็นอะไรที่ดีเด่น แต่เราก็ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่เขาจับตาดูอยู่ คณะครูก็ดูอยู่ว่า เราจะสามารถเป็นแม่ดีเด่น ภายในปีนี้ได้ไหม? อยู่ในการพิจารณา ของคณะครูทั้งหลายว่า สิ่งที่เราทำลงไป เราทำด้วยความจริงใจ ทั้งที่ว่า ให้ความร่วมมือ กับทางโรงเรียน สิ่งใดที่ทางโรงเรียน ต้องการช่วยเหลือได้ เราก็ช่วยเหลือ ถ้าเราลงมือเองได้เราก็จะลงมือ

สุดท้ายนี้ มีข้อคิดหรืออะไรอยากฝากแก่บรรดาคุณแม่หรือลูกๆบ้าง?
- แม่ส่วนมากจะเข้าใจลูกหมดทุกๆ คน แต่ด้วยบางอย่างแม่ก็อาจจะตอบไม่ได้ อันนี้ด้วยความรู้สึกของแม่ บางครั้ง ก็ถ่ายทอด ไม่ได้ พูดไม่ได้ มันเป็นจิตวิญญาณ มันระบายออกมา บรรยายไม่ได้ จะให้พูดแทนแม่ทุกคนก็พูดไม่ได้ แต่อยากให้รับรู้ว่า ทุกคน ที่เป็นแม่ มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่หมด อยู่ที่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน แม่ทุกคนรักลูกทุกคน สายใยที่ว่าลูกกับแม่มี ก็มีแน่นอน น้อยหรือเยอะขึ้น อยู่ที่จิตใต้สำนึก มโนธรรมของเขาเอง.

- หญิง สส.ภ. รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,600 ฉบับ

[อ่านข่าวอโศกฉบับย้อนหลัง]

: