ฉบับที่ 265 ปักษ์หลัง16-31 ตุลาคม 2548

[01] เส้นทางอาริยชน
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "เราจะเป็นครูตลอดชีวิต"
[03] ชาวอโศกร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯ มีพระชนมายุ ๕๐ พรรษาณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คลองไผ่:
[04] รายการมันแปลกดีนะ มาถ่ายทำคนชื่อแปลกๆ ที่หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก
[05] ชาวบ้านอำเภอบางสะพาน ย้อนประเพณีเดิม'ลงแขก'ผลิตปุ๋ยอินทรีย์
[06] สกู๊ปพิเศษ:สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] ชมรมมังสวิรัติเชียงใหม่ จัดมหกรรมอาหารเหมาจ่าย อิ่มละ ๒๐, ๑๕, ๑๐, ๘ และ ๕ บาท
[08] สบู่ฆ่าเชื้อโรคไม่ได้วิเศษไปกว่าสบู่ธรรมดา
[09] เชื่อมร้อยเครือข่ายโรงเรียนชาวนาคุณธรรมฯ ไตรมาส ๒/๔๘
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] แนะรัฐอุดรูรั่ว กม.ห้ามเติมน้ำตาลในนมทุกชนิด เปิดผลวิจัย พบเด็กไทยไม่สิ้นกลิ่นหวาน:
[12] กวาดขยะเลี้ยงพ่ออัมพฤกษ์ ครูปลื้ม ม.๖ ขยัน-เรียนดี
[13] นางงามรายปักษ์ ชื่อเดิม กองศรี วะลิวงศ์
[14] ปฏิทินงานอโศก:
[15] :สังคมวัตถุนิยม ทำความสัมพันธ์ในครอบครัวยิ่งห่าง!!
[16] ข่าว:บึ้ม...อีกราย


เส้นทางอาริยชน

พ่อท่านเคยสอนชาวเราว่า ผู้ไม่ทบทวน ย่อมไม่มีทางบรรลุธรรม ดังเช่นที่พ่อท่านได้นำพานิสิต ม.วช.ฝึกทบทวนตัวเองเสมอๆ นิสิตที่เข้ามาฝึก จะทบทวนตัวเอง ในรอบสัปดาห์ ตัวเองมีผัสสะอะไร(บุพเพนิวา สานุสติญาณ) เกิดกิเลสตัวใด (จุตูปปาตญาณ) แล้วดับมันลงได้อย่างไร (อาสวักขยญาณ) ซึ่งครูบาอาจารย์และเพื่อนๆ จะได้ฟัง และมีส่วนเสริมวิธี ปฏิบัติธรรม ตามที่ตัวเองได้ผลให้แก่กัน

ผู้ฟังก็จะเกิดสัมมาทิฏฐิมากยิ่งขึ้น

พ่อท่านได้สอนพวกเราอีกว่า การทบทวนที่ดีที่สุดก็คือ เมื่อขณะผ่านไปเราก็ทบทวนกันได้ทันทีว่า เมื่อกี้เรามีสภาวะอย่างไร แล้วจะทรง สภาวะ นิพพานได้อย่างไร นี่แหละคือ เส้นทางอาริยชน.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



เราจะเป็นครูตลอดชีวิต

พ่อท่านแม้อายุจะยาว งานจะมาก และก็มีเรื่องที่จะเขียนมาก สูตรนั้นสูตรนี้เห็นว่า น่าจะเอามาขยาย แต่ก็ยังไม่มีเวลาพอจะได้ เอามาขยาย

พ่อท่านได้พูดถึงคำว่า "นิสิต" ว่าแปลว่า ผู้อยู่ประจำ มิใช่จรไปจรมา อย่างเช่น นิสิตจุฬาฯ ก็อยู่กับที่เป็นหลัก

การศึกษา ไม่ใช่ นักอ่านตำรา แต่เรียนรู้สิ่งที่ใกล้ตัวไปตามลำดับ การอ่านตำราก็เป็นส่วนหนึ่งในการมีความรู้เสริม

โยนิโส คือ ถ่องแท้

มนสิการ คือ ทำในใจให้ได้ ให้เป็นปรมัตถ์แท้

คนที่ได้ปัญญาบัตร คือ คนที่ไม่อยากได้ปัญญาบัตร เพราะเขามีแล้วเป็นแล้ว

การสอน การบังคับก็ดีอยู่ แต่ไม่ลึก แต่การที่เขาสนใจ ใส่ใจ ใส่ใจที่จะรับนั่นแหละ ยอดเยี่ยมที่สุด

ครูที่ไม่สามารถมีศิลปะ ทำให้ นักเรียนมีอิทธิบาทในการศึกษาได้นั่น เป็นความล้มเหลวของครู

จงมาเรียนรู้เป็นมนุษย์ประเสริฐ คือ เราไม่สะสม
ความรู้ในการสร้างอาวุธ เป็น ความรู้ที่เลวที่สุด
ความรู้ ในการฆ่าสัตว์ ขายเนื้อสัตว์เป็นความรู้ที่เลว
ความรู้ ในการสร้างสิ่งมอมเมา ในการสร้างอบายมุข เป็นสิ่งเลว
ความรู้ ในการสร้างยาพิษ เป็นสิ่งที่เลว

ดังนั้น พวกเราได้อ่านธรรมะพ่อท่านฉบับนี้แล้ว ก็คงได้หันมาสำรวจตนว่า เรามีความรู้ในเรื่องใดและไม่ว่าเรื่องใด เราก็จะเป็นครู ของทุกคน ที่อยู่ใกล้เรา

เพียงแต่ว่า การเป็นครูตลอดชีวิตของเรานั้น จะเป็นเรื่องดี หรือ เรื่องร้ายในสังคม.

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



ชาวอโศกร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯ มีพระชนมายุ ๕๐ พรรษา
ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คลองไผ่

พ่อท่านรับนิมนต์ ไปอภิปราย มีผลงานด้านเกษตรธรรมชาติ นร.สัมมาสิกขาฯ น้อมเกล้าถวายของ

เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา และในโอกาสที่ โครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนิน กิจกรรมต่างๆมาครบ ๑๒ ปี

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ แด่องค์ประธานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จึงจัดงานประชุม วิชาการและนิทรรศการ "ทรัพยากรไทย : สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว" ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา วันที่ ๑๙ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ เป็นการแสดงนิทรรศการ ผลงานศึกษาวิจัย ของหน่วยงาน ที่ร่วมสนองพระราชดำริ และสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ในเรื่องธรรมชาติ ของทรัพยากรทางชีวภาพ และกายภาพ ตลอดจนความสัมพันธ์ ระหว่างทรัพยากรต่างๆที่จะนำไปสู่การจัดการ ให้พืชป่ากลายเป็นพืชปลูก สัตว์น้ำ กลายเป็น สัตว์เลี้ยง เพื่อให้เห็นในคุณประโยชน์ และอนุรักษ์ทรัพยากร

ภายในงานมีนิทรรศการ การประชุมวิชาการ ผลงานด้านเกษตรธรรมชาติ แปลงผักปลอดสารพิษ ผลงานสวนพฤกษศาสตร์ โดยโรงเรียน นักเรียน ครู หน่วยงาน ส่วนราชการ มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา นักวิจัย คณะปฏิบัติงานวิทยากร เกษตรกร เครือข่ายเกษตรกร องค์กรอิสระด้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจาก นี้ยังมีการแสดงบนเวที สะท้อนภูมิปัญญาพื้นบ้าน การแสดงดนตรี หนังตะลุง ดีเก ฮูลู หมอลำ ฯลฯ

วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ชาวเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) ทั้งสมณะ อาๆ คุรุ นักเรียน ต่างทยอยเข้า พื้นที่จัดงาน มีทั้งสันติอโศก ปฐมอโศก ศีรษะอโศก สีมาอโศก วังน้ำเขียว เมฆาอโศก ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนอินทร์บุรี ธรรมทัศน์ สมาคม สมาคมศิษย์เก่า สัมมาสิกขา วันนี้เป็นวันเตรียมงาน รถหกล้อ บรรทุกของอุปกรณ์ต่างๆมาถึง พวกเราช่วยกัน ขนของเข้าซุ้ม ซึ่งเรียงรายอยู่ ตามแนวป่าจำนวน ๙ ซุ้ม โดยแบ่งเป็นเครื่องผลิตไบโอแก๊ส จำหน่ายปุ๋ยแห้ง - ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ซีดี วีซีดี หนังสือและขายอาหารมังสวิรัติ สินค้าทุกอย่างที่นำมา เผยแพร่ในงานนี้ขายราคาต่ำกว่าทุน ส่วนซุ้ม คกร. อีก ๑ ซุ้ม ตั้งอยู่ริมถนน ซึ่งเป็นทางที่ สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จผ่าน ทางศีรษะฯ รับจัดซุ้ม นิทรรศการ และสาธิตการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้เครื่องผลิตปุ๋ยขนาดเล็ก ด้านโรงครัวกลาง ทางชาววังน้ำเขียว รับเป็นเจ้าภาพ ทำอาหารเลี้ยงตลอดงาน

ส่วนที่พักทางเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินให้พวกเราพักที่อาคารเรียนแบ่งชายหญิงคนละอาคาร พักได้ห้องละ ๔๐ - ๕๐ คน และ มีบ้านพักสมณะ ๒ หลัง พวกเราบางส่วน ก็กางกลด หรือกางเต็นท์ที่ซุ้มเพื่อเฝ้าของ ตอนกลางคืนอากาศเย็นสบาย แต่มียุงลายมาก กัดคัน

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ วันเปิดงาน มีเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ที่จะถวายฯของให้นำของนั้น มาส่งตรวจที่ กองอำนวยการ เรานำหนังสือ ๙ เล่ม แผ่นพับ ๑ ชุด วีซีดี ๓ เรื่อง ไปส่งตรวจ ทางตำรวจ ให้หาพานมารองรับหนังสือ ที่จะน้อมเกล้าถวาย ในงานนี้ทาง คกร. ได้มอบหมาย ให้นักเรียนสัมมาสิกขา เป็นตัวแทน น้อมเกล้าถวายของ และมีเสียง ประกาศต่ออีกว่า ช่างภาพ ที่จะถ่ายภาพรับเสด็จ ให้นำกล้องมาตรวจ ที่กองอำนวยการ ช่างภาพที่เป็นตัวแทนจาก คกร. ๔ คนได้นำกล้อง ไปให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจสันติบาลตรวจ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพรับเสด็จ เพราะไม่มี หนังสือขออนุญาต จากสำนักพระราชวังฯ กรณีกล้อง ถ่ายภาพนิ่งดิจิตอล ก็ไม่อนุญาตให้ถ่าย อนุญาตให้เฉพาะกล้อง ใช้ฟิล์ม เท่านั้น ทางนายตำรวจ ที่เป็นหัวหน้าหน่วย อารักขาความปลอดภัย สำนักพระราชวัง ชี้แจงปัญหาต่างๆ ให้ทราบ และเราได้ สอบถามข้อสงสัย เกี่ยวกับความเหมาะสม ของเครื่องแต่งกายชาวอโศก ในระหว่างการรับเสด็จฯ ยกตัวอย่าง ให้พิจารณา ๒ แบบ คือ

๑. เสื้อคอพระราชทาน ไม่มีตราโลโก้ ที่กระเป๋าเสื้อ กางเกงขาก๋วย ไม่ใส่รองเท้า
๒. เสื้อคอพระราชทาน มีตราโลโก้ ที่กระเป๋าเสื้อ กางเกงขาก๋วย ไม่ใส่รองเท้า

หัวหน้าฯตอบว่า แบบ ๒ ใช้ได้ เพราะตราโลโก้บ่งบอกถึงหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน ส่วนการไม่ใส่รองเท้าเป็นการ แสดงออก ที่สุภาพเรียบร้อยแล้ว กรณีใส่รองเท้าแตะ แลดูไม่สุภาพ ไม่เรียบร้อย เราจึงได้คำตอบ ที่ตอกย้ำความมั่นใจว่า การแต่งกาย แบบชาวอโศก ไม่ใส่รองเท้านั้น เหมาะสม ถูกควรแล้ว และควรใส่เสื้อ ที่มีตราโลโก้ เช่น สถาบันบุญนิยม โรงเรียน สัมมาสิกขา ชุมชน เป็นต้น

วันพฤหัสที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ เวลา ๐๙.๐๐ - ๐๙.๒๐ น. นายสุนัย เศรษฐ-บุญสร้าง กรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำ กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เปิดการประชุมวิชาการ วาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ณ หอประชุมโรงเรียน คลองไผ่วิทยา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

๐๙.๓๐ - ๑๒.๐๐ น. อภิปรายเรื่อง "ขบวนการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง" โดยสมณะ เสียงศีล ชาตวโร นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายมานพ อำพันธุ์ ดำเนินการอภิปราย

๑๓.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. อภิปรายต่อจากภาคเช้า มี นายประยงค์ รณรงค์ นายวริสร รักพันธุ์ นายอำนาจ หมายยอดกลาง นายชมภู เบ้าทอง นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต ดำเนินการอภิปราย

วันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ พ่อท่านเดินทางมาจาก อ.ปากช่อง ถึงโรงเรียนคลองไผ่วิทยา อ.สีคิ้ว เพื่อมาร่วม อภิปราย เรื่อง "ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี"

๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. มี นายวิจิตร บุญสูง ประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ดร.ชวลิต หมื่นนุช รองอธิบดี ฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ดำเนินการอภิปราย

วันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๘ ๑๓.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. อภิปรายเรื่อง "จากอดีตสู่ปัจจุบัน และความท้าทายเพื่อแผ่นดิน" โดย นายเดชา ศิริภัทร นายคำเดื่อง ภาษี นายธีระ วงศ์เจริญ นายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ นายวิชม ทองสงค์ นายกิจติกร กีรติเลขา ดำเนินการอภิปราย

งานนี้ก็จบลงด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาก่อน เข้าฤดูหนาว ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงกันทุกผู้ทุกคน เด้อท่าน สำนึกดี มีอภัย

- คนเดินทาง -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



รายการมันแปลกดีนะ มาถ่ายทำคนชื่อแปลกๆ ที่หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก

เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ รายการมันแปลกดีนะซึ่งถ่ายทอดทางโทรทัศน์ช่อง ๙ ได้มาถ่ายทำชื่อคนแปลกๆที่หมู่บ้าน ชุมชน ราชธานีอโศก ทีมงานถ่ายทำ ได้เดินทาง มาถึงหมู่บ้านเวลา ๑๔.๓๐ น. คุณตายแน่ และคุณถึงดิน มุ่งมาจน คอยต้อนรับ หลังจากนั้นได้พา คณะถ่ายทำเดินชม หมู่บ้าน ไปพบและสัมภาษณ์ พ่อท่าน ที่เรือพี้นิพพาน ใช้เวลา ๑๕ นาที ในช่วงเวลา ๑๕.๓๐ น. เริ่มถ่ายทำการสัมภาษณ์ คุณตายแน่และคนในหมู่บ้านที่มีชื่อแปลกๆ มีทั้งเด็ก, ผู้ใหญ่และสมณะ ประมาณ ๒๐ คน การถ่ายทำรายการ เสร็จสิ้น ประมาณ ๑๗.๐๐ น. คณะทำงาน จึงเดินทางกลับ รายการที่ถ่ายทำในวันนี้ จะออกอากาศในวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ช่วงเวลา ๑๔.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. ความรู้สึกของ ผู้มาทำรายการมีดังนี้

คุณสงวนศักดิ์ หาปัญนะ ฝ่ายศิลปะ "มาที่นี่ร่มเย็นดี ชอบบรรยากาศ เงียบดี การมาถ่ายทำเราก็ไปถ่ายที่อำเภอเรื่องการทำบัตร ประชาชน ของคุณตายแน่ ผมได้ยินชื่อนี้ ครั้งแรก มีความรู้สึกว่าไม่น่าจะมีคนมาตั้งชื่อแบบนี้ แต่พอได้มารู้จัก ได้มาเจอ แบบนี้แล้ว ฟังแล้วเข้าใจขึ้น เป็นการตั้ง เพื่อให้ได้คิด มาทำงานในวันนี้ เมื่อได้ยินชื่อ คนเหล่านี้ ก็ได้คิดตามไปด้วย พอได้ยิน ชื่อแปลกๆ ถ้าผมจะตั้งชื่อสำหรับตัวเอง โดยไม่ต้องเปลี่ยน ในบัตรประชาชน ผมอยากชื่อว่า นายกล้ามาก"

คุณกาญจนา อินทรสังขา ครีเอทีฟของรายการมันแปลกดีนะ "รายการมันแปลกดีนะของบริษัทแกรมมี่เทริวิชั่น ผู้ผลิตรายการ ช่อง ๙ โมเดิลนายทีวี ซึ่งมีฝันดี-ฝันเด่น เป็นพิธีกรรายการ ที่ได้ทำเรื่องนี้ เพราะไปอ่านหนังสือพิมพ์เจอว่า มีคนชื่อนายตายแน่ มุ่งมาจน มันแปลกดี คนอะไรจะมาชื่อนี้ ตอนที่เห็นครั้งแรก ก็บอกว่าบ้าหรือเปล่า ที่ตั้งชื่อนี้ เพราะว่า คนข้างนอก เขาจะไม่ตั้งชื่อ แบบนี้ เพราะคิดว่าเป็นการแช่งตัวเอง แต่พอวันนี้ได้มาคุย ก็เข้าใจว่าเป็นสัจธรรม เรื่องของที่นี่ ก็จะเป็นอีก แนวหนึ่ง ซึ่งคนที่ไม่ได้มาสัมผัส ก็จะไม่เข้าใจว่าที่นี่ดำเนินชีวิตอย่างไร ไปสัมภาษณ์ที่อำเภอ เขาก็บอกว่าที่นี่ ไม่ได้แปลก เพราะหมู่บ้าน นี้จะเปลี่ยนชื่อกันทั้งนั้น พอมีคนไปเปลี่ยน ก็เปลี่ยนให้เลย แต่ที่กรุงเทพฯ เขาจะสงสัยว่า มีด้วยเหรอ คนชื่อนี้ เราจึงพยายามทำรายการ ให้คนได้เห็นหน้าค่าตา ว่าคนชื่อแปลกแบบนี้ก็มี

ซึ่งนอกจากที่นี่แล้วยังได้ถ่ายทำที่กรุงเทพฯซึ่งมีอยู่ ๒ ครอบครัวนามสกุล ว่าจู๋กระจ่างและจู๋ยืนยง พอพูดว่าจู๋คนจะเข้าใจว่าเป็น อวัยวะเพศ หรือเปล่า และก็มีคนชื่อ สมชาย อสุจิจัญไร ซึ่งจะออกอากาศ ในเวลาเดียวกัน คนในโลกนี้ ก็มีอะไรแปลกๆอีกเยอะ ได้เข้ามาที่หมู่บ้านนี้ ก็รู้สึกแปลกตา แปลกใจ ว่าอะไรหลายๆ ใน ที่นี้ มันไม่เหมือนข้างนอก อยู่กับธรรมชาติ และอยู่กันแบบ ร่มเย็นเป็นสุข รู้สึกดีค่ะ"

คุณธานี นทีพิทักษ์ ช่างกล้อง "มาที่นี่อาจจะยังไม่เห็นทั้งหมดแต่ก็รู้สึกดี ความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อชื่อตายแน่ ก็ไม่รู้สึกอะไรมาก ยิ่งมารู้ว่า การที่เขามาอยู่ ในพุทธสถาน และมีความเชื่อในการดำเนินชีวิต มันเป็นสิทธิของเขา ผมว่าที่นี่เป็นศาสนาพุทธจริงๆ ทุกคนอยู่กันอย่างเรียบง่าย ไม่ต่อสู้แก่งแย่งแข่งขันกัน และอยู่อย่าง ตามรอยพระพุทธเจ้า ตามรอยพระเจ้าอยู่หัวด้วย"

คุณตายแน่ มุ่งมาจน "ผมว่าเขาคงมาตามเรื่องแปลกๆ สังคมข้างนอกถ้ายินชื่อ ตายแน่ มุ่งมาจน ก็แปลกอยู่แล้ว เขาก็มาตาม แนวทางของเขา

แต่ผมว่าพอเขาได้มาสัมผัสพวกเราอากัปกิริยาเขาเปลี่ยนไป คือเขามาเห็นมิติทางสังคมของเราที่ลึกมีหลายชั้นและมีอะไร ที่น่าสนใจ เยอะแยะ ครั้งแรก เขาก็คงคิดว่า ผมคงบ้าๆ บอๆ แต่พอมาเห็นวิถีชีวิตของพวกเรา มันไม่ได้มุ่งมาจนคนเดียว มุ่งมาจนทั้งหมู่บ้านและคนที่นี่ ก็มีแนวคิด มีความเชื่ออย่างนี้ ความคิดที่เขาคิดว่า ผมสติเพี้ยนๆ ก็คงจะคลาย ไป ปฏิกิริยาของชาวบ้านราชฯ ก็ดีให้ความร่วมมือดี และก็ได้ไปสัมภาษณ์ พ่อท่าน พ่อท่านก็บอกว่าสิ่งที่แปลก มันไม่ได้มีแค่นี้ สิ่งที่แปลกคือ คนทั้ง หมู่บ้าน ถือศีล ๕ ละอบายมุข และไม่ได้รับรายได้เงินเดือน เป็นสิ่งที่แปลก พ่อท่านบอกว่า ในหมื่นปี ที่ผ่านมา ไม่มีชุมชนสังคมแบบนี้ ไม่มีคนแบบนี้ แต่ที่นี่กำลังทำ กำลังเกิด ผมว่าเขามาครั้งนี้ เขาเก็บอะไรไปได้ครบ มีหลายด้านหลายอย่าง ที่เขาอยากรู้ เขาคงได้รู้แล้ว".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



ชาวบ้านอำเภอบางสะพาน ย้อนประเพณีเดิม'ลงแขก'ผลิตปุ๋ยอินทรีย์

ความเสื่อมโทรมของพื้นที่เพาะปลูกกว่า ๗๕ % หรือราว ๙๘ ล้านไร่ในประเทศไทย เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช ในอัตราที่สูงขึ้นทุกๆปี บรรพบุรุษไทยเป็นเกษตรกรที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาของธรรมชาติวิทยาจากคน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ธรรมชาติ จะสร้าง และทำลายกัน อย่างสมดุล วัฏจักรจึงครบวงจร ชีวิตที่เอื้อพึ่งพากันได้ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อันทันสมัย ช่วยมนุษย์ ย่นระยะเวลา ทุ่นแรงงานสนองตอบทุกความ ต้องการได้ ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช ก็อยู่ในข่ายนี้ เช่นกัน กลางปี ๒๕๔๗ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพให้แพร่หลายถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนจนกลายเป็น "วาระแห่งชาติ" ระยะเวลา ๕ ปี

โครงการ "หยุดสารพิษ ลดปุ๋ยเคมี ๒๕๕๐ และฟื้นฟูสมรรถภาพดิน ๒๕๕๒" เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ โดยมีกระทรวง เกษตร และสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ ได้ถูกนำมาปฏิบัติในไร่นาของชาวบ้านที่อำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

"เป็นการส่งเสริมให้อำเภอเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย และปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ของชาติ ผมจึงหารือกับทางเกษตรอำเภอ ลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งพบว่าชาวบ้านที่นี้ เขารู้จักและนิยมการใช้ปุ๋ยเคมี เราจึงคุยกันครับ ชาวบ้าน หัวหน้าชุมชน ให้ความร่วมมือ ดีมากครับ เขาแข่งขันรวมกลุ่มกัน จนผมแน่ใจว่า มีความพร้อม จึงเดินหน้า ขอความร่วมมือ การสนับสนุนจากภาคเอกชน มาจุดประกาย ให้ชาวบ้าน จนสำเร็จในการลงมือทำกันแล้วครับ" ประดิษฐ์ ยมานันท์ นายอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าถึงการเริ่มต้น ใช้ปุ๋ยอินทรีย์

สำหรับชาวบ้านได้ลงมือทำปุ๋ยอินทรีย์กันได้แล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ๗๐ หมู่บ้านของอำเภอบางสะพาน มีเป้าหมาย ที่จะผลิต ปุ๋ยอินทรีย์หมู่บ้านละ ๑๐ ตันเป็นอย่างน้อย ใครอยากเข้าร่วมก็มาได้กลุ่มละ ๑๐ คนขึ้น ช่วยกันลงมือลงแรง แล้วแบ่งกันไปใช้

"เรามีเกษตรกรอำเภอเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำเรื่องสูตร ส่วนผสม มี หมอดินท่านผู้เฒ่าวัย ๗๐ ประจำหมู่บ้าน คอยแนะนำ เรื่องเทคนิค ชาวบ้านช่วยกันทำ ผมว่าจะทำให้ บ้านเราประหยัด ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี" คุณประยูร ไพรพล หนึ่งในผู้ใหญ่บ้านของ ๗๐ แห่งของอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม ตั้งความหวังไว้ว่า วัตถุดิบในการจัดทำ ปุ๋ยอินทรีย์มาจาก ภาคเกษตรกว่า ๙๐ % อย่างเช่น ขุยมะพร้าว มูลสัตว์ ผักผลไม้ ฯลฯ นำมากองทับกันเป็นชั้นๆ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทิ้งไว้ตามระยะของสูตร ใช้รถ ไถกลับ ให้ทั่วกัน ทิ้งไว้ราว ๓ เดือน สมาชิกในกลุ่มมาตักขุดไปใช้ได้ ในส่วนมะพร้าว ไร่สับปะรดได้ผลดี ประหยัดเงิน ลดขยะ ชาวบ้านแน่นแฟ้นกันมากขึ้น หากสำเร็จ อีกหน่อยคงทำกันได้ ทั่วประเทศแน่

โครงการนี้มีภาคเอกชนเครือสหวิริยา ร่วมสนับสนุน โดยมอบเป็นเงินก้นถุงให้ชาวบ้านทำปุ๋ยอินทรีย์ตันละ ๕,๐๐๐ บาท

"เมื่อก่อนพวกเราไม่เคยทำกันเป็นกลุ่มขนาดนี้ อย่างเก่งบ้านไหนอยากทำก็ทำเอง คราวนี้ทำกันทั้งหมู่บ้าน คนบางสะพานตื่นตัว กันดีครับ" ผู้ใหญ่ประยูรกล่าวในที่สุด

นับว่าเป็นโครงการตัวอย่างที่น่าจะขยายไปยังชุมชนอื่นๆต่อไป.
(จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๕ พ.ค.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



* สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร

จากการไปศึกษาดูงานพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สมณะเดินดิน ติกขวีโร มีข้อคิดอะไรมาฝากท่านผู้อ่านบ้าง ขอเชิญติดตามได้ค่ะ

# ในช่วงกลางพรรษาได้ข่าวว่าท่านไปไต้หวัน ไปดูงานเกี่ยวกับเรื่องอะไรคะ?

ทางศูนย์คุณธรรมได้นิมนต์ให้ไปดูการทำงานของทางศาสนามหายานที่เขาออกไปช่วยสังคม ซึ่งเป็นการทำงานของในรูปของ มูลนิธิฉือจี้ โดยมีภิกษุณีเป็นผู้นำ ที่ไปกันก็มีกลุ่มศาสนาต่างๆ ซึ่งมีบทบาทการทำงานในสังคมไทย ก็ได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ ของศาสนา ที่มีผลออกไป ในการช่วยเหลือ มนุษยชาติ และก็ได้เห็นจุดด้อย ทั้งของตัวเอง และจุดอ่อนในศาสนาพุทธ ของ สังคมเถรวาท ที่เราค่อนข้างจมอยู่กับตัวเอง หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เป็นส่วนใหญ่ แต่ทางด้านมหายาน เขาจะมีจิตที่คิดจะไป ช่วยคนอื่น มีความเห็นแก่คนอื่นอยู่มาก จึงมีผลงานออกไปสู่สังคมอย่างกว้างขวาง ปณิธานของฉือจี้มี ๔ ข้อใหญ่ๆด้วยกันคือ

๑. ช่วยการกุศล ถ้าที่ไหนเกิดภัยพิบัติเขาจะออกไปช่วยคนทั่วทุกมุมโลกในทันที โดยไม่แบ่งเชื้อชาติและศาสนา
๒. รักษาพยาบาล มีโรงพยาบาลใหญ่ๆ เป็นของตัวเอง มีมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์พยาบาลเป็นของตนเองอีกด้วย

๓. การศึกษาให้กับเยาวชน โดยเด็กๆจะเน้นเรื่องปลูกฝัง โตขึ้นมาให้ชัดเจนในทิศทาง พอจบปริญญาก็จะเน้นเป้าหมาย ในการ มอบความรัก ให้กับสังคม อันนี้เป็น ทิศทางในการให้การศึกษาของเขา

๔. การสร้างวัฒนธรรม ในวิถีชีวิตของฉือจี้ ได้เห็นเขามีจิตที่คิดจะช่วยเหลือสังคม บทบาททางศาสนา จึงออกไปอย่าง กว้างขวาง ซึ่งถ้ามาเทียบกับ ชาวอโศกเรา ขนาดมีองค์กร ต่างๆ ช่วยขนคนมาให้ชุมชนต่างๆของเราอบรม จิตฤาษีของพวกเรา บางคน ก็ยังไม่ค่อย อยากจะขวนขวายทำงานเท่าไหร่ แต่ทางฉือจี้ เขาต้องขนตัวเอง ขนของของตัวเอง ออกไปช่วยทุกมุมโลก ที่เกิด ภัยพิบัติ ไม่ว่าสึนามิหรือเฮอริเคน รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ยากและเหนื่อยกว่ากันเยอะเลย

ก็อนุโมทนากับจิตที่เขามีความคิดที่จะขวนขวายช่วยเหลือมนุษย์ ถ้าชาวอโศกเรามีทั้งจิตขวนขวายช่วยเหลือมนุษย์มากอย่างนี้ เอาใจใส่ ในการงาน ทุ่มเทให้มากอย่างเขา และเราก็มีความเคร่งครัด ในธรรมวินัยไปด้วย สามารถชูธงชัยพระอรหันต์ และ เข็นกงล้อธรรมจักร ของพระโพธิสัตว์ ให้ไปพร้อมๆกัน ก็จะเป็นความสมบูรณ์ ของศาสนาพุทธ ที่มีพุทธบริษัท ๔ อันประกอบ ด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความครบพร้อมแข็งแรง และยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน

ก็น่าแปลกเหมือนกันที่ทางภิกษุณีในไต้หวันมีกิจกรรมอะไรหลายๆอย่างคล้ายพวกเรา เป็นต้นว่า ตื่นทำวัตรตี ๓ ครึ่งเหมือนกัน มีการสวดมนต์ และอาสาสมัครของเขา ก็จะมาวิเคราะห์ ถึงปัญหาการแก้ปัญหา จากการทำงานแต่ละวัน ในส่วนสมณาราม ที่พักของนักบวชของเขาก็จะสมถะ เล็กๆ เหมือนกัน เรื่องอาหารการกิน ก็กินมังสวิรัติ เหมือนกัน และเท่าที่พวกเราได้ไปเห็นมา รู้สึกว่าพวกเขา จะประหยัดกว่าเราด้วยซ้ำ จะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมคล้ายๆ กัน จะพยายามหลีกเลี่ยง การเทปูน ทางเดินของเขา จะใช้ตัวหนอน ใช้หินแกรนิตหรือหินอ่อนเป็นแผ่นปูแทน เพื่อให้น้ำสามารถซึมลงดินได้ และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของเขาก็คือ การมี กิจกรรมเกี่ยวกับ เรื่องจัดการขยะ เขาสามารถ มีอาสาสมัคร ทั่วเกาะไต้หวัน ช่วยกันรณรงค์เกี่ยวกับ เรื่องขยะ สามารถเอา รายได้ที่ทำ เกี่ยวกับเรื่องขยะ มาใช้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ ที่สามารถส่งกระจาย ออกไปเผยแพร่ ได้ทั่วโลก และรายได้ส่วนหนึ่ง ในการเก็บขยะ แต่ละเดือน เขาสามารถเอามาใช้เป็นทุนสนับสนุน ในการดำเนินกิจกรรม ของทีวีได้อย่างน่าทึ่ง

# มีข้อปฏิบัติใดที่ชาวอโศกน่าจะนำมาใช้กันบ้างคะ?

๑. เขาให้ความสำคัญกับการปฏิสันถาร มาก คณะจากเมืองไทยที่ไปกันมีทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกส์ ดูเหมือนว่ากลุ่มศาสนา ในเมืองไทย ที่ไปกันครั้งนั้น จะ ยกให้ ในการต้อนรับขับสู้ เขาทุ่มอย่างเต็มที่ เรายกให้ในความมีน้ำใจ ในความกระตือรือร้น ขวนขวาย ช่วยเหลืออย่างมาก จนท่านจันทร์ ซึ่งเดินทางไปด้วยกัน ท่านบอกว่า ชาวอโศก น่าจะมีโศลก ในการทำงานว่า "ยิ้มงาม - ถามไถ่ - เต็มใจบริการ"

๒. อ่อนน้อมถ่อมตน คณะต้อนรับเขา จะระมัดระวังทั้งคำพูด ทั้งกิริยาอาการที่แสดงออกด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมาก ซึ่งถ้าเทียบกับพวกเรา ซึ่งมีจุดยืน ที่แข็งแรง มีการพึ่งตัวเองได้สูง ตามสโลแกน ที่พ่อท่านบอกไว้ว่า พวกเราข้าวมีกิน ดินมีเดิน แดดมีส่อง พี่น้องมีเสร็จ ก็เลยทำให้วิถีชีวิตของพวกเรา ค่อนข้างที่จะ ไม่แคร์ใครว่า ใครจะมาก็มา ใครจะไปก็ไป ซึ่งต่างกับ ทางฉือจี้ ที่เขาจะต้องอยู่ด้วยการ ไปรับบริจาคจากคนอื่น เมื่อรับบริจาคได้มา ก็จะเอาทุนที่ได้มา ไปช่วยคนที่เขาเดือดร้อน ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เขาต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ และภารกิจที่เขาจะทำสำเร็จได้ เขาจะต้องทำด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไปหาคนอื่น อยู่ตลอดเวลา แต่ลักษณะการทำงานของชาวอโศกเป็นลักษณะที่คนอื่นต้องวิ่งมาหาเรา มาพึ่งเรา ก็เลยทำให้ เราไม่นุ่มนวล ไม่อ่อนโยน ไม่มีเสน่ห์ ซึ่งคิดว่าถ้าเราต้องการ จะทำให้ชาวอโศก มีเสน่ห์เพิ่มขึ้น และเป็นการลดตัวลดตนของเรา อย่างยิ่งยวดอีกด้วย เราคงต้องเอาหลักของเขา มาใช้เป็นบางส่วน ที่จะเป็นผู้ที่ยินดี เต็มใจ ในการให้บริการ และก็รู้สึก ขอบคุณอย่างมาก ที่เขาให้โอกาสเราได้ให้บริการ ได้ให้ความช่วยเหลือเขา ถ้าเรามีความคิดแบบที่ฉือจี้เขาคิดกันอย่างนี้ ก็คงจะทำให้ ชาวอโศกของเรา มีเสน่ห์น่ารัก เพราะว่าเนื้อหาสาระของเราดีอยู่แล้ว แต่เป็นเพียงว่าสังคมทุกวันนี้ เขามองเราว่า แพ็กกิ้ง สิ่งที่แสดงออกของเราไม่ค่อยสวย แม้จะมีน้ำวิเศษ แต่เหมือนกับที่เขาเคย ชี้ขุมทรัพย์พวกเราว่า พอเขาหิวน้ำมา เราก็บอก ให้เขาเอาไปแดกซะ อย่างนี้เขาก็ดื่มไม่ไหว รับอหังการมมังการ ที่แรงๆ ของเราไม่ได้

๓. สิ่งหนึ่งที่ชาวอโศกมักจะมีปัญหาก็คือ เวลามีแขกมาเขาต้องถอดรองเท้าเดินชม ไปตามที่ต่างๆ และปัญหาที่ตามมาก็คือ รองเท้าแขกหาย ที่ฉือจี้ เขาจะมีวิธี ในการแก้ปัญหาก็คือ เขาจะมีถุงผ้า สำหรับใส่รองเท้า ให้แขกถือเอาไว้ที่ตัวเลย เมื่อดูงานเสร็จ จึงเอาถุงผ้าคืน

# ท่านมีอะไรอยากจะฝากญาติธรรมในช่วงออกพรรษานี้บ้างคะ?

พ่อท่านได้ปรารภในช่วงเข้าพรรษาอยู่ที่ราชธานีอโศกว่า มีเจ้าของโรงงานหินอ่อน เขามาเสนอว่า เขาอยากร่วมทำบุญด้วยกับ พวกเรา พ่อท่านเคยดำริว่า อยากจะทำน้ำตก มีน้ำตก ไหลลงมาหาพระพุทธรูป เจ้าของโรงงานหินอ่อน เขามาเสนอว่า โรงงานของเขา สามารถทำพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ จะเอา ๙ เมตรหรือ ๗ เมตรก็ได้ น้ำหนัก ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ตัน สุดท้ายพ่อท่าน ก็ได้ดำริกับหมู่สงฆ์ อยู่ที่ราชธานีอโศกว่า มีคนอยาก จะทำอย่างนี้ ท่านก็เลยตกลง ที่จะทำตามที่เขาได้เสนอมา ส่วนนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ กับพวกเราชาวอโศกโดยตรง เพราะว่าทางศาสนากระแสหลัก ในเมืองไทย ค่อนข้างจะติดใจ จนเอาเป็นข้อครหา ว่าพวกเรา ไม่เคารพพระพุทธรูป ไม่กราบไหว้ พระพุทธรูป ถ้ามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นมา ก็คงจะลบล้าง คำครหา เหล่านี้ให้หมดไป ช่วยปิดจุดอ่อน ของชาวอโศก อาตมาไปฉือจี้ที่ไต้หวัน ก็ได้เห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า รูปแบบของ สถาปัตยกรรม หรืองานก่อสร้าง ก็มีผลก่อให้ เกิดความศรัทธาน่าเชื่อถือ กับคนที่เขายึดติด อยู่ในส่วนที่เป็นรูป อยู่ไม่ใช่น้อย ที่ฉือจี้ หอประชุมใหญ่ของเขา เป็นสถาปัตยกรรม ที่ประณีตมาก คณะกลุ่มศาสนา ที่ไปกันก็รู้สึกว่า โอ้โฮ้! เขามีบารมีจริงๆ และตอนนี้เรากำลังทำงาน เพื่อที่จะขยาย ออกไปในวงกว้าง ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้คน ที่จะรับสัจธรรมของเราได้มากขึ้น ที่สำคัญก็คือ ชาวอโศกทุกวันนี้ เรามีจุดอ่อน ในเรื่องอ่อนด้อย ความศรัทธา ในปางนี้ พ่อท่านให้ปัญญากับเรา อยู่ตลอดเวลา จนศรัทธาของเรา ค่อนข้างจะน้อย ดังนั้น ถ้าเรามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นมา ก็น่าที่จะเป็นจุดหนึ่ง ที่แก้ความสมดุล ของชาวอโศก ให้มีปัญญาและศรัทธาสมดุลกัน ถ้าปัญญาเยอะศรัทธาน้อย เรื่องจะเยอะ ในหมู่กลุ่มเรื่องก็จะเยอะตามไปด้วย ถ้าศรัทธา และปัญญา สมดุลกันได้ ก็น่าจะมีส่วน ทำให้เรื่องราวต่างๆ นานาลดน้อยลง

แต่ว่าทุกวันนี้พวกเราก็อยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจยอบแยบกันไปหมด มีสิ่งเดียวที่คิดว่ายิงทีเดียวได้มะม่วง ๒ ผลก็คือเรามารณรงค์ เรื่องขยะกันดีไหม? พ่อท่านได้ปรารภ โศลกมาว่า "มาช่วยกันเก็บขยะสร้างพระเจ็ด" หรือว่า "ลุยขยะสร้างพระเจ็ด" เจ็ดในที่นี้ ก็หมายถึง ๗๒ ปีของพ่อท่านนั่นเอง และพระพุทธรูป ก็มีขนาดสูง ประมาณ ๗ เมตร ซึ่งความสูงก็เท่ากับ หลังคาสะพานลอย นั่นแหละ ถ้าชาวอโศกทุกๆ คน ช่วยกันลุยในเรื่องขยะ โดยสามารถปฏิบัติการได้ ๓ ขั้นตอนด้วยกันคือ

๑. ไม่ทำของดีๆ ให้เป็นขยะ คือแต่ละคนควรกลับไปสำรวจในที่อยู่ที่อาศัย ที่ ทำงานของตัวเองก่อนเลยว่า ของอะไรที่เรา ไม่ได้ใช้ บ้าง ควรทำ ๕ ส. ก่อน ส. แรกคือ สะสางเพื่อให้สิ่งที่มันเกะกะรกหูรกตาหมักหมมทับถมกันจนของดีๆกลายเป็นขยะ อันนี้น่าจะเคลียร์ออกมา กันก่อนได้เลย อันไหนที่พอขายได้ แจกได้ทำเป็นประโยชน์ได้ หรือว่าเอามาใส่สะสม เป็นกองบุญ สร้างพระใหญ่ได้ ก็ให้แต่ละคน ใช้วิจารณาญาณของตัวเอง

๒. หลีกเลี่ยงการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น เราน่าจะรณรงค์กันในเรื่องการไม่ใช้พลาสติก หลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก ใช้ถุงผ้า แทน ใช้ปิ่นโต ใช้ใบตองแทนได้ไหม? เพื่อที่จะไม่ให้มีขยะ หมักหมมไปในโลก หรือเวลาที่ญาติธรรมเรา รับประทานอาหาร ก็มีภาชนะติดตัวเราไปด้วย ไม่ต้องไปเป็นภาระกับผู้อื่น และไม่ไปเพิ่ม ขยะในโลก

๓. สร้างขยะได้แต่ไม่ทำให้เป็นขยะ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้อาจจะใช้ถุงพลาสติกหรือขวดพลาสติก แต่ก่อนที่จะเอาไปทิ้ง ควรล้าง ให้มันสะอาด เพื่อไม่ให้เป็นถุงเน่า ขวดเน่า และเวลาทิ้ง ก็มีการแยกประเภท ให้ถูกต้อง สามารถบูรณาการอะไร ที่นำกลับมา รีไซเคิลได้ หรือเอากลับมาใช้ได้อีก เอาไปซ่อมแซมได้ เราก็เอาทรัพยากรของโลก ที่มีอยู่อย่างจำกัด และนับวันจะน้อยลงๆ กลับคืน ไปใช้ใหม่

ถ้าเราสามารถรณรงค์ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันได้ทุกๆชุมชน โดยทำให้เป็นเรื่องสนุก เหมือนกับการที่ไปพบกับบ่อเงินบ่อทอง นั่นแหละ มันก็เป็นทรัพยากร ที่สำคัญของโลก เหมือนกัน นอกจากจะเป็นเรื่องสนุกแล้ว เราก็จะได้มาฝึกจิตวิญญาณของเรา ให้ประณีต-ประหยัดเพิ่มขึ้นด้วย โครงการนี้ จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีทั้ง ความสามัคคี มีความประณีต-ประหยัด ความเคลื่อนไหวตรงนี้ น่าจะทำให้ชาวอโศก มีพัฒนาการขึ้นไปได้อีกก้าวใหญ่ และก้าวที่สำคัญทีเดียว.

- ทีมข่าวพิเศษ

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชมรมมังสวิรัติเชียงใหม่ จัดมหกรรมอาหารเหมาจ่าย อิ่มละ ๒๐, ๑๕, ๑๐, ๘ และ ๕ บาท

ก่อนเทศกาลกินเจ ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ มีผู้ใจบุญบริจาคเงินให้ทางชมร.ช.ม. จึงได้จัดมหกรรม อาหาร เหมาจ่าย ในแต่ละสัปดาห์ดังนี้

จ.๑๒ ต.ค.๒๕๔๘ จำหน่ายอาหารอิ่มละ ๒๐ บาท (วันนี้ฝนตกเกือบตลอดวัน)

จ.๑๙ ต.ค.๒๕๔๘ จำหน่ายอาหารอิ่มละ ๑๕ บาท (ได้รับข้อคิดเห็นจากสมาชิกที่มารับประทานอาหารว่า "เห็นด้วย ขอขอบคุณ สันติอโศก ที่จัดให้มีอิ่มละ ๑๕ บาท เป็นที่พึ่งของสังคมในยุคนี้ และยังเป็นสถานที่ที่ได้ทานอาหารเป็นโภชนาบำบัดด้วย" จะสังเกตได้ว่า มีสมาชิก ที่เคยมารับประทาน ประจำมากันมาก)

ศ.๒๓ ต.ค.๒๕๔๘ จำหน่ายอาหารอิ่มละ ๑๐ บาท (วันนี้อากาศแจ่มใส มีสมาชิกมารับประทานกันเยอะ ด้านมุมล้างจาน มีสมาชิก เต็มใจ ที่จะทำบุญด้วยการล้างจาน-ล้างใจ)

จ.๒๖ ต.ค.๒๕๔๘ จำหน่ายอาหารอิ่มละ ๘ บาท (วันนี้อากาศดี มีสมาชิกมามาก ข้าวก็หุงไม่ทัน อาหารก็ทำไม่ทัน เป็นวันพระด้วย มีคนใหม่มารับบริการมาก)

ศ.๓๐ ต.ค.๒๕๔๘ จำหน่ายอาหารอิ่มละ ๕ บาท (สมาชิกมารับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ทำงานอยู่บริษัทใกล้ร้าน ชมร. ช.ม. มากันมาก คนใหม่ๆก็มามาก ผักที่ใช้ทำอาหารก็ขาด เพราะเป็นวันศุกร์ไม่ได้จัดหามาเพิ่ม เนื่องจาก ชมร.ช.ม. หยุดขาย วันเสาร์-อาทิตย์ สรุปว่า ในช่วงจัดมหกรรมเหมาจ่าย วันนี้มีสมาชิก มารับประทาน อาหารมังสวิรัติมากที่สุด)

ในช่วงมหกรรมเหมาจ่ายนี้ ทาง ชมร.ช.ม. ได้ติดป้ายแขวนอยู่หน้าร้านของ ชมร.ช.ม.ว่า มหกรรมอาหารเหมาจ่าย อิ่มละ...... ตามสะดวก !

คุณรัตนาภรณ์ บุญยัง เลขาฯของชมร.เชียงใหม่ ได้สรุปให้ฟังว่า "ภาพรวมทั้งหมด สมาชิกจะเกรงใจ เห็นใจว่า เราจัดอิ่มละ ๒๐, ๑๕, ๑๐, ๘, ๕ บาท นี้เป็นการทำบุญ ที่ไม่มีมาก่อน เต็มใจที่จะล้างจานให้เรา โดยถือว่า ชมร.ช.ม. เป็นโรงบุญแห่งหนึ่ง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ ไม่มีปัญหา จะมีก็แต่พวกเราภายในบางคน ที่ยังมีทุนนิยมอยู่ในใจ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สบู่ฆ่าเชื้อโรคไม่ได้วิเศษไปกว่าสบู่ธรรมดา

ที่ผ่านมาเราๆท่านๆคงจะได้เห็นโฆษณาจากหน่วยงานสาธารณสุขของภาครัฐออกมารณรงค์ให้ประชาชนให้ความสำคัญกับ เรื่องของสุขลักษณะ ในชีวิตประจำวัน ของเรา เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและยังเป็นการป้องกันในเรื่องของโรคติดต่อต่างๆอีกด้วย

อย่างเช่น การรณรงค์ให้ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด ซึ่งตัวดิฉันเองเห็นด้วยและพยายามปฏิบัติ เหตุเพราะต้องทำงาน คลุกคลี อยู่กับ เรื่องอาหาร และผู้คนมากมาย หลายเชื้อชาตินั่นเอง การดูแลเรื่องความสะอาด จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราสามารถ มอบให้ตัวเองและ ผู้อื่น ซึ่งถ้ามองลงไปแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว ดิฉันจึงตั้งใจ สะสมบุญนี้ อย่างเต็มใจจริงๆ

และเผอิญไปอ่านเจอบทความเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติของสบู่ใน นสพ.ไทยรัฐ เมื่อวันที่ ๒๖ ต.ค.ที่ผ่านมา เห็นว่าน่าจะเป็น ประโยชน์ ก็เลยคัดมาฝากกันดังนี้

"อย.เมืองลุงแซมติงสบู่ฆ่าเชื้อโรค
ไม่ได้วิเศษไปกว่าสบู่ธรรมดา...

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาให้องค์การอาหารและยาอเมริกา(FDA) สรุปผลการศึกษาเรื่องการใช้สบู่ ฆ่าเชื้อโรค ว่ามันไม่ได้มีฤทธิ์ ดีกว่าการใช้สบู่ธรรมดา ล้างมือแต่อย่างใด

คณะกรรมการที่ปรึกษาออกเสียง ๑๑ ต่อ ๑ ลงความเห็นว่าสบู่ฆ่าเชื้อโรค ไม่ได้มีฤทธิ์เหนือกว่าการใช้สบู่ธรรมดา ทั้งยังเตือน ผู้ผลิตว่าต้องหาหลักฐานทาง วิทยาศาสตร์ มาสนับสนุน คำกล่าวอ้างว่า ที่ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง ๙๙ เปอร์เซ็นต์ โดยใช้สารประกอบเคมีสังเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ ในคณะกรรมการชุดนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การใช้สบู่ยาฆ่าเชื้อโรค ยังอาจมีผลให้เชื้อโรคดื้อยา และขอให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ชั่งน้ำหนัก ถึงผลได้ผลเสียของ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ประเด็นเรื่องสบู่ยาฆ่าเชื้อโรคมีการถกเถียงมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่าจะออกกฎมาควบคุมอย่างไร แต่จากข้อ แนะนำ ในครั้งนี้ อาจส่งผล ให้มีการปรับเปลี่ยน ตราฉลากผลิตภัณฑ์ และการกล่าวอ้างสรรพคุณ ของสินค้า ในการทำตลาดได้."

เนื้อที่หมดพอดีก็ขอลากันไปก่อน ไว้ฉบับหน้าจะหาเรื่องราวด้านสุขภาพที่มีประโยชน์มาฝากกันอีก เจริญในธรรมนะคะ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

เชื่อมร้อยเครือข่ายโรงเรียนชาวนาคุณธรรมฯ ไตรมาส ๒/๔๘
เปิดเวทีให้ชาวนาแถลงผลงานแบบเย้าเยือนในรอบ ๓ เดือน

เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ โรงเรียน ชาวนาคุณธรรมกสิกรรมไร้สารพิษเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มสวนส่างฝัน ๑๒ โรงเรียน นัดชุมนุมสัญจร เพื่อแถลงผลงาน ในรอบ ๓ เดือน และฟังธรรม จากท่านสมณะ พร้อมกับรับข้อมูลใหม่ๆ ในรอบ ๓ เดือน เติมไฟให้กำลังใจ ซึ่งกันและกัน ทำบุญเปิดโรงสีข้าวใหม่ เป็นโรงสีข้าวกล้องเครื่องแรก ของบ้านโนนค้อทุ่ง
๐๘.๐๐ น. ลงทะเบียน
๐๙.๓๐ น. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ นายแพทย์ชัยพร ทองประเสริฐ กล่าวเปิดงาน "เกษตรไร้สารพิษ ปลูกป่า โดยดูจากโรงเรียนชาวนาคุณธรรมฯ ที่สวนส่างฝัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด ยินดีสนับสนุนทุกอย่าง เพื่อให้ขยาย และ ครอบคลุมทั้งจังหวัด ให้เร็วขึ้น ขอปวารณาตัวไว้ตรงนี้"

หลังจากพิธีเปิด นายก อบจ. เดินชมสวนกล้วย สวนผลไม้ คณะ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. สาขาหัวตะพาน รับแผ่นภาพ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพชนิดต่างๆ และรับข้าวไร้สารพิษ จากท่านสมณะ งานนี้ท่านประธานสภาตำบล สั่งให้อบต. ในเขต ตำบลโพนเมืองน้อย มาร่วมงาน หมดทุกท่าน เพื่อรับทราบนโยบาย จาก นายก อบจ.ด้วย ครูใหญ่ส่งผู้แทนครูมา ๒ ท่าน

จากนั้นฟังเทศน์ก่อนฉัน โดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร ให้ข้อคิด "มีศีล ๕ ดีกว่าอธิปไตยใดใด มีศีลเหมือนมีทรัพย์นับอนันต์" หลัง จากนั้นรับประทานอาหารร่วมกัน

ช่วงบ่ายบรรยายพิเศษ โดยคุณแก่นฟ้า แสนเมือง รวมกลุ่มอย่างไรให้ล้มเหลวและรวมกลุ่มอย่างไรให้สำเร็จ พ่อชมภู เบ้าทอง เล่าเรื่องการทำสวน ๓ไร่แก้จน โดยเริ่มจาก มีศีล และในหัวข้อปุ๋ย โรงสี วิถีชีวิตกสิกรรมไร้สารพิษ ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง แต่ชาวนา นั่งฟังอย่างสนใจ เพราะการเปิดสูตร ปุ๋ยพิเศษ คือ ยูเรีย ซึ่งเป็นปุ๋ยยอดนิยม และราคาแพง จนชาวบ้าน เป็นหนี้เป็นสิน ยูเรีย ที่ดีที่สุด คือปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บรรยายเสร็จ มีผู้สนใจซักถาม อย่าง ใจจดใจจ่อ สุดท้าย ฝากหัวใจผู้นำ ๑.ไม่รับเงิน ๒. ถ้ารับให้รับน้อยกว่าสมาชิก ๓. ถ้าต้องรับส่วนแบ่งจากปันผล ก็ให้น้อยกว่าสมาชิก ช่วงนี้ฝึกทานอาหาร ๑ มื้อ ช่วงเข้าพรรษา น้ำหนักลด ๔ กก. แต่ยังมีเรี่ยวแรง ทำงานไม่เหน็ดเหนื่อย ยังทำงานได้และเบาตัว เบากายแถมเบาใจด้วย

หลังทานข้าว เปิดโอกาสให้โรงเรียน ชาวนาคุณธรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันอย่างเป็นกันเอง เป็นช่วงที่ ชาวนา ได้แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือน ก่อนฟังแถลงนโยบาย มีเสียงแคน จากพ่อพุทธคุณ และหมอลำจากแม่ใหญ่คำมาร่วมงาน ในนาม ผู้ที่ผ่านการอบรม หลักสูตร เกษตรกรพันธุ์ใหม่

คุณอนุวัฒน์ มาเยี่ยม จากศรีสะเกษ ซึ่งเคยร่วมงานกันที่อำนาจเจริญ "เห็นภาพชาวนามารวมกัน ผมฝันอยากเห็นมานาน ตั้งแต่ เป็นหนุ่มแล้ว พ่อชมภูบอกว่า โรงเรียน ชาวนาถูกใจผมมาก แต่ก็ระวังจะมีสิ่งมายุแย่ให้เราแตกแยกกัน ความเป็นไทย ความอิสระ ได้หายไปแล้ว จากชาวนาไทย ชาวนาเป็นอาชีพที่ประเสริฐ ปู่ผมก็เป็นชาวนา ผมทำงาน ธ.ก.ส. อยากเห็นชาวนา เอาเงินไปแล้ว เอาไปใช้อย่างมีประโยชน์ มีคุณภาพ"

จากนั้นช่วยกันดำเนินรายการร่วมกันกับหนึ่งในดิน แถลงผลงานในรอบไตรมาสที่ ๒ ปี'๔๘

สำหรับความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆมี ดังนี้
ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯบ้านเชียงเพ็ง "รวมกลุ่มกันทำสวน ๒ ไร่กว่า ขณะนี้รอน้ำบาดาล มีอีกส่วนเป็นของส่วนตัว ๒ ไร่ ขุดหลุม ปลูกกล้วยได้ ๙๐ หลุม ข้าวแตกกอ งาม การดำนาห่าง แตกกอ ดีกว่าดำถี่ แถมประหยัดกล้าด้วย ๓ เดือนข้างหน้า จะปลูกกล้วย ให้เสร็จ และช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าว"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯบ้านหนองเม็ก "กิจกรรมที่ผ่านมา ถอนหญ้าข้าว ปลูกกล้วย ๔๕ ต้น เงาะ ๓๐ ลองกอง ๒๐ ผลไม้ หลายอย่าง ปลูกในพื้นที่ ๑ ไร่ก่อน ข้าวกำลังออกรวง ความสูงเท่าคน รวมตัวกันทำแล้วได้คุยกัน เมื่อเกิดปัญหาแล้วมา ช่วยกันคิด แก้ไขปัญหาเป็นการคลายเครียด (ไม่ใช่คอยเครียด) จะขึ้นแท็งก์น้ำใหญ่ แล้วปลูกพืช ล้มลุกใน ๓ เดือนข้างหน้า พร้อมกับผักฤดูหนาว มั่นใจกสิกรรมไร้สารพิษ ๑๐๐ %"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมห่องเตย "หลังจากกลับจากบ้านหนองเม็กแล้ว เจาะบาดาลขุดหลุมได้ ๔๐ หลุม จะรวมกันก่อนงานทุกครั้ง ๒ อาทิตย์ต่อครั้ง ทำเห็ดใส่ขอนไม้ หลายร้อยขอน นางามกว่าปีก่อน มั่นใจใน กสิกรรมไร้สารพิษล้านเปอร์เซ็นต์"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯหนองแก้ว "กลับจากหนองเม็กแล้วก็ดำนา ส่วนตัวก็ปลูกกินข้างบ้าน ส่วนกลางขอเช่าที่สระส่วนกลาง แต่ยัง ตกลงกันไม่ได้กับอบต. รวมกลุ่ม กันแล้วดี อยากทำสวน ๓ ไร่ แต่ยังไม่มีที่ดิน"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯกลุ่มรุ่งอรุณ บ้านโคกพระ "ชื่อกลุ่มหมายถึงเริ่มสว่างเริ่มแจ้ง กลับจากหนองเม็ก ก็ตกลงกันเอาที่นาของ ประธาน (นายจันทร์ พันธ์ดี) เป็นที่ส่วนกลาง ทำสวน ๓ ไร่ แล้วเจาะบาดาล จะปลูกต้นไม้ ๓๒ อย่าง เกี่ยวข้าวดอเสร็จ จะปลูกแตงโมไร้สารพิษ ปลูกปีที่แล้ว พอแตงโมออกลูก มีญาติไปเยี่ยม เยอะมาก ชาวบ้านเข้าใจแล้วว่า รวมตัวกันแล้วดี และรวมกลุ่มกันต่อไป"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯโรงเรียนชุมชน บ้านเชียงเพ็ง (นักเรียนมัธยมต้น) "ปีนี้ข้าวงามกว่าปีที่แล้ว หยอดนำหมักจุลินทรีย์ ๒ รอบแล้ว" ผู้รายงานอยู่ ม.๓ ปฏิบัติกร ถามว่า เรียนจบอยากเป็นอะไร "อยากเป็นชาวนา มาทำกสิกรรมไร้สารพิษ" คิดอย่างไร ในขณะที่อายุยังน้อยอยู่ "รู้สึกภูมิใจ ในอาชีพชาวนา คนทำงานหาเงิน ถ้าไม่มีข้าวกิน ต้องตาย แต่ชาวนาไม่มีเงิน ไม่ตาย เพราะมีข้าวกิน"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯหนองหิ้ง (ผู้รายงานเป็นสมาชิก อบต.) "หลังเกี่ยวข้าวเสร็จจะทำสวน ๓ ไร่แน่นอน ดูจากพ่อชมภู และ บ้าน หนองเม็กแล้ว จะปลูกกล้วย ปลูกต้นไม้ ไม้ผล ข้าวงามกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้ว ๔๘๐ กก. ต่อไร่ ปีนี้คาดว่า จะได้มากกว่า เดิมมาก เพาะเห็ดนางรม ๒ พันกว่า ก้อน เก็บได้วันละ ๒๐-๓๐ กก. แบ่งเวรกันไปขาย นักเรียนเกษตรอินทรีย์ ของโครงการผู้ว่า ซีอีโอ และนักเรียนประถมฯ มาร่วมเรียน การรดน้ำจุลินทรีย์ที่ ร.ร.ชาวนาทำ"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯบ้านคึมชาด "หลังจากกลับจากหนองเม็กแล้ว หยอดจุลินทรีย์ แตกกอ ๑๓-๑๔ ต้นต่อกอ ทำน้ำยา ล้างจาน แจกกัน ครั้งละลิตร - สองลิตร ประธานถางไร่ จะทำสวน ๓ ไร่ ปีหน้าคงจะได้เห็นต้นไม้ขึ้น ถ้าน้ำสมบูรณ์แล้ว สวนงามขึ้นแน่"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯบ้านหนองไผ่ "หลังกลับจากบ้านหนองเม็กแล้วออยซอน เผิ่นหลาย แต่ไม่มีดินปลูก เลยลองปลูกข้างบ้าน ๑ งานก่อน กลุ่มยังไม่เหนียวแน่น กำลังปรับกันอยู่ ข้าวงามมาก งามกว่าปีที่แล้วมาก ลงหยอดจุลินทรีย์ แทบเดินไม่ได้ วันนี้มีปัญหาว่า ข้าวงามเกินไป กลัวข้าวจะล้ม ปีหน้า ต้องลดปุ๋ยลงกว่าปีนี้"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯบ้านไก่คำ "หลังจากกลับจากบ้านหนองเม็ก กลุ่มช่วยกันเกี่ยวหญ้าออกจากต้นกล้วย ใช้รถไถนา ไถยกร่อง ให้ต้นกล้วย แต่มีผลทำให้ รากกล้วยขาด ต้นกล้วย ชะงักการเจริญเติบโต กำลังหาวิธีแก้ไขอยู่ เจาะบาดาล ๑ บ่อ แล้วหยอดน้ำ จุลินทรีย์ ข้าวงามกว่าปีที่แล้วมาก วันนี้เก็บถั่วฟักยาว และต้นหอมมาฝาก"

ร.ร.เกษตรอินทรีย์บ้านแสนสุข "เป็นโรงเรียนชาวนาที่ทำในโครงการผู้ว่าซีอีโอมาร่วมสังเกตการณ์ และอยากขอร่วมเข้ากลุ่ม โรงเรียน ชาวคุณธรรมฯ หลังอบรมเสร็จ กลับไป ต่างคนต่างทำ ไม่ฟังกัน เพราะเป็นพวก หัวไวใจสู้ ทำปุ๋ยคนละ ๑๐๐ - ๒๐๐ กระสอบ ขยะและพืชสดตามหมู่บ้าน เริ่มหายไป ทำเห็ดขอน ออกดอก ๒ รอบแล้ว ทำน้ำหมักพ่อ ๒ ถัง แม่ ๒ ถัง ไล่แมลง ๒ ถัง ดินระเบิด ๒ ถัง ในชุมชนใช้สารเคมีลดลง อย่างผมเคยซื้อ ๑๐ กระสอบปีนี้เหลือ ๒ กระสอบ เป็นช่วงปีแรก กำลัง ปรับเปลี่ยน หลังฤดูเก็บเกี่ยว จะทำปุ๋ย และปลูกผักหมุนเวียน"

ร.ร.ชาวนาคุณธรรมฯ บ้านโนนค้อทุ่ง "วันนี้ถือโอกาสเปิดโรงสีข้าวใหม่ ตอนนี้มีสวน ๓ ไร่ โดยใช้พื้นที่ของป้าบัว ป้าบัวบอกว่า ที่ตรงนี้ ลูกจะเอาไว้ปลูกหญ้าให้วัว แต่คิดไปคิดมา น่าจะปลูก สิ่งที่คนกินก่อน ดีกว่าปลูกให้วัวกินก่อน ข้าวก็งามพอสมควร (ความจริง งามมากทีเดียว) ปีนี้เช่า ๑๐ ไร่ รวมกันทำในกลุ่ม".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ. ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๖๕(๒๘๗) ปักษ์หลังวันที่ ๑๖-๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘
สำหรับความเคลื่อนไหวในแวดวงชาวเราประจำฉบับมีดังนี้

ลึกลับแต่ดี... ผู้สื่อข่าวลึกลับ(พิเศษ) ได้แจ้งแก่จิ้งหรีดว่า พบชายลึกลับ เจอ มือถือราคาเป็นหมื่นๆ แล้วเขาจะทำอย่างไร ต่อไป จะเอาไว้ หรือ คืนเจ้าของดี ?

เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๒๐ น. ของวันที่ ๑๕ ก.ย.๔๘ ขณะที่ชายลึกลับ (ศิษย์เก่าสัมมาสิกขาสีมาอโศก แต่ไม่ประสงค์ ออกนาม) เดินกลับจากไปซื้อของ พอมาถึง ตรงหน้าไปรษณีย์ สามแยกสวนปรุง ถ.มหิดล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้พบโทรศัพท์ มือถือเครื่องหนึ่ง ราคาประมาณ หมื่นกว่าบาท ตกอยู่ข้างถนน

พอชายลึกลับผู้นี้เก็บได้ เขาก็นึกถึงเจ้าของทันที คิดว่าเจ้าของอาจจะกังวล เป็นห่วงไม่สบายใจ ที่โทรศัพท์หาย และได้คิดถึงใจ ของตัวเองว่า ตอนนี้ก็มีเรื่อง ไม่สบายใจเช่นกัน ทำให้ได้เข้าใจว่า คนไม่สบายใจนั้นทุกข์อย่างไร ถ้าเราพอมีอะไร ที่จะสามารถ ช่วยเหลือ ให้เขาลดความทุกข์ลงได้ มันก็จะส่งผล ให้เราพลอย มีปีติบ้าง และยังช่วยลด ความทุกข์ใจของเราด้วย

ต่อมาคุณแม่ของเจ้าของมือถือ ได้โทร. มาเข้าเครื่องนี้ ชายลึกลับจึงนัดหมายให้มารับโทรศัพท์คืนได้ที่ ชมร.เชียงใหม่

เวลาประมาณ ๕ โมงเย็นของวันเดียวกัน น้องสาวของเจ้าของเครื่อง ได้มาติดต่อรับโทรศัพท์ (เจ้าของโทรศัพท์ชื่อ คุณกาญจนา ชัยวงค์ ได้โทร.มาขอบคุณ ก่อนหน้าแล้ว เธอเป็นเจ้าของ ร้านขายโทรศัพท์มือถือ ชื่อร้าน ๑๗๒๗ ไอโมบาย อยู่ที่เซ็นทรัล กาดสวนแก้ว ชั้น ๓ ในตัวเมือง เชียงใหม่

น้องสาวของเจ้าของเครื่องได้กล่าวว่า "ขอบคุณมากๆ และรู้สึกดีใจมากที่ได้รับคืน" และยังบอกอีกว่า "คนส่วนใหญ่ ๙๙ % ถ้าเจอโทรศัพท์มือถือแล้ว ก็จะเอาซิมทิ้ง แล้วเอาเครื่องไปขาย แต่ถ้าคนที่เก็บโทรศัพท์ได้แล้วคืนเจ้าของ แสดงว่าคนๆนั้น ต้องเป็นคนใจบุญมากๆเลย"

ส่วนชายลึกลับเมื่อได้ให้โทรศัพท์ไปแล้ว เขาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วจิ้งหรีดก็ได้ยินเขาพูดว่า "รู้สึกสบายใจ ที่ได้ทำความดี และ หวังว่าจะได้มีโอกาส ทำความดี ในครั้งต่อๆไป ข้างหน้าอีก" สาธุ...จี๊ดๆๆๆ .....


ข่าวล่าสุด... สำหรับอาการป่วยของท่านปองสูญ ก่อนเข้าพรรษาของ พ.ศ.๒๕๔๘ ท่านปองสูญได้ลงมาจากราชธานีอโศก เพื่อมา รักษาอาการ โรคไตรั่วกับ รพ.วชิระ ซึ่งท่านปองสูญ ได้เป็นคนไข้ของโรงพยาบาล นี้ แต่พอท่านปองสูญ อยู่โรงพยาบาล ได้ ๓ วัน ก็เกิดอาการโรคเลือดหนืด ไปอุดตัน เส้นเลือดใหญ่ในสมอง หมอเลยเอาเข้าห้อง ไอซียู และให้ยาละลายลิ่มเลือด ในสมอง หมอวิเคราะห์ว่า น่าจะเกิดจากโรคไตทรุด แบบเฉียบพลัน ทำให้ระบบการฟอกเลือด และการอ่านเลือด ของหัวใจ มีปัญหา อาการหลังออกจากไอซียู ท่านเป็นอัมพาตครึ่งซีก (ซีกขวาจากการสูญเสียสมองด้านซ้าย) ท่านปองสูญโชคดี ไม่มีอาการสภาวะแทรกซ้อน หรือแผลกดทับ และก็สามารถรับประทานอาหารได้เองในเวลาอันไม่ช้า แต่ระบบความจำการพูด ยังใช้ไม่ได้ ต้องใช้เวลาในการรักษา หมอบอกว่า คงต้องใช้เวลามาก พอสมควร ตอนนี้เราก็รักษากับโรงพยาบาลวชิระ เกี่ยวกับ โรคไตรั่ว รักษากับโรงพยาบาลหัวเฉียว โรคอัมพาต แพทย์ แผนจีน-ฝังเข็ม และทำกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพ ควบคุม ดูแล อยู่ตลอด ควบคุมเรื่องอาหาร สร้างความสมดุลของเหตุปัจจัยต่างๆ ตอนนี้อาการท่านก็ดีขึ้น ตามลำดับ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ .....


ปฐมอโศก... จิ้งหรีดขอรายงานสภาวะการพัฒนาของชาวชุมชนปฐมอโศกที่ผ่านไปในช่วงนี้ให้ชาวเราได้ทราบเป็นระยะๆ ตอนนี้ ชาวปฐมฯ จะมุ่งพัฒนา ทางด้านการทำนา ทำไร่ ทำสวน จะเน้นการทำกสิกรรม ไร้สารพิษให้มาก ทำสวนจะทำที่แดนอโศก เป็นสวนผัก ที่ทำไร่จะอยู่ทางราชบุรี เป็น ที่ดินของญาติ ของคุณพิภพ และทางไปบ้านแพ้ว จะทำนาเป็นพื้นที่กว้าง ทำนาข้าว อย่างเดียว ตอนนี้ท่านนาไท อิสสรชโน ก็ไปช่วยให้กำลังใจญาติโยมทำนา อย่างเกาะติดสถานการณ์ ซึ่งด้านแรงงานที่ทำ ก็อาศัย ผู้ใหญ่ช่วยทำสวนผัก และทำไร่ ส่วนดำนาจะอาศัยฝึกนักเรียน เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็จะมีศิษย์เก่า นิสิต ม.วช. และ ผู้ใหญ่ ไปร่วมกับเด็กๆ ซึ่งที่ดินผืนนี้ ก็เป็นของญาติคุณพิภพเช่นกัน

ปีนี้เป็นปีแรกที่จิ้งหรีดได้ทำนาและเป็นชาวนาเต็มตัว สมัยเด็กก็เคยไปช่วยแม่ช่วยป้าเหมือนกัน แต่ดำนาไม่ค่อยเป็น แม่จึงให้ ไปทำอย่างอื่น

ช่วงที่มาปฐมอโศกปีแรกได้ดำนาในที่ ๙ ไร่เหมือนกัน แต่ดำได้นิดหน่อยเพราะพื้นที่นามีน้อยไม่ได้ฝึกเต็มตัว สำหรับปีนี้ พอได้ข่าว จากท่านนาไทว่า จะมีการทำนา จิ้งหรีดก็รู้สึกดีใจทันที และอยากจะไปช่วยทำนาเต็มที่

วันแรกที่ไปนา ชาวปฐมฯนับร้อยชีวิตเดินไปเป็นขบวนยาว ประกอบด้วยสมณะ สิกขมาตุ เด็กเล็กเทียนหยด (ชั้นประถมศึกษา) นร. สัมมาสิกขาปฐมฯ และผู้ใหญ่ จนชาวบ้านแปลกใจ ออกจากบ้าน มาดูว่า พวกเราทำอะไรกันเอ่ย!

พวกเราเดินอย่างสำรวมไปจนถึงนา ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร

บรรยากาศที่นาเป็นเนื้อที่กว้าง ติดถนนใหญ่ อากาศดีมาก น้ำก็ดี ดินก็ดี เวลาพวกเราดำนา รถที่ผ่านไปมาอยู่บนถนน บางคัน จะหยุดดูพวกเราดำนา มีอยู่วันหนึ่ง ชาวสันติอโศก มาช่วยสมทบ ทำให้นา "แรงรัก" ของพวกเรา เต็มไปด้วยชุดชาวนา หรือ ชุดสีน้ำเงิน ม่อฮ่อม เต็มพื้นที่นาเลย รถ ๖ ล้อคันหนึ่ง มีคนในรถเยอะ ได้จอดรถดูพวกเราทำนา ที่ดำกันอย่างสนุกสนาน กันใหญ่เลย

การดำนาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยบังเอิญแท้ๆ ก็ญาติของคุณพิภพ เขาเห็น พวกเราทำงานดี เขาจึงบอกว่า เขามีที่นา อยู่ทางบ้านแพ้ว ๔๕ ไร่ เป็นป่า มีสมุนไพรอยู่บ้าง อยากจะให้พวกเรา ไปทำประโยชน์ พอดีช่วงนั้น มีเด็กนักเรียน สส.ฐ. ๔-๕ คน เขาได้ทำผิดศีล ท่านนาไท จึงให้ทำกุศลเพิ่ม ให้กับชีวิตของพวกเขา โดยให้ไปทำนา แบบไปกินไปอยู่ที่นาเลย กลายเป็น สิงห์คะนองนา ทำนาเก่ง ทั้งไถนา ขุดดิน เอาน้ำเข้านา แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะเด็กสนุก ได้ใช้ความสามารถ เต็มที่ ในการแก้ไขตัวเอง ที่ได้ทำผิดศีล ก็มีผลให้ครูบาอาจารย์และผู้ใหญ่ในชุมชน ประทับใจไปตามๆกัน เพราะพวกเขาเกิด สำนึกดี แก้ไขตัวเอง ขยันขันแข็ง รับผิดชอบการทำนา ขนาดให้นอน ก็ยังไม่ค่อยจะยอม

ส่วนตัวจิ้งหรีดเอง จากที่ไม่เคยดำนาจริงๆเลย พอมาคราวนี้ช่วยให้จิ้งหรีดดำนาเป็น ทำคันนาก็ได้ ขุดดินตามร่องนาให้น้ำเข้า ก็คงด้วยเป็น สถานการณ์ ที่ผลักดัน และมีใจยินดี ทุกๆคนที่ทำนาไม่เป็น ต้องช่วยกันระดมสมองในการทำนาว่า จะทำอย่างไร ให้ดินเสมอกัน ให้น้ำเข้านาได้ พอน้ำล้น คันนา ก็ต้องช่วยกัน ขนดินมาถม ทำไปตาม เหตุปัจจัย จิ้งหรีดไม่เคยเห็น การทำนา แบบนี้ รถไถก็ไถไป พวกเราก็ช่วยกันเกลี่ยดินให้เสมอ เอาน้ำเข้า ก็ดำนากันได้เลย ดินที่ รถไถไม่ถึงก็แข็ง ดำข้าวไม่ลง มันเป็น การดำนา แบบเร่งด่วน รีบทำรีบปลูก เด็กบางคน หักคอข้าว ตอนดำก็เอากล้าข้าวดำลึกครึ่งต้น เวลาดำเสร็จก็เอาน้ำเข้านา จนท่วมข้าว ถ้าไม่ได้กิน ก็ได้ฝึกทำใจ ถือว่า ได้มาฝึกทำงานร่วมกัน ก็คุ้มค่า

การดำนาครั้งแรกหรือวันแรก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ช่วยกันแบ่งเป็นกองเป็นหน้าที่ ใครถนัดเรื่องอะไรก็ไปเรื่องนั้น ก็มีผู้ใหญ่คอยอยู่ ใกล้ชิดเด็ก เป็นแม่ไก่ลูกไก่ คอยสอน การดำนาให้เป็น พอดีท่านฟ้าไทได้ข่าวเรื่องการดำนา ของชาวปฐมอโศก ท่านก็ขออาสา พาคนมาลงแขกช่วย ซึ่งตรงกับวันที่สองของการดำนา โดยเอารถ ๖ ล้อมา ๒ คัน ตอนแรก เด็กไม่อยากมา คุรุก็ไม่ได้บังคับ แต่พอถึงเวลา เด็กนักเรียนก็ปิดฐานงานต่างๆ มาร่วม ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี

มีการจัดเป็นกิจกรรมเข้าค่ายของเด็ก สส.ฐ.เป็นเวลา ๖ วัน มีการละเล่น มี อ.ขวัญดีมาสอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเกี่ยวกับ วิธีการดำนา เด็กๆก็รู้สึกสนุกดี ตอนเย็น ก็มีกิจกรรมเอื้อไออุ่น กินอาหารร่วมกัน ฟังเพลงจากหมอเขียว จนเด็กทางสันติฯ หลายคน ไม่อยากกลับ อยากจะนอนต่อ แต่ยังเป็นไปไม่ได้ เด็กนักเรียนทางสันติฯ จึงขอจองว่า เวลาเกี่ยวข้าว ก็ขอมาช่วยอีก จิ้งหรีดรู้สึก ประทับใจเด็กสันติฯที่มาช่วยดำนา พวกเขาดำนาเป็นและเก่งด้วย ผู้ชายก็ช่วยไถนา จากตัวขาวๆ กลายเป็นคน หน้าแดง หน้าดำไปกันหมด แต่ก็สนุกสนาน ทางสันติฯปิดฐานงานมากันหมด แต่ทางปฐมฯ มีฐานผลิต และฐานพาณิชย์ ไม่ถึงกับปิดฐาน แต่ให้เด็ก หมุนเวียนไป

การดำนาครั้งนี้ เป็นที่ประทับใจของพวกเรา ที่ได้ฝึกเป็นชาวนาเต็มตัว และได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับเด็กๆ ทำให้รู้จักเด็กๆ มากขึ้น ได้เข้าใจการทำนา ได้รู้คุณค่าของชาวนา รู้คุณค่าของข้าว ที่เรากินเข้าไป ในแต่ละวัน เพราะกว่าจะได้ข้าวมากิน แต่ละเมล็ด นั้นมันยากเย็นจริงๆ จึงยิ่งประทับใจชาวนาจริงๆว่าเป็นชีวิตติดดิน แต่มีคุณค่า มีประโยชน์ ต่อคนทั้งโลก จิ้งหรีด ดูพื้นที่จากการทำนาครั้งนี้ ก็คิดว่า ถ้าได้ผลก็คงพอกินกันทั้งชุมชน และชาวปฐมอโศก จะได้กินข้าวที่ปลูกเอง และไร้สารพิษ ดังเช่น สมณะ คนวัด และชาวชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ที่ปลูกข้าวและตำข้าวด้วยมือกินกันเอง ในชุมชนได้ตลอดปี เป็นข้าวดอย ไร้สารพิษ ๑๐๐ %

ถ้าปฐมอโศกทำได้ จิ้งหรีดก็คิดว่า เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก...จี๊ดๆๆๆ .....

คติธรรม-คำสอนของพ่อท่านประจำฉบับ
ความเด็ดขาดที่ใช้พร้อมกับความฉลาดถูกธรรมแท้จริง
คือธรรมาวุธอาญาสิทธิ์ที่จะเผด็จ ทุกสรรพสิ่ง
ความเด็ดไม่ขาดถึงแม้จะใช้พร้อมกับความฉลาด
ถูกธรรมแท้จริงปานใด ก็คือ กิเลสาวุธ
ไม่มีสิทธิ์จะเผด็จอะไรเลย.

(๑๖ ก.ค.๒๓)
(จากหนังสือโศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๗๖)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]




แนะรัฐอุดรูรั่ว กม.ห้ามเติมน้ำตาลในนมทุกชนิด เปิดผลวิจัย พบเด็กไทยไม่สิ้นกลิ่นหวาน
ตั้งแต่แบเบาะถึง ๓ ขวบ ติดหนึบซดวันละ ๙ ช้อนชา

กรุงเทพฯ l เปิดผลวิจัยเด็กไทยไม่พ้น ภัยหวานตั้งแต่แรกเกิดถึง ๓ ขวบ พ่อแม่ชงนมหวาน นมรสน้ำผึ้งให้ดื่มถึงร้อยละ ๓๙ เท่ากับกินน้ำตาลวันละเกือบ

๙ ช้อนชา พอครบขวบเลยติดหวาน ส่วนอายุ ๓-๕ ขวบ เกินครึ่งกินน้ำตาลมากกว่า ๖ ช้อนชาต่อวัน แพทย์เตือนรัฐจะเสียงบฯ รักษา เจ็บป่วยมหาศาล หากไม่แก้กฎหมาย ห้ามเติมน้ำตาลในนมทุกชนิด แนะพ่อแม่อ่านฉลากให้ละเอียด เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ขวบ ควรดื่มแต่นมจืดเท่านั้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จัดเสวนาเรื่อง "ยังไม่สิ้น กลิ่นนมหวาน" ที่ สสส.วันที่ ๑๖ พ.ค.โดย ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาชมรมต่อมไร้ท่อในเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ที่ ๒๘๖ ห้ามเติมน้ำตาลลงในนมผง สูตรต่อเนื่อง สำหรับเด็กอายุ ๖ เดือน ถึง ๓ ขวบ และเริ่มบังคับใช้กับนมผลิตใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒ พ.ค.๒๕๔๘ เป็นต้นมา โดยมีสาระสำคัญคือ ไม่ใช้น้ำตาล น้ำผึ้ง หรือวัตถุให้ความหวานใดๆอีก ประกาศฉบับใหม่นี้ มีผลเฉพาะกับ นมผงเด็ก สูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กอายุ ๖ เดือน ถึง ๓ ขวบ แต่ในความเป็นจริงแล้วพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเด็กมักจะเปลี่ยนสูตรนมผงเลี้ยงเด็ก เมื่อเด็กอายุ ๑ ขวบ โดยซื้อนมผงสูตรอื่นๆ ที่เติมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลในรูปแบบต่างๆให้ลูก

รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการกินนมที่ให้ความหวานในเด็กอายุ ๐-๓ ขวบ จำนวน ๙๓๗ คน และเด็กอายุ ๓-๕ ขวบ จำนวน ๖๙๕ คน เมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค.๒๕๔๗ ใน ๕ จังหวัด คือ สระบุรี, ราชบุรี, หนองบัวลำภู, ลำปาง และตรัง พบว่า เด็กอายุ ๐-๓ ขวบ กินนมผงรสหวาน นมรสน้ำผึ้ง สูงถึงร้อยละ ๓๙.๑ นมพร้อมดื่มหวาน ร้อยละ ๓๕.๑ นมเปรี้ยว ร้อยละ ๑๔.๖ โดยเด็ก จะกินนมหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ อายุ ๑๒ เดือนขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลทำให้ทราบว่าเด็กอายุ ๐-๓ ขวบ จำนวน ๙๓๗ คน กินน้ำตาล เฉลี่ยคนละ ๑๓.๕ กรัมต่อวัน หรือประมาณ ๓-๔ ช้อนชา แต่ถ้าจำแนกเฉพาะเด็ก ที่ดื่มนม รสหวาน ซึ่งมีอยู่ ร้อยละ ๒๐.๔ เด็กกลุ่มนี้จะได้รับน้ำตาล มากถึง ๓๔.๖ กรัม หรือ ๘.๗ ช้อนชา ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นน้ำตาล จากนมผงชนิดหวาน และนมผงชนิดน้ำผึ้ง เด็กกลุ่มที่ดื่มนมรสหวานจึงได้รับน้ำตาลมากกว่าเด็กทั่วไปเกือบ ๓ เท่า และ มากกว่าปริมาณที่องค์กรด้านโภชนาการและเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานแนะนำว่าเด็กไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน ๖ ช้อนชาต่อวัน

ด้าน พญ.สุนทรี รัตนชูเอก จากสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเสริมอีกว่า เด็กไทย ๖ ใน ๑๐ คน กินน้ำตาล มากกว่า เกณฑ์ ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เด็กที่กินนมหวานจะได้น้ำตาลมากกว่าเด็กที่กินนมจืดถึง ๓ เท่า ยกตัวอย่าง กรณี เด็กชายซูโม่ที่มีอายุเพียง ๑๘ เดือน หนักถึง ๒๐ กิโลกรัม เพราะกินนมรสหวานวันละลิตรครึ่ง มากกว่าปริมาณ ที่แพทย์แนะนำ ถึงร้อยละ ๓๐๐ เพราะแม่กลัวลูกร้องกวนใจเพื่อนบ้าน จึงให้ลูกดื่มนมตามที่ร้องขอ ถือเป็นกรณีหนึ่ง ในหลายกรณี ที่เกิดขึ้น กับเด็กไทย

ขณะที่ นพ.สุริยเดช ทริปาตี กุมารแพทย์และโฆษกเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า นมหวานเป็นประตูแรก ของการ ติดหวาน ที่นำไปสู่ผลพวงที่เป็นภัยต่อสุขภาพต่างๆตามมา ทั้งโรคฟันผุและโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาต่อเนื่องไปจนโต จากสถิติพบว่า เด็กอ้วน ๗ ใน ๑๐ คน จะเป็นผู้ใหญ่อ้วนและมีปัญหาสุขภาพ ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ต้องมีภาระ ค่าใช้จ่าย และรวมไปถึงงบประมาณแผ่นดินที่ต้องสูญเสียไปเพื่อการรักษาอย่างมหาศาล ดังนั้นพ่อแม่ต้องช่วยกัน ตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการเลือกแต่นมจืด ให้แก่เด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๓ ขวบเท่านั้น ขณะเดียวกัน ในช่วงที่รอ การแก้ไขกฎหมาย ก็ยังมีนม สำหรับเด็กในตลาดกว่าครึ่ง ที่เติมน้ำตาล ผู้ปกครองจึงควรอ่านฉลากก่อนเลือกซื้อ ที่สำคัญต้องไม่เติมน้ำตาล เพิ่มลงไปในนม และควรมีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็ก อย่างแท้จริง ด้วยการห้ามเติมน้ำตาล ลงในนมผง สูตรอื่นๆด้วย

ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ผู้ใหญ่ควรมีส่วนรับผิดชอบ ในการ คุ้มครองเด็ก ด้านการบริโภค โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสือที่เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กอยากซื้อ อยากกิน ถ้าปล่อยให้พ่อแม่ ต้องต่อสู้เอง โดยลำพัง จะไม่สามารถต่อต้านได้ อย่างแน่นอน

ดร.ชื่นจิตร โพธิศัพท์สุข เลขานุการแพทย์หญิงเพ็ญศรี พิชัยสนิท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในเดือน ก.ค.นี้ กทม.จะจัดสัปดาห์รณรงค์ให้โรงเรียนและผู้ปกครองร่วมมือกันส่งเสริมให้เด็กๆ ในโครงการโรงเรียน กทม.อ่อนหวาน ก่อนขยายผลไปใน ชุมชนต่างๆ ต่อไป.

(จาก นสพ.เอ็กซ์ไซท์ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๗-๑๘ พ.ค.๔๘

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กวาดขยะเลี้ยงพ่ออัมพฤกษ์ ครูปลื้ม ม.๖ ขยัน-เรียนดี

นักเรียน ม.๖ กตัญญู นอนวันละ ๔ ชั่วโมง ตื่นตี ๒ รับจ้างกวาดขยะหาเงินเลี้ยงพ่อที่ป่วยโรคหัวใจ-อัมพฤกษ์ อาจารย์เผยประพฤติดี เรียนเก่ง

เรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ต้องทำงานหนักออกรับจ้างกวาดขยะ ล้างจาน และทำงานพิเศษทุกอย่าง เพื่อหาเงิน มาจุนเจือ ครอบครัวที่มีฐานะยากจนอย่างไม่ย่อท้อ อีกทั้งเธอยังรู้จักแบ่งเวลาให้กับการศึกษาอย่างมีระบบ จนสามารถสอบเข้า มหาวิทยาลัย ของรัฐบาลได้ แม้ว่าแต่ละวันเธอจะมีเวลานอนแค่ ๔ ชั่วโมงเท่านั้น โดยเยาวชนยอดกตัญญูรายนี้ คือ น.ส. จุฑารัตน์ ธรรมเดโช หรือ "น้องอ้อม" อายุ ๑๙ ปี นร.ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๖ ร.ร. เตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช บุตรสาวของนายปราโมทย์ ธรรมเดโช อายุ ๔๓ ปี กับนางบุญจิตร ธรรมเดโช อายุ ๔๐ ปี ซึ่งครอบครัวนี้ อาศัย อยู่ในบ้านเลขที่ ๒๔๕/๑ ถ.พัฒนาการทุ่งปรัง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

สำหรับชีวิตประจำวันของ น.ส.จุฑารัตน์ ไม่เหมือนกับเด็กนักเรียนทั่วไป เพราะเธอต้องตื่นนอนตั้งแต่เวลา ๐๒.๐๐ น. เกือบทุกวัน เพื่อช่วยแม่ทำงานกวาดขยะ และทำงานพิเศษต่างๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งยังต้องดูแลพ่อ ที่ป่วย เป็นโรค หัวใจ โรคตับ และอัมพฤกษ์ ซึ่งภาระอันหนักอึ้งได้ตกมาอยู่ในมือของเธอและแม่เพียง ๒ คนเท่านั้น

น.ส.จุฑารัตน์ เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นบุตรสาวคนที่ ๓ จากพี่น้องจำนวน ๔ คน ซึ่งครอบครัวมีฐานะยากจน อีกทั้งพ่อ ที่เคยทำงาน เป็นเสาหลัก เลี้ยงครอบครัวก็ป่วยหนัก ทำให้เธอต้องช่วยแม่กวาดขยะเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

ด้าน น.ส.เรวดี บัวทอง หัวหน้าหมวดภาควิชาภาษาอังกฤษ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ กล่าวว่า น.ส.จุฑารัตน์ เป็นเด็ก ที่ขยัน ไม่อายที่จะทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ กล้ายอมรับความจริง ซึ่งการกระทำเช่นนี้หา ได้ยากมากในเด็กวัยรุ่นทั่วไป นอกจากนี้ ลูกศิษย์ยังช่วยเหลือ กิจกรรมของโรงเรียน และขยันทำงานพิเศษอื่นๆ นอกเวลาอีก ถือว่า เป็นคนที่มีคุณธรรม มีความขยัน อดทน น่ายกย่อง

ส่วน อาจารย์พอล แอนดริว เรลลี อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ กล่าวว่า น.ส.จุฑารัตน์ เป็นคนขยัน และ ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ เมื่ออยู่ในห้องเรียนก็จะตั้งใจเรียน และ เต็มใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเรียนเสมอ อีกทั้ง ยังเก่ง เรื่องภาษาอังกฤษ และเชื่อว่าลูกศิษย์คงมีอนาคตที่สดใสในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน.

(จาก นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๑๔ ม.ค.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



ชื่อเดิม กองศรี วะลิวงศ์
ชื่อใหม่ กองศีล
การศึกษา ป. ๔
สถานภาพ สมรส มีบุตร ๑ คน
น้ำหนัก ๓๙ กิโลกรัม
ส่วนสูง ๑๔๕ เซนติเมตร
ส่วนสูง ๑๔๕ เซนติเมตร

คุณยายเป็นญาติธรรมรุ่นกองทัพธรรม เมื่อฟังธรรมแล้วได้ฝึกตนลดละกิเลส ทนกระแสเสียดสีว่าเป็นคนบ้าอย่างไม่ครั่นคร้าม ไม่ตอบโต้ ต่อมาสละทรัพย์สมบัติและจากลูกหลานมาเสียสละแรงกายทำงาน กสิกรรม ไร้สารพิษอยู่หมู่บ้าน ชุมชน ราชธานีอโศก จนทำให้ลูกหลานได้ยกครอบครัวเข้าร่วมอุดมการณ์กับคุณยาย ปัจจุบันท่านเป็นนิสิต สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต ราชธานีอโศก

# ประวัติ
คุณยายเกิดในครอบครัวชาวนา พ่อแม่ พาทำนามาตลอด ได้หัดทำนาตั้งแต่อายุ ๔-๕ ปี และปลูกผักพอได้อยู่ได้กิน เสื้อผ้า ก็ทอเอง คุณยายบอกว่าสมัยก่อนอะไรก็ทำเองหมด คุณยายแต่งงานตอนอายุ ๑๙ ปีพ่อบ้านอายุมากกว่า ๑๓ ปี เป็นคนจังหวัด อำนาจเจริญ ไม่ได้รักกันเหมือนคนสมัยนี้ คนแก่ท่านเห็นดีก็จัดการให้ ค่าสินสอด

๖๐๐ บาท ตอนแรกพ่อบ้านเล่นไฮโล สูบบุหรี่ แต่ไม่กินเหล้า พอคุณยายขนาบเอา พ่อบ้าน จึงเลิก กลายเป็นคนมีศีล ไม่ชอบ ฆ่าสัตว์ และเป็นหมอธรรมประจำหมู่บ้าน คุณยายมีลูก ๑ คน และขอลูกพี่มาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ๑ คน พ่อบ้าน เสียชีวิต ตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ตอนนั้นลูกชายเพิ่งเป็นครูได้ ๒ ปี มีคนมาชอบแต่คุณยายก็ยินดีที่ได้เป็นโสด เพราะเห็นว่าอยู่กับลูก ก็สบายดีแล้ว

# เจออโศก
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ กองทัพธรรมไปอบรมที่โรงเรียนชุมชนดง-ม่วงไข่ อำเภอพังโคน มีระยะเวลาอบรม ๓ คืน ๔ วัน คุณยายและลูกไปฟังด้วยกัน สมัยนั้นลูกชายมีอบายมุขเยอะ ตอนแรกที่คุณยายไปเห็นสมณะรู้สึกศรัทธาที่ท่านกราบสวย น่าเลื่อมใส พอได้ฟังธรรมแล้วท่านก็สอนดีไปหมดจนซาบซึ้งในธรรม แม้ชาวบ้านเขาว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ แต่คุณยาย ก็อยู่ฟังธรรม จนครบวัน หลังจากฟังธรรม ตัดสินใจกินมังสวิรัติเลย ลูกชายก็เลิกอบายมุข อุปกรณ์ล่าสัตว์ก็ทิ้งหมด เปลี่ยน แปลงชีวิต เสื้อผ้าก็ให้คนอื่น มาใส่เสื้อ มอซอ เพราะเข้าใจชีวิตแล้ว ชาวบ้านเขาก็ว่าเป็นบ้าหมดบ้าน พอเดือนพฤศจิกายน ได้ไปอำเภอ บ้านดง ลูกชายก็ส่งให้ไปกับเพื่อน คราวนี้ไปเห็นพ่อท่าน เมื่อครั้งก่อน เห็นแต่ท่านจำลองกับสมณะ ฟังแล้ว ก็มีแต่ดีๆ หมด ท่านบอกว่าเดือนกุมภาพันธ์ จะมีงานปลุกเสกฯ ที่ศีรษะอโศก คุณยายก็ตามมาฟังธรรม แล้วนำไปปฏิบัติที่บ้าน จนปี ๒๕๓๙ มาเข้าพรรษาที่บ้านราชฯ ปี ๒๕๔๐ มาปลูกบ้านในชุมชน และอยู่มาจนปัจจุบัน มีลูกและหลาน อยู่เป็น ครอบครัวใหญ่ ๘ คน หลานๆ เรียนที่บ้านราชฯ หมดทุกคน จบไปแล้ว ๒ คน

# ชุมชนบุญนิยม
คุณยายตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะเข้าวัด พอดีแม่ของแม่ตายและท่านสั่งไว้ก่อนตายว่า ให้เข้าวัดหลังจากที่ท่านตายแล้ว อย่าอยู่บ้าน คอยรับใช้ลูกหลานเลย คุณยายรู้สึกว่าแก่แล้ว ต้องมาสะสมเอาบุญ อยู่ในชุมชนบุญนิยม มีประโยชน์มากกว่า อยู่ข้างนอก อยู่ที่บ้าน อยู่ไปวันๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร มาอยู่นี่มีแต่ได้สร้างกุศล เพิ่มให้กับตัวเอง ทรัพย์แท้ตายไป ก็ติดตัวเรา ได้ทั้งทำงาน และปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆกัน รักษาสุขภาพไปด้วย ทุกเช้าตี ๓ พอตื่นนอน คุณยายจะออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพ ร่างกายแข็งแรง เสร็จแล้วก็อ่านหนังสือธรรมะ จึงไปทำงาน กสิกรรมหรือช่วยครัว มีงานให้ทำตลอดทั้งวัน ในตอนเย็น ได้เข้าศาลาทำวัตร ได้ฟังธรรม ได้เข้าชั้นเรียนนิสิตหรือได้ประชุม อยู่ในชุมชนมีอะไรให้ทำเยอะสนุก และมีความสุข

# มรรคผล
เรื่องอาหารเนื้อสัตว์ก็ไม่เคยตกเลยตั้งแต่ที่ตั้งใจเลิกมา ไม่อาลัยอาวรณ์ เรื่องเสื้อผ้าสวยงามก็หมดไป เราจะอนุโลมตามกาละ ถ้างานบุญก็ใส่เสื้อมอซอแบบใหม่ เรื่องความขยันถ้าไม่เจ็บป่วยก็ขยันอยู่แล้ว เพราะเราไม่รู้วันตาย ต้องรีบเอาบุญ ทรัพย์สมบัติ นอกตัว ก็ไม่อาวรณ์ กับลูกกับหลานก็ห่วงใยธรรมดา แต่ไม่ทุกข์กับเขาเหมือนเมื่อก่อน ปี'๔๘ นี้จิตใจดีขึ้น แต่ก่อนอ่านหนังสือ สติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ ไม่เข้าใจ แต่รอบนี้อ่านแล้วมาวิเคราะห์ วิจัยได้ มีความ รู้สึกว่า มาอยู่วัด แต่ยังเป็นปุถุชน ที่ตนเอง เจ็บป่วย ก็เพราะอัตตาของตน พอมาปล่อยวางได้ ภาวะจิตใจดีขึ้น สุขภาพก็ดีตาม ได้ทำโจทย์ จึงได้เข้าใจ สภาพอัตตา ที่มันปล่อย ไม่ออกมันฝังอยู่ลึกๆ ในจิตใจ

# ทุกวันนี้
ทุกวันนี้กับลูกหลานไม่ห่วงเขาแล้ว เพราะเขาโตแล้วและเราก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ แต่ก่อนยังห่วงลูกว่าเขามีภาระเยอะ แต่พอ มาเข้าใจว่า เราก็ช่วยเขาไม่ได้ เราแก่แล้ว จึงปล่อยวางได้ เรื่องการงาน คุณยายรับผิดชอบ ทำกสิกรรม และช่วยครัว คนที่ บ้านราชฯ จะมาจากไหน ก็เหมือนพี่เหมือนน้องกัน ยิ่งกว่าพี่น้องร่วมทางสายเลือด ที่ยังขัดแย้ง แก่งแย่งกันอยู่ แต่ที่บ้านราชฯ มีแต่คนทำงานเสียสละ ทำงานมีแต่ความสุข คุณยายสมัครเป็นนิสิต ตอนปี'๔๖ เพื่อให้ ได้ความรู้เพิ่มเติม แล้วได้ทบทวน พิจารณา มีปัญหาเกิดขึ้น ก็ได้มามองเข้าหาตัวเอง แก้ปัญหาที่ใจของตัวเอง ละกิเลสอัตตา ความเอาแต่ใจ ของตัวเอง โดยเฉพาะ ใจที่อยากจะช่วยคนนั้นคนนี้ พอเขาทำไม่ได้ ดั่งใจเราก็ทุกข์อัตตาก็ขึ้น ปีนี้คุณยายชัดเจน ในกิเลสตัวนี้

# ฝาก
ฝากให้ผู้อายุยาวได้เข้าใจการปฏิบัติธรรม เราอยู่มาจนแก่แล้วจะอยู่เสียเวลาเปล่าทำไม อีกไม่นานเราก็ตาย เดี๋ยวจะไม่ได้อะไร ติดตัวไป มาอาศัยการงานอยู่ในสังคมบุญเพื่อสั่งสมอาริยทรัพย์ ในช่วงที่ยังแข็งแรง ยายมาอยู่ตอนแก่ก็รู้สึกว่า ยังไม่สายเกินไป พอเป็นไปอยู่ ลูกหลานที่ยังหนุ่มสาวอย่าประมาท.

- หิ่งห้อยริมมูล รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี

สมณะเสียงศีล ชาตวโร และสมณะตัวแทนของแต่ละพุทธสถาน ร่วมกับคณะทำงานของเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย (คกร.) เข้าร่วมประชุมเตรียมงาน กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเตรียมรับเสด็จ สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการ และนิทรรศการ เรื่อง "ทรัพยากรไทย สรรพสิ่ง ล้วนพันเกี่ยว" ด้านเศรษฐกิจ พอเพียง ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๕ ต.ค.๒๕๔๘ ณ ห้องประชุมโรงเรียนคลองไผ่วิทยา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงมี พระชนมายุครบ ๕๐ พระชันษา และในโอกาสที่โครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานของโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาครบ ๑๒ ปี

ในงานนี้ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้รับนิมนต์ขึ้นร่วมอภิปรายในวันที่ ๒๑ ต.ค.๔๘ ในหัวข้อเรื่อง "ยิ่งทำยิ่งได้ - ยิ่งให้ยิ่งมี"

วันที่ ๒๐ ต.ค.๔๘ สมณะเสียงศีล ชาตวโร ก็ได้รับนิมนต์ขึ้นร่วมอภิปรายในหัวข้อเรื่อง "ขบวนการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เกษตรอินทรีย์เพื่อ เศรษฐกิจพอเพียง" จะมีการถ่ายทอด ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง เพื่อการเกษตร AM 1386 Khz ตลอดรายการ.

ปฏิทินงานอโศก
งานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๔ ณ พุทธสถานปฐมอโศกวันศุกร์ที่ ๔ - เสาร์ที่ ๕ พ.ย.๔๘
ตักบาตรเทโว และวันเกิดปฐมอโศก ณ พุทธสถานปฐมอโศก วันอาทิตย์ที่ ๖ - จันทร์ที่ ๗ พ.ย.๔๘

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

สังคมวัตถุนิยม ทำความสัมพันธ์ในครอบครัวยิ่งห่าง!!

ถ้าพูดถึง "ญี่ปุ่น" ใครๆก็ต้องยกนิ้วให้ประเทศนี้เขาในเรื่องความทันสมัยทางเทคโนโลยี ที่ชอบมีอะไรดีๆ ออกมาให้ผู้คน ในประเทศ กำลังพัฒนาอย่างเรา อ้าปากค้างด้วยความ "ทึ่ง" อยู่เรื่อย

แต่ท่ามกลางความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีให้มา ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมก็ต้องยอมแลกมาด้วย "ความสัมพันธ์" ระหว่าง ผู้คนที่นับวันยิ่งห่างเหิน จนแทบจะอยู่กันแบบ "เย็นชา" คล้ายหุ่นยนต์เข้าไปทุกทีแล้ว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจล่าสุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำขึ้น ได้พบข้อมูลที่ "น่าตกใจ" ว่าแม้แต่พ่อแม่ลูกที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ลูกบางบ้าน ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า พ่อแม่ของตัว ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีใด? ทั้งยังมีลูกจำนวนมาก ที่รู้สึกว่า ชีวิตของบุพการี เป็นชีวิตที่ไร้ค่า ไร้ความหมายและเป็นชีวิตที่พวกเขาไม่อยากเจริญรอยตาม!!!

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวของเอเอฟพีเล่าว่า นี่ก็เป็นข้อมูลที่สร้างความวิตกต่อรัฐบาลญี่ปุ่นมากเอาการ ที่เก็บข้อมูลได้มาจาก เด็กวัยรุ่น อายุระหว่าง ๑๕-๒๙ ปี จำนวน ๔,๐๐๐ ราย แล้วได้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างวัยที่กำลังห่าง จนน่าใจหาย โดยมีลูกๆ อยู่แทบไม่ถึง ๑ ใน ๕ ที่รู้สึกว่าพ่อแม่ตน ใช้ชีวิตได้อย่างมีค่า มีความหมาย น่ายึดเป็นแบบอย่าง โดยแบ่งเป็น ร้อยละ ๑๗ ที่รู้สึกเช่นนั้นกับชีวิตของพ่อ ขณะที่มีอยู่ ๑๕.๕ % ที่มีความรู้สึกเช่นนั้น เมื่อมองดูชีวิตของแม่

โทมัตสึ เซนโกกุ หัวหน้าสถาบันวิจัยเยาวชนของญี่ปุ่น ให้ความเห็นต่อสภาพน่าเป็นห่วงในสังคมครอบครัว ที่ก่อตัวพัฒนา มาถึงจุดนี้ว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความล้มเหลวในการสื่อสารโดยว่า "เด็กญี่ปุ่นสมัยนี้ไม่ได้พูดคุยกับพ่อแม่ พวกเขา ได้แต่หมกตัว ดูทีวี และเล่นวิดีโอเกมอยู่ในห้อง พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ่อแม่ของเขา ใช้ชีวิตอย่างไร และเป็นการใช้ชีวิต ที่มีค่าหรือไม่"

ในผลสำรวจยังพบด้วยว่า เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่เป็นประเภท "ช่างเลือกงาน" ไม่เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ที่มีงานอะไรก็ทำไว้ก่อน โดย จากการสอบถาม คนว่างงาน อายุตั้งแต่ ๒๙ ปีลงมาจำนวน ๑,๗๐๐ ราย มีถึง ๕๓ % ที่บอกว่า จะรอจนกว่าจะเจองาน ที่อยากทำ ขณะที่มีเพียง ๒๔ % เท่านั้นที่บอกว่า ขอให้มีงานทำเถอะ แม้แต่งานที่ไม่อยากทำ ก็สามารถทนทำไปก่อนได้ ขณะที่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างตอบว่า สิ่งพวกเขาเป็นห่วงที่สุดก็คือ อยากให้ลูกๆ มีงานทำ แม้ว่างานนั้นไม่ใช่งานที่ถูกใจก็ตาม โดยมี พ่อแม่ถึง ๕๒.๖ % ที่ตอบเช่นนี้ ส่วนพ่อแม่ที่ยืนยันอยากให้ลูกได้ทำงานที่ถูกใจเท่านั้นมีเพียง ๒๔ %

ท่ามกลางความรุ่งเรืองทางวัตถุที่งอกงามขึ้นเรื่อยๆ เซนโกกุ ยังให้ความเห็น ความเจริญเหล่านี้ สามารถมอมเมา ให้เด็กรุ่นใหม่ ขาดความมุ่งมั่น มุมานะเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย!.

(จาก นสพ.มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๕ มิ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


บึ้ม...อีกราย

เหตุเกิดที่ห้องบัญชี บจ.พลังบุญ : คุณประกายขวัญ นั่งทำงานอยู่ ขณะนั้นเองได้เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นอย่างกึกก้อง ผู้คน ที่อยู่บริเวณนั้นต่างตกตะลึง!!

ปรากฎว่าไม่ใช่จุดระเบิดชนวนที่ไหน แต่เป็นเพราะแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ขณะชาร์จไฟอยู่นั้น ได้เกิดระเบิดขึ้นมา อย่างไม่ทราบ สาเหตุ จนกระทั่งเต้าเสียบ ปลั๊กไฟตัวเครื่องชาร์จ แตก-หัก

โชคดีไม่มีใครได้รับอันตราย แบตเตอรี่ของจริงหรือของปลอมเจ้าของเครื่องไม่ทราบ คราวหน้าคราวหลัง ต้องซื้อแบตฯ อย่างดี หรือ หันมาใช้เครื่อง พีซีที จะดีกว่ามั้ยฮะ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 2,800 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]

อ่านฉบับย้อนหลัง: