ฉบับที่ 267 ปักษ์แรก 16-30 พฤศจิกายน 2548

[01] แหล่งผลิตคนพาล
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "เรื่องของ ทาน "
[03] สรุปการเตรียมงานตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๙:
[04] คืนสู่เหย้าชาวพุทธธรรม ครั้งที่ ๓ ศิษย์เก่าส่งจม.จากเยอรมัน มาลงทะเบียน
[05] ปลูก 'ถั่วงอก' นั่งขายเอง ใช้แบบโบราณปลอดสารพิษ
[06] สกู๊ปพิเศษ:สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] สวนบุญผักพืชจัดค่ายเยาวชน ฝึกอาบน้ำในคลอง เข้าห้องน้ำหลุม เรียนรู้การประหยัดแบบธรรมชาติ
[08] ผลการวิจัยความเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ (ตอนจบ)
[09] ชาวอโศกร่วมงานลอยกระทง รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย คว้า ๒ รางวัลชนะเลิศ
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:ห
[11] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี :
[12] บ้านปลอดบุหรี่ถวายในหลวง
[13] นางงามรายปักษ์ ชื่อนางเพ็ง สายเบาะ:
[14] ปฏิทินงานอโศก
[15] ทรงแนะชาวพุทธยึด "อหิงสธรรม" นำชีวิต เจ้าหญิงภูฏานร่วมถกสุดยอดผู้นำ "ทักษิณ" ชี้ศาสนาพุทธพร้อมเป็นมิตร:
[16] :ธรรมมาร์เก็ตติ้ง สู้กระแสสื่อลามก
[17] ดึง 'สภาทนาย' สกัด ไทยเบฟฯ เข้าตลาดฯ



แหล่งผลิตคนพาล

ที่ใด มีผู้ทำงานยึดงาน คือมุ่งผลงานมากกว่าจิตวิญญาณ
ที่นั่น จะอบอวลไปด้วยความเครียด
ที่นั่น จะเป็นแหล่งผลิตคนพาล
คนพาล คือ คนที่มีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เพราะต้องการให้ได้ผลงานตามที่ตั้งเป้าไว้

เมื่อหลงงานก็มุ่งงานมากกว่าจิตวิญญาณ ก็จะเพ่งโทษผู้ที่ทำงานไม่ได้ตามเป้าที่เรายึด และจะแสดงกิริยากดดันผู้ที่ทำงานให้ ผู้ที่ถูกกดดัน จากหัวหน้างาน หรือผู้นำที่เป็นคนพาล หากอินทรีย์พละยังไม่มาตรฐานถึงขั้น ISO 4578 (โพธิปักขิยธรรม ๓๑ ประการ) ก็จะ เพ่งโทษหัวหน้าหรือผู้นำกลับอาจจะเพ่งโทษไม่เอาจิตวิญญาณก็ได้ โดยที่ตัวเองก็ไม่เอาเหมือน กัน ดุจแม่ปูกับลูกปู

ดังนั้นถ้าเราต้องการให้บรรยากาศการทำงานไม่เครียด ไม่สร้างคนพาล เราจะต้องร่วมกันสร้างจิตวิญญาณให้ดีในทุกกรรม ซึ่งพ่อท่าน เคยให้คาถาแก่พวกเราในการทำงานว่า

"พึงระวังอารมณ์ก่อนงาน อย่าสำคัญงานให้ยิ่งกว่าอารมณ์".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เรื่องของ ทาน

เรื่องของทานนี้ พ่อท่านได้แสดงธรรมไว้ในหลายประเด็น หลายที่ หลาย วาระ
ทาน นั้นแบ่งเป็น วัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน ซึ่งพ่อท่านได้เคยอธิบายเรื่องของทานซึ่งเป็นมงคล ข้อที่ ๑๕ ในมงคล ๓๘ ในปริวัฏฏ์ต่างๆ ดังจะได้นำมาทบทวนในโอกาส นี้นำมาจากหนังสือ "สัจจะแห่งชีวิต ของ พระโพธิรักษ์" ที่พิมพ์ครั้งที่ ๑ เดือนมกราคม ๒๕๓๐ โดยได้กล่าวถึงเรื่องทานในมงคลสูตร ข้อที่ ๑๕

ปริวัฏฏ์ที่ ๑ สู่ กัลยาณชน มีปุถุชน กัลยาณชน เริ่มจากการทำทาน เป็นเบื้องต้น

ปริวัฏฏ์ที่ ๒ สู่อาริยะ มีโสดาบัน สกิทาคามี คือ การสละออกในเรื่องโลกียะ ทางกาย และทางวัตถุ

ปริวัฏฏ์ที่ ๓ สู่อรหันตชน มีอนาคามี อรหันต์ คือ การละ คลาย หน่าย หรือบริจาค ทั้งรูปธรรม นามธรรม ให้สิ้นเกลี้ยง

อาริยชาติแบบปฏิโลม คือ มีการ "ให้" ตั้งแต่วัตถุหยาบ จนถึงนามธรรมละเอียดขึ้นๆ

และจาก นสพ. เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ ปีที่ ๑๑ ก็ได้พูดถึงเรื่อง วัตถุทานไว้ว่า

วัตถุทาน หรือ การทานวัตถุ ต่างๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร ผู้ใด 'ทำทาน' ยอมเห็น 'ผล' อย่างชัดเจนได้ ทั้งทางกายธรรม ทั้งทางวจีกรรม และ แม้ซับซาบ รู้กันได้ด้วยทางมโนกรรม ว่าเป็นผลของการสละสะพัดวัตถุทรัพย์สินให้แก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นชัดๆเจนๆ ซึ่งทางรูปธรรม ในการทานวัตถุนั้นก็เห็นได้ทางตา หากจะพูดบอกกล่าวการทำทานนั้นก็รู้ได้ทางการพูด ผู้รู้การทานนี้ด้วยทางใดก็ตามย่อมยินดีชื่นชมทางใจอีก ซึ่งโดยธรรมชาติ แห่งจิตวิญญาณคนทั้งหลาย ที่ได้รู้ได้ทราบก็จะ 'จำ' ได้ด้วย จะจำได้มาก ได้นาน หรือลืมกันไปบ้างก็ตาม ก็ยังเป็น 'ผล' ที่ผนึกอยู่ทางวิญญาณ ของคนในสังคมในโลกได้จริงว่า การทานนี้คือ การประกอบ 'กรรมดี' ทั้งทางกายกรรม ทางวจีกรรม ทางมโนกรรม เมื่อเกิดขึ้นในสังคม จึงเป็น 'ทุนทางสังคม' ที่ดีงามอยู่แท้

นี่คือ 'ผล' ที่ยืนยันอยู่โต้งๆ ของ 'ทาน' ชัดๆ 'ทาน' ที่สูงขึ้นไปกว่า 'วัตถุทาน' ก็คือ 'อภัยทาน' เช่น พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างของการทาน อภัยทานเป็นเรื่องเฉพาะนามธรรม ซึ่งเป็นการสละทางจิต ได้แก่ การทานหรือการเอาความโลภ-โกรธ-หลงออกจากจิต ทำให้ไม่มี กามราคะ ไม่มีอาฆาต พยาบาท ไม่มีง่วง ไม่มีหลับหรี่ซึมเซา ไม่มีฟุ้งซ่าน ไม่มีความงมงาย ไม่มีความไม่รู้ เพราะสละอวิชชา สละนิวรณ์ ๕ สละกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน ออกจากตนนั่นเอง

การสละ การทานหรือจาคะขั้นนี้ เป็นเรื่องต้องรู้จัก รู้แจ้ง รู้จริงความเป็นจิตวิญญาณของตนแล้ว 'สละ' หรือ 'เอาออก' ส่วนที่จะต้องสละ จะต้อง ขจัดส่วนที่จะ 'เอาออก' ให้เป็น การทานนี้เรียกอีกศัพท์หนึ่งซึ่งเป็นความลึกซึ้งของธรรม ก็คือคำว่า 'เนกขัมมะ' หมายถึง ตนต้อง 'ปลดเปลื้องตน ออกจากราคะ โทสะ โมหะ' หรือต้อง 'เอาราคะ โทสะ โมหะออก' จากจิตของตน เพราะตนจะพรากจาก 'จิตวิญญาณ' ของตน หรือจิตวิญญาณของตนจะไม่มีในความเป็นตนนั้นไม่ได้แน่ๆ จึงต้องเอาราคะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตวิญญาณของตนให้ได้ ผู้ 'เอาออก' ได้ คือ 'เนกขัมมะ' ที่เป็นปรมัตถ์".

เรื่องของทานนั้นยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ในโอกาสต่อๆไปคงได้นำเสนอกันอีก.

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สรุปการเตรียมงานตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๙

ภาพรวมของการจัดงานจะให้มีการบริหารงานแบบสาธารณะโภคีหรือแบบเป็นองค์รวมมากขึ้น โดยชาวอโศกทุกองค์กรทุกเครือแหร่วมกันเป็นเจ้าภาพในนามของสถาบันบุญนิยม ทั้งเรื่องการเงิน การจัดร้าน การกำหนดราคาสินค้า และแต่งตั้งคณะกรรมการ CEO ทำงาน ๕ คน ดังนี้

๑.นายทิวเมฆ นาวาบุญนิยม ๐-๙๙๑๙-๗๑๗๖
๒.นายมั่นแม่น กะการดี ๐-๑๐๗๒-๙๕๘๕
๓.น.ส.ใบลาน ชุ่มอินทรจักร ๐-๖๕๘๔-๒๕๗๘
๔.น.ส.ผิวฟ้า วิสิทธิ์ศรีศักดิ์ ๐-๙๘๑๐-๘๘๑๗
๕.น.ส.ขวัญหินแก้ว สิ่วกลาง ๐-๖๘๗๙-๘๑๓๔ ซึ่งสามารถพิจารณาตัดสินแก้ปัญหาในเรี่องต่างๆได้ด้วยมติ ๓ ใน ๕

ปฏิทินการเตรียมงาน
๑๐ ธ.ค.๔๘ สินค้าเริ่มเข้าพื้นที่ ที่ราชธานีอโศก
๑๓ ธ.ค.๔๘ ตัวแทนเครือแหลงพื้นที่,ประชุม ที่ราชธานีอโศก
๑๕ ธ.ค.๔๘ นร.สัมมาสิกขา ม.๓, นิสิต ม.วช., คุรุ เข้าพื้นที่ราชธานีอโศก
๑๗-๒๑ธ.ค. ค่ายผู้นำเยาวชน และนร.สัมมาสิกขา ม.๓ ที่ราชธานีอโศก
๒๒ ธ.ค.๔๘ นิสิต ม.วช. และนร.สัมมาสิกขาทั้งหมด เข้าพื้นที่ราชธานีอโศก
๒๓-๒๗ ธ.ค. ค่ายยุวชนอโศกสัมพันธ์ (ยอส.) ที่ราชธานีอโศก
๓๐ ธ.ค.๔๘ วันสุกดิบ (ตลาดอาหารเปิดบริการวันแรก เฉพาะคนภายใน)
๓๑ ธ.ค.๔๘ - ๒ ม.ค.๔๙ ตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๙ ที่ราชธานีอโศก (วันเปิดร้านขายสินค้า) และรายการแสดงบนเวทีภาคค่ำ
๒ ม.ค.๔๙ ๑๕.๐๐ น. ยุทธการเก็บบุญงานปีใหม่

ตลาดสินค้า สถาบันบุญนิยมเป็นผู้จัดผังร้านค้า เงินทุนและการสั่งสินค้า ซึ่งจะบริหารร่วมกับแม่เครือแหหรือเจ้าของร้าน โดยจัดเป็น โซนแม่ข่ายเหมือนปีที่แล้ว ร้านกู้ดินฟ้าจะขายเฉพาะผักผลไม้ไร้สารพิษเท่านั้น ส่วนผักผลไม้ปลอดสารพิษ จะเปิดขายเพิ่มอีก ร้านหนึ่ง
แจ้งข้อมูลสินค้าและกำไรอาริยะที่ คุณใบลาน ๐-๖๕๘๔-๒๕๗๘, คุณผิวฟ้า(ผึ้ง) ๐-๙๘๑๐-๘๘๑๗

ตลาดอาหาร จะขยายพื้นที่ตลาดเพิ่มถึงแนวหลังบ้านสุขภาพ โดยเว้นห่างจากบ้าน ๒ เมตร จัดเป็นโซนประเภทอาหารเหมือนปีที่แล้ว เน้นอาหาร จานเดียว และอาหารอีสาน เพื่อลดการใช้ภาชนะและวัตถุดิบ โดยให้พุทธสถานเป็นหลักในแต่ละร้านตามประเภทอาหาร ดังนี้

๑. อาหารจานเดียว - สันติอโศก
๒. ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ราดหน้า ข้าวเกรียบ ข้าวโพดคั่ว - ปฐมอโศก
๓. อาหารอีสาน - ศีรษะอโศก, หินผาฟ้าน้ำ, บ้านราชฯ
๔. อาหารสุขภาพ ขนมหวาน อื่นๆ - สีมาอโศก, ศาลีอโศก
๕. บริจาคเงินและแรงงานให้ส่วนกลาง - ภูผาฟ้าน้ำ, ทักษิณอโศก
๖. ส่วนโรงครัวกลางจะจัดอาหารให้ญาติธรรมบริการตนเองที่เฮือนฝั่นเซียว
แจ้งรายการผักและจำนวนที่ คุณปานรุ้ง ๐-๔๐๔๗-๙๙๐๒

ลานจอดรถ ลานจอดรถยนต์เหมือนเดิม ลานจอดรถจักรยานยนต์อยู่ใกล้ทางออกไปบ้านกุดระงุม

การจราจร ปีนี้จะปิดถนนด้านหน้าตลาดเริ่มตั้งแต่หน้าปั๊มน้ำมัน โดยให้รถเข้าจอดแล้วจะออกด้านหลังโรงปุ๋ย ออกได้ ๒ ทาง คือ บ้านกุดระงุม และบ้านท่ากกเสียว

การบริหารจัดการแรงงาน งานที่ต้องการผู้ใหญ่ช่วยงานมี ดังนี้
จราจร สโตร์ ถ่ายบาตร อาสาสมัครบุญนิยม (อส.บ. แขนเขียว),
โรงครัวกลาง - ภูผาฟ้าน้ำ
ล้างจาน - วังสีเมฆ
แจ้งอาสาสมัครช่วยงานส่วนกลาง ที่คุณมั่นแม่น ๐-๑๐๗๒-๙๕๘๙

- คนเดินทาง

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


คืนสู่เหย้าชาวพุทธธรรม ครั้งที่ ๓
ศิษย์เก่าส่งจม.จากเยอรมัน มาลงทะเบียน

งานคืนสู่เหย้าชาวพุทธธรรม ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๒-๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ ชุมชนสันติอโศก ฝ่ายเตรียมงานได้แจกแผ่นพับ ส่งถึง บรรดา ชาวพุทธธรรมทั้งหลาย มีข้อความของ พ่อท่านถึงลูก ดังนี้ "...คนที่อยู่ข้างนอกก็ทำงานไปหาเงินไป ทุนนิยมก็กินเนื้อกินหนัง กินหัวใจ ไปเรื่อย ขาดการติดต่อ ขาดหายไปกับสายลมอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ นับวันก็จะยิ่งสูญหาย สูญเสีย ลบเลือนหมดไป คืนสู่เหย้า คือ ทางผ่าน ที่คนเคยผ่านจุดนี้ ไปบ้าง จะคืนมาแลหลัง ตรงนี้ได้ไหม? การคืนสู่เหย้าคล้ายๆงานเช็งเม้ง คล้ายงานวันที่รำลึกถึงบรรพบุรุษ มันมีความสำคัญ อันใดอันหนึ่งใช่ไหม? การคืนสู่เหย้า คือการมา ผนึกรวมกัน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าขบวนการกลุ่มมันมีประสิทธิภาพ มันมีพลังที่ ยิ่งใหญ่ ทำอะไรได้เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าเราสามารถ รวบรวมกันได้ จะด้วยวิธีการเชื่อมต่อ วิธีบูรณาการ วิธีการลงแขก จะเกิดการผนึกแน่น ก็จะรวดเร็ว ในการรวบรวมหมู่มวล มันจะเป็นอะไรกันเชียว ที่จะสร้างให้เกิด ความสัมพันธ์ มันเป็นความเสื่อมหรือไง? ถ้าจะสละเวลามาปีหนึ่งหนหนึ่งจะไม่ได้เชียว หรือ? ใครเห็นด้วยก็มา จากพ่อของลูก"
*** พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์

วันเสาร์ที่ ๑๒ พ.ย.๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๐๐ น. ชาวพุทธธรรมทยอยมาลงทะเบียน ถ่ายภาพเพื่อทำหนังสือทำเนียบพุทธธรรมต่อไป มีเด็ก นักเรียนพุทธธรรม ปัจจุบัน มาช่วยต้อนรับ และมีการขายเสื้อยืดไม่ฟอกสี ด้านหน้าสกรีนโลโก้พุทธธรรม ด้านหลัง สกรีนข้อความ พึ่งตนเองจนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ ช่วงนี้มีฝนตกลงมา ทางคณะผู้จัดงานจึงปรึกษากันย้ายที่จัดงานจากใต้พระวิหารมาที่ศาลาฟังธรรม ครูอ๋อย พานำการสนทนา ตามประสาเพื่อนกัน และกิจกรรมสัมพันธ์

๑๖.๓๐ น. พักรับประทานอาหารพร้อม มีดนตรีซึ่งเล่นโดยคุณศิริ ศิษย์เก่าพุทธธรรม และสมาชิกวงฆราวาส ๒ คน ร้องเพลงโดย ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และครู

เวลา ๑๗.๐๐ น. สมาชิกพุทธธรรมทยอยกันมามากขึ้น มีรายการสัมภาษณ์ เจาะเวลาหาอดีต โดยครูอ๋อย ครูตุ๊ก กลุ่มจับฉ่าย นักดนตรีวง ฆราวาส ผู้ปกครอง ต่อด้วยกิจกรรมสัมพันธ์ สมณะฟ้าไท สมชาติโก กล่าวเปิดงาน แบ่งกลุ่มสนทนาธรรมกับสมณะหรือสิกขมาตุ ชมการรำอวยพร โดยนักเรียน สัมมาสิกขา สันติอโศก ชมวิดีโอบันทึกภาพแห่งความหลัง ๒๐.๒๕ น. นั่งล้อมกันเป็นวง ดับไฟหมดทุกดวง แล้ว จุดเทียนพร้อม ร่วมร้องเพลง เทียนน้อย ของวงฆราวาส ครูเปรมใจพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อพุทธธรรม

๒๐.๔๐ น. สมณะบินบน ถิรจิตโต ให้โอวาทสรุป โลกทุกวันนี้รุนแรงขึ้น แต่เมื่อเราอยู่ที่นี่ อย่างน้อยเราก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราได้จดจำ สิ่งที่ดีเพื่อเป็นพลังใจ ในการต่อสู้สิ่งต่างๆในชีวิต

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๔๘ ๐๕.๑๐ น. ชาวพุทธธรรมร่วมทำวัตรเช้ารับพรจากสมณะมั่นแจ้ง พุทธชาโต สมณะเด่นตะวัน นรวีโร สมณะ กล้าจริง ตถภาโว สิกขมาตุจินดา ตั้งเผ่า สิกขมาตุบุญจริง พุทธพงษ์อโศก สิกขมาตุพึงพร้อม นาวาบุญนิยม สิกขมาตุผาแก้ว ชาวหินฟ้า สิกขมาตุ นวลนิ่ม ชาวหินฟ้า

๐๖.๑๕ น. พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์กรุณาปลีกเวลามาร่วมให้พรกับลูกๆหลานๆชาวพุทธธรรม อ่านจดหมายของศิษย์เก่าพุทธธรรม (น.ส. ชิดตะวัน) ซึ่งอยากมาร่วมงานนี้ แต่ติดเรียนปริญญาเอก อยู่ที่ประเทศเยอรมัน จึงมาไม่ได้ คงส่งเป็นจดหมายมาแทน และนำปฏิทินอโศก ๒๕๔๙ มาแจกให้ ชาวพุทธธรรม

๐๖.๕๐ น. ใส่บาตรร่วมกัน ถ่ายรูปหมู่ ปีนี้มีผู้มาลงทะเบียน ๑๙๙ คน ๐๗.๑๕ น. รับประทานอาหารเช้า ๐๘.๓๐ น. สมณะบินบน ถิรจิตโต เอื้อไออุ่น โดยการเล่า ประวัติของพุทธธรรม สันติอโศก ก่อตั้งมาได้ ๒๔ ปีแล้ว ให้โอวาทในด้านต่างๆ และเปิดโอกาสให้ซักถาม หรือ มีข้อเสนอแนะ ศิษย์เก่า เมื่อโตขึ้น ไปทำงานอะไร มีชีวิตอย่างไร มีแง่คิดอะไรจะเล่าให้น้องๆฟัง ๑๐.๔๕ น. ให้ทุกคนพับกระดาษ A4 เป็น ๘ ช่อง เขียนชื่อ วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ สิ่งที่ชอบ ขอสัมภาษณ์ จากคนที่เราอยากรู้จัก กิจกรรมอำลา ปีหน้าเรามีสัญญาจะมาพบกันใหม่ (๑ สัปดาห์หลังงานมหาปวารณา) ส.๑๑ - อา.๑๒ พ.ย. ๒๕๔๙ ณ ชุมชน สันติอโศก

- คนเดินทาง -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปลูก 'ถั่วงอก' นั่งขายเอง
ใช้แบบโบราณปลอดสารพิษ

เมื่อความต้องการบริโภค "ถั่วงอก" ในบ้านเรามีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นย่อมส่งผลให้สินค้าเกษตรชนิดนี้ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตา ไม่น้อย ทำให้ที่ผ่านมา เกษตรกรและพ่อค้าหัวใสบางราย คิดหาช่องทางเร่งเพิ่มจำนวนการผลิต โดยการใช้ปุ๋ยเคมีและสารฟอกขาว แม้ต้นถั่วงอก ที่เพาะได้ มีลักษณะ "กรอบ ขาวและอวบ" แต่ผู้บริโภคก็เสี่ยงต่อผลกระทบสารเคมีตกค้างในร่างกายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ณ เรือนแพริมน้ำแม่กลองบริเวณตัวเมืองราชบุรี ภัทรา อดุลยธรรม หรือ เจ๊หง เจ้าของกิจการเพาะถั่วงอกจำหน่าย ได้เสนอ ทางเลือก สำหรับคน รักสุขภาพ โดยยึดหลักการเพาะถั่วงอกแบบโบราณ ที่ปลอดสารเคมีตกค้างสำหรับป้อนลูกค้าวันละ ๗๐-๘๐ กิโลกรัม

เจ๊หง เล่าถึงวิธีการเพาะถั่วงอกแบบโบราณ หรือถั่วงอกแพโบราณว่า เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดสืบกันมากว่า ๖๐ ปี ซึ่งทำให้ ผลผลิตที่ได้ ปลอดจาก สารเคมีตกค้าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากทุกขั้นตอน ไม่ใช้สารเคมีเลย แต่ถั่วงอกที่เพาะด้วยวิธีนี้ ลูกค้าบางคน ไม่นิยมซื้อ รับประทาน เนื่องจาก ต้นเล็ก รากยาว สีขาวเจือเหลือง

"ลูกค้าส่วนใหญ่มีความเชื่อผิดๆ ว่า ถั่วงอกที่ดีต้องมีต้นโต อวบ สีขาว ทำให้ถั่วงอกเพาะแบบโบราณขายไม่ได้ จนฉันต้องหยุดไปเมื่อ ๗ ปี ก่อน แล้วไป รับถั่วงอก แบบที่คนนิยมซื้อมาขาย เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่เมื่อสัมผัสและกิน ถั่วงอกเหล่านั้นบ่อยๆ ก็รู้สึกแสบร้อน ที่โคนเล็บ และนิ้วมือ ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย ต่อมาร้านก๋วยเตี๋ยวที่เป็นลูกค้าประจำหลายร้าน เรียกร้องให้ปลูกถั่วงอก แบบโบราณ อีกครั้ง ฉันเห็นว่า ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญ ต่อสินค้า ปลอดสารเคมี รวมทั้งรู้สึกว่า ถั่วงอกที่รับมาขาย อาจมีสารพิษปนเปื้อน จึงกลับมา เพาะถั่วงอกอีกครั้ง เมื่อปีที่แล้ว" เจ๊หง กล่าว

เหตุที่เรียกกันติดปากว่า "ถั่วงอกแพโบราณ" นั้น เจ๊หง อธิบายว่า เพราะว่าใช้แพไม้ไผ่ในแม่น้ำแม่กลองเป็นสถานที่เพาะถั่วงอก สำหรับ วิธีปลูกนั้น ง่ายแสนง่าย ใครก็สามารถทำได้ แต่ต้องขยันและตั้งใจจริง ตอนนี้บนแพของเจ๊หง มีโอ่งเพาะถั่วงอก จำนวน ๓๑ ใบ และ ใช้วิธีเพาะ แบบหมุนเวียน ให้สามารถ เก็บขายได้ทุกวัน ส่วนโอ่งที่เก็บขายแล้ว จะทำความสะอาด พักไว้หนึ่งวัน

ด้านต้นทุนการผลิตนั้น ถั่วเขียวมีสองชนิดคือ ถั่วเขียวเปลือกเขียว ราคากิโลกรัมละ ๔๐ บาท และถั่วเขียวเปลือกดำ ราคากิโลกกรัมละ ๒๕ บาท การเพาะหนึ่งครั้งใช้ถั่วโอ่งละ ๕ กิโลกรัม จะได้ถั่วงอกสูงถึง ๓๐ กิโลกรัม สำหรับราคาถั่วงอกปลอดสารนั้น เจ๊หงกำหนดไว้ สองอัตรา ประกอบด้วย ราคาส่ง กิโลกรัมละ ๑๐ บาท และราคาปลีก กิโลกรัมละ ๑๕ บาท

"ฉันนำถั่วงอกไปวางขายปลีกในตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตอน ๒ จ.ราชบุรี มีคนซื้อไม่มากนัก รายได้ส่วนใหญ่ มาจากการ ขายส่ง ตามร้านก๋วยเตี๋ยว ที่เป็นลูกค้าประจำ รวมแล้วขายได้ประมาณวันละ ๗๐-๘๐ กิโลกรัม แต่ในช่วงเทศกาล สำคัญๆ จะขายดี เป็นพิเศษ" เจ๊หงให้เหตุผล

สำหรับขั้นตอนการเพาะถั่วงอกแพโบราณนั้น เจ๊หง เผยเคล็ดลับว่า ขั้นแรกนำเมล็ดถั่วเขียวไปล้าง แล้วแช่น้ำจนเมล็ดเริ่มพอง จากนั้น นำไปใส่ ในภาชนะสำหรับเพาะ คือ โอ่งมังกรที่สั่งทำพิเศษโดยเจาะรูที่ก้นโอ่ง ๔ รู และใช้กาบมะพร้าวอุดไว้ เพื่อให้เป็นรูระบายน้ำ จากนั้นรดน้ำ พอท่วมเมล็ดถั่ว ทุก ๓ ชั่วโมง รวม ๒๑ ครั้ง ก็สามารถเก็บไปขายได้

เธอ ย้ำว่า มันสำคัญอยู่ที่การรดน้ำครั้งสุดท้าย ถ้าขาดไปจะทำให้เปลือกถั่วเขียวติดอยู่กับต้นถั่วงอกแกะไม่ออก ต้องทิ้งทั้งหมด ทั้งนี้ การปลูกบนแพ ช่วยให้มีแหล่งน้ำ อยู่ใกล้ๆ ตักรดต้นถั่วได้ง่าย และใช้น้ำอย่างเดียว ไม่ใส่สารอื่นเลย

ปลูก "พืช" เช่นใด ย่อมได้ "ผล" เช่นนั้น ทำไมปลูก "ถั่วเขียว" แล้วได้ "ถั่วงอก" อาจเป็นข้อสังเกตที่บางคนพูดกันเล่นๆ แต่สำหรับ "เจ๊หง" การปลูก ถั่วได้ถั่วงอก ช่วยให้เธอมีรายได้ เข้ากระเป๋าทุกวัน.
(จาก นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๑๐ พ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร

จากงานมหาปวารณาครั้งที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๔-๗ พ.ย.ที่ผ่านมา ท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโรได้ฝากข้อคิดให้กับญาติธรรมชาวอโศกดังนี้ค่ะ

# งานมหาปวารณาครั้งที่ ๒๔ มีข้อคิดที่สำคัญอะไรบ้างคะ?
- ๑. ปีนี้พ่อท่านให้โศลกที่สำคัญยิ่ง กับชาวอโศกทุกๆ คนก็คือ
"เอาแต่ใจตัวคือชั่วโดยอัตโนมัติ จะดีได้ต้องหัดให้ หัดเห็นใจคนอื่นเสมอ"

เรื่องของการเอาแต่ใจตัว เป็นสิ่งที่จะรู้ตัวได้ยากสำหรับนักปฏิบัติธรรม ยิ่งในระบบสาธารณโภคีที่เราไม่ได้ทำอะไรเพื่อตัวเราแล้ว มีแต่ความคิด ที่จะทำให้ เพื่อส่วนรวม แต่ในความคิดที่ทำให้เพื่อส่วนรวมมันก็มีความเอาแต่ใจตัวซ้อนแฝงอยู่ในนั้น ถ้าไม่พิจารณากันให้ดีๆ จะไม่รู้ตัวกันได้ง่ายๆ เลย

ภาวะการเอาแต่ใจตัวเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น
ก.) ภาวะดิ่งไม่สดับ พอจิตเราไปคิด หรือให้ความสำคัญ หรือจมไปกับเรื่องนั้นแล้วก็จะยอมมอบกายถวายชีวิตไปกับงานเรื่องนั้น อย่าง เสียศูนย์ ได้ง่ายๆ เคยเห็นบางคน ที่เป็นช่าง เอาไม้กระดานแผ่นใหญ่ๆ ไปตัดทำด้ามกระบวยเล็กๆ อย่างนี้เป็นภาวะที่เหมือน ขี่ช้าง จับตั๊กแตน แต่เพราะ การที่จิต ไปดิ่งอยู่กับ ด้ามกระบวย เลยเห็นด้ามกระบวยสำคัญที่สุด จนลืมนึกถึงการลงทุน ที่มากมายมหาศาล ในการทำงานนั้นๆ หรือบางคน คิดแต่มุมประหยัดอย่างเดียว จนกลายเป็น ขี่ตั๊กแตนล้มช้าง เอาคนระดับหัวหน้า ไปทำงานซื้อสังกะสี ถอนตะปู เพราะเพ่งมองแต่แรงงานฟรีๆ ไม่มีค่าจ่ายใดๆ ปัญหาดิ่งไม่สดับ ก็จะเป็นกันง่ายๆ ถ้าเราไปหมกมุ่นครุ่นคิด อยู่กับเรื่องอะไร เมื่อทำงานออกไป ก็จะไม่ได้ใช้ สัปปุริสธรรม แต่จะเอาให้ได้ ตามที่เราไปหมกมุ่น ครุ่นคิดเอาไว้

ข.) ใหญ่คับฟ้า โดยจะหลงไปสำคัญ กับความคิดของเราว่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดใครที่ไม่เห็นด้วย คือคนที่ใช้ไม่ได้หรือสมควรตาย เหมือน ปัญหาสังคม ที่เป็นพวกซ้าย จัดขวาจัด ที่ผูกขาดความถูกต้องของตัวเองเอาไว้ แล้วก็จะกวาดความคิดของคนอื่น ทิ้งไปหมด เราก็เลย กลายเป็น คนที่ใหญ่คับฟ้า เพราะยึดว่า กูแน่มากกว่าคิดว่ากูแย่ กูแย่มันยังมีโอกาสล้างอัตตา ล้างอวิชชา ได้ แต่ถ้าคิดว่ากูแน่ จะไปอัด คนอื่น จัดการคนอื่น ก็จะก่อให้เกิด ปัญหาข้อต่อไปคือ

ค.) บ้าอำนาจ อาจจะเคยเกิดเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้มาก่อน พอทำงานขึ้นมาก็มีแต่ความคิดที่จะไปจัดการ ไปเล่นงาน ไปเอาเรื่องเอาราวคนอื่น ทั้งที่เรามา ปฏิบัติธรรม จริงๆแล้วมันต้องมาฝึกเป็นเซี่ยวเอ้อ หรือมาฝึกเป็นผู้รับใช้ ซึ่งถ้าคนทำจิตตัวเราเองให้เป็น ผู้รับใช้แล้ว เราก็จะเป็น ชีวิต ที่มีความสุข เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็จะมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใสเต็มใจบริการ แต่ถ้าเราทำใจของเราเป็นฮ่องเต้ มันก็จะอึดอัด ขัดเคือง รู้สึกไม่พอใจ ไม่ชอบใจไปหมด สรุปแล้วชีวิตของ นักปฏิบัติธรรม ถ้าเจริญอัตตาจนปล่อยให้อัตตามาก ความสุขก็จะน้อยลงไป ถ้าเราพยายาม ที่จะอ่านใจของเรา ทำอัตตาของเรา ให้น้อยลงไป ความสุขก็จะมากขึ้น เมื่อไหร่ ที่เราเกิดความทุกข์ความไม่สบายใจขึ้นมา ก็ให้ทบทวนว่า เรากำลังจะเอาแต่ใจตัวหรือเปล่า ท่านพุทธทาส เคยพูดเป็นโศลกเอาไว้ว่า จิตที่คิดจะให้ย่อมสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา ซึ่งเราเอง คงจะต้องพยายาม ที่จะหัดให้ หัดเข้าใจคนอื่น ไม่ใช่เข้าใจแต่ของเรา หรือ เอาให้ได้อย่างที่ใจเราคิดเท่านั้น

๒. ในงานมหาปวารณาปีนี้หมู่สงฆ์ได้ลงมติให้การเฉลิมฉลอง ๗๒ ปี ของพ่อท่าน เป็นการเฉลิมฉลองปัญญาสมโภชด้วย ตอนพ่อท่านครบ ๖๐ ปี เราก็เคยจัดงาน สมาธิสมโภชกันมา ครั้งหนึ่งแล้ว ในวาระนี้ก็เป็นวาระครบรอบนักษัตรพอดี ชาวอโศกก็น่าจะได้ เฉลิมฉลอง ปัญญาสมโภชกัน ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญญา มี ๘ ประการด้วยกัน ซึ่งอาตมาจะสรุป เนื้อหาโดยย่อ มีดังต่อไปนี้

๑. ทำตนเป็นสะใภ้ใหม่ ตั้งจิตไว้ด้วยความเคารพอย่างแรงกล้า ความละอายเกรงกลัวอย่างแรงกล้าต่อท่านที่เป็นครูบาอาจารย์

๒. เข้าไปขอรับภาษิต ขอรับคำสั่งสอนท่านที่จะเอามาประพฤติปฏิบัติ บางคนเคารพพ่อท่านนะแต่ว่าไม่คิดที่จะเอาคำสอนไปปฏิบัติ มีแต่ฟัง เพื่อให้รู้ ประเทืองปัญญาเฉยๆ การจะเกิดปัญญาได้จะต้องน้อมรับคำสั่งสอนนั้นเอามาประพฤติปฏิบัติกับตนให้ได้

๓. ทำความสงบกายสงบจิต ทุกวันนี้การงานเรามากเมื่อไม่เห็นความสำคัญทาง "สมถะ" แม้แต่สวดมนต์ก็ขี้เกียจสวด พอสมณะขึ้น พาหุงฯ ก็รู้สึกเบื่อ เราเลยไม่ได้ ความสงบกายสงบจิต อย่างภาษากำลังภายในบอกว่าใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว จริงๆ แล้วยิ่งเรามี ความสงบ ในภายใน เท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เรา มีปัญญา มีชีวทัศน์โลกทัศน์ที่ชัด คมชัดลึกได้มากเท่านั้น

๔. มีการเพิ่มอธิศีล เพิ่มเพดานบิน เพิ่มภูมิธรรมของตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไปไม่หยุดอยู่

๕. จะต้องเป็นพหูสูต เป็นผู้ขยันในการที่จะได้ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมในคำสอน แล้วหมั่นนำมาพิจารณา ท่านใช้ศัพท์ว่า เป็นผู้แทงตลอดด้วยดี ซึ่งทิฏฐิ นำหัวข้อ คำสอน เอามาทบทวนไตร่ตรองเสมอๆ อย่างบางคนฟังเรื่องกรรม เรื่องทิฏฐิมาก็มาก แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ไปพลังจักรวาล แสดงว่า สัมมาทิฏฐิของเรา ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่

๖. มีความบากบั่นอันมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกลางคัน หมายความว่ารู้ทิศทางเป้าหมายชัดเจนแล้วก็จะต้องมีความเพียรมีความบากบั่น อันมั่นคง ไม่ทำเป็น ไฟไหม้ฟาง แต่ว่าเราจะต้องเป็นนักปฏิบัติธรรมที่คงเส้นคงวา ทำอะไรก็ต้องจับให้มั่น คั้นให้กิเลสตายให้ได้ จึงจะทำ ให้เรา เกิดปัญญา

๗. เป็นผู้เคารพในการประชุม ได้ประโยชน์ในการประชุม ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ จะต้องเป็นคนที่ล้างอรูปอัตตาของตัวเอง พยายามที่ จะล้าง หัวอ้ายเรือง ของตัวเอง ไม่ใช่มาประชุมเพื่อจะเอาให้ได้ตามความคิดของตัวเอง คนที่ไม่ยึดอรูปอัตตาของตัวเองมาก จะเป็นผู้ที่ น้อมรับฟังความคิดของคนอื่น และ ได้ประโยชน์จาก ผู้อื่น การใช้ที่ประชุมเป็นจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ปีนี้พ่อท่านเน้นในที่ประชุมสงฆ์ เรื่องอปริหานิยธรรม ท่านเห็นว่า จะเป็นความเจริญ ของศาสนาอย่างสำคัญ

๘. ให้พิจารณาเห็นความเกิดดับของอุปทานขันธ์ ๕ ปีนี้พ่อท่านให้โอวาทกับหมู่สงฆ์ไว้ว่า ถ้าคนที่พยายามตามรู้เท่าทันและล้างอรูปอัตตา ของตัวเอง เสมอๆ จะรู้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรมีแต่ความเกิดดับเท่านั้นก็จะไม่ยึดติดอะไร เราจะเห็นได้ว่าพ่อท่านเองทำงานกับพวกเราได้ทุกคน เพราะว่า ตั้งแต่ ๐-๑๐๐ ท่านจะเอา ตรงจุดไหนก็ได้ ตามใจพวกเรา แต่ถ้าเรายึดกับอรูปอัตตาของเราเมื่อไหร่บางที่นับ ๑ ก็ไม่ถึง ๑๐ ถ้าไป ถึงร้อย ยิ่งไปไม่ได้ใหญ่เลย การเห็น ความเกิดดับ ของอุปทานขันธ์ ๕ จะเกิดได้ เมื่อเราศึกษาเรียนรู้ละล้างทั้งโอฬาริกอัตตา มโนมย อัตตา และอรูปอัตตา ก็จะเป็นปัจจัย ที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า จะทำให้เกิดปัญญา



# ท่านมีอะไรจะฝากเป็นข้อคิดให้กับญาติธรรมบ้างคะ?
- มีพวกเราเปิดประเด็นที่สำคัญไว้ว่า ทุกวันนี้น่าจะมีอบายมุขข้อที่ ๗ ของนักปฏิบัติธรรม คือ การที่พวกเราตื่นหมอตื่นยา รู้สึกเป็นห่วง กังวล การดูแล สุขภาพของตนเอง มากไป มีอบายมุขข้อหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า รำที่ไหนไปที่นั่น ทุกวันนี้ พวกเราเองบางคน ก็เรียกได้ว่า ใครว่ามีหมอดี -ยาดีที่ไหน ก็ไปกันที่นั่น เลยทำให้พวกเราเสียเงินเสียทองโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะการไปร่วมขบวนการบาป ในระบบไดเร็กเซล ซึ่งพ่อท่าน ได้ให้คำจำกัดความเลยว่า ไดเร็กเซล หรือระบบขายตรงทุกวันนี้ คือระบบการสร้างบาปอย่างหนึ่ง ของมนุษยชาติ เมื่อเราไปร่วมขบวนการ อย่างนี้ ชาวอโศกก็เลย ต้องไปขึ้นอยู่กับ สุขภาพดีต้องมีเงิน จึงทำให้สโลแกน เปลี่ยนไปเป็น สุขภาพดีไม่มีขาย แต่อยากหาย ต้องจ่ายเงิน ทุกวันนี้อยากมีสุขภาพดี ต้องไปเสียเงิน คนละหลายพัน บางครั้ง เป็นหมื่น กลุ่มเราเป็น กลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ สำหรับคนที่เขาต้องการ จะมาหาเงิน กับพวกเรา

ทั้งๆที่เราก็ได้ข้อสรุปกันแล้วว่า การที่จะมีสุขภาพดีได้นั้น ต้องมาทำ ๗ อ. แต่ ดูเหมือนว่าพวกเราจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ในการที่จะมาให้ ความสำคัญ กับการจัดความสมดุลในชีวิต ด้วยการจัดระบบ ๗ อ.

ซึ่งทางหมอเขาถือว่าการจัดความสมดุลเป็นความสำคัญยิ่งกว่าการรักษา เป็นการรักษาแบบเชิงรุก (ในกรณีที่เราเจ็บป่วยเพราะไม่ สมดุล) ที่ผ่านๆ มาเราไปเน้นการรักษาเกี่ยวกับเรื่องวิธีโน้นวิธีนี้เราจะเห็นว่า ดูเหมือนดีขึ้นมาได้เป็นพักๆ ซึ่งพ่อท่านก็บอกว่าให้เราต้องเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องของ อุปาทานจิต ให้มาก เพราะจิตที่เชื่อว่าดีจะทำให้ดีได้ขึ้นมาพักๆ ได้เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เลยทำให้ ชีวิตของเรา ค่อนข้างยุ่งยากมาก ถ้าเราไปเน้น ให้ความสำคัญ กับการรักษาเป็นใหญ่ พอ เราไปหาหมอแต่ละคนๆ ก็จะไม่เหมือนกัน ไปหาหมอ ที่เน้นดีท็อกซ์ ก็จะจับเราดีท็อกซ์เป็นหลัก ไปหาหมอ ที่เน้นบีบนวด ก็นวดทุกอย่าง หายทุกโรค หรือว่าไปหาหมอ ที่ขูดเป็นหลัก ก็จะขูด นี่แหละหายทุกโรค เมื่อมากหมอก็จะมากความ มากปัญหา จนไม่รู้ว่า จะไปตั้งต้น กันตรงไหน

ในกรณีที่เราเองไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดนก ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งที่มีผลการวินิจฉัยที่ชัดเจน หรือบางคนหมอแพทย์ทางเลือก เขาจะบอกน่ากลัว เลยเป็น กระดูกทับเส้น จริงๆแล้ว ถ้ากระดูกทับเส้น หมอแผนปัจจุบัน เขาก็สามารถตรวจได้ว่า มันทับเส้น หรือไม่ทับเส้นจริง ในกรณีที่ มันไม่ได้เป็น โรคอันตราย อย่างนี้ เราน่าจะมาให้ความสำคัญ ในการที่จะจัดความสมดุล ของชีวิต มาเน้นความสำคัญว่า ทำอย่างไร เราถึงจะมีอารมณ์ดี มีอาหารดี มีอิทธิบาท มีไฟชีวิต ที่จะทำให้เราเกิดปีติ เกิดสุข เกิดเอ็นโดรฟีนหลั่งออกมา ในร่างกาย

ทุกวันนี้กระแสสุขภาพค่อนข้างที่จะมาแรง ถ้ากลุ่มพวกเราไม่ระมัดระวังกันให้ดีก็จะกลายเป็นเหยื่อ หรือเป็นเครื่องมือ เป็นหนูทดลองยา ให้กับขบวนการ ที่จะมาหาเงิน กับชาวอโศก จริงๆแล้วชาวอโศกน่าจะเหมาะกับแพทย์ทางเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่ามีอะไรให้เลือก เราก็วิ่งไปตามกระแส ที่เข้ามาหมด ทุกอย่าง แพทย์ทางเลือก น่าจะหมายถึงว่า อะไรที่มาเสนอเราตัวเราควรจะฉลาดในทางเลือก แล้วก็เอามาสังเคราะห์เอามาวิเคราะห์ว่า อะไรที่น่า จะเหมาะสม กับองค์ประกอบ ในชีวิตของเรา โดยไม่ไปดิ่งไม่สดับจมดุ่ยอยู่กับเรื่องนั้นๆ จนลืมองค์ประกอบของ การจัดสรรชีวิต ให้สมดุลทั้ง ๗อ. ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจสำคัญ ในการรักษาสุขภาพของเราให้ดี เป็นสุดยอดยาวิเศษ ชนิดที่ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



สวนบุญผักพืชจัดค่ายเยาวชน
ฝึกอาบน้ำในคลอง เข้าห้องน้ำหลุม เรียนรู้การประหยัดแบบธรรมชาติ

สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม และศูนย์ฝึก อบรม ศาลีอโศกร่วมจัดงานค่าย "สำนึกอดีต เข้าใจปัจจุบัน มุ่งมั่นอนาคต"รุ่นที่ ๒ ในวันที่ ๑๐-๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ สวนบุญผักพืช จ.ปทุมธานี โดยมีคุณตายจริง คุณตายแน่ คุณสมพงษ์ คุณร้อยแจ้ง นำทีมอบรม

นักเรียนสัมมาสิกขาศาลีอโศกจำนวน ๖๐ คน ได้มีโอกาสมาเข้าค่ายฯ รู้สึกยินดีมากและดีใจที่ได้มาฝึกตนที่นี่ การเข้าค่ายก็ไม่หนักหนา อะไรมากนัก โดยปกติทั่วไป การเข้าค่ายจะเน้นทางขบวนการกลุ่ม เน้นการมีระเบียบวินัย แต่สำหรับค่ายนี่แปลกมากจริงๆ กิจวัตร ก็เริ่มจาก การตื่นนอน ๐๔.๔๕ น. สมณะมือมั่น สมณะธาตุดิน สมณะสู่สูญ ทำวัตรเช้า จากนั้นก็เข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ ร้องเพลงมาร์ช และการแสดง ก่อนลงงาน ของแต่ละกลุ่ม โดยจะมีการ สลับกลุ่มแสดง เช่น ข่าวพื้นบ้าน ภาษาไทยวันละคำ ภาษาอังกฤษ วันละคำ เป็นต้น ต่อมาก็เป็นการลงงานช่วงเช้า งานที่ทำ ไม่หนักหนาอะไร พวกเราทุกคน ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่องานจะได้สำเร็จ ได้ด้วยดี ก่อนกินข้าวมีบทเรียนก่อนอาหารเพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึก ของการตักอาหาร คนที่ตักอาหารก่อน ควรมีจิตที่คำนึงถึง คนข้างหลังบ้าง ขณะกินข้าวก็มีเสียงเพลงเพื่อชีวิต บรรเลงกล่อมให้ความเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นเพลง ที่มีอุดมการณ์ มีเนื้อหาสาระ สร้างสรร หลายคน ฟังแล้วชอบ และเกิดอุดมการณ์ในตัวเอง

กินข้าวเสร็จทำกิจกรรม ๕ ส. พักสักหน่อยแล้วจับปากกาขีดเขียนลงในกระดาษ ช่วงบ่ายเรียนบูรณาการ พวกเราได้รู้ว่า การเรียนของ พวกเรา ไม่ใช่แค่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ในหนังสือเท่านั้น แต่ได้เรียนรู้ตั้งแต่ตื่นนอน จากการทำงาน ดูจิตใจ ตัวเอง ซึ่งเป็นการเรียน จากชีวิตจริง เมื่อยามบ่าย แดดที่ร้อนจัด อ่อนแสงลง เมื่อนั้นเป็นเวลาลงงานอีกช่วงหนึ่ง พวกเรารู้สึกประทับใจ ในการทำงานมาก โดยเฉพาะงาน ลอกคลอง พอบอกว่า ทำงานลอกคลอง ทุกคนจะต้อง ปรบมือดีใจ แม้จะต้องเลอะทุกครั้ง แต่ก็เต็มใจ พวกผู้ชาย ได้ไปโดดน้ำเล่น ที่สระมรกต สนุกสนานกันมากเลย

เราประทับใจการกินข้าวอยู่มื้อหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเย็นของวันที่ ๓ ในการเข้าค่าย พวกเรานึ่งข้าวเหนียวกินเอง โดยมี กับข้าวให้อย่างเดียวคือ เกลือ ดูเหมือน จะไม่อร่อย แต่พวกเรากินกันหมดเกลี้ยง กินข้าวเหนียวจิ้มเกลือ กินข้าวมื้อนี้ พวกเราจะจดจำ ไม่ลืมเลือนเลยทีเดียว

คืนสุดท้ายของการเข้าค่ายมีกิจกรรม รอบกองไฟ การแสดง ทุกกลุ่มแสดงได้ดี มีทั้งสาระ ความบันเทิง ความสามัคคีในหมู่กลุ่ม ตลอด ระยะเวลา ตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งวันสุดท้ายของการเข้าค่าย พวกเรารู้สึกได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ได้ประโยชน์ในหลายด้าน การปรับตัว ให้เข้ากับวิถีชีวิต ของที่นี่ ฝึกอาบน้ำในคลอง เข้าห้องน้ำหลุมซึ่งไม่สะดวกสบายสักเท่าไร แต่พวกเรารู้สึกดีใจอย่างมาก ที่มาเข้าค่าย ได้ชมวิดีโอ ภาพเหตุการณ์สำคัญ ประวัติศาสตร์ ของชาติไทย และของชาวอโศก เช่น ช่วงเกิดคดีสันติอโศก ตอนพ่อท่าน ถูกจับ และมาเปลี่ยนเป็นชุดขาว ทำให้เกิดความรู้สึก สะเทือนใจมาก น้ำตาไหลกัน หลายคน

ที่นี่บรรยากาศดีมาก ดิน น้ำ อากาศ บริสุทธิ์มากทีเดียว มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราได้อาจจะเหมือนสั้นๆ แต่ความหมายลึกซึ้งสำหรับพวกเรา "สหายใหม่" คำนี้ เป็นคำที่พวกเรา ได้รับในค่ายนี้ และเป็นคำที่พวกเราจะเก็บไว้ในความทรงจำเสมอ มีสิ่งๆ หนึ่งที่พวกเราได้รับ และได้สัมผัส อยู่ตลอด คือความจริงใจจากอาๆ พี่ๆทุกคน ด้วยแรงกาย แรงใจ และหัวใจที่ทุกคน ได้ทุ่มโถมให้กับพวกเรา พวกเรา รู้ซึ้งและ สัมผัสได้ ในความอุบอุ่น ความคุ้นเคยอย่าง "ภราดรภาพ" ที่แท้จริง พร้อมกับตั้งใจ จะทำสิ่งดีๆ ยิ่งๆขึ้นสืบ ต่อไป.

- สหายใหม่ -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ผลการวิจัยความเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ (ตอนจบ)

ข้อแนะนำในการใช้น้ำมันทอดอาหาร
๑. ไม่ใช้น้ำมันทอดอาหารเกิน ๒ ครั้ง หากน้ำมันทอดอาหารมีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวข้น สีดำ ฟองมาก เป็นควันง่ายและเหม็นไหม้ไม่ควรใช้ ต่อไป

๒. ไม่ทอดอาหารไฟแรงเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมของน้ำมันประมาณ ๑๖๐-๑๘๐ องศาเซลเซียส หากทอดไฟแรง น้ำมันจะเสื่อม สลายตัวเร็ว แต่ถ้าไฟอ่อนเกินไป จะอมน้ำมัน และรักษาระดับน้ำมันในกะทะให้เท่าเดิมเสมอ

๓. ซับน้ำส่วนเกินบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด เพื่อชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันและทอดอาหารครั้งละไม่มากเกินไป เพื่อลดเวลา ในการทอดลง และหมั่นกรอง กากอาหารทิ้งระหว่างและหลังการทอดอาหาร

๔. เปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารบ่อยขึ้น หากทอดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีส่วนผสมของเกลือหรือเครื่องปรุงรสปริมาณมาก

๕. ปิดแก๊สทันทีหลังทอดอาหารเสร็จ หากอยู่ระหว่างช่วงพักการทอด ควรราไฟลงหรือปิดเครื่องทอด เพื่อ ชะลอการเสื่อมสลายตัวของ น้ำมัน ทอดอาหาร

๖. เก็บน้ำมันที่ผ่านการทอดอาหารไว้ในภาชนะสแตนเลสหรือแก้วปิดสนิทในที่เย็น และไม่โดนแสงสว่าง

๗. ล้างทำความสะอาดกะทะหรือ เครื่องทอดอาหารทุกวัน น้ำมันเก่ามีอนุมูลอิสระของกรดไขมันอยู่มาก จะไปเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันทอดอาหารใหม่ที่เติมลงไป.

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชาวอโศกร่วมงานลอยกระทง รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
คว้า ๒ รางวัลชนะเลิศ

เรียนรู้โลกวิทู
สัมพันธ์กับสังคมภายนอก

วันที่ ๑๖ พ.ย.๔๘ ทาง เทศบาล ตำบลไพศาลีได้จัดงานลอยกระทงประจำปี ซึ่งปีนี้ใช้สถานที่บริเวณวัดหลวงพ่อดำ โดยได้ประสานงาน ไปตามโรงเรียนและชุมชนในเขตเทศบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนและโรงเรียนต่างๆ ด้วยดี และหนึ่งในจำนวนนั้น ประกอบด้วย ชุมชนศาลีอโศก และโรงเรียนสัมมาสิกขาศาลีอโศก

กิจกรรมหลักที่ทางเทศบาลกำหนดประกอบด้วย
๑.การประกวดกระทงซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า ๕๐ ซ.ม.(เน้นวัสดุธรรมชาติ)
๒.การแสดงบนเวที
๓.การประกวดนางนพมาศประเภทสวยงามและประเภทย้อนยุค

สำหรับชุมชนศาลีอโศก ได้ส่งเข้าประกวด ๓ รายการคือ "กระทงระดับชุมชน การแสดงเพลงเรือ-รีวิวประกอบ เพลงกสิกรแข็งขัน และ นางนพมาศ ย้อนยุค"

กิจกรรมของวันที่ ๑๖ พ.ย.ช่วงเวลา ๑๕.๓๐ น. ขบวนแห่กระทงรวมตัวกันที่ ถนนวัฒนธรรมพัฒนา(หลัง ร.ร.ไพศาลี พิทยา) ขบวนสุดท้าย เป็นขบวนแห่ ของชุมชนศาลีอโศก เพราะมีมวลมากเป็น พิเศษ รูปขบวนประกอบด้วยจักรยานสามล้อผู้สูงอายุ นักเรียนสัมมาสิกขา ด้วยมวล และสีสัน ของกระทง ที่สะดุดตา มีเสียงจากชาวบ้าน ที่คอยชมขบวนแห่ของ กระทงพูดกันว่า "ปีนี้กระทงวัดป่าช้า กินขาด อีกแล้ว..."

เวลา ๑๘.๐๐ น. แห่กระทงถึงวัดหลวงพ่อดำ จนกระทั่งเวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นการแสดงของนักเรียนสัมมาสิกขาศาลีอโศก ตามด้วยการ แสดงเพลงเรือ ของชุมชนศาลีอโศก ในเวลา ๒๐.๔๐ น. และเวลา ๒๑.๒๐ น. เป็นการประกวดนางงามนพมาศย้อนยุค

สำหรับผลการตัดสินของกรรมการยังผลให้ชุมชนศาลีอโศกคว้ารางวัลชนะเลิศถึง ๒ ประเภทคือ กระทงระดับชุมชน และชุมชนเข้มแข็ง ส่วนนางนพมาศ ย้อนยุคนั้น ได้รับเพียงรางวัลชมเชย สำหรับรางวัลชนะเลิศ ๒ รางวัลนั้น ทางเทศบาลได้มอบเงิน จำนวน ๒,๐๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท พร้อมรางวัล และ ใบประกาศเกียรติบัตร ซึ่งสร้างความยินดี แก่ชาวชุมชนอย่างถ้วนหน้า

การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมีผลด้านการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนหลายประการ เช่น รู้เขารู้เรา ประสานนอกประสานใน ในด้านบุคคล ที่เข้าร่วมกิจกรรม นับว่าได้ประโยชน์อย่างมาก "ทางเราเริ่มส่งกระทงเข้าประกวด และร่วมกิจกรรม ไม่ต่ำกว่าสามปี ซึ่งปีแรก กระทง ของชุมชน ได้อันดับที่สอง หลังจากนั้น ได้อันดับที่หนึ่ง ตลอดมา สำหรับปีนี้ได้เห็นพัฒนาการ ของชาวชุมชนศาลีอโศก มีความแววไว ร่วมทำร่วมคิด อดตาหลับ ขับตานอน โดยส่วนตัว ซึ่งเป็นตัวหลัก ในการประดิษฐ์กระทง ถามว่าเหนื่อยไหม คงตอบว่า เหนื่อยเป็นธรรมดา แต่ดูเหมือนว่า เหนื่อยใจ อาศัยกระบวนการ ประสานงาน และพูดคุยกัน จึงพอวางใจได้ ส่วนเหนื่อยกายนั้นพอทนได้ ชุมชนของเรา ไม่ใช่สังคมปิด เราเปิดรับในสิ่งที่ควรเปิดรับ การเข้าร่วมกิจกรรม แต่ละครั้ง ได้อ่านตน และชุมชน ของเรา จริงๆแล้วบางเรื่อง เราอ่อนซ้อม เช่น มารยาทในที่สาธารณะ หรือการแสดงบนเวที เป็นต้น เราเคยชินกับ การแสดง แบบชาวอโศก ที่มองว่า คนกันเอง แสดงอย่างไรก็ได้ อีกอย่างหนึ่งความเชื่อมั่นในความดีของตนหรือหมู่กลุ่มเกินไป ภาพลักษณ์ออกมา ดูเหมือนว่า เราจะแข็ง" นี่เป็นมุมมองจาก น.ส.เพชรรุ้ง

สำหรับทางด้านตัวแทนสัมมาสิกขา น.ส.พรทิพย์ ศรีแก้ว นักเรียนชั้น ม.๕ ได้ฝากมุมมองต่อกิจกรรมในครั้งนี้ว่า "จริงๆแล้วงานประดิษฐ์ ประดอย เท่าที่ร่วมกิจกรรม มีผลต่อจิตใจมาก ความละเอียดของงานส่งผลให้เราต้องมีใจที่แยบคาย และต้องให้เวลากับงานชิ้นนั้น เราทนได้ โดยไม่อึดอัด แสดงว่า สมาธิของเรา ตั้งมั่นในการงาน ไม่กลายเป็นคนสมาธิสั้น อยากจะฝากเพื่อนๆวัยรุ่น ลองมาหัด ทำงานแบบนี้ดูบ้าง"

มุมสะท้อนจากกิจกรรม ที่เป็นรูปธรรมต่อการได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นแง่คิดที่ชาวชุมชนศาลีอโศกต้องมีความแยบคายกับงานที่รับผิดชอบ และ ที่สำคัญที่สุด คือ รางวัลชุมชนเข้มแข็ง เป็นรางวัลที่ต้องทบทวนให้จงหนัก อะไรทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ดีกว่านี้ยังมีอยู่อีก รางวัลเป็นเพียง ภาพสะท้อน จากสังคมภายนอก ให้เราเก็บเอาไปคิด มิใช่มัวแต่เต็มปลื้ม

ก่อนจบรายงานข่าว ทีมข่าวขอฝากแง่คิดว่า
กระทงลอยได้เพราะน้ำ ชุมชนเด่นได้เพราะคนรวยน้ำใจ

- ทีมข่าวศาลี

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกันอีกครั้งกับ น.ส.พ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๖๗(๒๘๙) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๐ พ.ย.๔๘
อากาศเย็นๆ เริ่มเข้ามาแล้วนะฮะ แต่นั่นก็เป็นเพียงแต่เรื่องของลมฟ้าอากาศ ขอเพียงชาวเรายังคงดูแล อารักขณา และเพิ่มพูน บรรยากาศ อบอุ่น แบบพี่ๆน้องๆ ต่อไป ก็หวังได้ว่าความเป็นภราดรภาพอันสมบูรณ์จะเป็นเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินไปแน่นอน
ส่วนสะเก็ดข่าว ประจำหน้าปัดชาวหินฟ้า ฉบับนี้ เก็บมาฝากกันดังนี้

คืนสู่เหย้าฯ...สำหรับคืนสู่เหย้าชาวพุทธธรรมเมื่อวันที่ ๑๒-๑๓ พ.ย.ที่ผ่านมา จิ้งหรีดร่วมงานคืนสู่เหย้าชาวพุทธธรรม จิ้งหรีดรู้มาว่าในช่วง ก่อนงาน ก็มีการฟอร์มงาน กันได้พอสมควร ครูตุ๊กของเด็กๆ บอกจิ้งหรีดว่า ปีที่แล้วมีข้อบกพร่องเรื่องการประสานงาน ครั้งนี้ จึงมีการ เตรียมการ ให้ดีกว่าเดิม โดยมีการ ประชุมครูพุทธธรรม แล้วมอบหมายงานให้ครูพุทธธรรมที่อยู่ในพื้นที่ช่วยรับผิดชอบ แต่ก็ยังมีจุด บกพร่องจนได้ ก็เป็นธรรมดาฮะ คือลืมแจ้ง ให้คณะกรรมการ และชาวชุมชนสันติอโศก รู้ว่าจะจัดงาน วันที่เท่าไร รูปแบบงาน เป็นอย่างไร เผื่อชาวชุมชน จะได้มีส่วนร่วม เพราะผู้ประสานงานเดิม ย้ายไปอยู่ที่อื่น และคิดว่าคงเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป จึงเกิดข้อบกพร่อง ให้ได้ฝึก ทำใจอีก แต่ก็ยังดีนะฮะ ที่อยู่ใกล้ผู้มีศีล ปัญหาต่างๆ จึงจบลงด้วยดี ถ้าเป็นชุมชน ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรหนักๆ กว่านี้ก็เป็นไป...

ครูดาวมีธุระด่วนไปรับเสด็จทางภาคใต้ ปีนี้เลยไม่ได้มาร่วมเหมือนก่อน แต่ก็ยังมีพี่สยามของน้องๆพุทธธรรม ช่วยมาสร้างบรรยากาศ ครึกครื้น เช่นเคย...

ชิดตะวัน ก็อยู่ไกลถึงเยอรมัน กำลังศึกษาต่อปริญญาเอก เสียดายที่ไม่ได้มาร่วมงานเช่นปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ละความพยายาม ส่งข้อความ จากเยอรมัน ทางเน็ตมาให้พ่อท่าน ซึ่งพ่อท่านก็นำมาอ่านให้ลูกๆฟังในช่วงเช้าของวันสุดท้ายของงาน และถือเป็นการขอลงทะเบียน ร่วมงาน ไปโดยปริยาย จิ้งหรีด ก็เลยได้แง่คิดว่า ชาวพุทธธรรมที่มีสัมภาระวิบากไปร่วมงานคืนสู่เหย้าฯไม่ได้ ก็จะโทรศัพท์หรือโทรสาร อะไรก็ได้ ก็ถือว่ามาร่วมงาน ในรูปแบบหนึ่ง...จี๊ดๆๆๆ .....

หินผาฟ้าน้ำ...จิ้งหรีดมีโอกาสไปร่วมงานที่หินผาฟ้าน้ำ ซึ่งให้ความรู้มากมายหลายอย่าง เพื่อให้เราสามารถพึ่งตนเองได้อย่างประโยชน์สูง -ประหยัดสุด ได้ยินท่านนาไท เสนอแนะเรื่อง การจัดงานควรมีการพบสมณะ และให้ระมัดระวังในเรื่องความสะอาดในชุมชน เพราะมุ่ง เผยแพร่ภายนอก จนไม่มีเวลา ดูแลภายใน จิ้งหรีดฟังแล้วเห็นว่า น่าคิดจึงเก็บมาฝากชาวเราในแต่ละแห่ง เพราะที่ท่านเสนอแนะ ก็คงให้ทุกแห่ง ได้ทบทวนแนวทาง ในการทำงาน ให้เกิดประโยชน์ตน -ประโยชน์ท่านนั่นเอง

นอกจากนี้ จิ้งหรีดยังได้ประโยชน์ ทำให้มีความรู้หลายเรื่อง เช่น

๑.ผงนัว แทนผงชูรส โดยการใช้พืชผักที่มีรสเปรี้ยว-หวาน-มัน-เค็ม เช่น ถ้าจะทำแกงจืดโดยใช้ผักพื้นบ้าน ก็ให้ใช้ผักหวานนำ และอื่นๆ อีก ๓-๔ ชนิด มาผสมกันแล้วตำเป็นผงชูรสแบบพึ่งตนเอง โดยไม่เสียดุลการค้าใส่ลงในแกงจืด

การทำผงนัวอย่างแห้งก็ให้ล้างผักต่างๆ ตากแห้ง แล้วบดผสมกันไว้ใช้ใส่อาหารได้ แต่ถ้าเป็นผงนัวอย่างแป้งก็ใส่ข้าวเหนียวลงไปนิดหน่อย เพื่อปั้นเป็นรูป แล้วตากแดดให้แห้งๆ จะใช้ได้นาน ผงนัวแห้งเราใช้ใบหม่อน ใบแว่น ใบมะรุม ผักขม เป็นต้น

๒.การคัดพันธุ์ข้าว จะช่วยให้ผลผลิตได้ดีและมากขึ้น โดยเฉพาะ อ.เดชา ศิริภัทร แนะได้ละเอียดดี ชัดเจนดี ทำให้เห็นความสำคัญของดิน มากๆ จิ้งหรีดจึงเกิดแรงบันดาลใจลองคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิแดง ได้นางงามมา ๙ เมล็ด ก็จะนำไปเพาะ เพื่อได้พันธุ์ข้าวที่ดี ก็คงต้อง ติดตามดูต่อไป

ยังไงๆ สิกขมาตุแสงฝนคงช่วยดูให้ด้วยนะฮะ

๓.การใช้น้ำมันพืชแทนน้ำยาเคมี N 70 โดยคุณเคียงดินมาสาธิตให้ดู ก็ได้รู้สูตรการทำเกล็ดสบู่จากน้ำมันปาล์ม แล้วนำ มาทำครีมล้างจาน โดยการเอา เกล็ดสบู่ปาล์ม ๑ กก. ผสมน้ำสะอาด ๑ กก. ต้มให้ละลาย แล้วเติมสีเติมกลิ่นตามต้องการ แล้วเทใส่พิมพ์รอให้แห้ง จึงปิดฝา ก็นำไปใช้ได้

ใครที่ไม่ได้ไปร่วมงานจิ้งหรีดก็ขอฝากของดีจากหินผาฯมาให้เพื่อชุมชนเรามีผงนัว มีการพึ่งตนเองได้จากพืชผักใกล้ตัว เราก็ไม่กลัว ของแพง นะฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

คุณพระช่วย...จิ้งหรีดได้รู้ความในใจของคนๆหนึ่งที่อยูในชุมชนบุญนิยมแห่งหนึ่ง ก็ยังไม่ขอบอกว่าเป็นคนชุมชนที่ไหน แต่คงให้ผู้บริหาร จิตวิญญาณ ได้รับรู้ว่า คนในชุมชน ของเราเป็นอย่างไร สำหรับบางคน ซึ่งเปิดใจกับจิ้งหรีดว่า "...ในช่วงเข้าพรรษา นี้ ดิฉันได้ตั้งตบะ ขึ้นกินข้าวที่ศาลา และไม่ดูหนัง แต่ก็ทำได้ไม่ ๑๐๐% หรอกค่ะ มีหลุด บ้างนิดหน่อย ตอนนี้ก็ตั้งให้ตัวเองอีกเรื่องคือ กินมื้อเดียว ก็ได้หลายวันแล้ว (ตอนนี้กำลังต่อสู้ กับความอยาก อย่างหนัก ไม่หิว แต่อยาก) ส่วนในเรื่องการระลึกถึงศีล ก็ไม่ค่อยระลึก ไม่ค่อย สำรวมเท่าไหร่ บางทีตบยุงด้วยเจตนาก็มี (บางทีนะฮะ ไม่ใช่หนาที-จิ้งหรีด)

ในเรื่องความโกรธก็ยังเต็มที่ ยังไม่มีอภัยเท่าไหร่

เรื่องอยากกลับบ้านก็ยังมีแว้บๆ เวลาเจอปัญหา เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ เจอคนที่ไม่ชอบใจ แต่อีกใจหนึ่งก็ชัดเจนว่า ทางนี้แหละที่พ่อท่านพาทำ นี่แหละ ที่เราจะตามไป ทุกชาติ (ตั้งใจไว้) ก็ตั้งใจอยู่ค่ะ ว่าถ้าเราทนต่อการขัดเกลาไม่ได้ เราก็คงต้อง หลุดไปจากทางสายนี้ ตัวไม่ยอม ยังมีมาก แม้บางที ข้างนอกจะดูยอม แต่ข้างในยังต้องสู้อย่างหนัก ยังหนักอยู่มาก ในทุกๆเรื่องค่ะ..."

ขณะที่เขาระบายให้จิ้งหรีดฟังถึงตรงนี้ เขาก็บอกว่าไม่รู้จะพูดอะไรต่อ เพราะทั้งง่วง ทั้งอยากกิน ทั้งงาน(หางยาวมาก ยังไม่ได้เก็บ ซักอย่าง) ก็ขอเล่า เพียงแค่นี้ จิ้งหรีดก็รู้สึกว่า อาการขนาดนี้ ไม่รู้ว่าผู้บริหาร ในแต่ละชุมชน จะคิดอย่างไร น่าห่วงวัวงาน ในวัดไหมฮะ ส่วนจะเป็นใคร ที่รอการช่วยเหลือ ก็คงเป็นหน้าที่ ที่พวกเรา จะต้องช่วยกันทุกคน ก็ลอง เอ็กซเรย์ดูนะฮะว่า ใครที่ควรช่วย...จี๊ดๆๆๆ .....

กินข้าวเคล้าน้ำตา...รอบนี้ชาวอโศกต้องฝึกอ่อนโยน อ่อนน้อม ไม่แข็งกระด้าง วันหนึ่งระหว่างฉันอาหารที่สันติฯ สื่อสาระที่ฉายในวันนี้ เป็นเรื่องราว ชีวิตของ พญ.ดร. เฉลียวพันธ์ สูรพันธุ์ (ป้าหมอ) สูติแพทย์ ซึ่งเธอมิใช่เป็นเพียงแพทย์ ที่ทำคลอดให้ แล้วก็หมดภาระ แต่สิ่งที่ป้าหมอทำต่อคือ ความเอาใจใส่ ดูแลผู้เป็นแม่ และทารก อย่างต่อเนื่อง

อีกบทบาทหนึ่งของป้าหมอคือ ดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้งมีปัญหา ซึ่งป้าหมอฝึกให้เด็กๆเหล่านี้รู้คุณค่าของชีวิต คุณค่าของเวลา โดยฝึก ให้ปลูกผัก ซึ่งมีพื้นที่ อยู่ที่คลอง ๑๕ ปทุมธานี ได้ผลผลิตแล้วก็นำไปจำหน่าย มีเวลาหัดอ่านเขียนหนังสือ เด็กที่โตแล้วออกไป มีอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้ ก็กลับมา เยี่ยมเยียน เมื่อมีกิจกรรม ด้วยความสำนึกในบุญคุณของป้าหมอ ที่ให้ความรักความอบอุ่น และเลี้ยงดูพวกเขามา

ท่านสมณะแก่นผา สารุปโป เปิดใจว่า อาตมาดูรายการนี้แล้วน้ำตาไหล ไม่ได้ร้องไห้ มานานแล้ว แต่ที่ซาบซึ้งคือ ระลึกถึงพ่อท่าน ซึ่งเป็น ผู้ให้ ผู้เสียสละ ประทับใจ ในความเมตตาของพ่อท่าน จิ้งหรีดจึงถึงบางอ้อว่า เหตุฉะนี้เองทำให้ท่านต้องฉันข้าว เคล้าน้ำตา ในมื้อนั้น นั่นเอง...จี๊ดๆๆๆ .....

ถวายพ่อท่าน...หลังจากหมอบอกว่า เธอคงจะไม่สูงไปกว่านี้ (คงเพราะกรรมพันธุ์ ด้วยกระมัง) หนูจิ๊ฟ(ศิริขวัญ) นร.สส.สอ. มาเล่าให้อาฟัง แล้วพูดต่อไปว่า "หนูคงต้อง งดกินชาที่หนูชอบ หนูกินวันละนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้หนูจะงดกินแล้ว" อาฟังแล้วรีบสนับสนุน "เอาเลย ปฏิบัติบูชา ถวายพ่อท่าน ๗๒ ปี รู้มั้ย ชาเนี่ย มันมีส่วนทำลายกระดูกด้วยนะ ทำให้การดูดซึม แคลเซียมได้ลดลง" เธอหัวเราะและรีบรับ แบบยินดีเต็มที่ โดยมีคุณแม่จินตนา ยืนยิ้มเป็นกำลังใจ อยู่ข้างๆ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ .....

หนักไป...กลับจากงานมหาปวารณาทีหลังหมู่ วันรุ่งขึ้นเมื่อเจอพ่อท่านกำลังจะขึ้นไปยังห้องทำงาน จิ้งหรีดเห็นคุณกรักรีบไปกราบนมัสการ และบอก ด้วยความซาบซึ้ง ในบุญคุณของพ่อท่านซึ่งเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ "พ่อท่านคะ ได้รับการ์ดอวยพรแล้วค่ะ" พ่อท่านฟังแล้วก็พยักหน้า แล้วเดินขึ้นบันไดต่อ แต่แล้วพลัน ก็หันกลับมาเอ่ยว่า "เอาให้บรรลุ" คุณกรักท่านนี้ฟังแล้ว ก็รู้สึกอึ้ง ในคำอวยพร ของพ่อท่าน อย่างไม่ทัน ได้ตั้งหลัก รู้สึกว่า พรที่ให้นั้น ยิ่งใหญ่ เกินกำลัง!?! แต่พอตอนบ่าย ช่วงสิกขมาตุจินดา พบกลุ่มกรัก -ปะ สิกขมาตุก็ได้อธิบาย และ ให้ข้อคิดว่า การปฏิบัติธรรม อย่าไปมองยอด ให้ปฏิบัติเหมือน การขึ้นบันได ก้าวขึ้นขั้นหนึ่งได้แล้ว ก็ปฏิบัติก้าวขั้นต่อไป ผ่านพ้นไป ทีละขั้น เป็นขั้นเป็นตอน แล้วก็จะถึงจุดหมายปลายทางเอง ไม่ใช่อยู่ข้างล่าง แล้วมองขึ้นบน ก็ถึงจุดหมาย ต้องลงมือทำเลยทีละขั้น คุณกรัก เลยถึงบางอ้อ ซาโตริ ด้วยความเบิกบาน ที่เข้าใจแล้ว ส่วนจะเป็นคุณกรัก ท่านใด หากอย่างรู้ ต้องสอบถามเอาเอง...จี๊ดๆๆๆ .....

เก็บมาเล่า...อ่านพบคอลัมน์ของคุณอ้วน อรชร ใน นสพ. เอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์ เอ่ยถึงผู้ที่เคยมีชื่อเสียง อยู่ในวงการเพลงหลายท่าน ที่ได้ ลาสิกขาบท จิ้งหรีด เห็นได้เอ่ยถึงพ่อท่านด้วย ก็เลยคัดลอก เฉพาะส่วนดังกล่าวมา ดังนี้

"...แต่ที่แน่ๆ คือ สมณะโพธิรักษ์ แห่งสันติอโศก ที่เคยแต่งเพลง ชื่นรัก ผู้แพ้ และฯลฯ สมัยยังใช้ชื่อว่า รัก รักพงษ์ ทำงานที่ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม คงจะไม่สึก เป็นที่แน่นอนแล้ว ส่วน วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ ลูกศิษย์ ของพ่อท่าน ที่ต้องฟอกไต สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ก็มีข่าวดีว่า พระเครื่อง ที่พ่อแม่ให้มานั้น มีผู้ใจบุญ สนใจจะช่วยเหลือ" เก็บมาฝาก ให้อ่านกันนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

ก่อนจาก ฝากกันด้วยคติธรรม-คำสอนของพ่อท่านที่ว่า

ถ้าเคารพนับถือ "อาตมา"
ต้องรู้ว่า
"อาตมา" มีจุดดีอะไร? อย่างไร?
อย่าเคารพนับถือดายไปเป็นอันขาด
(๔ ส.ค.๒๑)
(จากหนังสือโศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๕๐)
ฉบับนี้ลาไปก่อนฮะ

- จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี

ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยมีบูรณาการแผนการดำเนินงาน กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนด้านเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ คุณสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง เห็นความสำคัญของสื่อสถานีวิทยุกระจายเสียง ซึ่งทางกระทรวง เกษตรฯ ก็มีสถานีวิทยุ เพื่อการเกษตร คลื่น AM 1386 KHz อยู่แล้ว น่าจะนำมาใช้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น จึงได้นัด ให้มีการประชุมปรึกษา จัดผังรายการวิทยุ โดยมีรองผู้อำนวยการ สถานีวิทยุ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และได้นิมนต์สมณะเสียงศีล ชาตวโร สมณะณรงค์ จันทเสฏโฐ ซึ่งจัดรายการวิทยุ มานาน นับสิบปี ปัจจุบัน ก็จัดรายการวิทยุอยู่หลายสถานี เข้าร่วมประชุมปรึกษา หารือ ได้มีข้อตกลง ให้มีรายการพิเศษ ในช่วงเวลา ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. ทุกวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ ส่วนเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเวลา ๑๖.๐๐-๑๙.๐๐ น. ท่านเสียงศีล รับจัดวันจันทร์, อังคาร, พุธ ส่วนท่านณรงค์ รับจัดวันพฤหัสบดี,ศุกร์ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ให้ช่วยกันจัด พยายาม ให้จัดรายการสด เพื่อฟังเสียงตอบรับจากผู้ฟัง ที่โทรศัพท์เข้าร่วมรายการ เริ่มจัดรายการ ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม เป็นต้นไป โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้สนับสนุนรายการ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


บ้านปลอดบุหรี่ถวายในหลวง

ไอทีวีร่วมกับ สสส.จัดโครงการรณรงค์บ้านปลอดบุหรี่ถวายในหลวง

ชวนชาวไทยเขียนคำขวัญรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ๕ ธันวาคมนี้ โดยเหล่าพิธีกร รายการ ร่วมมือร่วมใจของไอทีวี อ.วันชัย สอนศิริ อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวนิช โอ๊ต-ศศิวรรณ์ เลิศวิริยะประภา และติ่ง -มัลลิกา บุญมีตระกูล ได้ร่วมกันเผย ถึงโครงการบ้านปลอดบุหรี่ ถวายในหลวงว่า ให้เขียนคำขวัญลงในไปรษณียบัตร ส่งไปที่ตู้ ปณ. ๑๐ ปณฝ. เสนานิคม กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๒ คำขวัญใด ได้อ่านออกอากาศวันละ ๑ ฉบับต่อรายการ ในรายการข่าวเช้าไอทีวี รายการร่วมมือร่วมใจ และ ข่าวค่ำไอทีวี จะได้รับของ ที่ระลึกจาก สสส. ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม.

(จาก นสพ.เอ๊กซ์ไซท์-ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๑-๑๒ พ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางเพ็ง สายเบาะ อายุ ๖๓ ปี
เกิด พ.ศ. ๒๔๘๕
ภูมิลำเนา อ. ป่าติ้ว จ. ยโสธร
การศึกษา ป. ๖
สถานภาพ สมรส มีบุตร ๕ คน
น้ำหนัก ๖๕ กก.
ส่วนสูง ๑๕๐ ซ.ม.

คุณยายและครอบครัวเป็นญาติธรรมรุ่นเก่าแก่ และเป็นผู้มีบุญคุณท่านหนึ่ง ต่อหมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก ตั้งแต่เริ่มบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรก ชาวบ้านราชฯ ไปทำนาในที่นาของคุณยาย ทุกวันนี้แม้ชาวบ้านราชฯไม่ได้ไปทำนา แต่คุณยาย ยังคงทำนา แล้วบริจาคข้าว เสมอมา คุณยายเป็นนักเรียน กศน.รุ่นแรก ของบ้านราชฯ ร่วมเรียนกับ ผู้อายุยาวหลายคน ช่วงปี'๓๗-๓๘ จนจบม.๓ แต่ขอรับใบประกาศ แค่ชั้น ป.๖ ปัจจุบัน เป็นตัวหลักสำคัญ ที่เชื่อมกับชาวบ้าน ของกลุ่มข่ายแห บ้านหนองหว้า อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งนำผักไร้สารพิษ มาจำหน่ายใน ร้านไร้สารพิษ ที่อุทยานบุญนิยม

** ประวัติ
เกิดที่อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร พ่อแม่ของคุณยายพาทำไร่ปอและนา มีพี่น้อง ร่วมท้องเดียวกัน ๗ คนแต่มีพี่น้องร่วม พ่อเดียวกัน ๑๔ คน เพราะพ่อ มีภรรยา ๒ คน แม่เป็นคนที่ ๒ ตอนนี้ พี่น้องเสียชีวิตไป ๑ คน

ตอนเด็กช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา แต่งงาน อายุ ๒๐ ปี พ่อบ้านอายุ ๒๗ ปี ค่าสินสอด สมัยนั้น ๕๐๐ บาท หลังจากแต่งงาน ก็ยังมีอาชีพ ทำนา พ่อบ้านชื่อ พ่อสีดา (ทำบุญ) ปัจจุบันเป็นผู้นำกลุ่มข่ายแห บ้านหนองหว้า

** เจออโศก
ในพ.ศ. ๒๕๒๑ ได้ศึกษาธรรมะที่วัดป่าพง และมีพระธุดงค์จากวัดหนองป่าพงท่านเดินจาริกไปปักกลดในหมู่บ้าน ชอบฟังธรรม แม้ยังกิน เนื้อสัตว์ แต่จะกินสัตว์ที่ตายแล้ว และยังเลี้ยงสัตว์

ช่วงพ.ศ. ๒๕๒๓ มีพระรูปหนึ่ง ท่านมาบอกว่า มีพระเทศน์ดี ท่านให้ศีล ๕ ดีมากอยู่ที่กรุงเทพฯ สามีของยายเลยอยากไปแสวงหา พระรูปนั้น พาไปส่งที่ สันติอโศก ส่วนตัวท่าน ก็ไปที่วัดอื่น ได้ฟังพ่อท่านเทศน์ ขยายเรื่องศีล ๕ สามียายซาบซึ้งใจมาก เมื่อกลับจากกรุงเทพฯ ได้มาคุย ให้ยายฟัง และต้องการ ไปร่วมงานปลุกเสกฯ ให้สามีอยู่บ้าน เพราะต้องดูแลเลี้ยงสัตว์ ทั้งวัวควายและไก่ แม้ลูกยังเล็ก แม่ก็ไปเอาหลาน มาเลี้ยงลูกให้ เพราะอยาก ไปร่วมงาน ได้ไปฟังเทศน์ ว่าเลี้ยงสัตว์มันบาป ตอนนั้น เลี้ยงไก่ ๓,๐๐๐ตัว เลี้ยงวัว ๒๐-๓๐ ตัว และปลูกพริก แบบฉีดยา เมื่อกลับมาบ้าน ได้เริ่มกินมังสวิรัติ และเลิกเลี้ยงสัตว์ ยกให้คนอื่นไปเลย ปลูกเห็ดฟางกิน แต่ยังไม่เลิกปลูกพริก แบบใช้สารเคมี มาระยะหนึ่ง เห็นสุขภาพ สามีไม่ดี เพราะต้องฉีดยาฆ่าแมลง จึงเลิกทำสวนพริก แต่ปลูกแบบธรรมชาติ แบบพอได้กิน ครอบครัวยาย เปลี่ยนแปลง แบบอโศก ชาวบ้านเขาหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ เขาจะไปฆ่า สามีแม่ที่ทุ่งนา เคราะห์ดี ที่รอดมาได้ ก็ได้ทำใจและยึดมั่น ปฏิบัติแนวอโศก เรื่อยมา

** ชุมชนบุญนิยม
ช่วงบ้านราชฯเริ่มก่อตั้งก็ได้มีโอกาสมาร่วมบุญให้ชาวบ้านราชฯไปทำนาที่นา แล้วบริจาคข้าวมาให้กิน ช่วงหลังมีงานอบรมเยอะ ชาวบ้านราชฯ ไม่ได้ไปทำนา ยายยังคงบริจาคข้าว ให้บ้านราชฯ ในปี'๔๖ จำนวน ๒ ตัน ปี'๔๗ จำนวน ๑ ตัน ตั้งแต่ปฏิบัติธรรมมา ยายมาจำพรรษาที่บ้านราชฯ ส่วนที่อื่นๆ ของชาวอโศก ก็ไปเฉพา ะเวลามีงาน ยืนหยัดยืนยันในวิถีบุญนิยม และทำพืชผัก และแตงโม ไร้สารพิษ ปลูกอะไรก็เอามาบริจาคที่บ้านราชฯ ทำแล้วมีความสุข พ่อท่าน ก็เคยสอนว่า ยิ่งให้ไปยิ่งได้มา ยายพิสูจน์ก็เป็น จริง จนทุกวันนี้ ชาวบ้าน ที่เขาเคยเข้าใจผิด ก็เริ่มมาเห็นดีด้วย และมีการรวมกลุ่มกัน เป็นข่ายแห ของบ้านราชฯ โดยมีครอบครัวยายเป็นผู้ประสานงาน สามีแม่ เป็นประธาน ที่หมู่บ้านตั้งโรงปุ๋ย ทำน้ำจุลินทรีย์ ปลูกผักไร้สารพิษ มีคนเริ่มลดละเลิก อบายมุข กินมังสวิรัติตาม

** มรรคผล
ปฏิบัติธรรมถือศีล ๕ ลดละอบายมุข ทานอาหารมังสวิรัติ มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ มาจนถึงปัจจุบัน คุณยายบอกว่ามีผลต่อครอบครัวและ จิตใจมาก ในเรื่องครอบครัว ลูกๆก็บอกสอนง่าย ลูกได้ดีทุกคน จิตใจยายก็สบาย ร่างกายก็แข็งแรง ยายออกกำลังกายทุกวัน หลังจาก ที่ตื่นนอน ปลูกผักไร้สารพิษกิน ยิ่งสบายใจ ได้มาทำงานกลุ่มกับชาวบ้านจะมีผัสสะเยอะ บางครั้งก็ท้อ แต่ก็วางใจว่า เขายังไม่เข้าใจ ก็ไม่โกรธ ให้เขาทำงาน ประสานกัน ไม่ทะเลาะกัน พูดกันดีๆ ยายทำงานตลอดทั้งวัน มีความสุข

** ทุกวันนี้
ทุกวันนี้ยายมาเข้ากลุ่มตลาดไร้สารพิษ ได้พาชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมที่อุทยานบุญนิยมด้วย พาเขามาสัมผัสสัมพันธ์กับชาวอโศก มาใส่บาตร มาฟังธรรม ซึ่งวันอาทิตย์ สมณะท่านจะมาเทศน์ที่อุทยานฯ เขาฟังธรรมก็จะเข้าใจเพิ่มไปเรื่อยๆ ได้เห็นว่าการที่เราไม่เอา แต่ใจเราเอง เข้าใจคนอื่น หัดรอคอย ไม่ต้องให้ได้ดั่งใจ เร็วเกินไป การประสานงานก็เป็นไปด้วยดี

เดี๋ยวนี้ชาวบ้านมีความแน่นแฟ้นกับวัด ช่วงงานที่บ้านราชฯเขาก็เต็มใจมาช่วย การลดละเลิกในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ อบต.ก็เลิกดื่มเหล้า และกลุ่มแม่บ้าน ก็เลิกกินเนื้อสัตว์ ในกลุ่มมีคนเลิกอบายมุขประมาณสิบกว่าคน ยายไม่ห่วงอะไรมาก ลูกก็มีฐานะกันทุกคน อาจจะ ห่วงใยบ้าง แต่ไม่ทุกข์กับเขา เรื่องเงินทอง พอคิดว่า ไม่มีก็ไม่ใช้ แต่มันก็มีพอได้ใช้ พรรษานี้ยายมาเข้าพรรษาที่บ้านราชฯ ประทับใจมาก ได้ฟังธรรมพ่อท่าน เต็มที่ และได้มาทำงาน รวมหมู่รวมกลุ่ม

ผู้อายุยาวมาอยู่กันหลายคน และรักกันห่วงใยกันยิ่งกว่าพี่กว่าน้อง ฟังธรรมแล้ว ก็เขียนสรุปเอามาอ่าน บางตัวก็เขียนผิดก็ได้บอกกัน ได้พูดคุยธรรมะกันอบอุ่นมาก

** ฝาก
การปฏิบัติธรรมทำให้ชีวิตมีความสุข ยายอยากให้คนได้ทำเยอะๆ ในส่วนตัว ยายก็ว่ายายได้ดี เราต้องปฏิบัติเอง ของอย่างนี้ใครไม่ทำ ก็ไม่เห็น ยายอยาก ให้คนได้เห็นได้ทำ ถ้ามาเห็นตัวอย่างของชาวอโศก ก็เอาไปทำที่บ้าน ทำได้มากน้อย ตามกำลัง ยายได้ช่วย ในฐานะ ญาติธรรม ที่พอจะทำได้ การที่เราเป็น ผู้อายุยาว การปฏิบัติธรรมก็ทำได้ตามฐานะ เอาได้เท่าที่เราจะเอาได้อย่าท้อแท้ พ่อท่านอายุ จะครบ ๗๒ ปี พยายามตั้งจิต จะมาอยู่วัดฟังธรรม ให้มากที่สุด และเข้าพรรษานี้ ก็ทำได้ แม้เราจะยังมาอยู่ที่วัดเลยไม่ได้ ก็หมั่นมาให้มากที่สุด การทำศีลเคร่ง มันขึ้นกับตัวเรา อยู่ที่บ้าน ก็สังวร และทำงาน ก็คอยดูใจเราว่า มีอกุศลอะไร การมีชีวิตที่ลดละเบาสบาย และได้ให้ ได้ช่วยเหลือ ผู้อื่นเป็นชีวิต ที่มีความสุขที่สุด.

- หิ่งห้อยริมมูล รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปฏิทินงานอโศก
โรงบุญมังสวิรัติ ๕ ธันวาฯมหาราช F จัดแล้วส่งรายงานพร้อมรูปไปที่ธรรมโสตด่วน ก่อน ๑๐ ธ.ค.๔๘
งานตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๙ ณ พุทธสถานราชธานีอโศก ศุกร์ที่ ๓๐ ธ.ค.๔๘- จันทร์ที่ ๒ ม.ค.๔๙

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ทรงแนะชาวพุทธยึด "อหิงสธรรม" นำชีวิต
เจ้าหญิงภูฏานร่วมถกสุดยอดผู้นำ
"ทักษิณ" ชี้ศาสนาพุทธพร้อมเป็นมิตร

เมื่อวันที่ ๑ พ.ย.ที่หอประชุมอาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กองทัพเรือ กทม. สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็น องค์ประธาน พิธีเปิด การประชุม สุดยอดผู้นำ พระพุทธศาสนา แห่งโลก ครั้งที่ ๔ โดยมีสมเด็จ พระพุฒาจารย์ ประธานคณะ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน สมเด็จ พระสังฆราช เป็นประธาน ฝ่ายสงฆ์ และมีผู้นำ พระพุทธศาสนา และผู้แทน ตลอดจน พุทธศาสนิกชน จาก ๒๓ ประเทศเข้าร่วม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมว่า ในฐานะคนไทย ขอต้อนรับ ผู้นำประเทศที่นับถือ พระพุทธศาสนา ผู้นำชาวพุทธ ผู้แทน และผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นชาวต่างประเทศทุกท่านล้วนเป็นญาติ ทางธรรมของพวกเรา เพราะเรา เป็น ชาวพุทธ ด้วยกัน ข้าพเจ้ายินดี ที่ทราบว่า ผู้นำพระพุทธศาสนาจาก ๒๓ ประเทศที่เข้าร่วมประชุม มีทั้งเป็นพระสงฆ์และคฤหัสถ์ จากทั้งฝ่าย เถรวาท และมหายาน ได้มาร่วมประชุมกัน เพื่อแสวงหาแนวทางร่วมกัน ในการเผยแผ่พระธรรม คำสั่งสอนของ พระพุทธศาสนา สู่สังคมโลก มุ่งที่จะให้ชาวโลก นำธรรมะ ในพระพุทธศาสนา มาเป็นหลักปฏิบัติ ในการดำรงชีวิต เพื่อที่ชาวโลก จะได้อยู่ร่วมกัน อย่างสันติ และเอื้ออาทรต่อกัน ตามหลัก อหิงสธรรม ในพระพุทธศาสนา สมกับ พระพุทธภาษิตที่ว่า "นัตถิ สันติปะรัง สุขัง" สุขอื่นยิ่งกว่า ความสงบสุขไม่มี

ต่อมา พระราชเมธาภรณ์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีการแบ่ง การประชุม เป็นกลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม ได้แก่

๑. กลุ่มพระพุทธศาสนากับเทคโนโลยีสารสนเทศ
๒. กลุ่มการเผยแผ่พระพุทธ-ศาสนาในยุคโลกาภิวัฒน์
๓. กลุ่มพระพุทธศาสนา ศาสนาของมนุษยชาติ โดยมนุษย์แต่เพื่อสรรพสัตว์
๔. กลุ่มบทบาทของชุมชนชาวพุทธ ต่อการก่อการร้ายและภัยธรรมชาติ ก่อนที่จะมีการออกแถลง การณ์ร่วมกันในวันที่ ๓ พ.ย.๒๕๔๘

การประชุมครั้งนี้ยังเป็นที่น่ายินดีว่ามี เจ้าหญิงอาชีเดชาน วังชุค เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ภูฏาน เสด็จเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้ ยังจัดขึ้น เพื่อร่วม เฉลิมฉลอง ในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เดือน มิ.ย.๒๕๔๙ ด้วย

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ว่า ก่อนที่จะมาเล่นการเมือง ตนได้ศึกษาหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา มาโดยตลอด พอมาเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ในช่วงแรกยังไม่สามารถจะรับจัดการกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้ จึงได้นำหลักธรรม คำสอน มาใช้ เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิต จึงอยากให้ทุกคนนำหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการดำเนินชีวิต และช่วยกัน เผยแผ่ศาสนา เพื่อให้เกิดสันติสุข เพราะว่า ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่เป็นมิตรกับ ศาสนาอื่นๆ อีกทั้งเราไม่เคยมองดูศาสนาอื่นเป็นศัตรู แต่มองดู และอยู่กัน ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเป็นมิตร และอยากให้ มีการแลกเปลี่ยน ความคิดเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน.

(จาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒ พ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ธรรมมาร์เก็ตติ้ง สู้กระแสสื่อลามก

พระพยอมดัน ธรรมมาร์เก็ตติ้ง

พระพยอมเดินหน้าเปิดตัวการ์ตูนเณรพยอมจอมยุ่ง ยอมรับฉายาเกจิมาร์เก็ตติ้ง ดันธรรมมาร์เก็ตติ้งสู้การ์ตูนลามกเปิดช่อง ทางธรรมโมโลยี ผลิตพระพยอมโมบายตูน ดาวน์โหลดอ่านการ์ตูน ธรรมะผ่านมือถือ

วัดสวนแก้ว l พระพยอม งัดวิชาธรรมมาร์เก็ตติ้งพิมพ์เณรพยอมจอมยุ่งจำหน่ายทั่วประเทศ หวังตีตลาดการ์ตูน ลามก ยอมรับฉายา เกจิ มาร์เก็ตติ้ง เตรียมเพิ่ม ช่องทางธรรมโมโลยี ผลิตเณรพยอมโมบายตูน ดาวน์โหลดอ่านการ์ตูนธรรมะ ผ่านโทรศัพท์มือถือ

เมื่อเวลา ๑๒.๓๐ น. วานนี้ (๑๓ พ.ย.) พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ แห่งมูลนิธิวัดสวนแก้ว ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงาน เปิดตัวการ์ตูน เรื่องเณรพยอม จอมยุ่ง ฉบับรวมเล่มเป็นหนังสือและเณรพยอมโมบายตูนบนมือถือ พร้อมจัดให้มีการเทศนาธรรม เรื่องการ์ตูนลามก กับการ์ตูนธรรมะ ใครมีโอกาสชนะมากกว่ากัน ณ โบสถ์ธรรมชาติ วัดสวนแก้ว นนทบุรี

พระราชธรรมนิเทศ กล่าวถึงที่มาสืบเนื่องจากตลอดระยะเวลา ๑ เดือน เต็มที่หนังสือการ์ตูนเณรพยอมจอมยุ่งผลิตออกแจกจ่าย ในวัด สวนแก้ว แม้ได้รับความสนใจ จากผู้ปกครอง แต่ก็ไม่เพียงพอความต้องการ และไม่สามารถกระจายได้ทั่วถึง ในตลาด หนังสือการ์ตูน อีกทั้งเวลานี้ รู้สึกห่วง สถานการณ์ปัญหาสื่อลามก ที่แพร่ขยาย วงกว้างอย่างมาก หากการ์ตูนธรรมะเผยแพร่เพียงในวัดคงไม่ทันการณ์ จึงได้ร่วมมือกับ บริษัทวัฏฏะ คลาสสิฟายด์ส จัดการรวมเล่มการ์ตูน เณรพยอม จอมยุ่ง ออกจัดจำหน่าย ทั่วประเทศ โดยเริ่มวางตลาด มาตั้งแต่ วันที่ ๑๑ เดือน ๑๑ ที่ผ่านมา

พระพยอมยังกล่าว การได้รับสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม, อุทยานเรียนรู้ ทีเคปาร์ค และกลุ่มวัฏฏะ เป็นเรื่องดี เพราะการขับเคี่ยว กับการ์ตูนลามก สื่อการ์ตูนธรรมะ เณรพยอมจอมยุ่ง ต้องผลิตต่อเนื่อง ซึมซับเรื่องดีงาม ให้กับเด็ก ในอนาคตเด็กก็จะลืมเลือนสื่อลามก หันมาฟื้นฟูศีลธรรม ส่วนสถานการณ์ การตลาด ก็ต้องมีชิงพื้นที่กันบ้าง นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว ยังเตรียมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มช่องทางการตลาด ผลิตเณรพยอมโมบายตูน ให้ดาวน์โหลด อ่านการ์ตูนธรรมะ ผ่านโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ ระยะหลังเจ้าอาวาสวัดสวนแก้วมักมีโครงการธรรมะใหม่ อาทิ พระพยอมริงโทน และวอลเปเปอร์พระพยอม จนได้รับฉายา เกจิมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งพระพยอม ขอยอมรับ ฉายาพระนักการตลาด เพราะเชื่อว่า การตลาดเป็นเรื่องจำเป็น ในเมื่อแต่ละวัด มีจุดขาย พระพุทธรูป, เจดีย์ พระธาตุ หรือ พระบาท มีคนไปกราบไหว้ แต่ที่วัดสวนแก้ว ไม่มีวัตถุมงคล ไม่มีพระธาตุ หรือพระบาท อีกทั้งจะแคบอยู่ที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้ คงไม่พอ ต้องคิดหาวิธี ให้ธรรมะแทรกซึม เข้าไปในบ้าน ในครอบครัว

"อาตมาจำต้องใช้ธรรมมาร์เก็ตติ้ง ผสานธรรมโมโลยี ไม่อย่างนั้นจะเอาอะไรไปสู้กับสิ่งชั่วร้ายได้ในยุคดิจิตอล ก็ต้องขออนุโมทนามายัง หน่วยงาน ต่างๆ ที่เห็นความสำคัญ ของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม และอุทยานการเรียนรู้ ทีเคปาร์ค ที่ร่วมสนับสนุน การจัดพิมพ์ หนังสือการ์ตูน

สำหรับการ์ตูนเณรพยอมจอมยุ่ง ฉบับพิเศษรวมเล่ม ๔ ตอน (จบในเล่ม) ชื่อชุด Next Station เธอนั่งเอง พิมพ์ ๔ สีทุกหน้า ราคา ๙๙ บาท จำหน่ายที่ ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ทุกสาขา ผู้สนใจร่วมสนับสนุนการพิมพ์ หรือต้องการจัดจำหน่าย ติดต่อ โทร. ๐-๒๔๒๒-๘๐๐๐ โดยรายได้ หักค่าใช้จ่าย มอบให้มูลนิธิ วัดสวนแก้ว.

(จาก นสพ.เอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๔-๑๕ พ.ย.๔๘)

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ดึง 'สภาทนาย' สกัด ไทยเบฟฯ เข้าตลาดฯ

รายงานข่าวจากคณะกรรมการคัดค้านการนำธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาด หลักทรัพย์ฯ แจ้งว่า ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนนี้ เครือข่ายงดเหล้า เตรียมส่งตัวแทน จำนวน ๕๐๐ คนไปยื่นหนังสือยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับข้อมูลด้านกฎหมาย เพิ่มเติม ของสภาทนายความ

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายเยาวชนคนรักชาติ หนึ่งในองค์กร เครือข่ายงดเหล้า ได้ทำหนังสือปรึกษาข้อกฎหมายไปยังสภา ทนายความ เพื่อให้มีวินิจฉัยในเรื่องการต้องปฏิบัติตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภา ทนายความ มีหนังสือ ตอบกลับมาว่า "ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ของประเทศโดยรวม จึงไม่สอดคล้องกับ...ประกาศของ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ อย่างไรก็ดี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจพิจารณา ดำเนินคดีทางปกครอง ในศาลปกครองได้ หากมีข้อเท็จจริง ที่ชี้ชัดว่า ได้มีนโยบาย รับหลักการ หรือ รับคำขอไว้ เพื่อพิจารณาแล้ว".

(จาก นสพ.มติชน วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,300 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]

อ่านฉบับย้อนหลัง: