ฉบับที่ 269 ปักษ์หลัง 16-31 ธันวาคม 2548

[01] บทนำข่าวอโศก ช่วยลดปัญหาชุมชน
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "พอเพียงแค่ไหน"
[03] นศ.ปธ. จัดค่ายจริยธรรมในงานบุญลอมข้าวช่วยพัฒนาชุมชนบุญนิยมที่หินผาฯ
[04] ชาวศาลีฯ ทำบุญลอมข้าวปีที่ ๒ สันติฯ ปฐมฯ ร่วมกิจกรรมสัมพันธ์
[05] กสิกรรมธรรมชาต ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ลดต้นทุนชาวนาชายแดน (ตอนจบ)
[06] สกู๊ปพิเศษ :สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[07] ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน งาน "ส้มไร้สารพิษชุบชีวิตเกษตรกร"
[08] : ภาวะสุขภาพของท่าน อาจารย์หนึ่ง
[09] อบรมหลักสูตร "สร้างชีวิตใหม่"
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี
[12] ผู้เฒ่าสวิสนักเก็บขยะ ฝันอยากเห็นหาดสวยเ
[13] นางงามรายปักษ์ คุณยายสอน มารยาท
[14] ปฏิทินงานอโศก:
[15] : ดุด่า-ทุบตี-ทารุณกรรมทางเพศ จุดเริ่มความรุนแรงในครอบครัว
[16] มติ มส.กำหนด 'วันเสาร์' เข้าวัด



ช่วยลดปัญหาชุมชน

ปัญหาขยะกำลังเป็นปัญหาสำคัญ มิใช่เพียงแค่ระดับชาติ แต่เป็นระดับโลก ที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน

เป็นที่น่าแปลกใจ ที่ชาวเราบางคนยังไม่เอาใจใส่เรื่องการแยกขยะ ทำให้ผู้ดูแลขยะในชุมชนทำงานเหน็ดเหนื่อยมากขึ้น

ถ้าในชุมชนของเราขาดผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องขยะ ชุมชนนั้นจะมีปัญหาเห็นได้อย่างชัดเจน

ขนาดในชุมชนของเราก็ยังมิใช่จะหมดปัญหาโดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่เป็นภาชนะบรรจุอาหารที่คนภายในและภายนอก เอามากิน ในชุมชน แล้วทิ้งเอาไว้ก็เป็นภาวะที่สร้างปัญหาอยู่เหมือนกัน

แต่ปัญหาขยะจะทุเลาลงบ้าง ถ้าพวกเราช่วยกันแยกขยะก่อนทิ้งลงถังขยะที่ทางชุมชนจัดไว้ให้

ยิ่งมีงานใหญ่ๆ แบบตลาดอาริยะปีใหม่ที่บ้านราชฯเมืองเรือ ชาวเราที่ไปร่วมงานก็ยิ่งต้องช่วยกันทำเป็นแบบอย่าง แก่ชาวบ้าน ในการแยกขยะด้วย

ก็ขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในสังคมของเราก่อน จึงจะช่วยโลกใบนี้ได้มากขึ้น อย่างน้อยก็ด้วยการช่วย ให้พวกเราที่ดูแลรับผิดชอบเรื่อง ขยะ ทำงานได้สะดวก เบาภาระกว่าเดิม เหน็ดเหนื่อยน้อยลงกว่าเดิม เมื่อเราย่างก้าวเข้ามาในชุมชน (ไหนๆ ก็ตาม).

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


พอเพียงแค่ไหน

พวกเราคงได้ยินเรื่องเศรษฐกิจ พอเพียงกันมากในยุคนี้ ที่ผู้รู้หลายท่านเห็นว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นจะภัยของ ทุนนิยม โดยเฉพาะ ในด้านการค้า หรือการพาณิชย์ ทางทุนนิยมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้กำไร โดยไม่รู้จักแยกแยะว่า ขณะนี้สังคม ขาดอะไร เฟ้ออะไร แล้วจึงกระทำ การผลิตจำหน่าย เงินที่ได้ก็จะไม่มีบาปเวรภัยสู่ลูกหลาน สังคม และประเทศชาติ

ในเรื่องการค้าหรือพาณิชย์แบบพอเพียงนั้น พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้ ให้ความรู้กับลูกๆในการประชุม "พาณิชย์ บุญนิยม" เมื่อ ๑ ส.ค.๒๕๔๘ ว่า

"เรื่องพาณิชย์นี่ มันยิ่งใหญ่ หยุดยั้งมันไม่ได้เลย แม้ว่าสิ่งที่เรามาประชุมกันจะเป็นเรื่องการค้าการขายก็ตาม มันเป็นเรื่องของ สัมมาอาชีพ เป็นเรื่อง ของมนุษยชาติ ทิ้งไม่ได้หรอก สมัยพระพุทธเจ้ายังไม่เฟื่องเท่าทุกวันนี้ เรื่องสัมมาอาชีพโดยเฉพาะในเรื่องการค้า การแบ่งปัน จำแนก แจกจ่าย สมัยนี้ โอ้โฮ ระบบจัดการมันโหดยิ่งเหลือเกิน มันสลับซับซ้อนสุดจะกล่าว จนกระทั่ง ผู้คนได้รับทุกข์โทษภัย เดือดร้อนกันหนักหนา สาหัส นายทุน เอาเปรียบ เอารัด ไม่มีจุดจบ แต่พวกเรามาทำนี่ เราทำด้วยคุณธรรม เพื่อที่จะปลดทุกข์ ให้แก่ ประชาชนผู้ซื้อ ให้สังคมมนุษยชาติ มันดีขึ้น ซึ่งมันเป็นเจตนารมณ์ ของอุดมคติ ที่สุดยอด

ชุมชนพอเพียงคืออะไร เรามาดูตัวเรา ในแขนงของการค้า เราก็พอเพียง ที่ประชุมกันนี้ อันนั้นหยุด อันนี้งดได้มั้ย นี่แหละคือ ลักษณะของ ความพอเพียง แล้วก็มาคุยกัน มาปรึกษาหารือกันว่า นี่มันตั้งอยู่ได้แล้วนะ อันนี้มันเฟ้อหน่อยหนึ่งนี่ แม้แต่แค่ประเด็นของ ตัวอย่าง ยาประเทืองผิว กับยาขัดล้าง มันก็คือการทำให้สะสวย อันหนึ่งทำให้ส้วมห้องน้ำสะสวย อีกอันหนึ่งทำให้ผิวสะสวย ใช่มั้ย มันก็คล้ายกัน เราก็ยัง มีขีดเลยว่า ไม่เอาน่ะ มนุษย์สะสวย ไปส่งเสริมเรื่องประเทือง ที่สังคมเขา จัดจ้านฟุ้งเฟ้อกันสุดฤทธิ์สุดเดช กันอยู่แล้ว ก็ไม่เอา อย่างนี้เป็นต้น

อย่างนี้แหละที่เราจะเกิดปฏิภาณ มีความรู้ มีความเฉลียวฉลาด อันนี้เพียงเป็นตัวอย่างอย่างเดียว พอปรึกษาหารือกันก็เห็นว่าดี มันก็มี วัตถุดิบ มันทำก็ได้ มันก็น่าได้เงินมาเพิ่มด้วย เราก็บอกว่า เงินเพิ่มก็เถอะ เราก็ตัดไป ประโยชน์มันไปกระทบต่อประชาชน ไปมอมเมา ซ้ำเสริม มากมายเกินไป เราก็ไม่เอา อย่างนี้เป็นต้น และแนวโน้มของเรา ทิศทางของเรา เราก็จะไปทางอย่างนี้แหละ 'พอเพียง' เราไม่โลภ ลาภ ยศ เงินทอง มากมาย อะไรแล้ว เราก็ตัดอะไรๆ ต่างๆนานา ที่มันมอมเมาในโลกนี้ ได้มากขึ้น เราก็รังสรรค์ให้มนุษยชาติอยู่สุข มนุษยชาติ ได้สงบ ไม่ต้องแย่งชิง ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อ ผลาญพร่า สิ้นเปลืองหนักหนา ที่จริงเครื่องประเทือง มันคือการส่งเสริมกามกันแท้ๆ ที่คนหลงกันอยู่..."

รัฐบาลไม่ต้องการภาษีจากสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สุรา เว็บโป๊ต่างๆ ยาเสพติด ก็เป็นความพอเพียง แม้เราไม่มีเงินมาก แต่เราก็พอเพียง และขยัน ในสิ่งควรขยัน ที่ไม่ผิดศีลธรรม ไม่มอมเมาคน ซึ่งชุมชนชาวเรา จะต้องพัฒนาให้"พอเพียง" ยิ่งๆขึ้นไป แม้แต่การเปิดตลาดอาริยะ ขายสินค้า ต่ำกว่าทุน ที่หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก ซึ่งมีประจำทุกปี ก็จะเห็นได้ว่า ความพอเพียง จะต้องขวนขวาย ขยันหา ขยันให้ด้วย.

- เด็กวัด -

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



นศ.ปธ. จัดค่ายจริยธรรมในงานบุญลอมข้าว
ช่วยพัฒนาชุมชนบุญนิยมที่หินผาฯ
ผวจ.ชัยภูมิให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

นายอำเภอแก้งคร้อ และกกต.มาดูงาน
กระชับความเป็นพี่น้องระหว่างชุมชนบุญฯ
รับฟังกิจกรรมของสถาบันบุญนิยม

งานค่ายอบรมจริยธรรมสัญจร ปี'๔๘ ระหว่างวันที่ ๑๐ ธ.ค. ๒๕๔๘ จัดโดยกลุ่มนักศึกษารามบูชาธรรม และสมาคมนักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ชุมชนบุญนิยมหินผาฟ้าน้ำ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ โดยเจตนาจัดให้ตรงกับงานบุญลอมข้าว ของชาวชุมชนซึ่งจัดขึ้นทุกปี (ปีนี้จัดงาน ระหว่าง วันที่ ๑๓-๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แบบบูรณาการ เราใช้งานต่างๆในช่วงเตรียมงาน เป็นกิจกรรม ที่กระชับความสัมพันธ์ ระหว่าง พี่น้อง และให้ผู้มาใหม่ ได้เห็นถึงพลังรวมและกิจกรรมต่างๆ ของชาวอโศก นอกจากนี้ยังได้มีโอกาส ร่วมงาน เอื้อไออุ่น กับพ่อท่านด้วย ซึ่งจะได้ ประโยชน์ยิ่ง ทั้งกับผู้มาใหม่ และผู้มาก่อน

ชาวค่ายฯครั้งนี้มีด้วยกัน ๓๑ ชีวิต เริ่มต้นออกเดินทาง วันที่ ๑๐ จากชุมชนสันติอโศก ประมาณเกือบเที่ยงด้วยรถหมอหลอ และ รถปิ๊กอัพ กว่าจะถึง ชุมชนหินผาฟ้าน้ำ ระยะทางกว่า ๔๐๐ กิโลเมตร ก็ค่ำแล้ว เมื่อรับประทานอาหารกันเสร็จ ก็แยกย้ายกันเข้านอน ด้วยความ อ่อนเพลีย

เช้ารุ่งขึ้น ๐๕.๐๐ น. พวกเราชาวค่ายฯ ก็บริหารร่างกายพร้อมกับเด็กสัมมาสิกขาหินผาฟ้าน้ำปีนี้อากาศไม่หนาวเท่าไหร่ เพียง แค่พอรู้สึก เย็น จึงทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า จากนั้นก็ร่วมประชุมแบ่งงานกับชาวชุมชน

ในตอนเช้านักศึกษารับอาสาเตรียมสถานที่บริเวณลานจัดงาน รวมทั้งเวทีดินเพื่อให้คณะโปงลางมาแสดงในวันงาน และไปขนฟางกันที่ ทุ่งนา ๑ เที่ยว เพื่อที่จะมาปู บริเวณพื้นที่งาน ส่วนในตอนบ่าย ปูหินที่ลานกุฏิบ้านดิน ของพ่อท่าน และทำการลอกบ่อน้ำข้างๆ เสร็จแล้ว จึงไปช่วยกัน ขนฟาง ต่ออีก ๒ รอบ อากาศเริ่มย่ำค่ำ จึงแยกย้ายกันไปทำกิจส่วนตัว แล้วมาร่วมรับประทานอาหารเย็น พร้อมกันที่ ลานฟ้าม่วน ซึ่งอยู่กลางชุมชน โดยจุดกองไฟเล็กๆ แล้วนั่งล้อมวงคุยกัน สลับกับบทเพลงเพื่อชีวิต ท่ามกลางอากาศ ที่เย็นกำลังพอดี โดยให้ทุกคน แนะนำตัวเอง พร้อมให้แต่ละคน ซักถามได้ ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิต และวิธีคิดของพี่น้องเรา ประมาณสามทุ่งครึ่ง ก็แยกย้าย กันไปนอน

เวลา ๐๔.๐๐ น. ทำวัตรเช้า หลังจากนั้นก็ชักชวนกันไปตรวจสอบสุขภาพร่างกาย โดยพากันไปขึ้นภูแลนคาซึ่งอยู่ใกล้ๆกับ ชุมชน โดยไต่ ขึ้นไป ตามท่อส่งน้ำ ทุกคนสอบผ่านหมด สามารถขึ้นไปถึงข้างบนได้ แต่ก็เหนื่อยไม่ใช่เล่น หลายคนต้องหยุดพักหลายรอบ กว่าจะขึ้น ไปถึง พอกลับลงมา ก็ได้เวลา รับประทานอาหาร ในระหว่างนั้น น้องๆก็เสนอให้ช่วงเย็น เป็นกิจกรรมการตอบปัญหา ของสมณะ เพราะหลายคน ยังมีข้อสงสัย อยู่ภายในใจ จึงอยากใช้เวลาช่วงเย็น เป็นการไขความกระจ่าง ก็ได้รับความเมตตาจาก ท่านพอแล้ว รับจัดให้

ช่วงบ่ายของวันที่ ๑๒ ร่วมประชุม แบ่งงานกันในวันงานวันที่ ๑๓ และ ๑๔ จากนั้นก็เพียงแค่เก็บรายละเอียดของงานอีกเล็กน้อย ก็แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมตัว สำหรับกิจกรรมภาคเย็น สมณะตอบปัญหา

วันงานบุญล้อมข้าว ๑๓ ธันวาคม มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายประภากร สมิติ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน โดยมีท่าน นายอำเภอแก้งคร้อ และเจ้าหน้าที่จาก กกต. มาร่วมงานด้วย

บรรยากาศในตอนเช้าชาวค่ายฯช่วยเตรียมงานที่โรงครัวของชุมชน และสายหน่อยก็กระจายกันอยู่ประจำหน้าที่ตามซุ้มอาหาร และ ร้านค้า ต่างๆ ซึ่งทางชุมชน จัดเป็นโรงบุญแจกอาหารมังสวิรัติฟรี กับตลาดสินค้าบุญนิยม ที่ขายสินค้าต่ำกว่าทุนอีก ๙ ร้าน จากนั้น ภาคบ่าย ก็ร่วมงาน ตีข้าว กับชาวชุมชน พร้อมกับฟังเพลง ม่วนซื่นโฮแซว กับวงโปงลางจนเย็น จึงเลิกเพื่อเตรียมตัว ร่วมกิจกรรม เอื้อไออุ่น กับพ่อท่าน

วันที่ ๑๔ วันสุดท้ายของงานชาวค่ายได้ร่วมรับฟังเรียนรู้กิจกรรมงานต่างๆของสถาบันบุญนิยม หลังจากนั้นก็กราบลา พ่อท่าน และสมณะ กราบลาผู้ใหญ่ชาวชุมชน และเดินทางกลับกรุงเทพฯ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชาวศาลีฯ ทำบุญลอมข้าวปีที่ ๒ สันติฯ ปฐมฯ ร่วมกิจกรรมสัมพันธ์

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเริ่มเวียนมาถึง หากนั่งรถผ่านเขต อ.ไพศาลี จะเห็นภาพชาวนาเร่งสูบน้ำออกจากนาทั้งวันทั้งคืน อันเนื่องมาจากฝนตก น้ำขังนาข้าว ซึ่งกำลังสุก บางแห่งพอเก็บเกี่ยวได้ก็รีบว่าจ้างรถเกี่ยวและขายไปทันที แม้กระนั้นก็ยังไม่ทันการณ์ ด้วยความกลัว ข้าวในนา จะเสียหาย เกินกว่า ที่เป็นอยู่ อัตราค่าจ้างรถเกี่ยว ก็ดูจะไม่ต่อรองกันมากนัก เจ้าของรถเกี่ยวข้าวบางคน ก็เล่นตัวเกินเหตุ ไม่คำนึงถึง ความทุกข์ยาก ของชาวนา ต่อรองแล้วต่อรองอีก ชาวนาก็ยอม เอาไปเอามา เห็นเม็ดเงิน ของรายอื่นสูงกว่า ขับรถหนีจากนา เจ้าที่ต่อรอง ไปเฉยๆ สุดท้าย เรื่องจบลง ด้วยเสียงปืน ที่ชาวนา ฝากให้เจ้าของรถ ไปนั่งนับลูกตะกั่ว แทนนั่งนับเม็ดเงิน จากรายได้ ฟังแล้ว ไม่อยาก คิดต่อ

ท่ามกลางภัยธรรมชาติปีนี้ ชุมชน ศาลีอโศกก็ร่วมชะตากรรมไม่น้อยหน้า แปลงนาที่คาดว่าจะได้ผลผลิตสูง มีอันเปลี่ยนไป แม้กระนั้น ก็พอมีข้าว ให้เกี่ยวเข้ายุ้งฉาง

ด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต เรายังคงใช้แรงงานคนอยู่ก็พอสมน้ำสมเนื้อกับข้าวที่ได้รับผลจากภัยธรรมชาติช่วงต้นปี

ฤดูกาลเกี่ยวข้าวปีนี้ที่ศาลีอโศก เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน บรรยากาศ การเกี่ยวข้าวของชาวชุมชนศาลีฯอบอุ่นและคึกคักเป็นพิเศษ ประกอบไปด้วย สมาชิกชาวชุมชน นร.สัมมาสิกขาศาลีอโศก และข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ที่เข้ามาอบรมหลักสูตร พัฒนาการ เกษตรฯ จำนวน ๘๘ คน เข้าร่วมศึกษาวิถีชีวิตชุมชน ด้วยความเบิกบานแจ่มใส ท่ามกลางอากาศ บริสุทธิ์สดชื่น โดยเฉพาะ อากาศเย็น ในช่วงต้น ฤดูหนาว ทำให้ประสิทธิภาพ การทำงานของทุกคน เพิ่มขึ้นแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เสียงร้องเพลง และเสียงเป่าปี่ จากต้นข้าว ของเด็กน้อย สัมมาสิกขา ช่วยเพิ่มสีสัน บรรยากาศการเกี่ยวข้าว นับเป็นการศึกษาจากธรรมชาติบูรณาการ ในท้องนา สามารถทำได้ ทุกวิชา เพราะการศึกษาจาก ประสบการณ์ตรง ย่อมจำได้ดีไม่มีวันลืม ประสบการณ์เหล่านี้ ไม่สามารถจัดขึ้นได้ ในห้องเรียน ๔ เหลี่ยม แต่ท้องนา เป็นห้องเรียนที่กว้างใหญ่ ไพศาลสุดสายตา ทุกสิ่งถูกซึมซับวันละเล็กละน้อย แม้จะพบอุปสรรคเรื่องน้ำขังอยู่บางจุด และ เปลือกหอยที่แสนคม บาดฝ่าเท้าบ้าง แต่วิญญาณ ของลูกชาวนา ก็ไม่หวั่นไหว ย่อท้อ ยังคงต่อสู้กับอุปสรรคต่อไป ด้วยความสนุกสนาน เฮฮา บนผืนนา ๓ แห่งคือ สวนเบิกบุญ และที่นาของ ญาติธรรม รวมพื้นที่นา ๕๐ ไร่ (ปริมาณข้าวที่ได้ในปีนี้แม้จะเป็นนาหว่าน แต่ผลผลิต ที่ได้ก็เพียงพอ แก่การหล่อเลี้ยงชีวิตใน ชุมชนได้อีกนานนับปี ที่เหลือ ส่งจำหน่ายร้านค้าชุมชนในราคาบุญนิยม)

สำหรับผลผลิตจากนาข้าวถูกขนย้ายมาในรูปของข้าวฟ่อน นำมากองรวม ที่ลานนวดข้าวของชุมชน เพื่อรอความพร้อมที่จะจัดงาน "ทำบุญ ลอมข้าว"

วันที่ ๑ ธ.ค.๒๕๔๘ ชาวชุมชนและญาติธรรมที่มาทำบุญ ต่างร่วมจัดงานทำบุญลอมข้าวบริเวณลานธรรม ท่ามกลางพิธีกรรม ที่จัดขึ้น อย่าง เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยแง่คิด

๐๘.๓๐ น. สมณะณรงค์ เริ่มแสดงธรรมเกริ่นกล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของยัญพิธีและความสำคัญของชาวนา

๐๙.๐๙ น. สมณะ สิกขมาตุ ชาวชุมชนและนักเรียนสัมมาสิกขาฯพร้อมกันที่ลานข้าว โดยมีสมณะณรงค์ ชินธโร พาทำพิธี

"ณ โอกาสอันเป็นมงคล เหล่าข้าฯ ทุกคนมาร่วมประชุมกันท่ามกลาง ลอมข้าวที่พวกเราเกี่ยวนั้น รอคืนรอวันด้วยความยินดี รวงข้าว เหลืองทอง กองรวม ณ ลานแห่งนี้ เหล่าลูกหลานเปรมปรีดิ์ ที่ได้แม่นี้มารวมสาน

ขอขวัญพระแม่โพสพ จงน้อมรับการเคารพระลึกพระคุณ หากโลกขาดแม่ค้ำจุน ทั่วหล้าจักทุกข์ปานใด

เม็ดข้าวทองแม่ละมุน หอมกรุ่นยามได้เคี้ยวกลืน ขวัญเอยขวัญข้าว ขอจงอยู่ในยุ้งฉางเรา เพื่อเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจ

มโนนอบ กายหมอบ เคารพ
องค์แม่ โพสพ มิ่งขวัญ
ขอจง รวมอยู่ พร้อมครัน
เพื่อขวัญ และกำ- ลังใจ
ลูกสร้าง ฉางแก้ว ไว้พร้อม
ขอน้อม พระแม่ จงได้
สถิตอยู่ คู่แผ่น ดินไทย
ให้ลูก อาศัย นานเทอญ."

หลังพิธีกรรมกลางลานข้าวผ่านไป ชาวชุมชนร่วมรับประทานอาหารด้วยความซาบซึ้งในเม็ดข้าวที่ได้เคี้ยวกลืน

หลังจากเมล็ดข้าวทำหน้าที่ปัดเป่าความหิวไปแล้ว แรงงานที่เข้าร่วมทำบุญ ในครั้งนี้ ต่างลงแขกลุข้าวที่นวดเอาไว้ด้วยรถไถ ภาพชาวนา มืออาชีพกับชาวนามือสมัครเล่นร่วมแรงกัน ดูแล้วสนุกสนานตามประสาจริงๆ

ฟางเส้นสุดท้ายถูกเกลี่ยออก เห็นเมล็ดข้าวเหลืองทองกองอยู่เต็มลาน กระบวนการสีข้าวด้วยแรงคนเริ่มขึ้น "มันคือความแปลกใหม่ ของชีวิต ที่ผมได้เห็นและลงมือ ผลิตข้าวเอาไว้กินแบบครบวงจร..." สัมมาสิกขารุ่นพี่ท่านหนึ่งเล่ากับทีมข่าว

ภาพชาวชุมชนที่รู้งานเป็นตัวหลัก กับการลุข้าว สีข้าวนักเรียนรุ่นพี่ขมีขมัน ขนข้าว แบกข้าวใส่รถ เด็กน้อยทำบ้างเล่นบ้าง เห็นแล้วเป็น ธรรมชาติของ โรงเรียนชีวิต แสงตะวันสุดท้ายได้จบลง พร้อมกับงานสีข้าวก็สิ้นสุดลงไปพร้อมครัน อาจจะมีร่องรอยของความเหนื่อย ทิ้งไว้บ้าง ณ ลานแห่งนี้ ให้เห็นบ้าง แต่มันคือความเหนื่อยอันทรงคุณค่า ที่สังคมเราควรร่วมกันอนุรักษ์

นอกจากกิจกรรมเกี่ยวข้าวของศาลีฯ แล้วยังมีการเกี่ยวข้าวของชุมชนอื่นๆ อาทิ เมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย.๔๘ รวม ๐๕.๓๐ น. นักเรียน สัมมาสิกขา สันติอโศกราว ๑๐๐ คน และคุรุ ๖ คน ออกเดินทางจากสันติอโศก เพื่อไปร่วมเกี่ยวข้าวที่ทุ่งนาแรงรัก ชุมชนบุญนิยม ปฐมอโศก

ราว ๐๗.๓๐ น. พอไปถึงทุ่งนา แรงรัก นักเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศกราว ๑๐๐ คน ออกมาทักทายต้อนรับกันอย่างไมตรี ก่อนที่พวกเรา จะลงแขกเกี่ยวข้าว สมณะนาไท อิสสรชโน ให้โอวาทว่า "ดีใจที่บ้านพี่เมืองน้องอย่างสันติฯและปฐมฯมีกิจกรรมสัมพันธ์ กลมเกลียวกัน นับเป็น นิมิตหมายอันดี ที่ก้าวไปสู่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เอกีภาวะ) ของพวกเราลูกพ่อเดียวกัน ถ้าสันติอโศกมีนาบ้าง ชาวปฐมอโศก ก็จะไปช่วย เช่นนี้ เหมือนกัน"

ต่อจากนั้นรุ่นพี่ก็นับจำนวนคนแล้วก็แจกเคียว โดยเคียวเก่าให้กับ ม.๑ ส่วนเคียวใหม่ให้ ม.๒ ขึ้นไป แต่ละคนต่างทยอยกันเดินลงไป ในนาข้าว เริ่มเกี่ยวข้าว กันด้วยรอยยิ้ม เป็นที่น่าปลื้มปีติยินดี พอเกี่ยวกันไปได้สักพักก็มีน้องๆโดนเคียวเกี่ยวนิ้ว ถึงเวลากินข้าวเช้า ทางปฐมฯ จัดเตรียม อาหาร ไว้ให้อย่างดี มีทั้งผัดฟักทอง ผัดเส้น แล้วก็อื่นๆอีกมากมาย ทางสันติฯ มีก๋วยเตี๋ยว บรรยากาศ การกินข้าว ก็สนุกเฮฮากันตามประสาเด็กๆ

ภาคบ่ายมีกิจกรรมต่อ อาจารย์ขวัญดี มาสอนภาษาอังกฤษเกี่ยวกับข้าว สอนร้องเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว ต่อจากนั้นมีผู้เชี่ยวชาญ การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว มาให้ความรู้ เกี่ยวกับข้าวไทย

การเกี่ยวข้าวครั้งนี้นักเรียนบางคนรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะเกิดมายังไม่เคยเกี่ยวข้าวเลย ได้ความรู้ประสบการณ์ในทุ่งกว้างโดย ไม่มี ข้อจำกัด ยังได้เพื่อนใหม่ มิตรดีสหายดี และได้ทำกิจกรรมสัมพันธ์ (สันติอโศกกับชาวปฐมอโศก)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ลดต้นทุนชาวนาชายแดน (ตอนจบ)

การเตรียมดินเริ่มจากนำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ที่ได้หว่านลงในนา หลังจากเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม-มกราคมแล้ว ในอัตรา ๑๐๐ ก.ก.ต่อไร่ แล้ว ไถกลบ ถ้าไม่หว่านในช่วงหลังเก็บเกี่ยว ก็ให้หว่าน ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ในอัตรา ๑๕๐ ก.ก.ต่อไร่ จากนั้นในเดือน มิถุนายน -กรกฎาคม ก็ให้ขยายจุลินทรีย์ โดยใช้น้ำ ๔ ปี๊บ เติมจุลินทรีย์ปี๊บละ ๒ ช้อน ฉีดพ่นใส่หญ้าแล้วไถกลบ

การเตรียมกล้า ให้แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตรา ๘๐ ก.ก.ต่อไร่ ในน้ำขยายจุลินทรีย์ โดยใช้น้ำ ๑ ปี๊บ เติมจุลินทรีย์ ๒ ช้อน และกากน้ำตาล ๒ ช้อน แช่พันธุ์ข้าวไว้นาน ๓๐ นาที แล้วนำพันธุ์ข้าวไปหว่านในแปลงที่เตรียมเพาะกล้า เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ ๕ วัน ก็หว่านปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ อัตรา ๒๐ ก.ก.ต่อไร่ และขยายจุลินทรีย์ฉีดพ่น โดยใช้น้ำ ๔ ปี๊บ เติมจุลินทรีย์ปี๊บละ ๒ ช้อน และกากน้ำตาลปี๊บละ ๒ ช้อน เมื่อต้นกล้า อายุได้ ๒๐ วัน ก็หว่านปุ๋ยหมักจุลินทรีย์อีก ๒๐ ก.ก.ต่อไร่ และขยายจุลินทรีย์ในอัตราเดิมฉีดพ่นอีกครั้ง เพื่อกระตุ้น ให้ต้นกล้า แข็งแรง และถอนง่าย เมื่อมี อายุครบ ๒๕ วัน ก็ถอนไปปักดำได้

สำหรับการขยายปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ๒๔ ชั่วโมง วัสดุมี ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ๑ กระสอบ(กระสอบละ ๒๐ ก.ก.) รำละเอียดหรือมันสำปะหลังบด ครึ่ง กระสอบ ฟางข้าว ใบไม้ หญ้าแห้ง ๑๐ กระสอบปุ๋ย

วิธีทำ เอาน้ำ ๑ ปี๊บ เติมจุลินทรีย์ ๒ ช้อน กากน้ำตาล ๒ ช้อน คนให้เข้ากัน นำน้ำที่ผสมแล้ว ๒ ลิตร ไปผสมกับรำละเอียดหรือ มันสำปะหลังบด เอาฟางจุ่ม แล้วกระจายลงพื้นให้หนา ๑๐ ซ.ม. เอาส่วนผสมของเชื้อปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ที่ผสมกับรำโรยตารางเมตรละ ๕-๖ กำมือ ทำเป็นชั้นๆ จนกว่า วัสดุจะหมด หรือเมื่อสูงประมาณ ๑ ศอก คลุมด้วยฟางแห้ง หรือกระสอบ ทิ้งไว้จนครบ ๒๔ ชั่วโมง ก็จะพบว่า มีจุลินทรีย์ นำไปหว่าน ในแปลงนาข้าว หรือเก็บไว้ในที่ร่ม

ผลดีจากการใส่ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ คือ
๑.ทำให้ดินโปร่งร่วนซุย
๒.ทำให้กบ เขียด กุ้ง หอย ปู ปลา กลับคืนสู่ธรรมชาติ
๓.ให้ลดปริมาณการใส่ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ลงในปีที่ ๓,๔,๕ และปีที่ ๖ ให้หยุดใช้
๔.ปัญหาการเกิดโรคพืชจะค่อยๆหมดไป
๕.เกษตรกรสามารถ ผลิตได้เอง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายและได้ผลผลิตสูงขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

สำหรับปัญหาในนาข้าวในปัจจุบันที่พบคือ ข้าวเป็นโรคขอบใบแห้ง ใบชิด โปร่งแสง โคนเน่า ใบไหม้ กาบใบแห้ง ใบจุดสีน้ำตาล ลำต้นเน่า กาบ ใบเน่า ใบมีสีส้ม ฯลฯ เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีจนดินอัดแน่นเป็นดานแข็ง เพราะขาดสารชีวภาพหรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน เพราะปุ๋ยเคมี ได้ทำลาย ความสมดุลของดิน ทำให้เกษตรกร ต้องพบกับทางตัน ดังนั้นการแก้ไขที่ยั่งยืน จะต้องเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และผลิตปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ขึ้นใช้เอง

นายสุทิน บุญงาม อายุ ๔๖ ปี ผู้ใหญ่บ้านโคกสาร อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ของ นพค.๕๑ เป็น โครงการ ที่ดีมาก เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ในรูปแบบ ของกองทุนปุ๋ยแล้วแจกจ่ายให้สมาชิกไปใช้ประโยชน์ในนาข้าว ได้เข้าร่วม โครงการมา ๒ ปีแล้ว ทำให้ลด ต้นทุน การซื้อปุ๋ยได้มาก ทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีให้ชาวบ้านอีกด้วย

พ.อ.สุเทพ ฉายขจร ผบ.นพค.๕๑ กล่าวในท้ายสุดว่า การทำโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยหมัก จุลินทรีย์ ครบทุกหมู่บ้าน ที่รับผิดชอบ ซึ่งในปี ๒๕๔๙ ในนาข้าวของทุกหมู่บ้านจะต้องปลอดสารเคมีอย่างยั่งยืน.

(จาก นสพ.ไทยโพสต์ เอ็กซ์-ไซท์ )

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



- สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร -

เนื่องในวาระสิ้นปี ท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร ฝากข้อคิดให้กับญาติธรรมทุกท่านมีเนื้อหาดังนี้ค่ะ
# ในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ท่านมีข้อคิดอะไรที่จะฝากให้กับพวกเราบ้างคะ?

- ก็อยากจะฝากเรื่องของความสุข ความสำเร็จ และเพชรเม็ดงาม ส่งท้ายปีเก่าให้กับพวกเราทุกๆ ท่าน
๑. ความสุข นักทำงานบางคนมักมีปัญหาว่า พอปฏิบัติธรรมไปไม่รู้ว่าสุขาอยู่หนใด เราคงจะต้องทบทวนกันว่า เรามาทำงานให้กับ ศาสนา แล้วเราใหญ่ขึ้น หรือเราเล็กลง หลายๆ คนอยู่กับชุมชนต่างๆ ของชาวอโศกทำงานในระบบสาธารณโภคี แม้ไม่มีอัตราค่าจ้าง แต่บางคน ก็สะสมกอบโกยเอาอัตตามาให้กับตัวเอง เพิ่มเติมขึ้นอยู่ทุกๆ วัน ซึ่งมีบางคนตีราคาว่าการสะสมอัตตา แพงกว่า อัตรา ค่าจ้างอีก เพราะอัตราค่าจ้างอย่างมากคิดกันแค่รายวันหรือรายเดือน แต่การสะสมอัตตา มันสามารถเอาติดตัว ไปได้หลายภพ หลายชาติ ไปอีกยาวนานทีเดียว

เครื่องเช็คง่ายๆ ว่าเราทำงาน แล้วเรากำลังสะสมอัตราหรือสะสมอัตตาดูที่ว่า
ก. ทำงานแล้วความสุขน้อยลงไปหรือความสุขมากขึ้น ถ้าเราสะสมอัตตาเพิ่มขึ้นความสุขก็น้อยลง เพราะอัตตาที่เพิ่มขึ้นความถือสาก็จะ มากขึ้นด้วย ถ้ามาปฏิบัติธรรมแล้วถือศีลเพิ่มขึ้นจะมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สุขัง ยาวะ ชราสีลัง การถือศีล จะให้ความสุข ตราบเท่าชรา แต่ถ้ามีอัตตามีการถือสาเพิ่มขึ้น ทุกข์ของเราก็จะมากเพิ่มขึ้น

ข. เราทำงานไปแล้วเราอ่อนน้อมถ่อมตนเพิ่มขึ้น หรือว่าเราทำงานไปด้วยความแข็งกระด้างอหังการมมังการ ถ้าแข็งกระด้างเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่า เราสะสมอัตตาให้กับตัวเอง

ค. เรากำลังทำงานดุจดั่งพระเจ้า เป็นผู้ใช้กฎแห่งกูมากกว่าใช้กฎแห่งกรรม คอยพิพากษาคอยเอาเรื่องเอาราวคนนั้นคนนี้อยู่ตลอด เวลา ซึ่งตรงนี้ จริงๆ แล้วน่าจะเป็นหน้าที่ของพระเจ้าหรือหน้าที่ของกฎแห่งกรรม มากกว่าใช้กฎแห่งกูเข้าไปจัดการกับคนนั้นคนนี้ ถ้าเราทำ ผิดหน้าที่อย่างนี้ เราจะมีความทุกข์เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการสะสมอัตตาอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นนักปฏิบัติธรรมจึงจะต้องมีการสำนึกและหมั่นพิจารณา คนที่คิดว่ากูแย่จะมีโอกาสล้างอัตตาล้างอวิชชา และสามารถที่จะมี ความสุข ได้มากกว่าคนที่คิดว่ากูแน่ ถ้ากูแย่ก็จะหันมามองดูตัวเอง เกิดฌาน เกิดเพ่งเผากิเลส ของตัวเอง เกิดญาณ สามารถรู้ด้วยว่า ตัวเอง กิเลสหมด เบาบางลดน้อยลงไปได้อย่างไร แต่ถ้าคิดว่ากูแน่เพราะกู เคร่งครัดกว่า ใครๆ กูเสียสละ มากกว่าใครๆ กูรับผิดชอบ หนักกว่า ใครๆ ยิ่งเคร่ง ยิ่งเสียสละ ยิ่งรับผิดชอบ ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบของการเพาะบ่ม สะสมอัตตา ให้เพิ่มขึ้น ถ้าคิดว่ากูแน่ กูเหนือ กว่าใครๆ เพราะจะคิด จะไปเผาคนอื่น ไปเพ่งโทษคนอื่น ทั้งอัตตาและอวิชชา ก็จะเพิ่มเป็นภูเขา ที่ไม่สามารถทะลุทะลวง มองหา สุขาอยู่หนใดได้ ความสุข ของนักปฏิบัติธรรม จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะว่า เมื่อทำงานไม่เอาอัตราค่าจ้าง แล้วก็ไม่เอาอัตตามาสะสม ให้กับตัวเองด้วย จึงจะสามารถ พบว่า สุขาอยู่หนใด

๒. ความสำเร็จของชีวิต
๒.๑ ทุกวันนี้เพราะเรายิ่งเล็ก ยิ่งน้อย ยิ่งเบา ยิ่งว่าง ยิ่งง่าย ส.บ.ม.ธ.ม.ด.ป.ก. ต.ห.ห. งานการก็เพิ่มมากขึ้น ปัญหาก็เพิ่มมากขึ้น ตามไปด้วย แต่กำลังคนของเราดูจะน้อยร่อยหรอลงไป บางที่แม้จะมีคนมากอยู่ก็ตาม แต่งานส่วนกลางจะไม่ค่อยมีใครทำ งานล้างส้วม จะไม่มีคนทำ งานโรงครัวทำอาหารจะไม่มีคนทำ คนปลูกผักเยอะแต่งานเก็บผักจะไม่มีใครทำ เพราะการไปเก็บผัก มันไม่ได้ แสดงฝีมือ แสดงความสามารถของเราออกมา สิ่งนี้ก็เลยทำให้คนของเราหายไป แต่ถ้าตามไปดูว่าหายไปไหน จะเห็นได้ว่า แต่ละคน ไม่มีใครอ่อนข้อ หรือไม่ขยัน ทุกคนขยันกันอย่างเต็มที่ แต่เป็นความขยันที่พุ่งไปในการสร้างอาณาจักร อันยิ่งใหญ่ ของตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับ อาณาจักร ของพระเจ้า ศาสนาก็ไม่กลายเป็นพลังรวมของสังคม และสุดท้าย ที่เราทำงานกันไป มันก็จะกลายเป็นการสร้างอาณาจักร ของพระเจ้า หรือ ของข้าพเจ้าขึ้นมาแทน

เราต้องมาทบทวนกันว่างานที่เราต้องมาแบกรับนี่ ทำไปอีกร้อยชาติก็ไม่เสร็จสิ้น แต่ถ้าเราหัดออกมาทำงานช่วยรับผิดชอบเป็นพลังรวม ร่วมกัน มีความมีน้ำใจออกมาช่วยเหลือผู้อื่น ให้บริการผู้อื่น ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมความสามัคคี ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่ทำให้ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ประสบความสำเร็จได้หมด เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ความพร้อมเพรียงของปวงชน ผู้เป็นหมู่ ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ ถ้าแต่ละคน ออกมาจากการสร้างอาณาจักร ยิ่งใหญ่ของตัวเอง ออกมาเห็นความสำคัญของการรวมพลัง เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันได้ ก็จะทำให้แก้ไขปัญหา ทุกสิ่งทุกอย่างไปได้หมด แต่ถ้าต่างคน ต่างอยู่ ต่างคนต่างลุย ไปกับงานของตัวเอง โดยไม่คิดที่จะออกมา รวมพลัง กันแล้ว การแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง จะทำได้ยากมาก

๒.๒ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดความสมดุลของชีวิตด้วย พ่อท่านเคยสอนเด็กๆ ไว้ว่า การกินอาหาร ที่มีหลายอย่าง เราต้องรู้จักเลือกกินอาหาร ที่เป็นข้าวกล้อง ถั่ว งา ผลไม้ ของที่เป็นสาระที่จำเป็นแก่ชีวิตก่อน ส่วนพวกขนม อาหารที่กินเล่น ค่อยกิน ทีหลัง การดำเนินชีวิต ให้เกิดความสมดุล ก็เช่นเดียวกัน กิจกรรมในวัดของเรามีมากมาย เรื่องของความดีทั้งหลาย ทั้งปวง ในหมู่กลุ่ม ของเรา มีมากมาย ถ้าพวกเราไม่รู้จัก กำหนดว่าอะไรเป็นสาระ อะไรเป็นส่วนสำคัญ อะไรควรจะทำก่อน ทำหลัง ทุกคน ก็จะกลายเป็น โรคดีซ่าน ดีโทรม และสุดท้าย ก็ดีแตกในที่สุด

ดังนั้นชีวิตของเราในแต่ละวันๆ เราควรจะต้องมาล็อคเรื่องสำคัญๆ เอาไว้ก่อน เช่นการทำ ๕ส. การเติมอาหาร กายและใจ ควรจะต้อง มีเวลา ที่จะศึกษาธรรมะ เพื่อให้มีการอบรมจิตวิญญาณของเราให้ไปในทิศทางที่สัมมาทิฐิ นอกจาก ๕ส., ๗อ. เราน่าจะต้อง กำหนด วงจรชีวิตของเรา ให้สามารถ อยู่ในเรื่องสำคัญๆ อย่างนี้ได้ ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตของเราอย่างคมชัดลึกและทำอะไร ที่สามารถ ประสบ ความสำเร็จได้

๓. เพชรเม็ดงามประจำปี ๒๕๔๘
พระราชดำรัสของในหลวงในวันที่ ๔ ธ.ค. น่าจะถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามของชาวไทย ทั้งหมดทั้งมวล โดยเฉพาะประโยคที่ท่านได้ตรัส ไว้ว่า ในหลวง ก็อยากจะให้มี คนวิจารณ์ได้ เพราะในหลวง ก็เป็นคน ก็สามารถทำอะไรผิดได้เหมือน กัน ประโยคนี้ถ้าเป็นนัก ปฏิบัติธรรม ก็ต้องถือว่า เป็นเพชร เม็ดงามอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ติติงไม่ได้ ต้องระวัง ว่าเป็นการบังอาจ คิดใหญ่กว่าในหลวงหรือเปล่า? เป้าหมาย ของนักปฏิบัติธรรม ทุกคนต่างก็มี วัตถุประสงค์เดียวกัน ก็คือต้องการบรรลุธรรม ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นได้ว่า คำตำหนิติติงนี้คือ สิ่งวิเศษ ที่ควรน้อมรับ ใส่เศียรใส่เกล้า อย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าให้เราได้ทบทวน อยู่เสมอๆ ว่า เราเองสามารถติเตียนตัวเอง โดยศีล ได้หรือไม่ หรือผู้รู้ใคร่ครวญดีแล้ว สามารถติเตียนเรา โดยศีลได้หรือไม่ ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม ต้องพยายามคิดอยู่บ่อยๆ เพราะการ จะรู้ตัวว่า เราไม่ดี ไม่ใช่ของง่าย เราต้องยอมรับว่า ในการเกิดมา ด้วยอวิชชา และอยู่ด้วยอวิชชา ชีวิตของเราก็อยู่กับความไม่รู้ มากกว่า ความรู้ เราอยู่กับ ตัวกิเลส ไม่รู้กี่ชาติ การที่จะรู้ว่าเป็นตัวกิเลส จึงไม่สามารถ จะรู้ได้ง่ายๆเมื่อไหร่ ที่รู้ ได้ชื่อว่าพ้นมิจฉาทิฐิ ซึ่งจะเป็นบันได ที่จะนำไปสู่ การลดละ จางคลาย จากกิเลส หากเราให้ความสำคัญ เรื่องของมรรคผล มากกว่าเหตุผล หรือ ให้ความสำคัญ ในการ อ่านจิตที่ปล่อยได้ วางได้ มากกว่าเหตุผลมากมาย มาต่อสู้เพื่อให้รู้ว่าฉัน ไม่ใช่ผู้ผิด

แต่เราจะกลายเป็นนักรบที่โชกเลือด เพราะรีบปฏิเสธ รีบโบกไม้โบกมือ รีบแก้ตัว อย่างพัลวัน รีบหาเหตุผลมากมายมาชี้แจง ดีไม่ดี ชี้แจงจนคนติติง จนหมดกำลังใจ เพราะว่าต้องฟังเรามากมาย หรือยิ่งร้ายไปกว่านั้น ก็คือว่า คิดหาทาง เอาเรื่องเอาราวเขาต่อ นั่นก็คือ เป็นการประกาศตัว เป็นบุคคลที่ แตะต้องไม่ได้ เป็นประธานองค์การพิทักษ์กิเลสของข้า ใครอย่าแตะ สุดท้าย เราเองอาจจะต้องตาย ไปกับกิเลส ในที่สุด

นักปฏิบัติธรรมก็คงจะทำสัมมาทิฐิให้เห็นว่า รู้อะไรไม่สู้รู้อวิชชา ล้างกิเลสตัณหาในตนให้ม้วยมอดเป็นยอดดี ดังนั้นการที่มีคนมาติติง บอกกล่าวเรา จึงเป็นเพชรเม็ดงาม ที่จะนำพาชีวิตเราไปสู่การบรรลุธรรม แม้พ่อท่านเอง ก็ได้เขียนเพลงอาริยะ บทหนึ่งไว้ว่า ข้าพเจ้า ได้ดิบได้ดี หรือได้ความวิเศษ ขึ้นมานั้น ไม่ใช่อยู่ที่การเป็น ผู้ชี้ถูกชี้ผิด แต่อยู่ที่การสามารถน้อมรับ เอาคำตำหนิติติง ทั้งจากผู้หวังดี และ จากผู้หวังร้าย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ อยู่เสมอๆ ให้ได้นั่นต่างหาก ตรงนี้ก็คงจะเป็นเครื่องชี้ ได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าใครอยากบรรลุธรรม ก็ต้องสามารถ รับเอาเพชรเม็ดงาม จากทั้งผู้หวังดี และหวังร้ายก็ตาม มาเป็นเครื่องที่จะนำแสงสว่าง มาให้กับชีวิตใหม่ๆ ที่พร้อม จะเปลี่ยน แปลง แก้ไขได้อยู่เสมอๆ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน งาน "ส้มไร้สารพิษชุบชีวิตเกษตรกร"
เป็นครั้งแรกในเอเซียที่หนองบวกหาด

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงาน "ส้มไร้สารพิษชุบชีวิตเกษตรกร" นับว่าเป็นครั้งแรก ในเมืองไทย และในเอเชีย โดยเกษตรกรชาวสวนส้มได้รวมตัวกันในรูปสหกรณ์ส้มอินทรีย์วิถีไทเชียงใหม่ จำกัด ร่วมกันผลิต ส้มเขียวหวาน สายพันธุ์ "น้ำผึ้ง" โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารพิษเคมี จำนวนนับพันไร่ และจะมีผลผลิตออกมามากกว่า ๒ ล้านกิโลกรัม นับเป็นส้มไร้สารพิษ ๑๐๐ %

เกษตรกรชาวสวนส้ม จ.เชียงใหม่กว่า ๑๐๐ คน ได้ผลิตส้มเขียวหวานในนาม "น้ำผึ้งฟ้า" โดยกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร และ สหกรณ์ คุณสุนัย เศรษฐบุญสร้าง ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงานในครั้งนี้ ภายในงานได้มีการแสดงผลิตผล คือ ส้มไร้สารพิษ จากสวนต่างๆ และ มีการจัดจำหน่าย ส้มไร้สารพิษ ประกวดส้มไร้สารพิษและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มไร้สารพิษ เช่น เค้กส้ม น้ำส้มคั้น แยมส้ม ฯลฯ ทั้งนี้ได้มีการแจกรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศอันดับ ๑,๒,๓ และรางวัลชมเชย โดยคุณสุนัยได้ให้ความเห็นว่า ดีใจที่เห็นเกษตรกร ทำส้มไร้สารพิษ ซึ่งปกติใช้ สารเคมีเยอะ เกษตรกรสามารถปลูกส้ม โดยไม่ใช้สารเคมี นับเป็นความสำเร็จ ที่น่าสนับสนุน

คุณหนึ่งแก่น "ดีใจที่เห็นชาวสวนทำส้มไร้สารพิษได้ ในครั้งนี้ถือว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่ก่อนเป็นแค่นามธรรม และจากนี้ต่อไป ชาวสวนจะได้ ลดการใช้ สารเคมี และเป็นการช่วยเกษตรกร ให้มีราคาส้มที่ดีขึ้น ประชาชนก็จะได้บริโภค ส้มที่ไม่มีสารพิษด้วย"

อาจารย์พิทักษ์ ประธานสหกรณ์ส้มอินทรีย์วิถีไทเชียงใหม่ จำกัด "ตั้งใจจะทำส้มไร้สารพิษให้คนกิน รู้สึกดีใจแทนเกษตรกร ที่ส้มไร้สารพิษ ได้รับความสนใจ จากผู้บริโภค เป็นอย่างมาก"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ภาวะสุขภาพของท่าน อ.หนึ่ง

คราวนี้อยากจะเล่าเรื่องภาวะสุขภาพของท่านอาจารย์หนึ่งให้ฟังบ้าง ว่าสุขภาพของท่านเป็นอย่างไร เนื่องจากมีโอกาสได้รับรู้ และคิดว่า ญาติธรรมหลายท่าน ก็ต้องการทราบ ระลึกถึงและห่วงใยท่านอยู่ไม่น้อย

เนื่องจากการที่ท่านมีอาการเป็นแผลที่ปากบ่อย ลิ้นเป็นฝ้า และอ่อนเพลียแบบเรื้อรังมานาน และก็มีหมอแผนโบราณท่านหนึ่งติงเตือนว่า อาการ เช่นนี้ ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาให้ถูกวิธีระวังจะเป็นมะเร็ง ญาติธรรมทั้งหลายก็มีความวิตกกังวลในอาการของท่านจึงได้ปรึกษากันว่าควรทำ อย่างไรดี เพื่อความสบายใจ และเพื่อค้นหาสาเหตุ อันทำให้เกิดความเจ็บป่วยจึงจำเป็นต้องเจาะเลือดไปตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจจะทำให้เป็นโรคร้ายแรง ดังกล่าว ปรากฏผล ออกมาว่า ผลเลือดนั้น ไม่ได้แสดงความผิดปกติว่าเป็นมะเร็งที่อวัยวะใด แต่มีความผิดปกติ เกี่ยวกับเรื่องภูมิต้านทานซึ่งลดต่ำลง น้ำตาล ในเลือด ต่ำกว่าปกติ และผลการทำงานของตับมากกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งพวกเราก็ยังเป็นห่วงท่านอยู่ว่า จะทำอย่างไรดี จึงนิมนต์ขอให้ ไปพบแพทย์ และตรวจร่างกายเพิ่มเติม แต่ท่านขอปรับวิถีชีวิตใหม่ดูก่อน เมื่อได้ปรับวิถีชีวิตใหม่(๗ อ.) ดีขึ้นกว่าเดิม แล้วจึงจะตรวจเลือด ซ้ำอีก ในคราวต่อไป

จากอาการดังกล่าวทำให้ตัวข้าพเจ้าสนใจเรื่องการทำงานของตับเป็นพิเศษ จึงต้องกลับไปฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับโรค และการทำงาน ของตับใหม่ และได้ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับการล้างพิษตับของนพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ท่านเน้นว่าถ้าตับของเราอ่อนแอแล้วจะทำให้เรา มีอาการของโรค หลายโรค เช่นโรคอ้วน มึนงง หลงลืม ความต้านทานลดลง ลิ้นเป็นฝ้า น้ำตาลในเลือดต่ำ ภูมิต้านทาน ลดลง อ่อนเพลียเรื้องรัง และเป็นบ่อเกิด แห่งโรคอื่น ๆอีกหลายโรค

เพราะตับมีหน้าที่สำคัญในการเผาผลาญอาหาร ย่อยอาหาร ขับสารพิษออกจากร่างกาย เป็นแหล่งสร้างพลังงาน และมีหน้าที่ ใน รายละเอียด ปลีกย่อย อีกมากมายนัก อีกทั้งตับยังเป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ถ้ามีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย เกิดขึ้น เราจะไม่สามารถ รับรู้ได้เลย เนื่องจาก ส่วนที่เหลือ ยังทำงานได้ ต่อเมื่อเป็นมากจนส่วนที่เหลือ ทำงานทดแทน ไม่ไหวแล้วนั้นแหละ จึงจะแสดงอาการออกมา

เราจึงควรระวังรักษาตับของเราให้ดีให้เหมือนๆ กับที่เราต้องระวังรักษาใจของเราด้วย เพราะใจกับตับมีเรื่องที่สัมพันธ์กันอยู่ วันหลัง จะเล่า สู่ฟังนะคะ และหวังว่า หลายท่านที่รักสุขภาพ จะลองตรวจตราวิถีชีวิตของตนดูนะคะ ถ้ายังไม่เข้าหลัก ๗ อ. ก็ลองปรับดู อีกทีนะคะ ผู้เขียนเอง ก็กำลังปรับ ของตัวเอง อยู่เช่นกันค่ะ.

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]



อบรมหลักสูตร "สร้างชีวิตใหม่"

ศูนย์ชเลขวัญ จ.พังงา ได้จัดการอบรมหลักสูตร "สร้างชีวิตใหม่" ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓-๒๗ พ.ย.๔๘ โดยจุดเน้นของหลักสูตรนั้น เนื่องจาก ชเลขวัญ set model ไว้ว่า เป็นสถานที่สำหรับฟื้นฟูสุขภาพ เป็นจุดพักให้สมณะและญาติธรรมที่ช่วยพระโพธิสัตว์ทำงาน รื้อขนสัตว์ มานาน ได้แวะเวียน มาพัก และสอนธรรมะให้กับ ญาติธรรม ในพื้นที่ และชาวบ้านที่ใฝ่ธรรมทั่วไป เพราะมีต้นทุนทางสุขภาพ ในเรื่อง ของภูมิทัศน์ เมื่อญาติธรรมได้บอกว่า อากาศสบาย เพราะได้รับ โอโซน จากทะเลโดยตรง และสามารถเดินเล่นออกกำลังกาย ไปว่ายน้ำ ที่ทะเล (ห่างจากชเลขวัญประมาณ ๒ ก.ม.) หรือเข้าคอร์ส ฝังทราย รักษาสุขภาพ ตามอัธยาศัย จึงได้มีการกำหนดเนื้อหาของหลักสูตร ออกเป็น ๔ ประเด็น ดังนี้

- เรื่องธรรมะ ซึ่งมีธรรมะรับอรุณ เทศน์ก่อนฉัน และธรรมะก่อนนอน

- เรื่องสุขภาพ ให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพและให้บริการรักษาฟรีทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย (อบ/ประคบ/นวดสมุนไพร แช่เท้า ดื่ม รักษาโรค) แพทย์ทางเลือก (ฝังทราย/นาบหม้อเกลือ)

- เรื่องอาชีพเสริม เพื่อเป็นสีสันของงานจึงสอนอาชีพทำขนมทองม้วน/เผาข้าวหลาม/ข้าวโพดป๊อบคอร์น

- เรื่อง ๓ อาชีพกู้ชาติ ให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และสาธิตการทำปุ๋ย


- การอบรมนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีผู้มาลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น ๓๘๓ คน แยกเป็นนักบวช ๑๖ รูป ซึ่งเข้ารับบริการรักษา สุขภาพ-ญาติธรรม ๖๘ คน (ชุมพร/พังงา/สุราษฎร์ฯ/ตรัง/พัทลุง/สงขลา/ยะลา/ปัตตานี/ภูเก็ต /นครสวรรค์ /กรุงเทพฯ /ขอนแก่น /นครศรีธรรมราช) -ประชาชน ทั่วไป ๒๑๑ คน ส่วนใหญ่ เป็นชาวท้ายเหมือง -นักเรียน ๘๘ คน เป็น โรงเรียนใกล้ชเลขวัญ (รร.บ้านพอแดง และ รร.วัดเหมืองประชาราม) คุณครูได้พาชม นิทรรศการ

สำหรับบรรยากาศโดยรวมทั่วไปคึกคักเกินคาด ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของชเลขวัญ จริงๆเป็นการทดลอง หลักสูตรว่า ถ้าจะจัดให้มีธรรมะ และสุขภาพเป็นจุดเด่น (High light) ของงาน ผลจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่า ผู้คนในตลาดท้ายเหมือง (ห่างจากชเลขวัญ ๓ ก.ม.) เลื่อนไหลเข้ามา ตลอดเวลา จนเราต้องปรับหลักสูตรว่า ต้องมีเทศน์ก่อนฉัน เพื่อคนในตลาด จะได้ฟังธรรม ส่วนทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น จะเป็นพวกเรา เสียส่วนใหญ่ และคนที่ตั้งใจพักค้าง บรรยากาศสบายๆ เพราะเราเน้นว่า อบรมสุขภาพ ควรเป็นการผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดอะไร แล้วชาวบ้าน ก็เป็นคนใช้บริการ จะให้เงินให้ทองเรา เราบอกรับไม่ได้ เราอบรมฟรี ถ้าจะช่วย จริงๆ เอาผลไม้ก็ได้มาเลี้ยงคน เขาบอกว่า เคยให้แต่เงินซื้อไม่เป็น แต่วันรุ่งขึ้น มีรถขนส้มโอมาให้ บางคนบอกว่า "หมี่เหลือง ฮกเกี้ยน ที่จะผัด พรุ่งนี้เอาชื่อพี่ไปแปะไว้ที่ร้านค้าได้เลย เขาจะมาเก็บเงินที่พี่เอง" แต่เราก็ขอบคุณเขา จ่ายเงินเอง และบอกหลักการไปว่า ต้องมาคบคุ้น ๗ ครั้ง หรืออ่านหนังสือ ๗ เล่ม

มีญาติธรรมมาจากกรุงเทพฯ ลงจากรถทัวร์ที่ตลาดท้ายเหมือง ใส่เสื้อม่อฮ่อม ชาวบ้านเดินเข้ามาถามว่า จะไปชเลขวัญใช่มั้ย? มีรถมั้ย? พี่จะเข้าไปด้วย มีผู้ใช้บริการเป็นอัมพฤกษ์ ทีมสุขภาพเราช่วยดูแลเป็นอย่างดี เขานั่งน้ำตาไหลพรากๆ ทีมแม่ครัวบอกว่าสนุกมาก หัวเราะกัน สนุกสนาน ก็ถือเป็นโอกาสได้พบปะพี่น้องเครือแห ข่ายแหของเรา เพราะญาติธรรมมาด้วยจุดประสงค์ต่างกัน บ้างตั้งใจ มาช่วยงาน บ้างก็มาเยี่ยมชม ให้กำลังใจ เพราะ ไม่เคยมาชเลขวัญ บ้างก็ตั้งใจมารักษาสุขภาพโดยตรง ก็ขออนุโมทนาบุญ สำหรับ น้ำใจ ของญาติธรรม จากท่าน ที่ช่วยเหลือ ให้งานสำเร็จ ไปได้ด้วยดี ทั้งขนผักผลไม้มาช่วย ทั้งช่วยเตรียมงาน และเป็นตัวหลักสำคัญๆในงาน เพราะ ชเลขวัญ เป็นน้องใหม่ ที่ยังไม่ครบ ขวบปี ก่อนวันงาน ๓ วันก็เพิ่งเทปูนศาลาใหญ่และห้องน้ำชายเพิ่งทำเสร็จใช้ได้เมื่อ เริ่มงาน ไปแล้ว ส่วนบรรยากาศการบิณฑบาตก็ดีมาก บิณฑบาต ในตลาดท้ายเหมือง ท่านโพธิสิทธิ์จดสถิติไว้ว่า มีคนใส่บาตร ๕๗ ราย เรามีสมณะ บิณฑบาต ๑๖ รูป สิกขมาตุผุสดี ๑ รูป เพื่อให้ดูรูปแบบของ นักบวชหญิง และชี้ให้เห็นว่า แม้จะอายุมาก ๘๐ กว่าปีแล้ว แต่ท่าน ก็แจ่มใส คนก็ศรัทธาเข้ามาพูดคุยกับท่าน และอยากให้ ท่านเทศน์ด้วย

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี กับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๖๙(๒๙๑) ปักษ์หลัง ๑๖-๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ ฉบับส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ เดี๋ยววันเดี๋ยวคืน พอเข้าฉบับนี้แล้วก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึง งานตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๙ ที่จะถึงนี้ คงสร้างสีสัน ของงานบุญอาริยะ กันอีกวาระ หลายต่อหลายชุมชนต่างก็ทยอยไปช่วยเตรียมงานกันคึกคัก น่าอนุโมทนาบุญด้วยจริงๆ ส่วนพอถึง งานจริง ทีมข่าวคงได้นำเสนอ ให้ได้ติดตามอ่านกัน ในฉบับหน้า

ส่วนความเคลื่อนไหวของชาวเราในรอบปักษ์นี้ มีดังนี้

เตรียมงานตลาดอาริยะ...ชาวเราจะได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาครั้งใหญ่ในงานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๙ ที่หมู่บ้านชุมชนราชธานี อโศก โดยเฉพาะ เรื่องการค้าขาย ช่วยชาวบ้านชาวเมือง แม้ชาวเราจะจน แต่จนแบบบุญนิยม จึงรู้จักพอ สามารถนำส่วนเหลือ มาแจกจ่าย โดยการซื้อสินค้า ที่ชาวบ้านจำเป็นใช้ แล้วนำมาขาย ขาดทุน เป็นการทำบุญทำทาน ฉลองปีใหม่ ได้กำไรอาริยะ นอกจาก การฟังเทศน์ ใส่บาตร ยามเช้า ซึ่งก็ถือว่าเป็นประเพณี ที่ขาดไม่ได้อยู่แล้ว...

ปีนี้การเตรียมการมีทั้งนักบวชและฆราวาส โดยเฉพาะสมณะนวกะปีนี้โชคดีมีรุ่นพี่อย่างสมณะกล้าตาย ปพโล สมณะดินไท ธานิโย สมณะ ตรงมั่น อุชุจาโร ช่วยดูแลน้องๆ ตอนเช้าก็พาสมณะนวกะไปเรียนพระธรรมวินัย กับ อุปัชฌาย์อาจารย์เดินดิน ทุกๆเช้า วันละนิด จิตแจ่มใส จนมีเสียง ร่ำร้อง ขอเพิ่มเวลาเรียน แม้เวลาทำงาน ก็ช่วยจนญาติโยมชื่นใจ ขนาดคนข้างนอก ซึ่งเคยผ่านงานใหญ่ มาเห็น สมณะทำงานยังทึ่ง อย่างทีมสมณะ ๖ รูป มีท่านกล้าตาย ท่านดินไท ท่านตรงมั่น ท่าน หินมั่น ท่านแด่ธรรม และสมณะนวกะ น้องเล็กสุด คือ สมณะด่วนดี ถือว่าเป็นดรีมทีม ช่วยกาง ตาข่ายกรองแสง (ซาแลน) อย่างจิ๋วแต่แจ๋ว... ท่านแด่ธรรม เคยทำงาน ที่ไทยออยล์ เคยขับ รถยกได้ ท่านกรเกล้า จึงได้ลูกมือมาช่วยจัดหิน แบบฉลุย... ส่วนท่านฟ้ารู้ กับท่านสยาม จิ้งหรีดได้ข่าวว่าเป็น ๒ พลังซุปเปอร์ ช่วย สร้างส้วม จนเป็นที่ประทับใจ ของครูบาอาจารย์ จิ้งหรีดก็ถือว่า ท่านทั้ง ๒ แจ้งเกิด ในงานนี้นะฮะ และคงช่วงแบ่งเบา งานสมณะพอแล้ว ได้เป็นอย่างดี เพราะยี่ห้อ สมณะพอแล้ว สมาหิโต ชาวเราก็คงเป็นหนี้บุญคุณท่าน กันแทบทุกคน เพราะสามารถปลดเปลื้องทุกข์ ทั้งเบา และหนักได้ ก็เพราะท่านนี่แหละ ที่ช่วยสร้างห้องน้ำห้องส้วม แบบบุญนิยม ให้ชาวเราได้ใช้กัน มาหลายปี...

นักเรียน ม.๓ สัมมาสิกขามาฝึกเรียนแบบบูรณาการ ก็เป็นแรงงานที่ช่วยเรื่องการกางตาข่ายกรองแสงได้...ก็ไม่ใช่เฉพาะมีแต่เด็กเรานะฮะ เด็กนักเรียนข้างนอก ก็ขอมาฝึกช่วยงาน เรียกว่า ทางครูของเขา ต้องคัดกันมาช่วยงานทั้ง ม.๒ และ ม.๓ ก็ช่วยเรื่อง ๕ ส. เรื่องกสิกรรม ไร้สารพิษ เป็นการเรียน แบบบูรณาการ ที่น่าประทับใจ เด็กๆก็ใช้แรงงาน ที่มีอย่างมีสาระ มีประโยชน์ ไม่เอาแต่วิ่งเล่น ติดเกม ฟังเพลง มอมเมาไปวันๆ อย่างไร้คุณค่า...

ที่น่าเห็นใจก็คือ ทุนดำเนินการ เนื่อง จากมีงานหลายอย่าง จึงต้องแบ่งๆกันไป ช่วงนี้แค่ได้เงินหมื่นมา ก็สามารถทำห้องน้ำหรืออื่นๆ ได้หลายอย่าง จิ้งหรีดก็รู้สึกประทับใจญาติธรรมที่ช่วงชิงบุญโดยการสละทรัพย์ให้ทางส่วนกลางได้ใช้ประโยชน์ แสดงว่ามีตาแหลมคม ความจริงทุกปีก็จะมีบ่อบุญบ่อกุศล แต่จิ้งหรีดก็เพิ่งจะรู้ในปีนี้ ขนาดว่าอยู่กับอโศกมาตั้งหลายสิบปี นี่จิ้งหรีดก็บอกบุญมา ไม่ได้เรี่ยไร นะฮะ ซึ่งยังไงๆ ก็ขออนุโมทนาทุกผู้ทุกคน แม้ไม่ได้สละทรัพย์ ก็สละแรงงานมาช่วยอันนี้ถือว่าสำคัญมาก... ช่วงเตรียมงาน ก็มีการ ขนเรือใหญ่ ปรากฏว่าคราวนี้พลาดท่าเกิดอุบัติเหตุ ถึงขนาดรถติดตั้ง ๔-๕ ชั่วโมง คุณแผ่นฟ้า (หัวโต) โชเฟอร์ เลยดัง ใน นสพ.ไทยรัฐ นี่ก็รอด จากการ ติดคุกหัวโต ไม่หัวโตดั่งชื่อ จิ้งหรีดก็โล่งใจแทน นี่คงเป็นอานิสงส์แห่งศีลที่รักษามาในอดีตและปัจจุบัน ยังไงๆ ก็อย่า ท้อใจนะฮะ คนเราทำดี ก็มีโอกาสบกพร่องผิดพลาดได้ เราก็เอาผิดเป็นครู เพราะการล้มไปข้างหน้า ก็ยังดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่ ก็ต้องขอขอบคุณ คุณตำรวจ ที่เข้าใจภารกิจของประชาชนนะฮะ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับผิดชอบงานนี้ ก็ควรได้ทบทวนพิจารณา หาทางแก้ไข ในโอกาสต่อๆไป ด้วยนะฮะ...

เกรงไม่คุ้ม นี่ก็เป็นเรื่องที่สมณะนวกะที่เดินทางไปช่วยงานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๙ รู้สึกนึกคิดจึงได้คุยกัน เพราะท่านดินไท พาน้องๆ นวกะ ขึ้นรถทัวร์ ตกท่านละ ๘๐๐ กว่าบาท(โยมออกให้) รวม ๗ ท่าน ก็วิตกว่า เราจะช่วยงานส่วนกลาง ได้คุ้มกับค่าเดินทางไหมหนอ ท่านสยาม ช่วยทำส้วมที่งานแบบเคลื่อนย้ายได้ ก็ปรารภขึ้น ซึ่งเรื่องนี้หลายท่านก็คิด เหมือนกัน แต่มีญาติโยมเห็นเหล่าสมณะ ที่มาช่วยงานแล้ว ถึงเสียค่าเดินทางให้ท่านละเป็นพันก็บอกว่าคุ้มจริงๆฮะ เพราะถ้าจ้างแรงงานภายนอก ๘ วัน ก็เกิน ๙๐๐ บาทแล้ว แต่นี่ทำงาน ไม่ต่ำกว่า ๑๐ วันๆละไม่ต่ำกว่า ๘ ชั่วโมง แถมยังช่วยทำคอร์สพัฒนาจิตวิญญาณให้นักเรียน ที่มาช่วย เตรียมงาน อีกด้วย อย่างนี้เรียกได้ว่า คุ้มแสนคุ้มแล้วฮะ ไม่เชื่อก็ลองไปถามฝ่ายเหรัญญิกดู ก็ได้ฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

แวดวงสัมมาสิกขา... จิ้งหรีดรู้สึกเห็นใจคณะอาๆนะฮะ การดูแลเด็กนี่มิใช่ของง่าย ถ้าเราเป็นครูที่มีการงานมาก ไม่ค่อยมีเวลาให้เด็ก ยิ่งอารมณ์ ไม่มั่นคงขึ้นลงง่าย ก็ยุ่งยากทั้งคุรุและเด็ก ส่วนเด็กก็น่าเห็นใจ ถ้าไม่เข้มแข้ง หากปล่อยให้อยู่กับเพื่อนที่จิตใจอ่อนแอ หลงโลกีย์มาก ก็จะไหล ไปด้วยกันได้ง่าย การแอบทำความผิดก็จะเกิดขึ้นเป็นนิสัย อยู่วัดแทนที่จะได้ดี ก็กลายเป็นเสียไปได้เหมือนกัน สุดท้าย ก็ถูกไล่ออก เพราะถลำ ทำผิดกฎ-ระเบียบ ของโรงเรียนอย่างหนัก โดยแอบทำผิดตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆมาก่อนแทบทั้งนั้น พอ สุกงอมของอกุศลก็กล้าทำผิดหนักๆได้ ออย (สส.สอ.ม.๖) ก็เป็นรุ่นพี่ อยู่ปีสุดท้าย ก็ปรับทุกข์กับผู้ใหญ่ไว้หลายคน บอกว่า "หนูกลัว เรียนไม่จบ เพราะโอกาสทำผิดมันมีมาก ยิ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อม ในเมืองหลวง ก็ยิ่งอันตรายสำหรับเด็กที่ผู้ใหญ่ดูแลไม่ทั่วถึง" ยังไงๆ จิ้งหรีด ก็ขอฝากให้ช่วยกันดูด้วยนะฮะ เพราะเด็กที่รู้ตัวแล้วเปิดเผยก็ดีกว่าปิดบัง แล้วแอบ ทำความผิด ไม่บอก ผู้ใหญ่ให้หาทาง ช่วยเหลือ นี่รู้ตัว แล้วบอกให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือ ก็ถือว่าเป็นเด็กรักดีที่หายากเหมือนกัน... อ้อม (นร.สส.ฐ.ม.๓) ก็เป็นอีกคน ที่รักดี ปิดเทอมแล้ว ก็ขออยู่ ช่วยงาน ในวัด ยังไงๆ ผู้ใหญ่ก็ช่วยดูแล ต่อยอดให้ด้วยนะฮะ อย่าเอาแต่ใช้งาน จนลืมด้าน จิตวิญญาณ แบบบางที่... วุฒิ (นร. ม.ปลาย สส.ศ.) ช่วงนี้ ก็เป็นรุ่นพี่ ช่วยดูแลน้อง ก็เกือบออกจากโรงเรียนเหมือนกัน แต่บุญยังมี ก็ด้วยความดี ที่ทำไว้ ซึ่งอาๆ ก็เห็นอยู่ จิ้งหรีด ก็ขอให้กำลังใจ เอาชนะจิตใจ ล้างมานะอัตตา ตามที่เคยปรารภกับรุ่นพี่ศิษย์เก่าไว้ จนสามารถ เรียนจบ ม.๖ ได้ คุณพ่อคุณแม่ คงขึ้นสวรรค์ แน่ฮะ... คุรุโก้ จาก สส.ษ. ก็ขอลาพักยก เพื่อฝึกวรยุทธ์ให้เข้มแข็ง จะได้มีกำลังช่วยเด็กได้ยืนยาวต่อไป แต่ถ้าใครเก่งกว่า ไม่ต้องพักยก แบบคุรุโก้ จิ้งหรีด ก็ขออนุโมทนาด้วยฮะ ยังไงๆ คนเราต้องรู้จักประมาณตน ขืนช้างขี้แล้วไปขี้ตามช้าง คิดดูแล้วกัน จะเกิดอะไรขึ้น นะฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

ส้มไร้สารพิษ...หลังจากมีงานมหกรรมขายส้มไร้สารพิษ ซึ่งผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ ไปเป็นประธานกล่าวเปิดงานที่สวนหนองบวกหาด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผ่านไป จิ้งหรีดก็ได้ข้อคิดฮะว่า การช่วยเกษตรกรเจ้าของสวนส้ม ถ้าเขามีตลาดอยู่แล้ว เราไม่ควรไปพูดให้ความหวัง จะขอเหมา เอามาขายเอง ในขณะที่ศักยภาพของเรายังไม่ถึง และขายที่ไหนก็จะต้องไปติดต่อกับผู้รับผิดชอบของแต่ละแห่งให้ชัดเจน มิใช่อยู่ดีๆ ยังไม่ทันจะรับปาก หรือพูดคุยในรายละเอียดที่ควรคุยกัน ก็เอาสินค้าไปลงเลย งานที่ว่าเป็นงานใหญ่ส้มหล่น ก็อาจจะกลายเป็น ส้มเน่าไปก็ได้ นี่ทางประธาน คกร.เชียงใหม่ ก็บุกไปดูสวนส้มไร้สารพิษด้วยตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือเปล่า ก็เห็นจริงหลายสวน ชาวเรา ก็คงมีส้มไร้สารพิษกินกัน รวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย ลูกค้าบางคนรู้ว่า ร้านกู้ดินฟ้า ๔ มีส้มไร้สารพิษ ขาย ก็ขอซื้อเกือบ ๕๐ กก. เอาขึ้น เครื่องบิน กลับไปกิน ที่บ้านกันเลย ใครอยาก รู้รายละเอียดเรื่องนี้ก็สอบถามคุณใบหญ้าที่เชียงใหม่ได้นะฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

ใกล้ความจริง...ข่าวดีฮะ ข่าวดีฮะ หลังจากร้านพลังบุญของเราได้รณรงค์ให้ความรู้แก่ลูกค้าเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะตลอดเวลา ที่ผ่านมา จิ้งหรีดได้ยินทั้งข้อมูลในเชิงวิชาการที่เปิดให้ฟัง ทั้งในแง่ปฏิบัติก็ยังมีถุงผ้าบริการในราคาต่ำกว่าทุน หลังสุดนี้ ก็ติดประกาศ ให้ลูกค้าได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่า อีกไม่นานหากตึกพลังบุญหลังใหม่เสร็จ ก็จะงดใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้ลูกค้าอย่าง ๑๐๐ % แล้ว ให้ลูกค้า เตรียมมาเอง หากลืมหรือไม่สะดวกทางร้านก็ยังมีถุงผ้าและถุงกระดาษในราคาต่ำกว่าทุนบริการ

นี่ก็อีกหนึ่งของความมุ่งมั่นของชาวเราที่ตั้งใจให้สิ่งดีไร้มลพิษและคืนความสดใสให้โลกของเรา จิ้งหรีดก็ขอชื่นชมชาวพลังบุญ ที่เสียสละ สร้างสรรค์ ในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และให้เวลาได้ปรับตัวปรับใจเพราะเข้าใจวิถีชีวิตชาวกรุง โอ้หนอ! สังคมนี้ช่างอบอุ่นเอื้ออาทร สาธุ...จี๊ดๆๆๆ .....

คติธรรม-คำสอนจากพ่อท่าน

สมรรถนะกับการเสียสละต่างหาก
คือคุณค่าของคน เงินเป็นสิ่งแทน
ใครเอามามาก คุณค่าของผู้เอายิ่งลด
ใครยิ่งหลงเอาแต่เงิน ค่าของตัวเองยิ่งลด
(จากหนังสือโศลกธรรมพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ หน้า ๑๐๗)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี

สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้รับนิมนต์จากมูลนิธิป๋วยเสวนาคาร ให้ไปบรรยายร่วมกับ คุณเดชา ศิริภัทร เรื่อง "สงครามเมล็ดพันธุ์" ได้บันทึกภาพ และเสียงเป็นวีซีดีไว้ คงจะดูได้เฉพาะวงใน เพราะคุณเดชาได้พูดเจาะลึกถึงวิธีเอาเปรียบของพ่อค้า ที่มีต่อเกษตรกร ที่มีมาช้านานแล้ว และ จะมีต่อไป อีกเรื่อยๆ จนกว่าเลือดของเกษตรกรจะเหือดแห้ง รวมทั้งได้พูดเจาะลึกถึงปัญหาสังคม ปัญหา บ้านเมือง ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และกำลังจะเกิด ในอนาคต เป็นเรื่องที่ ไม่มีใครกล้าพูด ไม่มีใครกล้าเปิดเผย และหาฟังได้ยาก

ชื่อเสียงของคุณเดชาก็เป็นที่รู้ๆอยู่แล้วว่า เป็นคนกล้าพูด กล้าทำ และรู้เรื่องปัญหาของเกษตรกรอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังลงมือปฏิบัติ ทดลอง มาด้วยตัวเอง อีกด้วย มีผลงานทางด้านหนังสือหลายเล่ม

คุณเดชา ได้บอกว่า เกษตรกรยังจะยากจนเป็นหนี้เป็นสินอยู่อีกนาน เพราะถูกเอาเปรียบจากพ่อค้า ถูกหลอกให้ซื้อทุกอย่าง มีแต่ซื้อ กับจ้าง ผลผลิตก็ตกต่ำ เพราะส่งนอกไม่ได้ สารพิษปนเปื้อนเยอะ ในที่สุดก็ต้องขายที่ทำกิน ที่ดินก็กลายเป็นที่ตั้งโรงงาน ตัวเกษตรกรเอง ก็กลายเป็น ลูกจ้างโรงงาน หรือไปขายแรงงานที่ต่างชาติ ถูกเอาเปรียบอีกต่อหนึ่งดังที่เป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ เห็นมีแต่กลุ่มของชาวอโศก เท่านั้น ที่พาเกษตรกร ให้อยู่รอด และชาวอโศกก็มาเป็นเกษตรกรด้วย

สมณะเสียงศีล ได้เล่าถึงการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ที่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ โดยได้ตั้งคลังแก่นเชื้อ เป็นที่เก็บและขยายพันธุ์อยู่ที่ ปฐมอโศก และมีชาวบ้าน ที่เป็นเกษตรกร เคยผ่านการอบรมจากชาวอโศกและญาติธรรมเก็บรวบรวม มาให้และช่วยขยายพันธุ์ต่อ เราจะต้องรักษา เมล็ดพันธุ์ ที่ขยายพันธุ์ต่อได้ ไว้ให้ลูกหลาน รุ่นต่อๆไป ไม่เช่นนั้นของดีๆ พันธุ์ไม้ดีๆ จะสูญพันธุ์ไปอย่างน่าเสียดาย และ จะไม่มีวันกลับคืนมาอีก เหมือนพันธุ์ ข้าวไทย ที่เคยได้รางวัลที่ ๑ ของโลก (พันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว) ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ข้าวโพดพันธุ์ดีๆ ก็กำลัง หมดไป

ใครมีเมล็ดพันธุ์อะไรดีๆ ส่งไปที่ท่านเสียงศีล ได้ที่ ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ตู้ ปณ. ๖๗ ปทจ.นครปฐม จะมีรางวัลเป็นวีซีดีมอบให้.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ผู้เฒ่าสวิสนักเก็บขยะ ฝันอยากเห็นหาดสวย

เมื่อกล่าวถึงทะเล คนส่วนใหญ่ชอบที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยจะพาครอบครัว เพื่อนฝูงมาท่องเที่ยว และสิ่งที่ ขาดไม่ได้คือ อาหาร สัมภาระต่างๆ ที่ต้องจัดเตรียมมาไว้เพื่อรับประทาน หรือหาซื้อมาทานกันอย่างมีความสุข แต่หลังจากความสุข ผ่านพ้นไป สิ่งที่เหลือไว้คือเศษขยะนั่นเอง ซึ่งหลายคนเมื่อทานแล้วมักไม่ค่อยนำไปทิ้งในถังขยะหรือสิ่งที่รองรับขยะ จึงทำให้ชายหาด อันสวยงาม สกปรกและหมดความสวยงาม ขยะหล่านั้นบางคนเห็นแล้ว เมินหน้าหนี แต่ที่ชายหาดเจ้าสำราญ มีคนคนหนึ่ง ที่ทำให้หลายคน ต้องมองด้วยความทึ่ง เพราะเขาเดินเก็บขยะ ที่ชายหาดแห่งนี้มาตลอด และที่น่าทึ่งคือ เขาเป็นชายชรา ชาวต่างประเทศ ที่เดินทางมาเยือน เมืองไทยทุกปี

มาร์คเซม เปโล อายุ ๘๒ ปี ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ปกติจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาพักร้อนเป็นประจำทุกปี โดยได้ซื้อบ้านเป็นส่วนตัว อยู่กับภรรยา ๒ คน ในบ้านเลขที่ ๑/๙ ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อเดินทางมาถึงสิ่งที่จะปฏิบัติเป็นประจำก็คือ การได้ทำ ความสะอาดตามชายทะเล โดยช่วงเช้าจะนำรถเข็นขยะพร้อมอุปกรณ์ เช่น กระบอง บุ้งกี๋ คราดเหล็กและไม้กวาดออกทำความสะอาด ตามชายทะเล และชายหาดเพื่อให้สะอาดและสวยงาม โดยทำการเก็บขยะที่อยู่ชายฝั่ง รวมถึงร้านอาหารที่อยู่ชายฝั่งทะเล หากพบขยะ เช่น ถุงพลาสติก เศษไม้ ทางมะพร้าว หรือขยะอื่นๆ ที่น้ำทะเลซัดขึ้นมาบนฝั่ง หรือเศษขยะที่นักท่องเที่ยวได้ทิ้งไว้เป็นที่ระลึก ก็จะเก็บ ใส่กระป๋อง ใส่รถที่เตรียมมาด้วย หากขยะที่ฝังอยู่ในทรายก็จะใช้คราดเหล็กคราดขยะขึ้นมาจากทรายแล้วเก็บไปทิ้ง โดยจะทำอย่างนี้ เป็นประจำทุกวัน ไม่มีวันหยุด

จากการสอบถามนายมาร์คเซม เปโล ว่ามีแนวคิดอย่างไรกับเมืองไทย และทำไมต้องเดินเก็บขยะทุกวัน เขาบอกว่าชอบเมืองไทย รักเมืองไทยมาก อยากให้เมืองไทยแลดูสะอาด และที่ชอบเก็บขยะทุกวันอย่างนี้ เพราะอยากเห็นชายทะเลที่เมืองไทยสะอาดสวยงาม เนื่อง จากหาดทรายเหล่านี้ล้วนสวยงามใน
ตัวเองอยู่แล้ว แต่มนุษย์มักง่ายทำให้มันสูญเสียความงามไป จึงได้ทำการเก็บขยะเป็นประจำทุกวันอย่างไม่มีความเหน็ดเหนื่อย และเต็มใจที่จะทำเพราะทำแล้วเห็นทะเลเห็นชายหาดสะอาดก็ ดีใจและภูมิใจมาก และจะทำการเก็บขยะตามชายหาดอย่างนี้เรื่อยไป

ทางด้าน นางฐิตินันท์ อรัญพันธ์ เจ้าของร้านอาหารที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่นายมาร์คเซม เปโล เก็บขยะทุกวัน ได้เล่าให้ฟังว่า มาอยู่ที่นี่ ๗ ปีแล้ว เห็นนายมาร์คเซมทำการเก็บขยะอย่างนี้เป็นประจำ ทุกครั้งที่เขามาจะต้องมาเก็บขยะทุกวัน ตื่นขึ้นมาประมาณ ๖ โมงเช้า จะเห็นนายมาร์คเซมออกมาเดินเก็บขยะตามชายหาด จะมีพักคงเป็นช่วงกลางวัน พอเวลาบ่ายๆ ก็ออกมาเก็บเหมือนเดิม อีก จนกระทั่งค่ำ จึงกลับเข้าบ้าน นายมาร์คเซมเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี เจอใครจะทักทาย แต่พูดภาษาไทยไม่ได้ ชาวบ้านแถวนี้ จะรู้จักเขาดี ในเรื่องที่เขา ชอบทำความสะอาดชายหาด และเมื่อ ๗ ปีก่อน ต้นสนที่อยู่ตามชายหาดทะเลหาดเจ้าสำราญนี้ต้นเล็กไม่ถึงคืบ แต่ปัจจุบัน สูงและใหญ่มากแล้ว เพราะนายมาร์คเซม เขาจะใช้น้ำใส่ขวดโพราลิสจากบ้าน และนำมารดโคนต้นสนทุกวัน จนโต

นางฐิตินันท์บอกอีกว่า เขาเป็นคนที่รักความสะอาดมาก หากเมื่อเขากลับมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาก็จะมาทำความสะอาด บริเวณชายหาด เพราะชายทะเลเวลาน้ำขึ้นก็จะซัดเอาเศษขยะที่บางครั้งชาวเรือนำอาหารไปกินกลางทะเล หรือมีท่อนไม้ใหญ่ๆ ก็จะทิ้ง กลางทะเล เมื่อน้ำทะเลขึ้นก็จะซัดขึ้นมาบนฝั่ง ทำให้มีขยะจำนวนมากขึ้นมากองอยู่บริเวณชายฝั่ง ทำให้ชายทะเล แลดูสกปรก เต็มไปด้วยขยะ ซึ่งไม่มีใครคิดที่จะเก็บหรือทำความสะอาด เห็นมีแต่นายมาร์คเซมนี่แหละ ที่เขาจะทำการเก็บขยะ เป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งบางครั้ง ก็คิดเหมือนกันว่า เราเป็นคนไทย เป็นคนในพื้นที่แท้ๆ ทำไมไม่คิดที่จะช่วยกันเก็บขยะหรือช่วยกันรักษาความสะอาด ส่วนเขาเป็นชาวต่างชาติ แต่เขายังมีใจรักเมืองไทย รักประเทศไทย อยากเห็นเมืองไทยสะอาด ซึ่งเราในฐานะที่เป็นคนไทย น่าจะมีใจ รักประเทศชาติ พร้อมทั้งควรร่วมมือเอาเป็นแบบอย่าง เมืองไทยของเราจะได้น่าอยู่ แลดูสวยงาม หากคนทั้งประเทศ ร่วมมือร่วมใจกัน รักษาความสะอาด เหมือนนายมาร์คเซม เปโล ชาวสวิตเซอร์แลนด์ วัย ๘๒ ปีคนนี้แล้ว คิดว่าประเทศไทยของเราคงจะน่าอยู่ พร้อมทั้ง มีการเปลี่ยนแปลง ในทางที่ดีขึ้นอีกมากมาย.

(จาก นสพ.ไทยโพสต์ เอ็กซ์-ไซท์ ฉบับวันที่ ๑๑-๑๒ พ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ คุณยายสอน มารยาท อายุ ๗๔ ปี
เกิด พ.ศ. ๒๔๗๔
ภูมิลำเนา จ. ศรีสะเกษ
การศึกษา ป. ๔
สถานภาพ สมรส มีบุตร ๘ คน
น้ำหนัก ๔๕ กิโลกรัม
ส่วนสูง ๑๕๒ เซนติเมตร

คุณยายได้ผ่านชีวิตหลายสภาพ ทั้งรวยแบบมีข้าว ๓ เล้า และเคยจนขนาด ไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ แต่กาลเวลาที่ผันผ่าน และ บทเรียน ชีวิต ที่ได้มีโอกาสพบ แสงธรรมส่องนำทาง ในที่สุดจึงชัดเจนว่าทรัพย์สินนอกกายทั้งหลาย เอาติดตัวไปไม่ได้ อย่ามัวติดยึด สมบัติ หอบหวง อยู่เลย ปัจจุบันคุณยาย เป็นผู้อายุยาว ที่มีไฟทำงานสร้างสร รและขยันฟังธรรม อยู่ที่หมู่บ้าน ชุมชนราชธานีอโศก

** ประวัติ
เป็นลูกชาวนาทำนาทำสวนช่วยพ่อแม่ทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ คุณยายทอผ้าเองทุกอย่าง สมัยก่อนผู้หญิงจะทอผ้าเป็น มีพี่น้อง ๓ คน คุณยาย เป็นคนสุดท้อง พี่ตาย ไป ๑ คน คุณยายแต่งงานเมื่ออายุ ๒๒ ปีพ่อบ้านอายุ ๒๔ ปี เป็นคนบ้านเดียวกัน แต่งงานแล้ว ก็ทำสวน ทำนา พ่อบ้าน เสียชีวิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐

** เจออโศก
ได้รู้จักอโศกเพราะหลวงพ่อสันตจิตโต ไปโปรดญาติโยมที่บ้านขมิ้น อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เมื่อสมณะไปปักกลด คุณยายและเพื่อนๆ เตรียม ดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำอัดลมไปถวาย ท่านก็ไม่รับ คุณยายรู้สึกศรัทธา ในสมัยนั้น แม้ได้ฟังเทศน์จากสมณะ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ตนเองได้ เพราะ พ่อบ้านบอกว่า อย่าไปเชื่อ จะไม่ได้กินอะไร เลี้ยงลูกไม่โต คุณยายยอมทำตามพ่อบ้าน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ พ่อบ้าน เสียชีวิต ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ตั้งใจ จะไปร่วมงานปลุกเสกฯ ที่วัดศีรษะอโศก แต่ไม่ได้ไป เพราะเสียดายกระเทียม ที่กำลังเก็บเกี่ยว จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๒ มีญาติที่ศรัทธาชาวอโศก ได้พา คุณยายไปร่วมงานปีใหม่ ที่ปฐมอโศก การไปร่วมงานปีใหม่ในครั้งนั้น คุณยาย เกิดความประทับใจมาก และมีศรัทธา ที่จะเปลี่ยนแปลง ตนเอง เดินทางกลับบ้าน โยนตะกร้าหมาก ที่พกติดตัวทิ้ง เลิกเคี้ยวหมาก เลิกกินเนื้อสัตว์ หลังจากนั้น จะไปร่วมงานปลุกเสกฯ พุทธาฯ ทุกครั้ง คุณยาย ได้ชวนลูกชายขี้เหล้า มาศึกษาธรรมะ ชาวอโศกด้วยกัน ลูกชายได้ปฏิบัติธรรม และได้มาร่วมบุกเบิก หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ปัจจุบัน เป็นนิสิตที่บ้านราชฯ ชื่อนิสิต กล้าธรรม มารยาท

** ชุมชนบุญนิยม
คุณยายเป็นญาติธรรมไปๆมาๆ ระหว่างบ้านกับวัดตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ จนถึงปี ๒๕๓๘ ท่านได้ซื้อบ้านที่ศีรษะอโศกตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ แต่ก็ยัง ไม่ได้อยู่ แบบปักหลัก จนกระทั่งปี ๒๕๔๓ ลูกชายได้สร้างบ้านที่ราชธานีอโศกเพื่อให้แม่มาอยู่ด้วย คุณยายจึงได้มาอยู่ที่บ้านราชฯ พอมาอยู่ ก็รู้สึกอบอุ่น มีผู้อายุยาววัย ใกล้กัน เอาหม้อมาให้บ้าง บางคนให้กระติ๊บข้าว หรือให้หวดนึ่งข้าว รู้สึกประทับใจ คนในหมู่บ้าน ล้วนมีน้ำใจ ขาดเหลืออะไร ก็มีคนเอามาแบ่งปันกัน อยู่ในชุมชน มีความผาสุก ได้ตื่นเช้าใส่บาตร พอสายก็ไปช่วยงานที่โรงครัวบ้าง หรือ ไปทำกสิกรรมบ้าง ยามเย็น ได้ฟังธรรม ถ้าไม่สบาย จะมียาหลายขนานรักษา คนนั้นคนนี้ เอามาให้ ไม่เคยขาด

** มรรคผล
คุณยายเล่าว่า กิเลสตัวใหญ่ของคุณยายคือ ขี้โลภ ติดทรัพย์สิน แต่ก่อนติดทรัพย์สินเงินทอง อะไรก็ของเราหมด ทุกวันนี้ไม่หอบหวงแล้ว จิตใจ ก็สงบดี อยู่กับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี อยู่กับเพื่อนก็ไม่ถือสา กับลูกๆ ก็ไม่น้อยใจ ไม่เรียกร้องทั้งลูกที่อยู่นอกวัด และ อยู่ในวัด ลูกที่อยู่วัด เขามีงานต้องทำ ที่ส่วนกลางมากมาย บางครั้งต้องขับรถขนสินค้าชุมชนเข้ากรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้เจอกัน แต่คุณยายก็ ไม่เหงา หัวใจเป็นอิสระ มีความสุข กับการงานในวัด ได้ทำงานเสียสละไปกับหมู่กลุ่ม ผู้อายุยาว และอ่านหนังสือธรรมะ และ ฟังธรรม เพิ่มสัมมาทิฐิ ให้กับตัวเอง

** ทุกวันนี้
คุณยายจะตื่นตั้งแต่ตี ๓ มาออกกำลังกาย แล้วก็มานึ่งข้าวเตรียมใส่บาตร ฟังธรรม จากวิทยุชุมชนบัวกลางมูล จิตใจมีแต่ความเบิกบาน หลังจาก ใส่บาตร แล้วไปทำงาน ช่วยโรงครัว และทำงานส่วนกลาง ท่านตั้งจิตจะบำเพ็ญร่วมบุญ ๗๒ ปีของพ่อท่าน โดยการลดละกิเลส ให้ได้มากที่สุด จะขยัน สร้างสรรค์ เสียสละ ทำงานช่วยหมู่กลุ่มและปฏิบัติธรรมอยู่กับหมู่กลุ่มชุมชนบุญนิยม

** ฝาก
การได้มาอยู่ในหมู่บ้านบุญนิยมเป็นโชคดีของชีวิต ได้ทั้งความสุขและได้ทำประโยชน์มีคุณค่ากับตนเองและผู้อื่น ชีวิตที่อยู่ในศีล ในธรรม ตั้งใจ เป็นโสด อยู่ตลอด และมีโอกาสได้ทำงานเสียสละ ผู้อายุยาวควรมาอยู่วัดกันให้ได้ มาอยู่เป็นกลุ่มศึกษาธรรมะด้วยกัน ทรัพย์สิน นอกกาย ตายไป ก็เอาไปไม่ได้ เราเอาไปได้ แต่บุญกับบาป ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ก็เพราะกรรมวิบากของเรา เราควรบำเพ็ญบุญ ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปฏิทินงานอโศก

งานตลาดอาริยะ ปีใหม่'๔๙ ณ พุทธสถานราชธานีอโศก ศุกร์ที่ ๓๐ ธ.ค.๔๘- จันทร์ที่ ๒ ม.ค.๔๙
ตลาดไร้สารพิษ 'เพื่อฟ้าดิน' ครั้งที่ ๑๓ ณ พุทธสถานราชธานีอโศก ศุกร์ที่ ๒๐ - อาทิตย์ที่๒๒ ม.ค.๔๙

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ดุด่า-ทุบตี-ทารุณกรรมทางเพศ จุดเริ่มความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย.๔๘ ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พื้นฐานปัญหา ความรุนแรง ในสังคม เกิดจากความรุนแรง ในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีปัญหา ด้านความสัมพันธ์ และไม่ประสบความสำเร็จ ในการครองชีวิตคู่ เช่น การหย่าร้าง แล้วต่างฝ่ายต่างมี ครอบครัวใหม่ เกิดปัญหาพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ลูกเลี้ยง ตามมา ในส่วนของ ความรุนแรง ที่พบนั้น มี ๒ แบบ คือ ความรุนแรง ทางวาจา การดุด่าว่ากล่าว และความรุนแรง ทางพฤติกรรม การกระทำ การทุบตี ไปจนถึง การทำทารุณกรรม ทางเพศ การข่มขืน

นพ.วชิระกล่าวว่า ความรุนแรงทางวาจา นั้นบางคนอาจจะมองไม่เห็นว่าก่อให้เกิดความรุนแรง แต่การดุด่าว่ากล่าว การโต้เถียง ซึ่งแม้จะเป็น ระดับน้อย แต่หากสะสมไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นความรุนแรงที่ทำให้เกิดแผลในใจ หรือที่เรียกว่าคำพูดเจ็บไปถึงกระดองใจ และหากเกิด การสะสม ไปเรื่อยๆ จะทำให้สูญเสียความมั่นใจสูญเสียคุณค่าความเป็นคน เกิดความเศร้า เบื่อหน่าย เป็นปัญหา สุขภาพจิต และอาจจะนำไปสู่ การฆ่าตัวตาย และความรุนแรงทางพฤติกรรมต่อไป วิธีการป้องกัน คือสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ของสมาชิก ในครอบครัว มีการสื่อสารทางบวก ระหว่างกัน.

(จาก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๗ พ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

มติ มส.กำหนด 'วันเสาร์' เข้าวัด

นายถวิล สมัครรัฐกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งมีสมเด็จ พุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม มีมติให้วันเสาร์ เป็นวัน เข้าวัด ของชาวพุทธ ตามที่พระเทพวิสุทธิกวี เลขานุการ มส.นำเสนอ เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันวันโกน วันพระมักไม่ตรง กับวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ทำให้พุทธศาสนิกชน ที่ต้องการ จะไปวัด ห่างเหินจากวัด ไม่มีเวลาไปฟังเทศน์ ฟังธรรม เพื่อให้เหมาะสม กับสภาพสังคมปัจจุบัน และมอบให้ พศ.ตั้งคณะกรรมการ ในการจัดทำกิจกรรม หลังจากนั้น ให้นำเข้าเสนอต่อ มส. อีกครั้ง ก่อนนำเสนอ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ โดยเร็วที่สุด สำหรับกิจกรรมวันเสาร์เข้าวัด จะเสนอให้วัดต่างๆทำกิจกรรมรองรับ

"ชาวมุสลิมต้องเข้ามัสยิดทุกวันศุกร์ ชาวคริสต์เข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ แต่ชาวพุทธของเราไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะเข้าวัด ในวันหยุด ราชการ การที่ มส. เห็นชอบ ให้วันเสาร์เป็นวันเข้าวัด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้เข้าถึงหลักคำสั่งสอน ทางพระพุทธศาสนา อย่างน้อย อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง และให้ถือว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อไป" นายถวิลกล่าว.

(จาก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒ ธ.ค.๔๘)

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 2,600 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]

อ่านฉบับย้อนหลัง: