บัตรประชาชน..ปลอม!
จับได้ถ้าออนไลน์ทั่วประเทศ

ปัญหาที่ประชาชนนั่งรอบนอำเภอครึ่งค่อนวัน... กว่าบัตรประชาชน จะคลอดออกมาสักใบ รวมถึงปัญหา ฉ้อฉลบัตรประชาชนปลอม คนเป็นสวมทับคนตาย... ไปถึงขบวนการหากิน กับคนเถื่อน หรือ อาชญากร ข้ามชาติ

แต่ไหนแต่ไร...กระบวนการปลอมบัตรประชาชนทุกรูปแบบ มักทำที่สำนักงานทะเบียน ไกลปืนเที่ยง... อยู่ห่างไกล ความเจริญ เจ้าบ้านและชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่ค่อยออก นานทีปีหน ถึงจะเข้าอำเภอ ติดต่อราชการ สักครั้ง... ทำให้ระบบเอกสาร ของสำนักทะเบียน ถูกใช้เป็นช่องว่าง ซึ่งหลายปีมาแล้ว...

“สกู๊ปหน้า 1” เคยเปิดโปงขบวนการปลอมบัตรประชาชนไว้หลายกรณี เช่น กรณี...เสี่ยวฉิน หรือ นายสุก ตาจง มังกรจีนตัวแสบ แอบทำบัตรประชาชน ที่สำนักงานทะเบียนสาขา ตำบลห้วยน้ำหอม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ โดยมีเจ้าหน้าที่ ร่วมขบวนการ ทำกันเป็นระบบ

ไม่ใช่ทำแค่คนเดียว...แต่มีคนต่างด้าวทำบัตรปลอมจำนวนไม่ใช่น้อย

พื้นที่ความเสี่ยงสูงในการทำบัตรประชาชนปลอม มี 20 จังหวัด กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, ราชบุรี, กาญจนบุรี, ลพบุรี, จันทบุรี, ตราด, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี, เลย, ขอนแก่น, หนองคาย, เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, สงขลา และสุราษฎร์ธานี

คำถามมีว่า...วันนี้และในอนาคตข้างหน้า ปัญหาที่ว่ายังจะมี...อีกหรือไม่?

ย้อนอดีตไปสำรวจความคืบหน้า...สำนักงานทะเบียน กรมการปกครอง ตั้งแต่เริ่มพัฒนา ระบบเลขทะเบียน ประชาชน เมื่อปี 2526

สมัยนั้น...ประชาชนทุกคนที่ทำบัตรประชาชน จะได้เลขประจำตัว 13 หลัก... สำนักทะเบียน จะใช้เป็นรหัส เก็บเป็น... ฐานข้อมูลบัตร, ข้อมูลรหัสจากเลขทะเบียนบ้าน ฉบับคอมพิวเตอร์ เก็บเป็น...ฐานข้อมูลบ้าน

และข้อมูลบุคคลในฐานทะเบียนบ้านแต่ละหลัง จะเก็บเป็น ฐานข้อมูลคน

ฐานข้อมูลทั้ง 3 แบบ...บัตร บ้าน และคน เป็นข้อมูลพื้นฐานของคนไทยแต่ละคน ที่มีชื่อ ที่อยู่ แจ้งเกิด ในประเทศไทย ตามกฎหมาย และเก็บไว้ใน ฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง ของสำนักทะเบียน...

“แต่นั่น...ยังเป็นระบบฐานทะเบียนราษฎร ยุคเก่า!”

อภัย จันทนจุลกะ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบายว่า

ปัจจุบัน...นอกจากตัวเลข 13 หลักของประชาชนแต่ละคนที่ใส่ไว้ ในฐานข้อมูลแล้ว ยังเก็บภาพใบหน้า และ ลายพิมพ์นิ้วมือ ของประชาชน แต่ละคนลงไปด้วย

คณะกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติ...รวบรวมฐานข้อมูลเก่า สมทบกับฐานข้อมูลใหม่ ที่ทันสมัย เป็น... ระบบฐานข้อมูลทะเบียนกลาง

คำถามมีต่อว่า...ฐานข้อมูลกลาง...ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศหรือยัง?

อธิบดีกรมการปกครองชี้ว่า “ดูจากระบบเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎรกลุ่มข้อมูล 3 กลุ่ม ถ้าแต่ละบ้าน แจ้งเกิดครบ... ทำบัตรเมื่ออายุถึงเกณฑ์... สำนักงานทะเบียนแต่ละแห่ง ต้องมีข้อมูลครบแน่นอน...”

แต่สำนักทะเบียนออนไลน์ที่ออนไลน์ได้มีเพียง 505 แห่ง จากทั้งหมด 1,077 แห่งทั่วประเทศ

เหลืออีก 572 แห่งยังใช้ระบบเอกสารอยู่ ถือเป็นปัญหาสำคัญ... ที่ทำให้พัฒนาระบบฐานข้อมูล ทะเบียนราษฎร ไม่สมบูรณ์... นอกจากนี้ สำนักทะเบียนราษฎร ที่ไม่ออนไลน์ ยังมีหลายปัจจัย ที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้ระบบ เกิดช่องว่าง เช่น บริการล่าช้า ต้องรอนาน

และปัญหาบัตรประชาชนปลอม

ย้อนมาที่...สำนักทะเบียนออนไลน์ กับบริการที่รวดเร็ว สะดวก ถ่ายโอนข้อมูล สู่ฐานข้อมูลทะเบียนกลางได้... ยังมีประโยชน์อื่นหรือไม่... อภัย กล่าวต่อไปว่า

สมมติว่า...สำนักทะเบียนออนไลน์ได้ทั่วประเทศ ระบบงานทะเบียนจะยิ่งสมบูรณ์ โดยเฉพาะ เรื่องเอกสาร ทำปลอม ไม่ได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ยังเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลภาครัฐอีก 47 หน่วยงาน เช่น ฐานข้อมูลตำรวจ กองหนังสือ เดินทาง สำนักงานประกันสังคม ฯลฯ

กรณี...สงสัยว่ามีการสวมตัวบุคคล การย้ายที่อยู่ผิดปกติ แก้ไขรายชื่อเพื่อขอมีบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง หรือ กรณีอื่น สามารถใช้ระบบทะเบียนออนไลน์ ตรวจเช็กรหัส บัตรประจำตัวประชาชน... ภาพใบหน้า และลายพิมพ์นิ้วมือ ในฐานข้อมูล ทะเบียนกลางได้ทันที

ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล...รหัสประชาชน 13 หลัก ไม่เปลี่ยน

ประเด็นหลักที่ว่า...วันนี้ฐานระบบทะเบียนกลางยังไม่พร้อมในทุกสถานการณ์ จะตรวจเช็กยังไงก็คงไม่สมบูรณ์ หลักการแก้ปัญหาที่มี ก็เป็นเพียงแค่หลักการ เพราะ...

ถึงอย่างไร...ระบบงานทะเบียนประเทศไทย ผ่านมา 20 ปี...คงไม่เพียงพอกับช่องว่างของสำนักทะเบียน ที่เหลืออีก 572 แห่ง ยังเปิดโอกาสให้ ขบวนการปลอมบัตร ใช้เป็นช่องทางกระทำผิดได้อยู่ แต่คาดว่า สำนักทะเบียนทั่วประเทศ จะออนไลน์ได้ ภายในปี 2546

ประชาชน...ใช้บริการสำนักทะเบียนด้วยบริการแบบไหนได้บ้าง...

อภัยชี้แจงว่า กรณีแรก...ประชาชนยังใช้บริการทะเบียนราษฎรแบบเดิมที่สำนักทะเบียนทั่วประเทศตามเขตที่อยู่ ได้เหมือนเดิม...

กรณีถัดมา...ใช้บริการได้ที่สำนักทะเบียนระบบออนไลน์ ด้วยระบบ One Stop Service ใช้บริการจุดเดียว เลือกรับการบริการได้ ทุกประเภท ไม่จำกัดเขตที่อยู่... เช่น ทำบัตรประชาชน จะใช้เวลาเพียง 15 นาที...เท่านั้น

กรณีสุดท้าย...ใช้รหัสประชาชน 13 ตัว รับบริการงานทะเบียนผ่านเว็บไซต์ได้ด้วยตนเองในระบบ Non Stop Service เปิดบริการ 24 ชั่วโมง...ที่เว็บไซต์ www.Dola.go.th หรือ www.Knonthai.com...

เริ่มต้นลงทะเบียน...เพื่อขอรหัสส่วนตัว (PIN Code) 2 ชุด โดยกรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบ... ตั้งแต่ชื่อ -นามสกุล, เลขประจำตัว ประชาชน, วัน/เดือน/ปี เกิด, ที่อยู่ปัจจุบัน, ชื่อในทะเบียนบ้าน, จังหวัดที่เคยอยู่ ฯลฯ

รออนุมัติ 3 วัน...จะได้รหัส 2 ชุดคือ PIN1 และ PIN2 ส่งกลับมาทางอีเมล์... รหัสที่ได้ เก็บไว้ใช้เข้าระบบ ทะเบียนออนไลน์

กรณีไม่มีคอมพิวเตอร์...จะขอรหัสได้จากเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือท้องถิ่น ที่มีระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย บริการฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร แต่ปัจจุบัน... หากทำบัตรประชาชนใหม่ จะได้รับรหัสส่วนตัวทันที... ใส่ในซองคล้ายๆ ซองบัตรเอทีเอ็ม

ระบบทะเบียนออนไลน์ที่เปิดบริการ เช่น 1. ตรวจสอบข้อมูล เช่น ประวัติตามทะเบียนราษฎรและ บัตรประชาชน... 2. บริการคัดสำเนาเอกสาร... 3. บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล์ (E-mail) และ 4. บริการจัดรูปแบบเว็บไซต์

บริการทะเบียนราษฎรผ่านเว็บ...แค่คลิกๆ ป้อนรหัส... ก็เข้าสู่ฐานข้อมูล ทะเบียนกลาง ได้สะดวกรวดเร็ว และ ประหยัดค่าใช้จ่าย

แต่ทุกครั้งที่ใช้ระบบทะเบียนออนไลน์...ต้องระวังรหัสส่วนตัวและเลขประจำตัวประชาชน เพราะรหัส อาจถูกใช้ออนไลน์ ที่ไหนก็ได้

กับข่าวที่ว่ากรมการปกครองจะใช้ระบบบริหารจัดการประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ซิติเซ่น (E-Citizen) เป็นคนไทย มีบัตรใบเดียวก็พอ จะเป็นไปได้หรือไม่...

อภัย จันทนจุลกะ อธิบดีกรมการปกครอง บอกว่า...บัตรประชาชนธรรมดาที่มีรหัส 13 หลัก จัดเก็บในฐานข้อมูล ใช้ได้อยู่แล้ว วันนี้ประชาชนธรรมดา พกบัตรธรรมดาก็พอ

ส่วนประชาชนคนไหนไม่ธรรมดา มีหน้าที่การงานหลายตำแหน่งหลายอาชีพ อยู่ในคนคนเดียว หรือ เป็นคนสำคัญ มีข้อมูลส่วนตัว มากกว่าคนปกติ จะหันมาใช้บัตรอัจฉริยะ (Smart Card) ที่บรรจุข้อมูล ได้มากกว่าก็ได้

แต่ปัจจัยเรื่องราคาอาจเป็นปัญหา...ต้นทุนบัตรธรรมดาแถบแม่เหล็กอยู่ที่ 28 บาทต่อใบ...ถ้าสมาร์ทการ์ดก็เพิ่มอีก 100 บาท

นอกจากเป็นภาระให้ประชาชน ภาครัฐต้องรับภาระด้วย เพราะต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ในส่วนของเครื่องอ่านบัตร... แถบชิพที่อยู่บนบัตรอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร ภาครัฐทั้งหมด เช่น กรมสรรพากร กองตรวจคนเข้าเมือง กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ... ให้เข้าสู่ระบบ หากเป็นระบบอี-ซิติเซ่น ซึ่งต้องใช้งบประมาณเกือบ 600 ล้านบาท...

มองภาพรวมของประชาชนระบบอิเล็กทรอนิกส์...ยังเป็นเรื่องไกล...เป็นเรื่องของอนาคต... เป็นเรื่องของ งบประมาณ ต้องพัฒนา ต่อเนื่อง ใช่ว่าทำได้ในปี...สองปี

เอาแค่ระบบทะเบียนออนไลน์...ผ่านมา 20 ปี ใช้งบประมาณไปหลายสมัย ถึงวันนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์... ระบบอี-ซิติเซ่น... เป็นคนไทย พกบัตรใบเดียว ก็อาจต้องรอไปอีก.

ไทยรัฐ ๒ ก.ย. ๔๕