ปูถนนด้วย "ยางพารา" ยืดอายุนานกว่ายางมะตอย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดแข็งอยู่ที่ภาคการเกษตร และจุดแข็งนี้ ทำให้คนไทยยังคงอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนมากนักในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างหนัก หลายประเทศแทบจะล่มสลายไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เรายังคงยืนอยู่ได้ด้วยอาศัยความเป็นเอกลักษณ์ของไทยมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่เราสามารถส่งออกพืชเศรษฐกิจสำคัญอยู่หลายตัว... "ยางพารา" เป็นพืชอีกตัวหนึ่งที่ไทยเรามีศักยภาพในการผลิตและส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนว่าใครที่มีสวนยางน่าจะมั่งคั่งร่ำรวย แต่จริงๆ แล้วเปล่าเลย !!!

เกษตรกรไทยแทบจะทุกสาขาอาชีพ ประสบปัญหาเรื่องตลาดมาโดยตลอด ยางพาราก็เช่นกัน ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (2535-ปัจจุบัน) รัฐบาลต้องเสียเงินไปกับการแทรกแซง ราคายางไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท สาเหตุเนื่องจากปริมาณการใช้ยางในตลาดโลกลดลง ในขณะที่กำลังการผลิตยังคงเพิ่มขึ้น

เพื่อเป็นการแก้ปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำ 3 ประเทศผู้ผลิตยาง ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จึงได้จับมือกันให้แต่ละประเทศลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 4 ต่อปี และลดการส่งออกร้อยละ 10
โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545

นอกจากการร่วมมือกันระหว่างประเทศแล้ว ไทยยังได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาไว้อีก 3 แนวทาง คือ 1. ไม่เพิ่มพื้นที่ปลูกยาง ควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิน 12 ล้านไร่ 2. เร่งสงเคราะห์ปลูกยางปีละ 3 แสนไร่ 3. เร่งรัดปลูกทดแทนยางเก่า ซึ่งจะทำให้การผลิตลดลงร้อยละ 4 ต่อปี ลดผลผลิตได้ประมาณ 7 หมื่นตัน และลดส่งออกได้ร้อยละ 10 ทำให้ไทยมีโควตาส่งออกไม่เกิน 1.9 ล้านตัน จาก 2.4 ล้านตัน

ยางที่เหลือ 5 แสนตัน จะนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตประจำอยู่แล้ว เช่น ถุงมือยาง ยางรัดของ รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการใช้ยางในประเทศประมาณ 2.5-3.0 แสนตัน ส่วนยางที่เหลืออีก 2 แสนตันนั้น กระทรวงเกษตรฯมีแผนใช้ยางพาราในงานทาง ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วน ระยะเวลา 5 ปี (2545-49)

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการใช้ยางเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 4 หมื่นตัน ซึ่งการทำทางนี้ จะใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนน มีแผนการใช้ยางตั้งแต่ปีนี้ (2545) ประมาณ 5 พันตัน ปี 2546 ประมาณ 2.5 หมื่นตัน และปี 2547 คาดว่าจะใช้ยางได้ 4 หมื่นตัน ได้ตามเป้าที่วางไว้ ใช้งบประมาณ 6,675 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้วางแผนส่งเสริม ให้มีการใช้ยางพาราในการทำเขื่อนยาง ยางกันชนที่ใช้ในท่าเรือ หมอนรองรางรถไฟ อ่างเก็บน้ำ พื้นยาง และยางล้อรถในภาคเกษตร ซึ่งช่วยให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้นทางหนึ่ง

สำหรับประเทศไทยเรา ได้ทดลองใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนนมาตั้งแต่ปี 2500 ครั้งแรกที่ จ.สงขลา สายหาดใหญ่-สงขลา โดยความร่วมมือของแขวงการทางสงขลาและศูนย์วิจัยยางสงขลา ต่อมาในปี 2543 ทดลองทำที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และองค์การสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช และในปี 2544 ที่บริเวณหน้ากรมวิชาการเกษตร

นายประสาท เกศวพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การทดลองดังกล่าวพบว่า ถนนที่ราดยางด้วยยางพาราผสมยางมะตอย มีข้อดีหลายประการ คือ ถนนมีความแข็งแรงทนทาน ยืดหยุ่น สามารถรองรับน้ำหนักปริมาณรถบรรทุกได้ดี มีอายุการใช้ยางได้ยาวนานกว่าการใช้ แอสฟัลต์หรือยางมะตอย 1-2 เท่า ประหยัดงบประมาณในการซ่อมแซมถนน เปรียบเทียบกับถนนที่ราดด้วยยางมะตอยอย่างเดียว ผิวถนนจะชำรุดเสียหายเร็วกว่า เวลาอากาศร้อนจัด ผิวทางจะไหลเยิ้ม

ฉะนั้น โครงการนี้จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศ คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สามารถประหยัดงบในการซ่อมแซมถนนได้ถึง 4.5 เท่า เมื่อเทียบกับถนน ที่ราดยางมะตอยอย่างเดียว และเพื่อเป็นการยืนยันในประสิทธิภาพ เมื่อเร็วๆ นี้ แขวงการทางฉะเชิงเทราและศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา จึงร่วมมือเป็นครั้งที่ 2 จัดทำโครงการทดลองนำยางมะตอยผสมยางพาราราดถนนสายสนามชัยเขต-
ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อศึกษาการใช้งานในสภาพจริง เป็นระยะทาง 300 เมตร โดยมี นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.คมนาคม ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายโครงการฯ

งานนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง แต่คงจะเป็นข่าวร้ายสำหรับพวกขบวนการงาบทั้งหลาย !!!

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล