.

เผยอาการอันตรายของอัมพาตไปถึงหมอได้เร็วเท่าไรยิ่งดี

แพทย์หญิงอภิรมย์ เวชภูติ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยากล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง อาการที่พบได้บ่อยก็คือ 1. พูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจคำพูด หรือพูดไม่ชัดทันทีทันใด 2. แขนขาหรือหน้าอ่อนแรง ชา หรือขยับไม่ได้ขึ้นมาทันทีทันใด โดยเฉพาะที่เป็นครึ่งซีกของร่างกาย 3. ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็นฉับพลัน เห็นภาพซ้อน หรือเกิดอาการคล้ายมีม่านมาบังตา 4. ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน 5. งุนงงเวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นข้างต้น ให้รีบพบแพทย์ทันที หากรักษาไม่ทันจะเป็นอัมพาตได้

ผู้อำนวยการแจ้งต่อไปว่า โรคหลอดเลือดสมอง จะมีผลต่อร่างกายจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยทุกคน ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตมักมีอาการทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับผู้ป่วยและญาติรวมทั้งความรู้สึกของญาติและผู้ใกล้ชิดด้วย ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรค มักมีความพิการหลงเหลืออยู่ แต่ก็สามารถฟื้นฟูสภาพได้ ถ้าภาวะหลอดเลือดตีบตันในสมองไม่รุนแรงเกินไป และผู้ป่วยได้รับการรักษาทันท่วงที ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง สามารถฟื้นฟูสภาพได้ มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถดีขึ้นได้เองอย่างรวดเร็ว จนช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ผู้ป่วยอัมพาตส่วนมาก จำเป็นต้องพึ่งการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูร่วมด้วย เป็นการรักษาและฟื้นฟูสภาพแก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สามารถกลับไปมีชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ ตามที่ศักยภาพของผู้ป่วยจะเอื้ออำนวย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต มาจากภาวะหลอดเลือดแข็งกระด้าง จากความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคอ้วน เบาหวานเป็นต้น.

ไทยรัฐ พ.ค. ๔๕