นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ปาฐกถาพิเศษถึงเรื่อง
"พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อคนพิการ" ประกอบการแถลงข่าว
ของกรมประชาสงเคราะห์ เกี่ยวกับรายการ "เส้นทางสีรุ้ง" ที่จะออกอากาศ
ทาง ททบ. 5 เพื่อให้ตระหนัก ถึงคุณค่าแห่งชีวิตของคนพิการ และ สร้างความเข้าใจอันดี
ระหว่างคนพิการ กับผู้มีอวัยวะครบ 32 ณ รร.เรดิสัน เมื่อ 28 พ.ค.
45
นายขวัญแก้วกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัย เรื่องของคนพิการ
ตั้งแต่ประทับอยู่ที่ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทย
พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียน สอนคนตาบอด เพื่อพระราชทาน กำลังใจแก่ครูและนักเรียน
เปรียบเหมือนเป็นขวัญที่ดี ที่ได้พระราชทาน แก่คนทั่วๆ ไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระเมตตาต่อคนพิการทุกประเภท
รวมถึงทหาร ที่พิการจากการปฏิบัติหน้าที่ ในสนามรบ ทรงเห็นความสำคัญในเรื่องต่างๆ
จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวของทหารหาญ เหล่านี้ได้เข้ามาปรนนิบัติ
อย่างใกล้ชิด รวมทั้ง พระราชทาน เงินช่วยเหลือ เพราะทรงเห็นว่า เงินเดือนของทหารเหล่านี้น้อย
เงินช่วยเหลือก็มาช้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินก้อนหนึ่ง
แก่โรงพยาบาล ทหารผ่านศึก เพื่อมอบ ให้แก่ทหาร เป็นการล่วงหน้า เมื่อเงินช่วยเหลือมาแล้ว
ค่อยส่งคืน ตนคิดว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์ พระองค์ไหน ที่ทรงมีพระมหา-
กรุณาธิคุณต่อทุกคน ทรงห่วงใย แม้แต่เรื่อง ของจิตใจ จึงโปรดเกล้าฯ
ให้มี การสร้างศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อไม่ให้ผู้พิการต้องพิการทางใจ
สำหรับผู้พิการจากโรคเรื้อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระเมตตาด้วยความห่วงใย
โดยก่อนที่จะทรงช่วยเหลือผู้พิการจากโรคเรื้อน ได้ทรงช่วยผู้พิการจากโปลิโอ
ในช่วงที่ โรคนี้ระบาด ในปี 2495 ด้วยทรงทราบว่า รัฐบาลมีงบประมาณในการช่วยเหลือน้อย
ดังนั้น ประชาชน ควรที่จะช่วยกัน โดยพระองค์ทรงดนตรีทางสถานีวิทยุที่รัฐบาลได้น้อมเกล้าฯถวาย
ทั้งสถานี คลื่นสั้นและยาว ซึ่งจะมีประชาชนทูลเกล้าฯถวายเงิน หลังจากที่ทรงดนตรี
ในเพลง ตามที่กราบบังคมทูลขอ
และเมื่อโรคเรื้อนระบาด ผู้ป่วยเขาจะถือว่าฟ้ากำหนด ไม่มีทางรักษาให้หายได้
พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแส รับสั่งให้อธิบดีกรมอนามัย
ในสมัยนั้น หาทางรักษา ผู้ป่วยโรคเรื้อน จนมีนิคมโรคเรื้อนอยู่หลายแห่ง
ปัจจุบันบางแห่ง กลายเป็นโรงพยาบาล รักษา โรคติดต่อ และพระองค์ได้เสด็จฯเยี่ยมผู้ป่วยและเด็กๆ
ที่ได้รับการดูแล แยกจากพ่อแม่ เพราะไม่อยากให้เด็ก ติดโรค และทรงมีรับสั่ง
ให้การศึกษาแก่เด็กกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับโรงเรียนที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
ที่มีเด็กกำพร้าจากพ่อแม่ที่เสียชีวิตจากเอดส์ถึง 500 คน พระองค์ท่าน
ก็โปรดให้สร้างโรงเรียนแก่เด็กเหล่านั้น หรือที่วัดพระบาทน้ำพุ ที่มีคนเรียกว่าพิการทางใจ
ซึ่งมีหน่วยงานราชการต่างๆ นับแต่สภาพัฒน์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ออกมาบอกว่า พระไม่มีหน้าที่ สร้างโรงเรียน ให้คนเป็นโรคเอดส์ ไม่ใช่
กิจของสงฆ์ จนคุณขวัญแก้ว ต้องไปทำ ความเข้าใจ กับ ดร.วิษณุ โดยบอกว่า
คนไทยนั้น วัดเป็นที่พึ่งทางใจ มาแต่โบราณ คนเราอาศัยวัด ตั้งแต่เกิด
โรงเรียนที่วัดพระบาทน้ำพุ จึงเกิดขึ้น
นายขวัญแก้วกล่าวในตอนท้ายว่า อยากให้ประชาชนรู้สึกเมตตา และกรุณาต่อผู้ที่พิการ
ดังเช่น พระดำรัสของสมเด็จย่า ที่เคยมีรับสั่งว่า ให้อบรมบ่มนิสัยนักเรียน
ร.ร.วังไกลกังวลและ ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ ให้มีเมตตา กรุณา แล้วจะอยู่กันอย่างสันติ
การเล่าของตนวันนี้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีอย่างต่อเนื่อง ประชาชน ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว พระองค์ทรงเป็นพระประมุข
ของประเทศ ที่ประชาชนรัก โดยทรงมีรับสั่งว่า ทรงเป็นปุถุชน ธรรมดา
เหมือนพวกเรา ซึ่งก็คือทรงติดดินนั่นเอง.