พริกชี้ฟ้า...ร้อนแรงอย่างมีคุณค่า

คนไทยส่วนใหญ่มักจะคุ้นลิ้นดีกับรสชาติ เผ็ด ร้อน ของอาหารไทยๆ พระเอกตลอดกาล ที่เราใช้เป็นตัวชูรสในอาหารก็คงหนีไม่พ้นพืชตระกูลพริก

ยิ่งถ้าเป็นอาหารจานโปรดของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นแกงส้ม ต้มยำ แกงป่า น้ำพริก และน้ำจิ้ม ล้วนขาดพริกกันเสียไม่ได้

พริกที่นำมาปรุงอาหารที่ว่านี้ มีอยู่หลากหลายพันธุ์ ทั้งชนิดเผ็ดมาก เผ็ดน้อย หรือจะเป็นพริกเม็ดใหญ่ ที่ยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด อย่างพริกชี้ฟ้า นอกจากจะให้รสชาติของความเผ็ดแล้ว พริกชี้ฟ้ายังมีคุณค่าทางอาหารไม่น้อย โดยพริกชี้ฟ้าเขียวหนัก 100 กรัม ให้โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.4 กรัม ใยอาหาร 2.2 กรัม แคลเซียม 103 มิลลิกรัม และวิตามินซี 204 มิลลิกรัม (กรมอนามัย 2535)

คนทั่วไปมักจะทราบแต่เพียงว่า วิตามินซีพบมากในผลไม้สดที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้มเขียวหวาน จะมีวิตามินซี 42 มิลลิกรัม/100 กรัม ของส่วนที่กินได้ และสตรอเบอร์รี่มี 80 มิลลิกรัม/100 กรัม ของส่วนที่กินได้ ส่วนผักที่พบวิตามินซีมาก ได้แก่ ดอกกะหล่ำ ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา ใบมะระ ผักกาดขาว สำหรับพริกชี้ฟ้าก็มีปริมาณของวิตามินซีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

คุณูปการของวิตามินซีต่อร่างกายที่สำคัญๆนั้น ได้แก่ ช่วยสร้างสารคอลลาเจน ซึ่งเป็นสาร ช่วยยึดเซลล์เข้าหากันโดยเฉพาะหลอดเลือด ผลจากการที่หลอดเลือดหยุ่นเหนียวทำให้ ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแข็ง หลอดเลือดอุดตันในหัวใจและสมองได้

รวมทั้งช่วยยึดเซลล์ที่ผิวหนัง ทำให้ไม่เหี่ยวย่นง่าย และช่วยให้กระดูกไม่เปราะแตก หักง่าย และเลือดไม่ออกตามไรฟัน

นอกจากนั้น วิตามินซียังช่วยการทำงานของต่อมและหมวกไต ต่อต้านความเครียด และยัง ทำงานร่วม กับวิตามินอี ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันสารแปลกปลอม และการเกิดสาร ก่อมะเร็งอีกด้วย

ปกติร่างกายคนเราควรได้รับวิตามินซีวันละ 60 มิลลิกรัม และปัจจุบันยังไม่พบว่ามีอันตรายจาก การใช้วิตามินซีมากเกินไป แม้จะนิยมใช้วิตามินซีเพื่อป้องกันและรักษาโรคกันมากขึ้น เพราะร่างกาย จะขับส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะ

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างพริกชี้ฟ้าสด จำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณ วิตามินซีที่มีอยู่ ผลการวิเคราะห์แสดงดังตาราง นับว่าเป็นความเผ็ดที่แฝงไว้ด้วยคุณค่าจริงๆ.

 


ไทยรัฐ พ.ค. ๔๕