.

วิจัยพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาวให้เข้ากับสภาพอากาศไทย

สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทางภาคเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2506 ทรงเห็นว่าชาวเขามีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น ทำการเกษตรไม่ถูกต้องและยังมีการปลูกฝิ่นอยู่มาก ในการนี้ ทรงพบว่า พีช ท้อ เมื่อขายแล้วราคาดีกว่าการปลูกฝิ่น แต่หากคุณภาพต่ำ ก็จะขายไม่ได้ราคา เว้นแต่นำไปแปรรูป ดังนั้น พระองค์จึงทรงให้แนวทางว่า "หากหาไม้ผลต่างประเทศมาปลูก จะทำให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง อีกทั้งไม้ผลยังช่วยลดการกระแทกของฝน ใช้น้ำและสารเคมีน้อย"

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยเราได้มีการนำพันธุ์ไม้จากต่างประเทศหลากชนิดหลายสายพันธุ์ เข้ามาทดลองปลูก ซึ่งในการนำมาแต่ละครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือจากทูตประเทศต่างๆ ทำให้ปัจจุบันสามารถรู้ได้ว่า พื้นที่แต่ละแห่งของประเทศไทย ปลูกไม้ผลอะไรได้บ้าง แต่ทั้งนี้ในเรื่องคุณภาพพันธุ์ที่ได้ ก็ยังไม่ดีพอ ถึงแม้จะบำรุงปุ๋ยให้น้ำอย่างไรก็ตาม ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหา เราจึงต้องมีการปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมและเข้ากับสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศของไทย

และ...เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมเดินทางกับ นายไมลส์ คุเปอร์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ไปดูงานวิจัย "เรื่องการปรับตัวของไม้ผลเมืองหนาวชนิดต้องการความหนาวเย็นน้อย ในประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย" จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย ภายใต้โครงการ"เอซีอาร์" ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย

ในการวิจัยดังกล่าวนายพิจิตร ศรีปัญา นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ เล่าว่า "สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่ ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ ทำหน้าที่เป็นทูตเกษตรประจำประเทศออสเตรเลีย ได้มองว่าสภาพพื้นที่ของออสเตรเลียนั้น อากาศหนาวไม่มากและคล้ายกับประเทศไทย ซึ่งที่ออสเตรเลียนี้ ผลไม้เปลือกแข็งสามารถปลูกได้ดีและมีการพัฒนาไปสู่การค้า มีการส่งผลผลิตไปขายตลาดต่างประเทศ"

  ดังนั้นจึงคิดว่าหากเราทำการทดลองนำไม้ผล
เปลือกแข็งไปปลูกในเมืองไทยน่าจะมีความเป็น
ไปได้สูงจึงได้เสนอขอความร่วมมือกับทางออส-
เตรเลียในเรื่องของงบประมาณนักวิชาการเทค
โนโลยีต่างๆกิ่งพันธุ์ที่ต้องการอากาศหนาวเย็น
ไม่มาก เมื่อเราได้เริ่มการวิจัยในเบื้องต้นเราได้
นำกิ่งพันธุ์การค้ามาทดสอบที่สถานีทดลองการ
เกษตรที่สูงขุนวาง จ.เชียงใหม่ทำการทดสอบปลูกพีช แนคตาลีน พลัม เพอซิมอล บลูเบอรี่ แพร และสาลี่ เพื่อเฟ้นหาพันธุ์ดีที่มีความเหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในเมืองไทย

นอกจากนี้ ยังได้มีการวิจัยเทคนิคการตัดแต่งกิ่งพันธุ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาจากออสเตรเลีย ซึ่งได้แก่ การตัดแต่งกิ่งแบบเปิดกลาง เหมาะแก่การแต่งต้นพืชที่ต้องการสังเคราะห์แสงโดยการตัดลักษณะเช่นนี้จะทำให้ต้นไม่สูงเกินไป ง่ายต่อการดูแลรักษา และมีลักษณะเป็นทรงแผ่ออกรอบข้าง

การตกแต่งแบบกำแพงรั้ว จะเป็นลักษณะเหมือนคนยืนกางแขนให้ออกแนวกิ่งตรงกันข้ามใน ลักษณะแบน ซึ่งการตกแต่งลักษณะดังกล่าว มีข้อดีคือ สามารถปลูกระยะชิดได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกเพิ่มจำนวนต้นต่อพื้นที่ได้มาก และต้นไม่สูง ซึ่งจะทำให้ดูแลรักษาง่ายและเหมาะแก่การปลูกในพื้นที่สูง ซึ่งมีบริเวณจำกัด ฉะนั้น การแต่งกิ่งลักษณะนี้ สามารถปลูกได้ในระยะชิด ซึ่งจะให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง

การตกแต่งแบบลำตนเดี่ยว ข้อดีสามารถปลูกได้ชิดกว่าการตัดแต่งแบบกำแพงรั้ว แต่ว่า การตัดแต่งจะต้องรู้และเข้าใจ เพราะการแต่งลักษณะนี้จะต้องเลือกกิ่งที่มีอายุ 1 ปี เนื่องจากท้อจะมีนิสัยออกดอกที่กิ่งอายุ 1 ปี และการแต่งจะต้องไม่ให้ทรงพุ่มใหญ่มีลักษณะชี้ฟ้า กิ่งด้านข้างจะต้องออกทุกปี เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว เวลาตัดแต่งกิ่งจะชิดกับลำต้น อย่างไรก็ตาม การตัดแต่งกิ่งในลักษณะต่างๆ ยังอยู่ในช่วงเก็บผลวิจัย ซึ่งยังไม่ สามารถหาข้อสรุปได้ว่า การแต่งกิ่งแบบใดจะเหมาะกับพื้นที่ของไทย ซึ่งจะต้องรอผลถึง 3 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม เราได้คาดว่า วิธีการตัดแต่งกิ่ง จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตเพิ่มรายได้ ต่อพื้นที่ให้กับเกษตรกร.

เพ็ญพิชญา เตียว

ไทยรัฐ ๑ เม.ย. ๔๕