.

วท.โชว์ปุ๋ยนํ้าไฮเทคเพิ่มผลผลิต-อนุรักษ์ดิน

ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นักวิจัย วท. นำโดยนายราเชนทร์ วิสุทธิ์แพทย์ ประสบความสำเร็จในการคิดค้น สารเร่งการหมัก วท.ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ (ไบโอเบส) ที่เกิดจากการย่อยสลายเศษพืชผัก ผลไม้ โดยผ่านกระบวนการหมักในสภาพไร้อากาศ อุดมด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม เหมาะสำหรับใช้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด นอกจากนี้ ยังได้คิดค้นวิธีการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานในการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ วท. หรือปุ๋ยอัลจินัว ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ วท.และปุ๋ยเคมีในอัตรา 20-0.5-25 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ จากเดิมที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีมากถึง 50 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ จากการทดสอบประสิทธิภาพการใช่ปุ๋ยแบบผสมผสานดังกล่าว ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยสำหรับการเพาะปลูกเฉลี่ยประมาณ 25% ซึ่งทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะปลูกโดยใช้ปุ๋ยแบบเดิม

ดร.พงศ์เทพ อันตะริกานนท์ รองผู้ว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยี วท.กล่าวว่า การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานดังกล่าว นอกจากข้าวจะได้ธาตุอาหารครบถ้วนจากปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำแล้ว ยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยกระตุ้นการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน เนื่องจากปัจจุบัน เกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณมากเกินไป ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด ลักษณะทางกายภาพของดินเปลี่ยนแปลง สูตรการใช้ปุ๋ยของ วท. นี้ จะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงครึ่งหนึ่ง ซึ่ง วท.ได้ทดลองใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานในแปลงสาธิตของเกษตรกรที่ จ.ปทุมธานี และสุรินทร์ ได้ผลผลิตสูงสุดที่ 1,020 และ 815 กิโลกรัมต่อไร่ และเพื่อเผยแพร่สู่เกษตรกร ทาง วท.จึงเตรียมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำนี้ให้กับเกษตรกรใน จ.ลำปาง อุดรธานี กำแพงเพชร สกลนคร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเขตหนองจอก กทม.ด้วย

ไทยรัฐ ๒ เม.ย. ๔๕