นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้
ร่วมมือกับกรมการศาสนา
กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำให้วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ เนื่องจากเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจทั้งพระภิกษุและศาสนิกชนจำนวนมาก
รวมทั้งลดอัตราการเจ็บป่วย-ตายของประชาชนในชุมชน และพระภิกษุสงฆ์จากโรคที่เกิดจากบุหรี่ให้หมดไปในที่สุด
โดยรายงานของโรงพยาบาลสงฆ์ พบว่าการมรณภาพของพระภิกษุ-สามเณร ในขณะนี้มีต้นเหตุอันดับ
1 มาจากโรคมะเร็งปอด รองลงมาคือโรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ เส้นเลือดหัวใจตีบ
วัณโรค มะเร็งหลอดอาหาร ตับแข็งและเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่
ที่สำคัญ แนวโน้มการสูบบุหรี่ของพระภิกษุสงฆ์มีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 10,084
ราย ปี 2540 และเพิ่มขึ้นเป็น 18,775 ราย คิดเป็น 86% การให้ความสำคัญของสถาบันศาสนา
สนับสนุนสถาบันสงฆ์ให้เป็นผู้นำในการณรงค์ ลดละ เลิกบุหรี่ในสังคม จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าอาวาสนอกจากจะเป็นแบบอย่างปลอดบุหรี่แล้ว
ยังเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้วัดปลอดบุหรี่ได้จริงอีกด้วย
นพ.เสรี ตู้จินดา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของพระภิกษุสงฆ์
พบว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ 53% และคาดการว่าพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ 300,000
รูป จะสูบบุหรี่ 1.5 แสนรูป ทั้งการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพบว่าผู้สูบบุหรี่ประจำ
1 ใน 2 จะป่วยและเสียชีวิตจากโรคบุหรี่ คือพระภิกษุ 75,000 รูปที่สูบบุหรี่จะอาพาธ
เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจสืบต่อพระศาสนาและมรณภาพในที่สุด โดยในวันที่
1-2 เม.ย.นี้กระทรวงฯจัดโครงการถวายความรู้พระในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
19 จังหวัด จำนวน 150 รูป ให้เป็นวิทยากรต้นแบบในการลดละ เลิก บุหรี่ และให้ครบทุกภาคภายในปี
2546