.

สปรส.เปิดเวทีถกปัญหา "สิทธิการตาย"

จากการที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้แพทย์ปลิดชีวิต คนไข้ได้ตามความต้องการของคนไข้ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศเดียวในโลกที่อนุญาตให้มีการปลิดชีวิตได้ตามความต้องการของคนไข้ในกรณีพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ผอ.สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้สิทธิเรื่องนี้ยังไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติมากนัก ซึ่งในความเห็นของตน คิดว่า คำว่า การตายอย่างมีศักดิ์ศรีมีความเกี่ยวข้องเชิงอำนาจกับคน 3 กลุ่ม คือ 1. เจ้าของชีวิต 2. แพทย์ 3. ญาติพี่น้อง และยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา กฎหมาย มาตรการ หลักเกณฑ์ กติกา ด้วย ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับวีไอพี มีเงินมาก และมีญาติเป็นหมอ มักจะเกิดการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์จำนวนมาก เพื่อยื้อชีวิต นพ.อำพลกล่าวว่า ในการยกร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มีการเขียนถึงหมวดที่ว่าด้วยการสิทธิแก่บุคคลในการตายอย่างมีศักดิ์ศรีในบั้นปลายของชีวิต ไม่เป็นภาระในทุกๆด้าน โดยให้มีสิทธิแสดงความจำนงล่วงหน้าได้ ซึ่งจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกือบ 500 เวทีส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการบัญญัติไว้เป็นธรรมนูญสุขภาพ แต่ในการปฏิบัติคงต้องมีการออกระเบียบ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

"ผมขอยกตัวอย่างการขอสิทธิในการตายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กรณีการมรณภาพของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านได้แสดงเจตจำนงต่อสาธารณะว่า ขอมรณภาพที่สวนโมกข์อย่างสงบ แต่ในความเป็นจริง หมอก็ยังคงต้องรักษาท่านจนวาระสุดท้ายและท่านต้องมรณภาพในห้องไอซียูของโรงพยาบาล ตรงนี้ก็เป็นข้อคิดอันหนึ่งสำหรับสังคมไทยที่จะพิจารณากันในเรื่องเหล่านี้" นพ.อำพลกล่าว