อวสานร้านโชห่วย

ถ้าจะพูดถึงร้านค้าปลีกค้าส่ง หรือที่เราเรียกติดปากว่าร้านโชห่วย คงต้องย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อมีคนจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่ ล่องเรือสำเภาหนีตายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยส่วนใหญ่จะเข้ามาเป็นกุลีรับจ้างแบกหาม ใช้กำลังแลกเงินเก็บออมจนสามารถเก็บเงินซื้อห้องแถวเล็กๆ เปิดเป็นร้านขายสินค้าเครื่องใช้ประจำวันจำพวกกะปิ น้ำปลา

อาจเพราะความสะดวกสบายใกล้บ้าน มีสินค้าหลากชนิดให้เลือกซื้อในราคาสมน้ำสมเนื้อ เป็นร้านขายยาที่พอจะหาซื้อยาลดไข้แก้ปวดมากินบรรเทาอาการ หรือเป็นห้องรับแขกไว้รับรองเพื่อนฝูงเมื่อมาเยี่ยมเยียน

แถมบางครั้ง เถ้าแก่ร้านโชห่วยยังทำหน้าที่เป็นนายธนาคารคนยาก ที่สามารถหยิบยืมกันได้เมื่อเงินขาดมือ หรือเซ็นข้าวสารอาหารแห้งมาประทังชีวิต แม้จะต้องแลกกับการเสียดอกเบี้ยบ้างก็ตาม

ทำให้ร้านโชห่วยผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยจนแยกไม่ออก

รวมทั้งผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่วิ่งเข้าวิ่งออกร้านโชห่วยตั้งแต่เด็ก ยามมีเงินสลึงสองสลึงก็เวียนซื้อขนมหวานกินจนเกลี้ยงกระเป๋า

มาวันนี้เมื่อห้างสรรพสินค้าสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เริ่มรุกคืบเข้ามาถึงหน้าประตูบ้านอย่างเงียบๆ ด้วยเงินทุนจำนวนมหาศาล บุคลากรที่มีประสบการณ์และเทคโนโลยีอันทันสมัย บวกกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เริ่มเปลี่ยนไป

ส่งผลให้ร้านโชห่วยเริ่มทยอยปิดกิจการเพราะขาดทุน ไม่สามารถทานกระแสความเชี่ยวกรากของวัฒนธรรมการค้าแบบตะวันตกได้ จนตัวเลขร้านโชห่วย 400,000 ร้าน ในปี 2540 ปัจจุบันเหลือเพียงสองแสนกว่าร้าน และคาดว่าก่อนสิ้นปีนี้จะต้องปิดตัวเองอีกหลายหมื่นร้าน

หากรัฐบาลไม่รีบหาทางลงมาช่วยเหลือ โดยอ้างว่าเกรงจะขัดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรี หรือกลัวจะเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ให้กับต่างชาติ จนอาจจะกระทบถึงบรรยากาศการลงทุนในอนาคต

ก็เท่ากับรัฐบาลกำลังปล่อยให้ร้านโชห่วยเดินไปสู่กาลอวสาน

ปิดฉากวัฒนธรรมห้องแถวที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน

ยกเว้นแต่เราจะร่วมมือกันปกป้องร้านโชห่วย ไม่ให้ต้องล้มหายตายจากไปเพราะวัฒนธรรมการค้าแบบตะวันตก เหมือนกับที่นายเนวิน ชิดชอบ รมช.พาณิชย์ กำลังเดินสายระดมความคิดเพื่อยกร่างเป็นแผนแม่บท เตรียมเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจก่อนสิ้นเดือน เม.ย.นี้

ซึ่งรัฐมนตรีเนวินได้เสนอไอเดียตั้งองค์การบริหารร้านค้าปลีก เพื่อสนับสนุนเรื่องเงินทุนสินเชื่อและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับร้านโชห่วยให้ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งช่วยเป็นคนกลางประสานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดส่งสินค้า โดยใช้สำนักงานหอการค้าจังหวัดเป็นตัวเชื่อม

ส่วนรัฐบาลเองก็มีแนวคิดที่จะสร้างคลังพัสดุ 31 แห่งทั่วประเทศ เป็นโกดังกลางระหว่างผู้ผลิตสินค้ากับร้านค้าปลีก เพื่อช่วยลดต้นทุนของร้านโชห่วย

ในขณะเดียวกันมีข้อเสนอจากชมรมผู้ค้าปลีกค้าส่งแห่งประเทศไทย ที่ให้ออกมาตรการห้ามผู้ค้ารายใหญ่ขายสินค้าต่ำกว่าทุน ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกทางการตลาด และไม่เป็นธรรมกับผู้ค้ารายย่อย หรือการกำหนดพื้นที่ที่ตั้งและวันเวลาเปิดปิดบริการ ของห้างสรรพสินค้าสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

แต่ท้ายสุดก็อยู่ที่ตัวเจ้าของร้านโชห่วย ที่ต้องเปิดกว้างยอมรับความคิดใหม่ ปรับปรุงตัวเองและหน้าร้านให้ทันสมัย เชิญชวนให้ลูกค้าเข้าไปอุดหนุน ไม่ใช่ปล่อยให้ร้านรกรุงรังเหมือนโกดังร้าง รู้จักหาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาวางขาย อย่ามัวแต่ซังกะตายขายของไปวันๆ

เพราะทุกวันนี้เป็นยุคการค้าเสรี หากปลาเล็กไม่รู้จักดิ้นรนเอาตัวรอด ก็หนีไม่พ้นต้องตกเป็นเหยื่อปลาใหญ่ในที่สุด...

"ลม เปลี่ยนทิศ"

ไทยรัฐ ๓ เม.ย. ๔๕