.

จากงานวิจัยตามแนวพระราชดําริ
"หญ้าแฝก"สู่การผลิตเชิงพาณิชย์

เป็นที่ทราบกันดีว่า "หญ้าแฝก" มีคุณประโยชน์มากมายแค่ไหน ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์ดิน และน้ำ และป้องกัน การพังทลายของดินแล้ว ส่วนต่างๆ ของแฝกยังนำมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นใบ ที่นำมามุงหลังคา หรือรากที่ค้นพบว่า มีสารที่ปลวกไม่กัดกิน อีกทั้งสกัดเป็น น้ำหอมได้ด้วย

พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ได้โปรดให้ สำนักงาน คณะกรรมการ วิจัยแห่งชาติ (วช.) เร่งศึกษาเรื่องหญ้าแฝก รวมทั้งการจดสิทธิบัตร ผลงานวิจัย ที่เกิดขึ้น ซึ่งทาง วช.ได้สนองพระราชดำริด้วยการ สนับสนุนทุนวิจัยแก่ ชุดโครงการวิจัย และพัฒนา ปฏิสัมพันธ์หญ้าแฝกกับปลวก แก่คณะนักวิจัย จากหน่วยงานต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ชุดโครงการ ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์แผ่นประกอบหญ้าแฝก แบ่งย่อยเป็น 1.1 พัฒนากรรมวิธีผลิต ชิ้นแฝกอัด ป้องกันปลวก 1.2 เครื่องต้นแบบผลิตชิ้นแฝกอัด 1.3 ผลิตแผ่นพลาสติก ผสมหญ้าแฝก 1.4 ผลิตฉนวนความร้อน 1.5 ศึกษาความทนทาน ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝก ต่อปลวก 2. สกัดสาร ที่มีฤทธิ์ กำจัดปลวก และ 3. ศึกษาระบบนิเวศน์ ที่มีความสัมพันธ์กับปลวก โดยมี ดร.จารุณี วงศ์ข้าหลวง จากกรมป่าไม้ รับผิดชอบชุดโครงการ

ในเบื้องต้นนักวิจัยสามารถผลิตแผ่นไม้อัดหญ้าแฝกได้คุณภาพ มาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มี ผู้ใดทำมาก่อน และวช.ได้จดสิทธิบัตร เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งจัดฝึกอบรม ถ่ายทอด เทคโนโลยี ให้กับกลุ่มเป้าหมาย และเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดประชุม ติดตามความก้าวหน้า เพื่อประเมิน ความเป็นไปได้ ในอันที่จะผลักดัน ให้ผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

นายธงชาติ ธรรมปราโมทย์ ประธานกรรมการ บริษัท ไมก้า กรุ๊ป จำกัด บริษัทออกแบบ ก่อสร้าง ที่อาสานำไม้อัดหญ้าแฝก มาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ ประเภทต่างๆ กล่าวว่า เวลานี้ได้ทดลอง นำมาแปรรูป ทำชุดโต๊ะทำงาน โต๊ะวางคอมพิวเตอร์ โต๊ะอเนกประสงค์ และล่าสุด ออกแบบทำเป็น ตู้เก็บของ ปรากฏว่า ไม่เพียงทำได้ดีเท่านั้น ยังให้ลวดลาย สวยงาม คลาสสิก ไม่แพ้ไม้จากธรรมชาติเลย เป็นงานที่มีลวดลาย เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว จึงมีความเป็นไปได้ยิ่ง ที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม แม้ ทางผู้จัดการทั่วไปของไมก้าจะระบุว่า การผลิตยังมีปัญหา ในเรื่องของ ขนาดแผ่น ที่ค่อนข้างเล็ก ทําให้ ผลิตภัณฑ์มีรอยต่อเยอะ ปัญหาเรื่องความหนาบาง ไม่เท่ากัน และโครงสร้างภายใน กับภายนอก แตกต่างกัน ทำให้เวลาขัดออกมา ลายไม้ จะไม่ต่อเนื่องกัน ซึ่งในเรื่องนี้ นายวรธรรม อุนจิตชัย นักวิชาการป่าไม้ 8 กรมป่าไม้ ในฐานะ หัวหน้าโครงการย่อย กล่าวว่า หากเข้าสู่การผลิต ในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว สามารถผลิต ให้มีขนาดมาตรฐาน ได้ไม่ยาก แถมมีต้นทุนถูกกว่า...

พร้อมกันนี้ ยังมั่นใจว่าหากงานวิจัยต่อยอดในอนาคตบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะ การศึกษา ความทนทานต่อปลวก และการสกัดสารที่มีฤทธิ์กำจัดปลวก ที่มีความเป็นไปได้สูง เชื่อว่า จะสร้างจุดขาย ให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงทำเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น คุณสมบัติไม้แฝกอัด ที่มีความแข็งแรง เท่ากับไม้ตะแบก ยังใช้แทนไม้อัด จากธรรมชาติ ได้สบายๆ กอปรกับกระแสอนุรักษ์ป่า ที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน จะส่งผลดีให้งานนี้ ได้รับความสนใจ แบบไม่ต้องตีฆ้อง ร้องป่าวให้เสียแรงเลย เวลานี้มีผลิตภัณฑ์ ที่ส่งออก ไปชิมลาง ในต่างประเทศบ้างแล้ว มีเสียงตอบรับดีมาก ไม่ว่าจะเป็น กล่องทิชชู ที่ใส่นามบัตร แจกัน นาฬิกา กรอบรูป ฯลฯ

เห็นประโยชน์จากหญ้า แฝกในหลายมุมมองกันแล้ว เชื่อว่าคงจะทำให้เกษตรกร เห็นคุณค่า และหันมา ช่วยกัน ปลูกหญ้าแฝก อนุรักษ์ดินและน้ำ เพิ่มขึ้นอีกโขทีเดียว!!!

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไทยรัฐ ๒ ก.ย. ๔๕