"ข้าว" เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากของประเทศไทย
ทั้งในด้านการบริโภค และ การส่งออก โดยเนื้อที่เพาะปลูกข้าว รวมทั้งประเทศ
มีอยู่ประมาณ 60 ล้านไร่ ได้ผลผลิต รวมประมาณ 19-23 ล้านตันข้าวเปลือก
ซึ่งผลผลิตที่ได้ จะใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออก
และ...ข้าวที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งปีหนึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท
อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมียอดสั่งเพิ่มมากขึ้นทุกปี ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะว่า
สภาพพื้นที่อื่นๆ ไม่สามารถปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่ตลาดต้องการ
ได้ดีเหมือนกับทุ่งกุลาร้องไห้
แต่! ถึงแม้จะมียอดสั่งเพิ่มมากขึ้นเท่าใด หากการทำนาข้าวยังยึดติดกับวิธีการแบบดั้งเดิม
เราก็ไม่ สามารถผลิตข้าวได้ทันและเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคได้
ด้วยเหตุนี้ ดร.สุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ซึ่งล่าสุด ทางสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่ง สหรัฐอเมริกา (ASAE) ร่วมกับสมาคม
วิศวกรรม เกษตร แห่งยุโรป (CIGR) ได้ คัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัล
วิศวกรดีเด่นระดับโลก ด้านวิศวกรรมเกษตร KAMIC Prize พร้อมทั้งยังเลื่อนตำแหน่ง
ให้เป็นด็อกเตอร์ได้คิดค้น "เครื่องหยอดเมล็ดข้าว" ขึ้น
โดยในเรื่องนี้ ดร.สุรเวทย์ เล่าให้ฟังว่า "พื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้นั้น
มีสภาพเป็นดินปนทราย การอุ้มน้ำไม่ดีนัก สภาพฝนมักทิ้งช่วง หรือฝนตกไม่สม่ำเสมอ
สิ่งเหล่านี้ เปรียบเหมือน วิกฤติของชาวนา แต่ก็ยังแฝงไว้ ด้วยโอกาส
เพราะเนื่องจากว่า ในการปลูกข้าวหอมมะลิ 105 นั้น ไม่สามารถ ปลูกในสภาพพื้นที่อื่นได้ดี
และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวเหมือนกับที่ทุ่งกุลาร้องไห้"
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากว่าที่ผ่านมา เกษตรกรในพื้นที่ ยังนิยมปลูกข้าวด้วยวิธีแบบหว่านแล้วไถกลบ
ซึ่งวิธีนี้ จะใช้อัตราเมล็ดพันธุ์โดยเฉลี่ยประมาณ 20-30 กก./ไร่
ซึ่งนับเป็นการสิ้นเปลือง อีกทั้ง อัตราการงอก และเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ
ทำให้ผลผลิตที่ได้ ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ และที่สำคัญ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง
เนื่องจากต้องใช้ปุ๋ย และสารเคมี
"ดังนั้น หากเรายังไม่มีการวางแผนพัฒนาคุณภาพและวิธีในการปลูกแล้ว
ก็จะไม่สามารถ ผลิตข้าวได้ตามจำนวนที่สั่งเข้ามา เนื่องจากปริมาณพื้นที่
ที่ใช้สำหรับทำนา ไม่สามารถขยายเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยมี"
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้คิดค้น เครื่องหว่าน หรือเครื่องหยอดขึ้น
โดยออกแบบ เพื่อให้เหมาะสม สำหรับ ใช้งานด้วยกัน 2 แบบคือ สำหรับใช้กับ
รถไถเดินตาม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ จะมีอยู่เกือบทุกบ้าน จึงนับว่าเหมาะกับ
เกษตรกรรายย่อย และแบบที่ 2 สำหรับติด รถแทรกเตอร์ใหญ่ ซึ่งจะสามารถหยอดได้ครั้งละ
7-10 แถว โดยเครื่องหยอด แบบที่ 2 จะสามารถหยอดข้าว ได้มากถึงวันละ
40 ไร่
สำหรับข้อดีของเครื่องดังกล่าว สามารถควบคุมอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ได้โดยเฉลี่ย
8-10 กก./ไร่ เท่านั้น ในขณะเดียวกัน ยังจะช่วยให้เกษตรกรหว่านและหยอดข้าวได้สม่ำเสมอ
ทำให้ต้นข้าว เจริญเติบโตได้เท่าๆ กัน แถวเป็นแนวระเบียบ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช
กำจัดข้าวเรื้อ ข้าวปนระหว่างแถว ส่งผลทำให้ผลผลิตที่ได้บริสุทธิ์
มีคุณภาพสูง อันจะนำไป สู่การผลิต ข้าวหอมมะลิอินทรีย์
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ได้มีการทดลองวิจัยการปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์
ขึ้น ที่จังหวัด ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสุรินทร์ ผลที่ได้คือสามารถควบคุมความตื้นลึก
ในการฝังกลบ เมล็ดพันธุ์ข้าว ควบคุมจำนวนต้นต่อไร่ ส่วนผลผลิตที่ได้
เพิ่มจากการทำนาแบบเก่ามากขึ้น 30-40 ถัง/ไร่
นอกจากเครื่องดังกล่าวจะเหมาะสำหรับใช้หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว
ยังสามารถ นำไปใช้ หยอดถั่วเหลือง หยอดปอ และหยอดข้าวโพด.
เพ็ญพิชญา
เตียว