ไม่ไหวแล้ว!สุนัขจรจัด
มหาจำลอง-วัดยกธงขาว

แต่ถ้าพูดกันเฉพาะ...สุนัขจรจัด เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สถิติล่าสุด มี 120,000 ตัว

สุนัขจรจัดอายุเฉลี่ย 3-5 ปี...คาดกันว่าภายในปีนี้ จำนวนประชากรสุนัขจรจัดจะเพิ่มถึง 2 แสนตัว

รู้กันหรือไม่...สุนัขจรจัด 2 แสนตัว รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการเท่าใด...

ต้นปี พ.ศ.2529 กองควบคุมโรคสัตว์รายงานว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสุนัขจรจัดราว 400 ล้านบาท...ต่อปี...ต่อสุนัข 50,000 ตัว

หากปีนี้ มีสุนัขจรจัด 2 แสนตัว ค่าใช้จ่ายเพิ่มไปเป็น 1,600 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้...ไม่รวมการทำหมัน...การขังแยกเพศ

ปัญหาสุนัขจรจัด เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จับต้องได้ สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แทนการส่งเจ้าหน้าที่ กทม.ออกไล่ล่าสุนัขจรจัด เอามาขังรอวันตาย พลตรีจำลองเริ่มขยายแนวคิดรับเลี้ยง และป้องกันการขยายพันธุ์ คือทำหมัน, แยกเพศกันอยู่

นี่คือที่มาโครงการสถานสงเคราะห์สัตว์ บนที่ดินสงเคราะห์ 38 ไร่เศษ ของวัดปากน้ำภาษีเจริญ บริเวณแขวงสีกัน เขตดอนเมือง เมื่อเดือนมิถุนายน 2530

พิมลอร อังสโวทัย ผู้จัดการสวนสัตว์เลี้ยง (Animal Shelter) เล่าว่า ในปี 2540 สวนสัตว์เลี้ยงสีกัน มีสุนัขจรจัดกว่า 2,000 ตัว มีปัญหา วัดเจ้าของที่ต้องการที่ดินคืน ที่สุดก็ต้องหาทางโยกย้าย

ย้ายมาใช้ที่ดิน 41 ไร่ ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี...จนถึงวันนี้ มีสุนัขจรจัดกว่า 2,500 ตัว และ สัตว์อื่นอีก รวม 3,000 ตัว และตั้งชื่อใหม่ว่า...สวนสัตว์เลี้ยง

10 ปีที่สีกัน กับอีก 4 ปีที่กาญจนบุรี...ให้อะไรกับสุนัขจรจัดที่เป็นปัญหาของสังคมบ้าง

พิมลอร บอกว่า

ช่วงย้ายมาใหม่เป็นยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ค่าเงินอ่อนยวบยาบ ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงไม่พ้นงบประมาณ สนับสนุน ที่ไม่มีจากภาครัฐ มีแต่เงินบริจาคจากผู้ใจบุญใจกุศล เฉพาะค่าอาหารสุนัขวันละมื้อ 1 เดือน ก็ 2 แสนกว่าบาท หุงข้าวมื้อละ 10-11 กระสอบ

ภาระหนัก ทั้งแรงเงิน แรงงาน และแรงใจ โชคดีที่ได้แรงบุญหนุนช่วย สวนสัตว์เลี้ยงจึงอยู่ได้...จนทุกวันนี้

พิมลอร เล่าต่อว่า...14 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสุนัขจรจัดยังไม่มีใครแก้ไขอย่างจริงจัง... ที่แก้อยู่ ยังไม่ใช่การแก้ปัญหา ตรงจุด ส่วนมากแก้ที่ปลายเหตุ

พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยปรารภว่า หากมีศูนย์รับเลี้ยงสัตว์แบบนี้ทุกจังหวัดน่าจะดี จะได้แก้ปัญหา ได้อย่างทั่วถึง จะได้ช่วยกันแก้ปัญหา

แต่เท่าที่ดู...ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ซ้ำยังจะแย่กว่าเดิม การทำหมันถือว่าเป็นวิธีที่ดี แต่การฝังชิพนี่ซิ... ถูกแล้วหรือ ส่วนตัวคิดว่า การฝังชิพไม่มีประโยชน์ ฝังทำไม สุนัขจรจัดพวกนี้ เจ้าของก็ไม่มี แพงก็แพง...

"ถ้าเลือกได้ เอาเงินค่าชิพไปเป็นทุนเลี้ยงสุนัขพวกนี้ดีกว่า หรือ เอาไว้ใช้แก้ปัญหา ด้วยวิธีอื่น ในระยะยาว จะมีประโยชน์มากกว่า"

ฐานะของสวนสัตว์เลี้ยงเมืองกาญจน์ปัจจุบัน พิมลอรบอกว่า ไม่ต้องการรับสุนัขจรจัดแล้ว รับไม่ไหวแล้ว เต็มที่แล้ว... มันเกินกำลัง...

สวนสัตว์เลี้ยงเมืองกาญจน์ ที่เกิดจากนโยบายของพลตรีจำลอง เป็นทางออกหนึ่ง... ในสังคมนี้... ยังมีอีก หลายทางออก โดยเฉพาะวัด

เป็นที่รู้กันว่า...ในขณะที่วัดมากมายรับภาระสัตว์จรจัดไม่ไหว แต่วัดมะพร้าวเตี้ย จรัญสนิทวงศ์ 13 แขวงคลองขวาง เขตภาษีเจริญ กทม. ยังเป็นวัดหนึ่ง ซึ่งยังมีเมตตาต่อสัตว์ผู้ยาก ดูแลสุนัขจรจัด จากทั่วสารทิศ มากถึง 300 ตัว

สุนัขทุกตัวมีที่มา...ส่วนใหญ่คนแอบเอามาปล่อย บางตัวญาติโยมก็เอามาฝาก

"ภาระมาหนักอยู่ที่วัด เกิดจากเจ้าของที่เคยเลี้ยง เคยรัก ขาดความรัก"

วิสัยพระ อย่าง พระครูพิพิธพัฒนพิมล เจ้าอาวาสวัดมะพร้าวเตี้ย น่าวิสัชนาได้แค่นั้น

"เมื่อรักแล้วก็ขอให้รักตลอดไป รักอย่างมีเมตตา...อย่ารักรูปลักษณ์ภายนอก รักเฉพาะขน ที่ฟูสวย เมื่อไม่มีขน ก็ไม่มีรัก ผลักมาเป็นภาระให้วัด"

พระท่านไม่พูดถึงเรื่องการผลักไส แต่ถ้าถาม คนใกล้พระ ก็จะได้ความจริง รวมกับสิ่งที่เห็นด้วยตา สัมผัสได้ ด้วยจมูก สุนัข แมว มากมายในวัด เป็นภาระให้พระในวัดอย่างมาก ทำความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว

แทนที่พระในวัดจะเอาเวลาไปศึกษาปฏิบัติธรรม ก็ต้องเจียดเวลาไปดูแล ป้อนยา ทายา หาข้าวให้มันกิน...

"ผมว่าไม่ใช่เรื่อง" คนใกล้พระว่า

เรื่องก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อญาติโยมเอามาปล่อยไว้ เวลามาทำบุญ ก็ต้องเจอ กับกลิ่นเหม็นเอง สำหรับพระ... ท่านมีเมตตา ท่านจะว่าอะไรได้

ถ้าจำนวนนิดน้อย ก็ถือเป็นธรรมดา แต่นี่มาก มากจนเลี้ยงไม่ไหว...สุนัขกว่าสามสิบตัวติดสมภาร ไปไหน ก็ตามไป เวลานอนก็นอนในกุฏิ

เวลาญาติโยมมากราบเจ้าอาวาส ยังไม่ทันเงยหน้า ก็มีสุนัขเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลัง... ดูไปแล้ว ศรัทธาน่าจะลด มากกว่าเพิ่ม

"พยายามบอกไปหลายคน" คนใกล้พระปรับทุกข์ต่อไป "ให้เอาสุนัขไปปล่อยที่อื่นบ้าง ที่นี่เยอะแล้ว แต่ไม่ได้ผล"

ส่วนการแก้ปัญหาด้วยวิธีฝังชิพ เบญจวรรณ สุขประพฤติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยพับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด เจ้าของสุนัขกว่า 100 ชีวิต นานกว่า 10 ปี มีมุมมองที่ต่างออกไป

เบญจวรรณ...บอกว่า สุนัขสัตว์เลี้ยงทุกตัวในต่างประเทศฝังชิพ ข้อมูลการเกิด การตาย ประวัติเฉพาะตัว พ่อ แม่ สายพันธุ์ ที่อยู่ ชื่อเจ้าของ และข้อมูลอื่นๆ สามารถตรวจเช็กได้ทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน สัตว์เลี้ยงจรจัด ของประเทศ

ฉะนั้น สุนัขในต่างประเทศที่ซื้อไป จะไม่กลายพันธุ์เด็ดขาด

ไม่ใช่จะฝังไมโครชิพอย่างเดียว ต้องมีข้อกำหนดบังคับชัดเจน ควบคุมต่อเนื่องไปอีก... สุนัขบ้านต้องทำหมัน ฉีดยากันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ... เป็นวัฏจักรสำคัญ ในการแก้ปัญหา อย่างต่อเนื่อง

เมื่อฝังไมโครชิพต้องทำหมัน เพราะหากไม่ทำก็มีโอกาสเป็นปัญหากับสังคมได้ต่อไป หรือถ้าไม่ทำหมัน ก็ต้องจ่ายภาษี สังคมยังนำงบภาษีส่วนนี้ ไปช่วยแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในจุดอื่น

ประโยชน์อีกอย่างของการฝังไมโครชิพ เพื่อให้รู้ว่าเจ้าของเป็นใคร มาจากไหน ชื่ออะไร เพราะเวลา ฟ้องร้องหาเจ้าของ จะได้โยงสู่ต้นตอได้ อย่างถูกต้องชัดเจน

แต่การฝังชิพสุนัขจรจัดของไทยต่างออกไป เหมือนการขึ้นทะเบียน ใช้ประโยชน์จากชิพ ไม่ได้เต็มที่

เบญจวรรณให้ข้อมูลจากประสบการณ์ต่อไปว่า ต่างประเทศใช้หลัก...สุนัขจรจัดมักมีจ่าฝูง ใช้คนคนเดียว เข้าไปให้อาหาร จนเกิดความคุ้นเคย แล้วก็ให้ยาสลบปนกับอาหาร ฉีดยาทำหมัน ชนิดพิเศษให้จ่าฝูง ยาฉีดแล้ว ความรู้สึกทางเพศ จะเหมือนเดิม ทำกิจกรรมได้เหมือนเดิม

ความแตกต่างก็คือ ต่างประเทศใช้บุคลากร 1 คน ต่อสุนัข 1 ฝูง ส่วนไทยใช้คนหลายคน เพื่อวิ่งไล่จับ สุนัข 1 ตัว.

ไทยรัฐ ๑๓ ส.ค. ๔๕