.

"สลัดส้มร่วง" ชุบชีวิตใหม่กับข้าวโพดหวาน

แม้เวลานี้จะมีผลสรุปออกมาแล้วว่า โรงไฟฟ้าวังน้อย ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาส้มร่วง และจากการไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ทำให้ชาวสวนส้มในเขตรังสิต-ปทุมธานี พื้นที่ที่มีชื่อเสียงในการผลิตส้มเขียวหวานอีกแห่งหนึ่งของไทย ได้ล้มเลิกกิจการไปเป็นจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้พื้นที่ถูกทิ้งรกร้างเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลกำไรตอบแทนที่ดีกว่า

จากที่ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมมาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าพื้นที่บางส่วนถูกปรับเปลี่ยนมาปลูก "ข้าวโพดหวาน" พืชทางเลือกอีกตัว ที่ คุณสุวัฒน์ บางแสนอ่อน เกษตรกรมือกลางเก่า กลางใหม่ ที่หันมาจับจอบ จับเสียม ในขณะที่ยังคงทำอาชีพพ่อค้าไปด้วย มั่นใจว่า น่าจะมีอนาคตดี ไม่แพ้พืชเศรษฐกิจตัวอื่น

ซึ่งก็ตรงกับที่ คุณสุขเกษม จิตรสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แป-ซิฟิคเมล็ดพันธุ์ และ คุณโรจน์ บุรุษรัตนพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริเวอร์แควฯ ได้เผยถึงสถานการณ์ การตลาด ข้าวโพดหวานว่า ที่ผ่านมามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดมาก ความต้องการตอนนี้ น่าจะถึง 3 แสนตัน/ปี "...เชื่อว่าเป็นพืชที่มีอนาคต โดยปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกปีละประมาณ 1 พันล้านบาท อนาคตเรามีโอกาสขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 3 เนื่องจากไทยมีจุดแข็งตรงที่ปลูกได้ทั้งปี ขณะที่อเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ปลูกได้แค่ช่วงฤดูร้อนเท่านั้น เราจึงได้เปรียบในเรื่อง "ความสดใหม่" นอกจากนี้ยังได้เปรียบในเรื่องค่าขนส่งที่ถูกกว่าด้วย..."

คุณสุวัฒน์ เล่าว่า ก่อนที่จะตัดสินใจ มาปลูกข้าวโพดหวานนี้ เขาเคยทำอาชีพ ค้าขายพืชผล เกษตรมาก่อน และด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับตลาด ทำให้เห็นว่าข้าวโพดหวาน มีตลาดค่อนข้า งแน่นอน น่าจะเป็นพืชที่มีอนาคตดี คิดได้เช่นนั้น จึงไปศึกษาดูงาน ที่ไร่ของริเวอร์แควที่ จ.กาญจนบุรี จากนั้นจึงมองหาพื้นที่ที่ลงปลูก จนมาได้พื้นที่ ที่เคยปลูกส้ม ย่านปทุมธานี ไม่ไกลจากตลาดค้าส่งเท่าใดนัก เริ่มปลูกแห่งแรกที่คลอง 9 จำนวน 200 ไร่ จากนั้นขยาย มาที่คลอง 6 อีก 50 ไร่ และข้างโรงงานเบียร์แถว อ.วังน้อย อีก 200 ไร่

สำหรับแปลงที่ทีมงานไปดู อยู่ที่คลอง 9 แม้ที่นี่เป็นที่เช่า แต่ คุณสุวัฒน์ บอกว่า เขาปลูกข้าวโพดหวาน คร็อปเดียวก็คุ้มแล้ว ตอนนี้มีสวนส้ม นับหมื่นไร่ ที่ปรับเปลี่ยน มาปลูกข้าวโพดหวาน แปลงส้มเหล่านี้ หลังเตรียมดินก็หยอดเมล็ดได้เลย ซึ่งพันธุ์ที่ใช้ เลือก พันธุ์ลูกผสมไฮ-บริกซ์ 10 โดยให้เหตุผลว่า เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ให้ผลผลิตสูง แย่ที่สุด ก็ไม่ต่ำกว่า 1,500 กก. (หักกลบลบหนี้แล้วจะมีกำไรไม่น้อยกว่า 4,000 บาท/ไร่) ฝักใหญ่ สีเหลืองครีม ติดทุกแถว ปลูกได้ทั้งปีไม่ต้องกลัว โรคราน้ำค้าง

ที่ผ่านมา คุณจารึก ปรมานนท์ กรรมการบริหาร ริเวอร์แควฯ เล่าให้ฟังว่า ช่วงเดือน ส.ค. เกษตรกร จะไม่ปลูกกันแล้ว เนื่องจากกลัวโรคราน้ำค้าง เพราะต้นที่เป็นโรคนี้ จะไม่ให้ ผลผลิตเลย ทั้งที่จริงแล้วช่วงเวลาดังกล่าว โรงงานที่เมืองกาญฯ มีความต้องการ วัตถุดิบมาก "...ตอนนี้โรงงานทำได้แค่ 6 เดือน (มี.ค.-ส.ค.) เท่านั้น หลัง ส.ค. ก็ไม่มีวัตถุดิบแล้ว ทำให้เครื่องจักร ทำงานไม่เต็มที่ ทั้งที่จริงแล้วสามารถปลูกได้..."

นั่นก็เป็นพัฒนาการของข้าวโพดหวานไทยอีกขั้น ที่นับวันจะมีส่วนแบ่งในตลาดโลก สูงขึ้นทุกที และไม่เพียงปลูก ในที่ดอนเท่านั้น ที่ลุ่มสวนส้มร้างย่านรังสิต-ปทุมฯ ก็ปลูกได้ผลดีเช่นเดียวกัน...

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไทยรัฐ ๑๔ ส.ค. ๔๕