จากการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการกำหนดแผนที่ตั้งสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ
(University Mapping) ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ผลจากการที่ประเทศไทยขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน
12 ปี จะทำให้มีผู้จบชั้น ม.6 เพิ่มขึ้น และในจำนวนนี้กว่า 81%
ต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา จึงจำเป็นต้องเตรียม สถาบันอุดมศึกษามารองรับ
ขณะเดียวกันเรามีสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง
(ปวส.) ขึ้นไป กระจายอยู่ทั่วประเทศรวม 859 แห่ง แต่ขาดแผนแม่บท
ในการจัดการ การเปิดสอนสาขาวิชาต่างๆซ้ำซ้อน และที่ตั้งมักจะกระจุกตัว
อยู่ในบางจังหวัด ส่วนการขยายวิทยาเขต ยังขาดการวางแผน และตั้งอยู่ในจังหวัด
ที่มีสถาบันอุดมศึกษาอยู่แล้ว
รมต.ประจำสำนักนายกฯกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดตั้งวิทยาเขตสารสนเทศทั้ง
37 แห่ง ตามนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว
12 แห่ง หากยังทำตามแผนเดิม ต้องใช้งบฯในการจัดตั้ง 100,000 ล้านบาท
ซึ่งต้องมีการทบทวนใหม่ อีกครั้ง ดังนั้น หากสามารถหลอมรวมและจัดทำแผนแม่บทที่ชัดเจน
จะทำให้ประหยัดงบฯ ทั้งยังสามารถรวมสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละจังหวัด
ให้เป็นมหาวิทยาลัยจังหวัด ที่มีความพร้อมได้ ซึ่งรัฐบาลจะเริ่มนำร่องการหลอมรวม
วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.)
เป็นมหาวิทยาลัยจังหวัด ซึ่งเน้นการเรียนการสอนใน 2 จังหวัด ได้แก่
จ.นครพนม และนราธิวาส ซึ่งตนคิดว่า มหาวิทยาลัยที่มีอยู่นั้นเพียงพอแล้ว
และ ควรยุติการสร้างมหาวิทยาลัยใหม่ แต่อาศัยการหลอมรวมหน่วยงานที่มีอยู่ดังกล่าว.