กินมังคุด 200 ปีหลังสวน
ย่ำพะโต๊ะแดนบนหลังคาแหลมทอง

อาจเพราะทางหลวงสายใต้ดีเด่นได้มาตรฐานโลก ชั้น 1 ทำให้ชุมพร แม้เป็นจังหวัดยาวมาก เหนือจดใต้ กว่า 220 กม. กลายเป็นเมืองผ่านไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ในแง่การท่องเที่ยว ไม่เป็นรองใคร โดดเด่น ทั้งแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่ง และเกาะแก่งในทะเล งดงามด้วยป่าเขา และน้ำตกที่ยังบริสุทธิ์ ไร้ผู้คนเฮโล ไปรุมทึ้ง แต่กลับไม่มีใครแวะ ความโดดเด่นที่อยากแนะนำในวันนี้ ได้แก่ นำท่องไปทาง ตอนใต้ของชุมพร ย่ำไปในสวนผลไม้อายุน้องๆ กรุงเทพฯ ที่ยังให้ผลดีสุดมหัศจรรย์ ในปีนี้ จนชาวสวน หลังสวนสะอื้นไห้ กับออกลุยไป

บนดินแดนทิวเขาสูงบนกระดูกสันหลังแหลมทองที่ อ.พะ-โต๊ะ จะตื่นเต้นคล้ายหลุดเข้าไป ในมิติเวลา ในอดีตเมื่อร้อย ปีที่แล้ว เมื่อพบประชาคมเล็กๆ ผู้คนมีความเป็นอยู่เรียบ ง่ายแต่ร่ำรวยน้ำใจ มหาศาล บนเขาสูง กอปรด้วยหุบเหว และความต่างระดับ มากมาย แต่วิวทิวทัศน์ งดงามสุด พรรณนา

ชุมพรอยู่ห่างกรุงเทพฯ ราว 500 กม. ถ้ามีรถเอง ออกจากกรุงเทพฯ โมงเช้า เที่ยงนิดๆ ได้ไปกินข้าวเที่ยง ที่ชุมพรแน่ เสร็จแล้วมุ่งใต้ต่อไปอีก 70 กม. ก็ถึง อ.หลังสวน ดงผลไม้ดังเมืองไทย เมืองเก่าแก่ มากด้วย ประวัติศาสตร์ หนุนหลังที่คล้ายกำลังถูกลืมเลือน ทั้งที่หลังสวนเกิดตอนปลายอยุธยา สมัย ร. 5 เป็นจังหวัด หลังสวน น้อยคนนักรู้ว่าพระยาภิรมย์ภักดีผู้ให้กำเนิดเบียร์สิงห์ เป็นนายอำเภอหลังสวน คนสุดท้าย เมื่อครั้งยัง เป็นจังหวัดหลังสวน หลังจากนั้นถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดชุมพร อาจกล่าวได้ว่า คนหลังสวนล้วน สืบเชื้อสายชาวสวนมาทุกคน ด้วยเป็นเขตทำสวนผลไม้ ประสมประสาน เก่าแก่นับร้อยๆ ปี พรืดไปทั้งอำเภอ เก็บผลไม้ที่ผลัดกัน ให้ผลทั้งปี ออกขายเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกหลาน เล่าเรียน เป็นใหญ่เป็นโต ในแผ่นดินมา ก็มากมาย

แต่ละคนเก่งกาจเรื่องพืชสวนและการทำสวนอย่างยอด จากการสืบ ทอดความรู้ติดต่อกันมาใน สายตระกูล รังเกียจการใช้ปุ๋ยวิทยา-ศาสตร์ นิยมแต่ปุ๋ยคอก เป็นหลัก รอบรู้ลักษณะและอุปนิสัยพืชสวน แต่ละชนิดถ่ายทอดให้ฟังในเชิงโปกฮา ได้อย่างสนุก ที่โน่นเป็นสวน เก่าแก่ล้วนเกิน 100 ปี เนื้อที่กว่า 20 ไร่ขึ้นไป เจอต้นเงาะ มังคุดหรือ ทุเรียนอายุ 100 ปี ถือเป็นของธรรมดามาก พืชสวนทั้ง 3 ชนิดนี้ จำนวนมาก อายุกว่า 200 ปี ยังให้ผลดีจนบัดนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ได้แก่ สวนของลุงสำเริง รัชเวทย์ อายุ 65 ปี อยู่เยื้องๆ วัดแหลมทราย ในสวนจะพบต้นมังคุด 200 ปี ที่ยังให้ผลรสดีหวานสนิท 2 ต้น นอกนั้น หักโค่นตายหมด เพราะพายุชีต้าปี 2542 ทุเรียน 200 ปี และเงาะ 200 ปีที่กำลังโทรม เพราะความหง่อม แต่กระนั้น ปีนี้ก็ยังอุตส่าห์ ให้ผลบ้าง ย่านูน รัชเวทย์ อายุ 99 ปี แม่ของลุงสำเริง ยืนยันว่า เมื่อโตจำความได้ ลงสวนกับพ่อแม่ ก็เห็นทั้งต้นเงาะ มังคุด ทุเรียน อายุกว่า 200 ปีวันนี้ ให้ผลในวันโน้นแล้ว

ปีนี้ผลไม้หลังสวนให้ผลดีกว่า 10 เท่าของภาวะปกติ ชาวสวนถึงกับร่ำไห้ เพราะบางอย่าง ไร้ค่าเหลือ กก.ละ 2-3 บาท ช้ำหนักขึ้น เนื่องจากหลังสวน เป็นตลาดกลางผลไม้ โดยสภาพ ผลไม้ต่างอำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง ต่างลำเลียงไปขาย ที่หลังสวนหมด ชนิด 2 ข้างทางหลวง เต็มไปด้วย ปิกอัพ รับซื้อผลไม้ ชาวสวนยาวเหยียดราคา จึงยิ่งดำดิ่ง ฮวบฮาบ น่าคิดตอนวิกฤติราคาผลไม้ หลังสวนตกต่ำ ขั้นหาเรื่องปิดถนน ผลไม้ส่วนใหญ่เกือบหมด ไม่น่าจะอยู่ในมือชาวสวน ผู้เดือดร้อน สาหัส มากมาย เสียแล้ว อยากแนะให้ชาวสวน หลังสวน เปิดสวนเป็น เขต ท่องเที่ยว คิดเงินคนเข้าไปเที่ยว โดยให้เก็บกิน ผลไม้ในสวนได้ เหมือนแถบจังหวัด ภาคตะวันออกบ้างก็จะดี คนไปเที่ยว จะได้ซื้อผลไม้ ติดไม้ติดมือ กลับไปบ้านด้วย จะได้ทั้งค่าเข้าชมสวน และ ขายผลไม้ใน สวนได้

สนุกสนานกับการเข้าไปเที่ยวสวนเก่าแก่ มีเวลาควรไปเที่ยวต่อที่ อ.พะโต๊ะ เหลือเชื่อแต่เป็นความจริงดังที่ ม.ล.ประทีป จรูญโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรว่าไว้ ทางหลวงสาย 4006 หลังสวน-ระนอง ราว 85 กม. เป็นทางชั้นดี สองข้างทาง วิวทิวทัศน์สวยสดงดงามยิ่ง ด้วยเป็นทางวิ่งวกวน ไปบนเขาสูง กระดูกสันหลัง แกนกลาง ของแหลมทอง ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามเนินซ้อนเนิน แวดล้อมด้วยทิวเขา รอบข้างเห็นลิบๆ พร้อมหุบเหว ความต่างระดับ และป่าไม้ เป็นเส้นทางไประนอง ได้ใกล้ที่สุด ปลายทางสายนี้ แทบจดสนามบินระนอง ประชาคม อ.พะโต๊ะ อยู่ห่างหลังสวน 42 กม.เท่านั้น เป็นประชาคม ตั้งอยู่บน สันเขาแกนกลาง แหลมทอง บนหลังคาชุมพร กันเลยก็ว่าได้

ใครที่ชอบความสำเริงสำราญอย่าได้ไป แต่ถ้าใครชอบ ความเป็นธรรมชาติ อยากรู้เรื่องราว ความเป็นอยู่ ของ ปู่ย่า ตาทวดในชนบท เป็นอย่างไร จะตื่นตาตื่นใจคล้ายเดินลึกเข้า ไปในประวัติศาสตร์ได้จริง คน 1,100 คนเศษ อยู่กันอย่าง สมถะ ลักษณะบ้านเรือน อาคารร้านค้า เรียบง่าย เหมือน ชนบทห่างไกลของ ไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อบอวลไป ด้วยน้ำใจไมตรี อาหารผักหญ้า ตามธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ เป็นชนบทเงียบสงบ ไม่มีโรงแรม ไม่มีแม้กระทั่งร้านขายยา สักร้าน แต่สถานที่ ที่น่าไปเที่ยวที่สุด ชนิดไปแล้ว ลืมได้ยาก ได้แก่ หน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ มีนายพงศา ชูแนม เป็นหัวหน้าหน่วย จะได้พัก ในบ้านรับรอง บนเขาสูงบรรยากาศสวย แหล่งต้นน้ำ แม่น้ำหลังสวน ไปเป็นร้อยคน ก็นอนเป็นหมู่ได้ จะได้เล่นเรือ ได้ล่องแพ พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ ได้เต็มปอด พร้อมรู้สึก รักป่าบอกไม่ถูก

อยากไปเที่ยวสวนชาวหลังสวนไม่รู้จะถามใคร ลองโทร.ติดต่อไปที่ห้อง นายอำเภอหลังสวนนั่นแหล ะอาจช่วยได้ ถ้าอยากไปพักผ่อน นอนตามป่าเขาที่ อ.พะโต๊ะ ต้องโทร.ติดต่อไปที่หน่วยจัดการ ต้นน้ำพะโต๊ะ 0-7752-0055 ไม่ผิดหวังแน่นอน.

+ โฟกัส +

จันทน์เทศ พืชแห่งความหวังของหลังสวน

ปีนี้ชาวสวนที่หลังสวน ชุมพร ต้องร่ำไห้แทบหมดเนื้อประดาตัวไปตามๆ กัน ด้วยผลไม้ให้ผลดี ท่วมท้น จนแทบหมดราคา เพราะไม่อาจคุมการผลิตให้มีมากหรือน้อย เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมได้ หลายสวน กำลังมุ่งเล็งต้นจันทน์เทศ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในสวนโดยไม่ได้ตัดทิ้งไป เล็งเห็นว่า น่าจะเป็นพืชแห่งความหวัง ทำเงินได้ดี เนื่องจากมีวี่แววบริษัทใหญ่ๆ ในไทยและต่างประเทศ กำลังทำวิจัยผลจันทน์เทศ กันใหญ่ โดยปกปิดการให้ผลดี ของมันอย่างยิ่งยวด และหลังสวนเท่านั้น เป็นเขตปลูกได้ดี สู้อินโดนีเซียได้ เพราะเป็นเขตชื้น ฝนตกบ่อย ดินเกือบชุมน้ำอยู่ตลอดเวลา ชนิดทุกสวนงดงาม ด้วยเฟิร์นหลากหลายพันธุ์ งามแปลกตา

ลุงสำเริง รัชเวทย์ วัย 65 ปี ในสวนมีต้นจันทน์เทศ อยู่จำนวนหนึ่ง ชี้ให้เห็นความเคลื่อนไหวอย่างผิดสังเกต ของจันทน์เทศว่า ปกติแล้ว การซื้อขาย มีไม่มาก และซื้อขายลูกจันทน์เทศ ที่แห้งแล้วกันเท่านั้น แต่ปีนี้ คึกคักกว่าเดิม ผู้ซื้อบางราย ขอให้จัดหาลูกจันทน์เทศสด ไปขายให้ หนึ่งในจำนวนนั้น ได้แก่ บริษัทค้า เครื่องดื่ม บรรจุขวด ประเภทน้ำดำหนึ่ง ในสองของไทย ที่ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ซื้ออย่างสดๆ ถึง 10,000 ลูก เข้าใจว่า จะต้องเอาไปทำวิเคราะห์วิจัยอะไรสักอย่างแน่ และไม่มีใครรู้ ผลการวิจัย จนบัดนี้ อีกทั้งมีคนคิด จะทำเหล้าไวน์ จันทน์เทศกันแล้ว

ลุงสำเริงเผยความปราดเปรื่อง เกี่ยวกับจันทน์เทศไว้ว่า ไม่ใช่พืชพื้นเมืองไทย เป็นของอินโดนีเซีย มาไทย สมัย ร. 5 น่าจะเป็นทั้งเครื่องเทศและเป็นยา สมุนไพร ปัจจุบันน่าจะเอาไปใช้อะไรสักอย่าง ในขบวนการ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ตอนเอามาไทยคงปลูกกันหลายจังหวัด แต่ไม่ให้ผลดีจึงค่อยๆ หายไป เหลือแต่ที่ปลูก ในหลังสวน งอกงามให้ผลดีมาก เพราะอากาศอำนวย ลูกของมันคล้ายมังคุด คุณค่า อยู่ที่เม็ดใน.

"วีวา"

ไทยรัฐ ๑๗ ส.ค. ๔๕