.

พบเหตุข้าว ธ.ก.ส.ล่องหน !"แม้ว" อโหสิ
ที่แท้ ชาวนาดอด ขนไปขายเอง

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ข้าวหอมมะลิที่รัฐได้รับ จากการรับจำนำไว้ หายไปจากสต็อกร่วม 910,000 ตันว่า ข้อเท็จจริงมีข้าว 2 ส่วน คือส่วนที่ ให้แปรสภาพ เป็นข้าวสาร ไม่มีปัญหาถ้าโรงสีทยอย ส่งมอบแต่ยังไม่ครบก็จะเร่งรัด ถ้าใครส่งมอบ ไม่ได้ถือว่ามีความผิด ส่วนที่รับจำนำที่ยุ้งฉางของชาวนา อาจจะมีบ้าง ที่ชาวนา นำข้าวออกไปขาย เพราะเห็นว่าราคาข้างนอก ดีกว่าราคาที่ธนาคาร เพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับจำนำไว้ โดยราคาข้างนอก สูงถึงตันละ 7,500 บาท ขณะราคา รับจำนำของ ธ.ก.ส.อยู่ที่ 5,800 บาท เกษตรกรก็ขายข้าวออกไป แต่ก็ต้องนำเงิน มาใช้หนี้ให้ ธ.ก.ส.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธ.ก.ส.กำลังตรวจสอบบัญชีอยู่ แต่เท่าที่ดูคงไม่ใช่ข้าวหายไป จากโกดังกลาง ของรัฐ 910,000 ตัน เพราะถ้าหายจริงก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่น่าจะเป็น ลักษณะการขาดบัญชีมากกว่า เพราะบัญชีเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงต้องมีช่วงการปิดบัญชี ที่หยุดรับจำนำ แต่ช่วงที่ไม่หยุดรับจำนำก็มีการเคลื่อนไหวตลอด พอมีข่าวออกมา ก็เร่งรัดถามว่า ทางโรงสีได้ส่งมอบข้าวสารครบหรือยัง วันนี้ก็คงขาดอีกประมาณ 20% ที่ยังไม่มีการส่งมอบ ก็จะมีการเร่งรัดให้ส่งมอบเข้ามาซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นเพราะราคาจำนำ กับตลาดนอก ต่างกันมาก เกษตรกรจึงขายเสีย แต่เมื่อมีสัญญาเงินกู้กับ ธ.ก.ส. เมื่อขายได้ ต้องเอาเงินมาใช้หนี้ "เชื่อว่าการที่ข้าวจะหายไป จากสต็อก คงเป็นลักษณะ ของการ ขาดบัญชีมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็เร่งรัด ให้ส่งตามบัญชี ให้ครบ แม้จะขาดบัญชีบ้าง ก็ขาดไม่มาก ประมาณ 20% ของข้าวที่มีอยู่"

ด้านนายวีระศักดิ์ ศิริกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ข้าวหอมมะลิกว่า 900,000 ตัน ที่ ธ.ก.ส.รับจำนำไว้นั้น ไม่ได้สูญหายไป แต่อย่างใด เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวหอมมะลิ ของ ธ.ก.ส. จะรับจำนำข้าวหอม จากเกษตรกร ที่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง โดยได้รับจำนำทั้งสิ้น 912,000 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้ มีเกษตรกรไถ่ถอนไปขาย และชำระหนี้คืน ธ.ก.ส. แล้ว 135,000 ตัน ทำให้มียอด ข้าวหอมมะลิ อยู่ในยุ้งฉาง ของเกษตรกรตามบัญชี 777,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ปรากฏว่า มีข้าวหอมมะลิ ในยุ้งฉาง ของเกษตรกรจริงๆ เพียง 522,000 ตันเท่านั้น เพราะเกษตรกรส่วนหนึ่ง ได้ขายข้าว ที่จำนำไว้กับ ธ.ก.ส. ออกไปประมาณ 255,000 ตัน แต่ยังไม่ได้มาชำระหนี้ เพราะตามวิธี การปฏิบัติของ ธ.ก.ส.จะตัดสต็อกคงเหลือ ก็ต่อเมื่อเกษตรกร มาชำระหนี้แล้วเท่านั้น "ถ้าจะเอาความผิด เกษตรกรที่ขายข้าวจำนำ ก็สามารถทำได้ แต่เราคงไม่ทำ เพราะการ รับจำนำ มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับให้ราคาข้าวสูงขึ้น เมื่อราคาข้าวสูงขึ้น เกษตรกร ก็มีกำไรมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินคดี กับเกษตรกร ที่กระทำความผิด"

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ราคาข้าวที่ ธ.ก.ส.รับจำนำอยู่ที่ 6,500 บาทต่อตัน แต่ราคาขาย ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,500 บาทต่อตัน เกษตรกรมีกำไรถึงตันละ 1,000 บาท แสดงให้เห็นว่า ผลของการรับจำนำข้าว ประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกร ขายได้ราคาดี ที่สำคัญ ข้าวที่เกษตรกร ขายไปนั้น พ่อค้าข้าวมารับซื้อถึงยุ้งฉาง ยิ่งทำให้เกษตรกร ไม่มีต้นทุนค่าขนส่ง

ด้านนายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีราคาส่งออก ณ ท่าเรืออยู่ที่ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ 290 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้ผู้ส่งออกพยายามหาข้าวหอมมะลิเพื่อนำไปส่งออกให้ทัน นอกจากนี้ มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนด ให้ข้าวหอมมะลิ ส่งออกต้องมีข้าวผสมได้ ไม่เกิน 8% ยิ่งทำให้ราคาข้าวหอมมะลิมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรเมื่อเห็นว่า ข้าวมีราคาดี ก็รีบขายเพื่อเอากำไร.

ไทยรัฐ ๑๗ ส.ค. ๔๕